กัณฑ์ที่ ๒๐     ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

ความสุขของฆราวาส

 

ความปรารถนาของมนุษย์เราทุกๆคนนั้น มีอยู่เหมือนๆกัน คือปรารถนาที่จะมีความสุขด้วยกันทั้งนั้น  แต่วิธีที่หาความสุขมานั้น  แต่ละคนอาจจะมีวิธีต่างๆกันไป ถูกบ้าง ผิดบ้าง ผลที่ตามมาคือ  มีสุขมากบ้าง น้อยบ้าง ต่างกันไป  ทั้งนี้เป็นเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้    ก็เพราะความหลง หรือความมืดบอดของจิตใจนั้น ที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า  เหตุอันใดเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข   เหตุอันใดเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ มีมากน้อยต่างกัน เมื่อยังเป็นผู้มืดบอดอยู่ เราควรเข้าหาผู้ที่มีแสงสว่าง  คนที่ไม่ฉลาด ยังไม่รู้จักเหตุ จักผล ที่ดี ที่ควร  ควรเข้าหาคนที่ฉลาดกว่า ที่มีความรู้มากกว่า ดังในสุภาษิตที่แสดงว่า   อเสวนา จ  พาลานัง  บัณฑิตานัญจ  เสวนา  เอตัมมังคลมุตตมัง  อย่าคบคนพาล คบบัณฑิต นี้เป็นมงคลอย่างยิ่งของชีวิต บัณฑิตเป็นผู้ฉลาด  เป็นผู้รู้ถึงเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญรุ่งเรือง  และรู้จักเหตุที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะทั้งหลาย   ส่วนคนชั่วหรือคนพาลนั้น ไม่สามารถที่จะแยกแนะในสิ่งเหล่านี้ได้ 

การเข้าหาบัณฑิตอย่างพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ทั้งหลายนั้น ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่ง  ชาวพุทธนั้น มีพระพุทธ   พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ   แต่ไม่ค่อยได้เข้าหา  พระพุทธ   พระธรรม   พระสงฆ์ กันสักเท่าไร ได้แต่เพียงกราบไหว้เฉยๆเท่านั้น  ยังไม่เพียงพอ  ผู้ที่จะเข้าถึงสรณะทั้ง ๓ นี้ จะต้องศึกษาพระธรรมคำสอน แล้วนำพระธรรมคำสอนนั้น ไปประพฤติ ปฏิบัติ  ชำระความมืดบอดทั้งหลาย  ที่มีอยู่ภายในจิตใจให้หมดสิ้นไป เมื่อความมืดบอดหมดไป  ความสว่างก็จะเกิดขึ้น เมื่อเกิดความสว่างก็จะสามารถมองเห็นได้ว่าอะไร  เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข อะไรเป็นเหตุที่นำมาซึ่งความทุกข์ การที่ได้พบกับพระ   ผู้รู้ธรรมะ  จึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง  สมณานัญจ  ทัสสนัง  เอตัมมังคลมุตตมัง  การได้เห็นสมณะ ผู้ประเสริฐ  ผู้ทรงธรรม  เป็นมงคลอย่างยิ่ง  เพราะจะได้ยิน ได้ฟัง คำชี้แนะในเรื่องถูก เรื่องผิด เรื่องดี เรื่องชั่วทั้งหลาย เพื่อเป็นแนวทางประพฤติ ปฏิบัติ ที่นำพาไปสู่ความสุข  ความเจริญ  อย่างแท้จริง

อย่างความสุขของคฤหัสถ์  หรือฆราวาสผู้ครองเรือนนั้น  พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ๔ ประการด้วยกันคือ ๑. การมีทรัพย์  . การได้ใช้ทรัพย์  . ความไม่มีหนี้  .การกระทำที่ไม่เป็นโทษ   ทั้ง ๔ ประการ  นี้คือความสุขของผู้ครองเรือน เพราะคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนนั้น ยังมีความจำเป็นจะต้องอาศัยเงินทองเป็นปัจจัย แลกสิ่งของต่างๆที่จำเป็นต่อการยังชีพของฆราวาส นั้นก็คือปัจจัย ๔  ส่วนสมณะนักบวชนั้น ท่านไม่มีความจำเป็นในเรื่องเงิน เรื่องทอง  เพราะท่านมีสิทธิ์พิเศษสามารถรับสิ่งต่างๆ   จากญาติโยมได้   คือการออกบิณฑบาตทุกๆเช้า  ท่านเพียงถือบาตรเข้าไปในหมู่บ้าน ก็จะมีผู้มีศรัทธาคอยถวายอาหารคาวหวานต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว  ยังมาที่ศาลาวัดนำจตุปัจจัยไทยทานอื่นๆเช่น ยารักษาโรค  จีวร  เครื่องนุ่งห่ม เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ  แล้วยังสร้างกุฏิที่อยู่อาศัยถวายแก่พระภิกษุสงฆ์อีกด้วย การมีทรัพย์จึงไม่ใช่ความสุขของสมณะเพศ  กลับเป็นพิษ เป็นภัย  เพราะเมื่อมีเงินทองแล้ว มักจะเอาไปใช้ในทางที่ผิด ที่ไม่ควร  ดังที่เราได้ยินได้ฟังข่าว ได้อ่านตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ การมีทรัพย์ของพระ จึงเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะเมื่อมีทรัพย์ มากๆก็เกิดกิเลส เกิดปัญหาตามมา แต่สำหรับฆราวาสนั้น การมีทรัพย์กลับเป็นความสุข เพราะเป็นความจำเป็น ถ้าฆราวาสไม่มีทรัพย์จะไปซื้ออะไรก็ไม่ได้ ซื้อเสื้อผ้าก็ไม่ได้  สร้างบ้านอยู่ก็ไม่ได้  เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาตัว ต้องเข้าโรงพยาบาล ถ้าไม่มีทรัพย์ก็ไม่สามารถจะรักษาตัวได้   การมีทรัพย์ของฆราวาสจึงเป็นความสุขประการหนึ่ง

ประการที่ ๒ เมื่อมีทรัพย์แล้ว ต้องรู้จักใช้  คืออย่าตระหนี่ อย่าเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์  บางคนหาเงินหาทองมาได้ มีแต่เก็บไว้ ไม่กล้าใช้ กลัวหมด  อยู่อย่างอดๆอยากๆ เพราะไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สุขนั้นเอง การใช้ทรัพย์นั้น ต้องใช้ให้ถูก ต้องใช้ให้เป็น คือต้องใช้ทรัพย์ให้อยู่ในขอบเขตของรายได้ ไม่ให้รายจ่ายเกินรายได้  เพราะถ้าใช้มากกว่ารายได้ปัญหาก็จะตามมา จะเอาเงินในส่วนที่มันขาดนั้นมาจากไหน หนีไม่พ้นต้องไปกู้หนี้ยืมสิน  แล้วสร้างความทุกข์ให้กับตนเอง การใช้ทรัพย์  เพื่อให้เกิดความสุข ต้องรู้จักประมาณในการใช้ทรัพย์  คือให้มีรายจ่ายพอดีกับรายรับ ให้แบ่งรายรับออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ  ส่วนแรกเอาไว้เลี้ยงดูตัวเอง   ส่วนที่ ๒ นำไปเลี้ยงดูผู้อื่น  เช่นถ้ามีครอบครัว ก็ต้องเลี้ยงดูบุตร ธิดา สามี ภรรยา บิดา มารดา  จากนั้นจึงค่อยไปสงเคราะห์ผู้อื่น  เช่นทำบุญ ทำทาน  กับสมณะ ชี พราหมณ์ ผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งหลาย  คนพิกล พิการ  คนแก่  คนชรา สร้างโรงเรียน  สร้างโรงพยาบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม  ส่วนที่ ๓  ให้เก็บรักษาไว้เป็นทุนสำรอง   ใน ยามตกทุกข์ได้ยาก เจ็บไข้ได้ป่วย  นี่เป็นวิธีใช้ทรัพย์ที่เกิดประโยชน์สุขทั้งกับตัวเราและผู้อื่น สุขกายและสุขใจ  สุขกายเกิดจากการเอาทรัพย์ไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ สุขใจเกิดจากการเลี้ยงดู ช่วยเหลือผู้อื่น ทำบุญ ทำกุศล เป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจ ทำให้จิตใจมีความสุข ความสงบ  ความสบาย  นำความสุขมาให้ทั้งกายและใจ นี่คือการใช้ทรัพย์ที่ทำให้เกิดความสุข

ประการที่ ๓ ความสุขคือการไม่มีหนี้  คนเราเวลามีหนี้สินนั้น  เปรียบเหมือนกับมีของหนักที่ต้องแบกอยู่บนบ่า เวลามีภาระ มีของที่ต้องแบกอยู่บนบ่านั้น มันหนัก มันทุกข์ มันไม่สบาย การมีหนี้ก็เป็นเช่นนั้น  เพราะเมื่อไปกู้หนี้ยืมสินมาแล้ว มีภาระที่จะต้องชดใช้เงินก้อนนั้น  ถ้าไม่ชดใช้ ก็จะถูกดำเนินคดี ถูกจับเข้าคุก เข้าตะราง เมื่อมีหนี้สินแล้ว  จะมีปัญหาตามมา รายได้ที่แบ่งไว้ ๓ ส่วน จะต้องแบ่งเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง  เพื่อเอาไว้ใช้หนี้  เงินทองที่ไว้ใช้จ่ายก็ลดน้อยลงไป  แทนที่จะเป็นความสุขกลับกลายเป็นความทุกข์ไปเพราะมีหนี้สินนั้นเอง

หนี้สินเกิดขึ้นได้อย่างไร  เกิดขึ้นเพราะการไม่รู้จักหักห้ามจิตใจ ไม่รู้จักหักห้ามความอยาก ความต้องการ เห็นคนอื่นมีอะไร ก็อยากจะได้   อยากจะมีเหมือนเขา ทั้งๆที่ฐานะไม่เอื้ออำนวยให้มีสิ่งเหล่านั้นได้ เลยต้องซื้อแบบเงินผ่อนบ้าง กู้หนี้ยืมสินบ้าง  กลายเป็นคนมีหนี้สินขึ้นมา สิ่งของต่างๆที่ได้มาแทนที่จะนำมาซึ่งความสุข  ความสบายใจ  อย่างที่เคยนึกวาดฝันไว้ กลับกลายเป็นเหตุที่นำมาซึ่งความทุกข์  เพราะได้ก่อหนี้ขึ้นเพื่อจะได้สิ่งเหล่านี้มานั้นเอง เช่นบางคนอยากจะได้รถยนต์   อยากจะได้บ้าน ก็ไปซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์มาขับ เกินฐานะของตน  ไม่สามารถจะผ่อนเงินได้  สิ่งของเหล่านี้ก็ต้องถูกยึดกลับไป  เมื่อสูญเสียสิ่งเหล่านี้ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา  

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พวกเรารู้จักคำว่า มักน้อย สันโดษ  คำว่า มักน้อย คือให้มีความเพียงพอ มีเท่าที่จำเป็น  อย่ามีมากเกินความจำเป็น  เช่นให้มีอาหารรับประทานไปวันหนึ่งๆ ให้มีเสื้อผ้าสักสองสามชุด  ให้มีบ้านอยู่ เป็นของเราเองก็ได้  เช่าเขาก็ได้  ถ้ายังไม่มีฐานะพอที่จะสร้างบ้านสร้างเรือนของเราได้ ยารักษาโรคก็รักษากันไปตามมีตามเกิด  ตามโรงพยาบาลรัฐบาล หรือโรงพยาบาลราษฎร์ แล้วแต่ฐานะ ให้พออยู่ได้   ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปดิ้นรนกู้หนี้ยืมสิน มาสร้างความทุกข์ให้กับตน   นี่คือความมักน้อย สันโดษคือความยินดีตามฐานะ ตามมี ตามเกิด อย่ามองคนอื่นที่มีมากกว่าเรา จะเกิดกิเลส เกิดตัณหา เกิดความทุกข์ขึ้นมา ให้มองคนที่แย่กว่าเราบ้าง  คนที่เขาทุกข์กว่าเราบ้าง  จะเกิดความสบายใจ  เพราะคนอื่นที่แย่กว่าเรา  ยังอยู่ได้เลย แล้วทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ ต้องรู้จักใช้ปัญญา มองคน ให้มองทั้งข้างล่างและมองทั้งข้างบน แล้วจะเกิดความรู้สึกพอดีจะรู้สึกพอใจ เมื่อมีความพอใจแล้ว จะดับความอยาก ดับกิเลสตัณหาได้   เมื่อดับกิเลสตัณหาได้  การที่จะต้องไปกู้หนี้ยืมสินก็หมดไป เมื่อไม่มีหนี้สิน มันก็สบายใจ

ประการที่ ๔ ความสุขที่เกิดจากการกระทำที่ไม่มีโทษ  ทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้ว่า สิ่งที่มีโทษคืออบายมุขทั้งหลาย   เช่นการเล่นการพนัน  การเสพสุรายาเมา   การเที่ยวเตร่กลางค่ำกลางคืน  การคบคนไม่ ดี ความเกียจคร้าน เมื่อกระทำสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ผู้กระทำ คนที่เสพสุรายาเมานั้น  เมื่อเสพสุราเข้าไปแล้วจะกลายเป็นคนที่ไม่สามารถประคับประคองดูแลตัวเองได้  ไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามได้ แต่กลับไปทำในสิ่งที่ผิดศีล ผิดธรรมไปทะเลาะวิวาท ไปทำร้ายผู้อื่น ต้องเสียงานเสียการเพราะตื่นไปทำงานไม่ทัน  เมื่อขาดงานอยู่เรื่อยๆ ก็ต้องถูกไล่ออกจากงาน    ถ้าออกจากงานก็ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเงิน ไม่มีทอง เป็นปัญหาตามมา การเล่นการพนันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน การเที่ยวเตร่ก็ เช่นกัน พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ถอยห่างจากอบายมุขทั้งหลาย

ขอให้พวกเราจงใช้ปัญญาทุกครั้งเวลาจะทำอะไร จะใช้อะไร  ขอให้ใช้เหตุ ใช้ผล ใช้ธรรมะเป็นตัวชี้นำ ธรรมะก็คือปัญญา   คือเหตุ คือผล นั่นเอง ธรรมะที่แสดงไว้ในวันนี้ คือความสุขของฆราวาสทั้ง ๔ ประการ มี

. การมีทรัพย์

. การใช้ทรัพย์

. การไม่มีหนี้

. การกระทำที่ไม่เกิดโทษ

ถ้าท่านทั้งหลายมีธรรมทั้ง ๔ ประการนี้  ชีวิตของท่านจะมีแต่ความสุข  ความเจริญรุ่งเรืองโดยถ่ายเดียว การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้