กัณฑ์ที่ ๑๘๖     ๑ มกราคม ๒๕๔๗

ปีใหม่ ๒๕๔๗

 

วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นธรรมเนียมของชาวพุทธเรา เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ จะเข้าวัด เพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความราบรื่นดีงาม มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีแต่ความก้าวหน้า ในหน้าที่การงาน ในชีวิตครอบครัว  การเข้าหาพระเพื่อขอพร จึงเป็นทางที่ถูกต้องของพุทธศาสนิกชน ที่พึงกระทำกัน เพราะเมื่อได้เข้าหาพระแล้ว จะได้ยินได้ฟังธรรมะคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ที่จะชี้ทางให้ไปสู่ความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง แต่ความสุขความเจริญ ความเป็นสิริมงคล ที่พวกเราทุกคนปรารถนากันนั้น เป็นสิ่งที่เกิดจากการขวนขวาย จากการแสวงหา จากการปฏิบัติในความดี ในบุญและกุศล ผลที่ปรารถนาคือความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต จึงจะปรากฏขึ้นมา เพราะสิ่งที่เราปรารถนากันนั้น ไม่มีใครสามารถหยิบยื่นให้กันได้ ไม่เหมือนกับขนมของหวานหรือกับข้าวกับปลา ที่พอจะหยิบยื่นให้กันได้ แต่เรื่องของความสุขความเจริญนั้น เป็นผลของการปฏิบัติในความดีงามทั้งหลาย ในบุญในกุศล  จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถมอบให้กันได้

สิ่งที่เรามอบให้กัน เช่นในวันปีใหม่ เราอวยพรกัน ขอให้มีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญนี้ เป็นเพียงความปรารถนาดีเท่านั้นเอง คือเรารู้ว่าทุกๆ คนต้องการความสุขและความเจริญ ดังนั้นในวันปีใหม่เราก็อวยพรให้กันและกัน แต่การอวยพรนี้จะไม่มีความหมายเลย จะเป็นลมปากไปเปล่าๆ ถ้าผู้รับพรไม่น้อมเอาไปปฏิบัติ  ได้แต่ดีอกดีใจเวลาใครให้พรมา แต่ไม่เคยเหลียวดูพฤติกรรมของตนเลยว่า วันๆหนึ่งเราทำอะไรไปบ้าง กำลังสร้างบุญสร้างกุศล หรือกำลังสร้างบาปสร้างกรรม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เกิดผลดีและชั่วตามมา ถ้าไม่สังเกตดู เราจะไม่รู้ เพราะในแต่ละวันนี้ เราทำหลายสิ่งหลายอย่างด้วยกัน บางทีก็หลงผิดไป คิดว่าสิ่งที่คิดว่าดีนั้น ในความเป็นจริงแล้ว หาเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญไม่ แต่เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือได้ยินได้ฟังก็นานๆสักครั้งหนึ่ง ก็จดจำไม่ได้ และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรในบางสิ่งบางอย่างไป ก็จะทำไปโดยขาดสติขาดปัญญา ผลที่ปรารถนากันจึงไม่ปรากฏขึ้นมา เพราะการจะทำความดีนั้น จะต้องมสติอยู่กับตัวอยู่เสมอ ต้องมีปัญญา รู้จักแยกแยะว่าการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำที่ดีที่งาม ที่นำมาซึ่งความสุขและความเจริญ การกระทำอย่างไร เป็นการกระทำที่ไม่ดี นำมาซึ่งความทุกข์และความเสื่อมเสีย

นี่คือปัญญาความรู้ ที่ควรรู้ควรศึกษา เมื่อเข้าวัดในวันปีใหม่ เราก็จะมาได้ยินเรื่องราวอย่างนี้ เพราะพระท่านมีหน้าที่ชี้บอกทางให้เราเดินไป แต่พระท่านเดินไปให้เราไม่ได้ เพราะตัวพระเองท่านก็ต้องเดินไปของท่านเอง ทุกๆคนต้องเป็นผู้ปฏิบัติตนในวิถีทางแห่งความดีงามทั้งหลาย จึงจะสามารถพาตนเองไปสู่พรอันประเสริฐ ที่ปรารถนากัน ไม่ว่าจะเป็นการเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละก็ดี หรือการเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุขก็ดี ล้วนเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของเราทั้งสิ้น การกระทำก็มีด้วยกัน ๓ ทาง คือทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในการกระทำทั้ง ๓ ทางนี้ การกระทำทางใจเป็นการกระทำที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นจุดเริ่มต้น เป็นผู้ริเริ่ม การกระทำทางวาจาก็ดี ทางกายก็ดี จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีการกระทำทางใจเกิดขึ้นก่อน  การกระทำทางใจก็คือความคิดนี้เอง ก่อนที่จะทำอะไรได้ ใจต้องคิดสั่งการมาที่กาย ที่วาจาเสียก่อน ถึงจะทำอะไรได้  อย่างวันนี้จะมาที่วัดมาทำบุญกันได้  ในเบื้องต้นใจก็ต้องคิดเสียก่อนแล้ว ตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่า  วันพรุ่งนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่จะมาทำบุญกัน นี่เป็นความคิดที่เกิดขึ้นในใจของเรา เมื่อมีความคิดนี้แล้ว ความคิดนี้ก็จะสั่งการให้ไปกระทำการต่างๆ  เช่น ไปเตรียมข้าวของ ไปเตรียมตัว เตรียมจิตเตรียมใจไว้ พอถึงเวลาก็เดินทางมาที่วัด  นำสิ่งของต่างๆที่ได้ตั้งใจไว้มาถวายพระ

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้มองดูการกระทำทางใจเป็นสำคัญ ให้ดูใจเหมือนกับตำรวจดูแลนักโทษที่อยู่ภายใต้การดูแล อย่าให้ห่างไปจากสายตาเป็นอันขาด เพราะถ้าห่างไปแล้ว เผลอไปแป๊บเดียว นักโทษก็อาจจะเล็ดลอดออกจากห้องขังไปได้  ใจของเราก็เป็นเช่นนั้น ถ้าไม่มีสติซึ่งเปรียบเหมือนกับยามและธรรมะคือปัญญา ความฉลาด ความรู้ผิดถูก ดีชั่ว คอยเฝ้าดูแลใจแล้ว ใจก็จะเป็นแบบนักโทษที่ไม่มีตำรวจคอยเฝ้านั่นเอง นักโทษเราก็รู้อยู่ว่า ถ้าเขาเล็ดลอดออกจากคุกออกจากตะรางไปได้ เขาก็ต้องไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามต่อไป เคยปล้นเคยจี้ เคยลักเคยขโมย ก็จะต้องไปปล้น ไปจี้ ไปลักขโมย ไปตามนิสัยของเขา  เขาจึงต้องถูกตำรวจจับขังไว้ในคุกในตะราง เพื่อไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ใจก็เหมือนกับนักโทษ ถ้าไม่มีผู้ดูแลควบคุมแล้ว ก็จะไปตามนิสัยเดิมของใจ ซึ่งส่วนใหญ่ในปุถุชนอย่างเราอย่างท่านนั้น ก็มักจะเถลไถลไปในทางที่ไม่ดีไม่งาม แต่ไม่รู้ว่าไม่ดีไม่งาม เพราะความหลงผิดนั่นเอง เพราะไม่มีใครอบรมสั่งสอน ขาดปัญญาความรู้ที่ถูกต้องนั่นเอง เราจึงไปทำในสิ่งที่ต้องมาเสียใจภายหลัง เพราะอำนาจของความหลง ทำให้เกิดความอยาก เมื่อเกิดความอยาก ก็แสวงหามาโดยไม่รู้หรอกว่า การหามานั้นจะมีโทษอย่างไรกับตัวเรา จะรู้ก็เมื่อสายไปแล้ว เช่นในบางครั้งเราต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่มีปัญญาที่จะไปซื้อมาได้ด้วยกำลังทรัพย์ของเรา ก็ต้องหาด้วยวิธีที่มิชอบ ไปลักไปขโมย ไปฉ้อโกงเขามา เพราะอำนาจของความต้องการมีอยู่มากภายในใจ จึงทำให้ไม่สามารถหยุดยั้งความต้องการนี้ได้ และขาดผู้ควบคุมดูแลคือสติปัญญา เราจึงปล่อยให้ความคิดของเราชักจูงไปกระทำในทางที่ไม่ดีไม่ชอบ เมื่อทำไปแล้วผลเสียก็จะตามมา

ในเบื้องต้นเราจะมีความรู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจ สมมุติว่าไปลักขโมยอะไรมาสักชิ้นหนึ่ง ถึงแม้ในเบื้องต้นจะมีความรู้สึกดีใจ ที่ได้สิ่งที่ต้องการมา  แต่ในขณะเดียวกันภายในใจก็จะต้องมีความวุ่นวาย มีความไม่สงบ มีความหวาดวิตก ว่าจะต้องถูกจับได้สักวันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว ความสุขที่ได้จากการได้ของมา กับความทุกข์ ความวุ่นวายใจนั้น มันไม่คุ้มค่ากันเลย เพราะความสุขนั้นก็ชั่วขณะที่ได้มาเท่านั้นเอง  ประเดี๋ยวประด๋าว แต่หลังจากนั้นแล้วก็เกิดความวุ่นวายใจ คนที่มีสติมีปัญญาที่อาจจะเผลอไป พอได้สติก็อาจจะมีความสำนึกผิด อาจจะเอาของที่ได้มาโดยมิชอบนี้ กลับคืนไปให้เจ้าของ เพราะจะรู้สึกสบายใจขึ้น  แต่ถ้าคนที่ไม่มีสติไม่มีปัญญา จะไม่รู้จักวิธีแก้ไขปัญหานี้ ก็จะอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่แบบหวาดกลัว อยู่ไปความสุขความเจริญที่ตนเองปรารถนาจากสิ่งที่ได้มานั้น ก็ไม่ปรากฏขึ้นมา กลับมีแต่ความวุ่นวายใจ มีแต่ความทุกข์ และถ้าถูกจับได้ ก็ต้องไปใช้หนี้ในคุกในตะรางต่อไป

นี่ก็เป็นเพราะว่าใจผู้เป็นต้นเหตุของการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการพูดก็ดี การกระทำอะไรก็ดีนั้น ขาดผู้ควบคุมดูแลนั่นเอง ขาดผู้คอยสั่งสอนคอยบอกว่าถูกหรือไม่อย่างไร  จึงต้องมีการอบรมใจเป็นหลัก  เป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งของชีวิต ถ้าต้องการให้ชีวิตดำเนินไปตามความปรารถนา คือมีแต่ความสุขความเจริญ ไม่มีความทุกข์ความเสื่อมเสียตามมา  ต้องดูแลรักษาใจอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะที่กำลังคิดอะไรอยู่ ต้องรู้แล้วว่า ความคิดนั้นคิดไปในทางที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร  ถ้าไม่รู้ก็แสดงว่าขาดผู้ดูแลคือสตินั่นเอง  จึงต้องฝึกฝนให้มีสติอยู่เสมอ การฝึกสติในทางพระพุทธศาสนานั้น คือการดึงจิตให้อยู่กับปัจจุบัน  อย่าส่งจิตไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาแล้ว อดีตไม่มีความจำเป็นกับชีวิตเราแล้ว มันผ่านไปแล้ว เรื่องราวที่จะปรากฏขึ้นมาในอนาคตก็ไม่จำเป็นเหมือนกัน เพราะยังไม่เกิดขึ้น  สิ่งจำเป็นที่สุดที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ในปัจจุบันนี้

ถ้ามีสติอยู่กับปัจจุบัน จะรู้ถึงความคิดของเราอยู่ทุกขณะ ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ เช่นตอนนี้กำลังนั่งอยู่อย่างนี้ เรามีสติอยู่กับตัวของเรา อยู่กับใจของเราหรือเปล่า  ถ้ามีอยู่เราต้องรู้ว่าขณะนี้เรากำลังฟังธรรมะอยู่  เราต้องรับรู้เสียงของธรรมะที่เข้ามาสู่ใจของเรา  แต่ถ้าไม่มีสติ ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจก็จะคิดไปถึงเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาเมื่อคืนนี้ก็ดี หรือเรื่องราวที่จะไปทำต่อไปในภายภาคหน้าก็ดี  ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ในขณะปัจจุบันนี้จะไม่รู้เรื่องราวต่างๆ ที่กำลังพูดอยู่ เพราะจิตไม่ได้รับรู้  ถ้าเปรียบเหมือนกับการเทน้ำใส่แก้วใส่ขัน ก็เหมือนกับคว่ำขันหรือคว่ำแก้วไว้ เทน้ำใส่เข้าไปในขันในแก้วมากน้อยเพียงไร ก็จะไม่มีน้ำหลงเหลือติดอยู่ในขันแม้แต่หยดเดียว  เพราะคว่ำขันหรือแก้วนั่นเอง  น้ำก็ไม่มีหลงเหลือติดอยู่ในแก้วในขันได้  แต่ถ้าตั้งใจฟังคือมีสติอยู่กับการฟังแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ยิน ก็จะเข้าไปอยู่ในใจ ถ้าฟังแล้วเกิดความเข้าใจ ก็จะเป็นความรู้ขึ้นมา เป็นปัญญาขึ้นมา เหมือนมีตำรวจมียามคอยดูแลรักษาใจ

ในคราวต่อไปเวลาใจคิดจะไปทำอะไรในทางที่มิดีมิชอบ ก็จะมีผู้คอยหักห้ามจิตใจ คือสติและปัญญานี้  ถ้ามีสติปัญญาคอยควบคุมดูแลจิตใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ อยู่ตลอดเวลา เวลาใจคิดอะไรเราจะรู้  เวลาคิดไปในทางที่ถูกหรือผิดเราก็จะรู้  เมื่อรู้แล้วก็สามารถควบคุมใจให้สั่งการไปในทางที่ถูกที่ควรได้  ถ้าคิดไปในทางที่มิชอบก็ให้หักห้ามความคิดนั้นเสีย เมื่อความคิดไม่ดีถูกหักห้ามไป การกระทำที่ไม่ดีก็จะไม่มีตามมา เมื่อไม่มีการกระทำที่ไม่ดี ผลเสียก็จะไม่มีตามมา ความเสื่อม ความทุกข์ก็จะไม่ปรากฏขึ้น  เวลาใจคิดถึงเรื่องการกระทำความดี ก็ส่งเสริมให้ทำ  อย่างเมื่อคืนนี้ตั้งใจไว้ว่า  วันนี้ตื่นแต่เช้าจะมาวัดมาทำบุญกัน  นี้เป็นความคิดที่ดี ก็ต้องผลักดันให้ความคิดนี้กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมาให้ได้  ให้เกิดการกระทำขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่ว่าคิดดีอยู่ แต่พอถึงเวลาจะทำกลับไม่ได้ทำ เช่นเมื่อคืนนี้ตั้งใจว่าตอนเช้าจะมาวัด แต่พอดีมีเพื่อนมาชวนไปเที่ยวไปฉลองกัน ก็เลยดื่มสุรายาเมามากไปหน่อย พอตอนเช้าถึงเวลาตื่นจะไปวัด ก็ตื่นไม่ไหว ปวดศีรษะ นอนไม่พอ ก็เลยล้มเลิกความตั้งใจอันดีงามที่จะมาทำบุญทำความดี อย่างนี้ก็แสดงว่าใจยังขาดคุณธรรมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าความจริงใจ

เวลาอยากจะทำอะไรให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้น เมื่อคิดแล้วจะต้องมความจริงใจต่อความคิดนั้น ไม่ใช่สักแต่ว่าคิดไป แต่พอถึงเวลาทำก็ไม่สามารถทำตามที่ตนเองคิดได้  ถ้าอย่างนั้นถึงแม้จะมีความคิดที่ดีที่งามที่วิเศษขนาดไหน  ความคิดนั้นก็ยังไม่สัมฤทธิผลขึ้นมา ยังไม่เกิดประโยชน์ขึ้นมา แต่ถ้ามีความจริงใจคือสัจจะ ทุกครั้งที่คิดที่จะทำอะไรที่ดีที่งามแล้ว มีความแน่วแน่ต่อความคิดนั้นๆ  ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็ตาม จะไม่ให้เหตุการณ์ต่างๆ มาเป็นอุปสรรคขวางกั้น เช่น เมื่อคืนนี้คิดจะมาทำบุญที่วัดตอนเช้า แล้วมีเพื่อนมาชวนให้ออกไปเที่ยว ก็ปฏิเสธเขาไปก็ได้  เพราะตั้งใจจะตื่นแต่เช้ามาวัด  ถ้าไปเที่ยวกับเขาเดี๋ยวก็ต้องไปดื่มสุรายาเมา แล้วก็นอนดึก นอนไม่พอ พอตอนเช้าก็ตื่นไม่ไหว ก็จะมาไม่ได้

นี่คือเรื่องราวของใจที่เป็นตัวการสำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องให้ความสำคัญ   พยายามฝึกนิสัยดูใจอยู่เสมอ  พยายามควบคุมใจให้อยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องอดีตหรือเรื่องอนาคต  แต่ถ้าจะคิดก็ขอให้มีสติตามไปด้วย ให้รู้ว่ากำลังคิดถึงเรื่องอดีตด้วยเหตุผลอันใด เช่นบางทีอาจจะรำลึกถึงอดีตที่ผ่านมาเพื่อศึกษาดูเป็นบทเรียน ปีที่ผ่านมานี้ชีวิตก็ผ่านมาแล้ว ๓๖๕ วัน ได้ทำอะไรที่ดีบ้าง  ได้ทำอะไรที่ไม่ดีบ้าง  ถ้าคิดแบบนี้ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์ เพราะเป็นการศึกษาดูผลการกระทำของเราว่า หนึ่งปีที่ผ่านมานี้ได้ทำอะไรไปบ้าง  สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ผิดพลาดก็น้อมเอามาเป็นครูสอนเราว่า ต่อไปจะไม่ทำสิ่งนั้นอีก สิ่งใดที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ก็น้อมเอาเข้ามาทำให้มีมากยิ่งๆขึ้นไป  ถ้าคิดแบบนี้เป็นการคิดที่คิดด้วยปัญญา คิดด้วยสติ  อย่างนี้เกิดคุณเกิดประโยชน์

แต่ไม่ใช่คิดแบบเพ้อเจ้อ เวลามีอารมณ์อะไรมาสัมผัสถึงอดีตก็คิด คนที่ตายไปแล้วก็มานั่งคิด แล้วก็มานั่งร้องห่มร้องไห้ ทั้งๆที่ตายไปแล้ว เผาไปแล้ว อย่างนี้คิดไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร หรือทำอะไรที่ไม่ดีแล้วก็มานั่งวิตก มานั่งกังวล อย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะเมื่อได้กระทำอะไรไปแล้ว กรรมย่อมมีผลตามมา จะช้าหรือจะเร็วเท่านั้นเอง  ถ้ารู้ว่าทำกรรมไม่ดีไว้ในอดีต ก็ขอให้จำไว้เป็นบทเรียน ว่าในอนาคตจะไม่ไปทำอีก  แต่ไม่ต้องไปกลัวผลของการกระทำไม่ดี ที่ได้กระทำมาในอดีต เพราะห้ามไม่ได้ ผลจะต้องเกิดขึ้น เมื่อกล้าทำก็ต้องกล้ารับ  ต้องเป็นคนอย่างนี้ แล้วอย่างน้อยความทุกข์ที่เกิดจากความกังวลก็จะไม่เกิด   แต่ถ้าไม่อยากจะรับผลที่ไม่ดีที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ดี ก็ต้องหักห้ามจิตใจ ในเวลาที่คิดจะทำในสิ่งที่ไม่ดี ก็ต้องระลึกถึงผลที่ไม่ดีที่จะตามมา ท่านจึงสอนให้มีความกลัวบาป เวลาทำบาปนี้เรารู้หรือเปล่าว่ามันมีผลตามมา

ผลในเบื้องต้นก็คือความวุ่นวายใจ ความกังวลใจ ความหวาดกลัว ผลที่ตามมาต่อไปหลังจากที่ตายไปแล้ว ตามหลักธรรมท่านแสดงไว้ว่าผู้ที่ทำบาปทำกรรมจะต้องไปเกิดในอบายทั้ง ๔  ไม่ว่าจะเป็นเดรัจฉานก็ดี  เป็นเปรต เป็นอสุรกายหรือเป็นสัตว์นรกก็ดี นี่เป็นผลของบาปกรรมที่ได้ทำไว้  ถ้าไม่อยากไปเกิดในสถานที่แบบนั้น ก็ขอให้สร้างความกลัวขึ้นมา คือกลัวในการกระทำบาป  ถ้ากลัวในการกระทำบาปแล้ว ทุกครั้งเวลาที่คิดจะทำบาปทำกรรมขึ้นมา จะได้มีเครื่องยับยั้ง เช่นจะไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไปลักทรัพย์ ก็จะมีอะไรมาคอยเตือนใจ ว่าทำไปแล้วจะต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉานนะ ทำไปแล้วจะต้องไปเป็นเปรต ต้องไปนรก ถ้าสร้างความรู้สึกเหล่านี้ไว้ภายในใจ สร้างความกลัวบาปขึ้นมาในใจ ต่อไปเวลาจะทำบาปทำกรรม จะไม่กล้าทำ เมื่อไม่ทำแล้วผลเสียต่างๆก็จะไม่ปรากฏตามมา

แต่เรื่องราวของภพหน้าชาติหน้านั้นเป็นเรื่องราวที่ลึกลับ เป็นเรื่องราวที่มันเหนือวิสัยของพวกเราที่จะสามารถมองเห็นได้ เราจึงต้องเชื่อคนอย่างพระพุทธเจ้า เชื่ออย่างพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย  เชื่อในคำสอนของท่านเกี่ยวกับเรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถไปยับยั้งได้ ถ้าได้สร้างเหตุไว้แล้ว ผลจะต้องตามมาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในทิศทางใดก็ตาม  ถ้าทำดีแล้วผลดีย่อมตามมา ถ้าทำความชั่วแล้วผลเสียย่อมตามมา  แม้แต่พระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถไปยับยั้งผลของการกระทำของผู้หนึ่งผู้ใดได้ แม้ของตนเองก็ตามก็ไม่สามารถยับยั้งได้  พระพุทธเจ้าก็ยังต้องรับใช้กรรมของท่าน  พระอรหันต์ก็ยังต้องรับใช้กรรมของท่าน เพราะเรื่องของกรรมวิบากนี้ เป็นหลักตายตัว ไม่มีใครที่จะสามารถมาลบล้างได้  เหมือนกับไฟที่ต้องร้อน ไม่มีใครสามารถมาห้ามไม่ให้ไฟร้อนได้  หรือน้ำแข็งที่จะต้องเย็น มาห้ามไม่ให้น้ำแข็งไม่เย็นนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้  เพราะนี่เป็นความจริงของธรรมชาตินั่นเอง

ใจของเราก็เป็นเช่นนั้น  ถ้าได้ทำอะไรไปแล้วจะต้องรับผลของการกระทำอย่างแน่นอน  ในเบื้องต้นก็จะรับอยู่ภายในใจ คือความรู้สึกสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี จะปรากฏขึ้นภายในใจทุกครั้งที่คิดดีหรือคิดชั่ว   ถ้าคิดดีใจก็มีความสุข  ถ้าคิดร้ายใจก็ร้อนมีความทุกข์  เวลาที่เกิดความโกรธแค้นขึ้นมา ใจก็จะร้อนเป็นไฟ แต่ยามใดที่มีความให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคือง ความเย็นความสงบของใจก็ปรากฏขึ้นมา  นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่กับใจของเราอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากว่าเราไม่ค่อยได้สนใจดูใจของเรา เรา จึงไม่รู้ว่าในวันหนึ่งนี้ ใจของเราพลิกไปพลิกมาอยู่หลายตลบ เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็เย็น ขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัส  ถ้าเห็นอะไรที่ชอบอกชอบใจก็มีความสุขมีความเย็นใจ  ถ้าไปเห็นอะไรที่ไม่ชอบอกชอบใจก็เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา  

แต่ถ้าฝึกดูใจ  ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน  เวลามองอะไรแล้วหันกลับมาดูที่ใจของเราด้วย เห็นอะไรแล้วถามใจว่ารู้สึกอย่างไร  ดูที่ความรู้สึกของเราแล้วจะรู้ว่าใจกำลังเป็นอะไรอยู่  ถ้ารู้ว่าใจไม่ดี จะได้แก้ไขได้  เพราะเวลาที่ใจดีหรือไม่ดีนั้น เกิดจากความคิดของใจต่อสิ่งนั้นๆนั่นเอง เวลาเห็นอะไรแล้วรู้สึกมีความทุกข์ ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ทุกข์เพราะอะไร อะไรทำให้ทุกข์  ถ้าศึกษาถามตัวเราเองอยู่เรื่อยๆ เราจะรู้  เช่นเวลาเห็นคนอื่นเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ก็ถามตัวเราเองว่า ทำไมต้องไม่สบายใจด้วย เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่หรือ ไม่มีใครในโลกนี้ที่เกิดมาแล้วไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ความไม่สบายใจก็ไม่สามารถไปหยุดยั้ง ไปหักห้ามความเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ได้  ทำไมต้องไม่สบายใจกับการเจ็บไข้ได้ป่วย  ถ้ายอมรับความจริงว่า คนเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องเจ็บไข้ด้วยกันทุกๆคน ถ้ายอมรับความจริงอันนี้แล้ว ใจก็จะไม่วุ่นวาย จะไม่กังวล เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา

ความไม่สบายใจนี้เราแก้ไขได้ ระงับได้ด้วยธรรมะ คือความจริง  ถ้าคนเราทุกคนยอมรับความจริงของชีวิตเราว่า ทุกคนเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น  ถ้ายอมรับความจริงอันนี้แล้ว เวลาเกิดความแก่ ความเจ็บ ความตายมาเยี่ยมเยียน จะไม่รู้สึกหวั่นวิตก จะไม่กังวล เพราะยอมรับความจริง  เหมือนกับเวลาฝนจะตก ถ้ารู้ว่าฝนจะตก เราเตรียมพร้อมไว้กับการรับฝนตกนั้น เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่ถ้าไม่พร้อมที่จะให้ฝนตก เวลาฝนตกขึ้นมาก็จะเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมาทันที เช่นบางวันกำลังเตรียมทำอะไรสักอย่างหนึ่งกลางแจ้ง และไม่ต้องการให้ฝนตก  แต่อยู่ดีๆฝนก็ตกลงมา ตอนนั้นจิตใจของเราก็จะต้องเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมาทันที เพราะไม่พร้อมที่จะให้ฝนตกนั่นเอง แต่ถ้าอยู่ในช่วงฤดูฝน รู้อยู่ว่าฝนจะตกได้ตลอดเวลา เมื่อไหร่ก็ได้ เวลาออกไปข้างนอกจึงต้องเตรียมร่มไว้เสมอ เพราะพร้อมที่จะรับกับการตกของฝนนั่นเอง เวลาฝนตกลงมาก็ไม่เดือดร้อนใจ นี่คือเรื่องของใจที่เราสามารถปรับให้เป็นปกติ ไม่ให้เดือดร้อน ไม่ให้วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของเราได้  ถ้ายอมรับความจริงว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา แต่ความตายนี้ก็เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของชีวิตเราเท่านั้น ก็คือร่างกายของเรา แต่อีกครึ่งหนึ่งคือใจของเรานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ใจของเราไปเกิดใหม่ จะสูงหรือต่ำ ดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของใจ เราจึงต้องสอนใจให้ทำแต่ความดี ด้วยสติ ด้วยปัญญา เป็นการให้พรปีใหม่อันประเสริฐแก่ตนเอง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้