กัณฑ์ที่
๒๐๐
ภาวนามยปัญญา
การที่ท่านทั้งหลายได้มาวัดกันอย่างสม่ำเสมอนั้น
ก็เป็นเพราะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ที่เกิดจากศรัทธาความเชื่อ
และปัญญาความเห็นชอบ
แต่ความเลื่อมใสที่เกิดจากศรัทธา
ยังไม่แน่วแน่มั่นคง
มีโอกาสหวั่นไหวสั่นคลอนจนล้มเลิกไปได้
ไม่เหมือนกับความเลื่อมใสที่เกิดจากปัญญาความเห็นชอบ
เป็นความรู้จริงเห็นจริง
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เป็นความเลื่อมใสที่มีความแน่วแน่มั่นคงถาวร
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
จะไม่ทำให้ความเลื่อมใสชนิดนี้หวั่นไหวได้
ความเลื่อมใสที่เกิดจากศรัทธา
เปรียบเหมือนคนตาบอด
ที่ได้ยินได้ฟังสิ่งต่างๆจากผู้อื่น
แต่ยังไม่ได้เห็นด้วยตนเอง
จึงไม่มีความแน่ใจ
ไม่มีความมั่นใจ
ส่วนความเลื่อมใสที่เกิดจากปัญญาความเห็นชอบนั้น
เปรียบเหมือนคนตาดีที่มองเห็นสิ่งต่างๆทั้งหลาย
เมื่อเห็นแล้วย่อมมีความมั่นใจ
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีปัญญา
มีแต่ความเลื่อมใสที่เกิดจากศรัทธา
ขั้นต่อไปที่พึงกระทำก็คือ
พยายามสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น
ปัญญาในทางพระพุทธศาสนานั้น
เกิดขึ้นได้ ๓ ลักษณะด้วยกัน
คือ ๑. สุตตมยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง
ได้อ่านธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
๒.
จินตมยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง
เช่นบางท่านอาจจะไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะ
หรือได้ศึกษาธรรมะมาก่อน
แต่เป็นคนที่ชอบใคร่ครวญ
ชอบคิดไตร่ตรองอยู่เรื่อยๆ
ด้วยเหตุด้วยผล
ก็จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้
๓. ภาวนามยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม
เจริญจิตตภาวนา ในปัญญาทั้ง ๓
ชนิดนี้ ๒
ชนิดแรกยังไม่เป็นมรรคเป็นผล
ไม่เหมือนกับปัญญาชนิดที่ ๓
เป็นปัญญาที่ทำให้เกิดมรรคผลได้เต็มร้อย
ในวันนี้ท่านกำลังเจริญสุตตมยปัญญากัน
คือกำลังฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่สอนให้ละเว้นจากอบายมุขต่างๆ
เช่นการเสพสุรายาเมา
เล่นการพนัน เที่ยวเตร่ คบคนชั่วเป็นมิตร
ความเกียจคร้าน
หลังจากได้ยินได้ฟังแล้ว
ก็จะนำไปปฏิบัติต่อ
แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่นเคยเสพสุรายาเมาเป็นนิสัย
ถึงแม้จะรู้ว่าการเสพสุราเป็นพิษเป็นโทษเป็นภัยกับตน
แต่ก็ยังเลิกไม่ได้
นี่คือปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง
แต่นำเอาไปปฏิบัติไม่ได้ แต่ถ้าทุกครั้งที่อยากจะเสพ
ก็พยายามฝืน พยายามสอนตนเองว่า
การเสพสุรามีแต่ความเสียหายตามมา
เสียเวลา เสียเงิน เสียทอง
เสียสุขภาพ
ชีวิตจะสั้นกว่าคนที่ไม่ได้เสพ
ถ้าคอยพร่ำเตือนสอนตนเองอยู่เรื่อยๆ
อย่างสม่ำเสมอ ไม่ช้าก็เร็ว
จิตก็จะมีพลัง
ทำให้เลิกเสพสุรายาเมาได้
ถ้าเลิกได้ก็แสดงว่ามีปัญญาชนิดที่
๓ คือภาวนามยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ
เพราะเห็นโทษของการเสพและเห็นคุณของการเลิกเสพ
เมื่อเห็นคุณเห็นโทษของการละและการเสพแล้ว
ก็จะไม่เสพอีกต่อไป
ถึงแม้ใครจะเอาสุราราคาแพงๆมาให้ดื่มฟรีๆ
ก็จะไม่อยากดื่ม
เพราะเห็นโทษ เหมือนกับคนที่เห็นพิษภัยของอสรพิษ
เวลาใครจะให้งูพิษมาฟรีๆเปล่าๆ
ก็ไม่อยากจะได้
เพราะไม่รู้ว่าจะเอามาทำอะไร
มีแต่จะเกิดโทษ
ถ้าเผลอก็จะถูกกัดตายได้
นี่ก็คือลักษณะของปัญญาที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ
ถ้ามีปัญญาแบบนี้แล้ว
จะสามารถละสิ่งต่างๆที่เป็นโทษได้ทั้งหมด
จะทำแต่สิ่งที่มีคุณมีประโยชน์โดยถ่ายเดียว
เพราะเห็นโทษของสิ่งที่เป็นโทษ
และเห็นคุณของสิ่งที่เป็นคุณ
แต่การจะเห็นแบบนี้ได้
จะต้องเกิดจากการปฏิบัติ
พร่ำสอนตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ถ้าไม่ได้พร่ำสอนแล้วจิตก็จะเผลอ
แล้วก็จะหวนไปคิดแบบเดิมๆ
ที่เคยคิดมาก่อน
เวลาใครมาชวนไปเสพสุราก็บอกว่าไม่เป็นไร
เสพเพียงครั้งเดียวแค่นั้นเอง
มันก็เป็นการแก้ตัวไปแบบน้ำขุ่นๆ
ทำให้ไม่สามารถเลิกเสพสุราได้
ทุกครั้งเวลาอยากจะดื่มก็บอกว่าไม่เป็นไรนิดๆหน่อยๆ
จะพูดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
นี่คือลักษณะของคนที่รู้ว่าสุราเป็นโทษ
แต่ยังไม่สามารถเลิกได้
เพราะไม่มีวิริยะความอุตสาหะพยายาม
ไม่มีขันติความอดทน
ไม่มีสมาธิที่จะดึงจิตไว้ไม่ให้ไหลไปตามกระแสของความอยาก
การที่จะให้เกิดปัญญาแบบภาวนามยปัญญาได้
จึงจำเป็นต้องมีการปฏิบัติธรรม
คือต้องฝึกทำจิตให้สงบให้ได้ก่อน
เพราะการทำจิตให้สงบเป็นการดึงจิตไว้
จิตก็เปรียบเหมือนกับม้าตัวหนึ่ง
ถ้าไม่มีวิธีบังคับควบคุมให้ม้าหยุด
ม้าก็จะเดินไปเรื่อยๆ
ไม่สามารถควบคุมม้าได้
เวลาม้าพยศก็ไม่สามารถหยุดความพยศของม้าได้
แต่ถ้ารู้จักวิธีฝึกม้า
ทำให้ม้าหยุดตามคำสั่งได้ ต่อไปม้าจะทำอะไรก็ไม่สามารถทำไปตามอำเภอใจได้
จิตก็เป็นอย่างนั้น
ถ้ายังไม่ได้ฝึกทำสมาธิ
จิตก็จะไม่อยู่ภายใต้อำนาจ ทำให้เราไม่สามารถควบคุมบังคับจิตให้หยุดนิ่งได้
ให้คิดในสิ่งที่ต้องการจะให้คิด
เช่นโทษของสุรา
จิตก็จะไม่อยู่กับความคิดนั้น
อาจจะคิดได้เพียงครั้งสองครั้ง
แล้วก็แว่บไปคิดเรื่องอื่นต่อ
เมื่อไปคิดเรื่องอื่นก็จะลืมคิดถึงโทษของสุรา
แต่ถ้ามีสมาธิ เราก็จะสามารถควบคุมจิตให้หยุด
ให้ทำตามคำสั่งได้
เวลาจะสอนจิตให้รู้เรื่องโทษของสุรา จิตก็จะคอยรับฟัง
ไม่ช้าก็เร็วความรู้เรื่องโทษของสุราก็จะซึมซาบเข้าไปในจิต
เมื่อถึงเวลาที่อยากจะเสพสุรา
ก็จะมีปัญญาความรู้โทษของสุรา
มาหักห้ามจิตใจ
ไม่ให้ไปเสพสุรา
เพราะไม่อยากจะรับโทษ
ไม่อยากจะตายก่อนวัย
แต่คนที่ยอมตายก่อนวัย
ก็เพราะไม่มีกำลังหักห้ามจิตใจของตน
ไม่มีกำลังหักห้ามความอยาก
เมื่อเกิดความอยากแล้วก็ต้องคล้อยตามความอยากไป
เช่นเดียวกับการกระทำสิ่งอื่นๆที่เป็นโทษ
ก็เกิดจากจิตที่ไม่มีภาวนามยปัญญา
เพราะไม่ได้ฝึกฝนจิต
ปล่อยให้จิตเป็นไปตามอัธยาศัย
ตามอำเภอใจ
นึกอยากจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป
พอเวลาไปทำในสิ่งที่เป็นโทษก็หักห้ามไม่ได้
จนในที่สุดก็ต้องรับโทษนั้นไปด้วยวิธีต่างๆ
บางคนถึงกับต้องเข้าคุกเข้าตะรางไป
บางคนถึงกับถูกลงโทษประหารชีวิต
หรือเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควร
เช่นขับรถในขณะที่มึนเมา
อาจจะประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายได้
เหตุเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีปัญญาชนิดที่
๓ คือภาวนามยปัญญานั่นเอง
ปัญญาชนิดแรกคือสุตตมยปัญญานี้
ส่วนใหญ่เราก็ได้ยินได้ฟังกันเสมอ
มีคนคอยสอน คอยบอก
คอยประกาศอยู่อย่างต่อเนื่อง
เช่นเวลามีเทศกาลที
ก็มีการรณรงค์บอกกัน
ว่าอย่าไปขับรถในขณะที่เสพสุรายาเมา
แต่เนื่องจากว่าฟังแล้วไม่เอามาใส่ใจ
ไม่เอามาทบทวน
ไม่เอามาคอยเตือนใจ
ฟังเข้าหูซ้ายออกหูขวา ปัญญาแบบนี้เลยไม่เกิดประโยชน์
แต่ถ้าเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาพร่ำมาสอนมาเตือนตนอยู่เรื่อยๆ
อย่างต่อเนื่องแล้ว
ไม่ช้าก็เร็วก็จะมีปัญญาที่จะหักห้ามต่อสู้กับความอยากต่างๆได้
แต่การที่จะทำให้เราสามารถพร่ำสอนจิตได้อย่างต่อเนื่อง
เป็นเวลาอันยาวนานนั้น
เราต้องฝึกทำจิตให้สงบก่อน คือต้องสามารถควบคุมจิตให้อยู่ใต้บังคับของเรา
การทำสมาธิเป็นการทำจิตให้นิ่ง
เป็นการควบคุมจิต
ถ้าไม่สามารถควบคุมจิตใจได้
ก็จะไม่สามารถอบรมสั่งสอนจิตให้เกิดปัญญาแบบภาวนามยปัญญาขึ้นมาได้
ถ้าไม่สามารถสอนจิตได้อย่างต่อเนื่อง
ก็ต้องมาทำจิตให้สงบเสียก่อน
พยายามหาเวลาทำจิตให้นิ่ง
ทำสมาธิด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ถนัด
ในเบื้องต้นอาจจะเป็นการสวดมนต์ไหว้พระไปก่อน ควบคุมจิตให้อยู่กับบทสวดมนต์
ไม่ให้จิตไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
ให้มีสติควบคุม
ให้รู้อยู่ว่าขณะนี้กำลังสวดมนต์อยู่
ไม่ไปคิดเรื่องราวต่างๆ
ให้สวดไปเรื่อยๆ แล้วจิตจะค่อยๆสงบตัวลง
เพราะบทสวดมนต์จะกล่อมจิตให้สงบได้
หรือถ้าไม่รู้จักบทสวดมนต์
เพียงแต่ใช้คำบริกรรมเพียงคำเดียวก็ได้
เช่นใช้คำว่า พุทโธๆๆ
กำหนดจิตให้ระลึกรู้อยู่กับคำว่าพุทโธๆๆอยู่ในใจ
อย่าให้จิตแว่บไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
ถ้าจิตเผลอไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
ก็ให้ดึงจิตกลับมา
ให้คิดอยู่กับคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆๆ
ถ้าสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องแล้ว
ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมลงสู่สมาธิ
จิตจะนิ่งจะสงบ
ในขณะนั้นจิตจะมีความสุข มีความเย็น
มีความสบาย
จะเห็นคุณของสมาธิขึ้นมาทันทีว่า
เวลาทำจิตให้สงบแล้วมีความสุข
เป็นความสุขที่ไม่ต้องไปแสวงหาจากสิ่งต่างๆภายนอก
ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง
ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นมาให้ความสุขกับเรา
เป็นความสุขที่เราสร้างขึ้นมาให้กับตัวของเราเอง
ด้วยการควบคุมจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ถูกจริต
ถ้าชอบสวดมนต์ก็สวดไป
ถ้าชอบบริกรรมพุทโธๆๆ
ก็บริกรรมไป ถ้าชอบดูลมหายใจ
ก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออก
ดูลมเข้าออกที่ปลายจมูก
ไม่ต้องตามลมเข้า
ไม่ต้องตามลมออก
ให้รู้อยู่จุดเดียวจุดที่ลมสัมผัส
เวลาเข้าไปในจมูกก็รู้อยู่ที่ปลายจมูก
เวลาออกมาก็รู้อยู่ที่ปลายจมูก
ให้รู้อยู่เพียงเท่านี้
รู้ว่าลมกำลังเข้า
ลมกำลังออก
ลมจะสั้นหรือจะยาว
ก็ให้รู้ตามความเป็นจริง
จะละเอียดหรือหยาบ
ก็ให้รู้ตามความเป็นจริง
ไม่ต้องไปควบคุมบังคับลม
เพียงแต่ใช้ลมเป็นอารมณ์เกาะจิต
ผูกจิตไว้
ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆเท่านั้น
นี่เป็นวิธีทำจิตให้สงบ
ทำจิตให้นิ่ง
ทำจิตให้อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับ
ถ้าทำจิตให้เป็นสมาธิได้แล้ว
หลังจากที่ออกจากสมาธิ
ก็จะสามารถอบรมสั่งสอนจิตให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้
ปัญญาในทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ
ที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ
ความรู้ในความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขารร่างกายของเรา
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญมรณานุสติอยู่เสมอ
ให้สอนตนอยู่เสมอว่า
เมื่อเกิดมาแล้วเราต้องมีความแก่
มีความเจ็บ
มีความตายเป็นธรรมดา
ล่วงพ้นความแก่ ความเจ็บ
ความตายไปไม่ได้ นี่แหละเป็นสิ่งที่ควรสอนตนอยู่เรื่อยๆ
ถ้าคอยสอนตนให้รู้ว่า
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
เป็นธรรมดา
เป็นสิ่งที่ล่วงพ้นไปไม่ได้แล้ว
ต่อไปจิตจะไม่กลัวความแก่
ความเจ็บ ความตาย
เพราะรู้ว่าเป็นความจริงที่ทุกคนจะต้องประสบด้วยกันทั้งสิ้น
กลัวไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
กลัวไปก็ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาเปล่าๆ
แต่ถ้าไม่กลัวความทุกข์ก็ไม่เกิด
แต่ถ้าไม่เจริญธรรมะบทนี้แล้ว
เดี๋ยวก็จะลืม
แล้วก็ไปคิดเรื่องราวต่างๆ
คิดสร้างโน่นทำนี่
คิดว่าจะอยู่ไปตลอด
กลายเป็นความหลงผิดไป
เวลาเกิดความอยากความโลภก็ยับยั้งไม่ได้
แต่ถ้าหมั่นพยายามสอนใจอยู่เสมอ
เตือนใจอยู่เสมอว่า
เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ
ต้องตาย เวลาเกิดความโลภ
เกิดความอยากก็จะรู้สึกเฉยๆ
เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำไม
ถ้ามีอยู่พอเพียง
มีความสุขอยู่แล้วกับสิ่งที่มีอยู่
จะไปหามาอีกทำไม
คนที่มีความโลภ
มีความอยากมากๆนี้
เป็นเพราะลืมความแก่
ความเจ็บ ความตายนั่นเอง
เพราะขาดปัญญาทางพระพุทธศาสนา
อาจจะเก่งความรู้ทางโลก
เป็นถึงด๊อกเตอร์
มีปริญญาตรีโทเอกก็ตาม
แต่ความรู้ทางโลกไม่ใช่ความรู้ที่จะทำให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ได้
แต่เป็นเครื่องมือของกิเลสตัณหา
ที่จะฉุดลากให้เข้าสู่กองทุกข์เสียมากกว่า
ดังนั้นอย่าไปคิดว่า
เมื่อเรียนจบมามีความรู้สูงๆในทางโลกแล้ว
จะฉลาด จะเก่ง ถ้าฉลาดจริง
เก่งจริง
ต้องอยู่เหนือความทุกข์ได้
ต้องไม่กลัวความแก่
ต้องไม่กลัวความเจ็บ
ต้องไม่กลัวความตาย
ถ้าตราบใดยังกลัวความแก่
กลัวความเจ็บ
กลัวความตายอยู่
แสดงว่ายังไม่มีปัญญาที่แท้จริง
พระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆสาวกเท่านั้นที่มีปัญญาชนิดนี้
ท่านไม่มีความอ่อนไหวกับความแก่
ความเจ็บและความตาย
การใช้ชีวิตของท่านจึงเป็นแบบเรียบง่าย
เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรเรื่องความร่ำรวย
ไม่รู้ว่าจะเอาสมบัติไปทำไมมากมายก่ายกอง
เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นที่พึ่งของใจนั่นเอง
มีมากมายเท่าไหร่แทนที่จะทำให้ใจมีความสุข
มีความสบาย
กลับกลายเป็นเครื่องกดดันจิต
ให้มีความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไปอีก
เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความเสียดาย
ที่เกิดจากความห่วงใย
ที่ต้องคอยดูแลรักษา
คนที่มีปัญญาแล้ว
จะไม่สะสมทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง
บริษัทบริวารต่างๆทั้งหลาย
แต่จะหันมาสะสมอริยทรัพย์
คือทรัพย์ภายใน ได้แก่ปัญญานี้เอง
เพราะถ้ามีปัญญาแล้ว
ปัญญาจะคุ้มครองรักษาจิตให้อยู่เหนือความทุกข์
ความวุ่นวายใจทั้งหลายได้
ถ้ายังไม่มีปัญญาชนิดนี้
ก็ควรพยายามสร้างสมาธิให้เกิดขึ้นก่อน
จะได้มีสมาธิในการอบรมพร่ำสอนจิต
เกี่ยวกับเรื่องความเป็นความตาย
แต่ถ้ายังไม่สามารถทำจิตให้สงบได้
ก็แสดงว่าขาดสติ
ที่เป็นตัวควบคุมบังคับจิตให้สงบนั่นเอง
ถ้าไม่มีสติก็ต้องเจริญสติก่อน
การเจริญสตินี้สามารถเจริญได้ทุกที่
ทุกแห่งหน ทุกเวลา
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนสามารถเจริญสติได้ทั้งนั้น
เพราะสติหมายถึงการระลึกรู้
คือให้รู้อยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่
ในขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ กำลังฟังเทศน์ก็ฟังเทศน์ไป
แต่ถ้าไปคิดเรื่องอื่น
แสดงว่าไม่มีสติแล้ว
ไม่มีสติอยู่กับการฟัง
เวลาเขียนหนังสือ
ก็ต้องมีสติอยู่กับการเขียนหนังสือ
ถ้าเผลอไปเดี๋ยวก็จะเขียนผิด
แต่ถ้ามีสติอยู่กับการเขียน
คำทุกคำที่เขียนก็จะไม่ผิดพลาด
ฉันใดไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่
ในอิริยาบถทั้ง ๔
เดิน ยืน นั่ง นอน
ก็ให้มีสติอยู่กับอิริยาบถทั้ง
๔
คืออย่าส่งจิตไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
ที่ผ่านมาแล้วในอดีตก็ดี
เรื่องราวต่างๆที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตก็ดี
ยกเว้นถ้ามีความจำเป็นต้องคิดก็ให้มีสติอยู่กับการคิดนั้น
โดยหยุดการกระทำอย่างอื่นเสียก่อน
อย่าไปทำทั้งสองอย่างพร้อมๆกัน
เช่นรับประทานอาหารไปก็คิดถึงเรื่องต่างๆไปด้วย
ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าจิตไม่มีสติ
จิตสลับไปสลับมา
ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม
ถ้ารับประทานอาหารก็ให้รับประทานอาหารไปอย่างเดียว
อย่าไปคิด อย่าไปคุยกัน
แต่เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วจะคิดเรื่องอะไรก็นั่งคิดให้เสร็จเสียก่อน
เมื่อคิดเสร็จแล้ว
จะลุกไปทำอะไรต่อก็ทำไป แต่ให้มีสติรู้อยู่ทุกขณะทุกเวลา
ในขณะที่กำลังเคลื่อนไหว
ทำอะไรก็ตาม ทางกาย วาจา ใจ
ให้มีสติรู้อยู่ทุกขณะ
เช่นขณะนี้กำลังฟังก็ให้มีสติอยู่กับการฟัง
ผู้พูดก็ให้มีสติอยู่กับการพูด
แล้วการฟังการพูดก็จะไม่มีการผิดพลาด
เป็นคุณ
เป็นประโยชน์โดยถ่ายเดียว
ถ้าฝึกทำให้มีสติอย่างนี้แล้ว
ต่อไปเวลานั่งทำจิตให้สงบ
ให้จิตอยู่กับพุทโธก็ดี
ให้อยู่กับบทสวดมนต์ก็ดี
จิตก็จะสามารถอยู่กับบทสวดมนต์
อยู่กับพุทโธได้ ไม่นานจิตก็จะสงบลงเป็นสมาธิขึ้นมา
แต่ถ้ารู้สึกว่าการเจริญสติไม่ค่อยเป็นไป
สาเหตุก็เป็นเพราะว่าสถานที่ที่อยู่ไม่อำนวย
เพราะสถานที่มีส่วนกระทบต่อการเจริญสติ
ถ้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีความจอแจ
มีความพลุกพล่าน
มีเรื่องมีราวมาก
สติจะไม่สามารถอยู่กับตัวได้
เพราะจะมีเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคอยดึงไปอยู่เรื่อย
อย่างเช่นเมื่อสักครู่นี้นั่งฟังเทศน์อยู่
พอมีเสียงดังขึ้นมาสติก็หลุดไปแล้วจากการฟัง
จิตก็แว่บไปดูสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงขึ้นมา
ดังนั้นถ้าต้องการเจริญสติให้ได้ผลดี
ก็ต้องหาที่วิเวก ที่สงบ
ที่สงัด ห่างไกลจากรูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ
เพราะว่ารูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะนี้
ถ้ามาใกล้จิตแล้ว
ก็จะกระทบจิต
สามารถทำลายสติได้
ดังนั้นเวลาแสดงธรรมหรือฟังธรรม
จึงมักต้องการสถานที่ที่สงบ
เพราะเวลาแสดงธรรมฟังธรรมในสถานที่ๆมีเรื่องราววุ่นวายแล้ว
จะไม่สามารถพูดหรือฟังธรรมะให้เป็นเรื่องเป็นราวได้
เพราะจะมีเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคอยขัดจังหวะอยู่เสมอ
ดังที่ไวยาวัจกรคอยเตือนอยู่เสมอว่า
เวลาทำพิธีกรรมฟังเทศน์ฟังธรรม
ขอให้ปิดเครื่องโทรศัพท์เสียก่อน
เพราะมิเช่นนั้นแล้วเสียงเครื่องจะดังขึ้นมา
แล้วก็จะไปทำลายสมาธิของผู้ฟังและผู้แสดงไปพร้อมๆกัน
ดังนั้นถ้าคิดว่าที่ๆอยู่นั้น
ไม่เหมาะกับการเจริญสติ
ก็ควรหาเวลาไปอยู่ตามสถานที่สงบสงัด
เช่นตามวัดตามวาต่างๆ
ที่เป็นวัดปฏิบัติ
ที่มีความสงบ แล้วก็ฝึกเจริญสติเสียก่อน
ถ้าเจริญสติได้แล้ว
จะสามารถเจริญสติในที่ๆมีความวุ่นวายได้
เพราะมีพลังพอที่จะดึงจิตไว้ได้นั่นเอง
แต่ถ้ายังเริ่มต้นใหม่ๆ
ยังรู้สึกว่ายังเจริญไม่ได้
แล้วปรารถนาที่อยากจะได้สติ
อยากจะได้สมาธิ
อยากจะได้ปัญญา
ก็ต้องกล้าที่จะเสียสละเวลาอันมีค่าที่ใช้ไปกับสิ่งอื่นๆ
ทำสิ่งอื่นๆ
มาให้กับการเจริญสติ
เพราะชีวิตของคนเราในวันหนึ่งๆ
ก็มีเวลาเท่าๆกัน คือ ๒๔
ชั่วโมงเท่านั้นเอง
ขึ้นอยู่ว่าจะใช้ไปในทางใด
ถ้าใช้ไปกับการหาเงินหาทอง
ก็จะได้เงินได้ทองมา
ถ้าใช้เวลาไปหาเพื่อนหาฝูง
ก็จะได้เพื่อนฝูงมา
ถ้าใช้เวลาไปหาธรรมะ
ก็จะได้ธรรมะมา
เพราะฉะนั้นต้องชั่งใจว่าอะไรมีคุณค่ามากกว่ากัน
เงินทองเพื่อนฝูงหรือธรรมะ
อะไรที่เป็นที่พึ่งให้กับจิตใจของเราได้
เงินทองอาจจะพึ่งได้เกี่ยวกับการดูแลรักษาร่างกาย
แต่เวลาใจเกิดความทุกข์ขึ้นมาเงินทองก็พึ่งไม่ได้
เพื่อนฝูงก็พึ่งไม่ได้
มีสิ่งเดียวที่จะพึ่งได้ก็คือปัญญาหรือธรรมะนี่เอง
เพราะถ้ามีปัญญาแล้วรับรองได้ว่าความทุกข์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากอะไรก็ตาม
เช่นเกิดจากความแก่
เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย
เกิดจากความตาย เกิดจากการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลาย
จะไม่สามารถเข้ามาเหยียบย่ำจิตใจของเราได้เลย
เพราะจิตของเรามีปัญญานั่นเอง
เพราะปัญญาจะสอนให้จิตปล่อยวาง
ให้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า
เช่นถ้ารู้ว่าฝนจะตก
เราเตรียมร่มไว้
ก็ไม่มีปัญหาอะไร
เวลาไปไหนมาไหน
ก็จะไม่เปียกฝน
แต่ถ้าไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนว่าฝนจะตก
แล้วไปไหนมาไหนโดยไม่มีร่มติดตัวไปด้วย
ก็อาจจะต้องเปียกฝนกลับมา
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน
ให้เตรียมตัวเตรียมใจ
ไว้รับกับสภาพเหตุการณ์ต่างๆ
ที่จะต้องเกิดขึ้นด้วยปัญญา
ปัญญานี้ไม่ได้หมายถึงจะสาปจะแช่งให้เราแก่
ให้เราเจ็บ ให้เราตาย
แต่จะเป็นตัวคอยเตือนเรา
เตือนจิตให้พร้อมรับกับสภาพที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง
เมื่อพร้อมแล้ว
ก็จะไม่หวั่นไหว
เพราะผู้ที่รับรู้นั้นไม่ได้เป็นไปกับร่างกาย ผู้ที่จะแก่ จะเจ็บ
จะตายก็คือร่างกาย ร่างกายไม่มีความรู้สึกตัว
เวลาแก่ก็ไม่รู้ว่าแก่
เจ็บก็ไม่รู้ว่าเจ็บ
ตายก็ไม่รู้ว่าตาย
ใจต่างหากที่ครอบครองร่างกายนี้
เป็นผู้รู้
แต่ไม่มีปัญญาก็เลยหลง
หลงคิดว่าร่างกายเป็นใจ
เวลาร่างกายเป็นอะไร
ใจก็เดือดร้อนหวั่นไหวไปด้วย
แต่ถ้าได้ฝึกฝนปฏิบัติธรรมแล้ว
มีปัญญาแล้ว ใจจะไม่หวั่นไหว
เพราะใจมีที่พึ่งนั่นเอง
เวลาร่างกายเป็นอะไร
ใจก็ไม่ทุกข์ตามไปด้วย
เพราะสามารถรักษาใจให้สงบได้
ใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วิตก
ไม่กังวล เพราะมีสติ
มีสมาธิ มีภาวนามยปัญญา
เป็นสรณะ
เป็นที่พึ่งนั่นเอง
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้