กัณฑ์ที่
๑๗๓
ฉลาดกับเฉลียว
การมาวัดถือว่ามาสู่ที่สว่าง
ถ้าอยู่นอกวัดก็เหมือนอยู่ในที่มืด
เพราะเวลามาวัดจะทำแต่สิ่งที่ถูกที่ดี
เพราะมีแสงสว่าง
ทำให้สามารถแยกแยะสิ่งที่ถูกจากสิ่งที่ผิดได้
สิ่งที่ดีจากสิ่งที่ไม่ดีได้
จึงมีการทำบุญทำทาน
รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์
ปฏิบัติธรรม นั่งทำสมาธิ
เดินจงกรม เจริญปัญญา
เพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย
เหตุที่ได้กระทำสิ่งเหล่านี้กัน
ก็เป็นเพราะว่ามีแสงสว่าง
ทำให้เห็นความถูกต้องดีงามของการปฏิบัติเหล่านี้นั่นเอง
ถ้าอยู่นอกวัดก็เหมือนกับอยู่ในที่มืด
ย่อมไม่เห็นผิดเห็นถูก
เห็นดีเห็นชั่ว
ก็เลยทำแต่สิ่งที่ผิดสิ่งที่ชั่ว
เช่นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
โกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา
เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน
คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้าน
เป็นการปฏิบัติที่จะนำมาแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ
เวลาอยู่นอกวัดจึงไม่เหมือนกับเวลาอยู่ในวัด
อยู่นอกวัดเหมือนกับอยู่ในที่มืด
จึงมีแต่การกระทำที่ไม่ดีไม่งาม
นำมาซึ่งความทุกข์ความวุ่นวาย
เวลามาวัดก็เท่ากับมาที่ๆมีแสงสว่าง
จึงมีแต่การทำความดี
ทำสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์
ผลที่ปรารถนาคือความสุขความเจริญ
จึงเป็นสิ่งที่ตามมาต่อไป
การพูดว่าในวัดสว่าง
นอกวัดมืด
เป็นการเปรียบเทียบให้ฟังว่า
จิตใจของคนเรานั้น มีมืดได้
มีสว่างได้ เพราะมีเหตุที่ทำให้มืด
และมีเหตุที่ทำให้สว่าง เหตุที่ทำให้มืดก็คือความหลง
ความมืดบอด เห็นผิดเป็นชอบ
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
เห็นทุกข์เป็นสุข
เหตุที่ทำให้สว่างก็คือปัญญา
คือธรรมะ
คำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
พระพุทธเจ้าทรงมีแสงสว่างปรากฏขึ้นในพระทัยจากการศึกษาปฏิบัติธรรมจนตรัสรู้
การตรัสรู้นี้หมายถึงการได้รู้ในสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้
รู้ดี รู้ชั่ว รู้ถูก
รู้ผิด รู้คุณ รู้โทษ
เมื่อทรงรู้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว
ก็นำมาเผยแผ่ให้กับผู้ที่ยังมีความมืดบอดครอบงำจิตใจอยู่
ให้มีแสงสว่าง เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตไปในแนวทางที่ถูกต้อง นำมาซึ่งความสุขและความเจริญ
นี่คือความหมายของความสว่าง
คือธรรมะเป็นแสงสว่างแห่งธรรม
ธัมโม ปทีโป
เพราะธรรมะสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆออกได้
ว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ
เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
เป็นความเจริญหรือเป็นความเสื่อม
ถ้าปราศจากธรรมะ
จิตใจก็เหมือนกับอยู่ในที่มืด
เหมือนถูกสิ่งปิดกั้นสายตาไม่ให้เห็นสิ่งต่างๆได้
เรียกว่าความหลง
ทำให้ต้องคลำไป
เวลาคลำไปก็เหมือนกับจับปลาแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่รู้ว่าปลาอยู่ที่ตรงไหนก็สุ่มไป
ถ้าโชคดีก็ได้ตัวปลา
ถ้าโชคไม่ดีก็ต้องสุ่มไปเรื่อยๆ
จนกว่าจะได้ ชีวิตของพวกเราก็เปรียบเหมือนกับการสุ่มหาปลา
เราทุกคนแสวงหาความสุขความเจริญด้วยกันทุกคน
แต่กลับไปเจอแต่เรื่องวุ่นวายใจ
เรื่องความทุกข์ เรื่องความไม่สบายใจ
ก็เป็นเพราะความมืดบอดปิดกั้นสายตา
ทำให้ไม่สามารถเห็นตัวปลาได้
คือไม่สามารถเห็นความสุขความทุกข์ที่แท้จริงได้
ไม่รู้จักแยกแยะ
ก็เลยคว้าผิดคว้าถูก
ส่วนใหญ่ก็มักจะไปคว้าเอาความทุกข์มา
เช่นการกระทำบาปนั้น
ทั้งๆที่รู้ว่าไม่ดี
แต่ก็ยังไปทำกัน เพราะคิดว่าทำไปแล้วจะได้ความสุข
เช่นไปลักทรัพย์
ไปฉ้อโกง จะทำให้มีความสุข เมื่อมีทรัพย์แล้วก็สามารถนำเอาไปซื้อความสุขต่างๆได้
แต่ไม่คิดถึงความทุกข์ที่จะตามมาถ้าถูกจับได้ ก็ต้องเข้าคุกเข้าตะรางหมดอิสรภาพ
อยู่แบบอดๆอยากๆ
อยู่อย่างทุกข์ทรมาน
เพราะขาดความเฉลียวนั่นเอง
คนเราฉลาดแต่ขาดความเฉลียวก็ไม่ดี
ความฉลาดก็คือรู้จักคิดวิธีหาเงินหาทอง
แต่ไม่เฉลียวว่าวิธีที่หาเงินทองมานั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษ
เมื่อไม่เฉลียวก็ไปฉ้อโกง
ไปคอรัปชั่น ไปลักเล็กขโมยน้อย แล้วในที่สุดก็ต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะรางไป
นี่คือความฉลาดแต่ไม่เฉลียว
ถ้าเป็นคนที่ฉลาดและเฉลียว
ก็ต้องคิดว่าเงินทองก็เป็นประโยชน์
สามารถนำมาใช้อะไรได้หลายอย่าง
เช่นมาดูแลรักษาอัตภาพร่างกายให้อยู่ได้ด้วยความสุขด้วยความสบาย
ถ้ามีเหลือก็สามารถนำเอาไปสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข
เมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นก็ทำให้จิตใจมีความสุข
มีความสงบ
เพราะจิตใจได้รับการชำระจากการช่วยเหลือผู้อื่น
เป็นการชำระความเห็นแก่ตัว
ความตระหนี่ ความโลภ
อันเป็นเหตุที่ทำให้จิตใจมีความเศร้าหมองไม่เบิกบาน
ไม่สดชื่น ไม่มีความสุข
นี่คือคุณของเงินทอง
แต่ถ้าไม่มีความเฉลียวว่าวิธีหาเงินนั้นมี
๒ วิธี คือหามาโดยปราศจากโทษ
กับหามาแล้วเกิดโทษตามมา
ถ้าไม่เฉลียวก็จะไม่สนใจคิดแยกแยะว่าวิธีไหนถูก
วิธีไหนควร ถ้ามีความเฉลียวก็จะต้องคิดเสียก่อนว่า
การไปหาเงินทองมาแบบนี้ถูกหรือไม่
หรือผิดอย่างไร
เช่นไปลักทรัพย์
โกหกหลอกลวง ฉ้อโกง
อย่างนี้ถูกหรือผิด
ถ้ามีความเฉลียวก็จะรู้ว่าการกระทำแบบนี้เป็นการทุจริต
ทำไปแล้วต้องมีโทษตามมา
ถ้าเป็นเช่นนั้นอย่าทำดีกว่า
ถึงแม้จะอดอยากยากจน
ก็ไม่มีโทษร้ายแรงเท่ากับการทุจริต
นี่คือความเฉลียว
เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่กล้าไปทำในสิ่งที่ผิดที่เป็นโทษ
ทำแต่สิ่งที่เป็นคุณ
ที่สุจริต
เช่นทำมาหากินรับจ้างกินเงินเดือน
เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษตามมา
ตำรวจไม่จับเข้าคุกเข้าตะราง
นี่คือความหมายของความเฉลียวกับความฉลาด
ถ้าฉลาดอย่างเดียวไม่เฉลียวก็ร่ำรวยได้
เป็นเศรษฐีได้ แต่ชีวิตจะมีแต่ความวุ่นวาย
ต้องคอยแก้ไขปัญหาต่างๆที่จะตามมาตลอดเวลา เพราะเมื่อทำอะไรที่ผิดไปแล้วโทษก็จะต้องตามมา
ไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องถูกลงโทษ
ในขณะที่โทษยังไม่ตามมา
ก็มีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ
คนเราเวลาทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรมแล้ว
จิตใจจะไม่สงบ ไม่นิ่ง
จะต้องมีความวิตก
มีความกังวลห่วงใย
ว่าจะต้องถูกจับในวันใดวันหนึ่ง
นี่ก็เป็นโทษอีกอย่างหนึ่ง
เป็นโทษทางใจ
ถึงแม้จะมีบ้านหลังใหญ่โตราคาเป็นสิบๆล้าน
มีสมบัติข้าวของเงินทองมากมาย
แต่เป็นทรัพย์ที่หามาด้วยความไม่ถูกต้อง
เวลานอนก็นอนแบบไม่สบายใจ
มีแต่กังวล กินก็กินไม่เอร็ดอร่อย
อยู่แบบกินไม่ได้นอนไม่หลับ
เพราะการกระทำมีโทษนั่นเอง
ในทางตรงกันข้ามถ้าหาทรัพย์มาด้วยความสุจริต
ถูกต้องตามหลักศีลธรรม
ไม่ผิดกฎหมาย เงินทองที่ได้มาทุกบาทจะไม่มีโทษ
ไม่สร้างความวุ่นวายใจ
จะอยู่อย่างสุขสบาย กินก็สบายนอนก็สบาย
ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล
ว่าจะมีใครมาจับเข้าคุกเข้าตะราง
นี่คือความหมายของความฉลาดและความเฉลียว
ฉลาดคือรู้จักหาทรัพย์
แต่วิธีหาทรัพย์ก็ต้องเฉลียว
ต้องรู้ว่าวิธีที่หามานั้นถูกหรือผิด
ถ้าผิดก็อย่าไปหามา
ถึงแม้จะได้มาแต่ไม่คุ้มค่า
เพราะความสุขที่ได้จากการใช้ทรัพย์
จะไม่พอเพียงกับความทุกข์
ที่เกิดจากการไปหาทรัพย์มาโดยมิชอบ
ความทุกข์ใจจะกลบความสุขที่เกิดจากการได้ใช้ทรัพย์
เวลาใช้เงินใช้ทอง
ไปเที่ยวจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ตาม
จะมีความรู้สึกจืดๆ
ไม่ค่อยสบายใจ เพราะมีความกังวลอยู่ว่าจะถูกจับหรือไม่นั่นเอง แต่ถ้าหามาด้วยความบริสุทธิ์
ด้วยความสุจริตแล้ว
เวลาใช้ทรัพย์ก็จะมีแต่ความสุขโดยถ่ายเดียว ไม่มีความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำผิดมาบดบัง
การที่จะฉลาดเฉลียวได้ก็ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า
คือแสงสว่างแห่งธรรม
ดังที่ได้มาที่วัดกันอย่างสม่ำเสมอ
มาฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
ฟังถึงเหตุของความเจริญ
และเหตุของความทุกข์
เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ
ก็บำเพ็ญแต่เหตุนั้นๆไป
ความเจริญก็จะตามมา
อะไรที่เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความทุกข์
ความวุ่นวายใจ ก็ละเสีย
ความทุกข์ ความเสื่อมเสีย
ความวุ่นวายใจทั้งหลาย
ก็จะไม่ตามมา
ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังธรรม
ก็จะไม่มีแสงสว่างไปดับความมืดบอด
ที่เกิดจากความหลงภายในใจ
ก็จะดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิด
ดังคนที่อยู่นอกวัดมักจะทำกัน
จะสังเกตเห็นได้ว่า
คนที่อยู่นอกวัดมักจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์
ประพฤติผิดประเวณี
พูดปดมดเท็จ โกหกหลอกลวง
เสพสุรายาเมา เล่นการพนัน
เที่ยวกลางคืน เกียจคร้าน
เป็นสิ่งที่ทำกันอยู่เป็นปกติวิสัย
เมื่อทำไปแล้วก็มีแต่เรื่องวุ่นวายตามมา
ดังที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่แทบทุกวัน
มีข่าวฆ่ากัน ชิงทรัพย์กัน
ทำร้ายกันอยู่ตลอดเวลา
นี่ก็เป็นเพราะว่าจิตใจของคนที่อยู่นอกวัดนั้น
มีความมืดบอดครอบงำอยู่นั่นเอง
ไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมจึงไม่รู้จักผิด
ไม่รู้จักถูก ไม่รู้จักดี
ไม่รู้จักชั่ว ก็เลยทำแต่สิ่งที่ผิดสิ่งที่ชั่ว
เมื่อทำไปแล้วก็ต้องรับเคราะห์กรรมไป
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเลย
ถ้าทุกคนแสวงหาเวลา
สละเวลาสักอาทิตย์ละครั้ง
เข้าวัดเข้าวากัน
มาฟังเทศน์ฟังธรรม
มาปฏิบัติธรรม
ชำระขัดเกลาความมืดบอดที่มีอยู่ภายในใจให้ค่อยๆจางไป
เมื่อความมืดบอดจางไปมากน้อยเพียงไร
ความสว่างในใจก็จะมีมากขึ้นเพียงนั้น
เหมือนกับคนที่ถูกปิดตาไว้
ถ้าเอาสิ่งที่ปิดตาออกได้
ก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวได้
การที่จะทำให้คนที่ถูกปิดตาให้มองเห็นสิ่งต่างๆได้
ให้เห็นว่าสีต่างๆ เช่นสีแดง
สีเขียว สีขาว เป็นอย่างไร
ก็ต้องบอกให้เขาเอาที่ปิดตาออก
ถ้ายังมีสิ่งปิดกั้นตาอยู่
จะไม่สามารถมองเห็นได้
สีเดียวที่เห็นก็คือสีดำ
เพราะเวลาตาถูกปิดกั้น
ก็จะไม่เห็นสีอื่น
จะเห็นแต่สีดำอย่างเดียว
จะบอกเขาว่าสีแดง สีเขียว
สีขาว สีเหลือง
เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
อธิบายอย่างไรเขาก็จะไม่สามารถเข้าใจได้
แต่ถ้าช่วยบอกเขาให้ถอดสิ่งที่ปิดตาเขาอยู่ออกไป เมื่อสิ่งที่ปิดกั้นตาถูกเปิดออก
เขาก็จะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้
ก็จะรู้จะเข้าใจได้ทันทีว่าสีเขียว
สีแดง
สีเหลืองนั้นเป็นอย่างไร
ฉันใดความมืดบอดที่อยู่ในใจ
ก็เป็นเหมือนกับสิ่งที่ปิดกั้นดวงจิต
ไม่สามารถเห็นผิดถูกดีชั่วได้
ถ้าสอนให้เขาเอาสิ่งที่เป็นเครื่องปิดกั้นใจเขาออกได้
เขาก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆได้
เหมือนกับคนที่ไม่มีอะไรปิดกั้นใจ
เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายปฏิบัติธรรม
เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้โมหะความมืดบอด
ที่ปิดกั้นดวงจิตดวงใจ
ไม่ให้เห็นผิดถูกดีชั่วนั้น
ให้สลายหมดไป
ทำให้มองเห็นได้
การปฏิบัติธรรมจึงเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ
เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น
พระพุทธเจ้าไม่สามารถเสกเป่าให้เห็นผิดถูกดีชั่วได้
แต่ทรงสามารถสอนให้ปฏิบัติ
จนกำจัดสิ่งที่เป็นเครื่องปกปิดจิตใจ
ที่ทำให้มืดบอดออกไปได้
ทำให้มีดวงตาสว่าง
เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ การปฏิบัติธรรมจึงเป็นสิ่งเดียวเท่านั้น
ที่จะทำให้รู้เห็น
แยกแยะเรื่องผิดเรื่องถูก
เรื่องดีเรื่องชั่วได้
จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิต
ให้เป็นไปในทิศทางที่ดี
ที่งาม ที่สุข ที่เจริญ
จึงต้องปฏิบัติธรรมกัน
เพื่อให้ดวงตาสว่าง
มีแสงสว่างแห่งธรรม
การปฏิบัติธรรมแบ่งเป็น
๒ ขั้น ขั้นแรกเรียกว่าสมาธิ
ขั้นที่สองเรียกว่าปัญญา
ทั้ง ๒
ขั้นนี้จะเป็นเครื่องมือ
ที่จะทำให้โมหะความมืดบอดหมดไปจากจิตจากใจ
เวลาที่ทำสมาธิแล้ว จิตจะสงบลง
แล้วก็จะใส เหมือนกับน้ำที่ขุ่น
หลังจากได้รับการแกว่งสารส้มอยู่สักพักหนึ่ง
ตะกอนต่างๆ
ก็จะตกลงไปนอนก้น
ทำให้น้ำใสขึ้น
เห็นอะไรได้ชัด
ทำให้เห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในน้ำได้
ไม่ว่าจะเป็นปูปลา
หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในน้ำก็จะเห็นได้ชัด
ฉันใดเวลาทำจิตให้สงบด้วยการทำสมาธิ
เวลาจิตสงบนิ่งลงจิตก็จะใส
จิตก็จะเห็นความสุข
เห็นความทุกข์ เห็นความดีความชั่วที่มีอยู่ในใจ
แต่การทำสมาธิเป็นเพียงการกระทำจิตให้ใสได้เป็นครั้งเป็นคราว
ขณะที่จิตสงบเป็นสมาธิอยู่ตอนนั้นจิตก็จะใส แต่พอจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้วเริ่มคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
เริ่มไปทำโน่นทำนี่ ตะกอนต่างๆที่อยู่ก้นของจิต
ก็จะลอยขึ้นมา
ทำให้น้ำจิตนั้นขุ่นไป
เหมือนกับน้ำในตุ่มที่หลังจากที่ได้แกว่งสารส้มทำให้ตกตะกอนแล้ว
ถ้าเอาอะไรไปกวนน้ำในตุ่ม
ตะกอนที่นอนก้นอยู่
ก็จะลอยขึ้นมาปะปนกับน้ำอีก
ทำให้น้ำขุ่นมัวได้อีก
จิตก็เช่นเดียวกันเวลาออกจากสมาธิ
ออกจากความสงบ
ความใสก็จะหายไป
ทำให้เกิดความขุ่นมัวความมืดบอดกลับคืนมาอีก
เวลาไปทำอะไรก็จะต้องทำแบบผิดๆถูกๆอีก
แต่ถ้าใช้ธรรมะขั้นที่ ๒
ที่เรียกว่าปัญญา
ให้แยกแยะว่าอะไรผิดอะไรถูก
อะไรดีอะไรชั่ว
ทุกครั้งเวลาสัมผัสกับอะไร
ทำอะไร คิดเสียก่อนว่าทำอย่างนี้ถูกหรือไม่
หรือผิด เพราะทุกการกระทำมีทั้งดีและชั่ว
ทั้งผิดและถูก
เวลาจะลักทรัพย์ถามตัวเองเสียก่อนว่า
เป็นการกระทำที่ถูกหรือผิด
เป็นคุณหรือเป็นโทษ
ถ้ารู้ว่าผิดก็ไม่ทำเสีย
โทษก็ไม่ตามมา เวลาทำอะไรที่เป็นคุณเป็นประโยชน์
เช่นเวลาทำบุญทำทาน
ได้ช่วยเหลือผู้อื่น
อย่างนี้ถามตัวเองว่า
เป็นคุณหรือเป็นโทษ
เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นว่ามีแต่คุณไม่มีโทษ
ถ้าเป็นคุณทำไปก็มีแต่ผลดีตามมา
ไม่มีผลเสียตามมา นี่คือการใช้ปัญญา
รู้จักแยกแยะผิดออกจากถูก
ดีออกจากชั่ว
นี่คือการเจริญปัญญาในระดับหนึ่ง
ส่วนปัญญาอีกระดับหนึ่ง
ก็คือการศึกษาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยว่า
สิ่งต่างๆที่เราอยากมีอยากได้มาเป็นสมบัตินั้น
ธรรมชาติที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร
เป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเราตลอดไปได้หรือเปล่า หรือเป็นสิ่งที่ให้ความสุขในเบื้องต้นแล้วกลายเป็นความทุกข์ในเบื้องปลาย
ถ้าใช้ปัญญาวิเคราะห์ดู
ก็ต้องถามว่าสิ่งไหนที่เราอยากได้นั้น
ถ้าเป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอน
เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเราได้
สิ่งนั้นย่อมสามารถให้ความสุขกับเราได้ไปตลอด ไม่ใช่เป็นแต่ความสุขในเบื้องต้น
เช่นไปได้อะไรมาสักอย่างหนึ่ง
ของชิ้นนั้นจะอยู่กับเราไปตลอดหรือเปล่า
เราสามารถควบคุมดูแลให้อยู่กับเรา
ให้เป็นเหมือนเดิม
เหมือนกับที่ได้มาในวันแรกหรือเปล่า
ถ้าสามารถควบคุมได้
สามารถทำไม่ให้เปลี่ยนแปลงได้
ของชิ้นนั้นก็สามารถให้ความสุขกับเราได้ไปตลอด
แต่ความจริงแล้วของแบบนั้นมีหรือไม่ในโลกนี้
คิดว่าไม่มี
เพราะว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราได้มา
เวลาได้มาในเบื้องต้นก็จะเป็นของใหม่
แต่ปล่อยทิ้งไว้สักระยะหนึ่งก็จะต้องเป็นของเก่าไป
เสื้อผ้าเวลาซื้อมาก็ใหม่
แต่พอใช้ไปใส่ไปได้สักระยะหนึ่งก็เก่า
แล้วก็ขาดได้ หรือถ้าไปแขวนไว้
ไปตากไว้
เวลาเผลอก็อาจจะมีคนมาหยิบมาขโมยไปก็ได้
เมื่อเป็นสิ่งที่เรารักแล้วต้องสูญเสียไป
ใจของเรายังจะมีความสุขอยู่หรือเปล่า
หรือจะต้องเศร้าโศกเสียใจ
ร้องห่มร้องไห้
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
นี่คือการวิเคราะห์ด้วยปัญญา
ทุกครั้งที่ต้องการจะได้อะไรมาเพื่อให้ความสุขกับเรา
ต้องถามตัวเองเสมอว่าสิ่งที่จะให้ความสุขกับเรานี้
จะเป็นความสุขไปตลอดหรือเปล่า
หรือจะเป็นสุขตอนต้นแล้วเป็นทุกข์ตอนปลาย
ถ้าเป็นเช่นนั้นอย่าเอามาไม่ดีกว่าหรือ
ถ้าไม่มีสิ่งนั้นเสียแต่ต้น
ก็ไม่ต้องมาร้องห่มร้องไห้ในภายหลัง
เพราะว่าของทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือเป็นบุคคล
เป็นมนุษย์หรือเป็นเดรัจฉาน
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น
คืออนิจจังไม่เที่ยง
ทุกขัง
เป็นทุกข์ อนัตตา
ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของใครทั้งสิ้น
ทุกสิ่งทุกอย่างไหลเวียนไป
เปลี่ยนแปลงไป
มีเหตุมีปัจจัยเหมือนกับเมฆบนท้องฟ้า
ไม่มีใครสามารถไปบังคับให้เมฆเป็นไปตามความต้องการได้
เมฆจะต้องลอยไปตามลม
แล้วจะต้องตกลงมาเมื่อมีความหนักเกินกว่าที่จะลอยอยู่บนท้องฟ้าได้
ก็ตกลงมากลายเป็นฝน
เมื่อเป็นฝนก็ไหลลงไปในลำน้ำลำคลองลำห้วย
ไหลลงไปในทะเล แล้วในที่สุดก็จะระเหย
กลับขึ้นไปบนฟ้า
กลายเป็นเมฆไป
นี่เป็นเรื่องของสิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่มีอะไรคงสภาพเหมือนเดิมไปตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับร่างกายของเรา ที่ไม่อยู่คงเส้นคงวา ตั้งแต่เกิดมาก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ไม่เชื่อลองกลับไปดูภาพที่ถ่ายตอนคลอดออกมาใหม่ๆ กับตอนนี้เหมือนกันไหม ไม่เหมือนกัน ส่วนภาพที่ถ่ายในวันนี้ถ้ารออีกสัก ๑๐ หรือ ๒๐ ปี มาเปรียบเทียบดูอีก ก็จะรู้ว่าไม่เหมือนกันอีกเช่นกัน เพราะนี่ก็คือสภาพของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ จึงทรงสอนว่าเป็นของไม่เที่ยงอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่มีใครควบคุมบังคับได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไปยึดไปติดคิดว่าเป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับตน ก็จะต้องมีความทุกข์กับสิ่งนั้นๆ ในยามที่สิ่งนั้นๆเปลี่ยนแปลงไป สูญหายไป หมดไป จึงต้องมีปัญญา คือมีทั้งความเฉลียวและความฉลาด เป็นผู้นำทาง เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้