กัณฑ์ที่ ๒๐๘   ๕ มิถุนายน ๒๕๔๘

กายวิเวก จิตวิเวก

 

เรามาวัดเพื่อมาทำบุญทำทาน  รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม  ปฏิบัติธรรม  บำเพ็ญจิตตภาวนา  เจริญสมถภาวนา  และวิปัสสนาภาวนา  ทำจิตใจให้ร่มเย็นเป็นสุข  เจริญรุ่งเรือง  ฉลาดรอบรู้  เพื่อจะได้ฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา  เพื่อชีวิตจะได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นดีงาม  การบำเพ็ญจิตตภาวนานั้น จะได้ผลมากน้อยเพียงไร  ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ๆปฏิบัติ ว่าเป็นสถานที่ๆสงบสงัดวิเวก หรือมีความพลุกพล่าน มีเสียงอึกทึกครึกโครม  ถ้าเป็นสถานที่ที่สงบสงัดวิเวกแล้ว  ก็จะเป็นสถานที่เอื้อเฟื้อต่อการปฏิบัติ  เช่นตามป่าตามเขา  ตามวัดวาต่างๆที่ตั้งอยู่ตามป่าตามเขา  ที่มีกฎระเบียบเคร่งครัดควบคุมให้ทุกคนที่เข้ามาอยู่ในวัดนั้นๆ ต้องตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อย  ถ้าเป็นวัดแบบนั้น ก็เป็นสถานที่เหมาะสมต่อการบำเพ็ญจิตตภาวนา  เพื่อทำให้จิตใจสงบร่มเย็นเป็นสุข ให้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลาย   แต่ถ้าเป็นสถานที่มีความอึกทึกครึกโครม  มีมหรสพ มีการไปการมาอยู่เรื่อยๆ  สถานที่อย่างนั้นก็จะไม่เหมาะสมต่อการบำเพ็ญจิตตภาวนา  ไม่ช่วยทำจิตใจให้สงบได้

การบำเพ็ญจิตตภาวนาจึงต้องคำนึงถึงคำว่า กายวิเวก จิตวิเวก  กายวิเวกก็หมายถึงสถานที่ที่สงบสงัด  เมื่อได้สถานที่สงบสงัดแล้ว จิตวิเวกก็จะปรากฏตามขึ้นมา คือจิตจะสงบสงัดตาม  ผู้บำเพ็ญจิตตภาวนาจึงต้องคำนึงถึงสถานที่เป็นหลัก  เวลาจะไปบำเพ็ญ จะไปวัดไหน ก็ต้องสังเกตดูว่าเป็นวัดที่มีการปฏิบัติจริงหรือไม่   ถ้าเป็นวัดที่มีแต่มหรสพ มีงานต่างๆ อยู่ตลอดวันตลอดคืน  มีงานศพ มีงานบุญ มีงานปิดทองฝังลูกนิมิต  มีงานอะไรต่างๆ ร้อยแปดพันประการ  มีมหรสพทุกชนิดเข้าไปตั้งอยู่ในวัด ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว สถานที่เช่นนั้นก็ไม่เหมาะต่อการบำเพ็ญสมณธรรมความสงบ  วัดจึงต้องเป็นวัดที่เป็นวัดจริง ๆ  ทุกวันนี้วัดก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน  วัดที่เป็นแบบศูนย์การค้าก็มี คือมีการขายของ  มีมหรสพให้ดู  มีร้านจำหน่ายอาหารให้รับประทาน  มีสุรายาเมาจำหน่าย   เหล่านี้ถ้าจะเรียกว่าวัด ก็เพียงแต่ชื่อเท่านั้นเอง  แต่สภาพความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่วัดในทางพระพุทธศาสนา  เพราะวัดในทางพระพุทธศาสนานั้น ต้องเป็นวัดที่มีความสงบ ไกลจากเรื่องวุ่นวายต่างๆ    เรื่องการค้าขาย ซื้อข้าวซื้อของ  เรื่องร้านอาหาร เรื่องมหรสพต่างๆนั้น  ไม่ควรมีอยู่ในวัด   เพราะวัดมีไว้เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม บำเพ็ญความสงบนั่นเอง 

วัดจึงต้องเป็นกายวิเวกก่อน ถ้าวัดไม่เป็นกายวิเวกแล้ว ก็ไม่ควรถือว่าเป็นวัดอีกต่อไป ผู้ที่จะไปวัดจึงควรคำนึงถึงคุณสมบัติของวัดว่าเป็นอย่างไร  เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของพระพุทธศาสนานั้น มุ่งไปที่ใจของสัตว์โลกทั้งหลายเป็นหลัก  ต้องการให้สัตว์โลกได้รับประโยชน์จากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก   เพราะถ้าสามารถนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าไปสู่ในจิตในใจแล้ว  จิตใจของผู้นั้นก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุข  เป็นจิตใจที่มีที่พึ่ง มีภูมิคุ้มกันภัยทั้งหลาย ไม่ให้เข้ามาเหยียบย่ำทำลายได้  นี่คือจุดประสงค์ของพระพุทธศาสนา  คือสอนให้รู้จักเรื่องบาปบุญคุณโทษ  สอนให้รู้จักวิธีทำจิตใจให้สงบ ให้มีความสุข  ดังนั้นเรื่องการก่อสร้างต่างๆ เรี่ยไร ขอเงินขอทองจากศรัทธาญาติโยมนั้น จึงไม่ใช่เป้าหมายของศาสนา  พระพุทธเจ้าถึงแม้จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศพระธรรมคำสอนสั่งสอนสัตว์โลกมาตลอด ๔๕ พรรษา  พระพุทธองค์ก็ไม่เคยเรี่ยไรเงินจากผู้หนึ่งผู้ใดเลยแม้แต่บาทเดียว  ไม่เคยเอาบาตรมาตั้งไว้ที่หน้าธรรมาสน์ เวลาแสดงธรรมจะได้ให้คนเอาเงินมาใส่ในบาตร  เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมด้วยจิตที่บริสุทธิ์  ไม่มีความโลภในลาภสักการะเลย  มีแต่พระกรุณาคือความสงสารสัตว์โลก อยากจะให้สัตว์โลกได้มีหูตาสว่างขึ้น  พื่อจะได้อยู่อย่างสงบ ร่มเย็นเป็นสุข  อยู่ไกลจากความทุกข์ทั้งหลาย 

นี่คือเป้าหมายของพระพุทธเจ้า ที่ทรงประกาศพระศาสนา เพื่อจิตใจของสัตว์โลกโดยแท้จริง ต้องการให้สัตว์โลกได้ชำระจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด เพราะจิตใจของสัตว์โลกทุกราย มีสิ่งที่เรียกว่ากิเลสตัณหา เครื่องเศร้าหมอง หุ้มห่อจิตใจอยู่ ถ้ามีกิเลสตัณหาหุ้มห่อจิตใจอยู่มากน้อยเพียงไร จิตใจก็จะต้องมีความเศร้าหมองมากน้อยตามไปด้วย  หน้าที่ของสัตว์โลกผู้ปรารถนาความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ทั้งหลาย จึงต้องย้อนเข้ามาดูที่ใจของตนเป็นหลัก   เพราะใจของตนนี้แหละเป็นผู้รับความสุขและรับความทุกข์ ใจของตนนี่แหละเป็นผู้สร้างความสุขและสร้างความทุกข์ให้กับตนเอง  ถ้าย้อนเข้ามาที่ใจ นำเอาพระธรรมคำสอนซึ่งเปรียบเหมือนน้ำสะอาดมาชำระกิเลสตัณหา  โมหะอวิชชาความมืดบอด ความไม่รู้จริง ให้หลุดลอยออกไปจากจิตจากใจแล้ว  ก็จะเป็นจิตใจที่มีความสว่างด้วยปัญญา  มีดวงตาเห็นธรรม  เรียกว่าธรรมจักษุ สามารถรู้ได้ว่า อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นสุข อะไรเป็นทุกข์ได้อย่างชัดเจน  ซึ่งต่างกับผู้ที่ยังมีโมหะอวิชชาครอบงำจิตใจอยู่  จะเห็นกลับตาลปัตร  เห็นผิดเป็นถูก  เห็นดีเป็นชั่ว  เห็นนรกเป็นสวรรค์  อย่างที่พวกเราทั้งหลายเห็นกัน ยังไม่เห็นตามความเป็นจริง   ยังเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นความสุข  ทั้งๆที่ให้ความทุกข์กับเรา เพราะขาดปัญญา ขาดการบำเพ็ญสมณธรรม คือการเจริญจิตตภาวนา ทางด้านสมถะและวิปัสสนานั่นเอง  

การเข้าวัดจึงควรคำนึงถึงเรื่องการบำเพ็ญจิตตภาวนาไว้เป็นหลัก มีโอกาสควรให้ความสนใจศึกษา ทำความเข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติ   อย่าไปคิดว่าการบำเพ็ญจิตตภาวนานี้ เป็นหน้าที่เป็นงานของนักบวชเท่านั้น  เพราะว่างานจิตตภาวนานี้ เป็นการดูแลรักษาจิตใจ  จิตใจของคนเราทุกๆคน ต้องได้รับการทำนุบำรุง ดูแลรักษา เหมือนกับร่างกายของเรา  พวกเราทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ก็ต้องดูแลรักษาร่างกายของเราเหมือนๆกัน  ต้องรับประทานอาหาร  ต้องหาเสื้อผ้ามาใส่  ต้องมีบ้านไว้สำหรับหลบแดดหลบฝน  ต้องมียาไว้สำหรับรักษาโรคทางร่างกาย  จิตใจก็เป็นเหมือนกับร่างกาย ต้องอาศัยการทำนุบำรุงดูแล ต้องการอาหาร ต้องการเสื้อผ้าอาภรณ์สวยงามไว้ใส่  ต้องการที่อยู่อาศัย  ต้องการยารักษาโรคเช่นเดียวกัน  การบำเพ็ญจิตตภาวนานี่แหละ เป็นวิธีที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่จิตต้องการ   เวลาบำเพ็ญจิตตภาวนา ก็เท่ากับให้อาหารกับจิตใจ  ให้เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามกับจิตใจ  ให้ที่อยู่อาศัยกับจิตใจ  ให้ยารักษาโรคกับจิตใจ  เพราะเวลาทำจิตใจของเราให้สงบนั้น จิตใจจะเกิดความอิ่มเอิบขึ้นมา  มีความสุข  มีความพออยู่ในจิตในใจ  ไม่หิวไม่กระหายอยาก ที่จะไปไหนมาไหน  ไปดูนั่นไปฟังนี่  ไปรับประทานสิ่งนั้นไปดื่มสิ่งนี้  จะไปเล่น จะไปเที่ยว ที่นั่น ที่นี่

ในขณะที่จิตมีความสงบ จะไม่รู้สึกหิวกระหายกับสิ่งต่างๆเลย  กายวาจาก็สงบเรียบร้อย ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร   จะไปไหน จะไปอยู่กับใคร ผู้ที่มีความสงบกาย สงบวาจา ซึ่งเกิดจากความสงบของจิตใจ   จะเป็นบุคคลที่สวยงาม เพราะไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  จิตใจที่มีความอิ่มแล้ว จะไม่หิวกระหาย อยากจะได้ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองของผู้อื่น   ไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวกับสามีภรรยาบุตรธิดาของผู้อื่น  เพราะว่าจิตมีความสุข มีความอิ่มพอนั่นเอง  เวลาอยู่กับใครก็จะมีศีลมีธรรม  ไม่ลักทรัพย์ของผู้อื่น  ไม่ประพฤติผิดประเวณี  ไม่พูดปดมดเท็จโกหกหลอกลวง เพื่อที่จะเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากบุคคลนั้นหรือบุคคลนี้  จะไม่ไปทำร้ายชีวิตของผู้อื่น เพราะไม่มีความโกรธแค้นโกรธเคืองกับใคร   จิตที่สงบนั้นจะปราศจากสิ่งต่างๆที่เลวร้าย ที่พวกเราทั้งหลายไม่ปรารถนากัน  เราจึงไม่ควรมองข้ามการทำจิตใจของเราให้สงบ   เพราะเมื่อสงบแล้วเราจะอยู่เย็นเป็นสุข  จะไม่มีปัญหาอะไรกับใครเลย  ใครจะเป็นอะไรอย่างไร  ใครจะดีใครจะชั่วอย่างไร  เราจะรู้สึกเฉยๆ  จะไม่รู้สึกเดือดร้อนกับความดีความชั่วของเขา  เพราะจิตของเราสามารถแยกออกจากเขาได้ 

ในขณะที่จิตมีความสงบ ความอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ก็จะเบาบางลงไป  สามารถปล่อยวางได้  ไม่หลงไม่รักแบบขาดไม่ได้ อย่างนั้นจะไม่มีในจิตใจของผู้ที่มีความสงบ เพราะเขาสามารถอยู่ได้ตามลำพังของเขา   เขามีความสุขได้โดยอยู่เฉยๆ  โดยอยู่คนเดียว   ถึงแม้จะไปอยู่ในป่าในเขา ห่างไกลจากทุกสิ่งทุกอย่าง  แต่จิตใจของบุคคลที่มีความสงบนั้น    จะไม่มีความรู้สึกว้าเหว่ เศร้าสร้อยหงอยเหงาเลย  เพราะจิตใจนั้น ไม่สามารถสร้างความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นมาได้ ในขณะที่จิตมีความสงบนั่นเอง   ต่างกับพวกเราผู้ที่ไม่เคยบำเพ็ญจิตตภาวนา ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสกับความสงบ เวลาไปอยู่ที่ไหนคนเดียวแล้ว จะต้องเกิดความรู้สึกว้าเหว่  เกิดความรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงาปรากฏขึ้นมา   คิดถึงคนนั้น คิดถึงคนนี้   คิดไปแล้วก็อยากจะร้องไห้ไปด้วย  นี่เป็นเพราะว่าจิตใจของเรานั้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีอาหารหล่อเลี้ยงนั่นเอง นี่แหละทำไมพวกเราจึงควรให้ความสนใจ ต่อการบำเพ็ญจิตตภาวนา  เพราะมันก็เป็นการดูแลอีกซีกหนึ่งของชีวิตของเรานั่นเอง  

ชีวิตของเราก็เปรียบเหมือนกับเหรียญที่มีอยู่ ๒ ด้าน   มีหัวและมีก้อย  คือมีกายและมีใจ   กายเราก็ดูแลรักษาแล้ว  แต่ใจนี้เราไม่ค่อยได้ดูแลรักษาเท่าไร   นอกจากไม่ได้ดูแลรักษาแล้ว  เรากลับยังเอายาพิษเข้าไปใส่ในใจของเราอีก   เช่นเอากิเลสตัณหาเข้ามาใส่ในใจของเรา  เวลาเห็นอะไร ชอบอกชอบใจอะไร ก็เกิดกิเลสตัณหา เกิดความโลภ เกิดความอยากขึ้นมา   และเมื่อเกิดความโลภ เกิดความอยากแล้ว ก็ต้องดิ้นรนทะเยอทะยาน  แสวงเอาสิ่งที่ต้องการมาให้ได้ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง   ถ้าไม่ได้มาด้วยความสุจริต ก็เอามาด้วยความทุจริต   ก็เท่ากับนำเอายาพิษเข้ามาใส่จิตใจ  เอาความวุ่นวาย  เอาความทุกข์เข้ามาให้กับจิตใจ   นี่คือสิ่งที่พวกเราทำกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ   ชีวิตของพวกเราจึงไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร   ได้อะไรมาก็สุขเดี๋ยวเดียว   เดี๋ยวก็มีปัญหา มีเรื่องมีราวตามมา   ได้สามีได้ภรรยามา อยู่ด้วยกันไม่นาน  หม้อข้าวยังไม่ทันดำ ก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดความเกลียดชังกันขึ้นมา   นี่ก็เป็นเพราะว่าเราไปแสวงหา สิ่งที่มันเป็นโทษกับชีวิตของเรานั่นเอง  แต่เนื่องจากเราขาดปัญญา ขาดสมาธิ ความสงบของจิตใจ ทำให้เมื่อเกิดความหิว เกิดความอยากแล้ว   เห็นอะไรก็คว้ามาทันที คิดว่าอะไรดี คิดว่าอะไรสุข ก็คว้ามาทันที โดยไม่ได้ใช้ปัญญา ไตร่ตรองคิดดูให้รอบคอบเสียก่อน ว่ามันสุขจริงหรือเปล่า มันดีจริงหรือเปล่า หรือมันเป็นเหมือนกับขยะที่ถูกห่อด้วยกระดาษที่สวยๆงามๆ แต่เราไม่รู้ว่าของที่อยู่ในกล่องนั้นเป็นขยะ  แต่เมื่อมาเปิดดูทีหลัง  ถึงรู้ว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่วิเศษวิโสเลย  

นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องศึกษา ต้องปฏิบัติธรรมกัน   เพราะเมื่อได้ศึกษา  ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว เราจะเริ่มเห็น  เราจะเริ่มรู้ว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่พวกเราทั้งหลายทุกคน พยายามดิ้นรนแสวงหากันนั้น มันมีความทุกข์   มันมีโทษซ่อนเร้นอยู่ในตัวของมัน  ถึงแม้จะมีความสุขแต่ก็มีความทุกข์ตามมา  เรียกว่าทุกขลาภ   เช่นเงินทองเป็นตัวอย่าง  คนที่ถูกลอตเตอร์รี่รางวัลที่ ๑ ได้เงิน ๓๐ ล้าน ๕๐ ล้านมา  ทีนี้ก็อยู่อย่างปกติไม่ได้แล้ว  ต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ เพราะเมื่อมีเงินมีทอง ก็จะต้องมีคนคอยจ้อง คอยมาขอ มาขโมย มาปล้น มาจี้  เวลาไปรับเงินรางวัลก็ต้องหาคนคุ้มกัน  ชีวิตไม่ปลอดภัยแล้ว แต่ก็ไม่คิดกันในเรื่องแบบนี้  เพราะความโลภ ความหลงมันครอบงำจิตใจ  อยากจะร่ำอยากจะรวย  อยากจะมีเงินมีทองมากๆ  เพื่อจะได้เอาไปซื้อความสุข  แต่ไม่รู้หรอกว่ากำลังถูกความทุกข์ครอบงำจิตใจ ด้วยความหวาดระแวง ด้วยความไม่ปลอดภัยทั้งหลายที่มารุมเร้าอยู่ตลอดเวลา   นี่เป็นตัวอย่าง   สู้อยู่แบบธรรมดาปกติของเราดีกว่า มีเท่าไร ก็อยู่แบบของเรา  มีน้อย ก็ใช้น้อย   เพราะความจำเป็นต่อเงินทองนั้น ก็เพียงแค่ปัจจัย ๔ เท่านั้นเอง  

คนเราถ้ามีปัจจัย ๔ แล้ว  ชีวิตก็อยู่ได้แล้ว  ไม่ต้องมีปัจจัยที่ ๕ ปัจจัยที่ ๖ เช่น โทรศัพท์มือถือ  รถยนต์  วิทยุโทรทัศน์  เครื่องบันเทิงต่างๆ   สิ่งเหล่านี้มีไว้สำหรับคนที่จิตใจไม่สงบนั่นเอง  คนที่ขาดอาหารใจ  คนที่ไม่มีความสงบนี้ คือคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารทางด้านจิตใจ จึงทำให้เกิดความหิว เกิดความกระหาย เกิดความอยาก ที่จะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะคิดว่าเมื่อมีแล้ว จะมีความสุข  แต่ที่ไหนได้ เมื่อได้มาแล้ว ก็กลายเป็นความทุกข์ไป   ไม่ว่าอะไรก็ตาม สิ่งต่างๆที่ได้มาแล้ว ก็ต้องเป็นภาระ ให้คอยดูแลรักษา   ถ้าสูญหายไป ก็ต้องเกิดความเสียอกเสียใจตามมา   นี่ก็เป็นความทุกข์แล้ว  ความห่วงความกังวลกับสิ่งของต่างๆ ที่มีครอบครองอยู่ ก็เป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง  สิ่งต่างๆนั้น ล้วนสร้างภาระให้กับจิตใจทั้งสิ้น โดยที่เราไม่รู้เลย  เพราะเราไม่เคยคิดกันนั่นเอง  แต่ถ้ามาคิดกันสักนิด คิดกันสักหน่อยแล้ว  เราจะรู้ว่าอยู่ตัวคนเดียวนี่แหละ ดีที่สุด  มีอะไรน้อยเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น  เพราะมีอะไรก็ต้องทุกข์กับสิ่งนั้นๆ   มีสามีก็ต้องทุกข์กับสามี  มีภรรยาก็ต้องทุกข์กับภรรยา  มีลูกก็ต้องทุกข์กับลูก เป็นห่วงลูก กังวลลูก ลูกไม่ดีก็เสียอกเสียใจ  ล้วนมีแต่เรื่องที่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราอยู่เสมอ  คนที่อยู่คนเดียว ไม่มีสามี ก็ไม่ต้องทุกข์กับสามี  ไม่มีภรรยา ก็ไม่ต้องทุกข์กับภรรยา  ไม่มีลูก ก็ไม่ต้องทุกข์กับลูก  แสนจะสบาย  

แต่เพราะจิตใจมันโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง  ถูกกิเลสตัณหาคอยหลอกคอยล่ออยู่เรื่อยๆ ว่าน่าจะมีคู่นะ อยู่คนเดียวไม่ดี เปล่าเปลี่ยวใจ  ถ้าเราไม่คิดเอง คนอื่นก็มาคิดแทนเรา  บางทีคนอื่นเห็นเราอยู่คนเดียว ก็อดทนไม่ไหว ต้องมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ถามอยู่เรื่อยว่าเมื่อไหร่จะมีแฟนสักที  มันเรื่องอะไรของชาวบ้านเขาล่ะ ตัวของเรา เราอยู่ของเราตามลำพัง เรามีความสุขอยู่แล้ว เราไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว ทำไมชาวบ้านจะต้องมาเดือดร้อนแทนเราด้วย  ถ้ามีใครเขามาเดือดร้อนแทนเรา  ก็อย่าไปกังวล  ขอให้เราทำจิตใจให้สงบเถิด  ถ้าทำจิตใจของเราสงบได้แล้ว เราจะไม่สนใจเลย ว่าใครจะพูดอะไรอย่างไร  เพราะเราจะเห็นอยู่แก่ใจของเราเลยว่า มันไม่มีอะไรจะวิเศษเท่ากับความสงบของจิตใจของเรา

ขณะนี้จิตใจของเราสงบแล้ว  เรามีความอิ่มมีความพอแล้ว  แล้วจะวิ่งไปหาเสี้ยนมาทำไม  แกว่งเท้าไปหาเสี้ยน หาหนาม มาให้เจ็บตัวทำไม  อยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ  นี่คือความรู้สึกนึกคิด ของผู้ที่ได้บำเพ็ญจิตตภาวนา  ทำจิตใจของตนเองให้สงบ  เมื่อจิตใจของตนมีความสงบแล้ว ก็จะมีความอิ่ม มีความพอ ปรากฏขึ้นมาในจิตในใจ   เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบาย  ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายให้เหนื่อย ให้ลำบากไปเปล่าๆ ทุกวันนี้ชีวิตของพวกเรานั้น  ที่มันทุกข์ มันลำบาก ก็เกิดจากจิตใจที่ไม่สงบนี่เอง เมื่อจิตใจไม่สงบแล้ว ก็เกิดความรู้สึกไม่พออยู่ตลอดเวลา  ต่อให้มีมากมีน้อยเพียงไร ก็ยังรู้สึกไม่พออยู่นั่นเอง   มีเงินเป็นแสน ก็ยังรู้สึกไม่พอ อยากมีเงินเป็นล้าน  พอมีเงินเป็นล้าน ก็ยังรู้สึกไม่พอ อยากจะมีเงินเป็น ๑๐ ล้าน ๑๐๐ ล้านตามมา  นี่คือลักษณะของจิตใจที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา ด้วยการบำเพ็ญจิตตภาวนา  ด้วยการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เจริญปัญญา เจริญวิปัสสนานั่นเอง  

ดังนั้นจึงอยากให้ท่านทั้งหลาย จงย้อนเข้าสู่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจังกันเสียที  พยายามปล่อยวางสิ่งต่างๆภายนอก  สิ่งใดที่มันไม่มีความจำเป็น ก็อย่าไปอยากได้  ถ้ามีอยู่แล้ว ก็ใช้ไปตามความจำเป็นก็แล้วกัน  ถ้าไม่มีความจำเป็น ก็ให้คนอื่นไปจะดีกว่า  เช่นถ้าไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ก็ให้คนอื่นไปเสีย ก็หมดเรื่อง  ไม่ต้องคอยมากังวล หาเงินมาคอยเติมเงิน เสียค่าโทรศัพท์ต่างๆนานา   แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ในการทำมาหากิน เพื่อที่จะได้มีรายได้เพิ่มเติมขึ้นมา  ถ้ารายจ่ายที่เสียไป มันน้อยกว่ารายได้ที่ได้มา อย่างนี้ก็เก็บไว้ใช้ได้  แต่ถ้าเก็บมันแล้ว รายจ่ายกลับมีมากกว่ารายได้  เก็บไว้ก็มีแต่ขาดทุน ก็อย่าไปเก็บมันไว้ดีกว่า  

ของต่างๆนั้น มันไม่มีความจำเป็นกับชีวิตของเรา ไม่ได้ให้ความอิ่ม ให้ความพอกับเรา  แต่จะคอยทำให้เราหิว มีความอยากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ   มีของเก่าอยู่ดีดี พอเห็นของใหม่ออกมา ก็อดไม่ได้ที่อยากจะได้ของใหม่   แล้วก็จะมีของใหม่ออกมาล่อใจเราอยู่เรื่อยๆ  ถ้าปล่อยใจให้ไหลไปตามกระแสของความอยากแล้ว  ชีวิตของเราก็จะต้องดิ้นรนวิ่งหาสิ่งต่างๆ มาเลี้ยงกิเลสตัณหาความอยาก  เลี้ยงเท่าไรก็จะไม่มีความรู้สึกอิ่ม รู้สึกพอเลย แล้วเมื่อไม่มีปัญญา ไม่มีความสามารถที่จะหาสิ่งต่างๆ ที่อยากได้มา ก็เกิดความเศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมาอีก  เช่นวันไหนอยากจะออกไปเที่ยว อยากจะไปใช้เงินใช้ทอง แต่ไม่มีเงินทอง ต้องอยู่บ้าน ก็จะต้องมีความรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงา เบื่อหน่าย อิดหนาระอาใจขึ้นมาทันที  

แต่ถ้าเคยบำเพ็ญจิตตภาวนา ทำจิตใจให้สงบ  เวลาไม่มีเงินไม่มีทอง เราจะไม่เดือดร้อน เพราะเราก็ไม่อยากจะออกไปข้างนอกอยู่แล้วนั่นเอง   เพราะไม่มีที่ไหนหรอก ที่จะสุข ที่จะสบาย เท่ากับบ้านของเรา  ที่บ้านของเรานี้ มีพร้อมทุกอย่าง มีเตียงนอน มีห้องน้ำ มีตู้เย็น มีอาหารรับประทาน มีอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสถานที่ปลอดภัย แต่งกายก็ไม่ต้องแต่งกายให้เสียเวลา อยู่ในบ้านใส่เสื้อผ้าตามสบาย  แต่กลับอยู่บ้านกันไม่ได้   เพราะอำนาจของกิเลสตัณหาความอยากต่างๆนั่นเอง   พอต้องอยู่บ้าน ก็จะเกิดความรู้สึกอึดอัดใจขึ้นมาทันที  เพราะกิเลส เริ่มแสดงลวดลาย บีบบังคับจิตใจของเรานั่นเอง   แต่ถ้าเราได้บำเพ็ญจิตตภาวนาจนจิตสงบแล้ว  กิเลสตัณหาความอยากต่างๆ ก็จะสงบลงไปด้วย  แล้วก็จะไม่มีอำนาจมาสร้างความรู้สึกหิว รู้สึกอยากกับสิ่งต่างๆ  มาคอยบีบคั้นให้เราเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ที่จะต้องอยู่ในบ้าน  ที่จะทำให้เราเกิดความรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงา  ทำให้เราต้องวิ่งออกไปข้างนอก ไปหาความสุขภายนอก  

นี่แหละปัญหาของพวกเราเป็นอย่างนี้กัน    เราถูกความหลงหลอกให้ไปหาความสุข ซึ่งไม่ใช่เป็นความสุขเลย   เป็นแต่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ แต่พวกเราก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งความอยาก ความต้องการในสิ่งต่างๆได้  เพราะเราไม่เคยฝึกหยุดจิตหยุดใจของเรานั่นเอง   ถ้าเรารู้จักหยุดจิตหยุดใจของเราแล้ว  ชีวิตของเราจะอยู่ได้อย่างสบาย  ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายมากจนเกินไป   อย่างมากก็เพียงแต่หาปัจจัย ๔ คืออาหารมาคอยเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  เสื้อผ้ามาใส่สัก ๒ - ๓ ชุดก็พอเพียงแล้ว   บ้านมีไว้สำหรับหลบแดดหลบฝนเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นจะต้องมีบ้านราคาแพงๆ  ราคา ๑๐ ล้าน ๒๐ ล้าน อยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้มันปลอดภัยจากแดด จากฝน จากลม ก็พอแล้ว    นี่แหละชีวิตของพวกเรา  ถ้าลองหันมาทำจิตใจให้สงบแล้ว จะเป็นชีวิตที่มีความสบายมาก ไม่ต้องไปดิ้นรนมาก ไม่ต้องไปเหนื่อยมาก  แล้วก็ไม่ต้องวุ่นวายมากกับสิ่งต่างๆ  ไม่ต้องมาเสียอกเสียใจ  ร้องห่มร้องไห้กับสิ่งต่างๆ  เวลาสิ่งต่างๆเหล่านั้นต้องจากเราไป 

จึงขอให้มาวัดกัน  หรือถ้าอยู่ที่บ้าน ก็หัดนั่งสมาธิกัน  ไหว้พระสวดมนต์ก่อนก็ได้ ถ้าจิตใจไม่ยอมอยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆ  ก็สวดมนต์ไปก่อนในใจก็ได้ ออกเสียงก็ได้  นั่งขัดสมาธิหลับตา แล้วก็สวดอรหังสัมมาไป สวดไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะมีความรู้สึกสบาย แล้วอยากจะหยุดสวด  ก็หยุดไป  แล้วสังเกตดูว่าจิตยังจะคิดโน่นคิดนี่หรือเปล่า  ถ้ายังคิดโน่นคิดนี่อยู่ ก็บริกรรมพุทโธๆๆไปต่อ  โดยมีสติคอยเฝ้าดู ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ    ถ้าทำอย่างนี้ไปได้เรื่อยๆแล้ว จิตก็จะค่อยสงบตัวลงๆ   แล้ววันดีคืนดี อาจจะรวมลงเป็นสมาธิขึ้นมาเลยก็ได้  คือมันจะหยุดนิ่ง  จะไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ  มันจะไม่สนใจใยดี  ในขณะนั้นมันจะนิ่งเฉยอยู่ ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  แล้วจะเห็นความอัศจรรย์ของจิตที่สงบว่า ไม่มีอะไรจะวิเศษเท่า และจะรู้อย่างลึกซึ้งความหมายของกายวิเวก จิตวิเวก ว่าเป็นอย่างไร  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้