กัณฑ์ที่ ๒๒๖ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๘
ภาวนา
การดำเนินชีวิตของพวกเราก็เหมือนกัน มีทั้งขวามีทั้งซ้าย ถ้าถนัดขวาก็ไม่ชอบซ้าย ถ้าถนัดซ้าย ก็ไม่ชอบขวา แนวทางชีวิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราดำเนิน เป็นทางที่ดี ที่สบายจริงๆไม่มีทุกข์ แต่เราไม่ถนัดกันจึงไม่ชอบ เราชอบอยู่บนกองสุขที่มีความทุกข์ห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลา คิดดูซิ เรามีไฟฟ้าใช้กันตลอดเวลา ถ้าวันไหนไฟฟ้าดับ เราก็เดือดร้อนกัน ตู้เย็นก็ไม่ทำงาน แอร์ก็ไม่ทำงาน พัดลมก็ไม่ทำงาน มีน้ำประปาใช้อยู่ตลอดเวลา ถ้าน้ำประปาไม่ไหล ก็เดือดร้อนกัน เพราะไม่เคยอยู่แบบที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่สามารถอยู่ได้ แต่ไม่เคยอยู่กัน เคยทำอะไร ก็มักจะมีความผูกพันติดพัน เคยสะดวกสบายง่ายดาย พอต้องทำอะไรที่ยาก ก็ไม่อยากจะทำ ความจริงมันไม่ยาก เพียงแต่ว่าเราไม่ถนัด ก็เลยรู้สึกว่ายาก จึงไม่อยากทำ ชีวิตของเราจึงไม่ค่อยได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่
ถ้าเราพยายามฝึกฝนอบรม ถ้าไม่ได้ทำตลอดเวลา อย่างน้อยก็ทำเป็นพักๆไปก็ยังดี มีเวลาว่างวันหยุด ๓ - ๔ วันก็ไปอยู่วัดกัน ไปวัดที่เงียบๆ มีครูบาอาจารย์ที่ดี แต่วัดของครูบาอาจารย์มักจะมีคนไปกันมาก จึงไม่ค่อยเหมาะกับนักภาวนา ผู้ที่ภาวนาจริงๆ ต้องการความสงบจริงๆ ไปวัดของลูกศิษย์ของท่านก็อาจจะได้ประโยชน์มากกว่า ตอนที่ไปอยู่วัดป่าบ้านตาดใหม่ๆ ไม่ค่อยมีใครไปกัน ส่วนใหญ่จะไปวัดครูบาอาจารย์ ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กว่าหลวงตาท่าน ที่วัดหลวงตาจึงเป็นวัดที่สงบ ไม่ค่อยมีญาติโยมไปกันเท่าไร วันเสาร์วันอาทิตย์อย่างมากก็มีรถแค่ ๒ - ๓ คันที่ไปจากอุดรเท่านั้นเอง ไปใส่บาตร ไปถวายอาหาร การฉันการทำอะไรก็รวดเร็ว กลับมาจากบิณฑบาตจัดอาหารเพียงไม่กี่นาทีก็ได้ฉันกันแล้ว แต่ตอนนี้รู้สึกว่าคนไปเยอะ กว่าจะได้ฉันกันก็เหนื่อย ฉันเสร็จแล้วต้องมาเก็บ มากวาดมาอะไรกันอีก ใช้เวลามาก เวลาก็จะไม่ค่อยมีสำหรับการภาวนา ถ้าไปวัดเล็กๆ อย่างวัดท่านอาจารย์อินทร์ ก็ยังเงียบ ยังไม่ค่อยมีญาติโยมไปกันเท่าไร ไปอยู่ที่นั่นก็จะมีเวลาภาวนาได้เยอะ ที่ไหนที่มีคนเยอะๆ ก็จะต้องมีปัญหาตามมา
ปัญหาส่วนใหญ่ก็อยู่ที่คนนี่แหละ อยู่กันเยอะๆก็อดคุยกันไม่ได้ ยิ่งคุยกันมากก็ยิ่งเสียเวลา ยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งไม่สงบ แต่ถ้าไปอยู่วัดที่ไม่ค่อยมีคน ต่างคนต่างมีที่พักของตนเอง อยู่แบบเงียบๆ อยู่ตามลำพัง โอกาสที่จะภาวนาก็มีเยอะ แต่ต้องภาวนาเป็น ต้องรู้ว่าจะต้องทำอะไร ถ้าไปนอนก่ายหน้าผาก คิดฟุ้งซ่าน ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างน้อยต้องรู้จักวิธีเจริญสติ เดินจงกรมก็ให้มีสติอยู่กับการเดิน นั่งสมาธิก็ให้มีสติอยู่กับการนั่ง อย่าปล่อยให้ใจคิดเพ่นพ่านไปตามยถากรรม ต้องคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเป็นนักโทษ อย่าปล่อยให้ไปทำอะไรตามอำเภอใจ ถ้าปล่อยให้คิดไป เดี๋ยวก็คิดถึงเพื่อนฝูง คิดถึงความสุขเดิมๆ แล้วก็จะทำให้รู้สึกว้าเหว่ เศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมา จะทำให้ทนอยู่ต่อไปไม่ได้ พอคิดถึงเพื่อน คิดถึงบ้าน คิดถึงอะไรต่างๆ ก็อยากจะกลับไป แต่ถ้าพยายามภาวนาอยู่เรื่อยๆ ไม่ปล่อยให้จิตไปคิด เดินก็พุทโธๆๆไปเรื่อยๆ นั่งก็พุทโธๆๆต่อ ภายในจิตไม่ให้มีเรื่องอะไร ให้มีแต่พุทโธๆๆอย่างเดียว ต่อไปจิตก็จะเข้าสู่ความสงบ
เมื่อสงบแล้วจิตจะไม่หิว ไม่อยากกับอะไรทั้งนั้น เพราะได้หยุดคิดนั่นเอง เมื่อหยุดแล้วในโลกนี้ก็เหมือนกับไม่มีอะไร อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี มีแค่ปัจจุบันเท่านั้นเอง ขณะที่มีความสุข ก็ไม่อยากไปหาใคร ถ้าได้เข้าถึงจุดนี้แล้ว ก็อยากจะภาวนาอย่างเดียว ไม่อยากจะอยู่ใกล้ใคร เพราะอยู่ใกล้แล้ว ก็รำคาญ ทำให้จิตต้องกระเพื่อม ต้องคิด ต้องปรุง ต้องแต่ง ต้องมีอารมณ์ตามมา แต่ถ้าอยู่ของเราคนเดียวตามป่าตามเขา อยู่กับเสียงลม อยู่กับต้นไม้ ก็จะมีแต่ความสุขความสบายกับการภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะสลับกันไป การอ่านหนังสือธรรมะทางภาคปฏิบัติของครูบาอาจารย์ เป็นเหมือนการฟังเทศน์ ได้ข้อคิด ได้อุบายต่างๆ เพราะการปฏิบัติของเรายังต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อยๆ เพราะจะมีปัญหา มีอุปสรรคต่างๆ ปรากฏขึ้นกับการภาวนา
ถ้าไม่มีแผนที่นำทาง เช่นหนังสือธรรมะหรือเทศน์ของครูบาอาจารย์ไว้ฟังอยู่เรื่อยๆ ก็จะหลงได้ เพราะสิ่งที่ปรากฏในภาวนา มีทั้งมรรคมีทั้งผล มีทั้งที่ไม่ใช่มรรคไม่ใช่ผล ถ้าไม่รู้จักแยกแยะ ก็จะหลงติดอยู่กับพวกโลกียธรรมต่างๆ ที่ไม่พาให้หลุดพ้น แต่จะพาให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด จึงต้องมีธรรมะของครูบาอาจารย์ไว้อ่าน ไว้ฟังบ้าง สลับกับการบำเพ็ญภาวนา เวลาฟังธรรมะของครูบาอาจารย์ จะเกิดกำลังจิตกำลังใจ เวลาเกิดความท้อแท้ ความเบื่อหน่าย การภาวนาไปไม่ถึงไหน พอได้ฟังเทศน์ฟังธรรมของท่าน ฟังท่านเล่าถึงปัญหาที่ท่านประสบมา และวิธีที่ท่านต่อสู้กับมันมา ก็ทำให้เกิดมีกำลังจิตกำลังใจ ที่จะปฏิบัติต่อไป จึงควรเกาะติดครูบาอาจารย์ไว้ให้ดี องค์ไหนที่เรามีความเชื่อมั่นในตัวท่าน ก็พยายามเข้าไปหาท่านอยู่เรื่อยๆ ไปฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ แล้วก็นำไปปฏิบัติ ต้องทำทั้ง ๒ อย่าง ต้องฟังด้วยและต้องปฏิบัติด้วย ถ้าฟังแล้วไม่นำไปปฏิบัติ เดี๋ยวก็ลืม ถ้านำไปปฏิบัติแล้ว ก็จะอยู่ในใจไปตลอด
ถาม ตอนเช้าๆนี้ท่านอาจารย์ลงไปฉันที่ไหนครับ
ตอบ ก็เดินลงไปที่วัดข้างล่าง แล้วก็ออกไปบิณฑบาต กลับมาก็ฉันที่ศาลาร่วมกับพระที่อยู่ข้างล่าง
ถาม ปกติแล้วถ้าอยู่ในพรรษา ท่านอาจารย์รับบาตรข้างนอกเพียงอย่าง
เดียว หรือรับอาหารในวัดที่ญาติโยมตามมาถวายด้วย
ตอบ รับหมดทั้งข้างนอกและข้างในวัด ที่นี่ไม่ได้ถือธุดงควัตรที่ไม่รับอาหารอื่นนอกจากบิณฑบาต ไม่ได้ทำมาตั้งแต่เริ่มตั้งวัด ก็เลยไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติกันมา
ถาม ราวเจ็ดโมงครึ่งใช่ไหมครับที่ท่านอาจารย์ฉัน
ตอบ ถ้าเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์วันพระ กว่าจะฉันก็ประมาณ
๒ โมงครึ่ง เพราะต้องเทศน์ก่อน
ถาม เทศน์ก่อนใช่ไหมครับ
ตอบ เทศน์ก่อนฉัน อย่างวันนี้ก็เทศน์ประมาณ ๒ โมงเช้า ไปบิณฑบาตกลับมาถึงวัดก็ประมาณโมงหนึ่ง ญาติโยมถวายอาหารใส่บาตรที่ศาลา กว่าจะเสร็จก็ประมาณ ๒ โมง แล้วก็พูดธรรมะสักครึ่งชั่วโมง ที่นี่จะเทศน์ให้ฟังก่อนฉัน เสร็จแล้วก็รับประทานอาหารพร้อมๆกับพระไปเลย อาหารที่เหลือจากพระที่จัดไว้ในศาลา พอเทศน์เสร็จแล้วพระเริ่มฉัน ญาติโยมก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไป ถ้าเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์วันพระก็จะช่วงเวลานี้ แต่ถ้าเป็นวันธรรมดาก็จะเร็วกว่านี้ เพราะไม่มีคนมา กลับจากบิณฑบาต ๗ โมง จัดอาหารเสร็จก็ประมาณ ๗ โมงครึ่งก็ฉันกันแล้ว ถ้าเป็นวันธรรมดา
ถาม ที่นี่มีพวกฆราวาสมาปฏิบัติกันไหมคะ
ตอบ มี ที่นี่มีที่พักให้มาปฏิบัติได้ แต่ไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน
พักกันตามอัธยาศัย ใครถนัดที่จะภาวนาแบบไหน ก็ทำกันไป จะให้ลงโบสถ์เช้าเย็น ไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น แล้วก็นั่งสมาธิในโบสถ์สักครึ่งชั่วโมง พร้อมๆกัน ตอนเช้าก็ประมาณตีห้า ตอนเย็นก็ประมาณ ๖ โมงเย็น หลังจากนั้นก็กลับไปที่พัก ของใครของมัน ที่พักก็จะเป็นเรือนใหญ่เป็นห้องๆเหมือนกับโรงแรม มีห้องน้ำอยู่ในตัว ให้อยู่ครั้งหนึ่งได้ไม่เกิน ๗ วัน อย่างต่ำ ๓ วัน และไม่เกิน ๗ วันต่อครั้ง ที่ให้อย่างน้อย ๓ วันเพราะกลัวพวกที่มาเที่ยวกันแล้วไม่มีที่พัก จะอาศัยวัดนอน
ถาม ที่ปฏิบัติข้างบนเขานี้ ไม่มีใช่ไหมคะ
ตอบ โดยปกติจะไม่ให้ใครขึ้นมาอยู่ นอกจากคนที่เคยบวชอยู่ที่นี่มา
ก่อน แล้วอยากจะมาขอพักสักคืนสองคืน ถ้ามีกุฏิว่างก็อยู่ได้ แต่ไม่ได้เปิดกว้างให้คนทั่วไปขึ้นมาอยู่ แล้วก็ไม่อยากจะให้มากันมาก เพราะที่มันแคบ ไม่กว้างนัก ถ้ามาอยากจะให้มาเดี่ยวๆมากกว่า มาคนเดียว ถ้ามา ๒ คนก็มักจะจับคู่กัน การภาวนาต้องเน้นความวิเวก ไม่จับกลุ่มกันได้ก็จะดี ถ้าจับกลุ่มกันแล้ว ก็อดที่จะคุยกันไม่ได้ เวลามาคนเดียว รู้สึกว่าโล่งไปหมด ไม่ต้องกังวลห่วงกัน ถ้ามา ๒ คนก็ต้องห่วงหน้าห่วงหลังกัน มาคนเดียวก็เข้าประจำที่ภาวนาได้เลย ข้างบนเขานี้แม้แต่พระบวชใหม่ ก็ไม่ได้ให้ขึ้นมาทันที พระบวชใหม่ยังไม่รู้จักการภาวนา ถ้าปล่อยให้ขึ้นมาเดี๋ยวก็มาสร้างความวุ่นวายให้กับพระรูปอื่น เพราะจะไม่ภาวนานั่นเองจะไปรบกวนพระกุฏินั้นกุฏินี้ ไปคุยกับเขา ไปทำอะไรต่างๆ ก็เลยต้องให้อยู่ข้างล่างไปสักพักก่อน ดูสภาพจิตใจว่า รักความสงบหรือไม่ ชอบภาวนาหรือไม่ ถ้าไม่ชอบความสงบ ก็ไม่ให้ขึ้นมา ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ส่วนใหญ่เวลาบวชใหม่ๆ จะอยากออกปฏิบัติเลย ไม่อยากจะร่ำ อยากจะเรียน อยากจะธุดงค์เลย โดยที่ตัวเองยังไม่มีพื้นฐาน จิตใจยังไม่มีความสงบ ยังไม่รู้จักภาวนา ไปอยู่ในป่าก็ไม่ได้ภาวนา เดี๋ยวก็ไปทำโน่นทำนี่ในป่า นี่ก็พยายามรักษาความสงบสงัดของสถานที่ไว้เท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้วสำหรับคนที่ปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น ไม่จำเป็นต้องมีที่วิเวกขนาดนี้ก็ได้ ขอให้มีที่เป็นสัดเป็นส่วนของเรา แล้วไม่มีใครมารบกวน มีห้องพอที่จะนั่งได้ ทำจิตให้สงบได้ ก็พอถูไถไปได้ แต่ถ้าต้องการที่สงบจริงๆ ก็มีวัดอยู่หลายแห่งที่ๆมีสถานที่ๆเราสามารถไปได้ ต้องแสวงหากันเอาเอง ทุกๆคนเมื่อถึงเวลา ก็ต้องหาสถานที่ หาครูหาอาจารย์กัน
สมัยที่อาตมาปฏิบัติใหม่ๆ ก็ปฏิบัติอยู่ที่บ้านก่อน พอดีมีห้องแถวอยู่ห้องหนึ่งไม่มีใครอยู่ อยู่คนเดียว ฝึกภาวนาอยู่ประมาณปีหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้อยู่ที่นั่นตลอดทั้งปี บางช่วงก็ไปที่อื่นบ้าง ไปนอนที่เกาะบ้าง ไปพักที่อื่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่บ้านคนเดียว ฝึกนั่งสมาธิ เดินจงกรมในบ้าน อ่านหนังสือธรรมะ พยายามควบคุมจิตใจ ที่อยากจะออกไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ พยายามไม่ทำตามใจ เพราะรู้ว่าเวลาออกไปเที่ยวก็สนุกดี แต่พอกลับมาแล้วก็เศร้าสร้อยหงอยเหงา สู้พยายามฝืนดีกว่า พยายามบังคับจิตใจให้ต่อสู้กับความเศร้าสร้อยหงอย เหงาที่มีอยู่ในตัว เรารู้ว่าเป็นกิเลส รู้ว่าเป็นอารมณ์ รู้ว่าจิตไปคิดไปสร้างมันขึ้นมา ถ้าเราพยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสักพักอารมณ์เหล่านั้นก็จะหายไปเอง นี่เป็นวิธีแก้ที่ถูก
เวลาเกิดความเศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมา ก็อย่าไปแก้ด้วยการออกไปเที่ยว จริงอยู่เวลาออกไปเที่ยว ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาก็หายไป แต่พอกลับมาอยู่บ้าน เดี๋ยวก็กลับมาอีก จึงมีคำพังเพยที่ว่า เวลาออกจากบ้านเหมือนไก่บิน เวลากลับมาเหมือนห่ากิน กลับมาก็คอพับ รู้ว่าต้องอยู่บ้าน ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาก็กลับมาเหมือนเดิม ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข แต่ถ้าแก้ความเศร้าสร้อยหงอยเหงานี้ ด้วยการไม่ออกไปเที่ยวนอกบ้าน จะเศร้าอย่างไรก็จะสู้กับมัน รู้ว่าเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึก ที่ไม่เป็นอย่างนี้ไปตลอด ถ้ามีธรรมะเป็นเครื่องแก้แล้ว จะแก้ถูกทาง เพราะเมื่อได้ภาวนา ได้นั่งสมาธิแล้ว เดี๋ยวอารมณ์ความรู้สึกนี้ก็จะหายไปเอง
นี่เราถึงรู้คุณค่าของการบำเพ็ญว่าเป็นอย่างนี้ เพราะถ้าไม่ปฏิบัติ ปล่อยจิตให้เคลิ้มคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เดี๋ยวก็อยากจะออกไปแล้ว พอไม่ได้ออกก็หงุดหงิดใจ เศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมา ถ้าพอได้สติต้องรีบกลับมานั่งสมาธิเลย พอมีความเศร้าสร้อยหงอยเหงาทีไรก็นั่งสมาธิไปๆ พอจิตสงบมันก็หายไปๆ เมื่อนั่งอยู่เรื่อยๆก็กลายเป็นนิสัยไปเลย เรามียาแก้แล้วและเป็นยาที่ถูก เมื่อก่อนแก้ผิด เวลาเบื่อมีความทุกข์ใจ ก็ออกไปช้อปปิ้งกัน ไปท่องเที่ยวกัน เพื่อทำลายความรู้สึกที่ไม่ดี แต่พอกลับมาอยู่บ้าน ก็เหมือนเดิมอีก ความทุกข์ก็กลับมาอีก ถ้าแก้ด้วยธรรมะ มีความทุกข์ก็นั่งสมาธิไป เดินจงกรมไป ไม่ไปคิดถึงเรื่องที่อยากจะออกไปเที่ยว พยายามต่อสู้กับมัน พอจิตสงบมันก็หายไป เราก็อยู่บ้านได้ พอสงบเราก็สบาย และพอเป็นขึ้นมาอีก เราก็ทำอีก ถ้าเราทำอย่างต่อเนื่อง มันก็จะไม่มีโอกาสโผล่ออกมาได้อีกเลย
ถ้าปฏิบัติแบบทำแล้วก็หยุด หยุดแล้วก็ทำ จะมีช่องให้เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาได้ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะไม่มีช่องให้ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น แต่ก็ขึ้นกับจังหวะชีวิตของตนเองด้วย สำหรับอาตมาตอนนั้นไม่มีอะไรทำ จบมางานก็ไม่มีทำ พอมีงานก็ไม่ใช่เป็นงานที่อาตมาให้ความสำคัญ ทำไปเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้นเอง อาตมาจบวิศวะฯมา แต่ทำงานเป็นผู้จัดการร้านขายไอศครีม แปลกไหม เพราะช่วงนั้นไม่อยากทำงานวิศวะฯ ขี้เกียจคำนวณ ช่วงนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี อยากจะหาอะไรทำที่สบายใจ แม้จะไม่ทำให้ร่ำให้รวยก็ไม่เป็นไร ขอให้สบายใจก็แล้วกัน อยากจะได้อย่างนั้น มากกว่าไปทำงานที่ได้เงินทองเยอะแยะ แต่ต้องไปปวดศีรษะ ไปเครียดกับงาน ไม่อยากจะไปทางนั้น อยากจะอยู่แบบง่ายๆ ไม่ต้องมีเงินมาก ไม่ต้องใช้เงินมาก แต่สบายใจ ไม่มีความกดดัน
ถ้ามีเงินมากก็จะใช้มาก ซื้อบ้านราคาแพงๆ ซื้อรถราคาแพงๆ กินอาหารราคาแพงๆ แต่ต้องหาเงินมามากๆเพื่อใช้จ่ายกับการอยู่แบบนั้น สู้อยู่แบบง่ายๆดีกว่า กินก๋วยเตี๋ยววันละชามสองชามก็อยู่ได้แล้ว มันสบายกว่า ถ้าใช้น้อยก็ไม่จำเป็นต้องหามามาก ก็เลยพยายามอยู่แบบถูกๆ มีเงินวันละ ๒๐ บาทก็อยู่ได้แล้ว พอดีมีงานอยู่ใกล้ๆบ้านก็เลยทำไป ช่วงนั้นยังไม่ได้ศึกษาธรรมะ แต่พอทำได้สักเดือน ๒ เดือน ก็ได้หนังสือธรรมะมาอ่าน ก็เลยเริ่มศึกษา เริ่มสนใจ เริ่มฝึกนั่งสมาธิดู เอ๊ะ!นั่งแล้วก็สบายใจดี เอ๊ะ!ถูกทางแล้วนี่ อาตมาอยากจะหาความสบายใจ ไม่ได้อยากจะหาอะไรในโลกนี้ เพราะเห็นคนที่มีสมบัติเงินทองข้าวของ มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ปัญหาทั้งนั้น เราไม่อยากจะมีปัญหากับใครทั้งสิ้น อยากจะมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของเราเอง มีความสุขตามอัตภาพของเรา ก็เลยฝึกนั่งทำสมาธิ ก็รู้สึกว่าดี น่าจะเป็นทางที่จะไป ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วก็ตั้งเป้าไว้ว่า จะลองปฏิบัติดูสักปีหนึ่ง ดูว่าจะไปถึงไหน
คือจะปฏิบัติแบบที่ได้อ่านจากหนังสือ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ตั้งสติ ถือศีล ๘ รับประทานอาหารวันละมื้อ อยู่คนเดียว ภาวนาอย่างเดียว กับอ่านหนังสือธรรมะเป็นหลัก แต่ใจก็ยังอยากจะออกไปเที่ยวอยู่ เวลาเพื่อนมาชวนไปเที่ยว ก็ปฏิเสธเขาไป แต่ในใจนี่ร้อง โอย! รู้สึกเสียดาย แต่ก็รู้ว่าเวลาออกไปเที่ยวทีไร จะเป็นการเดินถอยหลัง เวลากลับมาภาวนา เหมือนกลับมาเริ่มต้นใหม่ จิตเหมือนกับว่าเสื่อมลงไป ถ้าได้ภาวนาอย่างต่อเนื่อง มันจะง่ายกว่าการไปเที่ยวกลับมาแล้วมาเริ่มต้นใหม่ เหมือนกับลงจากชั้น ๒ มาอยู่ชั้น ๑ ต้องเดินขึ้นมาชั้น ๒ ใหม่ ก็เลยพยายามต่อสู้กับความรู้สึกที่อยากจะออกไป ด้วยการภาวนา ทำมาได้ประมาณ ๑ ปี ก็เลยคิดว่าอยู่อย่างนี้ได้ ก็น่าจะบวชได้นะ เพราะชีวิตพระที่ได้ศึกษาดูก็เป็นแบบนี้ การปฏิบัติของพระก็ไม่มีอะไรยากเย็น ก็แค่บิณฑบาตปฏิบัติธรรมเท่านั้นเอง ก็เลยคิดว่าจะบวช แต่ต้องหาวัดที่มีการปฏิบัติ
ส่วนใหญ่วัดแถวบ้านจะเป็นวัดแบบที่เราเห็นๆกัน มีเมรุ มีงานศพ มีงานบวช มีงานกุศลอะไรต่างๆ ก็กลัวว่าถ้าไปอยู่วัดอย่างนั้นจะไม่ได้ภาวนา โชคดีได้ไปคุยกับพระที่อยู่ใกล้บ้าน ท่านก็แนะนำว่ามีพระปฏิบัติอยู่ทางภาคอีสาน แนะนำให้ไปบวชกับสมเด็จพระญาณสังวรที่วัดบวรฯ อาตมาก็เลยไปบวชที่วัดบวรฯ ได้รู้จักกับพระฝรั่งที่ไปวัดป่าบ้านตาด ท่านบอกว่าถ้าอยากจะไปบ้านตาดก็ให้เขียนจดหมายไปขออนุญาตกับท่านปัญญา แล้วท่านปัญญาจะไปขออนุญาตกับหลวงตาอีกทีหนึ่ง ก็เลยเขียนจดหมายไปหาท่านปัญญา ท่านปัญญาก็ขออนุญาตหลวงตา ท่านก็อนุญาตให้ขึ้นไปได้ แต่ท่านก็ไม่ได้รับให้อยู่เลย ท่านบอกว่าไปได้ แต่ไปอยู่ชั่วคราว
จังหวะของชีวิตมันก็พาไป ตอนนั้นไม่มีภาระทางด้านอื่น ก็เลยสะดวก พอเจอธรรมะ พอได้นั่งปฏิบัติก็ติดใจ มันก็ไปตามเรื่องของมัน ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะมีปัญหา จะต้องทิ้งใครไป ตอนนั้นก็ยังโสด ไม่มีภาระอะไรกับใคร พ่อแม่ก็ไม่เดือดร้อนอะไร ไปโดยไม่ได้วางแผนมาก่อน ชีวิตก็ไปตามขั้นของมัน แล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะบวชนานเท่าไร เป็นคนที่ไม่ยึดติดกับอะไรมากจนเกินไป ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องให้ได้อย่างนั้น จะต้องให้ได้อย่างนี้ ทำไปก็แล้วกัน จะได้มากน้อยเพียงไรก็ประเมินผลไปเรื่อยๆ แล้วก็พิจารณาดูว่าควรจะทำอย่างไร ควรจะแก้ไขอย่างไรต่อไป ถ้าไปทางนี้จะมีอุปสรรคอะไรบ้าง จะต้องทำอย่างไรบ้าง ก็แก้ไขไป ศึกษาไป ตอนไปอยู่บ้านตาดก็ไม่คิดว่าจะได้อยู่หรือไม่ จะอยู่นานไม่นานก็ไม่ได้คิด เพียงแต่ขอให้ได้ไปก็แล้วกัน ตอนนั้นอยากจะได้ที่ภาวนาเท่านั้นเอง อยากจะได้ที่สงบ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามีครูบาอาจารย์ระดับไหนอยู่ในประเทศไทย เพราะไม่เคยอ่านหนังสือของทางสายปฏิบัติ หนังสือที่ได้อ่านส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่คัดมาจากพระไตรปิฏก ก็เลยจะรู้แต่เรื่องพระในอดีต แต่พระในปัจจุบันจะไม่รู้ แต่ตอนนั้นรู้แล้วว่าจิตของเราต้องการสถานที่ที่สงบสงัด สถานที่ที่สามารถบำเพ็ญภาวนาได้
คือตอนนั้นจะอยู่เป็นฆราวาสต่อไปไม่ได้แล้วเพราะเงินหมด เงินที่เก็บมาจากการทำงานมันหมดแล้ว ถ้าจะอยู่แบบฆราวาสก็ต้องไปหางานทำอีก ถ้าไปหางานมันก็ไม่มีเวลาภาวนาใช่ไหม วันหนึ่งไปทำงานก็ ๘ ชั่วโมงแล้ว กลับมาบ้านก็เหนื่อย ไม่มีทางที่จะภาวนาได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าไม่ได้ทำงานมันภาวนาได้ทั้งวันจนถึงเวลานอนเลย ก็เลยบวชดีกว่า บวชแล้วมีโอกาสได้ภาวนาจริงๆ แต่ต้องหาสถานที่ภาวนา อย่าไปเจอวัดที่ต้องทำงานอย่างอื่นเลย ขอแค่นี้ อย่าไปเจอวัดที่ต้องสวด ไปสอนไปสั่งไปทำอะไรที่ไม่ใช่เรื่องภาวนาเลย เพราะเท่าที่ได้ศึกษาในพระไตรปิฏก ก็ไม่เห็นมีงานอย่างที่ทำกันในสมัยปัจจุบันนี้หรอก ในสมัยพุทธกาลพอออกบวชแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ไปอยู่ตามป่าตามเขา ไปภาวนากัน แต่สมัยนี้บวชแล้วต้องไปทำโน่นทำนี่ ไปสวดศพ ไปงานบุญ ไปงานอะไรเต็มไปหมด ซึ่งไม่ใช่เป็นงานของพระเลย
เพราะเหตุนี้เองจึงต้องหาวัดที่มีแต่การปฏิบัติ ก็โชคดีไปวัดแรกก็เจอเลย วัดที่มีการปฏิบัติล้วนๆ มีความเข้มงวดกวดขันมาก มีความเข้มข้น ช่วยเราได้มาก เมื่อก่อนก็คิดว่าเข้มแล้ว แต่พอมาเปรียบเทียบกับท่านแล้ว ของเราไม่เข้มข้นเลย เมื่อก่อนกินข้าวมื้อเดียวก็คิดว่าเก่งแล้วนะ ตอนก่อนบวชนี่ก็คิดว่าเก่งแล้ว พอไปอยู่วัดป่าบ้านตาดใหม่ๆ เอ๊ะ!ทำไมพระที่นั่งข้างๆหายไปทีละ ๒ - ๓ วัน ถามว่าไปไหนกันนี่ กลับบ้านหรือ เปล่าท่านอดอาหาร พอเห็นเขาอดอาหารได้ ก็เกิดมุมานะอยากจะลองอดดูบ้าง ก็ลองอดไปกับเขาดู ก็ได้ผลดี ช่วยการภาวนาได้มาก เพราะเวลาอดอาหารแล้วจะมีความหิว เวลาหิวก็ต้องอาศัยการภาวนาช่วยดับความหิว เพราะความหิวส่วนหนึ่งเกิดจากสังขารความคิดปรุงแต่งของจิต ชอบคิดถึงเรื่องอาหาร พอคิดถึงเรื่องอาหารน้ำลายก็ไหลเลย หิวขึ้นมาเลย หิวทางจิต ร่างกายไม่หิว แต่จิตหิว ที่ทรมานนั้น มันทรมานทางจิต
เวลาเกิดความหิวก็ต้องรีบนั่งภาวนาเลย พอจิตสงบความหิวก็หายไป เลยรู้ว่าความหิวมีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน คือความหิวทางร่างกายส่วนหนึ่ง กับความหิวทางด้านจิตใจ ความหิวทางร่างกายไม่รุนแรงเหมือนกับทางด้านจิตใจ เพราะเวลาที่ไม่ได้ภาวนา จิตปรุงแต่งเรื่องอาหาร มันทรมานมาก หิวมาก แต่พอได้ภาวนาจนจิตสงบ ความทรมานก็หายไป มีแต่ความรู้สึกว่างๆ ท้องว่างๆ รู้สึกอ่อนเพลียบ้างในร่างกายเท่านั้นเอง แต่ไม่ทรมานเหมือนกับความหิวทางด้านจิตใจ การอดอาหารก็เป็นอุบายทำให้ต้องภาวนาอยู่ตลอดเวลา ถ้าปล่อยไว้เดี๋ยวก็ปรุงแต่งเรื่องอาหารขึ้นมา การอดอาหารจึงมีประโยชน์หลายประการด้วยกัน เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่ได้อดอาหาร ตอนเย็นๆจะรู้สึกว่าหิว จิตจะปรุงแต่งเรื่องอาหาร พออดอาหารไปได้สักพักหนึ่ง จิตก็หยุดปรุงแต่ง เพราะว่าเวลาที่ไม่ได้กินครั้งละ ๓ - ๔ วันก็ยังอยู่ได้เลย นี่ไม่ได้กินมื้อเย็นเพียงมื้อเดียวจะเดือดร้อนกับอะไร การรับประทานอาหารก็กลายเป็นเรื่องง่ายไป เวลาไม่ได้ฉันอาหารสัก ๓ - ๔ วันนี้อะไรก็อร่อยไปหมด ข้าวเปล่าๆก็อร่อย ทำให้กินอาหารได้ง่ายขึ้นเยอะ เวลาภาวนาก็ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่ขี้เกียจ ต่างกับเวลาที่ฉันตามปกติ พอฉันเสร็จแล้วจะอิ่มหนำสำราญใจ ทีนี้จะไม่อยากภาวนาแล้ว อยากจะหาหมอนนอนเสียมากกว่า
ถ้าการอดอาหารถูกกับจริตของเราก็จะช่วยการภาวนาได้มาก บำเพ็ญไปอดอาหารไปจะช่วยให้ขยันในการภาวนา เพราะจะต้องต่อสู้กับความทุกข์ ที่เกิดจากการปรุงแต่งของจิตเกี่ยวกับเรื่องอาหาร เมื่อคิดแล้วก็จะหิว เมื่อหิวแล้วก็ทรมานใจ ก็ต้องบังคับให้ภาวนา เมื่อภาวนาแล้วจิตก็สงบ พอทำบ่อยๆเข้า ต่อไปก็ชำนาญในเรื่องภาวนา ต่อไปก็สามารถภาวนาได้โดยไม่ต้องมีอะไรมาบังคับ มีเวลาว่างก็นั่งภาวนา เมื่อจิตเริ่มมีความสงบมากๆแล้ว ทีนี้ก็จะเริ่มออกทางด้านปัญญา พิจารณาดูร่างกายของเรา ดูอะไรต่างๆ ที่ทำให้เราทุกข์ ก็ต้องพยายามแก้ไข พิจารณาไปๆก็เห็นว่าความหลงทำให้ไปมีความผูกพันกับสิ่งต่างๆ เมื่อมีความผูกพันแล้วก็ต้องมีความทุกข์ เพราะสิ่งต่างๆนั้น ไม่เป็นไปตามความต้องการของเราเสมอไป ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง
แต่เรามักอยากจะให้อยู่ตามสภาพเดิม อันไหนดีก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้นไปตลอด แต่ก็เป็นไปไม่ได้ ร่างกายก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังเปลี่ยนอยู่ แล้วก็จะเปลี่ยนต่อไปจนกว่าจะถึงจุดจบ ถ้าพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะคลายความผูกพัน ยอมรับความจริง ใจก็จะสบาย แยกออกจากกายได้ รู้ว่ากายไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่กาย เพียงแต่ไปหลงคิดว่าเป็นเท่านั้นเอง เป็นเราเป็นของๆเรา แท้จริงแล้วก็เป็นของธรรมชาติ เหมือนต้นไม้ใบหญ้า ร่างกายนี้เป็นเหมือนกับต้นไม้ใบหญ้า ถ้าไปรักไปชอบ แล้ว พอเกิดเป็นอะไรขึ้นมา ก็จะเสียใจ เพราะอะไร เพราะมีความผูกพันกับเขา ถ้าไม่มี เวลามีอะไรเกิดขึ้น ก็จะไม่รู้สึกอะไร ปัญหาอยู่ที่ความผูกพันเท่านั้นเอง ต้องยอมรับความจริงว่า มีความผูกพันกับอะไรไม่ได้ในโลกนี้ พอมีแล้วก็ต้องทุกข์ทันที
ถาม ในส่วนที่เป็นพ่อแม่ละเจ้าคะ
ตอบ นั่นแหละเพราะเราไม่เห็นว่าลูกของเรา ไม่ใช่ลูกของเรา เราเห็น
ว่าเป็นลูกของเรา ก็เลยมีความผูกพันขึ้นมา ถ้าเห็นว่าเป็นเหมือน
แค่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ก็จะไม่มีความผูกพัน
ถาม มันก็ยาก ความรับผิดชอบกับความเมตตา ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายตรงนี้
ตอบ จะว่าเป็นความเมตตาก็ไม่ใช่หรอก เราเรียกว่าความเมตตา ความจริงเป็นความหลงมากกว่า ทำไมเด็กอื่นเราไม่เมตตาล่ะ ทำไมต้องมาเมตตาเฉพาะเด็กคนนี้ล่ะ เด็กอื่นมีตั้งเยอะแยะเต็มไปหมด ใช่ไหม ถ้าความเมตตาที่แท้จริงมันต้องเสมอภาค ต้องไม่มีฝักไม่มีฝ่าย ถึงจะเรียกว่าเป็นความเมตตา อย่างนี้เรียกว่าเป็นความหลง เป็นความรัก เป็นความรักที่เกิดจากอุปาทาน ความยึดมั่นว่าเป็นสมบัติของเรา ถ้าไม่เป็นสมบัติของเรา เช่นลูกของชาวบ้านเขา จะเป็นอย่างไร ไม่เห็นร้องห่มร้องไห้ไปกับเขา แต่ถ้าลูกของเราเกิดไปติดยาเสพติดขึ้นมา เราก็เดือดร้อนวุ่นวาย แต่ถ้าลูกชาวบ้านไปติดคุกติดตะราง เราไม่เดือดร้อน ลูกของคนอื่นเราไม่เดือดร้อน เพราะเราไม่ได้ถือว่าเป็นลูกเรา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา แต่คนนี้ออกจากท้องเรา เราก็เลยมีความผูกพันกับเขา ความจริงส่วนที่มีความผูกพันกับเรา ก็เป็นแต่เพียงร่างกายเท่านั้น แต่จิตใจนี้ เป็นใครมาจากไหน เราก็ไม่รู้ ดวงวิญญาณเข้ามาครอบครองร่างกายนี้ ตอนที่อยู่ในท้องของเรา ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน อาจจะเคยเป็นศัตรูกันมาในอดีตก็ได้ เป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราก็ได้ จึงต้องมาทุกข์กับเขา
ถาม ในส่วนของความรับผิดชอบ ท่านอาจารย์ก็ให้อย่างเต็มที่ใช่ไหมคะ
ตอบ ก็เลี้ยงเขาไปตามความสามารถของเรา ให้อาหารเขารับประทาน ส่งเขาเรียนหนังสือ สอนให้เขารู้จักบาปบุญคุณโทษ ก็ทำไป เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ถ้าเขาจะไปติดยา ไปกินเหล้าเมายา ก็เรื่องของเขาแล้ว เราไปทุกข์กับเขาทำไม เราไปห้ามเขาได้ที่ไหน ก็ห้ามไม่ได้อยู่ดี เหมือนกับได้แอบเปิ้ลมา แต่อยากจะให้แอบเปิ้ลเป็นส้ม เป็นไปได้ไหม เป็นไปไม่ได้หรอก จะร้องห่มร้องไห้อย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้ แอบเปิ้ลย่อมเป็นแอบเปิ้ลอยู่นั่นแหละ คนเราก็เหมือนกับผลไม้ แต่ละคนมีจริตนิสัยไม่เหมือนกัน บางคนก็เหมือนกับส้มบางคนก็เป็นเหมือนมะนาว บางคนก็เป็นเหมือนกล้วย เขาเป็นของเขาอย่างนี้ ตามบุญตามกรรม ดังบทสวดที่ว่า เรามีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ ก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
ลูกของเราเขาก็ทำบุญทำกรรมของเขามา เวลาเขามาเกิด เขาก็อาศัยท้องเราเกิดเท่านั้นเอง แต่ใจของเขามีกรรมเป็นพ่อแม่ มีกรรมเป็นของเขา ถ้าเป็นคนดี เขาก็เป็นคนดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสั่งสอน เขาก็ดี อย่างพระพุทธเจ้านี่ ไม่ต้องมีใครไปสั่งไปสอน ท่านก็ดีของท่าน มีแต่จะพยายามไม่ให้ดีเสียอีก พระราชบิดาไม่อยากให้ท่านออกบวช แต่ท่านก็ออกบวช เพราะบุญที่ท่านสร้างมามีพลังมาก ไม่มีใครจะต้านบุญได้ เช่นเดียวกับกรรม ถ้าสร้างกรรมมาอย่างพระเทวทัต เห็นไหมสร้างกรรมไว้มาก ถึงแม้ได้บวช ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า ก็ยังต้องมาก่อเวรก่อกรรมกับพระพุทธเจ้าอีก นี่เป็นเรื่องของบุญของกรรมที่มีติดตัวมา เราทำได้ก็เพียงแต่ดูแลเลี้ยงดูเขา ตอนที่เขายังช่วยตัวเองไม่ได้ อย่างตอนที่ยังเป็นเด็กอยู่ ก็ต้องเลี้ยงดูเขาด้วยปัจจัย ๔ เมื่อโตขึ้นก็ส่งเรียนหนังสือ สอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ เท่าที่จะสอนได้ ก็เท่านั้น เขาจะรับได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ตัวเขา
อย่างพ่อของอาตมาก็ไม่อยากจะให้บวช แต่ก็ได้มาบวชใช่ไหม มันเป็นเรื่องของบุญของกรรมของแต่ละคน พ่อแม่บางคนก็เสียใจที่ลูกบวช พ่อแม่บางคนก็ดีใจที่ลูกบวช มันก็อยู่ที่จิตใจของพ่อแม่ ว่ามีบุญมีกรรมมากน้อยเพียงไร ถ้าพ่อแม่มีบุญมากเข้าใจถึงเรื่องบุญ เวลาเห็นใครบวชก็ดีอกดีใจ พ่อแม่ที่ไม่มีบุญก็ไม่เข้าใจเรื่องบุญหรอก พอลูกของตนเองไปบวช ก็เกิดความเสียใจขึ้นมา ทำไมลูกเราไม่เอาดีทางโลก ก็คิดไปต่างๆนานา นี่เป็นเรื่องของบุญของกรรมของแต่ละคน โดยหลักแล้วก็คือ อย่าไปยึดอย่าไปติด ต้องทำความเข้าใจว่า เราทุกคนมีชีวิตเป็นของเรา มีทางเดินของเรา ถ้าต้องเกี่ยวข้องกับใคร ก็ให้ใช้ความเมตตา แบบที่ไม่มีความผูกพัน คือช่วยเหลือกันไปตามอัตภาพ เช่นลูกของเรา ก็เลี้ยงดูเขาไป เสร็จแล้วเขาจะไปทางไหน ก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าไปอยากให้เขาบวช เขาไม่บวช เราก็จะเสียอกเสียใจ ถ้ายอมรับว่า ถ้าเขาไม่อยากบวช ก็เป็นเรื่องของเขา เราก็ได้ให้โอกาสเขาแล้ว เมื่อเขาไม่ต้องการ ก็ช่วยไม่ได้
เหมือนกับให้เงินเขาก้อนหนึ่ง เขาไม่เอา เราจะไปเสียใจทำไม ใช่ไหม ในเมื่อเขาไม่อยากจะได้เงิน ก็เรื่องของเขา เขาอยากจะไปทางไหน ก็เป็นเรื่องของเขา การปล่อยให้เขาไปตามทางของเขา ก็เป็นความเมตตาอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ ดีกว่าการดึงให้เขาไปตามทางที่เราต้องการให้เขาไป อันนี้กลับไม่ใช่เป็นความเมตตา แต่จะกลายเป็นความเกลียดชังกันขึ้นมา เราไปบังคับเขา เขาก็ไม่ชอบขึ้นมา ก็อาจจะทะเลาะกัน โกรธชังกัน เกลียดชังกัน เราต้องรู้ว่า เราเป็นเหมือนกับคนพายเรือเท่านั้นแหละ เหมือนครูบาอาจารย์สอนเด็ก พาให้เด็กข้ามฟากไปเท่านั้นเอง เด็กจะกระโดดลงจากเรือไปกลางทางก็ช่วยไม่ได้ เรามีหน้าที่เลี้ยงดูให้ลูกได้รู้จักผิดถูกดีชั่ว ให้เขาพึ่งตัวของเขาเองได้ ก็หมดหน้าที่ของเราแล้ว ถ้าจะเลือกไปทางดี ก็เป็นบุญของเขา ถ้าจะไปทางไม่ดี ก็เป็นกรรมของเขา ไม่มีใครบังคับจิตใจของใครได้ ในที่สุดเราก็ต้องตายจากเขาไป เวลาเราตายไปแล้ว ใครจะมาบังคับเขาล่ะ เขาก็ต้องไปตามทางของเขาอยู่ดี
ถาม ท่านอาจารย์ขอออกบวช โยมพ่อโยมแม่ท่านห้ามไหมคะ
ตอบ โยมแม่เขาก็อนุโมทนา แต่โยมพ่อไม่เห็นด้วย ความเห็นไม่ตรง
กัน โยมพ่อคิดว่า เราไม่มีทางไปแล้วหรือ ถึงจะต้องไปบวชอาศัยผ้าเหลืองกิน ท่านคิดอย่างนั้น คิดว่าคนไปบวชเป็นคนไม่มีทางไปแล้ว ท่านก็ว่าเราไม่ใช่เป็นคนแบบนั้น ได้ไปเรียนหนังสือมา มีความรู้ความสามารถ ทำไมต้องมาท้อแท้กับชีวิต ท่านคิดแบบนั้น คิดว่าคนที่ไปบวชเป็นคนท้อแท้ต่อชีวิต คนสิ้นท่า ไม่มีปัญญาที่จะต่อสู้กับชีวิต ท่านคิดอย่างนั้น อยากให้อยู่สู้ต่อไป อย่าไปท้อแท้
ถาม แล้วคนที่เป็นพ่อแม่ลูกกัน ต้องมีความผูกพันกันมาก่อนหรือ
เปล่าคะ
ตอบ เรื่องนี้อาตมาก็ไม่ทราบ ถ้าให้พูดก็คิดว่าเป็นไปได้ทั้ง ๒ อย่าง มีความผูกพันกันมาก็มี ไม่มีความผูกพันกันมาก็มีเหมือนกัน ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของกันและกัน โอกาสที่มีก็ย่อมมีได้ เพราะเราเวียนว่ายตายเกิดกันมานับภพไม่ถ้วน ก็คงเคยเจอกันหลายครั้งหลายหนแล้ว เวลาเจอกันนี่ ก็รู้เลยว่าชอบคนนี้ รู้เลยว่าไม่ชอบคนนี้ เป็นความรู้สึกที่ฝังอยู่ในใจของเรามา ถ้าจะให้รู้จริงต้องระลึกชาติได้ อย่างพระพุทธเจ้า จะทรงรู้ว่าคนนี้เมื่อก่อนนี้มีอะไรกันมา อย่างพระเทวทัตนี่ ก็ทรงเล่าประวัติความเป็นมาตั้งแต่เริ่มต้นเลย ว่าเคยมีอะไรกันมา อย่างพระมเหสีของพระองค์ ก็ทรงทราบว่าได้เคยร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาอย่างไร ต้องมีความสามารถหยั่งทราบถึงอดีตชาติ ถึงจะรู้ได้
ถาม ภาระหน้าที่ที่ลูกต้องมีต่อบิดามารดา สมมุติว่าบิดามารดาแก่แล้ว แต่เราก็อยากจะออกมาปฏิบัติ ถ้าออกมาปฏิบัตินานๆพ่อแม่ก็จะต้องเหนื่อย คือต้องทำงานบ้านเอง อย่างนี้ถือว่าบาปไหมคะ เพราะจริงๆชีวิตมันไม่แน่นอน ถ้าจะรอเลี้ยงดูพ่อแม่ก่อนแล้วค่อยออก มาปฏิบัติ เราก็ไม่รู้ว่าเราจะตายไปเมื่อไร
ตอบ การเลี้ยงดูพ่อแม่ก็เป็นการปฏิบัติอย่างหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเราไม่ดู
แลพ่อแม่ แล้วใครจะดูแลท่านล่ะ ใช่ไหม มันเป็นทางที่เราต้องดำเนินไป ไปทางตรงไม่ได้ ก็ต้องไปทางนี้ก่อน เพราะยังต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ก่อน ถ้าไม่เลี้ยงท่าน เวลาไปปฏิบัติจิตก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาอยู่ดี เกิดความรู้สึกไม่ดีกับตัวเองขึ้นมา แล้วก็จะไม่สามารถปฏิบัติได้ อาตมาคิดว่าการเลี้ยงดูพ่อแม่ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ ถ้าเราฉลาดพอ ก็สามารถจัดการได้ หมายถึงจัดหาเวลาปลีกตัวไปได้บ้าง ไม่ต้องอยู่กับท่านไปตลอดเวลา นอกจากเป็นเหตุจำเป็นจริงๆ ท่านเลี้ยงดูตัวท่านเองไม่ได้ แล้วไม่มีใครทำหน้าที่แทนได้ ก็ใช้การเลี้ยงดูท่านนี่แหละ เป็นเหตุสร้างบุญบารมีไปก่อน
เช่นพระอานนท์ ท่านไม่เหมือนกับพระสาวกองค์อื่น ท่านได้ปรนนิบัติรับใช้พระพุทธเจ้าถึง ๒๕ ปี ไม่ได้บรรลุธรรมที่สูงกว่าที่มีอยู่ในช่วงที่รับใช้พระพุทธเจ้า เป็นแค่พระโสดาบันเท่านั้นเอง แต่พระสาวกรูปอื่น พอบวชแล้ว ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว ไม่มีภาระที่จะต้องคอยปรนนิบัติพระพุทธเจ้า ก็ออกไปปฏิบัติตามป่าตามเขาตามลำพัง ก็ได้บรรลุกันอย่างรวดเร็ว เยอะแยะไปหมด เป็นวิถีชีวิตของแต่ละคน แต่พระอานนท์ก็ได้ประโยชน์มาก การที่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า ได้ยินได้ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปเพียง ๓ เดือน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงอย่าไปคิดว่าการปรนนิบัติดูแลพ่อแม่เป็นอุปสรรค ถือว่าเป็นทางเดินของเราดีกว่า ต้องเดินไปทางนี้ก่อน จะทำให้เรามีความแน่วแน่มั่นคง ต่อจุดหมายปลายทางของเรา ดีกว่าไปแบบชิงสุกก่อนห่าม เข้าใจไหม ถ้าไปแบบชิงสุกก่อนห่าม อาจจะไม่สุก แต่จะเละเทะไปเลย เสียไปเลยก็ได้ ปัจจุบันเราอยู่ที่ไหน เราก็สามารถปฏิบัติได้ในที่นั้นๆ จะได้มากหรือน้อยเท่านั้นเอง แต่อย่าไปกังวล การทำความดีไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาไหน ถือว่าเป็นการนำพาให้ได้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการจะไปต่อไป
ถาม ที่ท่านอาจารย์พูดอย่างนี้หมายถึง การทำทุกอย่าง ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติเหมือนกัน
ตอบ ใช่
ถาม สงสัยว่าอย่างพระจะเลือกวัด ก็เลือกวัดที่ไม่มีภารกิจ สงสัยว่า
พระเวลาทำงานก็สามารถปฏิบัติได้เช่นกันใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ ถ้าไม่มีทางเลือกก็ต้องทำไปก่อน ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่าทำไม
ไม่เลือก เช่นมีถนน ๒ เส้น เส้นหนึ่งรถติดมาก ไปได้แต่ช้า อีกเส้นหนึ่งว่าง ไม่ไปเส้นนั้นหรือ ถ้ามีเส้นเดียว ก็ต้องไปเส้นนี้ก่อน คือเราสามารถปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหน เพียงแต่ว่าจะได้มากได้น้อย จะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง บางครั้งไม่มีทางเลือก ก็ต้องอยู่กับสภาพนั้นไปก่อน เป็นภาระยังติดค้างอยู่ ที่ยังไม่สามารถปลดเปลื้องได้ ก็ต้องอยู่กับสภาพนั้นไปก่อน แต่การอยู่ในสภาพนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่เฉยๆ ก็ยังภาวนาได้ ยังอ่านหนังสือธรรมะได้ ไม่ได้เลี้ยงดูพ่อแม่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เวลาให้อาหารท่านเสร็จแล้ว มีเวลาว่างก็เปิดหนังสือธรรมะอ่าน หรือนั่งสมาธิก็ได้ อาจจะไม่เข้มข้น เหมือนกับการได้ไปปฏิบัติที่วัด แต่ก็ยังทำได้อยู่ ก็ทำไป ก็เหมือนกับขับรถไป แล้วรถติด ไม่มีทางอื่นไป ก็ไปทางนี้ก่อน พอมีทางที่ดีกว่า ก็ไปเลย ชีวิตของคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ของอาตมานี่ คล้ายๆกับว่าเป็นบุญหรืออะไรไม่ทราบ ถึงเวลาก็มีช่องไป โดยที่ไม่เคยคิดไว้ก่อนเลย ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยคิดว่าจะมาบวชเป็นพระ เพราะโดยปกติที่บ้านก็ไม่ได้เข้าวัดเข้าวากัน ตอนเรียนหนังสือก็เรียนโรงเรียนคริสต์
ถาม คงเป็นบุญเก่า
ตอบ เกือบจะเป็นคริสต์แล้ว แต่ตอนที่จะต้องตัดสินใจก็เปลี่ยนใจ
ถาม นั่งไปหลายๆชั่วโมงเมื่อเกิดทุกขเวทนามากๆนี่ ได้พยายามดูเขา
แต่บางทีตรงส่วนหนึ่งหาย มันก็จะเลื่อนไปเรื่อยๆ ท่านอาจารย์มีวิธีแก้อย่างไรคะ ไม่ให้พิจารณาตรงบริเวณนั้นหรือว่าให้ไปดูอย่างอื่นเลย
ตอบ มันแก้ได้ ๒ แนวทาง คือแนวทางของสมาธิ ก็ให้บริกรรมอย่าง
เดียว อย่าไปสนใจว่าจะเจ็บจะปวดตรงไหน ไม่ต้องสนใจอะไรทั้ง
สิ้น เหมือนเรานั่งคุยกันขณะนี้ เราไม่ไปสนใจเรื่องเสียง เรื่อง
อะไรต่างๆ ถ้าไม่ไปสนใจ มันก็จะไม่เข้ามาในใจ เราก็สามารถคุยกันได้ มีสมาธิอยู่กับการคุยกันได้ ถ้าไปรำคาญกับเสียงต่างๆ เดี๋ยวก็เสียสมาธิ คุยกันไม่รู้เรื่อง การภาวนาก็แบบนี้ ถ้าเกิดความเจ็บปวดตรงนั้น เจ็บปวดตรงนี้ คันตรงนั้นตรงนี้ ถ้าไม่ไปสนใจ บริกรรมอย่างเดียว ให้อยู่กับคำบริกรรมไปเรื่อยๆ ก็อยู่ได้ แต่ถ้าหยุดเมื่อไร จะรู้สึกเจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ ปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว ก็จะเริ่มเกิดความทุกข์ภายในใจขึ้นมา แล้วก็จะทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะตอนนั้นเราไม่ได้บริกรรมแล้ว นี่คือวิธีหนึ่ง
อีกวิธีหนึ่งก็ใช้ปัญญาพิจารณา ดูไอ้ตัวเวทนานี้ว่าเป็นอย่างไร ทำไมจึงทนไม่ได้ เป็นเพราะว่าเราไม่ชอบเขาใช่ไหม ทำไมเวทนาที่เราชอบ เช่นสุขเวทนา ทำไมเรารับได้ อาตมาพิจารณาเปรียบเทียบกับเสียงที่เข้ามาในหู เสียงที่เราชอบจะดังขนาดไหน ก็จะไม่รบกวนใจเรา แต่เสียงที่เราไม่ชอบ แม้แต่เพียงนิดเดียว ก็เป็นเหมือนเข็มทิ่มแทงใจ ทั้งๆที่เป็นเสียงเหมือนกัน เข้าใจไหม เวลาคนสรรเสริญเยินยอเรานี่ จะพูดดังขนาดไหนก็ไม่มีปัญหา เราฟังได้ แต่พอใครตำหนิเรานิดเดียวนี่ เสียงเบาๆเพียงคำเดียวก็ทำลายใจเราได้ พิจารณาดูก็เห็นว่าอยู่ที่ความชอบ ความไม่ชอบของใจเรา เป็นเสียงเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสรรเสริญหรือนินทา เวทนาที่เกิดจากร่างกาย ก็เป็นการสัมผัสของกายกับโผฏฐัพพะ แล้วก็เข้าไปในใจ รับรู้ที่ใจเหมือนกับเสียง เวทนาก็มีทั้งที่เราชอบ กับที่เราไม่ชอบ ถ้าชอบก็จะไม่รังเกียจ เช่นเวลานั่งดูหนัง นั่งคุยกันนานๆนี่ ไม่รู้สึกเจ็บปวดตรงไหนเลย เพราะมันเพลิน เราไม่ไปสนใจกับมัน แต่เวลานั่งสมาธินี้ อะไรนิดมาสัมผัสกับใจ ก็ออกไปรับรู้แล้ว จึงไม่อยากนั่งเฉยๆ
เวทนาก็เกิดจากการสัมผัสของโผฏฐัพพะกับกาย ทำให้เกิดเวทนาขึ้นมาภายในใจ รับรู้ในใจ ถ้าใจยินดีก็เป็นสุข ถ้ายินร้ายก็เป็นทุกข์ ถ้าทำใจเป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้าย ก็ไม่เดือดร้อน ก็พยายามพิจารณาอย่างนี้ไป พิจารณากลับไปกลับมาจนในที่สุดก็ยอมรับ ใจก็วางเฉย แต่เวทนาก็ไม่หาย ยังมีอยู่ แต่ไม่ทรมานใจ เพราะใจไม่รังเกียจ ไม่ได้อยากจะให้เวทนาหาย หรืออยากจะหนีจากเขาไป ใจรับได้ ยอมรับว่าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ อยู่กันได้ อย่างนี้ก็เป็นความสงบแบบหนึ่ง แต่ร่างกายไม่ได้หายไปจากความรู้สึก ร่างกายก็อยู่ เวทนาก็อยู่ จิตก็อยู่ ก็นั่งไปสบายๆ ท่ามกลางความเจ็บที่ยังมีอยู่ แต่ไม่เดือดร้อน วางเฉยได้
อุบายของการพิจารณาจึงพูดยาก ของแต่ละคนต้องสรรหากันเอง แต่ก็อยู่ในแนวนี้ ที่ว่าของทุกอย่างมีทั้งหัวมีทั้งก้อย ของชิ้นเดียวกัน คนหนึ่งเห็นแล้วก็ชอบ อีกคนหนึ่งเห็นแล้วก็ชัง คนหนึ่งเห็นแล้วเกิดความทุกข์ขึ้นมา อีกคนหนึ่งเห็นแล้วเกิดความสุขขึ้นมา อยู่ที่จะมองกัน ว่าจะชอบหรือชังเท่านั้นเอง ถ้าไปเจอในสิ่งที่ไม่ชอบ ก็จะทรมานใจมาก แต่ถ้าทำใจได้ว่า หนีไม่พ้น ต้องเป็นอย่างนี้ ยอมรับได้ จะเป็นอย่างนี้ก็ให้เป็นไป ไม่ไปอยากให้เป็นอย่างอื่น เรื่องก็จบ โดยสรุปเวลาเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ก็ปล่อยให้เป็นไป เราก็ภาวนาของเราต่อไป พุทโธๆๆไป เวทนาจะเป็นอย่างไรก็เป็นไป รู้ว่าเป็นอย่างนี้ บังคับไม่ได้ จะอยู่ก็อยู่ไป ไม่รังเกียจ ไม่อยากหนีจากเวทนาไป เวทนาก็ไม่ต้องหนีจากเราไป อยากจะอยู่ก็อยู่ไป
ถ้าพิจารณาจนยอมรับความจริงนี้ได้ เวทนากับเราก็อยู่ร่วมกันได้ ใจไม่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นลักษณะเดียวกัน อาหารอย่างเดียวกัน คนหนึ่งชอบ อีกคนหนึ่งไม่ชอบ ปัญหาก็อยู่ที่ชอบกับไม่ชอบของใจเท่านั้นเอง ถ้าเป็นคนเฉยๆ อะไรก็กินได้ ไม่กินก็ได้ ก็ไม่เดือดร้อนอะไร คนที่ชอบไม่ได้กินก็เดือดร้อนนะ คนที่ไม่ชอบต้องกินก็เดือดร้อน แต่คนที่เฉยๆนั่นแหละดีที่สุด กินก็ได้ ไม่กินก็ได้ โดยสรุปก็ต้องตัดความชอบตัดความชังออกไป ให้เข้าสู่ความเป็นกลาง ต้องอยู่กับอะไรก็อยู่ไป เมื่อไม่มีอะไรก็ไม่ต้องไปหามา ไปแล้วก็แล้วกันไป เมื่อยังไม่ไป ก็อยู่ไป เวลานั่งสมาธิแล้วเกิดความรู้สึก เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ก็เหมือนกัน อ้าว!มาแล้วหรือ มาเยี่ยมเราแล้ว ก็ให้อยู่ไป ไม่ต้องไปหนี ลองนั่งดูซิ ถ้ามีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว เข้าใจหลักของการนั่งแล้ว ต่อไปจะไม่รังเกียจ แล้วจิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง
ถาม เช่นเดียวกับพวกอาการทางกายอื่นๆหรือเปล่าคะ
ตอบ ทุกอย่างก็เหมือนกันหมด รักษาได้ก็รักษาไป
แก้ได้ก็แก้ไป รักษาไม่ได้ก็ต้องอยู่ร่วมกันไป จนกว่าจะ
จากกันไป เวลาจะเป็นก็ต้องเป็น มียารักษาได้ ก็รักษาไป
แต่อย่าไปอยากให้หายก็แล้วกัน เพราะจะทรมานใจถ้าไม่หาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ดูแลรักษานะ ที่ไหนมียาดีหมอดี รักษาแล้วหาย ก็ไปลองดู ถ้าปลงได้ ไม่หายก็ไม่เป็นไร หายแล้วเดี๋ยวก็ต้องเป็นอีก ในที่สุดก็จะต้องตายอยู่ดี ก็ไม่ต้องไปขวนขวายให้ทุกข์ไปเปล่าๆ ถ้าจิตใจถึงขนาดนั้นแล้ว ก็จะไม่สนใจ กลับเห็นเป็นเรื่องวุ่นวาย ที่ครูบาอาจารย์ไม่ยอมเข้าโรงพยาบาล ก็เพราะเหตุนี้แหละ วุ่นวาย เมื่อใจไม่กังวลแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร จะเป็นอย่างไรก็ได้ ดูแลไปตามอัตภาพ ถ้าใจยังอยาก ก็จะเป็นเรื่องขึ้นมา ต้องดิ้นรน หมอดีอยู่ที่ไหนไกลขนาดไหนก็ต้องถ่อไป ส่วนใหญ่ก็เป็นความหวังแบบลมๆแล้งๆ มีคนมาเสนอเวลาเราไม่สบาย ว่าหมอคนนั้นดี หมอคนนี้ดี เราก็บอกเขาว่าไม่เป็นไร ขี้เกียจไป
ถาม บางทีครูบาอาจารย์ไม่สบายท่านเองไม่ค่อยกังวล แต่ลูกศิษย์กังวล
มากกว่า พยายามขวนขวายหาหมอแนะนำครูบาอาจารย์ ใช้หยูกยาอะไร
ตอบ เพราะเรามีความปรารถนาดี เราอยากจะให้ท่านหาย เรามีแต่
ความอยาก เราไม่มีปัญญา ท่านมีปัญญา ท่านมองข้ามชอตนี้ไป
แล้ว ท่านบอกว่าถ้าหายคราวนี้ ก็ไปเป็นคราวหน้าต่อ ท่าน
มองเห็นกระทั่งถึงจุดสุดท้าย ในที่สุดก็ไม่มีใครรักษาได้
ถาม มองเหมือนกับคนที่อยู่อาศัยด้วยกัน แล้วเราคอยดูแลตามอัตภาพ
ตอบ ใช่เท่าที่จะดูแลได้ แต่ไม่ให้ไปสร้างความวุ่นวายใจ ถ้าเกิดความวุ่นวายใจ แสดงว่าทำเกินความจำเป็นแล้ว สร้างความทุกข์ให้กับเราโดยไม่รู้ตัว พยายามที่จะให้กายหาย แต่ใจนี่กลับทุกข์เหลือเกิน มันคุ้มค่าไหม แต่เราไม่รู้กัน เพราะใจของเราทุกข์อยู่ตลอดเวลา แต่ใจของท่านที่ปฏิบัติแล้ว จะไม่มีความทุกข์อยู่ในใจ เวลาจะทำอะไรแล้ววุ่นวายใจขึ้นมา ท่านก็ไม่อยากจะไปเกี่ยวข้องด้วย ท่านยอมรับว่ายังไงๆก็จะต้องตายอยู่ดี หนีไม่พ้นหรอก และท่านก็อยู่แบบไม่ได้หวัง ไม่ต้องการอะไรกับการอยู่ กลับเห็นว่าการอยู่เป็นภาระเสียมากกว่า อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ ๕ นี้ เป็นภาระที่หนักมาก พอตื่นขึ้นมา ก็ต้องหาข้าวให้ร่างกายกินแล้ว กินเสร็จแล้วต้องเดิน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องอาบน้ำอาบท่า ต้องทำอะไรต่างๆ คนนั้นมาหาคนนี้มาหา ต้องเทศน์ ต้องสอน ต้องพูด มีแต่งานทั้งนั้น
เมื่อไม่มีร่างกายก็จะสบาย ไม่ต้องดูแลรักษา จิตแยกออกจากกายได้ รู้ว่าอะไรเป็นจิต รู้ว่าอะไรเป็นกาย รู้ว่าอะไรทำให้จิตมีความสุข รู้ว่าอะไรทำให้มีความทุกข์ จิตรู้ จิตสามารถแยกแยะได้ อะไรที่จะทำให้เกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจ ก็ไม่เอา ปล่อยไปตามอัตภาพดีกว่า อยู่ได้ก็อยู่ไป เมื่ออยู่ไม่ได้ถึงเวลาไปก็ไป ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าหรอก สักวันหนึ่งพวกเราทุกคนก็ต้องไปกัน เวลาอยู่ขอให้อยู่แบบกำไร ไม่อยู่แบบขาดทุนก็แล้วกัน อยู่แล้วได้ปฏิบัติธรรม ได้สะสมบุญบารมี ได้ก้าวหน้าทางด้านจิตใจ จิตมีความสงบมากขึ้น จิตเกิดปัญญาสามารถต่อสู้กับกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ คือความอยาก ความรัก ความชังทั้งหลาย ที่ต้องแก้ไข มากกว่าสิ่งอื่นๆ คนอื่นเราไม่ต้องไปแก้ไขเขา ทุกคนต้องเป็นที่พึ่งของตนเองในที่สุด ไม่มีใครแก้ไขใครได้ เราต้องแก้ไขตัวเราเองโดยอาศัยคำสอนของผู้รู้ อย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก
พระพุทธเจ้าไม่สามารถแก้กิเลสของเราได้ ครูบาอาจารย์ก็แก้กิเลสเราไม่ได้ ท่านมีแต่คอยแนะนำวิธีแก้ให้กับเรา แต่ถ้าเราไม่เอามาแก้ ก็แก้ไม่ได้อยู่ดี จงมองว่าร่างกายเป็นเครื่องมือไว้สำหรับแก้ปัญหาของใจ ต้องมีร่างกายเพื่อจะได้ยินได้ฟังธรรมะ เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว จะได้เอาร่างกายมาทำงาน มาแก้กิเลส เดินจงกรม นั่งสมาธิ ต่อสู้กับกิเลส กิเลสก็ต้องการใช้ร่างกายเหมือนกัน เอาไปทำงานของกิเลส เอาไปเที่ยว ไปดูหนัง ฟังเพลง ไปกิน ไปดื่ม กิเลสต้องการใช้ร่างกายนี้ เราก็ต้องการใช้ร่างกายนี้เหมือนกัน จึงต้องพยายามดึงให้เข้าทางจงกรมให้ได้ ดึงให้เข้าวัดให้ได้ อย่าให้ไปกับกิเลส ถ้าฝืนกิเลสได้แล้ว ต่อไปกิเลสตัณหาก็จะหมดไปๆ แล้วก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความรำคาญใจให้กับเรา อยู่ที่ไหนก็สบาย อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข จะนั่ง จะเดิน จะนอนก็มีความสุขใจ เพราะไม่มีอะไรมาสร้างความรำคาญใจ ไม่มีความอยาก ไม่มีความต้องการอะไรภายนอก ที่ต้องอยู่ต้องกิน เพราะเป็นความจำเป็นของร่างกาย แต่จิตใจไม่ได้มีความอยากมีอยากเป็นหลงเหลืออยู่เลย
ไปหาครูบาอาจารย์มากันกี่ปีแล้วล่ะ ก็ถือว่าโชคดีนะที่ได้พบกับครูบาอาจารย์สายนี้ เหมือนกับได้กลับไปในสมัยพุทธกาล ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือนสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงนำปฏิบัติ เพราะอ่านในพระไตรปิฏก ก็มีเรื่องเหล่านี้ทั้งนั้น มีแต่พระปฏิบัติ มีแต่พระเดินจงกรม นั่งสมาธิ อยู่ตามป่าตามเขา ไม่เห็นมีแบบที่เห็นกันตามบ้านตามเมืองทุกวันนี้ แต่ก็ยากนะสำหรับคนบางคนที่จะเข้าใจพระสายปฏิบัติ เพราะถ้าถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กว่า ศาสนาพุทธต้องเป็นแบบนี้นะ ต้องมีการทำบุญ ต้องมีงานสมโภช มีอะไรต่างๆ ก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมพระป่าถึงอยู่กันแบบนี้ แต่ถ้าได้ศึกษาจากต้นฉบับ ศึกษาจากพระไตรปิฏก ก็จะเห็นความแตกต่างกันมาก สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าไม่เคยสร้างวัดแม้แต่วัดเดียว มีแต่ศรัทธาญาติโยมสร้างถวายให้ พระไม่ไปเกี่ยวกับเรื่องการสร้างวัดสร้างวา ไปเรี่ยไรผ้าป่าอะไรต่างๆ ไม่มี ไม่ใช่งานของพระ ถ้าไม่มีคนสร้างวัดให้ ก็ทรงสอนให้อยู่ตามโคนไม้ อยู่ตามถ้ำ ตามเรือนร้างอยู่แล้ว
นั่นคือที่อยู่ของพระในสมัยพุทธกาล ไม่ได้อยู่ตามวัดกัน เวลาที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนธรรมะใหม่ๆ ก็ทรงประทับอยู่ตามโคนไม้ ที่สงบสงัดวิเวก ผ้าจีวรยังไม่มีใครถวายกันเลย ต้องไปเก็บเศษผ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามป่าช้า ตามกองขยะ จึงเรียกว่าผ้าป่า คือผ้าที่ทิ้งอยู่ตามป่าช้า เศษผ้าได้มามากน้อยเท่าไรก็สะสมไว้ แล้วก็มาปะ มาเย็บทำให้เป็นผืนใหญ่ขึ้นมา แล้วก็เอาไปซักเอาไปย้อม เท่านี้ก็ห่มได้แล้ว สมัยนั้นไม่มีใครถวายผ้าจีวรให้กับพระ พระลำบากมากเรื่องผ้า ท่านจึงต้องดูแลรักษาผ้าให้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตของท่าน ผ้าครอง ๓ ผืนต้องรักษาอย่างดี ไปไหนต้องเอาติดตัวไปด้วย ต้องไม่อยู่โดยปราศจากผ้าครองทั้ง ๓ ผืน อีกอย่างที่ต้องมีก็คือบาตร บาตรนี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีบาตรก็จะไม่มีข้าวกิน จึงต้องดูแลรักษาบาตรอย่างดี
ท่านอยู่กันแบบเรียบๆง่ายๆ เรื่องวัตถุภายนอกจะไม่ค่อยมีกัน แต่มีเวลาบำเพ็ญมาก แล้วก็ได้บรรลุกันเป็นจำนวนมาก ในสมัยนั้นผู้บำเพ็ญก็ได้สมาธิกันแล้ว นักบวชในลัทธิอื่นๆก็ได้บรรลุฌานกัน ได้สมาธิกัน แต่ไม่มีปัญญาเท่านั้นเอง มองไม่เห็นไตรลักษณ์ มองไม่เห็นอนัตตา เห็นอนิจจัง เห็นทุกข์ แต่ไม่เห็นอนัตตา ไม่รู้ว่าอัตตาตัวตนเป็นสมมุติที่จิตสร้างขึ้นมา และก็เชื่อกันมา ฝังลึกอยู่ในจิตใจของปุถุชนมาตลอด มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ได้พิจารณาค้นหาอย่างเต็มที่ หาทั้งในกาย หาทั้งในจิต หาตรงไหนก็ไม่มีตัวตนเลย จะมีก็อยู่ที่ความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น พอได้ทรงนำมาประกาศสอนพวกฤาษีทั้งหลาย ก็ทำให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีศีลมีสมาธิอยู่แล้ว สิ่งที่ขาดก็คือปัญญานั้นเอง
เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพวกนักบวชในลัทธิอื่น ที่ฟังครั้งละ ๕๐๐ รูป ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ทั้ง ๕๐๐ รูปทันที คิดดูภายในระยะเพียงไม่กี่เดือน นับตั้งแต่วันแรกที่ทรงประกาศพระธรรมสอนโลกในวันเพ็ญเดือน ๘ จนถึงวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา ก็เจ็ดเดือนด้วยกัน ก็ปรากฏมีพระอรหันต์ถึง ๑,๒๕๐ รูป ที่ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยไม่ได้นัดหมายกันไว้ก่อน แต่ตอนที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ประกาศสอนธรรมะ ไม่มีการปรากฏขึ้นของพระอรหันต์เลยแม้แต่รูปเดียว เพราะไม่มีใครจะรู้เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ได้ นอกจากพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น พอมีพระพุทธเจ้ามาโปรดแล้ว ผู้ที่ได้ยินได้ฟังก็นำไปพิจารณา ก็จะเข้าใจ พอเข้าใจแล้ว ก็ปล่อยวางได้เลย จึงต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พอเข้าใจแล้ว ก็จะหลุดพ้น จะไม่ทุกข์กับร่างกายอีกต่อไป
ถาม ท่านอาจารย์คะ สมมุติว่าเรารู้ว่าทางนี้เป็นทางที่ดีและเราเข้าใจ
แต่ว่าคนใกล้ตัวเราเขาไม่ยอมรับ และเขาก็ไม่มาทางนี้กับเรา
เลย เรามีวิธีช่วยเขาอย่างไรคะ
ตอบ ก็เรื่องของเขา ไม่ต้องไปช่วยเขา พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ช่วยใคร
ตอนออกจากวัง ก็ออกมาเพียงพระองค์เดียว
ถาม เราก็รู้เห็นแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้
ตอบ ทำไม่ได้หรอก เรายังช่วยตัวเราเองไม่ได้เลย จะไปช่วยคนอื่น
ได้อย่างไร เรายังว่ายน้ำไม่เป็นเลย เราจะช่วยคนอื่นให้ว่าย
ได้อย่างไร เราต้องหัดว่ายให้เป็นก่อน ว่ายเป็นแล้วค่อยสอน
ผู้อื่น พอว่ายเป็นแล้ว ผู้อื่นก็จะเกิดศรัทธาในตัวเรา อย่างพระพุทธ
เจ้าพอตรัสรู้แล้วพระราชบิดาก็มีศรัทธา ใครๆก็มีศรัทธา นิมนต์มาสอนในวังเลย ไม่นานก็ได้บรรลุกัน ถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ แล้วทรงชวนให้ออกบวชด้วยกัน คงไม่ได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา จึงต้องเสด็จไปก่อน ต้องทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าดีจริง แล้วก็จะเกิดศรัทธาเลื่อมใสขึ้นมาเอง แล้วจะตามมาเอง ถ้าตามมาเองก็จะง่าย ง่ายกว่าลากมา ถ้าลากมาเราก็จะต้องเหนื่อย จะไม่มีกำลังพอที่จะลากมาได้
จึงต้องยอมรับว่า คนเรามีบุญมีกรรมไม่เท่ากัน สะสมบุญบารมีมาไม่เท่ากัน ทำทานมาไม่เท่ากัน เวลาที่คนหนึ่งไปทำบุญ อีกคนหนึ่งก็ไม่อยากจะไป คนหนึ่งชอบไปกินเหล้าเมายา อีกคนก็ไม่อยากจะไป เพราะบำเพ็ญมาไม่เหมือนกัน สะสมบุญบารมีมาแตกต่างกัน เพียงแต่ได้มาเจอกัน แล้วเกิดมีความจำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน ก็อยู่กันไป ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องแยกทางกัน เวลาไหนที่เรามีโอกาสว่าง พอที่จะปลีกตัวไปทำอะไรของเราได้ เราก็ไป แต่ถ้าเขาจะไปด้วยก็ดี ถ้าเขาไม่ไป ก็ไม่เป็นไร เพราะในที่สุดเขาก็ต้องปฏิบัติของเขาเอง เรากินข้าวแทนเขาได้ไหมล่ะ เขาก็ต้องกินข้าวของเขา เราก็ต้องกินข้าวของเรา เวลาเรากินข้าวแล้วเขาไม่กิน เราจะไปบังคับเขาได้ไหม เขาไม่หิวเขาไม่อยากจะกิน เราก็บังคับเขาไม่ได้
การปฏิบัติก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่แต่ละคนจะต้องปฏิบัติกันเอง ทำกันเอง ไม่มีใครทำแทนกันได้ แต่ทำเป็นตัวอย่างให้เขาเกิดกำลังใจได้ เช่นถ้าได้อยู่กับคนที่มีความเข้มข้น ก็จะช่วยดูดเราให้มีความเข้มข้นขึ้น อย่างที่เล่าให้ฟัง สมัยที่อาตมาอยู่คนเดียว ก็คิดว่าเข้มข้นแล้ว แต่พอไปอยู่กับคนที่เข้มข้นกว่า ก็รู้ว่ายังใส ยังไม่เข้มข้น ก็ทำให้ได้เพิ่มความเข้มข้นขึ้นมา แต่ถ้าไปอยู่กับคนที่ใสกว่าเรา เขาก็จะดึงให้ใสตามเขาไป พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าถ้าจะอยู่กับใคร ให้อยู่กับคนที่ฉลาดกว่าเรา เก่งกว่าเรา หรือเท่าเรา อย่าไปอยู่กับคนที่โง่กว่าเรา เลวกว่าเรา ถ้าไม่สามารถหาคนที่ฉลาดกว่าเรา เก่งกว่าเราได้ ก็อยู่ของเราไปคนเดียวดีกว่า อย่าไปอยู่กับคนที่เลวกว่า เพราะจะฉุดเราให้เลวกว่าที่เป็นอยู่
การเลือกเพื่อนปฏิบัติ เลือกกัลยาณมิตร ต้องหาคนที่เก่งกว่าเรา ดีกว่าเรา เพราะเขาสามารถฉุดเราช่วยเราได้ อย่างพระสาวกทุกรูปก็ต้องหาพระพุทธเจ้าทั้งนั้น พอหาพระพุทธเจ้าได้แล้ว ก็ไม่ผิดหวัง ความปรารถนาดีก็ดีอยู่หรอก เราเห็นว่าสิ่งนี้ดี ก็อยากจะให้เขาได้รับประโยชน์ด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่า แต่ละคนมีภาชนะขนาดไม่เท่ากัน บางคนก็มีกระแป๋ง บางคนก็มีถ้วย คนที่มีถ้วยก็ได้น้ำแค่ถ้วยเดียว คนที่มีกระแป๋งก็ได้มากกว่า เราอยากจะให้เขาเยอะๆ แต่เขามีถ้วยใบนิดเดียว ใส่มากเกินไป ก็ล้นถ้วยไปเปล่าๆ เสียเวลา จะเหนื่อยเปล่าๆ ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ต้องสร้างภาชนะคือใจของเขาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้รับสิ่งที่มีคุณค่ามีประโยชน์ได้ ด้วยการบำเพ็ญไปเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ทำทานก็ทำมากขึ้นไปเรื่อยๆ ศีลก็รักษามากขึ้นไปเรื่อยๆ ภาวนาก็ภาวนามากขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องทำจากที่เราทำอยู่ แล้วเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าทำไปอย่างไม่หยุดยั้งแล้ว เดี๋ยวก็ถึงจุดหมายปลายทางเอง
ถ้ามาคอยพะวงกับคนนั้นคนนี้ เดี๋ยวก็จะเขว จะไม่ได้ทำ จะไม่ก้าวหน้า ถามว่าอย่างนี้เป็นความเห็นแก่ตัวหรือไม่ จะว่าเห็นแก่ตัวก็เป็นความเห็นแก่ตัวที่ไม่เสียหาย เพราะไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร คนเราทุกคนก็มีความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น มีความรักตัวกลัวตาย ต้องดูแลรักษาตัวเองด้วยกันทุกคน เป็นความเห็นแก่ตัวที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้ละเลยหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ ก็ไม่เสียหายตรงไหน ถ้ายังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อคนนั้นคนนี้ ก็ปฏิบัติไป ส่วนงานส่วนตัว มีเวลาว่างก็ทำของเราไป เราชวนเขาแล้ว ถ้าเขามาก็เป็นบุญของเขา ถ้าเขาไม่มาก็แสดงว่ายังไม่พร้อม ก็ต้องยอมรับความจริงนี้ ถ้ามากังวลจะไม่สามารถปฏิบัติได้
ถาม บางทีเขาจะเปรียบเทียบ อย่างบริจาคเงินให้กับมูลนิธิเด็ก เขาเห็นว่าเงินนั้นเด็กได้ ทำกับทางวัดก็เหมือนกับสูญเปล่า เราจะมีวิธีไหนที่จะบอกเขาว่า บุญมันไม่เหมือนกันและอานิสงส์ก็ต่างกัน คือเขาจะมองเป็นวัตถุมากกว่า
ตอบ ความจริงมันก็มีภาพที่ทำให้เขาเห็นว่าเป็นอย่างนั้น ก็มีอยู่
ปฏิเสธไม่ได้ เช่นการบริจาคสร้างวัตถุต่างๆ ที่ไม่จำเป็น สร้างโบสถ์ สร้างวัด อย่างพิสดาร อย่างนี้ก็ไม่จำเป็น อย่างหลวงตาท่านก็ทำเป็นตัวอย่างแล้ว วัดของท่านก็ไม่ได้สร้างอะไรที่เป็นวัตถุที่พิสดาร แต่เงินปัจจัยที่ท่านได้มาจากญาติโยมทั้งหลาย ท่านก็เอาไปทำประโยชน์แทนญาติโยม ทำบุญกับท่านก็จะได้ ๒ ต่อ คือ ๑. ได้ทำบุญกับท่าน แล้วก็มีความมั่นใจว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ถวายท่านไม่สูญเปล่า ไม่ถูกคนนั้นคนนี้แบ่งไป วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง อย่างนี้ไม่มี รู้ว่าบุญที่ทำนี้เกิดประโยชน์ร้อยทั้งร้อย ๒. ได้ฟังธรรมะจากท่านด้วย อันนี้สำคัญกว่า
ถ้าไปทำบุญทำทานกับคนที่ไม่มีธรรมะ อย่างมากสิ่งที่เราได้รับก็คือความอิ่มเอิบใจ ที่ได้ช่วยเหลือเขา เขามีความสุข เราก็มีความสุข อย่างมากสิ่งที่เขาทำให้กับเราได้ก็คือยกมือไหว้เรา กล่าวขอบคุณ ขอบอกขอบใจ ก็เท่านั้น แต่เขาไม่มีธรรมะที่จะทำให้เรามีแสงสว่าง มีปัญญาเพิ่มขึ้นมา ถ้าไปทำกับพระที่มีความรู้มากกว่าเรา เราก็จะได้รับประโยชน์จากการได้ยินได้ฟังธรรมะจากท่าน นี่คือความแตกต่างกัน ถ้าไปทำกับคนที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ก็จะไม่มั่นใจว่าเงินที่ถวายไปนั้น เขาจะเอาไปทำอะไร ก็อย่าไปทำซิ เราเลือกได้ ไม่ใช่ว่าการทำบุญจะเลือกไม่ได้ ควรจะเลือกด้วยซ้ำไป เพราะต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากเงินทองที่เราบริจาคไป ถ้ารู้ว่าจำเป็นจริงๆ เป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็ทำไป
คนที่เราเลือกทำบุญด้วย ก็มีส่วนที่จะทำให้เราได้รับประโยชน์ เป็นกำไรขั้นที่ ๒ เหมือนกับเวลาไปเติมน้ำมันที่ปั๊มที่มีการแจกผ้า กับปั๊มที่ไม่มีการแจกผ้า ไปเติมปั๊มที่แจกผ้า เราก็ได้กำไรใช่ไหม ได้ผ้าอีกผืนหนึ่ง ถ้าไปเติมปั๊มที่ไม่ได้แจกผ้า ก็ได้แต่น้ำมันอย่างเดียว ก็เหมือนกันกับการทำบุญกับพระที่มีธรรมะสูงๆ เราได้ธรรมะเป็นของแถมด้วย ซึ่งเป็นของที่ดีกว่าที่ได้จากการทำบุญเฉยๆ เสียด้วยซ้ำไป ทานก็เป็นธรรมะระดับหนึ่ง แต่ปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรมเทศนา เป็นธรรมะขั้นที่สูงกว่า ทำให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ การทำทานยังทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพชาติน้อยใหญ่อยู่ เพียงแต่ว่าเมื่อได้ทำทานแล้ว เวลาไปเกิดในภพหน้าชาติหน้า ทานก็จะมารองรับเรา ทำให้เราอยู่อย่างสุขอย่างสบาย มีเสบียงรอเราอยู่ข้างหน้า ไม่ต้องเดือดร้อนกับปัจจัย ๔ เรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เพราะได้สะสมทานไว้ในชาติก่อนๆมา แต่จะไม่ทำให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ไปได้
จะหลุดพ้นไปได้ ก็ต้องอาศัยผู้ที่ได้หลุดพ้นไปแล้ว ท่านจะพูดธรรมะที่ตรงเป้าหมายเลย เราสามารถนำไปปฏิบัติได้ อาจจะได้หลุดพ้นในภพนี้ชาตินี้เลย นี่คือผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำบุญกับคนดีคนเก่ง แต่การทำบุญให้ทานแม้กับสุนัขก็เป็นบุญ ปล่อยนกปล่อยปลาก็เป็นบุญเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้ผลตอบแทนขั้นที่ ๒ คือไม่ได้รับธรรมะ การทำบุญจึงต้องพิจารณาว่า ควรหรือไม่ควรอย่างไร อย่างหลวงตาท่านเคยเล่าว่า ในหลวงท่านอยากจะสร้างโบสถ์ถวาย หลวงตาท่านยังปฏิเสธเลย ท่านบอกว่าวัดนี้ไม่สนใจกับการสร้างวัตถุ สนใจแต่สร้างคน สร้างคนให้เป็นพระมากกว่า การสร้างคนให้เป็นพระไม่จำเป็นต้องมีโบสถ์ แต่ต้องมีสถานที่สงบสงัดวิเวกในป่าในเขา
หลวงตาจึงอุตส่าห์ซื้อที่ไว้ ที่ไหนดีเหมาะกับการบำเพ็ญ ท่านก็พยายามส่งเสริม เพราะต่อไปสถานที่ปฏิบัติจะมีน้อยลงๆไปทุกวัน เพราะประชากรจะมีมากขึ้นๆ การตัดไม้ทำลายป่าก็จะมีมากขึ้นๆ ทุกวันนี้ที่ต่อสู้ก็เพื่อรักษาป่าเขา สถานที่บำเพ็ญไว้เท่านั้นเอง ถ้าพระไม่ได้อยู่ป่า ก็อย่าไปหวังว่าจะได้บรรลุมรรค ผล นิพพานกัน ถ้าให้อยู่ในโบสถ์สวยๆ กุฏิสวยๆ ติดแอร์ ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นไปได้หรอก เพราะอยู่แบบฆราวาส ได้แต่โกนหัวห่มผ้าเหลืองเท่านั้น อาจจะอยู่สบายกว่าฆราวาสเสียอีก กุฏิพระบางแห่ง มีทั้งแอร์ มีทั้งพรม มีอะไรเต็มไปหมด แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมานั่งภาวนา พอเจ็บนิดปวดหน่อยก็นั่งไม่ได้แล้ว เวลาทำบุญจึงต้องใช้ปัญญา เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ อยากจะส่งเสริมพระพุทธศาสนาก็ต้องส่งเสริมให้ถูกทาง อย่างไปสร้างพวกวัตถุต่างๆ พยายามส่งเสริมให้มีสถานที่ปฏิบัติธรรม ส่งเสริมพระที่เผยแผ่ธรรมะ เพื่อให้คนได้รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง แล้วจะได้นำเอาไปปฏิบัติ
ความสุขของคนไม่ได้อยู่ที่กองเงินกองทอง ไม่ได้อยู่ที่สมบัติภายนอก แต่อยู่ที่คุณธรรมภายในใจ มีคุณธรรมมากน้อยเพียงไร ก็จะไปทำลายกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจให้เบาบางลงไป เมื่อกิเลสตัณหาเบาบางลงไป ความสุขก็มากขึ้น มันอยู่ตรงนี้ อยู่ในใจนี้ กองสมบัติกองเงินกองทอง วัตถุข้าวของต่างๆ จึงไม่เป็นสิ่งสำคัญ มีเท่าที่จำเป็นก็พอ เช่นศาลาหลังนี้ พอหลบแดดหลบฝนได้ พอใช้ทำกิจกรรมได้ ก็พอแล้ว ไม่ต้องมีราคาแพงๆ ให้ดูที่เหตุผลของการใช้สอยเป็นหลัก สามารถทำหน้าที่ของเขาได้หรือเปล่า จะถูกจะแพงไม่สำคัญ ถ้าใช้ของราคาถูกได้ ก็จะดีกว่า เพราะจะได้เป็นตัวอย่าง ไม่ต้องไปขวนขวายเสียเวลากับการหาเงินหาทองมาสร้างสิ่งที่มีราคาแพงๆ แล้วก็ใช้ประโยชน์ได้เท่ากัน เหมือนกับการรับประทานอาหาร อาหารมื้อละ ๕๐ บาท กับมื้อละ ๕๐๐ บาทก็สำเร็จประโยชน์ได้เหมือนกัน อิ่มเหมือนกัน เวลาไปวัด กินอาหารวัด ก็อิ่มเหมือนกัน ไปกินอาหารตามโรงแรมราคาแพงๆ ก็อิ่มเหมือนกัน แล้วมันก็ผ่านไปเหมือนกัน ทำให้ต้องเสียเวลากับการหาเงิน สู้เอาเวลามาทำประโยชน์ให้กับสังคมให้กับพระศาสนาจะดีกว่า
ถ้าพระศาสนามีความเจริญมากขึ้นไปเพียงไร พวกเราก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นเพียงนั้น สังคมจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทุกวันนี้สังคมวุ่นวายเพราะขาดศาสนาในใจ มีศาสนาอยู่ตามวัดตามวา ตามวัตถุต่างๆ แต่ไม่ได้อยู่ในใจคน เข้าใจไหม คนเข้าวัด แต่ไม่ได้เอาศาสนาเข้าไปไว้ในใจ ในใจมีแต่กิเลส มีแต่ตัณหา เข้าไปในวัดก็ไปทะเลาะกัน มีเรื่องกัน ถ้าจะไปวัดต้องไปแบบสงบ ไปแบบไม่มีเรื่องมีราวกับใคร มีเป้าหมายเพียงอันเดียว คือไปบำเพ็ญเท่านั้น ไปเจริญจิตตภาวนา ไปรักษาศีล ไปปฏิบัติธรรม ใครจะมีความรู้ความเห็นอย่างไร ก็ปล่อยเขาไป เรื่องของเขา ทำตัวเป็นเหมือนกับหนูตัวเล็กๆจะดีกว่า อย่าไปทำเป็นราชสีห์ เดี๋ยวต้องไปกัดกับราชสีห์ตัวอื่น ถ้าเป็นหนูก็จะไม่มีปัญหา จะมีเวลาภาวนา สมควรแก่เวลาแล้วนะ