กัณฑ์ที่
๒๑๗
วันนี้เป็นวันที่ท่านทั้งหลาย
มีเวลาว่างจากภารกิจการงานต่างๆ
จึงมาที่วัด เพื่อสร้างที่พึ่งให้กับชีวิตของตน
เพราะถ้าขาดที่พึ่งแล้วชีวิตจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข
จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
เป็นหน้าที่ของทุกๆคน
ที่พึ่งของชีวิตก็มีอยู่ ๒
ประเภทด้วยกันคือ
๑.ที่พึ่งทางกาย ๒. ที่พึ่งทางใจ
ที่พึ่งทางกายก็ได้แก่ปัจจัย
๔ คืออาหาร
ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม
ยารักษาโรค
ส่วนที่พึ่งทางใจก็คือพระรัตนตรัย
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ที่เรากล่าวถึงอยู่เสมอว่า พุทธัง
ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เรายึดพระพุทธ
พระธรรม
พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา
นี่คือที่พึ่งทางใจ มีอยู่ ๒
ส่วนด้วยกันคือ
ส่วนที่อยู่ภายนอกและส่วนที่อยู่ภายในใจ
ส่วนที่อยู่ภายนอกก็คือ
พระพุทธรูปต่างๆที่เรากราบไหว้บูชา
หนังสือธรรมะต่างๆที่เราอ่าน
พระอริยสงฆ์ก็คือพระสุปฏิปันโนทั้งหลาย
ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ที่เรากราบไหว้บูชา
เหล่านี้เป็นสรณะภายนอก
ที่ยังไม่เป็นสรณะที่แท้จริง
สรณะที่แท้จริงต้องเป็นสรณะภายใน
คือพุทธะ ธัมมะ
สังฆะ
เปรียบเหมือนกับยาที่ยังไม่ได้รับประทาน
ที่ยังไม่มีประโยชน์อะไรนั่นเอง
ถึงแม้จะมีคุณค่ามีประโยชน์มหาศาลเพียงไร
ถ้ายังไม่ได้รับประทานเข้าไปในร่างกาย
ก็ยังไม่เกิดประโยชน์กับร่างกาย
จนกว่าจะรับประทานเข้าไปสู่ร่างกายแล้วเท่านั้น
ที่จะทำหน้าที่
ทำประโยชน์ได้
คือรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่ในร่างกายให้หมดไป
สรณะที่พึ่งทางใจก็เป็นเช่นเดียวกัน
ถ้ายังอยู่ข้างนอก
ยังไม่ได้เข้ามาในใจ
ก็ยังไม่มีประโยชน์อย่างไร
การมีพระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชา
มีหนังสือธรรมะไว้อ่าน
มีพระสงฆ์องค์เจ้า
ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไว้กราบไหว้บูชา
จึงยังไม่เป็นที่พึ่งที่แท้จริง
จนกว่าจะน้อมเอาท่านทั้งหลายเข้ามาสู่ใจ
ด้วยการปฏิบัติกาย วาจา ใจ
ให้เป็นไปตามแบบฉบับที่ท่านได้ปฏิบัติมา
และได้นำมาสั่งสอนให้กับพวกเรา
ท่านได้ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อมแล้ว
พวกเราก็ต้องทำความดีให้ถึงพร้อม
ท่านได้ละบาปทั้งหมดแล้ว
เราก็ต้องละบาปทั้งหมดให้ได้
ท่านได้ชำระจิตใจของท่านจนสะอาดหมดจดแล้ว
เราก็ต้องชำระจิตใจของเราให้สะอาดหมดจดเช่นเดียวกัน
ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติ
ก็ยังไม่ได้เข้าถึงสรณะ
คือพุทธะ ธัมมะ สังฆะ
แต่ถ้าได้น้อมเอาสิ่งที่ท่านสั่งสอน
วิธีดำเนินชีวิตของท่านมาเป็นเยี่ยงอย่าง
เอามาปฏิบัติกับกายวาจาใจของเรา
ด้วยการทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
ละการกระทำบาปทั้งหลาย
และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด
ละความโลภ ความโกรธ
ความหลง ไปตามลำดับแล้ว
สิ่งที่จะปรากฏขึ้นมาภายในใจก็คือธัมมะขั้นต่างๆ
ที่เราจะได้บรรลุตาม
เมื่อได้บรรลุเห็นธรรมแล้ว
ก็จะเห็นพระพุทธเจ้า
และเห็นพระอริยสงฆ์สาวก
เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า
ผู้ใดเห็นธรรม
ผู้นั้นเห็นเราตถาคต
ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม
ผู้ที่จะเห็นตถาคตเห็นธรรมได้นั้น
ต้องเป็นสุปฏิปันโน
เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
คือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ครบถ้วนทุกประการ
ท่านสอนให้ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
เราก็ต้องทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
ท่านสอนให้ละบาปทั้งหลายเสีย
เราก็ต้องละบาปทั้งหลาย
ท่านสอนให้ชำระจิตใจด้วยการลดละกิเลสตัณหา
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ให้หมดไปจากจิตจากใจ
เราก็ต้องชำระความโลภ
ความโกรธ
ความหลงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ
ถ้าสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว
ก็จะมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา
เมื่อเห็นธรรมะแล้ว
ก็จะเห็นพุทธะ คือผู้รู้ซึ่งมีอยู่ในใจของเรา
แล้วก็จะเห็นสังฆะ
ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ที่อยู่ในใจนี้เช่นเดียวกัน
ถ้าได้เข้าถึงพุทธะ
ธัมมะ สังฆะ ภายในใจแล้ว
ก็ได้ถึงสรณะอย่างแท้จริง
เพราะผู้ที่มี พุทธะ ธัมมะ
สังฆะ อยู่ในจิตในใจแล้ว
ย่อมไม่กระทำการอันใดที่จะนำมาซึ่งความทุกข์
ความเสื่อมเสียให้กับตนเองนั่นเอง
มีแต่จะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม
อันเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญอย่างแท้จริง
การที่มีพระไว้กราบไหว้บูชาหรือไว้ห้อยที่คอนั้น
ถ้ามีไว้กราบไหว้เฉยๆ
มีไว้ห้อยคอเฉยๆ
ก็ยังถือว่าไม่ถูกต้อง
ยังไม่ถึงสรณะ
พระพุทธรูปที่มีไว้กราบไหว้บูชา
มีไว้ห้อยคอนั้น
มีไว้สำหรับเตือนสติ เป็นพุทธานุสติ
ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ระลึกถึงพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
เมื่อได้รำลึกถึงแล้ว
จะได้รู้ถึงประวัติอันดีงามของท่าน
ว่าท่านได้ดำเนินชีวิตของท่านมาอย่างไร
เมื่อได้เห็นท่านดำเนินชีวิตมาด้วยความดีงาม
จนสามารถยกชีวิตของท่านนั้นให้หลุดพ้นจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว
ก็จะมีศรัทธาที่จะปฏิบัติตามที่ท่านได้บำเพ็ญมา
เมื่อเริ่มปฏิบัติแล้ว
ก็จะเริ่มเห็นสิ่งที่ดีที่งามปรากฏขึ้นมาในจิตใจ
เห็นความสุขความเจริญของจิตใจค่อยปรากฏขึ้นมาตามลำดับแห่งการปฏิบัติ
เมื่อเห็นความสุขและความเจริญปรากฏขึ้นมาในจิตในใจแล้ว
ก็จะเกิดฉันทะ ความยินดี
ความพอใจ
ที่จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ
ประกอบคุณงามความดีให้มากยิ่งๆขึ้นไป
เมื่อมีฉันทะแล้ว วิริยะ
ความพากเพียร
ขยันหมั่นเพียร
ความอดทนอดกลั้น
ที่จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า
และพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย
ก็จะตามมา
ถึงแม้ผู้อื่นที่เรารู้จัก
จะไม่สนใจ จะไม่ปฏิบัติ
ก็จะไม่สามารถมาลบล้างความตั้งใจอันแน่วแน่ของเราที่จะปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่งามได้
เขาจะทำตัวไปในทางที่ไม่ดี
แล้วกลับได้ดิบได้ดี
ก็จะไม่อิจฉาริษยา
แต่กลับจะสงสารเขา
เพราะรู้ว่าการกระทำความไม่ดีนั้น
ไม่ช้าก็เร็ว
ก็จะต้องนำมาซึ่งความเสื่อมเสียอย่างแน่นอน
เพียงแต่ว่าเวลาที่จะเกิดขึ้นนั้น
ยังไม่ใช่เป็นเวลานี้
แต่ความจริงแล้ว
จิตใจของเขาได้เสื่อมลงไปแล้ว
ได้กระทำสิ่งที่ไม่ดีกับชีวิตของเขาแล้ว
เราจึงไม่หวั่นไหว
ไม่ย่อท้อเวลาทำความดีแล้ว
ผู้อื่นไม่ทำตามด้วย
เช่นเราขับรถมาถึง ๔ แยกไฟแดง
เห็นไฟแดงเราก็หยุดรถ
พอไฟเขียวแล้วค่อยไป
แต่รถคันอื่นกลับไม่หยุด
เพราะเห็นว่าไม่มีรถวิ่งมา
จึงฝ่าไฟแดงไป
ไม่เคารพกฎจราจร
ถึงแม้จะไม่เกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม
แต่จะติดเป็นนิสัยไป
หากวันดีคืนดีไม่รอบคอบไม่เห็นรถวิ่งมา
คิดว่าไม่มีรถวิ่งมา
จึงฝ่าไฟแดงไปอีก
ก็ต้องถูกรถชนเอาจนได้
หรือถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับไปเสียค่าปรับ
เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน
ไม่ช้าก็เร็วเท่านั้นเอง
แต่สิ่งที่ไม่ดีได้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว
คือนิสัยที่ไม่ดีนั่นเอง
จะติดตัวไปกับเขา
ทำให้เป็นคนไม่เคารพกฎเคารพกติกาของสังคม
อยู่กับใครที่ไหนก็มักจะทำผิดกฎผิดกติกาอยู่เสมอ
สังคมจะรังเกียจ
ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย
นี่คือเรื่องของคนที่ไม่มีหลักคิดนั่นเอง
ไม่รู้จักคุณ ไม่รู้จักโทษ
ว่าเป็นอย่างไร
แต่พวกเราผู้มีการศึกษาดี
เพราะได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอ
จะรู้ว่าอะไรเป็นคุณ
อะไรเป็นโทษ ท่านทรงสอนให้มีความเคารพในกฎกติกา
ต้องอยู่ในกรอบของความดีงาม
ไม่สร้างความเดือดร้อน
สร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว
ถึงแม้คนอื่นจะไปทำอะไรที่ไม่ดีไม่งาม
เพื่อผลประโยชน์ของเขา
เราก็จะไม่ทำตามเขา
เพราะเราเชื่อมั่นในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั่นเองว่า
ต้องทำความดี
ต้องละการกระทำความชั่วทั้งหลาย
ต้องกำจัดความโลภ ความโกรธ
ความหลงที่มีอยู่ในใจให้เบาบางและหมดสิ้นไปให้ได้
ถ้าสามารถปฏิบัติได้แล้ว
สิ่งที่ดีที่งามทั้งหลาย
ที่พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายก็ดี
ได้รับนั้น
ก็จะเป็นสิ่งที่เราจะได้รับเช่นเดียวกัน
นี่คือเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญ
พยายามหันเข้ามาสร้างที่พึ่งทางจิตใจให้ได้
เพราะถ้ามีที่พึ่งทางจิตใจแล้ว
จะไม่หวั่นไหวกับสิ่งต่างๆ
ที่มากระทบ ไม่ว่าจะมาทางตา
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
ทางกายหรือทางใจก็ตาม
เราจะไม่หวั่นไหวกับสิ่งต่างๆเหล่านี้
เพราะมีพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์คอยดูแล
คอยปกป้องอยู่นั่นเอง
เวลาเห็นอะไร
ได้ยินอะไรที่ไม่ถูกอกถูกใจ
ก็จะไม่เกิดความโกรธขึ้นมา
เพราะได้ชำระความโกรธแล้วด้วยความเมตตา
ด้วยปัญญา
ความเมตตาก็คือการให้อภัยกับผู้ที่ทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามกับเรา
ไม่ถือโทษโกรธเคือง
ไม่อาฆาตพยาบาท
ไม่คิดร้ายกับเขา
เพราะรู้ว่าความอาฆาต พยาบาท
ความโกรธแค้นโกรธเคืองเป็นสิ่งที่ไม่ดีนั่นเอง
เป็นไฟเผาจิตใจ ถ้าไปโกรธ
ไปแค้น ไปเกลียดชังใครเข้า
ก็เท่ากับจุดไฟเผาตัวเราเองนั่นเอง
คนฉลาดจึงไม่จุดไฟเผาตัวเอง
ถ้ามีไฟลุกขึ้นมาเผาตนเอง
ก็ต้องรีบหาน้ำมาดับ
ไม่ปล่อยให้มันลุกไหม้ไป
โดยไม่ระงับดับมัน
การให้อภัย
การไม่จองเวรจองกรรมกันนี่แหละ
เป็นการเอาน้ำมาดับไฟนรก
ที่เกิดขึ้นในใจ
ที่เกิดจากความโกรธ
ความอาฆาตพยาบาท
เป็นความเมตตาและปัญญา
จึงควรเจริญเมตตาไว้ให้มากๆ
อย่าไปมีเวรมีกรรมกับใคร
เพราะเมื่อมีแล้ว
จะตามข้ามภพข้ามชาติไปไม่รู้จักจบจักสิ้น
ตายจากกันชาตินี้แล้ว
ชาติหน้ามาเจอกันอีก
ก็ต้องมีเวรมีกรรมกันอีก
ลองสังเกตดูคนบางคนเราไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย
แต่พอเห็นหน้าเห็นตาขึ้นมา
ก็เกิดมีความรู้สึกเกลียดชังขึ้นมา
ทั้งๆที่ยังไม่รู้เลยว่าเป็นใคร
มาจากไหน
แต่ใจของเราลึกๆนั้น
รู้แล้วว่าเป็นเวรกันมา
จึงมีความรู้สึกไม่ชอบหน้ากัน
นี่แหละคือเรื่องของเวรของกรรม
มันฝังลึกอยู่ในจิตในใจ
ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าเคยทำอะไรกันมาในอดีต
แต่พอมาเห็นกันปั๊บ
ก็จะเข้าถึงกันในเรื่องของเวรของกรรม
จึงไม่ควรจองเวรจองกรรมกัน
แต่ควรเลิกจองเวรจองกรรมกัน
ทำอะไรต่อกันแล้วเกิดการผิดพลาด
ก็จงให้อภัยกันเสีย
เพราะเมื่อให้อภัยแล้วทุกอย่างก็จบลง
ถึงแม้ว่าเขายังไม่ยอม
แต่เราหยุดแล้ว
ก็จะไม่มีปัญหาอะไร
ตบมือนั้นต้องตบ ๒
ข้างถึงจะดัง จะทะเลาะกัน
ก็ต้องทะเลาะกันทั้ง ๒ ฝ่าย
ถึงจะทะเลาะกันสนุก
ถ้าฝ่ายหนึ่งทะเลาะแต่อีกฝ่ายหนึ่งนิ่งเฉย
เดี๋ยวก็หยุดไปเอง
เหมือนกับคนที่พูดกับกำแพง
พูดไปด่ากำแพงไปจนวันตาย
เดี๋ยวคนพูดก็เหนื่อยเอง
ก็หยุดไปเอง ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ตอบโต้แล้ว
เดี๋ยวอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยุติไปโดยปริยาย
เพราะพูดไปก็เหมือนพูดกับฝาผนัง
พูดไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
เพราะผู้ฟังก็มีแต่จะให้อภัย
มีแต่นั่งยิ้มอยู่ภายในใจ
อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ
ทำไมจะต้องมาเต้นแร้งเต้นกา
เวลาใครพูดอะไรไม่ถูกอกถูกใจ
ก็เป็นเพราะไม่มีที่พึ่งนั่นเอง
ยังขาดพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ ยังขาดพระในใจ
ถ้ามีพระแล้ว
จะต้องรู้จักคำว่าแพ้เป็นอย่างไร
เพราะว่าคำว่าแพ้ก็คือ แพ้เป็นพระ
ชนะเป็นมารนั่นเอง
คำว่าแพ้นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้อ่อนแอ
หรือว่าเป็นผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญา
แต่ความจริงแล้วเป็นผู้ฉลาดต่างหาก
เพราะบัณฑิตผู้ละบาปได้แล้ว
ย่อมไม่วิวาทกับใคร
เรื่องทะเลาะวิวาทเป็นเรื่องของสุนัขมากกว่า
สังเกตดูสุนัขมักจะเห่ามักจะกัดกันเรื่อยๆ
แต่บัณฑิตเช่นพระสงฆ์องค์เจ้า
จะไม่ทะเลาะวิวาทกัน
ถ้ามีก็แสดงว่าพระสงฆ์องค์เจ้าเหล่านั้นขาดความเป็นพระไปแล้ว
ไม่มีความเป็นพระอยู่ในจิตใจ
ผู้ที่มีพระอยู่ภายในจิตใจแล้ว
ย่อมรู้ว่าการทะเลาะวิวาทนั้น
ไม่ใช่วิสัยของคนดี
ไม่ใช่วิสัยของนักปราชญ์จะพึงกระทำ
เพราะคนเราพูดกันได้ด้วยเหตุด้วยผล
แล้วก็ยอมรับกันได้ด้วยเหตุด้วยผล
ไม่จำเป็นที่จะต้องมาทะเลาะวิวาทกัน
เอาแพ้เอาชนะกัน
เพราะนักปราชญ์หรือบัณฑิตไม่ได้ดูที่ความแพ้หรือความชนะ
แต่ดูที่ความจริงต่างหาก
เช่นคนหนึ่งบอกว่าไก่ตัวนี้มี
๓ ขา
อีกคนหนึ่งบอกว่าไก่ตัวนี้มี
๒ ขา
ก็ไปดูให้รู้ซิว่ามันมีกี่ขา
ถ้าเห็นว่ามันมี ๒
ขาก็ยอมรับว่ามี ๒ ขา
ถ้าเห็นว่ามี ๓
ขาก็ยอมรับว่ามี ๓ ขา
เรื่องมันก็จบ
ไม่เห็นจะต้องมาทะเลาะวิวาทกันให้เสียเวลา
แล้วก็โกรธเกลียดกันต่อไปอีกทำไม
นั่นก็เป็นเพราะจิตใจไม่มีพระไว้คอยยับยั้งความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ที่มีอยู่ภายในใจนั่นเอง
พอมีอะไรมาสะกิดให้เกิดความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ก็ไม่สามารถระงับยับยั้งได้
ปล่อยให้ระบายออกมาทางกายทางวาจา
สร้างความเสื่อมเสีย
ให้กับตนและกับผู้อื่น
ซึ่งบางครั้งก็เป็นผู้ที่ตนเองรักและชอบพอ
แต่พอเกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้ว
ก็จะมองข้ามความรัก
ความชื่นชมยินดีและเหตุผลต่างๆได้
เพราะอำนาจของความโลภ
ความโกรธ
ความหลงมันเป็นอย่างนั้น
ทำให้ผู้ที่ถูกครอบงำเป็นเหมือนกับคนตาบอด
จะเอาแต่ใจของตนอย่างเดียว
จะเอาชนะให้ได้
คนอื่นจะถูกจะผิดอย่างไร
ไม่สนใจ
เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมา
นี่คือเรื่องของคนที่ยังไม่มีที่พึ่งอยู่ภายในใจ
เป็นคนโลภโมโทสัน
ทำอะไรก็ชอบทำตามอารมณ์ของตนเอง
ไม่คิดถึงหัวอกของคนอื่นว่าจะคิดอย่างไรบ้าง
ไม่คำนึงถึงความผิดถูกดีชั่ว
อยากจะทำอะไร อยากจะพูดอะไร
ก็ทำไปพูดไป
เมื่อเกิดผลเสียหายตามมา
ก็ต้องรับเคราะห์กรรมไป
ที่ต้องไปติดคุกติดตะรางกัน
ก็เพราะความโลภโมโทสันนี่เอง
ที่ต้องฆ่าตัวตายก็เพราะความโลภโมโทสัน
เมื่อมีอยู่ภายในจิตในใจแล้ว
สามารถสั่งให้คนเราไปกระทำในสิ่งที่คนปกติจะไม่กล้าทำกัน
แต่เมื่อความโลภ ความโกรธ
ความหลง ครอบงำจิตใจ
คือลุแก่ความโลภ
ลุแก่ความโกรธ
ลุแก่ความหลงแล้ว
สามารถทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างได้
แล้วเป็นอย่างไร
เมื่อทำไปแล้ว
ผลเสียหายก็ตามมาทั้งกับตนเองและกับผู้อื่น
พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้สร้างสรณะขึ้นมา
ให้มีอยู่ในใจ สร้างพุทธะ
ธัมมะ สังฆะให้เกิดขึ้นภายในจิตในใจ
เพราะเมื่อมีพุทธะ ธัมมะ
สังฆะอยู่ภายในใจแล้ว
เวลาจะพูดอะไร จะทำอะไร
จะมีผู้คอยกระซิบ
คอยเตือนว่า
การกระทำเป็นไปในทางที่ถูกต้องดีงามหรือไม่
หรือไปในทางเสื่อมเสีย
ถ้ามีพุทธะ ธัมมะ สังฆะอยู่ภายในใจแล้ว
ก็เท่ากับมีเพื่อนที่ดีนั่นเอง
มีกัลยาณมิตรคอยเตือนสติอยู่เสมอ
ไม่ให้ไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
เช่นเวลาจะทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น
ก็จะมีกัลยาณมิตรคอยเตือน
คอยห้าม
ว่าการทะเลาะวิวาทกันไม่ดี
ไม่ใช่วิสัยของมนุษย์
ไม่ใช่วิสัยของคนดีพึงกระทำ
แต่เป็นวิสัยของเดรัจฉาน
เช่นสุนัขเป็นต้น
เมื่อมีกัลยาณมิตรที่ดีอยู่ในใจคอยเตือนแล้ว
ก็จะระงับดับความอยากไปทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นได้
เพราะมีเพื่อนที่ดีอยู่ติดกับใจ
พอใจคิดอะไรไปในทางที่ไม่ดี
เพื่อนที่ดีคือพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์
ก็จะเตือนทันที
ว่ากำลังคิดไปในทางที่ไม่ดี
เมื่อยังเป็นเพียงความคิด
เวลาจะระงับก็ง่าย
แต่ถ้าปล่อยให้ระบายออกไปเป็นการกระทำแล้ว ก็ยากต่อการที่จะระงับได้
จึงขอให้เราทั้งหลาย
จงให้ความสำคัญต่อการสร้างที่พึ่งทางใจ
ที่พึ่งทางกายเรามีพอเพียงกันทุกคน
ที่มีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ได้
ก็เพราะมีที่พึ่งทางกายอย่างพอเพียงแล้ว
แต่ส่วนที่ขาดกันมากๆ
ก็คือที่พึ่งทางใจ
โลกหรือสังคมจึงวุ่นวายกัน
มีเรื่องกันอยู่อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
เดือดร้อนถึงกับต้องมีตำรวจมาคอยเป็นกรรมการ
เดือดร้อนถึงกับจะต้องมีศาลไว้ตัดสิน
ก็เพราะจิตใจของพวกเรายังขาดที่พึ่ง
ยังขาดพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์นั่นเอง ถ้ามีพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจแล้ว
รับรองได้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีตำรวจมาคอยเป็นกรรมการ
ไม่จำเป็นจะต้องมีศาลมาเป็นผู้ตัดสิน
ว่าใครถูกใครผิด
เพราะทุกคนจะรู้อยู่ในใจของตนว่าอะไรถูกอะไรผิด
และทุกคนจะปฏิบัติตามกฎตามระเบียบ
จะไม่มีการสร้างความเดือดร้อนให้กับใครทั้งสิ้นเลย
นี่แหละคือสังคมอันประเสริฐ
สังคมของนักปราชญ์เป็นอย่างนี้
ถ้าทุกคนในโลกนี้มีพระพุทธ
พระธรรม
พระสงฆ์อยู่ภายในใจแล้ว
จะอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
จะไปไหนมาไหนเวลาใด
ไปคนเดียวหรือไปหลายคน
ก็จะไม่หวาดวิตกกับภัยต่างๆ
ที่จะเกิดขึ้นจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แต่ทุกวันนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะจิตใจของคนส่วนใหญ่ ไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นกัลยาณมิตรนั่นเอง เป็นเพื่อนคอยเตือนสติ คอยสอน คอยบอก ว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงมักจะทำอะไรไปในทางที่เสื่อมเสีย สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง ให้กับสังคมมาตลอด คนจึงล้นคุก เพราะจิตใจของคนห่างเหินจากศีลธรรมความดีงาม ห่างเหินจากวัดจากวากัน คนฉลาดจึงไม่ควรมองข้ามการเข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการมาวัด จะได้ฟังเทศน์ฟังธรรม จะได้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว เมื่อรู้แล้วก็เอาสิ่งที่รู้นี้มาคอยพร่ำสอนใจอีกต่อหนึ่ง เพราะถ้าฟังเพียงครั้งเดียวแล้วไม่เอามาพร่ำสอน มาเตือนตนอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวพอออกจากวัดไป มีอะไรมากระทบทำให้เกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลงขึ้นมา สิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่วัดก็จะหายไปจากจิตใจ จะไม่สามารถระงับความโลภ ความโกรธ ความหลงที่ปรากฏขึ้นในจิตในใจได้ แต่ถ้าพยายามน้อมเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มาใคร่ครวญ มาทบทวนมาคิดอยู่เรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอแล้ว เวลาเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดความอยากจะทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ก็จะมีธรรมะไว้คอยเตือนสติ มีกัลยาณมิตรไว้คอยเตือนเราอยู่เสมอ การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้