กัณฑ์ที่ ๑๘๗      ๖ มกราคม ๒๕๔๗

บรรลุธรรม

 

แนวทางที่พระพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ได้ทรงวางไว้ให้กับพุทธศาสนิกชนปฏิบัติ เพื่อความสุข ความเจริญ ความก้าวหน้า ทั้งในทางธรรมและทางโลกก็คือ แนวทางแห่งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ  เป็นธรรม ๓ ประการที่พุทธศาสนิกชนทุกๆคนพึงปฏิบัติ  ปริยัติ หมายถึง การศึกษาร่ำเรียนพระธรรมคำสอนต่างๆของพระพุทธเจ้า  ปฏิบัติ หมายถึงการนำเอาคำสั่งสอนที่ได้ศึกษาร่ำเรียนไปปฏิบัติกับตน ทางกาย วาจา ใจ  ปฏิเวธ หมายถึงการบรรลุธรรม คือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการเข้าสู่พระศาสนา คือปฏิเวธ การบรรลุธรรมนั่นเอง เพราะการบรรลุธรรมนี้ ไม่มีอะไรจะดีเท่า ไม่มีอะไรจะประเสริฐเท่า  ผู้ที่บรรลุธรรมได้นั้น ย่อมเป็นผู้อยู่เหนือความทุกข์ อยู่เหนือความวุ่นวายใจ ท่ามกลางความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่ามกลางการพลัดพรากจากกัน 

ผู้ที่ได้บรรลุถึงธรรมขั้นต่างๆแล้ว จิตย่อมไม่มีความว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ กับการที่จะต้องเผชิญกับสภาวธรรมที่เป็นปกติของโลก  คือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การพลัดพรากจากกัน การจะบรรลุธรรมได้นั้นต้องอาศัยปริยัติเป็นเบื้องต้น คือการศึกษา ได้ยินได้ฟังอย่างที่ท่านทั้งหลายกำลังทำกันอยู่ในขณะนี้ คือการศึกษาฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า  เมื่อได้ฟังแล้วก็ต้องนำไปปฏิบัติอีกทีหนึ่ง ถึงจะได้บรรลุธรรม  ถ้าไม่ศึกษาร่ำเรียนเสียก่อนแล้วไปปฏิบัติ ก็จะไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะจะหลงทาง  เหมือนกับคนที่จะเดินทางไปสู่ที่หนึ่ง แต่ไม่รู้ทิศทางของที่ตั้งของสถานที่ที่ต้องการจะไป ถ้าไม่มีแผนที่ หรือไม่มีผู้ที่เคยไปมาแล้วบอกทาง ย่อมไม่สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้

ฉันใดการปฏิบัติธรรมเพื่อปฏิเวธนั้นก็เช่นกัน  ต้องมีปริยัติในเบื้องต้น  ต้องมีผู้สั่งผู้สอน มีผู้บอก หรือมีหนังสือไว้อ่าน เมื่อได้ศึกษาแล้วจะได้รู้ว่า การไปให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้น จะต้องดำเนินอย่างไร  ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้ว โอกาสที่จะไปถึงจุดหมายนั้นย่อมเป็นได้ยากอย่างยิ่ง  ถึงแม้ไปถึงแล้ว ก็อาจจะไม่รู้ว่าเป็นจุดหมายที่ตนเองต้องการจะไป ก็เป็นได้  แต่ถ้าได้ศึกษาแล้วไม่นำไปปฏิบัติ ก็ไม่เกิดประโยชน์อีกเช่นกัน  คือได้ยินได้ฟังธรรม ได้อ่านหนังสือธรรมะอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยนำมาปฏิบัติกับตนเลย ผลที่จะปรากฏขึ้นตามมาคือความสงบสุข ความปราศจากความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมาเช่นกัน  ดังนั้นธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการบรรลุธรรม คือต้องมีปริยัติ การศึกษาในเบื้องต้น เมื่อได้ศึกษาแล้วก็นำไปปฏิบัติ  เมื่อปฏิบัติแล้วปฏิเวธก็จะเป็นผลที่ปรากฏขึ้นตามมา 

ผลในทางพระพุทธศาสนาก็คือมรรค ผล นิพพาน เป็นความสงบ ความร่มเย็นเป็นสุขของจิตใจ ที่เกิดขึ้นจากการขัดเกลาสิ่งที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง เป็นเครื่องพันธนาการ ผูกจิตให้ติดอยู่กับกองทุกข์ ธรรมที่บุคคลจะปฏิบัติบรรลุถึงได้นั้น แบ่งไว้เป็น ๔ ขั้นด้วยกัน คือ ๑. ขั้นโสดาบัน  ๒. ขั้นสกิทาคามี  ๓. ขั้นอนาคามี และ ๔. ขั้นอรหันต์  เป็นเหมือนขั้นบันไดที่ใช้เดินขึ้นบ้าน เวลาขึ้นบันไดก็ก้าวขึ้นไปทีละขั้นๆ  ในการปฏิบัติธรรม  ผลที่เกิดจากการปฏิบัติก็จะเป็นขั้นๆเช่นกัน  ขั้นแรกคือโสดาบัน เกิดจากการที่ได้ชำระกำจัดสังโยชน์ เครื่องพันธนาการจิตให้ติดอยู่กับกองทุกข์ ๓ ประการด้วยกัน คือ ๑. สักกายทิฐิ ความเห็นว่ามีตัวมีตนในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ๒. วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่ามีจริงหรือไม่     ๓. สีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีล คือยังไม่แน่ใจว่าศีลเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ จึงยังต้องหลงพึ่งสิ่งอื่นๆ เช่นไปหาหมอดูให้สะเดาะเคราะห์ ไปหาหมอซินแสให้บอกทิศทางของบ้าน ว่าควรจะตั้งหันหน้าไปทิศทางไหน ควรจะตั้งโต๊ะ ตั้งเตียงไว้ตรงไหน ห้องนอน ห้องน้ำควรจะอยู่ทิศใดอย่างนี้เป็นต้น  เหล่านี้เรียกว่าเป็นสีลัพพตปรามาส คือยังคิดว่าความเจริญนั้นอยู่ที่ตั้งของบ้าน อยู่ที่ดวงชะตา เป็นต้น

สำหรับพระอริยบุคคลเบื้องต้น คือพระโสดาบันนั้น เมื่อได้ปฏิบัติธรรมจนมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  ความเจริญก็ดีความเสื่อมก็ดี ก็ขึ้นอยู่กับศีลธรรมนี้เอง  ผู้ใดมีศีลธรรมผู้นั้นย่อมมีแต่ความเจริญโดยถ่ายเดียว ผู้ใดปราศจากศีลธรรมผู้นั้นจะต้องประสบกับความเสื่อมเสียโดยถ่ายเดียว จึงไม่เชื่อในเรื่องของหมอดูดวงชะตา เรื่องฤกษ์ เรื่องยาม เรื่องทิศทางของบ้านว่าจะหันไปทิศทางใด  สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนย่อยเท่านั้น  คือถ้ารู้จักทิศทางรู้จักการกระทำอะไรที่เหมาะที่ควร ก็จะทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ไม่ได้เป็นตัวเหตุของความเจริญหรือความเสื่อมอย่างแท้จริง  ความเจริญหรือความเสื่อมนั้นอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา คือถ้าตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕  ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่พูดปดมดเท็จ ไม่เสพสุรายาเมา รับรองได้ว่าความเสื่อมนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา

นี่คือสังโยชน์เครื่องพันธนาการ ๓ ตัวแรกที่พระโสดาบันจะกำจัดได้  ขั้นต่อไปคือขั้นที่ ๒ สังโยชน์ที่จะต้องกำจัดก็คือปฏิฆะ ความหงุดหงิดใจ  ราคะ  ความยินดีในกาม  บุคคลที่สามารถทำให้ปฏิฆะความหงุดหงิดใจ  ราคะ ความกำหนัดยินดีเบาบางลงไป ก็จะบรรลุธรรมขั้นที่ ๒ เรียกว่าสกิทาคามี คือเริ่มมีความเบื่อหน่ายในเรื่องของกามรสทั้งหลาย แต่ยังไม่ได้กำจัดให้หมดสิ้นไป ได้ทำให้เบาบางลงไป ความหงุดหงิดใจก็เบาบางลงไป  ผู้ที่จะกำจัดปฏิฆะความหงุดหงิดใจ กามราคะ ความกำหนัดยินดีในกามให้หมดสิ้นไป  ก็คือผู้บรรลุธรรมขั้นที่ ๓ เรียกว่าอนาคามี  สังโยชน์ของขั้นที่ ๔ นั้น มีอยู่ถึง ๕ ตัวด้วยกัน ที่จะต้องกำจัด  เป็นหน้าที่ของผู้ที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ คือ ๑. รูปราคะ ความยินดีในรูปฌาน  ๒. อรูปราคะ ความยินดีในอรูปฌาน  ๓. อุทธัจจะ  ความฟุ้งซ่าน  ๔. มานะ ความถือตน  ๕. อวิชชา ความไม่รู้จริง ผู้ที่สามารถกำจัดสังโยชน์ทั้ง ๕ นี้ได้ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เพราะสังโยชน์เครื่องพันธนาการที่ผูกจิตให้ติดอยู่กับการเวียนว่าย ตาย เกิดในภพทั้ง ๓  ในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ ได้ถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง จึงไม่มีสิ่งผูกมัดจิตให้ติดอยู่กับการเวียนว่าย ตาย เกิด ในภพทั้ง ๓ อีกต่อไป เป็นผู้ถึงพระนิพพาน ถึงจุดของความสุขที่สูงสุด ที่เรียกว่าบรมสุข  ไม่ต้องกลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องมาเวียนว่าย ตายเกิดอีกต่อไป

 

ธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงธรรมทั้ง ๔ ขั้นนี้ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นมรรค วิถีทางเดินสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์  ทาน ก็คือการให้  มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน คือ ๑. ให้วัตถุ เรียกว่าวัตถุทาน  ๒. ให้วิชาความรู้ เรียกว่าวิทยาทาน  ๓. ให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคืองผู้ที่ล่วงเกินตน เรียกว่าอภัยทาน และ ๔. ให้ความรู้ทางด้านธรรมะอย่างในขณะนี้ญาติโยมกำลังฟังธรรมะกันอยู่ การแสดงธรรมนี้เป็นการให้ธรรมะ เรียกว่า ธรรมทาน  นี่คือทานทั้ง ๔ ชนิด ที่ผู้ปฏิบัติสามารถจะให้ได้ ขึ้นอยู่กับตนว่ามีสิ่งใดที่จะให้ ก็ให้สิ่งนั้นไป  ส่วนศีล ก็คือศีล ๕  ศีล ๘  ศีล ๑๐   ศีล ๒๒๗  นี่คือศีล คือการละเว้นจากการสร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักทรัพย์ การประพฤติผิดประเวณี การพูดปดมดเท็จ การเสพสุรายาเมา นี่เป็นการกระทำที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น แล้วความเดือดร้อนนั้นก็จะย้อนกลับเข้ามาหาตนเอง

ธรรมะที่จะต้องปฏิบัติขั้นที่ ๓ เรียกว่า ภาวนา การบำเพ็ญจิต หรือการพัฒนาจิตใจ ด้วยการกำจัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ให้ออกไปจากจิตจากใจ แบ่งเป็น ๒ ส่วนด้วยกันเรียกว่า ๑. สมถภาวนา และ ๒. วิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาคือการทำจิตใจให้สงบ ด้วยการกำหนดรู้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่น คำบริกรรม พุทโธๆๆ อยู่ในใจ  โดยให้มีสติระลึกรู้อยู่กับคำภาวนาพุทโธๆๆ ไม่ให้จิตเถลไถลแว้บออกไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ให้อยู่กับคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ แล้วคำว่าพุทโธๆๆนี้ ก็จะนำพาจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบเป็นหนึ่ง เมื่อสงบแล้วจิตก็จะมีความสุข มีความปีติ มีความสบาย เปรียบเสมือนว่าในขณะนั้นไม่มีกิเลสตัณหาผู้ที่สร้างความวุ่นวายใจหลงเหลืออยู่เลย  แต่ในความจริงแล้วเป็นเพียงแต่การทำให้กิเลสตัณหา หรือสังโยชน์ทั้งหลายนั้นสงบตัวลงไปเท่านั้นเอง แต่ยังไม่ได้ทำลาย ยังไม่ได้ขุดรากถอนโคนออกมา 

ผู้ที่สามารถกำจัดกิเลสตัณหาสังโยชน์ทั้งหลาย ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจได้ ต้องบำเพ็ญภาวนาอีกขั้นหนึ่ง เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา  การเจริญจิตให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ให้รู้ทันสภาวธรรมทั้งหลายว่า ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น ไม่ว่าอะไรทั้งหลายที่จิตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น คือไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เป็นทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด ไม่มีตัวตน รวมไปถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นสภาวธรรมที่จิตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทุกๆคนที่เกิดมานี้ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณด้วยกันทั้งนั้น รูป ก็คือร่างกายของเราที่มีอาการ ๓๒  เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น เวทนา ก็คือความรู้สึก สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง สังขาร ก็คือความคิดปรุงแต่ง คิดเรื่องดีบ้าง คิดเรื่องชั่วบ้าง สัญญา คือความจำได้หมายรู้ จำว่าคนนั้นเป็นใคร จำได้สิ่งนี้เป็นอะไร  วิญญาณ ก็คือการรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่มาปรากฏในใจ ธรรมะเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนทั้งสิ้น ร่างกายเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย  เวทนาคือสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็สลับผลัดเปลี่ยนกันเกิดขึ้น มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง มีไม่สุขมีไม่ทุกข์บ้าง สังขารก็คือความคิดปรุงก็คิดไปในทางที่ ดีบ้าง คิดไปในทางที่ไม่ดีบ้าง สัญญาก็จำแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็จำ วิญญาณก็รับรู้รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์แล้วก็ดับไป สิ่งเหล่านี้มีการเกิดดับ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรอยู่เที่ยงแท้แน่นอนไม่มีตัวไม่มีตน ท่านเปรียบเหมือนกับแสงของหิ่งห้อย ที่เกิดดับ เกิดดับในยามค่ำคืน

ฉันใด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นเช่นนั้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์ก็เป็นเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติแล้วไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งเหล่านี้ได้ จำต้องพิจารณาให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ให้เห็นว่าไม่มีตัวไม่มีตน เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้วจะได้ปล่อยวาง ถ้าไปยินดีแล้วจะต้องเกิดความทุกข์ ความเสียใจตามมา เพราะเหตุใด สิ่งใดที่เรารักเราชอบ เราไปยินดี เราก็อยากจะให้สิ่งนั้นอยู่กับเราไปตลอด แต่เมื่อสิ่งนั้นได้แปรปรวน เปลี่ยนไป หายไป ความเศร้าโศกเสียใจก็จะต้องตามมา ถ้าพิจารณาเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง ล้วนไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว ก็จะปล่อยวาง      เมื่อปล่อยวางก็จะไม่ทุกข์กับการแปรปรวน กับการสูญเสีย กับการล่มสลายหมดไปของสภาวธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเอง

นี่ก็คือเครื่องมือที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนนำไปปฏิบัติ ด้วยการศึกษาร่ำเรียนในเบื้องต้น เมื่อศึกษาแล้วก็นำไปปฏิบัติ เช่น ทานก็ให้ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นจะต้องรอวันที่เป็นวันพระถึงจะมาทำทาน เพราะชีวิตของเรานั้นมีเหตุการณ์ที่จะต้องทำทานอยู่เสมอ  เวลาไปเจอคนเดือดร้อนพอที่จะช่วยเหลือเขาได้ ก็ควรช่วยเหลือกัน มีอะไรพอที่จะแบ่งปันให้กันได้ ก็ให้กันไป  เพราะถ้าไม่ทำทานแล้วการจะรักษาศีลซึ่งเป็นธรรมขั้นต่อไปก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะผู้ที่ไม่ทำทานนั้น จะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยคำนึงถึงหัวอกของผู้อื่นนั่นเอง มัวแต่คิดถึงความต้องการของตนเอง คิดถึงประโยชน์สุขของตนเอง ก็จะไม่ค่อยสนใจถึงความทุกข์ ความเดือดร้อนของผู้อื่น เวลาจะทำอะไรก็ไม่สนใจว่าจะไปกระทบไปสร้างความเดือดร้อนกับผู้อื่นหรือไม่ ตราบใดถ้าได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ แม้จะต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้จะต้องขโมย แม้จะต้องประพฤติผิดประเวณี แม้จะต้องโกหกหลอกลวงก็จะทำ เพราะเป็นคนที่ไม่มีความเมตตานั่นเอง

คนที่ไม่มีความเมตตา ไม่ชอบทำบุญให้ทานย่อมไม่สามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ธรรมขั้นสูงต่อไป คือการมีศีลได้ จึงต้องมีการทำบุญให้ทานเป็นเบื้องต้นก่อน เพราะเมื่อทำบุญให้ทานแล้วจิตใจก็จะประกอบด้วยความเมตตา จะมีความกังวล มีความห่วงใยกับความรู้สึกของผู้อื่น เวลาจะทำอะไรก็จะต้องคิดเสมอว่า เมื่อทำไปแล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือไม่  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นผู้ที่มีศีลขึ้นมาโดยปริยายนั้นเอง  ผู้ที่มีศีลทานแล้วจิตใจย่อมสงบไม่ค่อยฟุ้งซ่านเท่าไหร่ ไม่ค่อยวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆทั้งหลาย เพราะไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายนั่นเอง  คนที่ไปทำผิดศีลแล้วนั้น มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความกังวล เช่นไปทำร้ายผู้อื่นก็ต้องกังวลว่าผู้ที่ถูกทำร้ายจะมาทำร้ายเราหรือไม่ต่อไป  ไปทำผิดอะไร ก็ต้องกลัวว่าจะต้องถูกจับได้  ถูกเอาไปลงโทษ จิตใจก็จะมีแต่ความวุ่นวาย  เมื่อมีความวุ่นวาย เวลาจะไปทำสมถภาวนาก็จะทำได้ยาก ไม่สามารถที่จะทำได้เลย เพราะว่าจิตไม่มีศีลเป็นเครื่องรองรับนั่นเอง  

แต่ผู้ที่มีศีลแล้ว เวลาที่จะทำจิตให้สงบนั้น ก็จะไม่มีอุปสรรคมากนัก   เพราะโดยธรรมชาติของจิต ที่ไม่สร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ก็ไม่มีเหตุที่ทำให้เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่แล้ว พอกำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง  เช่น คำบริกรรม พุทโธๆๆ  ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ มีความสุข ความสงบ ตั้งมั่นอยู่ เป็นสมาธิขึ้นมา เมื่อจิตมีฐานแห่งสมาธิแล้วถ้าจะนำไปใช้ในการกำจัดกิเลสตัณหา  ตัวที่สร้างความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ก็จะสามารถทำได้อย่างง่ายดาย เพราะกิเลสตัณหานี้เกิดจากความหลง จะดับความหลงได้ก็จะต้องใช้ปัญญาทางวิปัสสนานั่นเอง คือจะต้องศึกษาถึงสภาวธรรมทั้งหลายให้เห็นไตรลักษณ์ให้ได้ ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น  ถ้าเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ความหลงก็จะสูญสลายไป เมื่อความหลงสูญสลายไป ความโลภความอยากก็จะไม่มีปรากฏขึ้นมา ความหลงนี้มักจะเห็นตรงข้ามกับความจริง  เห็นความเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง เห็นความสุขในกองทุกข์ ในสิ่งที่มีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน  เมื่อมีความหลงแล้วก็จะต้องมอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นก็ต้องมีความอยากที่จะให้สิ่งที่ตนเองยึดติดอยู่นั้น อยู่ไปกับตนตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครไปกำหนดบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของตนได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะต้องมีความทุกข์ตามมาอย่างแน่นอน

แต่ถ้าเจริญวิปัสสนาภาวนา คือพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องกับตน เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย  ที่มาสัมผัสว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็จะไม่ยึดไม่ติด รู้ทันทันทีว่าเขาอยู่กับเราไม่นาน เขามาแล้วเดี๋ยวเขาก็ไป อย่างตาของท่านตอนนี้มองอยู่ก็จะเห็นรูปแบบหนึ่ง เดี๋ยวอีกสักครู่หนึ่งรูปที่เห็นนั้นก็จะเปลี่ยนไป เช่น เวลาลุกออกไปจากศาลานี้ รูปที่เห็นในศาลานี้ก็จะหมดไปอย่างนี้เป็นต้น  ต้องรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง มีการหมดสิ้นหมดไป ไม่มีอะไรคงเส้นคงวา ล้วนแต่จะต้องมีการสูญสลายหมดไปทั้งสิ้น เช่น สังขารร่างกายของเราก็เป็นอย่างนั้น เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เวลาตายเขาก็เอาไปเผาไฟ ก็กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป ไม่มีร่างกายของใครที่จะอยู่ไปได้ตลอด อยู่ค้ำฟ้าไปได้ จะต้องแยกแตกสลายกลับไปสู่ธาตุเดิม คือดิน น้ำ ลม ไฟ ผู้เจริญวิปัสสนาจะรู้ทัน จะไม่ยึดไม่ติด จะปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง

เวทนาก็เช่นกัน เวลาสุขก็ไม่ยึดติดกับความสุข เวลาทุกข์ก็ไม่รังเกียจกับความทุกข์ เปรียบเหมือนกับความมืดกับความสว่าง เวลาพระอาทิตย์ขึ้นมามีแสงสว่าง ก็ไม่ยึดติดกับแสงสว่าง เวลาพระอาทิตย์ตกลงไปความมืดกลับคืนมา ก็ไม่รังเกียจความมืด อยู่ได้ทั้งกับความมืดทั้งกับความสว่าง ฉันใดสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เป็นอย่างนั้น อย่าไปยินดีกับความสุข เพราะถ้าเกิดยินดีกับความสุขก็เท่ากับยึดติดอยู่กับความสุข เมื่อความสุขนั้นหมดไปก็จะเกิดความทุกข์ตามมา ก็จะเกิดความเดือดร้อน เกิดความวุ่นวายใจ  แต่ถ้าไม่ยึดติดกับความสุข สุขมาก็รู้ว่ามา รู้ว่ามาเพื่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่หวังให้อยู่กับตนไปตลอด ก็ปล่อยไปตามเรื่องของเขา  ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว จิตก็ไม่มีความทุกข์ ที่เกิดจากอุปาทาน ความยึดมั่น ติดอยู่กับเวทนา  ส่วนสัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นแบบเดียวกัน เขาเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ให้รู้ทันแล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด อย่าไปยินดียินร้ายกับเขา อย่าไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะเราไปควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้นั่นเอง

นี่คือการเจริญวิปัสสนาภาวนา  ให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆตลอดเวลา เท่าที่จะสามารถทำได้  ถ้าจิตรู้สึกว่ามีความฟุ้งซ่าน คือพิจารณาเกินขอบเขตของเหตุของผล ก็ให้ย้อนจิตกลับมาสู่สมถภาวนา ทำจิตให้สงบเสียก่อน เปรียบเหมือนกับเครื่องยนต์ที่วิ่งไปแล้วมันร้อนมากจนเกินไป ก็หยุดพักเครื่องสักพักหนึ่งก่อน ให้เครื่องเย็นแล้วค่อยติดเครื่องทำงานต่อไป  การเจริญวิปัสสนาภาวนาก็เป็นเช่นนั้น ถ้าภาวนาโดยไม่หยุดไม่หย่อน พิจารณาโดยไม่หยุดไม่หย่อนไม่ช้าก็เร็วก็จะเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา เลยเหตุเลยผลไม่สามารถเห็นตามความเป็นจริงได้  อย่างนั้นก็ควรที่จะหยุดพัก ย้อนจิตกลับมาสู่สมถภาวนา กำหนดจิตให้อยู่กับพุทโธๆๆ เมื่อจิตสงบตั้งมั่นอยู่ ก็ปล่อยให้สงบจนกว่าจิตจะอิ่มจะพอ แล้วก็จะถอนออกมาจากความสงบนั้น หลังจากนั้นแล้วจิตก็พร้อมที่จะไปทำงานในทางด้านวิปัสสนาภาวนาต่อไป  ก็ย้อนกลับมาพิจารณาธรรมต่อไป จะพิจารณาร่างกายก็ได้ ดูอาการ ๓๒  ให้เห็นว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่จะต้องแตกต้องดับอย่างนี้เป็นต้น พิจารณาไปเรื่อยๆ พิจารณากลับไปกลับมาจนกว่าจะเห็นชัดอยู่ในจิต หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะสามารถเอาชนะความเห็นผิดได้ แล้วก็จะปล่อยวาง หลุดพ้นจากทุกข์ไปในที่สุด เป็นการบรรลุธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติ  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้