กัณฑ์ที่  ๑๘๓       ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

อสรพิษ

 

วันนี้ได้มีคณะศิษย์กรรมฐานของพุทธสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาร่วมกันปฏิบัติธรรม ขัดเกลาจิตใจ สะสมบุญบารมีที่ประเสริฐ  อันเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง เนื่องจากชีวิตก็ได้ผ่านทางโลกมาพอสมควรแล้ว  ได้สัมผัสกับเรื่องราวต่างๆทางโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้งหลาย ก็ได้สัมผัสมาพอสมควร  ได้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขว่า ไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง  เพราะเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน  มีความทุกข์ถ้าไปยึดไปติด เป็นอนัตตาปราศจากตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  ไม่มีใครสามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาได้  ถ้าไม่รู้ แล้วไปหลงยึดติดอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ยามที่เกิดการเสื่อม เกิดการพลัดพรากจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะต้องมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส  เหล่านี้เชื่อว่าทุกๆท่านที่ได้อยู่ในโลกนี้มาพอสมควรแล้ว ย่อมได้สัมผัส  ได้เห็นแล้วว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โดยแท้จริงแล้ว หาเป็นสุขไม่  แต่เป็นทุกข์  ทุกข์เพราะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง 

เมื่อได้มาสัมผัส ได้พบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงสั่งสอนถึงความสุขที่แท้จริง คือความสงบสุขของจิตใจ ก็ทำให้เกิดศรัทธา  ความเชื่อ เกิดฉันทะ ความพอใจ ที่จะปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติมา  เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ดี หรือพระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ดี ก็เคยเป็นเหมือนพวกเรามาก่อน  คือเป็นปุถุชนธรรมดา เกิดมาในโลกก็อยู่ในท่ามกลางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข   แต่หลังจากได้สัมผัสกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มาระยะหนึ่งแล้ว ก็เริ่มเห็นว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจเลย เพราะมีแต่จะนำความวุ่นวาย ความกังวล ความว้าวุ่นขุ่นมัวมาอยู่เสมอ  เพราะโดยธรรมชาติของลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนนั่นเอง   วันนี้มีลาภพรุ่งนี้ก็อาจจะเสื่อมลาภได้  วันนี้มียศพรุ่งนี้ก็อาจจะเสื่อมยศได้  วันนี้มีสรรเสริญพรุ่งนี้ก็อาจจะมีนินทาได้  วันนี้มีสุขพรุ่งนี้ก็อาจจะมีทุกข์ได้  ถ้าไม่ฉลาด ไปหลงยึดติดอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา พลิกหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว ก็จะรับสภาพนั้นไม่ได้ 

ดังที่เราเห็นกันอยู่ในโลกนี้  คนที่ต้องประสบกับความสูญเสียในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น มีความทุกข์แสนสาหัส บางคนไม่สามารถทนอยู่ในโลกต่อไปได้  ถึงกับต้องทำร้ายชีวิตของตนเอง  เพราะคิดว่าชีวิตนี้ไม่มีความหมายแล้ว  เพราะจะมีแต่ความทุกข์อยู่อย่างเดียวเท่านั้น  นี่เป็นเพราะว่าไม่เคยได้ยินได้ฟัง พระธรรมคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ที่ทรงชี้ให้เห็นถึงความสุขที่แท้จริง ในท่ามกลางโลกของความทุกข์นี้ว่ายังมีความสุขอยู่  สามารถมีความสุขที่อยู่เหนือความทุกข์แห่งลาภ ยศ สรรเสริญ สุขได้ ถ้ารู้จักวิธีดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง  ปฏิบัติทางกาย วาจา ใจให้เป็นไป เพื่อเป็นเหตุที่จะสร้างความสุขนี้ให้ปรากฏขึ้นมา  เมื่อได้รับความสุขนี้แล้วจะเป็นความสุขที่พอ ไม่มีความหิวกระหายตามมา  ไม่เหมือนกับความสุขที่ได้สัมผัสในทางโลก  ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดใดก็ตาม  เวลาที่ได้สัมผัสก็จะมีความสุข มีความสบายใจ   ถ้าไม่ได้สัมผัสก็จะเกิดความว้าเหว่ อยากจะเสพสัมผัสอีก  เพราะโดยธรรมชาติของลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น   ล้วนเป็นของที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั่นเอง   ไม่สามารถให้ความอิ่มความพอกับผู้เสพ  จำต้องแสวงหามาใหม่อยู่ตลอดเวลา 

แต่สภาพของร่างกายคือชีวิตก็เป็นของที่ไม่เที่ยงเช่นกัน เป็นอนัตตาเช่นกัน  คือไม่อยู่ในการควบคุมของผู้หนึ่งผู้ใด  ไม่มีตัวตนในร่างกาย  ร่างกายก็ต้องดำเนินไปตามวัฏจักรของเขา  คือวัฎจักรแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครสามารถที่จะไปหยุดยั้งได้  และเมื่อร่างกายเข้าสู่สภาพชรา  เข้าสู่สภาพของความเจ็บไข้ได้ป่วย ความสุขที่จะต้องแสวงหาด้วยร่างกาย ก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ทำให้ไม่สามารถหาความสุขได้ เหมือนกับตอนที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังไม่มีความเจ็บไข้ได้ป่วย  ผู้ฉลาดที่เห็นสภาพของร่างกายนี้ว่า จะต้องเป็นอย่างนี้แล้ว  แม้สภาพของตนเองยังไม่ได้เป็นก็ตาม แต่ก็รู้อยู่ว่าไม่ช้าก็เร็วจะต้องเดินทางไปถึงจุดนั้นเหมือนกัน จึงเริ่มคิดหาทางออก คือหาทางที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือให้ความสุข  ไม่ต้องการพึ่งพาอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายให้เป็นเครื่องมือหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  เพราะเริ่มเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขก็ดี  รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายก็ดีนั้น หาเป็นความสุขไม่    เป็นความทุกข์ต่างหาก 

เพียงแต่เมื่อก่อนนี้ถูกโมหะความหลง อวิชชาความไม่รู้ในธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ ผลักดันให้จิตใจเกิดมีความอยากต่างๆกับสิ่งเหล่านี้  ทำให้หลงยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้  เพราะยามที่ได้เสพได้สัมผัสก็มีความสุข มีความสบายใจ แต่หารู้ไม่ว่าเป็นความสุขความสบายใจของยาเสพติดนั่นแหละ  ผู้ใดก็ตามถ้าไปหลงไปติดกับยาเสพติดแล้ว ย่อมต้องติดแบบถอนตัวไม่ขึ้น  ยาเสพติดนี้เราก็ทราบอยู่ว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปเสพเลย  ชีวิตของเราก็อยู่ได้ มีความสุขได้  แต่คนโง่เขลาเบาปัญญากลับหลงไปเห็นว่า ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับตน  จึงหลงไปเสพเข้า  เมื่อเสพเข้าไปแล้ว ก็เกิดความยึดติด ต้องเสพอยู่เรื่อยๆ   วันใดเวลาใดไม่ได้เสพยา ก็จะเกิดมีอาการหงุดหงิด มีอาการคลั่ง  มีอาการบ้าขึ้นมา  จนทำให้ไม่สามารถอยู่ได้ ถ้าไม่ได้ยาเสพติดนั้นมาเป็นเครื่องให้ความสุข  นี่ก็เกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญา ที่ไปทดลองเสพจนติดขึ้นมา  คนฉลาดถ้าเห็นตัวอย่างของคนที่ติดยาเสพติดแล้ว ย่อมเห็นว่าเป็นเหมือนกับอสรพิษ ไม่ควรที่จะเข้าใกล้อย่างเด็ดขาด  

ถึงแม้ว่าอสรพิษในขณะที่เราเห็นอยู่นั้นจะสงบนิ่งอยู่  ไม่แสดงกิริยาอาการดุร้ายขึ้นมาให้เห็นก็ตาม  แต่เราก็รู้อยู่ว่า ถ้าหากถูกอสรพิษกัดเข้า  พิษของเขาสามารถทำร้ายชีวิตของเราได้  สิ่งเสพติดก็เป็นเช่นนั้น  เช่นเดียวกันกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ก็เป็นเหมือนกับอสรพิษนั่นแหละ  เพียงแต่ว่าปุถุชนธรรมดาสามัญอย่างเราอย่างท่านทั้งหลายนั้น ไม่มีปัญญาเหมือนพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  จึงทำให้เราไม่เห็นความเป็นอสรพิษของลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ชีวิตของพวกเราจึงใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทไปกับการหาความสุขจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  โดยไม่รู้สึกตัวเลยว่า ถูกความทุกข์ครอบงำอยู่ตลอดเวลา   ทุกข์ที่เกิดจากการแสวงหา  ทุกข์ที่เกิดจากการรักษา  ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ไป 

เพราะโมหะอวิชชาจะไม่ให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้   จะให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องเสพสิ่งเหล่านี้  ต้องมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  ต้องเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นธรรมดา  จิตใจก็เลยต้องวนเวียนอยู่ภายใต้อำนาจของความหลงนี้ ผลักดันให้ไปแสวงหาความทุกข์ไม่รู้จักจบจักสิ้น  นานๆทีจะได้มีคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้า ที่สามารถมองทะลุม่านหมอกของโมหะความหลงนี้ได้  ทำให้เห็นสภาพความเป็นจริงของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ของลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ว่าล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น  เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเลย  เป็นเหมือนอสรพิษ  และทรงรู้ทรงเห็นถึงความสุขอันแท้จริงที่มีอยู่ในจิตใจของเราแล้ว  เพียงแต่รอโอกาสให้ได้แสดงออกมาเท่านั้นเอง  ขณะนี้ความสุขของปุถุชนส่วนใหญ่ ที่มีอยู่ในจิตคือความสงบนั้น ยังไม่ปรากฏขึ้นมา ก็เป็นเพราะว่าปุถุชนทั้งหลายไม่เคยให้ความสนใจในการทำจิตให้สงบนั่นเอง  มัวแต่ใช้จิตไปทำสิ่งต่างๆในการแสวงหาความสุขจากสิ่งภายนอก  หาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  หารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมาเสพ  จนทำให้จิตไม่มีโอกาสได้สงบตัวนิ่งเลย แม้แต่วินาทีเดียว 

ความสุขอันประเสริฐที่เกิดจากความสงบนิ่งของจิต จึงไม่เคยปรากฏให้เห็นเลย ทำให้ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นมีอยู่ในตัวของเราแล้ว  ต้องมีคนอย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติจิต ได้ทำจิตใจให้สงบแล้ว ชำระเหตุที่ทำให้จิตมีแต่ความวุ่นวาย ให้หมดออกไปจากจิตจากใจ  เหลือแต่ความบริสุทธิ์สะอาดของจิต แล้วก็จะเห็นถึงความสุขอันประเสริฐที่เรียกว่าบรมสุข ปรมัง สุขัง ความสุขของพระนิพพาน คือจิตที่สิ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง   ท่านเหล่านี้ได้สัมผัสได้เห็นแล้ว ถึงความสุขอันประเสริฐนี้  จึงได้นำมาประกาศเผยแผ่ให้กับปุถุชนผู้ยังมีความมืดบอด  มีโมหะความหลง  มีอวิชชาความไม่รู้จริงในสภาพธรรมชาติของสิ่งต่างๆรอบตัว  เมื่อได้ประกาศแล้ว ถ้าปุถุชนคนใดได้ยินได้ฟังแล้วเกิดปัญญา คือเห็นพ้องตามที่ท่านทั้งหลายได้แสดงไว้ ก็จะเกิดมีความกล้าหาญขึ้นมา  เกิดศรัทธาที่จะกล้าต่อสู้กับการยึดติดอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข   ยึดติดอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  พยายามตัด  พยายามลดละให้น้อยลงไป 

ดังที่ท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติกันในวันนี้  แทนที่จะไปเที่ยวหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  เช่นไปดูหนังดูละคร  ฟังเพลง  ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ  กลับมาที่วัดกัน  มาสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย  ไม่ให้ไปดู ไม่ให้ไปฟังสิ่งต่างๆ ที่เคยดูเคยฟังมา  แล้วก็สร้างความหิว สร้างความกระหายให้ไม่รู้จักจบจักสิ้น  ตอนนี้จะมาฝึกจิตไม่ให้ไปยึดไปติด  ไปอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเครื่องบันเทิง เป็นเครื่องบำรุงบำเรอจิตใจ  แต่จะหันมาทำจิตใจให้สงบด้วยการเจริญสติ เพราะเมื่อมีสติแล้ว จิตจะไม่สามารถไปคิดเรื่องราวต่างๆได้  ถ้าจิตไม่คิดเรื่องราวต่างๆ สักพักหนึ่งจิตก็จะสงบตัวลง รวมลงเป็นหนึ่ง  เวลาที่จิตรวมลง  จิตจะขาดจากความคิดปรุงแต่งต่างๆที่มีอยู่ภายในจิต  รวมลงนิ่งสงบอยู่เป็นเอกัคตารมณ์ เหลืออยู่แตสักแต่ว่ารู้  นี่คือธรรมชาติของจิตเมื่ออยู่ตามลำพัง  จิตคือตัวรู้   แต่เมื่อจิตเริ่มคิดเริ่มปรุงก็จะมีสังขาร ความคิดปรุงแต่ง มีเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์  ไม่สุขไม่ทุกข์ ปรากฏขึ้นมาภายในจิต  ถ้าจิตไม่รู้ทัน ก็จะถูกทุกข์สุขของเวทนาเป็นตัวผลักดันให้ไปทำสิ่งต่างๆ   เช่นเวลามีความทุกข์ม่สบายใจ ก็ต้องหาวิธีดับทุกข์กัน ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าไม่รู้จักวิธีดับทุกข์ที่ถูกต้อง  ก็จะดับทุกข์แบบที่เคยทำกัน  เช่นออกไปหาความสุขกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

แต่นี่ไม่ใช่เป็นวิธีดับทุกข์ที่แท้จริง   เพราะว่าทุกข์ที่จะดับได้อย่างแท้จริงนั้นต้องใชปัญญา ต้องรู้ว่าเวทนาที่ปรากฏขึ้นมาภายในจิตนั้น  ไม่ว่าจะเป็นสุขก็ดีเป็นทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี  ก็เป็นเพียงสภาวธรรมอันหนึ่ง  เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน  คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้ปรากฏขึ้นมา ตั้งอยู่ได้สักระยะหนึ่งก็หมดไปเปลี่ยนไป  ในจิตของเราในวันๆหนึ่งนี้  เราจะสังเกตได้ว่า มีความรู้สึกคือเวทนานี้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อย  เดี๋ยวก็ดีใจเดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็เฉยๆ สลับกันไป  จิตของผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรม ก็จะต้องกลิ้งไปกลิ้งมา ตามสภาพของอารมณ์นั้นๆ   เวลาเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาก็เกิดความไม่พออกไม่พอใจ เกิดความดิ้นรนกวัดแกว่ง ที่จะหนีให้พ้นจากทุกขเวทนานั้น  เวลาเกิดสุขเวทนาขึ้นมาก็มีความยินดี ดีอกดีใจ คว้าเอาเวทนานั้นมาครอบมาครอง แล้วก็อยากให้สุขเวทนานั้นอยู่กับตนไปนานๆ  แต่หารู้ไม่ว่าไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับได้ เพราะโดยธรรมชาติของเวทนานั้น ก็เป็นอนัตตาเช่นกัน  คือไม่มีใครเป็นเจ้าของนั่นเอง  เขาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ตามเหตุตามปัจจัย 

เหตุก็มีหลายอย่างด้วยกัน  เหตุภายนอกก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดเวทนาต่างๆได้  เช่น เสียงที่ได้ยิน หรือรูปที่เห็น  เวลาสัมผัสก็จะทำให้เกิดเวทนาขึ้นมาภายในใจได้ เวลาเห็นรูปที่ชอบ ก็จะเกิดความสุขขึ้นมา  เวลาเห็นรูปที่ไม่ชอบ ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา  เวลาได้ยินเสียงที่ชอบอกชอบใจ ก็เกิดความสุข  เวลาได้ยินเสียงที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา  เป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้ เพราะในชีวิตของเราวันๆหนึ่งนั้นเราต้องเห็นรูป ต้องได้ยินเสียงนานาชนิดอยู่ทั้งวัน  แต่สิ่งที่ห้ามได้ก็คือจิตของเรา  เราสามารถห้ามจิตไม่ให้ไปดีอกดีใจ ไม่ให้ไปเสียอกเสียใจกับเวทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาภายในใจ  เช่นเวลาไปเห็นรูปที่ไม่ถูกอกถูกใจแล้วเกิดความหงุดหงิดใจ  ก็ขอให้มีสติตั้งมั่น แล้วทำความเข้าใจว่า  นี่ก็เป็นอารมณ์อันหนึ่ง คือเวทนาอย่างหนึ่ง เป็นทุกขเวทนา  เขาอยู่ของเขา ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องจากเราไป  เขาก็เปลี่ยนไป  พอไม่ได้เห็นรูปที่ไม่ถูกอกถูกใจ ไปเห็นรูปที่ถูกอกถูกใจเข้า อารมณ์ก็เปลี่ยนไปแล้ว   เปลี่ยนเป็นดีอกดีใจขึ้นมา  เกิดความสุขขึ้นมาภายในใจ  ก็ไม่ต้องไปดีอกดีใจกับความสุขนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าความสุขนี้ เดี๋ยวก็ต้องผ่านไปเหมือนกัน  นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในจิต

ในขณะที่จิตไม่สงบ เวลาออกจากสมาธิ จิตจะต้องสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็จะเกิดเป็นอารมณ์สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง  ถ้าไม่มีปัญญา เวลาสัมผัสกับความทุกข์ ก็จะเกิดความปรุงแต่ง คือสังขาร ให้คิดไปในทางที่ทำให้เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา เพราะต้องการที่จะหลีกหรือหนีให้พ้นจากความทุกข์นั้น  ถ้าหลีกไม่ได้ก็ยิ่งเกิดความหงุดหงิดใจ เกิดความทุกข์ใจเพิ่มขึ้นมาอีกหลายเท่าทีเดียว  แต่ถ้าเป็นคนฉลาดมีปัญญา เคยฝึกฝนอบรมจิตใจ ก็จะต้องทำจิตให้นิ่ง ให้เป็นอุเบกขา คือปล่อยวางรูปที่เห็นเสีย  ว่าเราไปควบคุมบังคับรูปนั้นไม่ได้  ไปควบคุมเวทนาที่เกิดจากเห็นรูปนั้นไม่ได้  แต่สิ่งที่ควบคุมได้ก็คือจิตของเรา  เหมือนกับขณะที่เราทำจิตให้สงบ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆๆก็ดี  ด้วยการสวดมนต์ก็ดี  หรือด้วยการกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ดี  เราก็ใช้วิธีนี้มาเป็นเครื่องสนับสนุนให้จิตปล่อยวางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มาสร้างอารมณ์ต่างๆให้กับจิตใจของเรา 

ถ้าเราฝึกทำสมาธิอย่างต่อเนื่องแล้ว  ต่อไปการทำสมาธินี้ สามารถทำได้ในอิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าจะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน ก็สามารถทำจิตให้สงบได้    แต่ในเบื้องต้นวิธีที่จะทำจิตให้สงบได้ง่ายและรวดเร็ว ก็คือวิธีนั่ง  เราจึงฝึกนั่งสมาธิกันในระยะเริ่มแรก  แต่หลังจากที่เริ่มได้สมาธิแล้ว ก็ควระฝึกทำสมาธิในอิริยาบถต่างๆ  ไม่ว่าจะเดิน จะยืน จะนั่ง หรือจะนอน หรือเวลาที่ทำกิจกรรมอะไรต่างๆ ก็ยังสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้ คือให้มีสติรู้อยู่กับการกระทำในกิจกรรมนั้นๆ  เวลาเดินก็ให้มีสติอยู่กับการเดิน  เวลารับประทานอาหารก็ให้อยู่กับการรับประทานอาหาร  แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ฝึกจิต จะไม่ได้ทำอย่างนั้น  มักจะปล่อยจิตให้เพ่นพ่านไปตามเรื่องตามราวต่างๆ   เวลาเดินไปก็ไม่ค่อยได้อยู่กับการเดิน แต่จะไปอยู่กับความคิด  คิดถึงเรื่องนั้นคิดถึงเรื่องนี้  เวลารับประทานก็เช่นกัน ไม่ได้อยู่กับการรับประทาน  รับประทานไป แต่ใจก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่  จิตก็เลยไม่เคยมีความสงบเลย  จิตก็เลยไม่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของสติ  ถึงเวลาที่อยากจะควบคุมก็ไม่สามารถควบคุมได้  อย่างที่เรียกกันว่า เกิดอาการสติแตกขึ้นมา 

คนที่เป็นบ้าก็เป็นเพราะไม่มีสติ  สติไม่สามารถควบคุมจิตใจให้ตั้งอยู่ในความสงบ  ให้ดำเนินไปในทำนองคลองธรรมได้นั่นเอง  เพราะขาดการฝึกฝนอบรม ปล่อยให้จิตใจเป็นไปตามอัธยาศัย  นึกอยากจะคิดอะไรก็คิด  นึกอยากจะพูดอะไรก็พูด  นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ  เมื่อปล่อยให้ทำไปตามอัธยาศัยแล้ว ผลเสียก็จะต้องเป็นสิ่งที่ตามมาต่อไป  เป็นที่ตำหนิติเตียน เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของผู้อื่น ถ้าไปสร้างความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นจนเขาทนไม่ได้  ก็จะต้องถูกจับเข้าขังอยู่ในคุกอยู่ในกรง  เพราะเป็นผู้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นนั่นเอง   เพราะอะไร  เพราะขาดการฝึกฝนอบรมจิตใจด้วยสตินั่นเอง  แต่ถ้าบุคคลใดก็ตามได้รับการฝึกฝนอบรมจิตใจ ด้วยการเจริญสติอยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงหลับไปเลยแล้ว  รับรองได้ว่าจิตจะอยู่ภายใต้การควบคุม  ถ้าจิตอยู่ภายใต้การควบคุมของสติได้แล้ว จิตจะไม่สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นกับตนเอง  จะตั้งมั่นอยู่ในความสงบ เป็นอุเบกขา 

ถ้ามีปัญญาเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไปยึด ไปติด ไม่ได้  ไปเอามาครอบครองเป็นสมบัติของตนไม่ได้  เป็นสิ่งที่เอามาให้ความสุขกับตนเองอย่างแท้จริงไม่ได้  ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย  เมื่อเกิดความเบื่อหน่าย ก็จะเกิดการปล่อยวาง ไม่หลง ไม่ยึด ไม่ติด ไม่หวังอะไรกับสิ่งต่างๆภายนอกอีกต่อไป  ไม่หวังอะไรจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  ไม่หวังอะไรจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่จะหวังอยู่อย่างเดียวก็คือความสงบของจิต  เพราะเวลาจิตใจสงบนั้น มันแสนจะสบาย  แสนจะสุขอย่างยิ่ง  ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า  ไม่มีสุขใดในโลกนี้ จะเสมอเท่ากับสุข ที่เกิดจากความสงบของจิต  นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง  นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้บรรลุถึงด้วยการปฏิบัติธรรม 

อย่างที่เราทั้งหลายมาร่วมกันปฏิบัติ  มีการทำบุญทำทาน รักษาศีล ภาวนา ทำจิตใจให้สงบด้วยอุบายแห่งสมาธิ  ทำจิตใจให้เกิดปัญญาความแยบคาย ด้วยการพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์  เป็นอนิจจังไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด  เป็นอนัตตาปราศจากตัวตน  ไม่มีเราไม่มีเขา  ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น  เป็นธรรมชาติเหมือนกับลมกับแดด  เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถไปควบคุมบังคับได้  ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย  จิตเพียงแต่มารู้มาสัมผัส ก็เพียงแต่รับรู้ไป สัมผัสไปเท่านั้น  แต่อย่าไปเกิดอาการดีอกดีใจ เสียอกเสียใจ กับการมากับการไปของสภาวธรรมต่างๆ  ถ้าเจริญสติและปัญญาในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปสติปัญญาจะทัน  จะเร็วกว่าโมหะความหลง ในจิตของเราจะเป็นการแข่งขันระหว่างความรู้กับความหลง  ถ้ามีความรู้ คือรู้ทันในธรรมชาติว่าเป็นไตรลักษณ์แล้ว ก็จะไม่ยึดไม่ติด  ถ้ารู้ไม่ทันก็จะไปยึดไปติด  จึงต้องพัฒนาสติปัญญาให้เร็วกว่าโมหะอวิชชา เพื่อจะได้รู้ทันแล้วปล่อยวาง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้