กัณฑ์ที่ ๒๑๖      ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๘

พรหมวิหาร

วันนี้เป็นวันที่ท่านทั้งหลาย มีเวลาว่างเว้นจากภารกิจการงาน จึงได้ใช้เวลาที่ว่างนี้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ ด้วยการมาวัด มาทำความดี เพราะมีความเชื่อว่า ความดีเป็นที่มาของความสุขความเจริญทั้งหลาย  จึงต้องหมั่นกระทำความดีกันอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการคิดดี พูดดี ทำดี ที่เกิดจากคุณธรรมความดีงาม ถ้าปราศจากคุณธรรมความดีงาม มีแต่กิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว ก็ยากที่จะทำความดีได้ เพราะกิเลสตัณหา คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น ไม่ได้เป็นเหตุให้คนเราทำความดีกัน แต่จะเป็นเหตุให้ทำความชั่ว ทำบาปทำกรรมกัน ดังนั้นสิ่งที่ควรจะปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอก็คือ การปลูกฝังคุณธรรมอันดีงามให้เกิดขึ้นในจิตในใจ และคอยกำจัดกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจให้เบาบางลงไป จนหมดสิ้นไปในที่สุด เพราะถ้ามีกิเลสตัณหาอยู่ในใจ ก็จะคอยสร้างความวุ่นวายใจ แล้วก็ระบายความวุ่นวายใจนี้ออกไปทางกาย ทางวาจาต่อไป

การบำเพ็ญจึงต้องทำทั้งสองส่วนด้วยกันคือ บำเพ็ญความดีงาม คือคุณธรรมที่ดีที่งามทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้บำเพ็ญ แล้วก็ลดละกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆให้เบาบางลงไป จนหมดไปในที่สุด เพราะถ้ามีคุณธรรมความดี ก็จะให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่จิตใจ ถ้าไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ ความรุ่มร้อนต่างๆภายในจิตใจก็จะหายไปหมด จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ ที่จะมาสร้างความรำคาญใจ สร้างความว้าวุ่นขุ่นมัวให้กับจิตใจ  จึงควรให้ความสนใจต่อการบำเพ็ญ เจริญคุณธรรมความดีงามทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณธรรมที่ทำให้จิตใจร่มเย็นเป็นสุข และทำให้ผู้อื่น มีความร่มเย็นเป็นสุขตามไปด้วย เพราะเมื่อใจเราเย็นแล้ว ก็จะส่งความเย็นออกไปสู่ผู้อื่น ความร่มเย็นนี้ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร  จึงควรให้ความสนใจในการปลูกฝังคุณธรรมความดีงาม ที่ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในจิตใจของเราและของผู้อื่น นั่นก็คือการบำเพ็ญพรหมวิหาร ๔     ได้แก่  . เมตตา   . กรุณา    . มุทิตา    . อุเบกขา

คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ถ้ามีอยู่ในจิตใจของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็จะมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข  เพราะคุณธรรมเหล่านี้เป็นตัวลบล้างกิเลสตัณหานั่นเอง ถ้ามีพรหมวิหาร ๔ แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็จะไม่สามารถออกมาแผลงฤทธิ์ได้ เราจึงควรหมั่นเจริญคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในอิริยาบถใด จะทำอะไรกับใครก็ตาม ขอให้มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อยู่กับจิตกับใจเสมอ เปรียบเหมือนอาวุธไว้ป้องกันความคิดที่ไม่ดี เช่นความโกรธต่างๆ ความไม่พอใจ ความเกลียดชัง ที่จะออกมาจากจิตใจ ความเมตตานี้หมายถึง ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเดรัจฉาน ก็ต้องการความเมตตาด้วยกัน ไม่มีใครต้องการความเกลียดชัง ไม่มีใครชอบความอาฆาตพยาบาท ทุกคนชอบความปรารถนาดี เวลาเจอกันก็ทักทายกัน ยิ้มแย้มแจ่มใส คืออยากให้ผู้อื่นมีความสุขนั่นเอง โดยคิดว่า ความสุขนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการฉันใด ผู้อื่นก็ต้องการความสุขฉันนั้น

เราจึงควรให้ความสุขแก่กัน อย่าให้ความทุกข์แก่กัน เวลามีอะไรเหลือกินเหลือใช้ก็เอามาฝากกัน เอามาให้กัน เอามาแบ่งปันกัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นการให้ความสุขต่อกัน นอกจากการให้ความสุขแล้ว ความเมตตายังหมายถึง การไม่เบียดเบียนกัน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ถึงแม้อยากจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้อนุญาต เช่นข้าวของเงินทองต่างๆ อยากจะได้ ก็ควรหามาด้วยกำลังสติปัญญา ความเพียรของตน ดีกว่าไปฉกไปฉวยของผู้อื่นมา เพราะเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่นนั่นเอง เพราะว่าข้าวของเงินทองของใครๆก็รัก ใครก็หวง ใครก็อยากจะให้อยู่กับตนไปนานๆ ไม่อยากให้สูญเสียไป  เวลาเกิดสูญเสียไปแบบที่ไม่ทันได้ตั้งเนื้อตั้งตัว เช่นอยู่ๆก็มีคนมาขโมยโทรศัพท์มือถือหรือรถยนต์ของเราไป เราก็จะรู้สึกเสียใจ เศร้าใจ เป็นการกระทำที่ขาดความเมตตา สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำกัน ถ้าต้องการอะไรก็ขอให้หามาด้วยความสุจริตจะดีกว่า จะได้ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตนเอง  ผู้อื่นก็ไม่เสียใจ ตนเองก็ไม่ต้องมาคอยหลบหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่จะต้องคอยตามจับมาลงโทษต่อไป

ความหมายของความเมตตายังมีอีกอย่างหนึ่ง คือการให้อภัย ไม่จองเวรกัน เวลามีปัญหากับใคร เกิดจากการพูดก็ดี การกระทำก็ดี ที่ทำให้ไม่ชอบอกชอบใจ ก็จะเกิดความโกรธ ความเจ็บแค้นขึ้นมาในใจ  ก็ต้องใช้ความเมตตามาระงับความโกรธ อย่าปล่อยให้ความเจ็บแค้นงอกงามขึ้นมา จนกลายเป็นความอาฆาตพยาบาท จองเวรจองกรรม จนทำให้ต้องไปทำร้ายร่างกาย ทำร้ายชีวิตของคนที่สร้างความไม่พอใจให้กับเรา ให้หันเข้ามาดูใจเราว่า ความโกรธนี้เป็นเหมือนกับกองฟืนกองไฟ ที่กำลังเผาผลาญใจของเราอยู่  ควรดับกองฟืนกองไฟนี้เสีย ด้วยการให้อภัย ด้วยการไม่จองเวร  ซึ่งเป็นน้ำแห่งธรรมะนั่นเอง ถ้ามีธรรมะคือมีความเมตตา รู้จักให้อภัย รู้จักละเว้นจากการจองเวรจองกรรมกันแล้ว เวลาเกิดความโกรธขึ้นมา ก็จะสามารถดับความโกรธนั้นได้ ซึ่งเปรียบเหมือนกับฟืนกับไฟที่สร้างความทุกข์ให้กับใจของเรา ทุกข์ที่เกิดจากไฟแห่งความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทนี้ ไม่ได้ถูกระงับด้วยความอาฆาตพยาบาท จองเวรจองกรรม แต่เกิดขึ้นจากการให้อภัย จากการระงับความอาฆาตพยาบาท การจองเวรจองกรรมต่อกัน ดังในพุทธภาษิตที่ทรงตรัสไว้ว่า  เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

นี่แหละคือเคล็ดลับของการดำรงชีวิตอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากความวุ่นวายใจ ที่เกิดจากความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทต่างๆ ด้วยการมีความเมตตา ซึ่งเปรียบเป็นเหมือนกับน้ำที่จะคอยดับไฟของกิเลสตัณหา คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง จึงควรหมั่นเจริญเมตตาธรรมอยู่เสมอ ถ้ายังไม่สามารถแผ่เมตตาไปสู่คนที่เราไม่ชอบได้ ในเบื้องต้นท่านสอนให้แผ่เมตตาให้กับคนที่เราชอบ คนที่เรารักก่อน เช่นเพื่อน พี่น้อง พ่อแม่  สามี ภรรยา คนที่เราชอบ คนที่เรารัก เราก็แผ่เมตตาให้กับเขา แผ่ความรู้สึกที่ดีให้กับเขา แล้วก็เอาความรู้สึกที่ดีนี้แผ่ออกไป สู่คนที่ไกลตัวเรา คนที่เราไม่รู้จัก คนที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเรา แล้วก็แผ่ให้กับคนที่เราไม่ชอบ  ถ้าสามารถรักษาความรู้สึกที่ดีนี้ไว้ได้ ต่อไปเวลาเจอคนที่เราไม่ชอบ ก็จะไม่รู้สึกโกรธแค้น เกลียดชัง เพราะมีความรู้สึกที่ดีต่อเขาอยู่ในใจ

นี่เป็นวิธีแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ  ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงอย่ามีเวรต่อกัน สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงไม่เบียดเบียนกัน สัพเพ สัตตา สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ  ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุขรักษาตนเถิด คำว่าสัพเพ สัตตานี่ ก็หมายถึง สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง หมายถึงมนุษย์ เดรัจฉาน และพวกที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อ เช่นพวกเทพ พวกพรหมทั้งหลาย รวมไปถึงพวกเปรต อสุรกาย และสัตว์นรก เหล่านี้เรียกว่าสัตว์โลก คือผู้ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร  เป็นสัตว์โลกทั้งสิ้น ควรแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่ต่ำสุดคือนรกขึ้นไป จนถึงสูงสุดคือเทพอินทร์พรหมทั้งหลาย ถ้าสามารถแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายได้แล้ว จิตใจจะอยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข จะไม่มีไฟแห่งความทุกข์ ที่เกิดจากความโกรธ ความเกลียดชัง  ความอาฆาตพยาบาท การจองเวรจองกรรมปรากฏขึ้นมาได้เลย นี่แหละคือสิ่งที่วิเศษ

ถ้าขาดเมตตาแล้ว ใจจะมีแต่ความรุ่มร้อน เวลาใครพูดอะไร ทำอะไร ไม่ถูกอกถูกใจขึ้นมา ก็จะเกิดความโกรธแค้นขึ้นมาทันที ทั้งๆที่เป็นคนที่เรารัก เช่นพ่อแม่ของเราก็ดี สามีภรรยาของเราก็ดี ลูกเต้าของเราก็ดี เราก็ยังอดโกรธไม่ได้ เวลามีอะไรมากระทบจิตใจ ที่ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจแล้ว ก็จะเกิดความโกรธขึ้นมา เพราะไม่มีเมตตาธรรมอยู่ในจิตใจ เพราะไม่เคยปลูกฝังไว้นั่นเอง เหมือนกับไร่นาที่มีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีต้นไม้ เพราะไม่สนใจต่อการปลูกต้นไม้ต่างๆไว้ เพื่อจะได้มีร่มเงาให้ความร่มเย็น  ฉันใดเมตตาธรรมก็เป็นอย่างนั้น จึงขอให้เจริญเมตตาธรรมอย่างสม่ำเสมอ ทุกเวลาที่มีสติระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ก็พยายามคิดถึงความเมตตาอยู่เรื่อยๆ  เวลาเกิดความจำเป็นที่จะต้องใช้ความเมตตาขึ้นมา ก็จะช่วยดับไฟในใจได้  ถ้าไม่รำลึก ไม่เจริญให้มีอยู่ในจิตในใจ  ก็จะอยู่ห่างไกลจากใจ พอเวลาต้องการจะใช้ ก็ไม่สามารถเอาออกมาใช้ได้ 

จึงขอให้มองเมตตาเป็นเหมือนกับอาวุธ    ควรติดไว้กับตัวอยู่เสมอ  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพราะเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ จะใช้ได้ทันทีนั่นเอง อานิสงส์ของการเจริญเมตตานั้น ก็มีอยู่หลายประการด้วยกัน เช่นเป็นที่รักของมนุษย์และเทพทั้งหลาย คนที่มีความเมตตาเวลาอยู่กับใครที่ไหน ก็จะมีแต่คนชื่นชมยินดี อยากจะคบค้าสมาคม อยากจะให้อยู่ด้วย เพราะเป็นคนที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยนั่นเอง นอกจากนั้นแล้วยังทำให้ผู้เจริญเมตตาอยู่เป็นสุข  หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข  เวลานอนหลับก็ไม่ฝันร้าย จะไม่ถูกทำร้ายด้วยสารพิษต่างๆ หรืออาวุธต่างๆ เพราะไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครนั่นเอง จึงไม่มีพิษภัยอะไรที่จะมาทำร้ายได้ นี่คือวิธีป้องกันตัวที่ดีที่สุด คือไม่สร้างความเดือดร้อน เบียดเบียนผู้อื่น มีแต่ให้ความสุขกับผู้อื่น แล้วความสุขนั้นก็จะกลับมาหาเรา นี่คืออานิสงส์ของการเจริญเมตตา

คุณธรรมประการที่ ๒ ที่ควรเจริญก็คือ ความรุณา  คำว่ากรุณานี้แปลว่าความสงสาร เห็นผู้อื่นลำบากตกทุกข์ได้ยาก ก็มีความสงสาร อยากจะให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น ถ้ามีอะไรพอที่จะช่วยเหลือได้  ก็ไม่ควรดูดาย เห็นใครเดือดร้อนจริงๆ ไม่มีใครช่วยเหลือเลย  ก็ควรจะยื่นไม้ยื่นมือไปช่วยเขา แต่การช่วยเหลือนี้ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ให้เป็นการช่วยเหลือที่เกิดโทษตามมา เป็นอย่างไรการช่วยเหลือผู้อื่น ที่ทำให้เกิดโทษตามมา ก็คือช่วยเหลือในลักษณะที่ให้เขาต้องคอยมาพึ่งพาอาศัยเราอยู่ตลอดเวลา ช่วยเหลือแบบนี้ไม่ดี แต่ต้องช่วยให้เขาได้ช่วยตัวเขาเองได้ต่อไป เช่นคนล้มลงไป ก็ช่วยพยุงเขาขึ้นมา ให้เขายืนได้ แล้วให้เขาเดินต่อไป ไม่ให้อุ้มเขาไปตลอดเวลา เขาต้องการจะไปไหน ก็อุ้มพาเขาไป จนเขากลายเป็นคนพิการไป อย่างนี้ไม่เป็นการช่วยเหลือที่ถูกต้อง แต่เป็นการช่วยเหลือที่เกิดโทษนั่นเอง

การช่วยเหลือนั้นก็ควรช่วยเหลือในสิ่งที่สมควร  เช่นถ้าเดือดร้อนทางด้านปัจจัย ๔  อย่างนี้ก็ควรช่วยเหลือกัน แต่ถ้าเดือดร้อนเรื่องเงินทอง เพราะต้องการจะเอาไปเสพสุรายาเมา ไปเล่นการพนัน ไปเที่ยวเตร่ อย่างนี้ไม่สมควรที่จะช่วย เพราะการช่วยแบบนี้ เป็นการส่งเสริมให้ไปตกนรกหมกไหม้นั่นเอง เพราะการไปยุ่งเกี่ยวกับพวกอบายมุขต่างๆ  เช่นการเสพสุรายาเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน อย่างนี้เป็นการกระทำที่ไม่นำไปสู่ความสุขความเจริญ แต่จะนำไปสู่ความทุกข์ ความหายนะ ที่จะตามมาต่อไป เพราะถ้าไปเสพสุรายาเมาแล้ว ก็จะต้องหมดเงินหมดทอง เสียเวลา ดีไม่ดีก็อาจจะต้องตกงานตกการ ถ้ามีงานมีการทำอยู่ เพราะเมื่อเสพไปแล้วก็เกิดความมึนเมา จะนอนตื่นสาย ไม่สามารถไปทำงานตามเวลาที่ควรไปได้  ถ้าเล่นการพนัน ไม่ช้าก็เร็วเงินทองที่ให้ไปก็ต้องหมด ไปเที่ยวก็ต้องหมดเหมือนกัน เพราะการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่เป็นวิธีสร้างรายได้ แต่เป็นวิธีที่จะดูดทรัพย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวให้หมดไป

การช่วยเหลือคนแบบนี้ จึงไม่ควรอย่างยิ่ง ควรจะช่วยในเรื่องปัจจัย ๔  ถ้าขาดแคลนเรื่องอาหาร ก็หาอาหารให้รับประทาน  ขาดเสื้อผ้าใส่ ก็หาเสื้อผ้าให้ใส่ ขาดยารักษาโรค ขาดหมอ ก็พาไปหาหมอ หาหยูก หายา ขาดที่อยู่อาศัย ถ้าพอมีที่ให้พักพิงอาศัย ก็ให้พักพิงไป จนกว่าจะสามารถหาที่พักพิงของเขาเอง การช่วยเหลือแบบนี้ เป็นการช่วยเหลือที่ไม่เสียหายอะไร เพราะทำให้เขาได้ฟื้นฟูสภาพชีวิตของเขาที่ตกต่ำให้ดีขึ้น จนทำให้เขามีกำลังวังชาที่จะออกไปทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวของเขาเองได้  นี่คือความหมายของความกรุณา คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะมนุษย์เรานั้นอย่าไปคิดว่า จะอยู่เย็นเป็นสุขไปตลอดเวลา ในโลกที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน บางครั้งบางคราวก็อาจจะต้องประสบกับเคราะห์กรรมต่างๆ ทำให้เดือดร้อน ขาดสิ่งนั้นขาดสิ่งนี้ ถ้ามีความสงสารต่อกันและกัน เวลาใครเดือดร้อนอะไร พอช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกันไป ก็จะทำให้สังคมอยู่กันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทำให้สังคมไม่รู้สึกว่าขาดที่พึ่ง ไร้ที่พึ่ง ทำให้ทุกคนอยู่แล้วมีความสุขใจ

คุณธรรมประการที่ ๓ ที่ทรงสอนให้เจริญก็คือมุทิตา มุทิตาคือความยินดีในความสุข ในความเจริญ ของผู้อื่น เวลาผู้อื่นได้ดิบได้ดี มีความเจริญในทางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ไม่ควรไปอิจฉาตาร้อน อย่าไปคิดว่าเขาไม่ควรที่จะได้สิ่งเหล่านั้น ควรที่จะคิดว่าเขาได้ทำความดีมา แล้วความดีของเขานั้น ก็ส่งผลให้เขาได้รับสิ่งที่ดีตามมาต่อไป  เพราะถ้าขาดมุทิตาแล้ว จิตใจก็จะถูกความอิจฉาริษยาเข้ามารุมเร้า ทำให้มีความรุ่มร้อนในจิตใจ ทั้งๆที่อยู่เฉยๆ อยู่ดีๆ แต่พอไปได้ยินข่าวว่า คนนั้นคนนี้ ได้ดิบได้ดีขึ้นมา ก็เกิดความรุ่มร้อนจิตใจขึ้นมา ถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่าขาดมุทิตานั่นเอง การมีมุทิตานี้จะทำให้ไม่รู้สึกรุ่มร้อนจิตใจ เวลาที่ได้ยินได้ฟังว่า คนนั้นคนนี้ได้ดิบได้ดี จะกลับมีความสุขไปกับเขาด้วย เพราะมองว่าทุกคนก็ต้องการความเจริญก้าวหน้าด้วยกันทั้งนั้น

ดังนั้นเมื่อเขามีความเจริญก้าวหน้า เขาก็สมควรที่จะมีความสุข เมื่อเรารู้ว่าเขามีความสุข ซึ่งถ้าเรามีความเมตตาอยู่ในใจอยู่แล้ว คือชอบให้คนอื่นเขามีความสุข อยากให้คนอื่นเขามีความสุข เมื่อรู้ว่าเขามีความสุข เราก็แสดงมุทิตาจิตไป แสดงความยินดีไป เพราะดีใจด้วยที่เห็นเขามีความสุข ถ้ามีมุทิตาจิตอยู่ในใจแล้ว ไฟแห่งความอิจฉาริษยาก็จะไม่เกิดขึ้น อย่าไปเห็นว่าความอิจฉาริษยานี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ   คนเราในโลกนี้ฆ่ากันตาย ก็เพราะความอิจฉาริษยากัน มีมามากต่อมากแล้ว จึงอย่าไปมองข้ามเรื่องมุทิตาเป็นอันขาด พยายามเจริญมุทิตาจิตอยู่เสมอ ถึงแม้ความสุขของบุคคลคนนั้น อาจจะอยู่บนกองทุกข์ของเราก็ตาม เช่นเราอาจจะต้องสูญเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เรารักไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือบุคคล ถ้าไม่มีมุทิตาจิตแล้ว จิตก็จะร้อนขึ้นมาด้วยไฟแห่งความโกรธแค้น ความอิจฉาริษยาอย่างแน่นอน

แต่ถ้ามีทั้งเมตตาและมุทิตาอยู่ในจิตแล้ว เวลาใครเขาได้ดิบได้ดี บนความสูญเสียของเรา เราจะไม่รู้สึกเศร้าโศกเสียใจหรือโกรธแค้น โกรธเคืองเลย เช่นเราอาจจะต้องสูญเสียตำแหน่งนี้ให้กับอีกคนหนึ่งเขาไป เจ้านายว่าเราทำงานไม่ดีพอ เขาเลยเลื่อนเราลงไปขั้นหนึ่ง  แล้วเลื่อนอีกคนหนึ่งขึ้นมาแทนเรา อย่างนี้ถ้าเราไม่มีมุทิตาจิตอยู่ในใจแล้ว เราก็จะต้องเกิดความโกรธแค้น เกิดความอิจฉาริษยา แต่ถ้ามีเมตตาและมุทิตาแล้ว ก็จะรู้สึกดีอกดีใจไปกับเขาด้วย นี่คือการมีมุทิตาจิตอยู่ในใจ ควรเจริญอยู่เรื่อยๆ เวลาเห็นใครเขาได้รับความสุข ได้รับความเจริญ ก็ควรแสดงความยินดีกับเขา ถึงแม้จะไม่อยากแสดงก็ตาม พยายามฝืนใจทำไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะกลายเป็นนิสัย ถ้าไม่ฝืน ไม่ทำ ก็จะรู้สึกขัดๆอยู่ในใจอยู่เสมอ จึงต้องหัดฝืน ขอให้เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่งาม การมีมุทิตาจิตนี้เป็นสิ่งที่ดี ดีกว่าไม่มี ถึงแม้การเจริญในเบื้องต้นจะรู้สึกว่ายากลำบากก็ตามเถิด ก็ขอให้พยายามทำไปเรื่อยๆ

คุณธรรมประการสุดท้าย ทรงสอนให้มีอุเบกขา  แปลว่าการวางเฉย คือทำจิตใจให้เป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เฉยๆกับทุกสิ่งทุกอย่างที่มาสัมผัสกับชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม หรือสิ่งที่ไม่ดีก็ตาม ขอให้ยอมรับว่า เราอยู่ในโลกอนิจจัง ที่มีทั้งสิ่งที่ดี และสิ่งที่ไม่ดี ปนกันมา มีทั้งมืดมีทั้งแจ้ง มีทั้งความเจริญ มีทั้งความเสื่อม ในเมื่อเราไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ที่จะต้องเผชิญได้ ก็ขอให้ทำใจวางเฉยเสีย ให้เป็นอุเบกขา จะได้ไม่ทุกข์นั่นเอง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้