กัณฑ์ที่
๑๘๔
วันนี้เราได้มาที่วัดกันเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบให้ไว้
เพราะการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนเท่านั้น
ที่จะเป็นเหตุพาให้ผู้ปฏิบัติไปสู่ความสุขความเจริญและสิริมงคลทั้งหลาย
ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามแล้ว
ยากนักที่จะหวังให้สิ่งที่ดีที่งามทั้งหลายปรากฏขึ้นกับชีวิตของตน
เพราะสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
คือความสุขความเจริญ
ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตนั้น
ล้วนเป็นผลที่เกิดจากกระทำของตนเองทั้งสิ้น
คือการกระทำทางกาย
วาจา ใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำทางใจ
ที่เป็นผู้ริเริ่ม
เป็นผู้สร้างผลทั้งหลายให้ปรากฏขึ้นมา
ถ้าใจเป็นใจที่ฉลาด
รู้เหตุรู้ผล
รู้ความจริงของความสุขของความทุกข์
ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ย่อมสามารถนำการกระทำทางกายและทางวาจา
ที่จะตามมาต่อไป
ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีที่งามได้
ถ้าใจเป็นใจที่ขาดปัญญามีแต่ความหลง
มีความไม่รู้จริง คืออวิชชาอยู่ในใจเป็นเครื่องผลักดันแล้ว
ใจจะไม่รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นคุณ
อะไรเป็นโทษ
อะไรเป็นเหตุของความสุข
อะไรเป็นเหตุของความทุกข์
มักจะหลงผิด
คือจะมองกลับตาลปัตร
มองตรงกันข้ามกับความเป็นจริง
มักจะเห็นความทุกข์เป็นความสุข
เห็นความสุขเป็นความทุกข์
คือเห็นว่าการกระทำดีไม่ได้เป็นเหตุที่จะนำความสุขมาให้
แต่กลับเห็นว่าการกระทำความชั่วเป็นเหตุที่จะนำความสุขมาให้กับตน
ยกตัวอย่างคนที่ไปประพฤติผิดมิชอบ
ทุจริตด้วยวิธีการต่างๆ
เพื่อจะได้สิ่งที่ตนปรารถนามา
เช่น
ลาภยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ
เขามีความเห็นผิด
เพราะไม่รู้ว่าการกระทำทุจริตนี้
ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ
แต่เพราะความหลง
ความเห็นผิดเป็นชอบ
ทำให้เขากลับเห็นว่าทำการทุจริตแล้ว
จะได้สิ่งที่ตนปรารถนามา
เช่น ได้เงินได้ทอง
เมื่อได้เงินได้ทองก็สามารถนำไปซื้อตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์
ซื้อบริษัทบริวาร
ซื้อความสุขต่างๆในโลกนี้ได้
เขาจึงกล้าที่จะกระทำบาป
กระทำผิด
อันเป็นเหตุที่จะนำความเสื่อมเสียมาให้กับตน
โดยคิดว่าเขาสามารถทำโดยไม่มีใครรู้ได้
ไม่มีใครสามารถจับเขาเข้าคุกเข้าตะรางได้
เขาจึงมีความกล้าที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้
แต่เขาเห็นโลกนี้เพียงชีวิตนี้เท่านั้น
เขาไม่เห็นถึงโลกในภายภาคหน้าที่จะตามมาต่อไป โลกที่เขาจะต้องไปเกิดต่อไปนั้นว่ามีจริง เขาคิดว่าชีวิตนี้ก็มีเพียงโลกนี้เท่านั้น
เมื่อตายไปแล้วทุกอย่างก็จบ
จะทำบุญทำความดีขนาดไหนก็ไม่มีผลตามมา
จะทำความชั่วทำบาปทำกรรมขนาดไหนก็ไม่มีผลตามมา
จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องทำความดีให้เสียเวลาเปล่าๆ
เพราะการทำความดีนั้นมีแต่เสีย
เสียทั้งเวลา
เสียทั้งทรัพย์สินเงินทองต่างๆ
อย่างที่ท่านทั้งหลายมากระทำกันเป็นประจำทุกๆวันพระ
ต้องเสียเวลาทำมาหากิน
เสียเงินทองซื้อข้าวของต่างๆมาถวายพระ
แต่สิ่งที่ได้นั้นเป็นสิ่งที่คนตาบอด
คนที่มีโมหะอวิชชา
ไม่สามารถเห็นได้
สิ่งนั้นก็คือความเจริญความสุขทางด้านจิตใจ
จิตใจได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น
มีความสุขมากขึ้น
เพราะได้รับการขัดเกลา
ได้รับการชำระสิ่งที่เป็นมลทินเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
เช่น ความโลภ
ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลงไป
นี่แหละคือความเจริญที่แท้จริง
ความเจริญนี้ก็คือจิตที่มีความสะอาด
ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
เพราะเมื่อไม่มีมลทินเครื่องเศร้าหมองแล้ว
ก็ไม่มีอะไรที่จะมารบกวนจิตใจ
ไม่มีอะไรมากระตุ้นให้จิตใจต้องไปกระทำในสิ่งที่เป็นโทษ
เป็นบาป เป็นกรรม
เพราะจิตใจที่ไม่มีความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ย่อมอยู่เย็นเป็นสุขเป็นปกติ
ไม่ต้องมีอะไรมากมายมาทำให้มีความสุข
เพราะมีความสุขอยู่ในตัวของตนเองอยู่แล้ว
อยู่ในจิตที่ไม่มีความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ซึ่งเปรียบเหมือนกับหนามยอกอก
เวลามีหนามอยู่ในอกนี้
จะขยับสักนิดสักหน่อยก็จะรู้สึกเจ็บขึ้นมา
ฉันใดเวลามีกิเลสตัณหาอยู่ภายในใจแล้ว
ถึงแม้จะมีอะไรมากมายก่ายกองเพียงไร
มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง
มียศถาบรรดาศักดิ์อันสูงส่ง
มีบริษัทมีบริวารที่คอยยกย่องสรรเสริญเยินยออยู่เสมอ แต่ภายในใจก็ยังมีความรู้สึกเจ็บโน่นเจ็บนี่
คือรู้สึกขาดโน่นขาดนี่
รู้สึกอยากได้โน่นอยากได้นี่
คืออยู่เฉยๆไม่เป็นสุข
ต้องหาอะไรมาเพิ่มให้กับชีวิตถึงจะมีความสุข เปรียบเหมือนกับสุนัขขี้เรื้อน
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
จะหาความสุขไม่ได้
เพราะความสุขไม่ได้อยู่กับสถานที่
ถึงแม้จะจับสุนัขขี้เรื้อนไปอยู่ในพระราชวัง
แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาขี้เรื้อนให้หายไป
ก็ยังต้องเกาต้องคันอยู่อย่างนั้น
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ในพระราชวัง
อยู่ในกระต๊อบ
ก็ยังคันอยู่อย่างนั้น
ฉันใดจิตของคนเราก็เป็นอย่างนั้น
ถ้าตราบใดยังมีกิเลสตัณหาความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ความอยากต่างๆอยู่ในใจแล้ว
ต่อให้มีสมบัติข้าวของเงินทองกองเท่าภูเขา มีตำแหน่งสูงๆ
เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์
ถ้าจิตใจยังไม่ได้รับการปลดเปลื้องหรือได้รับการชำระ
ไม่ได้รับการเอาหนามที่อยู่ในอกออกไป
ก็ยังจะมีแต่ความเจ็บ
มีแต่ความทุกข์อยู่เสมอ
มีแต่ความหิว
มีแต่ความอยากอยู่เสมอ
ทั้งๆที่สิ่งต่างๆที่มีอยู่รอบตัวนั้น
ใช้ไปสิบๆชาติก็ใช้ไม่หมด
แต่ความรู้สึกของใจก็ยังรู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจ
ไม่พอใจ ไม่อิ่มใจ
เพราะนี่คือธรรมชาติของกิเลสตัณหาทั้งหลาย
เป็นตัวสร้างความรู้สึกหิว
ความรู้สึกอยาก
ความรู้สึกไม่พอให้กับใจของสัตว์โลกทั้งหลาย
ถ้าไม่มีคนอย่างพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เห็นถึงปัญหาอันนี้
เห็นถึงโทษของกิเลสตัณหา
และเห็นวิธีการชำระถอดถอนกิเลสต่างๆ
ให้ออกไปจากจิตจากใจได้แล้ว
สัตว์โลกทั้งหลายจะไม่มีโอกาสได้พบกับความสุขเลย
จะเป็นเหมือนกับสุนัขขี้เรื้อน
ถึงแม้จะร่ำรวย
ถึงแม้จะมีตำแหน่งสูงๆ
แต่ภายในใจก็ยังเป็นเหมือนกับคนอื่นๆทั่วๆไป
ยังมีความหิวมีความอยากอยู่เหมือนกับขอทานข้างถนน
เพราะการมีทรัพย์มากมายเพียงไรก็ตาม
มีตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ตาม
ไม่ได้เป็นตัวแก้ปัญหา
ที่สร้างความหิว
สร้างความอยากอยู่ภายในใจ
สิ่งที่จะแก้ปัญหาของใจได้
ก็คือการทำจิตใจให้สะอาดหมดจด
การจะทำให้จิตใจปราศจากความหิวความอยากนั้น
ต้องใช้ธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
เพราะธรรมะนี้แหละเป็นเครื่องซักฟอกจิตใจ
เป็นเครื่องถอดถอนกิเลสตัณหาความอยากทั้งหลาย
ให้หมดไปจากจิตจากใจได้
เพราะพระพุทธเจ้าได้ใช้มาแล้ว
ได้ประสบความสำเร็จจากการประพฤติปฏิบัติตามธรรมอันประเสริฐแล้ว
ใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือต่อสู้ถอดถอนกิเลสตัณหาทั้งหลายให้ออกไปจากจิตจากใจได้แล้ว
นอกจากธรรมะอันประเสริฐนี้แล้ว
ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะสามารถถอดถอนชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจ
ให้หมดสิ้นไปจากใจได้
พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกในโลก
ที่ค้นพบพระธรรมอันประเสริฐนี้
แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ
ชำระพระทัยของพระองค์จนสะอาดหมดจด
กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์
เรียกว่าบริสุทธิ์พุทโธ
พุทโธก็คือผู้รู้
บริสุทธิ์ก็คือความสะอาด
ผู้รู้นี่ก็คือใจ
ใจที่สะอาดก็หมายถึงใจที่ได้รับการชำระด้วยธรรมะอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าแล้ว
ความจริงแล้ว
ธรรมะนี้ก็ไม่ใช่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า
ธรรมะนี้เป็นธรรมะที่มีอยู่ในโลกนี้อยู่แล้ว
ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้หรือไม่ก็ตาม เพียงแต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบธรรมะอันประเสริฐนี้
เมื่อทรงได้พิสูจน์กับพระองค์เองแล้วว่าเป็นสิ่งประเสริฐ
สามารถชำระกิเลสตัณหา
หนามต่างๆที่อยู่ในอกได้
จึงนำมาสั่งสอนผู้อื่น
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเราจึงเรียกว่าธรรมะ
แต่ความจริงแล้วธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสั่งสอนนี้
มีอยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม
เป็นธรรมชาติที่มีอยู่เดิม
ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนฉลาดที่จะสามารถค้นพบได้หรือเปล่า
เปรียบเทียบก็เหมือนกับเพชรนิลจินดาอันมีค่าที่ฝังอยู่ในดิน
ถ้าคนฉลาดรู้จักหา
รู้จักขุด ก็จะสามารถขุดคุ้ยเพชรนิลจินดาอันมีคุณค่านี้
ขึ้นมาเป็นสมบัติครอบครองได้
ธรรมะก็เป็นเช่นนั้น
ถ้าเป็นคนฉลาด
รู้จักใช้เหตุใช้ผลอยู่ตลอดเวลา
ก็จะสามารถขุดคุ้ยนำธรรมะอันประเสริฐนี้มาเป็นสมบัติของตนได้
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงขุดคุ้ยแสวงหามา
เมื่อได้มาแล้ว
ได้สัมผัสรสอันประเสริฐของธรรมะแล้ว
จึงได้นำมาเผยแผ่ให้กับผู้อื่นต่อไป
ผู้อื่นที่เมื่อก่อนนี้ไม่เคยรู้จักธรรมะอันประเสริฐ
ก็เลยได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมะอันประเสริฐนี้
แล้วนำเอาไปใช้ในการชำระกิเลสตัณหาเครื่องเศร้าหมอง
ต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้
ทำให้จิตใจของท่านเหล่านั้นกลายเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา
เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้า
บุคคลเหล่านี้เราเรียกท่านว่าพระอรหันตสาวก
ท่านเป็นสาวก หมายความว่าท่านเป็นผู้ฟัง
คำว่าสาวกนี้ภาษาบาลีแปลว่าผู้ฟัง
คือได้ยินได้ฟังคำสอนจากพระพุทธเจ้าก่อน
แล้วจึงนำคำสอน
คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าธรรมะนี้เป็นสิ่งที่ยากต่อคนธรรมดาสามัญทั่วไป
ที่จะสามารถขุดค้นพบได้ด้วยตนเอง
ต้องเป็นคนอย่างพระพุทธเจ้า
คือเป็นพระโพธิสัตว์
ผู้ได้ตั้งจิตอธิษฐานที่จะแสวงหาความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทื่ครอบงำจิตใจ
ด้วยการสะสมบุญบารมีทุกภพทุกชาติ
ที่มีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์
และเมื่อบุญบารมี
ซึ่งเปรียบเหมือนกับยานพาหนะ
ที่จะนำพาพระโพธิสัตว์ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ปรารถนาคือพุทธภูมิ
มีครบถ้วนบริบูรณ์
ก็สามารถนำพาให้พระโพธิสัตว์ได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้
ในแต่ละพุทธสมัยจะมีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น
เพราะยากที่จะมีคนอย่างพระพุทธเจ้า
มาปรากฏขึ้นในโลกได้ทีเดียวพร้อมๆกัน
แต่พระอรหันตสาวกสามารถมีเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วนได้ เพราะพระอรหันตสาวกไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ขุดค้นหาธรรมะด้วยตนเอง
มีพระพุทธเจ้าเขียนแผนที่บอกไว้ให้แล้ว
บอกว่าถ้าต้องการธรรมะอันประเสริฐนี้
ก็จงเดินไปในทางนี้เถิด
แล้วก็จะพบกับธรรมะอันประเสริฐนี้
เมื่อมีแผนที่
การที่จะเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง
จึงไม่ยากเย็นอะไรนัก
ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่ไม่มีแผนที่อย่างพระพุทธเจ้าแล้ว
แตกต่างกันมาก คนที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองต้องการนั้นตั้งอยู่ตรงไหน
ก็เปรียบเหมือนกับคนตาบอดที่ต้องใช้มือคลำทางไป
ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองต้องการนั้นตั้งอยู่ตรงไหน แต่คนที่มีคนบอกว่าสิ่งที่ตนเองต้องการนั้น
ตั้งอยู่ตรงนั้น
ขอให้เดินไปตรงนั้น
ก็จะพบกับสิ่งที่ต้องการ
นี่ก็คือลักษณะของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ท่านเหล่านี้ก็เป็นผู้ที่แสวงหาความพ้นทุกข์เหมือนกัน
แต่โดยลำพังท่านเองนั้น
ท่านไม่มีบุญบารมีแก่กล้า
พอที่จะหลุดพ้นได้ด้วยตัวของท่านเอง
ท่านต้องอาศัยการปรากฏขึ้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
มาประกาศสั่งสอนธรรมะให้ทราบ
ถึงจะสามารถปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์
หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้
นี่คือความแตกต่างระหว่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
กับพระอรหันตสาวก
แต่เป็นพระอรหันต์ด้วยกัน
คำว่าพระอรหันต์นี้หมายถึงผู้สิ้นกิเลส
ผู้ไกลจากกิเลส
คือผู้สิ้นแล้วในความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ด้วยการปฏิบัติชำระจิตใจด้วยธรรมะอันประเสริฐนี้
แตกต่างกันตรงที่ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชำระจิตด้วยพระองค์เอง
ศึกษาด้วยพระองค์เอง
จากธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวและรอบตัวพระองค์
จนเข้าถึงพระอริยสัจสี่
เห็นทุกข์และเหตุของทุกข์
เห็นมรรคคือวิธีการที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์
ด้วยการถอดถอนกิเลสตัณหาอันเป็นต้นเหตุของความทุกข์
นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงขุดค้นพบขึ้นมาด้วยพระองค์เอง
โดยอาศัยพระบารมีอันแก่กล้าที่ได้ทรงสะสมมานับไม่ถ้วนในอดีตชาติต่างๆ
และเมื่อถึงเวลาที่บารมีเหล่านี้พร้อมที่จะแทงทะลุเมฆหมอกแห่งอวิชชา
ที่ครอบงำพระทัยของพระองค์
จึงทำให้พระองค์ทรงเห็นในพระอริยสัจสี่
เห็นความสัมพันธ์ของทุกข์ที่เกิดจากเหตุคือสมุทัย
เห็นความสัมพันธ์ของนิโรธคือความดับทุกข์ที่เกิดจากมรรค
การปฏิบัติทาน ศีล
สมาธิ ปัญญา
พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วจึงได้ปฏิบัติทาน
ศีล สมาธิ ปัญญา ตั้งจิตตั้งใจให้อยู่ในกรอบของศีล
สมาธิ ปัญญา ศีลก็คือการประพฤติที่ดีงามทางกาย
ทางวาจา
ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตนเอง
เช่น
ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
โกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา
นี่คือศีล ถ้าเป็นศีลของนักบวชก็มีละเอียดเข้าไปถึง
๒๒๗ ข้อ แต่ศีลข้อใหญ่ๆ
ก็อยู่ที่ศีล ๕ เป็นหลัก
ถ้าเป็นนักบวชแล้วละเมิดศีล
๕
ซึ่งถือว่าเป็นศีลที่ร้ายแรง
เช่น
การฆ่ามนุษย์ก็จะต้องถือว่าเป็นผู้ที่สิ้นจากความเป็นพระไปทันที
นี่คือศีลที่นักบวชต้องรักษากันหรือนักปฏิบัติธรรมจะต้องรักษา
เพราะศีลเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ
ศีลเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดสมาธิ
เพราะผู้ที่มีศีลย่อมสงบกาย
สงบวาจา เมื่อกายวาจาสงบ
ใจก็สงบตามไปด้วย
ทำให้การทำจิตให้สงบที่เรียกว่าสมถภาวนาหรือการเจริญสมาธิ
ก็จะเป็นไปได้อย่างง่ายดาย
ต่างจากคนที่ไม่มีศีล
คนที่ไม่มีศีลกายวาจาจะไม่สงบ
เมื่อกายวาจาไม่สงบ
ใจก็จะไม่สงบ
เพราะใจเป็นตัวที่ต้องทำงานนั่นเอง
เวลาจะเคลื่อนไหวทางกายทางวาจา
ต้องใช้ใจเป็นผู้สั่งการ
ใจต้องคิดก่อน เช่นจะไปขโมย
ก็ต้องวางแผนก่อน
จะไปทำอะไรก็ต้องใช้ใจเป็นผู้กระทำ
ผู้ที่ไม่มีศีลจึงมีความยากลำบากในการทำจิตใจให้สงบ
สังเกตดูคนที่เป็นมิจฉาชีพ
คนที่ชอบประพฤติตนผิดศีลผิดธรรม
จะไม่ชอบความสงบ
จะไม่สามารถทำจิตใจของตนให้สงบได้
เพราะจิตของตนเป็นเหมือนกับก้อนหินที่กลิ้งลงมาจากภูเขา
มันจะกลิ้งไปเรื่อยๆ
ไม่ยอมหยุด แต่ถ้าเป็นคนที่มีศีล
มีความสงบกาย สงบวาจา
ก็เปรียบเหมือนกับมีเบรก
หรือมีเครื่องกีดขวางก้อนหินที่ไหลลงมาจากภูเขาให้หยุดได้นั่นเอง
ถ้ามีศีลคือความสงบทางกายทางวาจาแล้ว
ความสงบทางใจก็จะตามมาต่อไป
และเมื่อได้ใช้สติควบคุมกำหนดบังคับไม่ให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ
แต่ให้คิดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเครื่องล่อ
เป็นเครื่องดึงจิตให้รวมเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง
เมื่อสามารถดึงเข้าไปสู่ความเป็นหนึ่งได้
จิตก็จะสงบตัวนิ่งลง
แล้วก็จะไม่คิดไม่ปรุงอะไรชั่วขณะหนึ่ง
หรือนานกว่านั้น
ก็สุดแท้แต่กำลังของสติที่จะดึงจิตไว้
ถ้าสติมีกำลังมากก็จะสามารถดึงจิตให้อยู่ในความสงบเป็นเวลานาน
เมื่อจิตมีความสงบแล้ว
กิเลสตัณหาที่อาศัยการทำงานของจิตก็ไม่สามารถทำงานได้
กิเลสตัณหาก็เปรียบเหมือนกับคนที่อาศัยรถยนต์ไปไหนมาไหน
ถ้ารถยนต์จอดนิ่งอยู่ไม่ไปไหนมาไหน
คนที่นั่งอยู่ในรถก็ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้
ก็ต้องนั่งรออยู่ในรถจนกว่ารถจะขับเคลื่อนต่อไป
ถึงจะไปไหนมาไหนได้
กิเลสความโลภ ความโกรธ
ความหลงก็เช่นกัน
ในขณะที่จิตรวมตัวลง
สงบตัวลง
ก็จะไม่สามารถทำงานได้
ไม่สามารถไปโลภไปโกรธได้
เมื่อไม่มีความโลภ
ไม่มีความโกรธ
ความหลงอยู่ภายในใจ
ใจก็ว่าง ใจก็มีความสุข
แต่จะเป็นความว่างชั่วคราว
ไม่ถาวร เพราะสมาธิโดยลำพังไม่สามารถทำลายหรือถอดถอนกิเลสตัณหาความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ความอยากให้ออกไปจากจิตจากใจได้
จำต้องอาศัยเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าปัญญา
คือความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของสิ่งต่างๆทั้งหลาย
ที่จิตยังไม่เห็น
เพราะถูกความหลงครอบงำอยู่
ทำให้เห็นกลับตาลปัตร เห็นตรงกันข้าม เช่น เห็นความเที่ยงแท้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เห็นความสุขในกองทุกข์ เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน นี่คือความเห็นของจิตที่มีความหลงครอบงำอยู่ แต่ถ้านำปัญญาซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับพวกเรา ทรงสอนให้เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปยึดไปติดอยู่ เช่น ร่างกายของเรา หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ไม่มีตัวไม่มีตน นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ผู้ที่มีสมาธิแล้วให้เจริญปัญญาต่อไป ให้พิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ นี้ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด ให้มองขันธ์ ๕ นี้เป็นเหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง หรือเมฆก้อนหนึ่งที่ไหลมาไหลไป มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เมฆก็เกิดขึ้นจากการรวมตัวของไอน้ำ เมื่อก้อนเมฆมีน้ำหนักมากก็ตกลงมาเป็นน้ำฝน น้ำฝนก็จะระเหยกลับกลายเป็นก้อนเมฆอีก นี่คือวัฏฏะของธรรมชาติทั้งหลาย ร่างกายหรือขันธ์ ๕ ก็เป็นเช่นนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นคล้ายๆกับเมฆ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ร่างกายก็มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สลายกลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ เวทนา ความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมา เดี๋ยวสุขบ้าง เดี๋ยวทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง สังขาร ความคิดปรุง ก็คิดไป คิดไปแล้วก็ดับไป แล้วก็คิดใหม่อีก หมุนเวียนไป ไม่มีตัวตนในสิ่งเหล่านี้ เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน จิตก็จะปล่อยวาง แล้วก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้