กัณฑ์ที่ ๑๙     ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

พรหมวิหารธรรม

       

ทุกๆ ๖ วัน ๗วัน หรือ ๘ วัน พระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดให้เป็นวันพระหนึ่งวัน ให้ญาติโยมได้มีเวลาว่างเว้น จากการทำภารกิจการงาน      การทำมาหากิน เลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง ให้มีเวลาว่าง เข้าสู่วัด สู่วา  เข้าหาพระ  เพื่อที่จะได้ให้อาหารแก่จิตใจบ้าง  ชีวิตของคนเรานั้น     มีอยู่สอง ส่วน  คือร่างกายและจิตใจ  ร่างกายต้องอาศัยปัจจัยสี่ คือ อาหาร  ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค เป็นเครื่องอยู่ แต่ร่างกายเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของชีวิตเรา อีกครึ่งหนึ่งของชีวิตเรานั้น คือ จิตใจ จิตใจนี้ ไม่ได้สุข ไม่ได้ทุกข์  ไปกับปัจจัยสี่  แต่จิตใจจะสุข หรือจะทุกข์นั้น ขึ้นอยู่กับ บุญ กุศล  และธรรมะ ที่มีอยู่ในจิตใจ มากน้อยแค่ไหน  เพราะว่าบุญ กุศล และธรรมะนั้น เปรียบเสมือนปัจจัยสี่ของจิตใจ

ถ้าจิตใจมีธรรมะ มีบุญ  มีกุศลแล้ว  จิตใจจะมีอาหารหล่อเลี้ยง   มีเครื่องนุ่งห่มใส่ มียารักษาโรค และมีที่อยู่อาศัย หรือมีที่พึ่ง  ที่เรียกว่า ธัมมัง  สรณัง คัจฉามิ ธรรมะเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะของจิตใจ  ถ้าจิตใจไม่มีสรณะ     ที่พึ่งแล้ว  จิตใจจะมีแต่ความหิว  มีแต่ความกระหาย    มีแต่ความอยาก         มีแต่ความรุ่มร้อน  เพราะขาดน้ำแห่งธรรม มาชโลมจิตใจ ให้จิตใจมีความสงบสุขร่มเย็น พระพุทธองค์จึงได้ทรงกำหนดวันพระ ไว้ให้กับญาติโยม เพื่อที่จะได้หยุดการทำมาหากินให้กับร่างกาย แล้วมาทำมาหากินให้กับจิตใจบ้าง ในสมัยนี้ วันพระมักจะไม่ค่อยตรงกับวันหยุด ของญาติโยม  เพราะญาติโยมส่วนใหญ่  จะมีวันเสาร์ วันอาทิตย์ เป็นวันหยุด      ว่างเว้นจากภารกิจการงานต่างๆ  ดังนั้น ในวันเสาร์ วันอาทิตย์      ญาติโยมจะถือ  ว่าเป็นวันพระก็ได้   เมื่อมีเวลา ก็ควรจะหาเวลาว่างนั้น     เข้าสู่วัด สู่วา เพื่อที่จะได้สร้างบุญ สร้างกุศล เอาธรรมะเข้าสู่จิตใจ     เพื่อจิตใจ  จะได้มีความอิ่ม มีความสุข มีความร่มเย็นเป็นสุข  ระงับดับความรุ่มร้อนของจิตใจ ที่เกิดจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย   

นี่เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนพึงกระทำกัน เพราะไม่มีใครสามารถจะทำให้กันได้ เราต้องทำด้วยตัวเรา  เหมือนกับการรับประทานอาหาร   ถ้าเราไม่เอาอาหารเข้าปาก แล้วเคี้ยว แล้วกลืนเข้าไป ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเคี้ยว หรือกลืนอาหาร ให้กับเราได้ ถ้าเราไม่รับประทานอาหาร  ร่างกายของเรา จะซูบผอม ขาดอาหาร จะมีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย      ร่างกายมีความอ่อนเพลีย มีความทุกข์ มีความไม่สบาย เช่นเดียวกับจิตใจ   ถ้าเราไม่นำธรรมะ  คืออาหารใจ เข้าสู่จิตใจแล้ว   จิตใจของเรานั้น     จะมีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย  มีความรุ่มร้อน  ทุกวันพระ     เมื่อมีเวลาว่าง จึงควรเข้าวัด เพื่อจะได้ทำบุญ ทำกุศล ถวายทานให้กับพระ  ถวายอาหารคาวหวาน จตุปัจจัยไทยทาน รักษาศีล  ฟังเทศน์  ฟังธรรม  ซึ่งก็คืออาหารของจิตใจ เมื่อได้รับอาหารของจิตใจ อย่างสม่ำเสมอแล้ว  จิตใจจะมีความอิ่ม  มีความสบายใจ  มีความปิติ  และมีความสุข

พวกเราทั้งหลายที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เรียกว่าเป็นสัตว์สังคม ไม่สามารถที่จะอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย ตามลำพังได้ ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม  ตั้งแต่สังคมเล็กไปสู่สังคมใหญ่ คือ เริ่มต้นจากสังคมครอบครัว  ระหว่างสามี ภรรยา แล้วก็ลูกที่จะตามออกมา เรียกว่าอยู่แบบสังคมครอบครัว หลายๆ ครอบครัวเข้าก็กลายเป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง เป็นประเทศ  ขึ้นมา และการที่สังคมนั้นๆ จะอยู่กันได้ อย่างร่มเย็น เป็นสุข  จิตใจของคนในสังคมนั้น  จะต้องมีคุณธรรม  คือ มีธรรมะคุ้มครองปกครองจิตใจ  จึงทำให้สังคมมนุษย์นั้น อยู่กันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน คุณธรรมที่จะปกครองจิตใจ ของคนในสังคมให้อยู่กันได้  ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนั้น เรียกว่าพรหมวิหาร ๔    วิหาร  แปลว่า  ที่อยู่   พรหม   คือ พระพรหม หรือผู้ที่ประเสริฐ   พรหมวิหาร  จึงแปลว่า  ที่อยู่ของพระพรหม หรือที่อยู่ของผู้ประเสริฐ   พระพรหมท่านเป็นผู้ประเสริฐ ท่านมีความเมตตา กรุณา มุทิตา  อุเบกขา อยู่ในจิตใจของท่าน  ถ้าปรารถนาที่จะมีพระพรหมอยู่ในจิตใจ  เราก็ต้องน้อมเอา พรหมวิหาร ๔ เข้ามาสู่จิตใจของเรา

พรหมวิหาร ๔   ประกอบด้วย ๑. เมตตา   . กรุณา  . มุทิตา    . อุเบกขา คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้  เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษย์ที่อยู่่ในสังคมเดียวกัน สังคมตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป  ถ้าขาดพรหมวิหาร ๔ แล้ว บ้านเมืองก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา  เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง  เกิดการเบียดเบียนกันและกันขึ้นมา ถ้ามีพรหมวิหาร ๔  มนุษย์เราจะอยู่กันได้ด้วยความผาสุก   เพราะพรหมวิหาร ๔ นั้น  สอนให้เราไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ให้เราอยู่กัน แบบฉันมิตร ฉันเพื่อน ฉันพี่ ฉันน้อง  พวกเราทุกคนนั้นเปรียบเสมือนเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกนี้  เป็นพี่  เป็นน้องกัน  ไม่จำเป็นที่จะต้องเบียดเบียนกัน  ไม่จำเป็นที่ต้องเอาความทุกข์มาให้กันและกัน ถ้าเราปรารถนาที่จะอยู่ในสังคม ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  ก็ขอให้เราเจริญพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

เมตตาหมายถึง ความเป็นมิตร มีไมตรีจิตต่อกันและกัน  มองกันเหมือนเพื่อน ไม่มองกันแบบศัตรู ถือเป็นพี่ เป็นน้องกัน  ดังในบทเมตตาภาวนา  ที่ท่านแสดงว่า  สัพเพ  สัตตา  อเวรา โหนตุ  ขอให้สัตว์ทั้งหลาย  จงอย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย เวรคือความไม่อาฆาตพยาบาท เคียดแค้น ต่อกันและกัน จริงอยู่ คนเราอยู่ในสังคมด้วยกันนั้น  มันก็เหมือนลิ้นกับฟัน อยู่ด้วยกันมันก็เป็นเรื่องปกติ ที่ลิ้นกับฟันจะต้องมีการกระทบกันบ้าง คนเราก็อาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง มีการผิดใจกันบ้าง บาดหมางใจกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็สามารถที่จะควบคุมเรื่องเหล่านี้ ไม่ให้มันลุกลามเป็นพิษ เป็นภัย ขึ้นมาได้ ถ้าเรามีเมตตา คือ รู้จักให้อภัย อเวรา ก็หมายถึง การให้อภัย แก่กันและกัน  เวร  ย่อมระงับ  ด้วยการไม่จองเวร  ถ้าไปจองเวรกัน ต่างฝ่ายต่างตอบโต้กัน จากเรื่องเล็ก ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ และในที่สุดฆ่ากันตาย จากการที่ไม่รู้จักให้อภัยต่อกันและกัน                          

เวลาเรามีความโกรธ พระพุทธองค์ทรงสอน ให้เราให้อภัยต่อผู้ที่สร้างความโกรธให้กับเรา ให้เอาชนะความโกรธ อย่าไปชนะผู้อื่น ชนะตน นั้นประเสริฐ เพราะเมื่อชนะตน ชนะความโกรธได้แล้ว ใจจะเย็น ใจจะสงบ เมื่อใจเย็น ใจสงบ เราก็จะไม่ไปสร้างความทุกข์ ให้แก่ผู้อื่น ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี แต่ถ้าเราไม่สามารถระงับความโกรธได้  เราก็จะออกไปด่า ออกไปว่า ออกไปทำร้ายผู้อื่น เพราะความโกรธความเคียดแค้นของเรา  เมื่อไปทำเขาแล้ว เขาก็เกิดความโกรธ ความเคียดแค้นขึ้นมาด้วยเหมือนกัน เพราะเขาก็เป็นปุถุชน คนธรรมดาสามัญ  เหมือนอย่างเรา เมื่อตอบโต้กันไป ตอบโต้กันมา  มันก็เกิดความรุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็ถึงกับฆ่ากันตายเลยทีเดียว นี่คือผลของการที่ไม่ให้อภัยกัน อเวราโหนตุ  จึงขอให้เราให้อภัยต่อกันและกัน  ถ้าให้อภัยกันแล้วทุกอย่างก็จะสงบ  ทุกอย่างก็ยุติ   ใครเขาจะด่าเรา ใครเขาจะทำอะไรเรา  เอาข้าว เอาของ เอาเงิน เอาทองของเราไป เราไม่โกรธเคือง ให้คิดว่าใช้หนี้ไป ชาติก่อนเราเคยไปทำอะไรเขาไว้ ไปฉกชิงข้าวของของเขามา ไปสร้างความทุกข์ใจให้กับเขา  ชาตินี้  เขาก็มาเอาคืน ถ้าเราไม่ไปโต้ไปตอบเดี๋ยวมันก็จบ แต่ถ้าเราไปตอบโต้  มันก็จะต่อกันไปเรื่อยๆ จากภพนี้ก็จะไปสู่ภพหน้าไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

เมตตาหมายถึงการไม่เบียดเบียนกัน สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ  การเบียดเบียนกันคือ การสร้างความทุกข์ให้แก่กัน ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี  เช่น การฆ่ากัน  การเอาสมบัติของผู้อื่นไป  การประพฤติผิดประเวณี  ล่วงเกินสามี ภรรยา บุตร ธิดา ของผู้อื่นเขา การโกหกหลอก ลวงผู้อื่น ท่านทรงสอนให้ละเว้น ถ้าไม่ละเว้น มันก็จะทำให้ไม่สามารถอยู่กันได้ ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  สังคมก็จะวุ่นวาย  สังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  เราจะเห็นได้ว่าขาดความเมตตาต่อกันและกัน  มีการเบียดเบียนกันอยู่เป็นประจำ เวลาเปิดหนังสือพิมพ์ขึ้นมา จะมีข่าวปล้นกัน จี้กัน  ฆ่ากัน  ข่มขืนกัน อยู่ตลอดเวลา  เพราะว่าคนเราไม่ค่อยเข้าวัดกัน  ไม่นำเอาธรรมะเข้าสู่จิตใจ  ไม่มีพรหมวิหารธรรมอยู่ในจิตใจ คือไม่มีความเมตตานั้นเอง เมื่อไม่มีความเมตตาแล้ว ก็มีแต่ความโกรธแค้น โกรธเคือง ต่อกันและกัน คอยแต่จะเบียดเบียนกัน และสร้างความทุกข์ให้แก่กันและกัน พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พวกเรา มีเมตตาต่อกันและกัน  เพื่อความสุข ความสงบร่มเย็นในสังคมนั้นเอง

กรุณาคือความสงสาร เวลาเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก ถ้าเรามีเงินทอง มีฐานะดี มีกำลังพอที่จะช่วยเหลือได้ ก็ควรจะช่วยเหลือกัน  คนเราเวลาล้มลงไปนี่  บางทีมันก็ลุกขึ้นเองไม่ได้  ต้องอาศัย คนอื่นช่วยกันพยุงขึ้นมา ชีวิตของคนเรานั้น ก็เหมือนๆกัน เพราะเราอยู่ในโลกของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน อาจจะมีวันหนึ่งที่เราพลาดไป  ชีวิตของเราอาจจะตกอับก็ได้ หรืออาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ ประสบปัญหาต่างๆ นานา เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดยื่นมือมาช่วยเหลือเรา มันก็จะทำให้ความทุกข์  ซึ่งหนักหนาสาหัสนั้นเบาบางลง  ทำให้เราเกิดความรู้สึกสบายใจขึ้น มีความสุขขึ้น ถ้าเราเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากแล้ว ขอให้เราอย่าอยู่เฉย  อย่าไปมองว่า ตัวใคร! ตัวมัน! จริงอยู่ พระพุทธองค์ทรงสอน อัตตาหิ  อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนนั้น หมายถึงในกรณีที่สามารถพึ่งตัวเองได้ ถ้าสามารถทำมาหากิน เลี้ยงปาก เลี้ยงท้องได้  เราก็ไม่ควรไปขอผู้อื่นเขา แต่ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วย  พิกลพิการขึ้นมา  ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ก็เป็นหน้าที่ของพวกเรานี่แหละ  ที่จะต้องช่วยเหลือกัน ที่ไหนมีความกรุณา   ที่นั้นย่อมมีความสุข  ที่ไหนขาดความกรุณา   ที่นั้นย่อมมีแต่ความทุกข์ยากลำบาก จึงขอให้เราใช้หลัก  อัตตาหิ  อัตตโน  นาโถ ให้ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่าตัวใครตัวมัน  ให้พึ่งตัวเองเมื่อยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ถ้าไม่สามารถจะช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น บิดามารดา ยามท่านแก่ ท่านชรา ท่านไม่สามารถเลี้ยงดูตัวท่านเองได้ พวกเราเป็นลูกก็จะต้องทำหน้าที่ดูแลท่าน เป็นความกรุณา และเป็นความกตัญญูกตเวทีด้วย นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐ  ผู้ใดทำสิ่งเหล่านี้  ผู้นั้นย่อมได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดี เป็นผู้ประเสริฐ มีความสุขใจเพราะจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลนั้นเอง

มุทิตาหมายถึงความยินดีในความสุข ในความดีของผู้อื่น  เวลาเห็นคนอื่นได้ดิบได้ดี มีความเจริญรุ่งเรือง เช่นได้เงินเดือนขึ้น ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น มีความสุข ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑  อย่างนี้เป็นต้น ให้แสดงความยินดีกับเขา ไม่ควรอิจฉาริษยาเขา ขอให้ถือว่า เป็นบุญของเขา  เขาได้ทำความดีไว้  เมื่อถึงเวลา  ความดีก็ส่งผลขึ้นมา ถ้าไม่มีมุทิตาจิตแล้ว จิตใจจะมีแต่ความรุ่มร้อน  มีความอิจฉาริษยา เห็นคนอื่นได้ดิบได้ดี เรากลับเป็นทุกข์เป็นร้อนไป  เพราะขาดมุทิตาจิตนั้นเอง

อุเบกขาคือการปล่อยวาง วางเฉย ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เมตตา  กรุณา  และมุทิตาได้  ก็ต้องใช้อุเบกขา  เช่นมีคนที่เรารักเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย  แล้วไม่มีทางที่จะรักษาได้ อย่างนี้เราต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา   คืออย่าไปโศกเศร้าเสียใจกับความทุกข์ของเขา  ถ้าช่วยเหลือได้  ก็ช่วยเหลือกันไป  แต่ถ้าช่วยไม่ได้  ก็ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา ขอให้ถือว่าเป็นวิบากกรรมของเขา พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราระลึกอยู่เสมอว่า สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของของตน   เป็นผู้ที่รับผลของกรรม  จะทำกรรมอันใดไว้  ดีหรือชั่ว  จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น  คนเราในอดีตชาติ  หรือในอดีตที่ผ่านมานั้น อาจจะไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามไว้ และเมื่อถึงเวลาที่ผลของกรรมนี้ปรากฏผลขึ้นมาแล้ว ไม่มีใครช่วยเหลือได้  ใครทำกรรมอะไรไว้ ก็ต้องรับผลของกรรมนั้นไป ถ้าไม่ปรารถนา ที่จะประสบกับเคราะห์กรรม ก็ขอให้ละเว้นจากการกระทำความชั่วทั้งหลายเสีย ให้ทำแต่บุญ ทำแต่กุศล ทำแต่สิ่งที่ดี ที่งาม  เมื่อทำแต่สิ่งที่ดี ที่งามแล้ว เคราะห์กรรมต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าเกิดขึ้นกับเรา หรือกับบุคคลหนึ่ง บุคคลใดก็ตาม   เราก็ต้องเจริญอุเบกขา อย่าไปโศกเศร้าเสียใจกับเขา อย่าไปทุกข์กับเขา เพราะความโศกเศร้าเสียใจของเรา จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับนั้น มันไม่สามารถจะแก้ปัญหาของเขาได้ มีแต่ จะทำให้เราทุกข์ไปเปล่าๆเท่านั้นเอง

การใช้เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา  จึงควรใช้ให้เหมาะกับกาลเทศะ ให้เหมาะกับกาล กับเวลา กับโอกาส เหมือนกับการขับรถยนต์ เวลาขับรถต้องใช้เกียร์หลายเกียร์ด้วยกัน คือต้องใช้ทั้งเกียร์เดินหน้า ใช้ทั้งเกียร์ถอยหลัง ทั้งเกียร์สูง ทั้งเกียร์ต่ำ เช่นเวลาออกรถถ้าใช้เกียร์สูง  รถก็ออกวิ่งไม่ได้ ต้องใช้เกียร์ต่ำรถถึงจะออกวิ่งไปได้  แล้วค่อยขยับเป็นเกียร์สูงต่อไป ชีวิตเราก็เหมือนกัน บางครั้งก็ต้องใช้เมตตา  บางครั้ง      ก็ต้องใช้กรุณา  บางครั้งก็ต้องใช้มุทิตา  บางครั้งบางคราวก็ต้องใช้เบรกคืออุเบกขา  ถ้าเราไม่รู้จักวิธีใช้ให้ถูกต้องแล้ว เราจะมีแต่ความสับสน  วุ่นวายใจ มีความไม่สบายใจ  แต่ถ้ารู้จักใช้พรหมวิหาร ๔ ได้อย่างถูกต้อง ถูกกาลเทศะแล้ว  เราจะมีแต่ความสุขใจ  มีแต่ความสบายใจ

เวลาเจริญพรหมวิหาร ๔ อย่าไปพะวงถึงผู้อื่นว่า ทำไมเขาไม่มีเมตตา  ถ้าเขาไม่มีเมตตากับเรา  เราก็จะไม่ให้ความเมตตากับเขา  อันนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูก  ผู้ที่เจริญพรหมวิหาร ๔ นั้น ไม่ได้หวังผลจากผู้อื่น แต่หวังผลที่จะเกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง  เพราะผู้มีความเมตตา  กรุณา มุทิตา อุเบกขา จิตใจย่อมมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข  ไม่ทุกข์ร้อน  ไปกับเรื่องราวของบุคคลที่อยู่รอบตัว อย่าไปตั้งข้อแม้ว่าถ้าผู้อื่นไม่มีเมตตา เราก็จะไม่มีเมตตาด้วย แล้วถ้าเขาไม่กินข้าว  เราก็จะไม่กินข้าวตามไปด้วยหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็อดตายพอดี คนอื่นไม่กินข้าวมันก็เรื่องของเขา  เรากินของเราไปก็แล้วกัน กินแล้วเราก็อิ่ม การเจริญพรหมวิหาร ๔  ก็เช่นกัน เป็นการให้อาหารกับจิตใจ ถ้ามีพรหมวิหาร ๔ แล้ว จิตใจจะมีแต่ความสงบสุข มีแต่ความร่มเย็น ทำให้สังคมนั้นร่มเย็นเป็นสุขไปด้วย  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้