กัณฑ์ที่ ๑๘๐     ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

ศรัทธา (๒)

 

พวกเรามาวัดกันอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ขาด ถ้าไม่ติดธุระจำเป็น ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา เพราะศรัทธาความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็น สวากขาโต ภควตา ธัมโม คือเป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว หมายความว่าเป็นความจริงทั้งสิ้น ในสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน  เช่นทรงสอนว่า มีบาป มีบุญ มีนรก มีสวรรค์ มีกรรม มีการเวียนว่ายตายเกิด มีการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  เหล่านี้เป็นคำสอนที่ออกมาจากความเป็นจริง  ไม่ได้ออกมาจากจินตนาการแต่อย่างใด  เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติจนตรัสรู้เห็น คือมีดวงตาเห็นธรรมคือปัญญา ว่าสิ่งต่างๆที่เราไม่สามารถเห็นกันได้ด้วยตาเนื้อ ยังมีอยู่ ต้องอาศัยการปฏิบัติธรรม ทำจิตให้หยั่งเข้าสู่ความสงบ  เพื่อเข้าสู่ความจริงที่จะต้องรู้และสัมผัสได้ด้วยใจเท่านั้น 

หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็นสิ่งต่างๆแล้ว ก็ทรงนำมาสั่งสอนพวกเรา  เพราะสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น เปรียบเหมือนกับสมบัติอันล้ำค่า ผู้ใดก็ตามถ้าได้ครอบครองสมบัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงครอบครองแล้ว จะเป็นคนที่มีความสุขอย่างยิ่ง จะไม่มีความทุกข์อยู่ภายในใจเลย  หลังจากได้ทรงเสวยพระบรมสุขแล้ว ก็ทรงมีความกรุณาสงสาร ที่เห็นสัตว์โลกทั้งหลายอย่างพวกเรา ยังต้องวนเวียนอยู่กับกองทุกข์แห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย กองทุกข์แห่งการพลัดพรากจากกัน กองทุกข์จากการผิดหวัง  เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ยังต้องสัมผัส ยังต้องรับรู้รับทราบ แล้วก็รับเคราะห์รับกรรมไป  แต่ถ้ามีคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้ามาบอกมาสอน พวกเราก็จะได้มีโอกาสหลุดพ้นจากกองทุกข์เหล่านี้

แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความจริง ที่เรายังไม่เห็น ยังไม่รู้กัน  ถ้าเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้วนำไปปฏิบัติ ก็จะสามารถครอบครองสมบัติอันล้ำเลิศ คือบรมสุข ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงครอบครองมาแล้วได้ เพราะสมบัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงครอบครองนี้ ไม่ได้เป็นสมบัติเฉพาะตน เป็นสมบัติกลางของทุกๆคน  ของสัตว์โลกทุกๆตัว มีสิทธิครอบครองได้  แต่เป็นสมบัติที่ยังฝังอยู่ในดิน ต้องขุดคุ้ยขึ้นมาเอง  ผู้อื่นไม่สามารถที่จะขุดคุ้ยขึ้นมาให้กับเราได้ พระพุทธเจ้าเองก็ไม่สามารถที่จะขุดคุ้ยสมบัติอันประเสริฐล้ำโลกนี้มาให้กับพวกเราได้ พระพุทธเจ้าทรงได้แต่เพียงบอกทาง บอกที่ตั้งของสมบัตินี้ ว่าอยู่ตรงไหน  แต่พวกเราต้องเป็นผู้ขุดค้น ขุดคุ้ยเอาขึ้นมา 

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพวกเราที่ยังไม่ได้สัมผัส ยังไม่ได้สมบัติอันล้ำเลิศนี้มาครอบครอง ก็คือศรัทธา ความเชื่อในพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มี ก็จะไม่รู้ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนบอกเรา คือสมบัติอันล้ำค่านี้ ว่ามีจริงหรือไม่  เพราะเมื่อไม่เชื่อก็จะไม่สนใจที่จะไปขุดคุ้ยค้นหาสมบัตินี้มา  ถ้าเป็นคนฉลาดถึงแม้ยังไม่เห็นกับตา  แต่คิดว่าการเชื่อแบบนี้ไม่น่าจะเสียหายอะไร  เพราะถ้าเชื่อแล้ว ก็จะได้ไปพิสูจน์ดู ไปที่ๆพระพุทธเจ้าทรงชี้บอกว่ามีขุมทรัพย์ฝังอยู่ แล้วก็ขุดคุ้ยขึ้นมา  ถ้าขุดลงไปแล้วไม่เจอสมบัติ อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าไม่มี  รู้ว่าคนที่บอก ไม่ได้บอกความจริง   ก็ไม่ขาดทุนอะไร  กลับได้ความรู้ขึ้นมาอย่างหนึ่ง  รู้ว่าคนๆนี้พูดโกหก   ต่อไปไม่ต้องไปเชื่อเขาอีก แต่ถ้าขุดลงไปแล้วพบสมบัติอันล้ำค่า ก็ได้ประโยชน์อีกเหมือนกัน ได้ครอบครองสมบัติอันล้ำค่านั้น  รู้ว่าคนที่บอกเป็นคนพูดจริง 

อย่างนี้เป็นลักษณะของคนฉลาด คือไม่ปฏิเสธสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ตนเองยังไม่ได้พิสูจน์ และไม่เชื่ออย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในสิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์เช่นกัน คือใครจะพูดอะไร ใครจะบอกอะไร ก็ฟังหูไว้หูก่อน  คือไม่ปฏิเสธแต่ก็ไม่เชื่อทันทีทันใด ฟังแล้วก็นำไปพิสูจน์  ดูว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นจริงเป็นเท็จอย่างไร  นี่คือลักษณะของปัญญาชนหรือวิญญูชน  เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรก็นำมาพินิจพิจารณาใคร่ครวญดู แล้วนำไปทดลองปฏิบัติดู ถ้าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นไปตามที่พูด ก็จะได้รับประโยชน์  ถ้าไม่เป็นไปดังที่พูด ก็จะรู้ว่าสิ่งนั้นไม่มี ก็จะได้ไม่ต้องไปสงสัยอีกต่อไป  นี่คือหลักของการปฏิบัติ  หลักการเข้าหาพระพุทธศาสนา  พระพุทธศาสนาทรงสอนให้มีทั้งศรัทธาและปัญญาควบคู่กันไป ไม่ให้เชื่อแบบหลงงมงาย จุดธูป ๓ ดอกแล้ว อยากจะได้อะไร ก็อธิษฐานขอมาได้   อย่างนี้ไม่มีเหตุผลอะไรมารองรับ  ยกเว้นเสียแต่ว่าบุญกุศลที่เคยทำมาในอดีต ได้ส่งผลขึ้นมาในชาตินี้ พอดีเป็นจังหวะที่ไปกราบพระจุดธูปขอพร แล้วก็ได้ในสิ่งที่ปรารถนา  แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการขอกัน  แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ สร้างคุณงามความดี สร้างบุญสร้างกุศลมาก่อน  อาจจะเป็นในหลายภพหลายชาติที่ผ่านมาในอดีต แต่ยังไม่ได้มีโอกาสออกดอกออกผลขึ้นมา  พอดีมามีโอกาสในชาตินี้ ในขณะที่กำลังต้องการสิ่งนั้นๆอยู่พอดี  สิ่งนั้นก็ปรากฏขึ้นมา อย่างนี้ก็เป็นไปได้  แต่ไม่ได้เกิดจากการไปกราบพระแล้วก็ขอพรจากท่าน  ขอให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา 

ถ้าไม่ได้สร้างเหตุคือการกระทำที่ดีที่งามไว้  ผลที่ต้องการคือสิ่งที่ดีที่งามทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏขึ้นมา   ยิ่งถ้าทำแต่สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม จะไปหวังผลที่ดีที่งามให้ปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร  เพราะขัดกับความจริงคือเหตุผลนั้นเอง เหตุผลเป็นสิ่งที่ไปควบคู่กัน  เหตุดีย่อมทำให้เกิดผลดี  เหตุร้ายย่อมทำให้เกิดผลร้าย  เช่นไปไหนมาไหนต้องขับรถยนต์  ถ้ารักษาสติไว้ให้ดี คือไม่มึนเมา ไม่เสพสุรายาเมา  เวลาขับรถยนต์ไปก็จะปลอดภัยเพราะจะขับด้วยความระมัดระวัง ด้วยความไม่ประมาท รู้ว่าอะไรอยู่ข้างหน้า รู้ว่าควรจะขับรถช้าหรือเร็วอย่างไร เพราะมีสติ สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าไปเสพสุรายาเมา จนเกิดอาการมึนเมา ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจได้ ก็จะไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ผลที่จะตามมาต่อไป ถ้าขับรถด้วยความมึนเมา ด้วยความประมาท ก็คืออุบัติเหตุ ความเจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการ จนถึงแก่การเสียชีวิต สูญเสียทรัพย์สมบัติ เงินทองข้าวของ ชีวิตร่างกาย เพราะเกิดจากเหตุที่ไม่ดีนั้นเอง เป็นเหตุร้าย ไปเสพสุราจนเกิดอาการมึนเมา ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกายวาจาใจได้  แล้วก็ไปขับรถยนต์ ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ เมื่อถึงเหตุการณ์ที่ประชั้นชิดขึ้นมา ก็ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ จึงต้องเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา 

นี่คือเรื่องของเหตุและผล แสดงให้เห็นได้ชัดอยู่เสมอ เหตุก็คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ ผลก็คือความสุข ความเจริญ หรือความทุกข์ ความเสื่อมเสียที่จะตามมา ขึ้นอยู่กับการกระทำ ถ้ามีความคิดที่ดี การพูดก็จะดี การกระทำก็จะดี ถ้าคิดร้าย การพูดก็จะไม่ดี การกระทำก็ไม่ดี เหตุที่จะทำให้คิดร้ายคืออะไร ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง  นี้เอง เวลามีความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้นมาแล้ว จิตใจจะมีความร้อนรน มีความวุ่นวาย ถ้าไม่สามารถควบคุมความวุ่นวายภายในใจได้ ก็จะต้องระบายออกในการกระทำทางกาย ทางวาจา เช่นเวลาโกรธ  ก็อดไม่ได้ที่จะต้องระบายความโกรธออกมา ด้วยวาจาที่ไม่สุภาพเรียบร้อย ถ้ายังไม่สามารถระงับได้ ก็จะระบายออกมาในการกระทำทางกาย ด้วยการทุบตีกัน ทำร้ายร่างกายกัน

นี่ก็เกิดจากใจนั่นเอง ใจไม่ดี เกิดความโกรธขึ้นมา แล้วไม่รู้จักระงับ ปล่อยให้หลงไปตามความโกรธ อย่างเมื่อเช้านี้ไปบิณฑบาต มีญาติโยม ๒ คน รอใส่บาตรอยู่คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งยืนอยู่อีกฟากถนนหนึ่ง กำลังทะเลาะกัน กำลังว่ากัน ด่ากัน แม้กระทั่งเวลาพระมาบิณฑบาต คนที่ใส่บาตรก็ใส่บาตรไป แต่ในขณะเดียวปากก็ยังด่า ยังว่าคนที่อยู่ตรงข้ามถนน นี่ก็เป็นเพราะไม่สามารถหักห้ามจิตใจได้ ขาดสติปัญญา  ในขณะนั้นอยู่ในความหลง  ไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรให้ดีงาม ทั้งๆที่มีเจตนาที่จะสร้างบุญสร้างกุศล อุตส่าห์เตรียมอาหารคาวหวานไว้รอใส่บาตรพระ แต่พอดีไปเกิดมีเรื่องราวเข้าพอดี พระเดินมารับบาตรก็ไม่สามารถหักห้ามความโกรธที่มีอยู่ภายในใจได้  ก็เลยทำทั้งบุญและบาปไปพร้อมๆกัน มือก็ตักข้าวใส่บาตร ปากก็ด่าคนที่อยู่ตรงข้ามถนน

นี่ก็เป็นเพราะว่ายังไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตใจ ยังไม่รู้จักการเฝ้าดูแลจิตใจ เพราะขาดสตินั่นเอง ไม่รู้ในขณะนั้นจิตใจของตนกำลังเป็นอะไรอยู่  แล้วก็ไม่รู้จักการระงับดับมันไป ผลที่ต้องการจึงไม่ดีเท่าที่ควร อย่างน้อยก็ยังได้ใส่บาตร ก็ยังเป็นบุญอยู่ แต่ก็ในขณะเดียวกันก็ไปสร้างเวรสร้างกรรมกับอีกคนหนึ่ง ด้วยการทะเลาะเบาะแว้งด่าว่ากัน ผลที่เกิดขึ้นเลยเป็นผลอยู่ ๒ ส่วนด้วยกัน ผลดีก็คือผลบุญที่เกิดจากการตักบาตร ผลเสียก็เกิดจากการทะเลาะวิวาทกัน ทำให้กลายเป็นคู่อริ เป็นศัตรูต่อกันมองหน้ากันไม่ติด ดีไม่ดีก็อาจจะจองเวรจองกรรมกันไปอีกเป็นเวลาอันยาวนาน แต่ถ้าเคยได้เข้าวัดเข้าวา ได้ฟังเรื่องราวของการกระทำต่างๆ ว่า มีทั้งการกระทำที่ดีและไม่ดี จึงควรควบคุมดูแลการกระทำของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดอ่านในใจของตนเอง ว่าในขณะนี้ใจของตนนั้นเป็นอย่างไร มีความโลภ โกรธ หลงอยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็ควรระงับดับเสีย อย่าปล่อยให้ระบายออกมาทางกายและทางวาจา ถ้าเคยฝึกฝนอบรม  คนที่ใส่บาตรเห็นพระเดินมาก็ควรจะได้สติ แล้วก็ระงับความรู้สึกอันไม่ดีนั้น แล้วเตือนตนเองว่า ขณะนี้กำลังจะทำบุญ ไม่ได้มาทำบาป ไม่ต้องการที่จะมีเรื่องมีราวกับใคร ถึงแม้จะมีความโกรธ มีความไม่พอใจอยู่ในใจ ก็ระงับดับมันเสีย ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเดี๋ยวมันก็ผ่านไป

อารมณ์ภายในใจเปรียบเหมือนกับเมฆฝน เวลามาก็มืดครึ้ม แต่สักพักหนึ่งหลังจากที่ฝนตกไปแล้ว หรือลมพัดเมฆฝนให้ผ่านไปแล้ว ท้องฟ้าก็จะแจ่มใสขึ้นมาเหมือนเดิม ใจของเราก็เป็นเช่นนั้น มีอารมณ์ต่างๆที่มาปกคลุมเหมือนกับเมฆฝนที่ปกคลุมท้องฟ้า บางวันบางเวลาก็มีเมฆแห่งความโกรธ บางเวลาก็มีเมฆแห่งความโลภ บางเวลาก็มีเมฆแห่งความหลง เวลามีโลภ โกรธ หลงครอบงำ จิตใจจะมีความรู้สึกที่ไม่ดี อยากจะพูดในสิ่งที่ไม่ดี อยากจะทำในสิ่งที่ไม่ดีออกมา แต่ถ้ามีสติแล้วถอนหรือถอยออกมา แยกใจคือผู้รู้ออกจากเมฆแห่งความโลภ โกรธ หลง ว่าเป็นเหมือนกับเป็นเมฆก้อนหนึ่งที่ไหลพัดมา เดี๋ยวไม่ช้าก็เร็วเมฆก้อนนั้นก็จะต้องสลายหายไป อารมณ์ต่างๆก็เป็นเหมือนกับเมฆในใจ เดี๋ยวก็โลภ แล้วเดี๋ยวก็หายไป เดี๋ยวก็โกรธ แล้วเดี๋ยวก็หายไป เดี๋ยวก็หลง แล้วเดี๋ยวก็หายไป

ถ้าฝึกใช้สติดูโลภโกรธหลงว่า เป็นสิ่งที่มาเยี่ยมเยียน เหมือนกับคนที่มาเยี่ยมเราที่บ้าน เขามาเดี๋ยวสักครู่หนึ่งเขาก็กลับไป ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด ไม่จำเป็นจะต้องไปหลงดีหลงชั่วไปกับเขา เขามาอย่างไรก็รู้ทันเขา รู้ว่าโลภแต่จะไม่โลภตาม ถ้าต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราจะใช้เหตุใช้ผลเป็นเครื่องตัดสินใจ ว่าควรจะได้สิ่งนั้นมาหรือไม่ ถ้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือเมื่อได้มาแล้วทำให้เราประพฤติตนดีขึ้น ทำให้สร้างบุญสร้างกุศลได้มากขึ้น อย่างนี้ก็เอามาได้ แต่การเอามาก็ต้องเอามาโดยไม่ผิดศีลผิดธรรม ไม่เป็นบาปเป็นกรรม ต้องเอามาด้วยความสุจริต เช่นถ้าเป็นสมบัติเป็นข้าวของ ถ้ามีเจ้าของก็ต้องขออนุญาตจากเจ้าของก่อน ถ้าเขาไม่อนุญาตก็ไม่เอา อย่างนี้เป็นต้น ถ้าใช้เหตุใช้ผลกับอารมณ์ต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับใจ ก็จะสามารถควบคุมการกระทำทางกาย ทางวาจาให้อยู่ในทำนองคลองธรรมได้ ผลเสียหายต่างๆก็จะไม่ตามมา ไม่ปรากฏขึ้น เพราะมีสติมีปัญญาเป็นเครื่องคอยดูแลควบคุม การเคลื่อนไหวของการกระทำของเรานั่นเอง

แต่ถ้าไม่เคยฝึก ไม่เคยได้เข้าวัดมาก่อน จะไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้ที่มีอยู่ในตัวเรา ก็จะปล่อยให้การกระทำของเราเป็นไปตามยถากรรม เวลาจิตมีอารมณ์อะไรครอบงำอยู่ ก็จะปล่อยให้อารมณ์นั้นฉุดกระชากลากไป ให้กระทำในสิ่งต่างๆที่จะต้องมาเสียใจภายหลัง   คนที่ไม่เข้าวัดจึงเป็นคนที่เต็มไปด้วยความโลภโมโทสัน เป็นคนเจ้าอารมณ์ ปราศจากเหตุผล เวลามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นมา ก็ต้องระบายอารมณ์นั้นออกไป แล้วก็มีผลเสียตามมา อย่างที่ปรากฏในสังคมที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ คนเราในสังคมทุกวันนี้วุ่นวายกัน ก็เพราะไม่ได้เข้าวัดกันนั่นเอง มัวแต่แสวงหาสมบัติข้าวของเงินทอง ความสุขในทางโลก โดยไม่มีสติปัญญาคอยกำกับให้รู้ว่า  การแสวงหานั้นแสวงหาได้ ๒ วิธีด้วยกัน คือ ๑. วิธีที่ถูกต้องไม่มีโทษตามมา ๒. วิธีที่ไม่ถูกต้องมีโทษตามมา คือคุกตะราง ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ และความตาย ถ้าขาดสติ ขาดปัญญา

สติปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อได้เข้าหาผู้รู้ ผู้ที่มีสติปัญญามากกว่าเรา  เช่นพระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ที่มีปัญญาอย่างแท้จริง ถ้าได้มีโอกาสได้พบปะได้ยินได้ฟังธรรมะคำสอนของท่าน ก็จะได้ความรู้ ความฉลาด ถ้ามีศรัทธาความเชื่อในสิ่งที่ท่านได้สอน ได้บอก แล้วนำเอาไปปฏิบัติ พยายามฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้มีสติเกิดขึ้นมา ให้ใช้ปัญญาคือเหตุผลทุกๆครั้ง ที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป ซึ่งเราสามารถปฏิบัติได้ ฝึกฝนอบรมได้ ในขณะนี้สติเรามีน้อย จึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ควบคุมความคิดของเราได้มาก แต่ถ้าพยายามฝึกฝนสร้างสติให้เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ คอยดูใจเป็นหลัก คือความคิดของเรา ดูอารมณ์ของเราอยู่เสมอๆ ให้มากกว่าดูสิ่งต่างๆภายนอก เราก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ต่างๆได้ เช่นเวลาดูอะไรภายนอก เห็นคน เห็นสิ่งของต่างๆ ก็ต้องย้อนกลับมาดูที่ใจของเราพร้อมๆกันไปด้วยว่า ขณะนี้ใจมีความรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เห็นอยู่ ยังมีความเป็นปกติอยู่หรือเปล่า คือไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงอยู่หรือเปล่า หรือเริ่มเอนไปสู่ความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว

ถ้าฝึกดูอย่างนี้ เราจะรู้ เพราะทุกครั้งที่เห็นอะไร ส่วนมากจะต้องเกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที เห็นสิ่งที่ชอบ ก็จะเกิดความโลภขึ้นมาทันที เห็นสิ่งที่ไม่ชอบ ก็จะเกิดความรังเกียจ เกิดความโกรธขึ้นมาทันที เมื่อมีสติคอยดูใจอยู่เสมอแล้ว จะรู้ทันทีว่าขณะนี้ใจเริ่มไม่เป็นปกติแล้ว เริ่มเอนไปทางความโลภแล้ว เริ่มเอนไปทางความโกรธแล้ว เราต้องมาแก้ปัญหาภายในใจ อย่าไปแก้ภายนอก เห็นสิ่งที่ไม่ชอบก็อย่าไปสนใจ คิดเสียว่าเป็นเหมือนกับลมกับฝน เป็นสิ่งที่เราไปบังคับไม่ได้ ฝนตก แดดออกเราบังคับไม่ได้ คนนั้นคนนี้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เราไม่ชอบใจ เราก็บังคับไม่ได้ แต่สิ่งที่เราบังคับได้ ก็คือใจของเรา ถ้ามีสติปัญญาสอนให้รู้ว่าอย่าไปยุ่ง  สิ่งภายนอกเราควบคุมบังคับไม่ได้ ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา ใครทำอะไรเดี๋ยวก็ต้องไปเจอผลของเขาเอง เขาทำดีเขาก็ได้รับผลดีของเขาไป เขาทำไม่ดีเขาก็ต้องรับผลที่ไม่ดีอย่างแน่นอน อย่าไปสนใจ หันกลับมาทำใจของเราให้เป็นปกติดีกว่า ถ้าปล่อยวางได้ ยอมรับความจริงว่าเขาเป็นอย่างนี้ ทำอะไรเขาไม่ได้ ใจของเราก็จะกลับมาสู่จุดปกติ คือจะหายโกรธ

นี่ก็คือการดูแลรักษาการดำเนินชีวิตของเรา ทางกายวาจาใจ ให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรม ถ้ามีสติ มีปัญญา แล้วนำมาใช้ ก็จะสามารถควบคุมดูแลการเคลื่อนไหวการกระทำของเรา ให้ไปในทิศทางที่จะนำผลดีมาให้กับเรา หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำผลเสียมาให้กับเราได้ และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เราได้ เราเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้กระทำเอง ในเบื้องต้นต้องเข้าหาผู้รู้ เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้าไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสมาวัด ก็หาธรรมะเก็บไว้ที่บ้าน หาหนังสือธรรมะไว้อ่าน หาเทปธรรมะไว้ฟังบ้าง หรือไม่เช่นนั้นก็เปิดวิทยุตามสถานีต่างๆ ที่มีการบรรยาย มีการแสดงธรรม พยายามฟังอยู่เรื่อยๆ เมื่อฟังแล้วก็นำมาปฏิบัติ ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปสู่ที่ปรารถนากัน คือความสุขความเจริญ

เราต้องการอะไรกันทุกวันนี้ ต้องการความสุข ความเจริญด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่หรือ ไม่มีใครต้องการความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ไม่มีใครสร้างหรือทำผลงานเหล่านี้ให้กับเราได้ มีเราเท่านั้นที่จะเป็นผู้สร้างผลงานต่างๆให้กับตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเจริญ หรือความทุกข์ ความเสื่อมเสีย เราเป็นผู้สร้างให้กับตัวเรา คนที่ไปติดคุกติดตะราง ก็ไปติดคุกติดตะรางเอง คนที่เป็นมหาเศรษฐี ก็เป็นคนสร้างตัวเองให้เป็นมหาเศรษฐี เป็นนายกฯ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระอรหัตอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นผู้สร้างด้วยตัวของเขาเองทั้งสิ้น ไม่มีใครสร้างให้เขาได้ เพียงแต่ว่าสิ่งที่สร้างมานั้น ไม่ได้สร้างเฉพาะเพียงชาตินี้ชาติเดียว แต่สร้างมาหลายภพหลายชาตินับไม่ถ้วนแล้ว จึงจะปรากฏเป็นผลในชาตินี้ขึ้นมา ได้เป็นพระพุทธเจ้าก็ดี เป็นพระอรหันต์ก็ดี เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ดี  เป็นนายกฯก็ดี เป็นมหาเศรษฐี เหตุที่ทำให้มีการสร้างบุญบารมีเหล่านี้ ก็คือศรัทธา ความเชื่อ ในเรื่องบุญบารมีนี้เอง จึงขอให้เชื่อในบุญบารมีนี้เถิด แล้วสร้างบุญบารมีไว้ให้มากๆ เพื่อผลอันประเสริฐที่จะตามมาต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้