กัณฑ์ที่
๑๗๖ ๑๐
กันยายน ๒๕๔๖
กิเลสมาร
พวกเราที่มาวัดกันอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งพรรษาและนอกพรรษา
ก็เนื่องจากว่าเรามีความเชื่อในพระพุทธเจ้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำสอนครั้งสุดท้ายก่อนที่จะทรงจากเราไป
ในพระปัจฉิมโอวาทได้ทรงเตือนสติพวกเราไว้ว่า
สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงหนอ
จงยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อม
ด้วยความไม่ประมาทเถิด
คำว่าไม่ประมาทนั้น
ทรงหมายถึงการไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
ไม่เลื่อนเวลาในการทำคุณงามความดี
ทำประโยชน์
ทั้งส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อม
การทำความดีที่ไม่มีโทษอันใดตามมานี้แหละ
คือการทำประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนท่าน
อย่างที่เราทั้งหลายได้มากระทำกันอย่างต่อเนื่องทุกๆวันพระ
ทุกๆวันเสาร์วันอาทิตย์
ด้วยการทำบุญทำทาน รักษาศีล
ฟังเทศน์ฟังธรรม
ปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์
เจริญสมาธิ เจริญปัญญา
เหล่านี้เป็นการทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งกับตัวเราและผู้อื่น
ด้วยความไม่ประมาท
คือทำอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ผัดไปวันข้างหน้า
เพราะรู้ว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยง
ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเรานี้
ความแก่ ความเจ็บ
ความตายนั้น
เป็นเรื่องธรรมดา
ที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามา
แต่เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนจริงๆ
ความตายอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้นเอง
คืออยู่ที่ลมหายใจ
ถ้าหายใจเข้าแล้วไม่ได้หายใจออก
ก็แสดงว่าความตายได้มาถึงแล้ว
หรือหายใจออกแล้วไม่ได้หายใจเข้า
นั่นก็เป็นความตายเหมือนกัน
ซึ่งไม่มีใครสามารถกำหนดได้
บังคับได้
ป้องกันได้ว่าจะให้เป็นไปในเวลาไหน
ในตอนเช้า ตอนกลางวัน
หรือตอนเย็น พรุ่งนี้
เดือนหน้า ปีหน้า
หรือสิบปีข้างหน้า
ความตายเป็นสิ่งที่ต่อรองไม่ได้
เมื่อถึงเวลาจะเกิดขึ้นก็จะเกิดขึ้นทันทีทันใด จึงไม่ควรประมาทในความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขารร่างกายนี้
จงคิดเสมอว่าวันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตของเราก็ได้
ถ้าไม่รีบฉวยโอกาสทำประโยชน์ให้กับตัวเราและกับผู้อื่น
ด้วยการทำความดี
อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำอย่างสม่ำเสมอ
คือทำบุญให้ทาน รักษาศีล
ปฏิบัติธรรม พรุ่งนี้อาจจะไม่มีเวลาที่จะทำก็ได้
แล้วโอกาสอันดีที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์
ได้มาเจอพระพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาได้ยากอย่างยิ่ง
ก็จะหมดไป
พระพุทธศาสนาไม่ใช่จะมีปรากฏอยู่ทุกภพทุกชาติที่เราเกิด
จะเกิดขึ้นมาแต่ละครั้งก็เป็นเวลาหลายกัปหลายกัลป์ และก็จะอยู่ได้ไม่นาน
อย่างศาสนาพุทธของเรานี้
พระพุทธองค์ทรงทำนายไว้ว่าจะอยู่ได้เพียง
๕๐๐๐ ปีเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะไม่มีใครรู้เรื่องของพระพุทธศาสนาอีกต่อไป
โลกก็จะเป็นโลกที่มีแต่ความมืดบอด
มีแต่ความหลง ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ
นรกสวรรค์ ไม่รู้จักเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
เรื่องการระงับดับของการเวียนว่ายตายเกิด
เพื่อเข้าสู่มรรคผลนิพพาน
จะมีแต่ในสมัยที่มีพระพุทธศาสนาอยู่เท่านั้น
พวกเราจึงถือว่าเป็นพวกที่มีโชค
๒ ชั้น คือ ๑.
ได้เกิดเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก
๒.
ได้มาเกิดในสมัยที่ยังมีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ มีคำสอนครบถ้วนบริบูรณ์
มีผู้ปฏิบัติ
มีผู้คอยชี้บอกทางแทนพระพุทธเจ้า
จึงถือว่าเป็นโอกาสอันเลิศ
อันประเสริฐ เป็นบุญเป็นวาสนาอย่างยิ่ง
จึงไม่ควรปล่อยให้ลาภอันประเสริฐนี้หลุดจากมือเราไป
โดยไม่ได้มีอะไรติดตัวไป
เวลาที่ตายไปจากภพนี้ชาตินี้
ถ้าเชื่อในพระพุทธศาสนา
ในพระธรรมคำสอนแล้ว
จะต้องเชื่อในเรื่องเวียนว่ายตายเกิด
ว่าภพนี้ชาตินี้เป็นเพียงแค่ชั่วขณะหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง
เพียงเสี้ยวเล็กๆของชีวิตอันยาวนานของเรา
ที่ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ
ต้องตาย ผ่านภพน้อยภพใหญ่มานับไม่ถ้วน
และก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปอีกหลายกัปหลายกัลป์ ถ้าไม่สะสมคุณงามความดี
ภพชาติของเราก็จะไม่หมดสิ้นไป
แต่ถ้าได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เราก็จะตัดภพตัดชาติให้น้อยลงไป
ภพชาติที่เหลืออยู่ในแต่ละภพแต่ละชาติ
ก็จะเป็นภพชาติที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
มีความสุขความเจริญมากขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่างชาตินี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์
มีความรู้ความสามารถในระดับหนึ่ง
มีรูปร่างหน้าตาในระดับหนึ่ง
มีฐานะการเงินการทองในระดับหนึ่ง
มีอายุขัยในระดับหนึ่ง
ถ้าสะสมบุญกุศลที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้บำเพ็ญกันแล้ว
ภพหน้าชาติหน้า
ก็จะได้กลับมาดีกว่าเดิม
ฐานะจะดีขึ้นสูงขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา
การเงินการทอง
สติปัญญาเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนขึ้น
จากการที่ได้สะสมกันไว้
ในแต่ละภพแต่ละชาติ
ไม่สูญหายไปไหน
จึงเป็นสิ่งที่ควรขวนขวายสะสมอยู่เสมอๆ
อย่าไปสะสมในสิ่งที่เอาติดตัวไปไม่ได้
เช่น ลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุข
ซึ่งเป็นสมบัติของโลกนี้
ของชาตินี้เท่านั้น
ถ้ามัวหลงติดอยู่กับลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุข
เมื่อตายไปก็จะไปตัวเปล่าๆ
แต่ถ้าเอาเวลา สติปัญญา
ความรู้ความสามารถ
และเงินทองที่มีอยู่
มาแปลงให้เป็นบุญเป็นกุศลจะดีเสียกว่า
เพราะเมื่อจากโลกนี้ไป
ก็จะได้มีสิ่งที่ดีที่งามรอรับอยู่ข้างหน้า
ทำให้ภพชาติข้างหน้ามีแต่จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ
เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสะสมบุญบารมีมาทุกภพทุกชาติ
ไม่ว่าจะเกิดมาในภพไหนชาติไหน
ถ้าได้เป็นมนุษย์ก็จะต้องมีการทำบุญทำทาน
รักษาศีล
ปฏิบัติธรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง
ไม่ทำบาปทำกรรม
ไม่สร้างเวรสร้างกรรมให้กับใคร
ยอมเป็นผู้แพ้ คำว่าผู้แพ้นี้ในความเป็นจริงแล้ว
ก็คือผู้ชนะอย่างแท้จริง
คือชนะกิเลสมารทั้งหลาย
ที่เป็นตัวผูกมัดให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด
ในภพน้อยภพใหญ่ไม่รู้จักจบจักสิ้นนั่นเอง
เวลาที่เราแพ้นั้น
เราชนะกิเลสมาร
คือชนะความโลภ ความโกรธ
ความหลง ซึ่งไม่มีคุณไม่มีประโยชน์กับจิตใจเลย
มีแต่จะสร้างความทุกข์
ความวุ่นวายใจ
ความเศร้าหมอง
ให้เกิดขึ้นกับจิตใจเท่านั้น
ถ้าเราชนะแบบกิเลส
คือชนะผู้อื่นด้วยการทำร้ายเขาก็ดี
ด้วยการเบียดเบียนเขาก็ดี
ด้วยการแก่งแย่งชิงดีก็ดี
ได้สมบัติ ได้ข้าวของมา
แต่สิ่งที่เสียไปก็คือความเป็นพระที่มีอยู่ในใจของเรานั่นเอง
พระต้องรู้จักแพ้
พระไม่ต้องการชนะใคร
พระต้องการชนะตนเท่านั้น
เพราะไม่มีการชนะอันใดจะประเสริฐเท่ากับการชนะตน เมื่อชนะตนแล้วทุกอย่างก็จบสงบลง
เพราะกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในจิตใจ
ที่สร้างความว้าวุ่นขุ่นมัวของจิต
ก็จะสงบตัวลง เมื่อสงบตัวลงแล้ว
จิตก็จะสงบ มีความสุข
มีความอิ่ม มีความพอ
มีความภูมิใจ แต่ถ้าไปชนะภายนอก
ชนะผู้อื่น
ก็จะไปสร้างเวรสร้างกรรมให้กับเขา
เมื่อเขาแพ้
ก็จะต้องเกิดความอาฆาตพยาบาท
เกิดความโกรธแค้น
ที่จะจองเวรจองกรรมกับเรา
และก็ไม่ใช่เป็นการชนะที่ถาวร
เพราะคนในโลกนี้ไม่ได้มีเพียงคนเดียว
มีเป็นล้านๆ ชนะคนนี้
เดี๋ยวก็มีอีกคนที่จะมาท้าชิงตำแหน่งอีก
ก็มีอยู่ไปเรื่อยๆ
จนในที่สุดก็ต้องแพ้เขา
เพราะไม่มีใครที่อยู่ในโลกนี้
จะเป็นผู้ชนะไปได้ตลอด เพราะโดยธรรมชาติของสังขารร่างกาย
สักวันหนึ่งก็ต้องอ่อนลง
แก่ลงไป กำลังวังชาก็จะต้องถดถอยน้อยลงไป
จะเอาอะไรไปต่อสู้กับผู้อื่นได้
แต่ถ้าเอาชนะพิษภัย
คือกิเลสมาร
ที่มีอยู่ภายในจิตใจของเราแล้ว
สงครามในจิตก็จะสงบลง
จะไม่มีการต่อสู้กัน
ระหว่างความโลภกับความไม่โลภ
ความโกรธกับความไม่โกรธ
ความหลงกับความไม่หลง
เพราะเมื่อความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ถูกทำลายหมดสิ้นไปด้วยอำนาจแห่งธรรมแล้ว
ก็ไม่มีอะไรที่จะมาสร้างความวุ่นวายให้กับจิตใจอีกต่อไป
จิตใจก็จะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
ไม่มีความหิวความกระหาย
ไม่มีความต้องการจากอะไรภายนอกอีกต่อไป
มีความรู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ภายในใจ อยู่ในใจที่สงบระงับจากกิเลสมารทั้งหลาย ปัญหาทั้งหลายของใจจึงไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนสิ่งภายนอก
เช่น ขาดแคลนทรัพย์ ลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข แต่อยู่ที่การขาดแคลนธรรมะ
อันเป็นเครื่องมือหรืออาวุธ
ที่จะใช้ทำลายกิเลสมาร
ที่สร้างความทุกข์
ความวุ่นวายใจให้กับใจ
ไม่รู้จักจบจักสิ้น
นี่แหละจึงเป็นเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนพวกเราให้ทำความดี
เพราะความดีนี้ก็คือธรรมะนั่นเอง
การทำความดีก็หมายถึงการทำอะไรก็ได้
ทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์
ไม่มีโทษกับตัวเราก็ดี
กับผู้อื่นก็ดี
หรือทั้งกับตัวเราและกับผู้อื่นก็ดี
ถือว่าเป็นธรรมะ เมื่อทำไปแล้วจะเกิดประโยชน์ทั้งกับตัวเราและกับผู้อื่น
อย่างการให้ทานที่ญาติโยมมาทำกันในวันนี้
ญาติโยมก็ได้ทำคุณประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับผู้อื่น
คือกับพระสงฆ์องค์เจ้า
ท่านก็ได้รับปัจจัย ๔
คืออาหารบิณฑบาต
จีวร ยารักษาโรค
ที่อยู่อาศัย ส่วนที่ญาติโยมได้รับก็คือความสงบ
ความสุขของจิตใจ
ที่เกิดจากการระงับดับของกิเลส
คือความโลภ ความตระหนี่
ความเห็นแก่ตัว
ความยึดมั่นถือมั่นในวัตถุข้าวของเงินทอง
เมื่อเราคลาย
เราปล่อยวางสิ่งเหล่านี้
ความทุกข์ความกังวลใจ
เกี่ยวกับสมบัติข้าวของเงินทอง
ที่เคยเป็นภาระที่ต้องแบกต้องคอยดูแลอยู่ก็หมดไป
แต่ถ้าไม่ได้ทำ
ไม่ได้เสียสละ ไม่ได้ให้
สมบัติข้าวของเหล่านั้นก็ยังอยู่กับเรา
เราก็ต้องกลายเป็นผู้ดูแลรักษาสมบัติข้าวของชิ้นนั้นต่อไปจนวันตาย
และก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากสมบัติข้าวของอันนั้นหลังจากที่ตายไป
เพราะไม่ได้เอามาแปลงมาเปลี่ยนให้เป็นบุญเป็นกุศล
คือธรรมะที่ไปดับกิเลสภายในจิตใจ
เมื่อกิเลสยังไม่ดับเวลาไปก็ต้องไปแบบกิเลสพาไป คือไปด้วยความทุกข์
ไปด้วยความวุ่นวายใจ และก็ต้องถูกกิเลสหลอกให้เป็นอย่างนี้ไปอยู่เรื่อยๆ
ต่อไปทุกภพทุกชาติ
แต่ถ้าเราปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ดังที่ได้มากระทำกันในวันนี้
เราตัดใจยอมเสียสละ
ยอมให้สิ่งที่มีค่าไป เมื่อให้ไปแล้วแทนที่ใจของเราจะทุกข์
กลับมีความสุข เพราะสบายใจ
เบาใจ เพราะว่าสมบัติข้าวของเงินทองนี้
ก็เหมือนกับของที่เราแบกอยู่บนบ่า
เวลาปลดเปลื้องออกจากบ่า
ให้ผู้อื่นไป เราก็เบาใจ
ผู้อื่นถ้าเขาโง่
เขารับไปแล้ว
เขาจะไปแบกมันต่อ
มันก็เป็นกรรมของเขา
แต่ถ้าเขาฉลาด
เขาก็จะรับเอาไปทำประโยชน์ต่อไป
เช่นเอาไปดูแลรักษาร่างกายของเขาให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย
ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
แล้วถ้ามีเหลืออยู่
ก็เอาไปจำหน่ายจ่ายแจก เอาไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
ไม่สะสมเก็บเอาไว้ให้กลายเป็นภาระ
ที่จะต้องแบกหาม
คอยเฝ้าดูแลอีกต่อหนึ่ง
เมื่อให้ของนั้นไปแล้ว
อย่าไปกังวลว่าบุคคลที่รับของนั้น
เขาจะเอาไปทำอะไรต่อไปอย่างไร
เพราะมันสุดวิสัยของเราแล้ว
มันพ้นจากหน้าที่ของเราแล้ว
หน้าที่ของเราคือเป็นผู้ให้
เมื่อให้ไปแล้ว
เขาจะไปทำดีทำชั่วอย่างไร
ก็เป็นเรื่องของเขา
แต่ถ้าเรารู้ทีหลังว่าเขาไปทำในสิ่งที่เกิดโทษ
ไม่เกิดคุณ ไม่เกิดประโยชน์
ทั้งกับตัวเขาเองและกับผู้อื่น
ต่อไปก็ไม่ต้องไปให้เขาอีก
เพื่อเป็นการป้องกัน
ไม่ส่งเสริมให้เขาไปทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
ซึ่งจะเกิดโทษกับตัวเขาเอง
และกับผู้อื่นนั่นเอง
เวลาที่ให้ไปแล้ว
ก็ขอให้ตัดใจคิดเสียว่าของนั้นๆ
ไม่ได้เป็นของเราเสียแล้ว
อย่ากลับไปที่บ้านแล้วเกิดความรู้สึกเสียดายกับของชิ้นนั้น
แล้วอยากจะได้กลับคืนมา
อย่างนี้จะกลายเป็นกิเลส
ไม่ใช่เป็นธรรมะ
เพราะเกิดความโลภอีกแล้ว
เพราะเดิมทีที่ให้
ก็เพื่อจะตัดความโลภ
ความยึดติดในสมบัติชิ้นนั้นนั่นเอง
เมื่อให้ไปแล้ว
ขอให้ให้แบบขาดไปจากใจ
อย่าไปถือว่ายังเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอยู่
เมื่อให้ไปแล้ว
ก็ถือว่าหมดสิทธิ์จากสมบัติชิ้นนั้นแล้ว
เป็นสมบัติของผู้อื่นไปแล้ว
ถ้าทำอย่างนี้ได้ใจจะเบา
จะมีความสุข แล้วถ้าเกิดจะต้องตายไปทันทีทันใด
ก็จะไปสู่สุคติ
แต่ถ้ายังมีความผูกพันกับสมบัติชิ้นนั้นอยู่ อาจจะต้องกลับมาเกิดในสถานที่ใกล้กับสมบัติหรือวัตถุชิ้นนั้น
ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร
ก็ขอให้ได้เกิด
เพราะมีความผูกพัน
ถ้าต้องไปเกิดในท้องสุนัขก็ยินดี
ต้องไปเกิดในท้องของจิ้งจกตุ๊กแกก็ยินดี
ทั้งๆที่ได้ทำบุญและควรเสวยบุญ
แต่กลับถูกกรรมที่หนากว่าที่หนักกว่าคือความห่วงใย
ความอาลัยอาวรณ์
ความยึดติดในสมบัติชิ้นนั้น
ทำให้ต้องกลับมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานชนิดใดชนิดหนึ่ง
เพราะอยากจะอยู่ใกล้กับสมบัติชิ้นนั้นนั่นเอง
เพราะฉะนั้นเวลาทำบุญ
ก็ขอให้ทำความเข้าใจว่า
ทำบุญเพื่อปล่อยวาง เพื่อตัด เพราะความจริงแล้วไม่มีอะไรที่จิตใจต้องมีเลย
ถ้าจิตใจได้รับการชำระกิเลสตัณหา
ซึ่งเป็นตัวคอยดึงจิตให้ไปผูกติดอยู่กับสิ่งต่างๆแล้ว
รับรองได้ว่าอยู่เฉยๆ
ก็มีความสุข มีความสุขยิ่งกว่าตอนที่มีสมบัติมากมายก่ายกองเสียอีก
เพราะถ้าไปยึดติดกับสมบัติแล้ว
ก็จะเป็นเหมือนคนพิการ
ที่ต้องอาศัยไม้เท้าหรือรถเข็นไว้เป็นเครื่องมือ
ช่วยพาให้ไปไหนมาไหน
ทั้งๆที่ไม่ใช่เป็นคนพิการ
สามารถเดินได้ด้วยตัวของเราเอง
แต่เพราะความหลง
ความเกียจคร้าน
ทำให้คิดว่าถ้ามีรถเข็นหรือมีไม้เท้าแล้ว
จะเดินได้สะดวกกว่า
จะไปไหนมาไหนได้สะดวกกว่า
แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งไม้เท้านั้นหายไป
หรือรถเข็นหายไป
ก็จะต้องเดือดร้อนวุ่นวาย
ฉันใดสิ่งต่างๆที่เราไปยึด
ไปติด ไปพึ่งพาอาศัย เช่น
สมบัติข้าวของเงินทอง ลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุขทั้งหลาย
ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเลย
แต่ถูกกิเลสตัณหา
โมหะอวิชชา
ความหลงหลอกให้ไปคิดว่า
ถ้ามีลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุขแล้ว
เราจะมีความสุขอย่างยิ่ง
แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่
กลับมีความทุกข์เพิ่มขึ้นมาอีก
เพราะต้องมีความห่วง
ความกังวล ว่าจะมีลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุข
ไปอยู่ตลอดเวลาหรือไม่
วันดีคืนดีเกิดสิ่งเหล่านี้จะต้องสูญสลายจากไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
เช่น เวลาไปติดคุกติดตะราง
ก็เหมือนกับสูญเสียลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุขไป
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันทีทันใด
ถ้าจิตใจไม่มีธรรมะคอยดูแลรักษา
วันดีคืนดีเกิดมีอารมณ์บูดเบี้ยวขึ้นมา
เกิดความบ้าคลั่งขึ้นมา
ไปฆ่าผู้อื่นเข้า
ก็จะต้องสูญเสียทุกอย่างที่เคยให้ความสุข
ต้องไปอยู่ในคุกในตะราง
หมดอิสรภาพ หมดลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุข
เพราะเรื่องของกรรมเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนนั่นเอง อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเข้าใจถึงหลักความจริงว่า
สิ่งต่างๆภายนอกนั้น
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขที่แท้จริง
ไม่ควรไปพึ่งสิ่งเหล่านั้น
แต่ควรพึ่งสิ่งที่มีอยู่ภายในใจของเรา
คือใจที่สงบ ใจที่สะอาด
ใจที่ปราศจากความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม
เกิดจากการทำความดี ต่อสู้กับความโลภ
ต่อสู้กับความอยาก
อยู่แบบเรียบๆง่ายๆ
พอมีพอกินก็พอแล้ว
ไม่ไปหลงฟุ้งเฟ้อกับสิ่งต่างๆภายนอก
มันเป็นของหลอก
ไม่ใช่เป็นของจริง
ไม่ได้ให้ความสุข
แต่ให้ความทุกข์
ความว้าวุ่นขุ่นมัว
ความวุ่นวายใจอยู่ตลอดเวลา
ถ้าฝึกอยู่แบบเรียบๆง่ายๆ
อยู่ตามมีตามเกิดได้
จะเป็นชีวิตที่มีความสุขภายในจิตใจ มีความสงบ มีความอิ่ม
มีความพอ จะไม่หวั่นไหวกับการเจริญหรือการเสื่อมของลาภ
ยศ สรรเสริญ กามสุข
เพราะไม่ได้ไปยึดไปติด
ไม่ได้ไปพึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องให้ความสุข
สมมุติว่าเราฝึกอยู่แบบเรียบๆง่ายๆ
อยู่ตามมีตามเกิดได้
เช่นพระท่านอยู่กัน
ถ้าเผื่อต้องไปเข้าคุกเข้าตะราง
จะไม่รู้สึกเดือดร้อนเท่าไรเลย
เพราะคุกตะรางกับการมาอยู่ในวัดนี้
ก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไร
เวลามาบวชก็เหมือนติดคุกติดตะรางเหมือนกัน เพียงแต่เป็นในลักษณะของความพอใจ
ความสมัครใจ ผู้ที่มาบวชนี้
ล้วนมาบวชด้วยความสมัครใจ
ไม่มีใครเอาปืนจี้หลังบังคับมาให้บวช
แต่มีอุปนิสัย
มีศรัทธาความเชื่อว่า
การอยู่แบบเรียบง่ายอย่างนักบวชนั้น
เป็นวิถีทางที่ถูกที่ควร
ที่จะให้ความสุขที่แท้จริง เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์อย่างแท้จริง
ถ้าสามารถอยู่แบบนักบวชได้
คือยินดีกับสภาพที่ตนเองมีอยู่
อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้
นอนที่ไหนก็นอนได้
ถ้าไม่กุฏิ
มีโคนไม้ก็นอนที่โคนไม้
มีถ้ำก็นอนในถ้ำ
มีเรือนร้างก็นอนในเรือนร้าง
ที่ไหนก็ได้
พอหลบแดดหลบฝนได้
ก็อยู่ได้แล้ว
ไม่กลัวโจรขโมยจะมาทำร้าย
เพราะไม่มีสมบัติอะไร
ผู้ที่จะถูกโจรขโมยมาทำร้าย
มาปล้น มาจี้
เป็นคนที่มีสมบัติเงินทองต่างหาก
ถ้าลองใส่เพชรใส่ทองให้เต็มตัวแล้วเดินไปคนเดียวในที่เปลี่ยว
รับรองได้ไม่ช้าก็เร็ว
ก็จะต้องถูกจี้ถูกปล้นอย่างแน่นอน
ดังนั้นเงินทองลาภยศถ้าไม่รู้จักดูแลรักษา
ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติให้ถูกต้อง
ก็จะกลายเป็นโทษขึ้นมาได้
กลายเป็นเหตุที่ทำให้ตายไปก็เป็นได้
อย่างคนบางคนในสมัยนี้
กลัวคนอื่นจะดูถูกเหยียดหยาม
ว่าไม่มีฐานะ
จึงต้องตะเกียกตะกาย
ไปหาซื้อเครื่องเพชรนิลจินดาต่างๆมาใส่
เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าตนเองมีฐานะ
มีเงินทอง แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นเป้าของอาชญากรไป ถ้าเผลอก็อาจจะต้องเสียชีวิตไปได้
นี่ก็เป็นเพราะความหลงนั่นเอง
คิดว่าคนเราจะมีความสุข
มีหน้า มีตา มีเกียรติ
ก็ต่อเมื่อมีลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุข แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
เพราะพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า
ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข นั้น
ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะทำให้พ้นทุกข์
ให้มีความสุข เพราะพระพุทธเจ้าก็เคยมีลาภ
ยศ สรรเสริญ กามสุขมากมาย
ในฐานะของราชกุมาร
ได้สัมผัสมาแล้ว
รู้ว่าไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริง
เพราะในจิตใจก็ยังมีความห่วง
มีความกังวลอยู่
เกี่ยวกับฐานะของตน
ว่าจะหมดสิ้นไปในวันใดวันหนึ่ง
เมื่อไรก็ไม่รู้
ความกังวลอันนี้ก็คือความทุกข์นั่นเอง
แต่เมื่อได้สละราชสมบัติแล้วมาอยู่แบบนักบวช
อยู่แบบเรียบง่าย
ต่อสู้กับกิเลสมารที่คอยชักใยชักจูงให้ไปหาลาภ
ยศ สรรเสริญ กามสุข
จนกิเลสมารที่มีอยู่ในจิตใจถูกทำลายหมดสิ้นไป
ก็เลยไม่มีอะไรที่จะมาคอยผลัก
มาคอยดึง ให้ไปหาลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุขอีก
เมื่อใจไม่มีตัวคอยผลักคอยดัน
ก็อยู่อย่างสงบ
อยู่อย่างสบาย
เพราะนี่คือธรรมชาติของใจที่สะอาดที่บริสุทธิ์
จะเต็มเปี่ยมไปด้วยบรมสุข ปรมังสุขัง นี่คือสภาพหรือธรรมชาติของใจ
ที่พวกเราทุกคนสามารถดัดแปลงให้เป็นได้
ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ด้วยความไม่ประมาท
คือพยายามทำความเข้าใจเสมอว่า
ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อทำบุญทำกุศล
ทำคุณทำประโยชน์เท่านั้น
เพราะเมื่อทำไปแล้วประโยชน์จะเกิดขึ้นกับตัวเราเป็นหลัก
และกับผู้อื่นเป็นรอง
คือได้ชำระกิเลสตัณหา
ที่เป็นตัวสร้างความทุกข์
สร้างภพสร้างชาติ
ให้หมดสิ้นไป เมื่อหมดสิ้นไปแล้ว
ก็จะอยู่อย่างสุขสบาย
ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล
ไม่ต้องมีปัญหากับอะไรทั้งสิ้น
เพราะจิตสามารถอยู่ตามลำพังได้
ไม่ต้องมีอะไรภายนอก
มีความสุขแล้ว มีความพอแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นปัญหาก็หมดไป
ไม่ต้องไปแสวงหา
ไม่ต้องไปทำอะไรอีก
อยู่อย่างนี้ไปตลอดอนันตกาล
นี่คือธรรมชาติของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์
ที่ได้รับการชำระจากการปฏิบัติธรรม
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติ
คือทำประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนท่าน
ให้ถึงพร้อม
ด้วยความไม่ประมาท การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้