กัณฑ์ที่ ๑๙๑       ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

เนกขัมมบารมี

 

วันนี้ญาติโยมได้มาร่วมกันบำเพ็ญบุญบารมี  เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตจิตใจ  ให้ดำเนินไปอย่างสะดวกราบรื่น ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตไปอย่างง่ายดาย  ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ  ไม่ต้องมีความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  เพราะบุญบารมีก็เปรียบเหมือนกับน้ำมันรถยนต์  จะเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย  ก็ต้องมีน้ำมันอยู่ในถัง ถ้าขาดน้ำมันแล้ว รถยนต์ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปไหนได้  ชีวิตของเราก็เป็นอย่างนั้น  ถ้าไม่มีบุญบารมี  เราก็จะต้องลำบากยากเย็นเข็ญใจ เหมือนกับคนที่ไม่มีรถยนต์  ไปไหนมาไหนก็ต้องเดินไป ฉันใดคนที่ไม่มีบุญบารมี  ก็เหมือนกับคนที่ไม่มีรถยนต์เป็นพาหนะ ไว้พาไปไหนมาไหน  อย่างสะดวกรวดเร็วและสุขสบาย จึงต้องลำบากลำบน ต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ด้วยความลำบากยากเย็น  พุทธศาสนิกชนจึงไม่ควรมองข้ามบุญบารมี  ที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้บำเพ็ญ  เพราะบุญบารมีนี้แหละเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของเรา

โดยปกติในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน  เราก็บำเพ็ญบุญบารมีกันทุกๆวันอยู่แล้ว  ถ้าใส่บาตรทุกวัน เราก็ได้บำเพ็ญทานบารมี  ถ้ารักษาศีล ๕ เป็นปกติ  เราก็ได้บำเพ็ญศีลบารมี   ส่วนในวันพระซึ่งเป็นวันพิเศษ  เราก็มาวัดกันเพื่อบำเพ็ญบุญบารมีเพิ่มขึ้นอีก คือนอกจากจะถือศีล ๕ แล้ว  ยังสมาทานศีล ๘  ศีลอุโบสถ   เป็นการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี   เพื่อสร้างพลังจิตให้ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยความสุข  ที่เกิดจากการได้สัมผัสกามรสชนิดต่างๆ การบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเป็นการละเว้น  จากการแสวงหาความสุขในกามคุณทั้งหลาย ที่มากับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดต่างๆ  ถ้าเคยถือศีล ๕  ในศีลข้อ ๓  ก็จะเปลี่ยนเป็นอพรหมจริยา  เป็นการบำเพ็ญพรหมจรรย์  ไม่มีกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ  ไม่หาความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์

ส่วนศีลข้อที่ ๖  คือการละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ก็หมายถึงการรับประทานอาหาร  เพียงเพื่อดูแลรักษาอัตภาพร่างกาย ให้อยู่ไปได้โดยไม่เดือดร้อน แต่จะไม่หาความสุขจากการรับประทานอาหาร  รับประทานถึงตอนเที่ยงวันก็พอเพียงแล้วสำหรับวันๆหนึ่ง  บางท่านอาจจะสมาทานธุดงควัตร  รับประทานอาหารเพียงมื้อเดียวในวันหนึ่งๆ  ไม่เปิดช่องให้แสวงหาความสุขทางกามรส  ที่มากับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ไม่หาความสุขจากการรับประทานอาหาร รับประทานอาหารเพียงเพื่อเยียวยา  ดูแลรักษาร่างกาย  ให้อยู่ไปได้  ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่หิวก็พอแล้ว  การรับประทานอาหารจริงๆแล้ว รับประทานเพียงมื้อเดียวหรือ ๒ มื้อ  ก็พอเพียงแล้ว  ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว  นี่ก็คือการออกจากกามสุข ไม่แสวงหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ศีลข้อที่ ๗  ก็เป็นอีกข้อหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการละเว้นจากการหาความสุข ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  คือละเว้นจากการดูหนังฟังเพลง  ละเว้นจากการออกไปเที่ยวเตร่  หาความสุขจากการดูการฟังสิ่งต่างๆ  ละเว้นจากการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สีฉูดฉาด  แต่งหน้าแต่งตาทาปาก ใช้น้ำหอมเพื่อให้ความสุขกับจิตใจ  เหล่านี้ทางศาสนาพุทธถือว่าเป็นความสุขจอมปลอม ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอก  ถ้าขาดสิ่งนี้แล้วก็จะเกิดความทุกข์  เกิดความเศร้าหมองตามมา ให้หาความสุขที่แท้จริงที่เกิดจากการทำจิตใจให้สงบ

ส่วนศีลข้อที่ ๘  การละเว้นจากการนอนบนที่นอนใหญ่โต มีฟูกหนาๆให้หลับอย่างสุขสบาย เพราะการนอนของผู้แสวงหาความสุขที่แท้จริงนั้น จะนอนเพื่อพักผ่อนร่างกาย ไม่หาความสุขจากการหลับนอน เวลาหลังถึงพื้นหลับตาแล้วก็หลับไป ก็ใช้ได้แล้ว นอนบนพื้นธรรมดาๆ  บนเสื่อ บนพื้นไม้ธรรมดาๆ ก็พอเพียงแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีฟูกหนาๆไว้นอน เพราะถ้ามีฟูกหนาก็จะนอนยาว  นอนมากเกินความจำเป็น ตามปกติร่างกายถ้าได้พักสัก ๔ ชั่วโมง  ก็จะพอเพียงแล้ว แต่ถ้ามีฟูกหนาๆ ก็จะขอนอนต่ออีก พอตื่นขึ้นมาแล้วก็ยังไม่อยากจะลุก อยากจะนอนต่ออีก  ทำให้เกียจคร้าน เสียเวลา

ชีวิตของเรานี้มีเวลาน้อยมาก วันๆหนึ่งเวลาก็ค่อยๆหมดไปๆ ถ้ามัวแต่ใช้เวลาอยู่กับการกิน การนอน การแสวงหาความสุขในทางโลกิยะ  ก็จะไม่ช่วยทางด้านจิตใจ เพราะยังต้องเผชิญกับภัยต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้า เช่น ภัยที่เกิดจากความแก่ ภัยที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ภัยที่เกิดจากการตาย ภัยที่เกิดจากการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลาย ถ้าไม่สะสมบุญบารมี เช่นเนกขัมมบารมี คือความสงบสุขของจิตใจแล้ว เวลาที่ต้องเผชิญกับภัยต่างๆ  จิตใจจะขาดที่พึ่ง จะมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัว แต่ถ้าได้เสริมได้บำเพ็ญเนกขัมมบารมี  แสวงหาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ  ด้วยการสลัดสิ่งต่างๆที่จิตใจไปหลง ไปยึด ไปติดอยู่  ความสุขต่างๆภายนอกทั้งหลายนั้น  อย่าไปหลงยึดติดอยู่  เพราะไม่ช้าก็เร็ว สักวันหนึ่งร่างกายก็จะไม่สามารถแสวงหาความสุขเหล่านั้นได้อีก เพราะเวลาแก่ลงไป ตาก็จะมืดมัว จะดูหนังก็ดูไม่รู้เรื่อง  หูก็หนวก ฟังก็ไม่รู้เรื่อง  ถ้ายังต้องการความสุขจากรูปเสียงอยู่  ก็จะต้องมีแต่ความทุกข์อย่างแน่นอน  เพราะไม่สามารถหาความสุขแบบนั้นได้อีกต่อไป แต่ถ้าได้เคยฝึกหัดบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ก็จะไม่ทุกข์  เพราะมีที่พึ่ง

ในวันพระจึงควรถือศีล ๘ กัน ตัดความสุขทางโลกเสียบ้าง อย่าไปสนใจกับเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ดูหนังฟังเพลง ร้องรำทำเพลง เรื่องอย่างนี้อย่าไปแสวงหา  อย่าไปต้องการ   หันมาทำจิตใจให้สงบด้วยการไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ กำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่เป็นเครื่องผูกจิต จะเป็นการบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ ไปภายในใจไปเรื่อยๆก็ได้ หรือจะกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ เวลาหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้  ให้รู้ตามความจริงของลม ไม่ต้องบังคับลมให้ยาวหรือสั้น ให้หยาบหรือละเอียด ลมเป็นอย่างไรก็ให้รู้ตามความจริงของลม  ใช้ลมเป็นเครื่องผูกจิต ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ เพราะถ้าไปคิดแล้วเดี๋ยวก็จะเกิดความอยาก  อยากไปดูนั่น อยากไปฟังนี่ อยากไปรับประทานสิ่งนั้นสิ่งนี้  ก็จะทำให้ไม่สามารถตั้งอยู่ในความสงบได้  แต่ถ้าจิตอยู่กับการสวดมนต์ อยู่กับการบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ  อยู่กับการดูลมหายใจเข้าออก บังคับด้วยสติไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ  จิตก็จะค่อย สงบลง สงบลง จนรวมลงเป็นหนึ่ง ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ในขณะนั้นจิตจะไม่มีความคิดอยากกับสิ่งต่างๆเลย  เพราะมีความสุขอยู่ภายในตนเอง

นี่แหละเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนมีอยู่กับตัวเราแท้ๆ  เป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าถึงได้  ด้วยการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เราจึงไม่ควรมองข้ามการเข้าวัด  เพื่อบำเพ็ญปฏิบัติธรรม เพราะเป็นการสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับเรา  เป็นการสร้างสรณะที่แท้จริงให้กับเรา ถ้าสามารถเข้าสมาธิได้ตามที่ต้องการแล้ว  ต่อไปเวลาร่างกายของเราไม่สามารถออกไปแสวงหาความสุขภายนอกได้ ไม่มีปัญญา ขาดทุนทรัพย์  เราจะไม่เดือดร้อน เพราะเรามีความสุขที่ดีกว่า ที่เหนือกว่าอยู่ภายในใจของเราแล้ว  คือความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตนี่แหละ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้ จะเสมอเท่ากับความสุข ที่เกิดจากความสงบของจิต ต่อให้ได้ไปเที่ยวรอบโลก ต่อให้ได้แต่งงานกับคนที่เรารัก ที่เราชอบ ต่อให้ได้ตำแหน่งสูงขนาดไหน  ต่อให้มีความร่ำรวยขนาดไหนก็ตาม ความสุขเหล่านี้ก็สู้กับความสุข  ที่เกิดจากการทำจิตของเราให้สงบไม่ได้  เพราะความสุขแบบนี้  เป็นความสุขที่ถาวร  อยู่กับเราไปตลอด ไม่มีใครสามารถมาแย่งจากเราไปได้  เป็นความสุขชนิดเดียวที่ให้ความอิ่ม ความพอกับเรา  ความสุขอย่างอื่นต่อให้ได้มามากน้อยเพียงไร ก็ยังมีความรู้สึกต้องการเพิ่มขึ้นไปอีก  เป็นเศรษฐีก็อยากจะเป็นมหาเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีก็อยากจะเป็นไปนานๆ อย่างนี้เป็นต้น  มันไม่ได้ไปดับความอยากความต้องการของใจ

แต่เวลาที่ทำจิตให้สงบได้แล้ว ความอยากต่างๆจะถูกระงับดับไป  ไม่คิดอยากจะได้อะไร  เพราะความสุขอยู่ในใจมันพอเพียง มันอิ่ม เหมือนกับคนที่รับประทานอาหารอิ่มเต็มที่แล้ว  ต่อให้ใครยกอาหารวิเศษเลิศโลกขนาดไหนมาตั้งไว้ข้างหน้า  ก็ไม่มีความอยากที่จะรับประทาน นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง  ความสุขที่ไม่มีใครสามารถมาแย่งจากเราไปได้ ความสุขภายนอกคนอื่นเขาแย่งไปได้  สามีภรรยาอาจจะถูกคนอื่นเขาแย่งชิงไปก็ได้  ทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของอาจจะถูกเขาขโมยไปก็ได้  อาจจะถูกไฟไหม้ไปก็ได้ อาจจะถูกรัฐบาลยึดไปก็ได้  เพราะของเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง คือเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา เป็นทุกข์ถ้าไปหลงยึดติดกับสมบัติต่างๆ  เพราะเวลาที่จะต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้ พลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ไป ก็จะต้องเกิดความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง บางคนบางท่านถึงกับไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ บางคนก็กลายเป็นคนบ้าไปก็มี  บางคนทนอยู่ไม่ได้ถึงกับกระโดดตึกฆ่าตัวตายไปก็มี  เพราะจิตไปหลงยึดติดอยู่กับโลกิยะสมบัติทั้งหลายนั่นเอง จนไม่รู้สึกตัวว่าตนเองกำลังสร้างปัญหาให้กับตน เพราะสิ่งที่ไปยึดติดนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะมาจะไปอย่างไรเมื่อไหร่  ก็ไม่รู้  ไปห้ามก็ไม่ได้ เพราะไม่เคยสนใจกับการสร้างความสุขที่แท้จริง  ที่มีอยู่ในตัวของเรา  ด้วยการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี อย่างที่ท่านทั้งหลายมาที่วัดกันในวันพระ  มาถือศีล ๘ กัน บำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรม ละเว้นจากการเสพกามคุณทั้งหลาย

ถ้าทำไปได้เรื่อยๆแล้ว ต่อไปจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปแสวงหาความสุขภายนอกเลย อย่างพระหรือนักบวชทั้งหลายนั้น ท่านก็บำเพ็ญเนกขัมมบารมีกันอย่างต่อเนื่อง ทุกวัน ทุกเวลา จึงทำให้ท่านไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปนอกวัด ไปอยู่ในบ้านในเมืองเหมือนกับญาติโยมทั้งหลายอยู่กัน ท่านอยู่บำเพ็ญในป่าท่านก็มีความสุข ท่านไม่ต้องมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ดังที่พวกเราทั้งหลายมีกัน ท่านกลับมีความสุขมากกว่าเสียอีก เพราะเป็นความสุขที่มั่นคงนั่นเอง เวลาเรารู้สึกว่าเรามีอะไรที่มั่นคง ที่เราพึ่งได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเจ็บจะไข้หรือไม่ จะแก่ จะเป็นจะตายหรือไม่ เราก็ยังสามารถพึ่งความสุขอันนี้ได้อยู่ เพราะความสุขนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับร่างกายนั่นเอง ร่างกายจะเป็นอย่างไร หรือสมบัติต่างๆภายนอกจะเป็นอย่างไร จะไม่สามารถมากระทบ มาทำลายความสุข ที่เกิดจากการปฏิบัติเนกขัมมบารมีนี้ได้เลย

เราจึงควรให้ความสนใจกับการบำเพ็ญบารมีชนิดนี้ เพราะเป็นทรัพย์ที่แท้จริงของเรา เรียกว่าอริยทรัพย์  โลกิยทรัพย์ต่างที่เรามีอยู่  ไม่ว่าจะเป็นสมบัติข้าวของเงินทอง บุคคล บริษัท บริวารต่างๆ ล้วนไม่ใช่ทรัพย์ที่แท้จริงของเรา เป็นสมบัติผลัดกันชม สักวันหนึ่งก็ต้องจาก ต้องทิ้งสมบัติเหล่านั้นไป หรือไม่เช่นนั้นเขาก็ทิ้งเราไปก่อน แต่การพลัดพรากจากสมบัติเหล่านี้ต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเราทุกคนที่มาเกิดในโลกนี้ เราก็ไม่ได้ขนสมบัติอะไรติดตัวมาเลย เวลาตายไปก็ไม่ได้ขนสมบัติอะไรติดตัวไปด้วยเลย สมบัติที่จะขนไปได้ ก็มีโลกุตรสมบัติ หรือบุญบารมีกับบาปกรรมเท่านั้นเอง  ที่จะเป็นสิ่งที่ติดตัวเราไป  ถ้ามีบุญบารมีติดตัวไป ก็จะมีที่พึ่ง มีสรณะ มีสิ่งที่จะดูแลรักษาให้มีแต่ความสุขความเจริญ  ถ้ามีบาปกรรมตามไป ก็จะมีแต่ภัยต่างๆตามมา สร้างแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่รู้จักจบจักสิ้น

ชีวิตของเรานี้ เกิดมาก็เพื่อบำเพ็ญอริยทรัพย์ คือบุญบารมี แล้วก็ละเว้นจากการสร้างบาปสร้างกรรม นี่แหละคืองานที่แท้จริงของเรา หน้าที่ที่แท้จริงของเรา ไม่ใช่แสวงหาความสุขกับโลกิยทรัพย์ทั้งหลาย เพราะเป็นของชั่วครั้งชั่วคราว เพียงแค่ชั่วอายุขัยของเราเท่านั้น เมื่อตายไป ไปเกิดใหม่ ก็ต้องไปแสวงหาใหม่ ยังหิวยังอยากอยู่ แต่ถ้าสะสมอริยทรัพย์ไปเรื่อยๆ คือบุญบารมี  ก็จะสร้างความสงบ  สร้างความสุขให้กับจิตใจ  ทำให้ทุกภพทุกชาติที่ไปเกิด มีความหิว มีความอยากน้อยลงไปๆ ไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายหาโลกิยทรัพย์ต่างๆ เพราะรู้แล้วว่าทรัพย์ที่แท้จริงนั้นอยู่ภายในใจ  คืออริยทรัพย์นี้เท่านั้น  จึงขวนขวายสร้างแต่อริยทรัพย์ เกิดมากี่ภพกี่ชาติก็จะบำเพ็ญแต่บุญบารมี เช่น ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี รวมไปถึงปัญญาบารมี คือความรู้ที่จะทำให้หลุดพ้นจากความหลงผิด จากความยึดติดอยู่กับกองทุกข์ทั้งหลายนั่นเอง

ปัญญาบารมีเกิดขึ้นได้จากการฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างที่เราทั้งหลายมาบำเพ็ญกันในวันนี้ เรากำลังบำเพ็ญปัญญาบารมีกัน คือความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง ว่าควรจะบำเพ็ญชีวิตอย่างไร  เพื่อสร้างความสุขและความเจริญที่แท้จริงให้กับเรา เราทราบแล้วว่าต้องบำเพ็ญศีลบารมี ทานบารมี เนกขัมมบารมี เพราะเมื่อมีบารมีเหล่านี้แล้ว จิตใจของเราจะมีความเจริญรุ่งเรือง มีความสุข สามารถอยู่เหนือความทุกข์ต่างๆได้  คนที่ขาดบารมีเหล่านี้ เวลาต้องประสบกับภัยต่างๆ  เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย  จะมีแต่ความวุ่นวาย  มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่คนที่ได้บำเพ็ญบารมีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาบารมี คือการเจริญมรณานุสสติอยู่เสมอว่า  คนเราเกิดมาแล้วไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตายจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น  เมื่อรู้ว่าจะต้องตาย ก็จะบำเพ็ญบารมีกัน เช่นเนกขัมมบารมี ทำจิตใจให้สงบ เพื่อรับกับเวลาที่จะต้องจากร่างกายนี้ไป  จากทุกสิ่งทุกอย่างไป  เพราะขณะที่จิตมีความสงบนั้น จิตปล่อยวางหมด อะไรจะอยู่ อะไรจะไป  ไม่สนใจ ในขณะนั้นจิตมีความสบาย เหมือนกับเข้าไปอยู่ในห้องที่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าภายนอกจะมีระเบิด มีอะไรเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะทะลุทะลวงเข้าไปในห้องที่เราอยู่ได้  เราจะปลอดภัยจากภัยทั้งหลาย

ความสงบของจิตก็เป็นแบบนั้น ถ้าเข้าถึงความสงบได้แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา อะไรจะเกิดขึ้นกับสมบัติของเรา อะไรจะเกิดขึ้นกับคนที่เรารักก็ตาม  ความทุกข์ต่างๆจะไม่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปในจิตใจที่สงบนั้นได้เลย  เพราะจิตได้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญา เห็นแล้วว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา ไม่มีอะไรที่เราสามารถควบคุมบังคับ ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้  ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ ที่เราได้มานี้ ล้วนเป็นสมบัติของธรรมชาติทั้งสิ้น ธรรมชาติให้เรามา แล้วสักวันหนึ่งธรรมชาติก็จะต้องเอาคืนไป แต่ถ้าเรามีปัญญา เจริญมรณานุสสติอยู่เสมอว่า ชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นของธรรมชาติ  เขาให้ยืมมาใช้  ก็ใช้ให้มันเกิดคุณเกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับเรา  ด้วยการบำเพ็ญบุญบารมีนี้เอง เพราะเมื่อบำเพ็ญบุญบารมีแล้ว เราจะได้สมบัติอันแท้จริง คืออริยทรัพย์ อริยสมบัติ ที่จะดูแลรักษาจิตใจของเราให้อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป จิตใจที่มีอริยทรัพย์คุ้มครองอยู่ จะมีแต่ความสงบร่มเย็นเป็นสุข

นี่แหละคือปัญญาบารมี  ที่เราต้องเจริญอย่างสม่ำเสมอ อย่ามองข้าม อย่าไปกลัวความตาย เพราะกลัวมันก็ต้องตายอยู่ดี ไม่กลัวก็ต้องตายอยู่ดี แต่ถ้าเจริญมรณานุสสติอยู่เสมอ จะทำให้ไม่หลงไม่ลืม จะทำให้ไม่ประมาท เราจะรู้แล้วว่าชีวิตนี้มีขอบมีเขต ไม่ใช่อยู่ไปได้ตลอดเวลา จะได้เตรียมตัวเตรียมใจ ด้วยการสร้างบุญบารมีต่างๆไว้ เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น  จิตใจก็จะไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว  ไม่ระส่ำระสาย ไม่ทุกข์ ไม่กลัวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้น ถ้าเตรียมตัวเตรียมใจแล้ว จะไม่หวั่นไหว เหมือนกับรู้ว่าวันนี้จะมีพายุเข้ามา มีฝนตก ถ้าเตรียมตัวเตรียมใจไว้ พร้อมที่จะรับกับพายุนั้น เวลาเกิดพายุขึ้นมา เกิดฝนตกขึ้นมา ก็จะไม่เดือดร้อนอะไร  เพราะเตรียมพร้อมไว้แล้ว บ้านช่องก็ปิดประตูหน้าต่าง มีอาหารเตรียมไว้รับประทาน  ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปหาอะไรภายนอก เวลามีฝนฟ้า มีพายุมา ก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าไม่รู้ตัว แล้วไม่เตรียมตัวไว้ก่อน เวลาเกิดฝนฟ้า เกิดพายุขึ้นมา แล้วอยากจะออกไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็จะต้องเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา เพราะไม่สามารถทำในสิ่งที่ต้องการจะทำได้นั่นเอง

เรื่องของใจนี้เป็นเรื่องที่แปลก ถ้ารู้แล้วเตรียมรับไว้ก่อนแล้ว ใจจะไม่ทุกข์ แต่ถ้าไม่รู้แล้วไม่ได้เตรียมตัวไว้ เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา จะต้องหวั่นไหว จะต้องทุกข์ จะต้องวุ่นวาย โดยไม่จำเป็นเลย เพราะไม่ว่าเรื่องราวอะไรจะเกิดขึ้น ความจริงแล้ว จิตใจก็ไม่ได้ไม่เสียอะไรกับเรื่องราวต่างๆ แต่เมื่อใจมีความหลง ไปยึดไปติดกับเรื่องราวต่างๆ  สิ่งของต่างๆ ว่าเป็นของๆตน ว่าเป็นของๆเรา เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จะต้องทำให้สูญเสียสิ่งต่างๆเหล่านั้นไป ก็เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว เกิดความทุกข์ เกิดความระส่ำระสายขึ้นมา แต่ถ้าได้เจริญปัญญาอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มาในโลกนี้  ล้วนไม่ใช่เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา แต่เป็นของธรรมชาติ ธรรมชาติให้ยืมมาใช้ ก็ใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการบำเพ็ญบุญบารมี เมื่อถึงเวลาที่ธรรมชาติจะมาเอาคืนไป  ก็พร้อมที่จะคืนให้เขาไป จิตจะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ ไม่มีความวุ่นวายใจเลย จะตั้งอยู่ในความสงบ มีความสุข ทั้งๆที่สูญเสียทุกอย่างไป แม้กระทั่งชีวิตก็ตาม  เพราะนี่คือความจริงของชีวิต ความจริงของจิต ความจริงของร่างกาย

จิตเป็นของไม่ตาย ถ้าจิตมีที่พึ่ง มีความสงบแล้ว  จิตปล่อยวางได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี สมบัติข้าวของต่างๆก็ดี จิตจะไม่เสียอกเสียใจ ยามที่จะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้นไป เพราะจิตรู้ว่าจิตอยู่ได้ต่อไป มีความสุขได้โดยปราศจากสิ่งต่างๆในโลกนี้  นี่เป็นเรื่องของการบำเพ็ญบุญบารมีที่เราสามารถทำกันได้ เราสามารถสร้างพลัง สร้างที่พึ่งที่แท้จริงให้กับจิตของเราได้ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆที่จะตามมาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากของรักทั้งหลายทั้งปวง เราจะไม่หวั่นไหว จะไม่เศร้าโศกเสียใจ เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องเผชิญนั่นเอง เมื่อพร้อมที่จะเผชิญแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ผ่านไป หมดไปด้วยดี  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้