กัณฑ์ที่  ๑๙๒       ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

ชำระกายวาจาใจ

 

ทุกๆวันพระ ศรัทธาญาติโยมจะมาที่วัดกัน เพื่อชำระขัดเกลากายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ ไม่เกิดโทษตามมา  ถ้ากายวาจาใจไม่ได้รับการชำระอย่างสม่ำเสมอ ย่อมพาไปสู่ปัญหา ไปสู่ความยุ่งยากวุ่นวายได้ การเข้าวัดเพื่อชำระกายวาจาใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกัน เมื่อสักครู่นี้ก็ได้สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ เป็นการชำระกาย ชำระวาจา ถ้าไม่ได้ชำระแล้ว  กายวาจาจะไม่สะอาด   เมื่อการกระทำการพูดไม่สะอาด ก็จะมีปัญหา มีโทษตามมา  การจะมีความสุขได้ การกระทำต้องไม่เกิดโทษ  เพราะการกระทำที่ไม่เกิดโทษเป็นเหตุที่นำความสุขมาให้  ถึงแม้จะมีอะไรต่างๆมากมาย  เช่นมีเงินทองกองเท่าภูเขา มีตำแหน่งสูงๆ มีบริษัทบริวารที่คอยให้การสรรเสริญเยินยอ  มีความสุขที่ได้จากการเสพสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะต่างๆก็ตาม  แต่ถ้าไม่ระมัดระวังการกระทำทางกายวาจาใจเลย  ปล่อยให้ไปในทางที่ผิด ที่ไม่ควร  ผลที่จะตามมาก็คือปัญหา ความวุ่นวายต่างๆ เดี๋ยวก็จะต้องขึ้นศาล  ขึ้นโรงพัก  เข้าคุกเข้าตะราง เพราะการกระทำที่เป็นโทษนี่เอง  ทั้งๆที่มีเงินทองมากมาย มีอะไรต่ออะไรมากมาย แต่เงินทองและสิ่งต่างๆเหล่านี้ จะไม่สามารถยับยั้งปัญหาที่เกิดจากการกระทำที่เป็นโทษได้ ถ้าไม่ต้องการปัญหา ความวุ่นวาย ความทุกข์ต่างๆ ที่จะตามมาจากการกระทำ ก็ต้องคอยชำระกายวาจาใจอย่างสม่ำเสมอ    

การกระทำที่เกิดโทษนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน เรียกว่าอกุศล ๑๐  ทางกาย ๓ ทางวาจา ๔  ทางใจ ๓  รวมกันเป็น ๑๐  การกระทำที่เกิดโทษทางกายมีอยู่ ๓   คือ . การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  . การลักทรัพย์  . การประพฤติผิดประเวณี    เมื่อทำไปแล้วจะต้องมีโทษตามมา  ทางวาจามีอยู่ ๔  คือ  . พูดปดมดเท็จ  . พูดเพ้อเจ้อ  . พูดคำหยาบ  . พูดส่อเสียด     เมื่อพูดไปแล้วจะเกิดโทษตามมา  ทางใจมีอยู่ ๓ คือ . ความโลภ  . ความโกรธ  . ความหลง   เมื่อคิดไปแล้วจะเกิดโทษตามมา  เหล่านี้คือการกระทำทางกายวาจาใจ ที่เรียกว่าอกุศล ๑๐  ถ้าได้ทำไปแล้ว ไม่ว่าทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ก็จะนำไปสู่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ  ถ้าละเว้นจากการกระทำอกุศลทั้ง ๑๐ นี้ได้ ก็จะไม่มีโทษ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวุ่นวายตามมา 

การกระทำทางกายทางวาจานั้น เป็นเพียงผลที่เกิดจากการกระทำทางใจ   ซึ่งเป็นต้นเหตุให้มีการกระทำทางกายทางวาจา ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องคอยดูแล คอยชำระอยู่เสมอๆ ก็คือการกระทำทางใจ ได้แก่ความโลภ ความโกรธ ความหลง  ถ้าไม่คอยควบคุมดูแลให้อยู่ในกรอบของความดีงามแล้ว  ก็จะพาไปสู่ความหายนะ ความวิบัติต่อไป  จึงต้องดูแลการกระทำทางใจซึ่งทำงานอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จนถึงเวลาหลับไป ต้องมีสติคอยดูใจอยู่เสมอ ดูว่าขณะนี้ใจกำลังโลภอยู่หรือเปล่า กำลังโกรธอยู่หรือเปล่า  กำลังหลงอยู่หรือเปล่า  เหตุที่ทำให้ใจโลภ ใจโกรธนั้น ก็คือความหลงนั่นเอง เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกลับตาลปัตร เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เพราะความมืดบอดนั่นเอง  เวลาอยู่ในห้องมืดๆแล้ว  เห็นสัตว์บางชนิด จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสัตว์ชนิดไหน  เพียงแต่รู้ว่ามีสัตว์อยู่ในห้อง มีการเคลื่อนไหว  ไม่ทราบว่าเป็นหนู เป็นแมว หรือเป็นสุนัข เพราะความมืดปิดบังอยู่ ไม่สามารถมองเห็นได้  ความหลงก็เป็นในลักษณะนั้น  

ความหลงก็คือความมืดบอดของจิตใจ  ถ้ามีความมืดบอดอยู่ในจิตใจ ก็จะถูกหลอกให้ไปโลภ ให้ไปโกรธ แต่ถ้ามีแสงสว่างคือปัญญาหรือธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า จะรู้ว่าอะไรคือสุข อะไรคือทุกข์  อะไรคือคุณ อะไรคือโทษ  แต่ถ้าไม่มีธรรมะ ไม่มีปัญญา จะไม่รู้  เมื่อไม่รู้ ก็จะถูกความหลงหลอกให้ไปโลภ หลอกให้ไปโกรธ เมื่อมีความโลภ มีความโกรธ  การกระทำทางกาย ทางวาจา ก็จะไปในทางที่เสื่อมเสียต่อไป  เมื่อทำไปแล้วก็จะเกิดโทษตามมา  ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องทำกันก็คือ ให้แสงสว่างกับจิตใจด้วยแสงสว่างแห่งธรรม  คือการศึกษาธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ  อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งก็ควรฟังเทศน์ฟังธรรมสักครั้งหนึ่ง  เพราะเป็นเหมือนกับการจุดแสงสว่างให้กับห้องที่มีความมืด   ถ้าจุดแสงสว่างหลายๆดวงด้วยกัน  ความมืดก็จะหายไป  แต่ถ้าไม่คอยจุดอยู่เรื่อยๆ เช่นจุดเทียนไว้เล่มหนึ่ง  ทิ้งไว้สักระยะหนึ่งเทียนก็จะไหม้หมดไป  ถ้าไม่จุดเทียนเล่มใหม่ ความมืดก็จะกลับคืนเข้ามา  เพราะแสงสว่างจากเทียนได้ไหม้หมดไปแล้วนั่นเอง 

ถ้าต้องการแสงสว่างของจิตใจ  ก็ต้องหมั่นศึกษา  หมั่นร่ำเรียน ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ  เพราะถ้าฟังเทศน์เพียงครั้งเดียว แล้วก็ไม่ฟังอีกเป็นเวลาหลายเดือน  แสงสว่างที่มีอยู่ในใจ ที่จะคอยเตือนคอยบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่ว ก็จะหายไป  ทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว   แต่ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมะอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีแสงสว่างแห่งธรรม คอยนำพาชีวิตให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นดีงาม  คือการกระทำทั้งหลายจะเป็นการกระทำที่ไม่เกิดโทษ  เมื่อไม่เกิดโทษก็จะมีแต่ความสุข  จึงต้องหมั่นเข้าวัด  ถ้าเข้าวัดไม่ได้ ก็ต้องมีธรรมะอยู่ที่บ้าน  เช่นมีหนังสือไว้อ่าน มีเทปธรรมะไว้ฟัง มีการเทศนาทางวิทยุ ก็ควรเปิดฟังบ้าง  เพราะเป็นคุณเป็นประโยชน์  จะทำให้ไม่งมงาย ไม่เห็นผิดเป็นชอบ  ไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ  ถ้าไม่กระทำในสิ่งที่ผิดแล้ว  รับรองได้ว่าความเดือดร้อน ความวุ่นวายต่างๆ จะไม่ตามมาอย่างแน่นอน  จึงต้องรู้ว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริง  อะไรไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง 

แต่ในฐานะที่เป็นปุถุชนคนธรรมดาซึ่งมีความมืดบอด มีความหลงครอบงำจิตใจ  จะไม่รู้จริงๆ ว่าความสุขที่แท้จริงนั้น คืออะไร อยู่ที่ไหน  จึงต้องอาศัยคนอย่างพระบรมศาสดา คือพระพุทธเจ้า ผู้ได้ทรงพิสูจน์ความสุขชนิดต่างๆมาอย่างโชกโชน จนได้พบกับความสุขที่แท้จริง หลังจากที่ทรงศึกษาปฏิบัติธรรมถึง ๖ ปีด้วยกัน เป็นผู้ชี้ทาง  ในเบื้องต้นพระพุทธองค์ก็ทรงตกอยู่ในห้อมล้อมของความสุขทางโลกที่เรียกว่ากามสุข ในฐานะที่เป็นราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมมีความสุขทางลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข  มีความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ต้องการจะดูรูปชนิดใด  ต้องการจะฟังเสียงชนิดใด  ก็สามารถหามาได้  แต่หลังจากที่พระองค์ได้ทรงสัมผัสกับความสุขเหล่านั้นแล้ว  ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง  เพราะพระองค์มีปัญญา  ทรงเห็นว่าในท่ามกลางของความสุขที่มาจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายนั้น ก็มีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่  ความทุกข์นี้คืออะไร  ก็คือความทุกข์ที่เกิดจากความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายนั่นเอง  มีในวันนี้ แต่ก็ไม่มีใครรับรองได้ว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีอีกหรือไม่  มีในวันนี้พรุ่งนี้ก็อาจจะหมดไปได้  เพราะนี่คือธรรมชาติของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย 

ถ้าหลงยึดติดอยู่กับความสุขที่ได้จากการเสพสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว ก็จะต้องมีความกังวลใจอยู่เสมอ   เพราะรู้ว่าถ้าวันใดวันหนึ่งไม่ได้เสพสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกอกถูกใจ ก็จะต้องมีความทุกข์ มีความหงุดหงิดใจ มีความเศร้าสร้อยหงอยเหงาตามมาอย่างแน่นอน แต่แทนที่จะรับความจริงนี้ กลับพยายามวิ่งขวนขวายหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ  เช่นสมมุติว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เคยสัมผัสได้หมดสิ้นไป  ก็ไปหามาใหม่  ดูหนังเรื่องนี้แล้ว  เบื่อเรื่องนี้  ก็ไปหาซื้อเรื่องใหม่มาดู   ฟังเพลงแผ่นนี้จนเบื่อแล้ว ก็ไปหาแผ่นใหม่มาฟัง  นี่ก็เป็นลักษณะของความไม่เที่ยงแท้ของความสุขที่ได้จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง   เวลาได้เสพสัมผัสใหม่ๆ ก็จะมีความสุข มีความชื่นชอบ  แต่หลังจากได้เสพสัมผัสไปจนเกิดความจำเจขึ้นมา ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย   ทำให้ต้องไปแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชนิดใหม่ๆ มาเติมให้กับใจ  ชีวิตก็เลยต้องยึดติดอยู่กับการเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ   เมื่อเบื่อก็ต้องหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดใหม่ๆ มาเสพอีก  การแสวงหาก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย เพราะจะต้องมีปัจจัยคือเงินทอง  ถ้าขาดปัจจัยเงินทองขึ้นมา อยากจะหาอะไรใหม่ๆดู หาอะไรใหม่ๆฟัง ก็จะไม่สามารถจะทำได้  

ชีวิตจึงถูกกดดันอยู่กับการทำมาหากิน หาเงินหาทอง เพื่อจะได้เอาเงินทองมาซื้อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดต่างๆ มาบำรุงบำเรอใจอยู่เรื่อยไป กลายเป็นวงจรอุบาทว์ ที่จะทำให้ไม่มีเวลาสงบนิ่งได้เลย  จะต้องหาเงินหาทองมา  เมื่อได้มาก็ใช้ไป  เมื่อหมดไปก็หามาใหม่ แล้วก็ใช้หมดไป เพื่อความสุขจากการเสพกามรสทั้งหลาย  นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสัมผัสและทรงรับรู้ ว่าไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง  จึงทำให้พระองค์ทรงสนพระทัยที่อยากจะหาความสุขที่แท้จริง  หลังจากที่ได้ทรงพบเห็นสมณะนักบวช จึงได้คำตอบว่าความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ความสงบของจิตใจ   ถ้าจิตใจมีความสงบเมื่อไร  จิตใจก็จะได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง  เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทรงกล้าที่จะสละราชสมบัติ  สละฐานะของราชกุมาร ออกบวชเป็นสมณะนักบวช อยู่แบบขอทาน  เรื่องความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะยอมเสียสละ ยอมตัดทิ้งไป  ไม่แสวงหา  ต้องการอย่างเดียวคือความสงบสุขของจิตใจ 

แต่ความสงบสุขของจิตใจนี้ ไม่ใช่จะเนรมิตหรือบังคับจิตให้สงบได้ เพราะโดยธรรมชาติของจิตที่มีความหลงครอบงำอยู่  จะคอยแต่ผลิตความโลภ ความโกรธออกมาอยู่เรื่อยๆ  ทำให้จิตไม่สามารถอยู่นิ่งสงบได้  ต้องอาศัยแนวทางของการปฏิบัติที่เรียกว่าจิตตภาวนา เป็นอุบายวิธี ที่จะทำให้จิตที่หมุนเหมือนกับล้อรถยนต์สงบลงได้ ต้องมีวิธี มีอุบาย ที่จะทำให้จิตหยุดหมุน  ถ้ายังไม่หยุดหมุน จิตจะไม่สงบ  ถ้าไม่สงบก็จะไม่ได้สัมผัสกับความสุข ที่เลิศ ที่ประเสริฐ ที่มีอยู่ในตัวแล้ว  จึงต้องอาศัยการบำเพ็ญจิตตภาวนา นั่งสมาธิ เจริญปัญญา ซึ่งเป็นอุบายวิธีที่จะทำให้จิตเข้าสู่ความสงบได้  ในเบื้องต้นทรงสอนจิตให้สงบ ด้วยการกำหนดจิต ให้รู้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ถ้าจิตอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแล้วไม่ไปคิดเรื่องราวต่างๆ  ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะสงบลง  แต่ถ้าจิตไม่มีอะไรเกาะ  ปล่อยให้คิดไปเรื่อยๆ   จิตก็จะไม่สงบ  เหมือนกับพวกเราที่ไม่เคยฝึกหัดทำสมาธิ จะไม่รู้จักทำให้จิตหยุดนิ่งได้  เพราะจิตจะคิดเรื่องราวต่างๆ ไปเรื่อยๆ    วันๆหนึ่งจะไม่หยุดเอง  คิดเรื่องนี้แล้วก็จะไปคิดเรื่องนั้น  คิดเรื่องนั้นแล้วก็จะไปคิดเรื่องโน้น  คิดกลับไปกลับมาทั้งวัน  เมื่อคิดแล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง  วุ่นวายใจบ้าง  สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเกิดจากความคิดของจิตทั้งสิ้น 

ถ้าจิตเป็นอย่างนี้แล้ว ต่อให้มีสมบัติอะไรต่างๆภายนอกมากมายเพียงไร ก็จะไม่มีความสุขที่แท้จริง  จึงต้องหันมาทำจิตให้สงบให้ได้ โดยอาศัยอุบายแห่งสมาธิ คือพยายามควบคุมจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง  เหมือนกับการผูกเรือไว้กับเสา  ถ้าต้องการให้เรือจอดนิ่งๆ ไม่ไหลไปตามกระแสน้ำ ก็ต้องผูกเรือไว้กับเสาที่ท่าน้ำ  ถ้ามีเสาผูกไว้กับเรือแล้วถึงแม้จะมีกระแสน้ำไหลมาอย่างไร  เรือก็จะไม่ไหลไปกับกระแสน้ำ  ในจิตก็มีกระแสจิต ที่คอยพัดให้คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้  ถ้าต้องการให้จิตหยุดคิด ต้องการให้จิตนิ่งลง  ก็ต้องมีเสาไว้ผูกจิตนั่นเอง  เสาที่เอาไว้ผูกจิตนี้ เรียกว่ากรรมฐาน  ต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งไว้ผูกจิต   พระพุทธองค์ทรงสอนให้ใช้ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์   เช่น ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก  ให้ดูด้วยจิตว่าลมหายใจกำลังเข้าหรือออก  ให้รู้อยู่แค่นี้  หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า  หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก  ทีนี้จะไปกำหนดดูอยู่ตรงไหน  ท่านก็ทรงสอนให้ดูที่จุดลมสัมผัส  ที่ลมเข้าออกสัมผัสเด่นชัดที่สุด  ซึ่งก็อยู่แถวปลายจมูกบริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมา 

ถ้ากำหนดดูตรงจุดนั้นได้ ก็ให้รู้อยู่ตรงจุดนั้น เวลาลมออกมาก็จะสัมผัสกับจุดนั้น  เวลาลมเข้าไปก็จะสัมผัสกับจุดนั้น  ก็ให้อยู่กับจุดนั้นจุดเดียว  อย่าตามลมเข้าไปข้างใน  อย่าตามลมออกมาข้างนอก  เพราะถ้ามีการตามเข้าตามออกแล้ว จิตจะไม่นิ่ง เพราะจิตมีการเคลื่อนไหว มีการทำงาน  แต่ถ้าจ้องอยู่ที่จุดเดียว อยู่ตรงแถวปลายจมูกเหนือริมฝีปากขึ้นมา ที่ลมสัมผัสเข้าออก ก็ให้รู้อยู่ตรงนั้น เฝ้าดูอยู่ตรงนั้น  ถ้าสามารถควบคุมให้จิตอยู่กับการดูลมอย่างเดียว โดยไม่เถลไถลแวบออกไปคิดเรื่องราวต่างๆ   ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะสงบตัวลง  แต่ถ้าดูลมแล้ว ยังอดคิดไม่ได้ ยังคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้อยู่  ท่านก็สอนให้ใช้อีกวิธีหนึ่งก็ได้  ถ้าจิตชอบคิด ก็ให้ฝ่าความคิดด้วยการบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ   จิตก็จะไม่สามารถไปคิดเรื่องอื่นได้   การบริกรรมพุทโธๆๆนี้ ไม่ต้องออกเสียง บริกรรมไปภายในใจ เหมือนกับความคิด  คิดพุทโธๆๆไป  ถ้าคิดอยู่แต่พุทโธๆๆ  ความคิดอย่างอื่นก็จะไม่สามารถแทรกเข้ามาหรือดึงจิตให้ไปคิดได้  

เวลาทำอาจจะต้องทดลองดูว่าวิธีไหนเหมาะ  วิธีไหนถูกกับจริต แล้วก็ใช้วิธีนั้นไป  ถ้าฝึกทำไปเรื่อยๆ  ต่อไปก็จะสามารถทำให้จิตสงบตามความต้องการได้  ในเบื้องต้นอาจจะรู้สึกยากหน่อย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคย ไม่ถนัด เหมือนกับการใช้มือที่ไม่ถนัด  ถ้าถนัดมือขวาแล้วต้องมาหัดใช้มือซ้าย  ในเบื้องต้นก็จะรู้สึกว่าลำบาก ไม่ค่อยสะดวกทำผิดๆ ถูกๆ  แต่ถ้าพยายามฝึกทำไปเรื่อยๆ  ต่อไปก็จะเกิดความชำนิชำนาญขึ้นมา  ต่อไปก็จะสามารถใช้มือซ้ายได้เหมือนกับมือขวา  การฝึกทำจิตให้สงบก็เป็นเช่นนั้น  โดยปกติจะถนัดอยู่กับความคิดเรื่องราวต่างๆ   คิดไปเรื่อยๆ วันๆหนึ่งคิดได้ นั่งอยู่คนเดียวก็คิดไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น  เป็นนิสัยของจิตของพวกเรา  ทีนี้จะมาลองฝึกจิตให้หยุดคิด  ในเบื้องต้นก็จะรู้สึกว่ายาก  เพราะจะไม่ยอมหยุดตามที่ต้องการ  จะให้อยู่กับลมหายใจก็อยู่ได้เพียง ๒ - ๓ วินาที ก็จะแวบออกไปคิดอีกแล้ว  เผลอๆอาจจะไม่รู้สึกตัวเป็น ๑๐ นาทีก็ได้  กว่าจะมารู้สึกตัวอีกที ก็บอกอ้าวไม่ได้อยู่กับลมหายใจเลย  อยู่กับเรื่องนั้นอยู่กับเรื่องนี้  ก็ไม่เป็นไร  ถ้าได้สติรู้ว่าไม่ได้อยู่กับลม ก็หันกลับมากำหนดจิตให้อยู่กับลมใหม่   ก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  เวลาเผลอก็ดึงกลับมา  ทำไปเรื่อยๆ  ต่อไปก็จะเกิดความชำนิชำนาญขึ้นเอง   ต่อไปก็จะอยู่กับลมได้ตามต้องการ 

เมื่อจิตอยู่กับลมอย่างต่อเนื่องแล้ว  ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมลงสู่สมาธิ  เป็นเอกัคตารมณ์ รวมเป็นหนึ่ง  เมื่อจิตรวมเป็นหนึ่งในขณะนั้นการบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆก็ดี   หรือการกำหนดดูลมหายใจก็ดี ก็ไม่ต้องทำอีกต่อไป  เพราะในขณะนั้นจิตจะสงบนิ่ง  ไม่ต้องควบคุมบังคับอีกต่อไป  ถ้าเข้าถึงจุดนั้นได้ จะได้สัมผัสกับความสุขที่มหัศจรรย์ ที่ละเอียด เต็มไปด้วยความปีติ ความอิ่ม ความพอ  และจะอุทานออกมาตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า  ไม่มีสุขอันใดในโลกนี้จะสุขเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต นี่คือความสุขที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์ได้สัมผัสมาแล้ว  จึงได้นำมาสั่งสอนให้กับพวกเรา ให้พวกเราพยายามเข้าหาความสุขแบบนี้ ดีกว่าความสุขที่อยู่ภายนอก  เพราะเป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  แต่ความสุขที่มีอยู่ภายในนี้ เป็นความสุขที่ถาวร  เป็นความสุขที่ไม่มีใครจะมาแย่งชิงไปได้  เป็นความสุขที่เราสร้างขึ้นให้กับตัวเราเองได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  จึงควรให้ความสนใจกับการสร้างความสุขแบบนี้กัน

ในชีวิตของเราตลอดทั้งอาทิตย์หนึ่ง น่าจะมีสักวันหนึ่งที่เราควรแยกออกมา ให้เป็นวันสร้างความสุขแบบนี้กัน  หรือไม่เช่นนั้นทุกๆวันก็ควรจะมีเวลาวันละครั้งสองครั้ง  ในตอนเช้าสักครั้งหนึ่ง ในตอนเย็นสักครั้งหนึ่ง  ที่มีไว้สำหรับทำจิตใจให้สงบ  ให้มีความสุขทางด้านจิตใจ  เพราะถ้ามีความสุขแบบนี้แล้ว  ความโลภต่างๆก็จะเบาบางลง  เมื่อความโลภเบาบางลง ความโกรธก็จะเบาบางลงตามไปด้วย  เพราะความโกรธเป็นผลที่เกิดจากความโลภ  เวลาต้องการอะไรแล้วไม่ได้ดังใจ ก็จะเกิดความโกรธขึ้นมา  ถ้าต้องการมาก ความโกรธก็จะมีมาก  ถ้าไม่โลภมาก ก็จะไม่ผิดหวังมาก ก็จะไม่โกรธมาก  ถ้าไม่โลภเลย ก็จะไม่โกรธเลย  เพราะไม่ได้หวังอะไรจากใครทั้งสิ้น  ทำอะไรก็ทำไปตามหน้าที่  ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แก้ไขกันไปตามเหตุตามผล  แต่ไม่มีความรู้สึกโกรธใครขึ้นมา เพราะไม่ได้ทำด้วยความอยาก ทำด้วยความโลภ   ทำไปตามหน้าที่  มีหน้าที่จะต้องใช้ใครให้ทำอะไร ก็ใช้เขาไป  เขาทำตามได้มากน้อยเพียงไร ก็รับรู้ตามความเป็นจริง ว่าเขามีความสามารถเพียงเท่านั้น  แต่จะไม่ไปโกรธอะไรกับเขา  เพราะไม่ได้หวังอะไรจากเขานั่นเอง  ดูว่าเขาทำได้มากน้อยเพียงไร ก็เอาเท่านั้น   จะทำให้ชีวิตของเราดำเนินไปได้ด้วยความสุข  ทุกวันนี้ที่มีความทุกข์กันก็เพราะความโลภ ความอยากนั่นเอง  จึงควรชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างต่อเนื่อง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้