กัณฑ์ที่
๑๙๖
ฟังธรรมให้เกิดผล
พอถึงวันพระพวกเราก็มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน
เพราะการฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นมงคลแก่ชีวิต
การฟังให้เป็นมงคลแก่ชีวิตนั้น
ต้องฟังด้วยความสำรวม สงบ
ระงับ สงบกาย สงบวาจา
และสงบใจ กายต้องนั่งนิ่งๆอยู่เฉยๆ
ไม่ทำอะไร วาจาก็นิ่งสงบ
ไม่พูดไม่คุยกับใคร
ใจก็ต้องอยู่กับการฟัง
ไม่ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
หรือเรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม
ในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมไม่ต้องไปสนใจ
พยายามตั้งจิตตั้งใจให้อยู่กับการฟัง
เพราะการฟังเปรียบเหมือนกับการเทน้ำใส่แก้ว
ถ้าแก้วไม่นิ่ง
ส่ายไปส่ายมา เวลาเทน้ำใส่แก้ว
น้ำก็จะเข้าไปในแก้วบ้าง
หกออกไปข้างนอกบ้าง
เพราะแก้วไม่นิ่ง
ไม่อยู่เฉยๆ แต่ถ้าตั้งแก้วให้นิ่งแล้ว
ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน เวลาเทน้ำใส่ลงไปในแก้ว
น้ำก็จะไม่หกออกนอกแก้ว
สังเกตได้เวลาที่อยู่ที่บ้าน
ตั้งแก้วน้ำไว้บนโต๊ะ
เทน้ำเข้าไปก็จะเทง่าย
เพราะแก้วอยู่เฉยๆ
ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน
แต่ถ้าขับรถอยู่ แล้วเอาแก้วน้ำไปตั้งไว้บนรถ
แล้วลองเทน้ำใส่แก้วดู
ดีไม่ดีน้ำก็จะหกหมด เพราะแก้วจะเลื่อนไปเลื่อนมา
ดีไม่ดีก็คว่ำลงไป
น้ำที่ใส่ไปในแก้วก็จะหกหมด
การฟังธรรมก็เป็นเช่นนั้น
ใจเป็นผู้รับรู้เรื่องราวต่างๆ
ถ้าไม่ได้อยู่กับการฟังแล้ว
การฟังจะไม่เกิดประโยชน์อะไร
จะเป็นเหมือนกับทัพพีในหม้อแกง
ถึงแม้จะฟังอยู่
แต่ใจไม่ได้อยู่กับการฟัง กายนั่งฟังอยู่
หูรับฟังเสียงเข้าไปในใจ
แต่ใจมัวแต่ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
สิ่งที่เข้าไปในใจก็เลยไม่รู้ว่าเป็นอะไร
ลักษณะนี้ก็เหมือนทัพพีในหม้อแกง
ทัพพีอยู่ในหม้อแกงนานสักเท่าไหร่
ก็ไม่รู้จักรสชาติของแกง
ว่าเป็นแกงจืดหรือแกงเผ็ด
แต่ถ้าฟังแบบมีสติ
รับรู้อยู่กับธรรมะ
ที่เข้ามาสัมผัสกับใจ
และพิจารณาตาม
ก็จะเป็นเหมือนลิ้นกับแกง เวลาได้สัมผัสกับแกงแม้เพียงหยดเดียว
ก็จะรู้รสชาติของแกง
เป็นแกงเผ็ดหรือเป็นแกงจืด
การฟังธรรมก็ต้องฟังแบบนี้
ฟังด้วยความมีสติ ฟังด้วยความสำรวมกาย
วาจา ใจ ถ้าฟังอย่างนี้แล้วก็จะเป็นสิริมงคล
เพราะจะปรากฏผลขึ้นมานั่นเอง
ผลที่พึงจะได้รับจากการฟังธรรมก็คือ
๑. จิตใจจะสงบ ๒.
มีความเห็นที่ถูกต้อง
๓.
ขจัดความสงสัยให้หมดไปได้
นี่คือผลที่พึงจะได้รับจากการฟังธรรม
ถ้าฟังแล้วได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา
ก็จะเป็นมงคลแก่ตน
คือจิตมีความสงบ มีความเห็นที่ถูกต้อง
หายสงสัยในเรื่องราวต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนรกก็ดี
สวรรค์ก็ดี เรื่องของกรรมก็ดี
เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดก็ดี
ถ้าฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม
ไม่ช้าก็เร็วก็จะเกิดความเข้าอกเข้าใจ
แล้วก็จะหายสงสัยในเรื่องราวต่างๆที่ยังไม่เข้าใจ
ฟังไปเรื่อยๆ ฟังไปหลายๆครั้ง
ฟังไปบ่อยๆเข้า
ความเข้าอกเข้าใจจะพอกพูนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เวลาฟังธรรมจึงต้องฟังให้เกิดผล
และการที่จะเกิดผลขึ้นมาก็ต้องมีการสำรวมนั่นเอง
กายต้องนั่งนิ่งๆ อยู่เฉยๆ
ไม่ขยับเขยื้อน ไม่ทำอะไรกับร่างกาย
วาจาก็ไม่ต้องพูด
ไม่ต้องคุยอะไรกับใคร
ใจก็ไม่ต้องไปนึกไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆนานา ถ้าฟังแบบนี้แล้ว
รับรองได้ว่าอย่างน้อยที่สุดใจจะต้องสงบ
ถ้าสามารถพิจารณาตามธรรมที่แสดงได้
ก็จะเกิดความเห็นที่ถูกต้องว่า
นรกมีจริง
สวรรค์มีจริง กรรมมีจริง
การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง
ตายแล้วต้องเกิด ตายแล้วไม่สูญ
การกระทำความดีเป็นสิ่งที่จำเป็น
เพราะนำความสุขความเจริญมาให้
การทำความชั่ว ทำบาป
ทำกรรม เป็นสิ่งที่ต้องลด
ต้องละ ต้องเลิก
เพราะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย
ความทุกข์ ความหายนะทั้งหลาย
นี่คือความเห็นที่ถูกต้อง
เมื่อฟังไปเรื่อยๆแล้ว
จะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา
จะกลายเป็นคนมีศีลมีธรรมขึ้นมา
เมื่อก่อนไม่รู้ ไม่เข้าใจ
คิดว่ามีเพียงชาตินี้ชาติเดียว
ตายไปแล้วก็จบ
ไม่มีอะไรตามมาอีกต่อไป
เลยไม่ยำเกรงกับการกระทำบาปทั้งหลาย
เพราะหวังเอาแต่ผลประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น
ต้องการอะไร อยากได้อะไร
ก็คว้ามา
หามาโดยไม่คำนึงว่าจะผิดจะถูกศีลธรรมหรือไม่
แต่ถ้าได้ยินได้ฟังว่า
คนเรานั้นตายเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
คือร่างกาย แต่จิตไม่ตายไปกับร่างกาย
จิตต้องไปเกิดใหม่
ไปหาร่างใหม่ จะได้ร่างดีหรือไม่ดี
จะเป็นร่างของมนุษย์หรือร่างของเดรัจฉาน
จะเป็นร่างของเทพหรือของเปรต
เป็นร่างของพรหมหรือของสัตว์นรกนั้น
ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้และในอดีตที่ผ่านมา
ถ้าทำบุญทำแต่ความดี
ก็จะได้ร่างใหม่ที่ดี
เช่นได้ร่างมนุษย์ที่ดีกว่าเก่า
ได้ร่างเทพ ได้ร่างพรหม
ได้ร่างของพระอริยเจ้า
เป็นพระอรหัตอรหันต์ไป
แต่ถ้าทำแต่บาป ทำแต่กรรม
ก็จะได้ร่างของเดรัจฉาน
ได้ร่างของเปรต ของผี
ของสัตว์นรก เพราะเป็นที่ไปของดวงจิตดวงใจ
เมื่อออกจากร่างแล้ว
ก็เรียกว่าดวงวิญญาณ
จะไปสู่สุคติหรือทุคติ
ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ได้สะสมไว้
บุญกรรมก็เปรียบเหมือนกับเมล็ดพรรณพืชที่หว่านไว้ในดิน
หว่านชนิดใดไว้ เมื่อถึงเวลาก็จะออกดอกออกผลตามเมล็ดพรรณพืชนั้น
ถ้าหว่านเมล็ดข้าว ต่อไปไม่นานต้นข้าวก็จะต้องโตขึ้นมา ถ้าหว่านเมล็ดผลไม้
เช่นเงาะ ทุเรียน ต่อไปต้นทุเรียนต้นเงาะก็จะเจริญตามขึ้นมา
เพราะเมล็ดที่หว่านไว้เป็นต้นเหตุ
ผลก็คือต้นไม้ชนิดต่างๆ
ก็จะปรากฏตามมา ภพชาติต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์หรือนรก
ความสุขหรือความทุกข์
ก็เกิดจากเมล็ดพืชที่ได้ถูกหว่านไว้ในปัจจุบันนี้
ในชาตินี้ ด้วยการกระทำต่างๆ
ทางกาย ทางวาจา
และทางใจนี้เอง
ถ้าทำความดี ทำบุญทำทาน
ปฏิบัติธรรม
นั่งสมาธิเจริญปัญญา ภพชาติที่ดีต่างๆก็จะตามมา
แต่ถ้าไปเสพอบายมุขต่างๆ
กินเหล้าเมายา
เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร
เกียจคร้าน ทำบาปทำกรรม
ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ
โกหกหลอกลวง ก็เท่ากับการหว่านเมล็ดพืชของเดรัจฉาน
ของเปรต ของผี
ของสัตว์นรกนั่นเอง
และเมื่อถึงเวลาที่ผลจะปรากฏขึ้นมา
ก็ไม่มีใครในโลกนี้จะสามารถไปยับยั้ง
ไปหยุดผลเหล่านี้
ไม่ให้เกิดขึ้นได้
ถ้าทำไปแล้วผลจะต้องตามมาอย่างแน่นอน
ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง
ถ้าไม่ต้องการให้ผลไม่ดีเกิดตามมา
ก็อย่าไปสร้างเหตุที่ไม่ดีเสีย
ละเว้นจากการทำบาปทำกรรม
ทำความชั่วทั้งหลาย
ละเว้นจากอบายมุขทั้งหลาย
แล้วผลไม่ดีทั้งหลายก็จะไม่ปรากฏตามมา
นี่จะเป็นสิ่งที่เราจะเข้าใจ
คือเริ่มมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
เมื่อเข้าใจแล้ว
ก็จะหายสงสัยในเรื่องนรก
เรื่องสวรรค์
เรื่องเวียนว่ายตายเกิด
นี่เป็นอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นตามมา
ทำให้ชีวิตของเรามีแต่ความสุขความเจริญ
เพราะเมื่อรู้แล้วว่าอะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ
เราก็พยายามทำแต่สิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์
อะไรที่เป็นโทษที่นำความทุกข์ความเสื่อมเสียมาให้
ก็พยายามละเว้นเสีย
เมื่อทำได้แล้ว
ชีวิตของเราจะมีแต่ความสุขความเจริญ
เป็นมงคลของชีวิตนั่นเอง
คำว่าเป็นมงคลก็หมายถึง
การมีแต่สิ่งที่ดีๆงามๆ
เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา
และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากการกระทำของเราเท่านั้น
ไม่มีใครมาเสกมาเป่า
มาเนรมิตให้กับเราได้
แม้แต่พระบรมศาสดาหรือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ก็ไม่มีอำนาจที่จะมาเสกมาเป่า
มาเนรมิตความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตของพวกเรา
มีพวกเราเท่านั้นแหละที่จะสามารถเสกเป่า
เนรมิตความเป็นสิริมงคลให้กับตัวของเราได้
ด้วยการกระทำความดี
ละเว้นการกระทำความชั่ว
ไม่มีใครในโลกนี้จะทำให้กับเราได้
เราต้องเป็นผู้กระทำเอง
ตามหลักบาลีที่แสดงไว้ว่า
อัตตาหิ อัตโน นาโถ
ตนเป็นที่พึ่งของตน
ตนต้องเป็นผู้สร้างสวรรค์
สร้างมรรคผลนิพพาน สร้างความสุข
สร้างความเจริญให้กับตน
ด้วยการกระทำความดี
ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา
และทางใจ คือคิดดี
พูดดี ทำดี ถ้าคิดดี
พูดดี ทำดีแล้ว สิ่งต่างๆอันประเสริฐเลิศโลกทั้งหลาย
ก็จะปรากฏตามมา เพราะมีคนอย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกได้พิสูจน์มาแล้ว
ได้ทำมาแล้ว ท่านทำดี
พูดดี คิดดี มาตลอด
สิ่งที่ดีทั้งหลายจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏตามขึ้นมา
อย่างนี้เราจะหายสงสัย
จะไม่ข้องใจอีกต่อไป
ว่าทำไมคนเราเกิดมาจึงต้องทำความดีกัน
ทำไมต้องละการกระทำความชั่วกัน
ทำไมต้องลดละกิเลสตัณหาทั้งหลาย
ลดความโลภ ลดความโกรธ
ลดความหลง
ลดความอยากต่างๆทั้งหลาย
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้แสดงล้วนแต่เป็นโทษ
เป็นเหมือนยาพิษ
แต่ไม่เรารู้กัน
เพราะยาพิษนี้มีน้ำตาลเคลือบอยู่นั่นเอง
เวลาอมยาพิษเคลือบน้ำตาลไปใหม่ๆ
จะไม่รู้สึกว่ามีพิษเลย
ก็จะคิดว่าคนที่บอกคนที่เตือนนั้น
หลอกเรา แต่หารู้ไม่ว่าพอน้ำตาลที่อมไว้ได้ละลายหมดไปแล้ว
ทีนี้ก็จะได้สัมผัสกับยาพิษ
แต่เมื่อถึงตอนนั้นแล้วมันก็จะสายเกินไป
เหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด
เวลาที่ยังไม่ติดยา
ก็มีคนคอยเตือนคอยบอก
คอยสอนคอยห้าม
ว่าอย่าไปเสพยาเสพติดเป็นอันขาด
เพราะเมื่อเสพไปแล้ว
จะต้องกลายเป็นทาสของมัน
แล้วก็จะต้องถูกมันทำลายไปในที่สุด
แต่ก็ไม่เชื่อกัน
บอกว่าไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย
ลองครั้งสองครั้งก็สนุกดี
แต่พอครั้งหนึ่งแล้ว
มันก็มีครั้งที่สอง
พอครั้งที่สองมันก็มีครั้งที่สามที่สี่ตามมาเรื่อยๆ
ทุกครั้งที่เสพก็ลืมไปว่าเคยเสพมาแล้วกี่ครั้ง ก็คิดว่าเป็นเพียงครั้งเดียวอยู่นั่นแหละ เพราะเวลาเสพทีไรก็เสพทีละครั้งเท่านั้นเอง
ใจก็หลอกว่าเสพครั้งเดียว
ไม่เป็นไรหรอก ไม่ติดหรอก
มันก็เสพครั้งเดียวไปเป็นสิบ
เป็นร้อยครั้ง จนในที่สุดถึงเวลาอยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้ มีแต่จะต้องรอความตายอยู่โดยถ่ายเดียว นี่คือลักษณะของการกระทำความชั่วทั้งหลาย ของความโลภ ความโกรธ
ความหลง ความอยากต่างๆ
จะเป็นเหมือนกับการเสพยาเสพติด
เวลาโลภ อยากได้อะไร
ก็บอกว่าไม่เป็นไรเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ไม่ติดหรอก ก็โลภ
ก็อยากไป
พอผ่านไปได้วันหนึ่ง
ก็เกิดความโลภ
เกิดความอยากอีก
ก็เหมือนกันอีก
ก็ไม่เป็นไรครั้งเดียวเท่านั้น
ไม่ติดหรอก ก็ทำไปเรื่อยๆ
จนกลายเป็นนิสัยไป
จะมารู้ก็ต่อเมื่ออยากจะเลิกเท่านั้นแหละ
ถึงจะรู้ว่าเลิกไม่ได้
เพราะมันติด
เพราะเวลาเลิกแล้วมันจะทุกข์ทรมานใจ
อย่างเวลาโกรธ
ก็รู้ว่าไม่ดี
เป็นความทุกข์ใจ เหมือนกับสุมไฟใส่หัวใจ
แต่เลิกโกรธไม่ได้สักที
เพราะเวลาใครมาทำอะไรให้ไม่พออกพอใจ
ความโกรธก็จะเกิดขึ้นมาทันที
ก็เพราะไม่รู้จักเลิกความโกรธนั้นเอง
แต่ถ้าศึกษาแล้วปฏิบัติตาม
แนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า
เวลาโกรธก็อย่าไปมองคนที่เราโกรธ
ต้องให้อภัยเขา อย่าไปสนใจ
อย่าไปจองเวรจองกรรม
ให้หันมาดูความโกรธว่าอยู่ที่ตรงไหน
อยู่ที่ตัวเราหรืออยู่ที่ตัวเขา
เหมือนกับเวลาไฟไหม้
ไฟมันไหม้ที่ไหน
ก็ต้องดับไฟที่นั่น เวลาเกิดไฟไหม้ที่บ้านเรา
แล้วเอาน้ำไปดับไฟที่บ้านของคนอื่น
ทั้งๆที่ไม่ได้ไหม้
ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ไฟที่ไหม้บ้านเราก็จะเผาบ้านเราจนหมดไป
ฉันใดเวลาที่เกิดความโกรธ
ก็เหมือนกับมีไฟไหม้ในหัวใจของเรา
ต้องเอาน้ำธรรมะเข้ามาดับ
ด้วยการให้อภัย ไม่จองเวรกัน
ใครทำอะไร
พูดอะไรที่ทำให้เราโกรธ
เกิดความเสียใจ
อย่าไปอาฆาตพยาบาท
จองเวรจองกรรม
อย่าไปสนใจเขา รีบหันมาดับไฟในหัวใจของเรา
ด้วยการให้อภัย ด้วยการไม่จองเวรจองกรรม
นี่แหละเป็นวิธีที่จะระงับดับความโกรธได้
ในเบื้องต้นอาจจะยากหน่อย
เพราะไฟมันแรง น้ำมันน้อย
น้ำธรรมะของเรามันน้อย
คือการให้อภัยมันน้อย
การไม่จองเวรมันน้อย
เพราะเราไม่ได้สะสมเอาไว้นั่นเอง
ส่วนใหญ่เราชอบสะสมการจองเวรจองกรรม
การอาฆาตพยาบาท
การไม่ให้อภัยกัน
ดังนั้นเวลาที่จะให้อภัย
ไม่จองเวรจองกรรม
จึงเป็นสิ่งที่ยากลำบาก
เพราะมีกำลังน้อย
แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ
ทีละครั้งทีละคราว
เวลาใครมาสร้างความโกรธ
ก็ให้อภัยเขาไป
ไม่ไปจองเวรเขา
ต่อไปก็จะดับง่ายขึ้น
ตอนต้นอาจจะใช้วันหนึ่งกว่าจะดับได้
โกรธคนหนึ่งนี่
บางทีโกรธตั้งแต่เช้าถึงเย็นกว่าจะดับได้
แต่ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ
ต่อไปก็ใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็ดับได้
ต่อไปใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวก็ดับได้
ต่อไปใช้เวลาเพียงนาทีเดียวก็ดับได้
หรือต่อไปไม่โกรธเลยก็เป็นไปได้
เพราะอยู่ที่การฝึกฝนอบรมจิตใจของเรานั่นเอง
จึงต้องเห็นโทษของความโกรธ
ว่าเป็นภัยยิ่งกว่าคนที่ทำให้เราโกรธ
คนที่ทำให้เราโกรธนั้น
ถ้าไม่ไปถือสาเสียอย่างแล้ว
ทำยังไงๆก็ไม่เป็นภัยกับเรา
แต่ความโกรธนี้มันเป็นภัย
เพราะเวลาโกรธแล้ว
มันเป็นเหมือนกับมีไฟเผาในหัวใจ
จึงต้องเห็นโทษของความโกรธ
ถ้าเห็นโทษของความโกรธแล้ว
ก็จะเห็นคุณของการให้อภัย
เห็นคุณของการไม่จองเวรกัน
เราก็จะสามารถทำได้ เมื่อทำได้แล้ว
ต่อไปรับรองได้ว่าในหัวใจของเราจะไม่มีความโกรธหลงเหลืออยู่เลย
เพราะเป็นสิ่งที่สามารถกำจัดได้
พระพุทธเจ้า
พระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ท่านได้กำจัดมาแล้ว
แล้วก็นำวิธีการกำจัดความโลภ
ความโกรธ ความหลง
มาสั่งสอนให้พวกเราปฏิบัติกัน
ถ้าพวกเราไม่ต้องการมีความทุกข์
มีไฟสุมหัวใจ
ที่เกิดจากความโลภ ความโกรธ
ความหลง ก็ต้องพยายามต่อสู้กับความโลภ
ความโกรธ ความหลง อย่าปล่อยให้มันฉุดลากเราไป
ในทางที่มันต้องการเป็นอันขาด
เวลาโลภต้องระงับ
อย่าไปโลภตาม ใช้ปัญญาเข้ามาแก้ โลภไปทำไม
ชีวิตของเรานี้จะอยู่ไปสักกี่ปีกัน
เดี๋ยวก็ตายแล้ว
ตายไปแล้วเอาอะไรติดมือไปได้ไหม
แม้แต่บาทเดียวก็เอาไปไม่ได้
อย่าว่าแต่เงินทองข้าวของเลย
แม้แต่ร่างกายนี้ก็เอาไปไม่ได้
มีแต่จะเอาใส่เตา
เผาทิ้งไป กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไปในที่สุด
จะโลภไปกับอะไรในโลกนี้
เอาอะไรไปไม่ได้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว
เอาเท่าที่จำเป็นก็พอ
ถ้าจำเป็น
ถ้าไม่มีแล้วจะต้องตาย
ก็ต้องมี เช่นถ้าไม่ได้กินข้าวแล้วต้องตาย
ก็ต้องกินข้าว ไม่มียารักษาโรคก็ต้องตาย
ก็ต้องหายารักษาโรคมา
อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นความโลภ
มันเป็นความจำเป็น
ก็ต้องหามา
ความโลภนี้หมายถึงเอาสิ่งที่ไม่จำเป็น
ถ้าไม่มีก็ไม่ตาย
ก็ไม่ต้องมี
ถ้าต้องการแล้วเอามาอย่างนี้แสดงว่าเป็นความโลภ
สิ่งใดที่ไม่มีความจำเป็น
ไม่ต้องเอามาก็ได้
ไม่ต้องมีก็ได้
เช่นตอนนี้มีรถอยู่คันหนึ่ง
รถเก่าแต่ก็ยังวิ่งไปไหนมาไหนได้
แต่พอเห็นโฆษณาในโทรทัศน์
ในหนังสือพิมพ์
รถรุ่นใหม่ๆออกมา
เห็นแล้วก็หวือหวา
ใจก็วอกแวก ใจก็ร้อนอยากจะได้ขึ้นมาทั้งๆ
ที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี
ได้มาอย่างนี้อย่าไปเอา
ใช้ของเก่าไปก็ได้เหมือนกัน
เพราะรถก็มีไว้สำหรับพาเราจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งเท่านั้น
มันไม่ได้มีความวิเศษวิโสอะไรในตัวของมัน
ซื้อมาใหม่ก็ไม่ได้สร้างความวิเศษวิโสให้กับตัวเรา
มันก็พาเราจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง
เหมือนกับรถคันเก่าของเรา
แต่ปัญหาที่มันจะสร้างให้กับเรามันมีมากกว่า เพราะถ้ามีเงินไม่พอ
ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน
ถ้ากู้หนี้ยืมสินไม่ได้ก็อาจจะต้องไปทำการทุจริต ไปโกหกหลอกลวง
ไปลักไปขโมยเงินทองของผู้อื่นมา
เพื่อจะได้ซื้อรถคันใหม่มา
ถ้าทำอย่างนี้แล้ว
แทนที่จะได้กำไรกลับขาดทุน
สิ่งที่ได้มาไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป
สิ่งที่ได้มาคืออะไร
ได้รถยนต์คันใหม่มา แต่เสียศีลธรรมไป
เสียความดีงามไป
เสียความเป็นมนุษย์ไปส่วนหนึ่ง
กลายเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต
เป็นผีไป เพราะจิตใจเสียศีลธรรมที่มีไว้รักษาความเป็นมนุษย์
ความเป็นเทพของเรานั่นเอง
ดังนั้นมันจึงไม่คุ้มค่ากัน
ได้ของที่ถูกกว่าแล้วเสียของที่แพงกว่าไปทำไม
มันต้องเป็นตรงกันข้าม
เสียของที่ไม่มีค่าไป
แล้วรักษาความดีความงามที่มีคุณค่าไว้ไม่ดีกว่าหรือ
เช่นรถของเราถ้ามันเก่า
มันเสีย
มันไม่สามารถวิ่งไปไหนได้แล้ว
แล้วไม่มีเงินที่จะไปซื้อรถใหม่
หรือไม่มีเงินไปซ่อมรถคันเก่า
แทนที่จะขโมยเงินขโมยทองของผู้อื่นมา
เพื่อมาซ่อมรถคันเก่าหรือซื้อรถคันใหม่
ก็ขายรถคันเก่านี้ไปเสีย
แล้วเดินเอาก็ได้
นั่งรถสองแถว
นั่งรถเมล์ไปไหนมาไหนก็ได้
หรือซื้อรถจักรยานมาขี่ก็ได้
อย่างน้อยเราเสียสิ่งที่ไม่มีคุณค่าไป
แต่ได้รักษาสิ่งที่ดีไว้คือคุณงามความดี
ได้รักษาศีลธรรม
ไม่ต้องไปทุจริต
ไม่ต้องไปลักขโมย
ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น
เพื่อเอาเงินมาซื้อรถคันใหม่
หรือซ่อมรถคันเก่า
นี่ต่างหากเป็นวิถีของคนฉลาด
คนฉลาดจะต้องรู้จักวิธีรักษาสมบัติที่แท้จริงของตน
นั่นก็คือศีลธรรม
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้อยู่เสมอว่า
ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ
ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
และให้สละชีวิตเพื่อรักษาศีลธรรม
เพราะศีลธรรมมีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลก ภพหน้าชาติหน้าจะไปดีไปสูง
ไปต่ำไปเลว
ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจมีศีลธรรมหรือไม่
ถ้ามีศีลธรรมก็ได้ไปสูงได้ไปดี
ได้ไปสู่สุคติ
ถ้าขาดศีลธรรม
มีแต่ทำบาปทำกรรมก็ต้องไปต่ำ
อย่างนี้มันคุ้มไหมกับความสุขเพียงไม่กี่ปีในโลกนี้
แล้วต้องไปตกนรก
เป็นกัปเป็นกัลป์
อย่างนี้มันไม่คุ้มค่าเลย
สู้อดทนเอาไว้ดีกว่า
ตายไปแล้วเกิดเป็นเทพ
เป็นพรหม เป็นกัปเป็นกัลป์ เสวยแต่ความสุขอย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ
พวกเราต้องคิดกันบ้าง
อย่ามองแต่เฉพาะภพนี้ชาตินี้เท่านั้น
ชีวิตของเราในโลกนี้มันก็ไม่ยาวนานอะไร
อย่างมากก็ ๘๐ ปี ๙๐ ปี
ก็ต้องตายไปแล้ว
แล้วก็ไม่อยู่ถึงกันเสียส่วนใหญ่
อย่างทุกวันนี้ในช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์นี้ เขาก็ทำนายกันไว้แล้วว่า
จะต้องมีคนตายวันละ ๓๐ ๔๐ ๕๐
ชีวิต
แทนที่จะอยู่อย่างยาวนานก็ต้องมาสังเวยให้กับความโลภ
ถ้าอยู่บ้านได้ก็ปลอดภัย
แต่ถ้าอยู่บ้านไม่ได้
มีความโลภ
มีความอยากที่จะต้องไปเที่ยวที่โน่น
ไปเที่ยวที่นี่
ก็ต้องนั่งรถกันไป
เดี๋ยวก็ต้องไปชนกัน
ไปเกิดอุบัติเหตุ
ก็ต้องเสียชีวิตไป
ตายเพราะความโลภแท้ๆคนเรา
ถ้าไม่มีความโลภแล้วอยู่กับบ้านก็จะปลอดภัย
อายุก็ยืนยาวนาน
แล้วยังได้รักษาจิตใจด้วยศีลด้วยธรรม เมื่อตายไปก็ได้ไปสู่สุคติ
อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ
ดีกว่าหลงไปกับความโลภ
ความอยาก
อยากจะไปกินเหล้าเมายาก็ไปกัน
อยากจะไปเที่ยวไหนก็ไปกัน อยากจะเล่นการพนันก็ไปกัน
หลังจากนั้นเมื่อเงินทองหมด
ก็ต้องหากันด้วยวิธีต่างๆ
สุจริตบ้าง ทุจริตบ้าง
ถ้าทุจริตต่อไปก็ต้องไปใช้กรรมอีก
อย่างนี้เป็นการทำลายชีวิตของตนเอง
ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
มีแต่สร้างความทุกข์
สร้างความเสื่อมเสียให้กับตน
เพราะไม่มีกำลังที่จะต้านทาน
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ความอยากต่างๆ
เพราะไม่ได้เข้าวัดเข้าวา
ฟังเทศน์ ฟังธรรมนั่นเอง
ถ้ามาวัดทุกๆวันพระ
วันเสาร์ วันอาทิตย์
แล้วฟังเทศน์
ฟังธรรมอยู่เสมอ
เราจะมีสิ่งที่คอยเตือนสติคือธรรมะ
คอยสอนใจให้รู้จักผิดจักถูก
จักดีจักชั่ว
แล้วนำไปปฏิบัติ
เมื่อรู้ว่าอะไรไม่ดี
ก็ละเว้นเสีย อะไรดีก็ทำเสีย ต่อไปชีวิตของเราก็จะมีแต่สิ่งที่ดีงาม มีแต่ความสุขความเจริญตามมา
นี่แหละเป็นอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นจากการได้ฟังเทศน์ฟังธรรม
ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า
กาเลน ธัมมัสวนัง
เอตัมมัง กลมุตมัง
การฟังธรรมตามกาลตามเวลา
เป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต
พวกเราจึงไม่ควรมองข้ามการเข้าวัดเข้าวากันอย่างสม่ำเสมอ
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้