กัณฑ์ที่ ๒๒๙      ๙ ตุลาคม ๒๕๔๘

ความผิดหวัง

 

เวลารู้ว่าใครจะมาหา ก็จะเป็นภาระขึ้นมาในใจ เพราะต้องมีความรับผิดชอบ  จะไปไหนมาไหน ก็ไปไม่ได้ ไปแล้วก็จะรู้สึกไม่ดี ไม่สบายใจ ถ้าไม่รู้เรื่องเลย ก็ไม่ต้องกังวล แต่ปกติก็ไม่ได้ไปไหนอยู่แล้ว ถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ หรือกะทันหัน ก็จะไม่ได้ไปไหน แต่ก็ไม่เป็นไร ก็มาตามบุญตามกรรมก็แล้วกัน ถ้าเจอก็เจอ ถ้าไม่เจอก็ไม่เจอ คราวนี้มากันมากขึ้น ก็ได้ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง ถ้ามาแล้วเจอก็ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้ทำบุญตามที่อยากจะทำ แต่ถ้ามาแล้วไม่เจอ ก็จะได้พบกับความผิดหวัง ได้พบกับอริยสัจ คือความทุกข์ พอผิดหวังก็จะรู้สึกเสียใจ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้านำไปพิจารณา ใช้ความทุกข์ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า โลกนี้เป็นโลกของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ถ้าเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ก็จะไม่เสียใจ เกิดปัญญาขึ้นมา เป็นเครื่องมือที่จะใช้เผชิญกับความทุกข์อื่นๆที่เหมือนๆกัน ที่เกิดจากความไม่แน่นอน

ความจริงถ้าได้เจออะไรที่สมหวัง กลับไม่ดี เพราะไม่ทำให้เกิดปัญญา แต่ทำให้เกิดความหลงมากขึ้น เพราะอยากจะได้อะไร ก็ได้ตามความอยาก เลยไม่เห็นโทษของความอยาก เพราะความอยากนี่แลเป็นต้นเหตุของความทุกข์  เวลาอยากอะไรขึ้นมา ก็อยู่เฉยๆไม่ได้แล้ว แต่เราไม่รู้กัน เพราะไม่ชอบอยู่เฉยๆอยู่แล้ว เราชอบไปไหนมาไหนกัน เวลามีความอยากจะทำบุญ เราก็ไปกัน เป็นความอยากที่ดี อยากไปสร้างบุญสร้างกุศล ความอยากนี้มีทั้งดีและไม่ดี ในเบื้องต้นเราอาจจะยังไม่เข้าใจ เวลาไปเจอความผิดหวัง ถ้าเอามาพิจารณาดูว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็จะเห็นว่าเกิดจากความอยากของเรา ถ้าไม่ได้อยากให้พบกันในวันนี้ ก็จะไม่ผิดหวังถ้าไม่ได้พบกัน ต่อไปเวลามีความอยากก็จะไม่ยึดติดกับความอยากนั้น ต้องเผื่อไว้ว่าอาจจะไม่ได้ดังใจก็ได้ อย่างนี้ก็จะเกิดความฉลาดขึ้นมา ไม่ได้ไปหวังว่า เวลาอยากจะได้อะไรแล้ว จะต้องได้เสมอไป ถ้าไม่ได้แล้วจะเป็นจะตาย แต่กลับคิดว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ก็ไม่ตาย เพราะตอนที่ไม่มีความอยากนี้ เราก็อยู่ได้ เมื่อมีความอยากนี้แล้ว ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็ยังอยู่ต่อไปได้

ถ้าเป็นความอยากในทางที่ดี เช่นอยากจะไปปฏิบัติธรรม อยากจะไปแสวงหาความรู้ แล้วไม่ได้ดั่งใจหวัง ก็จะทำให้มีความมุมานะมากขึ้น ถ้าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเราจริงๆ  ก็ต้องไม่ท้อแท้ อย่างเวลาไปกราบครูบาอาจารย์ อยากจะอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน บางทีท่านยังไม่รับเราครั้งแรกที่ไปขอท่าน ท่านจะบอกไม่ว่าง หรืออยู่ไม่ได้ เราก็ต้องทำใจ ถ้ายังมุ่งมั่นเชื่อมั่นว่า ท่านสามารถให้สิ่งที่ดีที่งามแก่เราได้ วัดของท่านเป็นสถานที่ที่เราสามารถสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นได้ ก็ต้องกลับไปอีก กลับไปเรื่อยๆ จนกว่าท่านจะอนุญาตให้เราอยู่ เพราะส่วนหนึ่งก็เป็นการทดสอบจิตใจของเรา ทดสอบความตั้งใจ ว่ามีความตั้งใจจริงหรือไม่ เพราะวัดใดหรือองค์กรใด ถ้ามีคนที่ไม่มีความตั้งใจเข้าไปร่วมสังฆกรรมด้วยแล้ว ก็จะไม่ค่อยดี จะมีความวุ่นวาย

ถ้าเป็นคนที่มีความตั้งใจ ก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ทุกอย่างก็ง่ายสะดวกไปหมด หนักนิดเบาหน่อยก็ไม่ถือสากัน ถ้าเป็นคนที่ไม่ตั้งใจไปอยู่ ถูกบังคับให้ไป ก็จะเป็นคนสร้างปัญหาขึ้นมา อะไรนิด อะไรหน่อย ก็จะบ่น จะไม่พอใจไปหมด เพราะไม่มีความตั้งใจที่อยากจะอยู่จริงๆ เวลาไปขอครูบาอาจารย์อยู่ศึกษาเล่าเรียนกับท่าน โดยเฉพาะพระเณร จิตใจต้องมีความหนักแน่น ต้องกล้าเผชิญกับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ถ้าท่านไม่ให้อยู่ วันหลังก็กลับไปใหม่ ถ้าอยู่แล้วถูกท่านขับไล่ไสส่ง ถ้าใจเด็ดก็อยู่ไปเรื่อยๆ ทำเป็นหูทวนลม ดูซิว่าท่านจะว่าอย่างไร ถ้าพิจารณาดูแล้วว่า การอยู่ของเราไม่ได้ไปสร้างความเสียหายให้กับใคร ยังประพฤติดี  มุ่งมั่นในการรับฟังโอวาทของท่าน อาจจะพลั้งเผลอทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง ก็สำนึกผิดแล้วพยายามไม่ทำผิดซ้ำอีก ก็ลองอยู่ต่อไปจนกว่าจะถูกลากออกไปจากวัด ถ้าท่านพูดเฉยๆ ยังไม่ลากเราออกไปจากวัด ก็อยู่ต่อไป

เพราะเท่าที่เคยได้ยินมานั้น รู้สึกจะอยู่ในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ถ้าเราไปแสวงหาครูบาอาจารย์ หรือพบครูบาอาจารย์ที่เรา มีความเคารพ มีความเชื่อในตัวท่าน และอยากอยู่กับท่าน ถึงแม้ท่านจะไล่เรายังไง ก็ไม่ต้องไปสนใจ ให้อยู่กับท่านต่อไป เพราะบางทีการไล่ของท่านก็เป็นอุบายอย่างหนึ่ง ทดสอบดูจิตใจของเรา ว่ามีความหนักแน่นหรือไม่ เพราะการสอนให้เราต่อสู้กับกิเลสนั้น บางครั้งบางคราวต้องใช้วิธีที่หนักกับเราพอสมควร ถ้าไม่มีความหนักแน่น ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ พอโดนลูกระเบิดสักลูกก็เผ่นกันหมด เวลาท่านแสดงกิริยาอาการขึงขังตึงตัง เป็นการทดสอบจิตใจ เป็นการช่วยขุดคุ้ยกิเลส ที่ยังมีอยู่ในจิตใจ ที่ยังไม่ได้โผล่ออกมาหากไม่มีเหตุการณ์ที่มากระทบอย่างรุนแรง ลองสังเกตดูเวลาเหตุการณ์เป็นปกติ มีความสุขความสบายกัน กิเลสจะไม่ออกมาเพ่นพ่าน แต่ถ้าอยู่ในเหตุการณ์ที่วิกฤติคับขัน กิเลสจึงจะออกมาแผลงฤทธิ์ จะเห็นธาตุแท้ในยามที่ตกทุกข์ได้ยาก เวลามีความสุขจะไม่ค่อยเห็นธาตุแท้กัน เพราะเวลามีความสุข กิเลสก็สุขไปด้วย พอใจไปด้วย แต่เวลาลำบากยากเข็ญ ต่างคนต่างจะเอาตัวรอดกัน ตัวใครตัวมัน

นี่พูดถึงเรื่องที่เราไม่ค่อยชอบกันแต่ต้องเจอ ที่ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าได้แต่ส่วนที่ดีไป ก็จะหลงติดอยู่ จะไม่เห็นส่วนที่ไม่ดีที่ซ่อนเร้นอยู่ ถ้าเกิดขึ้นมาก็อาจจะรับไม่ได้ คนเราเวลาได้อะไรมา ส่วนใหญ่จะชอบจะดีใจกันทุกคน แต่พอต้องเสียไป ทำใจไม่ได้ ก็เลยลำบาก บางคนถึงกับต้องทำร้ายชีวิตตนเอง หรือทำร้ายชีวิตของผู้อื่นด้วย เวลาที่สูญเสียอะไรไป สิ่งที่ไม่เคยคิดเผื่อไว้ก่อน เช่นคนรักไม่รักเรา ไปมีอะไรกับคนอื่น ก็จะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติกับเหตุการณ์อย่างนี้ จะถูกอำนาจของกิเลสครอบงำ ทำให้ลุแก่โทสะ แล้วก็ไปทำปาณาติบาต หรือทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรม เพราะไม่เคยประสบกับความผิดหวัง ประสบกับความทุกข์มาก่อนนั่นเอง แต่ถ้าเคยได้เจอความทุกข์มาอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เจอแต่ความทุกข์ เจอแต่ความผิดหวังอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่ค่อยหวังกับอะไรเท่าไหร่ จะยินดีตามมีตามเกิด แต่ถ้าอยู่กับพ่อแม่ที่รักเรา เอาอกเอาใจเรา ต้องการอะไร ก็รีบประเคนให้เลย หามาให้เลย ก็จะติดเป็นนิสัยไป เวลาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เกิดต้องการอะไร แล้วไม่ได้ดังใจ หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเสียใจ เกิดความผิดหวังขึ้นมา ก็จะทำใจไม่ได้ ไม่รู้วิธีทำใจว่าทำอย่างไร เพราะคิดว่าโลกนี้มีแต่ความสมหวัง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เป็นไปตามที่วางแผนไว้ แต่ความจริงแล้วมันไม่มีอะไรแน่นอนในโลกนี้ ดังนั้นการประสบกับความผิดหวัง ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นการทดสอบจิตใจ เป็นการเสริมสร้างปัญญา ทำให้มีภูมิต้านทานความผิดหวัง 

เช่นตอนนี้กำลังห่วงใยเรื่องโรคไข้หวัดนก ถ้าระบาดเข้าสู่คน ก็จะแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ก็พยายามคิดหาวัคซีนไว้ป้องกัน เพราะถ้ามีวัคซีนฉีดเข้าไปในร่างกาย ก็จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา เวลาเกิดโรคระบาด ร่างกายจะได้มีภูมิคุ้มกัน แต่เวลาฉีดวัคซีนร่างกายจะมีไข้อยู่วัน สองวัน เพราะมีเชื้อโรคเข้าไปอยู่ในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา การเจอความผิดหวังบ้างในชีวิต ก็เหมือนกับการฉีดวัคซีนให้กับใจ ทำให้รู้ว่าจะไม่เป็นไปตามความหวังเสมอไป คราวต่อไปก็จะไม่หวัง ถ้าหวังก็ไม่ยึดติดกับความหวังนั้น เพราะคนเรายังต้องตั้งเป้าวางแผนไว้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา จะไปไหนมาไหนก็ต้องติดต่อกันไว้ล่วงหน้าก่อน แต่เมื่อถึงวันนั้น เหตุการณ์อาจจะไม่เอื้อ ให้เป็นไปตามที่ต้องการ อย่างช่วงนี้มีพายุดีเปรสชั่นเข้ามา ทำให้ถนนขาด ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการไป ก็ต้องยกเลิกเป้าหมายที่ได้วางไว้ไป  นี่คือสิ่งที่ควรมีไว้ในจิตใจ คืออนิจจสัญญา ความรู้เกี่ยวกับความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งต่างๆในโลกนี้

พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทู ผู้รู้โลก ทรงรู้ถึงสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ต้องสัมผัส ต้องเจอกัน และทรงรู้จักวิธีปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ ที่เรียกว่าโลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งมีทั้งเจริญและเสื่อมควบคู่กันไป เป็น ๔ คู่ด้วยกัน ได้แก่การเจริญลาภ เจริญยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นของคู่กัน โลกธรรม ๘ นี้มีทั้งได้มีทั้งเสีย บางทีก็ได้เงินได้ทองมา บางทีก็ต้องเสียเงินเสียทองไป บางทีก็ได้รับเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง บางทีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง บางทีก็ได้รับการชมเชย บางทีก็ได้รับการตำหนิติเตียน บางทีก็มีความสุข บางทีก็มีความทุกข์ นี่คือส่วนประกอบของชีวิตของพวกเรา ถ้ารู้ทัน รู้ว่ามีได้ก็ต้องมีเสีย มีเกิดก็ต้องมีดับ ก็จะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ เวลาที่ได้อะไรมาก็จะได้ไม่หลงระเริงกับสิ่งที่ได้มา ต้องทำความเข้าใจเสมอว่า ถึงแม้จะไม่มีสิ่งที่ได้มาในวันนี้ ก็ยังอยู่ได้ มีความสุขได้ ถ้าไม่ไปหลงยึดติดกับสิ่งที่ได้มา

แต่ถ้าไม่ได้คิดไว้ก่อน เวลาได้อะไรมาก็ดีอกดีใจ มีความสุขกับสิ่งที่ได้มาจนติดนิสัยไป เหมือนกับติดยาเสพติดหรือติดสิ่งอื่นๆ เช่นบุหรี่สุรายาเมา เราก็ไม่ได้เกิดมากับสิ่งเหล่านี้ เมื่อก่อนไม่เคยสูบบุหรี่ ไม่เคยกินเหล้า ก็อยู่ได้ แต่พอเริ่มสูบบุหรี่แล้ว เริ่มเสพสุราแล้ว ก็ติดเป็นนิสัย พอวันใดไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่ได้เสพสุรา ก็จะไม่สบายใจ เป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าจะสูบบุหรี่ เสพสุรา ต้องมีความแน่ใจว่า วันไหนไม่มี ก็ต้องอยู่ได้ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าอยากจะเสพโดยไม่เกิดความทุกข์ ก็ต้องฝึกด้วยการเสพบ้าง ไม่เสพบ้าง สูบบุหรี่สัก ๓ วันแล้วก็หยุดไป ๓ วัน  แล้วค่อยกลับมาสูบใหม่ ฝึกทั้ง ๒ ด้าน ฝึกกับการมีและฝึกกับการไม่มี เพื่อจิตใจจะได้รู้จักวิธีปรับตัว ให้รับกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น นี่คือการปฏิบัติธรรม ให้รู้ทันกับสิ่งเหล่านี้ แล้วสามารถปล่อยวางได้ เพราะมีบางสิ่งบางอย่างที่เราจำเป็นต้องมี เช่นเงินทอง ทุกคนต้องมีไว้ใช้ เพียงแต่ต้องระมัดระวัง ไม่ให้ติดจนเดือดร้อน เวลาไม่มีเงินไม่มีทอง จริงอยู่ที่ต้องมีเงินทองไว้สำหรับซื้ออาหารและปัจจัย ๔ แต่ก็อย่าไปซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น เงินทองจะได้ไม่ขาดมือ

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาโลกธรรม ๘ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเผชิญ ต้องสัมผัสกัน ถ้ามีปัญญารู้เท่าทันว่า มันไม่แน่นอนนะ สิ่งต่างๆที่เราสัมผัสวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจจะไม่ได้สัมผัสก็ได้ วันนี้มีความสุข พรุ่งนี้ก็มีความทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนวิธีที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ คือให้หาสิ่งที่ดีกว่านี้ ซึ่งมีอยู่ในตัวของเราแล้ว คือความสุขภายในที่เกิดจากการทำบุญทำทาน รักษาศีล และภาวนา เพราะเมื่อได้ทำแล้ว จะทำให้จิตใจสงบตัวลง เพราะได้รับการชำระ กิเลสตัณหาต่างๆจะถูกกำจัดไปทีละเล็กทีละน้อย ทุกวันนี้ที่เราต้องออกไปเกี่ยวข้องกับโลกธรรม ๘ ก็เพราะอำนาจของกิเลสตัณหานี้เอง เมื่อกิเลสตัณหาสร้างความหิว สร้างความต้องการขึ้นมา ก็ต้องออกไปหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ถ้าไม่มีกิเลสตัณหาผลักดันให้ออกไป ก็ไม่ต้องไปไหน อยู่เฉยๆ อยู่ในความสงบก็มีความสุขแล้ว เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า เป็นความสุขที่ชนะความสุขอื่นๆทั้งหมด รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ก็อยู่ที่รสแห่งความสงบนี้เอง ถ้าทำจิตใจให้สงบได้แล้ว ต่อไปก็จะไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยลาภ ยศ สรรเสริญ สุขเป็นเครื่องอยู่อีกต่อไป

ดังครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่พวกเรากราบไหว้กัน ท่านไม่ได้มีความจำเป็นกับลาภยศสรรเสริญสุขเลย ได้ลาภมามากน้อยก็เอาไปทำประโยชน์ให้กับโลกอีกต่อหนึ่ง เพราะท่านพร้อมที่จะให้อยู่เสมอ จิตใจของท่านไม่ได้ยึดติดกับอะไร เรื่องปัจจัย ๔ ก็ได้รับการดูแลอย่างดีจากศรัทธาญาติโยมอยู่แล้ว บิณฑบาตก็มีอาหารรับประทานทุกวัน จีวรก็มีคนถวายอยู่ประจำ กุฏิศาลาที่พักก็มีอยู่พร้อม ท่านมีครบทั้ง ๒ ส่วน คือ มีสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้แก่ปัจจัย ๔ แล้วก็มีความสุขความอิ่มใจ ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม จากการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ที่จะพาไปสู่ความสุขที่แท้จริง ให้สามารถอยู่เหนือโลกธรรมทั้ง ๘ ได้  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำอะไรกับจิตใจได้ ใครจะถวายเงินเป็นล้านเป็นแสน ก็จะไม่รู้สึกดีอกดีใจ ใครจะแต่งตั้งให้เป็นอะไร ก็เฉยๆ เพราะจิตไม่หิวกับเรื่องเหล่านี้แล้ว เหมือนกับเวลารับประทานอาหารอิ่มเต็มที่แล้ว ใครจะเอาอาหารวิเศษขนาดไหนมาให้กินอีก ก็กินไม่ลง 

ถ้าจิตใจได้รับการขัดเกลา ได้รับการชำระ ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาอย่างต่อเนื่องแล้ว จิตใจจะมีความสงบเย็นอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงแต่เวลานั่งทำสมาธิเท่านั้น ถ้าได้ทำวิปัสสนาจนสามารถชำระความโลภ โกรธหลงให้ออกจิตจากใจได้แล้ว แม้ในขณะที่เดินเหิน ขณะที่คุย ขณะที่ทำอะไรต่างๆ จิตก็ยังสงบอยู่ จิตไม่ได้มีอารมณ์กับอะไร ซึ่งต่างกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ ความสงบของจิตจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องถ้าได้เข้าถึงขั้นปัญญา ถ้าอยู่ในขั้นสมาธิก็จะสงบเฉพาะในขณะที่นั่งสมาธิ นั่งหลับตาแล้วบริกรรมพุทโธๆๆทำจิตให้รวมลง เมื่อรวมลงแล้ว จิตก็สงบ แต่พอถอนออกมาจากสมาธิแล้ว กิเลสก็จะออกมากับสมาธิ ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ แต่ถ้าได้เจริญวิปัสสนา พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายเช่นโลกธรรมทั้ง ๘ ให้เห็นว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  จิตก็จะปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะดับก็ดับ เมื่อเป็นอนิจจัง ก็ต้องเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปหวัง คนเราเวลาผิดหวัง มีความเสียใจ ก็เป็นความทุกข์ อนัตตาก็หมายถึงไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเรานั่นเอง ไม่สามารถบังคับให้อยู่กับเราไปตลอด  เช่นสามีของเราจะต้องอยู่กับเราไปตลอด สมบัติของเราจะต้องอยู่กับเราไปตลอด เรื่องเหล่านี้เราบังคับไม่ได้ วันดีคืนดี ก็จากไปได้ จึงเรียกว่าอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา

จึงควรใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นอนัตตาอยู่เสมอ ตั้งแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เราเห็น ที่เราได้ยิน ที่เราได้เสพสัมผัสว่า มาแล้วก็ไป เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เวลาเห็นภาพก็มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบ จะไปบังคับก็ไม่ได้ จะให้เห็นแต่ภาพที่ชอบอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะในโลกนี้มีภาพอยู่หลายชนิดด้วยกัน มีคนหลากหลายชนิดด้วยกัน เวลาเห็นคนหนึ่งก็ดีใจ พอเห็นอีกคนหนึ่งก็เสียใจ ไม่ชอบอกชอบใจ ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ใจก็จะแกว่งไปแกว่งมา ถ้ามีปัญญาก็ย่อมรู้ว่าเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ จะห้ามไม่ให้เห็นคนนี้ก็ไม่ได้ อยากจะให้เห็นคนนั้นอย่างเดียวก็ไม่ได้ ก็ต้องเห็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเข้ามาในรัศมีของสายตา ก็ต้องเห็น ถ้าไม่อยากเห็นก็ต้องหลับตา แต่หลับตาแล้วก็ยังอยู่ในใจ เพราะไปยึดไปติด จึงต้องตัดความยึดติดให้หมด ด้วยการยอมรับความจริง

ถึงแม้จะไม่ชอบด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เมื่อต้องเจอก็ต้องทำใจให้เป็นปกติ ไม่รังเกียจ ไม่ยินดี ถ้าไปรังเกียจ หรือไปยินดี ก็จะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา ยินดีก็อยู่เฉยๆไม่ได้ เพราะอยากจะวิ่งเข้าหาสิ่งที่ชอบ ถ้ารังเกียจก็อยากจะวิ่งหนี ถ้าทำเป็นเฉยๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ก็อยู่เฉยๆได้ เป็นอุเบกขา นี่ก็คือการพิจารณาด้วยปัญญาแล้วก็ปล่อยวาง ให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา ฝนจะตกหรือไม่ตกก็ไม่เป็นไร เรานั่งอยู่ตรงนี้เดี๋ยวเกิดฝนตกลงมา ก็ปล่อยให้ตกไป เรามีกิจกรรมอะไรก็ทำของเราไป เมื่อยังออกจากศาลานี้ไม่ได้ ก็ต้องรอให้ฝนหยุดก่อน เมื่อหยุดแล้วค่อยไป เท่านี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร จึงต้องเข้าใจว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้าไม่ยึดไม่ติด ก็จะไม่ทุกข์  ถ้าไปยึดไปติด อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วไม่ได้ดังใจ ก็จะมีความทุกข์ใจ นี่คือการพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์

การพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็แบบเดียวกัน พิจารณารูปเช่นร่างกายของเรานี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นอนัตตาเหมือนกัน ไม่มีตัวไม่มีตนในร่างกายนี้ ควบคุมบังคับไม่ได้ ไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้ ไม่ให้ตายก็ไม่ได้ เมื่อถึงเวลาก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา เมื่อเข้าใจแล้วก็ยอมรับความจริงว่าจะต้องเป็นไป ก็ไม่เป็นไร เพราะใจผู้พิจารณากับร่างกาย ก็เป็นคนละส่วนกัน ร่างกายก็ไม่รู้ว่าตัวเองแก่ ตัวเองเจ็บ ตัวเองตาย ส่วนใจที่รู้ว่าร่างกายแก่ เจ็บ ตาย ก็ไม่ได้แก่ เจ็บ ตาย ตามร่างกายไปด้วย เพราะความหลงทำให้ขาดปัญญา จึงคิดว่าร่างกายเป็นใจ ใจเป็นร่างกาย  เวลาร่างกายเป็นอะไร ใจก็จะเป็นไปด้วย จึงเกิดการตกใจ เวลาหมอบอกว่าเป็นโรคมะเร็งจะต้องตายภายใน ๖ เดือน ทั้งที่ยังไม่ตายเลย แต่ใจได้ตายไปแล้ว ทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เพราะไม่เคยแยกแยะกายกับใจให้ออกจากกัน ให้เห็นว่าเป็นคนละส่วนกันนั่นเอง ก็เลยคิดว่าใจกับกายเป็นอันเดียวกัน พอร่างกายจะเป็นอะไรขึ้นมา ก็เกิดความตกอกตกใจขึ้นมาทันที

ไม่มีใครไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เมื่อถึงเวลา ตายแล้วใจก็ไปต่อ เพราะความหลง ความมืดบอด ที่ทำให้ใจไม่รู้ว่าไม่ได้เป็นกาย เพราะไม่ได้แยกแยะ ไม่ได้เจริญวิปัสสนา ถ้าเจริญวิปัสสนาและมีสมาธิเป็นผู้สนับสนุนแล้ว จะเข้าใจว่ากายกับใจเป็นคนละส่วนกัน กายเป็นส่วนที่ประกอบจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป อาหารก็มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ ข้าวปลูกในดินก็ต้องมีน้ำ มีลม มีอากาศ มีแดด มีความร้อน  ต้นข้าวจึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้ พืชพันธุ์ต่างๆ ผลไม้ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ส่วนสัตว์ต่างๆก็ต้องกินหญ้ากินข้าวถึงจะโตขึ้นได้ ต้นหญ้าก็มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ สิ่งต่างๆทั้งหลายก็มาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น  แล้วก็กลายเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ เมื่อถึงเวลาที่ร่างกายนี้ตายไป ก็กลับคืนสู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่คือการเจริญวิปัสสนา พิจารณาด้วยปัญญา ให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

ถ้าพิจารณาจนจิตปล่อยวางแล้วก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า กายกับใจได้แยกออกจากกัน กายไม่อยู่ในความรู้สึกของใจ รู้ว่าเป็นวัตถุอันหนึ่งที่ต่างจากใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะไม่สะทกสะท้านกับความเป็นความตายของร่างกาย เพราะใจไม่ได้เป็นไปกับร่างกาย เพียงแต่คอยรักษาใจไม่ให้กิเลสมาหลอกเท่านั้นเอง ไม่ให้กลับไปเป็นมิตรกับกาย เมื่อถึงเวลาจะต้องเป็นไปตามสภาพของเขา ก็ปล่อยให้เป็นไป ใจก็อยู่ในความสงบ เหมือนเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงเข้าฌาน ทำจิตใจให้สงบ ปล่อยวางร่างกายให้เป็นไปตามเรื่องของเขา เหมือนกับปล่อยเทียนที่จุดไว้ให้ไหม้ไปจนหมด เมื่อไม่มีเทียนเหลืออยู่แล้วไฟก็ดับไปเอง ร่างกายก็หยุดการทำงานไปเมื่อไม่มีกำลังที่จะอยู่ต่อไป ก็ต้องแยกออกจากกันไป ไปกันคนละทิศคนละทาง เพราะร่างกายก็เป็นเพียงการรวมตัวของดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยที่จะดึงให้ดิน น้ำ ลม ไฟอยู่รวมกัน ก็แตกสามัคคีกัน ก็ต้องแยกออกจากกัน เหมือนกับพวกเราตอนนี้ที่มารวมกันอยู่ที่ศาลานี้ เพราะมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้มารวมตัวกัน พอเหตุปัจจัยที่ทำให้มารวมตัวกันหมดไป ก็แยกกันกลับ แยกกันไปคนละทิศ คนละทาง บ้านใครบ้านมัน

ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เวลารวมตัวกันก็มีเหตุปัจจัยทำให้รวมตัวกัน พอเวลาจะแยกออกจากกันก็มีเหตุปัจจัยทำให้แยกออกจากกัน พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นมา เมื่อเหตุปัจจัยหมดไปธรรมทั้งหลายก็ต้องหมดไป นี่คือเรื่องของเหตุและผล เรื่องของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เรื่องของร่างกายที่เรียกว่ารูปขันธ์ ส่วนนามขันธเป็นอาการของจิต ออกมาจากจิต แต่ไม่ใช่ตัวจิต เป็นเหมือนกับเงาของจิต มเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ออกมาจากจิต สัญญาความจำได้หมายรู้ก็ออกมาจากจิต สังขารความคิดปรุงก็ออกมาจากจิต วิญญาณความรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่มาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กายก็ออกมาจากจิต เช่นขณะนี้เสียงที่เราได้ยินมาสัมผัสกับหู แล้วเข้าไปสู่ใจโดยมีวิญญาณเป็นผู้รับรู้ และเกิดดับตามการเกิดดับของเสียง เมื่อมีเสียงใหม่มาสัมผัสกับหูอีก วิญญาณก็จะปรากฏขึ้นมาอีก วิญญาณก็จะเกิดดับๆอยู่อย่างนี้

วิญญาณในนามขันธ์นี้ต่างกับวิญญาณที่ออกจากร่างเวลาที่เราตายไป ที่เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ คือดวงจิตที่จะไปเกิดใหม่ วิญญาณในขันธ์ ๕ หรือในนามขันธ์เป็นวิญญาณที่รับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อตาสัมผัสกับรูป ก็จะปรากฏวิญญาณออกมารับรู้ว่ามีรูปปรากฏขึ้นมา ถ้าหลังจากเห็นรูปแล้วหลับตา รูปก็ยังอยู่ในใจ ก็เป็นผลของสัญญาที่จำได้ เวลาเห็นรูปแล้วหลับตา ถ้ายังอยู่ในใจ ก็เป็นเรื่องของสัญญาความจำได้หมายรู้ หรือเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นรูปอะไร เช่นเห็นหน้าคนนี้แล้วก็รู้ว่า อ๋อ คนนี้เป็นนาย ก. นาย ข. เพราะจำได้ เคยรู้จักกันมาก่อน พอเห็นรูปสัญญาก็จะทำหน้าที่บอกว่ารูปนี้คือนาย ก. นาย ข. แต่สัญญานี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จำได้แล้วก็ผ่านไป สังขารความคิดปรุง คิดแล้วก็ดับไป คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วก็ผ่านไป เมื่อคิดแล้วก็ทำให้เกิดเวทนาต่างๆขึ้นมา มีความสุขเวลาคิดเรื่องที่ถูกอกถูกใจ พอคิดถึงเรื่องไม่ถูกอกถูกใจก็มีความทุกข์ ก็สลับกันไปแบบนี้ เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้เหมือนกัน เป็นอนัตตาเหมือนกัน

เช่นเวลานั่งไปนานๆก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ขึ้นมา ตอนที่ยังไม่ได้นั่งก็ไม่มีความเจ็บอะไร ก็เป็นเวทนาอีกแบบหนึ่งคือไม่สุขไม่ทุกข์ แต่พอนั่งไปนานๆเข้าก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา วิธีที่จะทำให้ใจไม่ทุกข์กับเวทนาได้ คือต้องปล่อยวางเวทนา ต้องรู้ทันเวทนา ว่ามีการเกิดดับเป็นธรรมดา ถึงแม้จะเจ็บขนาดไหน ถ้าไม่รังเกียจ ไม่คิดอยากจะหนี ก็จะไม่ทุกข์ คือทุกข์ที่เกิดจากวิภวตัณหาจะไม่ปรากฏ เวลาไปเจอสิ่งที่เราไม่ชอบ เช่นเวทนาความเจ็บปวดที่เราไม่ชอบ เราอยากจะหนีจากทุกข์ไป ก็จะเกิดทุกข์อีกแบบหนึ่งขึ้นมา คือทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย แต่ทุกข์ที่เกิดจากการนั่งนานๆแล้วร่างกายเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ เป็นทุกข์ในขันธ์ เป็นธรรมดา เป็นสภาวธรรม แต่ทุกข์ที่เกิดจากตัณหา ไม่ชอบไม่ต้องการทุกข์นี้ อยากจะให้ทุกข์นี้ดับไป เรียกว่าวิภวตัณหา เป็นทุกข์ที่รุนแรงกว่าทุกข์ที่เกิดจากการนั่งนานๆ จะทำให้จิตใจทุรนทุราย ดิ้นรนกวัดแกว่ง จนทนนั่งอยู่ไม่ได้

สังเกตดูการนั่งนานๆนี้ บางครั้งเราก็นั่งได้ บางครั้งเราก็นั่งไม่ได้ เช่นนั่งทำงานที่เราชอบอกชอบใจ นั่งเล่นไพ่ นั่งดูหนังทั้งคืน เราก็นั่งได้ ไม่มีความทุกข์ใจ แต่ถ้านั่งทำสมาธิสัก ๕ นาที ๑๐ นาที ก็เกิดความอึดอัดใจขึ้นมา นั่งไม่ได้แล้ว เพราะใจไม่นิ่ง ใจถูกอำนาจของกิเลสตัณหาบังคับให้อยากลุกหนีไป นี่คือทุกข์ในอริยสัจ ถ้าไม่ต้องการให้ทุกข์ในอริยสัจเกิดขึ้น ก็ต้องยอมรับเวทนาตามความเป็นจริงของมัน เวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้นจากการนั่งนานๆ ก็ทำใจเฉยๆ อย่าไปคิดถึงมัน อย่าไปหนีมัน ถ้ายังควบคุมให้ใจอยู่เฉยๆไม่ได้ ก็บริกรรมพุทโธๆๆไป โดยไม่คิดถึงทุกข์ที่เกิดจากการนั่ง เมื่อจิตไม่มีโอกาสที่จะคิดหนี เพราะอยู่กับพุทโธๆๆ ความอยากจะหนีก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีความคิดอยากจะหนี ความทุกข์ใจก็ไม่เกิดขึ้น ก็นั่งต่อไปได้ เพราะความทุกข์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ใจต่างหาก ที่อยากจะหนีจากความทุกข์ของกายไปนั่นเอง

ถ้าใช้ความกล้าหาญ คือไม่ไปกลัวมัน ทำความเข้าใจว่า มันเกิดขึ้นได้ ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องดับไปเอง ถ้าเราสามารถดับวิภวตัณหา คือความอยากจะหนีจากความทุกข์กายนี้ไป  หรือความอยากให้ความทุกข์กายนี้ดับไปได้ ใจก็จะเป็นอุเบกขา นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา ทุกข์ที่เกิดจากวิภวตัณหาก็จะดับไป ถึงแม้จะเจ็บบ้างปวดบ้าง ก็ไม่เหลือทน พอทนได้ พออยู่กับมันได้ นี่คือวิธีแก้ความทุกข์ที่เกิดจากตัณหา คือต้องยอมรับว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสิ่งที่มาแล้วไป เกิดแล้วดับ เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เพียงแต่รู้ทันเท่านั้นเอง รู้ทันแล้วก็จะไม่สร้างปัญหาให้กับเรา อย่าไปรังเกียจทุกขเวทนา อย่าไปยินดีกับสุขเวทนา ให้รู้ว่าสุขเวทนานี้ เดี๋ยวก็ต้องผ่านไปเหมือนกัน จากสุขก็กลายเป็นไม่สุขไม่ทุกข์ จากไม่สุขไม่ทุกข์ก็กลับมาสู่ทุกขเวทนาอีก เป็นเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ที่แกว่งไปตามเรื่องของมัน แกว่งไปสุดด้านหนึ่งแล้ว ก็แกว่งกลับมาอีกด้านหนึ่ง ถ้าไม่ไปยุ่งกับมัน จิตใจก็จะไม่แกว่ง ที่มันแกว่งก็เพราะไปยุ่งกับมัน ถ้าเฉยๆ ไม่ไปยุ่งกับมัน ต่อไปมันก็จะไม่มายุ่งกับเรา

เพราะว่าทุกข์ส่วนใหญ่ เกิดจากความอยากกับความไม่อยากนั้นเอง  เวลาอยากแล้วสมใจอยาก ก็เกิดความสุขขึ้นมา แต่พอไม่สมใจอยาก ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน ใจก็จะอยู่สบาย อยู่เฉยๆ จะได้มาหรือเสียไป ก็จะรู้สึกเฉยๆ เพราะเวลาได้มา ก็ไม่ได้ไปดีอกดีใจ ไม่ได้เกิดตัณหาอยากจะได้ พอเสียไป ก็ไม่ได้เกิดวิภวตัณหา  เกิดความเสียอกเสียใจ เพราะใจไม่ได้ไปยึดไปติดกับมันอีกต่อไป ใจอยู่กับปัญญา อยู่กับการปล่อยวาง ถ้ามีการปล่อยวาง ก็จะมีความสงบ มีความนิ่ง มีความหลุดพ้นจากความทุกข์ นี่ก็คือวิธีปฏิบัติต่อความทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ เริ่มตั้งแต่การทำบุญทำทาน รักษาศีล แล้วก็ภาวนา  ในเบื้องต้นก็ให้ทำจิตใจให้สงบก่อน ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่เราถนัด เช่นบริกรรมพุทโธๆๆ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ ในอิริยาบถทั้ง ๔ ให้มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา พยายามหาที่สงบสงัดวิเวก อยู่คนเดียว ถ้าอยู่หลายๆคนแล้วก็อดที่จะคุยกันไม่ได้ พอคุยกันแล้วก็จะเผลอ สติก็จะไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จิตก็จะไปตามความคิดปรุง ยิ่งคิดมากเท่าไร ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากขึ้นเท่านั้น ก็ทำให้การทำจิตใจให้สงบไม่สะดวก ไม่ง่าย

จึงควรอยู่คนเดียว มีสติคอยควบคุมจิตใจ ให้อยู่กับกรรมฐานที่ใช้ผูกจิตใจไว้ ถ้าจะบริกรรมพุทโธๆๆ ก็ทำไป หรือจะมีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็รู้ไป เช่นเวลาเดินก็ให้รู้อยู่กับการเดิน ก้าวเท้าซ้ายเท้าขวา ก็กำหนดลงที่เท้า เดินจงกรมก็ดูที่เท้า เท้าซ้ายเดินไป เท้าขวาเดินไป ก็ให้รู้อยู่กับการย่างก้าว แต่ไม่ให้ไปรู้กับเรื่องอื่นๆ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านไปแล้วก็ดี ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นก็ดี ยกเว้นถ้ามีความจำเป็นที่ต้องคิด ก็หยุดเดินก่อน หยุดการกระทำอย่างอื่นก่อน แล้วคิดด้วยสติ คิดให้พอ คิดว่าต้องทำอะไร ก็คิดไป เมื่อคิดเรียบร้อยแล้ว ก็หยุดคิด แล้วกลับมากำหนดต่อ ควบคุมไม่ให้ใจไปปรุงแต่ง ให้อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ถ้าควบคุมได้แล้วต่อไปจิตก็จะรวมลงเป็นสมาธิ เมื่อรวมลงแล้วก็จะเห็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง เหมือนกับไม่มีอะไรอยู่ในโลกนี้เลย ร่างกายก็หายไป ความเจ็บปวดของร่างกายก็หายไปหมด  ถ้าได้ขั้นนี้แล้ว ก็จะไม่สงสัยในเรื่องปฏิบัติธรรม ว่าปฏิบัติไปเพื่ออะไร เพราะรู้แล้วว่าปฏิบัติเพื่อความสงบของจิตนี่เอง

เพียงแต่ว่าความสงบนี้จะตั้งอยู่ได้ไม่นาน สักระยะหนึ่งก็ต้องถอนออกมา แล้วก็จะเริ่มคิดปรุง ก็จะมีกิเลสออกมา คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เกิดมีความดีใจ มีความเสียใจตามมา ก็อย่าปล่อยให้คิดอย่างนั้นอีกต่อไป ต้องคิดด้วยธรรมะ คิดอะไรก็ต้องมีอนิจจังเข้าไปสอดแทรก มีอนัตตาเข้าไปสอดแทรกเสมอ คิดถึงใครก็ต้องคิดว่าต้องตายจากกันนะ ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็จะได้ไม่กังวล เมื่อไม่กังวลก็จะไม่มีความทุกข์ นี่คือปัญญา ถ้าพิจารณาปัญญาไปสักระยะหนึ่งแล้ว จิตจะรู้สึกเพลีย จะเมื่อยล้า อยากจะหยุดพิจารณา เพราะไม่เกิดปัญญา เริ่มจะฟุ้งซ่าน ก็หยุดคิด หันกลับมาทำสมาธิใหม่ พักจิต ทำจิตให้นิ่ง ให้รวมลงจนกว่าจะถอนออกมา แล้วค่อยกลับไปพิจารณาใหม่ พิจารณาสภาวธรรมต่างๆ พิจารณาไตรลักษณ์ใหม่ ทำอย่างนี้สลับกันไป แล้วจะเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ปัญญาก็จะแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ จิตก็จะมีกำลังมากขึ้น ขณะที่พักอยู่ในสมาธิก็เท่ากับการให้พลังกับจิตใจ เหมือนกับการชาร์จแบตเตอรี่ ถ้าใช้แบตฯไปเรื่อยๆแล้ว เดี๋ยวไฟก็อ่อนหมดไป ใช้งานต่อไปไม่ได้ ก็ต้องหยุด เอาไปชาร์จก่อน เช่นโทรศัพท์มือถือ เมื่อใช้ไปๆ เดี๋ยวไฟในแบตเตอรี่ก็หมด ก็จะโทรไปหาใครไม่ได้ จะรับสายก็รับไม่ได้ เพราะไม่มีพลังงาน ก็ต้องไปชาร์จแบตเตอรี่ก่อน ขณะที่ชาร์จก็เอาไปใช้งานไม่ได้ ต้องชาร์จให้เต็มที่ก่อน

ในขณะที่อยู่ในสมาธิก็ไม่ต้องพิจารณาปัญญา ปล่อยให้จิตนิ่งตามความต้องการ จนกว่าจะอิ่มเต็มที่แล้ว ก็จะถอนออกมา ก็จะเริ่มคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ต้องดึงมาคิดในเรื่องของไตรลักษณ์ พิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนจิตเห็นตามความจริง ก็จะปล่อยวางเอง ถ้าเห็นว่าเป็นความทุกข์ จิตก็จะปล่อย เหมือนกับไปจับงูพิษแต่คิดว่าเป็นปลาไหล พอมีคนบอกว่าไม่ใช่ปลาไหล เป็นงูพิษ ก็จะปล่อยทันที เพราะไม่ต้องการเอาพิษเอาภัยมาอยู่ใกล้ตัว ฉันใดเราก็ไม่ต้องการความทุกข์ ถ้ารู้ว่ามีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ ก็ต้องปล่อยไปทันที เหมือนกับระเบิดเวลา ถ้ารู้ว่าในกล่องนี้มีระเบิดซ่อนอยู่ ก็จะวิ่งหนีกันไปหมด ไม่มีใครอยากจะอยู่ใกล้ ฉันใดถ้าเห็นว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มีระเบิดเวลาซุกซ่อนอยู่ เราก็จะไม่ไปยึดไปติด ไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่อยากจะรวย เพราะเวลาทุกข์มันทุกข์มาก ไม่อยากจะมีตำแหน่งสูงๆ พอมีตำแหน่งสูงๆแล้ว ก็จะมีเรื่องปวดหัวตามมา อย่างมีข่าวคราวว่าเป็นรัฐมนตรีได้ไม่กี่วันก็เจอปัญหา ถึงกับจะต้องลาออกไป นี่ก็เป็นความทุกข์ แต่อยากได้กันเหลือเกิน ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีความทุกข์ตามมา เพราะไม่มีปัญญานั่นเอง ไม่ได้พิจารณาธรรม ถ้าพิจารณาแล้วจะไม่อยากได้อะไรเลย อยู่เฉยๆดีกว่า อยู่คนเดียว ไม่มีใครรู้จักยิ่งดี ยิ่งสบาย มีแต่ความสงบ มีแต่ความสุขอยู่ในตัว พอแล้วจะเอาอะไรอีก ไม่มีอะไรในโลกนี้จะมาเพิ่มความสุขที่มีอยู่ในตัวเรานี้ได้ เหมือนน้ำที่เต็มแก้วแล้ว จะเทน้ำลงไปอีก ก็ไม่ทำให้น้ำเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 

นี่ก็เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญทานศีลภาวนาอย่างต่อเนื่อง ขอให้ทำไปตราบใดที่ยังมีลมหายใจ มีเวลาว่างจากภารกิจการงานต่างๆ ก็ให้ทุ่มเทกับงานอย่างนี้จะดีกว่า ดีกว่าไปแสวงหาอะไรต่างๆในโลกนี้ ซึ่งให้ความสุขความเพลิดเพลินชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ผ่านไปจางไป เหมือนกับหมอกควัน แต่ความสุขที่ได้รับจากการบำเพ็ญทานศีลภาวนาเป็นเหมือนน้ำซับน้ำซึม หล่อเลี้ยงใจอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะไม่ได้ทำบุญทุกวัน จะไม่ได้ปฏิบัติธรรมทุกวัน ก็ยังมีส่วนที่ได้ทำไว้แล้วมาหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าทำมากๆก็จะมีมาหล่อเลี้ยงมากขึ้นๆ จนกลายเป็นบ่อน้ำขึ้นมา ทำให้มีแต่ความอิ่มเอิบอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรอีก เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่มีความทุกข์ คนที่เราไปหาความสุขด้วย สิ่งต่างๆวัตถุต่างๆที่เราไปหาความสุขด้วย ล้วนมีความทุกข์ซ่อนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าพลัดพรากจากกัน หรือเปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้เราเสียใจทุกข์ใจ

คนที่ได้ปฏิบัติธรรม จนได้เจอสิ่งที่ดีที่วิเศษในใจแล้ว ก็จะไม่หลงกับสิ่งอื่นๆในโลกนี้อีกต่อไป เมื่อไม่หลงแล้วก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วก็จบ เป็นสิ่งที่ดีที่งามที่ศาสนาหยิบยื่นให้กับพวกเรา ไม่มีใครในโลกนี้จะให้ได้นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น จึงต้องถือว่าเป็นบุญวาสนาของพวกเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้มาเจอพระพุทธศาสนาที่ชี้ทางให้ไปพบกับขุมทรัพย์อันประเสริฐ ไม่มีขุมทรัพย์อันใดในโลกนี้จะประเสริฐเท่ากับมรรคผลนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆสาวกทั้งหลายได้ทรงบรรลุถึง แล้วนำเอามาฝากพวกเรา นำมาแจกพวกเรา ก็ขอให้น้อมรับด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราได้สิ่งที่ท่านหยิบยื่นให้กับเรา ท่านไม่สามารถทำมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้นในใจเราได้ เราต้องเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นเอง เราจึงต้องขวนขวายกัน อย่างมาทำบุญกันอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ แต่อย่าทำบุญอย่างเดียว ต้องรักษาศีลด้วย รักษาได้มากน้อยเท่าไรก็รักษาไป แล้วก็ต้องภาวนาด้วย  ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา ก็ทำไปตามกำลังของเราเท่าที่จะทำได้

เพราะบุญวาสนาของแต่ละคนต่างกัน มีมากน้อยต่างกัน บางคนก็เข้าถึงขั้นวิปัสสนาได้เลย ก็จะได้ปัญญา บางคนต้องสวดมนต์ไหว้พระก่อน บางคนก็พุทโธๆๆไปก่อน ก็แล้วแต่จะถนัด  ถ้าทำแล้วจิตใจเย็นสบาย ปล่อยวาง ก็ใช้ได้  ถือว่าเป็นจริตของเราก็แล้วกัน นี่ก็คืองานที่เราจะต้องทำกันจนกว่าจะสำเร็จ ทำไปเถิดแล้วจะง่ายขึ้นไปเอง แล้วจะรู้สึกว่ามรรคผลนิพพานอยู่ไม่ห่างไกลเลย เวลาเกิดความท้อแท้ก็ให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นึกถึงพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ที่เป็นคนธรรมดาเหมือนเรามาก่อน ท่านก็ตะเกียกตะกายไปตามกำลังแห่งศรัทธา เชื่อในเรื่องของความดีทั้งหลาย ว่าเป็นเหตุที่จะพาให้ไปสู่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง ก็จะหยุดความท้อได้ อย่าเลิกปฏิบัติ ถ้าวันนี้ไม่อยากนั่งก็หยุดพักสักวันสองวัน พอมีกำลังจิตกำลังใจ ก็กลับมาเริ่มใหม่ ผลัดกันรุกผลัดกันรับ บางทีกิเลสมาแรงเราก็รู้สึกท้อ แต่พอกิเลสเบาลง เราก็เป็นฝ่ายรุกบ้าง สลับกันไป พยายามเข้าหาครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเห็นจริง ฟังเทศน์ฟังธรรมของท่านอยู่เรื่อยๆ ก็จะได้กำลังจิตกำลังใจ ถ้าได้สหธรรมิกที่ชอบปฏิบัติธรรม ก็จะช่วยดึงเราไป ยกเว้นเวลาที่อยู่ในขั้นที่จะต้องปฏิบัติตามลำพัง แต่ก็ยังอยู่ห่างจากหมู่คณะไม่ได้ ถึงเวลาก็ไปมาหาสู่กัน ไปสนทนาธรรมกัน ไปปรึกษาหารือกัน จนกว่างานจะสำเร็จลุล่วงไป ถ้าเสร็จแล้วจะอยู่ที่ไหนกับใคร หรือไม่อยู่กับใคร ก็ไม่มีปัญหาอะไร  การแสดงในวันนี้ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

 

ถาม   ท่านอาจารย์คะ มีคนเล่าให้ฟังว่าบริเวณนี้เป็นที่พระเจ้าตากสินเคยมาตั้งค่ายหรือคะ

ตอบ เคยได้ยินเขาพูดอย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าเท็จจริงอย่างไร ไม่ได้ยินจากปากผู้อยู่ในเหตุการณ์ เลยไม่กล้ายืนยัน เขาสร้างพระอุโบสถถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พระอุโบสถของวัดญาณฯสร้างเป็นทรงจีน เอาแบบมาจากวัดบวรฯ  วัดนี้สร้างอะไรแต่ละอย่าง ก็มีเจตนาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์  เช่นพระประธานในพระอุโบสถก็สร้างถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  พระเจดีย์ก็สร้างถวายพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๙ พระองค์ในพระราชวงศ์จักรี  พระมณฑปที่อยู่บนยอดเขาก็สร้างถวายในหลวงและพระราชินี  ศาลาสวดมนต์ก็สร้างถวายสมเด็จพระเทพฯและพระบรมฯ ศาลาฉันอาหารก็สร้างถวายพระพี่นางและสมเด็จย่า วัดนี้สร้างเพื่อเทิดทูนพระมหากษัตริย์ทุกๆพระองค์ ที่ปกป้องรักษาเอกราชให้ประเทศไทยได้อยู่มาจนทุกถึงวันนี้  ความเป็นมาของสถานที่นี้ พื้นที่นี้ ว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร อาตมาก็ไม่ได้ศึกษา พอดีได้แผ่นวีซีดีเกี่ยวกับประวัติของวัดญาณฯ ซึ่งมีประวัติของสมเด็จพระสังฆราชฯกับประวัติของวัดบวรฯรวมอยู่ด้วย เดี๋ยวจะให้โยมไปก๊อบปี้ก็แล้วกัน ได้มาชุดหนึ่ง ในนั้นอาจจะมีพูดไว้ก็ได้

ถาม   เท่าที่ฟังท่านอาจารย์เทศน์มานี่ ท่านอาจารย์อยู่ที่นี่ปี ๒๕๔๔ หรือเปล่าครับ

ตอบ มาอยู่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗

ถาม   จากบ้านตาดท่านอาจารย์ก็มาอยู่ที่นี่เลยหรือครับ

ตอบ  ก็ไปอยู่ที่พัทยาอยู่ปีหนึ่ง ที่วัดโพธิสัมพันธ์ พอดีปีนั้นโยมพ่อไม่สบาย ก็เลยลาหลวงตามาดูแลโยมพ่อ อาตมาออกจากวัดบ้านตาดปลายปี ๒๕๒๖ หลังจากรับกฐินเสร็จแล้ว ก็พอดีทางบ้านส่งข่าวมาบอก ว่าโยมพ่อไม่ค่อยสบาย ท่านเป็นโรคมะเร็งที่ก้านคอ ก็รักษาตัวจนถึงเดือนมิถุนาฯ ปี ๒๕๒๗ ท่านก็เสีย  เสียแล้วก็เผา เสร็จงานศพก็ใกล้ๆเข้าพรรษา ก็เลยไม่ได้กลับไปบ้านตาด ตอนที่มาก็ไม่ได้คิดว่าจะมาแบบไม่กลับ พอเสร็จงานเผาศพก็ใกล้จะเข้าพรรษา ก็เห็นว่าที่บ้านตาดมีพระอยากจะเข้าไปอยู่กันเยอะ ถ้ากลับไปก็ทำให้คนอื่นไม่ได้อยู่ ก็เลยคิดว่า ได้อยู่มานานพอสมควรแล้ว คือ ๙ พรรษา ไปอยู่ตั้งแต่พรรษาหนึ่งถึงพรรษา ๙ ไม่ครบ ๙ ปี ประมาณ ๘ ปีกว่า ไปเดือนเมษาฯ ๒๕๑๘ พอธันวาฯหรือพฤศจิกาฯ ๒๕๒๖ ก็ออกมา แล้วก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย

ออกมาแล้วก็มาอยู่ที่วัดที่พัทยาอยู่พรรษาหนึ่ง พอออกพรรษาแล้ว รับกฐินเรียบร้อยแล้ว ก็มาที่นี่ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมาพักที่นี่อยู่ชั่วคราว แต่ตอนนั้นพักอยู่ข้างล่าง ข้างบนยังไม่ได้บุกเบิก ยังเป็นป่าเป็นเขาอยู่ พอปี ๒๕๒๖ ก็มีพระอาจารย์จากวัดถ้ำกลองเพล ชื่อพระอาจารย์หวัน ท่านมาเป็นหัวหน้าสงฆ์ให้กับวัดนี้  ซึ่งยังไม่มีพระหัวหน้าอยู่ประจำ ผู้สร้างวัดนี้อยากจะให้เป็นวัดป่า เป็นวัดกรรมฐาน เจ้าคุณที่วัดบวรฯก็ไม่ถนัดเรื่องกรรมฐานกัน ก็เลยไม่ได้มาอยู่ สมเด็จฯจึงต้องไปขอพระจากครูบาอาจารย์ทางภาคอีสานให้มาอยู่ เคยนิมนต์หลวงปู่เจี๊ยะมาอยู่สักพรรษาหรือสองพรรษา แล้วท่านก็ไป หลังจากนั้นก็นิมนต์องค์นั้นมาองค์นี้มา สลับกันไป จนได้นิมนต์พระอาจารย์หวันจากวัดถ้ำกลองเพลให้มาอยู่ ท่านก็อยู่หลายพรรษา ท่านเห็นว่าบนเขานี้วิเวกดี ก็เลยขออนุญาตสมเด็จฯขึ้นมาพัฒนา  พาญาติโยม แบกไม้แบกข้าวของต่างๆขึ้นมาทำศาลา ทำกระต๊อบ ๒-๓ หลัง หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ

อาตมามาวัดญาณฯปลายปี ๒๕๒๗ ก็พักอยู่ข้างล่างก่อน ประมาณ ๒ ปีกว่า พอปี ๒๕๓๐ เดือนมีนาฯ ก็ขึ้นมาอยู่บนนี้ ก็อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ อยู่มาได้ประมาณสัก ๑๘ ปี ทำกิจกรรมรวมกับพระที่อยู่ข้างล่าง บิณฑบาตก็บิณฯร่วมกัน ฉันอาหารก็ฉันที่ศาลาเดียวกัน เพียงแต่เวลาอยู่ก็แยกกันอยู่ ถ้าต้องการความสงบก็ขึ้นมาอยู่บนเขา ถ้ายังไม่ถนัดยังไม่พร้อมที่จะอยู่บนเขา ก็อยู่ข้างล่างไปก่อน  อยู่ข้างล่างก็ใกล้ศาลา ไม่ต้องเดินไกล น้ำไฟก็มีพร้อม ถ้าอยู่บนนี้ก็ต้องเดินไกลหน่อยประมาณ ๓ กิโลฯครึ่ง เดินลงไปตั้งแต่เช้ามืด ยังไม่สว่าง ต้องลงไปให้ทันเวลาที่จะออกไปบิณฑบาต ทุกวันนี้ออกบิณฑบาตประมาณตี ๕.๔๕   ก็ลงประมาณตี ๔ ครึ่ง ฝนตกก็ไป ถ้าเป็นพายุก็ต้องรอให้หยุดก่อน ถ้าตกแบบธรรมดา พอกางร่มเดินไปได้ ก็กางไป ใช้เวลาประมาณสัก ๔๕ นาที ลงไปถึงก็ประมาณตี ๕ ครึ่ง นั่งพักอยู่สัก ๑๕ นาทีก็มีรถมารับไปบิณฑบาต

ถาม        ทำไมรถไม่ขึ้นมารับท่านอาจารย์ข้างบนครับ

ตอบ  ส่วนหนึ่งเพราะคนขับรถยังไม่ตื่น อีกส่วนหนึ่งก็เป็นอุบายให้ได้ภาวนาไปในตัว เดินไปก็พิจารณาความตายไปเรื่อยๆ ก็เป็นปัญญาขึ้นมา จนจิตยอมรับความจริงว่า เวลาจะไปเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้ เมื่อพร้อมแล้วก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็สบายใจ ต้องใช้การเดินลงเขาไปบิณฑบาตเป็นเครื่องช่วยภาวนา ให้เกิดปัญญา ถ้าอยู่ที่สุขที่สบายที่ปลอดภัยก็จะไม่เห็นความไม่เที่ยงที่ซ่อนเร้นอยู่ ถ้าอยู่อย่างนี้ ก็ต้องปลงอยู่ตลอดเวลา เดินไปไม่รู้จะไปเจออะไรข้างหน้า บางทีก็มีงูบ้าง มีสัตว์อื่นบ้าง ก็ดี เป็นการทดสอบใจ

ถาม         ในพรรษาพระอดข้าวไหมครับ

ตอบ  ที่นี่ไม่ได้อดกัน เพราะไม่มีใครทำเป็นตัวอย่างให้ดู พระที่ปฏิบัติจริงๆจังๆจะไม่ได้อยู่ที่นี่กัน จะเป็นพระที่บวช ๓ เดือน ตอนเข้าพรรษา บวชตามประเพณี บางท่านบวชไปแล้ว ชอบชีวิตแบบนี้ ก็อยู่ต่อ แต่ไม่ได้ปฏิบัติกรรมฐาน ได้แต่ลงโบสถ์ไหว้พระสวดมนต์ บิณฑบาต ทำกิจกรรมต่างๆ ก็พอใจแล้ว

ถาม        บนนี้มีพระเยอะไหมเจ้าคะ

ตอบ  มีอยู่ ๔ รูป แล้วก็มีมาเพิ่มอีก ๒ รูป เป็นพระบวชใหม่ที่อยู่ข้างล่าง แต่อยากจะขึ้นมาภาวนา  ตอนนี้จึงมีอยู่ ๖ รูป

ถาม        เวลาเช้าก็ลงไปพร้อมกัน

ตอบ ไม่พร้อม ตัวใครตัวมัน ใครพร้อมเวลาไหนก็ลงไปเอง ไม่ต้องมายุ่งกัน ทุกคนรู้หน้าที่ รู้เวลาของตน บางท่านลงตอนตี ๓ ก็มี

ถาม        ข้างล่างมีพระหลายรูปไหมเจ้าคะ

ตอบ        ในพรรษานี้จะมีประมาณ ๖๐ รูป

ถาม         ๖๐ เชียวหรือครับ

ตอบ  อยู่ข้างล่างประมาณ ๖๐ รูป ข้างบนนี้น้ำก็ไม่สะดวก ต้องอาศัยน้ำฝนที่รองใส่แท้งก์ไว้ ก็มีจำนวนจำกัด ใช้มากก็จะหมด ไม่พอใช้  ไฟฟ้าก็ไม่มี คนที่ไม่รักการภาวนาจริงๆจะไม่ชอบที่อย่างนี้ แต่คนที่ชอบภาวนา กลับจะชอบที่อย่างนี้  ลำบากเรื่องน้ำ เรื่องไฟ อดอยากขาดแคลนไม่เป็นไร ขอให้ที่สงบสงัด ไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจก็แล้วกัน จะเป็นประโยชน์ในการภาวนา พระที่วัดนี้เป็นเหมือนลูกกำพร้า สมเด็จพระสังฆราชฯทรงสร้างวัดนี้ขึ้นมา แต่ไม่ได้ควบคุมดูแลพระเณรเอง ทรงฝากให้พระองค์นั้นดูแลบ้าง พระองค์นี้ดูแลบ้าง ตอนหลังนี้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ดูแลกันเอง บางองค์บางท่านที่สนใจการภาวนา เวลาออกพรรษาก็จะไปกราบไหว้ครูบาอาจารย์กัน แล้วก็อยู่ปฏิบัติกับท่าน พระที่ขึ้นมาอยู่บนเขานี้ ก็เคยไปอยู่กับครูบาอาจารย์ทางโน้นมา ก็พอจะรู้จักข้อวัตรปฏิบัติ แต่เป็นคนพื้นที่ที่นี่ ไปอยู่สักพักแล้วคงคิดถึงบ้าน ก็กลับมาอยู่ที่นี่

สมเด็จพระสังฆราชอยากจะให้เป็นวัดกรรมฐาน ให้เป็นวัดที่มีการปฏิบัติ นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธุดงควัตรกัน แต่ก็อยากจะให้เป็นวัดที่สวยงาม จึงสร้างให้สวยงาม ก็เลยกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไป มีคนมาเที่ยวชมตลอดเวลา แล้วก็อยากจะให้เป็นเหมือนวัดบวรฯ อยากให้มีขนบธรรมเนียมประเพณีของวัดบวรฯด้วย ก็เลยปนกันไปปนกันมา เป็นทั้งลูกทุ่ง เป็นทั้งลูกกรุง

ถาม         มีความแตกต่างกันมากเลยนะคะ

ตอบ  อาตมาเองก็อยู่ไปตามอัธยาศัย  เคยปฏิบัติอย่างไรตอนที่อยู่กับครูบาอาจารย์ ก็ปฏิบัติของเราไป ไม่ได้ไปสอนใคร  แต่ถ้าใครสนใจอยากจะสนทนาธรรมด้วย ก็สนทนากันไป ทำหน้าที่ของเรา เช้าก็เดินลงไปบิณฑบาต ฉันเสร็จก็กลับมาที่พัก แล้วก็ไม่ยุ่งกับใคร อยู่ตามลำพัง ใครสนใจจะมาฟังเทศน์ฟังธรรมก็มา ก็พูดไปตามความรู้ความสามารถ เท่าที่จะพูดที่จะสอนได้ ไม่ได้หวังอะไร ไม่ได้คิดอะไร ก็อยู่ไปอย่างนี้ จนหมดเวลาของเราเท่านั้นเอง ถ้าทำแล้วสบายใจ ไม่วุ่นวายใจ ไม่ทำลายความสงบ ก็ทำไป ถ้ารบกวนความสงบ ก็อาจจะต้องหาที่อยู่ใหม่ ขยับขยายไป เพราะงานหลักคือดูแลจิตใจ รักษาจิตใจให้สงบ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ถ้ามีเรื่องมาบีบมากจนรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ ก็ต้องไป ถ้าไม่มีอะไรมาบีบก็อยู่ต่อไป แต่ก็ยังไม่รู้จะไปทางไหน เพราะไม่ได้ไปที่ไหนเลย ไม่ได้สมาคมกับใครที่ไหน  เวลาที่อยู่ที่บ้านตาดก็ไม่ได้ไปไหน อยู่ที่นั่น ๙ ปีก็ไม่ได้ออกไปไหนเลย

ตั้งแต่บวชมานี้ก็ไม่ค่อยได้สนิทสนมกับใคร ทั้งๆที่อยู่ในวัดเดียวกัน รู้จักชื่อ รู้จักหน้าค่าตา แต่ไม่ได้ทำความสนิทสนมกับใคร เพราะต่างคนก็มีหน้าที่ของตน อยู่ที่นั่นก็เหมือนกับอยู่ที่นี่ เช้าก็ไปที่ศาลาเตรียมตัวออกบิณฑบาต กลับมาจากบิณฑบาต ฉันเสร็จ ทำความสะอาดเสร็จ ก็กลับกุฏิใครกุฏิมัน บ่ายก็ออกมาปัดกวาดฉันน้ำร้อนน้ำชา เสร็จแล้วก็กลับไปสรงน้ำ เข้าที่ภาวนา ชีวิตของพระปฏิบัติก็มีแค่นั้น อยู่ที่นั่นก็ไม่ค่อยได้ไปหาใคร ไม่ได้ไปคุยกับใคร  รู้จักว่าเป็นใครเท่านั้น แต่ก็ไม่รู้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ไม่ค่อยคุยกับใคร อาจจะแปลกไปหน่อย

ถาม        ท่านอยู่รุ่นเดียวกับท่านอาจารย์วันชัยใช่ไหมคะ

ตอบ ก็อยู่ช่วงเดียวกัน แต่อาตมาเข้าไปก่อนท่านสัก ๒ ปีหรือไงนี่ ท่านเข้าไปหลังหน่อย  รู้ว่าเป็นใคร แต่ก็ไม่ได้คุยกัน เวลาทำกิจร่วมกันก็ไม่ค่อยได้คุยกันอยู่แล้ว มีหน้าที่กวาดถูปัดกวาด ก็ทำไป ส่วนใหญ่จะมีสติอยู่กับใจ เรื่องภายนอกจะไม่สนใจ จึงไม่ค่อยรู้จักใครเท่าไร

ถาม   เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์พูดถึงว่าอยู่ที่ไหนสบายใจก็อยู่ ถ้าเผื่อไม่อยู่ก็หาที่ใหม่อะไรอย่างนี้ เปรียบเทียบเคียงกับโยมที่อยู่ในสังคมนี้นะครับ อยู่สังคมที่นี่ทำงานที่นี่อยู่แล้วสบายใจบ้าง ไม่สบายใจบ้าง  จะเอาหลักธรรมไปจับเพื่อที่จะให้อยู่ได้ หรือว่าจะหนีไปหาที่ใหม่เลย อย่างนี้มีหลักพิจารณาอย่างไรครับ ท่านอาจารย์ว่าควรจะเอาอย่างไรดี

ตอบ        หลวงปู่มั่นเคยพูดกับพระเวลาไปกราบ
                           ลาว่า ถ้าไปแล้วดีกว่าอยู่ ไปก็ดี  ถ้าไปแล้วแย่กว่าอยู่ อยู่จะดีกว่า

ถาม        อันนี้เราไม่รู้ว่าที่ใหม่ที่จะไป ดีกว่าที่เก่าหรือเปล่า

ตอบ  ก็ลองไปศึกษาดูซิ อย่าไปแบบไปเลย ไปลองดูก่อน ถ้าดีกว่าที่เก่าก็ไปเลย ถ้าไม่ดีก็กลับมาอยู่ที่เก่า แต่ก็ต้องมีความอดทนบ้าง ไม่ใช่พอมีอะไรไม่ถูกอกถูกใจ ก็จะไป อย่างนี้เป็นเหมือนกับนุ่น พอมีลมพัดมาก็จะปลิวตามลมไป มีอะไรมาสัมผัสหน่อยก็จะไปแล้ว ต้องมีความหนักแน่นพอสมควร จนรู้ว่าอยู่ไปแล้วไม่เจริญ มีแต่ปัญหา มีแต่เรื่อง ไปแล้วดีกว่า ก็น่าจะไป

ถาม   เหมือนที่ท่านอาจารย์ทำงานอยู่แล้วก็ภาวนาไปด้วยนะครับ ที่ท่านอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า การทำงานนี่มันทำให้เราเบื่อหน่าย ในที่สุดก็ออกมาภาวนาดีกว่า

ตอบ  ก็นั่นนะซิ อาตมาก็ลาออกจากงาน แล้วก็ไปปฏิบัติอยู่ปีหนึ่งโดยไม่ได้ทำงาน งานที่ทำก็ไม่ตรงกับวิชาที่เรียนมา จบวิศวะฯ แต่หางานวิศวะฯที่ชอบไม่ได้ มีแต่งานควบคุมการก่อสร้าง แต่ชอบงานออกแบบ ก็เลยไม่ได้ทำงานวิศวะฯ  พอดีมีฝรั่งอยากจะเปิดร้านขายไอศกรีม ตอนที่อยู่ที่เมืองนอกก็เคยทำงานที่ร้านขายไอศกรีม ก็เลยมีประสบการณ์ทางด้านนี้ ฝรั่งก็เลยให้เป็นผู้จัดการ ให้จัดระบบ จ้างคนงาน หาอะไรต่างๆมา ไม่ใช่เป็นร้านขายไอศกรีมธรรมดา แต่เป็นชนิดที่ต้องผสมปรุงแต่ง เป็นพวกไอศกรีมซันเดย์ ซึ่งในสมัยนั้นไม่ค่อยมีขายในเมืองไทย ส่วนใหญ่เป็นไอศกรีมที่ใส่ถ้วย ไอศกรีมแบบนี้ต้องใส่สับปะรด ใส่กล้วย ใส่เครื่องปรุงหลายอย่าง ตามรสชาติที่ต้องการ

ถาม        ที่ทำก็เพราะพอใจที่อยู่ใกล้บ้าน

ตอบ  ใช่ มันสะดวกสบายดี เงินเดือนก็ดีกว่าเป็นวิศวกรเสียอีก ถ้าเป็นวิศวกรก็ต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ  ต้องไปเช่าบ้านอยู่ ต้องเดินทางจากที่บ้านไปที่ทำงาน เงินเดือนก็จะหมดไปกับค่าใช้จ่าย สู้อยู่ที่บ้านเราไม่ได้ นั่งรถสองแถวบาทเดียวก็ถึงที่ทำงาน งานก็ไม่จำเป็นต้องทำทั้งวัน พอจัดระบบเสร็จแล้ว ก็คอยควบคุมดูแล จะนั่งกินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์ ไปเล่นน้ำบ้าง ก็ทำได้ ไม่ต้องทำทั้งวัน  เวลามีลูกค้ามาก ก็ช่วยกันทำ แต่ธรรมดาก็ไม่ค่อยมากนักในวันทำงาน เพราะเป็นสถานที่ตากอากาศ จะมากเฉพาะวันเสาร์วันอาทิตย์เท่านั้น วันธรรมดาจะไม่ค่อยมีคนเท่าไร อาตมาจึงพอใจ มีเวลาได้อ่านหนังสือธรรมะ จึงได้ฝึกนั่งสมาธิ จนเห็นว่าการทำงานกับการนั่งสมาธิจะไปกันคนละทาง จึงต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรดี ถ้าอยากจะเจริญก้าวหน้าทางสมาธิ ก็ไม่ควรทำงานต่อไป 

อาตมาไม่ค่อยเสียดายเรื่องเงินทอง เรื่องวัตถุอยู่แล้ว อยู่แบบง่ายๆได้ กินก๋วยเตี๋ยวข้างถนนก็กินได้ กินอาหารในโรงแรมก็กินได้ ได้ทุกอย่าง ไม่ได้ไปยึดไปติดเรื่องการอยู่การกินเท่าไร แต่กังวลเรื่องจิตใจมากกว่า ที่วุ่นวาย ไม่มั่นคง หวั่นไหวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข พอดีได้พบธรรมะ ได้นั่งสมาธิ ได้เห็นความแน่วแน่มั่นคง ขณะที่จิตใจสงบ แต่พอออกจากสมาธิ แล้วไปสัมผัสกับเรื่องธุรกิจการงานต่างๆ ก็เกิดมีความปั่นป่วนขึ้นมา ก็เลยเห็นความแตกต่างระหว่างการอยู่ในสมาธิกับการทำงาน ไปคนละทางเลย ถ้าต้องการความสงบความสบายใจ ก็ต้องตัดเรื่องการทำงานไป

ก็เลยไปลาฝรั่ง ทำงานได้แค่ ๖ เดือน ฝรั่งก็คิดว่าลาเพื่อจะขอเงินเดือนเพิ่ม ถามว่าคุณต้องการเงินเพิ่มหรือ ตอบว่าไม่หรอก ตอนนี้พอดีได้ศึกษาธรรมะ ได้มาฝึกนั่งทำสมาธิ รู้สึกว่าการทำงานกับการนั่งสมาธิมันขัดกัน อยากจะไปนั่งสมาธิมากกว่า เพราะทางโลกก็ได้สัมผัสมาพอสมควรแล้ว งานการก็เคยทำมาพอสมควรแล้ว ความสุขในทางโลกก็เคยได้สัมผัสมาแล้ว เที่ยวก็เที่ยวมาพอสมควรแล้ว แต่ความสุขทางด้านความสงบยังไม่ได้สัมผัสมากเท่าที่ควร อยากจะสัมผัสให้มากกว่านี้  ก็เลยอยากจะออกจากงาน คิดว่าจะปฏิบัติสักปีหนึ่ง ทดลองดูว่าจะเป็นอย่างไร จะก้าวหน้าในทางปฏิบัติได้ไหม ถ้าได้ก็จะไปบวช ถ้าไปไม่ได้ ก็จะกลับมาทำงาน แล้วก็จะเลิกนั่งสมาธิไปเลย  ต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้านั่งสมาธิแล้วทำงานไปด้วย ก็เหมือนน้ำร้อนกับน้ำเย็นผสมกัน จะร้อนก็ไม่ร้อน จะเย็นก็ไม่เย็น มันอุ่นๆ ทำงานทางโลกก็จะไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร

ถ้าได้สมาธิแล้ว แต่ยังต้องทำงานทางโลกอยู่ ก็จะไม่เจริญทางธรรมะเท่าที่ควร เพราะอยู่กันคนละทิศ  ถึงเวลาที่จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ก็เลยขอเวลาสักปีหนึ่งอยู่กับการปฏิบัติ อยู่คนเดียว พอดีมีห้องแถวอยู่ห้องหนึ่ง ไม่มีใครอยู่ จึงได้อยู่คนเดียว เหมือนกับได้อยู่ที่วัด ตื่นเช้าขึ้นมาก็นั่งสมาธิ พอสายๆก็ลงมาเดินจงกรม ทำกับข้าวกินเองบ้าง ออกไปซื้อกินข้างนอกบ้าง กินวันละมื้อ ส่วนใหญ่จะนั่งสมาธิ เดินจงกรม อ่านหนังสือธรรมะ ทำอยู่ ๓ อย่างนี้ อยู่แต่ในบ้าน กวาดบ้านถูบ้าน ทำไปคนเดียว

ถาม        ครูบาอาจารย์มีไหมคะ

ตอบ    ไม่มี มีแต่หนังสือธรรมะที่ได้มาจากประเทศศรีลังกา เป็นภาษาอังกฤษที่พระฝรั่งแปลจากพระไตรปิฎก เช่นธัมจักรกัปวัตนสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร โดยเฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตรที่เรายึดเป็นอาจารย์ เช้าตื่นขึ้นมาก็ท่องสูตรนี้ นั่งขัดสมาธิท่องไปในใจเหมือนกับสวดมนต์ แต่เป็นภาษาอังกฤษ ท่องไปก็เข้าใจความหมายว่า ให้ทำอะไร ในเบื้องต้นทรงให้ไปหาที่สงบวิเวก ตามโคนไม้ ตามป่าตามเขา กำหนดจิตดูลมหายใจเข้าออก เมื่อออกจากสมาธิก็ให้มีสติอยู่กับการเดิน ยืน นั่ง นอน แล้วก็ให้พิจารณาดูกาย พิจารณาดูอาการ ๓๒ ดูซากศพ ดูอสุภะ อะไรต่างๆเหล่านี้ แล้วก็ให้พิจารณาดูเวทนา ว่ามีสุข มีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ให้ปล่อยวางตามความเป็นจริง

ปฏิบัติอย่างนี้ไปตามลำพัง เพราะตอนนั้นก็ไม่รู้จักครูบาอาจารย์ที่ไหน ก่อนที่จะปฏิบัติธรรมก็ไม่เคยเข้าวัด หนังสือธรรมะก็ไม่ได้จากที่วัด ได้จากคนที่มาเที่ยวพัทยา เป็นฝรั่ง คุยกันแล้วเขาเห็นว่าชอบทางนี้ ก็เลยเอาหนังสือธรรมะมาให้อ่าน พอได้อ่านเล่มหนึ่งก็ติดใจ ก็เลยเขียนจดหมายไปขอที่ประเทศศรีลังกา เขาก็ส่งหนังสือมาให้ อาตมาก็อ่าน อ่านแล้วก็ปฏิบัติไปคนเดียว  ปฏิบัติไปได้ปีหนึ่ง ก็คิดว่าถ้าจะบวช คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะตลอดเวลาหนึ่งปีก็อยู่เหมือนกับพระ ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน วันๆหนึ่งมีแต่นั่งสมาธิ เดินจงกรม อ่านหนังสือธรรมะ จึงคิดว่าถ้าบวชแล้ว ต้องไปอยู่วัดที่มีการปฏิบัติ ไปคุยกับสมภารวัดใกล้บ้าน ท่านก็บอกว่าวัดท่านเป็นวัดบ้านธรรมดา มีงานศพ มีงานสวด มีงานบุญต่างๆ แต่ท่านเองก็เคยไปกราบครูบาอาจารย์ทางภาคอีสาน ที่มีการปฏิบัติจริงๆ ท่านก็บอกให้ไปบวชที่วัดบวรฯกับสมเด็จญาณฯ แล้วสมเด็จฯจะอนุญาตให้ไปฝึกอยู่กับครูบาอาจารย์ทางภาคอีสาน

อาตมาก็เลยไปกราบสมเด็จญาณฯ ไปขออนุญาตให้ท่านบวชให้ ไปคนเดียว ท่านก็คิดว่าอาตมาเป็นคนเร่ร่อน จึงถามว่ามีพ่อมีแม่หรือเปล่า อาตมาก็ไม่รู้จักท่านมาก่อน วัดบวรฯก็ไม่เคยเข้าไป ท่านก็ถามว่ารู้จักใครในวัดนี้หรือเปล่า ตอบว่าไม่รู้ เพิ่งเจอพระฝรั่งรูปหนึ่ง ได้คุยกับท่าน ท่านจึงไปเล่าให้สมเด็จฯฟัง สมเด็จฯก็เลยให้พาโยมมาพบ อาตมาก็กลับมาบอกให้โยมไปกราบท่าน ท่านก็กำหนดวันบวชให้ ก็เลยได้บวช พอดีช่วงนั้นมีพระฝรั่งไปวัดป่าบ้านตาดกัน ก็เลยรู้ว่าทางภาคอีสานมีวัดป่าบ้านตาด  มีวัดหลวงปู่เทสก์ มีวัดหลวงปู่ฝั้นที่มีชื่อมีเสียง ก็เลยคิดว่าจะลองไปดู ได้ไปที่วัดป่าบ้านตาดเป็นวัดแรก ไปถึงท่านอาจารย์ก็ไม่รับ ท่านบอกว่าอยู่ได้ชั่วคราว  ก็อยู่ไปเรื่อยๆ ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร จนใกล้วันเข้าพรรษา ท่านก็เตือนว่า เรารับเธอชั่วคราวเท่านั้นนะ อยู่ไม่ได้นะ ท่านก็พูดแบบนี้

ซึ่งเป็นช่วงใกล้เข้าพรรษา เป็นเวลาที่ท่านจะคัดเลือกพระ เพราะท่านจะรับจำนวนจำกัด ปีนั้นท่านรับแค่ ๑๗-๑๘ รูปเท่านั้นเอง  ท่านก็บอกว่าองค์นั้นอยู่ได้ องค์นี้อยู่ไม่ได้นะ สำหรับอาตมาท่านก็บอกว่าอยู่ไม่ได้ ให้อยู่ชั่วคราว ท่านพูดตอนก่อนที่ท่านจะเทศน์   เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ก็เฉยๆไว้ก่อน ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร พอท่านเทศน์เสร็จแล้ว เวลาเลิกประชุมจะกราบพระ ท่านก็พูดว่าองค์นั้นจะอยู่ก็อยู่นะ จึงได้อยู่มาตลอด อยู่ที่นั่นก็ไม่ได้ไปไหน ๕ พรรษาแรกนี่ ไม่ได้ออกไปจากวัดเลย ก็ปฏิบัติอยู่อย่างนั้น พอได้ ๕ พรรษาแล้ว ก็ขอลามาเยี่ยมโยมเป็นครั้งแรก  อยู่ที่นั่นได้ลามาเยี่ยมบ้าน ๓ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ก็ไม่ได้กลับไปเลย ตลอดเวลาเกือบ ๙ ปีก็ได้ออกจากวัดเพียง ๓ ครั้งเท่านั้นเอง อยู่ที่นั่นก็เคยเข้าไปในเมืองอุดรเพียง ๔- ๕ ครั้ง ไปกิจนิมนต์ครั้งสองครั้ง ซึ่งนานๆจะมีสักครั้งหนึ่ง แล้วก็ไปหาหมอสองสามครั้งเพราะเป็นไข้ป่า ไปให้หมอฉีดยาให้ นอกจากนั้นก็ไม่ได้ไปไหนเลย

อยู่อุดรก็ไม่เคยได้ไปกราบครูบาอาจารย์องค์อื่นเลย ไม่เคยมีความรู้สึกว่าจะต้องไป เพราะรู้ว่าไปก็เท่านั้น ไปท่านก็สอนให้กลับมานั่งภาวนาอยู่ดี ไม่ได้ให้ไปไหนหรอก ไปหาครูบาอาจารย์กี่ร้อยรูป ก็เหมือนกันทั้งนั้น ท่านก็สอนเรื่องทาน ศีล ภาวนา หาให้เจอเถอะ ถ้าได้เจออาจารย์ภายในใจเราแล้ว ก็ไม่ต้องไปหาอาจารย์ข้างนอก ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต มันอยู่ตรงนั้นแหละ ทำใจให้สงบเถอะ จิตสงบแล้วจะไม่ไปหาใครอีก จะรู้ว่าอยู่ในตัวเรา แต่ธรรมต่างๆที่ได้ยินได้ฟังก็สำคัญ เพราะถ้าไม่ได้ยินได้ฟังก็จะไม่รู้เรื่องปัญญา เรื่องธรรมะ ต้องอาศัยคนที่ผ่านมาแล้ว แต่รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดเป็นความจริงขึ้นมาในใจ  อย่างหลวงตาท่านพูดเสมอว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านนี่มันเป็นความจำนะ ไม่ใช่ความจริง ความจริงต้องเกิดจากการปฏิบัติ

ความสงบเราก็ได้ยินมานานแล้ว แต่มันสงบหรือยังในใจเรา ต้องทำให้เป็นความจริงขึ้นมาให้ได้ เมื่อมีความสงบแล้ว จิตจะมีฐาน เวลาพิจารณาทางปัญญาจนเห็นไตรลักษณ์ ก็จะปล่อยวางได้ ตอนนี้เราเห็นไตรลักษณ์ แต่ยังปล่อยไม่ได้ ยังเสียดายอยู่ เห็นว่าต้องจากกัน แต่ก็ยังปล่อยไม่ได้ ทั้งๆที่รู้ว่าสิ่งที่เรายึดเราติดนั้น เป็นของไม่เที่ยงก็ตาม แต่ก็ยังต้องอาศัยเขาอยู่ ยังปล่อยไม่ได้ แต่ถ้าได้ความสงบภายในใจแล้ว จะปล่อยได้ เพราะได้สิ่งที่ดีกว่า คือความสงบนี่แหละ ที่ทำให้อยู่ตามลำพังได้ ไม่ต้องมีอะไรก็อยู่ได้

ถาม        ท่านอาจารย์พูดถึงตอนที่ตัดสินใจออกจากงานแล้วมา
                           ภาวนานี่ คล้ายๆว่าสมาธิมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้วใช่ไหมครับ

ตอบ  ก็ได้สัมผัสมาบ้าง เคยนั่งดูมันเจ็บมันปวดอยู่ แล้วเราภาวนาไป กำหนดอนิจจังๆไปสักพักหนึ่ง มันก็หายไป จิตมันสงบนิ่งเข้าไป ความเจ็บปวดตรงนั้นเจ็บปวดตรงนี้ ก็หายไปเลย  ก็แปลกใจ เอ๊ะทำไมเมื่อครู่นี้มันยังดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่ เดี๋ยวนี้มันหยุดนิ่ง ก็เลยจับประเด็นได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาย่อมดับได้ เปลี่ยนแปลงได้

ถาม   หลายครั้งมีความรู้สึกว่า น่าจะตัดสินใจออกมาภาวนานะ แต่เคยได้ยินท่านอาจารย์พูดถึงว่าอย่าชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งเป็นคำที่ดีมากเลย ถ้าเผื่อเราไม่มีความพร้อมออกมา ซ้ายก็ไปไม่ได้ ขวาก็ไปไม่ได้ ไปๆมาๆก็เคว้งคว้างๆ

ตอบ  ก็ต้องถอย ต้องบำเพ็ญในขั้นของเรา ถ้าเราถนัดทำบุญทำทานก็ทำไป รักษาศีลก็รักษาไป

ถาม        คือว่าอยู่ในโลกฆราวาสนี้ บางทีสังคมพวกนี้ก็เป็น
               อุปสรรคในการภาวนา

ตอบ     ก็ปลีกออกมาบ้าง เช่นวันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดก็ไปอยู่วัดกัน ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่อยู่ดีๆจะตัดทีเดียวให้ขาดเลย แต่ก็ต้องพยายาม กล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่เราพอทำได้  ถึงแม้จะไม่ชอบทำ ถึงแม้จะลำบาก แต่รู้ว่าเป็นทางที่จะต้องไป ก็ต้องกระเสือกกระสนไปให้ได้ ไม่ใช่จะรอให้โอกาสมาฉุดเราไป มันไม่มีหรอก เพราะโอกาสดีๆที่จะฉุดเรานั้นมีอยู่แล้ว ครูบาอาจารย์ดีๆก็มีอยู่แล้ว เมืองไทยก็เป็นเมืองพุทธที่น่าอยู่ มีการทำบุญทำทาน รักษาศีล ภาวนากันอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค อยู่ที่ตัวเราเท่านั้น ว่าจะไปได้หรือไม่ ถ้ายังอยู่แบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ ก็จะได้แค่รักษาบุญวาสนาที่เคยสะสมมา ก็ทำได้แค่นั้น ถ้าเคยรักษาศีล ๕ ได้ ก็จะรักษาได้แค่ศีล ๕  ถ้าเคยทำบุญทำทานได้ในระดับนี้ ก็จะทำได้ในระดับนี้เท่านั้น ถ้าไม่ผลักดันตัวเราให้ทำให้มากขึ้น

ถาม   เหตุปัจจัยส่วนหนึ่งก็มาจากสภาพแวดล้อม จากครูบาอาจารย์ อีกส่วนหนึ่งเราก็ต้องทำเองเท่านั้น จริงไหมครับท่านอาจารย์

ตอบ  ใช่ ท่านเป็นเหมือนแผนที่ เป็นผู้ชี้ทางว่า ต้องไปทางนี้นะ คุณเดินมาถึงตรงนี้แล้ว คุณจะต้องเดินไปทางนี้ต่อ เมื่อฟังแล้วก็ต้องเอาไปปฏิบัติ ไม่ใช่ฟังแล้วก็ลืม เข้าหูซ้ายออกหูขวา แล้วก็กลับไปทำงานทำการเหมือนเดิม วันเวลาผ่านไป จิตก็ไม่ได้รับการพัฒนา ได้แต่รักษาให้อยู่ในระดับเดิมเท่านั้นเอง  ถ้ายังไม่เคยภาวนา ก็ลองภาวนาดู อยู่ที่บ้านลองหัดฝึกนิสัยให้ตื่นก่อนไปทำงานอีกสักชั่วโมง เคยตื่นกี่โมงก็ตื่นก่อนอีกสักชั่วโมงหนึ่ง แล้วใช้เวลานั้นมานั่งไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ ตอนเย็นก็เหมือนกัน ก่อนนอนก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน พยายามลดละในเรื่องที่ไม่จำเป็นต่อการทำมาหากิน เรื่องกินเหล้าเมายา เฮฮาปาร์ตี้ ไปเที่ยวไปเดินช้อปปิ้ง ถ้าไม่จำเป็นก็ตัดๆไปเสีย ให้มันน้อยลงไป เอาเวลามาภาวนาดีกว่า กลับบ้านเร็วหน่อย ไม่ต้องไปสังสรรค์ ไม่ต้องไปสมาคมกับคนนั้นคนนี้มากจนเกินไป ไปแต่เฉพาะงานที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น  

ถ้ามีภาระมีครอบครัวก็ลำบาก อย่างอาตมาโชคดีเพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆ ยังไม่มีอะไร งานก็ไม่มีทำ งานที่ทำก็ไม่ใช่เป็นงานที่อาตมาอยากจะได้ แต่ต้องทำ เพราะต้องมีอะไรเลี้ยงชีพ ก็ทำไปพอประทังชีพเท่านั้นเอง ก็เลยไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไรเลย เวลาจะต้องออกจากงานนี้ไป เวลาจะบวชก็ไม่มีสมบัติข้าวของเงินทองติดตัวอยู่ ก็เลยไม่มีอะไรให้เสียดาย จึงไปง่าย เหมือนกับมาตัวเปล่าๆ แล้วก็ไปตัวเปล่าๆ ยังไม่ได้มีอะไรจะต้องเสียดาย ไม่มีอะไรที่จะเหนี่ยวรั้งให้ติดอยู่กับชีวิตของฆราวาส  มองไปข้างหน้ามีแต่ความหวัง เพราะเชื่อว่าเป็นทางที่ดี จะได้ปฏิบัติเต็มที่  คนที่ชอบปฏิบัติจะเห็นว่าการเป็นพระนี้ดีที่สุดเลย พระพุทธเจ้าทรงวางแนวทางให้ไปทางนี้จริงๆ เป็นพระไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย ถ้าศึกษาแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จะรู้ว่าทรงสอน ให้ภาวนาอย่างเดียวเท่านั้น ให้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้น

แต่พระสมัยนี้เหมือนกับไม่ได้ศึกษา หรือศึกษามาจากที่ไหนก็ไม่รู้ ท่านมีงานของท่านเยอะแยะไปหมด  งานสวด งานสร้างเมรุ  ซึ่งไม่มีในสมัยพุทธกาลๆ ไม่ได้ถือเป็นงานหลัก งานหลักอยู่ที่ภาวนา พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างวัดแม้แต่วัดเดียว คิดดูถ้าเป็นงานของพระจริงๆแล้ว ใครจะมาสร้างวัดเก่งเท่ากับพระพุทธเจ้า จะสร้างร้อยวัดพันวัดก็สร้างได้  แต่มันไม่ใช่งานของพระ งานของพระให้สร้างธรรมให้เกิดขึ้นในใจเท่านั้น ส่วนที่อยู่อาศัยก็อยู่ไปตามมีตามเกิด ถ้าไม่มีศรัทธาสร้างกุฏิให้ ท่านก็ทรงสอน รุกขมูล เสนาสนัง ให้อยู่ตามโคนไม้ อยู่ตามเรือนร้าง อยู่ตามถ้ำ ที่สงบ ที่สงัด นั่นคือที่อยู่ของพระ ผ้าก็ใช้ผ้าบังสุกุล ผ้าที่เขาทิ้งตามป่าช้า ทิ้งตามกองขยะ เก็บเศษผ้ามาแล้วก็เอามาตัดมาเย็บ เอามาย้อม ก็ใช้ได้แล้ว สมัยนี้กับสมัยนั้นมันคนละโลกกัน สมัยนี้พระเณรยุ่งกับเรื่องทางด้านวัตถุกันมาก เรื่องพิธีกรรมต่างๆ จนลืมของดีไป เพราะมันยากที่จิตใจของคนจะเข้าสู่ธรรมได้ ถ้าไม่มีความตั้งใจ  ไม่มีความเข้าใจ  ก็จะเข้าไม่ถึง

สมัยนี้บวชกันก็ยังไม่รู้เลยว่าบวชไปทำไม ก็บวชกันตามประเพณี บวชแล้วก็อาจจะชอบ ก็เลยอยู่ต่อ แล้วก็คิดว่าอยู่ให้เกิดประโยชน์ด้วยการสร้างโบสถ์ สร้างศาลา แต่ไม่ค่อยจะหนักในทางศึกษาปฏิบัติ ศึกษาก็พอเอามาท่องจำเหมือนกับนกแก้วนกขุนทอง แล้วก็เอามาสอนคนอื่นต่อ ได้เปรียญ ๙ ประโยคแล้ว ก็ไม่เคยเอา ๙ ประโยคมาปฏิบัติกับตัวเองเลย เป็นเพียงความรู้ที่มีอยู่ในใบประกาศนียบัตรเท่านั้นเอง แต่ในใจกิเลสก็ยังเต็มหัวใจอยู่  ใกล้จะ ๔โมงแล้วนะ

ถาม   ขออีกคำถามนะครับท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์พูดถึงเรานั่งแล้วเราเจ็บนี่นะครับ เจ็บเท้าเจ็บอะไรนี่ ท่านอาจารย์พูดถึงว่ามันเป็นวิภวตัณหา

ตอบ ไม่ใช่ ความเจ็บมันเป็นธรรมดาของร่างกาย ก็ต้องมีเจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้เป็นธรรมดา แต่วิภวตัณหา เป็นตัวสร้างความทุกข์ใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่าทุกข์ในอริยสัจ เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความอยาก ที่จะให้ความเจ็บนี้หายไป เราสามารถทำให้ทุกข์นี้ดับได้ ที่เรียกว่านิโรธ โดยใช้ปัญญา บอกตัวเราว่าความเจ็บของร่างกายมันแค่นี้เอง พอทนได้ ไม่เป็นไรหรอก มันจะเจ็บก็ให้มันเจ็บไป เดี๋ยวก็หายเอง แต่อย่าไปอยากให้มันหาย พออยากให้หายแล้ว ก็จะเกิดความทุรนทุรายขึ้นมาภายในจิตใจ เพราะใจเราจะไม่ชอบความเจ็บ พอหมอบอกว่าต้องฉีดยาเท่านั้นเอง ใจก็เจ็บก่อนแล้ว ทั้งที่เข็มยังไม่ถูกร่างกายเลย

ถาม        เป็นการแยกทุกข์กายกับทุกข์ใจให้ออกจากกัน

ตอบ         ใช่ ทุกข์ใจดับได้ด้วยปัญญา ด้วยมรรค

ถาม        ที่เรารียกว่าอริยสัจ

ตอบ  ใช่อริยสัจ แต่ทุกข์ใจก็อาศัยทุกข์กายเป็นเหตุทำให้เกิด เช่นเราหิวข้าว ก็เป็นความทุกข์กาย ใจก็หงุดหงิดตามไปด้วย เวลาคนหิวข้าวนี่ พูดกันไม่รู้เรื่อง ต้องกินข้าวให้อิ่มก่อนแล้วค่อยคุยกัน ถึงจะรู้เรื่อง เพราะตอนหิวใจจะหงุดหงิด ใจถูกตัณหาครอบงำ ตอนนั้นคิดแต่จะกินอย่างเดียว ใครมาพูดเรื่องอะไร จะฟังไม่รู้เรื่อง เข้าใจไหม

ถาม        ถ้าดับที่ใจได้ แต่กายก็ไม่จำเป็นต้องดับนะครับ

ตอบ        ดับไม่ได้ ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ

ถาม        เป็นไปตามธรรมชาติของมันเอง

ตอบ  จะดับในส่วนของใจ เพราะใจไปสร้างขึ้นมา เข้าใจไหม พอใจไม่ไปยุ่งกับร่างกาย ความเจ็บก็หายไปเอง โดยธรรมชาติจะเป็นอยู่พักหนึ่ง แล้วก็จะหายไปเอง แล้วเดี๋ยวก็จะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ ธรรมชาติของร่างกายเป็นอย่างนี้ ถ้าใจไม่ไปยุ่งกับกายแล้ว ใจจะไม่ทุกข์  ส่วนใหญ่โดยนิสัยของเราพอเจอความเจ็บนิด เราจะขยับแล้ว จะหนีแล้ว ถ้าเป็นความเจ็บแล้ว ไม่เอาทั้งนั้น ก็เลยเป็นนิสัย พอไปอยู่ในสภาพที่ขยับไม่ได้ ก็ทรมานใจ เช่นเวลานั่งฟังเทศน์ฟังธรรมของครูบาอาจารย์นานๆ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์นี่ นั่งขยับไม่ได้นะ จนกว่าท่านจะเลิกเทศน์ ปวดก็ปล่อยให้ปวดไป

ถ้าตั้งใจฟัง ใจเกาะอยู่กับการฟัง ความเจ็บก็จะไม่ค่อยรุนแรง แต่ถ้าไม่มีสมาธิในการฟัง แล้วมาสนใจกับความเจ็บ ก็ยิ่งเจ็บขึ้นไปใหญ่  เพราะจิตสร้างขึ้นมาเอง ทำให้รู้สึกว่าเจ็บมากขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น   เวลาใจไม่ต้องการแล้ว จะรู้สึกว่ารุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าชอบจะรู้สึกเฉยๆ ใช่ไหม  เวลานั่งดูหนัง ฟังเพลง นั่งเล่นไพ่ นั่งทั้งคืนก็ไม่รู้สึกเจ็บ  เพราะเราชอบ

ถาม   ท่านอาจารย์คะ อย่างนี้แสดงว่าในเพศของฆราวาสไม่มีทางที่จะปฏิบัติได้เลยใช่ไหมคะ

ตอบ  ปฏิบัติได้ แต่มันยาก สิ่งแวดล้อมไม่อำนวย  เหมือนกับการรักษาโรค รักษาที่บ้านกับรักษาที่โรงพยาบาลมันต่างกัน ที่บ้านมันไม่ค่อยมีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่เหมือนกับที่โรงพยาบาล ที่มีหยูกมียา มีหมอ มีพยาบาล มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครัน จะทำการผ่าตัดหรือทำอะไรทันทีทันใด ก็ทำได้ อยู่ที่บ้านมันไม่มี ก็เหมือนกับการปฏิบัติ อยู่ที่บ้านกับอยู่ที่วัดมีความแตกต่างกัน  ยกเว้นฆราวาสบางคนที่มีบุญมีวาสนา มีเงินมีทอง มีห้องปฏิบัติอยู่คนเดียว ไม่ให้ใครมายุ่ง ก็สามารถปฏิบัติได้ ก็เหมือนกับอยู่วัดนั่นแหละ อย่างอาตมาที่ปฏิบัติอยู่ปีหนึ่ง ก็อยู่ในบ้านคนเดียว ไม่มีใครมายุ่งด้วย ก็ปฏิบัติได้ ก้าวหน้าได้พอสมควร แต่เมื่อเปรียบกับตอนที่บวชแล้วอยู่วัด ไปได้เร็วกว่าตั้งเยอะ มีปัจจัยเกื้อหนุนเยอะ เพราะมีครูบาอาจารย์คอยผลักคอยดัน 

ถาม   ท่านอาจารย์คะ เมื่อก่อนเวลามีปัญหา ท่านอาจารย์มหาบัวท่านแก้ให้ไหมคะ

ตอบ อาตมาก็โชคดีที่ไม่ค่อยมีปัญหา ก็คอยฟังตอนที่ท่านเทศน์ก็พอแล้ว ในสมัยนั้นท่านเทศน์บ่อย ๔-๕ วัน ท่านจะเรียกประชุมทีหนึ่ง สอนเข้ม ติวเข้ม

ถาม        ก็จับเอาตอนที่ท่านเทศน์

ตอบ  ใช่ ปกติท่านจะเทศน์สองรอบ รอบแรกท่านจะเทศน์แบบทั่วไป รอบที่สองท่านก็จะเล่าถึงการปฏิบัติของท่าน เช่นท่านนั่งทั้งคืนได้อย่างไร ต่อสู้กับความกลัวได้อย่างไร ท่านทำอะไรอย่างไรในตอนนั้น ท่านก็จะนั่งฉันหมากไป แล้วก็คุยไป พูดไป

ถาม   เคยได้ยินครูบาอาจารย์พูดถึงว่า จะได้ธรรมะจากหลวงตามาก หรือแก้ปัญหาธรรมนี่ ส่วนใหญ่ในเวลาที่ได้โอกาสไปนวดท่าน

ตอบ  ถ้าได้ปฏิบัติท่าน เช่นพระอุปัฏฐาก ก็จะมีโอกาสเยอะ เพราะเวลาอยู่ใกล้ตัวท่าน ก็เหมือนกับขึ้นเวทีต่อยมวย คู่ต่อสู้ก็จะคอยต่อยเราอยู่เสมอ ใช่ไหม เราก็ต้องคอยตั้งรับอยู่เสมอ ก็ทำให้เรามีสติสตังมีปัญญาไว้คอยรับ แต่ถ้าไม่ได้เข้าไปปฏิบัติใกล้ชิดกับท่าน ก็เป็นเหมือนคนดู นั่งดูเฉยๆเท่านั้นเอง ก็จะไม่ได้ท่านคอยช่วยกระตุ้นธรรมะให้กับเรา ยกเว้นถ้าเราเป็นคนที่สามารถปฏิบัติของเราเองได้ ก็ไม่ต้องอาศัยท่านให้คอยกระตุ้น แต่ถ้าได้ไปรับใช้ใกล้ชิดก็เป็นโอกาสที่ดี เหมือนกับพระอานนท์ที่ได้รับใช้พระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด ก็จะได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ด้วยกันทุกคน เพราะท่านก็องค์เดียว แล้วท่านก็มีลูกศิษย์ตั้งเยอะแยะ ก็แล้วแต่ว่าท่านจะพิจารณาใคร แต่ก็ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดอย่างนั้น คนอื่นที่ไม่ได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า หรือกับครูบาอาจารย์ เขาก็บรรลุธรรมได้

บางคนที่มีปัญญา มีบารมีพอ เพียงแต่ฟังธรรมะเพียงคำสองคำ ก็บรรลุได้ เช่นคนที่ไปขอฟังเทศน์ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงบิณฑบาตอยู่ พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาสอนธรรมะ แต่เขาก็ขอให้ทรงแสดงธรรมะโปรดเขาด้วยเถิด พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสสั้นๆว่า จงพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างว่าว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร  ไม่มีอะไรเป็นสาระ เขาก็รับคำสอนนั้นไปพิจารณา รู้สึกว่าเขาอยากจะบวชเลย จึงไปเตรียมเครื่องบริขาร ในระหว่างที่เดินไปนั้น ก็ถูกวัวกระทิงขวิดตาย พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งว่า หลังจากฌาปนกิจแล้วให้สร้างเจดีย์ สร้างสถูปไว้บรรจุอัฐิของเขาต่อไป ก็แสดงว่าเขาได้บรรลุธรรมแล้ว  เพราะเหตุปัจจัย คือบุญบารมีของแต่ละคนที่ได้บำเพ็ญมา ไม่เท่ากัน บางคนอยู่กับพระพุทธเจ้ามาตลอด แต่ไม่ได้บรรลุธรรม กลายเป็นกบฏไปก็มี เช่นพระเทวทัตเป็นต้น

พระเทวทัตนี่หลงตัวเอง พอได้สมาธิ ได้อิทธิฤทธิ์แล้ว ก็ไม่เจริญทางวิปัสสนาต่อไป ปล่อยให้กิเลสเอาอิทธิฤทธิ์มาใช้เป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดความหลงว่าตนเองวิเศษ ตนเองเก่ง อยากจะทำหน้าที่ศาสดาแทนพระพุทธเจ้าต่อไป เมื่อได้รับการปฏิเสธก็เกิดความเสียใจ เกิดความโกรธขึ้นมา ก็เลยไปทำกรรมที่ไม่ดี คือพยายามฆ่าพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้งด้วยกัน แต่ก็ไม่สำเร็จ จนในที่สุดก็ถูกธรณีสูบ แต่เนื่องจากว่าได้สะสมบุญบารมีมามากอยู่ พระพุทธเจ้าก็ทรงทำนายว่าหลังจากที่ได้ไปใช้กรรมในนรกแล้ว เมื่อพ้นมาแล้วก็จะได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต่อไป 

ถึงแม้บุญที่ได้ทำไว้ยังไม่มีโอกาสปรากฏผลขึ้นมาในชาตินี้  ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน การที่ได้บวชกับพระพุทธเจ้า ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติธรรม ก็เป็นผลของบุญบารมี เพียงแต่ถูกกรรมมาบังไว้ จึงต้องใช้กรรมให้หมดไปเสียก่อน เมื่อหมดแล้วบุญก็จะส่งผลให้ไปสู่ที่ชอบต่อไป บุญกรรมจึงมีจริง เพียงแต่ว่าอะไรจะมาก่อนมาหลังเท่านั้นเอง จึงอย่าท้อแท้ อย่าคิดว่าทำบุญแทบเป็นแทบตาย กลับไม่ได้อะไรเลย เพราะบุญที่ทำยังน้อยไปหรือยังไม่มากพอ ยังไม่ถึงเวลาที่จะส่งผลออกมา พอดีเป็นจังหวะของกรรมเก่าที่ได้ทำไว้ ได้แสดงผลออกมา จึงเหมือนกับว่าทำบุญแต่กลับมีแต่เคราะห์กรรมอยู่เรื่อยๆ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลของกรรมเก่าที่ได้ทำไว้

ถาม        อย่างนี้เราก็พยายามสร้างเหตุใหม่ที่ดีๆขึ้นไว้ตลอดเวลา
                           โดยไม่พยายามไปเปลี่ยนผลเก่า

ตอบ  เปลี่ยนไม่ได้  ผลเก่าทั้งบุญทั้งบาปนี้เปลี่ยนไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันจะปรากฏขึ้นมาเมื่อไรเท่านั้นเอง หน้าที่ของเราคือทำบุญละบาปชำระจิตใจ นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ที่เป็นพระโอวาทปาฏิโมกข์ ที่ทรงแสดงในวันมาฆบูชา การกระทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ละเว้นการกระทำบาปทั้งหลาย  แล้วก็ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ จึงไม่ต้องไปรอพระศรีอารยเมตไตรยมาตรัสรู้ แล้วทำให้เราบรรลุในตอนนั้น เพราะพระศรีอารยเมตไตรยก็จะทรงสอนแบบเดียวกับที่พระพุทธเจ้าของเราสอนอยู่ในขณะนี้  ถ้ายังปฏิบัติไม่ได้ ต่อให้เจอพระศรีอารยเมตไตรยอีกร้อยองค์ เราก็ยังปฏิบัติไม่ได้อยู่นั่นแหละ มันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์  ครูบาอาจารย์ท่านทำหน้าที่ของท่านพร้อมบริบูรณ์แล้ว อยู่ที่เราว่าได้ทำพร้อมหรือไม่เท่านั้นเอง เราจึงต้องพยายามตะเกียกตะกายมาทางนี้ให้ได้

พยายามปล่อยวางความสุขทางโลกเสีย มีอะไรพอที่จะลดจะละได้ ก็ลดไปเสีย ตัดได้ก็ตัดไป ต้องละด้วย ต้องปฏิบัติ ต้องบำเพ็ญด้วย ละในสิ่งที่ไร้สาระ ละในสิ่งที่เป็นโทษ แล้วก็บำเพ็ญในสิ่งที่มีสาระ บำเพ็ญในสิ่งที่มีคุณมีประโยชน์ ต้องทำทั้ง ๒ อย่าง แล้วมันก็จะค่อยพาเราไปเอง ไม่ได้อยู่ที่เพศอยู่ที่วัย อยู่ที่การกระทำต่างหาก ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย  ไม่อย่างนั้นจะมีภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์ได้หรือ จะมีแม่ชีที่เป็นอรหันต์ขึ้นมาได้อย่างไร  อยู่ที่การปฏิบัติของเรา จึงขอให้มีความแน่วแน่ มีความมั่นใจ ว่ามาถูกทางแล้ว ขอให้พยายามตะเกียกตะกายไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วผลที่ดีก็จะเป็นสิ่งที่จะตามมาต่อไป 

ถาม        ท่านอาจารย์คะลูกดื้อเหลือเกิน น้องเขาเป็นทุกข์มาก

ตอบ  ก็นั่นแหละเมื่อเราทำอะไรไม่ได้แล้ว เราจะไปทุกข์ทำไม ทุกข์ไปก็ไม่ไปเปลี่ยนแปลงอะไร ใช่ไหม ถ้าเปลี่ยนได้ก็คงเปลี่ยนไปนานแล้ว ความทุกข์ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงอะไร เราทุกข์เขาก็ยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ทุกข์ก็เป็นเหมือนเดิม จะเอายังไง จะเอาไม่ทุกข์หรือจะเอาทุกข์

ถาม        เอาไม่ทุกข์

ตอบ        ก็อยู่ตรงนั้น

ถาม        ก็ปล่อยให้เขาเป็นไป

ตอบ        ถ้าเราพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว รู้ว่าแก้ไม่ได้  มันเป็นเรื่อง

ของเขา เป็นกรรมของเขา ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของเขา ถ้าแก้ได้ก็แก้ไป แก้ไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แต่ไม่ต้องไปทุกข์กับมัน ได้เท่าไรก็เท่านั้น  ถ้าคิดว่ายังสู้กับมันไหว ทำได้ก็ทำไป

ถาม        น้องเขาจะหาวิธีแก้ด้วยเจ้าค่ะ

ตอบ  ก็ดูที่เหตุซิ คนจะไปเล่มเกมนี่ มันต้องมีเงิน  ถ้าไม่มีเงินแล้ว จะไปเล่นได้อย่างไร

ถาม   คืออย่างนี้ค่ะ เขาเล่นที่บ้าน แต่ว่าเขาไม่ดูหนังสือเลยค่ะ ลูกเขาเป็นเหมือนยามค่ะ กลางคืนเล่นเกม กลางวันนอน ไม่ได้ไปเรียน เขาก็เป็นกังวลอยู่ค่ะ

ตอบ        จะทำยังไง มันตัวเขา ไม่ใช่ตัวเรา

ถาม        เขาทำใจไม่ได้เพราะลูกนี่คะ

ตอบ  เอาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบเท้าเขาสักครั้งซิ ทำอะไรแปลกๆให้เขาได้สติบ้าง เผื่อจะได้สติก็ได้ บอกแม่ขอร้องเถอะ ทำให้แม่หน่อย เลิกเล่นเถอะ แม่ขอกราบเท้าลูกเลย  เป็นอุบาย

ถาม        ทำอย่างนั้นแล้วจะเป็นบาปสำหรับตัวเขาไหมคะท่าน

ตอบ  ไม่หรอก เขาอาจจะได้สติก็ได้ ขนาดแม่ยังมากราบเท้าเรานี่  ถ้ามีจิตสำนึกก็จะแก้ได้ ถ้าไม่มีก็ตัดหางปล่อยวัดได้แล้ว  ขนาดแม่เอาดอกไม้ธูปเทียนมากราบ ยังไม่ได้สติสตังเลย ก็ต้องปล่อยไป ถือว่าเป็นพวกบัวใต้น้ำ เราทำดีที่สุดแล้ว ขนาดกราบเท้ายังไม่เอา ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว นอกจากทำใจ

ถาม        ก็ต้องทำใจ

ตอบ        ก็ต้องทำใจ ถือเสียว่าเป็นกรรมของเขา สัตว์ทั้งหลายมีกรรม
               เป็นของๆตน

ถาม         กรรมของเราด้วยหรือเปล่าคะ

ตอบ กรรมของเราที่ไปทุกข์กับเขา ถ้ามีปัญญาปั๊บ ก็ตัดได้ กรรมที่มีกับเขาก็หมด เขาก็ต้องเป็นคนทุกข์ทรมานเอง  อาจจะมีเวรมีกรรมกันมา เคยสร้างเวรสร้างกรรมกันมาในอดีต เขาเลยกลับมาสร้างความทุกข์ให้กับเรา ก็ต้องทนเอาเท่านั้นเอง อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น ให้ความเมตตา ให้ความสงสาร ก็ทำไปเท่าที่จะทำได้ แต่อย่าไปทุกข์ ทุกข์ไปก็ไม่ได้ไปแก้อะไร

ถาม        สงสารเขาค่ะ เขาเป็นทุกข์มากค่ะ

ตอบ        ตอนนี้ไม่ทุกข์แล้วล่ะ ตอนนี้เข้าใจแล้วนี่

ถาม        กำลังทำใจอยู่ค่ะ

ตอบ        ในเมื่อทุกข์แล้วก็ยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ทุกข์ก็เป็น
                เหมือนเดิม ไปทุกข์แล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ท่องคาถานี้ไว้ จำเอาไว้เตือนเรา

ถาม   คือเขากลัวว่าลูกจะเรียนไม่จบ จะไม่มีอาชีพ แล้วต่อไปถ้าเขาตายไป  ลูกจะทำอย่างไรนี่

ตอบ        เป็นกรรมของเขา ในเมื่อเขาไม่ขวนขวาย

เหมือนกับพวกเรานี่ พระพุทธเจ้าทรงสอนเราแทบเป็นแทบตาย แต่ทำไมเราไปไม่ถึงพระนิพพานกัน พระพุทธเจ้าไม่เห็นมาร้องห่มร้องไห้ เป็นทุกข์กับพวกเราเลย ท่านก็อยากจะให้พวกเราถึงนิพพานเหมือนกัน แต่พวกเราก็ยังอยากจะอยู่ของเราอย่างนี้  ก็เหมือนกับลูกเรา บางทีเราก็คิดมากไปเอง เด็กอยู่ในวัยนี้ก็เป็นอย่างนี้แหละ  เพราะเท่าที่ได้ฟังมาเด็กพวกนี้พอโตขึ้น ก็ได้ดีจากเกมส์ก็มี มาจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับเรื่องเกมส์ เรื่องคอมพิวเตอร์ เขาได้ความรู้จากการเล่นเกมส์

ถาม        แต่หลานเป็นผู้หญิงนะคะท่านอาจารย์คะ

ตอบ  นั่นแหละ ผู้หญิงผู้ชายมันไม่เกี่ยวกันหรอก มันอยู่ที่จิต จิตไม่มีเพศ จิตก็เป็นจิต มีกิเลส มีความหลงเหมือนกัน สักวันหนึ่งอาจจะได้สติสตังขึ้นมา สักวันก็ต้องอิ่มตัว ถ้าเราไม่ไปจู้จี้จุกจิกกับเขาๆจะอิ่มตัวเร็วขึ้น  พอเราไปจู้จี้จุกจิกกับเขา ก็เหมือนกับยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เขาจะเอาชนะเรา จึงอย่าไปยุ่งกับเขามากจนเกินไป ปล่อยเขาบ้าง ทำเป็นไม่แยแสดู เดี๋ยวเขาก็จะคิดได้เอง แม่ไม่แยแสจริงๆ  บางทีเขาต่อต้านเรา จะเอาแพ้เอาชนะกับเราเท่านั้นเอง ตอนนี้เขาโตแล้ว เขาอยากจะเป็นตัวของเขาเอง แต่เรายังไปครอบงำเขาอยู่ เขาจึงเกลียดชังเรา ทำไปก็เพื่อให้เราทุกข์ใจเท่านั้นเอง บางทีเขาก็ไม่อยากจะทำ เราอยู่เฉยๆบ้าง ปล่อยเขาไปตามเรื่องตามราว ไม่แยแส  เฉยๆไว้ เดี๋ยวสักพักเขาก็จะเห็นความผิดแปลก ที่ไม่มีเหตุที่คอยสร้างความรู้สึกที่อยากจะต่อสู้กับเรา ในเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่ตอบโต้แล้ว มันก็จบ ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก ลองทำใจเฉยๆ เป็นอุเบกขาดูบ้าง

ถาม         จะลองค่ะ ค่อนข้างทำยาก บางทีเราก็อยากจะเตือนเขา

ตอบ        ยิ่งเตือนเหมือนยิ่งยุ ยิ่งเตือนยิ่งแย่ เราเตือนมาพอแล้วไม่ใช่

หรือ ถ้าจะได้ผล ก็ควรจะได้มานานแล้ว ทีนี้เราต้องใช้วิธีอื่นบ้าง ใช้วิธีไม่เตือนบ้าง เหมือนกับหมอ ให้ยามาตั้งเยอะแล้ว อาจจะดื้อยา หรือให้ยามากเกินไป ก็ลองหยุดยาสักพักหนึ่ง เผื่อจะดีขึ้นมาก็ได้

ถาม   เขาเป็นแม่ที่ดีมากเลยนะคะ ตีหนึ่ง ตีสองยังไปซื้อก๋วยเตี๋ยวให้ลูกเลยค่ะ

ตอบ  รักลูกมากจนเกินไป อาจจะทำให้ลูกเสียคนได้  รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี คนสมัยใหม่ไม่ค่อยชอบตีลูกเท่าไร เขาก็เลยไม่เชื่อฟังเรา รักไปในทางที่ผิด เขาก็เลยได้ใจ ทำอะไรก็ได้  เมื่อถึงตอนนั้นแล้วก็มีทางเดียวคือ พูดบ้างสอนบ้าง แต่ไม่จ้ำจี้จ้ำไช พอให้รู้ว่านี่ไม่ดีนะลูกนะ ถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆอนาคตมันจะแย่นะ  เขาก็รู้ แต่เขาอยากจะเอาแพ้เอาชนะเราเท่านั้นเอง พอเขาชนะเราแล้ว เขาก็จะเริ่มคิดถึงชีวิตของเขาเอง  ก็บอกเขาว่า แม่ช่วยลูกไม่ได้นะเวลาที่แม่ตายไป ถ้าลูกไม่มีความรู้ ก็ต้องลำบากลำบน ถ้าไม่ขวนขวายหาวิชาความรู้ใส่ตัวในตอนนี้ ต่อไปลูกก็จะแย่นะ พูดได้แค่นี้แหละ พูดมากก็ไม่ดี พูดมากเขาก็เบื่อ เจอหน้ากันทีไรก็จะสอนจะว่าอยู่อย่างเดียว เขาก็เกิดความเบื่อหน่ายได้เหมือนกัน  รักมากเกินไปก็ทำให้เสียได้ 

ถาม        เขาบอกรำคาญค่ะ

ตอบ  ก็แสดงว่าเราพูดมากเกินไป ถ้าเป็นหมอก็ให้ยามากเกินไป

ถาม        ดื้อยา

ตอบ ไม่ใช่ดื้อยา แต่จะตายเพราะยา คนไข้จึงต่อต้าน ลองไปทำดูนะ ใช้ทางสายกลาง ไม่ปล่อยทีเดียว แต่ก็ไม่คุมแจเลยทีเดียว เด็กที่มีวัยโตขึ้น ไม่ต้องการให้เลี้ยงดูเขาเหมือนกับตอนที่เขาเป็นเด็กๆ เขาอยากจะให้เราปฏิบัติกับเขาเหมือนกับเป็นผู้ใหญ่ ให้เขาตัดสินใจของเขาเอง

ถาม การที่เรารู้สึกศรัทธาน้อยลงต่อผู้ที่เราเคยศรัทธา จะทำให้เราเป็นบาปหรือไม่

ตอบ  ต้องแยกประเด็นให้ถูกว่า เหตุของความเสื่อมศรัทธาอยู่ที่       ตัวเราหรือตัวท่าน  ถ้าเราได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์หลายๆรูปแล้วนำมาพิจารณา เห็นว่าการปฏิบัติการสอนของท่านไม่เหมาะไม่ควร ก็ไม่บาป  เหมือนกับหมอให้ยา  เป็นยาพิษหรือยาดีก็ได้  ถ้าเราไม่ใช้ยา เราจะรู้ได้อย่างไร ว่ายานั้นดีหรือไม่ดี ถ้าเป็นยาพิษก็จะทำให้เราตายได้   ถ้าเป็นยาดี อาการเจ็บป่วยของเราดีขึ้น แสดงว่าท่านนำเรามาถูกทางแล้ว จะรู้สึกได้ด้วยตนเอง อาจจะถูกหลอกก็ได้ อย่างองคุลิมาล ยังถูกอาจารย์หลอกให้ไปฆ่าคนเพื่อบรรลุธรรม สติปัญญาคนเราแตกต่างกัน ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเปรียบไว้ว่าเหมือนกับดอกบัว ๔ ประเภท ประเภทแรกมีบารมีมาก ฟังและปฏิบัติไม่มากก็บรรลุผลได้อย่างรวดเร็ว ประเภทที่ ๒ ต้องฟังและปฏิบัติมากขึ้นอีกหน่อยจึงจะได้ผล

ประเภทที่ ๓ ต้องฟังมากๆ ปฏิบัติมากๆ ต้องเคี่ยวเข็ญมากๆ จึงจะได้ผล พวกนี้มีนิวรณ์มาก ผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยๆ พอปฏิบัติๆไป เดี๋ยวก็คิดฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็ปวดเมื่อยบ้างละ ง่วงนอนบ้างละ ถ้าไม่ยอมทุกข์ลำบากก่อน ความสุขของธรรมก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้ายอมให้ความสุขทางโลกครอบงำ ไม่ยอมลำบาก ต่อไปจะมีแต่ความทุกข์ไปตลอด   จึงอยากให้อดทนปฏิบัติ ให้ลำบากก่อน  แล้วสบายภายหลัง   เมื่อสัมฤทธิผลแล้ว เราหวนกลับไปคิดถึงความลำบากที่ผ่านมา มันก็เป็นอดีตไปแล้ว แต่ปัจจุบันมีแต่ความสุขตลอดเวลา  ส่วนบัวประเภทที่ ๔  พวกนี้ไม่มีโอกาสเลย ให้เราระลึกว่าการที่เรามาอยู่ ณ จุดนี้ได้ ก็เพราะการชักนำจากผู้ที่เราเคยศรัทธา สำหรับการประพฤติผิดถูกของท่านก็เป็นเรื่องของท่าน ถ้าเราปฏิบัติไปนานๆ เราจะรู้เองว่าถูกหรือผิดอย่างไร  การจะไปถึงมรรคผลนิพพานได้นั้น เราต้องไปให้ถูกทาง เช่นเราจะไปอินเดีย ก็ต้องขึ้นเครื่องที่มุ่งไปอินเดีย ถ้าขึ้นลำที่ไปอเมริกา ก็จะไปผิดทาง ไม่ถึงอินเดีย ทางที่จะไปนิพพาน ก็คือ มรรคแปด     

ถาม  การที่คนเรายังหลงทาง เช่นนับถือศาสนาอื่นอยู่ ทำอย่างไรจะ   ให้เขาพบหนทางที่ถูกต้อง

ตอบ ขึ้นอยู่กับช่วงชีวิตของผู้นั้น  เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก การที่ผู้ใดจะพบหนทางที่ถูก ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและบุญบารมีของผู้นั้น เช่นองคุลิมาล ได้พบพระพุทธองค์นำทางที่ถูกต้องทันเวลาพอดี จึงได้บรรลุมรรคผล การปรารถนามรรคผลนิพพาน ไม่เป็นกิเลสก็จริง ถ้านำมาพิจารณาในเวลาที่ไม่เหมาะสมก็จะเป็นข้อวิตกกังวล เป็นเครื่องถ่วงได้ เช่นพระอานนท์วิตกกังวลที่ไม่ได้บรรลุอรหันต์ เพราะพระที่จะทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ต้องเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น พอท่านตัดใจปล่อยวางว่าคงไม่สำเร็จพระอรหันต์ตามที่พระพุทธองค์ทรงทำนายไว้ ทำให้จิตว่าง แล้วก็เอนกายลงนอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอิริยาบถนั้นเลย

ถาม  การอธิษฐาน 

ตอบ การอธิษฐานเป็นการปรารถนา เป็นเป้าหมาย ที่เราตั้งไว้ เช่น อธิษฐานให้ได้มรรคผลนิพพาน เราต้องระลึกถึงบ่อยๆ ถ้าไม่ ก็จะทำให้ลืมได้ ก็จะไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น

ถาม        ทำไมเวลานั่งภาวนาแล้วรู้สึกว่าจิตรวม แต่จิตจะรวมเพียงชั่วคราว แล้วก็ถอยออกมา จะต้องตั้งหลักใหม่จึงจะรวมอีก แต่ก็รวมได้ไม่นาน

    ตอบ             ก็เหมือนกับเวลาขับรถ  แล้วเหยียบเบรก รถก็หยุด พอปล่อยเบรกรถก็วิ่งต่อไป สมาธิในเบื้องต้นก็จะเป็นแบบชั่วคราว ถ้าต้องการให้จิตรวมนานๆ ก็ต้องตั้งสติกำหนดพุทโธๆๆไปนานๆ  ฝึกบ่อยๆ ท่ามกลางความสงบสงัด จิตจะรวมได้ดีและนานขึ้น ยิ่งอยู่ที่น่ากลัวมากๆ จะยิ่งตื่นตัว จะภาวนาดี แล้วจะรู้เองว่าความกลัวมาจากตัวเราเอง เมื่อจิตสงบจะไม่สนใจกับสิ่งรอบข้าง จิตจะรวมได้ดีและนาน

   ถาม        เวลากลัวมาก ๆ ทำยังไงดีครับ

   ตอบ       กำหนดพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ ความกลัวเกิดจากใจเราเอง ยิ่งกลัวมาก ยิ่งภาวนาดี ครูบาอาจารย์ท่านชอบเปลี่ยนที่ภาวนา  ชอบธุดงค์ไปเรื่อยๆ เพราะจะได้ไม่ชินชา จิตจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ภาวนาได้ดี เป็นอุบายฝึกจิต เมื่อชินกับสถานที่แล้ว ท่านก็จะย้ายไปที่อื่น

   ถาม        หลังจากภาวนาแล้ว อยากพัก เมื่อหลับไปแล้วฝัน ความฝันนั้นบอกอะไรให้เรารู้

   ตอบ       ความฝันเป็นวิบากกรรม เป็นอดีตไปแล้ว ไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องถามให้มากเรื่อง ทุกคำถามมีคำตอบอยู่ในตัวแล้ว ขึ้นอยู่กับปัญญาของเราเอง ที่จะปฏิบัติค้นคว้า แล้วจะรู้คำตอบเอง ยิ่งถามมากก็ยิ่งมากเรื่อง คำตอบที่ดีที่สุดของทุกคำถาม ก็คือปล่อยวาง เราต้องปฏิบัติให้มากที่สุดจนมีปัญญา แล้วก็จะรู้คำตอบเอง เมื่อรู้คำตอบแล้ว ก็จะรู้ว่าไม่สำคัญเลยรู้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราเองไม่เคยถามหลวงตาเลย เพราะเวลาท่านเทศน์ ท่านก็ได้ให้ข้อมูลไว้หมดแล้ว ให้แนวทางไว้แล้ว เราต้องลงมือปฏิบัติเอง ท่านช่วยเราได้แค่นั้น เราต้องปฏิบัติเองจึงจะรู้

  ถาม         เวลาขึ้นมาปฏิบัติรู้สึกสงบ เมื่อกลับไปใช้ชีวิตทางโลก กิเลสกลับเข้ามามาก จะทำยังไงดี  

  ตอบ        ก็เหมือนเอาของสดไว้ในตู้เย็น อยู่ในตู้เย็นมันก็ไม่เสีย พอออกจากตู้เย็น มันก็เน่าเสีย พระอริยเจ้า ท่านอยู่ในตู้เย็นตลอดเวลา อยู่กับธรรมตลอดเวลา กิเลสจึงหมดสิ้นไปจากใจ