กัณฑ์ที่
๑๙๗
การฟังธรรมเป็นของยาก
พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า
การได้ยินได้ฟังธรรมเป็นของยาก
ยากพอๆกับการปรากฏขึ้นของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์
ยากพอๆกับการได้เกิดเป็นมนุษย์
เพราะการที่จะมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏขึ้นแต่ละครั้งนั้น
ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ทุกๆ ๑๐๐
ปี ๑๐๐๐ ปี แต่นานๆจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้
และประกาศสอนธรรมะให้กับสัตว์โลกสักครั้งหนึ่ง
เป็นกัปเป็นกัลป์ด้วยกัน
คำว่ากัปว่ากัลป์นี้เป็นเวลาที่ยาวนานมาก
โบราณจารย์ท่านยกตัวอย่างให้ฟังว่า
เวลาหนึ่งกัปนี้เท่ากับเวลาทุกๆ
๑๐๐ ปี มีคนเอาผ้าไปลูบเขาพระสุเมรุสักหนึ่งครั้ง
ทำอย่างนี้ทุกๆ ๑๐๐ ปี
จนกว่าเขาพระสุเมรุจะสึกราบเป็นหน้ากลอง
นั่นแหละถึงจะได้เวลาหนึ่งกัปหนึ่งกัลป์
การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จึงใช้เวลาอันยาวนานมาก
เป็นของยากอย่างหนึ่ง
ของยากอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้มาเกิดเป็นมนุษย์
ถ้าไม่ได้บำเพ็ญบุญบารมี
คือรักษาศีลมาอย่างเคร่งครัดแล้ว
โอกาสที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์นั้นก็ยาก
เพราะการเกิดของมนุษย์ก็ไม่มากมายเหมือนกับการเกิดของเดรัจฉานทั้งหลาย
เดรัจฉานเวลามีลูกที
มีเป็นครอก มีเป็นฝูง
แต่มนุษย์เรานี้มีทีละคน
บางคนก็ไม่มีเสียด้วยซ้ำไป
โอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์แต่ละครั้ง
จึงมีไม่มาก
ถึงแม้จะได้สะสมบุญบารมีมาก็ตาม
ถ้าไม่มีมนุษย์ที่จะตั้งครรภ์
ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสไว้ว่า
การเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นของยาก
แล้วได้ทรงตรัสว่าการได้ยินได้ฟังธรรมะก็เป็นของยาก
ถึงแม้ในสมัยนี้จะมีการแสดงธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ
อย่างเช่นที่วัดนี้ก็มีการแสดงธรรมทุกๆวันเสาร์วันอาทิตย์และทุกวันพระ
แต่ความยากนั้นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าไม่มีการแสดงธรรม
ความยากนั้นอยู่ที่ใจของคนที่ไม่อยากจะฟังธรรมต่างหาก
เพราะในใจของคนส่วนใหญ่ยังมีกิเลสครอบงำอยู่
กิเลสนี้ถ้าเปรียบเทียบก็เป็นเหมือนกับก้อนเมฆก้อนใหญ่ๆ
ส่วนธรรมะก็เปรียบเหมือนกับแสงสว่างของดวงอาทิตย์
ถ้าดวงอาทิตย์ถูกก้อนเมฆมาบดบังไว้
แสงสว่างของดวงอาทิตย์ก็ไม่สามารถที่จะฉายลอดออกมาได้
ฉันใดจิตใจของผู้ที่มีกิเลสหนาทึบปกคลุมหุ้มห่ออยู่
จะเป็นจิตใจที่ไม่ชอบฟังธรรมะ
ลองถามตัวเราเองดูสิว่าปีๆหนึ่ง
เราฟังธรรมะกันมากน้อยสักเพียงไร
พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้ว่า
อย่างน้อยก็ควรฟังธรรมทุกๆวันพระ
คืออาทิตย์หนึ่งก็ควรจะได้ฟังธรรมสักครั้งหนึ่ง
ปีหนึ่งก็ต้อง ๕๒
ครั้งด้วยกัน ในหนึ่งปีเราได้ฟังธรรมถึง
๕๒ ครั้งหรือไม่
นี่เป็นจำนวนอย่างต่ำนะไม่ใช่อย่างสูง
อย่างน้อยที่สุดควรจะฟังสักอาทิตย์ละครั้ง เราสอบถามตัวเราเองว่า
ได้ฟังธรรมสัก ๕๒
ครั้งในหนึ่งปีหรือไม่
ถ้าพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า
ในปีหนึ่งอาจจะฟังธรรมได้ไม่ถึง
๕๒ ครั้งเลย ทั้งๆที่ธรรมะก็มีอยู่ทั่วไป
เดี๋ยวนี้ก็มีธรรมะไปถึงที่บ้าน
เปิดวิทยุก็ฟังได้
โทรทัศน์ก็มีการแสดงธรรมกัน
แต่ส่วนใหญ่เวลาโทรทัศน์ช่องไหนมีการแสดงธรรม
คนดูมักจะย้ายช่องกัน
กดรีโมตเปลี่ยนช่องกันเสียส่วนใหญ่
นี่จึงทำให้เป็นความยากขึ้นมา
ทั้งๆที่ธรรมะเป็นของที่ประเสริฐเลิศโลกยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลก
เมื่อเปรียบเทียบถึงคุณค่าของธรรมะแล้ว
ไม่มีอะไรจะมีคุณค่ายิ่งกว่าหรือดีเท่ากับธรรมะ
แม้แต่ชีวิตของเราเองนั้น พระพุทธเจ้าก็ยังทรงสอนให้สละเพื่อรักษาธรรมะ
เพราะธรรมะจะเป็นสิ่งที่ดูแลรักษาจิตใจให้เจริญรุ่งเรือง
ให้ไปสู่สุคติ
ให้มีแต่ความสุขความเจริญ
ชีวิตที่ปราศจากธรรมะนั้น
อยู่ไปก็เปล่าประโยชน์
เพราะจิตใจที่ขาดธรรมะ
ก็จะเป็นจิตใจที่มีแต่ความรุ่มร้อน
มีแต่ความทุกข์ มีแต่กองเพลิงที่คอยเผาผลาญอยู่เสมอ ถ้ามีชีวิตอยู่โดยที่ไม่มีธรรมะ
ก็สู้ไม่มีเสียดีกว่า
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้รักษาธรรมยิ่งกว่าชีวิต
ถ้าจะต้องอดตายเพื่อรักษาศีล
ก็ให้ตายไปดีกว่าที่จะเสียศีล
แต่บางคนกลับคิดตรงกันข้าม
คิดว่าชีวิตนี้สำคัญ
จะต้องรักษาให้ได้ด้วยทุกวิถีทาง
ถ้าจะต้องลักขโมยอาหารมาก็จะลักขโมยมา
ถ้าจะต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ยิงนกตกปลา
เพื่อจะได้อาหารมาเลี้ยงชีพก็จะทำ
นี่ก็เกิดจากจิตใจที่มีกิเลสความมืดบอดครอบงำนั่นเอง
ทำให้ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตจิตใจ กลับไปเห็นชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากว่าศีลธรรม
แต่หารู้ไม่ว่าอยู่แบบไม่มีศีลธรรมนั้น
ก็จะเป็นมนุษย์ได้เพียงชาตินี้เท่านั้น
เพราะหลังจากที่ตายไปแล้ว
จิตที่ไม่มีศีลธรรมนั้นย่อมต้องกลายเป็นเดรัจฉาน
เป็นเปรต
เป็นสัตว์นรกไปตามเหตุปัจจัย
คือการทำบาปทำกรรมนั่นเอง แต่เป็นสิ่งที่ปุถุชนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน
ที่มีกิเลสตัณหาครอบงำจิตใจ
จะรู้เห็นได้ เพราะไม่มีดวงตาเห็นธรรมอย่างพระพุทธเจ้า
อย่างพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย
ท่านได้ปฏิบัติชำระกำจัดกิเลสตัณหา
อวิชชาโมหะ
ความมืดบอดที่ครอบงำจิตใจจนหมดสิ้นไป
ทำให้ทรงรู้ทรงเห็นในสิ่งต่างๆ
ที่บุคคลที่มีกิเลสตัณหา
โมหะอวิชชาครอบงำอยู่ไม่สามารถเห็นได้
คือทรงเห็นนรก
เห็นสวรรค์ เห็นมรรคผลนิพพาน
เห็นการเวียนว่ายตายเกิด
เห็นกรรมและวิบาก
เห็นว่าสัตว์ชนิดนี้
บุคคลชนิดนี้
ทำกรรมชนิดนี้จะต้องไปเกิด
ไปเสวยวิบากกรรมชนิดนี้ๆเป็นต้น
นี่เป็นสิ่งที่ผู้ที่ได้ชำระจิตใจจนสะอาดบริสุทธิ์แล้ว
จะเห็นได้เหมือนกับคนที่ตาไม่มืดบอด
คนตาดีกับคนตาบอดมีความสามารถแตกต่างกันในการมองสิ่งต่างๆ
เห็นสิ่งต่างๆแตกต่างกัน
คนตาบอดจะเห็นแต่ความมืด
เห็นแต่สีดำอย่างเดียว
ส่วนคนตาดีก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง
อย่างที่พวกเราทั้งหลายเห็นกัน
ถ้าอยากจะดูว่าคนตาบอดเห็นอย่างไร
ก็ลองหลับตาดู
ก็จะรู้ว่านั่นแหละคือลักษณะของคนตาบอด
คนตาดีกับคนตาบอดจึงมีความสามารถในการมองเห็นแตกต่างกัน
ฉันใดคนที่มีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์อย่างพระพุทธเจ้า
และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ก็มีความเห็น มีความรู้
ที่แตกต่างจากคนที่มีโมหะอวิชชา
ความมืดบอดครอบงำจิตใจอยู่
อย่างพวกเราทั้งหลายก็จะเห็นกลับตาลปัตรกัน เห็นสิ่งที่เป็นโทษว่าเป็นคุณ
เช่นเห็นเงินทองเป็นสิ่งที่น่าหามาครอบครอง มียิ่งมากเท่าไรยิ่งดี
ตำแหน่งฐานะต่างๆ
ถ้าขึ้นไปยิ่งสูงเท่าไรยิ่งดี
เป็นนายสิบก็อยากจะเป็นนายร้อย
เป็นนายร้อยก็อยากจะเป็นนายพัน
เป็นนายพันก็อยากจะเป็นนายพล
เป็นนายพลก็อยากจะเป็นนายกฯ
ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้
ก็อยากจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
นี่เป็นความเห็นผิดเป็นชอบนั่นเอง
เพราะคิดว่าเมื่อมีเงินมากๆ
มีตำแหน่งสูงๆแล้ว
จะมีความสุขมาก
แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อมีแล้ว
กลับจะมีความทุกข์ เพราะเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั่นเอง เมื่อไปยึดไปติดแล้ว
ก็เกิดความหวาดกลัวขึ้นมาว่า
จะทำอย่างไรดี ถ้าวันดีคืนดี
เงินทองหมดไป
กลายเป็นคนหมดเนื้อหมดตัวไป
เคยมีตำแหน่งสูงๆ
ก็ถูกปลดออกไป จะทำอย่างไรดี
เพียงแต่คิดเท่านี้
ทั้งๆที่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้นก็มีความทุกข์
มีความกังวลใจแล้ว
แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์จริงๆขึ้นมาจะทำอย่างไร จะทำใจได้หรือเปล่า
สู้อยู่แบบคนธรรมดาสามัญไม่ดีกว่าหรือ
ไม่มีตำแหน่ง
ไม่มีเงินทองมากมาย
แต่ก็พออยู่พอกิน
ไม่เดือดร้อน อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ
แต่เพราะความหลง
ความมืดบอด
จึงถูกกิเลสตัณหาคอยกระซิบกระซาบอยู่ในใจเสมอว่า
หามาเถิด รวยแล้วดีเอง
มีตำแหน่ง
มีอำนาจก็จะดีไปเอง
อย่างนี้เป็นต้น
ก็เลยหลงอยู่กับการไขว่คว้าหาความทุกข์เข้ามาใส่ใจอยู่ตลอดเวลา
วันๆหนึ่งก็คอยแต่หา
แล้วก็คอยรักษา คอยป้องกัน
คอยต่อสู้
เวลามีใครมาฉกแย่งชิงเอาไป
ก็ต้องมีการต่อสู้กัน
มีแต่ความเหนื่อย
ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ไม่รู้จักจบจักสิ้น
แต่ก็ไม่รู้กัน
เพราะถูกกิเลสปิดบังไว้
กิเลสจะเปิดให้เห็นเพียงแต่ส่วนที่ดีของการมีเงินมีทอง
เช่นเวลามีเงินมีทองอยากจะซื้ออะไรก็ซื้อได้ อยากจะไปไหนก็ไปได้
มันจะให้คิดให้เห็นอย่างนั้น
เวลามีตำแหน่งสูงๆ
ก็จะให้เห็นว่าจะทำอะไรก็ได้ จะสั่งใครก็ได้
จะชี้นิ้วบอกใครให้ทำอะไรก็ทำได้
แต่ไม่คิดถึงเวลาที่หมดอำนาจหมดวาสนาไปแล้ว หมดบุญไปแล้ว
จะทำอย่างไร จะอยู่อย่างไรต่อไป
ไม่คิดกันนั่นเอง
จึงทำให้หลงผิด
เห็นผิดเป็นชอบ
ชีวิตแทนที่จะมีความสุขกลับมีแต่ความวุ่นวาย
มีแต่ความทุกข์ไม่รู้จักจบจักสิ้น
ทั้งๆที่มีตัวอย่าง
อย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ที่อุตส่าห์ดำเนินชีวิตมาเป็นตัวอย่างให้เราเห็น ทั้งสอน ทั้งพูด
ทั้งปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง
ท่านสอนให้เราอยู่แบบเรียบๆง่ายๆ
อยู่แบบมักน้อยสันโดษ
ไม่ให้ไปโลภไปอยากกับสิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้
เพราะไม่ใช่เป็นความสุข
แต่เป็นความทุกข์ ทุกข์เพราะเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตานั่นเอง
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา มีการเกิดขึ้น
ตั้งอยู่
แล้วต้องดับไปเป็นธรรมดา
เวลาได้มาก็ดีอกดีใจกัน
แต่เวลาสูญเสียไปนี้
น้ำตาแทบกระเด็น
ร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
บางคนถึงกับไม่สามารถทนอยู่ต่อไปก็มี
ต้องทำร้ายชีวิตของตนเอง
เพราะไปหลงติดอยู่กับสิ่งที่เป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตานั่นเอง
เพราะไม่มีแสงสว่างแห่งธรรม
ไม่มีธรรมะมาคอยกระซิบ
คอยบอก คอยเตือน
คอยเหนี่ยวรั้งจิตใจ
ว่าอย่าไปหลงกับสิ่งเหล่านี้
ซึ่งเป็นเหมือนกับงูพิษ
จะกัดเอาเมื่อไรก็ไม่รู้
เมื่อโดนกัดแล้วก็มีแต่จะตายอย่างเดียวเท่านั้น ทำไมไม่เอาตัวอย่าง
ที่พระพุทธเจ้าทรงดำเนินมา
ขนาดทรงได้เกิดเป็นราชโอรส
เป็นลูกของพระเจ้าแผ่นดิน มีลาภยศสรรเสริญสุขมากมายก่ายกอง
แต่กลับไม่ทรงหลงยินดี
เพราะพระองค์ไม่ใช่เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง
ทรงเห็นว่ามีแต่ความทุกข์
มีแต่ความกังวลใจ
ก็เลยสลัดตัดสิ่งเหล่านี้ทิ้งไป
แล้วออกมาอยู่แบบคนธรรมดาสามัญ
อยู่แบบขอทานหาเช้ากินค่ำ
หาอะไรมาได้จากการบิณฑบาตก็เสวยไปตามที่ได้มา ที่อยู่
อยู่ตรงไหนก็อยู่ได้ อยู่ในถ้ำบ้าง
อยู่ตามโคนไม้บ้าง ก็อยู่ได้
เสื้อผ้าคือจีวร
ก็หาเศษผ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามกองขยะ
ตามป่าช้า
เก็บมาปะมาเย็บให้เป็นผืน
นำมาซักย้อมด้วยน้ำฝาด
แล้วก็เอามาห่ม ก็ใช้ได้แล้ว เป็นจีวรเครื่องนุ่งห่ม
ส่วนยารักษาโรคก็ใช้ยาดองน้ำมูตรเน่า
ก็ใช้น้ำปัสสาวะของตนนั่นแหละ
ดองกับสมอบ้าง
ดองกับผลไม้ที่ใช้เป็นยาได้
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ฉันยาดองน้ำมูตรเน่า
เท่านี้ก็เพียงพอแล้วกับการดำรงชีพ
ร่างกายก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้
แต่สิ่งที่จิตใจต้องการนั้น
คือความสงบ ปราศจากความวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ
จึงต้องแสวงหาที่สงบสงัดวิเวก
ต้องออกจากบ้านจากเรือน
เพราะอยู่ในบ้านในเรือนมีแต่เรื่องวุ่นวายต่างๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น
หมดเรื่องนี้ก็มีเรื่องนั้นเข้ามา
หมดเรื่องนั้นก็มีเรื่องนี้เข้ามา
เพราะเมื่ออยู่กับคนแล้วก็จะเป็นอย่างนี้
เพราะคนนี่แหละเป็นตัวยุ่งที่สุด
คนที่มีกิเลสนี้เป็นตัวยุ่ง
มีปัญหามาก เพราะไม่รู้จักคำว่าพอนั่นเอง
เวลาร้อนก็อยากจะให้เย็น
เวลาหนาวก็อยากจะให้ร้อน
เวลาผอมก็อยากจะอ้วน
เวลาอ้วนก็อยากจะผอม
มีแต่เรื่องของความอยากร้อยแปดพันประการ
ไม่รู้จักจบจักสิ้น
ใครที่ต้องอยู่กับคนที่มีกิเลสหนาๆแล้ว
ต้องกลุ้มใจ เอาใจไม่ไหวหรอก
ถ้าจะต้องเอาใจกิเลส ต่อให้เอาใจเท่าไร
ก็ไม่รู้จักคำว่าพอ
เพราะเป็นธรรมชาติของกิเลส
ไม่รู้จักคำว่าพอ
มีแต่จะต้องการสิ่งแปลกๆใหม่ๆอยู่เสมอ
ถ้าสิ่งไหนมีแล้วก็ไม่สนใจ
อยากจะได้ในสิ่งที่ไม่มี
เมื่อไม่มีจะทำอย่างไร
ก็ต้องหากัน แล้วของมันหากันง่ายๆที่ไหน
กว่าจะได้อะไรมาสักชิ้นสักอัน
ก็ต้องทำงานลำบากลำบนเหนื่อยยากมากเพียงไร
กว่าจะได้มา
เมื่อได้มาไม่ทันไร
ก็เบื่อแล้วอยากจะได้ใหม่อีกแล้ว นี่แหละคือสาเหตุของความวุ่นวายใจ
เมื่อจิตใจมีความวุ่นวายแล้ว
ต่อให้มีอะไรมากมายเพียงไร
ก็จะไม่มีความสุข
เพราะความสุขใจไม่ได้เกิดจากการมีมากมีน้อย แต่เกิดจากความสงบเท่านั้น
ถ้าใจสงบเมื่อไร
เมื่อนั้นความสุขก็จะเกิดขึ้น ความพอก็จะเกิดขึ้น
แต่ใจจะไม่ยอมสงบง่ายๆ
ยิ่งมีอะไรไปคอยรบกวนใจอยู่เรื่อยๆแล้ว
ยิ่งทำใจให้สงบได้ยาก
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า
ถ้าต้องการความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ
ต้องปลีกวิเวก ต้องออกหาที่สงบสงัด
เช่นไปอยู่วัดที่ไม่มีคนมาก
วัดที่มีแต่นักปฏิบัติ
ทุกคนที่อยู่ในสำนักปฏิบัติ
จะอยู่กันแบบเงียบๆ
ไม่คลุกคลีกัน จะแยกกันอยู่
ต่างคนต่างคอยควบคุมใจของตนด้วยสติ
ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
ในอดีตที่ผ่านมา
หรือในอนาคตที่จะตามมา
ให้คิดอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ
ๆๆไปในใจ
หรือสวดมนต์ไหว้พระอยู่ในใจไปเรื่อยๆ
เพื่อไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
เพราะเมื่อไปคิดแล้วก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา
เกิดเรื่องราวขึ้นมา
ทำให้จิตใจไม่สงบนั่นเอง
จึงต้องออกหาที่สงบที่สงัดที่วิเวก
เช่นมาอยู่วัดปฏิบัติธรรมกัน
๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง
๑๕ วันบ้าง ๓๐ วันบ้าง
๓ เดือนบ้าง ๓
ปีบ้าง
สุดแท้แต่ศรัทธาของแต่ละคน
และบุญบารมีที่ได้สะสมไว้
ถ้าได้สะสมบุญบารมีมาทางนี้มาก
การอยากออกหาที่สงบสงัดก็จะมีมาก
แต่ถ้าสะสมบุญบารมีมาน้อย
การอยากออกหาที่สงบสงัดก็จะมีน้อย
กลับชอบอยู่ที่ๆมีความวุ่นวาย
เพราะเวลาอยู่กับความวุ่นวายแล้ว
มันไม่เหงา ถึงจะทุกข์ขนาดไหนก็ทนเอา
แต่ถ้าอยู่คนเดียวแล้ว
จะรู้สึกว่าเหงา
ว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวใจ
ทรมานจิตมากกว่าอยู่กับคนมากๆ
แต่หารู้ไม่ว่าผลที่ได้จากการอยู่กับคนมากๆนั้น
ก็จะมีแต่ความว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ตลอดไป
นอกจากชาตินี้แล้ว ชาติต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีจบไม่มีสิ้น
แต่ถ้าออกมาอยู่คนเดียว
แล้วพยายามต่อสู้กับความว้าเหว่
ความเศร้าสร้อยหงอยเหงา
ด้วยการบำเพ็ญจิตตภาวนา
บริกรรมพุทโธ ๆๆไปเรื่อยๆ
ในอิริยาบถทั้ง ๔
ไม่ว่าจะเดิน จะยืน จะนั่ง
จะนอน
ก็ไม่ปล่อยให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
คอยควบคุมบังคับใจให้บริกรรมพุทโธๆๆไปตลอดเวลา
ถ้าทำได้แล้ว
ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะสงบตัวลง
แล้วความรู้สึกว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวใจก็จะหายไป
เพราะความว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวใจเป็นผลที่เกิดจากกิเลสนั่นเอง
เวลากิเลสอยากจะได้อะไรแล้วไม่ได้ดังใจ
ก็จะสร้างความรู้สึกว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวใจ
เศร้าสร้อยหงอยเหงาใจขึ้นมา
แต่ถ้าเอาธรรมะคือคำบริกรรมพุทโธๆๆ
เข้ามาปราบกิเลสอย่างต่อเนื่องด้วยสติแล้ว
ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมตัวสงบตัวลง
เมื่อสงบลงแล้ว
ก็จะพบความสุขอันแปลกประหลาดมหัศจรรย์
ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน
ทั้งที่เมื่อสักครู่นี้จิตกำลังรู้สึกเปล่าเปลี่ยวใจ
เศร้าสร้อยหงอยเหงา แต่พอจิตรวมลงปั๊บเท่านั้น
ความรู้สึกเหล่านั้นจะหายหมดไปเลย
เหลือแต่ความสงบ
เหลือแต่ความนิ่ง
ความสุข ความเบาใจ
ความปีติ บางครั้งก็น้ำตาไหล
ขนลุกซ่าขึ้นมา
นี่แหละเป็นอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นจากการบำเพ็ญจิตตภาวนา
บริกรรมพุทโธๆๆ
อยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔
ด้วยสติควบคุมไว้
พยายามทำไปเถิด
พยายามอดทน ใช้ความเข้มแข็ง
ใช้วิริยะความพากเพียร
ไม่ช้าก็เร็วก็จะได้พบกับความสุข
ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายท่านได้พบกัน
และเมื่อได้พบแล้ว
ความเหนื่อยยากต่างๆ
ความทุกข์ทรมานต่างๆ
ที่เกิดจากการปฏิบัติก็จะหายไปหมดสิ้นเลย
จะไม่มีความรู้สึกแบบนั้นหลงเหลืออยู่เลย
มีแต่ความสุข ความสบาย
ถึงแม้จะเป็นความสุขชั่วขณะหนึ่งก็ตาม
สำหรับผู้ที่ปฏิบัติใหม่จะเป็นอย่างนั้น
จิตจะสงบได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง
เรียกว่าขณิกสมาธิ
แล้วก็จะถอนออกมา แต่ความสุขที่ได้สัมผัสนั้นจะเป็นความสุขที่ดูดดื่มใจ
เป็นความสุขที่จะคอยเรียกให้จิตใจกลับไปหาด้วยการพยายามปฏิบัติธรรมต่อไปเรื่อยๆ
เมื่อได้ปฏิบัติไปเรื่อยๆแล้ว
ก็จะได้เสพสัมผัสกับความสุขแบบนี้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ
จนเป็นความสุขที่ต่อเนื่องแบบไม่มีหมดสิ้นเลย จะสงบอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถ
๔ เดิน ยืน
นั่ง นอน มีแต่ความสุข
ความอิ่ม ความพอ
เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วจะไม่ยินดีกับสิ่งอื่นๆในโลกนี้อีกเลย
ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข แบบไหนก็ตาม
จะไม่สนใจเลย
เพราะรู้ว่าลาภ ยศ
สรรเสริญ สุขนั้น
ถึงแม้จะมีความสุข
มีส่วนดีอยู่ก็ตาม แต่ส่วนร้ายคือความทุกข์ที่ตามมาก็แสนสาหัสเหมือนกัน
จึงไม่อยากจะเข้าไปเกี่ยวข้อง
ไม่อยากจะไปแตะต้อง
เพราะได้พบกับความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์
ที่ไม่มีความทุกข์
ไม่มียาพิษเจือปนอยู่นั่นเอง
นี่แหละเป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
นัตถิ สันติ ปรัง
สุขัง
สุขอื่นใดเสมอความสุขที่เกิดจากความสงบนั้น
ไม่มีในโลกนี้
จงอย่าไปหาอะไรในโลกนี้เลย
อย่าไปคิดว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้มีความวิเศษวิโส
ตามที่กิเลสตัณหาคอยกระซิบคอยบอกเลย
ต้องเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามากระซิบใจ
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าความสุขที่แท้จริง
ความสุขที่ประเสริฐเลิศโลก
ก็คือความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม
ความสุขที่เกิดจากความสงบนี่เอง
ความสุขชนิดอื่นๆไม่ใช่ความสุข
เป็นเหมือนกับความสุขที่ได้จากการเสพยาเสพติด
เวลาได้เสพก็มีความสุข
แต่เวลาไม่ได้เสพก็จะปวดรวดร้าวทรมานใจเป็นอย่างยิ่ง
จนทนอยู่ไม่ได้
ถึงกับจะต้องตายไปเลยก็มี
นี่คือพิษของสิ่งต่างๆในโลกนี้
อย่าไปหลงอย่าไปติดกับสิ่งต่างๆ
พยายามถอยออกมา ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องอยู่
ก็ต้องมีสติระมัดระวัง
คอยเตือนตนอยู่เสมอว่ามันเป็นของไม่เที่ยงนะ
ตำแหน่งยศต่าง นี้ อายุ ๖๐ ก็หมดแล้ว
เดี๋ยวเขาก็เอาคืนไปแล้ว
ส่วนสมบัติข้าวของเงินทอง
จะหมดไปเมื่อไรก็ไม่รู้
บางทีอาจจะหมดไปก่อนตายก็ได้
คนที่ทำมาค้าขายแล้วหมดเนื้อหมดตัวไปก็มีอยู่เยอะ
มันเกิดขึ้นได้เสมอ
เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดอย่าไปติด
อย่าไปอาศัยเงินทองมากจนเกินเหตุ
อาศัยเท่าที่จำเป็น
พอซื้ออาหารมากินก็พอแล้ว
ส่วนสิ่งอื่นๆอย่าไปสนใจ
เรื่องจะเอาเงินไปเที่ยวที่โน่นที่นี่
เอาเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ
ซื้อแก้วแหวนจินดา เพชรนิลจินดา
หรือสิ่งต่างๆอะไรนั้น
อย่าไปหลงอยาก อย่าไปหลงทำเลย
เพราะเมื่อทำไปแล้วจะติดเป็นนิสัยขึ้นมา
เวลาไม่ได้ทำจะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้าฝึกหัดอยู่อย่างเรียบๆง่ายๆ
อยู่อย่างมักน้อยสันโดษ
เอาเท่าที่จำเป็น
ก็จะไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน
ไม่วุ่นวายใจ ร่างกายต้องการอะไรมากน้อยเพียงไรก็เอาเท่านั้นก็พอ
ถ้าหาไม่ได้ตามความจำเป็นก็เอาตามมีตามเกิด วันไหนได้มาน้อยก็ให้พอใจ
วันไหนได้มามากก็ให้พอใจเช่นกัน
ถ้าได้มากเกินความจำเป็นก็ให้เก็บไว้เผื่อวันข้างหน้า
ถ้าหาได้น้อยก็เอาส่วนที่เก็บไว้มาชดเชย
มาทดแทนกันไป ถ้าฝึกหัดให้อยู่แบบเรียบง่ายได้แล้ว ต่อไปจะไม่เดือดร้อนกับเรื่องเงินทอง เพราะจะสามารถหาเงินทองมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตามความจำเป็นได้
เพราะความจำเป็นนั้นมันไม่มากเลย
ความฟุ่มเฟือยต่างหากที่จะคอยดูดเงินดูดทอง
ที่หามาด้วยความยากลำบาก
ให้หมดไปแล้วก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
ได้เพียงแต่ความสนุกความเพลิดเพลินในขณะที่ใช้เงินใช้ทองไปเท่านั้นเอง
แต่ความอิ่มความพอจะไม่เกิดขึ้น
มีแต่จะอยากใช้เงินเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
แล้วในที่สุดก็จะต้องสะดุดขึ้นสักวันหนึ่งเมื่อเงินทองไม่พอใช้
แล้วก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้ารู้จักใช้แบบประหยัด
ใช้เท่าที่จำเป็นแล้ว
รับรองได้ว่าจะมีเงินทองเหลือใช้
จะไม่เดือดร้อนกับเรื่องเงินทอง
แล้วจะมีเวลาไปปฏิบัติธรรม
ทำจิตใจให้สงบ แทนที่จะต้องเสียเวลาไปกับการทำมาหากิน
หาเงินหาทอง ได้เงินได้ทองมาแล้ว
ก็ต้องเสียเวลาไปกับการใช้เงินใช้ทองอีก
เลยไม่มีเวลามาทำจิตใจให้สงบเลย
ไม่มีเวลาจะมาปฏิบัติธรรม
จิตใจจึงมีแต่ความหิวความกระหาย
เป็นเปรต
เป็นผีอยู่ตลอดเวลา
โดยไม่รู้สึกตัว
ทั้งๆที่มีเงินมีทองมากมายก่ายกอง
เพราะไม่ได้ฟังธรรมและปฏิบัติธรรม
เพราะการฟังธรรมเป็นของยากนั่นเอง
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้