กัณฑ์ที่  ๑๙๕       ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๗

อู่ซ่อมบำรุงใจ

 

การมาวัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม เป็นการทำนุบำรุงดูแลรักษาใจ  ซึ่งเปรียบเหมือนรถยนต์ที่มีประโยชน์คันหนึ่ง  สามารถพาเราไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย  แต่รถยนต์ก็ต้องมีการดูแลรักษา  เพราะถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษา  ก็จะต้องเกิดความชำรุดทรุดโทรม เกิดความเสียหาย  ทำให้ไม่สามารถนำพาเราไปตามสถานที่ต่างๆได้  เราจึงต้องนำรถยนต์เข้าสู่สถานีบริการอยู่เสมอๆ  เพื่อเติมน้ำมัน  เติมลม เติมน้ำ เปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆที่ชำรุดทรุดโทรม ซ่อมแซมส่วนต่างๆที่จะต้องซ่อม เพื่อให้รถวิ่งไปไหนมาไหนได้ตามปกติ  ใจก็เป็นเหมือนกับรถยนต์ที่ต้องคอยดูแลรักษา เพื่อจะได้นำพาชีวิตไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข  ไปสู่ความสุขความเจริญ  วัดจึงเป็นเหมือนกับสถานีบริการ เป็นเหมือนกับอู่ซ่อมบำรุงใจ ถ้านำใจเข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติดูแลอย่างถูกต้อง ใจก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข

แต่ถ้าไม่พาเข้าวัด เข้าหาพระศาสนา ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติ  ก็เท่ากับไม่ดูแลรักษาใจให้เป็นปกติ ให้อยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข ใจก็จะกลายเป็นกองเพลิงขึ้นมา สร้างความเดือดร้อน สร้างความวุ่นวาย สร้างความทุกข์ให้ไม่รู้จักจบจักสิ้น ดังที่เห็นกันอยู่ในบุคคลที่ไม่มีศาสนา ไม่เข้าวัดเข้าวา  เป็นบุคคลที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เพราะจะต้องประสบกับปัญหาต่างๆที่ไม่รู้จักแก้ ไม่รู้จักทำใจให้หลุดพ้นจากเรื่องราวต่างๆที่มารุมเร้าจิตใจ   ในที่สุดเมื่อความทุกข์มีมากจนทนไม่ได้  ก็ต้องแก้ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง  ด้วยการทำร้ายชีวิตของตนเอง  เพราะคิดว่าเมื่อมีความทุกข์มาก  อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร  คิดว่าถ้าได้ทำลายชีวิตแล้วปัญหาต่างๆที่รุมเร้าจิตใจก็จะหมดไปด้วย  แต่ความจริงการทำลายชีวิตของตนเองนั้น   ไม่สามารถทำลายความทุกข์ความรุ่มร้อนของจิตใจได้  เพราะความทุกข์ ความรุ่มร้อนใจนั้น  มันอยู่ที่ใจ  ไม่ได้อยู่ที่กาย  เวลาร่างกายตายไปแล้ว ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย  ใจยังมีความทุกข์ ความวุ่นวายติดตามไปด้วย  ส่งผลให้ไปเกิดในที่ไม่ดี  เช่นไปเกิดในนรกเป็นต้น   เพราะความรุ่มร้อนของจิตใจนั่นเอง

ถ้าปรารถนาชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  ก็ต้องให้ความสำคัญกับใจ ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาใจ เพราะใจเป็นตัวสำคัญที่สุด  ในโลกนี้ทั้งโลกไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับใจ  ดูแลอะไรก็ไม่ดีเท่ากับดูแลรักษาใจ เพราะถ้าได้ดูแลรักษาใจด้วยธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ใจจะมีความสุข มีความสงบร่มเย็น แต่ถ้าดูแลสิ่งอื่นๆแทนที่จะมีความสุข  กลับจะมีความทุกข์ เพราะสิ่งต่างๆที่ดูแลรักษานั้น  ย่อมไม่อยู่ในการควบคุมดูแลรักษาของเราไปได้ตลอด  เวลาเกิดการชำรุดทรุดโทรม เสื่อมสลายไป  ถ้าใจไม่ฉลาด ไม่มีธรรมะคอยดูแลรักษา  ก็จะต้องมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ  คนที่มีความเศร้าโศกเสียใจเวลาที่ต้องพลัดพรากจากสิ่งต่างๆไปนั้น  ก็เป็นเพราะไม่รู้จักรักษาใจนั้นเอง มัวแต่ไปรักษาสิ่งต่างๆภายนอก  เช่นวัตถุสมบัติข้าวของเงินทอง บุคคลต่างๆ ที่รักที่ปรารถนาดี  มีความใกล้ชิดสนิทสนม  ย่อมมีความห่วงใยเป็นธรรมดา เวลาบุคคลนั้นเป็นอะไรไป ก็ต้องพยายามช่วยเหลือดูแลรักษาให้หายกลับเป็นปกติ  แต่ถ้าสุดวิสัยไม่สามารถดูแลรักษาให้กลับเป็นปกติได้ ต้องถึงแก่ความตายไป คนดูแลรักษาก็จะต้องเกิดความเศร้าโศกเสียใจ เพราะมัวแต่ไปดูแลผู้อื่น ไม่ได้ดูแลใจของตน พอใจของตนต้องรับผลกระทบจากสิ่งที่ไม่ปรารถนา  ก็รับกับสภาพนั้นไม่ได้ จึงเกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา

แต่ถ้าเคยเข้าวัดอยู่อย่างสม่ำเสมอ  ได้ศึกษาได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ที่สอนให้ดูแลใจให้มากกว่าดูแลสิ่งต่างๆในโลกนี้แล้ว จะไม่เศร้าโศกเสียใจ  เพราะรู้ว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ดูแลได้ในเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น  ในที่สุดแล้วสิ่งต่างๆทั้งหลายก็จะต้องเป็นไปตามสภาพ  ไม่มีใครสามารถหักห้ามยับยั้งไม่ให้เสื่อมสลายไปได้ แต่สิ่งที่เราสามารถรักษาได้ก็คือใจ  ไม่ให้เศร้าโศกเสียใจ  เมื่อเกิดการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆไป  ถ้าคอยดูแลรักษาใจด้วยการสอน ด้วยการเตือนสติอยู่เสมอๆว่า  สิ่งต่างๆในโลกนี้ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่ได้เป็นอย่างนี้  ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา  ถ้าสอนใจอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้วพยายามทำใจให้รับกับความจริงนี้ให้ได้  เวลาเห็นอะไร  ได้อะไรมาก็ต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งที่ได้มาหรือบุคคลที่ได้มานี้  มาเพื่อที่จะจากเราไปนั่นเอง  ถ้าเขาไม่จากเราไปก่อน  เราก็ต้องจากเขาไปก่อน เพราะชีวิตของคนเรานี้ อยู่กันไม่เกินร้อยปี  ก็ต้องแตกดับสลายไป

นี่เป็นความจริงของโลกที่ทุกคนเกิดมาต้องเจอ  ต้องประสบพบเห็นด้วยกันทุกคน  แต่เนื่องจากขาดการดูแลรักษาใจ ไม่ค่อยสนใจอบรมสั่งสอนใจ  ให้รู้ถึงเรื่องราวเหล่านี้  มัวแต่ไปแสวงหาสิ่งต่างๆมาเป็นสมบัติครอบครอง แล้วก็เพลิดเพลินกับการครอบครองสมบัติเหล่านั้น จนลืมดูแลใจไป  พอวันดีคืนดีเกิดการพลัดพรากจากกัน ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา นี่ก็เป็นเพราะไม่ดูแลรักษาใจนั่นเอง  พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ให้เห็นความสำคัญของใจ  ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลก  เพราะถ้ารักษาได้ดีแล้ว ไม่มีอะไรในโลกนี้จะให้ความสุขกับเรายิ่งกว่าใจที่ได้รับการดูแลรักษาด้วยธรรมะ  แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาใจด้วยธรรมะ มัวแต่ไปดูแลสมบัติอื่นๆ แม้จะมีคุณค่ามากมายเพียงไรตามสมมุตินิยมก็ตาม  สมบัติเหล่านั้นจะไม่สามารถระงับยับยั้งความเศร้าโศกเสียใจ ความทุกข์ใจได้ เมื่อต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา สิ่งที่ไม่ชอบ นี่คือเรื่องของเรา เป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจ คือการดูแลรักษาใจ

ไม่มีที่ไหนที่จะเป็นสถานที่ ที่ดูแลใจได้ดี เท่ากับวัดวาอารามต่างๆ เพราะเมื่อได้เข้าวัดแล้ว  จะได้ฟังเทศน์ฟังธรรม  ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งกับใจ เพราะใจเป็นเหมือนผู้เดินทางในที่มืด จำต้องมีแสงสว่าง จำต้องมีแผนที่ จำต้องมีผู้นำทางไป   จึงจะไปได้ด้วยความปลอดภัย ด้วยความสุข  ด้วยความเจริญ  นี่คือเหตุที่ต้องเข้าวัด  เข้าหาพระศาสนา เข้าหาพระธรรมคำสอน  หาพระพุทธเจ้า หาพระอริยสงฆสาวก  เพราะท่านเหล่านี้มีแสงสว่าง  ได้ผ่านมาแล้วบนเส้นทางชีวิต  ที่พวกเรากำลังดำเนินอยู่  ท่านรู้ว่าเมื่อไปถึงจุดไหนควรจะทำอย่างไร  เมื่อถึงสี่แยกควรจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือตรงไป  ท่านรู้ทิศทางไหนควรไป  ไปแล้วปลอดภัย ไปแล้วถึงจุดหมายปลายทางที่ปรารถนา  คือหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง  เพราะไม่มีใครอยากมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น  ความทุกข์แม้แต่เพียงนิดเดียวก็ไม่อยากจะมีกัน  แต่ทำไมยังต้องเจอกับความทุกข์อยู่เรื่อยๆ  ก็เพราะเป็นเหมือนคนที่ไม่รู้จักทางนั่นเอง  พอมาถึงสี่แยกก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี  ก็เลยต้องเสี่ยงดู  ไปทางซ้ายบ้าง  ไปทางขวาบ้าง  ตรงไปบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกทางผิด เพราะทางที่ผิดมักจะมีสิ่งยั่วยวนกวนใจหลอกล่อให้ไปกัน  โลกนี้จึงมีแต่คนหลงผิด  เดินในทางที่ผิด ทั้งๆที่มีคนคอยเตือน คอยบอกอยู่ แต่ก็ไม่ยอมฟังกัน

เพราะนี่เป็นธรรมชาติของจิตที่มีความมืดบอด มีความหลง  มักจะเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ถึงแม้จะมีผู้รู้จริงเห็นจริงมาสั่งสอนให้รู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว ก็ยังไม่ค่อยชอบไปในทางที่ดีกัน แต่กลับชอบไปในทางที่ไม่ดีกัน เช่นศาสนาสอนอยู่เสมอว่า อบายมุขเป็นสิ่งเลวร้าย นำความเสื่อมเสียให้กับผู้เกี่ยวข้อง  แต่ก็ไม่วายที่จะมีคนชอบไปในทางนั้นกัน นอกจากนั้นแล้วยังชอบส่งเสริมชักจูงให้ผู้อื่นไปด้วย  เช่นในสังคมไทยเราทั้งๆที่เป็นเมืองพุทธแท้ๆ  ก็ยังมีคนพยายามเปิดบ่อนการพนันเสรี เปิดสถานบันเทิงให้คนเข้าไปกินเหล้าเมายา ประพฤติผิดประเวณีกันอย่างเปิดเผย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลเหล่านี้ก็เป็นคนมีเกียรติ มีชื่อมีเสียง เป็นคนที่เราเลือกเป็นตัวแทน เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาบ้านเมืองให้กับเรา  แต่กลับมาทำในสิ่งที่ไม่คาดคิดจะกล้าทำ คือออกกฎหมายให้เล่นการพนันได้อย่างถูกกฎหมาย  เพราะทำรายได้ให้กับประเทศ  มองแต่รายได้อย่างเดียว  ไม่มองผลเสียที่เกิดกับคนเล่น  ที่จะต้องหมดบ้านหมดช่อง หมดทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ที่เกิดจากการเสียพนัน จะมีจำนวนมากน้อยเพียงไร เขามองไม่เห็น  เห็นแต่ตัวเลขที่ควรจะได้ เพราะเสียดายเงินที่ไหลออกไปนอกประเทศ เพราะคนที่ชอบเล่นการพนันจะนำเงินออกไปเล่นที่ต่างประเทศ  ก็เลยคิดให้เขาเล่นในบ้านดีกว่า  

แต่ไม่คิดว่า เมื่อเล่นแล้ว เป็นธรมดาที่จะต้องมีการเสีย  ต้องหมดเนื้อหมดตัว ครอบครัวก็จะลำบากลำบน เพราะหัวหน้าครอบครัวไม่มีเงินทองดูแล  ผลเสียต่อสังคมก็จะตามมา เพราะเมื่อเสียการพนันแล้ว ก็อยากจะได้คืน ก็ต้องไปหาทรัพย์ในทางที่ไม่ชอบ ไปโกหกหลอกลวง ไปลักไปขโมย  เพื่อจะเอาเงินมาเล่นอีก จะได้เอาเงินที่เสียกลับคืนมา แต่แทนที่จะได้กลับคืนมา กลับจะต้องเสียไปอีกเรื่อยๆ เพราะนี่เป็นเรื่องของการพนัน  นี่ก็เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า คนเหล่านี้ไม่เคยเข้าหาพระศาสนา ไม่สนใจกับการดูแลรักษาใจ ที่มีความหลงคอยผลักดันความอยาก ความต้องการในความสุข  ที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง คือความสุขที่เกิดจากการได้สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ แต่หารู้ไม่ว่าความสุขแบบนี้  เป็นเหมือนกับความสุขที่ได้จากการเสพยาเสพติด จะไม่เกิดความอิ่ม จะไม่เกิดความพอ จะมีแต่ความเพลิดเพลินในขณะที่ได้เสพ แต่หลังจากที่ได้เสพไปแล้ว ก็จะต้องกลายเป็นทาสไป จำต้องมีสิ่งเหล่านั้นมาบำรุงบำเรออยู่เสมอ ถ้าเกิดขาดสิ่งเหล่านั้นไป ก็จะต้องเกิดอาการทุรนทุราย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มีความทุกข์อย่างมากมาย เพราะไปหลงติดกับสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้ลด ละ ตัด ตัณหา ความอยากในกามทั้งหลาย คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย  อย่าไปหลงติดกับความสุขแบบนี้ เพราะเปรียบเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด  เวลาเห็นเหยื่อติดอยู่ปลายเบ็ดมักจะไม่เห็นเบ็ด เพราะเหยื่อหุ้มห่อตัวเบ็ดอยู่ แต่หลังจากที่ไปฮุบเหยื่อเข้าไปในปากแล้ว ถึงจะรู้เมื่อเขากระตุกเส้นเอ็นที่ผูกอยู่กับเบ็ด  ที่จะเกี่ยวคอผู้ที่ไปฮุบเหยื่อนั้น แล้วก็จะต้องกลายเป็นทาสของเบ็ดนั้นไปในที่สุด  ฉันใดความสุขที่ได้จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ก็จะเป็นอย่างนั้น เมื่อได้สัมผัสได้เสพแล้ว ก็จะติดอก ติดใจ  เคยออกไปเที่ยว ก็อยากจะออกไปเที่ยวอีก เคยมีความสุขกับคนนั้นคนนี้  ก็อยากจะมีความสุขกับคนนั้นคนนี้อีก  แต่ไม่ช้าก็เร็ว เนื่องจากโลกนี้เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นโลกที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน คนที่เคยให้ความสุขกับเรา สักวันหนึ่งอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ แทนที่จะยินดีอยู่กับเรา ให้ความสุขกับเรา ก็แอบไปหาความสุขกับผู้อื่น พอเราทราบเข้าทีหลัง ก็ต้องเกิดความเสียใจ เกิดความโกรธแค้นขึ้นมา ความสุขที่เคยได้รับจากบุคคลนั้น ก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา กลายเป็นไฟนรกขึ้นมา เพราะความเคียดแค้นอาฆาตพยาบาท และถ้าไม่รู้จักระงับดับไฟนี้ ไม่ช้าก็เร็วอาจจะต้องทำในสิ่งที่ต้องเสียใจในภายหลัง คือจะต้องไปฆ่าเขา เมื่อฆ่าเขาเสร็จแล้ว ก็ต้องกลับมาฆ่าตนเองอีก เพราะกลัวโทษที่จะตามมา

นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่สนใจดูแลรักษาใจ ไม่สนใจเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะถ้าได้เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว จะได้ยินคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนอยู่เสมอๆว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นมีอยู่ในใจของเราแล้ว ไม่ต้องไปแสวงหาความสุขภายนอก เพียงแต่ทำใจให้สงบเท่านั้น ถ้าใจสงบแล้ว จะมีความสุข มีความอิ่ม จะไม่หิว ไม่กระหายกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ จะไม่อยากได้อยากมีอะไร จะไม่อยากจะเป็นอะไร นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา ที่ไม่มีใครสามารถพรากจากเราไปได้  แต่เรากลับไม่รู้กัน กลับไปหาความสุขภายนอกกัน แล้วก็ต้องไปคลุกเคล้ากับความทุกข์ที่ตามมา เพราะความสุขภายนอก เป็นความสุขชั่วคราว ตอนที่ได้มาใหม่เท่านั้น แต่หลังจากนั้นแล้วก็จะกลายเป็นความชินชาไป

ตอนแรกๆได้อยู่ร่วมกัน ก็มีความสุขดี พอนานๆไป  ก็จะรู้สึกเฉยๆ  ความสุขที่พบกันครั้งแรกๆก็จะค่อยหมดไป  ยิ่งเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นมา มีความเห็นไม่ตรงกันขึ้นมา ก็ยิ่งทำให้ความสุขนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว มีแต่ความไม่พอใจต่อกันและกัน แต่ถ้าหันเข้ามาหาความสุขภายในใจ ด้วยการทำจิตใจให้สงบ ด้วยวิธีต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เช่นทำบุญให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้มีปัญญา  ให้รู้ว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงไหน คือคอยเตือนตนด้วยสติปัญญาอยู่เสมอ อย่าไปหลงหาความสุขกับสิ่งต่างๆภายนอก  สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เป็นความสุข  มีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่  รอเวลาให้ปรากฏขึ้นมา เปรียบเหมือนกับระเบิดเวลา   เวลาที่ยังไม่ระเบิดมันก็ดูไม่น่ากลัว  แต่ถ้าระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่  เมื่อนั้นแหละจะสร้างความพินาศให้กับคนที่อยู่ใกล้เคียง

นี่คือปัญญา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญปัญญาอยู่เสมอ  ให้มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ทุกข์มากทุกข์น้อย ทุกข์ช้าทุกข์เร็วเท่านั้นเอง แต่จะต้องมีความทุกข์ตามมาอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่คอยเตือนสติ พอนึกอยากจะได้อะไรขึ้นมา ก็จะคิดแต่สิ่งที่ดีในสิ่งนั้นๆ มีความสุขกับสิ่งนั้นๆ เช่นเวลาอยู่คนเดียว เกิดความว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวใจ ก็ต้องคิดว่า ถ้ามีเพื่อนสักคนหนึ่ง มีสามีหรือมีภรรยาสักคนหนึ่ง ก็คงจะมีความสุข  ดับความว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวใจได้ แต่จะไม่คิดว่าเมื่อมีสามี หรือมีภรรยาแล้ว จะต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอีกคนหนึ่ง  ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วเกิดมีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องทะเลาะกัน แล้วอะไรจะเกิดขึ้น หรือถ้ารักกันแล้วมีความเห็นตรงกันเสมอ แต่เวลาที่ไม่เห็นหน้ากัน  ถ้าไม่กลับบ้านตามเวลา ก็จะต้องเกิดความวิตกขึ้นมา  เพราะความห่วงใย  นี่ก็เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมาแล้ว เป็นสิ่งที่จะติดตามมากับสิ่งต่างๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ทั้งนั้น และความทุกข์นี้ก็ไม่ได้เกิดจากอะไร  เกิดจากใจไปยึดติดกับสิ่งต่างๆเหล่านั้นนั่นเอง

ถ้ามีธรรมะ จะรู้ว่าสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อาจจะอยู่อาจจะไปเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าฝึกหัดทำจิตทำใจให้ยอมรับกับทั้งสองสภาพได้แล้ว คืออยู่ก็รับได้ ไม่อยู่ก็รับได้ เท่านั้นแหละจึงจะอยู่อย่างมีความสุขได้ในโลกนี้ แต่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำใจได้ เพราะต้องการให้สิ่งที่ตนเองรักอยู่กับตนเองไปตลอดเวลา แต่ความจริงของโลกนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ดังนั้นคนที่ฉลาดจริงแล้ว เมื่อได้พิจารณาด้วยปัญญาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่สามารถให้ความสุขได้ตลอดเวลา จะต้องทุกข์บ้างบางครั้งบางคราว ก็สู้อย่าไปมีเสียเลยจะดีกว่า  นี่คือปัญญา ถ้าใครเห็นแล้วว่า อยู่คนเดียวดีกว่าอยู่กับคนอื่น  อยู่แบบไม่มีสมบัติข้าวของเงินทอง ดีกว่ามีสมบัติข้าวของเงินทอง คนนั้นแหละเป็นคนมีปัญญา เป็นคนฉลาด เพราะเมื่อสามารถอยู่แบบเรียบง่ายไม่มีสมบัติอะไรได้   ก็ไม่ต้องกังวลห่วงใยกับสมบัติต่างๆ กับบุคคลต่างๆ มีแต่ความสบายใจ

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประพฤติปฏิบัติ และได้นำมาสั่งสอนพวกเรา พระพุทธเจ้าทรงมีสมบัติข้าวของเงินทองมากมาย มากกว่าพวกเราตั้งหลายเท่า แต่ทรงเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนในสมบัติเหล่านั้น  ทรงเห็นความทุกข์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในสมบัติเหล่านั้น จึงทรงสละสมบัติเหล่านั้น แล้วออกมาอยู่แบบเรียบๆง่ายๆ อยู่แบบตามมีตามเกิด ขอให้มีปัจจัย ๔ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปได้  ก็พอแล้ว แต่เวลาส่วนใหญ่จะทรงนำมาใช้กับการควบคุมดูแลรักษาใจให้ใจสงบ ให้ใจเย็น เพราะโดยปกติแล้วถ้ายังไม่ได้รับการดูแลรักษา ใจจะไม่สงบโดยลำพัง  เพราะภายในใจมีตัวคอยก่อกวน สร้างความวุ่นวายใจให้อยู่เสมอ เรียกว่ากิเลสตัณหาทั้งหลาย คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลาย เป็นสิ่งที่จะต้องกำจัดด้วยปัญญา ถ้ามีปัญญาเห็นว่าสิ่งต่างๆที่ใจอยากได้อยากมีนั้น ไม่ได้ให้ความสุขแต่ให้ความทุกข์ให้กับเรา  เราก็จะสามารถหยุดความอยาก ความโลภนั้นได้

เราจึงต้องเจริญปัญญาอยู่เสมอ พยายามเตือนตัวเราอยู่เสมอว่า อย่าไปหวังหาความสุขจากอะไรในโลกนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ เขาไม่สามารถให้ความสุขที่แท้จริงกับเราได้  สิ่งเดียวที่จะให้ความสุขที่แท้จริงกับเราได้ ก็คือความสงบของใจ  ใจจะสงบได้ก็ต่อเมื่อได้ลดละตัดความโลภ ความอยากทั้งหลาย ให้หมดไปจากจิตจากใจเท่านั้น เมื่อทำได้แล้ว จะไม่หิวกระหายกับอะไรเลย ถึงแม้จะไม่มีสมบัติแม้แต่ชิ้นเดียวก็ตาม  แต่จะไม่อิจฉาคนที่มีสมบัติข้าวของเงินทองมากมายก่ายกอง มีบริษัทมีบริวารมากมายเพียงไรก็ตาม เพราะรู้ด้วยปัญญาว่า เขาไม่มีความสุขหรอก มีความสุขก็เพียงเล็กๆน้อยๆ บางครั้งบางเวลาเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะมีแต่ความทุกข์รุมเร้าอยู่ตลอดเวลา จะมากหรือจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์เท่านั้นเอง  เวลาที่จะต้องพลัดพรากจากสมบัติ จากบริษัทบริวารนั้นแหละ จะเป็นเวลาที่มีความทุกข์อย่างมาก  แต่คนที่ไม่มีอะไรเลย เวลาที่ต้องพลัดพรากจากสิ่งต่างๆก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจเลย เพราะไม่หลงยึดติดกับอะไร  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้