กัณฑ์ที่ ๒๐๓ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗
ศาสดา
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานจากพวกเราไป
ได้ทรงตรัสไว้ว่า
พวกเธอทั้งหลายจะไม่อยู่โดยปราศจากศาสดา
เพราะธรรมวินัยที่ตถาคตตรัสไว้ชอบแล้ว
จะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป
เพราะผู้ใดเห็นธรรม
ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต
ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม นี่คือคำสอนที่ได้ทรงตรัสไว้
เพราะทรงเป็นห่วงพวกเราจะคิดว่า
หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้จากไปแล้ว
จะไม่มีครูคอยอบรมสั่งสอน
ถ้าพวกเราน้อมเอาคำสอนต่างๆ
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน
มาประพฤติปฏิบัติ
ไม่ช้าก็เร็วก็จะมีดวงตาเห็นธรรม
เมื่อมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว
ก็จะเห็นพระพุทธเจ้า
จะมีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ
ปกป้องคุ้มครองรักษา
ให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
การห้อยพระไว้ที่คอนั้น
เป็นการห้อยเพื่อเตือนสติ
ปลุกจิตสำนึกให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ให้ระลึกถึงคำสั่งคำสอน
เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติตาม
เพราะเมื่อได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว
จะมีสิ่งคุ้มครอง
ถ้าห้อยพระไว้เฉยๆ
แต่ไม่สนใจศึกษาปฏิบัติ
ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
พระที่ห้อยคอก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ต่อให้เป็นพระที่มีราคาแพงๆ
หลายสิบล้านบาท
ปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังขนาดไหนก็ตาม
ถ้าไม่น้อมเอาพระธรรมคำสอนมาปฏิบัติ
ทำความดี
ละเว้นการกระทำความชั่วทั้งหลายแล้ว
พระที่ห้อยคอก็จะไม่ช่วยเหลือเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังไม่ละไม่เลิกจากอบายมุขทั้งหลาย
เช่นเสพสุรายาเมา
เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน
คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้าน
รวมถึงการกระทำที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย
ได้แก่การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
พูดปดมดเท็จ พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ
พูดส่อเสียดยุยงให้เกิดความแตกแยกสามัคคี
มีความโลภ ความโกรธ
ความหลงอยู่ในใจแล้วละก็
พระจะไม่คุ้มครองเลย
เพราะเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับพระนั่นเอง
ถ้าเป็นพระแล้ว
จะอยู่ห่างไกลจากอบายมุขทั้งหลาย
ห่างไกลจากการกระทำความชั่วทั้งหลาย
ห่างไกลจากความโลภ ความโกรธ
ความหลงทั้งหลาย ถ้าได้อยู่ไกลจากสิ่งเหล่านี้แล้ว
ภัยต่างๆที่เกิดจากสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่สามารถปรากฏขึ้นมาได้
อย่าไปคิดว่าพิษภัยเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาเอง
ความทุกข์ทั้งหลาย
ความเสื่อมเสียทั้งหลายนั้น
ล้วนเกิดจากการกระทำของเราทั้งสิ้น
ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข
ยุ่งเกี่ยวกับการทำบาปทำกรรม
ยุ่งเกี่ยวกับความโลภ
ความโกรธ ความหลงแล้ว
ความทุกข์
ความเสื่อมเสียที่ไม่ปรารถนา
ก็จะเป็นผลตามมาอย่าแน่นอน
ถ้าไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้แล้ว
รับรองได้ว่า ความทุกข์
ความเสื่อมเสียทั้งหลาย
จะไม่เป็นสิ่งที่จะตามมา ส่วนเหตุการณ์ที่เป็นธรรมดา
คือความเสื่อมของสังขารร่างกาย
ได้แก่ความแก่
ความเจ็บ ความตายนั้น
เป็นธรรมดาของโลก
เป็นคติธรรมดา
เป็นธรรมชาติของโลก
เมื่อมีเกิด ย่อมมีแก่ มีเจ็บ
มีตายเป็นธรรมดา
มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา
สิ่งเหล่านี้แม้แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ก็จะต้องเป็นด้วยกันทุกๆพระองค์
เพราะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เหมือนกับเวลาที่ตกลงไปในน้ำ
ก็ต้องเปียกด้วยกันทั้งนั้น
ไม่มีใครไม่เปียก
เพราะธรรมชาติของน้ำย่อมให้ความเปียกชื้นกับผู้สัมผัส
ฉันใดผู้มาเกิดในโลกนี้
ก็ต้องสัมผัสกับความเสื่อม
เป็นธรรมดา คือความแก่
ความเจ็บ ความตาย
ไม่มีใครอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ได้
ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นประธานาธิบดี
เป็นนายกรัฐมนตรี
ก็ต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ด้วยกันทั้งนั้น
สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่เป็นความเสื่อมที่แท้จริง
ความเสื่อมที่แท้จริงนั้น
เกิดจากการกระทำของเรา
ที่ได้แสดงไว้เมื่อสักครู่นี้
คืออบายมุขทั้งหลาย
การทำบาปทำกรรมทั้งหลาย
การสะสมความโลภ ความโกรธ
ความหลงทั้งหลายนี้แหละ
ที่จะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมขึ้นมา
ไม่มีความเจริญที่จะเกิดขึ้นได้กับบุคคลนั้นๆ
ต่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นประธานาธิบดี เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ก็ไม่ถือว่าเป็นความเจริญ
ต้องถือว่าเป็นความเสื่อม
เพราะเป็นความเสื่อมของจิตใจนั่นเอง
การทำความดีนั้น
ก็เพื่อรักษาจิตใจให้อยู่ดีนั่นเอง
ให้เป็นสุคติ
ให้เจริญให้รุ่งเรือง
ถ้าทำบาปทำกรรม
ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข
มีแต่ความโลภ ความโกรธ
ความหลงแล้วละก็
ใจจะต้องเสื่อมไปเรื่อยๆ
เสื่อมจากความเป็นมนุษย์
ลงไปสู่ความเป็นเดรัจฉาน
เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
เป็นสัตว์นรก
เพราะการกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุของความเสื่อมทั้งสิ้น
พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้เห็นธรรม
ว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆในโลก
ทรงสอนให้สละทรัพย์สมบัติ
เงินทองข้าวของและชีวิตเพื่อรักษาธรรม
ดังที่ได้ทรงปฏิบัติมา
ในเบื้องต้นก็ได้ทรงสละราชสมบัติของราชกุมาร
เพื่อออกปฏิบัติธรรม
ในขณะปฏิบัติธรรมก็ทรงกล้าที่จะสละชีวิต
เพื่อให้ได้ธรรมที่ทรงปรารถนา
ทรงอดพระกระยาหารถึง ๔๙
วันด้วยกัน แต่เมื่อเห็นว่า
การอดอาหารไม่ใช่วิถีทาง
ที่จะทำให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวงได้
จึงทรงย้อนกลับมานั่งสมาธิ
ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า
จะไม่ลุกจากที่นั่งอันนี้ไปเป็นอันขาด
ตราบใดถ้ายังไม่ได้บรรลุ
ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงแล้ว
ถ้าร่างกายนี้จะต้องตายไปในขณะที่ปฏิบัติ
ก็ขอให้ตายไป
นี่คือความสำคัญของธรรมะ
เพราะถ้ามีอยู่ในใจแล้ว
จะปลอดภัยจากทุกข์ทั้งหลาย
ทุกข์ที่เกิดจากความแก่
จากความเจ็บ จากความตาย
จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
จากการประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ
ไม่ปรารถนา
เพราะธรรมะจะรักษาจิตใจให้อยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ได้
ไม่มีอะไรในโลกนี้จะทำให้อยู่เหนือความทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บ
ความแก่ ความตายได้
ต่อให้มีเงินเป็นร้อยล้าน
พันล้าน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย
ก็จะต้องวุ่นวายใจ
เวลาใกล้จะตาย
ก็ยิ่งวุ่นวายใจใหญ่
เวลาตายไปเงินทองก็ช่วยอะไรไม่ได้
ไม่สามารถยับยั้งความตายได้
ไม่สามารถยับยั้งความทุกข์ที่โหมกระหน่ำเข้าสู่จิตใจได้ แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่แหละ
จะเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นในโลกนี้ที่จะรักษาใจ
ไม่ให้ไปทุกข์กับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น
ที่มาสัมผัสกับใจ
ถ้าใจมีธรรมะแล้ว
จะรู้จักปล่อยวาง
เมื่อปล่อยวางแล้ว
ก็จะไม่มีอะไรเข้ามารบกวนจิตใจ
ปัญหาของใจเกิดจากความไม่รู้
เกิดจากความหลง
ที่ผลักดันให้ไปยึดไปติด
ไปรักไปชอบ ไปเกลียดไปชัง
ไปทำสิ่งต่างๆ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับสิ่งที่ไปยึดไปติดไว้
ก็ต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมา
ลองสังเกตดู
ถ้าเป็นสมบัติของคนอื่น
เช่นบ้านของคนอื่น
รถยนต์ของคนอื่น
เวลาบ้านเกิดไฟไหม้ขึ้นมา
หรือรถยนต์เกิดพลิกคว่ำเสียไป
ถูกทำลายไป ถ้าเป็นของคนอื่น
เราจะไม่รู้สึกเสียอกเสียใจ
และไม่เดือดร้อนเลยแม้แต่นิดเดียว
แต่ถ้าเป็นบ้านของเรา
เป็นรถยนต์ของเรา
จะต้องเกิดความทุกข์
เกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมาทันที
เพราะอะไรทั้งๆที่ก็เป็นบ้านเหมือนกัน
เป็นรถยนต์เหมือนกัน
ต่างตรงที่ใจไม่ได้ไปยึดไปติด
กับไปยึดไปติดเท่านั้นเอง
บ้านของคนอื่น รถยนต์ของคนอื่น
เราไม่ยึด เราไม่ติด
เราก็ไม่ทุกข์ แต่บ้านของเรา
รถยนต์ของเรา
เรายึดเราติดว่าเป็นของเรา
มันก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้าเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่า
บ้านนี้ก็ไม่ใช่ของเรา
รถยนต์คันนี้ก็ไม่ใช่ของเรา
เป็นของยืมมาไว้สำหรับใช้เท่านั้น
สักวันหนึ่งก็จะต้องคืนเขาไป
จะคืนไปเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้
เมื่อถึงเวลาจะเกิดขึ้น
ก็ต้องเกิดขึ้น
เมื่อจิตใจพร้อมที่จะจากสิ่งเหล่านี้แล้ว
เวลาที่ต้องจากกัน
ก็จะไม่เดือดร้อนอะไร
ไม่ทุกข์อะไร
นี่แหละคือความหมายของธรรมะ
คือปัญญา ความรู้ที่ถูกต้อง
เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ
ขอให้รู้ ขอให้เห็น
ขอให้มองว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มาตั้งแต่ร่างกายของเรา
รวมไปถึงสิ่งของต่างๆ
บุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสามี
ภรรยา บุตรธิดา บิดามารดา
พี่น้อง
ญาติสนิทมิตรสหายนั้น
ไม่ใช่สมบัติของเราอย่างแท้จริง
เป็นสมบัติชั่วคราว
เหมือนกับของยืม
สักวันหนึ่งเขาก็จะต้องมาเอาคืนไป
เวลาเขาเอาไป
ถ้ารู้ล่วงหน้าไว้ก่อน
เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน
ก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจ
ไม่ทุกข์
แต่ถ้าไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน
เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นมา
จะทำใจไม่ได้ จะต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
ถ้าเป็นสิ่งที่รักมากยิ่งกว่าตัวเรา
ก็จะทำให้ทนอยู่ต่อไปไม่ได้
ถึงกับจะต้องฆ่าตัวตาย
ตามไปกับสิ่งที่สูญเสียไปก็มี
นี่เป็นเพราะความหลง
ทำให้ยึดติดกับสิ่งต่างๆทั้งหลาย
ที่ได้มานั่นเอง
โดยไม่มีธรรมะคอยกระซิบ
คอยบอกเลยว่า อย่าไปหลง
อย่าไปยึด อย่าไปติด
สักวันหนึ่งก็ต้องจากกัน
สักวันหนึ่งก็ต้องคืนสิ่งเหล่านี้ไป
ไม่มีใครเอาอะไรติดตัวไปได้
มาตัวเปล่าๆ
เวลาไปก็ไปตัวเปล่าๆ
ต้องทิ้งไว้หมด
ทุกสิ่งทุกอย่าง
สังขารร่างกายก็ปล่อยให้คนอื่นเผาให้
ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง
ก็ให้เขาจัดการกันไป
เอาไปแบ่ง เอาไปแจก
เอาไปจ่ายกัน ตามแต่สมควร
นี่คือความจริงของโลกนี้
ความจริงของชีวิตนี้
ถ้าไม่ต้องการให้ความทุกข์มาเหยียบย่ำจิตใจ
ก็ต้องยึดเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ
การได้ยินได้ฟังธรรมะนั้น
ยังไม่เพียงพอ
เพราะยังไม่สามารถทำให้ใจมีกำลังที่จะทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้
เช่นทรงให้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง
เรายังทำไม่ได้ แต่จะเริ่มทำได้
ถ้าเริ่มฝึกฝนอบรมปฏิบัติ
เริ่มให้สิ่งเล็กๆน้อยๆ
ที่ไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตไปก่อน
อย่างวันนี้ท่านก็สละเวลาเล็กๆน้อยๆของท่าน
สละทรัพย์สินสมบัติเงินทองเล็กๆน้อยๆที่มีเหลือใช้ ซื้อข้าวของมาถวายพระ
อย่างนี้ก็เป็นการปล่อยวางแล้ว
แต่ยังต้องทำไปอีกเรื่อยๆ
ทำให้มากยิ่งๆขึ้นไป
เพราะถ้าสามารถให้ได้มากเท่าไหร่
ใจก็จะมีความสุข
มีความสงบมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น
แล้วความวุ่นวาย
ความหลงยึดติดกับทรัพย์สินสมบัติข้าวของเงินทอง
ก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ต่อไปจะเห็นว่า
เงินทองที่มีเหลือใช้นี้
เก็บไว้ก็มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความวุ่นวาย
มีแต่ภาระ
ต้องคอยดูแลรักษา
ถ้าเอาไปให้ไปช่วยเหลือผู้อื่น
ก็ทำให้ผู้อื่นเขามีความสุข
แล้วเราก็มีความสุขด้วย
นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำในเบื้องต้น
อย่าสะสม อย่าตระหนี่
อย่าหวงสิ่งต่างๆ
ที่ไม่มีความจำเป็นต่อชีวิต
สิ่งที่มีความจำเป็นต่อชีวิต
ก็ไม่มีอะไรมาก มีปัจจัย ๔
ก็พอเพียงแล้ว
มีอาหารรับประทาน
มียารักษาโรค
มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไว้ใส่
มีบ้านไว้อยู่
แค่นี้ก็พอแล้ว
สิ่งอื่นๆนั้นล้วนเป็นของฟุ่มเฟือยทั้งสิ้น
ไม่มีก็ไม่มีปัญหาอะไร
ไม่มีกลับดีกว่าเสียอีก
เพราะจะได้ไม่ต้องมาเป็นภาระ
มีเพชรนิลจินดา
มีทองเก็บไว้ในบ้าน
ก็ต้องกังวล
เวลาไปไหนมาไหนก็ต้องคอยดูแลรักษา
ต้องคอยห่วง
บางทีก็ไม่อยากจะออกจากบ้าน
กลัวขโมยขึ้นบ้าน
เอาสมบัติที่มีอยู่ในบ้านไป
แต่ถ้าเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์
ก็ไม่ต้องมากังวลกับเรื่องข้าวของเงินทอง
นี่คือการปล่อยวางในเบื้องต้น
ปล่อยวางสิ่งที่เหลือใช้เกินความจำเป็น
แล้วก็ปล่อยวางเรื่องราวอย่างอื่นที่ไม่จำเป็น
อย่าไปยุ่งเกี่ยวด้วยถ้าไม่มีความจำเป็น
เรื่องของคนอื่น
เขาจะเป็นอย่างไร จะดีจะชั่ว
ก็เรื่องของเขา
คอยดูแลใจเราก็พอ
ไม่ให้ไปยุ่งไปแบกภาระของคนอื่น
ถ้าจะเกี่ยวข้องกับคนอื่น
ก็ให้ใช้ปัญญา
ว่าจะสามารถช่วยเหลือได้หรือไม่
เขายินดีที่จะรับความช่วยเหลือหรือไม่
ถ้าช่วยได้ ก็ช่วยไป
ถ้ายินดีให้ช่วย ก็ช่วยไป
ถ้าไม่ยินดี
ไม่ต้องการให้ว่ากล่าวตักเตือน
ก็อย่าไปเสียน้ำลายเสียเวลา
เพราะการว่ากล่าวตักเตือน
การสั่งสอนผู้อื่นด้วยธรรมะนั้น
เป็นเหมือนกับการให้ทรัพย์ที่ประเสริฐ
คนฉลาดเท่านั้นที่จะยินดีน้อมรับเข้ามา
ยกมือไหว้ผู้ให้โอวาท
เวลาใครว่ากล่าวตักเตือน
เหมือนกับเป็นการชี้ขุมทรัพย์ให้รู้ว่าอยู่ตรงไหน
เวลาบกพร่อง ทำตัวไม่ดี
ถ้ามีคนบอกให้รู้ แล้วได้สติ
แก้ไขเสีย ความบกพร่อง
ความไม่ดีก็จะหมดไป
ก็จะกลายเป็นคนดีขึ้นมา
แต่ถ้าปฏิเสธคำว่ากล่าวตักเตือนของผู้ปรารถนาดี
ก็เท่ากับปฏิเสธทรัพย์ที่ประเสริฐ
ที่เขาชี้บอกว่าอยู่ตรงไหนนั่นเอง
คนที่ขาดทุนก็คือคนที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมาว่ากล่าวตักเตือน
แต่คนที่ฉลาดย่อมยินดีที่จะฟังคำว่ากล่าวตักเตือนของผู้อื่นเสมอ
ถ้าช่วยเหลือเขาได้
อบรมสั่งสอนเขาได้
ก็ช่วยสอนไป
แต่ถ้าเขาไม่ยินดี
ก็อย่าไปสอนให้เสียเวลา
เพราะจะกลายเป็นการเกลียดชังกัน
เพราะมัวไปจ้ำจี้จ้ำไช เขาก็จะโกรธเรา
ถึงแม้จะเป็นลูกเรา
ถ้ามีหน้าที่สอน
ก็พูดไปเพียงครั้งสองครั้งก็พอ
ให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก
อะไรดีอะไรชั่ว
แต่ถ้าเขาไม่ยินดี
ไม่อยากจะปฏิบัติตาม ก็เป็นกรรมของเขา
ช่วยอะไรไม่ได้
แต่ถ้าเป็นคนฉลาดมีสำนึก
ยินดีรับฟังแล้วนำไปปฏิบัติ
ตัวเขาก็จะดีขึ้นไปตามลำดับ
ดังนั้นพยายามปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัว
อย่าไปทุกข์กับเรื่องของคนอื่นโดยไม่จำเป็น
แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่แยแส
ไม่ใยดี ไม่เมตตากรุณา
เพราะต้องมีอยู่เสมอ
ต้องยินดีที่จะช่วย
ยินดีที่จะสงเคราะห์ผู้อื่นอยู่เสมอ
แต่ต้องมีปัญญา
ว่าการสงเคราะห์
การช่วยเหลือนั้น
เป็นไปได้หรือไม่
ถ้าเป็นไปไม่ได้
ก็ต้องวางใจเป็นอุเบกขา
คือต้องวางเฉย
ถือเสียว่าคนๆนี้
เป็นเหมือนกับคนหูหนวกตาบอด
พูดไปจนวันตายก็ไม่ได้ยิน
ชี้ไปอย่างไรก็มองไม่เห็น
เสียเวลาเปล่าๆ
จะได้ไม่ต้องมาหนักอกหนักใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่นั้น
โดยปกติย่อมมีความรักลูกเสมอ
มีความปรารถนาดีต่อลูกเสมอ
อยากให้ลูกได้เป็นคนดี
พยายามพร่ำสอนอยู่เสมอ
แต่บางทีลูกก็เป็นเหมือนกับคนหูหนวกนั่นแหละ
พูดไปยังไง
ก็เหมือนกับเข้าหูซ้ายออกหูขวา
ไม่มีหลงเหลืออยู่ภายในจิตใจเลย
ถ้าพูดมากๆ ก็อาจจะโกรธ
เกลียดชังบิดามารดาขึ้นมาเสียอีก
เป็นการสร้างบาปสร้างกรรมให้แก่กัน
ทำให้ขาดความกตัญญูกตเวที
เวลาที่จะสั่งสอนลูก
ก็ขอให้สอนพอประมาณ
ดูว่าเขายินดีที่จะฟังหรือไม่ฟัง
ถ้าไม่ยินดีก็ถือว่าจบกัน
ทำใจเสียเถิดว่า
คนเราไม่ช้าก็เร็วก็ต้องจากกัน
เกิดมาในโลกนี้
ไม่ได้อยู่ด้วยกันไปตลอด
ต่างคนต่างมีกรรมเป็นของๆตน
ทำอะไรไว้
ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น
การที่เขาไม่สามารถรับสิ่งดีๆ
ที่เรามอบให้กับเขาได้
ก็เป็นเพราะจิตใจของเขาในอดีต
ได้สะสมบาปกรรมเอาไว้มาก
ยังติดอยู่กับสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย
เช่นติดอยู่กับอบายมุข
การเสพสุรายาเมา
เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน
เขาเคยสะสมนิสัยอย่างนี้มา
เมื่อมาเกิดในโลกนี้
นิสัยนี้ก็ติดตัวมาด้วย ไม่ได้เอาจากพ่อ
จากแม่ แต่มาจากกรรม
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า
เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
เผ่าพันธุ์ที่แท้จริงของเราคือกรรม
ไม่ใช่บิดามารดา
ผู้ให้เพียงแต่ร่างกายเท่านั้น
แต่ร่างกายไม่ใช่จิตใจ
ร่างกายจะทำอะไรได้ต้องมีจิตใจเป็นผู้สั่งการ
ถ้าจิตใจชอบเล่นการพนัน
ชอบเสพสุรายาเมา
จิตใจก็จะสั่งให้ร่างกายไปเล่นการพนัน
ไปเสพสุรายาเมา
พ่อแม่จึงต้องทำความเข้าใจว่า
ลูกเรานั้นเป็นลูกเราเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
คือเป็นที่ร่างกาย
ร่างกายนี้เป็นของเรา
เราเป็นผู้ให้เขา
แต่ใจของเขานั้นมาจากที่อื่น
ใจของเขามาจากภพก่อนชาติก่อน
เขาสะสมบุญกรรมอันใดไว้
เขาก็จะเป็นไปตามบุญตามกรรมที่ได้สะสมมา
ถ้าได้สะสมบุญมากพอสมควร
และสะสมกรรมไม่มาก
เวลาอบรมสั่งสอนให้ไปในทางบุญ
ในทางที่ดี
เขาก็จะน้อมรับไปได้ง่าย
แต่ถ้าสะสมกรรมมามากกว่าบุญ
เวลาสอนให้ทำบุญ
เขาจะน้อมรับไม่ได้มากเท่าที่ควร
แต่จะไปทำกรรมเสียมากกว่า
อย่างพระพุทธเจ้านั้น
ได้สะสมบุญบารมีมามากหลายภพหลายชาติด้วยกัน
พอมาเกิดเป็นราชโอรส
ถึงแม้พระราชบิดาอยากจะให้อยู่เป็นกษัตริย์
เพื่อจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิต่อไป
แต่ใจได้โน้มเอียงไปทางบุญทางกุศล
อยากจะปฏิบัติเป็นพระบรมศาสดา
เป็นพระอรหันต์
เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น
จึงไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งพระพุทธเจ้าได้
ถึงแม้พระราชบิดาพยายามสร้างปราสาท
๓ ฤดูไว้
เพื่อเป็นเครื่องล่อใจให้พระพุทธเจ้าได้อยู่ในโลก
อยู่เป็นฆราวาส
เพื่อจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิต่อไป
ก็ไม่สามารถดึงพระพุทธเจ้าไว้ได้
เพราะบุญบารมีที่พระพุทธเจ้าได้สะสมมานั้นมีมาก
มีกำลังแรงมากจนไม่มีอะไรจะหยุดยั้งได้
เช่นเดียวกับบุญบารมีและบาปกรรม
ที่พวกเราได้กระทำกันในแต่ละวันก็เป็นเช่นนั้น
ถ้าทำบุญ
บุญก็จะดึงไปในทางที่ดี
ถ้าทำบาป
ก็จะดึงไปในทางที่ไม่ดี
อย่างวันนี้เรามาทำบุญกัน
ก็จะดึงให้มาทำบุญอยู่เรื่อยๆ
ทำกันอย่างต่อเนื่อง
เพราะได้สะสมมาทางนี้
เมื่อสะสมมาดังนี้
เมื่อถึงเวลาก็จะมาทางนี้โดยอัตโนมัติ
เป็นไปตามกำลังบุญที่ได้สะสมไว้
จึงขอให้เชื่อพระพุทธเจ้า
ถึงแม้จะไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว
ถ้าเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า
และปฏิบัติตาม ก็เหมือนกับได้อยู่กับพระพุทธเจ้า
เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่สรีระร่างกาย
ทรงเคยตรัสไว้ว่า ต่อให้เธอเกาะชายผ้าเหลืองของเรา
แต่ถ้าเธอไม่สนใจใยดีต่อคำสอนของเราแล้ว
เธอก็ยังอยู่ห่างไกลจากเราเป็นหลายร้อยโยชน์
ในทางตรงกันข้าม
ถึงแม้เธอจะอยู่ห่างไกลจากเรา
กี่ร้อยโยชน์ก็ตาม
แต่ถ้าเธอระลึกถึงคำสอนของเราอยู่เสมอ
และนำไปปฏิบัติ
เธอก็ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากเราเลยสักน้อยนิด
เพราะเธอจะได้รับประโยชน์จากเราอย่างเต็มที่
เหมือนกับอยู่ข้างหน้าเรานี้
นี่แหละคือความหมายของคำว่า
ธรรมวินัยที่ตถาคตตรัสไว้ชอบแล้ว
จะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป อย่าไปคิดว่า
เราอยู่ห่างไกลจากศาสดา
ถ้าระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เราก็อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า
และเมื่อปฏิบัติจนจิตมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาแล้ว
ก็จะรู้ว่า
พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย
แต่อยู่ในใจของเรานี้แหละ
รอให้เราเข้าไปหาท่าน
ท่านรอเราอยู่ในใจ
ดังที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม
ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ถ้าปฏิบัติธรรม
ชำระกิเลสอาสวะ ความมืดบอด
ความหลงทั้งหลาย
ให้หมดไปจากจิตจากใจแล้ว
ความสว่างไสวของพุทธะก็จะปรากฏขึ้นมาภายในใจ
ความสว่างไสวของธรรมะ
ก็จะปรากฏขึ้นมาภายในใจ
ความสว่างไสวของสังฆะ
ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ก็จะปรากฏขึ้นมาภายในใจของเรานี้แหละ
ประเด็นสำคัญที่จะทำให้เรา
ได้เข้าสู่ความประเสริฐของพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่ที่สุปฏิปันโนนี้เอง
คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้