กัณฑ์ที่ ๑๗๙ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๖
ความถูกต้อง
ชีวิตของพวกเราจะไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราปรารถนา
คือความสุขและความเจริญ
ได้หรือไม่นั้น
ก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของเราในแต่ละวัน
ในแต่ละชั่วโมง ในแต่ละนาที
ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด
โดยหลักแล้วก็จะมีอยู่ ๒
ทิศทางด้วยกัน
คือทางที่ไปสู่ความสุขความเจริญ
และทางที่ไปสู่ความเสื่อม
ไปสู่ความทุกข์
เหมือนกับขับรถยนต์
ก็มีทางเลือก เวลามาถึงทางแยก
จะไปทางซ้ายก็ได้
ไปทางขวาก็ได้ ไปทางซ้ายก็จะไปสู่จุดหมายปลายทางหนึ่ง ไปทางขวาก็จะไปสู่จุดหมายปลายทางอีกที่หนึ่ง
ชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น
เวลาจะทำอะไร
ก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำดีหรือไม่ทำดี
สิ่งที่จะทำนั้นต้องรู้ว่า
เมื่อทำไปแล้วจะเป็นเหตุให้ไปสู่ความสุขความเจริญ
หรือไปสู่ความเสื่อมเสีย
ไปสู่ความทุกข์
ชีวิตของเราจึงมีทางเลือก
แต่บางทีเราไม่รู้จักเลือก
เนื่องจากขาดปัญญา
ความรู้
ที่จะช่วยให้ตัดสินใจให้ถูกต้องได้
เราจึงต้องพึ่งพาอาศัยคนที่รู้อย่างพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย
ต้องเข้าหาพระศาสนาเพื่อศึกษาฟังธรรม
ฟังว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ดำเนินชีวิตอย่างไร
เพื่อจะได้ไม่ต้องไปสู่ความเสื่อมเสีย
ไปสู่ความทุกข์ แต่ไปสู่ความสุขและความเจริญ
คำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีอยู่มากมาย
แต่ก็หนีไม่พ้นจากกรอบใหญ่ๆ
ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๘ ข้อ เป็นความถูกต้อง
๘ ข้อ ถ้าสามารถปฏิบัติตามคำสอนทั้ง
๘ ข้อนี้ได้ ชีวิตก็จะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม มีแต่ความสงบร่มเย็นเป็นสุข
มีแต่ความเจริญอย่างแท้จริง
สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ดำเนินตามทั้ง
๘ ข้อนี้ เริ่มต้นด้วยข้อที่
๑ คือ ให้มีความเห็นที่ถูกต้อง
คือสัมมาทิฏฐิ
ให้รู้ว่าอะไรถูก
อะไรผิด อะไรเป็นบาป
อะไรเป็นนรก อะไรเป็นคุณ
อะไรเป็นโทษ อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าไม่รู้
ก็จะไม่สามารถทำในสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ได้
เหมือนกับคนที่ไม่รู้จักเลือกผลไม้
ว่าผลไหนเป็นผลสุก
ผลไหนเป็นผลดิบ ผลไหนเป็นผลดี
ผลไหนเป็นผลเน่า
ถ้าไม่รู้จักเลือกก็จะหยิบไปตามความรู้สึกนึกคิด ก็จะต้องคว้ามาทั้ง ๒
อย่าง คือทั้งสุกทั้งดิบ
ทั้งดีทั้งเน่า ปนกันไป
เพราะไม่มีปัญญาที่จะแยกแยะ
ว่าผลไม้แต่ละผลนั้นสุกหรือดิบอย่างไร
ดีหรือเน่าอย่างไร ถ้าจะไปซื้อผลไม้
ในเบื้องต้นก็ต้องศึกษาก่อนว่าผลไม้ต่างๆที่จะไปซื้อนั้น
มีลักษณะอย่างใด
ผลที่สุกเป็นอย่างไร
ผลที่ดิบเป็นอย่างไร
ผลที่ดีเป็นอย่างไร ผลที่เน่าเป็นอย่างไร
ถ้ารู้แล้วก็จะสามารถแยกแยะได้
แล้วก็เลือกเอาแต่ผลที่ต้องการ
ถ้าต้องการผลสุก
ก็เลือกเอาแต่ผลสุก
ผลดิบก็ไม่เอา
ต้องการผลที่ไม่เน่า
เอาผลที่ดี
ก็เลือกเอาแต่ผลที่ดี ผลที่เน่าเสีย
ก็ไม่เอามา
ฉันใดความเห็นที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ
คือความเห็นที่ถูกต้องนั้น
ก็ต้องมี เพราะถ้าไม่มีแล้ว
ก็จะไม่รู้ว่าการกระทำอย่างไร
เป็นการกระทำที่จะนำไปสู่ความสุขความเจริญ
การกระทำอย่างไร
จะนำไปสู่ความทุกข์
สู่ความเสื่อมเสีย
จึงต้องรู้จักบาปรู้จักบุญ
เพราะบาปและบุญเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกัน
การทำบุญพาไปสู่ความสุขความเจริญ
การทำบาปพาไปสู่ความทุกข์ความเสื่อมเสีย
จึงต้องรู้ว่าบุญเป็นอย่างไร
บาปเป็นอย่างไร
บุญคือการกระทำทางกาย
วาจา ใจ ที่มีแต่คุณไม่มีโทษ
กับตัวเราก็ดี
กับผู้อื่นก็ดี หรือทั้งกับตัวเราและกับผู้อื่นก็ดี บุญเมื่อทำไปแล้วจะมีแต่ผลดีตามมา ส่วนบาปคือการกระทำทางกาย
วาจา ใจ ที่มีแต่โทษไม่มีคุณ
กับตัวเราก็ดี
กับผู้อื่นก็ดี
หรือทั้งกับตัวเราและกับผู้อื่นก็ดี
บาปเมื่อทำไปแล้วจะมีแต่ความทุกข์
มีแต่ความเสื่อมเสียตามมา
จึงต้องละเว้นจากการทำบาป
เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา
เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน
คบคนชั่วเป็นมิตร
เกียจคร้าน
ซึ่งล้วนเป็นเหตุที่จะพาไปสู่ความทุกข์
ความเสื่อมเสีย
ในทางตรงกันข้ามถ้าต้องการความสุขความเจริญ
ก็ต้องทำบุญ คือละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมาและอบายมุขทั้งหลาย
ถ้าละเว้นจากการกระทำเหล่านี้ได้
ผลเสียก็จะไม่มีตามมา
นี่ก็คือความหมายของสัมมาทิฏฐิ
ความเห็นชอบ ต้องรู้ต้องมีความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
คือการกระทำนั้น ทำได้ ๒
รูปแบบ ทำแล้วพาไปสู่ความสุขความเจริญก็ได้
หรือทำแล้วไปสู่ความเสื่อมเสีย
ความทุกข์ก็ได้
จึงต้องรู้จักแยกแยะ
เมื่อรู้จักแยกแยะแล้ว
ความถูกต้องข้อที่ ๒
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ประพฤติปฏิบัติก็คือ
ให้มีความคิดที่ถูกต้อง
สัมมาสังกัปปะ เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว
ความคิดที่ถูกต้องก็จะตามมา
คือคิดทำแต่ความดี คิดทำแต่บุญ
คิดไม่ทำบาป คิดละเว้นจากการกระทำบาป
ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ต่อไปเวลาทำอะไร
ก็จะทำไปตามความคิดนั้นๆ
ถ้าไม่คิดหรือถ้าคิดในทางตรงกันข้าม
เช่นคิดจะทำแต่บาป
ไม่ทำบุญ ก็จะไปทำตามที่คิดนั้น
คนที่ไม่รู้จักเรื่องบาปบุญคุณโทษ
คือไม่มีสัมมาทิฏฐิ
ความคิดของเขาก็จะต้องเป็นไปตามอารมณ์
ตามจริตนิสัยที่เคยเป็นมา
ซึ่งส่วนใหญ่ในใจของคนเรานั้น
มักจะมีความมืดบอดหรือความหลงพาให้คิดไปในทิศทางที่ไม่ดี
การทำบาปเป็นสิ่งที่แทบจะไม่ต้องสอนกันเลย
สังเกตดูแม้กระทั่งลูกๆเด็กๆ
ที่เลี้ยงจนโตขึ้นมา
แทบจะไม่ต้องสอนเขาเลยในเรื่องการทำบาป
เพราะมีปลูกฝังติดมาอยู่ในใจแล้ว
เขามักจะคิดไปในทางนั้น
เวลาอยากจะทำอะไร
อยากจะได้อะไร
เขามักจะทำไปในทางบาปเสมอ
เช่นอยากจะได้อะไร
ถ้าขอไม่ได้
ก็จะขโมยหรือหยิบมาตามอำเภอใจ
ถ้าเห็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่เขาไม่ชอบ
ก็จะทำร้าย เพราะเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาในจิตในใจของพวกเราทุกๆคน
การกระทำความไม่ดีจึงเป็นสิ่งที่ง่ายและรวดเร็ว
เพราะจิตใจขาดความเห็นที่ถูกต้องนั่นเอง
ไม่รู้ว่าความคิด ความเห็น
จะนำไปสู่การกระทำ การพูด
ที่จะมีผลตามมา
ก็ทำไปตามอำเภอใจ
นึกอยากจะทำอะไรก็ทำไป
นี่คือกรณีที่ยังไม่ได้รับความรู้จากพระศาสนา ยังไม่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมคำสอน
ก็จะเป็นอย่างนั้น
มักจะทำบาปทำกรรมกันตามอำเภอใจ
ทำแต่สิ่งที่เสื่อมเสีย
เล่นการพนัน เสพสุรายาเมา
เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร
เกียจคร้าน สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่ต้องมีใครสอนเลย
เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังอยู่ในจิตในใจมาเป็นเวลายาวนาน ถ้าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีความเห็นที่ถูกต้อง
ก็จะคิดไปในทางที่ไม่ดีไม่ถูกไม่ควรนั่นเอง
คือจะทำบาปทำกรรมเรื่อยๆไป
แต่ถ้าได้ยินได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
รู้ว่าบาปมีจริง
บุญมีจริง เกิดจากกระทำ
เกิดจากความคิด
ก็ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงความคิด
เวลาคิดจะทำบาป
ก็ต้องหักห้ามยับยั้งไว้
เวลาคิดจะทำความดี
ก็ต้องส่งเสริม ต้องผลักดัน
อย่างวันนี้ที่มาวัดกัน
ก็เพราะมีความคิดดี
คิดจะมาทำบุญที่วัด ให้ทาน
รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม
เป็นความคิดที่ดี
ที่จะนำไปสู่การกระทำที่ดี
ถ้าไม่เปลี่ยนใจเสียก่อน
ที่มาวัดได้ก็เป็นเพราะว่า
เมื่อเริ่มคิดที่จะทำความดีแล้ว
ก็ทำตามความคิดนั้น ไม่ได้เปลี่ยนใจ
บางคนคิดจะทำความดี
แต่พอถึงเวลา
ก็มีมารมาขัดขวาง มาหลอกล่อ
ให้ไปทำในสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจทำ
จึงต้องมีความระมัดระวัง
เมื่อคิดอะไรแล้ว
ถ้าเป็นความคิดที่ดี
ให้รีบทำเสีย อย่าให้มีความลังเลสงสัยเกิดขึ้นมา
เพราะจะไม่ได้ทำความดี
แล้วจะกลายเป็นนิสัยไป
เวลาคิดจะทำความดีทีไร
ก็จะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ
จนในที่สุดก็จะไม่ได้ทำความดี
มัวแต่ทำในสิ่งที่ไม่ดีให้กับชีวิตของตน
แล้วผลก็จะค่อยๆทยอยปรากฏขึ้นมา
เพราะการกระทำไม่ทำให้เกิดผลขึ้นมาทันทีทันใด
การกระทำเป็นเหมือนกับการปลูกต้นไม้
ปลูกวันนี้
ต้นไม้จะไม่เติบโตขึ้นมาทันทีทันใด
ต้องใช้เวลา
รดน้ำพรวนดินให้ค่อยๆเจริญเติบโต
ผลต่างๆที่เกิดจากการกระทำ
ส่วนใหญ่ก็ต้องใช้เวลา
ถึงจะค่อยๆปรากฏเป็นผลขึ้นมา
แต่ถ้าไม่กระทำเลย มัวแต่ไปทำในสิ่งที่ไม่เป็นคุณเป็นประโยชน์
ชีวิตในเบื้องหน้าก็จะไม่ได้รับผลที่ดีที่งามที่ต้องการกัน
ดังนั้นเมื่อมีความคิดที่จะทำความดี
คิดละเว้นจากการกระทำความชั่วแล้ว
ก็ขอให้รีบทำเสีย และทำให้บ่อยๆ
ทำให้มากๆ
เพื่อจะได้ติดเป็นนิสัย
เมื่อติดเป็นนิสัยแล้ว
ต่อไปก็จะง่าย
จะไม่มีอะไรมาขัดขวางได้
นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มี
คือให้มีความเห็นที่ถูกต้อง
ความคิดที่ถูกต้อง
เมื่อมีความคิดที่ถูกต้องแล้วก็จะนำไปสู่ข้อที่
๓ คือการกระทำที่ถูกต้อง
สัมมากัมมันตะ เมื่อรู้ว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
การลักทรัพย์
การประพฤติผิดประเวณี
เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
ก็ละเว้นเสีย การละเว้นก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง
จะทำอะไรก็ได้แต่อย่าไปทำร้ายชีวิตผู้อื่น
อย่าไปเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน
อย่าไปเอาสามีภรรยาของผู้อื่นมาเป็นของตน
ถ้าทำได้แล้ว
ชีวิตก็จะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม
ด้วยความสุข ด้วยความเจริญ
ข้อที่ ๔
ทรงสอนให้มีการพูดที่ถูกต้อง
สัมมาวาจา คือไม่พูดในสิ่งที่เกิดโทษกับตัวเราก็ดี
เกิดโทษกับผู้อื่นก็ดี
หรือเกิดโทษทั้งกับตัวเราและผู้อื่นก็ดี
คือให้ละเว้นจากการพูดปด
พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
พูดส่อเสียด เพราะการพูดทั้ง
๔ อย่างนี้
ไม่เกิดคุณเกิดประโยชน์
มีแต่จะเกิดโทษตามมา
จึงควรหลีกเลี่ยงเสีย
อย่าไปพูด อย่าพูดปด
ให้พูดแต่ความจริง
อย่าพูดคำหยาบ
ให้พูดแต่คำที่สุภาพเรียบร้อย
อย่าพูดเพ้อเจ้อเรื่องไร้สาระ
ให้พูดในสิ่งที่มีสาระ
เช่นพูดคุยเรื่องธรรมะ
เรื่องการปฏิบัติธรรม
เรื่องการทำความดีงามทั้งหลาย
ซึ่งเป็นคำพูดที่มีคุณมีประโยชน์
อย่าไปพูดส่อเสียด
ยุยงให้เกิดความแตกแยกสามัคคี
เวลาพูดอะไรควรพูดเพื่อรักษาความเป็นปึกแผ่นของสังคม
ของคนที่อยู่ร่วมกัน
อย่าไปยุยงให้เกิดความแตกแยก
เกิดความเกลียดชังต่อกันและกัน
เพราะจะนำมาซึ่งความวุ่นวายในสังคม
ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กหรือสังคมใหญ่
ในบ้านก็ดี ในวัดก็ดี
ในจังหวัด ในประเทศก็ดี
ให้พูดกันเพื่อความสมัครสมานสามัคคี
กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อย่าพูดเพื่อให้เกิดความแตกแยกกัน
ข้อที่ ๕
ทรงสอนให้ประกอบอาชีพที่ถูกต้อง
สัมมาอาชีวะ อย่าประกอบมิจฉาชีพ
สัมมาอาชีวะก็คือการประกอบอาชีพ
ที่ไม่ผิดศีล ผิดธรรม
ผิดกฎหมายของบ้านเมือง
เช่นค้ายาเสพติด
แม้บางอาชีพที่ถูกกฎหมายของบ้านเมืองแต่ก็เป็นอาชีพที่ไม่ควรจะไปเกี่ยวข้องด้วย
ก็คือการค้าขายสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับผู้อื่น
เช่นขายสุรายาเมา
ขายสิ่งที่เป็นพิษทั้งหลาย
เช่นยาฆ่าสัตว์ฆ่าแมลง
อย่างนี้เป็นต้น
หรือค้าอาวุธต่างๆ ที่ทำร้ายชีวิตผู้อื่น
รวมไปถึงพวกเบ็ด
พวกกับดักสัตว์ทั้งหลาย
ก็ไม่ควรขาย
เพราะเป็นการส่งเสริมให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตต่อกันและกันนั่นเอง
ถึงแม้จะไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง
แต่ก็ไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น
ไม่ได้ทำให้สังคมสงบร่มเย็นเป็นสุข
แต่ทำให้สังคมเบียดเบียนกัน
ฆ่าทำร้ายกัน
เอารัดเอาเปรียบกัน
จึงไม่สมควรที่จะประกอบอาชีพเหล่านี้
ควรประกอบอาชีพที่เป็นคุณเป็นประโยชน์
เช่นเป็นหมอ เป็นพยาบาล
รักษาโรคภัยไข้เจ็บ
เป็นชาวนาชาวไร่
ผลิตพืชพันธุ์อาหารเลี้ยงปากท้องผู้อื่น
อย่างนี้เรียกว่าเป็นสัมมาชีพ
คืออาชีพที่ไม่ทำร้ายชีวิตผู้อื่น
ข้อที่ ๖
ทรงสอนให้มีความเพียรที่ถูกต้อง
สัมมาวายามะ คนเราจะเพียรไปในทางที่ถูกก็ได้
ในทางที่ผิดก็ได้
เช่นเพียรในการขโมย ปล้น
จี้ เพียรฆ่าผู้อื่น
อย่างนี้เป็นความเพียรที่ไม่ถูกต้อง
ความเพียรที่ถูกก็คือ
เพียรกระทำในสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์
เพียรละเว้นจากการกระทำที่เป็นโทษ
เพียรรักษาการกระทำที่ดีที่งามที่ได้เคยทำไว้
ให้ได้ทำต่อไป
เพียรป้องกันการกระทำที่ไม่ดีที่ได้เลิกไปแล้ว
ไม่ให้หวนกลับคืนมาอีก
เช่นเคยละเว้นจากการเสพสุรายาเมา
เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืนแล้ว
ก็ไม่ให้หวนกลับไปทำอีก
นี่ก็คือความหมายของความเพียรที่ถูกต้อง
คือเพียรทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
เพียรละเว้นการกระทำความชั่วทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
เพียรรักษาการกระทำความดีไม่ให้สูญหายไป
และเพียรรักษาป้องกันไม่ให้ความชั่วการกระทำที่ไม่ดีที่ได้เลิกแล้ว
ให้หวนกลับคืนมาอีก
ข้อที่ ๗
ทรงสอนให้มีการระลึกรู้ที่ถูกต้อง
สัมมาสติ ไม่ว่าจะทำอะไรทรงสอนให้มีสติ
ให้รู้อยู่กับการกระทำ
ขณะนี้กำลังคิดอะไร
ก็ให้รู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ เมื่อคิดแล้ว
จะไปพูดไปทำอะไร
ก็ให้รู้ว่ากำลังพูดกำลังทำอะไรอยู่
ให้รู้ว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่
เมื่อรู้ว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง
ก็ยกเลิกเสีย เช่นเคยเลิกเสพสุรายาเมามาแล้ว
วันดีคืนดีเกิดความรู้สึกเปรี้ยวปากขึ้นมา
อยากจะเสพสุราขึ้นมา
ก็คิดจะไปหาสุรามาดื่ม
อย่างนี้ต้องมีสติรู้แล้วว่า
เวลานี้กำลังคิดไปในทางที่ไม่ถูกไม่ต้องไม่ดีไม่งาม
ก็ควรยกเลิกความคิดนั้นเสีย
เพราะถ้าไม่ยกเลิก ปล่อยให้ความคิดนั้นพาไป
ก็ต้องไปหาสุรามาเสพ
เมื่อเสพไปแล้วครั้งหนึ่ง
ก็อยากจะเสพอีก
ถ้าไม่หยุด
ก็จะเสพจนกลายเป็นนิสัยขึ้นมาได้
แต่ถ้ามีสติรู้อยู่กับการกระทำทั้ง
๓ คือความคิด การพูด
การกระทำทางกายแล้ว
รู้อยู่ว่ากำลังคิด
กำลังจะทำอะไรอยู่
ก็จะหยุดได้ สมมุติว่าเผลอไป
ไม่ทันความคิดที่อยากจะเสพสุรา
แต่พอออกไปนอกบ้านเพื่อไปซื้อสุรา
เกิดมีสติขึ้นมา
รู้ว่ากำลังไปทำในสิ่งที่ไม่ถูก
ก็ยังสามารถระงับยับยั้งได้
แต่ถ้าไปซื้อสุรามารินใส่แก้วแล้วก็ดื่มเข้าไป
ถึงตอนนั้นยังไม่รู้สึกตัว
ก็แสดงว่าไม่มีสัมมาสติ
ความระลึกรู้ที่ถูกต้องแล้ว
สิ่งที่จะตามมาต่อไป ก็คือความทุกข์ความเสื่อมเสีย
จึงต้องฝึกให้มีสติรู้อยู่กับกาย
วาจา ใจอยู่เสมอ
ขณะนี้กำลังนั่งอยู่
กำลังฟังธรรมะอยู่ แต่ในขณะเดียวกันใจกำลังคิดอะไรอยู่หรือเปล่า
ถ้ามีสติก็จะรู้ ถ้าไม่มีสติก็จะไม่รู้
หูฟังไป
แต่ใจก็จะคิดอะไรเรื่อยเปื่อยตามไปด้วย
แต่ถ้ามีสติรู้อยู่ว่าขณะนี้กำลังฟังธรรม
ไม่ควรคิดอะไร
ก็สามารถระงับความคิดนั้นได้
แล้วหันมาตั้งใจฟังในสิ่งที่กำลังพูดอยู่นี้
อย่างนี้เรียกว่ามีสติ
ถ้ามีสติแล้ว
จะสามารถประคับประคองความคิด
การกระทำทางวาจาและทางกาย
ให้เป็นไปในทำนองคลองธรรม
อยู่ในความถูกต้องดีงาม แต่ถ้าไม่ได้ฝึกสติ
ใจก็เปรียบเหมือนกับรถยนต์ที่วิ่งไป
โดยมีคนขับมึนเมาจากการเสพสุรา
ไม่สามารถควบคุมรถให้วิ่งไปด้วยความปลอดภัย
ชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น
จะดีจะงาม จะสุขจะเจริญ
จะวุ่นวาย มีแต่เรื่องราว
มีแต่ปัญหา
หลักใหญ่ก็ขึ้นอยู่ที่สตินี้
มีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดหรือเปล่า
ถ้ามีสติควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
มีความเห็นที่ถูกต้อง
รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี
อะไรไม่ดีแล้ว
ก็จะควบคุมการกระทำให้อยู่ในกรอบของความดีงามได้
ชีวิตก็จะไม่มีเรื่องราววุ่นวาย
มาทำให้มีแต่ความทุกข์
ความเจ็บปวด จึงควรฝึกให้มีสติที่ถูกต้องอยู่เสมอ
ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า
ก่อนที่จะลุก
ก็ขอให้ตั้งสติก่อน
ให้รู้อยู่ที่ความคิดนั่นแหละ
เพราะว่าก่อนที่จะลุกไปทำอะไรได้
ต้องคิดเสียก่อน เช่นพอตื่นขึ้นมาก็ลืมตาแล้วก็มองรอบๆ
ตัว แล้วก็เริ่มคิดว่า
เอ๊ะตอนนี้เวลาเท่าไร
ตอนนี้อยู่ที่ไหน
จะต้องไปทำอะไร
ถ้าไม่มีสติบางทีอาจจะไปทำในสิ่งที่ไม่ต้องการจะทำก็ได้
แต่ถ้ามีสติคอยควบคุมอยู่
ก็จะรู้ว่าคิดไปในทางไหน
ก็จะสามารถควบคุมการกระทำได้
ถ้าฝึกทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆทั้งวัน
ต่อไปก็จะติดเป็นนิสัย
จะมีสติคอยดูแลอยู่เสมอ
ชีวิตก็จะดำเนินไปด้วยความราบรื่นดีงามปลอดภัย
จึงควรฝึกตั้งสติอยู่เรื่อยๆทั้งวัน
ข้อที่ ๘ ทรงสอนให้มีสมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสมาธิ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ด้วยการเจริญสมถภาวนาอย่างต่อเนื่องในอิริยาบถทั้ง ๔ เดินยืน นั่ง นอน เพราะจิตที่มีความสงบจะมีพลังที่จะปฏิบัติตามความเห็นที่ถูกต้องได้ จะสามารถละเว้นจากการทำบาปทั้งปวงได้ เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้าน ซึ่งล้วนเป็นเหตุที่จะพาไปสู่ความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ถ้าจิตไม่มีความสงบ ก็จะไม่สามารถทำได้โดยเด็ดขาด จึงควรเจริญสมถภาวนาอยู่เสมอ เมื่อได้ปฏิบัติตามความถูกต้องทั้ง ๘ ข้อนี้แล้ว คือ ๑. ความเห็นที่ถูกต้อง ๒. ความคิดที่ถูกต้อง ๓. การกระทำที่ถูกต้อง ๔. การพูดที่ถูกต้อง ๕. อาชีพที่ถูกต้อง ๖. ความเพียรที่ถูกต้อง ๗. การระลึกรู้ที่ถูกต้อง ๘. สมาธิที่ถูกต้อง ความสุขความเจริญที่แท้จริงก็จะเป็นสิ่งที่ตามมาต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้