กัณฑ์ที่
๒๑๒
วันนี้เป็นวันพระ
วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม
เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาที่แน่วแน่
ได้มาวัดกันเป็นประจำ
เพื่อประกอบกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำ
ตามพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า
สังขารเป็นของไม่เที่ยงหนอ
จงยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อม
ด้วยความไม่ประมาทเถิด
คือชีวิตของเรานั้นสักวันหนึ่ง
ก็ต้องมีการหมดไป
จะหมดไปเมื่อไร
ก็ไม่มีใครรู้ได้
จึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท
อย่าปล่อยให้ชีวิตนี้ผ่านไป
โดยไม่ตักตวงผลประโยชน์
ที่ควรจะตักตวงได้
มีเวลาว่างจากภารกิจการงานหรือไม่ก็ตาม
ควรต้องมีวันหนึ่งไว้สำหรับการบำเพ็ญกุศล
สร้างคุณงามความดี
สร้างสรณะให้กับใจ
ถ้าไม่กำหนดวันไว้แล้ว
ก็จะมีเรื่องอื่นๆมาฉุดลากพาไปเรื่อยๆ
แล้วก็จะมาบ่นว่าไม่ค่อยมีเวลาเลย
อยากจะเข้าวัดก็ไม่มีเวลา
จึงต้องมีขอบเขต ต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่า
อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่ง
วันพระต้องเข้าวัดสักครั้งหนึ่ง
เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว
จะไม่มีโอกาสเข้าวัดเลย
มีคำพังเพยที่พูดไว้ว่า
เวลาเข้าวัดให้เดินเข้าวัด
อย่าให้เขาแบกเข้า เวลาจะไหว้พระ
ก็อย่าให้เขาเอาด้ายสายสิญจน์มามัดมือไว้
เพื่อไหว้พระ จะสวดมนต์ปฏิบัติธรรม
ก็อย่ารอให้พระมาสวดให้
เพราะเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว
เรื่องกุศลทั้งหลาย
เรื่องประโยชน์สุขทั้งหลาย
ก็จะหมดไป เพราะเมื่อตายไปแล้ว
ก็ไม่สามารถทำความดี
สร้างบุญสร้างกุศลได้อีกต่อไป
มีแต่ญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลัง
ช่วยทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
เหมือนเป็นค่ารถ
ส่งให้ไปสู่จุดหมายปลายทางอีกจุดหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่ได้สร้างคุณงามความดี
สร้างบุญสร้างกุศลไว้
ต่อให้ใครอุทิศส่วนกุศลไปให้
ก็จะไม่ได้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีได้
เพราะไม่ได้สร้างความดีไว้นั้นเอง
ถ้าได้สร้างไว้บ้างแล้ว
แต่ขาดอยู่อีกนิดอีกหน่อย
ก็พอที่จะอาศัยญาติสนิทมิตรสหาย
อุทิศให้กับเราไป
ในงานศพของเรา
ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
จึงไม่ควรปล่อยให้เวลาอันมีค่านี้ผ่านไป
โดยไม่ได้ทำบุญทำกุศล
เพราะบุญกุศลนี้เป็นสิ่งเดียว
ที่ให้ความสุขกับเราได้อย่างแท้จริง
สิ่งต่างๆในโลกนี้นั้น
ตามหลักธรรมท่านแสดงไว้ว่า
เป็นความทุกข์ทั้งนั้น
เพียงแต่จะเห็นหรือไม่เท่านั้นเอง
ความทุกข์มีซ่อนเร้นอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนา
พวกลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข
ที่พวกเราแสวงหากันแทบเป็นแทบตายนั้น
ก็ล้วนมีแต่ความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
เพราะเมื่อได้มาแล้ว
ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องสูญเสียไป
ความทุกข์ใจก็ต้องตามมา
เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถจะมาควบคุมบังคับให้อยู่กับตนไปได้ตลอด
เวลาจะจากไป
ทั้งๆที่ไม่อยากให้จากไป
ก็จากไปได้ นี่คือเรื่องราวของสิ่งต่างๆในโลกนี้
ความสุขต่างๆที่เราแสวงหากันนั้น
จึงไม่ค่อยเป็นความสุขเท่าไร
พวกเราก็เป็นเหมือนแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟนั้นแหละ
เห็นแสงสว่างก็กระตือรือร้น
มีความสุข อยากจะสัมผัส
แต่ไม่รู้ว่าแสงสว่างนั้นมีความร้อนซ่อนเร้นอยู่ เมื่อบินเข้าไปใกล้แสงสว่างมาก
ก็จะต้องถูกความร้อนเผาให้ตายไป
สิ่งต่างๆในโลกนี้ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น
เป็นเหมือนกับไฟ
ที่คอยจะเผาเราอยู่ตลอดเวลา
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว
คนที่มีเงินทองมากๆ
ย่อมต้องมีความสุข
แต่เราไม่รู้หรอกว่าภายในใจจิตใจของเขานั้น
มีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจ
มากน้อยเพียงไร
ถ้าเรามีแล้ว
ก็จะรู้เองว่ามันไม่ใช่เป็นความสุขเลย
เช่นพระพุทธองค์
พระศาสดาของพวกเรา
ก่อนที่จะเสด็จออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า
ก็ทรงเป็นราชกุมารประทับอยู่ในพระราชวัง
ที่มีพร้อมบริบูรณ์ด้วยลาภ
ยศ สรรเสริญ สุข
แต่ในพระทัยของพระองค์กลับมีแต่ความทุกข์
ความกังวลใจ เพราะทรงมีปัญญา
ทรงเห็นสิ่งต่างๆนั้นว่า
เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างความทุกข์ให้กับตน
ไม่ช้าก็เร็ว เมื่อถึงเวลาที่เกิดการพลัดพรากจากกันขึ้นมา
ไม่มีใครหักห้ามได้
เพราะสังขารร่างกายของคนเรานั้น
ในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว
ก็ต้องผันแปรไปตามสภาพของเขา
สักวันหนึ่งก็ต้องแก่
ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย
ต้องตายไป เมื่อตายแล้ว
ก็หมดไป สิ่งต่างๆที่อุตส่าห์ทุ่มเทเวลาแสวงหามา
แบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
ก็สูญสิ้นหมดไป เมื่อร่างกายแตกไปแล้ว
ใจที่อาศัยร่างกายนี้อยู่ก็ต้องเดินทางต่อไป ไปสู่ภพหน้าชาติหน้า
จะไปสูง ไปต่ำ
ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ได้กระทำไว้ในชาตินี้และในชาติก่อนๆ
ที่ยังไม่ได้แสดงผล
จะไปเกิดบนกองเงินกองทอง
หรือบนกองขยะ
ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมของเรา
ถ้าหมั่นทำบุญทำทานอยู่เรื่อยๆแล้ว
เกิดชาติหน้า
ก็จะได้ไปเกิดบนกองเงินกองทอง
เพราะบุญที่ทำในวันนี้
ก็เป็นเหมือนกับเงินที่ฝากไว้ในธนาคารนั่นเอง
เมื่อมีความจำเป็น
ก็สามารถไปเบิกที่ธนาคารได้ ถ้าไม่มีเงินฝากไว้ในธนาคาร
เวลามีความต้องการเงินทอง
จะไปเบิกที่ธนาคาร
ก็เบิกไม่ได้ จะขอกู้เงินก็ไม่ได้
เพราะไม่มีฐานะดีพอ
เพราะไม่ได้สร้างมาไว้ก่อน
เรื่องหลักกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น
เป็นหลักตายตัว สอนว่าสัตว์โลกยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่
ยังต้องไปเกิดที่สูงที่ต่ำอยู่
ตามเหตุคือการกระทำที่ได้กระทำไว้
ถ้ารักษาศีลกันอย่างสม่ำเสมอ
เวลาไปเกิดในภพหน้า โอกาสที่จะไปเกิดเป็นมนุษย์อีก
ก็มีอยู่สูงมาก
ถ้าทำแต่บาปทำแต่กรรม
ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ประพฤติผิดประเวณี
พูดปดมดเท็จ โกหกหลอกลวง
ก็จะไม่ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์
เพราะต้องอาศัยศีลเป็นเหตุพาไป
เหมือนกับการเดินทางไปต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตาม
ถ้าไม่มีตั๋วเครื่องบิน
ก็จะไม่ได้ขึ้นไปนั่งบนเครื่องบิน
จะไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องมีตั๋วเหมือนกัน
ถ้ามีตั๋วศีล ก็จะได้ไปเกิดในภพภูมิของมนุษย์หรือสูงกว่านั้น
ศีลคือ
การละเว้นจากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์
ประพฤติผิดประเวณี
พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา
การกระทำสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุปิดกั้น
ไม่ให้ไปเกิดในภพที่สูง
คือภพของมนุษย์
ของเทพของพรหม ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
แม้จะได้ทำบุญให้ทานอย่างสม่ำเสมอ
ถวายสังฆทานอยู่เรื่อยๆก็ตาม
แต่ทานนี้จะกำหนดเรื่องของภพชาติไม่ได้
กำหนดได้แต่ฐานะรวยจนเท่านั้น
ถ้าได้ทำบุญทำทานแล้ว
ก็จะไม่อดอยากขาดแคลน
จะไปเกิดในภพไหนชาติไหน
ก็จะมีบุญที่เกิดจากการให้ทาน
คอยดูแลให้อยู่อย่างพอเพียง
มีอาหารพอเพียงที่จะรับประทาน
ถึงแม้จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน
ก็จะมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม
ถ้าเป็นสุนัข
ก็จะเป็นชนิดที่พอคนเห็นแล้ว
ก็อยากจะเอาไปเลี้ยง
นี่คืออานิสงส์ของทาน
จะเป็นอย่างนี้ จะมีผิวพรรณผ่องใส
รูปร่างสวยงาม แต่ถ้าทำทานอย่างเดียว
ไม่รักษาศีล
ก็จะไม่ได้มาเกิดเป็นคน
เป็นมนุษย์
ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม
มีทรัพย์สมบัติเงินทองรออยู่
แต่จะต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน
เพราะไม่ได้รักษาศีลนั่นเอง
นี่คือเรื่องของกรรมและวิบาก
เป็นเหตุเป็นผล
การกระทำทางกายทางวาจา
จะส่งผลให้ไปเสวยบุญ
เสวยกรรม ถ้าชอบทำบุญทำทาน รักษาศีล
แล้วยังชอบปฏิบัติธรรมด้วย
มีเวลาว่างก็จะไหว้พระสวดมนต์
ฝึกทำสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ
ก็จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม
นี่คืออานิสงส์ของการทำบุญทั้ง
๓ ประเภท คือทำทาน รักษาศีล
ปฏิบัติธรรม ทำจิตใจให้สงบ เมื่อจิตได้เข้าสู่ความสงบแล้ว
จิตก็ถือว่าได้เข้าสู่ระดับของพระพรหม
มีความสุขอยู่กับความสงบนิ่งนี้
ถ้าตายไปก็จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม
เสวยสุขไปจนกว่าบุญนั้นจะหมด
ก็เลื่อนลงมาสู่ชั้นเทพ
ชั้นเทพหมดแล้วก็จะเลื่อนลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
ถ้าไม่ประมาทอย่างที่ท่านทั้งหลายได้พยายามทำกัน
หมั่นมาทำบุญที่วัดอย่างสม่ำเสมอ
รีบสร้างบุญสร้างกุศล
รักษาศีล
ปฏิบัติธรรมต่อไปอย่างไม่ท้อแท้
เมื่อตายไป
ก็จะได้ไปสวรรค์ชั้นพรหมอีกรอบหนึ่ง
ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าอยากจะไปชั้นที่สูงกว่านี้
คือไม่ต้องกลับมาเกิดอีกเลย
ก็ต้องปฏิบัติธรรมเพิ่มอีกขั้นหนึ่ง
ที่เรียกว่าวิปัสสนา
คือการเจริญปัญญา
นอกจากการทำบุญให้ทาน
รักษาศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิ
ทำจิตใจให้สงบแล้ว ก็ยังต้องมาศึกษาดูสิ่งต่างๆ
ที่จิตใจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ต่างๆ
ที่มาสัมผัสกับตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ดี
หรือสิ่งอื่นๆที่ใจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์
หรือเป็นบุคคลก็ดี
เป็นของชอบใจหรือไม่ก็ดี
เราต้องศึกษาให้เห็นถึงสภาพที่แท้จริงของเขาว่าเป็นอย่างไร
โดยถามตัวเองอยู่เรื่อยๆว่า
สิ่งต่างๆเหล่านี้มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง
เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
เป็นตัวเป็นตนหรือไม่ใช่ตัวตน
เป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริงหรือไม่
ถ้าสังเกตดูอยู่เรื่อยๆ
ก็จะเห็นว่าเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน
มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เช่นร่างกายของเรา
ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เพียงแต่มันช้า
เลยทำให้รู้สึกเหมือนกับไม่มีการเปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าลองไปดูภาพที่ถ่ายเมื่อสัก
๕ ปี ๑๐ ปีก่อน แล้วมาดูตัวเราในวันนี้
ก็จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก
แทบจะเป็นคนละคนเลยทีเดียว
เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แล้วก็สร้างความทุกข์ความกังวลใจให้ตลอดเวลา
เพราะไหนจะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย
จะต้องแก่ลง ไหนผมจะต้องขาว
ผิวก็จะต้องเหี่ยว ร่างกายจะไม่มีกำลังวังชา
ก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ
เพราะควบคุมบังคับหรือห้ามเขาไม่ได้นั้นเอง
ถึงเวลาเขาก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา
ร่างกายของเราและสิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้
ล้วนเป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น
คือเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา
ไม่มีใครสามารถไปควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาได้เลย
มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่เราสามารถควบคุมได้
ก็คือใจของเรา
ไม่ให้ไปทุกข์กับการแก่
การเจ็บ การตาย
การพลัดพรากจากสิ่งต่างๆทั้งหลายได้
ถ้าหมั่นสอนใจอยู่เสมอ
ให้รู้ไว้ล่วงหน้าก่อนว่า
อะไรจะเกิดขึ้น
และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว
จะได้รับมันได้
แต่ถ้าไม่เตรียมตัวเตรียมใจคิดไว้ล่วงหน้าก่อน
พอมีสิ่งที่ไม่คิดไม่คาดฝันมาก่อนเกิดขึ้นมา
ก็จะทำให้ใจว้าวุ่นขุ่นมัว
มีความทุกข์ เสียใจตามมา
เพราะไม่ได้ศึกษาสิ่งต่างๆที่ใจไปเกี่ยวข้องไว้ก่อนนั่นเอง
แต่ถ้าหมั่นศึกษา เจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆแล้ว
ใจก็จะปล่อยวางได้
เมื่อปล่อยวางได้แล้ว
ทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นมา
สิ่งใดที่เราไม่มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ด้วย
เช่นร่างกายของคนอื่น
เขาจะเป็นจะตายอย่างไร
เราไม่รู้สึกเดือดร้อน
เขาจะเจ็บ จะแก่ จะตาย
เราก็รู้สึกเฉยๆ
ไม่วุ่นวายใจ
ไม่เศร้าโศกเสียใจ
แต่ถ้าใจเกิดมีความผูกพันขึ้นมา
มีความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาว่า
เป็นเรา เป็นของเรา
เช่นร่างกายของสามี
ของภรรยา เมื่อมีความยึดถือว่า
เป็นของเรา เวลาเป็นอะไรขึ้นมา ก็จะต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างแน่นอน ความทุกข์จริงๆแล้วจึงไม่ได้เกิดจากความแก่
ความเจ็บ ความตาย
สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสร้างความทุกข์ให้กับใจที่ปล่อยวาง
ไม่ยึดไม่ติดกับร่างกายนี้ได้
จะเกิดขึ้นได้เมื่อใจมีความผูกพัน
มีความยึดมั่นถือมั่น
ในบุคคลนั้นๆ หรือในสิ่งของนั้นๆเท่านั้น
เมื่อถึงเวลาที่จะต้องพลัดพรากจากกัน
ก็จะต้องมีความทุกข์เกิดขึ้นมา
แม้ในขณะที่ยังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมา
เพียงแต่คิดถึงเท่านั้น
ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว
เพราะขาดปัญญา
ไม่รู้จักวิธีดูแลรักษาใจไม่ให้ทุกข์กับสิ่งต่างๆนั่นเอง
แต่ถ้าได้มาศึกษา
ฟังเทศน์ ฟังธรรม
ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เนืองๆ
อย่างสม่ำเสมอแล้ว
เราก็จะไม่ทุกข์กับอะไร
เพราะปล่อยวางได้
เพราะรู้ว่าถ้าไปยึดไปติดแล้ว
ก็จะมีแต่ความทุกข์
แต่การปล่อยวางของเรา
ก็ไม่ได้หมายความว่า
เราไม่มีความรับผิดชอบ
เพราะความรับผิดชอบที่เรามีอยู่กับสิ่งต่างๆ
อยู่กับบุคคลต่างๆ
ที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย
เรามีหน้าที่ๆจะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร
เราก็ปฏิบัติกันต่อไป
สามีภรรยามีหน้าที่ๆจะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร ก็ปฏิบัติกันไปตามหน้าที่ของตน
มีหน้าที่ต้องดูแลข้าวของเงินทองอย่างไร
ก็ดูแลรักษากันไป
แต่ใจไม่ยึดไม่ติด
เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งก็จะต้องจากกันไปนั่นเอง
เมื่อไม่ยึดไม่ติดแล้วก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งต่างๆ ที่เราเกี่ยวข้องด้วย
เวลาอยู่ร่วมกันก็อยู่ด้วยความสุข
เพราะไม่ทำอะไรตามอารมณ์
เพราะรู้ว่าต่างจิตต่างใจกัน
นานาจิตตัง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ไม่สามารถไปบังคับจิตใจของกันละกันได้
เมื่อมีปัญญาแล้ว
เราจะไม่ไปอยากกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ขณะนี้เขาเป็นอย่างไร
ก็อย่าไปไม่พอใจ
แล้วก็อยากจะให้เขาเปลี่ยนไป
เช่นอยากให้เขาเลิกเสพสุรายาเมา
ทั้งๆที่เขาชอบกินเหล้าเมายา
แต่เมื่อเราเลือกเขามาเป็นสามี
หรือเป็นภรรยาแล้ว
เราก็ต้องอยู่กับเขา
ต้องทำความเข้าใจว่านี่เป็นความจริงของเขา
เขาเป็นอย่างนี้
ถ้าไม่มีความอยากให้เขาเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
ก็จะไม่มีความทุกข์ใจ
แต่ถ้าเกิดอยากให้เขาเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
เช่นเขาชอบกินเหล้าเมายา
ก็อยากจะให้เขาเลิก
ก็จะเกิดความทุกข์ เกิดความเกลียด
เกิดความโกรธขึ้นมาในตัวเขา
นี่แหละคือความไม่เข้าใจ
ในการดูแลรักษาใจ
จึงมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะมีมาก มีน้อย
ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือยาจก
ไม่ว่าจะเป็น
นายกฯหรือคนธรรมดาเดินบนถนน
ก็จะมีความทุกข์เหมือนกันทั้งนั้น
เพราะไม่รู้จักรักษาใจ
ไม่ให้ไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆนั่นเอง
การไม่ยึดไม่ติดนี้
ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความรับผิดชอบ
ความรับผิดชอบก็มีอยู่
มีหน้าที่ๆจะต้องทำอะไรกับใคร
ก็ทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด
เป็นลูกก็เป็นลูกที่ดีที่สุดของพ่อของแม่
เป็นพ่อเป็นแม่ที่ดีของลูก
แต่ก็ต้องเตรียมใจไว้เสมอว่า
ลูกของเราหรือพ่อแม่ของเรานั้น
เขาเปลี่ยนแปลงได้
วันนี้เขาเป็นอย่างนี้
พรุ่งนี้อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่งก็ได้
ต้องพร้อมที่จะรับได้เสมอ
ถ้าพร้อมที่จะรับได้แล้ว
ก็จะไม่ทุกข์กับการเปลี่ยนแปลงของเขา
แต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นแบบนี้ไปตลอดเวลา
ไม่เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น
พอไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ
ก็จะต้องเศร้าโศกเสียใจ
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
บางทีถึงกับทำลายชีวิตของตนเองก็มี
คนบางคนเสียใจ
เพราะสามีเพราะภรรยานอกใจ
ทำให้ตนเองมีความเศร้าโศกเสียใจ
จนทนรับไม่ได้ ทนอยู่ต่อไปไม่ได้
ก็เลยเกิดความเห็นผิดไป
ถูกความมืดบอดครอบงำจิตใจ
ทำให้คิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
นี่เป็นเพราะว่าไม่มีปัญญามาดับทุกข์นั่นเอง
แต่ถ้าหมั่นศึกษาสิ่งต่างๆในโลกนี้
ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด
เป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตาทั้งหมด ก็จะมีปัญญา รู้ทันรูปที่เห็นด้วยตา
เสียงที่ฟังด้วยหู
รสที่สัมผัสด้วยลิ้น
กลิ่นที่ดมด้วยจมูก
โผฏฐัพพะต่างๆ
ที่แข็ง ที่นิ่ม ที่ร้อน
ที่เย็น ที่สัมผัสด้วยกาย
และธรรมารมณ์ต่างๆ
ที่ปรากฏขึ้นมาในใจ
ล้วนเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น
ศึกษาเพื่อให้รู้ทัน
แล้วจะได้ไม่ไปหลงยึดติด
เวลาเจอสิ่งที่ถูกอกถูกใจ
ก็อย่าไปยินดี
เพราะเวลาเปลี่ยนไปจะเสียใจ
เวลาเจอสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ
ก็อย่าไปขับไล่ไสส่ง
อย่าไปรังเกียจ
เพราะยิ่งไปขับไล่ไสส่ง
ก็ยิ่งสร้างความทุกข์
ให้กับใจ แต่ถ้าทำใจให้รู้ทันว่า
เดี๋ยวเขาก็ต้องไป ไม่มีอะไรอยู่อย่างนี้เสมอไป
วันนี้มีความทุกข์
เดี๋ยวความทุกข์นี้ก็ต้องผ่านไป
มีความสุข เดี๋ยวความสุขนี้ก็ต้องผ่านไป
ไม่มีอะไรที่จะอยู่คงเส้นคงวาเหมือนเดิมตลอดเวลา นี่คือสิ่งต่างๆที่ใจจะต้องสัมผัสพบเห็นอยู่ตลอดเวลา
ถ้ารู้ทันแล้ว
ก็จะรู้จักทำใจ ดีก็รับได้
ชั่วก็รับได้
เพราะไม่มีทางเลือกนั่นเอง
ถ้าไม่อยากจะทุกข์
เวลาเจอความชั่ว
เจอสิ่งที่เลวร้าย
แล้วไม่ยอมรับเขา
ก็จะต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมาภายในจิตใจ
ที่จะทำลายเราในที่สุด
แต่ถ้าทำเป็นใจดีสู้เสือไว้
ก็รับเขาไป ในเมื่อไม่มีทางเลือกแล้ว
เหมือนกับคนจนตรอก เดินไปข้างหน้าก็ไม่ได้
ก็อยู่เฉยๆนั่นแหละ
ดีที่สุด วางใจให้เป็นกลาง
ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัส มีหน้าที่ๆจะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามหน้าที่
เช่นร่างกายเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย
ก็รักษากันไปตามฐานะ
รักษาให้หายได้ ก็ดีไป
รักษาแล้วไม่หาย ก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา
แต่ใจไม่ต้องไปเดือดร้อน
ไม่ต้องไปทุกข์
ไม่ต้องไปกังวล
เราสามารถรักษาใจให้อยู่เป็นปกติได้
เหมือนกับไม่ได้เป็นอะไร
ถ้ามีปัญญา
ถ้าหมั่นปฏิบัติทำสมาธิอยู่เรื่อยๆ
ไหว้พระสวดมนต์ ฝึกทำจิตใจให้สงบ
ถ้าสงบแล้วจะรู้ว่าความสงบนี้แหละ
เป็นที่พึ่งของใจในยามที่ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้แล้ว
เช่นเวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย
ก็เอาใจเข้าไปพักไว้ในสมาธิ
เวลาที่ใจพักอยู่ในสมาธินั้น
ความเจ็บความปวดของร่างกาย
ก็จะเข้าไปไม่ถึงใจ
เหมือนกับมีห้องที่ใจสามารถเข้าไปหลบได้
เช่นเวลาที่อากาศร้อน
มีห้องปรับอากาศ
ก็หลบเข้าไปอยู่ข้างใน
ข้างนอกจะร้อน
จะวุ่นวายอย่างไร
ก็ไม่สามารถตามเข้าไปข้างในได้
นี่คือสมาธิ ถ้ามีความสงบแล้ว
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
จะไม่มีอะไรมาสร้างความทุกข์
สร้างความวุ่นวายใจ
สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับเราได้
เพราะมีที่พึ่ง
มีที่หลบนั่นเอง
ก็คือบุญกุศลที่ได้ประพฤติได้ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้