กัณฑ์ที่
๒๒๗
หัวใจของคำสอน
เราปฏิบัติธรรมเพื่อทำใจให้สงบให้ปล่อยวาง
ไม่ได้ทำเพื่อลูก
ลูกก็เป็นไปตามบุญตามกรรมของเขา
ถ้าบุญกรรมแรงก็จะผลักดันเขาไปเอง
ถ้าไม่แรงก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมหรือคนอื่นชักจูงไป
คนที่โลเล
ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี
จะไปซ้ายก็ไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่
จะไปขวาก็ไม่รู้
จึงต้องให้เพื่อนพาไป
ถ้าเพื่อนจูงไปทางขวาก็ไปขวา
จูงไปทางซ้ายก็ไปซ้าย
ขึ้นอยู่กับบุญวาสนา
ถ้าไปเจอเพื่อนดีก็จะจูงไปในทางที่ดี
ไปเจอเพื่อนที่ไม่ดีก็จะจูงไปในทางที่ไม่ดี
เพื่อนที่สนิทและใกล้ชิดของลูกๆก็คือพ่อแม่
ถ้าพ่อแม่ดีก็จะจูงลูกไปในทางที่ดี
ถ้าไม่ดีก็จะจูงไปในทางที่ไม่ดี
พ่อแม่ก็มีหลายชนิดด้วยกัน
ที่เสพสุรายาเมา
เล่นการพนันก็มี
ที่ชอบเข้าวัดปฏิบัติธรรมก็มี
ถ้าลูกเป็นคนครึ่งๆกลางๆ
ก็จะอาศัยพ่อแม่เป็นผู้ดึงไป
ถ้าลูกเป็นคนที่มีพลังของเขาเอง
ไม่ว่าจะไปในทางดีหรือไม่ดี
คนอื่นก็ไม่สามารถไปดึงเขาได้
เมื่อถึงเวลาที่เขาจะไปในทางของเขา
จึงเป็นได้ทั้ง ๒ แบบ
บุญก็เป็นพลังอย่างหนึ่ง
บาปก็เป็นพลังอย่างหนึ่ง
ที่จะดึงให้คนไปในทางที่ดีหรือชั่ว
พ่อแม่เป็นกัลยาณมิตร
เป็นเพื่อนที่ดีของลูก
เป็นอาจารย์ของลูก
เป็นครูของลูก
มีหน้าที่สอนก็สอนไป
เป็นเหมือนคนพายเรือส่งคนข้ามฟาก
เมื่อเขาลงจากเรือแล้ว
จะไปทางไหนก็บังคับเขาไม่ได้
แต่อย่างน้อยเราก็ได้ให้ในสิ่งที่ดีกับเขาไป
สักวันหนึ่งเขาได้สติ
เขาก็จะเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเรา
เมื่อเขาเอาไปใช้ประโยชน์ได้
จึงอย่าไปกังวลกับเขามากจนเกินไป
เป็นเรื่องของเขา
เรื่องที่ควรสนใจก็คือเรื่องของตัวเรา
เราไปทุกข์กับคนอื่นจนเราไม่มีความสุขเลย
ทั้งๆที่ไม่จำเป็นจะต้องไปทุกข์กับเขาเลย
เพราะไม่ฉลาด ยังมีความหลง
มีความผูกพันอยู่กับสิ่งต่างๆที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
พอได้อะไรมาเป็นสมบัติแล้ว
ก็อยากครอบงำ
อยากเป็นเจ้าของทันที
อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
เมื่อเป็นไปตามที่ตนต้องการก็มีความสุขใจ
ถ้าไม่เป็น ก็มีความทุกข์ใจ
ว้าวุ่นขุ่นมัว
ในที่สุดชีวิตของคนเราก็ต้องจบลง
จะสุขขนาดไหน จะทุกข์ขนาดไหน
เมื่อถึงเวลาก็ต้องจากกันไป
ถ้ามองชีวิตอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว
ก็จะเห็นเป็นเหมือนกับการเข้าโรงหนังไปดูหนัง
พอหนังจบ
เรื่องราวต่างๆในหนังก็ผ่านไป
แล้วก็หายไปจากความทรงจำ
จากนั้นก็ไปดูเรื่องใหม่ต่อ
ชีวิตก็เป็นแบบนี้
เวียนว่ายตายเกิดในภพต่างๆ
ก็เหมือนกับการออกจากโรงหนังโรงหนึ่ง
แล้วก็ไปเข้าอีกโรงหนึ่ง
เป็นทั้งคนดู เป็นทั้งคนแสดง
ถ้าฉลาดก็จะไม่ทุกข์เพราะรู้ว่าเป็นการแสดงเท่านั้นเอง
ถ้าโชคดีมีวาสนาได้เจอคนฉลาดที่สอนให้รู้ว่าชีวิตเป็นเหมือนโรงละคร
ที่ต้องจบลงในที่สุดไม่ว่าจะวิเศษขนาดไหนก็ตาม
เมื่อจบแล้วก็จบ
ไม่ต้องมาเศร้าโศกเสียใจเพราะชีวิตเป็นอย่างนี้
มีแต่ความทุกข์ถ้ารู้ไม่เท่าทัน
มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ดีกว่าสิ่งต่างๆทั้งหมดในโลกนี้
ที่เราจะมอบให้กับตัวเราได้
สิ่งนั้นก็คือใจของเรา
ทำให้ใจสะอาดบริสุทธิ์เท่านั้นแหละ
แล้วจะได้สิ่งที่ประเสริฐเลิศโลกมาเป็นสมบัติ
ที่จะทำให้ใจไม่ทุกข์อีกเลย
เราจึงต้องมาศึกษาดูว่า
อะไรทำให้ใจทุกข์
อะไรทำให้ใจหายทุกข์
ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาทรงสั่งทรงสอน
เราจะไม่รู้
เพราะไม่มีปัญญาพอที่จะ
วิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง
จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุทำให้เราทุกข์
จะต้องทำอย่างไรให้ทุกข์หายไป
ต้องมีคนอย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้น
หรือพระอริยสงฆสาวกที่ได้เรียนรู้จากพระพุทธเจ้าอีกทอดหนึ่ง
ที่จะสอนพวกเราได้
ถ้าเป็นเรื่องของจิตใจแล้ว
พวกเราเป็นเหมือนคนตาบอด
ไม่รู้วิธีแก้ปัญหาของใจ
ทั้งที่อยู่กับใจตลอดเวลา
แต่ไม่รู้จักวิธีแก้
ไม่รู้เลยว่าทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร
แล้วจะแก้ได้อย่างไร
เหมือนกับเวลามีโรคระบาดขึ้นมา
เช่นไข้หวัดนก
ตอนต้นก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
จึงต้องศึกษาวิเคราะห์ดูว่า
อะไรเป็นเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นมา
เมื่อได้ศึกษาแล้ว
ก็พบว่าเป็นเพราะเชื้อโรคชนิดนี้
ขั้นตอนต่อไปก็ต้องหาวิธีทำลายเชื้อโรคนี้ให้ได้
ถ้าทำลายได้แล้ว
โรคที่ระบาดอยู่ก็จะหมดไป
ความทุกข์ใจก็เป็นโรคอย่างหนึ่ง
เป็นโรคจิตโรคใจ
ในเบื้องต้นก็ต้องศึกษาหาสาเหตุเสียก่อนว่า
อะไรทำให้ใจทุกข์
ถ้าเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน
ก็จะไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นเหตุ
ทั้งที่เป็นผู้สร้างเหตุอยู่ตลอดเวลา
เพราะจิตใจมีความหลงครอบงำอยู่
ทำให้เห็นกลับตาลปัตรไป
คิดว่าเหตุที่สร้างความทุกข์อยู่นี้
เป็นเหตุที่สร้างความสุขให้กับเรา
จึงสร้างแต่เหตุของทุกข์ขึ้นมา
แล้วก็ต้องทุกข์ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว
แต่ถ้าได้มีโอกาสสัมผัสกับพระพุทธศาสนา
ได้ยินคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า
ก็จะได้ยินถึงพระอริยสัจ
๔ ที่เป็นหัวใจของคำสอนของพระพุทธเจ้า
ถ้าใครถามว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร
ก็ตอบได้เลยว่าตรัสรู้พระอริยสัจ
๔ นี่แหละ
เพราะการตรัสรู้อริยสัจ ๔
เป็นเหตุที่ทำให้ปุถุชนคนธรรมดาสามัญ
อย่างเจ้าชายสิทธัตถะกลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา
เช่นเดียวกันกับปุถุชนคนธรรมดาสามัญอย่างเราอย่างท่าน
ที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน
ได้ยินพระอริยสัจ ๔
แล้วนำไปปฏิบัติ
ก็จะสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้
สามารถอยู่เหนือความทุกข์ได้
เพราะพระอริยสัจ
๔
แสดงถึงต้นเหตุของความทุกข์
ซึ่งเปรียบเหมือนเชื้อโรค
เมื่อรู้แล้วว่าเชื้อโรคชนิดนี้เป็นต้นเหตุของโรค
ขั้นต่อไปก็ศึกษาดูว่าจะทำลายเชื้อโรคนี้ให้หมดไปได้อย่างไร
ก็จะเข้าสู่พระอริยสัจข้อที่
๔ คือมรรค
ที่เป็นเครื่องถอดถอนเหตุของความทุกข์
คือสมุทัย ได้แก่ตัณหาทั้ง
๓ กามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา
มรรคมีองค์ประกอบอยู่ ๘
ส่วนด้วยกัน คือ ๑. สัมมาทิฏฐิ
ความเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปโป
ความดำริชอบ ๓. สัมมากัมมันโต
การกระทำชอบ ๔. สัมมาวาจา
วาจาชอบ ๕. สัมมาวายาโม
ความเพียรชอบ ๖. สัมมาอาชีโว
อาชีพชอบ ๗. สัมมาสติ
การระลึกรู้ชอบ ๘. สัมมาสมาธิ
ถ้าได้เจริญมรรคทั้ง ๘
ประการนี้ได้มากน้อยเพียงไร
ก็จะสามารถทำลายเหตุของความทุกข์ได้มากน้อยเพียงนั้น
มรรคจึงเปรียบเหมือนยาที่หมอได้ศึกษาค้นคว้าหามารักษาโรค
เมื่อได้กินยาแล้วเชื้อโรคก็จะถูกทำลายไปหมด
ก็จะหายขาดจากโรค
เพราะโรคเกิดจากเชื้อโรค
ที่จะหมดไปได้ก็ต้องอาศัยยาคือมรรค
เมื่อเชื้อโรคคือสมุทัยถูกมรรคทำลายหมดสิ้นไป
ทุกข์ก็หายไป นิโรธความดับทุกข์ก็ปรากฏขึ้นมา
นี่คือเรื่องของพระอริยสัจ ๔
ที่ทำงานอยู่ในจิตใจของสัตว์โลก
ส่วนใหญ่จะถูกอริยสัจข้อที่
๒ คือสมุทัยสัจจะ รุมเร้าอยู่ตลอดเวลา
เพราะมีตัณหาทั้ง
๓ อาศัยอยู่ คือกามตัณหา
ความอยากในกาม ได้แก่รูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อยากตลอดเวลา
ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ
ได้มาเท่าไหร่ก็ไม่พอ
อยากจะเสพสัมผัสไปเรื่อยๆ
เมื่อไม่ได้เสพสัมผัสก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
ทุกข์เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่ได้ทำตามความอยาก
ถ้าได้ทำก็จะไม่ทุกข์
เลยทำให้สัตว์โลกกลับไปเห็นว่า
ความอยากเป็นเหตุของความสุข
เพราะเวลาอยู่บ้านจะรู้สึกว่าเศร้าสร้อยหงอยเหงา
พอได้ออกไปเที่ยว
ก็มีความสุข แต่ไม่เคยคิดว่า
ถ้าอยากไปเที่ยวแล้วไม่ได้ไป
จะรู้สึกอย่างไร
ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
เป็นเรื่องที่สัตว์โลกมักจะไม่เห็นกัน
จะเห็นแต่เวลาได้ทำตามความอยาก
เวลาได้ทำก็ดีอกดีใจ
แต่ไม่คิดถึงเวลาที่ไม่ได้ทำ
หรือไม่ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
เช่นเวลาได้คู่ครองมา
ก็จะมีความสุข
แต่เวลาคู่ครองจากเราไป
ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
ก็จะต้องเกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา
ถ้าระงับความอยากไว้เสียแต่แรก
คือเวลาอยากจะมีคู่ครอง
แล้วเห็นด้วยปัญญาว่าเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข
สุขแบบนี้เป็นเหมือนน้ำตาลเคลือบยาขม
ไม่จีรังถาวรอะไร
สู้อย่าไปมีเสียจะดีกว่า
เมื่อไม่มีคู่ครองก็จะไม่มีการพลัดพรากจากกัน
เวลาอยู่ก็ไม่เดือดร้อน
เพราะไม่ต้องห่วงกัน
เวลามีคู่ครอง
ก็จะมีความสุขตอนที่ได้กัน
จากนั้นก็ต้องห่วงต้องกังวล
ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะจากกันไป
ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
ขณะที่อยู่ร่วมกันก็ยังมีความทุกข์เลย
ทุกข์ที่เกิดจากความกังวลห่วงใย
แล้วเวลาที่ต้องจากกัน
ก็จะต้องทุกข์กับความเศร้าโศกเสียใจ
ที่เกิดจากความอยากนั่นเอง
ความอยากในกาม
อยากในรูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกอกถูกใจ
ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนแล้ว
ก็จะรู้ว่า
ความอยากแบบนี้เป็นเหตุ
ที่จะนำความทุกข์มาให้กับเรา
ควรยับยั้งต่อสู้อย่าปล่อยให้ลากพาไป
สิ่งที่จะยับยั้งได้ก็คือมรรคนี่เอง
มรรคเป็นเครื่องยับยั้งจิตใจได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสัมมาสติสัมมาสมาธิ
ที่จะทำให้จิตนิ่งจิตสงบ
ในขณะที่จิตสงบนิ่งอยู่ ตัณหาความอยากต่างๆก็จะสงบนิ่งไปด้วย
ไม่มารบกวน
จึงสามารถอยู่เฉยๆ
อยู่ตามลำพังของเราได้
ไม่มีคู่ครองก็ไม่รู้สึกว้าเหว่
ไม่รู้สึกว่าขาดอะไรไป
แต่ถ้าไม่มีสมาธิ
ไม่มีสติแล้ว
สังขารความคิดปรุงก็จะทำงานไปตามอำนาจของตัณหา
ที่มีฝังอยู่ในจิตในใจ
ก็จะคิดว่าอยู่คนเดียวรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงา
อยากจะมีเพื่อน
อยากจะมีคู่ครอง
เมื่อมีความคิดอย่างนั้นแล้ว
ก็ต้องออกไปแสวงหาคู่ครอง เมื่อได้มาแล้วก็ต้องเข้าสู่ความทุกข์ต่อไป
เพราะเห็นๆกันอยู่แล้วว่า
คนที่มีคู่มักจะมีความทุกข์เสมอ
รูปลักษณะของความทุกข์ก็มีแตกต่างกันไป
บางคู่อยู่ร่วมกันด้วยความรัก
ก็ต้องห่วงต้องกังวลกัน
เวลาพลัดพรากจากกัน
ก็เศร้าโศกเสียใจ
บางคู่ก็อยู่ร่วมกันด้วยการทะเลาะวิวาทกัน
ไม่ลงรอยกัน
มีเรื่องมีราวกันตลอดเวลา
อย่างนี้ก็ทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง
เป็นความทุกข์เหมือนกัน
ถ้าอยู่คนเดียว
ก็จะไม่มีความทุกข์เหล่านี้
เพราะไม่ต้องทะเลาะกัน
ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล
ไม่ต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ
แต่ที่อยู่คนเดียวไม่ได้
ก็เพราะจิตขาดสัมมาสติ
ขาดสัมมาสมาธินั่นเอง
ไม่สามารถทำจิตให้สงบ
ให้นิ่ง ให้เย็นได้
เมื่อจิตไม่นิ่ง ไม่เย็น
ก็เกิดความรุ่มร้อน
เกิดความอยากต่างๆนานาขึ้นมา
จึงต้องสร้างสมาธิให้เกิดขึ้นมาให้ได้
จะมีสมาธิได้ก็ต้องมีสติ
ที่จะดึงจิตไม่ให้ไปเพ่นพ่าน
ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
คือดึงให้อยู่ในปัจจุบัน
สัมมาสติคือการให้จิตรู้อยู่กับปัจจุบัน
อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้
ไม่ไปอยู่ที่กรุงเทพฯ
ไม่ไปอยู่ที่อื่น อยู่ที่นี่
แต่ถ้าจิตไม่มีสติ
ก็จะคิดไปเรื่อยเปื่อย
คิดไปได้หมด เมื่อกี้ไปไหนมา
เดี๋ยวจะไปที่ไหนต่อ
เมื่อวานนี้ไปทำอะไรมา
เมื่อเช้านี้ได้ยินคนนั้นพูดอะไร
ทำให้ไม่พออกไม่พอใจ
ก็เก็บเอามาคิด
เก็บเอามาโกรธอยู่ในจิตอยู่ในใจ
เพราะขาดสติคอยดูแลรักษาจิตใจ
ถ้ามีสติแล้วจะต้องรู้ทันทีว่า
ขณะนี้เราอยู่ที่ไหน
อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ หรือเถลไถลไปที่อื่นแล้ว
ถ้ารู้ด้วยสติก็ดึงกลับมา
ถ้ารู้ไม่ทัน
ก็ต้องผูกจิตไว้กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
เช่นพุทโธๆๆ ก็บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
ตลอดทั้งวันทั้งคืน
ไม่คิดเรื่องอะไรทั้งสิ้นถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคิด
ถ้าเป็นพระก็จะไม่ค่อยมีเรื่องที่จะต้องคิด
จึงควบคุมจิตให้อยู่กับพุทโธๆๆได้ตลอดเวลา
ถึงแม้ในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ
ไม่ว่าจะกวาดถูศาลา
ออกบิณฑบาต ขบฉันก็พุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
ไม่ไปคิดเรื่องอื่น
ให้มีสติอยู่กับพุทโธๆๆไป
ถ้ามีสติอยู่กับพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
ต่อไปจิตก็จะเป็นสมาธิขึ้นมา
จิตจะตั้งมั่น
จะไม่ลอยไปลอยมา
ที่ลอยไปลอยมาเพราะเป็นเหมือนนุ่น
มีลมพัดมานิดเดียว
ก็จะปลิวไปทันที
จิตที่ไม่มีสมาธิจะเบาเหมือนนุ่น
ไม่ได้เบาเพราะปราศจากกิเลสตัณหา
เบาเพราะขาดความหนักแน่น
เวลามีอารมณ์อะไรมากระทบ
มาสัมผัส ก็ลอยไปแล้ว
พอคิดเรื่องอะไรขึ้นมาปั๊บ
ก็จะไหลตามไปทันที
ถ้าจิตหนักแน่นด้วยสมาธิ
จะไม่ไปง่ายๆ
เพราะมีสติคอยดึงเอาไว้
ไม่ให้ไป
ยกเว้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องคิด
เพราะชีวิตของคนเรายังมีภารกิจการงาน
ต้องทำงานทำการ
ต้องออกบิณฑบาต
ต้องรับประทานอาหาร
ต้องทำภารกิจต่างๆ
ก็ต้องคิดในเรื่องที่จำเป็น
อย่างนี้ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร
แต่ถ้าไม่มีสติ
ไม่มีสมาธิ
จิตก็จะไหลไปตามอารมณ์ต่างๆที่มากระทบ
ทำให้ว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ตลอดเวลา
เพราะไปแบกเอาเรื่องราวต่างๆเข้ามาในจิตในใจนั่นเอง
แทนที่จะปล่อยให้ผ่านไป
กลับไปดึงกลับมา
เช่นเวลาได้ยินคำพูดที่ไม่ถูกอกถูกใจ
ทั้งๆที่พูดไปตั้งแต่เมื่อเช้านี้แล้ว
หลายชั่วโมงผ่านไปแล้ว
ก็ยังเอามาคิดอยู่ภายในใจ
ทุกครั้งที่คิดก็เกิดความหงุดหงิดใจ
เกิดความไม่พอใจขึ้นมา
แล้วก็ไม่รู้จักวิธีทำให้ความคิดนั้นหายไป
ซึ่งง่ายนิดเดียวก็คือไม่ไปคิดถึงเรื่องนั้นเท่านั้นเอง
แต่ก็อดคิดไม่ได้
เพราะไม่เคยฝึกจิตนั่นเอง
ไม่เคยควบคุมจิตให้อยู่ตามคำสั่ง
จิตจะไปตามคำสั่งของเขา
อยากจะคิดอะไรก็จะคิด
ส่วนใหญ่ก็ชอบคิดในเรื่องที่ทำให้เกิดความทุกข์นั่นแหละ
เรื่องที่ไม่ควรคิดแต่ก็อดคิดไม่ได้
ถ้าได้ฝึกทำสมาธิอยู่เรื่อยๆ
ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา
เวลาคิดถึงเรื่องที่สร้างความทุกข์ขึ้นมา
ถ้าเคยบริกรรมพุทโธๆๆ
ก็บริกรรมพุทโธๆๆไป
ความคิดอื่นก็ไม่สามารถแทรกเข้ามาได้
เมื่อเข้ามาไม่ได้
ก็จะไม่รบกวนใจ
การปฏิบัติของสายปฏิบัติ
จึงเน้นไปที่สติเป็นหลัก
ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามควรจะมีสติ
มีความรู้สึกตัว
รู้อยู่เสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่
กาย วาจาใจ
กำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด
ถ้ามีสติแล้ว
จะทำอะไรก็ไม่พลาด
พระทางสายปฏิบัติ
เวลาทำงานกันจะทำกันอย่างรวดเร็ว
แต่จะไม่ค่อยพลาดพลั้งเผลอกันเท่าไหร่
เช่นจะไม่มีเสียงดัง
ทำอะไรจะเงียบ
แต่ถ้าเป็นฆราวาสแล้ว
ทำอะไรก็จะอึกทึกครึกโครมไปหมด
เพราะทำโดยปราศจากสตินั่นเอง
มีสติเหมือนกันแต่ไม่เข้มข้นพอที่จะเฝ้าดูทุกขณะจิตว่า
กำลังเคลื่อนไหวไปทางไหน
เช่นเวลาเช็ดช้อนเช็ดจาน ไม่รู้ว่าตอนที่วางจานวางช้อนนั้น
วางอย่างไร แรงหรือค่อย
เพราะสติไม่ละเอียดถึงขนาดนั้น
แต่ผู้ปฏิบัติจะมีสติละเอียดเข้าไปทุกขณะเลย
ขณะหยิบช้อนขึ้นมาเช็ด
ขณะที่จะวางช้อนลงไป
จะมีเสียงไม่มีเสียง
จะมีสติรู้อยู่ตลอดเวลา
การทำงานของพระปฏิบัติจึงทำได้อย่างรวดเร็วและเงียบสงบ
ไม่มีเสียง
เวลาคนไม่มีสติเข้ามาในสังคมนั้น
จะเปิดเผยตัวเองทันทีเลย
ทำอะไรก็ดังโครมครามๆไปหมด
เปิดปิดประตู
เปิดปิดหน้าต่าง
ก็เป็นเสียงดังไปหมด
เพราะไม่เคยฝึกสติให้มีความละเอียดถึงขนาดนั้น
แต่ถ้าได้เคยอยู่ในสำนักปฏิบัติแล้ว
จะระมัดระวังมากเรื่องเสียง
เพราะถือว่าการกระทำต่างๆต้องเงียบ
ต้องสงบ
เป็นการฝึกสติไปในตัว
หลักของการปฏิบัติไม่ได้ต้องการความเงียบเป็นผล
แต่ต้องการสติ
ต้องการสมาธิเป็นหลัก
การทำงานต่างๆก็เพื่อฝึกสติ
ฝึกจิตเป็นหลัก
เพราะเมื่อสามารถควบคุมจิตใจให้เป็นไปตามคำสั่งได้แล้ว
ก็จะสามารถระงับการกระทำของจิตในทางที่ไม่ดีได้
เช่นเวลาเกิดตัณหาขึ้นมา
ก็สามารถระงับดับมันได้
การดับตัณหาก็มีอยู่
๒ วิธีด้วยกันคือ ๑. สมาธิ
ซึ่งดับได้ในช่วงระยะสั้นๆ
พอเบรกให้หยุดได้ชั่วคราว
เวลาอยากได้สิ่งนั้นอยากได้สิ่งนี้
ก็จะรู้ว่าเกิดความอยากขึ้นมา
เพราะเกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา
โดยปกติจิตที่มีสมาธิจะมีความเยือกเย็นเป็นพื้น
พอเกิดความอยากขึ้นมา
ก็จะร้อนวูบขึ้นมา
เหมือนกับจุดไม้ขีดขึ้นมา
ก็จะร้อนขึ้นมาทันที
สมาธิจะดับได้เพียงชั่วคราว
เดี๋ยวความอยากก็โผล่ขึ้นมาอีก
จึงต้องใช้วิธีที่ ๒. คือปัญญา
ที่จะดับได้อย่างถาวร
เช่นอยากมีคู่ครอง
ถ้าบวชเป็นพระ
สิ่งแรกที่พระอุปัชฌาย์จะสอนให้พระผู้บวชใหม่ทุกๆรูปศึกษาหรือพิจารณาก็คือกรรมฐาน
๕ ได้แก่ผม
ขน เล็บ ฟัน หนัง
โดยอนุโลมและปฏิโลม
คือทั้งลงและขึ้น
พิจารณาผมขนเล็บฟันหนัง
แล้วก็พิจารณาหนังฟันเล็บขนผมย้อนกลับมา
ให้พิจารณาอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ
ไม่ให้อยู่ห่างจากใจ
เมื่อพิจารณาแล้ว
จะเห็นความไม่สวยไม่งามของร่างกาย
ที่กิเลสตัณหา
มักจะเห็นว่าเป็นของสวยของงาม
ท่านสอนให้พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งามของสิ่งต่างๆเหล่านี้
เวลาผมกลายเป็นสีขาว
ก็เป็นที่รังเกียจ
หนังก็เช่นเดียวกัน
หนังที่เต่งตึงในวันนี้
ในวันข้างหน้าก็ต้องเหี่ยวย่น
ให้พิจารณาไปเรื่อยๆ
จนถึงอาการส่วนอื่นๆของร่างกายที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง
ก็จะเห็นความไม่สวยไม่งามของร่างกายมากขึ้นไปๆ
เมื่อได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง
ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เราชอบ
สิ่งที่เราว่าสวยงามนั้น
ความจริงแล้วก็มีสิ่งที่ไม่สวยงามซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง
เพียงแต่เราไม่ได้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา
จึงมองไม่เห็น
ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เรื่อยๆแล้ว
ต่อไปความรู้นี้ก็จะติดอยู่กับใจ
พอเกิดความอยากขึ้นมา
ความรู้ที่ได้พิจารณาก็จะผุดขึ้นมาทันที
ว่าไม่สวยอย่างที่เราคิดหรอก
ความอยากก็จะดับไป
ทุกครั้งที่คิดอยาก
ความรู้ที่ได้พิจารณาก็จะผุดขึ้นมาๆในที่สุด
ความอยากก็จะไม่มีกำลังโผล่ขึ้นมา
อย่างนี้เรียกว่าปัญญาหรือวิปัสสนา
การพิจารณาอสุภกรรมฐาน
ก็เพื่อแก้กามตัณหา
แก้กามราคะ ความยินดีในรูปที่สวยที่งาม
ที่เราหลงว่าสวยว่างาม
แต่ความจริงแล้วร่างกายไม่ได้สวยงามเลย
เราไปหลงเขาเอง ว่าสวยว่างาม
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มองในส่วนที่ไม่สวยไม่งามด้วย
เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริง
เรามักจะมองด้านเดียวเท่านั้น
คือด้านที่เราชอบ
แต่ด้านที่เราไม่ชอบ
เราจะไม่มองกัน
ทั้งๆที่ก็มีอยู่ในคนๆเดียวกัน
ทีนี้ปัญหาของพวกเราเวลาพิจารณาความไม่สวยไม่งามนี้
โดยมากจะพิจารณาได้ไม่นาน
เพราะกิเลสชอบมาขัดมาขวางอยู่เสมอ
เราจึงต้องฝืน
ต้องบังคับให้พิจารณา
ถ้าไม่ฝืนไม่บังคับแล้ว
จะไม่ค่อยได้พิจารณากันสักเท่าไหร่
แต่ถ้าได้ฝืน
ได้บังคับไปเรื่อยๆ
พิจารณาไปเรื่อยๆ
ต่อไปจะกลายเป็นนิสัยขึ้นมา
เหมือนกับหัดใช้มือซ้าย
ถ้าถนัดขวา
จะไม่ชอบใช้มือซ้าย
เพราะอึดอัด ไม่สะดวก
ไม่คล่องแคล่วว่องไว
เพราะไม่ถนัด
แต่ถ้าพยายามฝืนใช้ไปเรื่อยๆ
หัดใช้ไปเรื่อยๆ
ต่อไปก็จะเกิดความชำนาญ
เกิดความถนัด
จนกลายเป็นนิสัยไป
การเจริญปัญญาก็เป็นอย่างนี้
จิตของพวกเราส่วนใหญ่
มักจะชอบมองสิ่งต่างๆว่าสวยว่างาม
ว่าจีรังถาวร
เห็นอะไรก็คิดว่าเป็นอย่างนั้นเสมอ
เห็นรูปร่างหน้าตาที่ถูกใจ
ก็คิดว่าจะเป็นอย่างนั้นไปตลอด
ไม่เคยคิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องแก่ต้องตายไป
ผมจะกลายเป็นสีขาว
หนังจะเหี่ยว แล้วก็ตายไป
แตกสลายไป
จิตที่มีกิเลสครอบงำอยู่
จะไม่ชอบคิดอย่างนี้กัน
แต่ถ้าต้องการแก้ปัญหาคือความทุกข์ใจ
ก็ต้องบังคับใจให้พยายามพิจารณาอยู่เรื่อยๆ
การที่จะเจริญปัญญาได้อย่างต่อเนื่องจนได้ผล
จิตต้องตั้งมั่น
ถ้ายังลอยไปลอยมาอยู่
จะพิจารณาอสุภะได้ไม่นาน
พอมีอารมณ์อื่นมากระทบ
ก็จะฉุดลากจิตให้ไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้แทน
ถ้าจิตมีสมาธิตั้งมั่นอยู่แล้ว
จะไม่ไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ
จะไม่มีอารมณ์ต่างๆมารบกวน
กำหนดให้พิจารณาอะไร
ก็จะอยู่กับเรื่องที่ได้กำหนดไว้
การปฏิบัติจึงไม่ควรมองข้ามสมาธิไป
บางคนคิดว่าสามารถปฏิบัติโดยไม่ต้องมีสมาธิเลย
คือให้เข้าสู่วิปัสสนา
ให้เข้าสู่ปัญญาเลย
ส่วนใหญ่เวลาเข้าไปแล้วจะไม่ได้ผลเท่านั้นเอง
จะกลายเป็นความฟุ้งซ่านไปเสียมากกว่า
กลายเป็นจินตนาการไป
ไม่ได้เป็นความจริง
เวลาเกิดกิเลสขึ้นมา
ก็จะสู้ไม่ได้
แต่ถ้ามีสมาธิอยู่แล้ว
เวลาพิจารณาอะไร
จิตก็จะเกาะติดอยู่กับสิ่งที่ให้พิจารณา
จนเข้าใจ จนอยู่ติดกับใจ
ทีนี้ไม่ต้องพิจารณาอีกแล้ว
พอกิเลสโผล่ขึ้นมา
ความรู้ที่ได้พิจารณาแล้วอย่างช่ำชอง
ก็จะผุดขึ้นมารับทันทีโดยอัตโนมัติเลย
เป็นธรรมชาติของจิตไป
แล้วก็จะรู้ว่า
กิเลสแบบนี้ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป
เพราะไม่หลงแล้ว
รู้เท่าทันแล้ว
เวลากิเลสบอกว่าสวย
ปัญญาจะบอกว่าไม่สวย
ก็จะทำลายล้างกันไปจนหมดสิ้นไปจากใจ
กิเลสก็จะไม่สามารถมาหลอกใจได้อีกต่อไป
เพราะมีปัญญา
รู้ทันกิเลสแล้วนั่นเอง
นี่คือการปฏิบัติที่เรียกว่ามรรค
ต้องเจริญให้มาก
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
มรรคต้องเจริญให้มาก
ทุกข์ต้องกำหนดรู้
สมุทัยต้องละ
นิโรธต้องทำให้แจ้ง
วิธีที่จะทำให้นิโรธแจ้ง
ที่จะละสมุทัย
ที่จะกำหนดรู้ทุกข์
ก็อยู่ที่การเจริญมรรคนั่นเอง
การเจริญมรรคจะทำให้เห็นความแก่
ความเจ็บ
ความตายอยู่ตลอดเวลา
เป็นอริยสัจข้อที่ ๑ คือทุกขสัจจะ
พวกเราส่วนใหญ่มักจะมองข้ามทุกขสัจจะไป
เมื่อลืมทุกขสัจจะก็จะเกิดตัณหา
เกิดความอยากจะสร้างโน่น
สร้างนี่ ทำโน่นทำนี่
เป็นโน่นเป็นนี่
แล้วก็ต้องไปทุกข์กับเรื่องโน้นทุกข์กับเรื่องนี้
แต่ถ้าได้เจริญมรรค
คือสัมมาทิฏฐิก็จะรู้ว่า
คนเราเกิดมาแล้วต้องแก่
ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา
ต้องพลัดพรากจากของรักทั้งหลายไปเป็นธรรมดา
ต้องประสบกับสิ่งทั้งหลายที่ไม่ปรารถนาเป็นธรรมดา
เมื่อพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ
ก็จะไม่ถูกอำนาจของตัณหามาหลอกให้ไปสร้างโน่น
สร้างนี่ สร้างครอบครัว
สร้างสวรรค์วิมานในโลกนี้
ซึ่งเป็นไปไม่ได้
เพราะในที่สุดแล้วก็ต้องแก่
ต้องเจ็บ ต้องตายไป
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็จะถอยออกจากการสร้างการหาความสุขกับสิ่งต่างๆในโลกนี้
เกิดปัญญาขึ้นมา
เมื่อเกิดปัญญาขึ้นมา
ก็จะระงับดับตัณหาต่างๆ
ที่หลอกให้ไปสร้างโน่นสร้างนี่
เป็นโน่นเป็นนี่ได้
เมื่อไม่มีตัณหาอยู่เฉยๆก็มีความสุขแล้ว
เป็นความสุขที่แท้จริง
คือการอยู่เป็นสุขนั่นเอง
เมื่ออยู่เฉยๆได้แล้ว
มีเพียงร่างกายกับใจเป็นสมบัติก็เพียงพอแล้ว
ไม่ต้องมีสมบัติอื่นอีก
ก็มีความสุขอย่างมากมายก่ายกอง
ยิ่งกว่าคนที่มีเงินทองกองเท่าภูเขาเสียอีก
เพราะเป็นความสุขที่ไม่ได้เกิดจากตัณหาความอยาก
ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์
ถ้ามีตัณหาแล้วต่อให้มีเงินทองกองเท่าภูเขา
ก็ยังจะอยากอยู่ตลอดเวลา
เพราะไม่มีความพอนั่นเอง
มีร้อยก็อยากจะได้เป็นพัน
มีพันก็อยากจะได้เป็นหมื่น
ก็อยากไปเรื่อยๆ
นี่คือธรรมชาติของตัณหา
แต่ถ้าไม่มีตัณหาแล้ว
ความอิ่มก็จะเกิดขึ้นมาทันที
ตัณหากับความอิ่มจึงเป็นเหมือนด้านทั้ง
๒ ด้านของเหรียญอันเดียวกัน
ด้านหนึ่งเป็นตัณหา
อีกด้านเป็นความอิ่ม
ถ้าด้านตัณหาหงายขึ้นมา
ก็จะมีแต่ความหิว
ถ้าพลิกกลับมาอีกด้านหนึ่งก็จะมีแต่ความอิ่ม
จิตของเราก็เหมือนกัน
มีอยู่ ๒ ด้าน หิวกับอิ่ม
ถ้าปล่อยให้ความหิวคือตัณหาทำงาน
ก็จะหิวไปตลอด ถ้าทำให้อิ่ม
ก็จะไม่หิวกับอะไร
ไม่อยากกับอะไร
มีความพอก็มีความสุข
ไม่ต้องมีอะไรก็อยู่ได้
เพราะไม่มีอะไรทำให้จิตอิ่มหรือพอได้
นอกจากตัวจิตเองจะต้องพอ
จะต้องพลิกจิตให้เข้าสู่ด้านอิ่มให้ได้
ส่วนใหญ่มักจะถูกกิเลสตัณหาหลอกให้ไปในด้านหิว
เมื่อหิวแล้วได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่ม
ไม่รู้จักพอ
แต่ถ้าใช้ธรรมะมาดับตัณหาความอยาก
ก็จะทำให้จิตอิ่มได้
เราจึงต้องต่อสู้กับตัณหาความหิว
ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา
ด้วยมรรค ๘ บำเพ็ญไปเรื่อยๆ
ศีลก็รักษาไป
สมาธิก็พยายามทำไป
ปัญญาก็พยายามพิจารณาไปเรื่อยๆ
พิจารณาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ
ตาย เรื่องอสุภะ อสุภัง
ความไม่สวยไม่งาม
ไม่ช้าก็เร็วก็จะค่อยๆซึมซาบเข้าไปในจิตในใจ
จนกลายเป็นเครื่องมือต่อสู้กับตัณหาความอยากได้
เวลาเกิดความอยากขึ้นมา
ก็จะถามตัวเองว่า
จะอยากไปถึงไหน
เดี๋ยวก็ตายแล้ว
มีเงินเท่าไหร่ก็เอาไปไม่ได้
ตอนนี้อายุเท่าไหร่แล้ว
จะอยากไปหาอะไร
ความสุขต่างๆในโลกนี้ก็ได้ผ่านมามากต่อมากแล้ว
ถ้าเป็นความสุขที่แท้จริง
ก็น่าจะให้ความอิ่มความพอกับเราแล้ว
ถ้ายังไม่ให้
เวลากลับไปหาความสุขเหล่านี้อีก
ก็จะเป็นเหมือนเดิม
ยังอยากไปเรื่อยๆ อีก ๑๐ ปี ๒๐
ปีข้างหน้าก็ยังจะเป็นอย่างนี้
ยังหิวแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ลองหันมาหาความสุขแบบที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ
จะไม่ดีกว่าหรือ
ความสุขที่เกิดจากความดับของความทุกข์
ดับของตัณหา ดับของสมุทัย
นี่แหละคือวิธีสร้างความสุขที่แท้จริง
วิธีที่จะทำให้จิตใจอยู่เหนือความทุกข์ทั้งหลายได้
ก็คือการเจริญมรรคนี่เอง
จึงเป็นเหตุให้ชาวพุทธต้องไปที่โน่นที่นี่
ไปวัดนั้นวัดนี้
เพื่อไปทำบุญทำทาน
ไปรักษาศีล ไปปฏิบัติธรรมกัน
เพื่อสร้างมรรคซึ่งเป็นเหมือนกับยามารักษาโรคใจ
มาทำลายเชื้อโรค
คือความอยากที่มีอยู่ภายในจิตใจ
เมื่อได้เจริญมรรคไปเรื่อยๆแล้ว
ยาก็จะมีกำลังมากขึ้นไปๆ
ก็จะทำลายเชื้อโรคคือตัณหาความอยากต่างๆ
ที่มีอยู่ในจิตในใจให้เบาบางลงไป
จนหมดสิ้นไป ผู้บรรลุธรรมจึงบรรลุเป็นขั้นๆไป
ตั้งแต่ขั้นโสดาบัน
สกิทาคามี อนาคามี
จนถึงขั้นพระอรหันต์
ก็อาศัยการเจริญมรรคเป็นขั้นๆไป
ขั้นแรกก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ขั้นต่อไปเมื่อมรรคมีกำลังมากขึ้นก็บรรลุขั้นสกิทาคามี
แล้วก็ขั้นอนาคามี
จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ไปในที่สุด
ก็เกิดจากการบำเพ็ญอย่างต่อเนื่อง
เจริญมรรคอย่างต่อเนื่อง
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ว่า
มรรคต้องเจริญให้มาก
หน้าที่ของชาวพุทธจึงต้องปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ
๔ เป็นหลัก
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า
ทุกข์ต้องกำหนดรู้ ต้องศึกษาอยู่เรื่อยๆ
สอนใจอยู่เรื่อยๆว่า
เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ
ต้องตาย นี่คือการศึกษา
เป็นการสอนใจ
ต้องศึกษาพระอริยสัจ
ทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ
สมุทัยคือตัณหาทั้ง ๓ มีกามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา ต้องละ
แล้วก็นิโรธต้องทำให้แจ้ง
นิโรธก็คือการดับของทุกข์
ต้องทำให้ปรากฏขึ้นมา
การที่จะทำให้นิโรธปรากฏขึ้นมาได้
ละตัณหาได้
ก็ต้องเจริญมรรคให้มาก
ด้วยการกำหนดรู้ทุกข์
พิจารณาความเกิด ความแก่
ความเจ็บ ความตาย พิจารณาอสุภะอสุภัง
ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา
สนับสนุนด้วยสมาธิและศีล
เราจึงต้องรักษาศีล
เมื่อมีศีลแล้ว
เวลาบำเพ็ญสมาธิภาวนาจิตก็จะสงบง่าย
เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว
เวลาเราพิจารณาทางด้านปัญญาก็จะเห็นชัด
จะมีกำลังระงับดับตัณหาได้
เมื่อระงับดับตัณหาได้แล้ว
นิโรธการดับทุกข์หรือวิมุตติการหลุดพ้นจากความทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นมา
นี่คือเป้าหมายของชาวพุทธเรา
การปฏิบัติมาทั้งหมดนี้
ก็เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์
สามารถทำได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตายไปแล้ว
ถึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์
พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอริยสัจ
๔ ในวันเพ็ญเดือน ๖
ในขณะที่มีพระชนมายุเพียง ๓๖
พรรษา ยังไม่ได้เสด็จสวรรคต
ก็บรรลุแล้ว
หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหมดแล้ว
เพราะได้ทรงทำกิจในพระอริยสัจ
๔ อย่างครบถ้วนบริบูรณ์
ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า
ทุกข์ที่ควรกำหนดรู้
ตถาคตได้กำหนดรู้แล้ว
ตัณหาหรือสมุทัยที่ควรละ
ตถาคตได้ละแล้ว
นิโรธที่ควรทำให้แจ้ง
ตถาคตได้ทำให้แจ้งแล้ว
มรรคที่ควรเจริญให้มากตถาคตได้เจริญแล้วจนสมบูรณ์แล้ว
เมื่อได้ทำกิจทั้ง ๔
ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว
วิมุตติคือการหลุดพ้นจากทุกข์ก็เป็นผลที่จะตามมาต่อไป
เมื่อได้เห็นผลนี้แล้ว
กิจทั้งหลายในโลกนี้ก็หมดสิ้นไป
กิจอื่นที่ยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
เพราะจิตใจสะอาดหมดจดแล้ว
ไม่สร้างปัญหาให้กับเราอีกแล้ว
เหมือนกับคนที่หายจากโรคภัยไข้เจ็บแล้วไม่มีความจำเป็นจะต้องรักษาอีกต่อไป
ไม่จำเป็นต้องมีหมอ
ไม่จำเป็นต้องมียาอีกต่อไป
เพราะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนอีกต่อไปนั่นเอง
นี่คือผลที่ชาวพุทธจะได้รับ
จากการที่พยายามประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานขึ้นมา
จนถึงขั้นสูงสุด
จากการทำบุญทำทาน รักษาศีล
บำเพ็ญภาวนา นั่งสมาธิ
เจริญวิปัสสนา
จนหลุดพ้นไปในที่สุด
พวกเราจึงควรมีความแน่วแน่มั่นคง
มีความมั่นใจ
ว่าสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมานั้น
ล้วนเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล
เป็นความจริงทั้งสิ้น
และอยู่ในวิสัยของมนุษย์อย่างเราอย่างท่านทุกคน
ที่จะสามารถบำเพ็ญได้
ข้อสำคัญขอให้อย่าท้อแท้เวลาที่เกิดความทุกข์
หรือรู้สึกว่ายังปฏิบัติไปไม่ถึงไหนเลย
ก็ขอให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ระลึกถึงพระอริยสงฆ์ทั้งหลายว่า
ท่านก็เป็นเหมือนเรามาก่อน
ท่านก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ
ล้มลุกคลุกคลานมาเหมือนกัน
ตอนที่เราเป็นเด็กเล็ก
ไม่ใช่ว่าจะลุกขึ้นมายืนเดินได้เลย
ก็ต้องค่อยคลานไปก่อน
พยายามทำไปเรื่อยๆ
หัดไปเรื่อยๆ หัดคลาน หัดยืน
หัดเดินไปเรื่อยๆ
ไม่ช้าก็เร็วก็เดินได้วิ่งได้
จนทำอะไรต่างๆได้ในวันนี้
ซึ่งตอนที่เป็นเด็กเรายังทำไม่ได้
แต่เนื่องจากมีความพยายาม
มีความอดทน ไม่ท้อแท้
พยายามฝึกไปเรียนไปเรื่อยๆ
จนสามารถทำสิ่งต่างๆได้ในวันนี้
เช่นเดียวกันกับการปฏิบัติธรรม
วันนี้เรายังอยู่ในขั้นล้มลุกคลุกคลาน
ทำบุญให้ทาน รักษาศีล
นั่งสมาธิได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
ก็ขอให้ทำไป
เพราะไปในทางที่ถูกแล้ว
มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น
ไม่มีทางอื่นที่จะพาให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้
ให้ยึดทางนี้ไว้ให้ดี
พยายามปฏิบัติไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
รับรองได้ว่าสิ่งที่ดีที่งามต่างๆ
ก็จะเป็นผลตามมาต่อไป
มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถในการปฏิบัติเท่านั้นเอง
จึงขอให้ท่านทั้งหลายนำไปพินิจพิจารณา
แล้วปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขต่อไป
การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้
ถาม
อยากจะถามปัญหาค่ะ
ตอบ
ถ้ามองเห็นความไม่เที่ยง
ก็จะตัดปัญหาไปได้เยอะ
ถาม
นั่นคือคำตอบหรือคะ
ตอบ
คำตอบก็คือ
ชีวิตของเราไม่ยาวหรอก
เดี๋ยวทุกอย่างก็หมดไป
ชีวิตเราก็เหมือนเจดีย์ทรายที่ก่อไว้ที่ชายทะเลตอนน้ำลง
พอน้ำขึ้นมา
ก็ถูกซัดหายไปหมด
จะสร้างดีสวยงามขนาดไหน
เดี๋ยวก็สลายไปหมด
แต่สิ่งที่ไม่สลายไปก็คือ
ความดีความงามของจิตใจบุญกุศล
หรือบาปกรรมความชั่ว
จะไม่สลายไปกับวัตถุร่างกายของเรา
เพราะเป็นนามธรรม
อยู่คู่กับจิตใจ
ทำให้ใจดีขึ้นหรือเลวลง
บุญกุศลทำให้ใจดีขึ้น
ฉลาดขึ้น
ความฉลาดนี่แหละที่ทำให้ใจหลุดพ้น
ความหลงทำให้ติดอยู่เหมือนคนติดยาเสพติด
เพราะหลงว่ายาเสพติดดีวิเศษ
เวลาเสพแล้วมีความสุข
แต่คนฉลาดจะรู้ว่าไม่ใช่เป็นอย่างนั้น
จึงหลีกเลี่ยง
จึงหลุดพ้นจากสิ่งเลวร้ายทั้งหลาย
จะเห็นความจริงเหล่านี้ได้
ก็ต้องทำจิตให้สงบ
ถ้าจิตสงบแล้วจะเห็นความสุขที่แท้จริงว่าอยู่ที่ตรงไหน
รู้ด้วยว่าเป็นความสุขที่ถาวร
รู้ว่าความสุขอื่นๆไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
เป็นเหมือนความสุขที่ปรากฏในฝัน
จะฝันดีขนาดไหน
พอตื่นขึ้นมาความสุขนั้นก็หายไปหมดแล้ว
เหมือนกับเมื่อวานนี้เราได้ไปเที่ยวกันมา
มีความสุขกัน
พอวันนี้ก็เหลือแต่ความทรงจำเท่านั้น
แต่ความสุขที่ได้จากความสงบจะติดอยู่กับเราไปตลอด
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ตาม
วันนี้ก็ยังสุขอยู่
เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะอยู่ติดกับใจไปตลอด
เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา
ไม่เปลี่ยนไปตามกาลตามเวลา
ไม่เป็นอนิจจัง
อยู่กับจิตไปตลอด
จึงทรงตรัสว่า นิพพานัง
ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นบรมสุข
เป็นสุขที่ถาวร
จงพยายามสร้างความสุขในใจให้เกิดขึ้นเถิด
จะให้เกิดความสุขภายในใจได้
ก็ต้องปล่อยวางความสุขภายนอก
เพราะต้องแย่งกันเกิด
ถ้าจะเอาสุขนอก
สุขในก็ไม่เกิด
ถ้าจะเอาสุขใน
ก็ต้องปล่อยสุขนอก
จะเอาทั้ง ๒ สุขไม่ได้
ถ้าจะออกไปข้างนอกไปหาความสุขจากรูปเสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ก็จะไม่ได้ความสุขภายใน
ถ้าอยากจะได้ความสุขภายใน
ก็ต้องตัดรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะต่างๆออกไป
ชอบกินอะไร
ชอบดื่มอะไรก็ต้องตัดให้หมด
ถ้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพก็อย่าไปเสพ
อย่าไปสัมผัส
กินและดื่มเท่าที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาร่างกายเท่านั้นเอง
อย่าไปหวังความสุขจากรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
อย่าไปหวังความสุขจากการดื่ม
การรับประทาน
ให้หันเข้าหาความสุขภายในจะดีกว่า
เพราะเป็นความสุขที่แท้จริงและถาวร
ไปหาวัดที่สงบเงียบ
ไปรักษาศีลทีละ ๓ วัน ๕ วัน
สะสมไปเรื่อยๆ
แทนที่จะไปเที่ยวเมืองนอกเมืองนา
สู้ไปอยู่วัดไม่ได้
ถาม
เวลาใครพูดอะไรไม่ถูกใจ
ทำอย่างไรจึงจะระงับความโกรธได้
ตอบ
ต้องมีสติรู้ทันว่ากำลังโกรธ
รู้ว่าความโกรธเป็นโทษกับเรา
มากกว่าคนที่ทำให้เราโกรธ
คนที่ทำให้เราโกรธเป็นเหมือนกับคนจุดไฟ
แต่ไฟอยู่ในใจเรา
อย่าไปสนใจคนที่จุดไฟ
ต้องรีบหาน้ำมาดับไฟ
วิธีที่เร็วที่สุดก็คือปัญญา
รู้ว่านี่ไฟกำลังไหม้บ้านเรา
กำลังไหม้ตัวเรา
ก็หยุดโกรธเสีย นี่คือปัญญา
ถ้าไม่มีปัญญา
ก็ต้องใช้อุบายอย่างอื่นเช่น
เมตตา ให้อภัย
คิดว่าเรื่องก็ผ่านไปแล้ว
จะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บก็ไม่ได้แก้ความรุ่มร้อน
ความโกรธที่มีอยู่ภายในใจ
ก็คิดเสียว่าใช้หนี้เก่าไปก็แล้วกัน
แล้วแต่จะใช้อุบายคิด
วิธีที่ฉลาดที่เร็วที่สุดก็ต้องมองว่า
ไฟกำลังไหม้บ้าน
จะไปตีโพยตีพายทำไม
รีบหาน้ำมาดับไฟดีกว่า
ขณะนี้เรากำลังโกรธ
รีบระงับความโกรธนี้เถิด
ถ้าไม่รู้จะทำอย่างไรก็บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
อย่าไปคิดถึงคนที่ทำให้เราโกรธ
เดี๋ยวความโกรธก็หายไปเอง
ยิ่งไปคิดถึงคนที่ทำให้เราโกรธ
ทำไมเขาต้องทำให้เราโกรธ
เราก็ดีอย่างโน้นดีอย่างนี้
คิดอย่างนี้ก็ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาใหญ่
อย่าไปคิดถึงมันเลย
มันผ่านไปแล้ว
เวลาไฟไหม้ก็อย่าไปนั่งเถียงกันเลยว่าใครเป็นคนจุดไฟ
เดี๋ยวบ้านก็ไหม้หมด
ต่างคนต่างรีบไปหาน้ำมาดับกันดีกว่า
เวลาเกิดความโกรธ
ต้องบอกตัวเราว่าไฟกำลังไหม้ใจเรานะ
รีบดับมันเสีย
ถ้าใช้ปัญญาไม่ได้ก็ใช้อุบายของสมาธิไปก่อนด้วยการบริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
อย่าไปคิดถึงคนที่ทำให้เราโกรธ
ความกลัวก็เหมือนกัน
พระที่ต้องการแก้ความกลัว
ท่านจะไม่ชอบอยู่ตามสถานที่ปลอดภัย
เพราะจะไม่มีความกลัว
แต่พอไปอยู่ที่เปลี่ยวๆที่น่ากลัว
ความกลัวจะโผล่ขึ้นมา
พอโผล่ขึ้นมาท่านก็จะบริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
จิตก็จะอยู่กับพุทโธๆๆไปจนเป็นสมาธิขึ้นมา
พอจิตเป็นสมาธิสงบนิ่งแล้ว
ความกลัวก็หายไปหมดเลย
เพราะความกลัวก็ออกมาจากจิตนี้แหละ
จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง
ความโกรธก็ออกมาจากจิต
จิตไปปรุงไปแต่งมันขึ้นมาเอง
ถ้าระงับได้ ทำจิตให้สงบได้
ความกลัวก็ดี ความโกรธก็ดี
ก็จะหายไปเอง
นี่เป็นวิธีที่ง่าย
วิธีของสมาธิ
แต่ไม่ถาวรเหมือนกับการใช้ปัญญา
ถ้าใช้ปัญญาก็จะรู้ว่า
เราไปหลงมันเอง
ไปยินดียินร้ายกับมันเอง
ถ้าไม่ไปยินดียินร้าย
ก็จะทำให้เราโกรธไม่ได้
ถ้าไปหวังว่าเขาจะต้องพูดดีกับเรา
พอเขาพูดไม่ดีเราก็โกรธ
หรือเสียใจ
ถ้าไม่ไปหวังว่าเขาจะต้องดีกับเรา
เขาจะร้ายกับเราอย่างไร
เราก็พร้อมที่จะรับอยู่แล้ว
เราก็ไม่โกรธ เราก็ไม่เสียใจ
จึงอย่าไปหวังอะไรจากใครในโลกนี้
อย่าไปหวัง
อย่าไปหาความสุขจากภายนอก
ให้หาความสุขในตัวเรานี่แหละ
พอแล้วนะ จะให้พร