กัณฑ์ที่ ๑๗๕     ๓ กันยายน ๒๕๔๖

ชำระจิตใจ

 

การมาวัดเปรียบเหมือนกับการไปร้านซักรีดเสื้อผ้า  เสื้อผ้าที่ใส่แล้วสกปรก  ก็ต้องเอาไปที่ร้านเพื่อซักรีด ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแลรักษา ไม่ซักรีด เสื้อผ้าก็จะไม่สะอาด  วัดก็เป็นเหมือนกับร้านซักรีดที่ญาติโยมนำจิตใจมาชำระ ทำความสะอาด  ขัดเกลาสิ่งเศร้าหมองทั้งหลาย ที่เป็นเหตุของความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  ที่จะฉุดกระชากลากจิตใจให้ไปสู่ที่ต่ำ  ไปสู่ความเสื่อมเสียทั้งหลาย  แต่ถ้าได้มีการชำระอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งก็มาที่วัดสักครั้งหนึ่ง จิตใจก็จะค่อยๆสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา  เมื่อมีความสะอาดบริสุทธิ์มากน้อยเพียงไร ความสุขและความเจริญก็จะมีมากน้อยเพียงนั้น  ถ้าสามารถปฏิบัติขัดเกลาจิตใจจนสะอาดหมดจด ก็จะได้จิตที่สะอาดบริสุทธิ์  เป็นจิตที่ไม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ความเสื่อมเสียอีกต่อไป  เพราะความทุกข์และความเสื่อมเสียทั้งหมด ก็เกิดจากกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมองนี้เอง 

ไม่มีอะไรที่จะเป็นพิษเป็นภัยเป็นโทษกับจิตใจ ยิ่งกว่ากิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจ  และก็ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเท่ากับการชำระกิเลสตัณหา ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้กลั่นกรองออกมาแล้วจากการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเอง ได้ทรงปฏิบัติมาแล้วจนเห็นผล  ชำระพระทัยของพระองค์ให้สะอาดหมดจด หลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว  จึงนำมาประกาศสั่งสอนให้กับสัตว์โลก  เพื่อสัตว์โลกจะได้มีโอกาสหลุดพ้น จากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดนี้เสียที  ถ้าไม่ได้รับการชำระขัดเกลาแล้ว  จิตใจของสัตว์โลกก็ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น  เพราะเหตุที่พาให้ไปเกิดก็คือกิเลสตัณหานี้เอง  

การมาวัดกันอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นการกระทำที่ดี ที่ควรจะทำอย่างต่อเนื่อง และทำให้มากยิ่งๆขึ้นไป  เพราะจะมีแต่ผลดีกับตนเองและกับผู้อื่น  เพราะคนที่ไม่มีกิเลสอยู่ในใจนั้นต่างกับคนที่มีกิเลส  คนที่มีกิเลสอยู่กับใครที่ไหน ย่อมสร้างความวุ่นวายให้กับคนรอบตัวและกับตัวเอง  เพราะเวลามีความโลภความโกรธขึ้นมา ก็มีความทุกข์มีความร้อนรนอยู่ในใจแล้วก็ระบายออกไปสู่ผู้อื่น   มีความโลภก็ต้องไปแก่งแย่งชิงทรัพย์สินสมบัติข้าวของต่างๆกับผู้อื่น  มีความโกรธก็ต้องไปทำร้ายผู้อื่น  แต่ถ้าไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ที่ไหนก็จะไม่สร้างปัญหา ไม่เป็นปัญหาให้กับใคร  อยู่ที่ไหนก็จะอยู่ด้วยความสงบ เพราะใจไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีความร้อนรน มีแต่ความอิ่ม ความสงบ ความสุข จึงแผ่แต่ความสุข  ความสบายอกสบายใจให้กับผู้อื่น  นี่แหละคือผลที่จะเกิดขึ้นจากการขัดเกลาจิตใจอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการมาวัด ทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม  นั่งสมาธิ เจริญปัญญา  นี่คือเครื่องมือที่ใช้ในการขัดเกลาจิตใจ 

การขัดเกลาจิตใจต้องมีสติเป็นผู้นำ  เป็นผู้นำทั้งในการทำสมาธิและการเจริญปัญญา  ส่วนการทำบุญให้ทานกับการรักษาศีล ก็เป็นเหมือนผู้สนับสนุน คอยผลักดันให้จิตได้เข้าสู่การปฏิบัติสมาธิและปัญญา  สติจะเป็นผู้นำให้การปฏิบัติสมาธิและปัญญาเกิดผลขึ้นมา  ถ้าไม่มีสติแล้วจะไม่สามารถทำจิตใจให้สงบได้  จะไม่สามารถพิจารณาธรรมะให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงได้ เพราะจิตจะลอยไปลอยมา เหมือนกับเรือที่ไม่จอดนิ่งอยู่กับท่า ถ้าไม่ต้องการให้เรือไหลไปตามกระแสน้ำ ก็ต้องผูกเรือไว้กับท่าหรือทอดสมอไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นเรือก็จะไหลไปตามกระแสน้ำ   เวลาจะขนถ่ายสิ่งของและบุคคลขึ้นลงจากเรือ เรือต้องจอดนิ่งเสียก่อนถึงจะสามารถขนถ่ายสิ่งของและบุคคลได้ แต่ถ้าเรือไม่จอดนิ่ง ไหลไปไหลมา การขนถ่ายสิ่งของและบุคคลลงหรือขึ้นจากเรือ ย่อมเป็นไปด้วยความลำบากยากเย็น หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว เช่นเดียวกับการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจด ก็ต้องอาศัยจิตใจที่มีความสงบนิ่ง เพราะต้องขนถ่ายสิ่งที่สกปรก คือกิเลสตัณหา ออกมาด้วยปัญญา     จิตจะสงบนิ่งได้ ก็ต้องมีสติคอยเหนี่ยวรั้งไว้ ไม่ให้ลอยไปลอยมา 

ถ้าไม่มีสติเวลาทำสมาธิ เช่นไหว้พระสวดมนต์ หรือกำหนดพุทโธๆๆ หรือดูลมหายใจเข้าออก  จะไม่สามารถกำหนดดูอยู่ได้นานอย่างต่อเนื่อง  อาจจะกำหนดได้เพียงแค่ ๒ - ๓ นาที หรือไม่ถึงเสียด้วยซ้ำไป สวดมนต์ได้คำสองคำ ใจก็จะลอยไปคิดถึงเรื่องอื่นแล้ว ปากก็สวดไป แต่ใจก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ควบคู่กันไป  ถ้าเป็นอย่างนี้ จะทำให้ใจนิ่ง ให้สงบนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้  แต่ถ้ามีสติคอยเตือนตนให้รู้อยู่กับบทสวดมนต์  ถ้ากำลังสวดมนต์อยู่ ก็ให้มีความรู้คือสติ ให้รู้อยู่กับบทสวดมนต์ทุกบททุกคำ หรือถ้าจะกำหนดดูลมหายใจ  ก็ต้องมีสติรู้อยู่กับการเข้าออกของลมหายใจอย่างต่อเนื่อง เวลาหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า  หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก  โดยไม่ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆควบคู่กันไป  ให้รู้อยู่กับลมอย่างเดียว  หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า  หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก  หรือถ้าจะกำหนดคำว่าพุทโธๆๆ  บริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ ก็ให้รู้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆไป  อย่าปล่อยให้ใจลอยไปคิดเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตก็ตาม หรือเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม หรือเหตุการณ์ต่างๆรอบตัว เรื่องของคนนั้น ของคนนี้ 

ในขณะที่กำลังทำจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ต้องมีสติกำหนดรู้อยู่กับงานที่ให้จิตทำอยู่ในขณะนั้น  ถ้าสามารถควบคุมจิตด้วยสติให้อยู่กับอารมณ์ที่กำหนดไว้ได้อย่างต่อเนื่อง  จิตจะค่อยๆสงบตัวลง จนในที่สุดก็จะนิ่ง เหมือนกับรถที่ค่อยๆผ่อนคันเร่ง แล้วก็เหยียบเบรก ไม่ช้าก็เร็วรถก็จะต้องจอดนิ่ง   แต่ถ้าไม่ผ่อนคันเร่ง ไม่เหยียบเบรก แต่กลับไปเหยียบคันเร่ง รับรองได้ว่ารถจะไม่มีโอกาสจอดได้เลย เพราะมีแต่เครื่องผลักดันให้วิ่งไปอยู่ตลอดเวลา  จิตก็เช่นกัน จะทำให้จิตสงบนิ่งตั้งมั่นได้ ก็ต้องมีสติเป็นตัวเหนี่ยวรั้งไว้ คอยดึงไว้ให้อยู่กับบทสวดมนต์ ให้อยู่กับลมหายใจ ให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทั้ง ๓ อย่าง  คือจะทำอย่างไหน ก็ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง  ถ้าจะสวดมนต์ก่อนก็สวดมนต์ไป  ถ้าจะกำหนดบริกรรมพุทโธๆๆ ก็ให้บริกรรมพุทธโธๆๆไป  ถ้าจะดูลมหายใจเข้าออก ก็ดูลมหายใจเข้าออกไป  อย่างใดอย่างหนึ่ง  อย่าไปทำทั้ง ๓ อย่างพร้อมๆกัน  เราต้องการรวมจิตเป็นหนึ่ง ถ้าให้จิตทำงานหลายๆอย่าง จิตก็จะกระจายออกไป จะไม่รวมลงสู่ความเป็นหนึ่ง 

แต่ถ้าให้จิตอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นอารมณ์คอยผูกคอยดึงคอยล่อให้รวมลง ไม่ช้าก็เร็วถ้ามีสติคอยควบคุมอยู่  จิตก็จะรวมลงสู่ความสงบ  เมื่อจิตรวมลงสู่ความสงบแล้ว ในขณะนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะการกำหนดจิตก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป  เพราะตอนนั้นจิตจะนิ่ง  เหมือนกับรถยนต์เมื่อจอดดับเครื่องแล้ว ทุกอย่างก็เงียบสงบ  ตอนนั้นคนขับก็ไม่ต้องไปควบคุมรถ ไม่ต้องถือพวงมาลัย ไม่ต้องเข้าเกียร์เหยียบเบรก เพราะรถจะจอดนิ่ง เครื่องยนต์ก็ดับ  ในขณะนั้นจิตก็เป็นอย่างนั้น จะไม่คิดอะไร  จะมีแต่ความรู้อยู่กับตน เรียกว่าสักแต่ว่ารู้  รู้ว่าขณะนี้มีแต่ตัวรู้อยู่ตามลำพัง ไม่ได้ไปสนใจกับเรื่องราวต่างๆ อะไรทั้งสิ้น  ขณะนั้นมีแต่ความพอใจ มีแต่ความสุข มีแต่ความอิ่ม  นี่คือการขัดเกลากิเลสในขั้นแรก  การขัดเกลาด้วยสมาธิเพียงแต่ทำให้กิเลสตัณหาสงบตัวลง  แต่ยังไม่สามารถถอดถอนทำลายให้หมดไปจากจิตจากใจได้ เปรียบเหมือนกับการเอาหินไปทับหญ้าไว้   เวลาหญ้าถูกหินทับก็ไม่สามารถเจริญงอกงามขึ้นมาได้   แต่ถ้ายกหินออกจากหญ้าแล้วปล่อยทิ้งไว้สัก ๒ - ๓ วัน เมื่อได้รับแดด รับฝน รับน้ำ หญ้าก็จะเจริญงอกงามขึ้นมาอีก  เพราะยังมีรากอยู่ในดิน  

ฉันใดกิเลสตัณหาตัวที่สร้างความวุ่นวายใจ ก็เป็นเช่นนั้น  ในขณะที่อยู่ในสมาธิ กิเลสตัณหาก็ไม่สามารถทำงานได้  จิตก็ไม่มีอะไรมาก่อกวนให้เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว  ให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง  มีแต่ความสุข ความสบายใจ  แต่สมาธิก็เป็นสิ่งที่ไม่ถาวร  ตั้งอยู่ได้สักครู่หนึ่ง  ยาวหรือนาน ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปฏิบัติ  ถ้าปฏิบัติมากก็จะนิ่งอยู่นาน  ถ้าปฏิบัติน้อยก็นิ่งอยู่ไม่นาน  ไม่ช้าก็เร็วก็จะถอนออกมา  เวลาที่จิตถอนออกมาจากสมาธิ ก็จะเริ่มคิด เริ่มปรุง เริ่มรับสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย  แล้วก็มีการคิด การปรุง ก็เป็นโอกาสของกิเลสตัณหาที่จะทำงานต่อไป  เห็นอะไร ก็เกิดความอยากเกิดความชอบขึ้นมา  เห็นอะไร ก็เกิดความไม่ชอบไม่พอใจขึ้นมา  ได้ยินได้สัมผัสอะไร ก็จะเป็นอย่างนั้น  เพราะกิเลสมีโอกาสได้ทำงานแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนั้นถ้าต้องการที่จะกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป ในขั้นต่อไปก็ต้องใช้การเจริญปัญญา หรือวิปัสสนา  เพื่อให้จิตเข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย เช่นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ที่จิตไปมีความยินดียินร้ายด้วยว่า เป็นสิ่งที่ควรจะยินดีหรือไม่ ควรจะยินร้ายหรือไม่ ควรจะรังเกียจหรือไม่  เพราะถ้าไม่เข้าใจ มีความหลงอยู่ ก็จะเห็นดีเห็นงาม หรือเห็นไม่ดีเห็นไม่งาม กับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสกับจิต  ส่วนไหนที่ถูกอกถูกใจ ก็จะทำให้เกิดความโลภขึ้นมา ทำให้เกิดความอยากได้ขึ้นมา  ส่วนไหนที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็จะเกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ เกิดความแค้นความโกรธขึ้นมา 

แต่ถ้าใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาดูแล้ว  จะเห็นว่าสิ่งต่างๆที่ไปยินดีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีเลย  เพราะหลงคิดว่าจะเป็นความสุข  เช่น เห็นรูปที่ชอบ ก็คิดว่าเมื่อได้รูปนี้มาแล้ว จะให้ความสุข แต่ในทางปัญญานั้น ถ้าวิเคราะห์ลงไปลึกๆแล้ว จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น  เพราะโดยธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ไม่สามารถดำรงอยู่เหมือนเดิมได้ตลอดเวลา  วันนี้เป็นอย่างนี้ แต่พรุ่งนี้จะไม่เป็นอย่างวันนี้แล้ว  เช่นร่างกายของเราในขณะที่อยู่ในสภาพหนุ่มสาว ก็น่าดูสวยงาม  แต่ต่อไปไม่นานก็จะต้องแก่ และในที่สุดก็จะต้องตายไป  นี่คือความไม่แน่นอนของร่างกาย   แต่ถ้าไม่ใช้ปัญญา  เวลาเห็นใครเข้าสักคนหนึ่ง ก็จะชอบอกชอบใจ เพราะชอบในรูปร่าง  แต่ไม่เคยคิดว่ารูปร่างนั้น สักวันหนึ่งก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่อยู่เป็นหนุ่มเป็นสาวไปได้ตลอด  นี่เราไม่ได้คิดกัน เพราะไม่ใช้ปัญญา  ถ้าใช้ปัญญาแล้วจะต้องเห็นว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป  ความสุขที่ฝากไว้กับสภาพนั้นๆ ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดความสุขที่เคยได้จากรูปนั้น ก็จะหายไปหมดไป  กลายเป็นความทุกข์ไป 

นี่คือการเจริญปัญญา จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จิตไปยินดีไปอยากมีนั้นล้วนเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น  ไม่ให้ความสุขที่ถาวร  ไม่ช้าก็เร็วต้องมีการเสื่อมหมดไป  ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือเป็นข้าวของต่างๆ ก็เป็นเช่นนั้น  ได้รถมาใหม่คันหนึ่ง ขับไปสักพักหนึ่งเดี๋ยวก็เก่า  เดี๋ยวก็ต้องซ่อม  หรือไม่ก็ไปประสบอุบัติเหตุ หรือถูกขโมยไป  อย่างนี้ก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่มีรถยนต์ก็ไม่ต้องทุกข์กับรถยนต์คันนั้น ไม่มีรถก็ยังอยู่ได้  พระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านไม่มีสมบัติอะไรเลย แต่ท่านก็อยู่ได้ แล้วก็มีความสุขยิ่งกว่าพวกเราเสียอีก นั่นก็เป็นเพราะว่าท่านมีปัญญา  เวลามองอะไรจะเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น คือเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง แล้วก็เป็นสิ่งที่ควบคุมบังคับไม่ได้ 

เวลาที่ไปเห็นหรือสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบ เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้  เขามาตามเรื่องของเขา  เขาไม่ได้มาเพื่อเรา  เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  เราเพียงแต่ไปเจอเขาเท่านั้น  เราจึงต้องหัดทำใจยอมรับความเป็นจริงว่า มันเป็นปกติธรรมดา  เขามาแล้วไม่ช้าก็เร็วเขาก็ไป  แต่เราไปควบคุมบังคับเขาไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือควบคุมบังคับใจเรา  ไม่ให้ไปรังเกียจเขา  ปล่อยเขาไปตามเรื่อง  คน ๒ คน ทำไมเราถึงชอบคนหนึ่ง แล้วไปเกลียดอีกคนหนึ่ง  ทั้งๆที่คน ๒ คนก็มาจากสิ่งเดียวกัน ก็คือมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน  แต่เพราะกิเลสความหลง ไม่มีปัญญานั่นเอง ปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์  เห็นภาพไหน เห็นคนไหน ที่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความชอบขึ้นมา  เห็นภาพเห็นคนที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความเกลียดชังขึ้นมา  แล้วก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา  ต้องการหนีไปให้พ้นๆจากคนหรือภาพที่เราไม่ต้องการ ที่ไม่ชอบ แต่ถ้ามีปัญญาก็พิจารณาว่า ภาพหรือคนที่ชอบกับคนที่ไม่ชอบนั้น ก็เป็นเหมือนกัน ก็เพียงแต่ผ่านมาทางตาแล้วก็เข้ามาในใจเท่านั้นเอง  ตาก็ดูได้ ใจก็รับรู้ได้  ทำไมต้องไปยินดียินร้ายกับคน ๒ คน   ถ้ามองด้วยธรรมะ มองด้วยปัญญา ก็จะมองด้วยการปล่อยวาง  คือต้องเข้าใจว่าธรรมชาติคือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น เป็นสิ่งที่ควบคุมบังคับไม่ได้  เป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัยทำให้ปรากฏขึ้นมา แล้วไม่ช้าก็เร็วก็จะหายไป  นี่เป็นเรื่องของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่จิตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย 

ถ้าเจริญปัญญาให้เห็นถึงธรรมชาติแท้ของทุกสิ่งทุกอย่าง ว่าเป็นของไม่เที่ยง ควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไปยินดี ไปยึด ไปติด  แต่ถ้าเข้าใจ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป ก็จะไม่ยึด ไม่ติด  เป็นหนุ่มเป็นสาววันนี้ เดี๋ยวก็ต้องเป็นคนแก่ในวันพรุ่งนี้ ไปเอามาทำไม  ไปยินดีกับเขาทำไม ปล่อยเขาอยู่ไปตามเรื่องของเขาไม่ดีกว่าหรือ   เราอยู่ของเราตามลำพัง เราก็มีความสุขได้ ถ้ามีธรรมะไว้คอยกำจัดกิเลสตัณหา ตัวที่คอยก่อกวน ที่คอยสร้างความรู้สึกว่าไม่มี ว่าขาดแคลนสิ่งนั้นสิ่งนี้ ว่าไม่มีความสุข  ความรู้สึกว่าไม่มีความสุขนี้ ก็คือตัวกิเลสตัณหานี่เอง ที่คอยสร้างความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นมา  ให้รู้สึกว่ามีความว้าเหว่เหงาหงอย ถ้ามีสมบัติ มีข้าวของ มีเพื่อน มีคนนั้นคนนี้มาอยู่ด้วยแล้ว จะมีความสุข  แต่พอได้มาแล้ว เป็นอย่างไร  ความสุขก็มีอยู่บ้าง แต่เวลาเกิดความทุกข์ขึ้นมาแต่ละครั้ง ก็จะกลบทำลายความสุขให้หมดสิ้นไปเลย   เวลาต้องทุกข์กับคนที่อยู่ด้วยเป็นอย่างไร  บางคนถึงกับอยู่ด้วยกันต่อไปไม่ได้ก็มี ต้องเลิกราจากกันไป ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ก็คิดว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข  แต่พออยู่กันไปได้ไม่ช้าก็เร็ว ก็มีปัญหาขึ้นมา   แล้วในที่สุดก็ต้องเลิกรากันไป 

นี่แหละคือเรื่องราวของสิ่งต่างๆทั้งหลาย ที่จิตไปเกี่ยวข้องด้วย  แต่เพราะขาดปัญญานั่นเอง  ไม่เข้าใจในธรรมชาติของเขาว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  จึงไปหลงผิดคิดว่าเป็นสุขัง เป็นความสุข  เป็นสิ่งที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา  สามารถดูแลรักษาให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ตลอดเวลา  แต่เราก็ไม่สามารถฝืนความจริงได้  แล้วในที่สุดก็เป็นอย่างไรชีวิตของเรา  ก็ต้องทุกข์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้  ทุกข์กับคนนั้นทุกข์กับคนนี้  ทุกข์กับสิ่งนั้นทุกข์กับสิ่งนี้  และก็จะเป็นอย่างนี้ไปตลอด ไม่ว่ากี่ภพกี่ชาติที่มาเกิดใหม่  ถ้าไม่กำจัดกิเลสตัณหา ความโลภ โกรธ หลงแล้ว ทุกครั้งที่มาเกิด ก็จะดำเนินชีวิตแบบเดิมๆอย่างนี้ไป  เห็นอะไรที่ชอบ ก็อยากจะคว้ามาเป็นสมบัติ  เห็นอะไรที่ไม่ชอบก็อยากจะให้หายหมดไป อย่างนี้ชีวิตก็จะมีแต่ความวุ่นวายตลอดเวลา หาความสุขไม่ได้ แต่ถ้าสามารถปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา มีสติเป็นผู้นำ มีการทำบุญให้ทาน มีการรักษาศีลเป็นผู้สนับสนุนแล้ว ในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว กิเลสตัณหาที่เป็นเหตุของความทุกข์ ก็จะต้องถูกทำลายหมดสิ้นไป  เมื่อไม่มีกิเลสตัณหาอยู่ภายในใจแล้ว ใจก็จะไม่มีความรู้สึกหิวอยากกับอะไรเลย เพราะมีความอิ่ม มีความพออยู่ในตัว  จึงสามารถอยู่ตามลำพังได้  โดยไม่ต้องมีสมบัติข้าวของเงินทองหรือบุคคลต่างๆมาให้ความสุข เช่นพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ท่านไม่มีสมบัติอะไรภายนอกเลย ยกเว้นบริขาร ๘ ที่เรียกว่าอัฐบริขาร ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของสมณะ คือต้องมีปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหารบิณฑบาต  จีวร  ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย  นอกเหนือไปจากนั้นแล้วท่านไม่ต้องการอะไรอีกเลย เพราะมองเห็นด้วยปัญญาว่าเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น มีเงินก็ต้องทุกข์กับเงิน มียศก็ต้องทุกข์กับยศ มีสรรเสริญก็ต้องทุกข์กับสรรเสริญ มีกามสุขก็ต้องทุกข์กับกามสุข  เพราะเหตุใด เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ถาวรนั่นเอง  มีเงินวันนี้พรุ่งนี้ก็อาจจะหมดตัวได้  มียศวันนี้พรุ่งนี้ก็อาจจะถูกปลดได้  มีสรรเสริญในวันนี้พรุ่งนี้ก็อาจจะถูกตำหนิได้  มีกามสุขในวันนี้พรุ่งนี้ก็อาจจะหมดสิ้นไปก็ได้  เช่น มีสามี มีภรรยา  ก็มีความสุขกับสามีกับภรรยา  แต่อยู่ดีๆ วันดีคืนดี สามีหรือภรรยาต้องตายจากไปอย่างกระทันหันโดยไม่ได้คาดฝัน ความสุขที่เคยมีกับสามีกับภรรยาก็ต้องสูญสลายหมดไปในทันที  สิ่งที่จะตามมาก็คือความทุกข์อย่างมหันต์นั่นเอง  นี่เป็นเพราะว่าขาดปัญญา  ไม่ได้ปฏิบัติธรรมกัน  จึงมีความอ่อนแอ  จึงต้องถูกกิเลสเป็นตัวลากจูงไป  กิเลสเห็นอะไรชอบอะไร ก็ต้องวิ่งไปหาสิ่งนั้นมา  กิเลสไม่ต้องการสิ่งไหน ก็ต้องกำจัดสิ่งนั้น  หรือต้องหนีให้พ้นสิ่งนั้นไป  นี่เป็นเพราะว่าใจไม่เป็นอิสระ ไม่มีธรรมะเป็นผู้คอยปกครองดูแลรักษานั่นเอง  เพราะไม่ได้ปฏิบัติธรรม

แต่ถ้าได้ปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อย่างที่ท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติกันในวันนี้แล้ว ต่อไปจิตก็จะมีผู้ปกป้องดูแลคุ้มครองรักษา ไม่ให้วิ่งเข้าไปหาความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าไม่ศึกษาปฏิบัติธรรม แล้วปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ เราก็จะวิ่งเข้าหาความทุกข์ หาความเสื่อมเสียอยู่ตลอดเวลา  เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถที่จะปฏิบัติให้กันได้ เป็นสิ่งที่เราแต่ละคนจะต้องปฏิบัติกันเอง พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกท่านเป็นเพียงครูบาอาจารย์ เป็นผู้สอน เป็นผู้บอกทาง พวกเราเป็นผู้เดินทาง จะเดินไปตามทางที่ท่านสอนให้ไปก็ได้ หรือจะไม่เดินไปก็ได้  มันอยู่ที่ตัวของเราเอง ถ้าเป็นคนฉลาด ฟังแล้วเกิดศรัทธาขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นบุญของเรา แสดงว่าเคยได้ทำบุญมาก่อนในอดีต ได้ทำคุณงามความดี ได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมแต่ละครั้งจึงเกิดมีกำลังจิตกำลังใจ ที่จะปฏิบัติตาม  แต่ถ้าไม่เคยมีบุญมีกุศล ไม่เคยทำบุญทำกุศลมาก่อน เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม อาจจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ  เป็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ ไม่คิดว่าการกระทำความดีจะเป็นเหตุให้มีความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แสดงว่ายังถูกอำนาจของกิเลสตัณหาดูดกลับไป ให้กลับไปหาสมบัติข้าวของเงินทอง ให้กลับไปหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  ถ้ากลับไปหาสิ่งเหล่านั้นแล้วยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่จะตามมาต่อไปไม่ช้าก็เร็วก็คือความทุกข์ ความวุ่นวายใจนั่นเอง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างดังที่ได้แสดงไว้แล้ว ต้องมีการเสื่อมมีการหมดไป ในที่สุดแม้แต่ชีวิตของเราก็ต้องหมดไป ถ้าไม่มีปัญญาสั่งสอนจิตใจให้เตรียมรับกับสภาพเหล่านี้ เวลาเกิดการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวงไป ก็จะต้องเกิดความทุกข์อย่างใหญ่หลวง จึงควรสร้างปัญญาไว้ดูแลรักษาจิตใจ คอยสั่งสอนจิตใจให้เตรียมรับกับสภาพเหล่านี้ไว้ แล้วความทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่มีตามมา เพราะได้รับการชำระจนหมดสิ้นไปจากจิตจากใจ การสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้