กัณฑ์ที่ ๒๓     ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

กุสลา ธัมมา

 

พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนโรงเรียนๆหนึ่ง  พุทธศาสนิกชนจึงเปรียบเหมือนเป็นนักเรียน  เวลามาวัดควรมาศึกษาหาวิชาความรู้ หาธรรมะ   หาปัญญาไว้ดูแลจิตใจ เพื่อเป็นเครื่องดับความทุกข์ ความเศร้าโศก ความเสียใจ ถ้าไม่มีธรรมะอยู่ในจิตใจ ก็จะต้องแบกทุกข์ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุดเพราะขาดธรรมะ ขาดแสงสว่างช่วยบอกว่าอะไรคือความทุกข์ อะไรคือเหตุของความทุกข์ จึงทำให้มีแต่ความทุกข์ในจิตใจ เพราะไม่รู้จักเหตุและผลของความสุขว่าเป็นอย่างไร  ถ้ารู้จักธรรมะแล้วรับรองได้ว่าความทุกข์ย่อมไม่ปรากฎขึ้นมาในดวงจิตดวงใจ  ถ้าปรารถนาความสุข ความสบายใจ ความปราศจากความทุกข์ใจแล้ว ก็ต้องเข้าหาธรรมะ เพราะมีธรรมะเท่านั้นที่สามารถต่อสู้กับความทุกข์ ความเศร้าโศก ความเสียใจได้  วิชาความรู้ทางโลกทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้นั้นไม่สามารถที่จะสอนพวกเราให้พ้นจากความทุกข์ได้ มีวิชาธรรมะนี้วิชาเดียวเท่านั้นที่ทำได้ ถ้าปรารถนาความสุขไม่ต้องการประสบกับความทุกข์ ต้องเข้าหาธรรมะ เช่นมาวัดเพื่อทำบุญทำกุศล  บุญหมายถึงความสุขใจ  กุศลหมายถึงความรู้ความฉลาด  ถ้ามาถวายข้าวของให้กับพระแล้วก็กลับบ้านไป  ถือว่ามาวัดเพื่อทำบุญอย่างเดียวไม่ได้สร้างกุศล แต่ถ้าหลังจากทำบุญแล้วได้ฟังเทศน์ ได้สนทนาธรรมกับพระ จึงจะถือได้ว่าได้ทั้งบุญและกุศล 

พระพุทธองค์ทรงสอนให้สร้างกุศลในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  อย่ารอเวลาที่ตายไปแล้วนิมนต์พระมาสวดกุสลาธัมมาให้  เวลาที่ไปงานศพจะได้ยินพระท่านสวด กุสลา ธัมมา, อกุสลา ธัมมา, อัพยากตา ธัมมา นี่พระท่านสวดให้คนเป็นฟัง ไม่ได้สวดให้คนตายฟัง เพราะคนตายไปแล้วฟังไม่รู้เรื่อง เพราะจิตผู้รู้ไม่ได้อยู่กับร่างกายแล้ว  จิตได้ออกจากร่างกายไปแล้ว ร่างกายเป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนท่อนหนึ่ง รอให้สัปเหร่อเอาไปเผาไฟเท่านั้นเอง จะนิมนต์พระระดับไหนมาก็ตาม จะเป็นเจ้าคุณ  เป็นสมเด็จ เป็นพระอรหันต์มาสวดให้ ก็จะไม่ได้กุศล ไม่ได้กุสลา เพราะว่ากุศลนั้นต้องเกิดจากการได้ยินได้ฟัง  เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็เอาไปคิดพินิจพิจารณา แล้วเอาไปประพฤติปฏิบัติ  ถ้าได้ทำทั้งสามอย่างนี้แล้ว คือ ฟัง คิด แล้วก็ทำ ก็จะเกิดผลขึ้นมา  เกิดประโยชน์ขึ้นมา   เกิดกุศลขึ้นมาอย่างในสมัยพุทธกาล เวลาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมนั้น จะมีผู้ที่ฟังธรรมแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ คือเป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นพระสกิทาคามีบ้าง เป็นพระอนาคามีบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง เพราะว่าบุคคลเหล่านั้น เวลาที่ฟังธรรมอยู่นั้นจะคิดพิจารณาไปด้วย จนปล่อยวางได้

พระพุทธองค์ทรงแสดงว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ สิ่งเหล่านี้พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่าเป็นโลกธรรมแปด เป็นของที่มีอยู่กับโลกนี้ เป็นธรรมชาติของโลกนี้ ไม่ว่าใครก็ตาม จะเป็นปุถุชนหรือพระอริยบุคคลก็ดี เมื่อเกิดในโลกนี้แล้วจะต้องสัมผัสกับโลกธรรมทั้งแปดนี้ด้วยกันทั้งนั้น เหมือนกับคนที่กระโดดลงไปในน้ำ จะต้องสัมผัสกับน้ำ เพราะน้ำมันอยู่รอบตัว จะว่ายไปทางไหนก็หนีไม่พ้นตราบใดที่ยังอยู่ในน้ำอยู่ ฉันใดเมื่ออยู่ในโลกของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องถูก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ล้อมรอบ จึงไม่สามารถที่จะหนีโลกธรรมทั้งแปดนี้ได้ เมื่อมีลาภย่อมเสื่อมลาภ มียศย่อมเสื่อมยศ มีสรรเสริญย่อมมีนินทา มีสุขย่อมมีทุกข์เป็นเงาตามกันไป เป็นธรรมดาของโลก ถ้าเข้าใจว่าเป็นสิ่งธรรมดาแล้ว เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไป แปรปรวนไป หายไป ก็จะไม่ยึดไม่ติด ปลงได้ ปล่อยวางได้ จะไม่ทุกข์กับสิ่งนั้นๆ มันอยู่ก็ไม่ทุกข์กับมัน เวลามันไปก็ไม่ทุกข์กับมัน แต่ถ้าไปยึดไปติดกับมัน อยากจะให้มันอยู่กับเราไปตลอด แล้ววันหนึ่งเกิดพลัดพรากจากไป ก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ เพราะว่าทุกสิ่งในโลกนี้เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคล วัตถุ สิ่งของต่างๆ จะต้องพลัดพรากจากกันไป ไม่ช้าก็เร็ว เราไม่จากเขา เขาก็ต้องจากเราไป  เมื่อเกิดการจากกันแล้วก็มานั่งร้องห่มร้องไห้ ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ไม่ได้ทำให้สิ่งเหล่านั้นกลับคืนมา 

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา  สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงหนอ  สังขารคือร่างกายของสัตว์ของบุคคลที่มีความแปร ปรวนเป็นธรรมดา ถ้ายังไม่เข้าใจว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา เป็นอย่างไร  ก็จะมีความยึดติด ชอบสังขารไหนก็อยากให้สังขารนั้นอยู่ไปนานๆ สังขารจากหายไป หรือสลายไป ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจ  เพราะไม่มี กุสลา ธัมมา คือไม่ได้ฟัง ไม่ได้คิด แล้วก็ไม่ได้ปล่อยวางนั่นเอง  แต่ถ้าได้ยินได้ฟังแล้วเอาไปคิดอยู่เรื่อยๆ สอนเตือนสติอยู่เสมอๆว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นของไม่เที่ยง  ถ้าไปยึดมันจะเกิดทุกข์ ถ้าปล่อยวางก็จะไม่ทุกข์ เป็นอนัตตาคือไม่ได้เป็นของๆเรา มันไม่ใช่ตัวเรา  อย่างร่างกายนี้พระพุทธองค์ทรงสอนว่า รูปัง อนัตตา รูปขันธ์นี้เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของของเรา แต่เป็นการรวมตัวของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในรูปของอาหาร  อาหารที่กินเข้าไปก็เปลี่ยนสภาพกลายเป็นอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้น

สังขารร่างกายเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วก็ค่อยๆเสื่อมไป แปรสภาพไป ผมก็เริ่มขาว หนังก็เริ่มเหี่ยวย่น สุขภาพร่างกายก็จะมีโรคภัยเบียดเบียน  กำลังวังชาก็ค่อยๆถดถอยไป และในที่สุดก็ตายจากไป ถูกแบกเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลต่อไป  เข้าวัดแบบนี้ไม่ได้กุศล ไม่ได้ประโยชน์ ถ้าจะให้ได้กุศล ได้ประโยชน์ เวลาเข้าวัดต้องเดินเข้าไปเอง  เวลาไหว้พระต้องพนมมือเอง อย่าให้คนอื่นพนมมือให้ เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม ให้ฟังในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะจะได้กุศล ได้ประโยชน์ ได้อานิสงส์อย่างเต็มที่ ให้ดูคนในพุทธกาลเป็นตัวอย่าง คือฟังธรรมแล้วนำไปปฏิบัติจนบรรลุธรรมคนในสมัยพุทธกาลนั้นมีโชควาสนามากที่ได้เกิดมาพบพระพุทธเจ้า ธรรมะที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้นไม่ใช่ของยากเย็นอะไร มันขึ้นอยู่กับผู้สอนว่ารู้จริงหรือไม่จริง  ถ้ารู้จริงพูดคำสองคำ คนฟังก็เข้าใจ สามารถทำได้บรรลุได้  แต่ถ้าคนสอนไม่รู้จริง ก็เหมือนกับคนตาบอดนำทางคนตาบอดไป  ต่างคนก็ต่างคลำทางกันไป ต่างคนต่างก็ไม่รู้ว่าเดินไปทางทิศเหนือหรือทางทิศใต้ ก็เพราะตาบอดด้วยกันทั้งคู่ ไม่รู้ด้วยกันทั้งคู่นั่นเอง

สมัยนี้ฟังธรรมะไม่ค่อยเข้าใจกันสักเท่าไร เพราะว่าสอนกันไปแบบผิดๆถูกๆ  เมื่อฟังแล้วไม่เข้าใจก็ไม่เกิดผล ไม่บรรลุธรรมขึ้นมา อันนี้ขึ้นอยู่กับผู้แสดงธรรม  ถ้าผู้แสดงเป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้รู้จริงเห็นจริง ผู้ฟังย่อมได้รับประโยชน์ เหมือนกับผู้ที่เคยมาวัดญาณฯ แล้ว เวลาบอกผู้อื่นว่าวัดญาณฯ เป็นอย่างไร จะเดินทางมาวัดญาณฯมาได้อย่างไร ก็จะสามารถบอกได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ผู้ฟังย่อมสามารถมาถึงวัดญาณฯได้อย่างรวดเร็ว ไม่หลงทาง  ส่วนผู้ที่ไม่เคยมาวัดญาณฯ เลย เพียงแต่เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับวัดญาณฯ หรืออาจจะได้ยินได้ฟังจากผู้อื่น แต่ไม่เคยมาเลย พอไปบอกผู้อื่นเข้า ก็บอกไม่ถูก บอกแบบผิดๆถูกๆ คนที่ฟังก็ฟังแบบผิดๆถูกๆ พอจะมาก็มาแบบผิดๆถูกๆ อาจจะหลงทางไปก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับผู้นำทางเป็นสำคัญ ถ้าผู้นำทางรู้จักทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ผู้ที่ได้รับการบอกเล่าก็จะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างถูกต้อง  ผู้แสดงธรรม ผู้สั่งสอนนั้น จึงถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งในการชี้ทางให้แก่ผู้อื่น

ก่อนที่จะไปสอนคนอื่นพระพุทธองค์ทรงสอนให้สอนตัวเราก่อน ให้มีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียน  เมื่อศึกษาเล่าเรียนแล้วให้เอาไปปฏิบัติจนบรรลุผลเป็นปฏิเวธขึ้นมา สิ่งที่ได้ร่ำเรียนมาแล้วต้องพิสูจน์กับตัวเองก่อน เช่นสังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เราต้องเอาไปพิสูจน์กับตัวเราก่อนว่า ถ้าเราปล่อยวาง ไม่ยึดสังขารนี้ได้ เราจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ สิ่งนี้เราสามารถพิสูจน์รู้ได้  เช่นพิจารณาว่าร่างกายเกิดมาแล้วมันต้องตายไป อย่าไปเสียดายมัน อย่าไปยึดมัน ถึงเวลาจะตายก็ตาย ไม่ต้องไปห่วงไปยึดติดกับมัน ถ้าคิดอย่างนั้นแล้วใจจะสบาย จะไม่ทุกข์กับอะไร แต่ถ้ายังห่วงยังอยากจะอยู่ไปนานๆ ยังอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ใจมันจะทุกข์อยู่ตลอดเวลา  นี่คือการปฏิบัติ หมายถึงการพิจารณา การปล่อยวาง ยอมรับสภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเรา ถ้าทำได้ก็จะเกิดความสุขใจขึ้นมา ใจจะสบาย อยู่ไปวันๆ โดยไม่ยึด ไม่ติดกับอะไร

อย่ามัวแต่ใช้เวลาหาเงินหาทองอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึง สัพเพ สังขารา อนิจจา เสียบ้างเลย วันนี้ได้มาเป็นร้อยล้านพันล้าน แต่พรุ่งนี้อาจจะหัวใจวายตายไปก็ได้ เงินทองที่มีอยู่ก็เลยไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นบุญ เป็นกุศล ปล่อยให้คนอื่นเอาไปใช้สบาย เพราะไม่มีกุสลา ธัมมาไม่เคยได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม ไม่เคยคิด ไม่เคยสนใจธรรมะนั่นเอง  ถ้ามีกุสลา ธัมมาแล้ว มีร้อยล้านพันล้าน ต้องรีบเอาไปทำประโยชน์ ดังที่มีเศรษฐีคนหนึ่ง บริจาคเงินหลายร้อยล้าน สร้างโรงพยาบาลตามถิ่นทุรกันดาร โดยตั้งชื่อโรงพยาบาลเหล่านี้ว่า โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น เพราะมีความเคารพ ศรัทธา ซาบซึ้งในธรรมะที่พระอาจารย์มั่นสั่งสอน ทำให้เขาอยู่ในโลกนี้ได้ด้วยความเป็นสุข ไม่ทุกข์ไม่หิวไปกับเรื่องราวต่างๆนานา เงินทองที่มีอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เลยเอาไปสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นบุญ เป็นกุศล ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  ทำให้จิตใจมีความสุข อย่างวันนี้ญาติโยมได้สละเงินทองซื้อกับข้าวกับปลามาถวายพระ ทำบุญกับพระ เพราะรู้ว่าพระไม่มีอาชีพที่จะหาเงินหาทองมาได้ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับญาติโยมเป็นผู้เลี้ยงดูพระเณร  ถ้าญาติโยมไม่เลี้ยงดูพระเณร พระเณรก็จะลำบาก   แต่เมื่อมาเลี้ยงดูพระเณรแล้วก็เกิดความสุขสบายใจขึ้นมา  เพราะได้แบ่งปันความสุขให้แก่ผู้อื่น เกิดความปลื้มใจ ความปิติ ความสบายใจ  เป็นอาหารของจิตใจ คือบุญนั่นเอง

ศาสนาสอนให้คนฉลาด คนเราจะฉลาดได้ต้องอาศัยผู้อื่นที่ฉลาดกว่า มีความรู้ มีธรรมะมากกว่าเป็นครู เป็นอาจารย์  อย่าคบคนโง่ เพราะคนโง่ย่อมไม่สามารถสอนให้เราฉลาดได้ ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า อเสวนา จ พาลานัง บัณฑิตานัญจ เสวนา เอตัมมังคลมุตตมัง   การได้คบบัณฑิต และการไม่คบคนชั่ว คนพาล คนโง่นั่นเป็นมงคลอย่างยิ่ง พยายามเข้าหาผู้ที่มีธรรมะ มีปัญญา แล้วเราจะได้ประโยชน์จากท่านเหล่านั้น จะได้ทั้งบุญ ทั้งกุศล คือความสุขและความฉลาด  ชีวิตจะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากความทุกข์  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้