กัณฑ์ที่  ๑๙๓       ๒๗ กุมภาพันธ์  ๒๕๔๗

หน้าที่หลักของชีวิต

 

ท่านที่มาวัดมากันอย่างสม่ำเสมอ  ย่อมทราบดีว่าเวลาที่มาวัดจะได้ประกอบคุณงามความดี  อันเป็นเหตุให้เกิดความสุขใจ  การทำความดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของเรา เพราะถ้าปราศจากการอุปถัมภ์ค้ำจุนด้วยการกระทำความดีแล้ว  เราจะหาความสุขความเจริญไม่ได้  เพราะเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ  ก็คือความดีที่เกิดจากการกระทำทางกาย วาจา ใจ  คือทำดี พูดดี คิดดีนั่นเอง เราจึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า  หน้าที่หลักของชีวิตคือการทำความดี ไม่ใช่การสะสมลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ สุขไม่ใช่เหตุของความสุขความเจริญที่แท้จริง  เหตุที่จะทำให้สุขและเจริญอย่างแท้จริงนั้น  ก็คือการกระทำความดี  เวลาทำอะไรจึงควรคำนึงเสมอว่า การกระทำของเรานั้นเป็นการกระทำที่ดีหรือไม่ วิธีที่จะตรวจวัดการกระทำของเราว่าดีหรือไม่  ก็ใช้หลักง่ายๆว่า การกระทำอันใดก็ตาม ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี  เป็นไปเพื่อประโยชน์ไม่เกิดโทษ  กับตัวเราก็ดี กับผู้อื่นก็ดี  หรือทั้งกับผู้อื่นและตัวเราก็ดี  ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ถือว่าเป็นความดี ทำไปได้เลยไม่ต้องกังวล ตราบใดที่การกระทำนั้นเป็นประโยชน์แล้วไม่เกิดโทษ ทำไปแล้วจิตใจมีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะความดีเปรียบเหมือนกับยาที่เข้าไประงับดับโรคภัยของจิตใจ

จิตใจโดยปกตินั้น  มีเชื้อโรคที่คอยสร้างความวุ่นวาย สร้างความทุกข์ สร้างความไม่สบายใจให้อยู่ตลอดเวลา  เรียกว่าเชื้อโรคทางจิต ได้แก่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาคือความดีแล้ว จิตใจจะถูกเชื้อโรคสร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายให้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีมากมีน้อยในเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  ความมีมากมีน้อยนั้น ไม่ได้เป็นเหตุที่จะทำให้ความทุกข์ความวุ่นวายใ จ  มีมากขึ้นหรือน้อยลงไปเลย  เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ สุขไม่ได้เป็นเหตุที่จะสร้างความสุขให้กับใจ หรือเป็นเหตุที่จะดับทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจ  เพราะเหตุที่จะสร้างความสุขและดับทุกข์ภายในใจ ก็คือความดีเท่านั้น จึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า  หน้าที่หลักของชีวิตที่แท้จริง คือการสร้างความดี  เพราะเมื่อได้ทำความดีแล้ว จะมีความสุข  จิตใจจะเจริญขึ้น ถ้าหลงประเด็นไปคิดว่ามีหน้าที่ในการกอบโกยลาภ ยศ สรรเสริญ สุขแล้ว  เราจะมีแต่ความทุกข์  มีแต่ความวุ่นวายใจ  เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ สุขไม่ใช่เหตุที่ให้ความสุข  แต่เป็นเหตุที่จะให้ความทุกข์ความวุ่นวายใจกับเรา

ลองสังเกตดูคนที่มีเงินทองมากๆ  มีตำแหน่งสูงๆ  มักจะไม่ค่อยมีความสุขใจเท่าไหร่   เพราะต้องคอยดูแลรักษาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ต้องดูแลรักษาตำแหน่งต่างๆที่มีอยู่ เวลาสูญเสียไป  ก็มีความเสียใจ มีความทุกข์ใจ  คนที่ไม่มีอะไรกลับมีความสุขมากกว่า  ดูพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง  ท่านไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุขเลย  แต่ท่านมีความดี  ความดีนี้แหละที่ทำให้ท่านอยู่ได้โดยไม่ต้องมีอะไรอื่นๆ  เพราะความดีทำให้จิตใจมีความสงบ  มีความร่มเย็นเป็นสุข  มีความอิ่ม มีความพอ  ตราบใดจิตใจไม่มีความอิ่มไม่มีความพอแล้ว  ต่อให้มีอะไรมากมายเพียงไรในโลกนี้   ใจก็ยังมีความรู้สึกหิว  มีความกระหาย  มีความอยากอยู่เสมอ  จึงเห็นได้ว่าคนที่มีความร่ำรวยบางคนจะต้องมีสมบัติมากๆ  มีรถยนต์หลายๆคัน จะต้องมีบ้านหลายๆหลัง จะต้องมีภรรยาหรือสามีหลายๆคน  เพราะเมื่อมีเงินทองก็สามารถที่จะไปซื้อสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้  เมื่อมีกำลังซื้อมาก  ความอยากที่มีอยู่ภายในใจ ที่ไม่ได้รับการดูแลด้วยการทำความดี   ก็จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดความโลภ เกิดความอยาก  ต้องการสิ่งต่างๆเพิ่มมากขึ้นไปๆ  เพราะคิดว่าถ้าได้มาแล้วจะมีความสุขมากยิ่งขึ้นๆ 

แต่นี่เป็นความคิดที่ถูกความหลงครอบงำ  มองเห็นเพียงครึ่งเดียวของสิ่งที่ต้องการ  สิ่งใดที่ต้องการนั้น  เรามักจะเห็นแต่ความดี  เห็นแต่คุณเห็นแต่ประโยชน์ที่จะได้รับ แต่มักจะมองไม่เห็นอีกด้านหนึ่งที่ตามมาด้วยคือความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  อย่างเวลามีภรรยามากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป  จะรู้ปัญหาตามมาทันที  แต่ตอนที่ยังไม่มีจะไม่รู้   เพราะคิดว่ามีภรรยาอีกคนจะมีความสุขเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า  มีคนเดียวก็ได้เท่าหนึ่ง  ถ้ามี ๒ คนก็จะได้ ๒ เท่า แต่ในขณะเดียวกันปัญหาเรื่องราวต่างๆที่ตามมากับภรรยาอีกคนหนึ่ง  ก็มีตามมาด้วยเหมือนกัน  แต่เวลาที่ต้องการนั้น ความหลงจะไม่ให้โอกาสได้คิดถึงโทษหรือปัญหาที่จะตามมา  จะมารู้เข้าก็ต่อเมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว   ได้บุคคลนั้นมาแล้ว  แล้วก็เจอปัญหาที่ตามมา  แต่ถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว  ถ้าเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง มีความกล้าหาญ   ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นโทษก็ตัดเสียเท่านั้น  จึงจะทำให้ปัญหาที่ตามมาหมดไปได้   แต่ถ้าเป็นคนอ่อนแอ  จิตใจมีแต่ความโลภ ความอยาก ก็จะเกิดความรู้สึกรักพี่เสียดายน้องขึ้นมา  ไม่กล้า ไม่อยากที่จะเสียคนหนึ่งคนใดไป   อยากจะมีไว้ทั้ง ๒ คน   เมื่อมีทั้ง ๒ คน  ก็จะมีปัญหาอย่างที่เป็นอยู่นั่นแหละ  

นี่คือเรื่องของจิตใจที่ไม่ได้รับการดูแล  ด้วยการกระทำความดีนั่นเอง   เพราะถ้าได้รับการดูแลด้วยการกระทำความดี   มีการทำบุญให้ทาน รักษาศีล  ฟังเทศน์ฟังธรรม  ปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอแล้ว  ความดีเหล่านี้จะคอยกำราบ คอยกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงที่จะผลักให้จิตใจออกไปแสวงหาความวุ่นวายต่างๆ  เข้ามาสู่ใจของตนเอง   ดังนั้นการกระทำความดี  จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกๆคน ที่ปรารถนาความสุข  ความสบายใจ  เหมือนกับยาที่มีความจำเป็นต่อคนเจ็บไข้ได้ป่วย   ถ้าไม่มียารักษา  โรคภัยที่เป็นอยู่ก็จะไม่หาย  อาจจะถึงแก่ความตายก็ได้  เพราะขาดยาดูแลรักษา   คนเราก็เช่นกัน   ถึงแม้จะมีสมบัติข้าวของเงินทองมากมายเพียงไรก็ตาม  มีตำแหน่งสูงๆ เพียงไรก็ตาม  มีคนสรรเสริญมากมายเพียงไรก็ตาม  มีความสุขที่ได้รับจากการเสพสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  มากน้อยเพียงไรก็ตาม  ถ้าไม่มีความดีไว้คอยดูแลรักษาใจแล้ว  จะหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้  จะมีแต่ความสุขแบบสุขประเดี๋ยวประด๋าว  แล้วก็มีความทุกข์ตามมา สลับกันไปสลับกันมาอยู่เรื่อยๆ  ดังที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ 

พวกเราทุกคนก็มีทุกสิ่งทุกอย่างพอเพียง  พอที่จะมีความสุขแล้ว  เพราะถ้าเปรียบเทียบถึงสมบัติข้าวของต่างๆที่ญาติโยมมี  เมื่อเปรียบเทียบกับพระแล้ว  พระมีน้อยกว่ามาก   แต่ทำไมพระมีความสงบสุขมากกว่า  ก็เพราะว่าพระมีความดีคือบุญกุศล  หรือธรรมะโอสถ  ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม  เข้าไปดูแลเยียวยารักษาโรคของใจ  เข้าไปกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่คอยสร้างความทุกข์ ความวุ่นวายให้กับใจนั่นเอง  จึงทำให้พระท่านอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  ทั้งๆที่ไม่มีข้าวของเงินทองมากมายเหมือนกับญาติโยมมีกัน   นี่ก็เป็นเพราะว่าท่านจับประเด็นของชีวิตถูกนั่นเอง   ท่านไม่หลงประเด็น  ท่านรู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่แท้จริง  ที่จะทำให้คนเรามีความสุข  มีความเจริญที่แท้จริงนั่นเอง   แต่ศรัทธาญาติโยมส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ยังจับประเด็นไม่ได้  ยังหลงประเด็นอยู่   เพราะยังคิดว่าถ้ามีเงินทองมากๆ  มีบริษัทบริวารมากๆ  มีอะไรมากๆแล้วจะมีความสุขนั่นเอง  นี่เป็นความเห็นผิด  เป็นความเข้าใจผิด  แต่ถ้าได้มาที่วัด  ได้ยินได้ฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า  หรือได้อ่านหนังสือธรรมะที่มีคนแจกให้ไปอ่าน  จะได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับชีวิตของเรา  ว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง  

หลังจากที่ได้ยินได้ฟังแล้ว  หรือได้อ่านแล้ว  ถ้าเกิดมีความเชื่อขึ้นมา ลองไปปฏิบัติดู ก็จะรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านมานั้น ผิดถูกอย่างไร   ถ้าไม่ปฏิบัติจะไม่รู้  เพียงแต่ฟังเฉยๆ  หรืออ่านเฉยๆ  ยังไม่เพียงพอ  เหมือนกับเวลาไปที่ร้านอาหาร แล้วเห็นรายการอาหาร ก็อ่านดูเฉยๆ  แต่ไม่สั่งอาหารมาลองรับประทานดู   ก็จะไม่รู้ว่าอาหารดีหรือไม่ดีอย่างไร   มีคุณมีโทษอย่างไร   ฉันใดสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเวลาที่มาวัดก็เป็นเช่นนั้น  อย่างวันนี้ก็พูดถึงเรื่องความดี  ว่าความดีนี้แหละเป็นเหตุที่จะทำให้มีความสุข มีความเจริญอย่างแท้จริง  ความดีที่เกิดจากการทำบุญให้ทาน  ความดีที่เกิดจากการรักษาศีล  การฟังเทศน์ฟังธรรม  การปฏิบัติธรรม   ถ้านำไปปฏิบัติดู ก็จะรู้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร  เหมือนกับการทดลองรับประทานอาหาร  ส่วนใหญ่คนที่ได้ทดลองแล้วก็จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี   เพราะถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีแล้ว  ศาสนาของพระพุทธเจ้าที่สอนให้คนทำความดี  คงจะไม่อยู่มาได้จนถึงเวลานี้  อายุของพระพุทธศาสนาก็ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว  ถ้าสิ่งที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายทรงสั่งสอน  ให้พวกเราปฏิบัติกัน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง  ทำไปแล้วไม่เกิดผลดีตามมา ไม่เกิดความสุข  เกิดความเจริญ ป่านนี้ก็คงไม่มีใครนับถือ ไม่มีใครเชื่อถือ  ไม่มีใครสนับสนุนให้ศาสนาอยู่ต่อไป  จนมีอายุยืนยาวนานจนถึงปัจจุบันนี้  

แต่เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือให้ทำความดีนั้น เป็นสิ่งที่ดีจริง ให้คุณให้ประโยชน์อย่างแท้จริง จึงทำให้มีการเผยแผ่  ปากต่อปากบอกต่อกันไป  คนที่ได้สัมผัส ได้ทดลอง ได้ปฏิบัติ ได้ลิ้มรสถึงผลที่ดีที่เกิดจากการกระทำความดีแล้ว  ก็อดที่จะนำไปเผยแผ่บอกเล่าให้กับผู้อื่นไม่ได้   เมื่อผู้อื่นได้ยินได้ฟังแล้วลองไปปฏิบัติดู  ก็จะเห็นผลเช่นเดียวกัน  ก็เลยมีการถ่ายทอด มีการบอกปากต่อปาก  มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันนี้   จึงขอให้เชื่อได้อย่าง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยว่า การกระทำความดีนี้  เป็นคุณอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของเรา  ถ้าไม่บำเพ็ญแล้ว  มัวแต่ไปหาสิ่งอย่างอื่นนอกเหนือจากความดี  เราจะไม่ได้รับความสุข  ไม่ได้รับความเจริญอย่างแท้จริง และดีไม่ดีนอกจากจะไม่ได้รับความสุขความเจริญแล้ว  ยังอาจจะได้รับความทุกข์  ได้รับโทษตามมา  ถ้าการแสวงหาสิ่งต่างๆในโลกนี้ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย  เกิดโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ผิดศีลผิดธรรม ผิดกฎหมาย ผิดกฎกติกาของบ้านเมือง  ผลที่จะตามมาก็จะมีแต่ความทุกข์  มีแต่ความวุ่นวายใจ ทั้งๆที่มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุขมากมายก็ตาม

แต่ถ้าหามาด้วยความถูกต้องดีงาม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะไม่มีโทษตามมา เพราะชีวิตของเรายังจำเป็นต้องอาศัยเงินทอง  ไว้เป็นเครื่องมือ ในการดูแลรักษาอัตภาพชีวิตร่างกายให้อยู่ไปได้  ถ้าหามาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ผิดศีลผิดธรรม หามาด้วยความถูกต้องดีงามแล้ว การหามาแบบนี้ก็ไม่มีโทษตามมา  ถ้าเกิดหามาได้มากเกินความจำเป็น ก็ให้เอาส่วนที่เกินไปทำให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ ด้วยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  สงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ที่มีความทุกข์มีความเดือดร้อน  ถ้าได้ช่วยเหลือเขาๆก็จะมีความสุข  การที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นก็จะทำให้เรามีความสุข  เพราะจิตใจได้รับการดูแลด้วยการกระทำความดีนั่นเอง   เวลาต้องการอะไร ก็ต้องระวังว่า การแสวงหาสิ่งที่ต้องการมานั้น ไปเบียดเบียน ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือไม่  ถ้าไม่เบียดเบียนไม่ไปสร้างความเดือดร้อน ก็จะไม่สร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้กับเรา แต่ถ้าเบียดเบียนผู้อื่น  ถึงแม้จะได้สิ่งที่ต้องการมา  ความสุขที่ได้มาจะถูกความทุกข์กลบไปจนหมด  เพราะความทุกข์ที่ได้มาจากการกระทำความไม่ดีไม่ชอบ ทำบาปทำกรรมนั้น มีโทษมีความรุนแรงมากกว่าความสุข ที่ได้รับจากการแสวงหาสิ่งที่ต้องการ

ดังนั้นเวลาที่ได้ของมาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง  เราจะมีความไม่สบายใจ  มีความกังวลใจ เพราะรู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันผิด  มีโทษตามมา ไม่ช้าก็เร็วก็คงจะต้องถูกจับไปลงโทษต่อไป  ทำให้ไม่มีความสุข ถ้าไม่รักษาศีลคือการแสวงหามาโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเขาก็ดี  เอาทรัพย์มาโดยที่เขาไม่ให้ก็ดี   ประพฤติผิดประเวณีกับลูก กับสามี กับภรรยาของเขาก็ดี  โกหกหลอกลวงผู้อื่นก็ดี  เหล่านี้ถ้าทำไปแล้วจะมีความไม่สบายใจตามมา  ถ้าไม่ต้องการความทุกข์ความวุ่นวายใจ  ที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ดี เวลาจะทำอะไร เวลาต้องการอะไร  ก็ต้องระมัดระวัง ต้องพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนว่า  สิ่งที่ได้มานี้ไปเบียดเบียนผู้อื่นหรือเปล่า ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือเปล่า  ถ้าไม่ผิดศีลแล้ว ทำไปก็จะไม่มีความวุ่นวายใจตามมา นี่ก็เป็นความดีอีกลักษณะหนึ่ง คือความดีที่เกิดจากการละเว้นนั่นเอง  ละเว้นจากการกระทำความชั่ว จากการกระทำบาปกรรม  จะทำให้จิตใจมีความร่มเย็นเป็นสุข  ดังที่เมื่อกี้นี้ได้แสดงไว้ในอานิสงส์ของศีล ว่า สีเลน นิพพุติง ยันติ  ศีลเป็นเหตุดับความทุกข์  เวลารักษาศีลแล้ว จะมีความสบายใจ ความทุกข์ที่เกิดจากความวิตก ความกังวลที่ไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  ก็จะไม่มี

ถ้ามีศรัทธาที่จะบำเพ็ญความดีให้มากยิ่งๆขึ้นไปกว่านี้ได้ ก็ยิ่งดีใหญ่ คือนอกจากทำบุญให้ทาน รักษาศีลแล้ว  ยังมีศรัทธาที่จะปฏิบัติธรรม  ทำจิตใจให้สงบด้วยการไหว้พระสวดมนต์  นั่งทำสมาธิ  ในยามว่าง เช่นในตอนเช้า ในตอนกลางคืนก่อนนอน  ไหว้พระสวดมนต์ ทำจิตใจให้สงบร่มเย็นเป็นสุข เพราะเวลาที่ไหว้พระสวดมนต์ ทำสมาธิ จิตจะถูกควบคุมไม่ให้ท่องเที่ยวไปกับเรื่องราวต่างๆ  เพราะเวลาที่คิดถึงเรื่องราวต่างๆจิตก็จะเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา  เกิดความไม่สบายอกไม่สบายใจขึ้นมา ถ้าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ต้องกังวลใจ  แต่เวลาสวดมนต์ไหว้พระ มนต์ที่สวดนั้นเป็นภาษาเย็น เป็นเหตุเป็นผล เป็นความจริง เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจไว้  ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ  เมื่อไม่ไปคิดเรื่องราวต่างๆที่สร้างความทุกข์ สร้างความกังวลใจให้กับเรา  ใจก็ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว เมื่อไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว ใจก็จะค่อยๆสงบตัวลง หรือจะกำหนดให้ใจอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็ได้ จะเป็นการบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกไปเรื่อยๆ โดยมีสติคอยกำกับ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ จิตก็จะค่อยสงบตัวลง  ถ้าทำไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมลงเป็นหนึ่ง ถ้ารวมลงเป็นหนึ่งจิตก็จะนิ่งสงบ  เกิดความสุขที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ใจ ที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ปรากฏขึ้นมาภายในใจ นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่ไหน  อยู่ที่จิตที่สงบนั่นแหละ ถ้าจิตสงบเมื่อไหร่  จิตนิ่งเมื่อไหร่  จิตเป็นหนึ่งเมื่อไหร่  ในขณะนั้นจะมีความสุขมาก  มีความสบาย มีความอิ่ม มีความพอ  ไม่มีความรู้สึกหิวกระหายอยากได้อะไรเลย

ถ้าได้ปฏิบัติถึงขั้นนั้นแล้ว รับรองได้ว่าจะไม่หลงประเด็นอีกต่อไป  จะรู้แล้วว่าหน้าที่ที่แท้จริงนั้น  อยู่ที่การทำจิตให้สงบนี่เอง  หลังจากนั้นแล้ว  เรื่องการแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะเบาบางลงไป ถ้ามีความจำเป็นก็หามาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่จะไม่ไปคิดว่าถ้ามีลาภ ยศ สรรเสริญมากๆแล้ว  จะมีความสุขมาก  เพราะรู้ว่านั่นไม่ใช่เป็นความจริง ความสุขจะมีมากน้อยเพียงไรนั้น  ขึ้นอยู่ที่ความสงบของจิตเท่านั้น จิตสงบมากเพียงไร  จิตก็จะมีความสุขมากเพียงนั้น  จิตจะมีความสงบ มีความสุขได้ก็ต้องอาศัยการทำความดี  ทำความดีได้มากเท่าไหร่  ความสงบก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าทำความดีน้อยความสงบก็น้อย ถ้าทำบุญให้ทานอย่างเดียว  ความสงบก็จะได้ระดับหนึ่ง  ถ้าทำบุญทำทานแล้วรักษาศีลด้วย ความสงบก็จะมีมากขึ้นไปตามลำดับ  ถ้าได้ทำบุญทำทานรักษาศีลแล้วปฏิบัติธรรมด้วย ทำจิตใจให้สงบอย่างต่อเนื่อง ความสุขก็จะมีมากยิ่งๆขึ้นไป  

ถ้าได้ปฏิบัติถึงขั้นวิปัสสนา เจริญปัญญาให้เห็นถึงสภาพที่แท้จริงของโลกว่าเป็นอย่างไร  สามารถเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด เป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว จะตัดกิเลสได้ทั้งหมด จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ แม้กระทั่งสังขารร่างกายคือชีวิตของเรานี้  ก็จะปล่อยได้ เพราะเห็นแล้วด้วยปัญญาว่าเป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน มีการเกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายไปในที่สุด ไม่มีใครหลีกพ้นไปได้  ถ้าไปยึดไปติดก็จะต้องทุกข์  เวลาที่พลัดพรากจากร่างกายอันนี้ แต่ถ้ามีปัญญาแล้วปล่อยวาง ตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ได้ จิตก็จะไม่มีความทุกข์กับความเป็นความตายอีกต่อไป ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ไม่เดือดร้อนเพราะมีปัญญาคอยดูแลจิตอยู่เสมอ ไม่ให้จิตไปเกาะไปเกี่ยว ไปยึด ไปติด แต่ก็ไม่ได้ปล่อยวางจนไม่ได้ดูแลรักษา ขณะที่ร่างกายยังมีชีวิตอยู่ก็ดูแลไปตามอัตภาพ มีอะไรให้รับประทานก็รับประทานไป มีเสื้อผ้าใส่ก็ใส่ไป มีอะไรที่ต้องทำกับร่างกายก็ทำไป  เมื่อถึงเวลาที่ต้องจากกัน ก็ปล่อยให้เขาไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้