กัณฑ์ที่ ๑๘     ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

ความไม่ประมาท

วันเวลาย่อมผ่านไปอย่างไม่หยุดยั้ง จากวันเป็นอาทิตย์  จากอาทิตย์เป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เพิ่งเข้าพรรษาไปหยกๆ แล้วก็ผ่านไป งานกฐินก็มา แล้วก็ผ่านไป วันข้างหน้า ก็จะมีงานลอยกระทง งานปีใหม่ตามมาเหตุการณ์เหล่านี้ เป็นไปตามกาลเวลา มันไหลไปเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง      เวลาเปรียบเหมือนดังน้ำที่ไหลไปแล้วไม่ไหลกลับ สิ่งที่ลอยอยู่บนน้ำ      ก็ไหลตามไปด้วย ชีวิตจิตใจของพวกเราก็เหมือนกัน  มันเป็นเหมือนกับสิ่งที่ลอยอยู่บนลำธารแห่งกาลเวลา เวลาจะพาให้สังขารร่างกายของเราร่วงโรยไป เมื่อเกิดมาแล้ว มีการเจริญเติบโต  เจริญเติบโตแล้ว  ก็มีการแก่ตามมา และในที่สุด ก็ต้องมีการแตกดับของสังขาร นี้เป็นสัจธรรม      ความเป็นจริงของโลก  โลกนี้คือโลกของอนิจจัง คือความไม่เที่ยง

พระพุทธองค์ จึงทรงสอนให้ชาวพุทธทั้งหลาย จงพิจารณาสังขารอยู่เสมอ ว่าสังขารนี้เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้ว มีการตั้งอยู่และดับไป     เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงทรงสอนให้พวกเราทั้งหลาย จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พยายามประกอบคุณงาม ความดี ทำประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อม นี้เป็นปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ทรงให้สติ ว่าสังขารร่างกายของเรานั้นเป็นของไม่เที่ยง   จงยังประโยชน์ส่วนตน  และส่วนท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ความไม่ประมาทนี้หมายถึงอะไร     ก็หมายถึงความมีสติ   คือให้มีสติระลึกรู้ ในเรื่องสังขารร่างกายของเราอยู่เสมอ ว่าสังขารร่างกายของเรา ย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา  ย่อมมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ย่อมมีความตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เวลาที่จะอยู่ในโลกนี้มีอีกมากน้อยแค่ไหน เราก็ไม่ทราบได้ จะอยู่ไปอีกนานเท่าไร ก็ไม่มีใครทราบ คนบางคนมีอายุยืน     อยู่ถึง ๘๐ ปี ๙๐ ปี ๑๐๐ ปีก็มี บางคน  มีอายุอยู่เพียง ๒ วัน ๓ วัน  ก็มี     ชีวิตและสังขารของคนเรานั้น เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พวกเราอย่าประมาท อย่าไปคิดว่าเรามีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์  แข็งแรง  เป็นหนุ่ม เป็นสาวอยู่อย่างนี้ไปตลอด เวลามองคนที่มีอายุสูงกว่าเรา ให้เราคิดว่า เมื่อก่อนนี้เขาก็เหมือนเรา เมื่อก่อนนี้      เขาก็เป็นคนที่มีกำลังวังชา เป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่บัดนี้เวลาได้ค่อยๆ กลืนกินเขาเข้าไป  ดังในสุภาษิตที่บอกว่า เวลาย่อมกลืนกินสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมถูกเวลากลืนกินหมด     กลืนเข้าไปอย่างช้าๆช้าๆ เลยมีความรู้สึกว่ามันไม่ได้กินเราเข้าไป      แต่ถ้ามองตัวเราย้อนอดีตกลับไปสัก ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี   เราจะเห็นความแตกต่างของวันนี้กับอดีตได้อย่างชัดเจน และถ้าเรามองไปวันข้างหน้าสัก ๑๐ ปี ๒๐ ปี สภาพที่เราเป็นอยู่ในวันนี้   กับสภาพที่เราจะเป็นอยู่ในวันข้างหน้าก็จะไม่เหมือนกัน

ท่านจึงทรงสอนให้คิดอยู่เสมอว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา  ย่อมล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา  ย่อมล่วงความเจ็บไข้ไปไม่ได้   เรามีความตายเป็นธรรมดา  ย่อมล่วงความตายไปไม่ได้  สิ่งเหล่านี้นั้น เป็นเรื่องธรรมดาของสังขารที่เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องเป็นไปเช่นนั้น ในขณะที่เรายังมีกำลังวังชาที่สมบูรณ์ แข็งแรงสามารถประกอบสิ่งต่างๆ ทั้งหลายได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเรา ทำแต่สิ่งที่ดีงาม      ทำประโยชน์ส่วนตนให้เกิดขึ้น ซึ่งก็คือบุญและกุศลนั้นเอง ให้ทำบุญกุศลให้ติดตัวเราไป เพราะบุญและกุศลนี้  จะติดไปกับจิตใจเรา   และทำให้จิตใจของเรามีความสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ส่วนทรัพย์สมบัติของโลกนี้ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั้น เป็นสมบัติของโลก      เราไม่สามารถที่จะเอาติดตัวไปได้ หลังจากร่างกายได้แตกดับสลายไปแล้ว  ดวงจิต ดวงวิญญาณจะต้องไปต่อ ไปสู่ภพหน้า  ชาติหน้า  จะไปดี      หรือไม่ดีนั้น  ขึ้นอยู่กับบุญและกุศล ถ้าทำบุญ ทำกุศลไว้มากๆ  เมื่อตายไป   จิตใจก็จะไปสู่สุคติ ไปสู่ภพที่ดี ไปสู่ความเจริญ   แต่ถ้าไม่ได้สะสมบุญบารมีไว้ มีแต่ทำบาป ทำกรรม เมื่อตายไป  ก็ไปสู่อบาย  เป็นสถานที่ ที่ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์  เป็นสถานที่ ที่ไม่มีใครปรารถนาที่จะไป

 สิ่งเหล่านี้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากความปรารถนา หรือความไม่ปรารถนา      ของมนุษย์เรา แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำ ที่เรียกว่ากรรม กรรมเป็นเหตุ วิบากเป็นผลของการกระทำ ถ้าไม่อยากประสบวิบากกรรมที่ไม่ดี ไม่งาม ก็ต้องละเว้นจากการกระทำเหตุ ที่ไม่ดี ไม่งาม เรียกว่า    อกุศลกรรมหรือบาป เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักทรัพย์ การประพฤติผิดประเวณี การพูดปดมดเท็จ  การดื่มสุรายาเมา   สิ่งเหล่านี้ เมื่อทำไปแล้ว จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียทางด้านจิตใจ จิตใจจะมีแต่ความทุกข์  มีความหิว มีความกระหาย และจิตใจนี้แหละ เมื่อตายไป ออกจากร่างกายไปแล้ว ก็จะต้องไปสู่ที่ต่ำ ไปสู่อบาย ซึ่งเป็นที่อยู่  ของเดรัจฉาน ของเปรต  ของอสุรกาย  ของสัตว์นรก  นี่คือที่ไปของผู้ที่ทำบาป ทำกรรม

ถ้าไม่ปรารถนาในสิ่งเหล่านี้แล้ว ต้องละเว้นจากการกระทำบาปทั้งหลาย     สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการปรารถนา มันเกิดขึ้นจากการกระทำ    ทางกาย ทางวาจา  และทางจิตใจ ของตัวเราเอง ถ้าเราทำแต่บุญ แต่กุศล     เช่นทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล  และบำเพ็ญจิตตภาวนา   ชำระจิตใจของเราให้สะอาดอยู่เสมอ คือละความโลภ ความโกรธ และความหลง   จิตใจของเราก็จะเป็นจิตใจที่ดี ที่สะอาด เพราะได้ชำระเครื่องเศร้าหมอง      ให้ออกไปจากจิตจากใจ  ถ้ามีความโลภ  ความโกรธ  ความหลงอยู่ในจิตใจแล้ว จิตใจจะมีแต่ความดิ้นรนทะยานอยาก ไม่สามารถอยู่เฉยๆได้และถ้าอยากมากๆ  บางครั้งบางคราว อาจจะต้องไปกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหาด้วยความสุจริตไม่ได้  ก็ต้องหามาด้วยความทุจริต  เช่นไปลักขโมย ไปโกง ไปโกหกหลอกหลวงผู้อื่น

เวลามีความโลภ หรือมีความโกรธ จิตใจจะมีความไม่สบายใจ  พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พวกเรา พยายามตัด  พยายามละเสีย วิธีที่จะตัดความโลภ  ความโกรธ ความหลงได้นั้น  ต้องอาศัย  การทำบุญ  ให้ทาน     การรักษาศีล  และการทำจิตตภาวนา    การทำจิตตภาวนานั้น   หมายถึง     การทำจิตใจให้สงบ ด้วยการไหว้พระ สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา     เจริญอานาปานสติ  คือการกำหนดดูลมหายใจ เข้า ออก  มีเวลาว่าง     ก็ให้หาสถานที่เงียบๆ ในห้องของเราก็ได้ ที่ไม่มีใครมารบกวน   แล้วนั่งหลับตา   กำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ เข้า ออก  ระงับความคิดปรุงต่างๆ เพราะเมื่อคิดปรุงไปแล้ว จะทำให้จิตใจมีความไม่สบายใจ มีความวุ่นวายใจ   ถ้าทำจิตใจให้สงบ จิตใจจะมีความเย็น  จิตใจจะมีความสุข   

การที่จะทำให้จิตใจมีความสุขได้นั้น  ต้องควบคุมจิตใจ  คือไม่ให้จิตใจไปคิด ไปปรุง ในเรื่องราวต่างๆ  วิธีหนึ่งที่จะทำให้จิตใจ  หยุดคิดปรุงนั้น  คือการกำหนดดูลมหายใจ  เข้า ออก   เวลาลมหายใจเข้า   ก็ให้รู้ว่า     ลมหายใจเข้า  เวลาลมหายใจออก  ก็ให้รู้ว่าลมหายใจออก    โดยให้มีสติรู้อยู่กับจุดที่ลมสัมผัสเด่นชัดที่สุด ส่วนใหญ่จะอยู่แถวปลายจมูก             หรืออยู่บริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมา ให้รู้สึกอยู่ที่จุดนั้น  คือจุดที่ลมสัมผัสลมจะหยาบ ก็ให้รู้ว่าลมหยาบ  ลมละเอียด   ก็ให้รู้ว่าลมละเอียด   หายใจสั้น ก็รู้ว่าหายใจสั้น  หายใจยาว ก็ให้เรารู้ว่าหายใจยาว  ไม่ต้องไปบังคับลม ให้เฝ้าดูลมอยู่เฉยๆ เหมือนกับเราเฝ้าดูเด็กคนหนึ่ง เวลาเด็กเล่น        ก็รู้ว่าเด็กเล่นอยู่ เด็กนั่งก็รู้ว่าเด็กนั่ง  เด็กนอนหลับ ก็รู้ว่าเด็กนอนหลับ  ไม่ต้องไปทำอะไรกับเด็ก  เพียงแต่เฝ้ามองอยู่เฉยๆอย่างเดียวเท่านั้นเอง

เช่นเดียวกับเวลาเรานั่งดูลม ไม่ต้องไปบังคับลม   ลมมันจะละเอียดหรือหยาบ จะหายใจสั้นหรือหายใจยาว  ก็ให้รู้อยู่เท่านั้นเอง   เพราะว่าเราต้องการอาศัยลมนี้เป็นเครื่องผูกใจ จิตใจเหมือนกับลิงตัวหนึ่ง ลิงนี่      ถ้าไม่ผูกไว้กับต้นไม้หรือเสา  มันจะเพ่นพ่าน ไปเที่ยว ไปเล่น  ฉันใด      จิตใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่ผูกเอาไว้มันก็จะคิดไปเรื่อยๆ  คิดไปแล้ว  ก็เกิดความไม่สบายใจ เกิดความทุกข์ใจตามมา เกิดอารมณ์อะไรต่างๆตามมา ถ้าผูกจิตใจไว้กับลม ลมนี้จะเปรียบเหมือนกับเสา สติเปรียบเหมือนกับเชือก  ถ้ามีเสามีเชือกผูกจิตใจเอาไว้แล้ว ใจก็จะไม่ไปไหน   ให้ใจอยู่กับลม   ด้วยความระลึกรู้ คือสติ  ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับลม รู้อยู่ไปเรื่อยๆ     ถึงแม้ว่า จิตจะพยายามไปคิดเรื่องราวต่างๆ   เราก็ดึงกลับมา    บางครั้ง    เมื่อดึงกลับมา  จิตจะอยู่กับลมได้สักสองสามวินาที  แล้วก็จะแว๊บไปคิดอีก  ถ้ามีสติ   พอรู้สึกตัวว่าจิตไม่ได้อยู่กับลม  ให้ดึงจิตกลับมา ถ้าจิตอยู่กับลมไปเรื่อยๆแล้วจิตจะเข้าสู่ความสงบในที่สุด เมื่อจิตสงบเต็มที่ จิตจะรวมเป็นเอกัคตารมณ์   จิตรวมเป็นหนึ่ง    จิตจะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง จิตจะไม่คิดไม่ปรุง ไม่ยุ่ง ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ในขณะนั้น จิตจะมีความนิ่งเฉย มีความสงบ มีความเย็นใจ มีความสบายใจ  

เปรียบเทียบแล้ว ลมนั้นเหมือนกับรถยนต์ ที่พาญาติโยมมาที่วัดนี้      ถ้าญาติโยมนั่งอยู่ในรถแล้วให้รถวิ่งมา  ถ้าไม่ลงจากรถเสียก่อน   ก็จะมาถึงวัดนี้ได้  แต่ถ้านั่งรถมา   พอรถไปติดไฟแดงเข้า   ญาติโยมก็ลงจากรถ ไม่ได้นั่งอยู่ในรถ ปล่อยให้รถวิ่งมาโดยที่ไม่มีเรานั่งมาในรถ      เราก็ไม่สามารถมาถึงวัดได้   ฉันใด  ลมก็เปรียบเหมือนกับรถทีจะพาจิตเข้าสู่ความสงบ ทำให้จิตรวมเป็นหนึ่ง   เป็นเอกัคตารมณ์    ถ้าจิตไม่อยู่กับลมหายใจ  จิตไปคิดเรื่องนั้น  คิดเรื่องนี้   ก็เปรียบเหมือนกับจิต ไม่ได้อยู่ในรถ  จิตลงจากรถแล้ว  ลมหายใจก็จะหายใจไปเรื่อยๆ   แต่จะไม่ได้พาให้จิตเข้าสู่ความสงบ จะทำให้จิตเป็นสมาธิ จะทำให้จิตสงบได้      จะต้องมีสติรู้อยู่กับลมหายใจอย่างเดียว เหมือนกับเวลานั่งอยู่ในรถ      อย่าลงจากรถ อย่าแวะไปดูสิ่งนั้น  แวะไปดูสิ่งนี้  เวลาดูลม   ก็ให้รู้อยู่กับลมอย่างเดียว อย่าไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ถ้าไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ   แล้ว ถึงแม้จะนั่งไปนานสักเท่าไรก็ตาม   จิตใจจะไม่สงบ     แต่ถ้าจิตอยู่กับลมอย่างต่อเนื่อง  บางทีไม่นานเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที เท่านั้น  จิตก็ลงสู่ความสงบได้  

สิ่งสำคัญที่สุดคือความมีสติ ควบคุมใจให้อยู่กับลมหายใจเข้า ออก  ให้รู้อยู่ทุกขณะเลย พอหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ อย่าไปคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้าฝึกหัดทำอย่างนี้ได้แล้ว สักวันหนึ่งเราจะประสบกับสิ่งที่ประหลาดมหัศจรรย์อย่างยิ่ง  นั่นก็คือความสงบสุขของจิตใจนั้นเอง  เวลาจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว เราจะได้พบกับความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน  เป็นความสุขที่สุขุม เยือกเย็น  เป็นความสุขที่ลุ่มลึก เป็นความสุขที่เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจเราแล้ว  ทำให้เราสามารถปล่อยวางความสุขอย่างอื่นลงได้ แต่ถ้าเราไม่เคยพบกับความสุข ที่เกิดจากความสงบของจิตใจแล้ว  เราก็ยังจะต้องไปหาความสุขจากสิ่งอื่น เช่นกามสุขทั้งหลาย คือหาความสุขจากการได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส ได้กลิ่น ได้รสต่างๆ เพราะว่าจิตใจเรานั้น  ยังติดอยู่กับพวก รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทั้งหลาย

แต่ถ้าจิตได้รวมลงสู่ความสงบเป็นสมาธิแล้ว จิตจะมีความอิ่ม มีความพอ  และเป็นจิตที่ไม่ประสงค์ ไม่ปรารถนา ไม่สนใจกับรูป เสียง กลิ่น รส  เครื่องสัมผัสอย่างใด  จะมีความยินดี  มีความชอบในความสงบ  มักชอบหามุมสงบเงียบ  นั่งอยู่ตามลำพัง  ทำจิตใจให้สงบ  เพราะนี้คือความสุขที่แท้จริง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง  รสของธรรมะ ก็คือรสของความสงบของจิตใจนั้นเอง  ที่เราเรียกว่าสันติสุข  สุขอื่นใดในโลกนี้ไม่มีความสุขอันใด จะเสมอเท่าความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ นี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพวกเราชาวพุทธทั้งหลายให้แสวงหา เพราะว่าเป็นประโยชน์ที่แท้จริงกับตัวเรา เป็นความสุขที่ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นความสุขที่อยู่กับตัวเรา  เป็นความสุขที่เราสามารถมีได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน  ไม่เหมือนความสุขทางโลกเพราะต้องอาศัยเงินทอง ถ้าวันไหนไม่มีเงินแล้ว  วันนั้นก็จะนำมาแต่ความทุกข์ แต่ความสุขทางด้านจิตใจนั้น เพียงแต่ขอให้ได้อยู่ในสถานที่สงบ ที่ไม่มีใครรบกวน ก็สามารถทำจิตใจให้สงบ ให้สุขได้   

ขอให้พวกเราทั้งหลาย  จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด  เตือนตัวเองอยู่เสมอๆ ทุกเช้า ทุกเย็น ตลอดเวลา ว่าเราเกิดมาแล้วสักวันหนึ่งเราต้องแก่  เราต้องเจ็บ  เราต้องตาย แต่ก่อนที่เราจะแก่ จะเจ็บ จะตาย  ขอให้เราทำสิ่งที่ดีที่งามทั้งหลายให้ถึงพร้อม คือสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับตัวเอง  และเมื่อเราตายไป เราจะสามารถเอาสิ่งเหล่านี้ติดตัวไปได้  ทรัพย์สมบัติ  เงินทอง ข้าวของ และบุคคลต่างๆนั้น เวลาเราตายไป ไม่สามารถเอาไปได้  ถึงแม้จะรักกันมากแค่ไหนก็ตาม  เมื่อถึงเวลาแล้วก็ต้องแยกกันไปยังที่ต่างๆ แต่สมบัติที่แท้จริงของเรา คือบุญ คือกุศล จะติดตัวเราไปตลอด ขอให้ใช้ปัญญาความฉลาด  รู้จักเลือก  อย่าสร้าง อย่าสะสมสิ่งที่เราเอาไปไม่ได้  ขอให้สะสมในสิ่งที่เราเอาไปได้ดีกว่า  เพราะมีภพหน้า  ชาติหน้า ที่จะต้องไปอีก เราสะสมสร้างสิ่งที่ดี ที่งาม ต่อไปในภพข้างหน้า ในชาติข้างหน้า เราจะไปด้วยความสุข ความสบายใจ  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้