กัณฑ์ที่ ๑๙๘     ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗

แพ้เป็นพระ

 

พวกเรามาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อฟังในพระโอวาทของพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของพวกเรา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระปัจฉิมโอวาท ที่ได้ทรงแสดงไว้ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน  เป็นคำสั่งคำสอนครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า  ทรงเตือนพวกเราว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงหนอ จงยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด สังขารก็คือทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายในและภายนอก เป็นสังขารทั้งสิ้น มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา เพื่อนฝูงญาติสนิท มิตรสหาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราครอบครองอยู่ ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องพลัดพรากจากกันไป เพราะเป็นของไม่เที่ยงนั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงเป็นห่วง เพราะจิตของพวกเรายังถูกความหลงครอบงำอยู่ ทำให้หลงระเริงกับชีวิตโดยไม่คำนึงว่า เราต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายไปในที่สุด เรายังหลงระเริงอยู่กับการหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุขกัน โดยไม่รู้ว่าลาภยศสรรเสริญสุขนี้ มีคุณมีประโยชน์กับจิตใจเราหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วก็ให้ความสุขความเพลิดเพลินไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น  แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างอุปาทานความผูกพันให้เกิดขึ้นกับใจ ทำให้ใจต้องทุกข์ ต้องกังวล ต้องห่วงใย แทนที่จะมีความสุขกับสมบัติต่างๆ  กลับกลายเป็นภาระแบกหาม ดูแลรักษา ภาระที่จะต้องคอยหามาเพิ่มอยู่เรื่อยๆ ภาระที่เกิดจากการพลัดพรากจากกัน เหล่านี้ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่ความสุขเลย

แต่เนื่องจากว่าพวกเรายังขาดแสงสว่างแห่งธรรม คือความรู้ที่ทะลุทะลวงถึงธรรมชาติของสภาวธรรมทั้งหลายว่า ล้วนเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ใช่สมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด ไม่มีใครสามารถควบคุมครอบครอง ให้อยู่กับตนไปได้ตลอดเวลา ถ้าไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมแล้ว ก็จะต้องหลงยึดติด เมื่อหลงยึดติดก็จะต้องมีความทุกข์ตามมา ดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น ทุกข์เพราะอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เมื่อยึดติดแล้วก็มีแต่ความกังวลใจ ไม่สบายอก ไม่สบายใจ ลองสังเกตดูถ้าสิ่งใดที่เราไม่ยึดไม่ติด ไม่มีความเกี่ยวข้องด้วย สิ่งนั้นจะไม่มีปัญหากับเรา แต่ถ้าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เราไปมีความผูกพัน ไปครอบครองว่าเป็นเรา เป็นของๆเราขึ้นมา ก็จะต้องมีความวุ่นวายใจ เมื่อสิ่งนั้นแปรปรวนเปลี่ยนแปลง หรือสูญหายจากเราไป  ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเราระลึกเสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นของไม่เที่ยง อย่าไปยึดอย่าไปติด เพราะจะทำให้เราทุกข์ อย่าไปถือว่าเป็นของๆเรา เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้เป็นของเราทั้งสิ้น เรามาตัวเปล่าๆ แล้วเมื่อเราตายไป เราก็ต้องไปตัวเปล่าๆ  สิ่งที่เราเอามาได้และสิ่งที่เราจะเอาไปได้ก็คือบาปกับบุญเท่านั้น

ถ้าเรามีบุญมากกว่าบาป เกิดมาก็จะมีชีวิตที่มีความสุข มีความเจริญ มีความก้าวหน้า ถ้ามีบาปมากกว่าบุญ เกิดมาก็จะมีความทุกข์มากกว่าความสุข มีความวุ่นวายใจมากกว่าความสงบ มีความเสื่อมมากกว่าความเจริญ  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราคำนึงว่า ชีวิตของเรานั้นเกิดมาเพื่อสะสมบุญ เกิดมาเพื่อใช้บาปใช้กรรมเก่า เมื่อเราได้เข้าใจในหลักนี้แล้ว เราจะได้ไม่มีความหลงอยู่กับการสะสมสิ่งอื่นๆในโลกนี้  เราจะพยายามสะสมแต่บุญอย่างเดียว ส่วนบาปกรรมก็จะไม่สะสม ส่วนผลของบาปกรรมที่เคยทำไว้ในอดีต ถ้าถึงเวลาที่จะแสดงผลให้เกิดขึ้นกับเรา ทำให้เราต้องมีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจ มีความเศร้าโศกเสียใจ เราก็พยายามทำใจไว้ อย่าไปท้อแท้กับชีวิต อย่าไปโกรธแค้น โกรธเคืองผู้หนึ่งผู้ใด อย่าไปโทษผู้อื่นว่าเป็นเหตุของความทุกข์ ของความไม่สบายใจของเรา ขอให้ถือเสียว่าเป็นวิบากกรรมของเราต่างหาก  เพราะผู้ที่ไม่มีวิบากกรรมนั้น ถึงแม้จะมีใครมาสร้างความเดือดร้อน สร้างปัญหาให้กับตน ก็จะไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวุ่นวายใจ เพราะใจไม่ไปยึดไปติด สามารถปล่อยวางได้ คือไม่ไปปรารถนา ไม่ไปต้องการให้เขาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือไม่ให้เขาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้กับเรา เราปล่อยให้เขาทำไปตามเรื่องของเขา ถ้าเขามีอะไรกับเรามาในอดีตชาติ ถ้าเป็นส่วนที่ดีเขาก็จะทำความดีกับเรา  ถ้าเป็นส่วนที่ไม่ดีเขาก็จะทำความไม่ดีกับเรา

คนในโลกนี้เวลาเจอกันจึงมีอยู่หลายแบบด้วยกัน คนบางคนเห็นกันก็รู้สึกถูกชะตากัน มีความเมตตาต่อกัน คนบางคนเจอกันแล้วก็รู้สึกไม่ถูกชะตา มีแต่จะมีเรื่อง มีปัญหาต่อกัน ทั้งๆที่ก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย แต่ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ นั่นก็เป็นเพราะผลของบุญของกรรมที่ได้เคยทำมาร่วมกันในอดีตนั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราไปเจอกับเคราะห์กรรมต่างๆ อย่าไปแก้เคราะห์กรรมด้วยการสร้างเวรสร้างกรรมเพิ่มขึ้นมาอีก  แต่ให้ใช้อุเบกขาธรรม คือให้วางเฉย ให้ปลงเสียเถิดว่า สัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน จักทำกรรมอันใดไว้ จะต้องรับผลของกรรมนั้น   เพียงแต่ทำใจให้เฉยให้นิ่งไว้ แล้วเรื่องราวต่างๆ ไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องผ่านไปหมดไป แต่ถ้าไปมีปฏิกิริยาตอบโต้ ต่อต้าน สร้างเรื่องสร้างราวเพิ่มขึ้นมาอีก เรื่องก็จะยืดยาวต่อไป  และอาจจะต้องต่อไปถึงภพหน้าชาติหน้าอีก อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น  เราจึงต้องใช้ขันติธรรม  ช้ความอดทน  ใช้อุเบกขา  วางเฉย

อุเบกขาจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราฝึกทำจิตให้สงบ  ฝึกนั่งสมาธิ  ฝึกไหว้พระสวดมนต์อยู่เรื่อยๆ   ทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เหมือนกับเราดูแลรักษาร่างกาย  เราต้องออกไปวิ่งไปออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายของเราแข็งแรงฉันใด  เราก็ต้องฝึกออกกำลังกายให้กับจิตใจของเรา  กำลังของจิตใจก็คือความสามารถอยู่นิ่งๆ อยู่เฉยๆได้นี่แหละ    เวลามีอะไรมากระทบก็เป็นเหมือนกับก้อนหิน  ไม่เป็นเหมือนกับปุยนุ่น  เวลาถูกลมพัดแผ่วมาเบาๆ ก็จะปลิวไปตามกระแสลม  แต่ถ้าเป็นก้อนหินถึงแม้จะมีพายุพัดมาแรงขนาดไหน ก็ไม่สามารถไปเขย่า ไปเคลื่อนได้   เพราะมีความหนักแน่นนั่นเอง  ใจของพวกเราก็สามารถทำให้มีความหนักแน่น  ให้มีความแข็งแกร่งได้ ด้วยการฝึกทำจิตตภาวนา คือนั่งสมาธและเจริญวิปัสสนา   เพราะถ้าเราทำไปอยู่เรื่อยๆแล้ว จิตของเราจะมีความแกร่ง มีความแข็ง มีความกล้าหาญ ที่จะเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่าง  แต่เผชิญแบบพระ ไม่ได้เผชิญแบบมาร  ดังสุภาษิตที่เราได้ยินเสมอๆว่า แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร คือเราจะแพ้ด้วยการนิ่งเฉย ไม่ตอบโต้  ใครจะพูด ใครจะด่า ใครจะกลั่นแกล้งอย่างไร  จะไม่แยแส ไม่สนใจ  ถ้าหลบได้หลีกได้  ก็หลบไปหลีกไป  ถ้าหลบไม่ได้ หลีกไม่ได้ ก็ทำใจให้นิ่งเฉยไว้  ไม่ช้าก็เร็วเรื่องราวต่างๆก็จะผ่านไป  ทำใจให้เป็นเหมือนต้นเสา  ไม่มีใครไปทะเลาะกับต้นเสาหรอก   ไปด่ากับต้นเสาสักพักหนึ่ง เดี๋ยวก็เบื่อเอง   เดี๋ยวก็เหนื่อยเอง   เดี๋ยวก็เดินหนีไปเอง  แล้วก็จะไม่กลับมาอีก 

แต่ถ้าไปตอบโต้กัน ก็เหมือนการปรบมือ  ถ้าปรบมือข้างเดียวก็ไม่ดัง   ถ้าปรบมือ ๒ ข้างก็ดัง  ถ้าเขาด่าเรา เราก็ด่ากลับไป  เดี๋ยวเขาก็ทุบเรา เราก็ตีเขา  เดี๋ยวเขาก็ฟันเรา  เราก็แทงเขา  เดี๋ยวก็ลงไปนอนในโลงหนึ่งคน  อีกคนหนึ่งก็ไปอยู่ในคุกในตะราง  นี่เป็นวิถีทางของมาร  ที่เขาเรียกว่าชนะแบบมาร   ชนะแบบมารนี้ แพ้ด้วยกันทั้งคู่  เพราะเสียหายด้วยกันทั้งคู่  แต่คนที่ชนะแบบพระ ปลอดภัยด้วยกันทั้งคู่  คนที่หาเรื่องเมื่อไม่มีคนรับเรื่อง ก็ต้องยุติไปเอง   ทุกสิ่งทุกอย่างก็ระงับผ่านไป อย่างเรียบร้อย อย่างสงบ  อาจกลับมาเป็นมิตรกันก็ได้   เพราะเมื่อเป็นศัตรูกันไม่ได้ เมื่อยังต้องอยู่ด้วยกัน ก็เป็นมิตรกันเสีย ไม่ดีกว่าหรือ   เช่น แทนที่จะโกรธเขา  เห็นเขาเดือดร้อน พอจะช่วยเหลือเขาได้ ก็ยื่นมือให้ความช่วยเหลือเขาไป  ทั้งๆที่เขาพยายามจะทำร้ายเรา พยายามจะทำให้เราเกิดความเสียหายด้วยวิธีต่างๆนานา แต่เราเป็นศิษย์ของตถาคต เรามาวัดอยู่อย่างสม่ำเสมอ  มาฟังเทศน์ฟังธรรม  มาฝึกปฏิบัติจิตใจให้สงบให้นิ่ง  ให้มีความหนักแน่น มีความกล้าหาญ มีความเมตตา มีความกรุณา  เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับใคร  ถึงแม้จะโหดร้ายทารุณกับเราเพียงไร  ถ้าพอจะช่วยเหลือเขาได้ ก็ช่วยเหลือเขาไป 

อย่าไปเสียดายเรื่องชีวิต  เพราะชีวิตของคนเราทุกคน ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเสียไป  ชีวิตของเรามีไว้เพื่อใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์  ไม่ได้มีไว้ให้เกิดโทษ   ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในพระปัจฉิมโอวาทว่า  จงยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด   ความไม่ประมาทก็คือ ต้องคำนึงเสมอว่า ชีวิตของเราจะหมดไปเมื่อไรเวลาใด ไม่มีใครรู้   แม้แต่ตัวเราเอง เราก็ไม่รู้ว่า พรุ่งนี้จะตื่นขึ้นมาหรือไม่  คืนนี้นอนหลับไปแล้ว พรุ่งนี้ก็ไม่ตื่นขึ้นมาเลยก็เป็นไปได้  หรืออาจจะอยู่ต่อไปอีก ๕๐ ๖๐ ๗๐ ๘๐ ปี   ก็เป็นไปได้เหมือนกัน   แต่สิ่งที่ควรคำนึงก็คือ เมื่ออยู่ จะอยู่อย่างไร    ถ้าอยู่แล้วเป็นมาร เป็นเปรต เป็นยักษ์  อย่างนี้อย่าอยู่ไปดีกว่า  อยู่ไปแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์  เพราะทำให้เกิดโทษกับตัวเรา  อยู่ต้องอยู่แบบทำประโยชน์ เช่นดังที่ได้กล่าวไว้เมื่อสักครู่นี้ ให้มเมตตา มีขันติ  มีอุเบกขา  เวลาเกิดอะไรขึ้น ก็ให้มีสติประคับประคองจิตใจ  ถ้าใช้ปัญญาแก้ไขเหตุการณ์ได้ ก็แก้ไป  ถ้าแก้ไม่ได้ก็ปล่อยให้เกิดไป เพราะสิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่ได้อยู่ในการควบคุมบังคับของเรานั่นเอง เราอาจจะบังคับบางสิ่งบางอย่างได้ในบางเวลา  แต่เราจะไม่สามารถไปควบคุมบังคับทุกสิ่งทุกอย่างได้ทุกเวลา   

แม้แต่จิตใจของเรา เรายังควบคุมไม่ได้เลย ร่างกายของเรา ก็ควบคุมไม่ได้  เวลาไม่อยากให้ร่างกายแก่  มันก็ยังแก่จนได้  ไม่อยากให้เจ็บไข้ได้ป่วย มันก็เจ็บไข้ได้ป่วยจนได้ ไม่อยากให้ตาย มันก็ตายจนได้ ไม่อยากให้โกรธ มันก็โกรธ  ไม่อยากให้โลภ มันก็โลภ  ไม่อยากให้หลง มันก็หลง เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ ยังไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรานั่นเอง บางสิ่งบางอย่างเราก็ไม่สามารถไปควบคุมได้เลย  เช่นร่างกายนี้เราควบคุมไม่ได้เลย เรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย ส่วนเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลงในจิตใจนี้ เราทำได้ เพราะมีคนทำมาแล้ว เช่น พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านทำได้  ถ้าต้องการควบคุมใจของเรา  ก็ต้องดำเนินชีวิตในแนวเดียวกับที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ดำเนินมา   ในเบื้องต้นต้องเสียสละ   ต้องสละสิ่งต่างๆที่มีเหลือใช้เหลือกิน ที่เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพ  อย่าเก็บสะสมไว้ให้หนักอกหนักใจ เพราะถ้ามีอะไรก็ต้องมีความกังวล ที่จะต้องคอยดูแลรักษานั่นเอง  แต่ถ้าสละไป ให้เป็นทานกับผู้เดือดร้อน  เราก็จะได้ความสุข ได้ความเบาใจ  หมดภาระไปอย่างหนึ่ง  ไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งของนั้นๆอีกต่อไป  ถ้าสละได้มากเท่าไร ใจก็ยิ่งมีความสงบ มีความสุข  มีความหนักแน่นมากขึ้นไป 

ถ้าได้ฝึกฝนการเสียสละจนกลายเป็นนิสัยไปแล้ว  ต่อไปเวลาสูญเสียอะไรไป จะไม่เดือดร้อนใจเลย  ใครจะมาเอาอะไรไป  ไม่ว่าจะเป็นสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆก็ดี  คนที่เรารักก็ดี  หรือแม้แต่ชีวิตของเราก็ดี  เราจะไม่เศร้าโศกเสียใจ  ไม่หวาดวิตก ไม่กลัว  เพราะได้ฝึกการให้ การเสียสละมา จนเห็นคุณของการเสียสละแล้ว  เพราะทุกครั้งที่เสียสละ จิตจะสงบนิ่ง มีความสุข  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่คิดที่จะเบียดเบียนใคร เวลาต้องการอะไร ก็จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  เพราะรู้ว่าเป็นโทษทั้งกับผู้อื่นและกับตนเอง เวลาไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ใจของเราก็จะต้องวุ่นวาย  กังวล  ไม่สบายใจ  เกรงว่าจะต้องได้รับผลตอบแทน เมื่อทำเขาแล้ว ถ้าเผลอเขาก็คงจะต้องมาทำเรา จะเป็นความรู้สึกที่มีอยู่ในใจ  แต่ถ้าไม่ไปทำใคร ไม่ไปกลั่นแกล้งใคร ไม่ไปเบียดเบียนใคร  ไม่ไปสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับใครแล้ว จะมีความรู้สึกสบายอกสบายใจ  ทำอะไร ไปที่ไหน ก็จะไม่มีความหวาดระแวง  เป็นการกระทำที่ทำให้เกิดศีลขึ้นมา เพราะไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยวิธีการต่างๆ 

เมื่อเห็นคุณของการเสียสละ  เห็นคุณของการไม่เบียดเบียน เราก็จะเห็นผลที่เกิดขึ้นจากการไม่เบียดเบียน จากการเสียสละ คือจิตของเราจะมีความสงบ มีความสุข  จะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่จิตที่สงบต่างหาก  ไม่ได้อยู่ที่การได้ทรัพย์สมบัติ ได้สิ่งต่างๆที่ต้องการมาครอบครอง   เพราะสิ่งต่างๆเราก็ได้มามากมายแล้ว   แต่ก็ยังไม่เคยเจอความสุขแบบนี้สักที  แต่เมื่อได้เสียสละ ได้ละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว  จิตของเราก็มีความสงบ มีความสุข  จึงทำให้อยากจะทำจิตให้สงบมากขึ้น  จึงทำให้คิดแสวงหาที่สงบ ปลีกวิเวกออกจากสังคม เพื่อสร้างความสงบให้มีมากยิ่งๆขึ้นไป  ให้มีอยู่ตลอดเวลาเลย  ตลอด ๒๔ ชั่วโมง  เป็นสิ่งที่ทำได้  ถ้าปลีกวิเวกออกปฏิบัตินั่งสมาธิ เดินจงกรมตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับไป  ทำแต่กิจ ๒ ชนิดนี้ คือนั่งสมาธสลับกับการเดินจงกรม   ทำจิตให้สงบและเจริญวิปัสสนาปัญญา   พิจารณาสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด  ไม่มีตัวไม่มีตน  ไม่ใช่เป็นสมบัติของผู้ใดทั้งสิ้น 

ถ้าพิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้ว จนเห็นแจ้งชัดอยู่ในใจของเรา    ใจก็จะปล่อยวางสังขารทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา  หรือร่างกายของผู้อื่น  ใจก็จะไม่ยึดไม่ติด  เพราะรู้ว่าถ้าไปยึดไปติด  เวลาเกิดการพลัดพรากจากกัน ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจ    ไม่มีใครอยากจะทุกข์    เมื่อรู้ว่าต้นเหตุของความทุกข์ ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลาย   ก็ต้องปล่อยวาง จะปล่อยวางได้ ก็ต้องเห็นในความไม่เที่ยงของสังขารนั้นๆ  เห็นว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นความสุข   เห็นว่าไม่ใช่เป็นสมบัติของเรา  ไม่ใช่ตัวเรา  ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จะไม่ยึดไม่ติด  เมื่อไม่ยึดไม่ติดแล้ว ก็จะมีความสุข  เมื่อก่อนนี้คิดว่า คนเราจะมีความสุขเพราะมีสมบัติ  มีข้าวของเงินทอง  มีบริษัทบริวาร มีเพื่อน  มีสามี มีภรรยา  ถ้ามีสิ่งเหล่านี้แล้ว คิดว่าจะมีความสุข  แต่หารู้ไม่ว่าล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น เพราะเมื่อมีสิ่งต่างๆเหล่านี้แล้ว ก็ต้องมีความทุกข์ มีความกังวล มีความห่วงใย มีความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อต้องพลัดพรากจากกัน 

ถ้าไม่ยึดไม่ติดแล้ว จะไม่มีความทุกข์เลย จึงทำให้เห็นได้ว่าความสุขของคนเรานั้น ไม่ได้อยู่ที่การมีอะไรมากมายก่ายกอง  ความสุขอยู่ที่การไม่มีมากกว่า  ยิ่งไม่มีอะไรได้เลย ยิ่งมีความสุข  อย่างพระพุทธเจ้า หลังจากที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว กลับมีความสุขยิ่งกว่าขณะที่มีชีวิตอยู่    เพราะขณะที่มีชีวิตอยู่ ยังต้องดูแลรักษาอัตภาพร่างกาย  ถึงแม้จะไม่ยึดไม่ติด แต่ร่างกายก็ยังเป็นภาระ  ภาระที่จะต้องเลี้ยงดู  ภาระที่จะต้องรักษา  ต้องอาบน้ำอาบท่า เปลี่ยนเสื้อผ้า  เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องให้หยูกให้ยา  ต้องรับประทานอาหารทุกวัน  ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  จึงได้ทรงแสดงว่า ขันธ์นี้เป็นภาระหนักอย่างยิ่ง  ภาระหะเว ปัญจะ ขันธา  ขันธ์ ๕ เป็นภาระ  เมื่อปล่อยวางขันธ์ได้แล้ว  จิตจะสบาย ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องอีกต่อไป  เป็นบรมสุขัง  ความสุขที่เลิศที่สุด   นี่เป็นสภาพที่พระพุทธเจ้าได้ทรงได้เข้าถึง  คือความสุขหลังจากที่ได้ละสังขาร  ได้ดับขันธ์เสด็จปรินิพพานไป   แต่ก่อนไปทรงมีความห่วงใยพวกเรา ที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้อยู่  พวกเรายังมองเห็นตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้า   เห็นว่าการมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่วิเศษ ต้องอยู่ไปนานๆ  แต่หารู้ไม่ว่าชีวิตมีแต่ความทุกข์มากกว่าความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกข์ทางใจ 

ถ้ายังไม่ได้ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ออกไปจากจิตจากใจแล้ว  ต่อให้มีอะไรมากน้อยเพียงไร ก็ยังมีความรู้สึกว่าไม่พออยู่ดี  ยังอยากจะมีเพิ่มขึ้นไปอีก  เพราะนี่เป็นธรรมชาติของความอยาก ของความโลภที่มีอยู่ในใจ  ถ้ามีความโลภความอยากแล้ว  ต่อให้มีมากมายก่ายกองเพียงไร ก็ยังหาความสุขไม่เจอ   เพราะความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่คำว่าพอ  ถ้ายังไม่รู้จักคำว่าพอ ก็จะไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเรามาสร้างความพอให้เกิดขึ้น  ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือให้เสียสละ ให้ทาน ให้ละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น  ให้บำเพ็ญจิตตภาวนาทำจิตให้สงบ  เมื่อจิตมีความสงบแล้วก็ให้เจริญวิปัสสนา  ให้พิจารณาดูร่างกายว่าเป็นของไม่เที่ยง  เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย  เป็นอสุภ ไม่สวยไม่งาม  เป็นปฏิกูล มีสิ่งสกปรกต้องขับถ่ายออกมาอยู่ตลอดเวลา  เพื่อจะได้ปล่อยวางร่างกายทั้งของตนเองและของผู้อื่น เหตุที่ทำให้เรามีความผูกพันกับผู้อื่น เพราะไม่เห็นอสุภ ความไม่สวยงามของร่างกาย ไม่เห็นปฏิกูลในร่างกายนั่นเอง  จึงทำให้หลงรักร่างกายของผู้อื่น  อยากได้มาเป็นสมบัติครอบครอง เมื่อได้มาแล้วก็ต้องมาทุกข์กับเขา ทุกข์ด้วยความห่วง ทุกข์ด้วยความหวง  เป็นความทุกข์มากกว่าความสุข  เพราะไม่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรมนั่นเอง จึงต้องตกหลุมพรางอันนี้ไป  แต่ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ จะเห็นว่าชีวิตคู่กับชีวิตเดี่ยวนั้นเทียบกันไม่ได้  อยู่คนเดียวดีกว่าอยู่ ๒ คน  อยู่ ๒ คนแล้ววุ่นวาย ต้องมีเรื่องมีราว ทะเลาะเบาะแว้ง ขัดอกขัดใจกันตลอดเวลา  อยู่คนเดียวมีใจเป็นของตน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  ไม่ต้องแบ่งให้ผู้อื่น  คิดอยากจะทำอะไรก็ทำได้ดังใจ  ไม่ต้องกังวลว่าผู้อื่นจะคิดอย่างไร  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้