กัณฑ์ที่
๑๙๔
สำคัญที่ใจ
การฟังธรรมให้เกิดประโยชน์
เป็นมงคลแก่ตนเองนั้น
ควรฟังด้วยความสำรวม
คือสำรวมกาย สำรวมวาจา
และสำรวมใจ กายก็นั่งอยู่เฉยๆ
วาจาก็ไม่ต้องพูดอะไร
ใจก็ให้ตั้งมั่นอยู่ด้วยสติ
คอยฟังเสียงธรรมะที่มาสัมผัสกับใจผ่านเข้ามาทางหู
การฟังให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน
เป็นการฟังในเชิงปฏิบัติ
คือฟังเพื่อความเข้าใจ
ไม่จำเป็นจะต้องคอยจดจำว่าที่เทศน์ไปนั้นเทศน์อะไรไปบ้าง
เพราะถ้ามัวแต่คอยจดคอยจำก็จะไม่เข้าใจในสิ่งที่จดจำ
แต่ถ้าฟังเพื่อความเข้าใจ
สิ่งที่เข้าใจก็จะเป็นสิ่งที่จำได้ไปในตัว
ดังนั้นหลักของการฟังธรรมให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง
จึงควรฟังเพื่อความเข้าใจ
เพราะเมื่อมีความเข้าใจแล้ว
จะมีความเห็นที่ถูกต้อง
เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง
ก็จะดำเนินชีวิตไปอย่างถูกต้อง
ไม่ผิดพลาด ไม่มีความเสียใจตามมาภายหลัง
การฟังธรรมตามกาล
หมายถึงการฟังอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง
ในวันพระหรือในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์
ควรหาโอกาสฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสักครั้งหนึ่ง
เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนเรื่องอะไร
ก็สอนแต่เรื่องของเราทั้งสิ้น
เรื่องความสุขก็ดี
ความทุกข์ก็ดีนั้น
อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่ใจเป็นหลัก ใจเป็นตัวสำคัญที่สุด
เป็นทั้งต้นเหตุและเป็นผู้รับผล
ต้นเหตุก็คือความคิดต่างๆ
ที่มีทั้งกุศลและอกุศล
คือคิดดีก็มี คิดร้ายก็มี
เมื่อคิดไปแล้วผลก็จะเกิดขึ้นในใจทันที
คือความสุขและความทุกข์
เวลาคิดดี ใจก็มีความสุข
เวลาคิดร้าย
ใจก็มีความทุกข์
จึงควรให้ความสนใจกับใจมากกว่าสิ่งอื่นใด
เวลาเห็นอะไรควรย้อนกลับมาดูที่ใจ
ว่ามีปฏิกิริยากับสิ่งที่เห็นอย่างไร
พอใจหรือไม่พอใจ ความพอใจและความไม่พอใจเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตเกิดกุศลและอกุศลขึ้นมา
สิ่งที่พอใจก็จะคิดดีกับสิ่งนั้นๆ
ใจก็มีความสุข
เวลาเห็นคนที่เรารัก
เช่นบิดามารดาของเรา ก็จะระลึกถึงพระคุณของท่าน
สำนึกในบุญคุณ
มีความปรารถนาที่จะทดแทนบุญคุณที่ท่านมีกับเรา คิดแบบนี้ใจก็จะมีความสุข
แต่ถ้ามองคนแล้วเกิดความไม่พอใจ
เพราะเขาไม่กระทำตามความต้องการของเรา
ก็จะเกิดความโกรธ
เกิดความแค้นขึ้นมา
ถ้าไม่ดูที่ใจ
จะไม่รู้ว่าความโกรธความแค้นเป็นอกุศล
เป็นโทษเป็นภัย เพราะเป็นเหมือนกับไฟที่กำลังเผาผลาญจิตใจ
แทนที่จะรีบระงับดับความโกรธความแค้นนั้น
กลับไปมีเรื่องมีราวกับคนที่สร้างความไม่พอใจ
ยิ่งไปมีเรื่องมีราว
ความโกรธความแค้นก็จะมีมากขึ้น
ความทุกข์ก็จะเพิ่มตามขึ้นไปด้วย
นี่เป็นเพราะไม่ดูใจ
มัวแต่ไปดูคนที่สร้างความทุกข์
ความไม่พอใจให้กับเรานั่นเอง
ถ้าได้เข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ฟังธรรม
จะรู้ว่าสิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งภายนอกก็คือสิ่งที่อยู่ภายใน
คือความรู้สึกภายในใจ
ว่าขณะนี้กำลังเป็นฟืนเป็นไฟ
หรือยังเย็นยังสงบอยู่
เวลามีคนมาสร้างความไม่พอใจให้กับเรา
ถ้ามีสติ แทนที่จะโกรธเขา
กลับทำใจให้สงบ
เพราะรู้ว่าความไม่พอใจที่ทำให้เกิดความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี
เป็นพิษเป็นภัยกับใจ
ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า
เขาจะทำอะไรอย่างไร
เราไปควบคุมบังคับ
ไปห้ามเขาไม่ได้
แต่สิ่งที่เราห้ามได้คือใจของเรา
ถ้าใจไม่ไปสนใจ ไม่ไปแยแส
เขาจะทำอย่างไรก็ไม่มีปัญหาอะไร
ใจของเราก็จะสงบนิ่ง
ที่เกิดปัญหาเพราะเราไปมีความหวัง
มีความต้องการจากเขานั่นเอง
เช่นต้องการให้เขาทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้
แล้วเขาไม่ตอบสนองทำตามที่เราต้องการ
เราก็เกิดความผิดหวัง
เมื่อเกิดความผิดหวังก็เกิดความไม่พอใจ
เกิดความเสียใจขึ้นมา
อย่างนี้เป็นความคิดที่ไม่ดี
เป็นความคิดที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา
ทางที่ดีอย่าไปหวังอะไรจากผู้อื่น
พยายามทำในสิ่งที่เราทำได้
หวังในสิ่งที่เราทำได้
ยึดตนเป็นที่พึ่งของตนเป็นหลัก
ต้องการอะไรก็หามาด้วยลำแข้งลำขา
หามาด้วยสติปัญญาของตน
ถ้าหามาไม่ได้ก็อย่าไปเอาเสียเลยจะดีกว่า
ไม่มีสิ่งต่างๆภายนอกก็ไม่ทำให้เราตายไปหรอก
และก็ไม่ได้มีความสุขมากไปกว่าการไม่มีอะไร แต่นี่เป็นสิ่งที่เราไม่รู้กัน
เราคิดว่าเมื่อต้องการอะไร
ต้องหามาให้ได้
เพราะคิดว่าเมื่อได้มาแล้วจะทำให้มีความสุข
แต่หารู้ไม่ว่ามันเป็นความสุขเพียงชั่วขณะหนึ่ง หลังจากนั้นแล้วก็เกิดความชินชา
ความจำเจ ก็จะไม่ต้องการสิ่งนั้นอีก
แต่ถ้าไปเห็นสิ่งใหม่ๆ
ก็เกิดความอยากขึ้นมาอีก ความสุขที่เคยได้จากสิ่งที่มีอยู่ก็หมดไป
เพราะมีสิ่งใหม่ๆออกมาท้าทายความอยากอีก
ทำให้เกิดความต้องการ
ถ้าไม่ได้ก็จะเสียใจ
ต้องออกไปแสวงหามาให้ได้
เมื่อได้มาแล้วก็จะเป็นแบบเดิมอีก
จะดีใจไปสักระยะหนึ่งแล้วก็หมดไป
แล้วก็อยากขึ้นมาใหม่อีก
นี่คือเรื่องของใจที่ถูกอำนาจของความหลง
ของความอยากผลักดันไป
ความอยากนี้
มีทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น
ควรใช้ปัญญาแยกแยะ
สิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ
ต่อการบำรุงสุขดับทุกข์ในใจของเรา
ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น
ก็ควรหามา สิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพหรือต่อการดับทุกข์ในใจของเรา
ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่เป็นปัญหาอะไร
เช่นเวลาต้องการรับประทานอาหาร
เรารู้ว่าอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็น
เพราะถ้าร่างกายไม่ได้รับประทานอาหารก็จะต้องชำรุดทรุดโทรม
เจ็บไข้ได้ป่วย
และถ้าขาดอาหารมากๆ
ก็จะถึงแก่ความตายได้
อาหารจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
แต่ต้องรู้จักประมาณ
คือร่างกายต้องการอาหารในปริมาณหนึ่ง
ถ้ามากไปกว่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
แต่กลับจะเกิดโทษ ทำให้ร่างกายมีน้ำหนักมากเกินความจำเป็น
เป็นเหตุให้มีโรคภัยต่างๆเบียดเบียน
เพราะร่างกายต้องทำงานหนักกว่าที่ควรจะทำนั่นเอง แล้วทำไมถึงต้องรับประทานอาหารมากกว่าความจำเป็น
ก็เพราะไม่ดูที่ใจ เวลาเกิดความอยากก็หลงตามความอยากนั้น ใจสั่งให้รับประทานอาหารเพิ่มขึ้นอีกก็รับประทานตาม
ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็น
เพราะไม่รู้โทษของการรับประทานอาหารมากเกินความจำเป็นนั่นเอง
แต่ถ้ามีปัญญารู้ว่าร่างกายอยู่ได้ด้วยอาหารมากน้อยเพียงไร
แล้วคอยควบคุมให้ได้อาหารตามความต้องการของร่างกาย
ไม่ให้เกินความจำเป็น
ร่างกายก็จะอยู่ได้อย่างปลอดภัย
ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
นี่คือการใช้ปัญญาในการดำรงชีวิต
ในขณะที่เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา
ให้ใช้ปัญญาแยกแยะ
ดูว่าจำเป็นต้องมีหรือไม่
จำเป็นต้องทำหรือไม่
ถ้าไม่จำเป็นต้องมี
ไม่จำเป็นต้องทำ ก็อย่าไปมี
อย่าไปทำจะดีกว่า
เพราะการแสวงหาสิ่งต่างๆนั้น
เป็นความลำบาก ต้องต่อสู้
หาเงินหาทอง ทำงานทำการ
เหนื่อยยากลำบากลำบน
สิ่งที่ได้มาก็ไม่มีคุณค่าอะไรกับจิตใจ
ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
เป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง ความสุขต่างๆที่แสวงหาจากวัตถุต่างๆ
จากการกระทำต่างๆ
ล้วนเป็นของปลอมทั้งสิ้น
เพราะหามาได้มากน้อยเพียงไร
ก็ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอสักที
ต้องหามาใหม่อยู่เรื่อยๆ
เพราะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงนั่นเอง
ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง
ก็ต้องเข้าหาพระศาสนา
เพราะมีบุคคลที่ได้พบความสุขที่แท้จริง
แล้วนำมาเผยแผ่ให้พวกเราทราบ
บุคคลนั้นก็คือพระพุทธเจ้าของเรานี่เอง
ท่านเป็นบุคคลแรกในโลกนี้
ที่ได้ค้นพบความสุขที่แท้จริง
ว่าอยู่ในใจของเรา
อยู่ในใจที่สงบ
อยู่ในใจที่ชนะความอยากต่างๆ
ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามให้อยากในเรื่องปัจจัย
๔ เช่นต้องการเสื้อผ้าใส่
เพราะเสื้อผ้าเก่าที่มีอยู่นั้นมันขาด
หรือตัวเล็กไป ใส่ไม่ได้แล้ว
จำเป็นต้องมีใหม่
ก็ต้องหามา อาหารก็ต้องหามารับประทาน
บ้านก็ต้องมีอยู่
ยาก็ต้องมีไว้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จึงต้องมีสิ่งเหล่านี้
นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้แล้ว
ถามจริงๆว่าจำเป็นไหม
เช่นโทรทัศน์ วิทยุ โรงหนัง
โรงละคร สถานบันเทิงต่างๆ
มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพหรือไม่
ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว
จะตายจากโลกนี้ไปหรือไม่
เราก็รู้ว่าไม่ ไม่มีสิ่งเหล่านี้เราก็อยู่ได้
มีก็ไม่ได้ทำให้มีความสุข
ความอิ่ม ความพอ ต่อให้มีมากเพียงไร
ก็ไม่สามารถดับความอยากความต้องการได้
เพราะความอยากความต้องการนั้น
ไม่ได้ดับด้วยการแสวงหา
แต่ดับด้วยการต่อสู้ความอยากต่างๆ
ดับด้วยการฝึกฝนอบรมจิตใจตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงฝึกฝนอบรมมา
ต้องลดละความต้องการ
ความอยากในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
อยู่แบบสมถะ เรียบง่าย
เอาเท่าที่จำเป็นก็พอ
ฝึกฝนทำจิตใจให้สงบด้วยการควบคุมดูแลจิตใจด้วยสติ
อย่าปล่อยให้จิตคิดไปตามอำนาจความหลงความต้องการต่างๆ
คอยควบคุมจิตให้อยู่ในคำสั่งของเรา
ในเบื้องต้นให้ฝึกจิตให้อยู่กับบทสวดมนต์
วันหนึ่งๆลองฝึกนั่งสวดมนต์ดู
สวดบทไหนก็ได้
ไม่ต้องสวดบทยาวมากก็ได้
ให้สวดซ้ำๆบ่อยๆไปเรื่อยๆ
จะสวดบทอิติปิโสไปทีละ ๕๐
จบ ๑๐๐ จบก็ได้ เวลามีเวลาว่างไม่จำเป็นต้องใช้ใจคิดในเรื่องราวต่างๆ
แทนที่จะปล่อยให้คิดไปเรื่อยเปื่อย
ลองนำมาให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา
ด้วยการให้อยู่กับบทสวดมนต์
หรือจะให้อยู่กับคำบริกรรมคำใดคำหนึ่งก็ได้
เช่นพุทโธๆๆ ลองกำหนดระลึกคำว่าพุทโธๆๆอยู่ในใจไปเรื่อยๆ
ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น
ถ้าไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องอะไร
อย่าไปคิด ให้สงวนความคิดไว้
ประหยัดความคิด
คิดในสิ่งที่จำเป็น
ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปคิด
ปล่อยให้เรื่องราวต่างๆในโลกนี้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขาเถิด
ไปคิดมากก็ทำให้ฟุ้งซ่าน
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
เพราะคิดไม่เป็น
คิดไม่ถูกนั่นเอง
ถ้าควบคุมใจได้แล้ว
ต่อไปก็จะสามารถควบคุมบังคับให้คิดในเรื่องต่างๆที่ต้องการให้คิดได้
เรื่องที่ไม่ต้องการให้คิดก็สามารถระงับดับได้ ใจก็เป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง
ถ้าไม่รู้จักขับ
จะไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้
เวลาต้องการให้รถจอด
ก็จะทำไม่ได้ เวลาต้องการให้รถวิ่ง
ก็จะทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ศึกษาวิธีขับรถนั่นเอง
แต่ถ้าได้ศึกษามา
ก็จะสามารถขับไปไหนมาไหนได้ด้วยความปลอดภัย
ใจก็เป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง
ที่เราสามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้
ถ้ารู้จักขับใจ
แต่ถ้าไม่รู้จัก
ก็จะไม่สามารถควบคุมใจได้
เช่นเวลามีความโกรธ
เราก็รู้ว่าไม่ดี
เพราะเวลาโกรธ
ใครจะทุกข์ถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง
แต่ก็หยุดใจไม่ให้โกรธไม่ได้
เวลาเกิดความโลภ
ก็รู้ว่าสิ่งที่ต้องการนั้น
ไม่มีความจำเป็นเลย แต่ก็หักห้ามใจไม่ได้
เพราะไม่รู้จักวิธีหยุดใจนั่นเอง
รู้แต่วิธีเหยียบคันเร่งของใจ
เวลาต้องการอะไรก็ลุยเลย
เวลาโกรธใครก็ลุยเลย
อย่างนี้ตลอดเวลา
ไม่มีการยับยั้ง
ไม่มีการหยุด แล้วผลเป็นอย่างไร
หลังจากที่เกิดความโกรธแล้วไปลุยคนอื่นเข้า
ก็ต้องมีเรื่องมีราว
ทะเลาะเบาะแว้ง
ทำร้ายร่างกาย ขึ้นโรงขึ้นศาล
ติดคุกติดตะราง
เสียค่าปรับ
เสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ
เพราะไม่รู้จักควบคุมใจนั่นเอง
พระพุทธศาสนาจึงสอนให้ควบคุมใจเป็นสำคัญ
ในเบื้องต้นก็ให้ควบคุมการกระทำทางกายทางวาจาก่อน
เพราะการกระทำทางกาย
และการกระทำทางวาจา
ก็ออกมาจากใจ ใจเป็นผู้สั่ง
เวลาจะลุกขึ้นใจก็ต้องสั่งให้ลุกขึ้น
ถึงจะลุกขึ้นได้
เวลาจะพูดอะไร
ใจก็ต้องคิดเสียก่อน
ถึงจะพูดออกมาได้
ในเบื้องต้นจึงต้องตั้งกรอบไว้
ตั้งรั้วไว้
ไม่ให้การกระทำทางกาย
ทางวาจา เกิดโทษขึ้นมา
เช่นห้ามไม่ให้ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ห้ามไม่ให้ไปพูดปดมดเท็จ
ห้ามไม่ให้ไปลักทรัพย์
ห้ามไม่ให้ไปประพฤติผิดประเวณี
ห้ามไม่ให้ไปเสพสุรายาเมา
และอบายมุขต่างๆ
เพราะการกระทำเหล่านี้ล้วนจะทำให้เกิดโทษ
เกิดปัญหา
เกิดความทุกข์ย้อนกลับมาที่ใจ
เวลาไปทำผิดศีลแล้ว
จะต้องมีความเสียใจ
มีความทุกข์ตามมา
ในเบื้องต้นจึงต้องตั้งกรอบไว้ว่า
ใจอยากจะทำอะไรก็ได้
อยากจะมีอะไรก็ได้
แต่ขอให้ทำ ขอให้หามา
ในกรอบของความถูกต้อง
เช่นอยากจะมีภรรยา
ก็ต้องไปหาคนที่ไม่มีคู่
ไม่มีสามี ต้องขออนุญาตจากบิดามารดาเสียก่อน
เรียกว่าทำให้ถูกประเพณีนั่นเอง
ไม่ให้ประพฤติผิดประเพณี
เพราะเมื่อได้มาอย่างถูกต้องตามประเพณีแล้ว
ก็จะไม่มีปัญหาไม่มีความทุกข์ตามมา
เช่นเดียวกับเงินทองข้าวของต่างๆ
ถ้าต้องการก็หามาด้วยความสุจริต
ไปทำงานทำการ
รับเงินเดือนมา
อย่าไปหามาด้วยการลักเล็กขโมยน้อย
อย่างนี้เมื่อทำไปแล้วจะทำให้ใจมีความหวาดกลัว
ที่จะต้องถูกจับไปลงโทษ
ถ้าทำด้วยความสุจริต
ด้วยความถูกต้องแล้ว
ใจจะไม่ทุกข์ ไม่หวั่นไหว
เพราะจะไม่มีใครสามารถมาชี้หน้าเรา
บอกว่าเราทำผิด
จะต้องถูกทำโทษ
อย่างนี้เขาไม่สามารถทำกับเราได้
เพราะเราไม่ได้ทำสิ่งที่ผิดนั่นเอง
เมื่อควบคุมการกระทำทางกายทางวาจาได้แล้ว
ในลำดับต่อไปก็ให้มาควบคุมความคิดของเรา
เคยคิดหรือไม่ว่ามีเรื่องบางเรื่องเราไม่อยากจะคิดเลย
เพราะคิดไปทีไรก็มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ
แต่ก็อดคิดไม่ได้ เพราะหาเบรกไม่เจอ
ไม่รู้จักวิธีหยุดความคิดของใจเรานั่นเอง
แต่ถ้าได้ฝึกทำสมาธิ
กำหนดใจให้อยู่กับบทสวดมนต์ก็ดี
บทบริกรรมพุทโธๆ ๆก็ดี
ถ้าทำได้แล้ว
ต่อไปสมมุติว่าใจไปคิดถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง
แล้วทำให้เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา
ก็หยุดได้ด้วยการหันมาระลึกถึงพุทโธๆๆไปในใจ
เปรียบเหมือนกับเวลาที่ดูโทรทัศน์
ถ้าไม่ชอบดูช่องนี้
ถ้ารู้จักวิธีเปลี่ยนช่อง
ก็กดรีโมตเปลี่ยนไปช่องอื่นได้
แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีเปลี่ยนช่อง
ก็ต้องทนดูกับรายการที่ไม่ต้องการจะดู
เพราะไม่รู้จักวิธีเปลี่ยนช่องด้วยรีโมตนั่นเอง
ใจของเราก็เป็นเหมือนกับโทรทัศน์
ที่มีรายการต่างๆปรากฏอยู่ตลอดเวลา
มีทั้งรายการเศร้าโศกเสียใจ
รายการดีอกดีใจ รายการโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท
ซึ่งเกิดจากความคิดของเราทั้งสิ้น
แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีเปลี่ยนช่องของใจ
เช่นเวลาคิดเรื่องอะไรแล้วเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว
เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นมา
ก็จะไม่รู้จักวิธีเปลี่ยนช่อง
แต่ถ้าเคยฝึกหัดทำสมาธิ
คือฝึกบริกรรมพุทโธๆๆอยู่เรื่อยๆ
หรือฝึกไหว้พระสวดมนต์อยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว
วันไหนมีความไม่สบายใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ก็สวดมนต์ไปเรื่อยๆ
สวดไปแล้วอย่าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ
นี่เป็นการเปลี่ยนช่อง
เปลี่ยนรายการ รายการที่สร้างความวุ่นวายใจ
สร้างความเศร้าหมอง
สร้างความเสียใจ ก็อย่าไปดู
อย่าไปคิดถึง หันมาสวดมนต์ไปเรื่อยๆ
สวดอิติปิโสไปสัก ๕๐ จบ
เดี๋ยวก็ลืมแล้วเรื่องต่างๆ
เรื่องที่คิดส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วทั้งนั้น
ไปแก้ไขอะไรไม่ได้
เช่นใครพูดไม่ดี มาดุ
มาด่า มาว่า ก็เกิดความโกรธแค้นเกลียดชังขึ้นมา
แต่มันก็เกิดขึ้นไปแล้ว
ไปห้ามก็ไม่ได้
แต่ก็นั่งคิดเรื่องนั้นอยู่ทั้งวันทั้งคืน เพราะไม่รู้จักวิธีระงับดับความคิดนั่นเอง
แต่ถ้าได้เคยฝึกทำสมาธิอยู่ตลอดเวลาแล้ว
ต่อไปเวลามีเรื่องอะไรมาสร้างความไม่สบายอกไม่สบายใจ
ก็สามารถลืมได้ด้วยการสวดมนต์ที่เคยสวด
หรือบริกรรมพุทโธๆๆ
อย่างที่เคยบริกรรม
เรื่องราวต่างๆที่สร้างความไม่สบายอกไม่สบายใจ
ก็จะหายไปจากใจ
ทั้งๆที่เรื่องเหล่านั้นยังมีอยู่หรือไม่ก็ไม่สำคัญ ถ้าตราบใดไม่เอาเข้ามาในใจแล้ว
ก็ไม่มีปัญหาอะไร
เหมือนกับไฟ ไฟจะไหม้ที่ไหนก็ไม่เป็นปัญหาอะไร
ถ้าไม่เอาไฟเข้ามาไหม้ในบ้าน
บ้านก็ปลอดภัย
ใจก็เป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่เรามักชอบเอาไฟเข้ามาเผาตัวเรา เพราะเวลาไปเห็นอะไรที่ไม่ชอบ
ได้ยินอะไรที่ไม่ชอบ
แทนที่จะลืมมัน
ทั้งๆที่มันก็ผ่านไปแล้ว
กลับลืมมันไม่ได้
เพราะใจมีอุปาทาน
ความยึดมั่นถือมั่น
เหมือนกับกาวตราช้าง
เวลาไปติดกับอะไรแล้ว
ก็ติดหนึบเลย ถอนออกมาดึงออกมาไม่ออก
เพราะความเหนียวแน่นของอุปาทานนี่เอง
นี่เป็นปัญหาของชีวิตของพวกเรา
แต่โชคดีที่ได้มาเจอพระพุทธศาสนา
ที่สอนวิธีการถอดถอนอุปาทานทั้งหลายด้วยการฝึกจิต
สอนให้รู้จักควบคุมบังคับจิตใจ
เวลาจิตไปติด
ไปผูกพันกับเรื่องอะไรที่สร้างความว้าวุ่นขุ่นมัว
สร้างความทุกข์ขึ้นมา
ก็ให้เบนความสนใจออกจากเรื่องนั้นเสีย
ให้กลับมาอยู่กับงานที่เคยสอนให้จิตทำ
ถ้าชำนาญกับการไหว้พระสวดมนต์
ก็สวดไป จนจิตสงบ
เมื่อสงบแล้ว ก็จะสบาย จึงควรให้ความสำคัญกับใจยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้