กัณฑ์ที่ ๒๒     ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

ให้แสงสว่างแก่ชีวิต

 

การได้มาทำบุญให้ทาน รักษาศีล ประพฤติปฏิบัติธรรม ได้ยินได้ฟังธรรมะนั้น ถือว่าเป็นการให้แสงสว่างแก่ชีวิตและจิตใจ  จิตใจของปุถุชนถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับห้องที่มืดทึบ เป็นห้องที่แสงสว่างภายนอกไม่สามารถเข้ามาได้ ไม่สามารถที่จะมองเห็นอะไรต่างๆที่อยู่ภายในห้องได้  แต่ถ้าจุดเทียนขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง ก็จะมีแสงสว่างพอที่จะเห็นอะไรได้สลัวๆ และถ้าจุดเทียนไว้หลายๆเล่ม สัก ๑๐ เล่ม ๒๐ เล่ม จุดให้รอบห้องก็จะสามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ภายในห้องได้อย่างชัดเจน เมื่อเห็นทุกสิ่งที่อยู่ในห้องได้อย่างชัดเจนแล้ว ก็สามารถที่จะทำอะไรได้โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียตามมา  แต่ถ้าในห้องนั้นไม่มีแสงเลย ต้องเอามือคลำสิ่งต่างๆ อาจจะทำอะไรผิดพลาดไปได้ เพราะไม่สามารถมองเห็นสิ่งของทั้งหลายที่อยู่ภายในห้องที่มืดสนิทนั้นได้

ชีวิตจิตใจเราก็เหมือนกับห้องมืดๆนั้น  ถ้าไม่มีบุญไม่มีกุศล ไม่ได้สร้างธรรมะ สร้างแสงสว่างแห่งธรรมให้ปรากฏขึ้น  จิตใจก็จะมืดบอด  แต่ถ้าได้ทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ก็เท่ากับได้จุดเทียนให้กับชีวิตจิตใจ  ถ้าทำบ่อยๆ ก็เท่ากับจุดเทียนหลายเล่มขึ้นมา  จุดขึ้นไปเรื่อยๆ ทีละเล่มๆ จิตใจก็จะสว่างไสวด้วยแสงสว่างแห่งธรรม  เมื่อมีแสงสว่างแห่งธรรมในชีวิตจิตใจแล้ว ก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างถูกต้องดีงามราบรื่น นำมาซึ่งความผาสุก ความสงบสุขและความเจริญ นั่นเป็นเพราะว่ามีความคิดที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูก รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ผิด รู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นบาปอะไรเป็นบุญ แล้วก็รู้ถึงผลของสิ่งเหล่านี้ว่า เมื่อทำสิ่งที่ดีที่งามไปแล้ว ผลที่ตามมาก็คือความผาสุกความเจริญ  แต่ถ้าทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามลงไป ทำบาปทำกรรม ก็รู้ว่าสิ่งที่จะตามมานั้นคือสิ่งที่ไม่ดี  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม จะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ชีวิตก็จะเป็นไปได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  มีความเจริญรุ่งเรืองโดยถ่ายเดียว ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเสื่อมเสียตามมา เพราะว่าได้สร้างแต่สิ่งที่ดีไว้ และได้ระงับสิ่งที่ไม่ดีไว้ ผลที่ดีก็จะตามมา ผลที่ไม่ดีก็ไม่ตามมา นี่คือลักษณะของการเพิ่มแสงสว่างให้ชีวิต ชีวิตก็จะดำเนินไปด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตคือภพชาติต่อไป ถ้ายังไม่บรรลุถึงขั้นสูงสุดแห่งธรรม ก็จะไปสู่สุคติ ไปสู่ภพภูมิที่ดีต่อไป เรียกว่าไปสว่าง

คนเราไปสว่างหรือมาสว่างนั้นก็ขึ้นอยู่กับธรรมะ ขึ้นอยู่กับบุญและกุศล ถ้าไม่ได้สะสมบุญ ไม่ได้สะสมกุศล ไม่ได้สะสมธรรมะมา ก็จะมามืด   คนที่มามืด เมื่อเกิดในโลกนี้ก็มักจะไปเกิดในที่ต่ำ เช่นเป็นสัตว์เดรัจฉาน  ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่สมประกอบ คือเป็นคนที่มีร่างกายที่พิกลพิการ ไม่ครบอาการ ๓๒  หรือเป็นคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน หรือเป็นคนโง่ไม่ฉลาด หรือเป็นคนที่ตกทุกข์ได้ยากมีแต่ความลำบากลำบนอยู่ตลอดเวลา  นี่คือลักษณะของผู้ที่ไม่มีแสงสว่างนำพามา  เมื่อตายไปก็ไปแบบคนตาบอด ต้องคลำทางไป ผิดบ้างถูกบ้าง มักจะทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ทำในสิ่งที่ผิด  เมื่อเป็นเช่นนี้ผลของความไม่ดี ผลของความผิดก็ตามมา จึงส่งผลให้ไปเกิดในสถานที่ไม่ค่อยดี แต่คนที่เคยทำบุญทำกุศล ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ได้ฟังเทศน์ได้ฟังธรรม ไม่ทำบาปทำกรรมในอดีตชาตินั้น เมื่อได้มาเกิดในโลกนี้ ก็ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ที่มีความสูงส่ง เป็นมีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม  มีอาการครบ ๓๒ บริบูรณ์ ไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน มีสติ มีปัญญา นี่ก็เป็นเพราะแสงสว่างแห่งธรรมนำพามา

พระพุทธองค์จึงได้จำแนกบุคคลที่ได้มาเกิดในโลกนี้ไว้๔จำพวกด้วยกันคือ ๑.ผู้ที่มาสว่างแล้วไปสว่าง  .ผู้ที่มาสว่างแล้วไปมืด  .ผู้ที่มามืดแล้วไปสว่าง  .ผู้มาที่มามืดแล้วไปมืด

ผู้ที่มามืดแล้วไปมืดนั้น หมายถึงผู้ที่ทำแต่บาป ไม่เคยทำบุญมาก่อนในอดีตชาติ เมื่อมาเกิดจะมีชีวิตที่แสนลำเค็ญอดๆอยากๆ ไม่สนใจศึกษาธรรมะ ไม่สนใจกับการประพฤติปฏิบัติธรรม การทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง มีความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ภายในจิตใจมีแต่ความมืดบอด ไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมนั่นเอง  คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ อยากจะได้อะไรก็หามาโดยที่ไม่คำนึงถึงศีลธรรม อยากจะโกหกก็โกหก อยากจะขโมยก็ขโมย อยากจะโกงก็โกง อยากจะประพฤติผิดประเวณีก็กระทำไป โดยคิดว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อทำไปแล้วไม่มีผลอะไรตามมา ตายไปแล้วก็สูญ ไม่ต้องไปเกิดอีก นี่คือลักษณะของความมืดบอดนำพาให้กระทำ   เมื่อทำไปแล้วผลต่างๆที่ไม่ดีก็จะตามมาเหมือนเงาตามตัว เมื่อทำไปแล้วจะเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เกิดความทุกข์ เกิดความกังวลใจ และเมื่อตายไปก็ต้องไปสู่ทุคติไปสู่อบาย  เพราะความมืดบอดเป็นเหตุ

ส่วนผู้ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ถึงแม้จะยากจนทุกข์ยากขนาดไหนก็ตาม เมื่อมีโอกาสได้พบปะกับนักปราชญ์ หรือคำสอนของนักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้า ได้ยินได้ฟังว่าการทำบุญให้ทานเป็นสิ่งที่ดี ได้ยินว่าการละเว้นจากการกระทำบาปทั้งปวงนั้นเป็นสิ่งที่ดี เมื่อเกิดศรัทธาแล้วประพฤติปฏิบัติตามคำสอน บุคคลนั้นเมื่อตายไปก็ไปสว่าง ถึงแม้จะมามืดแต่ก็ไปสว่างเพราะว่าได้สะสมแสงสว่างแห่งธรรมะในภพปัจจุบันนี้  เมื่อตายไปก็ไปดีไปสู่สุคติ นี่คือผู้ที่มามืดแล้วไปสว่าง  

ผู้ที่มาสว่างแล้วไปมืดหมายถึงผู้ที่เคยทำบุญมา ได้สะสมแสงสว่างแห่งธรรมะมาในอดีตชาติ จึงได้มาเกิดที่ดี มีกำลังทรัพย์ มีเงินมีทอง มีความฉลาด ได้ปริญญาตรี โท เอก มีร่างกายที่สมบูรณ์สุขภาพที่ดี  แต่กลับเกิดความประมาทขึ้นมา เห็นผิดเป็นชอบ กลับคิดว่าการกระทำทั้งหลายนั้นไม่มีผลตามมา คิดว่าตายแล้วสูญ เพราะไม่สามารถที่จะมองเห็นอดีตชาติ หรือภพหน้าชาติหน้าได้ ก็เลยคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มี เป็นสิ่งที่คนกุขึ้นมา สร้างขึ้นมาเพื่อจะหลอกให้ทำบุญเท่านั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ตั้งอยู่ในความประมาท ตั้งอยู่ในมิจฉาทิฐิความเห็นผิด จึงไม่สนใจในเรื่องการทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การประพฤติปฏิบัติธรรม การฟังเทศน์ฟังธรรม แต่กลับไปใช้ชีวิตแบบสำมะเลเทเมา ชอบเที่ยวเตร่เล่นการพนัน   หาเงินหาทองมาด้วยวิธีที่ไม่ชอบ เช่นโกงเขาบ้าง ไปปล้น ไปจี้ ไปฆ่าเขาบ้าง ตายไปก็ไปสู่ที่ไม่ดี ไปสู่ทุคติ ไปสู่อบาย   มีแต่ความทุกข์ ความยาก ความลำบาก บุคคลเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ที่มาสว่างแต่ไปมืด

นี่คือลักษณะของบุคคลทั้ง ๔ ประเภท ที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นคือ มีทั้งที่มาสว่างแล้วไปสว่าง ที่มามืดแต่กลับไปสว่าง ที่มาสว่างแล้วไปมืด และที่มามืดไปมืด คือมาเกิดก็แย่อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เชื่อไม่ฟังไม่สนใจในพระธรรมคำสอนของนักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้า ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ทำแต่บาปแต่กรรม ตายไปก็ไปสู่ที่ไม่ดี เหมือนกับเวลาที่มาเกิดก็เกิดในสภาพที่ไม่ดี มีแต่ความทุกข์ ความยาก ความลำบาก

บุคคลทั้ง ๔ ประเภทนี้มีอยู่ในโลกนี้ มีอยู่ในศาลาแห่งนี้  เราจะเป็นบุคคลประเภทไหน ก็ขอให้เราพิจารณาดูตัวเราเอง เอาแสงสว่างแห่งธรรมะมาส่องดูหน้าเรา ดูจิตใจของเราว่าเราสะสมแสงสว่างกัน หรือสะสมความมืดกัน  ถ้ารู้ว่าสะสมความมืดบอด ก็พยายามเลิกเสีย แล้วพยายามสะสมแสงสว่างของธรรมะให้เกิดขึ้น ชีวิตที่ได้เกิดมาในโลกนี้จะเป็นชีวิตที่ไม่เสียเปล่า ถึงแม้จะมามืดหรือมาสว่างก็ตาม ขอให้เรามีความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอนให้เราประพฤติปฏิบัติกัน คือให้หมั่นทำบุญทำทาน หมั่นรักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ ฝึกหัดนั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา เจริญปัญญาอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อตายไปจะเป็นผู้ที่ไปสว่าง เป็นชีวิตที่ไม่เสียเปล่า

เหมือนกับการรับประทานอาหาร เรารับประทานอาหารกันวันละ ๓ เวลา การให้แสงสว่างหรือการให้อาหารแก่จิตใจนั้น อย่างน้อยที่สุดอาทิตย์หนึ่งก็ควรที่จะเข้าวัดสักครั้งหนึ่ง เพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม เจริญปัญญา อยู่ที่บ้านก็พยายามประพฤติปฏิบัติตามกำลังของเรา เท่าที่เราจะสามารถทำได้ คือไหว้พระสวดมนต์ ทำสมาธิ เจริญปัญญา  จิตใจจะมีความสดชื่นเบิกบาน มีสติปัญญาที่ดี กลับจากทำงานมาบ้าน ก่อนจะนอนก็ไหว้พระสวดมนต์นั่งฝึกหัดทำจิต ทำสมาธิ ถ้ามีเทปธรรมะก็เปิดเทปธรรมะฟังก็ได้ หรือมีหนังสือธรรมะก็เปิดหนังสือธรรมะอ่าน  เมื่อได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้วถือว่ามีแสงเทียน มีแสงสว่างให้แก่ชีวิตของเรา  เราย่อมเดินไปด้วยความถูกต้อง ไม่เหมือนคนที่ขาดแสงสว่างส่องทาง ย่อมเดินไปชนสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปเหยียบสิ่งนั้นสิ่งนี้ สร้างความเจ็บปวด สร้างความทุกข์ให้กับตนเอง

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พวกเรา  จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จงเตือนตนอยู่เสมอว่า พวกเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย เมื่อตายไปแล้วดวงจิตดวงใจจะต้องไปต่อ จะไปดีหรือไปไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับแสงสว่างในจิตใจจะพาไป  ถ้ามีแสงสว่างมากก็จะพาไปที่ดีมากๆ   ถ้ามีแสงสว่างน้อยก็จะไปที่ไม่ค่อยดีหรือดีน้อย  หรือถ้าไม่มีแสงสว่างเลยมีแต่ความมืดก็พาไปในสถานที่ไม่ดีทั้งหลาย นี่เป็นอริยสัจ เป็นความจริง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงเห็น และทรงนำมาสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย ด้วยความกรุณา ด้วยความสงสาร เพราะพระพุทธองค์เคยประสบกับความทุกข์ ความยากลำบากมามากมายแสนสาหัสก่อนพวกเราทั้งหลาย เมื่อพระพุทธองค์สามารถปฏิบัตินำพาพระองค์ท่านให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้มาได้ พระองค์ก็เลยทรงนำมาสั่งสอนพวกเรา  ท่านเหมือนคนที่เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดี แล้วท่านก็กลับมาบอกพวกเราถึงทางอันนี้ว่าจะไปได้อย่างไร ถ้าเราเชื่อฟังพระพุทธเจ้า มีศรัทธา มีความเลื่อมใส แล้วน้อมนำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาประพฤติปฏิบัติ กับกาย วาจา ใจ ของเราแล้ว ชีวิตเรานั้นก็จะเป็นชีวิตที่มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีความผาสุกมีแต่ความสงบร่มเย็นอย่างแน่นอน การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้