กัณฑ์ที่
๒๑๘
พระอริยสัจ
๔
เป็นธรรมะที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพระพุทธศาสนา
เพราะถ้าไม่มีพระอริยสัจ ๔
ก็จะไม่มีพระพุทธศาสนา
จะไม่มีพระพุทธเจ้า
จะไม่มีพระอรหันต์
ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี
พระอรหันต์ก็ดี
จะต้องรู้จักพระอริยสัจ ๔
และต้องปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ
๔ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์
จึงจะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
พวกเราเป็นพุทธศาสนิกชน
มีความศรัทธา มีความเลื่อมใส
ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ในมรรคผลนิพพาน
จึงควรให้ความสนใจ
ศึกษาทำความรู้จักกับพระอริยสัจ
๔ นี้ เพราะเมื่อรู้แล้ว
จะได้ปฏิบัติตามแนวทางในพระอริยสัจ
๔
อันเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข
ความเจริญรุ่งเรือง
ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
พระอริยสัจ ๔
ประกอบด้วย ๑.
ทุกขสัจจะ ๒.
สมุทัยสัจจะ ๓.
นิโรธสัจจะ ๔.
มรรคสัจจะ
นี่คือสัจจะความจริง ๔
ประการ
ที่สัตว์โลกทั้งหลายต้องสัมผัส
สัมพันธ์ เกี่ยวข้องด้วย
เพียงแต่จะรู้จักวิธีปฏิบัติกับสัจจะนี้หรือไม่เท่านั้น
ถ้ารู้จักวิธีปฏิบัติ
ตามเยี่ยงอย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ได้ทรงปฏิบัติมา
ก็จะสามารถดำเนินชีวิตของตนไปในทางที่ดีที่งาม
ที่สุขที่เจริญ
แคล้วคลาดปลอดภัยจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
สัจจะข้อที่
๑ ทุกขสัจจะ
ได้แก่ การเกิด การแก่
การเจ็บ การตาย
การพลัดพรากจากของรักของชอบ
การประสบกับของที่ไม่ปรารถนา
โดยสรุปก็คืออุปาทานในขันธ์
๕
ความยึดมั่นถือมั่นในชีวิตจิตใจ
ว่าเป็นเรา เป็นของๆเรา
สัจจะข้อที่
๒ สมุทัยสัจจะ
แปลว่าเหตุของทุกข์
มีอะไรบ้าง ก็มีอยู่ ๓
ประการด้วยกันคือ ๑.
กามตัณหา ๒.
ภวตัณหา ๓.
วิภวตัณหา กามตัณหา
คือความอยากในกามรส
ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะทั้งหลาย
ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก
ลิ้น กาย
ให้เกิดความสุข
ความยินดีขึ้นมา
เรียกว่ากามตัณหา
ความอยากในกาม ภวตัณหา
คือความอยากมีอยากเป็น
อยากร่ำอยากรวย
อยากสวยอยากงาม
อยากมีตำแหน่งสูงๆ
เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน
เป็นนายกฯ เป็นประธานาธิบดี
เรียกว่าภวตัณหา
ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา
ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น
เช่นอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ
อยากไม่ตาย
อยากไม่พลัดพรากจากของรักของเจริญใจ
อยากไม่ประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาทั้งหลาย
เหล่านี้คือวิภวตัณหา ตัณหาทั้ง
๓ นี้
คือกามตัณหา ความอยากในกาม
ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น
และวิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น
เรียกว่าสมุทัยสัจจะ
เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา
สัจจะข้อที่
๓ นิโรธสัจจะ คือความดับของทุกข์
ก็เป็นสัจจะอย่างหนึ่ง
ทุกข์มีได้ ทุกข์ก็ดับได้
นิโรธสัจจะก็คือความจริงของความดับของทุกข์
ทุกข์นี้ดับได้ ทุกข์มีได้
ทุกข์ก็ดับได้เหมือนกัน
สัจจะข้อที่
๔ มรรคสัจจะ
คือวิธีปฏิบัติที่จะนำพาผู้ปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์
มรรคสัจจะ มีองค์ ๘ เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา
มีอะไรบ้าง ก็มี ๑.
มีความเห็นชอบ ๒.
มีความดำริชอบ ๓.
การกระทำชอบ ๔.
วาจาชอบ
๕. อาชีพชอบ ๖.
ความเพียรชอบ ๗.
สติชอบ ๘.
สมาธิชอบ
นี่คือองค์ประกอบของมรรค
ผู้ที่จะต้องการดับทุกข์ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
เข้าสู่มรรคผลนิพพาน
จะต้องเจริญมรรคทั้ง๘
ประการนี้
มรรคนี้บางครั้งก็แสดงไว้เป็น
๓ คือศีล
สมาธิ ปัญญา ศีลก็ประกอบด้วยการกระทำชอบ
วาจาชอบ
อาชีพชอบ เรียกว่าศีล สมาธิได้แก่
ความเพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ
ปัญญาประกอบด้วย
ความเห็นชอบ ความดำริชอบ
พวกเราคงเคยได้ยินได้ฟังกัน
ว่ามรรคเป็นมรรค ๘ บ้าง
เป็นศีล สมาธิ ปัญญาบ้าง เป็นทาน
ศีล ภาวนาบ้าง
ก็เป็นมรรคด้วยกันทั้งนั้น
ภาวนาก็คือสมถภาวนา
และวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาก็คือสมาธิ
วิปัสสนาภาวนาก็คือปัญญา
ส่วนทานก็เป็นการให้
เป็นการทำบุญ
เพื่อช่วยสนับสนุนให้มีศีล
มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา
ดังนั้นมรรคทั้ง
๓ รูปแบบนี้
ไม่ว่าจะเป็นมรรคที่มีองค์ ๘ ที่มีองค์
๓ คือศีล สมาธิ ปัญญา หรือทาน
ศีล ภาวนา ล้วนเป็นมรรค
เป็นวิถีทางแห่งการดำเนินเพื่อนำไปสู่การดับทุกข์ทั้งสิ้น
ในพระอริยสัจ ๔ นี้
พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้
ถึงภารกิจที่จะต้องปฏิบัติกับสัจจะทั้ง
๔ ประการนี้คือ ๑.
ทุกข์ต้องกำหนดรู้ ๒.
สมุทัยต้องละ ๓.
นิโรธต้องทำให้แจ้ง ๔.
มรรคต้องเจริญให้มาก
ถ้าได้ปฏิบัติภารกิจทั้ง
๔
ประการนี้ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว
ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์
เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้
ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้หลังจากที่ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า
ทุกข์ที่ต้องกำหนด
ตถาคตได้กำหนดแล้ว
สมุทัยที่ต้องละ
ตถาคตได้ละแล้ว
นิโรธที่ต้องทำให้แจ้ง
ตถาคตได้ทำให้แจ้งแล้ว
มรรคที่จะต้องเจริญให้ครบถ้วนบริบูรณ์
ตถาคตก็ได้เจริญจนครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว
เมื่อได้ทำภารกิจทั้ง ๔
ประการนี้ให้ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว
จิตของผู้นั้นก็จะหลุดพ้นจากอาสวะ
กิเลส ตัณหา โมหะ อวิชชา
ซึ่งเป็นตัวเหนี่ยวรั้ง
ให้จิตใจต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร
ในภพน้อย ภพใหญ่
อย่างไม่รู้จักจบ จักสิ้น
ในการปฏิบัติภารกิจในพระอริยสัจ
๔ ทั้ง ๔ ประการนี้
เวลาปฏิบัติจริงๆแล้ว
จะปฏิบัติที่มรรคสัจจะเป็นหลัก
คือมรรคต้องเจริญให้มาก
ต้องหมั่นทำบุญทำทาน
หมั่นรักษาศีล
หมั่นภาวนานั่นเอง
เพราะเมื่อทำบุญแล้ว
ก็จะมีความเมตตา มีความกรุณา
ทำให้ไม่อยากเบียดเบียนผู้อื่น
เมื่อไม่เบียดเบียนผู้อื่น
การกระทำของเราทางกาย
ทางวาจา ก็จะเป็นปกติ เป็นศีลขึ้นมา
จะเป็นศีล ๕ ก็ดี
ศีล ๘ ก็ดี ศีล
๒๒๗ ก็ดี
ก็ล้วนเป็นการกระทำที่ดีงาม
ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตนเอง
เมื่อจิตใจไม่มีความวุ่นวายกับการกระทำที่ไม่ดีไม่งามทางกาย
ทางวาจา
จิตใจก็จะเข้าสู่ความสงบ
สู่ความร่มเย็นเป็นสุข
ก็จะทำให้การบำเพ็ญสมาธิ
คือการทำจิตใจให้สงบ
เป็นไปได้อย่างง่ายดาย
กำหนดจิตให้สงบนิ่ง
จิตก็จะสงบนิ่ง
เช่นบริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวเดียวจิตก็จะรวมตัวลงเป็นสมาธิ
หลังจากที่จิตออกจากสมาธิแล้ว
ก็เป็นการเจริญปัญญาหรือวิปัสสนาต่อไป
เป็นการเข้าสู่ภารกิจในพระอริยสัจ
๔ ข้อที่ ๑ การเจริญปัญญา
ด้วยการศึกษาสัจธรรมของชีวิตนั่นเอง
สัจธรรมของชีวิตก็คือ
อริยสัจข้อแรก
ที่ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่
ต้องเจ็บ ต้องตาย
ต้องพลัดพรากจากกัน
ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา
เหล่านี้เป็นความจริงของสัตว์โลกทุกๆตัว
ทุกๆบุคคล
ที่เมื่อเกิดมาในโลกนี้แล้ว
จะต้องสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น
มันเป็นความทุกข์ถ้าไปหลงยึดติดกับสิ่งเหล่านี้
คือไปหลงยึดติดกับชีวิต
ถ้าเกิดมีความยึดติดในชีวิตแล้ว
ก็จะไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ
ไม่อยากตาย
เพราะอยากจะมีความสุข
จากการเสพกาม
อยากจะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นสมบัติของตน
อยากจะเป็นอย่างนั้น
อยากจะเป็นอย่างนี้
จึงทำให้ไม่อยากแก่
ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย
จึงเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้าได้ศึกษาพิจารณาสัจธรรมความจริงของชีวิตแล้วว่า
ไม่มีใครในโลกนี้ที่เกิดมาแล้ว
จะไม่แก่ จะไม่เจ็บ จะไม่ตาย
จะไม่พลัดพรากจากกัน
จะไม่ประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา
ถ้าได้ศึกษาวิเคราะห์อย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า
ไม่มีใครหนีสิ่งเหล่านี้พ้นไปได้
ก็ต้องทำใจ ยอมรับความจริง
ยอมรับว่าต้องแก่ ต้องเจ็บ
ต้องตาย อย่างแน่นอน
ต้องพลัดพรากจากกันอย่างแน่นอน
ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาอย่างแน่นอน
เมื่อยอมรับความจริงอันนี้แล้ว
จิตก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในชีวิต
เมื่อปล่อยวางแล้ว
ตัณหาทั้งหลายที่มีอยู่ในใจ
ก็จะถูกลด ถูกละ ถูกตัดออกไป
ความอยากในกามก็จะหายไป
ความอยากมี
อยากเป็นก็จะหายไป
ความอยากไม่มี
อยากไม่เป็นก็จะหายไป
เพราะถ้ามีความอยากเหล่านี้อยู่ในจิตใจขึ้นมาเมื่อไหร่
ความทุกข์ก็จะปรากฎขึ้นมาทันที
ไม่มีใครต้องการความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อจิตมีสมาธิ
มีความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว
และได้เจริญปัญญาแล้ว
เห็นแล้วว่าเวลาเกิดความอยากนั้น
ก็จะมีความทุกข์ผุดขึ้นมาในจิตใจทันที
ก็จะเห็นเลยว่า
ความอยากนี้เป็นโทษต่อจิตใจ
จิตใจที่มีความสงบ
คือมีสมาธิ
จะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้
แต่จิตใจที่ยังไม่มีความสงบ
จะไม่เห็นเวลาเกิดความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ
เพราะจิตใจนั้นไม่นิ่งนั่นเอง
ถ้าเปรียบเหมือนกับน้ำที่ไม่นิ่ง
เราจะไม่รู้สึกอะไร
เวลาเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ
จะไม่เห็นลูกคลื่นที่เกิดจากการโยนก้อนหินลงไปในน้ำ
แต่ถ้าน้ำมันนิ่ง
ผิวน้ำมันนิ่งไม่มีลูกคลื่นเลย
เราโยนแม้แต่ก้อนกรวดก้อนเล็กๆลงไปในน้ำ
มันก็จะกระเพื่อมขึ้นมาเป็นลูกคลื่นให้เราเห็นทันที
จิตที่ไม่สงบก็จะเป็นเหมือนกับน้ำที่ไม่นิ่ง
ซึ่งมีลูกคลื่นของมันอยู่แล้ว
ดังนั้นเวลาโยนก้อนหินลงไป
ไม่เห็นความแตกต่าง
แต่ถ้าน้ำที่นิ่ง
โยนแม้แต่ก้อนกรวดก้อนเล็กๆลงไป
ก็จะกระเพื่อมให้เห็นทันที
ฉันใดจิตของผู้ที่ไม่มีความสงบ
ไม่มีสมาธิ
ก็จะไม่รู้สึกเวลาเกิดความอยากขึ้นมา
ก็จะไม่เห็นความทุกข์
เวลาอยากมี อยากเป็น
มีแต่จะตะเกียกตะกาย
วิ่งหาสิ่งที่ตนอยากได้
เวลาอยากจะเสพกาม
ก็ต้องหาสิ่งเหล่านั้นมาเสพให้ได้
เวลาเกิดความกลัว
เกิดความไม่อยากแก่
ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย
ก็พยายามหาวิธีการต่างๆ
ไปหาหมอ ไปหายา
เพื่อดูแลไม่ให้แก่
ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย
จึงไม่เห็นความทุกข์ที่เกิดจากการดิ้นรนกวัดแกว่งของใจ
เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกทาง
เพราะแก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้
เรื่องของความแก่ ความเจ็บ
ความตาย การพลัดพรากจากกัน
การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา
เหล่านี้เป็นเหมือนเงาตามตัว
เป็นเงาของชีวิต
ชีวิตอยู่ตรงไหน
คือความทุกข์ที่เกิดจากความแก่
ความเจ็บ ความตาย
การพลัดพรากจากกัน
การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา
ก็จะติดตามตัวไป
มีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำลายเงา
คือความทุกข์นี้ได้
ก็คือต้องเจริญปัญญา
ให้เห็นว่า
ความแก่ ความเจ็บ
ความตายเป็นธรรมดา
การพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา
การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาเป็นธรรมดา
เมื่อเป็นธรรมดาก็ยอมรับได้
ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา
เหมือนกับยอมรับความมืดความสว่าง
ยอมรับกลางวันกลางคืน
ไม่รู้สึกเสียอกเสียใจ
เวลาที่กลางวันกลายเป็นกลางคืนไป
ฉันใดก็ควรยอมรับความแก่
ความเจ็บ
ความตายเช่นเดียวกัน
เมื่อยอมรับได้แล้ว
จิตใจก็จะไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว
ไม่มีความอยากต่างๆ
ที่จะไปฝืนกับความจริง
เมื่อตัดความอยากได้
คือความอยากในกาม ความอยากมี
อยากเป็น ความอยากไม่มี
อยากไม่เป็น
หมดไปจากจิตจากใจแล้ว
จิตใจก็เข้าสู่นิโรธ
คือความดับของทุกข์
เข้าสู่สัจจะข้อที่ ๓
นิโรธที่ต้องทำให้แจ้ง
ทำให้แจ้งด้วยวิธีอะไร
ด้วยการละตัณหา
ตัณหาจะละได้อย่างไร
ก็ต้องใช้ปัญญากำหนดดูทุกข์นั่นเอง
เมื่อกำหนดดูทุกข์เห็นทุกข์แล้ว
เห็นแล้วว่าเกิดจากตัณหา
ก็ละตัณหา
ไม่มีความอยากกับอะไรอีกต่อไป
เพราะอยากแล้วก็ต้องมีความทุกข์ตามมา
อยากไม่แก่ก็ต้องทุกข์
อยากไม่เจ็บก็ต้องทุกข์
อยากไม่ตายก็ต้องทุกข์
อยากจะเที่ยวแล้วไม่ได้เที่ยวก็ต้องทุกข์
ได้เที่ยวแล้วก็อยากจะไปเที่ยวอีก
มันเป็นอย่างนี้
ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อเห็นแล้วว่า
ความอยากต่างๆล้วนเป็นปัญหาทั้งนั้น
เป็นตัวสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ
ก็ละเสีย
เมื่อละแล้วก็เท่ากับทำนิโรธให้แจ้งนั่นเอง
ทำให้ความทุกข์ดับหมดสิ้นไปจากจิตจากใจ
นิโรธก็แจ้งขึ้นมาตามลำดับ
แจ้งขึ้นมาเรื่อยๆ
เหมือนกับแสงจันทร์ที่ค่อยๆสว่างขึ้นมาเรื่อยๆ
จากวันขึ้น ๑ ค่ำไป
ก็จะค่อยสว่างขึ้นไปเรื่อยๆ
จนสว่างเต็มที่ในวันขึ้น ๑๕
ค่ำ ฉันใด
การปฏิบัติกิจในพระอริยสัจทั้ง
๔ ก็จะเป็นอย่างนั้น
เมื่อเราได้บำเพ็ญเจริญมรรคไปเรื่อยๆแล้ว
ก็จะกำหนดพิจารณาทุกข์ไปเรื่อยๆ
รู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ
เมื่อรู้ทุกข์ว่าเกิดจากอะไร
ก็สามารถละเหตุของความทุกข์ได้
ก็คือตัณหา เมื่อละได้
นิโรธคือความดับทุกข์ก็ค่อยๆ
ปรากฏขึ้นมาตามกำลังของการละ
ตามกำลังของการกำหนดรู้ทุกข์
ตามกำลังแห่งการเจริญมรรคนั่นเอง
เมื่อมรรคเจริญได้เต็มที่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์
นิโรธก็จะปรากฏขึ้นมาร้อยเปอร์เซ็นต์
เป็นการจบสิ้นของทุกข์ทั้งปวง
จิตใจก็สะอาดหมดจด
บริสุทธิ์ผุดผ่อง
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา
นี่คือภารกิจในพระอริยสัจ
๔
ผู้ใดได้บำเพ็ญได้ดำเนินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนแล้ว
ย่อมจะได้รับผลอันประเสริฐเลิศโลก
เหมือนกับที่พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกได้รับ
เราจึงต้องบำเพ็ญมรรคให้มาก
เจริญมรรคให้มากทุกเวลานาที
ในขณะที่มีชีวิตอยู่
ไม่ควรปล่อยเวลาอันมีค่านี้ผ่านไป
โดยไม่ได้เจริญมรรค
เริ่มตั้งแต่ทาน คือการให้
เข้าสู่การรักษาศีล
เข้าสู่การภาวนา นั่งสมาธิ
เดินจงกรม เจริญปัญญา
สมถะและวิปัสสนาภาวนาไปเรื่อยๆ
จนกว่าชีวิตจะหาไม่
ถ้าสามารถประพฤติปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องแล้ว
ดีไม่ดีการดับทุกข์
ความสิ้นทุกข์
อาจจะเกิดขึ้นในชาตินี้ก็ได้
เพราะถ้าปฏิบัติถูกต้องตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว
จะไม่หนีพ้นไปจากผลอันนี้ไปได้เลย
ในสมัยพระพุทธกาลมีคนบรรลุมรรคผลนิพพานได้เป็นจำนวนมาก
เขาก็เป็นคนเหมือนเรา
เขาก็มีปัญหาเหมือนเรา
เหมือนๆกัน
ต่างกันตรงที่ว่าเขาเจริญมรรคมากนั่นเอง
เขาหมั่นศึกษาปฏิบัติธรรมกันอย่างต่อเนื่อง
มีครูบาอาจารย์ที่เลิศที่วิเศษคือพระพุทธเจ้า
เป็นผู้แสดงธรรมให้กับพวกเขาได้ฟังกัน
เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่ทรงรู้ถึงความสามารถของผู้ฟังว่า
สามารถที่จะรับธรรมบทไหนได้
ก็ทรงแสดงธรรมบทนั้นไป
จึงเข้าประเด็น เข้าเป้า
ถ้ายิงปืนก็ยิงเข้าเป้าเลย
ไม่ต้องยิงหลายนัด
ยิงนัดเดียวก็จะทะลุหัวใจเลย
จึงเป็นเหตุให้คนในสมัยพุทธกาลนั้น
สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก
เพราะมีพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา
มีศรัทธา ความเชื่อ
มีความขยันหมั่นเพียร
ที่จะตั้งหน้าตั้งตา
ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง
จึงทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างรวดเร็ว
บางคนฟังเทศน์เพียงครั้งเดียวก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้แล้ว
บางคนก็ฟังอีกไม่กี่ครั้งก็สามารถบรรลุได้
เราจึงต้องทำความเข้าใจว่า
การบรรลุมรรคผลนิพพานนี้
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สุดวิสัยของพวกเรา
พวกเราทุกคน
มีสิทธิที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วยกันทุกคน
และไม่ต้องรอถึงชาติหน้าภพหน้า
หรือรอให้พระศรีอารยเมตไตรยมาตรัสรู้ก่อน
แล้วจึงจะค่อยบรรลุกัน
เพราะตอนนี้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยังมีอยู่
เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า
ธรรมวินัยที่ตถาคตตรัสไว้ชอบแล้วนี้แล
จะเป็นศาสดาของพวกเธอ
หลังจากที่ตถาคตจากพวกเธอไปแล้ว
ตถาคตก็จากไปแล้ว
แต่พระบรมศาสดา
คือพระธรรมวินัยอันเลิศอันประเสริฐนี้ยังไม่ได้จากเราไป
ยังอยู่กับเรา
จึงถือว่าเราไม่ได้อยู่โดยปราศจากพระบรมศาสดา
อยู่ที่ว่าเราจะน้อมจิตน้อมใจ
เข้าหาพระบรมศาสดาหรือไม่
น้อมจิตน้อมใจเข้าสู่พระธรรมคำสอนหรือไม่เท่านั้นเอง
ถ้าเราน้อมจิตน้อมใจเข้าสู่พระธรรมคำสอน
หมั่นฟังเทศน์ฟังธรรม
หมั่นศึกษาเล่าเรียนคำสอนต่างๆ
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน
แล้วนำไปปฏิบัติกับกาย วาจา
ใจ
การบรรลุธรรมก็จะเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอน
วันนี้เราก็ได้ยินแล้วว่า
การที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้
ต้องเจริญมรรค มรรคมีองค์ ๘
หรือมีองค์ ๓ ได้แก่ ศีล สมาธิ
ปัญญา หรือทาน ศีล ภาวนา
ก็ขอให้หมั่นบำเพ็ญทาน ศีล
ภาวนา
อย่าไปเสียดายเงินทองที่เหลือกินเหลือใช้
เอามาทำทานเสียให้หมด
เมื่อทำทานแล้วจิตใจจะได้มีความอ่อนโยน
มีความเมตตา มีความกรุณา
ทำให้ไม่อยากจะเบียดเบียนผู้อื่น
ก็จะทำให้ดำรงอยู่ในศีลในธรรม
เมื่อมีความเมตตากรุณา
การกระทำทางกาย
ทางวาจาย่อมไม่ผิดศีลผิดธรรม
ย่อมไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
เมื่อจิตใจไม่มีปัญหากับการประพฤติผิดต่างๆ
ทางด้านศีลธรรมแล้ว
จิตใจก็ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว
มีความสงบร่มเย็นเป็นสุข
ทำให้การทำจิตใจให้สงบนิ่งเป็นสมาธิ
เป็นสิ่งที่ไม่ยากเลย
เป็นสิ่งที่ง่ายดายมาก
เพราะมีทานมีศีลคอยสนับสนุน
เมื่อจิตสงบแล้ว
ก็จะเห็นทั้งความสุข
เห็นความทุกข์
ที่ปรากฏขึ้นในจิตในใจ
เวลาที่ตัณหาไม่ทำงาน
จิตจะนิ่ง จิตจะมีความสุข
แต่พอตัณหาเริ่มทำงาน
ก็จะเป็นเหมือนกับไฟที่ลุกฟู่ขึ้นมา
เหมือนกับเวลาที่จุดไม้ขีด
ฉันใดลักษณะของตัณหาก็จะเป็นอย่างนั้น
ขณะที่ไม่มีตัณหาจิตก็จะเย็นจะสบาย
แต่พอเกิดความอยากขึ้นมาปั๊บ
ก็จะร้อนขึ้นมาทันที
จิตของผู้มีสมาธิจะเห็นได้ทันที
แล้วจะรู้เลยว่านี่แหละคือตัวตัณหา
ตัวปัญหา ตัวกิเลส
ตัวที่จะต้องระงับดับให้ได้
จึงพยายามละตัณหาทั้ง ๓
เพราะได้ศึกษาแล้ว
ได้เห็นแล้วว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
สักวันหนึ่งเราก็ต้องจากโลกนี้ไป
สิ่งต่างๆที่ได้มาจากตัณหาทั้ง
๓ ก็จะหมดไป
ไม่ได้มีอะไรติดไปกับจิตกับใจเลย
นอกจากมีตัณหา ความหิว
ความกระหายที่จะติดตามไปกับจิตกับใจ
ทำให้ต้องไปเกิดในอบาย
เป็นเปรต เป็นผี เป็นสัตว์นรก
เป็นสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว
ก็จะเห็นชัด
เป็นการเจริญปัญญา
เป็นการกำหนดทุกข์นั่นเอง
กำหนดรู้ทุกขสัจจะ
เมื่อรู้แล้วว่าทุกข์นี้เกิดจากสมุทัย
คือตัณหา ก็ต้องละตัณหา
ละสมุทัย
เมื่อละสมุทัยได้แล้ว นิโรธ
ความดับทุกข์
ก็ปรากฏแจ้งขึ้นมา
นี่คือแนวทางแห่งการบำเพ็ญในพระอริยสัจ
๔
ถ้าผู้ใดได้น้อมเอาพระอริยสัจ
๔ ทั้ง ๔
ประการนี้มาประพฤติปฏิบัติแล้ว
ผลที่จะตามมาก็คือการหลุดพ้นจากความทุกข์
หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
ได้เข้าถึงพระนิพพานแดนอันเกษม
แดนอันประเสริฐ
ซึ่งไม่อยู่เหนือวิสัยของพวกเราทั้งหลาย
จึงควรปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ
๔ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์
แล้วความสุขอันประเสริฐเลิศโลก
ก็จะเป็นสมบัติของเราอย่างแน่นอน
การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้