กัณฑ์ที่๑๘๙
หน้าที่ของพุทธศาสนิกชน
วันนี้เป็นวันที่ท่านทั้งหลายไม่ต้องไปทำงานทำการ เลยใช้เวลาที่มีว่างอยู่นี้มาทำคุณทำประโยชน์ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนทำกัน คือเข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งก็ควรได้สัมผัสกับพระศาสนาสักครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบไว้ให้สมบูรณ์ มีอยู่ ๓ ประการด้วยกันคือ ๑. ให้ละเว้นจากการกระทำบาปทั้งปวง ๒. ให้กระทำความดี ทำบุญกุศลให้ถึงพร้อม ๓. ให้ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ขัดเกลาชำระพวกกิเลสตัณหาทั้งหลายให้ออกไปจากจิตจากใจ นี่คืองานหรือหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ที่ควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพราะชีวิตของคนเรานั้น เกิดมาทุกคนก็แสวงหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่การปฏิบัติตามหน้าที่ ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้ เพราะถ้าสามารถปฏิบัติได้ จิตใจจะมีความสงบ ร่มเย็น เป็นสุข แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตาม กลับไปแสวงหาความสุขอีกแบบหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่ในทางโลกแสวงหากัน คือหาความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย เราจะไม่พบกับความสุขที่แท้จริง เพราะความสุขที่ได้จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น จะมีความทุกข์ประกบอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเหรียญที่มี ๒ ด้าน มีหัว มีก้อย ความสุขทางโลกก็เหมือนกัน มีความทุกข์ประกบคู่กันไปเสมอ
ดังนั้นในโลกนี้ทั้งๆที่มีความสุขอย่างมากมาย ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยังไม่วายที่จะต้องมีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจ เพราะความไม่รู้นั่นเอง ที่ทำให้หลง เห็นว่าความสุขที่ได้รับจากการเสพสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น เป็นความสุขที่แท้จริง แต่นักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญา สามารถมองทะลุม่านหมอกของความหลงคือโมหะ ความไม่รู้จริง คืออวิชชา ที่ปกคลุมหุ้มห่อจิตใจของสัตว์โลกทั้งหลาย ทำให้ไม่เห็นความทุกข์ที่ซ่อนเร้นอยู่กับความสุข ที่ได้จากสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ พระพุทธเจ้าจึงไม่ปรารถนา ไม่สนใจกับความสุขที่พวกเราทั้งหลายกำลังแสวงหากัน แต่กลับแสวงหาความสุขอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าสันติสุข ความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ ซึ่งจะเกิดได้จากการบำเพ็ญบุญบารมี มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกันคือ ๑. ทานบารมี การให้ ๒. ศีลบารมี การละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น ทางกายและทางวาจา ๓. เนกขัมมะบารมี การแสวงหาความสุขจากความสงบร่มเย็นของจิตใจ ละเว้นจากการแสวงหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ๔. อธิษฐานบารมี ความตั้งใจ ๕. สัจจะบารมี ความจริงใจ ๖. ขันติบารมี ความอดทน ๗. วิริยะบารมี ความพากเพียร ๘. ปัญญาบารมี ความรู้ ความฉลาด ๙. เมตตาบารมี ความมีไมตรีจิตต่อผู้อื่น ๑๐. อุเบกขาบารมี การทำจิตให้วางเฉย เหล่านี้คือเครื่องมือที่ต้องพัฒนาสร้างขึ้นมา เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนได้สมบูรณ์
ในบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ มีบารมีที่สำคัญอย่างยิ่งในเบื้องต้นคืออธิษฐานบารมี ก่อนที่จะบำเพ็ญบารมีอื่นได้ ต้องมีอธิษฐานบารมีเป็นผู้นำ อธิษฐานบารมี คือความตั้งใจ ก่อนที่จะทำอะไร ต้องตั้งใจก่อน ต้องตั้งเป้าหมายก่อน อย่างวันนี้จะมาวัดได้ ก็ต้องตั้งใจไว้ก่อนล่วงหน้า ว่าวันนี้จะมาทำบุญที่วัด เป็นการกำหนดเป้าหมาย จุดหมายปลายทางที่ต้องการจะไป ฉันใดการบำเพ็ญบุญบารมี ก็ต้องตั้งเป้าหมายไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ในชีวิตนี้เมื่อเกิดมาแล้วก่อนที่จะตายไป ขอให้ได้บำเพ็ญบุญบารมี เท่าที่จะสามารถทำได้ ถ้าตั้งเป้าหมายแล้ว ก็จะได้มีจุดหมายปลายทาง มีงานที่จะต้องทำกัน ถ้าไม่ตั้งเป้าหมายไว้ก่อน ชีวิตก็จะเป็นเหมือนกับเรือที่ไม่มีหางเสือ ไม่สามารถดำเนินไปตามทิศทางที่ต้องการจะไปได้ จะต้องไหลไปตามกระแสน้ำกระแสลม แต่ถ้ามีหางเสือ ย่อมสามารถบังคับควบคุมให้เรือไปในทิศทางที่ต้องการจะไปได้ อธิษฐานบารมีก็เป็นเหมือนหางเสือที่ใช้คัดเรือของชีวิต คือจิตให้ดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางที่ปรารถนา ก็คือความสุขและความเจริญที่แท้จริงนั่นเอง ดังนั้นเมื่อได้พบกับพระพุทธศาสนา ได้ยินได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จนเห็นว่าเป็นคำสอนที่มีประโยชน์ เป็นคำสอนที่จะพาไปสู่ความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง ก็ควรที่จะตั้งจิตอธิษฐาน คือตั้งใจว่า ชาตินี้ขอให้ได้บำเพ็ญบุญบารมีเท่าที่จะสามารถทำได้ เช่นบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมีเป็นต้น
เมื่อได้อธิษฐานแล้ว บารมีขั้นต่อมาที่จำเป็นจะต้องมี ก็คือสัจจะบารมี ความจริงใจ ถ้าตั้งอธิษฐานไว้ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ขาดสัจจะ ความจริงใจ บางทีอาจจะไม่ได้ทำก็ได้ อย่างในช่วงปีใหม่มักจะตั้งจิตอธิษฐานกันว่า ปีนี้จะขอเป็นคนดี จะละเว้นจากการเสพสุรายาเมา จะละเว้นจากอบายมุขต่างๆ แต่พอปีใหม่ผ่านไปได้ไม่สักกี่วัน พอมีคนชวนไปเที่ยว ชวนไปดื่ม ก็เกิดใจอ่อน ไม่มีกำลังจิตที่จะต้านทานการชวนของผู้อื่นได้ ความตั้งใจที่จะละเว้นจากการดื่มสุราก็เลยต้องล้มไป เพราะขาดสัจจะความจริงใจ จึงต้องทำความเข้าใจว่า การอธิษฐานจิต คือการตั้งใจจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น เป็นเหมือนกับการให้คำมั่นสัญญา ถึงแม้จะไม่ได้ให้กับผู้อื่นก็ตาม แต่ก็เป็นการให้คำมั่นสัญญากับตนเอง ต้องมีความหนักแน่น มีความจริงใจต่อการให้คำมั่นสัญญาของตน ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะเป็นคนโลเล เป็นคนไม่มีหลัก ไม่มีเกณฑ์ ไม่สามารถกำหนดทิศทางชีวิตของตนเองได้ ตั้งขึ้นมาเท่าไร ก็จะล้มไปทุกครั้ง เมื่อประสบกับอุปสรรคหรือประสบกับสิ่งยั่วยวนกวนใจ ก็จะทำให้ไม่สามารถตั้งอยู่ในความตั้งใจได้
แต่ถ้ามีสัจจะควบคู่ไปกับอธิษฐาน เรียกว่าสัจจะอธิษฐานแล้ว การตั้งใจจะไม่ล้มเหลวเพราะมีความจริงใจ มีความแน่วแน่ มีความหนักแน่น อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญ ในขณะที่นั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ก่อนที่จะตรัสรู้ ก็ได้ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานไว้ว่า จะนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ต้นนี้จนกว่าจะบรรลุธรรมที่ปรารถนา ถ้าไม่ได้บรรลุธรรม ก็ขอให้ตายไปกับการนั่งนี้เลย นี่คือสัจจะอธิษฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งไว้ ในขณะที่บำเพ็ญบารมี ในวาระสุดท้ายก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระบรมศาสดา เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเราที่มีความปรารถนาที่จะเจริญในทางที่ถูกที่ดีที่ควร นอกจากการตั้งจิตอธิษฐานแล้ว ต้องมีสัจจะควบคู่ไปด้วย คือก่อนที่จะตั้งจิตอธิษฐาน ต้องถามตัวเองก่อนว่า ทำตามความตั้งใจนี้ได้หรือไม่ ได้มากน้อยเพียงไร ต้องดูกำลังของตัวเราประกอบไปด้วย ไม่ใช่ตั้งเจตนาในสิ่งที่เหนือความสามารถที่จะทำได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นตั้งไปก็จะต้องล้มไปอย่างแน่นอน ต้องรู้จักประมาณ รู้จักกำลังของเราด้วยว่าจะสามารถปฏิบัติได้มากน้อยเพียงไร ก็ตั้งไว้เพียงเท่านั้นก่อน เมื่อได้บรรลุถึงขั้นนั้นที่ได้ตั้งไว้แล้ว ค่อยมาตั้งขั้นต่อไป ค่อยๆขยับไปเรื่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อยก็ได้ ไม่จำเป็นจะตั้งทีเดียวให้ถึงเป้าหมายสูงสุดเลย เพราะบางทีจะไม่มีกำลังความสามารถพอที่จะบำเพ็ญได้นั่นเอง แล้วก็จะเกิดความท้อแท้ เกิดความอิดหนาระอาใจ ทำให้ไม่อยากจะปฏิบัติต่อไป
ถ้าตั้งอยู่ในขอบเขตของความสามารถของเรา แล้วสามารถรักษาสัจจะนี้ไว้ได้ ก็จะสร้างกำลังจิตกำลังใจให้กับเรา ให้มีกำลังใจที่จะปฏิบัติให้สูงยิ่งๆขึ้นไป ในเบื้องต้นจึงต้องมีสัจจะอธิษฐานไว้เป็นตัวนำร่อง เป็นตัวเบิกทางให้กับการปฏิบัติ เมื่อมีทั้งอธิษฐานและสัจจะแล้ว บารมีขั้นต่อไปที่ต้องใช้ก็คือวิริยะบารมี ความพากเพียร เมื่อตั้งใจไว้ว่า จะทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ก็ต้องมีความขยันหมั่นเพียรในการกระทำกิจนั้นๆ เช่นต้องขยันทำบุญ ขยันรักษาศีล ขยันปฏิบัติธรรม ถ้าประสบกับอุปสรรคต่างๆ เจอความยากความลำบาก ก็ต้องใช้ขันติบารมี ความอดทนไว้ต่อสู้ ถ้าไม่มีความอดทนแล้ว เวลาประกอบความพากเพียร แล้วเผชิญกับอุปสรรค เจอความยากความลำบาก ก็จะไม่สามารถปฏิบัติต่อไปได้ การปฏิบัติก็จะต้องล้มเลิกไปในที่สุด แต่ถ้ามีความเข้มแข็ง อดทน ไม่กลัวทุกข์ ไม่กลัวความยาก ความลำบาก ก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้
ทุกครั้งที่ท้อแท้หรือประสบกับอุปสรรค
ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง
ให้ระลึกถึงพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่างว่า
ท่านก็เป็นเหมือนกับพวกเรา
คือเป็นปุถุชนธรรมดาสามัญมาก่อน
ก่อนที่จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระอรหันตสาวก
ท่านก็ต้องตะเกียกตะกายล้มลุกคลุกคลาน
ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆที่กีดขวางการปฏิบัติ
แต่อาศัยว่าท่านเป็นคนที่มีความแน่วแน่
จริงจัง มีความกล้าหาญ
เข้มแข็ง อดทน จึงฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้
ซึ่งเราก็เป็นเหมือนกับท่าน
ท่านเป็นมนุษย์ธรรมดา
เราก็เป็นมนุษย์ธรรมดา
ท่านสะสมบุญบารมี
เราก็สะสมบุญบารมีได้เหมือนกัน
ถ้ามีความคิดอย่างนี้แล้ว
ความท้อแท้เบื่อหน่ายก็จะหายไป
กำลังจิตกำลังใจก็จะฟื้นกลับคืนมา
ทำให้สามารถปฏิบัติต่อไปได้
ด้วยความอุตสาหะพากเพียร
จนบรรลุถึงเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ได้ในที่สุด
จึงขอให้ความสนใจกับการบำเพ็ญบุญบารมีอย่างต่อเนื่อง ให้เห็นความสำคัญของชีวิตว่า ชีวิตนี้เกิดมาก็เพื่อบำเพ็ญบุญบารมีเท่านั้น เพราะบุญบารมีนี้เท่านั้นที่จะพาเราไปสู่ความสุขที่แท้จริง ถ้าไม่สร้างบุญบารมี มัวแต่แสวงหาความสุขในโลก ก็จะมีแต่ความสุขในขณะที่มีชีวิตอยู่นี้เท่านั้น แต่เมื่อต้องจากโลกนี้ไปแล้ว จะไม่มีบุญบารมีเป็นเครื่องส่งเสริมให้ไปเกิดในภพชาติที่ดีต่อไป ดีไม่ดีอาจจะต้องไปเกิดในภพชาติที่เลวกว่า ดังในเรื่องราวที่มีเล่าให้ฟังในพระพุทธศาสนาว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งเป็นคนที่สะสมเงินทองได้มาก แต่เป็นคนตระหนี่ ไม่ชอบทำบุญ มีเงินทองมากน้อยก็จะฝังกลบดินไว้ ไม่บอกแม้กระทั่งลูกหลาน แต่หลังจากที่ตายไปแล้ว ก็ต้องกลับมาเกิดเป็นสุนัขในบ้านของตน เพราะความห่วงสมบัติที่ได้ฝังไว้ พระพุทธเจ้าได้ทรงบิณฑบาตผ่านบ้านนี้มา เห็นสุนัขตัวนี้ก็รู้ว่าเป็นเศรษฐีเจ้าของบ้านเดิม ได้กลับมาเกิดเป็นสุนัข เพราะความผูกพันกับสมบัติที่ตนเองได้สะสมไว้ จึงสอนลูกๆของเศรษฐีคนนี้ว่า เลี้ยงสุนัขตัวนี้ไว้ให้ดี เพราะสุนัขตัวนี้เป็นพ่อของเจ้า เดี๋ยวเขาจะพาไปขุดสมบัติที่พ่อของเจ้าได้ฝังไว้ให้ ต่อมาไม่นานสุนัขตัวนั้นก็ไปขุดสมบัติต่างๆ ที่ฝังไว้ในบ้านขึ้นมาให้ลูกๆได้มีโอกาสได้ใช้ ลูกๆเมื่อก่อนก็ไม่มีความศรัทธาความเชื่อในเรื่องบุญบารมี ในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด แต่เมื่อได้สัมผัสกับความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน ก็เลยเกิดศรัทธาความเชื่อขึ้นมา ตั้งแต่นั้นก็บำเพ็ญบุญบารมีกัน มีการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม
นี่แหละคืองานที่แท้จริงของเรา หน้าที่ที่แท้จริงของเรา เป็นการแสวงหาความสุขที่แท้จริงของเรา วิธีอื่นไม่มี มีวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้น ถ้ามีแล้วพระพุทธเจ้าจะไม่ปกปิดไว้เลย พระพุทธเจ้าจะบอกเราทั้งหมด แต่นี่เป็นเพียงวิธีเดียวเท่านั้น ที่เป็นวิธีที่ถูกต้อง ที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เพราะความเกิดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย เพราะเมื่อเกิดแล้วก็ต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตายตามมา มีการพลัดพรากจากกันและกันตามมาอย่างแน่นอน ผู้ที่ไม่อยากจะประสบกับความทุกข์ จำต้องทำให้ตนเองไม่ต้องมาเกิดอีก เพราะเมื่อเกิดมาแล้วก็จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายนั่นเอง วิธีที่จะทำให้ไม่เกิด ก็คือการบำเพ็ญบุญบารมี ซึ่งจะเป็นตัวทำลายเชื้อของภพชาติ คือกิเลสตัณหาทั้งหลายนั่นเอง ความอยาก ความโลภต่างๆ เป็นตัวผลักดันให้จิตต้องไปแสวงหาภพชาติใหม่อยู่เรื่อยๆ เวลาที่คนเราตายนั้น ตายเพียงครึ่งเดียว คือร่างกายต้องแตกสลายดับไป เพราะร่างกายประกอบขึ้นมาจากดินน้ำลมไฟ ที่ผ่านมาทางอาหาร แล้วก็เข้ามาอยู่ในร่างกาย แล้วก็แปลงสภาพเป็นอวัยวะต่างๆ เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน แล้วไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องแตกสลายไป ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีอยู่ในร่างกายก็แยกตัวออกจากกัน กลับคืนสู่สภาพเดิม แต่จิตผู้ที่มาครอบครองร่างกายนี้ ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย
จิตนี้ถ้าเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับกระแสวิทยุโทรทัศน์ กระแสโทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มี ถ้ามีเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ตอนนี้ เปิดขึ้นมาก็จะได้รับเสียงและสิ่งต่างๆที่ผ่านมาทางกระแส กระแสในขณะนี้มีอยู่รอบตัวเรา แต่เรามองไม่เห็นกัน ฉันใดจิตก็เป็นเหมือนกับกระแสเหมือนกัน เป็นกระแสรู้ เป็นผู้รู้ ในขณะนี้ผู้ที่กำลังรับรู้อยู่นี้ ไม่ใช่ร่างกาย จิตต่างหากเป็นผู้รับรู้ จิตอาศัยร่างกายเป็นสื่อ เป็นเครื่องมือ คืออาศัยหูรับฟังเสียง เมื่อเสียงได้เข้าไปสู่ในร่างกาย ก็ส่งไปสู่จิตอีกต่อหนึ่ง จิตถึงรับรู้ได้ ถึงเสียงที่พูดอยู่นี้ และจิตก็เป็นผู้คิดพิจารณาตาม ไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายนั้นเป็นเหมือนกับเครื่องรับวิทยุเท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญอะไร ร่างกายไม่มีตัวไม่มีตน ดังที่ได้แสดงไว้ว่าร่างกายนี้มาจากดิน น้ำ ลม ไฟนั่นเอง แต่ตัวที่สำคัญที่สุดก็คือตัวจิต ตัวจิตนี้เป็นตัวที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ และเป็นผู้ที่บำเพ็ญกิจกรรมต่างๆ ทั้งในทางดีและในทางไม่ดี ถ้าดำเนินกิจกรรมที่ดีที่เรียกว่าบุญกุศล จิตก็มีความสุขมีความสงบ ถ้าดำเนินกิจกรรมที่ไม่ดี เช่น ทำบาป ทำกรรม ก็จะมีแต่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ
ผลของการกระทำของจิตนั้น จิตเป็นผู้รับเอง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในปัจจุบันก็คือความรู้สึกที่มีอยู่ภายในใจ อย่างวันนี้เรามาทำบุญกัน เราก็มีความสุขมีความสบายใจ ถ้าไปทำบาปทำกรรม เช่นไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ก็จะมีความรู้สึกไม่สบายใจตามมาทันที นี่คือผลของกรรม ที่สามารถพิสูจน์เห็นได้ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ยังมีผลของกรรมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าภพชาติที่จะตามมาต่อไป นี่เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะไม่มีปัญญาเหมือนกับที่พระพุทธเจ้ามี เราจึงต้องอาศัยหรือเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า บุญกรรมที่เราทำในชาตินี้นั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะส่งให้เราไปเกิดในภพชาติต่อไป จะมีความเจริญ มีความร่ำรวย มีความฉลาด มีความสวยงามหรือไม่สวยงามนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่เราทำในชาตินี้ ถ้ารักษาศีลก็จะได้ไปเกิดในสุคติ คือภพที่ดี ที่มีแต่ความสุขมากกว่าความทุกข์ เช่น ภพของมนุษย์ ของเทพ ของพรหม ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย แต่ถ้าทำบาปทำกรรม ก็จะต้องไปเกิดในอบาย คือภพของเดรัจฉาน ของเปรต ของอสุรกาย ของสัตว์นรกทั้งหลาย
นี่เป็นผลที่จะตามมา หลังจากที่ร่างกายได้แตกดับสลายไปแล้ว เรายังต้องไปต่อ คือจิตไม่ได้ตายไปกับร่างกายนั่นเอง จิตจะเอาวิบากคือความดี ความชั่วที่ได้ทำไว้ในชาตินี้และในชาติก่อนๆ ที่ยังไม่ได้แสดงผลไปด้วย แล้วก็ต้องไปรับผลต่อไป ทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า การเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาตินั้น เป็นเหมือนกับขึ้นลงบนขั้นบันได ถ้าทำความดีในชาตินี้มากกว่าทำความชั่ว ชาติหน้าก็จะได้เลื่อนขั้นสูงขึ้นไป ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญบุญบารมีมาอย่างต่อเนื่องหลายภพ หลายชาติ เป็นเวลาอันยาวนาน จนในที่สุดบุญบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญ ได้ทำให้บรรลุถึงจุดสูงสุดของสัตว์โลก ก็คือได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่อยู่ไกลจากความทุกข์ ไม่มีความทุกข์มาเกี่ยวข้องด้วยเลย เพราะได้ถึงจุดที่ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไปนั่นเอง ผู้ที่ไม่เกิดเท่านั้นจึงจะไม่มีความทุกข์ ถ้าตราบใดยังมีการเกิดอยู่ ตราบนั้นก็ยังมีความทุกข์อยู่ จะมีทุกข์มากทุกข์น้อยเท่านั้นเอง ถ้าอยู่ในขั้นบำเพ็ญบุญบารมี ภพชาติที่จะเกิดอีกต่อไปในแต่ภพแต่ละชาติ จะมีความทุกข์น้อยลงไปเรื่อยๆ จะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลย กลายเป็นความสุขล้วนๆ
นี่คือเป็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการบำเพ็ญบุญบารมี อย่างที่เราทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้ และจะกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่าชีวิตจะหาไม่ การที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา เป็นชีวิตที่ได้กำไรไม่ขาดทุน แต่ถ้าไม่เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพราะไม่เห็น ก็เลยปฏิเสธ ถ้าอย่างนั้นก็จะไม่ได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่ดีที่งาม ที่พระพุทธเจ้าและนักปราชญ์ทั้งหลายได้สัมผัสกัน ทางเลือกของชีวิตเราจึงมีอยู่ว่า เราจะไปทางไหน จะไปในทางที่พระบรมศาสดาชี้ให้ไปก็ได้ หรือจะไม่ไปก็ได้ เพราะไม่มีใครสามารถมาบังคับตัวเราได้ แม้กระทั่งตัวเราเอง บางครั้งบางคราวก็ยังบังคับตัวเราเองไม่ได้ เพราะอะไร ก็เพราะวิบากกรรมที่เราทำไว้นั่นเอง บางครั้งเราไม่อยากจะโกรธ ก็ยังอดที่จะโกรธไม่ได้ บางครั้งไม่อยากจะโลภ ก็ยังอดที่จะโลภไม่ได้ บางครั้งไม่อยากจะหลง ก็ยังอดที่จะหลงไม่ได้ ก็เพราะในอดีตชาติได้สะสมความโลภ ความโกรธ ความหลงไว้มาก จนมีกำลังอยู่ในตัวของเขาเอง แต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งสุดวิสัยที่จะลบล้างความโลภ ความโกรธ ความหลงเหล่านี้ ถ้ามีความตั้งใจ มีความจริงใจ มีความอดทน มีความกล้าหาญ จึงไม่ควรมองข้ามการบำเพ็ญบุญบารมี เพราะเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนทุกๆคน ขอให้บำเพ็ญไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพื่อความสุขความเจริญที่แท้จริง ที่จะตามมาต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้