กัณฑ์ที่  ๑๗๘       ๓ ตุลาคม ๒๕๔๖

สัปปายะ

 

ตั้งแต่เริ่มต้นพรรษามา มีศรัทธาญาติโยมได้มาบำเพ็ญบุญกุศลกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันพระนี้ก็เกือบจะครบพรรษา ๓ เดือน    เหลืออีกเพียงวันพระเดียว การที่ท่านได้มากันอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการบำเพ็ญบุญบารมี  บารมีในเบื้องต้นก็คืออธิษฐานบารมี ความตั้งใจ  เวลาจะทำอะไรให้สำเร็จบรรลุประโยชน์ได้ จำต้องมีการตั้งใจเสียก่อน คือการตั้งเป้าหมายว่าจะทำอะไร  อย่างเวลาจะมาวัด ก็ต้องกำหนดจิตใจไว้ล่วงหน้าก่อนว่า วันพระจะมาวัด เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายแล้ว ก็ต้องมีการดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดผลขึ้นมา  จึงต้องมีสัจจะบารมี ความจริงใจ เอาจริงเอาจังกับความตั้งใจที่ได้ตั้งไว้ ไม่ใช่สักแต่ว่าตั้งไปเฉยๆ พอถึงเวลาก็ไม่ได้ทำตามที่ได้ตั้งใจไว้  ถ้าขาดสัจจะก็จะไม่ได้ทำ  หรือถ้าทำก็จะไม่ได้ครบถ้วนบริบูรณ์  ผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากการปฏิบัติตามเป้าหมายนั้น ก็จะไม่ปรากฏ หรือปรากฏไม่สมบูรณ์ แต่ถ้ามีสัจจะบารมี ความจริงจังแล้ว ย่อมดำเนินไปตามเป้าหมายได้ ลุล่วงสำเร็จประโยชน์ได้ 

การจะบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ จำต้องมีวิริยะบารมี ความพากเพียรอุตสาหะ  เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำในสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้ ก็ต้องทำให้ได้ เช่นจะมาวัดทุกวันพระในช่วงเวลาเข้าพรรษา  พอถึงวันก่อนวันพระ ก็ต้องเตรียมซื้อข้าวซื้อของต่างๆ  ดูสภาพรถยนต์  ดูอะไรต่างๆที่จำเป็นต้องใช้เป็นเครื่องมือในการนำตนมาสู่วัด  เมื่อถึงเวลาก็ตื่นแต่เช้าอาบน้ำอาบท่า แต่งกายแล้วก็นำสิ่งของต่างๆที่ตั้งใจจะนำมาที่วัด ถึงแม้จะมีอุปสรรคต่างๆนานา  ฝนฟ้าจะตก  ไฟจะดับ ก็ไม่ท้อถอย เมื่อได้ตั้งใจไว้แล้วด้วยความจริงใจ ก็จะอุตส่าห์พากเพียรมาให้ได้  ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ  จะยากจะลำบากอย่างไร ก็จะใช้ขันติบารมี ความอดทน เป็นเครื่องมือต่อสู้ เมื่อได้กำหนดจิตไว้แล้วว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่ดีที่งาม ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น ก็ควรทำให้สำเร็จ  ซึ่งก็ต้องอาศัยบารมีที่ได้กล่าวไว้  คืออธิษฐานบารมี  สัจจะบารมี  วิริยะบารมี  ขันติบารมี  ถ้ามีบารมีทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว  การบำเพ็ญบารมีอย่างอื่นก็จะเป็นผลที่จะตามมาต่อไป 

คือเมื่อได้มาที่วัดแล้ว ก็จะได้ทำบุญตักบาตร  ถวายจตุปัจจัยไทยทาน  ถวายสังฆทานให้กับพระสงฆ์  เรียกว่าทานบารมี แล้วก็ยังได้สมาทานศีลต่างๆ  เช่นศีล ๕  ศีล ๘  ศีลอุโบสถ  เรียกว่าศีลบารมี และเนกขัมมะบารมี  คือศีล ๕ เป็นศีลบารมี   ศีล ๘ เป็นเนกขัมมะบารมี ละเว้นจากการหาความสุขทางกามารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย  ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  ได้แก่การละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว  ละเว้นจากการหาความสุขจากเครื่องบันเทิงต่างๆ  เช่นดูหนังดูละคร ร้องรำทำเพลง  ละเว้นจากการใช้เครื่องหอม ใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เป็นสีสันต่างๆ ไม่หาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  แต่จะมุ่งไปสู่ความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ ด้วยการปฏิบัติสมาธิ และ ปัญญา  นั่งสมาธิ เดินจงกรม อันเป็นเหตุที่จะทำให้จิตได้รับความสงบ 

เมื่อได้บำเพ็ญดังนี้แล้ว  ผลที่จะปรากฏตามมาก็คือปัญญาบารมี ความรู้ความฉลาด  เมตตาบารมี ความมีไมตรีจิตต่อมวลสัตว์ทั้งหลาย  และอุเบกขาบารมี ความสงบตั้งมั่นเป็นกลางของจิต ที่เกิดจากการบำเพ็ญศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี  ซึ่งล้วนเป็นเครื่องสนับสนุนกันและกัน  เวลาปฏิบัติมักจะปฏิบัติไปพร้อมๆกัน มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับสติปัญญากำลังของแต่ละท่านจะปฏิบัติกัน เปรียบเหมือนกับรถยนต์ที่มีชิ้นส่วนองค์ประกอบหลายชิ้นด้วยกัน มีทั้งล้อ มีทั้งกระบะ มีทั้งเครื่องยนต์ มีทั้งพวงมาลัย มีทั้งเบรก มีทั้งที่นั่ง ถ้าจะใช้เป็นพาหะนะเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ จำต้องมีองค์ประกอบที่ครบครัน ถึงจะดำเนินไปได้ด้วยความสะดวกราบรื่น ถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ  การบำเพ็ญบุญบารมีของสาธุชนทั้งหลาย ก็เปรียบเหมือนกับการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางอันประเสริฐเลิศโลก ที่เหล่าบรรดานักปราชญ์ทั้งหลายได้ดำเนินไปถึง เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  คือมรรค ผล นิพพาน แดนที่ปราศจากความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ  ที่สิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด    จะดำเนินไปถึงช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับบารมีทั้ง ๑๐ ที่ท่านทั้งหลายได้มาบำเพ็ญกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่องนี้

ถ้าบำเพ็ญไปเรื่อยๆแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็จะนำท่านเข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพาน ผู้ที่เข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพานนี้เรียกว่าพระอริยบุคคล  เริ่มต้นตั้งแต่พระโสดาบัน  ตามด้วยพระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์  นี่คือภูมิจิตภูมิธรรมต่างๆที่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญบุญบารมีทั้ง ๑๐ จะดำเนินไปถึง  เปรียบเหมือนกับการเดินทางจากกรุงเทพฯมาสู่ที่วัด  ก็จะต้องมีการขับรถขึ้นทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งเปรียบเหมือนกับกระแสแห่งพระนิพพาน  คือเมื่อได้ขึ้นทางด่วน ได้ขับอยู่บนมอเตอร์เวย์แล้ว ก็จะไม่มีอุปสรรคอะไรมาคอยกีดขวาง มากเหมือนกับขับอยู่ตามถนนทั่วๆไป เพราะถนนเหล่านี้ได้ถูกออกแบบไว้ให้วิ่งไปด้วยความเร็วสูง  สามารถถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่มีอุปสรรค  ไม่มีอะไรมาขัดมาขวางให้เสียเวลา การปฏิบัติก็เช่นกัน เมื่อลองได้ปฏิบัติเข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ก็เปรียบเหมือนกับเข้าสู่ทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ แห่งพระนิพพานนั่นเอง  มีแต่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยถ่ายเดียว  ไม่ช้าก็เร็ว ขึ้นอยู่กับความขยันหมั่นเพียร  ขึ้นอยู่กับสติปัญญาความฉลาดของผู้ปฏิบัติ  ถ้ามีความขยันหมั่นเพียรมาก  มีความฉลาดมาก  ก็จะสามารถบรรลุถึงพระอรหัตตผล พระนิพพานได้ในเวลาอันสั้นและรวดเร็ว  ถ้าฉลาดน้อยและมีความพากเพียรน้อย ก็จะใช้เวลายาวหน่อย  แต่ก็ไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก 

เมื่อลองได้เข้าถึงพระอริยบุคคลเบื้องต้นคือเป็นพระโสดาบันแล้ว  ภพชาติที่จำต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ก็จะลดเหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก  คือถ้าปฏิบัติไปแล้วยังไม่ได้บรรลุธรรมที่สูงไปกว่านี้  เมื่อตายไปก็จะได้กลับมาเกิดในสุคติ  เกิดเป็นเทพบ้าง เป็นพรหมบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง และก็มาบำเพ็ญปฏิบัติธรรมต่อไป จนบรรลุขึ้นสู่ธรรมอีกขั้นหนึ่งคือขั้นพระสกิทาคามี  ภพชาติก็จะเหลือเพียงชาติเดียว  ถ้ายังไม่ได้บรรลุธรรมที่สูงกว่านั้น หลังจากที่ตายไปแล้วก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเพียง ๑ ชาติเท่านั้น  ก็จะบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปคือขั้นพระอนาคามี ถ้ายังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อตายไปก็จะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทพอีกต่อไป  แต่จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม  แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์ชั้นพรหมนั้น เข้าสู่พระนิพพานไป 

นี่ก็คือจุดหมายปลายทางคือมรรค ผล นิพพาน  ที่ผู้บำเพ็ญบุญบารมีทั้งหลายจะได้รับ เป็นสิ่งที่จะตามมาต่อไป  จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับบุญบารมีที่บำเพ็ญกัน  ถ้ามีสัจจะบารมี  มีอธิษฐานบารมี  มีวิริยะบารมี  มีขันติบารมีแล้ว  รับรองได้ว่าการบำเพ็ญจะไปได้เรื่อยๆ  จะช้าบ้างจะเร็วบ้างก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมบ้าง  อาจจะมีอุปสรรคบางอย่างมาขัดขวาง เช่นบางทีก็มีธุระเรื่องราวต่างๆ กับทางบ้าน ทางครอบครัว บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้ไม่สามารถมาบำเพ็ญที่วัดได้  ก็ต้องดูแลรักษาคนป่วยคนเจ็บไปพลางๆก่อน  แต่ก็ยังสามารถบำเพ็ญได้ในสถานที่อยู่นั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถบำเพ็ญบุญบารมีได้  ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาที่วัดเสมอไป  เพียงแต่ที่วัดเป็นที่พร้อมที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการบำเพ็ญได้อย่างสะดวกสบาย อยู่ที่บ้านการบำเพ็ญอาจจะยากลำบากกว่า  เพราะบุคคลที่อยู่ร่วมกันอาจจะไม่มีความคิดความเห็นที่เหมือนกัน  แต่มีความคิดที่ตรงกันข้าม  มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน  อาจจะไม่ใช่เป็นคนชอบทำบุญทำทาน  ไม่ชอบรักษาศีล  แต่ชอบเล่นการพนัน  ชอบเที่ยวเตร่กินเหล้าเมายา  อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่คอยขัดขวาง เป็นอุปสรรคขวางกั้น ทำให้การบำเพ็ญบุญกุศลบุญบารมีไม่เป็นไปได้อย่างสะดวกราบรื่น มีแต่จะคอยเหนี่ยวคอยรั้ง คอยชวนให้ไปทำในสิ่งที่เขาชอบทำ แต่เราไม่ชอบทำ 

เราจึงต้องใช้ขันติบารมีเป็นเครื่องช่วยเหลือ  อดทนอดกลั้น  แม้เขาจะชวนไป ถ้าปฏิเสธได้ก็ปฏิเสธไป  ถ้าปฏิเสธไม่ได้จริงๆ จำเป็นต้องไปก็ไป เพื่อไม่ให้เสีย ไม่ให้เกิดโทษกับตัวเขาและตัวเรา  แต่ไม่ต้องไปทำแบบหลงงมงายตามเขา  ทำไปสักแต่เพียงเป็นกิริยา  แต่ใจไม่ได้มีความยินดีที่อยากจะทำด้วย  ทำไปเพราะความเกรงอกเกรงใจ  ทำไปเพราะรักษาน้ำใจของกันและกัน เมื่อมีเวลาว่างที่จะสามารถบำเพ็ญต่อไปได้ ก็บำเพ็ญต่อไป  การบำเพ็ญจึงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยภายนอกด้วย เรียกว่าสัปปายะ แปลว่าสะดวกสบาย เหมาะกัน เกื้อกูล เอื้ออำนวย มีอยู่ ๗ อย่าง ได้แก่ ๑. อาวาส ที่อยู่อาศัย  ๒. โคจร ที่บิณฑบาตหรือแหล่งอาหาร    ๓. ภัสสะ เรื่องพุดคุยที่เสริมการปฏิบัติ ๔. บุคคล ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วช่วยให้จิตผ่องใสสงบมั่นคง  ๕. โภชนะ อาหาร  ๖. อุตุ สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ  ๗. อิริยาบถ บางคนถูกกับการนั่ง บางคนถูกกับการเดินจงกรม บางคนถูกกับการยืน การปฏิบัติการบำเพ็ญจะสะดวกจะสบาย จะง่าย จะยาก จะลำบาก จะไปช้าไปเร็ว จึงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทั้ง ๗ นี้ เป็นสัปปายะหรือไม่สัปปายะ 

เช่นบุคคลต่างๆที่เราอยู่ด้วยเป็นสัปปายะหรือไม่  มีความคิดเห็นในทางเดียวกันหรือเปล่า  ถ้าทุกคนในบ้านชอบทำบุญทำทาน  ชอบบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี อย่างมีญาติโยมอยู่ครอบครัวหนึ่ง  มีลูกเต้าอยู่หลายคน  ลูกทุกคนก็ชอบบำเพ็ญบุญบารมี  ไม่มีใครแต่งงานเลยแม้แต่คนเดียว ถึงแม้อายุจะปาเข้าไป ๔๐ หรือ ๕๐ แล้ว ก็ยังไม่แต่งงานกัน  พ่อแม่ก็ชอบปฏิบัติธรรม ชอบไปวัด  เวลาไปวัดก็ไปพร้อมๆกันทั้งบ้าน  ทุกคนก็ช่วยสนับสนุนกัน  ถึงเวลาเตรียมตัวก็ช่วยกันเตรียมข้าวเตรียมของ ไม่ต้องทำเพียงคนเดียว  สมมุติว่าวันไหนเราไม่สบาย เราไม่ต้องทำก็ได้ มีคนอื่นเตรียมข้าวเตรียมของแทนเรา  พอถึงเวลาก็กระโดดขึ้นรถแล้วก็มาปฏิบัติต่อเลย  ส่วนวันอื่นถ้าคนอื่นเขาไม่สะดวกไม่สบาย  เราก็ทำแทนเขา เตรียมข้าวเตรียมของแทนเขา  เขาก็ไม่ต้องลำบากลำบน เขาก็ยังได้มาบำเพ็ญบุญบารมีร่วมกัน 

นี่คืออานิสงส์หรือประโยชน์ที่ได้รับ จากการได้อยู่ร่วมกับคนที่มีความคิด ความเห็น การปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน ชอบสิ่งเดียวกัน  การปฏิบัติก็จะเอื้อต่อกันและกัน  ช่วยกันหนุน ช่วยกันผลัก ช่วยกันดึง ทำให้การปฏิบัติเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นสะดวกสบาย  นี่คือบุคคลสัปปายะ บุคคลที่อยู่ด้วยกันช่วยส่งเสริมกัน ทำให้สะดวกทำให้สบายในการปฏิบัติ  นอกจากบุคคลแล้วสถานที่อยู่ก็มีส่วนมาก  จะเอื้ออำนวยในการปฏิบัติหรือไม่  อยู่วัดกับอยู่บ้านจะเห็นได้ว่าแตกต่างกัน  เวลาอยู่ที่บ้านการจะปฏิบัติทำบุญทำทาน รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์  นั่งสมาธิ  ฟังเทศน์ฟังธรรมจะไม่ค่อยเอื้ออำนวย  เพราะที่บ้านจะมีทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่  มีทั้งสิ่งต่างๆอะไรรอบบ้าน ที่มีแต่การส่งเสียง มีแต่เรื่องวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา  ทำให้การบำเพ็ญบุญบารมีเป็นไปด้วยความลำบากยากเย็น  แต่ถ้าได้มาอยู่ที่วัดก็จะเป็นสถานที่สงบ ผู้ที่อยู่ร่วมกันก็ตั้งอยู่ในความสงบ  ปฏิบัติธรรมร่วมกัน  มีข้อวัตรปฏิบัติอย่างเดียวกัน  เช่นตื่นแต่เช้าก็ต้องลงโบสถ์  ไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ  ตอนสายก็ต้องมาที่ศาลามาทำบุญตักบาตร  ตอนกลางวันก็มีการไหว้พระสวดมนต์  ตอนเย็นก็มีการเข้าโบสถ์ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ ซึ่งเป็นการเอื้ออำนวยในการบำเพ็ญบุญบารมี ทำให้สามารถดำเนินไปถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ยิ่งกว่าเวลาอยู่ที่บ้าน 

จึงไม่เป็นสิ่งที่แปลกเลย สำหรับบุคคลที่หลังจากได้บำเพ็ญบุญบารมีมาสักระยะหนึ่งแล้ว จะเกิดมีความรู้สึกว่าการอยู่ที่บ้านเป็นอุปสรรคขวางกั้น  มีแต่ความวุ่นวายรบกวนจิตใจ รบกวนความสงบ  ก็จะเกิดความรู้สึกอยากจะออกบวช  แล้วก็จะเริ่มคิดเริ่มเตรียมการ เริ่มมีอธิษฐานจิตว่าจะบวชให้ได้  เมื่อลองได้เริ่มตั้งจิตอธิษฐานแล้ว  ขั้นต่อไปก็จะเป็นการเตรียมการฝึกฝนชีวิต ให้อยู่เหมือนกับชีวิตของนักบวช ตั้งแต่ยังไม่ได้บวช  คือจะรักษาศีล ตั้งแต่ศีล ๕ ขึ้นไปสู่ศีล ๘  เช่นละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากมื้อเที่ยงไปแล้ว ไม่ดูหนังดูละคร  ไม่ออกไปเที่ยวเตร่  ไม่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดต่างๆ ไม่ใช้น้ำหอม  แต่จะอยู่แบบเรียบๆง่ายๆ  เอาเวลาที่ว่างจากการงาน มาอ่านหนังสือธรรมะ มาสวดมนต์ มานั่งทำสมาธิ  เจริญปัญญา  ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าพร้อมที่จะอยู่ในวัดเป็นเพศนักบวชแล้ว  ก็จะลาจากการเป็นฆราวาส เข้าสู่การเป็นบรรพชิตนักบวชบำเพ็ญบุญบารมีต่อไป จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่ปรารถนา 

เวลาจะบวชก็จะเลือกดูว่าวัดที่จะบวชหรือวัดที่จะไปอยู่ปฏิบัตินั้น เป็นวัดที่มีการปฏิบัติตามแนวทางที่ตนเองได้ปฏิบัติมาหรือไม่  มีครูบาอาจารย์ผู้รู้ ที่สามารถช่วยเหลืออบรมสั่งสอนให้ได้หรือไม่  มีสหธรรมิกที่สนใจในการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา มากน้อยเพียงไร  ถ้าไปเจอวัดที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้แต่กลับมีเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติบำเพ็ญบารมี เพื่อให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่ควรที่จะไปอยู่ในวัดนั้นๆ  เพราะจะเป็นการไปสู่สถานที่ที่ไม่สัปปายะนั่นเอง  คือไม่เอื้ออำนวย ไม่ส่งเสริมให้การปฏิบัติธรรมเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไปไป แต่จะเป็นการถ่วงดึงไว้ไม่ให้เจริญก้าวหน้า  เช่นไปบวชอยู่ในวัดที่มีการบำเพ็ญกุศลกันเยอะ  ญาติโยมชอบมาถวายสังฆทาน มีงานศพมาให้สวดอยู่เรื่อยๆ  มีกิจนิมนต์ให้ไปสวดตามบ้าน มีการก่อสร้าง มีการเสกเป่า มีการประพรมน้ำมนต์  มีมหรสพต่างๆเข้ามาแบบไม่ขาดสาย  ถ้าจะอยู่ในวัดอย่างนั้นก็ไม่ต่างกับอยู่ที่บ้าน  เพราะถึงแม้จะมีคำว่าวัดอยู่ แต่พฤติกรรมนั้นไม่มีคำว่าวัดเหลืออยู่เลย  มีแต่พฤติกรรมของชาวบ้านทั้งสิ้น  คือมีมหรสพ มีการทำกิจกรรมอะไรต่างๆมากมาย ที่จะคอยดึงจิตให้ออกข้างนอก  ไม่ได้ผลักจิตให้เข้าสู่ข้างใน  ถ้าไปอยู่วัดอย่างนั้นโอกาสที่จะเจริญรุ่งเรืองในทางจิตใจ ก็จะเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย 

ดังนั้นเวลาจะบวช จะปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังแล้ว  ผู้ปฏิบัติต้องใช้ปัญญาพิจารณาถึงสถานที่ ว่าเป็นสัปปายะหรือไม่  สถานที่ที่เป็นสัปปายะนั้น พระพุทธเจ้าทรงแนะว่าต้องเป็นสถานที่วิเวกสงบสงัด  ห่างไกลจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ที่เป็นเครื่องยั่วยวนกวนใจให้เกิดกิเลสตัณหา ความว้าวุ่นขุ่นมัวต่างๆ  จำต้องหลีกเลี่ยงสถานที่เหล่านั้น  เช่นพระบวชใหม่ทรงสอนไม่ให้ไปอยู่ตามวัดที่มีการก่อการสร้าง   ไม่ไปปักกลดอยู่ตามสี่แยกไฟแดง สถานที่มีคนพลุกพล่านสัญจรไปมา  ให้ไปปลีกวิเวกตามสถานที่สงบ เช่นในป่าช้า ในป่าในเขา ตามเรือนร้างที่ไม่มีคนอยู่  ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะเอื้ออำนวยต่อการบำเพ็ญบุญบารมี  แม้แต่ในสถานที่เหล่านี้ก็ยังมีที่มีความแตกต่างกัน  เพราะจริตนิสัยของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน  บางคนชอบที่โล่ง ที่ไม่มีอะไรปิดกั้น  บางคนชอบที่ในถ้ำ ที่มีที่ปิดกั้น แล้วแต่จริตนิสัย  เมื่อเวลาไปบำเพ็ญ ก็ต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ดูว่า สถานที่ที่ไปอยู่นั้น เวลาภาวนาเป็นอย่างไร  จิตเจริญรุ่งเรืองมากน้อยเพียงไร  มีความสงบมากน้อยเพียงไร  มีความแยบคาย มีความฉลาด รู้ทันกิเลสตัณหามากน้อยเพียงไร  ถ้าเป็นสถานที่ที่ได้รับประโยชน์ สถานที่นั้นก็ถือว่าเหมาะกับเรา  แต่ถ้าไปอยู่แล้ว รู้สึกอึดอัดใจ  บำเพ็ญภาวนาไม่ไปไหนเลย   ถ้าเป็นอย่างนั้น ที่อย่างนั้นก็ไม่เหมาะกับเรา 

จึงต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ว่า เป็นสัปปายะหรือไม่  บางคนไปอยู่ในถ้ำ ก็มีความรู้สึกว่าอากาศหนัก แต่ถ้าออกไปอยู่ตามหน้าผา ก็รู้สึกว่าโล่งสบายดี  นี่ก็สุดแล้วแต่จริตของแต่ละคน จะต้องรู้จักพิจารณา  นี่ก็คือความหมายของอุตุสัปปายะ  นอกจากอากาศแล้ว  สถานที่ที่จะไปอยู่ก็ต้องคำนึงถึงว่าอาหารที่รับประทาน เป็นสัปปายะหรือไม่  เพราะแต่ละที่แต่ละภูมิภาค อาหารก็ไม่เหมือนกัน  คนภาคกลางถ้าไปอยู่ทางภาคอีสาน จะรู้สึกว่าอาหารจะกินลำบากหน่อย เพราะไม่เคยปากนั่นเอง  หรือคนภาคอีสานถ้ามาอยู่ภาคกลาง ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน  แต่บางคนก็สามารถปรับตัวได้ ไม่มีปัญหาอะไร  เรื่องอาหารนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อรับประทานไปแล้ว ไม่เกิดความบกพร่องทางร่างกาย คือไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  ท้องไม่เสีย ท้องไม่อืด อย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องถูกปากถูกใจเสมอไป   อาหารอะไรก็ได้ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ทำให้มีความอิ่ม สามารถบำเพ็ญปฏิบัติธรรมไปได้ โดยไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน อย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว  ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารที่ถูกปากถูกใจโดยถ่ายเดียว จึงจะถือว่าเป็นสัปปายะ   แต่ถ้ารับประทานแล้วเกิดท้องเสีย ถ่ายอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีเวลา ไม่มีกำลัง ที่จะปฏิบัติธรรม  มัวแต่มายุ่งกับการหายารักษาโรคที่เกิดจากอาการท้องเสีย   การปฏิบัติก็จะเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะมีอุปสรรค  ดังนั้นเวลาไปอยู่ที่ใด รับประทานอาหารชนิดใด มีปัญหาหรือไม่อย่างไร  ต้องรู้จักพิจารณาแยกแยะ  ถ้าอาหารชนิดนี้กินเข้าไปแล้วทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ถูกกับเรา ก็ต้องเลิกกินอาหารชนิดนั้น ทั้งๆที่ถูกปากถูกใจ   แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วทำให้เกิดการเจ็บไข้ขึ้นมา ก็ไม่ควรรับประทาน 

นี่ก็คือเรื่องของเหตุปัจจัยรอบข้าง ที่จะเป็นเครื่องสนับสนุนหรือถ่วงรั้ง ให้การดำเนิน การปฏิบัติเป็นไปด้วยความรวดเร็วหรือเชื่องช้า ง่ายดายหรือยากเย็น เต็มไปด้วยอุปสรรค ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน  ผู้ปฏิบัติต้องวิเคราะห์ พิจารณาดูว่า คนที่อยู่ด้วยเป็นอย่างไร  สถานที่ที่อยู่เป็นอย่างไร  อากาศเป็นอย่างไร  หนาวเกินไปหรือเปล่า  ร้อนเกินไปหรือเปล่า ชอบอากาศแบบไหน บางคนชอบอากาศหนาว ถึงแม้จะหนาวอย่างไรก็ไม่รู้สึกว่าหนาว  บางคนชอบอากาศร้อน  ถึงแม้จะร้อนอย่างไรก็ไม่รู้สึกว่าร้อน  เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์พิจารณาดู  พยายามหาความสัปปายะให้ได้  ที่สำคัญที่สุดก็คือบุคคลสัปปายะ ครูบาอาจารย์ ผู้รู้จริงเห็นจริง ผู้ได้บรรลุธรรมแล้ว ผู้มีความสนใจในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา  ให้ได้บรรลุธรรมอันประเสริฐ  สัปปายะอื่นๆถือเป็นเรื่องรองลงมา  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้