กัณฑ์ที่ ๑๘๘     ๒๑ มกราคม ๒๕๔๗

ปัจจัยเกื้อหนุน

 

การที่จะทำให้การปฏิบัติธรรม บำเพ็ญจิตตภาวนา เป็นไปได้ด้วยความก้าวหน้า เป็นมรรคเป็นผล จำต้องมีปัจจัยเกื้อหนุน เพราะถ้าขาดปัจจัยเกื้อหนุนแล้ว การปฏิบัติจะไม่เป็นไปได้ดีเท่าที่ควร  เหมือนกับการปลูกต้นไม้  ถ้าไม่มีปัจจัยสนับสนุน เช่น น้ำกับปุ๋ย และการดูแลรักษา ต้นไม้จะไม่เจริญงอกงามดีเท่าที่ควร  การบำเพ็ญจิตตภาวนาก็เป็นเหมือนกับการปลูกต้นไม้  เพื่อให้เป็นมรรคเป็นผล ก็จำต้องมีปุ๋ย มีน้ำ มีการดูแลรักษา ที่เรียกว่าปัจจัยเกื้อหนุน มีอยู่ ๔ ประการด้วยกันคือ  . ความวิเวก  . การรับประทานอาหารพอประมาณ  .การไม่คลุกคลีกัน  . การเจริญสติอย่างต่อเนื่องในสติปัฏฐาน ๔  เหล่านี้คือปัจจัยที่จะเกื้อหนุนให้การปฏิบัติจิตตภาวนา ไม่ว่าจะเป็นการทำให้จิตสงบ ที่เรียกว่าสมถภาวนา  หรือทำให้จิตรู้แจ้ง ที่เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา เพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงนั้น บรรลุเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา ถ้าไม่มีปัจจัยเกื้อหนุน มรรคผลก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าจะเกิดก็เกิดอย่างยากลำบาก ต้องใช้เวลานาน  แต่ถ้ามีปัจจัยเกื้อหนุนทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว  พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่าภายใน ๗ วันก็สามารถบรรลุมรรคผลได้  หรือถ้าอย่างช้าก็ไม่เกิน ๗ ปี จะต้องบรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งอย่างแน่นอน    ผู้บำเพ็ญธรรมเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จึงต้องพิจารณาปัจจัยเกื้อหนุนทั้ง ๔ ประการนี้ คือ

 . ความวิเวก หมายถึงสถานที่ๆสงบสงัด ห่างไกลจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ที่เป็นเครื่องยั่วยวนกวนจิตกวนใจ สร้างความวุ่นวาย สร้างความขุ่นมัวให้กับจิตใจ  จำต้องอยู่ห่างๆจากสิ่งเหล่านี้  เช่นไปแสวงหาที่อยู่ในป่าในเขา ห่างจากบ้านจากเมือง ห่างจากผู้คน  เพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายนั้น จะทำให้จิตกระเพื่อม ทำให้จิตไม่สงบ เปรียบเหมือนกับสิ่งที่จะไปทำให้น้ำกระเพื่อม  เช่นน้ำในสระถ้าไม่โยนอะไรลงไป ปล่อยให้น้ำอยู่เฉยๆ  น้ำก็จะนิ่งสงบ  แต่ถ้าโยนของลงไป ลงไปตักน้ำ ลงไปเล่นน้ำอยู่เรื่อยๆ น้ำก็จะต้องกระเพื่อม มีลูกคลื่นอยู่เรื่อยๆ ไม่สงบ  จิตของเราก็เป็นเช่นนั้น  ถ้ายังต้องรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วเข้ามาสู่ใจ ก็จะทำให้จิตใจต้องกระเพื่อมอยู่เรื่อยๆ  การจะทำจิตให้สงบก็จะยากลำบากลำบน  ดังนั้นเวลาที่ไปอยู่ที่สงบสงัดวิเวก ห่างไกลจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว จึงไม่ควรนำเรื่องราวต่างๆตามไปด้วย  เช่นโทรศัพท์มือถือ วิทยุ หนังสือพิมพ์ อะไรต่างๆเหล่านี้  เพราะจะเป็นสื่อที่นำพาเรื่องราวต่างๆ ให้เข้าไปรบกวนจิตใจ ทำให้ไม่สงบ ทำให้ฟุ้งซ่าน ทำให้ยากต่อการบำเพ็ญสมถภาวนา เพื่อการบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาต่อไป  สถานที่ๆสงบสงัดวิเวก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการมรรคผลจากการปฏิบัติจิตตภาวนา  จึงควรให้ความสนใจพิจารณาถึงสถานที่อยู่ ว่าเป็นสถานที่สงบสงัดวิเวกหรือไม่ ห่างไกลจากเครื่องยั่วยวนกวนใจของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆหรือไม่  ถ้ามีก็ควรขยับขยายหาที่ๆสงบสงัด  เพราะการบำเพ็ญภาวนาจะได้เป็นไปได้ด้วยความสะดวกสบาย

๒. ให้รับประทานอาหารพอประมาณ  อย่ารับประทานอาหารมากเกินความจำเป็น  เกินความต้องการของร่างกาย  เพราะเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปมากๆ จะทำให้ร่างกายหนัก  เวลาภาวนาจะรู้สึกลำบาก ง่วงเหงาหาวนอน  เกิดความเกียจคร้านขึ้นมา จะเดินจงกรมก็ไม่อยากจะเดิน จะมองหาแต่หมอนอย่างเดียวเท่านั้น  ผู้ปฏิบัติจิตตภาวนาจึงต้องเจริญเหตุปัจจัยข้อนี้ ด้วยการรับประทานอาหารพอประมาณ  เช่นไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว  ดังที่ศรัทธาญาติโยมบางท่านได้สมาทานศีลอุโบสถ คือละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว  หรือถ้าอยากจะปฏิบัติให้เข้มข้นยิ่งขึ้นไป กรับประทานอาหารเพียงมื้อเดียว อย่างพระภิกษุสามเณรท่านปฏิบัติกัน  และถ้ายังไม่พอ บางองค์บางท่านก็ละเว้นการรับประทานอาหารเป็นวันๆ  บางครั้งก็ ๓ วัน  ๕ วัน  ๗ วัน  สุดแท้แต่จะเห็นว่าสมควร  เพราะจริตนิสัยบางท่านนั้น ถูกกับการผ่อนอาหารลดอาหาร  เวลาไม่ได้รับประทานอาหารมากๆแล้ว จะมีความขยันหมั่นเพียรในการนั่งสมาธิ ในการเดินจงกรม  เวลานั่งสมาธิก็ไม่รู้สึกง่วงเหงาหาวนอน ทำให้การบำเพ็ญเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว จึงมีผู้ปฏิบัติหลายท่านด้วยกันที่นิยมการอดอาหารเป็นครั้งเป็นคราว เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเสริมในการปฏิบัติ  เปรียบเหมือนกับเติมน้ำมันที่มีทั้ง ๙๑ ทั้ง ๙๕  ถ้าเติมชนิดพิเศษก็จะทำให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ  จิตใจของเราก็เป็นเช่นนั้น  ถ้าเติมน้ำมันชนิดพิเศษ เช่นธุดงควัตรให้กับจิตใจแล้ว  ก็เหมือนกับได้น้ำมันพิเศษ ทำให้สามารถประกอบภารกิจการปฏิบัติธรรมได้เต็มประสิทธิภาพ  ทำให้มีผลเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย  นี่ก็คือเหตุปัจจัยข้อที่ ๒ คือการรับประทานอาหารพอประมาณ  ถ้าปฏิบัติได้แล้ว จะเห็นว่าการปฏิบัติจะเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว  จึงควรให้ความสนใจพิจารณาเหตุปัจจัยข้อนี้

๓. การไม่คลุกคลีกัน  คือไม่จับกลุ่มนั่งคุยกัน  จะแยกอยู่กันตามลำพังเพราะเวลานั่งคุยกันก็มีแต่เสียเวลา  นอกจากเสียเวลาแล้วยังทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว  สนทนาไปสนทนามาก็จะมีความเห็นไม่ตรงกัน  มีการถกเถียงกัน เอาแพ้เอาชนะกัน  ทำให้จิตใจขุ่นมัวขึ้นมา  เวลาไปนั่งทำจิตให้สงบ ก็จะรู้สึกลำบากลำบน เพราะมีนิวรณ์เกิดขึ้น คือความโกรธนั่นเอง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆแล้ว เวลาอยู่ในสำนักปฏิบัติธรรม จะไม่นิยมพูดคุยกัน  แม้เวลาที่จะต้องมาทำกิจวัตรร่วมกัน  เช่นลงโบสถ์ไหว้พระสวดมนต์  ออกบิณฑบาต ฉันอาหาร  ทำกิจต่างๆ  ล้างบาตร  กวาดถูศาลา  ต่างคนต่างมีสติอยู่กับภารกิจที่ต้องทำ  ไม่ส่งจิตให้ไปสนใจกับบุคคลอื่นๆ  เพราะจะทำให้จิตออกไปข้างนอก  เมื่อออกไปข้างนอกแล้ว   การจะพูดการจะทำอะไรกับบุคคลอื่น ก็จะเกิดขึ้นตามมา  แต่ถ้าสนใจแต่ภารกิจของตน มีสติอยู่กับภารกิจที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเดินบิณฑบาต  จะนั่งรับบาตรจากญาติโยม  จะฉันจังหัน จะทำอะไรก็ตาม  ถ้ามีสติอยู่กับการทำงานของตนแล้ว จิตก็จะภาวนาไปในขณะเดียวกัน เพราะเป็นการเจริญสติ ที่เรียกว่ากายคตาสติภาวนานั่นเอง   ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว จิตจะอยู่ข้างใน  จะรวมลงสู่ความสงบได้ง่าย 

แต่ถ้าปล่อยจิตให้ออกไปข้างนอก  เห็นคนนั้นเห็นคนนี้เขาทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ก็วิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา  ผลเสียก็จะเกิดกับตัวเรามากกว่าบุคคลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะจิตจะขุ่นมัวขึ้นมา เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา จึงควรสำรวมจิตด้วยการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง  จึงเป็นเหตุมาสู่ปัจจัยเกื้อหนุนข้อที่ ๔. การเจริญสติอย่างต่อเนื่องในสติปัฏฐาน ๔  ให้มีสติอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม  อาการใดอาการหนึ่งก็ได้  ในขณะที่ทำอะไรอยู่ ก็ให้มีสติอยู่กับการกระทำนั้นๆ  อย่าปล่อยจิตให้ลอยไปในอดีตที่ผ่านไปแล้ว  หรือไปสู่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง  ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน  ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้  พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญอานาปานสติในเบื้องต้น คือให้กำหนดรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก  ให้ไปหาสถานที่สงบสงัดที่ใดที่หนึ่ง ปราศจากความพลุกพล่าน  ปราศจากสิ่งต่างๆที่จะมารบกวนสมาธิ  ให้นั่งขัดสมาธิตั้งตัวตรง  มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก 

ลมหายใจเข้าออกจะเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ตามความจริงของลม  ไม่ต้องไปบังคับลม ให้เป็นไปตามความต้องการ  หายใจยาวหรือหายใจสั้น ก็ให้รู้ว่าหายใจยาวหายใจสั้น  ลมจะหยาบหรือลมจะละเอียด ก็ให้รู้ตามความเป็นจริงของลม ว่าลมขณะนี้ลมหยาบ ลมขณะนี้ลมละเอียด  หรือแม้ในที่สุดลมจะหายไปจากความรู้สึก ก็ไม่เกิดความตกใจขึ้นมา เพราะจิตกำลังเข้าสู่ความละเอียด จะรวมตัวลงสู่ความสงบ  ถ้าผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติอาจจะเกิดความตกใจขึ้นมา  คิดว่าถ้าไม่มีลมหายใจแล้วจะตายได้ ก็เกิดความตกใจ   เมื่อเกิดความตกใจ จิตก็จะถอนออกมาสู่ลมที่หยาบ  จิตก็เลยไม่สามารถรวมลงเป็นสมาธิได้  เวลาที่กำหนดดูลมหายใจเข้าออก จึงขอให้มีสติรู้ตามลมก็พอ  แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ตามเข้าตามออก  ให้รู้อยู่ที่จุดหนึ่งจุดใด ที่ลมสัมผัสเด่นชัด ในเบื้องต้นส่วนใหญ่ก็จะอยู่แถวปลายจมูก เหนือริมฝีปากขึ้นมา ก็กำหนดรู้อยู่บริเวณที่ลมสัมผัสเข้าออก  ไม่ต้องตามลมเข้า ไม่ต้องตามลมออก ให้รู้ว่าลมเข้า ให้รู้ว่าลมออก  ให้รู้ว่าลมหยาบหรือละเอียด  หรือแม้แต่ลมไม่มีแล้ว ไม่สามารถรับรู้ว่ามีลมหายใจ ก็ไม่เป็นไร ให้รู้ไปเรื่อยๆ  เพราะไม่ช้าก็เร็วจิตจะรวมลงสู่สมาธิ สู่ความเป็นหนึ่งที่เรียกว่าเอกัคตารมณ์ 

ขณะที่จิตรวมลงนั้น จะอยู่นานหรือไม่นานก็ไม่ต้องไปกังวล  ปล่อยให้จิตอยู่ตามสภาพของเขา  ถ้าจิตจะรวมลงอยู่สักระยะหนึ่งแล้วถอนออกมาก็ปล่อยให้เป็นไป อย่างนี้เรียกว่าขณิกสมาธิ คือรวมลงแล้ว ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ถอนออกมา  แต่ถ้าจิตรวมลงแล้ว ตั้งอยู่ได้เป็นเวลานาน ก็เรียกว่าอัปปนาสมาธิ  สมาธิทั้ง ๒ อย่างนี้จะเป็นเครื่องหนุนของการปฏิบัติในขั้นวิปัสสนาต่อไป  คือเมื่อจิตถอนออกจากสมาธินี้แล้ว   เวลาจะลุกขึ้น ก็ให้ตั้งสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย  กายจะยืน จะลุก จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำภารกิจอะไร ก็ให้มีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย  ถ้าไม่ได้ทำอะไร ก็ให้พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อวัยวะต่างๆที่อยู่ภายใน  ให้พิจารณากลับไปกลับมาเป็นอนุโลม ปฏิโลม ให้พิจารณาให้เห็นถึงสภาพของอาการต่างๆ   เช่นกำหนดดูว่าผมมีรูปร่างลักษณะอย่างไร ตั้งอยู่ที่ไหน  ขนมีรูปร่างลักษณะอย่างไร ตั้งอยู่ที่ไหน  อวัยวะต่างๆมีลักษณะอย่างไร ให้กำหนดรู้ ให้ดูไปเรื่อยๆ สลับไปสลับมา เข้าๆออกๆ  คืออนุโลมปฏิโลม  อนุโลมก็พิจารณาเข้าไป  ปฏิโลมก็ย้อนออกมา  ให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล มีของสกปรกซ่อนอยู่ภายในร่างกาย ที่ต้องถูกขับถ่ายออกมาอย่างสม่ำเสมอ 

การพิจารณาให้เห็นอสุภะ ความไม่สวยงาม ก็เพื่อที่จะกำราบ หรือกำจัดกามราคะ กามตัณหา ความใคร่ ความอยากในกาม ความอยากในรูปร่างของคนนั้นเอง  ถ้าเห็นว่าเป็นปฏิกูล สกปรก เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม แม้ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่สวยงาม เวลาที่ตายไปแล้ว ถูกทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อย ยิ่งไม่สวยงามใหญ่  เหล่านี้เป็นวิธีการเจริญอสุภกรรมฐาน เพื่อทำให้จิตเกิดปัญญาขึ้นมา  เพื่อที่จะได้คลายความหลงในความสวยความงามของร่างกาย  ถ้าพิจารณาอยู่อย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว  ต่อไปเวลาเห็นรูปร่างของคน ก็จะไม่เห็นเพียงแต่ส่วนภายนอกเท่านั้น  จิตจะทะลุเข้าไปสู่ภายใน  จะเห็นทั้งในสภาพที่มีชีวิตอยู่ และเห็นในสภาพที่ตายไปแล้ว ว่าเป็นอย่างไร ถ้าสามารถเจริญอสุภกรรมฐานได้อย่างต่อเนื่อง จนชนะความอยากในกามได้แล้ว จิตก็จะหลุดพ้นจากปัญหาของกามไปได้อย่างสบาย 

นี่ก็คือการเจริญกายคตาสติภาวนา เพื่อให้เห็นถึงความไม่สวยงามของร่างกาย  นอกจากความไม่สวยงามแล้ว ร่างกายยังมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน คือต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายไปในที่สุด  ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ถ้าไปหลงยึดติดกับร่างกาย ปรารถนาให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ  ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ  แล้วก็พิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน  เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ผ่านมาทางอาหาร  ที่รับประทานเข้ามา ก็มาจากพืชผักต่างๆ  จากดิน จากน้ำ จากลม จากไฟ  เมื่อเข้ามาสู่ร่างกายก็แปลงสภาพเป็นอาการต่างๆ มีผม มีขน มีเล็บ มีฟันเป็นต้น  แต่เมื่อร่างกายนี้ตายไป  อาการ ๓๒ ก็กลายสภาพเป็นดิน น้ำ ลม ไฟไป  แยกตัวกลับไป  ร่างกายก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่อีกต่อไป  ส่วนที่เป็นดินก็กลับสู่ดิน  ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับสู่น้ำ  ส่วนที่เป็นลมเป็นไฟ ก็กลับสู่ลมสู่ไฟ นี่เป็นธรรมชาติของร่างกายที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ได้เจริญวิปัสสนาจนรู้แจ้งเห็นจริง ตามสภาพความเป็นจริง ว่าเป็นอนัตตา  ไม่มีตัวไม่มีตน  สักแต่ว่าเป็นการรวมตัวกันเข้ามาของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น 

ถ้าพิจารณาได้จนเห็นแจ้งชัดว่าเป็นอย่างนั้นแล้ว อุปาทานความยึดมั่นในตัวในตน ว่าเป็นเราเป็นของๆเรา ก็จะถูกทำลายไป  ทำให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย  ไม่มีความวุ่นวายกังวลกับความเป็นไปของร่างกาย  จะอยู่หรือจะตายก็ถือว่าเท่ากัน  ไม่มีความเดือดร้อนกังวลกับความเป็นความตาย   เพราะรู้ว่าในที่สุด ไม่ว่าใครก็ตามในโลกนี้ แม้แต่พระบรมศาสดาเอง ก็ยังต้องตายเหมือนกัน  เพราะสังขารร่างกายของคนเราทุกๆคนนั้น มีสภาพเหมือนกันทั้งสิ้น  เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  นี่ก็คือการเจริญกายคตาสติภาวนา หรือที่เรียกว่าเจริญสติอยู่กับกาย  ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นว่าเป็นอสุภะ ไม่สวยงาม เป็นปฏิกูล สกปรก แล้วก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  เพื่อจะได้ปล่อยวางอุปาทานความยึดติดอยู่กับร่างกาย  

ส่วนเวทนานั้น ท่านก็ให้กำหนดดูเวทนาว่าเป็นสภาวธรรม  เหมือนกับความร้อนความหนาว ที่เป็นสภาวธรรมอยู่ภายนอก  หน้าหนาวก็มีอากาศอย่างหนึ่ง  หน้าร้อนก็มีอากาศอย่างหนึ่ง  เวทนาที่ปรากฏขึ้นในใจก็เป็นอย่างนั้น  เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ไม่สุขไม่ทุกข์ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป  จะไปบังคับให้มีแต่สุขอย่างเดียวก็ไม่ได้  เหมือนกับจะไปบังคับให้อากาศเย็นสบายอย่างเดียวก็ไม่ได้  อากาศก็มีเหตุมีปัจจัยทำให้หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามสภาพ  เวทนาต่างๆที่จิตต้องสัมผัสรับรู้ ก็เป็นเช่นนั้น  มีทุกข์ มีสุข มีไม่ทุกข์ไม่สุข  หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปแสดงหน้าที่ของเขาไป  จิตต้องรู้ทันแล้วปล่อยวาง  คือรู้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง   ไปควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้  เวลาสุขก็อย่าไปอยากให้สุขอยู่กับเราไปนานๆ   เพราะเมื่อสุขหายไป ก็จะต้องเกิดความเสียใจ เกิดความทุกข์ขึ้นมา  เวลาทุกข์ปรากฏขึ้นมา ก็อย่าไปรังเกียจ  เพราะจะสร้างความทุกข์ความวุ่นวายขึ้นมาในใจ   หลักสำคัญในการปฏิบัติต่อเวทนาก็คือ พยายามทำจิตให้สงบ ให้นิ่ง ให้เป็นอุเบกขา ให้เข้าใจถึงไตรลักษณ์ของเวทนา ว่าเขาเป็นอย่างนี้  เหมือนกับความร้อนความหนาวของอากาศ ที่ไปควบคุมบังคับไม่ได้  เวทนาต่างๆที่ปรากฏขึ้นในจิตก็เป็นเช่นนั้น  ไปบังคับไม่ได้  แต่สิ่งที่บังคับได้ ก็คือจิตของเรานั่นเอง  ถ้าจิตมีสมาธิ จิตมีปัญญา จิตสามารถปล่อยวางได้  ทำจิตให้สงบนิ่งเฉยกับความเป็นไปต่างๆของเวทนาได้ 

นี่คือการเจริญสติอยู่กับเวทนา  เวลามีเวทนาปรากฏขึ้นมา  อย่าหลงไปดีใจกับสุขเวทนา  และอย่าหลงทุกข์ไปกับทุกขเวทนา  ให้รู้ทันแล้วปล่อยไปตามความเป็นจริง  เช่นเวลานั่งนานๆ แล้วเกิดทุกขเวทนา ก็กำหนดจิตให้นิ่ง  แล้วก็สอนจิตว่า เป็นสิ่งที่ไปควบคุมบังคับไม่ได้  ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา  ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเปลี่ยนไป  ไม่มีอะไรอยู่ไปแบบคงเส้นคงวา  ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ถ้าทำจิตได้แล้ว จิตสงบตัวลง  เวทนาที่แสดงอยู่นั้น ก็จะไม่มาสร้างความเดือดร้อนให้กับจิต  เพราะจิตได้ปล่อยวางเวทนานั่นเอง  เวลาจิตปล่อยวางเวทนาแล้ว จิตจะรวมลงเข้าสู่ความสงบ  ถึงแม้จะยังสัมผัสกับเวทนาอยู่  แต่จะเพียงรับรู้เฉยๆ  จะไม่มีปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งกับเวทนานั้นๆ   นี่ก็คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการเจริญสติอยู่กับเวทนา  ให้พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 

การเจริญสติอยู่กับจิต ก็คือการรู้อารมณ์ของจิตนั่นเอง  จิตของเรานี้ในวันหนึ่งๆ มีอารมณ์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอดเวลา  เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ  เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ  เดี๋ยวก็หลง  เดี๋ยวก็สงบ  เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านวุ่นวาย ต้องแยกจิตออกจากอารมณ์เหล่านี้  ให้จิตรับรู้ แต่อย่าไปวุ่นวายตามอารมณ์ต่างๆ อย่าไปโลภตามอารมณ์  อย่าไปหลงตามอารมณ์  อย่าไปโกรธตามอารมณ์ ถ้ามีสติรู้อยู่ อารมณ์เหล่านั้นไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องสงบตัวลง แต่ถ้าไม่สงบตัวลง ก็ต้องอาศัยปัญญาเป็นตัวระงับ  เช่น สมมุติว่าเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา แล้วก็มีสติรู้อยู่ว่าโกรธ  แต่อารมณ์โกรธยังไม่หายไป ก็ให้ใช้เมตตาเป็นเครื่องดับความโกรธ  คือถ้าเป็นบุคคลที่สร้างความโกรธให้กับเรา  ท่านก็สอนให้ใช้อภัยทาน  คือให้อภัย  อย่าไปจองเวรจองกรรม  คิดเสียว่าไปห้ามเขาไม่ได้  เขาจะทำอะไร  เขาจะพูดอะไร  เราไปห้ามไปบังคับเขาไม่ได้  แต่สิ่งที่เราห้ามได้ก็คือใจของเรา  เราทำใจให้เฉยเสีย มันก็หมดเรื่อง  หรือให้มองว่าความโกรธนี้เป็นโทษกับตัวเรามากกว่าคนที่ทำให้เราโกรธ  เพราะความโกรธเป็นเหมือนกับไฟในใจ  เวลาโกรธขึ้นมาแล้ว จะมีความวุ่นวาย  มีความเดือดร้อนใจ อยู่เฉยไม่ได้ หน้าบึ้ง  หน้าตาเป็นยักษ์เป็นมาร เพราะความโกรธนี้เอง  ต้องเห็นว่าความโกรธเป็นโทษมากกว่าคนที่ทำให้เราโกรธ อย่าไปแก้ที่คนที่ทำให้เราโกรธ  ต้องย้อนมาแก้มาดับความโกรธที่อยู่ภายในใจของเรา 

ถ้าทำอย่างนี้แล้ว ต่อไปเวลามีใครมาทำอะไร ก็จะไม่สนใจ  จะถือว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย เหมือนกับแดดลมที่บังคับไม่ได้  ฉันใดคนต่างๆจะทำอะไรให้ถูกอกถูกใจหรือไม่ ก็ไปบังคับเขาไม่ได้  แต่สิ่งที่เราบังคับได้ก็คือใจของเรา  ให้หันเข้ามาดูที่จิต  แล้วควบคุมจิตด้วยการเจริญสติปัฏฐานในจิต  คือให้มีสติรู้ทันกับอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น   เพราะถ้ารู้ปั๊บ เราจะแก้ปัญหาได้ทันที และแก้ได้ถูกจุด คือแก้ที่จิต  อย่าไปแก้ข้างนอก  ข้างนอกแก้ไปเท่าไร ก็ไม่รู้จักจบจักสิ้น  แก้คนนี้ได้ เดี๋ยวก็มีอีกคนมาแทนที่อยู่นั่นเอง  แต่ถ้าแก้ที่จิตเราได้หนเดียวแล้ว เราแก้ปัญหานี้ไปได้ตลอด  นี่ก็คือความหมายของการเจริญสติอยู่กับจิต ให้รู้ทันอารมณ์ต่างๆที่ปรากฏขึ้นในจิต ว่าเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน  เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าไปหลงยึดติด  ต้องปล่อยวาง ต้องรู้ทัน

ประการสุดท้ายท่านสอนให้เจริญสติในธรรม  คือให้พิจารณาสิ่งต่างๆที่มาปรากฏสัมผัสกับจิต  เช่นให้พิจารณารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วปรากฏขึ้นในจิต  ให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน  เป็นสิ่งที่มาแล้วก็ไป  เสียงได้ยินปั๊บแล้วก็หายไป   รูปเห็นปั๊บแล้วเดี๋ยวก็เปลี่ยนไป  ทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาแล้วก็หายไป เปลี่ยนไป  อย่าไปหลงยึดติด  อย่าไปยินดีกับรูปที่สวยงาม อย่าไปรังเกียจกับรูปที่ไม่สวยงาม  ให้รู้ว่าเป็นสักแต่ว่ารูป เป็นสักแต่ว่าเสียง  อย่าไปดีใจกับเสียงสรรเสริญ  อย่าไปรังเกียจกับเสียงนินทา  ให้พิจารณาให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่าเสียงเท่านั้น  เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเหมือนกับแดดกับลม  ถ้าจิตไม่ไปยินดียินร้ายแล้ว  จิตก็จะไม่ทุกข์ ไม่วุ่นวาย เพราะมีปัญญา  เพราะเห็นแล้วว่าเป็นไตรลักษณ์นั่นเอง  คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  นี่ก็คือการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔  ซึ่งมีอยู่ในตัวเรา ไปอยู่ที่ไหน สถานที่ใด มีสติปัฏฐาน ๔ อยู่ในตัวเราเสมอ  อยู่ที่ว่าจะเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้หรือไม่  ถ้าเจริญแล้วการปฏิบัติธรรมจะเป็นไปได้อย่างง่ายดาย  เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว  จึงควรเจริญปัจจัยเกื้อหนุนทั้ง ๔ ประการคือ . ความวิเวก  . การรับประทานอาหารพอประมาณ  .การไม่คลุกคลีกัน  . การเจริญสติในสติปัฏฐาน ๔ อย่างต่อเนื่อง เพื่อมรรคผลที่จะตามมาต่อไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้