กัณฑ์ที่ ๒๐๒    ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๗

ใจเป็นประธาน

 

การมาวัดเพื่อทำบุญถวายทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม  เป็นการมาทำนุบำรุงดูแลรักษาใจ เพราะใจเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของชีวิต ชีวิตจะดี จะก้าวหน้า จะสุข จะเจริญรุ่งเรือง ก็ขึ้นอยู่กับใจที่ดีนั่นเอง  ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษา ด้วยการประพฤติปฏิบัติในศีลในธรรม  ใจจะเป็นใจที่ดีไม่ได้ เพราะใจต้องอาศัยศีลธรรมเป็นเครื่องเชิดชู เป็นเครื่องส่งเสริม ให้เป็นใจที่ดี  ถ้าไม่ได้รับการดูแล ใจก็จะเป็นใจที่ไม่ดี เมื่อใจไม่ดี ชีวิตก็จะไม่ดีตามมา ใจที่ไม่ดีก็คือใจที่ถูกอำนาจของกิเลสตัณหาโมหะอวิชชาครอบงำ ที่จะฉุดลากใจให้ลงไปสู่ที่ต่ำ ไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นสอนพุทธศาสนิกชน ให้เห็นความสำคัญของใจ ว่าใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต ใจเป็นใหญ่  ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใจดี ใจก็จะสร้างสิ่งที่ดี  ความสุขความเจริญ สวรรค์ มรรคผลนิพพาน การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็เกิดจากใจที่ได้รับการทำนุบำรุงรักษา ด้วยคุณธรรมความดีทั้งหลายนั่นเอง ใจจะทุกข์ จะวุ่นวาย จะเดือดร้อนเพราะขาดคุณงามความดี ขาดบุญ ขาดกุศล ขาดธรรมะ ที่จะคอยฉุดลากใจให้ถอยห่างจากความเลวร้ายทั้งหลาย ที่เกิดจากการนำพาของความโลภ ความโกรธ ความหลง ความไม่รู้ในสิ่งที่ถูกต้องทั้งหลาย

ถ้ามีธรรมะใจก็จะมีแสงสว่าง เมื่อมีแสงสว่างก็จะเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เห็นว่าอะไรถูก เห็นว่าอะไรผิด  อะไรเป็นเหตุของความสุข อะไรเป็นเหตุของความทุกข์ เมื่อเห็นได้อย่างชัดเจน ก็สามารถหลีกเลี่ยงเหตุของความทุกข์ทั้งหลายได้  ไม่ไปกระทำในสิ่งที่จะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา หลีกเลี่ยงจากความชั่ว ความเสียหายทั้งหลาย แต่ถ้าใจไม่มีธรรมะแสงสว่าง ก็เปรียบเหมือนกับคนที่อยู่ในที่มืด ย่อมไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆได้ ย่อมไม่สามารถเห็นผิดถูกดีชั่วได้  เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเห็นกลับตาลปัตรไป มีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นสิ่งที่ดีว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เห็นสิ่งที่ไม่ดีว่าเป็นสิ่งที่ดี จะเห็นกลับกัน เมื่อเห็นกลับกัน แทนที่จะเดินถอยออกจากความทุกข์ ก็จะเดินเข้าหาความทุกข์ เหมือนกับเดินเข้าหากองไฟนั่นแหละ ถ้าเดินเข้าหากองไฟก็จะต้องถูกไฟเผาผลาญไปในที่สุด เพราะความมืดบอดพาไป ทำไมคนเราจึงต้องเดินเข้าหาในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ก็เพราะความไม่รู้นั่นเอง คือขาดธรรมะแสงสว่าง ขาดสัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ เห็นถูกต้อง จึงหลงอยู่กับสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับใจ ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน อะไรเล่าที่เป็นพิษเป็นภัยต่อใจ แต่ใจกลับไปเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี  ก็พวกอบายมุขทั้งหลาย เช่นสุรายาเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร ความเกียจคร้าน รวมไปถึงการกระทำผิดศีลผิดธรรม เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ ซึ่งล้วนเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งสิ้น

แต่ทำไมคนเราจึงยังหลงอยู่กับอบายมุขทั้งหลาย กับการทำผิดศีลผิดธรรม เพราะใจมีความมืดบอด ขาดธรรมะแสงสว่างนั่นเอง จึงเห็นว่าอบายมุขและการทำบาปทำกรรม เป็นของที่ไม่เสียหายอะไร ทำได้ ทำแล้วมีความสุข มีความเพลิดเพลิน เวลากินเหล้าเขามีความสุข มีความเพลิดเพลิน เวลาเล่นการพนันเขาก็มีความสุข มีความเพลิดเพลิน เวลาออกไปเที่ยวยามค่ำคืน เขาก็มีความสุข มีความเพลิดเพลิน เวลาเขามีความเกียจคร้าน เขาก็มีความสุข มีความเพลิดเพลินเหมือนกัน แต่เขาหารู้ไม่ว่ามันเป็นความสุข ความเพลิดเพลินชั่วขณะเท่านั้นเอง แต่หลังจากนั้นแล้วเขาจะต้องลำบาก จะต้องทุกข์ เพราะการไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย ไม่ได้ผลิตอะไรออกมาให้เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้นั่นเอง มีแต่จะคอยดูดเอาทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ให้หมดไป ทรัพย์สินเงินทอง เวลาที่มีค่า สุขภาพร่างกาย ก็จะถูกอบายมุขดูดไป ดูดไป จนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ จนไม่สามารถเป็นที่พึ่งของตนได้ ก็เลยต้องไปทำในสิ่งที่เสียหายกับผู้อื่น ไปลักทรัพย์ ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ไปประพฤติผิดประเวณี ไปโกหกหลอกลวง

นี่คือผลที่เกิดขึ้น จากการไม่ทำนุบำรุงดูแลรักษาใจ ด้วยคุณธรรมความดีงามทั้งหลาย ดังที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันอย่างสม่ำเสมอ  มาทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะเมื่อทำสิ่งเหล่านี้แล้ว ใจจะมีความดีไว้ต่อต้านสิ่งที่จะฉุดลากใจ ให้ไปสู่ความชั่วทั้งหลาย คือความโลภ ความโกรธ ความหลง  เจ้า ๓ ตัวนี้แหละเป็นตัวการสำคัญที่สุด ที่มีอยู่ในใจของเรา  ถ้าไม่ได้รับการชำระปลดเปลื้องด้วยการเข้าหาธรรมะ ด้วยการปฏิบัติธรรม เจ้าตัวกิเลสตัณหาคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลาย จะมีอำนาจอยู่ภายในใจ จะเป็นตัวสั่งการ ให้ใจไปทำในสิ่งที่จะต้องมาเสียใจในภายหลัง แต่ถ้ามีธรรมะแสงสว่าง อย่างวันนี้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมกัน เราก็จะรู้ว่าอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นภัย  อะไรเป็นตัวชักจูงเราไปสู่โทษ ไปสู่ภัยทั้งหลาย เราก็พยายามต่อสู้ขัดขืน ด้วยการปฏิบัติธรรม ธรรมนี้เท่านั้นแหละที่จะสามารถทำลายความชั่วร้ายทั้งหลาย ที่มีอยู่ภายในใจของเราได้

ธรรมก็เปรียบเหมือนกับน้ำกับผงซักฟอก ที่เราใช้ซักฟอกเสื้อผ้า ถ้าไม่มีน้ำ ไม่มีผงซักฟอก เสื้อผ้าจะไม่สะอาด แต่จะเปื้อนอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเอาเสื้อผ้าลงไปแช่ในน้ำกับผงซักฟอก ทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง แล้วก็เอามาขยี้ เอามาซัก เดี๋ยวเดียวสิ่งสกปรกทั้งหลายที่ติดอยู่ในเสื้อผ้า ก็จะหลุดลอยออกมาหมดสิ้น ธรรมะก็เป็นอย่างนั้น ถ้ามีธรรมะอยู่ภายในใจแล้ว ธรรมะก็จะชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ความไม่ดี ความเลวร้ายทั้งหลาย ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไป เมื่อใจสะอาดหมดจดแล้ว  จะเป็นใจที่มีแต่ความสุขโดยถ่ายเดียว ความสุขความทุกข์ที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจ  ถ้ามีธรรมะใจก็มีสุข ถ้ามีกิเลสตัณหาใจก็เป็นทุกข์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรวยความจน ไม่ได้อยู่กับฐานะสูงต่ำ เป็นพระหรือฆราวาส ไม่ได้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้เป็นเหตุที่จะให้เกิดสุขหรือเกิดทุกข์กับใจ ตัวที่จะทำให้เกิดสุข เกิดทุกข์กับใจ ก็คือธรรมะกับกิเลสเท่านั้น  ธรรมะกับกิเลสจึงเป็นศัตรูกันอยู่เสมอ เป็นคู่ต่อสู้กันอยู่เสมอ ถ้ามีธรรมะกิเลสก็จะถอยออกไป ถ้าขาดธรรมะกิเลสก็จะฮึกเหิมมีกำลัง ธรรมะกับกิเลสเป็นเหมือนแสงสว่างกับความมืด ถ้าแสงสว่างมีมากกว่า ความมืดก็จะหายไป ถ้าความมืดมีมากกว่า แสงสว่างก็จะหายไป ถ้าต้องการให้ใจมีความสุขมากๆ ก็ต้องสร้างธรรมะให้มากๆ แต่ถ้าไม่สร้างธรรมะ ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ ความมืดคือกิเลสก็จะครอบงำจิตใจ เมื่อครอบงำแล้ว การกระทำก็จะไปในทิศทางที่ไม่ดี  ที่จะสร้างความเสียหาย ความเศร้าโศกเสียใจให้กับใจอย่างแน่นอน จึงไม่ควรประมาทในเรื่องการทำบุญทำทาน การรักษาศีล การปฏิบัติธรรม

ถ้าปรารถนาความสุขความเจริญอย่างแท้จริง จะขาดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เพราะถ้าขาดแล้ว จะไม่มีความสุขใจ จิตใจจะไม่เจริญทั้งๆที่มีสิ่งอย่างอื่นมากมาย เช่นมีเงินทอง มีสมบัติข้าวของ  มีบริษัท มีบริวารมากมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าใจจะมีความสุข ใจจะเจริญ  เพราะการได้สมบัติมามากมายนั้น บางครั้งก็ไม่ได้มาด้วยความดี แต่ได้มาด้วยความไม่ถูกต้อง เช่นจากการคดโกงเบียดเบียนผู้อื่น ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการสร้างความเสื่อมให้กับจิตใจ ใจไม่ได้เจริญ เพราะใจจะเจริญได้  ต้องเจริญด้วยศีลธรรม ถ้าจะร่ำรวยก็ต้องร่ำรวยด้วยความถูกต้อง ด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยการไม่ไปทำผิดศีลผิดธรรม อย่างนี้ใจจึงจะไม่เสื่อม แต่ถ้าได้สิ่งต่างๆมาด้วยการสร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ถึงแม้จะมีสมบัติเงินทองมากมาย แต่ใจกลับเสื่อมทรามลงไป จากมนุษย์ก็กลายเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรกไป เพราะใจไม่ได้รับการรักษา ด้วยคุณธรรมความดีงามนั่นเอง เพราะความโลภมีอำนาจผลักดัน ให้กล้าทำบาปทำกรรม เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้องการ ต้องการสามีหรือภรรยาของผู้อื่น ก็เอามาโดยไม่เกรงกลัวต่อบาปต่อกรรม ได้มาแบบนี้ไม่ดี  เพราะจะเสียสิ่งที่มีคุณค่าในจิตใจไป คือเสียความเป็นมนุษย์ไปนั่นเอง

คนเราจะเป็นมนุษย์ได้สมบูรณ์ จะต้องมีศีล ๕ บริบูรณ์  ขาดศีล ๕ เมื่อไหร่แล้ว แสดงว่าใจได้เสื่อมลงไปสู่เดรัจฉานบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง สัตว์นรกบ้าง ขึ้นอยู่กับการกระทำบาปกรรม ว่าจะมีมากน้อยเพียงไร และด้วยสาเหตุอันใด ถ้าทำมากและรุนแรงก็จะต้องเสื่อมลงไปมาก เสื่อมลงไปถึงขั้นนรกเลยทีเดียว เช่นเกิดความโกรธแค้นแล้วไปฆ่า ไปทำร้ายชีวิตของผู้อื่น ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฆ่าเลย แต่ฆ่าเพราะความโกรธแค้น ขาดความเมตตา อย่างนี้ตายไปก็ต้องตกนรกไป แต่ถ้าฆ่าด้วยความจำเป็น เช่นมีอาชีพเป็นชาวประมง ต้องออกไปหาปลามาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพราะความจำเป็น คิดว่าไม่เป็นไร แต่ก็ยังเป็นบาปอยู่ เพราะความไม่รู้ความหลงพาไป  ก็จะตกลงไปเป็นเดรัจฉาน พวกเดรัจฉานเขาฆ่ากันเพื่อยังชีพ  แต่ไม่ได้ฆ่าเพราะความโกรธแค้นเกลียดชัง เขาจึงเป็นแค่เดรัจฉาน  แต่ผู้ที่ฆ่าผู้อื่นด้วยความโกรธแค้นเกลียดชังนั้น จะต้องกลายเป็นสัตว์นรกไป ทั้งๆที่ยังเป็นคนอยู่  แต่ใจได้กลายเป็นสัตว์นรกไปแล้ว ถ้าฆ่าผู้อื่นเพื่อยังชีพ เช่นเป็นเพชฌฆาต เป็นทหาร เป็นตำรวจ เวลาต่อสู้กับผู้ร้ายทั้งหลาย ก็ต้องฆ่าเขา อย่างนี้ก็เป็นบาปเป็นกรรม ทำให้จิตใจเสื่อมลงไปในขั้นเดรัจฉาน  ถ้าแสวงหาสิ่งต่างๆมาด้วยความโลภ ด้วยความอยาก อยากจะรวย อยากจะมีสมบัติมากมายก่ายกองล้นฟ้า อย่างนี้ก็จะกลายเป็นเปรตไป ถ้าเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความกลัว ก็จะกลายเป็นอสุรกายไป

นี่คือความเสื่อมที่จะตามมา ถ้าละเมิดศีล   ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จโกหกหลอกลวง เมื่อทำไปแล้วจะต้องกลายเป็นสัตว์ประเภทใดประเภทหนึ่งใน ๔ ประเภทนี้เท่านั้น ถ้าไม่ต้องการที่จะให้จิตใจเสื่อมลงไปในสภาพนั้น ก็ต้องฝืนความรู้สึกภายในใจ เวลาเกิดความโกรธก็จะต้องเจริญเมตตา คือให้อภัย อย่าไปถือโทษโกรธเคืองกัน ถือว่าเป็นการใช้หนี้เก่าไป เราเคยไปทำอะไรเขามา ตอนนี้เขาก็เลยมาทำกับเรา ก็ถือว่าใช้หนี้คืนกันไป ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป สิ่งที่เขาว่าเขาทำเรา มันก็ผ่านไปแล้ว ไปโกรธแค้นโกรธเคืองก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น แต่กลับทำให้ใจร้อน ใจเป็นทุกข์ขึ้นมาเสียเปล่าๆ ถ้ามีความเมตตา ให้อภัยเขาได้ ใจก็สงบ ใจก็เย็น ถ้าเกิดมีความโลภ ความอยาก เพื่อรักษาชีวิตของตนไว้  ก็พยายามหามาด้วยสัมมาชีพ  ไม่เบียดเบียนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ถึงแม้จะต้องไปเป็นขอทาน ก็ยังดีกว่าไปลักเล็กขโมยน้อย ถึงแม้จะต้องไปล้างส้วมเป็นภารโรง ก็ยังดีกว่าไปยิงนกตกปลา

ขอให้ยึดความถูกต้องเป็นเครื่องดำเนินชีวิต ถึงแม้จะยากจน จะต่ำต้อย แต่อย่างน้อยใจไม่ต่ำไปด้วย ใจยังสูงอยู่ เพราะรักษาใจด้วยคุณงามความดี ด้วยธรรมะนี้เอง ถ้าอยากให้ใจเจริญสูงขึ้น เมื่อมีโอกาส มีเงินทองเหลือใช้ มีสมบัติข้าวของเหลือใช้ ก็ให้เอาไปแจกจ่ายผู้อื่นที่เดือดร้อน อย่างนี้ก็จะพัฒนาใจให้สูงขึ้น ให้กลายเป็นเทพ เป็นเทวดาขึ้นมา มันเกิดจากการกระทำของเรา การให้ทานจะทำให้กลายเป็นเทวดาขึ้นมา การรักษาศีลเป็นการรักษาความเป็นมนุษย์  การปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ เป็นการพัฒนาจิตให้กลายเป็นพรหม การเจริญวิปัสสนาพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างต่อเนื่อง ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา  ใจก็จะกลายเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ไปในที่สุด

นี่คือความเจริญของใจ เจริญแบบนี้ต่างหาก สุขก็สุขแบบนี้ต่างหาก ความสุขของใจก็คือความสงบ ถ้าใจสงบเมื่อไหร่ความสุขก็จะเกิดขึ้นเมื่อนั้น เมื่อมีความสงบ มีความสุข ก็จะมีความอิ่ม มีความพอ จะไม่หิว ไม่อยาก ไม่ต้องการอะไร ถึงแม้จะเป็นขอทานอย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย  ก็เป็นขอทานที่ไม่หิว ไม่อยากจะเป็นอะไร  ใครจะให้เป็นอะไรก็ไม่อยากเป็น  เพราะใจไม่หิวใจไม่อยาก ใจมีความสุขแล้ว เพราะใจมีปัญญา เห็นว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่ใช่ความทุกข์  ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลายก็เป็นความทุกข์ เพราะมีความเสื่อมเป็นเงาตามตัว มีเจริญก็ต้องมีความเสื่อม เจริญลาภก็ต้องเสื่อมลาภ เจริญยศก็เสื่อมยศ มีสุขก็มีทุกข์ มีสรรเสริญก็มีนินทา เป็นสิ่งที่ทุกๆคนในโลกนี้จะต้องสัมผัสด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะสัมผัสแบบไหน ถ้าสัมผัสแบบคนโง่เขลาเบาปัญญา ก็จะหลงดีอกดีใจเวลาเจริญในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่จะต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ เมื่อต้องสูญเสียลาภ ยศ สรรเสริญ สุขไป

แต่ถ้าเป็นคนฉลาดมีปัญญาอย่างพระพุทธเจ้า อย่างพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็จะไม่ยินดีกับการเจริญในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  เมื่อไม่มีความยินดี เวลาเกิดความเสื่อมก็ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ เพราะพอใจที่จะอยู่โดยปราศจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้งหลายนั่นเอง อยู่เฉยๆตัวเปล่าๆ  ก็ไม่เดือดร้อนอะไร เรื่องอะไรไปหาเหามาใส่หัว เหาก็คือลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลายนี่แหละ เป็นเหาทั้งสิ้น แต่คนที่ขาดปัญญา ขาดธรรมะ มีความมืดบอดครอบงำอยู่ ก็จะหลงติดอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แล้วก็ต้องวุ่นวายกับการดูแลรักษา วุ่นวายกับการแสวงหา และวุ่นวายกับการสูญเสียไป นี่แหละเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมมาก่อน ไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อน ไม่เคยเจอความสุขที่เกิดจากความสงบภายในใจมาก่อนแล้ว รับรองได้ว่าร้อยทั้งร้อย ก็จะต้องหลงติดอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย เพราะเป็นสิ่งที่ดึงดูดจิตใจ ที่ยังมีความมืดบอด มีกิเลสตัณหาซ่อนเร้นอยู่  ตัวที่ดึงดูดลาภ ยศ สรรเสริญ สุขให้เข้าสู่ใจ หรือให้ใจเข้าสู่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นเอง  ถ้าใจได้รับการชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงจนหมดสิ้นไปแล้ว ก็จะไม่มีตัวดูดให้ใจไปยินดีกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้งหลาย  เมื่อไม่มีความยินดีแล้ว ความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดจากการเสื่อม การสูญเสียของลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ก็จะไม่มีในหัวใจอีกต่อไป

นี่แหละคือความวิเศษของใจ ที่ได้รับการดูแลรักษา ทำนุบำรุงด้วยธรรมะ อย่างที่ท่านทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอ มาทำบุญ มารักษาศีล มาปฏิบัติธรรม มาฟังเทศน์ฟังธรรม ขอให้ทำไปเรื่อยๆเถิด ขอให้มีความแน่วแน่ต่อธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วความสุข ความเจริญทั้งหลายที่ปรารถนากัน ก็จะเป็นผลที่จะตามมา ความทุกข์ทั้งหลาย ความเสื่อมเสียทั้งหลาย ก็จะอยู่ห่างไกลจากจิตจากใจ ชีวิตจะดำเนินไปด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  จะมีมากมีน้อยก็ไม่สำคัญ  ถ้าตราบใดใจได้รับการดูแลด้วยบุญ ด้วยกุศลแล้ว รับรองได้ว่าจะมีแต่ความสุข มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง ถ้ายังไม่สิ้นกิเลสในชาตินี้ ตายไปก็จะได้ไปเกิดในภพชาติที่ดีกว่าเดิม ถ้าได้ทำบุญทำทานรักษาศีลมาก ก็ได้ไปเกิดเป็นเทพ  ถ้าได้ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ ก็ได้ไปเกิดเป็นพรหม ถ้าได้เจริญวิปัสสนาปัญญา ก็จะได้เกิดเป็นพระอริยบุคคล ตามลำดับแห่งภูมิธรรม ที่ได้เจริญไว้ในแต่ละภพแต่ละชาติ จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ไปในที่สุด

นี่คือสิ่งที่จะได้รับจากการทำนุบำรุงดูแลรักษาจิตใจ ด้วยการมาวัดอย่างสม่ำเสมอทุกๆวันพระ หรือวันที่ว่างจากภารกิจการงาน เช่น วันเสาร์วันอาทิตย์ อย่าปล่อยให้เวลาอันมีค่านี้ผ่านไป โดยไม่แสวงหาบุญแสวงหากุศล ไม่ทำนุบำรุงดูแลรักษาใจ  ไม่เช่นนั้นแล้วใจจะเหี่ยวแห้ง อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย มีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย เป็นเหมือนกับพวกเปรตพวกผีทั้งหลาย  มีแต่ความโกรธแค้นโกรธชัง เหมือนกับพวกสัตว์นรกทั้งหลาย เพราะไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับการกำจัดสิ่งที่สร้างความเลวร้ายทั้งหลายที่มีอยู่ภายในใจ คือกิเลสตัณหาทั้งหลาย ใจจึงมีแต่ความหิวโหย มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความวุ่นวายใจ แล้วก็ไม่แสวงหาสิ่งที่จะมาดับมัน กลับไปแสวงหาในสิ่งที่จะทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปอีก ทุกครั้งที่โลภแล้วทำตามความโลภ ความโลภจะไม่ลดน้อยถอยลงไป แต่จะเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ  ทุกครั้งที่อยากอะไรแล้วแสวงหาตามความอยาก ความอยากจะเพิ่มมากขึ้นทวีคูณ เพราะนี่คือธรรมชาติของความอยาก ได้คืบก็จะเอาศอก ได้ศอกก็อยากจะเอาวา จะขยายออกไปเรื่อยๆ  จึงต้องคอยกำจัดไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้นไป  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้