กัณฑ์ที่ ๑๙๐     ๒๙ มกราคม ๒๕๔๗

เรามีกรรมเป็นของๆตน

 

การที่ท่านทั้งหลายได้มาวัดกันในวันพระ อย่างสม่ำเสมอและอย่างต่อเนื่องนั้น ก็เป็นเพราะความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า เรามีกรรมเป็นของๆตน จักทำกรรมอันใดไว้ จักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น  ด้วยเหตุนี้นั่นเองเราจึงมาที่วัดกัน  เพราะเมื่อมาวัดก็จะได้ประกอบคุณงามความดี สร้างบุญสร้างกุศล  ผลที่ดีคือความสุขความเจริญก็จะตามมา และถ้าได้ละเว้นจากการกระทำบาปทำกรรม ด้วยการสมาทานศีล  เราก็ไม่ต้องรับผลของบาปกรรม คือความทุกข์ความเสื่อม  จึงอยากจะให้ทำความเข้าใจไว้ว่า ผลที่เกิดจากการกระทำความดีและการกระทำบาปทำความชั่วนั้น หมายถึงผลในจิตใจเป็นหลัก  ความสุขความเจริญ ก็เป็นความสุขความเจริญของจิตใจ  ความทุกข์ความเสื่อม ก็เป็นความทุกข์ความเสื่อมของจิตใจ  ไม่ได้หมายถึงความเจริญหรือเสื่อมในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย  ซึ่งเป็นเพียงผลพลอยได้  ไม่ได้เป็นผลซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำความดี หรือการกระทำความชั่วโดยตรง  ผลที่ได้รับโดยตรง ก็คือผลที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา 

คำว่าสุข ก็หมายถึงจิตที่มีความสงบ  เมื่อจิตมีความสงบก็มีความสุข  คำว่าเจริญ ก็หมายถึงจิตได้พัฒนาสถานภาพของตน ให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่  จากความเป็นมนุษย์ก็พัฒนาขึ้นสู่ความเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับต่อไป  ความทุกข์ก็หมายถึงความทุกข์ ความว้าวุ่นขุ่นมัวภายในจิตใจ ที่เกิดจากความคิด การพูด การกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้มีความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  ส่วนความเสื่อมของจิตใจก็หมายถึง สถานภาพของจิตใจที่ได้เสื่อมลงจากความเป็นมนุษย์ ไปสู่ เดรัจฉาน อสุรกาย เปรต สัตว์นรก  นี่คือความหมายของกรรม คือการกระทำ และวิบาก คือผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา  ไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมมีความสุขความเจริญ  มีความทุกข์ความเสื่อมตามมา  ไม่ได้หมายความว่า เมื่อได้ทำบุญทำความดีรักษาศีลปฏิบัติธรรมแล้ว จะประสบความสำเร็จในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะไม่ได้เป็นผลโดยตรง  แต่เป็นผลพลอยได้  คือเวลาเราทำความดี  คนเขาเห็นความดีของเรา เขาก็สนับสนุนส่งเสริมเรา  แต่ถ้าเขาไม่เห็นความดีของเรา  เราก็อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม  เช่นเดียวกับเวลาที่เราทำบาปทำความชั่ว  ถ้าไม่มีคนเห็นเรา ก็ไม่มีใครมาประณาม หรือมาจับเราเข้าคุกเข้าตะราง 

จึงต้องทำความเข้าใจไว้ เพื่อจะได้ไม่เกิดความท้อแท้ใจ เวลาที่ทำความดีแต่ไม่ได้เจริญในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ต้องเข้าใจว่านั่นไม่ได้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำความดีโดยตรง  ขอให้ดูที่ใจเป็นหลัก  เวลาทำความดี ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เช่นช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใด  สงเคราะห์ผู้หนึ่งผู้ใด  ทำบุญให้ทานกับผู้หนึ่งผู้ใด  ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่  ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือไม่หวังผลตอบแทนจากบุคคลที่เราช่วยเหลือเลย  ไม่ต้องการชื่อเสียง  ไม่ต้องการคำสรรเสริญเยินยอ  ทำไปเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี  เป็นสิ่งควรจะทำ  เมื่อทำในลักษณะนี้ จิตก็จะมีความสงบ มีความสุขปรากฏขึ้นมา  จิตได้พัฒนาสูงขึ้นไป  นี่ต่างหากคือผลที่ควรจะเล็งถึง  อย่าไปกังวลกับผู้อื่นที่กระทำความชั่ว ทำบาปทำกรรม แต่กลับได้ดิบได้ดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  แต่ภายในจิตใจของเขานั้น เมื่อทำบาปทำกรรมไปแล้ว ต้องมีความวุ่นวาย ว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่มีความสงบ  ถ้าไม่มีความสงบก็ไม่มีความสุข  เช่นเวลาไปทำอะไรผิด แล้วยังไม่มีใครรู้  แต่ตนเองก็รู้อยู่ในใจว่า ได้กระทำความผิดแล้ว ความกังวลใจ ความหวาดระแวง ย่อมเกิดกับบุคคลนั้น เพราะศีลไม่บริสุทธิ์นั่นเอง ได้ละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่งไปแล้ว  จึงทำให้มีความวิตก มีความกังวลใจ  ในขณะเดียวกันสภาพจิตก็เสื่อมลงไป จากมนุษย์ไปสู่ อสุรกาย เปรต เดรัจฉาน สัตว์นรกต่อไป 

นี่แหละคือเรื่องราวของความดีความชั่ว และผลของความดีความชั่ว คือความสุขความเจริญ ความเสื่อมความทุกข์ เป็นสิ่งที่เรากระทำกันทั้งสิ้น  ไม่ใช่เป็นสิ่งที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดมอบให้กับเรา  และก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะขอจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้  ขอกันไม่ได้ ในเรื่องของความดี เรื่องของความชั่ว  และผลของความดีและความชั่ว แต่อยู่ที่ตัวผู้กระทำ  ถึงแม้จะกราบพระพุทธเจ้าขอความดีงามต่างๆจากท่าน  ท่านก็ให้เราไม่ได้  เพราะท่านสอนให้เรายึดหลักอัตตาหิ อัตโน นาโถ นั่นเอง  ท่านสอนให้เราทำความดีละความชั่ว แล้วผลของความดีก็จะปรากฏขึ้นมา  ผลของความชั่วก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา  เพราะดีชั่วนั้นเป็นต้นเหตุของผล คือความสุขและความเจริญ  ความทุกขและความเสื่อม  จึงขอให้ทำความเข้าใจว่า อย่าไปหวังพึ่งผู้อื่นในเรื่องของความดีความชั่วและผลของความดีและความชั่ว อย่าไปคิดว่าเราสามารถทำความดีแทนกันได้   เพราะบุญทำแทนกันไม่ได้  

นี่แหละเป็นเหตุที่เราทุกคนต้องมาวัดกัน เพื่อปฏิบัติธรรม  ประกอบคุณงามความดีต่างๆ  เพราะวัดเป็นสถานที่เหมาะต่อการบำเพ็ญความดีและละความชั่วนั่นเอง  เปรียบเหมือนกับโรงพยาบาล  เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะรักษาอยู่ที่บ้าน ก็อาจจะรักษาได้บางโรค  แต่ถ้าเป็นโรคที่หนัก จะรักษาที่บ้านก็คงจะไม่ไหว ต้องไปที่โรงพยาบาลจะดีกว่า  การดูแลรักษาจิตใจด้วยความดีงาม  ด้วยการไม่กระทำความชั่วก็เหมือนกัน  จะอยู่ที่บ้านก็ทำได้ แต่อาจจะไม่ดีเท่ากับที่วัด  เพราะที่วัดจะมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำความดี คนที่มาอยู่วัดย่อมมีความเห็น มีการปฏิบัติคล้ายคลึงกัน ไม่สวนทางกัน ช่วยสนับสนุนกัน  ทำให้เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติและทำความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป  แต่ถ้าอยู่ที่บ้าน เราจะเป็นคนที่ปฏิบัติธรรมอยู่เพียงคนเดียว  คนอื่นไม่สนใจปฏิบัติ  เช่นเราถือศีล ๘  ละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว  แต่คนอื่นไม่ได้ถือศีล ๘  จึงรับประทานอาหารเย็นกัน  เวลาที่เขารับประทานอาหาร  เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกหิวขึ้นมาก็ได้  ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถรักษาศีลข้อนี้ได้ ถ้าไม่มีความแน่วแน่ต่อการรักษาศีล  แต่ถ้ามาอยู่ในวัดที่มีการปฏิบัติธรรมในระดับเดียวกัน ก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้  เพราะทุกคนก็ถือศีล ๘ ด้วยกัน  ทุกคนก็ไม่รับประทานอาหารเย็นเหมือนกัน  จึงควรเลือกสถานที่ให้เหมาะ เวลาจะปฏิบัติธรรมประกอบคุณงามความดี 

ส่วนในชีวิตประจำวันของเรา ตอนที่ไม่ได้มาวัด  เวลาไปไหนมาไหน  ทำกิจกรรมต่างๆ  เราก็ยังประกอบความดีได้  เจอขอทานเกิดความสงสาร ให้เงินเขาสักหน่อย ก็เป็นการกระทำความดีเหมือนกัน  เวลาใครมาปาดหน้าขณะที่ขับรถ ก็ไม่ควรไปโกรธเขา ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา อยู่ในโลกด้วยกัน ก็เหมือนลิ้นกับฟัน  บางครั้งก็มีการขบกันบ้าง  ให้อภัยแล้วใจจะสงบ ใจจะเย็น ไม่มีเรื่องมีราว  แต่ถ้าไม่รู้จักระงับความโกรธ  เมื่อเขาปาดหน้าเรา เราก็ขับจี้ท้ายเขาไป  แล้วก็ปาดหน้าเขา ชนเขา  กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา  ทะเลาะเบาะแว้ง  ทุบทำร้ายร่างกายกัน จนถึงแก่ความตาย ก็เป็นไปได้ ถ้าไม่ระมัดระวัง  นี่ก็คือผลที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่ควบคุมการกระทำ ให้อยู่ในกรอบของความดีงามนั่นเอง    ในชีวิตของเราในแต่ละวัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลการเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ  เพราะนี่แหละก็คือการกระทำที่เรียกว่ากรรม การกระทำทางกายก็เรียกว่ากายกรรม  ทางวาจาก็เรียกว่าวจีกรรม  ทางจิตทางใจก็เรียกว่ามโนกรรม  ทั้ง ๓ นี้เป็นกรรม ที่เมื่อกระทำไปแล้วย่อมส่งผลตามมา  

กรรมก็มีแบ่งไว้ ๓ ชนิดด้วยกันคือ  ๑. กรรมดีเรียกว่ากุศลกรรม  ๒. กรรมชั่วเรียกว่าอกุศลกรรม กรรมที่ไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่าอัพยากฤต   นี่คือกรรมที่เราทำอยู่อย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเวลาหลับ  เราจึงควรให้ความสำคัญต่อการกระทำของเรา ด้วยการพัฒนาสติ  ผู้คอยดูแลการเคลื่อนไหวและการกระทำของเรา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำทางใจที่เรียกว่ามโนกรรมเป็นสำคัญ เพราะเป็นผู้ริเริ่ม  ถ้าจิตไม่คิด ใจไม่สั่งแล้ว  วาจากับการเคลื่อนไหวทางกายย่อมไม่เกิดขึ้น  อย่างในขณะที่เรานั่งอยู่นี้  ถ้าจะลุกขึ้นใจต้องคิดเสียก่อนว่าลุกขึ้น  ถ้าจะพูดก็ต้องคิดเสียก่อนว่าจะพูดอะไร  ถ้ามีสติเราจะรู้การเคลื่อนไหวของความคิดอยู่ทุกขณะ  ถ้าเรารู้ทันความคิดของเรา  เวลาคิดไปในทางอกุศล ก็ระงับยับยั้งเสีย  เช่นเวลาคนขับรถปาดหน้าแล้วเกิดโทสะขึ้นมา ก็ต้องรู้ทันโทสะนี้ นี่ก็เป็นมโนกรรมแล้ว  ถ้าปล่อยให้ไหลออกไป  ก็จะไปสู่วาจา สู่การกระทำทางกาย  ก็จะเกิดผลเสียผลร้ายตามมา  แต่ถ้ามีสติแล้วระงับยับยั้งอกุศลที่เกิดขึ้นภายในจิตได้ ผลเสียผลร้ายก็ไม่มีตามมา  ถ้ารู้ว่าความโกรธเป็นอกุศล ก็ระงับดับเสีย  เมื่อระงับแล้วก็ไม่มีอะไรตามมา  วจีกรรมก็ไม่มีตามมา  กายกรรมก็ไม่มีตามมา  ผลเสียหายต่างๆ ก็ไม่มีตามมา 

การดูแลจิตใจจึงเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ปรารถนาความสุขความเจริญอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญสติตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย  พอตื่นขึ้นมาสิ่งแรกก็ให้ตั้งสติก่อน ว่ากำลังจะทำอะไร  เช่นเวลาตื่นขึ้นมา ก็จะต้องลุกขึ้นมา เพื่อไปห้องน้ำห้องท่า  ก่อนจะลุกขึ้นมาก็ให้รู้ก่อนว่า กำลังคิดจะลุกขึ้นมา  ในขณะที่ลุกขึ้นมาก็ให้รู้ว่า กำลังลุกขึ้นมา  เวลายืนขึ้น เดินไป ไปทำกิจกรรมอะไรต่างๆ  ก็ให้มีสติคอยตามดูอยู่เสมอ  ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วการกระทำทั้ง ๓ คือกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม  ก็จะอยู่ในขอบเขต อยู่ในการควบคุมบังคับของเรา  และถ้ารู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว ก็ยิ่งดีใหญ่  เพราะถ้ารู้แล้ว เราก็จะเลือกทำในสิ่งที่ดีนั่นเอง  แต่คนเราในฐานะที่เป็นปุถุชนนั้น  ยังไม่สามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี  ความคิดแบบไหนเป็นความคิดที่ดี  ความคิดแบบไหนเป็นความคิดที่ไม่ดี  เราจึงต้องเข้าหานักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังคำสอนของท่านแล้วนำไปพินิจพิจารณา ไปปฏิบัติ เราถึงจะค่อยๆเจริญขึ้นทางปัญญา คือจะเริ่มรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด  คำว่าถูกว่าผิดนี้หมายถึงอะไรที่เป็นคุณเป็นโทษกับจิตใจเป็นหลัก  ถึงแม้ว่าในทางโลกจะถือว่าไม่ผิด  แต่ในทางธรรมถือว่าผิด  เช่นการเล่นการพนัน  การเที่ยวเตร่ตอนกลางคืน  ทางโลกถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นปกติ  แต่ในทางธรรมนั้น พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นเหตุที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียต่อไป  อบายมุขก็แปลว่าทวารสู่อบาย  อบายก็คือภูมิจิตของสัตว์โลกที่อยู่ในทุคตินั่นเอง  ได้แก่ เดรัจฉาน อสุรกาย เปรต สัตว์นรก  นี่คือที่ไปของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย 

ถ้าเราเข้าหาพระศาสนา เข้าหาพระพุทธเจ้า  เราก็จะได้ยินเรื่องของโทษของอบายมุขทั้งหลาย  แต่ถ้าไม่เคยเข้าวัดเลย ไม่เคยสนใจที่จะศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย ก็จะไม่ได้ยิน กลับจะได้ยินว่าอบายมุขต่างๆนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายอะไร  ถ้ามองในแง่ของรายได้ กลับเป็นคุณเป็นประโยชน์เสียอีก  เพราะเมื่อเปิดสถานบริการต่างๆ ก็จะมีคนไปใช้บริการ มีเงินทองไหลเวียน มีเงินทองเข้ารัฐ  จากการเก็บภาษีอากร แล้วก็เอาเงินภาษีนี้มาพัฒนาประเทศ  แต่การพัฒนาประเทศด้วยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  เช่นถนนหนทาง น้ำประปา ไฟฟ้า ถึงแม้จะมีความจำเป็น  แต่ถ้าไม่สนใจต่อการพัฒนาจิตใจของคนแล้ว สังคมจะหาความเจริญไม่ได้  ถ้าเจริญก็จะเจริญในด้านวัตถุเท่านั้น  แต่จิตใจของคนกลับจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ  ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้  ทางด้านวัตถุก็มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปมาก   แต่ในขณะเดียวกันทางด้านจิตใจก็เสื่อมลงไปมาก  มีคนที่ขาดศีลธรรม สร้างปัญหาให้กับสังคมไม่เว้นแต่ละวัน  ถ้าเปิดหนังสือพิมพ์อ่านทุกวัน ก็จะมีข่าวคราวของการเบียดเบียนกัน สร้างความเดือดร้อนให้แก่กัน เพราะคนไม่ได้รับการส่งเสริม ให้พัฒนาจิตใจไปในทางที่ดีที่งามนั่นเอง  มัวแต่ส่งเสริมให้แสวงหาความสุขจากวัตถุ จากการบริโภคกาม  คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะกัน  เวลาไม่มีปัญญาที่จะหามาได้ด้วยความสุจริต  ก็ต้องหาด้วยการทุจริต เช่นลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี โกหกหลอกลวง  ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  

นี่คือพฤติกรรมของคนเราในปัจจุบันนี้ และจะเป็นมากขึ้นไปเรื่อยๆ  ถ้าสังคมไม่ให้ความสนใจต่อหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้  เพราะสังคมจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ก็ต่อเมื่อทุกคนมีความสำนึกในบาปบุญคุณโทษ  มีหิริ โอตตัปปะ ความอายและความกลัวบาปเท่านั้น ถ้าไม่มีความสำนึกในเรื่องบาปบุญคุณโทษ  ไม่มีหิริ โอตตัปปะอยู่ภายในใจแล้ว  สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวายมากขึ้นไปเรื่อยๆ  จนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ต่อไป  จึงขอให้เราทุกคนให้ความสนใจในเรื่องของศีลธรรมความดีงาม และการกระทำความดี  เพราะเมื่อได้กระทำความดีแล้ว จะมีผลเกิดขึ้น ๒ ระดับด้วยกัน  ในระดับแรกก็เกิดขึ้นกับตัวเราเอง  เวลาได้ทำความดี ละเว้นจากการกระทำความชั่ว จิตใจจะมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข ผู้อื่นที่อยู่กับเราก็มีความร่มเย็นเป็นสุขไปด้วย  มีใครอยากจะอยู่กับคนที่ไม่มีศีลบ้าง  มีใครอยากจะอยู่กับพวกโจรบ้าง  ไม่มีใครอยากจะอยู่หรอก  ทุกคนก็อยากจะอยู่กับคนดีทั้งนั้น  เพราะเวลาอยู่กับคนดีแล้วสบายใจ  ถ้าจ้างสาวใช้มาอยู่บ้านสักคนหนึ่ง  ถ้าเป็นคนดีเราก็สบายใจ ไปไหนมาไหนทิ้งบ้านไว้กับเขา เขาก็จะไม่ทำความเสียหายให้กับทรัพย์สมบัติของเรา  แต่ถ้าเป็นคนไม่ดี ไม่มีศีลไม่มีธรรม  เวลาเราไม่อยู่บ้าน เขาอาจจะให้ขโมยเข้ามาขนข้าวของไปหมดก็ได้  เรื่องอย่างนี้แหละที่ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า ผลของความดีนั้น มีคุณมีประโยชน์ขนาดไหน  และผลของความไม่ดีนั้น มีโทษมากมายเพียงไร 

จึงควรหันมาสนใจในการพัฒนาจิตใจกันดีกว่า  อย่าส่งเสริมความเจริญในด้านวัตถุเลย  เพราะไม่ใช่เป็นเหตุที่จะทำให้สังคมและตัวเราอยู่กันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  เรื่องของวัตถุนั้น ก็ให้มีพอเพียงก็พอแล้ว  คือให้มปัจจัย ๔ พอต่อการดำรงชีพก็พอแล้ว  มากไปกว่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้ามีมากไปกว่านั้น ก็ควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น  มีอะไรพอที่จะช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกันไป  อย่างนี้ก็จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  ถ้าต่างคนต่างคิดแต่จะสะสมวัตถุข้าวของสมบัติต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงคนรอบข้างว่าจะเดือดร้อนอย่างไร  จะทุกข์อย่างไร  จะลำบากอย่างไร  ถ้าเป็นอย่างนั้น สังคมก็จะเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เป็นสังคมที่มีการเบียดเบียนกัน  เพราะเมื่อเขาขาดแคลนมากๆ แล้วไม่สามารถหามาได้ด้วยความสุจริต  ก็ต้องหามาด้วยวิธีทุจริตนั่นเอง  ถ้าหิวข้าว ไม่มีข้าวกิน  ไม่มีงานทำ  จะให้ทำอย่างไร  ก็ต้องไปขโมย ไปปล้น ไปจี้นั่นเอง 

แต่ถ้าเราทุกคนหันมาสนใจกับการทำความดี  ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในสังคมกัน รับรองได้ว่าจะเป็นสังคมที่น่าอยู่อย่างยิ่ง  เพราะเวลาที่คนอื่นได้รับความช่วยเหลือ ย่อมมีความสำนึก ในบุญในคุณ  การจะไปทำอะไรมิดีมิร้ายต่อผู้อื่น จึงเป็นสิ่งที่ยาก  เพราะเขาอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือของผู้อื่นนั่นเอง  การจะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะทำได้  แต่ถ้าสังคมไม่เหลียวแลกัน  ไม่ช่วยเหลือกันและกัน  ต่างคนต่างสะสม หาความสุข หาทรัพย์ หาสมบัติให้กับตนเองแล้ว  รับรองได้ว่าสังคมจะต้องมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน จึงขอให้เราสนใจต่อการพัฒนาความดี  และลดละความไม่ดีความชั่วเสีย  แล้วเราจะอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข 

นี่แหละคือความเจริญที่แท้จริง  ความเจริญไม่ได้วัดกันด้วยวัตถุข้าวของต่างๆ แต่วัดกันด้วยสภาพจิตใจของคนที่อยู่ในสังคม ว่าเป็นจิตใจที่สูงหรือต่ำมากน้อยเพียงไร  ถ้าคนในสังคมมีศีล ๕ โลกนี้ก็เป็นเหมือนสวรรค์แล้ว  จะไปไหนมาไหนก็ไม่มีความกังวลกับภัยต่างๆ  จะทิ้งบ้านไปโดยไม่ใส่กุญแจก็สามารถทำได้  เพราะไม่มีใครจะมาหยิบสมบัติข้าวของเงินทองของกันและกัน  เพราะต่างคนต่างมีศีลนั่นเอง  ไม่เอาทรัพย์ของผู้อื่นมาโดยที่เขาไม่ให้  เพียงแต่มีศีล ๕ ในสังคมเท่านั้น  สังคมเราก็อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ได้นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แต่อย่างน้อยในตัวเราเองเป็นสิ่งที่ทำได้  ถ้ามีศีลเราก็จะมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข  ถึงแม้จะไม่มีสมบัติข้าวของเงินทองมากมายก็ไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญอะไร  เพราะสมบัติข้าวของเงินทองซื้อความสงบของจิตใจไม่ได้  แต่ศีลเป็นตัวที่ซื้อความสงบได้  ดังในอานิสงส์ของศีลที่แสดงไว้ว่า  สีเลน นิพพุติง ยันติ ศีลเป็นเหตุระงับดับความทุกข์ความกังวลใจทั้งหลาย 

จึงขอให้เราให้ความสำคัญต่อการกระทำความดี  ละการกระทำความชั่วยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆใดในโลกนี้  เพราะสิ่งต่างๆในโลกนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เราสมมุติขึ้นมาทั้งสิ้น  ของต่างๆนั้น เขามีอยู่มาแต่ดั้งเดิม  ไม่มีคุณค่าราคาอะไร  แต่มนุษย์เราไปสมมุติว่ามีราคาขึ้นมา  แล้วก็มาแย่งกัน เช่น เพชรที่ขุดขึ้นมาจากดิน ก็เป็นก้อนหินก้อนหนึ่ง  ถ้าเอาเพชรกับกล้วยไปให้ลิงเลือกดู  ลิงจะเลือกอะไร  รับรองได้ว่าจะไม่เอาเพชรแน่นอน  เพราะเพชรไม่มีประโยชน์อะไรกับลิง  แต่กล้วยมีประโยชน์กว่า  ฉันใดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็เป็นเช่นนั้น ไม่มีคุณค่าอะไร  ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว ก็จะไม่หลงกับเรื่องวัตถุต่างๆ  แต่สิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งก็คือจิตใจของเราและความดีงาม  เพราะถ้ามีความดีงามอยู่ในจิตใจแล้ว  จะมีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญ  ดังจิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย  ท่านได้พัฒนาความดีจนถึงจุดสูงสุดด้วยการใหทาน  ท่านมีสมบัติอะไรท่านก็สละหมดออกบวช  แล้วท่านก็มารักษาศีล แล้วก็มาบำเพ็ญภาวนา  ทำจิตใจให้สงบ เจริญปัญญา  ให้เห็นถึงความจริงว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน  เมื่อเห็นแล้วก็สามารถตัดทุกสิ่งทุกอย่างได้  เมื่อตัดทุกสิ่งทุกอย่างได้แล้ว  ก็ไม่มีอะไรที่จะมาสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจของท่านอีกต่อไป  จิตของท่านจึงเป็นบรมสุข   นิพพานัง ปรมังสุขัง คือความสุขที่สูงสุดของจิตใจ ที่เกิดจากการกระทำความดีขั้นต่างๆจนถึงขั้นสูงสุด 

เราผู้เป็นพุทธศาสนิกชน เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จึงไม่ควรมองข้ามหลักนี้ไป  ควรดูพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง เป็นสรณะ  ท่านปฏิบัติอย่างไร  เราก็ควรปฏิบัติตาม  เพราะหนทางที่ท่านได้ไปถึงนั้น เป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะพาไปสู่จุดที่ดีที่สุดของชีวิต   จึงขอให้น้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าสู่ใจอยู่เสมอ  เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้กระทำแต่ความดี  ให้ละเว้นจากการกระทำความชั่ว  แล้วผลอันดีงามที่เราทุกคนปรารถนา คือความสุขและความเจริญ ก็จะเป็นสิ่งที่ตามมาต่อไป  จึงขอฝากเรื่องของหลักกรรมที่ทรงสอนไว้ว่า เรามีกรรมเป็นของๆตน  จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติต่อไป   การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้