กัณฑ์ที่
๒๐๗
การบำเพ็ญจิตตภาวนา
คือสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา
เป็นงานที่ควรบำเพ็ญอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อวันพระที่แล้วได้พูดถึงเรื่องการบำเพ็ญสมถภาวนา
คือการทำจิตใจให้สงบ
ให้ร่มเย็นเป็นสุข
ด้วยการเจริญพุทธานุสติ
คือบริกรรมพุทโธๆๆด้วยสติ
หรือเจริญอานาปานสติ
กำหนดดูลมหายใจเข้าออกด้วยสติ
ถ้าสามารถควบคุมจิตให้รู้อยู่กับงานที่กำหนดไว้ได้
จิตก็จะสงบตัวลง
รวมเป็นหนึ่ง
ถ้าบริกรรมพุทโธๆๆ
ก็ให้รู้แต่การบริกรรมพุทโธๆๆ
ไม่ส่งจิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ
ถ้าใช้การกำหนดดูลมหายใจเข้าออก
ก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก
ตรงจุดที่ลมสัมผัสเข้าออก
กำหนดจิตให้รู้อยู่ตรงนั้นอย่างต่อเนื่องด้วยสติ
ไม่ให้จิตแวบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้
ถ้าสามารถควบคุมจิตให้อยู่กับงานที่กำหนดไว้ได้อย่างต่อเนื่อง
ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะเข้าสู่ความสงบ
รวมลงสู่ความเป็นหนึ่ง
เรียกว่าเอกัคตารมณ์
จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
มีแต่สักแต่ว่ารู้อยู่เท่านั้น
ถ้าจิตได้เข้าถึงจุดนี้แล้วจิตจะมีความสงบ
มีความร่มเย็นเป็นสุข
มีความอิ่มเอิบใจ
มีความพอ
ในขณะนั้นกิเลสตัณหาที่เคยเพ่นพ่านเหยียบย่ำจิตใจอยู่
ก็จะสงบตัวลงไปด้วย
เพราะกิเลสตัณหาไม่สามารถทำงานทำการได้
ในขณะที่จิตตั้งอยู่ในสมาธิ
แต่สมาธินี้ไม่สามารถทำลายกิเลส
ให้สิ้นซากไปจากจิตจากใจได้
เพราะสมาธิเป็นเหมือนหินทับหญ้า
เวลาทับหญ้าอยู่
ก็ทำให้หญ้าไม่สามารถงอกงามได้
แต่ถ้ายกหินออกไป
ทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง
เมื่อได้แดดได้น้ำ
หญ้าก็จะงอกงามขึ้นมาอีก
ฉันใดกิเลสตัณหาตัวที่ชอบสร้างความปั่นป่วน
สร้างความวุ่นวายให้กับจิตใจ
ก็เป็นเช่นนั้น
ขณะที่อยู่ในสมาธิ
กิเลสตัณหาเช่นความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ความอยากต่างๆ
ก็จะสงบตัวลงไป
ไม่สามารถออกมาเพ่นพ่านได้
แต่ไม่ตาย
เพราะหลังจากที่จิตถอนออกจากสมาธิแล้ว
กิเลสตัณหาก็จะออกมากับความคิดปรุงต่างๆอีก
ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิ
ก็ควรปล่อยให้จิตตั้งอยู่ในสมาธิไปเรื่อยๆ
อย่าไปดึงจิตออกจากสมาธิ
เพราะการทำสมาธิก็เพื่อจะให้จิตได้สงบตัวลง
ได้พัก
ได้ความอิ่มเอิบใจ
จะได้มีกำลังที่จะไปทำงานต่อสู้กับกิเลสตัณหาในลำดับต่อไป
เวลาอยู่ในสมาธิ
จิตจะสงบนิ่งอยู่นานเท่าไร
ก็ปล่อยให้นิ่งอยู่อย่างนั้น
อย่าไปกังวลกับเรื่องภารกิจการงานอื่นๆ
ที่อาจจะต้องไปทำ
ขอให้อยู่ในความสงบนั้นไปก่อน
เรื่องงานอื่นๆนั้น
อย่าเห็นว่าสำคัญกว่าความสงบ
เพราะความสงบนี้เป็นคุณ
เป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจอย่างมาก
ปล่อยให้จิตสงบจนอิ่มตัวแล้ว
มันจะถอนออกมาเอง
เมื่อถอนออกมาแล้ว
จึงเป็นเวลาที่ควรเอาจิตมาทำงานให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ต่อไป
คือบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนา
การบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนา
เป็นการสร้างความรู้แจ้งเห็นจริงให้เกิดขึ้นในจิตในใจ
เกี่ยวกับสภาวธรรมทั้งหลายที่มาสัมผัสกับจิตผ่านทางตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
ให้รู้ว่าสภาวธรรมเหล่านี้เป็นอย่างไร
เพราะถ้าเห็นตามความเป็นจริงของเขาแล้ว
จิตจะปล่อยวาง
จะไม่ยึดไม่ติด
ไม่ถือว่าเป็นตน เป็นของๆตน
ว่าเป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับตน
ว่าจะอยู่กับตนไปตลอดเวลา
โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
เหล่านี้จะไม่มีอยู่ในความรู้สึกของจิต
ถ้าจิตได้เจริญธรรมะที่เรียกว่าไตรลักษณ์
คืออนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา
อนิจจังนี้แปลว่า
การแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ
ไม่มีอะไรอยู่นิ่งเฉย
เช่นสังขารร่างกายของเรา
ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ
อยู่ตลอดเวลา
ตั้งแต่เกิดออกมาจากท้อง
ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
จากทารกก็เป็นเด็ก
จากเด็กก็เป็นผู้ใหญ่
จากผู้ใหญ่ก็กลายเป็นคนแก่
คนชรา คนเจ็บไข้ได้ป่วย
และในที่สุดก็กลายเป็นคนตายไป
นี่คือลักษณะของอนิจจัง
เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นบุคคลก็ดี
หรือวัตถุข้าวของต่างๆก็ดี
ก็เป็นลักษณะเดียวกัน
ได้อะไรมาใหม่ๆ ก็ใหม่ดี
แต่ใช้ไปเรื่อยๆ
ต่อไปมันก็เก่า
เช่นเสื้อผ้าหรือบ้านหรือรถยนต์
สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎของอนิจจังทั้งสิ้น
คือความเสื่อม
จะต้องมีการเสื่อมลงไปเรื่อยๆ
ทีละเล็กทีละน้อย
จนในที่สุดก็จะไม่สามารถรวมตัวอยู่ในสภาพเดิมได้
ก็ต้องกระจัดกระจายแตกออกไป
เช่นร่างกายเมื่อตายไปแล้ว
ก็แยกคืนสู่ดิน น้ำ
ลม ไฟ ต่อไป
รถยนต์เมื่อเสียแล้ว
พังแล้ว
เขาก็ถอดชิ้นส่วนต่างๆออกไป
เอาไปทำอย่างอื่นต่อไป
นี่คือลักษณะของอนิจจัง
ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
เราจึงต้องพิจารณาดูอยู่เรื่อยๆ
เพื่อจะได้คลายความหลง
เพราะเวลาเห็นอะไรสวยเห็นอะไรงาม
ก็จะเกิดความยินดี
เกิดตัณหาความอยากได้
โดยไม่คิดว่าสิ่งที่อยากได้นั้น
จะเปลี่ยนแปลงไป
จากดีกลายเป็นไม่ดีก็ได้
จากสิ่งที่รักที่ชอบ
ก็กลายเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังขึ้นมาก็ได้
เพราะมันเปลี่ยนไปตามสภาพของมันนั่นเอง
นี่คือลักษณะของอนิจจัง
ความไม่เที่ยง
นอกจากไม่เที่ยงแล้ว
ยังเป็นทุกข์อีกด้วย
เรามักจะมองเห็นอะไรที่
สวยๆงามๆ ที่เราชอบ
ว่าเป็นสิ่งที่น่ารัก
เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับเรา
แต่หารู้ไม่ว่าความสุขที่ได้รับจากสิ่งของหรือบุคคลต่างๆนั้น
มันมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่
ข้อที่หนึ่งมันเป็นภาระ
เมื่อได้มาแล้ว
ก็ต้องดูแลรักษา
สิ่งใดที่เรารักเราชอบ
เราก็อยากจะให้สิ่งนั้นๆอยู่กับเราไปเรื่อยๆ
เราก็ต้องคอยกังวล
คอยดูแลรักษา
ถ้าเกิดสูญหายไป
ก็จะต้องนำความทุกข์ใจมาให้กับเรา
นี่คือความทุกข์ที่ซ่อนเร้นอยู่
ถ้าไม่พิจารณา จะไม่เห็น
จะเห็นว่าเป็นความสุขโดยถ่ายเดียว
จะมองเพียงด้านเดียวเท่านั้น
อีกด้านหนึ่งจะไม่ค่อยคิดกัน
เวลาอยู่คนเดียวก็รู้สึกว่าเหงา
ถ้ามีใครมาอยู่ด้วย
มีสามีหรือภรรยาอยู่ร่วมกัน
ก็จะมีความสุข
แต่ในความสุขนั้นก็ต้องมีความห่วงใย
มีความกังวล
มีการทะเลาะวิวาท
มีการเบื่อขี้หน้ากัน
มีการอยากที่จะแยกทางกัน
ก็จะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาทันที
เพราะสภาพของสิ่งต่างๆนั้นมันไม่เที่ยง
สภาพจิตใจของเราก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
เรารักอะไรเราชอบอะไรในวันนี้
ไม่ได้หมายความว่าจะรักจะชอบสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นไปตลอด
วันพรุ่งนี้อาจจะเกิดความเบื่อหน่าย
เกิดความอิดหนาระอาใจขึ้นมาก็ได้
เกิดขึ้นกับคนทุกๆคน
นี่คือลักษณะของความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นตามมา
ถ้าเราไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต่างๆภายนอก
ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของต่างๆ
หรือบุคคลต่างๆ
จิตใจก็จะต้องมีความวุ่นวาย
มีความทุกข์
มีความกังวลตามมา
เมื่อต้องสัมผัสกับสิ่งของหรือบุคคลที่ไม่ปรารถนา
เช่นบุคคลที่เราเคยชอบเคยรัก
กลับประพฤติตัวเปลี่ยนไป
จากหน้ามือเป็นหลังมือไป
เคยเป็นคนดี
เคยเป็นคนมีความเมตตา
เคยเป็นคนเอาอกเอาใจ
กลับกลายเป็นอีกคนหนึ่งไป
การเอาอกเอาใจ
ก็กลับเป็นการเอาอกเอาใจตนเอง
ไม่ได้เอาอกเอาใจเราอย่างนี้เป็นต้น
ทำให้เราเกิดความเสียใจขึ้นมา
นี่ก็คือความทุกข์
ทุกข์ที่เกิดจากความหลงนั่นเอง
หลงว่าสิ่งนั้นดี
สิ่งนี้ดี
เมื่อได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มาแล้ว
จะให้ความสุขกับเรา
แต่ในที่สุดความสุขที่ได้มา
ก็เป็นเหมือนกับน้ำตาลที่เคลือบยาขมนั่นเอง
เวลาอมเข้าไปในปากใหม่ๆ
ก็หวานดี
แต่พอน้ำตาลละลายไปหมดแล้ว
เหลือแต่ตัวยาซึ่งมีรสขม
ก็ต้องสัมผัสกับรสขมทันที
นี่คือลักษณะของสิ่งต่างๆ
หรือบุคคลต่างๆ
ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ไม่ว่าจะมาทางตา
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ทางใจ ก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน
คือเป็นอนิจจังไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ และประการที่สาม
เป็นอนัตตา
คำว่าอนัตตานี้แปลว่า ไม่ใช่ตน
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา
คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น
ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติทั้งสิ้น
เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมบังคับ
ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้เสมอไป
เราอาจจะดูแลควบคุมบังคับ
บางสิ่งบางอย่างบางคน
ได้บางครั้งบางเวลา
แต่จะไม่สามารถควบคุมบังคับสิ่งต่างๆ
บุคคลต่างๆ
ให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้เสมอไป
เช่นร่างกายของเรา
เราก็ดูแลรักษาพอให้อยู่อย่างปกติได้
ด้วยการรับประทานอาหาร
หาเสื้อผ้ามาใส่
มีที่อยู่อาศัยเพื่อหลบแดดหลบฝน
แต่บางครั้งบางเวลา
ก็เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา
ทั้งๆที่ไม่อยากให้มันเจ็บไข้ได้ป่วยเลยแม้แต่นิดเดียวก็ตาม
แต่ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น
เป็นสิ่งที่เราควบคุมบังคับไม่ได้
อย่างมากที่เราจะทำได้ก็คือ
หายามารับประทาน
ถ้ายาถูกกับโรค
ก็สามารถรักษาให้โรคนั้นหายไปได้
แต่ถ้ายาไม่ถูกกับโรค
หรือไม่มีกำลังพอ
ที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคที่มีอยู่ภายในใจได้
โรคนั้นก็จะไม่หาย
และอาจจะต้องถึงแก่ความตายก็ได้
ทั้งๆที่เราพยายามรักษากันอย่างเต็มที่อยู่แล้วก็ตาม
ชีวิตของเราทุกคน
เรารัก เราสงวน
เราต้องการอยู่ไปนานๆ
ไม่อยากตายเลย
แต่ทำไมจึงมีคนตายมาปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
มีคนเจ็บไข้ได้ป่วยมาปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
เพราะเป็นอนัตตานั่นเอง
เป็นสิ่งที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้
มันไม่ใช่ตัวเรา
ของเรานั่นเอง
เพราะมันเป็นสภาวธรรม
เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ที่เราเห็นอยู่ สัมผัสอยู่
เช่น
ลมก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง
น้ำก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง
ดินก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง
ไฟก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัยในตัวของมันเอง
เวลาจะรวมตัวกันเข้ามา
มันก็รวมตัวกันเข้ามา
เป็นต้นไม้บ้าง เป็นสัตว์
เป็นบุคคลบ้าง
เวลาจะแยกสลายออกไป
มันก็แยกตัวกลับคืนสู่สภาพเดิมของมัน
คือกลับสู่ความเป็นดิน
น้ำ ลม ไฟ
นี่คือลักษณะของสภาวธรรมทั้งหลายที่จิตใจของเราไปเกี่ยวข้องด้วย
เราจึงต้องสอนใจอย่างสม่ำเสมอ
เวลาเห็นอะไร
เวลาได้ยินอะไร
เวลาเกิดความยินดี
ก็ต้องนึกถึงอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตาเอาไว้
ว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะเอามาครอบครอง
เพราะมันมีความทุกข์มากกว่าความสุขนั่นเอง
แต่ถ้าไม่ได้เจริญอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา
อยู่เรื่อยๆแล้ว
เราจะเผลอ เราจะลืม
พอเห็นอะไรที่ถูกอกถูกใจขึ้นมา
ก็จะรีบวิ่งเข้าไปหามันทันทีเลย
เห็นอะไรอยากจะได้อะไร
มีสตางค์พอที่จะซื้อได้
ก็จะรีบซื้อมาทันทีเลย
โดยไม่คำนึงว่าจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านั้นหรือไม่
จริงอยู่ในชีวิตของคนเรานั้น
บางครั้งบางคราวก็ต้องซื้อสิ่งนั้นสิ่งนี้มา
เพราะจำเป็นต่อการดำรงชีพ
ต่อการประกอบอาชีพ
ที่เรียกว่าสัมมาอาชีวะ
เราก็ต้องมีสิ่งต่างๆไว้เป็นเครื่องมือ
ถ้าเป็นสิ่งที่จำเป็น
ก็ไม่เป็นไร ซื้อมาได้
อย่างนี้ไม่เรียกว่าตัณหา
ไม่ใช่กิเลส
แต่เป็นความจำเป็น
เพื่อดูแลรักษาชีวิตให้อยู่อย่างปกติสุข
เพื่อจะได้นำชีวิตนี้มาสร้างบุญสร้างกุศล
มาบำเพ็ญสมถภาวนา
วิปัสสนาภาวนา
เพื่อปลดเปลื้องจิตใจให้หลุดจากเครื่องพันธนาการของกิเลสตัณหา
อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น โมหะอวิชชา
ซึ่งเป็นตัวผูกรัดจิตใจ
ให้ต้องวนเวียนอยู่ในวังวนแห่งการเกิด
แก่ เจ็บ ตาย
ในภพน้อยภพใหญ่ของสังสารวัฏ
อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
นี่คือสิ่งที่เราต้องยึดถือเป็นเป้าหมายของชีวิตเรา
คือจะต้องใช้ชีวิตของเรานี้เพื่อบำเพ็ญบุญบารมี
ชำระปลดเปลื้อง
สิ่งที่ผูกมัดจิตใจของเรา
ให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
เพราะการเวียนว่ายตายเกิดนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีเลย
เกิดมาแล้วก็ต้องแก่
ต้องเจ็บ ต้องตาย
ต้องพลัดพรากจากสิ่งต่างๆที่รัก
จะต้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆที่ไม่ปรารถนา
เหล่านี้ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น
ถ้าตราบใดยังมีการเกิดอยู่
ตราบนั้นก็ยังมีความทุกข์อยู่
อย่าไปคิดว่าเราจะอยู่อย่างมีความสุขไปตลอด
ไม่มีความทุกข์รออยู่ข้างหน้าเลย
เพราะมันรอเราอยู่ทุกคน
มากหรือน้อยเท่านั้นเอง
ขึ้นอยู่กับการบำเพ็ญของแต่ละคน
ถ้าคนไหนได้บำเพ็ญสมถภาวนา
วิปัสสนาภาวนาได้มาก
ความทุกข์ก็จะเบาบางลงไปตามลำดับ
เพราะเมื่อมีวิปัสสนาแล้วจะมีปัญญา
คือจะรู้ว่าไม่ควรไปยึดไปติด
ไม่ควรไปอยากกับสิ่งต่างๆ
เพราะโดยสภาพความเป็นจริงแล้ว
จิตที่มีสมถภาวนา
มีวิปัสสนาภาวนาอยู่ในใจนั้น
จะเป็นจิตที่มาความร่มเย็นเป็นสุขพอประมาณอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่ายังไม่ได้สุขอย่างเต็มที่
เหมือนจิตของพระพุทธเจ้า
และพระอรหันตสาวกทั้งหลายนั่นเอง
แต่ถ้าได้บำเพ็ญไปเรื่อยๆแล้ว
ได้กำจัดกิเลสตัณหาต่างๆ
ที่มีอยู่ภายในใจให้เบาบางลงไป
ให้น้อยลงไปเรื่อยๆแล้ว
ความสุข
ความอิ่มทางใจก็จะมีมากขึ้น
เมื่อมีความสุข
มีความอิ่มใจอยู่ในใจแล้ว
ก็ไม่มีความอยาก
ที่อยากจะไปได้อะไรมาให้ความสุขกับตน
เหมือนกับคนที่รับประทานอาหารอิ่มแล้ว
ย่อมไม่ยินดีกับอาหารต่างๆ
ที่มีอยู่ตามร้านอาหาร
เพราะในขณะนั้นร่างกายไม่ต้องการอาหารนั่นเอง
ร่างกายมีอาหารพอเพียง
มีความอิ่มพอในตัวของมัน
ก็ไม่จำเป็นต้องไปที่ร้านอาหาร
ไม่ต้องไปที่โรงครัว
ไม่ต้องไปเปิดตู้กับข้าวหาอาหารมารับประทาน
นี่ก็คือลักษณะของจิตใจของผู้ที่ได้บำเพ็ญภาวนา
คือสมถภาวนา
และวิปัสสนาภาวนา
ถ้าได้บำเพ็ญอย่างสม่ำเสมอ
ก็เหมือนกับการได้รับประทานอาหารอย่างสม่ำเสมอ
เวลาหิวข้าวเราก็หาข้าวมารับประทาน
เวลาที่จิตใจมีความทุกข์มีความวุ่นวาย
เราก็ควรบำเพ็ญจิตตภาวนา
ทำจิตใจให้สงบ
ไม่ใช่เวลามีความรู้สึกไม่ดี
ก็ออกไปเที่ยว
อย่างนี้เท่ากับไปสร้างความทุกข์ให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก
เพราะการไปเที่ยวนี้
ก็เท่ากับการสร้างตัณหาความอยากเที่ยว
ให้มีกำลังมากขึ้นไปอีกเท่านั้นเอง
เพราะเมื่อเที่ยวเสร็จแล้วกลับมา
ความไม่สบายใจที่มีอยู่เดิมก็กลับมาหาอีก
เพราะปัญหาที่สร้างให้เกิดความไม่สบายใจนั้น
ยังไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเอง
ไม่ได้เอาวิปัสสนาภาวนามาแก้ไข
ถ้ามีวิปัสสนาภาวนาแล้ว
แก้ไขได้
ไม่ว่าปัญหาอะไรทั้งสิ้น
เพียงแต่ต้องยอมตัด
ยอมปล่อยเท่านั้นเอง ก็จบ
มีปัญหากับใคร
ก็ยอมเสียอย่างเดียว ก็จบ
เขาต้องการอะไร ก็ให้เขาไป
เท่านั้นก็จบ
หรือแยกทางกันไปได้ก็แยกทางกันไป
ไม่เห็นจำเป็นต้องมาทะเลาะวิวาท
เอาแพ้เอาชนะกันเลย
เขาอยากชนะก็ให้เขาชนะไป
เราขอเป็นผู้แพ้
เพราะเรารู้ว่าการเป็นผู้แพ้นี้แหละ
เป็นพระอย่างแท้จริง
ดังในสุภาษิตที่เราได้ยินได้ฟังเสมอว่า
แพ้เป็นพระ
ชนะเป็นมาร
นี่คือลักษณะของผู้ที่มีวิปัสสนาภาวนา
มีปัญญา
จะรู้จักวิธีปล่อยวาง
จะรู้จักหยุดนั่นเอง
ไม่มีเรื่องราวอะไรกับใคร
จะต้องสูญเสียอะไรก็พร้อมที่จะสูญเสีย
เมื่อไม่มีทางเลือกแล้ว
แม้แต่ชีวิตก็เช่นเดียวกัน
เมื่อถึงเวลาจะต้องสูญเสียชีวิต
ก็ต้องเสียมันไป
เพราะไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเสียมันไปอยู่ดี
ไม่มีใครจะหักห้ามการตายได้
แต่สิ่งที่เราสามารถหักห้ามได้
ก็คือความทุกข์ที่เกิดจากความตาย
เพราะคนที่มีปัญญาย่อมรู้ว่า
ความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดา
หนีไม่พ้นอย่างแน่นอน
เมื่อยอมรับความจริงอันนี้แล้ว
จิตก็จะไม่ทุกข์กับความตาย
เมื่อถึงเวลาก็ไป
เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็อยู่ต่อไป
ก็มีเท่านั้นเอง
อยู่ก็ได้ไปก็ได้
เพราะไม่ยึดไม่ติดกับอะไร
เพราะรู้ว่าเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้นั่นเอง
ภรรยาก็เอาไปไม่ได้
สามีก็เอาไปไม่ได้
ลูกก็เอาไปไม่ได้
สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆที่มีอยู่
ก็เอาติดตัวไปไม่ได้
แม้แต่ชิ้นเดียว
แม้แต่สังขารร่างกายอันนี้
ก็เอาไปไม่ได้เช่นเดียวกัน
ตายแล้วเขาก็เอาไปจุดไฟเผา
กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไปในที่สุด
แต่ใจที่ได้ปล่อยวางแล้วนั้นไปดี
ไปสู่สุคติ
ไปสู่มรรค ผล
นิพพาน
ตามความสามารถของกำลังแห่งสมถะและวิปัสสนาจะพาไป
ถ้าเป็นกำลังที่สูงสุดเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์
ก็พาไปสู่พระนิพพานเลย
ถ้ายังไม่เต็มที่ก็ต้องพาไปสู่พระอริยบุคคลระดับใดระดับหนึ่ง
ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป
ถ้าไม่มีวิปัสสนาภาวนา
มีแต่สมถภาวนา
ก็จะไม่ได้เข้าสู่อริยมรรค
อริยผล
ไปได้แค่สวรรค์ชั้นพรหมโลกเท่านั้นเอง
เพราะโดยลำพังของสมถภาวนาหรือสมาธินั้น
พาไปได้เพียงสวรรค์ชั้นพรหมโลกเท่านั้น
เพราะไม่สามารถทำลายกิเลสตัณหาต่างๆ
ที่มีอยู่ในใจได้
แต่ถ้ามีวิปัสสนาภาวนา
มีปัญญาแล้ว
จะสามารถตัดกิเลสได้ตามลำดับแห่งกำลังของปัญญานั้นๆ
ในเบื้องต้นก็จะทำลายกิเลสที่คอยดึงให้อยู่เป็นปุถุชน
เมื่อตัดกิเลสอันนั้นได้
ก็จะกลายเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นคือพระโสดาบัน
พระโสดาบันนี้ตัดสักกายทิฏฐิได้
ตัดสีลัพพตปรามาสได้
ตัดวิจิกิจฉาได้
คือความสงสัยในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์
ว่ามีจริงหรือไม่เรียกว่าความลังเลสงสัย
สีลัพพตปรามาสก็คือความไม่มั่นใจในเรื่องของศีลนั่นเอง
ว่าเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข
ความเจริญให้กับตนหรือไม่
และสักกายทิฏฐิก็คือความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นสัตว์
เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา
เป็นเขา
นี่คือสักกายทิฏฐิ
สำหรับพระโสดาบันนั้นท่านจะเจริญอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ในร่างกาย
ในรูปขันธ์ ในนามขันธ์
จนสามารถเห็นได้ว่าเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา
อนัตตา คือไม่มีตัว
ไม่มีตนนั่นเอง
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น
ตั้งอยู่ แล้วดับไป
นี่คือผลที่จะได้รับจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาเป็นขั้นๆไป
จนในที่สุดก็จะถึงขั้นสุดท้ายคือขั้นพระอรหันต์
เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว
แสดงว่าจิตได้รับการชำระอย่างเต็มที่แล้ว
จิตเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์
ไม่มีเชื้อแห่งภพแห่งชาติคือตัณหาหลงเหลืออยู่เลย
เมื่อเป็นเช่นนั้นภพชาติก็จะไม่มีต่อไป
จิตดวงนั้นก็เป็นจิตที่มีแต่ความสะอาดบริสุทธ์
เต็มเปี่ยมไปด้วยบรมสุข
ที่เรียกว่าปรมัง
สุขัง
ไปตลอดอนันตกาล
นี่แหละคือจิตของพระพุทธเจ้า
และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
หลังจากที่ได้บำเพ็ญอย่างเต็มที่แล้ว
เมื่อท่านได้เป็นอย่างนั้นแล้ว
ท่านก็นำความรู้นี้มาเผยแผ่ให้กับสัตว์โลกทั้งหลายต่อไป
เพื่อสัตว์โลกที่ยังมีความมืดบอด
ที่ยังหลงติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด
หลงติดอยู่กับลาภ
ยศ สรรเสริญ สุข ทั้งหลายในโลกนี้
จะได้เห็นโทษของมัน
เพราะเป็นของไม่เที่ยง
ไม่อยู่ในความควบคุมของเรา
ไม่ใช่สมบัติของเรานั่นเอง
ถ้าได้บำเพ็ญจิตตภาวนาทั้งสองชนิดนี้แล้ว
คือสมถภาวนา
และวิปัสสนาภาวนา
จิตใจของเราก็จะสะอาดบริสุทธิ์
หมดจดไปตามลำดับ
จนสะอาดบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว
เราก็จะอยู่อย่างสุขอย่างสบายไปตลอดอนันตกาล
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้