กัณฑ์ที่ ๒๑๕     ๒๑  มิถุนายน  ๒๕๔๘

ธรรมของจริง

วันนี้มีสาธุชนพุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้มาบำเพ็ญปฏิบัติธรรมกัน เพราะมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่า เป็นสวากขาโต ภควตา ธัมโม  เป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว  ถูกต้องแม่นยำตามความเป็นจริงทุกประการ ไม่มีความหลอกลวงซ่อนเร้น อยู่ในพระธรรมคำสอนเลย แม้แต่น้อยนิด เป็นสิ่งที่มีอยู่เห็นอยู่ เช่นทรงสั่งสอนไว้ว่า นรกมีจริง สวรรค์มีจริง ตายแล้วต้องไปเกิดอีกถ้ายังไม่สิ้นกิเลส  เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น ถ้าทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม  ก็จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นเทพ ชั้นพรหม ชั้นอริยบุคคล จนถึงพระนิพพานตามลำดับ ถ้าทำบาปทำกรรม ก็จะต้องไปใช้หนี้ ตกนรกหมกไหม้ ไปเกิดในอบายทั้ง ๔   ที่อยู่ของเดรัจฉาน เปรต อสุรกายและสัตว์นรกทั้งหลาย

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความจริง ที่ไม่มีใครสามารถมาหักล้างได้ เพราะเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นกฎที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลาและสถานที่ เรียกว่าอกาลิโก เป็นคำสอนที่จริงอยู่ตลอดเวลา เคยจริงในอดีตอย่างไร ก็ยังจริงอยู่ในปัจจุบัน และจะจริงต่อไปในอนาคต เป็นความจริงที่พุทธศาสนิกชนควรโอปนยิโก คือน้อมเข้ามาสู่จิตสู่ใจ หลังจากที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ควรน้อมมาปฏิบัติกับ กาย วาจา ใจ ของตน เพราะการกระทำนี่แล เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ ความเสื่อมเสียก็ได้  นำมาซึ่งความสุขและความเจริญก็ได้  เพราะเป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้เกิดจากความปรารถนาโดยถ่ายเดียว เช่นปรารถนาที่จะเป็นคนดี อยากจะไปสวรรค์ อยากจะบรรลุเป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้าไม่ทำตัวให้เป็นคนดี  ก็ไม่สามารถรับอานิสงส์หรือผลของการทำความดีได้  เพราะเป็นเรื่องของเหตุและผล เหตุคือการกระทำ ผลคือความสุข ความทุกข์ ความเจริญหรือความเสื่อม ที่จะตามมาต่อไป ถ้าไม่มีเหตุ ผลย่อมปรากฏขึ้นมาไม่ได้

ดังนั้นเมื่อเราได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีมีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญ ทำชั่วมีแต่ความทุกข์ความเสื่อมเสียตามมา แล้วน้อมนำมาปฏิบัติ ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะเห็นผลจากการปฏิบัติ  ด้วยการทำบุญทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญจิตตภาวนา ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม  ซึ่งถือว่าเป็นการทำความดี  ละความชั่ว ถ้าได้ปฏิบัติไปเรื่อยๆแล้ว ผลก็จะปรากฏขึ้นมาในจิตใจ คือความสุขใจ  ความอิ่มเอิบ ความพอ ไม่หิว ไม่อยาก ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น ที่มีอยู่ในโลกนี้  ที่คนที่ไม่มีความสุขทางด้านจิตใจ ยังต้องแสวงหากันอยู่ อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะไม่รู้จักความสุขความอิ่มที่แท้จริงนั่นเอง จึงต้องแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการทำความดี ทำบุญทำกุศล แต่เกิดจากการทำมาหากิน หาเงินหาทอง แล้วก็เอาเงินทองนั้นไปใช้ ไปซื้อข้าวซื้อของ ไปเสพความสุข ที่ได้จากการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย  ที่ไม่ได้ทำให้จิตใจมีความสุข เพราะไม่ได้ทำให้อิ่ม ทำให้พอนั่นเอง  จึงมีแต่ความหิว ความกระหาย ตะเกียกตะกาย  ที่จะต้องหาอยู่เรื่อยๆ หามาได้มากน้อยเพียงไร ก็ไม่รู้สึกพอสักที ไม่รู้สึกอิ่มสักที  มีแต่ความทุกข์เพราะขาดความสุขใจ เพราะมัวแต่แสวงหาความสุข ที่ไม่ได้เกิดจากการทำความดี  ทำบุญ ทำกุศลนั่นเอง

แต่ถ้าได้ทำความดี ทำบุญ ทำกุศล ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว จิตใจก็จะก้าวเข้าสู่ความสงบ ก้าวเข้าสู่ความสุข ความอิ่มความพอ  นอกจากนั้นแล้วจิตยังจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปอีกด้วย แต่ไม่ได้หมายถึงการเจริญด้วยเงินด้วยทอง ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานต่างๆ แต่เจริญในภพในภูมิ ถ้าเป็นมนุษย์ก็จะเจริญขึ้นสู่ความเป็นเทพ สู่ความเป็นพรหม สู่ความเป็นพระอริยบุคคล ตามลำดับต่อไป นี่คือความเจริญที่เกิดจากการทำความดี ไม่ได้หมายความว่า ทำความดีแล้วจะร่ำรวย จะได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง ได้เป็นคุณหญิงคุณนาย เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณ อย่างนี้ไม่ใช่เป็นผลหลัก ที่จะได้รับจากการทำความดี แต่เป็นผลพลอยได้ที่อาจจะตามมาก็ได้ คือถ้ามีคนเห็นเราทำความดี แล้วมีความชื่นชมยินดี เขามีอะไรที่พอจะให้เราได้ เพื่อเป็นการให้กำลังจิตกำลังใจ เขาก็อาจจะมอบให้กับเราก็ได้

ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็สามารถตั้งให้เป็นคุณหญิงคุณนาย เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณก็ได้ ถ้าเป็นเจ้านาย ที่เห็นความดีงามของเรา ก็อาจจะขึ้นเงินเดือนให้ก็ได้ เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งให้ก็ได้ แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป บางทีอาจจะเห็น บางทีอาจจะไม่เห็น อาจจะไม่เห็นว่าการกระทำของเรานั้นเป็นความดี  ก็อาจจะไม่ให้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข กับเราก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญอะไร  เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นี้ ถ้าเปรียบเทียบกับความสุขความเจริญภายในจิตใจแล้ว ก็เปรียบเหมือนกับก้อนอิฐ ก้อนกรวด ก้อนทราย กับเพชรนิลจินดา คือความสุขความเจริญในจิตใจของเรานั้น เปรียบเหมือนกับเพชรนิลจินดา  ส่วนลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น เป็นเหมือนก้อนอิฐ ก้อนกรวด ก้อนทราย ไม่มีคุณค่าอะไรเลย ต่อให้มีมากน้อยเพียงไร ก็ไม่สามารถทำให้เรากลายเป็นคนดีขึ้นมาได้ ถ้าเป็นคนชั่ว ก็ยังต้องเป็นคนชั่วอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาจิตใจ พัฒนาคน ให้เป็นจิตใจที่ดี ให้เป็นคนที่ดีได้นั่นเอง สิ่งที่จะพัฒนาได้นั้น อยู่ที่การกระทำความดี ทางกาย ทางวาจา และทางใจต่างหาก

เราจึงควรน้อมเอาสิ่งต่างๆ ที่เราได้ยินได้ฟังทุกๆวันพระ เข้ามาปฏิบัติ ตามแต่เวลาและสถานที่ที่พอจะปฏิบัติได้ เช่นการทำบุญทำทานนั้น เราสามารถปฏิบัติได้ทุกที่ทุกแห่งทุกหนเลยก็ว่าได้  เพราะที่ไหนมีความเดือดร้อน มีความลำบากยากจน ที่นั้นก็จะเป็นที่ที่เราสามารถทำบุญได้  แต่ถ้าสามารถเลือกคนทำที่เราจะทำบุญด้วยได้  ก็จะได้อานิสงส์มากกว่าการไม่ได้เลือก เพราะคนเรามีความดีงามแตกต่างกัน  บางคนมีความดีน้อย มีความชั่วมาก บางคนมีความชั่วน้อย มีความดีมาก ถ้าทำบุญกับคนที่มีความดีมาก ก็เท่ากับส่งเสริมคนดี ให้ได้ทำความดีมากยิ่งๆขึ้นไป  ถ้าทำบุญกับคนที่มีความชั่ว ก็เท่ากับส่งเสริมให้ได้ไปทำความชั่วมากยิ่งขึ้นไป  การทำความดีมีแต่จะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขทั้งกับตนเองและผู้อื่น  ส่วนการทำความชั่วนั้น ก็มีแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์ ความวุ่นวาย ความเดือดร้อน ให้ทั้งกับตนเองและผู้อื่น ดังนั้นถ้าเลือกได้ ก็ควรเลือกทำบุญกับคนดี ถ้าเลือกไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของมนุษยธรรม  เห็นเขาเดือดร้อน เห็นเขาลำบาก ถึงแม้เขาจะเป็นคนชั่วร้ายก็ตาม ก็ควรช่วยเหลือเขาไปตามความจำเป็น  แต่ถ้าเลือกได้ ก็ให้ไปทำบุญกับวัด กับโรงพยาบาล กับโรงเรียน เพราะเป็นองค์กรที่ทำแต่คุณแต่ประโยชน์ให้กับสังคมนั่นเอง 

เราจึงสามารถทำความดีได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่ต้องรอมาที่วัด จึงจะได้ทำบุญทำทาน อยู่ที่ไหน สะดวกเมื่อไหร่ มีกำลังที่จะทำได้ ก็รีบๆทำไปเลย  เพราะชีวิตของคนเรานั้น เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน จะอยู่จะไปเมื่อไหร่ ไม่มีใครกำหนดได้  ถ้าไปก่อนที่ได้ทำบุญทำกุศล ก็จะเสียโอกาสไป  เงินทองที่มีอยู่ ก็ต้องทิ้งไป ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับเรา เพราะหลังจากที่ตายไปแล้ว ก็ไม่เป็นของเราแล้ว แต่ในขณะที่ยังมีโอกาส ยังมีชีวิตอยู่ มีเงินทองเหลือใช้ ถ้ามาวัดไม่ได้ ทำที่ไหนก็ได้ ที่ใกล้ตัวเรา เช่นพ่อแม่ของเรา ก็เป็นบุคคลที่เราควรทำบุญด้วยอย่างยิ่ง เพราะท่านเป็นพระของเรา ได้ทำกับพ่อแม่แล้ว ก็ทำกับญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย คนใกล้ชิด ลูกน้อง บริษัทบริวาร ก็สงเคราะห์ อนุเคราะห์ ช่วยเหลือกันไป ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล

ส่วนเรื่องการละเว้นจากการกระทำบาป ก็สามารถละเว้นได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องมาที่วัด มาสมาทานศีลกับพระก่อน แล้วถึงจะไปบำเพ็ญไปรักษาศีล เพราะศีลอยู่ที่การกระทำทางกายและวาจาของเรา ซึ่งเราทำอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราสามารถละเว้นการกระทำในสิ่งที่ผิดศีลได้เสมอ ถ้ามีความตั้งใจ  ไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้ถึงวันพระ แล้วถึงจะมาสมาทานศีลกัน  บางคนที่ได้สมาทานศีลแล้ว ก็รักษาได้ในขณะที่อยู่ในศาลานี้เท่านั้น พอออกจากศาลาไป ก็ไม่รักษาแล้ว อย่างนี้ไม่ดีพอ เพราะเหมือนกับการรับประทานอาหาร รับประทานเพียงคำเดียวก็จะไม่พอ ต้องรับประทานมากๆ จนรู้สึกว่าแน่นท้อง  จนไม่สามารถรับประทานได้อีก  การรักษาศีลก็ต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเวลาหลับไปเลย  คือตลอดเวลาที่มีความรู้สึกตัว  ตื่นขึ้นมาควรมีสติคอยดูแลการเคลื่อนไหว ของกายและวาจาอย่างใกล้ชิด

อย่าปล่อยให้วาจาไปพูดปดมดเท็จ พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด พยายามหักห้ามจิตใจ เวลาจะพูดเรื่องเหล่านี้  ก็หยุดเสีย การหยุดนี้ไม่เสียหายอะไร ใครจะว่าอย่างไร ก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าไม่ได้พูดเสียอย่างแล้ว จะไปคิดอย่างไร ก็เรื่องของเขา  เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า สิ่งที่จะพูดไปนั้นเป็นบาป ผิดศีล  ไม่ตรงกับความเป็นจริง  ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น อย่างนี้ก็อย่าไปพูด อยู่เฉยๆ หรือพูดเรื่องอื่นแทนเสียก็ได้  พูดเรื่องดินฟ้าอากาศก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ต้องมีสติ  ต้องรู้อยู่ว่ากำลังจะพูดอะไร  ไม่ต้องไปเสียดายเพื่อน ถ้าไม่พูดแล้วเขาจะโกรธเกลียดเรา ถ้าเห็นว่าพูดไปแล้ว เสียศีล เสียสัจจะ สู้รักษาศีล รักษาสัจจะไว้ดีกว่า ดีกว่าเสียศีล เสียสัจจะ เพื่อรักษาเพื่อนไว้  เพื่อนนั้นหาได้ไม่ยาก  มีอยู่มากมายในโลกนี้  สามารถหาได้ใหม่เสมอ  แต่ศีลและสัจจะนี้ เป็นสิ่งที่รักษาได้ยาก  เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก มากกว่าเพื่อนฝูงทั้งหลาย เพราะศีลเป็นที่พึ่งของเราได้  ดังที่ได้แสดงไว้ในท้ายศีล คืออานิสงส์ของศีลว่า สีเลนะ สุคติ ยันติ   ศีลเป็นเหตุให้ไปเกิดในสุคติ ไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล

อย่าไปคิดว่าการทำบุญทำทานอย่างเดียว ไม่ต้องรักษาศีลนั้น จะพาให้ไปสวรรค์ได้  อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเข้าใจผิด อานิสงส์ของการทำทานนั้น เพียงแต่ทำให้เรามีความสมบูรณ์ในเรื่องโภคทรัพย์ทั้งหลาย ในเรื่องปัจจัย ๔ เท่านั้น ไปเกิดที่ไหน สถานที่ใด ภพใด ก็จะมีโภคทรัพย์ มีข้าวของเงินทองพร้อมเพรียง คือได้ไปเกิดบนกองเงินกองทองนั่นเอง ถึงแม้จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ก็ได้ไปเกิดที่ดี  เช่นเป็นสุนัขในบ้านของคนรวย ของเศรษฐี  มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ใครเห็นก็อยากจะเอาไปเลี้ยง นี่เป็นอานิสงส์ของการทำบุญให้ทาน  แต่ไม่สามารถยับยั้งการไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรตเป็นผี  เป็นสัตว์นรกได้  ถ้าไม่รักษาศีลทั้ง ๕ ข้อ  เพราะศีล ๕ ข้อนี้ต่างหาก เป็นเหตุที่จะทำให้ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ได้เป็นเทพ ได้เป็นพรหม ได้เป็นพระอริยบุคคล จนในที่สุดได้บรรลุถึงพระนิพพาน ก็ต้องมีศีลเป็นผู้พาไป

ท่านยังได้แสดงอานิสงส์ของศีลต่อไปอีกว่า สีเลนะ โภคสัมปทา ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ คือถ้าหาเงินหาทองมาด้วยความสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ของต่างๆที่หามาได้ ก็เป็นของที่สะอาดบริสุทธิ์  ถ้าหามาแบบผิดกฎหมาย ผิดศีลผิดธรรม ของเหล่านั้นก็ถือว่าไม่สะอาด ก็อาจจะต้องถูกยึดคืนไป เช่นไปปล้นธนาคารได้เงินมา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับเข้าคุกเข้าตะราง แล้วก็ยึดเงินของกลางคืนเจ้าของไป อย่างนี้ก็จะไม่ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ แต่ถ้าหาเงินมาด้วยความสื่อสัตย์สุจริต ตามกำลังสติปัญญา ความขยันหมั่นเพียร  หามาได้มากน้อยเพียงไร เงินทองเหล่านั้นก็จะเป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง  ไม่มีใครสามารถมายึดเอาไปจากเราได้ นี่คือความหมายของอานิสงส์ของศีล  ที่แสดงไว้ว่า สีเลนะ โภคสัมปทา ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์  และได้ทรงแสดงอานิสงส์ของศีลลำดับท้ายสุดว่า  สีเลนะ นิพพุติงยันติ  ศีลเป็นเครื่องดับทุกข์ภายในใจ ถ้าไม่ทำผิดศีล ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่พูดปดมดเท็จ ไม่โกหกหลอกลวง ไม่เสพสุรายาเมา จิตก็จะอยู่อย่างปกติ ไม่มีความกังวลตกอกตกใจกลัว  ว่าจะมีใครรู้ว่าได้ไปทำอะไรมิดีมิร้ายมา ไม่ต้องหวาดระแวง ว่าจะมีใครมาจับเข้าคุกเข้าตะราง จะมีใครมาชี้หน้าด่า ว่าเป็นคนไม่ดี อย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นกับผู้ที่รักษาศีลทั้ง ๕ ข้อนี้  

นี่แหละคือผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำความดี  ที่เรียกว่าทำดีได้ดี ทำดีแล้วก็จะมีความสุข มีความเจริญทางจิตใจ ส่วนผลรางวัลตอบแทนจากผู้อื่นนั้น ก็สุดแท้แต่เขาจะเห็นสมควร ถ้าเห็นแล้ว ยินดีด้วย อนุโมทนาด้วย ก็จะตอบแทนด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ  แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ก็จะไม่ตอบแทน แต่ก็ไม่มีความหมายอะไร  สำหรับคนที่ทำความดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะไม่ได้หวังผลตอบแทนจากผู้หนึ่งผู้ใดนั่นเอง  เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ทำความดีนั้นมีผลตอบแทนอยู่ในตัวแล้ว  ไม่ต้องรอให้ผู้อื่นมาขอบอกขอบใจ ให้รางวี่รางวัล  นี่แหละคือผลที่จะเกิดขึ้นจากการทำความดี ท่านจึงสอนว่าทำดีได้ดีนั่นเอง ส่วนการทำความชั่ว ทำบาปทำกรรม ก็จะเป็นเหตุที่จะทำให้มีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจ ในขณะที่ยังไม่ตาย ก็ตกนรกทั้งเป็นแล้ว เพราะใจมีความรุ่มร้อน มีความหวาดกลัว มีความทุกข์ มีความไม่สบายอก ไม่สบายใจ

เราจึงต้องดูผลที่เกิดขึ้นในใจของเรา อย่าไปมองผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากบุคคลภายนอก  ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่เรียกว่าเป็นการทำความดี  แต่เป็นการทำมาค้าขาย มีการแลกเปลี่ยนกัน เช่นเราทำอะไรให้คุณสักอย่างหนึ่ง  คุณก็ต้องให้อะไรเรามาเป็นสิ่งตอบแทน อย่างนี้ก็เหมือนกับการซื้อข้าวซื้อของตามร้านขายของนั่นเอง  เรามีเงินให้เขา เขาก็มีของให้เรา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน  อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการทำความดี  การทำความดีนั้น ต้องทำโดยไม่หวังผลตอบแทนจากผู้รับ  แม้แต่คำว่าขอบอกขอบใจก็ไม่สนใจ  เมื่อได้พิจารณาด้วยปัญญาแล้วว่า มีความจำเป็น เขาขาด เขาต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้  ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพอจะหามาได้  ก็หามาให้เขาไป เพื่อเขาจะได้อยู่อย่างเป็นสุขบ้าง  แม้จะไม่มาก  ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย อย่างน้อยก็ได้บรรเทาความทุกข์ไปบ้าง  ถ้าเขาไม่มีอาหารรับประทาน ก็ให้อาหารเขารับประทาน  เขาจะได้มีความสุขที่เกิดจากการได้รับประทานอาหาร  เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่า เวลาที่เราไม่ได้รับประทานอาหารสักมื้อสองมื้อแล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะต้องมีความหิว มีความกระหายอย่างแน่นอน  แล้วถ้ามีใครมีจิตเมตตา เอาอาหารมาให้เรารับประทาน  เราจะรู้สึกอย่างไร  เราก็ต้องมีความรู้สึกชื่นชมยินดีในความเมตตาของเขา ถึงแม้เราจะพูดขอบอกขอบใจเขาหรือไม่ก็ตาม  เราก็รู้ว่าเขาเป็นคนดี  นี่แหละคือความหมายของการทำความดี

ทำความดีแล้ว ไม่ต้องหวังผลตอบแทนจากผู้หนึ่งผู้ใด ขอให้มีผลดีเกิดขึ้นจากการกระทำของเรา เป็นใช้ได้แล้ว เราก็มีความสุข  มีความภาคภูมิใจ  แล้วความหิวความอยากความกระหาย ที่อยากจะมีสิ่งต่างๆเหมือนกับคนอื่นเขา  ก็จะลดน้อยถอยลงไป  ต่อไปเวลามีเงินเหลือใช้ แทนที่อยากจะเอาไปซื้อข้าวซื้อของ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่เห็นแล้วอดใจอยากซื้อมาไม่ได้  ก็จะไม่มีความรู้สึกอย่างนั้นเกิดขึ้นในใจ   เพราะจะจำได้ถึงความสุขความอิ่มเอิบใจ ที่ได้รับในขณะที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งจะทำให้อยากเอาเงินที่มีเหลือใช้นี้ เอาไปช่วยเหลือผู้อื่นอีก เพราะเป็นการทำประโยชน์ได้ทั้ง ๒ ส่วนด้วยกัน  ผู้รับก็ได้รับประโยชน์ ผู้ให้ก็ได้ประโยชน์ ผู้รับก็ได้ความสุข ที่เกิดจากการได้รับการดูแลในสิ่งที่ขาดตกบกพร่อง ผู้ให้ก็ได้รับความสุขจากการทำความดี จากการช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้จิตใจมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไป  ถ้าเป็นมนุษย์ก็ได้กลายเป็นเทพทันที  โดยที่ไม่ต้องไปรอให้ถึงวันตายก่อน เพราะจิตกับกายเป็นคนละเรื่องกัน ถึงแม้กายนี้จะเป็นมนุษย์ก็ตาม แต่จิตนี้สามารถกลายเป็นเทพ เป็นเดรัจฉานได้ทันที ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา

ถ้าไปทำบาปทำกรรม ทำผิดศีลข้อหนึ่งข้อใดๆ จิตก็กลายเป็นเดรัจฉานไปได้ทันที  ถ้าไปทำบุญทำกุศล จิตก็กลายเป็นเทพเป็นพรหมขึ้นมาได้ทันทีเช่นเดียวกัน เพราะจิตเป็นผู้ขึ้นสวรรค์หรือตกนรกนั่นเอง ไม่ใช่ร่างกาย  ร่างกายนี้เมื่อตายไป ก็กลับคืนสู่สภาพเดิม กลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ  ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ไปสวรรค์ ไม่ได้ไปนรก แต่ใจต่างหากที่จะไปสวรรค์หรือไปนรก   ถ้าขณะที่ตายไปใจมีความสุข มีความอิ่มเอิบใจ ที่ระลึกถึงความดีงาม ที่ได้กระทำไว้  ก็จะทำให้ใจได้ไปสวรรค์ทันที ถ้าตายไปแล้ว คิดถึงความชั่วร้ายที่ได้กระทำมาในอดีต  ก็จะเกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจ  เกิดความรุ่มร้อนใจขึ้นมา  ก็จะต้องไปตกนรกทันที  ท่านจึงสอนให้หมั่นทำความดีไว้มากๆ เพราะเมื่อทำความดีไว้มากๆแล้ว เวลาตายไปความดีเหล่านี้จะปรากฏตัวขึ้นมา เพื่อส่งให้ใจได้ไปสู่สุคตินั่นเอง  แต่ถ้าทำแต่ความชั่วไปเรื่อยแล้วละก็  เวลาตายไป ความชั่วเหล่านี้จะมาปรากฏ  ทำให้เกิดความรุ่มร้อนใจ เกิดความทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส  ก็จะทำให้ไปตกนรกทันทีเช่นเดียวกัน  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้