กัณฑ์ที่   ๒๐๙       ๖ มิถุนายน ๒๕๔๘

สังวร

 

พวกเราชาวพุทธผู้มีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ได้มาที่วัดกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประกอบคุณงามความดี ทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม  ปฏิบัติธรรม  เจริญจิตตภาวนา ด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง อดทน  เพราะรู้ว่าการบำเพ็ญตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งคุณและประโยชน์ แก่ชีวิตของตนเอง  และชีวิตของผู้อื่น ที่เราเกี่ยวข้องด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังเทศน์ฟังธรรม และการบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาภาวนา ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติที่สำคัญอย่างยิ่ง  เพราะเป็นแก่นของพระศาสนาเลยทีเดียว  เป็นการปฏิบัติที่จะให้ผล ให้ประโยชน์อย่างมากมาย ยิ่งกว่าการกระทำ การประพฤติอย่างอื่น พุทธศาสนิกชนจึงไม่ควรมองข้ามการฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ  และการบำเพ็ญจิตตภาวนา มีสมถภาวนา ทำจิตใจให้สงบ และวิปัสสนาภาวนา ทำจิตใจให้รู้แจ้งเห็นจริง ในสภาวธรรมทั้งหลาย 

การบำเพ็ญจิตตภาวนานั้น ได้กล่าวไว้ในคราวที่แล้วว่า จำเป็นต้องมีสถานที่สงบสงัด เพื่อให้การบำเพ็ญเป็นไปอย่างราบรื่น ง่ายดาย  ที่เรียกว่ากายวิเวกเพื่อจิตวิเวก   กายวิเวกหมายถึงสถานที่สงบสงัด ที่ทุกคนตั้งอยู่ในความสงบ เมื่อสถานที่เป็นที่ๆสงบแล้ว เวลาบำเพ็ญสมถภาวนาเพื่อความสงบสุขของจิตใจ ก็จะเป็นสิ่งที่ง่ายดาย   กลายเป็นจิตวิเวกไป คือจิตจะสงบสงัดตามไปด้วย  นอกจากการอยู่ในสถานที่สงบสงัด เช่นตามป่าตามเขา ตามวัดวาอาราม ที่มีความสงบร่มเย็นแล้ว  ผู้ปฏิบัติยังต้องมีความสำรวมในศีล  ในกาย วาจา เรียกว่าสีลสังวร  และมีความสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๕ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่าอินทรียสังวร เพื่อช่วยทำให้จิตเข้าสู่ความสงบได้อย่างรวดเร็ว  

เวลามาวัด มาประพฤติปฏิบัติธรรม จึงควรเจริญสีลสังวรและอินทรียสังวร ควบคู่ไปกับการบำเพ็ญจิตตภาวนา   สีลสังวรก็อย่างที่เมื่อสักครู่ท่านทั้งหลายได้สมาทานกัน  คือละเว้นจากการกระทำทางกายและวาจาที่จะสร้างความฟุ้งซ่าน สร้างความวุ่นวาย สร้างความร้อนให้กับจิตใจ   ได้แก่ ๑. ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ๒. ละเว้นจากการลักทรัพย์  . ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ถ้าเป็นผู้ที่บำเพ็ญจิตตภาวนาก็ควรละเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์เลย ให้ตั้งอยู่ในการประพฤติพรหมจรรย์  . ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ ให้พูดแต่ความจริง  . ละเว้นจากการพูดคำหยาบ ให้พูดคำที่สุภาพเรียบร้อย ฟังแล้วสบายอกสบายใจทั้งผู้พูดและผู้ฟัง  . ละเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่นั่งจับกลุ่มคุยกัน คลุกคลีกัน สมาคมกัน เอาเรื่องของชาวบ้านมาพูดนินทา วิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานาเป็นการเสียเวลาไม่เกิดประโยชน์อะไร        ๗. ละเว้นจากการพูดส่อเสียด พูดยุยงให้เกิดการแตกสามัคคี ให้เกลียดกัน เป็นวาจาที่ไม่ควรพูด สำหรับผู้บำเพ็ญจิตตภาวนา ผู้ต้องการชำระจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด  

ถ้าอยากจะพูดอยากจะคุยกันก็ให้เป็นกาเลน ธรรมสากัจฉา สนทนาธรรมกันตามกาลตามเวลาที่เหมาะสม เวลาคุยกันก็ให้คุยเรื่องธรรมะ คุยเรื่องมักน้อยสันโดษ ยินดีในที่สงบสงัดวิเวก คุยเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องการหลุดพ้นจากกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง  เรื่องการบำเพ็ญความเพียรด้วยความเข้มแข็งอดทน เหล่านี้เป็นสิ่งที่คุยกันได้  เพราะเมื่อคุยกันแล้วก็จะทำให้จิตใจมีกำลัง  เมื่อต่างฝ่ายต่างมีอะไรมาเล่ามาบอกกัน  ผู้ได้ยินได้ฟังจะเกิดความกระตือรือร้น  อยากจะประพฤติปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นไป อย่างนี้เรียกว่า กาเลน ธรรมสากัจฉา  เอตัมมัง  กลมุตมัง  การสนทนาธรรมตามกาลตามเวลา ที่เหมาะสมที่ควร นำมาซึ่งความเป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิตจิตใจ  นี่คือสิ่งที่ควรสำรวมกัน

ข้อห้ามเหล่านี้เรียกว่าสีลสังวร สำรวมกายวาจา มิให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ซึ่งจะนำผลไม่ดีกลับมาสู่จิตใจ ทำให้มีความรุ่มร้อน ฟุ้งซ่าน  ลำบากต่อการทำจิตใจให้สงบนั่นเอง  นี่คือสีลสังวร  ส่วนอินทรียสังวรก็หมายถึงการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ให้ไปสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ที่ทำให้เกิดราคะ ความกำหนัดยินดีขึ้นมา  เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา  คือ. ให้ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา  . ให้ละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว รับประทานอาหารเพื่ออยู่เท่านั้น ไม่ได้อยู่เพื่อกิน กินเพื่ออยู่หมายถึงกินเพื่อดูแลรักษาร่างกาย เหมือนกับเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็กินยาเพื่อระงับโรคภัยไข้เจ็บ  ความหิวก็เป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างหนึ่ง  อาหารที่เรารับประทานก็เป็นเหมือนยาอย่างหนึ่ง  รับประทานอาหารเพื่อรักษาโรคหิวที่มีอยู่ในกายให้หมดไป  ไม่ได้รับประทานอาหารเพื่อรสชาติ เพื่อความเอร็ดอร่อย เพื่อความสุข เพื่อความสนุกสนานเฮฮา 

นี่คือความหมายของการสำรวมอินทรีย์ จะดู จะฟัง จะสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะชนิดใดก็ตาม ก็สัมผัสด้วยความระมัดระวัง ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้สัมผัสด้วยกิเลสตัณหา ความอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสต่างๆ อย่างนี้คือการสำรวม เวลาสัมผัสต้องระมัดระวัง อย่าให้เกิดตัณหาขึ้นมาภายในจิตใจ เช่นรับประทานอาหารเสร็จไปหยกๆ เห็นขนมกองอยู่วางอยู่ ก็เกิดความหิวขึ้นมาอีก อย่างนี้เรียกว่าอยู่เพื่อกิน ไม่ได้กินเพื่ออยู่  เห็นอะไรก็อดไม่ได้ อยากจะกิน ทั้งๆที่ท้องก็แน่นไปด้วยอาหาร ซึ่งรับประทานไปหยกๆ   แต่ใจมันไม่อิ่มตามท้อง  เพราะกิเลสตัณหาไม่มีขอบ ไม่มีเขต  ไม่มีเวลา  มีความหิวความอยากตลอดเวลา  จึงต้องระมัดระวัง ต้องตั้งกฎไว้ว่า จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว เพื่อจะได้กำจัดความฟุ้งซ่านของจิตนั่นเอง  ถ้าปล่อยให้กินได้ตามความต้องการแล้ว จะไม่อยากภาวนา  ไม่อยากนั่งสมาธิ  นั่งพุทโธๆๆ ไปได้สัก ๒ - ๓ คำ เดี๋ยวพวกขนมต่างๆก็ปรากฏขึ้นมาในใจ ก็อดที่จะตบะแตกไม่ได้ ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ก็ต้องลุกไปหาอะไรมากิน   การภาวนาก็ไปไม่ถึงไหนสักที  แต่ถ้าได้กำหนดเรื่องการรับประทานอาหารไว้  เช่นหลังเที่ยงวันไปแล้วจะไม่รับประทานอะไรอีก จะดื่มแต่น้ำอย่างเดียว   เพื่อดับความกระหายเท่านั้น   ส่วนพวกอาหารของรับประทานต่างๆนั้น ถือว่าพอเพียงแล้วสำหรับวันนี้   ถ้าอยากจะรับประทานอีก ก็ต้องรอวันรุ่งขึ้น    

ถ้ามีขอบเขต มีกติกาไว้คอยควบคุมบังคับจิตใจแล้ว  ก็จะไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดอยากรับประทานอะไรอีก  เพราะอยากอย่างไร ก็ไม่ได้รับประทานอยู่ดี  เพราะมีอินทรียสังวรนั่นเอง   แต่ถ้าไม่มีอินทรียสังวรแล้ว กิเลสจะคอยหลอกคอยล่ออยู่เรื่อย  เดี๋ยวก็บอกว่าไอ้นั่นดี ไอ้นี่อร่อย เดี๋ยวก็น้ำลายไหล เกิดความหิวขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องของมารทั้งสิ้น  เรียกว่ากิเลสมาร มันเกิดขึ้นมาเพื่อทำลายความพยายามที่ดีของเรา ที่จะทำจิตใจให้สงบ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข  นี่คือสิ่งที่กิเลสจะขัดขวางไม่ให้เกิดขึ้น  จะคอยสร้างความวุ่นวายให้กับจิตใจอยู่ร่ำไป   เราจึงต้องสำรวมอินทรีย์ด้วยการละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว  หรือถ้าอยากจะปฏิบัติให้เคร่งครัดยิ่งขึ้นไปอีก  ก็ให้รับประทานอาหารเพียงวันละหนึ่งครั้งเท่านั้น  เช่นวันนี้จะรับประทานอาหารเพียงมื้อเดียว  รับตอนเช้าแล้วก็จบ  รับตอนเพลแล้วก็จบ  จะเอาตอนไหนสักตอนหนึ่งก็ได้  จะได้หมดปัญหาไป

เพราะท้องก็มีขนาดเดียว รับประทานอาหารให้พอกับความต้องการของท้องแล้ว มันก็หมดปัญหาไป  ความหิวที่เกิดขึ้นภายหลัง เป็นความหิวที่เกิดขึ้นจากตัณหา เกิดจากกิเลสทั้งสิ้น  จึงไม่ต้องไปกังวลว่าจะตาย  รับรองได้ว่า ถ้าได้รับประทานอาหารวันละหนึ่งมื้อแล้ว ร่างกายจะอยู่ได้   พระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวก ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านก็ได้ปฏิบัติกันอย่างนี้มา ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงสมัยนี้ ก็ ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว  ก็ไม่เคยมีข่าวว่าพระอดตาย เพราะฉันข้าวมื้อเดียว อย่างนี้ม่เคยปรากฏเป็นข่าว   ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวของคนที่กินมากๆ แล้วตายเสียมากกว่า  ตายด้วยโรคเบาหวานบ้าง โรคความอ้วนบ้าง นี้ต่างหาก  ที่เป็นเหตุทำให้คนตายก่อนเวลาอันควร ขอให้มีความแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ถ้าอยากจะบำเพ็ญจิตตภาวนา ต้องมีความเข้มแข็ง อดทน กล้าหาญ แล้วจะได้สิ่งที่วิเศษที่ไม่เคยได้พบได้เห็นมาก่อน ซึ่งมีอยู่ในตัวของเราแล้ว  แต่ยังไม่เคยทำให้ปรากฏขึ้นมาเท่านั้นเอง พยายามปฏิบัติให้ได้

นอกจากละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว ก็ให้ละเว้นจากการใช้เครื่องสำอางต่างๆ  เช่นน้ำหอม แป้ง อะไรต่างๆที่ใช้แต่งหน้าทาปาก  ให้ใส่เสื้อผ้าแบบเรียบง่าย สีไม่ฉูดฉาด เพราะไม่ต้องการความสุขจากสิ่งเหล่านี้นั่นเอง ดูแลรักษาร่างกายด้วยการอาบน้ำอาบท่า ถูสบู่ก็เพียงพอแล้ว  ปกปิดร่างกายด้วยเสื้อผ้าธรรมดาๆก็พอแล้ว   ไม่ต้องเป็นชุดหรูหราเลิศเลออะไร เพราะไม่ได้ไปไหน  อยู่วัด ไม่ได้ไปอวดความสวยความงามของเสื้อผ้าอาภรณ์ จึงไม่ควรกังวลกับเรื่องเหล่านี้ เรื่องการแต่งกาย แต่งหน้าแต่งตาด้วยเครื่องสำอาง ด้วยน้ำหอมต่างๆ   จึงควรละเว้น   พร้อมทั้งละเว้นจากการแสวงหาความสุข จากเครื่องบันเทิงทั้งหลาย เช่นดูหนังฟังเพลง ร้องรำทำเพลงเป็นต้น  นี่เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ  เพราะจะทำให้การบำเพ็ญจิตตภาวนาเป็นไปได้ยากนั่นเอง เพราะเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน   จิตใจต้องการความสงบ ก็ต้องไม่มีการกระทำต่างๆ เพราะเมื่อกระทำไปแล้ว จะทำให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา  จึงต้องละเว้นจากสิ่งเหล่านี้  ไม่แสวงหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ให้แสวงหาความสุขจากการทำจิตให้สงบ  ถ้ามีทั้งสีลสังวรและมีอินทรียสังวรแล้ว  จิตก็จะเข้าสู่ความสงบได้ง่าย 

นอกจากการไม่แสวงหาความสุขจากการดู การฟังแล้ว  ยังไม่ให้แสวงหาความสุขจากการนอนหลับด้วย  ให้นอนเท่าที่ร่างกายต้องการ  นอนบนพื้นแข็งๆ ปูเสื่อก็พอแล้ว  ไม่ต้องนอนบนฟูกบนเตียงที่มีฟูกหนาๆ นอนแล้วอยากจะหลับเป็นชั่วโมงๆ  จะทำให้เสียเวลาต่อการบำเพ็ญ   ถ้านอนบนพื้นแข็งๆ ปูด้วยเสื่อหรือด้วยผ้า เวลารู้สึกเหนื่อยอยากจะพัก ก็จะหลับได้อย่างง่ายดาย  เมื่อได้พักพอแล้ว ก็จะตื่นขึ้นมาทันที  ไม่เหมือนกับนอนบนฟูก จะเลยเถิด เลยความจำเป็น ของการพักของร่างกาย   เพราะจะติดอกติดใจกับความสุข ที่เกิดจากการนอนนั่นเอง   ถ้านอนบนฟูกแล้ว จะนอนได้นาน  ถ้านอนปูเสื่อบนพื้นธรรมดา จะนอนไม่นาน เพียง ๓ - ๔ ชั่วโมงก็พอแล้ว   นี่คือการสำรวมกายวาจาที่เรียกว่าสีลสังวร  และการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เรียกว่าอินทรียสังวร เป็นสิ่งที่ช่วยการบำเพ็ญให้เป็นไปอย่างสะดวกราบรื่นง่ายดาย ทำให้ไม่ท้อแท้ต่อการบำเพ็ญ  แต่ถ้าไม่มีอินทรียสังวรและสีลสังวรแล้ว  เวลาบำเพ็ญไปแล้ว ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา ก็จะทำให้มีความรู้สึกท้อแท้เบื่อหน่าย  ไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะบำเพ็ญต่อไป 

ถ้าต้องการบำเพ็ญจิตตภาวนา ก็ควรให้ความสำคัญต่อสถานที่  เลือกสถานที่ที่สงบสงัด  เมื่อได้สถานที่ที่สงบสงัดแล้ว ก็ให้มีสีลสังวร  สำรวมกายวาจา  ให้มีอินทรียสังวร สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย  นอกจากนั้นก็ต้องระมัดระวังคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย ว่ามีความตั้งใจจะปฏิบัติธรรมหรือไม่ มีสีลสังวรหรือไม่ มีอินทรียสังวรหรือไม่ ถ้าไปเจอคนที่ชอบคุย เดี๋ยวก็จะชวนคุยไปทั้งวัน คนที่ชอบแอบรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แอบรับประทานขนม แอบไปทำอะไรที่ไม่ควรจะกระทำ  ถ้าเป็นคนแบบนี้ก็อย่าไปเข้าใกล้ อย่าไปคบค้าสมาคมด้วย  เพราะจะชวนให้เราเสียไปด้วย 

ถ้าไม่สามารถมาวัดได้ จะบำเพ็ญที่บ้าน ก็จะลำบาก เพราะคนที่บ้านมักจะไม่มีสีลสังวร ไม่มีอินทรียสังวรเหมือนเรา  เขารับประทานอาหารเย็นกัน เปิดโทรทัศน์ดูกัน เปิดวิทยุฟังกัน  เวลาเขารับประทานอาหาร เขาก็ต้องมาชวนเราไปรับประทานอาหารด้วย  ถ้าไม่มีจิตใจที่เข้มแข็งพอ ก็จะทนไม่ไหว ก็ต้องไปรับประทานกับเขาด้วย     เวลาบำเพ็ญจึงควรหาสถานที่ที่เหมาะสม  หาบุคคลที่เหมาะสม  บุคคลที่มีความคิดคล้ายกัน   ที่มีการปฏิบัติเหมือนๆกัน  ถ้าเป็นคนที่มีความคิดเหมือนกัน ปฏิบัติเหมือนกัน ก็จะช่วยสนับสนุนกัน  เวลาเราเกิดความย่อท้อขึ้นมา เขายังไม่ย่อท้อ เขาจะช่วยเราได้ ให้กำลังใจกับเรา  ประพฤติตัวเขาให้เป็นตัวอย่าง  ทำให้เราเกิดกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติต่อไป 

เช่นเวลาเรานั่งสมาธิได้สักพักหนึ่ง  เกิดความเจ็บความปวดขึ้นมา อยากจะลุกขึ้น แต่เพื่อนเขายังนั่งอยู่  ก็จะทำให้เราเกิดความมุมานะ ที่จะนั่งต่อไปเหมือนกับเขา  นี่คือลักษณะของเพื่อนที่ดีในการปฏิบัติ ทำให้ช่วยกันได้   แต่ถ้าได้เพื่อนที่อ่อนแอไม่มีความอดทน  พอนั่งได้สัก ๕ นาทีก็ลุกเดินหนีไปแล้ว   เรานั่งอยู่คนเดียวก็จะเกิดความรู้สึกว้าเหว่ขึ้นมา ก็อดรนทนนั่งต่อไปไม่ได้ ก็ลุกตามเขาไป   ดังนั้นบุคคลที่เราเกี่ยวข้องด้วยเวลาที่เราปฏิบัติ ก็สำคัญเหมือนกัน  ขอให้สังเกตให้ดีว่า คนที่เราต้องใกล้ชิดหรือต้องคบค้าสมาคมด้วยนั้น เป็นอย่างไร  ถ้าเป็นคนอ่อนแอ ไม่มีความกล้าหาญ  ไม่มีความอดทน  ไม่มีความแน่วแน่ต่อการประพฤติปฏิบัติ ก็ควรที่จะถอยห่างจากเขาไปดีกว่า  เสียเขาดีกว่าเสียธรรมะ  เพื่อนนั้นหาได้เยอะแยะไปในโลกนี้  คนมีเป็น ๑๐๐ ล้าน ๑๐๐๐ ล้านคน ในโลกนี้หาไม่ยากหรอก  แต่สิ่งที่หายากก็คือธรรมะนี่เอง  

การทำจิตใจให้สงบ เป็นสิ่งที่ยากมาก  ถ้าไม่ทุ่มเทกำลังจิตกำลังใจแล้ว จะไม่สามารถพบกับความสุข ที่เกิดจากความสงบในจิตใจได้เลย   เพราะเวลานั่งทำสมาธินั้น  จิตจะไม่ค่อยอยู่กับงานที่ให้ทำเลย ชอบแวบไปแวบมา   ทำให้นั่งไปสักระยะหนึ่ง ก็เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาตามส่วนต่างๆของร่างกาย   จิตก็เกิดความพะวักพะวนเกี่ยวกับความเจ็บความปวด ทำให้ไม่มีสมาธิอยู่กับการภาวนา ไม่สามารถทนนั่งอยู่ได้  แต่ถ้าเป็นคนที่มีความแน่วแน่มั่นคง  เวลานั่งก็พยายามให้จิตอยู่กับการภาวนา  ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆนานา   ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับงาน ที่กำหนดให้จิตกระทำ  ถ้าบริกรรมพุทโธๆๆ ก็ให้บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ  แม้ร่างกายจะรู้สึกคันตรงนั้นหรือคันตรงนี้ ก็อย่าไปสนใจ  ให้จิตอยู่กับคำบริกรรมไปเรื่อยๆ   ถ้าเกิดความรู้สึกว่าร่างกายเอนไปข้างหน้าหรือเอนไปข้างหลัง  เอนไปทางซ้าย เอนไปทางขวา  ก็ไม่ต้องไปสนใจ เพราะเป็นเพียงแต่ความรู้สึกเท่านั้น  ร่างกายก็เป็นปกติของเขาอยู่อย่างนั้น อย่าไปสนใจ ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาบริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ 

แม้ขณะที่มีความรู้สึกว่าเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ ก็อย่าไปสนใจกับความเจ็บความปวด  เพราะเมื่อไปให้ความสนใจกับความเจ็บความปวดแล้ว  ความเจ็บความปวดจะเพิ่มขึ้นมาอีกหลายเท่าทีเดียว  เพราะเป็นความเจ็บความปวด ที่ใจสร้างซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง  เป็นความเจ็บปวด ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป  หรือความอยากที่จะลุกหนีจากความเจ็บปวดนั้นไป   ถ้าไม่ไปคิดถึงเรื่องราวของความเจ็บปวด  ตั้งหน้าตั้งตาบริกรรมพุทโธๆๆให้ถี่ยิ่งขึ้นไป ฝากเป็นฝากตายไว้กับพุทโธเลย  จะเป็นจะตายอย่างไร  จะเจ็บอย่างไรก็ไม่สนใจ  ขอให้จิตระลึกแต่คำว่าพุทโธๆๆอย่างเดียว  ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้แล้ว  ไม่ช้าก็เร็วพุทโธก็จะพาทะลุความเจ็บปวดของร่างกายไปได้อย่างสบาย   ความเจ็บปวดก็จะหายไป  จิตก็จะรวมลงเป็นหนึ่งเลย  เป็นสมาธิขึ้นมาได้  ปัญหาของนักปฏิบัติส่วนใหญ่ ที่เมื่อปฏิบัติแล้วไปไม่ถึงไหน ก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ  พอมาเจอความเจ็บความปวดเข้า ก็ทนไม่ไหว ต้องลุก ต้องขยับ  อย่าไปขยับ ถ้าขยับแล้ว ก็เหมือนกับเริ่มต้นใหม่   เวลามันเจ็บมันปวดนั้นปล่อยให้มันเจ็บมันปวดไป มันเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่พอถึงเวลามันก็ดับเองได้  เราไม่ต้องไปทำอะไรมัน  มันไม่ฆ่าเราหรอกความเจ็บปวดแบบนี้ เดี๋ยวถึงเวลามันก็หายไปเอง   หรือถ้ามันไม่หายไป พอจิตปล่อยวาง จิตรวมลง มันก็หายไปจากจิตเอง

ขอให้อยู่กับพุทโธไปเรื่อยๆ   ภาวนาบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ   อย่าไปสนใจอย่างอื่นเป็นอันขาด   เพราะถ้าไปสนใจกับความเจ็บความปวดแล้ว  เดี๋ยวก็จะเสียสมาธิ ไม่มีกำลังใจที่จะภาวนาต่อไป แล้วก็จะต้องลุกขึ้นมาในที่สุด   ภาวนามากี่ครั้งกี่หน ก็จะมาติดอยู่ตรงนี้ทุกที   ไม่เคยได้รับผลที่พึงจะได้รับเลย เพราะกลัวความเจ็บปวด  อยากให้ความเจ็บปวดหายไป   ดังนั้นเราไม่ต้องไปกลัวความเจ็บปวด  ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน  คนเราทุกคนเกิดมาก็ต้องเจ็บด้วยกันทั้งนั้น  ในที่สุดเวลาตายมันก็ต้องเจ็บเหมือนกัน  เพียงแค่นั่งสมาธิเท่านั้น ทำไมต้องมากลัวความเจ็บปวดด้วย  มันไม่สามารถทำให้เราตายได้หรอก  ถ้าเรามีความกล้าหาญ มีความเข้มแข็ง มีความอดทน  มีสติรู้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆไป   ไม่ช้าก็เร็ว เราก็จะได้เห็นผลอันประเสริฐ ที่จะปรากฏขึ้นมาภายในใจของเรา   ทำให้เรามีความสุข มีความอิ่ม มีความพอ   มีความเชื่อมั่น มีความแน่วแน่ ต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า   เราจะไม่สงสัยเลยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่  พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความจริงหรือไม่  พระอริยสงฆสาวกทั้งหลายมีจริงหรือไม่  สิ่งเหล่านี้จะไม่พ้นจากวิสัยของผู้ปฏิบัติไปได้ จะรู้อยู่แก่ใจของเราเลยทีเดียว เมื่อจิตรวมลงสู่ความสงบ 

จึงอยากให้ท่านทั้งหลายจงมีความมุมานะ มีความเชื่อมั่นว่าการบำเพ็ญจิตตภาวนานี่แหละเป็นบุญที่ใหญ่หลวงที่สุด  เป็นบุญที่เราสามารถสร้างขึ้นมาให้กับตัวเราได้เองในภพนี้ชาตินี้  ไม่ต้องรอภพหน้าชาติหน้า  ไม่ต้องรอพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปมาสั่งมาสอนเรา  เพราะว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ยังมีอยู่ในโลกนี้   ขอให้เราน้อมเข้ามา  โอปนยิโก  ทำให้มันเป็นสันทิฏฐิโกขึ้นมาด้วยการปฏิบัติ  บำเพ็ญจิตตภาวนา   พยายามทำให้มากๆ ทำอยู่เรื่อยๆ   ทำแล้วยังไม่ได้ผลก็ไม่ต้องท้อแท้  ทำมันไปเรื่อยๆ  เหมือนกับการทำอะไรต่างๆ   เวลาทำใหม่ๆ จะรู้สึกว่ายาก เพราะไม่ถนัดนั่นเอง  แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆแล้ว  ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะสามารถทำได้สำเร็จ  ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น   จึงอยากให้ท่านทั้งหลายจงน้อมเอาสิ่งต่างๆ ที่ท่านได้ยินได้ฟังในวันนี้ นำเอาไปพินิจพิจารณาและนำเอาไปปฏิบัติ ตามสมควรแก่ฐานะของกำลังแห่งสติปัญญา ศรัทธา วิริยะ อุตสาหะ ความพากเพียร  แล้วท่านจะได้รับผลอันดีงาม ที่พระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ทรงยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เลิศที่วิเศษที่สุด นั่นก็คือความสงบสุขของจิตใจ  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้