กัณฑ์ที่ ๒๓๐   ๒๐ พฤศจิกายน  ๒๕๔๘

ศาสนาสอนให้เห็นความจริง

 

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโปรดสัตว์โลก เช่นสติปัฏฐาน ๔ ขันธ์ ๕ สมุทัย เป็นธรรมที่เชื่อมโยงกัน เกี่ยวเนื่องกัน อยู่ในพระอริยสัจ ๔ อย่างขันธ์ ๕ ก็คือกายกับใจ รูปก็คือร่างกาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นอาการของใจ เมื่อมีอวิชชาจิตก็เข้าไปยึดติดกับขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา แต่ความจริงมันไม่ใช่ มันไม่ได้เป็นของใคร มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้มาแต่ดั้งเดิม มีอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ เหมือนกับโลกนี้ มีอยู่อย่างนี้มาแต่ดั้งเดิม แต่พอเรามาเกิดในโลกนี้ เราก็มาครอบครองมายึด ว่าโลกนี้เป็นของๆเรา ต่างคนต่างแบกเอาที่ดินกันคนละผืน  แล้วก็ต้องมาดูแลรักษา มาแก่งแย่ง มาทำสงครามกัน ก็เพราะความหลงที่ทำให้ไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้

ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอวิชชาเป็นตัวทำให้เกิด อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขารคือความคิดปรุง พอคิดปรุงไปแล้วก็เกิดวิญญาณมารับทราบ แล้วก็ทำให้เกิดนามกับรูป นามกับรูปก็คือขันธ์ ๕  แล้วก็มีการสัมผัสของอายตนะ ตาได้เห็นรูปต่างๆ หูได้ฟังเสียงต่างๆ ก็เกิดเวทนาขึ้นมา เวลาเห็นรูปสวยก็มีความสุข เวลาเห็นรูปไม่สวยก็มีความทุกข์ แล้วก็เกิดตัณหาขึ้นมา รูปสวยงามก็อยากจะได้ เป็นกามตัณหา ไม่สวยงามก็เกิดความรังเกียจ เป็นวิภวตัณหา เป็นสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ ทำให้เกิดอุปาทาน  ทำให้เกิดภพเกิดชาติ เกิดแก่เจ็บตาย นี่คือวัฎจักรของการเวียนว่ายตายเกิด เริ่มต้นที่อวิชชาในจิตของเรา

ที่พวกเรามาศึกษากันนี้ ก็เพื่อศึกษาให้เข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริง ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่อวิชชาคิด พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตัว ไม่มีตน เหมือนกับต้นไม้ ต้นเสา ศาลาหลังนี้ไม่มีตัวตน แต่พอเราสร้างเสร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จิตของเราก็มาครอบครองว่านี่ศาลาของฉัน ถ้ามีใครมารื้อเราก็จะเกิดความเสียใจ เพราะมีอุปาทานยึดติดอยู่กับศาลาหลังนี้  ชอบศาลาหลังนี้ ก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ ถ้าใครมาทำลายก็เกิดความทุกข์ เกิดความโกรธขึ้นมา เกิดการทะเลาะวิวาท ก่อกรรมก่อเวรกันไป แล้วก็ตายจากกันไป ไปเกิดชาติหน้าต่อ ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้  นี่คือเรื่องของขันธ์ ๕

เราต้องศึกษาขันธ์ ๕ ให้เห็นว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราดูตัวเราตอนที่เราเป็นเด็กกับตอนนี้ เราจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่เป็นคนๆเดียวกัน ร่างกายเดียวกัน แต่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามกาลตามเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ เสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ เดี๋ยวก็เก่า  ใช้ไปนานๆเข้าก็ขาด นี่คือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เจริญเต็มที่แล้วก็จะเริ่มเสื่อม ในที่สุดก็สลายไปหมด ร่างกายเมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่ ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กลายเป็นคนแก่ แล้วในที่สุดก็ตายไป นี่คือเรื่องอนิจจัง

นอกจากเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแล้ว ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนด้วย แต่เราหลงไปยึดไปติดว่าเป็นตัวตน เมื่อเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี เราก็เสียใจ เราก็ทุกข์ เพราะไม่อยากจะให้เป็นไปในทางนั้น เราอยากจะให้ร่างกายแข็งแรง สวยงาม สดชื่น อยู่ตลอดเวลา แต่ร่างกายก็ต้องเป็นไปตามกาลตามเวลา เดี๋ยวอีกหน่อยผมก็ขาว ผมก็ร่วง หนังก็เหี่ยว ไม่มีกำลังวังชาที่จะทำอะไร เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องนอนบนเตียง แล้วในที่สุดก็ไม่หายใจ เวลาเอาไปฝัง ก็สลายกลับไปสู่ดิน  น้ำในร่างกายก็ซึมลงไปในดิน ร่างกายนี้เมื่อพิจารณา ก็จะเห็นว่าเป็นธาตุ ๔ นั่นเอง ดิน น้ำ ลม ไฟ มาทางอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แล้วก็เปลี่ยนเป็น อาการ ๓๒ เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นต้น

ศาสนาสอนให้เราเห็นความจริงของกายและใจ ไม่ให้ไปฝืนความจริง ถ้าฝืนแล้วจะทุกข์  คนที่ยังต้องไปเสริมอะไรต่างๆ เช่นไปดึงหนังดึงหน้าให้ตึง ไปย้อมผม  เป็นการพยายามฝืนความจริง ไม่ยอมรับความจริงว่า จะเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ตลอด เพราะต้องเปลี่ยนไป แต่เขาไม่ยอม ยังอยากจะสาว ยังอยากจะหล่ออยู่ จึงต้องพยายามหาอะไรต่างๆมารักษาร่างกายไว้ ไม่ให้เสื่อม แต่จะรักษาอย่างไรก็สู้กับความจริงไม่ได้ เดี๋ยวก็ต้องแก่ ต้องตายไปด้วยกันทุกคน แต่ถ้าเรายอมรับได้ ใจเราก็จะสบาย ใจเราก็จะเฉยๆ ไม่ทุกข์ เพราะระงับดับตัณหา ต้นเหตุของความทุกข์ได้ กำจัดความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่ให้มีอยู่ในใจได้ ยอมรับความจริงของร่างกาย ใจก็จะไม่มีอุปาทาน ในอริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยสรุปว่า ทุกข์เกิดจากอุปาทานการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี้เอง อยากจะให้เป็นไปตามความต้องการของเรา ตามความชอบของเรา อยากจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อยากให้มีแต่สุขเวทนา ไม่ให้มีทุกขเวทนา วันไหนมีสุขเวทนา เราจะรู้สึกมีความสุขมาก แต่ถ้าวันไหนไม่มีสุขเวทนา เช่นต้องไปทำงานทำการหรือไปทำอะไรที่ลำบากยากเย็น ก็มีทุกขเวทนาขึ้นมา  ก็จะไม่ชอบ พอไม่ชอบ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

แต่ถ้าได้ศึกษาแล้วจะรู้ว่าเวทนามีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน มีสุขบ้าง ไม่สุขบ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตามเรื่องของเขา บางทีอยู่ๆก็สุขขึ้นมาในใจ ในกายของเรา พอไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ทุกข์ขึ้นมา แต่ใจไม่ต้องไปทุกข์ตามถ้ามีสติมีปัญญา เรารู้ว่าขณะนี้เวทนาเป็นอย่างไร ก็อย่าไปต่อต้านเวทนานั้น ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็อย่าไปต่อต้าน อย่าไปปฏิเสธ เป็นอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย ไม่ได้เป็นอย่างนี้ไปตลอด  แต่เราไม่ค่อยจะรอกัน เราใจร้อน พอเกิดทุกขเวทนาปั๊บ จะต้องรีบแก้ทันที ให้หายไป โดนแมลงสัตว์กัดต่อยนิดหน่อยก็รีบหายาหม่อง หาอะไรมาทา ทั้งๆที่ปล่อยไว้สักระยะหนึ่งก็จะหายไปเอง ถ้าไปอยู่ที่ไม่มียาจะทำอย่างไร โดนแมลงกัด ก็ต้องเจ็บต้องปวดเป็นธรรมดา เดี๋ยวก็หายไปเอง  ถ้าอยู่เฉยๆ รับรู้เฉยๆ  ไม่ไปอยากให้มันหาย ใจก็จะไม่ทุรนทุราย แต่ถ้าอยากให้มันหาย ก็ต้องวิ่งหาหมอ วิ่งหายามาแก้กันวุ่นไปหมด

นี่ก็คือเรื่องของขันธ์ ๕ โดยยกรูปขันธ์กับเวทนาขันธ์มาเป็นตัวอย่าง ไม่ได้กล่าวถึงสัญญา สังขาร วิญญาณเลย แต่ความจริงแล้วนามขันธ์ทั้ง ๔ นี้จะทำงานไปพร้อมๆกัน  เช่นพอตาเห็นรูป วิญญาณก็รับทราบ ว่ารูปมาแล้ว สัญญาก็แปลความหมายของรูปว่าเป็นใคร น่าชื่นชมยินดีหรือไม่ เห็นรูปนี้ปั๊บ จำได้ว่าคนนี้เคยให้เงิน  มาทีไรเอาเงินมาให้ทุกที  ก็เกิดสุขเวทนา สังขารก็ปรุงว่าต้องไปต้อนรับเขาหน่อย ไปทักทายเขา เชิญชวนให้เขานั่ง  แต่ถ้าสัญญาแปลว่าคนนี้เป็นเจ้าหนี้ จะมาทวงหนี้ ทุกขเวทนาก็จะเกิดขึ้นมา เพราะไม่มีเงินใช้หนี้ สังขารก็จะคิดว่า ทำอย่างไรดี จะหลบหน้าดีหรือไม่  นี่คือการทำงานของนามขันธ์ทั้ง ๔

ถ้าเรามีสติคอยดูการทำงานของนามขันธ์ เราก็จะสามารถควบคุมสังขารได้  พอเห็นคนนี้แล้ว เห็นว่าเป็นเจ้าหนี้ เราก็ไม่อยากจะเจอเขา  แต่จำเป็นต้องเจอ เพราะมีความผูกพันกัน เป็นคู่เวรคู่กรรมกัน เราก็ต้องมีความรับผิดชอบ  ถึงแม้ไม่อยากจะเจอหน้า ก็ต้องทำใจดีสู้เสือไว้ ทำใจให้นิ่งไว้ แล้วก็เจอกัน คุยกัน เขาจะเอาอะไร ก็พูดไปตามความจริง เรามีเท่าไร ก็ให้เขาไปเท่านั้น ถ้าเขาไม่พอใจ เขาโกรธ เขาจะด่าเรา ก็ให้เขาทำไป เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา เราคอยรักษาใจให้เป็นอุเบกขา เป็นปกติ ไม่วิ่งเข้าหา ไม่วิ่งหนี ตั้งรับด้วยปัญญา

ถาม   แต่เวทนาความรู้สึกยังมีอยู่ใช่ไหมครับ

ตอบ    มี แต่ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปเวทนานั้นจะไม่มี เพราะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า เมื่อเราทำกรรมอันใดไว้ เมื่อวิบากมันเกิดขึ้น เราก็อย่าไปหนีมัน อย่าไปกลัวมัน อย่างมากก็แค่ตาย คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ถ้าเราไม่กลัวตาย ไม่กลัวเจ็บแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร เราสามารถเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องเจ็บ ต้องตายกันอยู่ดี ถ้าเราฝึกเจ็บฝึกตายไว้ก่อนแล้ว ต่อไปอะไรเกิดขึ้นเราก็ไม่หวั่นไหว สังขารที่จะปรุงเป็นตัณหาก็จะไม่มี วิภวตัณหาก็จะไม่มี จะหนีจากสภาพต่างๆไป ก็ไม่มี เช่นเดินไปเจอสัตว์ เจองูอะไรอย่างนี้ แทนที่จะวิ่งหนี ก็จะอยู่เฉยๆ ทำจิตให้นิ่งแล้วก็ปลงว่า ถ้าเป็นเวรเป็นกรรมกันมา เคยทำอะไรเขา เขาจะมากัดให้เราตาย มันก็จบ เพราะชีวิตของเราก็ไม่ได้หวังอะไรจากในโลกนี้แล้ว เรารู้แล้วว่าเอาอะไรไปก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่เอาไปได้ก็คือใจที่สงบ ใจที่นิ่ง อันนี้เท่านั้นแหละที่สำคัญที่สุด

ถ้าปฏิบัติจนพบกับความสงบ จะไม่สนใจกับอะไรเลย จะเห็นคุณค่าของใจ ยิ่งกว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่พวกเราหวงแหนกัน เราไม่รู้หรอกว่า สิ่งต่างๆที่เราหวงแหนกันนี้ เป็นตัวสร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมกัน ไม่เคยเจอจิตที่สงบ ที่ปล่อยวาง เวลาจิตสงบในขณะที่นั่งสมาธินี้ มันปล่อยหมดทุกอย่างชั่วคราว บ้านช่อง ทรัพย์สมบัติ ลูกเต้า สามี ภรรยา มันไม่ได้อยู่ในจิตเลย จิตมันสะอาด ถ้าเป็นกระดานดำก็เป็นกระดานที่อาจารย์ได้ลบสิ่งที่ได้ขีดเขียนออกหมดแล้ว มีแต่กระดานว่างๆ จิตจึงไม่มีอารมณ์หลงเหลืออยู่เลย แต่ถ้ามีใครเขียนหรือวาดรูปการ์ตูน ที่สวยงามหรือไม่สวยงามก็จะเกิดอารมณ์ตามมา ถ้าสวยงามก็มีความสุข ถ้าไม่สวยไม่งาม ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ใจของเราก็เป็นอย่างนี้ ทุกขณะจะไปรับเอาเรื่องต่างๆเข้ามา ผ่านทางทวารทั้ง ๕ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย พอเข้ามาแล้ววิญญาณก็รับทราบ สัญญาก็แปลความหมาย สังขารก็ปรุง เวทนาก็ปรากฏขึ้นมาเป็นสุข เป็นทุกข์ สังขารก็ว่าไปตามนิสัยเดิม ถ้าสุขก็วิ่งเข้าหา ถ้าทุกข์ก็พยายามวิ่งหนี หรือพยายามแก้ให้ทุกข์ดับไป

แต่เราไม่ได้แก้ถูกจุด ไปแก้ข้างนอกแทนที่จะแก้ข้างใน เช่นเราเห็นคนที่เราไม่ชอบ ก็ไปตีเขาให้ตายไปเลย อย่างนี้ไม่ใช่วิธีแก้ที่ถูก ต้องแก้ที่ใจด้วยสติด้วยปัญญา ทำใจให้เป็นอุเบกขา ทำใจให้สู้กับทุกสภาพ ใจก็จะนิ่ง ความทุกข์ในใจก็ดับไป นี่คือเหตุที่ต้องเจริญสติในสติปัฏฐาน ๔ คือฝึกให้มีสติ อย่าไปโต้ตอบกับสิ่งต่างๆที่เราเห็น เราได้ยินได้ฟัง เพียงแต่รับรู้ว่าเป็นรูป เป็นภาพ เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าสียง อย่าไปปรุงแต่ง อย่าให้เกิดสัญญาว่าน่ารักหรือน่าชัง ถ้ามีก็ต้องแก้ไขให้เห็นว่า ถึงแม้คนๆนี้จะไม่ดีกับเรา เขาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน คนที่ดีกับเรา ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน ความจริงแล้วเราน่าจะมองคนทั้ง ๒ แบบ ที่ดีและไม่ดีว่าเป็นเหมือนๆกัน ถ้ามองเข้าไปถึงธรรมชาติที่แท้จริงของเขาในความเป็นไตรลักษณ์ คนที่เรารักก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวลาเขาตายไปเราก็เสียใจ คนที่เราเกลียด อยากให้เขาตาย ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน ไม่ต้องไปอยาก เดี๋ยวเขาก็ตายไปเอง

นี่ก็คือปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน ท่านให้เจริญที่ร่างกายก่อนคือรูป ส่วนเวทนาจิตธรรมค่อยตามมาทีหลัง นี่คือความหมายของการตั้งสติ รูปก็ให้ศึกษาจนเข้าใจในทุกส่วน เช่นให้พิจารณาดูอาการ ๓๒ ว่าไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่อาการต่างๆ มีผม มีขน มีฟัน มีหนัง มีกระดูก แล้วก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สวยงาม มีสิ่งที่ไม่งามอยู่ภายใต้ผิวหนังที่เรามองไม่เห็นกัน แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยปัญญาถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ พิจารณาเข้าไปดูโครงกระดูกที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง ดูอวัยวะต่างๆ ถ้าดูไม่ออก นึกไม่ออก ก็ต้องอาศัยการไปเยี่ยมป่าช้า อย่างสมัยโบราณเขาก็ไปเยี่ยมป่าช้า ไปดูคนตาย หรือสมัยนี้มีหนังสือที่ถ่ายมาให้ดู มีภาพวาดให้เราดู เราก็ดู แล้วก็เอามาเจริญอยู่เรื่อยๆ ให้จำได้ จนฝังอยู่ในใจเลย พออยู่ในใจแล้ว เวลามองใคร ก็จะมองทะลุเข้าไปในหนังเลย เราก็จะไม่หลง ไม่อยากไปมีความผูกพัน ไม่อยากเอามาครอบครอง เพราะไม่ได้สวยงามอย่างที่เห็น คนเรามีความแตกต่างกันภายนอก แต่ภายในเหมือนกันหมด มีอาการ ๓๒ เท่าๆกัน นี่คือการศึกษาพิจารณารูปด้วยสติ ให้เห็นความจริงของรูปอยู่ตลอดเวลา

ถาม   ท่านอาจารย์ครับ  ผู้ปฏิบัติใหม่ๆอย่างพวกเรานี่  อารมณ์อยู่ที่กาย
           อย่างเดียวก่อนเลยใช่ไหมครับ

ตอบ  ส่วนใหญ่ต้องเริ่มที่กายก่อน เพราะกายเป็นส่วนที่หยาบ เห็นได้ด้วยตา ส่วนอื่นเห็นได้ค่อนข้างยาก สติปัญญายังไม่ค่อยทัน แต่ถ้าได้พัฒนาไปเรื่อยๆ เมื่อสามารถเข้าใจรูปได้อย่างดีแล้ว ก็จะเข้าไปสู่เวทนาเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาแต่รูปล้วนๆ เวลาเวทนาแสดงอาการขึ้นมาแรงๆ เราก็จะเห็นเหมือนกัน วันไหนที่เราเจ็บปวดมากๆ เวทนาก็จะชัดขึ้นมา อย่างเวลาเดินไปเตะหินเข้า ทุกขเวทนาความเจ็บปวดก็จะเกิดขึ้นมา ตอนนั้นเราก็ควรรับรู้ว่าเป็นเวทนา ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับมัน มันเกิดขึ้นได้เดี๋ยวมันก็ดับได้ เราเตะหินปั๊บ เดี๋ยวสักครู่ความเจ็บมันก็จะค่อยๆลดลงไปๆ แล้วก็หายไป คือพยายามรักษาใจให้เป็นผู้รู้อย่างเดียว อย่าเป็นผู้ต่อต้าน เป็นผู้ยินดียินร้ายกับเวทนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาสู่ใจ  ใจต้องเป็นผู้รู้เฉยๆ ทำตัวให้เป็นเหมือนกับกระจกเงา เวลาที่คนสวยมองกระจกเงานี้ กระจกก็ไม่ได้ดีใจ คนไม่สวยมอง ก็ไม่รังเกียจ เพียงทำหน้าที่สะท้อนเงาของภาพเท่านั้นเอง

            ฉันใดจิตของเราก็ต้องเป็นอย่างนั้น พยายามทำให้มันนิ่งเหมือนกับกระจกเงา เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน อย่าไปหลงว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเราเป็นของเรา ที่แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องไปยินดียินร้าย เพราะจะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา จะเกิดตัณหาขึ้นมา เกิดความอยากจะได้ หรือเกิดความอยากจะหนีจากสิ่งนั้นไป  ก็จะอยู่เฉยๆไม่ได้ จิตก็จะไม่นิ่ง นี่คือการเจริญสติปัญญาเพื่อปล่อยวาง

ถาม   ทีนี้เวทนาที่เกิดขึ้นแล้ว ก็วางเฉยอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า แต่มันก็ไม่ดับไปเลยหรือจะเกิดขึ้นใหม่อีก

ตอบ     เวทนามี ๒ ชนิด คือเวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย เป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่เวทนาทางจิต เราสามารถดับได้ ใจไม่วุ่นวายกับเวทนาทางกาย ใจก็ไม่ทุกข์ เราดับทุกข์ทางจิตใจได้ แต่ทุกข์ทางกายก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา

ถาม     เพราะฉะนั้นถ้าทุกข์เกิดที่กายนี่เราแค่วางเฉย แต่ส่วนที่ใจนี่เราต้องใช้ปัญญาพิจารณา

ตอบ     ถ้าเราเข้าใจว่า เวทนาของกายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เราควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้ เราก็ปล่อยวาง ใจเราก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าไม่เข้าใจ เวลาเกิดเวทนาขึ้นมาหน่อยใจก็วิตก จะตายหรือเปล่า จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า สร้างความทุกข์ใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ทั้งๆที่ยังไม่ได้เป็นเลย แต่ถ้าใจสักแต่ว่ารู้เฉยๆ เวทนาเกิดขึ้นก็รู้ รู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ต้องดับ ต้องหายไป หรือเบาลงไป หรือเพิ่มขึ้นอีก ก็สุดแท้แต่เวทนา ต้องเป็นไปตามเรื่องของเวทนา ถ้าใจรู้ ใจเข้าใจ ใจก็จะเฉย การปฏิบัติก็เพื่อให้ใจเข้าสู่อุเบกขา คือการวางเฉย ปล่อยวาง  สัมผัสกันอยู่ แต่ไม่ยินดียินร้ายกับเขา สังเกตดู คนที่เราเจอนี่ จะมี ๓ แบบด้วยกัน คือคนที่เราชอบ คนที่เราไม่ชอบ และคนที่เราเฉยๆ คนที่เราเฉยๆนี่สบายที่สุดใช่ไหม เราไม่ดีใจไม่เสียใจ เขาจะมาเขาจะไปเราไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคนที่เราชอบเวลามาเราดีใจ เวลาไปเราก็เสียใจ คนที่เราไม่ชอบเวลามาเราก็เดือดร้อน แต่พอเขาไปเราก็โล่งใจ สบายใจ ความชอบกับความไม่ชอบทำให้ใจต้องแกว่งไปแกว่งมา เป็นนิสัยที่ได้ปลูกฝังมา

คนบางคนชอบสีแดง บางคนไม่ชอบสีแดง คน ๒ คนมองสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งมีความสุข อีกคนหนึ่งมีความทุกข์ เกิดจากความชอบหรือไม่ชอบ ที่ถูกปลูกฝังมาด้วยอวิชชา ถ้ามีปัญญาก็จะเห็นว่าเป็นสีเท่านั้นเอง เป็นรูปที่มาสัมผัสกับตาแล้วรับรู้ที่ใจ ใจนี้ไม่มีอะไรไปทำลายได้ ใจเป็นเหมือนกระจก ที่สะท้อนความเป็นจริงของรูปภาพ กระจกก็เป็นกระจกเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพชนิดใดก็ตาม คนจะฆ่ากันตายต่อหน้ากระจก กระจกก็ยังเป็นกระจกอยู่เหมือนเดิม คนจะฉลองแต่งงานกัน กระจกมันก็ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่ ใจของเราก็เป็นแบบนั้นแหละ เหตุการณ์จะเลวร้ายขนาดไหน ถ้าเราสามารถควบคุมจิตใจ สอนจิตใจด้วยสติด้วยปัญญา ใจก็จะเป็นเหมือนกับกระจก สะท้อนรับรู้ความเป็นจริงของสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ นี่แหละคือเหตุที่เราต้องมาศึกษาให้เข้าใจ กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสัมผัสในโลกนี้ ส่วนใหญ่เราจะหลงตามอวิชชา อยากจะให้ทุกอย่างเจริญ ไม่ให้มีอะไรเสื่อม พอเกิดอะไรเสื่อมขึ้นมา เราก็จะเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ พอมีการเจริญขึ้นมาก็ดีใจ เช่นเวลาได้ลูกได้หลานก็ดีอกดีใจกันใหญ่ พอเสียคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยายไปก็เศร้าโศกเสียใจ เพราะมองด้านเดียว ไม่คำนึงถึงอีกด้านหนึ่งว่า เด็กคนนี้เกิดมาวันนี้ สักวันหนึ่งเขาก็ต้องตาย ถ้ารู้ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว เวลาเขาตายไปก็จะไม่รู้สึกอะไร

แต่ใจของเราทุกขณะ จะพยายามฝืนความจริงนี้ คือความตาย จนถึงขั้นที่คิดถึงเรื่องความตายไม่ได้เลย สมัยนี้ใครไปคิดเรื่องความตายหาว่าเป็นอัปมงคล ทั้งๆที่เป็นปัญญาทางศาสนา เป็นการศึกษาถึงแก่นของความจริง เมื่อทราบความจริงแล้ว ใจก็จะรับความจริงนั้นได้ แต่ทุกวันนี้คนเราไม่ยอมรับความจริงนี้กัน  ไม่ยอมคิดถึงเรื่องนี้ พอเกิดความตายขึ้นมา ก็ทำใจกันไม่ได้  ไม่ได้ซ้อมไว้ ถ้าเป็นทหารก็ไม่คิดว่าจะมีข้าศึกศัตรูมารุกราน คิดว่าปลอดภัยเสมอ ไม่ต้องซ้อมรบ ไม่ต้องมีทหาร ไม่ต้องมีตำรวจก็ได้ พอวันดีคืนดีเกิดมีข้าศึกศัตรูบุกเข้ามา  ก็จะป้องกันตัวเองกับบ้านเมืองไม่ได้  ก็จะถูกทำลายไปหมด  ใจที่ไม่มีสติไม่มีปัญญาก็เป็นลักษณะนี้ มีแต่ความหลง มีแต่ความต้องการให้เจริญอย่างเดียว ไม่ให้เสื่อม พอเสื่อมก็รับไม่ได้ บางคนถึงกับเสียสติไปเลย กลายเป็นคนบ้าไป เวลาสูญเสียอะไรที่ตนเองรัก ก็จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ  เคยร่าเริงเบิกบาน ก็กลายเป็นเศร้าสร้อยหงอยเหงาไป ถ้าเจอสภาพที่รุนแรงมากๆ ก็จะถึงกับทำร้ายชีวิตของตนเอง เพราะไม่สามารถทนอยู่กับสภาพนั้นได้ เพราะไม่ได้ศึกษาเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก่อนนั่นเอง ถ้าได้ซ้อมไว้ก่อนแล้วว่า สักวันหนึ่งจะต้องอยู่คนเดียว คนที่เรารักจะต้องจากเราไป ก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจ เวลาเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมา

เหตุที่พวกเราเข้าวัดปฏิบัติธรรมกัน ก็เพื่อฝึกอยู่คนเดียว อยู่แบบเรียบๆง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกเป็นเครื่องให้ความสุขกับเรา เพราะเราสามารถมีความสุขได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครมีอะไร มาให้ความสุขกับเรา แต่พวกเราไม่ยอมตัด ยังเสียดาย เป็นเหมือนกับคนพิการ จะไปไหนต้องมีรถนั่งไป ต้องมีไม้เท้าไว้คอยค้ำ ทั้งๆที่ไม่ได้พิการเลย สามารถเดินเหินไปไหนได้อย่างสบาย กลับไม่เอาอยากจะใช้ไม้ค้ำ อยากจะนั่งรถเข็น ทั้งๆที่เดินเหินไปไหนได้เอง ใจของเราก็ไม่พิการอะไรเลย ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไรเลยทั้งสิ้น ที่จะทำให้ใจมีความสุข  ไม่ต้องพึ่งพารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ต้องพึ่งพาลาภ ยศ สรรเสริญ แต่กลับต้องพึ่งพาลาภ ยศ สรรเสริญ สุขกันตลอดเวลา เวลาได้มาก็ดีอกดีใจ เงินเดือนขึ้นก็ดีใจ พอถูกตัดเงินเดือนก็เสียใจ เป็นเพราะไม่เคยฝึกจิต ให้อยู่โดยไม่ต้องมีสิ่งต่างๆมาค้ำมาพยุงนั่นเอง

เราจึงต้องปฏิบัติธรรมเพื่อทำจิตให้เป็นอัตตา หิ อัตตโน นาโถ ให้เป็นที่พึ่งของตน  เพราะจิตที่สงบแล้ว จะไม่ต้องการอะไรเลย ที่อยู่ที่กินก็เป็นเรื่องของร่างกาย  ที่ต้องมีปัจจัย ๔ ถึงจะอยู่ได้ การเลี้ยงดูร่างกาย ก็เพื่อเอามาทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้นเอง ภารกิจของตนได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว อย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก ท่านไม่มีภารกิจอะไรที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว  จิตของท่านเป็นที่พึ่งของตนเองได้แล้ว จิตของท่านหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงแล้ว แต่ท่านยังมีร่างกายเหลืออยู่   จึงใช้ร่างกายนี้เป็นเครื่องมือ   ในการอบรมสั่งสอนผู้อื่น เวลาจะสอนคนอย่างพวกเรานี้ ต้องมีปากพูดถึงจะฟังกันรู้เรื่อง ถ้าสอนพวกเทวดา ก็ไม่ต้องใช้ร่างกาย สอนทางจิตได้เลย เช่นพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนพวกเทวดาด้วยกระแสจิต พวกเทวดาไม่มีรูปหยาบเหมือนพวกเรา มีจิตที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่เข้าใจอะไรหลายอย่าง จึงต้องศึกษาจากพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงสอนพวกเทวดาเหมือนกับสอนพวกเรา คือสอนเรื่องพระอริยสัจ ๔

นี่คือเหตุที่เราต้องเจริญสติปัฏฐานกัน เพื่อให้เข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆที่ใจเราไปเกี่ยวข้องด้วย  ว่าเป็นของไม่เที่ยง อย่าไปยึดติด อย่าไปหวังอะไร เพราะเวลาไม่เป็นไปตามที่หวัง เราก็จะเสียใจ ศึกษาเพื่อจะได้ปล่อยวาง ดูร่างกายนี้จนเข้าใจว่าเป็นอย่างไร จึงทรงสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า ไปชมป่าช้า ไปดูสภาพของร่างกายของเราที่จะต้องเป็นไปในวันข้างหน้า ที่จะต้องกลายเป็นซากศพไป มีแร้งมีกามากัดมากิน และเน่าเปื่อยไป เหลือแต่โครงกระดูก แล้วก็กลายเป็นดินไปในที่สุด นี่คือการศึกษากายหรือรูป ขันธ์  เรียกว่ากายคตาสติภาวนา ให้รู้ ๒ ลักษณะด้วยกัน คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และอสุภะไม่สวยไม่งาม ถึงจะหลุดพ้นจากอุปาทาน การยึดติดในร่างกายนี้ไปได้ ผู้ที่พิจารณาร่างกายได้อย่างละเอียดลออหมดจดทุกส่วน จนปล่อยวางร่างกายได้แล้ว ก็จะเป็นพระอนาคามี ไม่ยินดีกับร่างกายอีกต่อไป  ไม่มีราคะตัณหา ไม่เห็นว่าสวยว่างาม ไม่อยากเอามาเป็นคู่ครอง 

ไม่อยากกอดโครงกระดูกที่ถูกหนังหุ้มห่ออยู่ ไม่อยากกอดอวัยวะต่างๆ เช่นตับไตไส้พุง ที่มีอยู่ในร่างกาย ที่ปุถุชนคนธรรมดามองไม่เห็น เพราะไม่ได้มองด้วยปัญญา แต่มองด้วยโมหะความหลง มองอสุภะเป็นสุภะ เป็นของสวยงามไป มองอนิจจังว่าเป็นนิจจัง มองสิ่งที่ไม่จีรังถาวรเป็นสิ่งที่จีรังถาวร มองสิ่งที่ให้ความทุกข์เป็นความสุข เวลาได้คู่ครองมาแล้วมันสุขที่ตรงไหน มีแต่ทะเลาะกันบ้าง มีเรื่องมีราวกัน เป็นห่วงเป็นใยกัน จิปาถะร้อยแปดพันประการ ที่เป็นความทุกข์ใจทั้งนั้น จึงเรียกว่าเป็นทุกข์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นแค่กองดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง ที่มารวมตัวกัน เหมือนกับการทำขนม ที่เราเอาน้ำตาลเอาแป้งเอาไข่มาผสมกัน แล้วก็เอามาใส่ในแม่พิมพ์ ทำเป็นรูปต่างๆ จะเป็นขนมชนิดไหน ก็ต้องทำมาจากแป้งน้ำตาลกับไข่นี้เอง แต่เราสามารถทำให้เป็นขนมได้หลากหลายชนิด เป็นเค้กก็ได้ เป็นคุกกี้ก็ได้ ฯลฯ

ถาม   เวลาพิจารณาพวกนี้ ก็พิจารณาอย่างหยาบๆ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ตอบ    ก็เริ่มจากหยาบไปก่อน แล้วก็จะละเอียดขึ้นไปเอง ต้องพยายามทำไปเรื่อยๆ ปัญหาของญาติโยมอยู่ที่เวลาพิจารณาจะ

ไม่ค่อยพอ ต้องทำงานจึงไม่มีเวลาพิจารณาเรื่องนี้มากนัก เพราะวันๆหนึ่งจะต้องไปยุ่งกับงานอื่นๆ ทำให้ไม่มีเวลามามองความจริงด้านนี้ จะไปมองความจริงอีกด้านหนึ่ง ในเรื่องการทำมาหากิน ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จะคิดไปในทางนั้น เมื่อมีรายได้ขึ้นมาแล้ว จะทำอย่างไรกับเงินที่ได้มา จะเอาไปเที่ยวไหนดี ไปกินอะไรดี จะซื้ออะไรดี จิตก็จะคิดแต่เรื่องเหล่านี้ เรื่องหากับเรื่องใช้ เลยไม่มีเวลามาคิดเรื่องธรรมะ ถ้าเรียนหนังสือก็เรียนวิชาอื่นกัน วิชาธรรมะไม่ค่อยเรียนกัน ชอบเรียนวิชาทางโลกกันมากกว่า ก็เลยติดอยู่กับโลก หลงอยู่กับโลก ถ้าเรียนธรรมะ ก็จะเกิดปัญญาทำให้ปล่อยวางโลกได้  แต่มันยากเพราะใจมีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อนแล้วคือกิเลสๆ ซึ่งไม่ชอบธรรมะ เวลาจะเข้าหาธรรมะจึงเหมือนกับการแหกคุก จะไปวัดสักที จะไปทำบุญสักที จะไปปฏิบัติธรรมสักที มันยิ่งกว่าการแหกคุกเสียอีก แต่ถ้าไปเที่ยว ไปได้อย่างสบายเลย

ที่โยมบอกว่า ยังพิจารณาไม่ค่อยเห็น เป็นเพราะใจไม่มาทางนี้ แต่ถ้าได้ยินได้ฟังได้ศึกษา แล้วเห็นว่ามาทางนี้มีคุณประโยชน์ เหมือนกับออกจากกองขยะมาสู่กองเพชรกองเงินกองทอง ก็จะทำให้มีฉันทะ มีกำลังใจที่จะออกกัน แต่เราไม่เห็นว่าเรากำลังอยู่บนกองขยะกัน กลับเห็นกองขยะเป็นเพชรนิลจินดา เพราะความหลงเลยทำให้เราหลงติดอยู่กับกองขยะ ก็ดูพระพุทธเจ้าขนาดอยู่ในวัง ในสายตาของกิเลสก็จะเห็นเป็นสวรรค์ แต่ในสายตาของนักปราชญ์ กลับเห็นเป็นกองขยะ เพราะจะผูกให้ติดอยู่กับวงจรของความแก่ ความเจ็บ ความตาย พระพุทธเจ้าทรงต้องการที่จะดิ้นให้หลุดพ้นจากวงจรของความแก่ ความเจ็บ ความตาย  ทรงศึกษาถามเรื่องราวต่างๆ ตอนที่เสด็จประพาสนอกพระราชวัง ทรงเห็นคนแก่ ก็ทรงถามว่าคนแก่นี้มาจากไหน ก็ได้รับคำตอบว่า ก็มาจากพระองค์นั่นแหละ พระองค์สักวันก็ต้องเป็นเหมือนเขา คนเจ็บก็เหมือนกัน คนตายก็เหมือนกัน คือพระองค์ในที่สุดก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

พอไปเห็นสมณะนักบวช ก็ทรงถามพวกนี้เขามาจากไหน เขาทำอะไร เขาก็เป็นคนเหมือนพระองค์นี่แหละ แต่เขาแสวงหาทางออกจากความแก่ ความเจ็บ ความตายกัน พระองค์ก็ทรงอยากจะหลุดพ้นจากความทุกข์ ของความแก่ ความเจ็บ ความตายเหมือนกัน ก็เลยอยากจะทดลองดูบ้าง พอดีได้ข่าวพระมเหสีได้คลอดพระโอรส ก็ทรงอุทานว่าราหุล แปลว่าบ่วง เพราะลูกจะเป็นบ่วง ร้อยคอผูกมัดพ่อแม่ด้วยความผูกพัน จึงทรงตัดสินพระทัยหนีออกจากวังไปในคืนนั้นเลย หนีไปผนวช แต่ในสายตาของพวกเราก็เหมือนกับลงจากสวรรค์ไปสู่นรก จากวังไปอยู่เหมือนขอทาน จะกินที่ไหน จะนอนที่ไหนก็ไม่รู้ นอนก็นอนตามโคนไม้หรือในถ้ำ กินก็แล้วแต่ชาวบ้านจะสงเคราะห์ ก็เหมือนขอทาน ทรงถือบาตรไปที่หมู่บ้าน เพื่อรับอาหารที่ชาวบ้านถวาย แล้วแต่ศรัทธา แต่ก็ไม่ได้ทรงถือเป็นเรื่องหนักอกหนักใจ  เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการนั้น มีค่ามากกว่าสิ่งที่พระองค์ได้ทรงเสียสละไป คือความสะดวกสบายทางด้านร่างกาย ทางด้านปัจจัย ๔

พระองค์ทรงต่อสู้อยู่ถึง ๖ ปีด้วยกัน จึงได้บรรลุผล ได้ปัญญา ได้เห็นว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรู้แล้วก็ทรงปล่อยวาง จิตก็หลุดพ้น ไม่ยึดไม่ติดกับอะไรอีกต่อไป เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น  จิตเป็นเหมือนกับกระจกสะท้อนเงา สะท้อนตามความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราเห็นว่าดีบ้างไม่ดีบ้าง  แต่จิตที่เป็นเหมือนกระจก ไม่ได้เห็นว่าดีหรือไม่ดี เป็นสักแต่ว่าทั้งนั้น ดังที่ทรงสอนไว้ว่า เวลาเห็นอะไรก็ให้สักแต่ว่าเห็น เวลาได้ยินอะไรก็ให้สักแต่ว่าได้ยิน อย่าไปเห็นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นเราเป็นของเรา แล้วจิตจะได้ไม่เดือดร้อนกับสิ่งต่างๆที่เห็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกนึกคิดของพวกเรา ถ้าไม่ได้วิเคราะห์พิจารณาอย่างจริงๆจังๆ ก็จะไม่เข้าใจ  แต่ถ้ามองความตายอยู่เรื่อยๆแล้ว ก็จะมีเครื่องเตือนสติ ให้คิดว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป หรือคนที่เรารักก็จะต้องจากเราไป เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่เป็นความสุขเลย เป็นความสุขตอนต้น แต่เป็นความทุกข์ตอนปลาย เรามาหาวิธีทำให้ไม่ทุกข์ไม่ดีกว่าหรือ

เป็นบุญเป็นวาสนาของพวกเรา ที่ได้ยินได้ฟังจากผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้า เพราะโดยลำพังแล้ว เราคงจะไม่คิดอย่างพระพุทธเจ้าทรงคิดกัน เราก็จะกอดอยู่กับกองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ไปตลอด ถึงแม้จะทุกข์จะทรมานอย่างไร ก็ปล่อยวางไม่ได้ เพราะยังไม่เคยสัมผัสกับความสุขอีกแบบหนึ่งนั่นเอง ถ้าได้สัมผัสกับความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตแล้ว จะเห็นว่าถึงแม้จิตจะไม่มีอะไรเลย ถึงแม้จะต้องอยู่ตามลำพัง แต่จิตที่สงบจะไม่รู้สึกว้าเหว่ จะไม่รู้สึกว่าขาดอะไรเลย เป็นจิตที่มีความอิ่ม มีความสุข มีความพออยู่ในตัว ที่พวกเราต้องมาวัดกันนี้ ก็เพื่อมาทำจิตใจให้สงบ จิตของแต่ละคนก็อยู่ในระดับต่างกัน บางคนก็ทำจิตให้สงบง่าย แสดงว่าเคยทำมาแล้วในอดีต ถ้าเป็นนักเรียนก็เหมือนกับการย้ายจากโรงเรียน เคยเรียนชั้นป.๖ แล้ว พอมาเข้าโรงเรียนใหม่ ก็เรียนชั้นป.๗ได้เลย บางคนยังไม่เคยได้เรียนหนังสือมาก่อน ก็ต้องเรียนชั้นป.๑ไปก่อน

จิตของพวกเราก็เป็นแบบนี้ ได้สะสมบุญบารมีในแต่ละภพในแต่ละชาติมาไม่เท่ากัน  ทำบุญทำบาปมาไม่เท่ากัน เมื่อมาเกิดชาตินี้แล้วอยากจะเรียนชั้นสูงๆ อยากจะภาวนา แต่ก็ทำไม่ได้  เพราะรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคไปหมด จะกินจะอยู่แบบนักภาวนาก็รู้สึกลำบาก จะให้นั่งเฉยๆให้สงบสัก ๑๕ นาที ก็รู้สึกอึดอัดใจ นั่งไม่ได้ ก็แสดงว่ายังไม่ได้ผ่านขั้นที่ต่ำกว่านี้มา เราจึงต้องเลื่อนกลับลงไป รักษาศีลก่อน ถ้ารักษาศีลยังรู้สึกว่ายาก ก็ต้องลงไปขั้นทำทานก่อน ทำทานทำไปเรื่อยๆ เพราะการทำบุญทำทานเป็นการปล่อยวาง ความยึดติดในวัตถุข้าวของเงินทองต่างๆ  เมื่อทำบุญทำทานไปเรื่อยๆแล้ว จิตใจจะได้ความสุขจากการปล่อยวางวัตถุข้าวของเงินทอง ก็จะเห็นว่า ยังมีความสุขอีกแบบหนึ่ง ที่เกิดจากการให้ ไม่ได้เกิดจากการได้มา ซึ่งเป็นความสุขที่ละเอียด กว่าความสุขที่เกิดจากการได้มา เวลาได้มาเราก็มีความสุข แต่เป็นความสุขที่ทำให้เกิดความทุกข์ตามมา เพราะอยากจะได้มากกว่าเดิม วันนี้ได้ ๑๐ บาท พรุ่งนี้ก็อยากจะได้ ๒๐ บาท

แต่เวลาเราทำบุญทำทาน  จิตใจจะมีความอิ่มเอิบ ไม่รู้สึกเสียดายเงินที่ให้ไป และจะไม่รู้สึกอยากจะได้ใหม่ ถ้าทำมากๆแล้วต่อไปก็จะเห็นว่า เงินทองที่มีเหลือใช้นี้ถ้าไม่ฉลาด ก็จะเพิ่มความทุกข์ให้กับเราได้ ถ้าเอาไปเลี้ยงกิเลสตัณหา  เห็นเสื้อผ้าสวยๆงามๆก็ซื้อมาใส่ เห็นอะไรใหม่ๆก็ซื้อมาใช้  ใส่ไปใช้ไปได้ครั้งสองครั้งก็เบื่อ แล้วก็อยากจะได้ของใหม่อีก ก็จะทำให้หิวกระหายอยากได้ของใหม่ๆไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นอย่างนี้หาเงินมาได้เท่าไรก็จะไม่พอใช้  ก็จะต้องไปทำผิดศีล ถ้าหาเงินมาด้วยความสุจริตไม่ได้ ก็ต้องไปฉ้อโกงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง  ถ้าให้ทานอยู่เรื่อยๆแล้ว จิตใจจะมีความอิ่ม ไม่หิวกับเสื้อผ้าอาภรณ์ของใช้ใหม่ๆต่างๆ  ของเก่าที่ยังใช้ได้อยู่ก็ใช้ไป พอใจใช้ของเก่า ไม่หิวกระหายกับของใหม่ๆ  เงินทองที่มีอยู่ก็จะไม่หมดไป ไม่ต้องไปทำความทุจริต ก็เลยทำให้มีศีลขึ้นมาจะทำอะไรก็จะทำด้วยความถูกต้อง เพราะรู้ว่าเวลาทำผิดศีลแล้ว จิตใจจะวุ่นวาย จิตใจจะทุกข์ ถ้าจะหาเงินมา ก็ต้องหามาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่ไปละเมิดศีล ทานจึงเป็นเครื่องสนับสนุนศีล

เมื่อเรารักษาศีลไป จิตของเราก็จะมีความสงบ เมื่อมีความสงบเราก็อยากจะหาความสงบเพิ่มขึ้น ทีนี้เราก็จะภาวนาได้ นั่งสมาธิก็จะง่ายขึ้น เพราะกิเลสตัณหาที่อยากจะหาความสุขจากภายนอกได้ถูกตัดไป ถ้าเป็นต้นไม้ก็เหมือนกับกิ่งก้านของต้นไม้ได้ถูกตัดไป แต่ตัวต้นยังไม่ได้ถูกตัด ต้องอาศัยการภาวนาที่จะทำจิตให้สงบเต็มที่ ด้วยการนั่งสมาธิ ทำจิตให้สงบ  เมื่อจิตรวมเป็นสมาธิแล้ว ก็จะเห็นความสุขที่แท้จริง แต่จะเป็นความสุขในขณะที่อยู่ในสมาธิ พอจิตออกมาจากสมาธิแล้ว ไปเห็นรูปหรือไปได้ยินเสียง กิเลสก็จะทำงานต่อ จากความสงบก็จะกลายเป็นความรุ่มร้อนขึ้นมา เช่นไปเห็นใครเขาทำอะไร แล้วทำให้เกิดความโกรธขึ้นมา เป็นเหมือนไฟลุกขึ้นมา จิตที่มีความสงบแล้วจะรู้ทันทีเลยว่า นี่คือสิ่งที่ต้องกำจัด คือความโกรธ ปล่อยให้โกรธไม่ได้ เพราะเวลาโกรธเหมือนกับเอาไฟมาเผาใจ

ทีนี้จะทำอย่างไรถึงจะดับความโกรธได้ ก็ต้องใช้ปัญญา เช่นวิปัสสนาปัญญา ก็ต้องคิดว่าไม่ต้องไปโกรธหรอก ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามเรื่องของเขา คนที่เราโกรธ เราไม่ต้องไปทำอะไรเขาหรอก เดี๋ยวถึงเวลาเขาก็เป็นไปตามเรื่องของเขาเอง เดี๋ยวเขาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไป ไปมีเรื่องกับเขา ก็จะเป็นการสร้างเวรสร้างกรรม  สร้างความทุกข์ สู้ยอมรับความจริงของเขาดีกว่า เขาอยากจะทำอะไรก็เป็นสิทธิของเขา ถ้าหลีกได้ก็หลีก ถ้าหลีกไม่ได้ก็ต้องทำใจให้นิ่งเฉยไว้ แล้วก็รอให้ผ่านไป ถ้าไปมีปฏิกิริยาต่อสู้กัน เดี๋ยวเรื่องจะยาว อาจจะต้องตายจากโลกนี้ไปด้วยกัน ก่อนเวลาอันสมควร  นี่คือวิปัสสนา การทำสมาธิเพียงแต่ทำให้จิตสงบ เวลาจิตอยู่ในสมาธิก็ไม่ต้องไปเจริญปัญญา เพราะการเจริญสมาธินี้ ต้องการให้จิตนิ่ง เหมือนกับคนที่ต้องการพักผ่อนหลับนอน เวลาหลับไปแล้วอย่าไปปลุกขึ้นมา ให้นอนให้เต็มที่ จนกระทั่งตื่นขึ้นมาเอง จิตเวลาอยู่ในสมาธิ จะนิ่งอยู่นานสักเท่าไร ก็ปล่อยให้อยู่ไป  จิตกำลังพัก เมื่ออิ่มตัวแล้วก็จะถอนออกมาเอง

เมื่อถอนออกมาแล้ว ก็จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอคิดในเรื่องที่จะสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้น ก็ต้องใช้ปัญญาเข้ามาแก้ ห่วงคนนั้นคนนี้ ห่วงได้อย่างไรเดี๋ยวเขาก็ต้องตายอยู่ดี ห่วงอย่างไรก็ต้องตายอยู่ดี ไม่ห่วงไม่ดีกว่าหรือ ไม่ห่วงก็ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงเรื่องของเขา ห่วงก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเรื่องของเขา แต่ห่วงแล้วจะทำให้เราทุกข์ ไม่ห่วงก็ไม่ทำให้เราทุกข์  ความห่วงไม่ห่วงเราเปลี่ยนได้ แต่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนผู้อื่นได้ คนที่เราห่วง กลัวจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  ถ้าเขาจะเป็น เราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี  จึงอย่าไปห่วง  มีหน้าที่ดูแลกันก็ดูแลกันไป มีหน้าที่เลี้ยงดูก็เลี้ยงดูกันไป แต่ไม่ต้องห่วง ห่วงไม่ได้หรอก แล้วในที่สุดก็ต้องสลายหมดไปชีวิตของคนเราทุกคนมีจุดจบด้วยกันทั้งนั้น แต่เราจะอยู่แบบไหน อยู่แบบห่วงแบบทุกข์  หรือจะอยู่แบบไม่ห่วง แบบสบายใจ จุดจบก็มีเท่ากัน เหมือนกัน นี่คือวิปัสสนาปัญญา

ถ้าเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ เห็นว่าไม่ใช่เป็นของเราแล้วมันก็ง่ายขึ้นในการปล่อยวาง เวลาลูกคนอื่นเขาตายไปเราเดือดร้อนไหม เราไม่ได้เดือดร้อน ไม่ร้องห่มร้องไห้ แต่พอลูกเราตายไปนี่ วุ่นวายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ลูกของเขากับลูกของเราก็มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน  เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน  เมื่อถึงเวลาที่เขาจะต้องตาย ก็ต้องตาย เขาทำบุญมาแค่นี้  หรือมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาอยู่ได้เพียงแค่นี้ เราไปร้องห่มร้องไห้ เขาก็ไม่ฟื้นกลับคืนมา มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา เปล่าๆ เพราะขาดปัญญานี่เอง แต่ถ้ามีปัญญาแล้ว เราก็เฉย ตายก็จัดงานศพให้ เผาให้เสร็จ ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย นี่คือวิปัสสนา เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ให้กับใจของเรา  แต่การจะเจริญวิปัสสนาปัญญาได้ จะต้องมีสมาธิก่อน ถ้าจิตไม่มีสมาธิ ก็จะทำใจไม่ได้ ถ้าจิตมีสมาธิแล้ว พอระลึกถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความว้าวุ่นขุ่นมัวก็จะดับลงไปเอง จิตก็จะกลับไปสู่จุดของสมาธิ จุดที่สงบ

แต่ถ้าไม่มีสมาธิ เวลาจะปลงจะวาง ก็ไม่รู้จะไปปลงไปวางไว้ที่ตรงไหน เพราะจิตไม่เคยสงบมาก่อน ก็ปลงอยู่บนความวุ่นวายนั่นเอง คิดไม่ตก ปลงไม่ตก แต่ถ้ามีสมาธิแล้วจะปลงตก เช่นเราจะต้องเสียสมบัติ เสียงานเสียการไป ถ้าเรามีสมาธิเราจะปลงตก ไม่เป็นไร  ไม่มีงานทำฉันเข้าสมาธิของฉันได้ พออยู่ในสมาธิแล้วฉันสบายเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น  คนที่มีสมาธิแล้วจะมีที่พึ่ง เพียงแต่ว่ายังไม่เป็นที่พึ่งที่ถาวรเท่านั้นเอง ที่พึ่งที่ถาวรต้องอาศัยปัญญา เพราะปัญญาจะเป็นตัวตัดถอนรากถอนโคนของความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆให้หมดไปจากจิตจากใจ สมาธิเป็นเหมือนกับตัวไปบีบไปกด ไม่ให้กิเลสตัณหาทำงาน เหมือนกับหินทับหญ้า เวลาหินทับอยู่บนหญ้าๆก็จะเจริญงอกงามออกมาไม่ได้ แต่พอยกหินออก ทิ้งไว้สักพักหนึ่ง เดี๋ยวหญ้าก็โผล่กลับขึ้นมาใหม่ ถ้าต้องการทำลายหญ้าอย่างถาวร ก็ต้องถอนรากถอนโคนด้วยจอบด้วยเสียม  กิเลสก็ต้องถอดถอนด้วยปัญญา  ปัญญาก็คือไตรลักษณ์นี่เอง

ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้ว ใจจะไม่โลภ ไม่โกรธอีกต่อไป เพราะเกิดจากความหลง ความโลภ ความโกรธมาจากความหลง หลงว่าเป็นของเรา พออะไรที่เป็นของเราหายไป ก็ร้องห่มร้องไห้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ถ้าเป็นของคนอื่นหายไป ก็ไม่เดือดร้อนเลย ทั้งๆที่เป็นสมบัติชิ้นเดียวกัน  เช่นเรามีรถคันหนึ่ง แล้วเราให้เขาไป พอรถคันนี้คว่ำ หายไปพังไป เราก็ไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้ายังไม่ได้ให้ใคร ยังเป็นของเราอยู่ พอเป็นอะไรขึ้นมา ใจของเราก็ทุกข์แล้ว อยู่ที่ว่าเรามองอย่างไรกับสิ่งนั้น ถ้ามองว่าเป็นของเรา ก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา ถ้ามองว่าไม่ใช่ของเรา ก็จะไม่สร้างความทุกข์ให้กับเรา พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้มองเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา  เป็นของยืมไว้ใช้ มีอะไรก็ใช้กันไปให้เกิดประโยชน์ เช่นเอาไว้ดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย ชีวิตของเราให้อยู่ได้อย่างสะดวก อย่างสบาย แล้วก็มาทำคุณ ทำประโยชน์ ทำบุญทำกุศลเพื่อทำให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์

สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็มีหน้าที่เพียงแค่นี้เอง เป็นเครื่องมือรับใช้เราในการปฏิบัติธรรม  เพื่อให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย สักวันหนึ่งเราก็ต้องทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปหมด จะเป็นมหาเศรษฐี จะเป็นนายกฯ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นประธานาธิบดี ก็ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองมีอยู่เป็นอยู่ไป  เพราะเป็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เป็นสมบัติของใครทั้งสิ้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้แล้ว เราก็ปล่อยวางได้ ปัญหาของพวกเราจึงอยู่ที่การต่อสู้กับกิเลส เพราะทุกขณะจิตของเราจะคิดไปในทางกิเลส เราต้องพยายามดึงให้มาทางธรรมะให้ได้ เช่นวันนี้แทนที่จะไปเที่ยว เราก็ดึงกันมาทางนี้  เราอาจจะมาบ่อยขึ้น อาจจะมาวัดทุกๆ ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน แทนที่จะไปอินเดียกัน ไปวัดปฏิบัติธรรมกันดีกว่า แต่ไปอินเดียสำหรับคนบางคนก็อาจจะจำเป็น เพราะยังมีความผูกพันอยู่กับสถานที่ กับเรื่องราวต่างๆภายนอก สำหรับบางคนไปก็อาจจะเป็นประโยชน์  ไปแล้วจิตของเขาก็อาจจะเกิดความซาบซึ้งใจ เกิดความสงบขึ้นมา แต่ก็สู้ความสงบที่เกิดจากการไปปฏิบัติในป่าในเขาไม่ได้  แต่เขาก็ต้องอาศัยแบบนั้นไปก่อน ขึ้นอยู่กับจิตใจของแต่ละคน ที่ได้รับการพัฒนามามากน้อยเพียงไร บางคนไปแล้วมีความซาบซึ้งใจ  ก็กลับไปอีก

ถาม   ท่านอาจารย์คะ บางทีส่วนใหญ่เวลาที่ฟังธรรมกันนี่ บางทีฟังไปแล้วมันจะเข้าสมาธิไป แต่ในขณะเดียวกันประโยชน์ที่ได้รับฟังก็พยายามดึงไว้ทางนี้

ตอบ  ก็ไม่เป็นไร ประโยชน์มีทั้ง ๒ แบบ คือความสงบกับปัญญา
         ถ้าจิตอยู่ในระดับสมาธิจิตก็จะสงบมากกว่าเกิดปัญญา จิตจะไม่พิจารณา

ตามก็ปล่อยไปตามเรื่องก่อน แต่ถ้าเป็นจิตที่ชอบพิจารณาตาม ก็จะเกิดความรู้เกิดความเข้าใจ เกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ระดับจิตของคนมันต่างกัน บางคนฟังธรรมเพื่ออาศัยธรรมเป็นเครื่องกล่อมใจให้สงบ  เพราะโดยลำพังเวลานั่งทำเองแล้ว ใจจะวอกแวก จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่พอนั่งฟังธรรมแล้ว มีเสียงธรรมะไว้เกาะ จิตก็เกาะอยู่กับเสียงธรรมะ แต่ไม่ได้พิจารณาตาม ฟังไปๆแล้วจิตก็จะสงบนิ่ง แต่ไม่รู้ว่าฟังเรื่องอะไร ก็ไม่เป็นไร คือได้ทั้ง ๒ อย่าง แล้วแต่ฐานะของจิตของแต่ละคน บางคนฟังเพื่อให้เกิดสมาธิ เกิดความสงบ ก็ฟังไปก่อน เพราะต้องมีสมาธิก่อน เพื่อเป็นฐานของปัญญา ถ้าฟังแล้วพิจารณาตามไป ถ้าจิตไม่สงบก็จะปลงไม่ตก  จะไม่เข้าใจ แต่ถ้าจิตมีสมาธิแล้ว จะปลงตก

อานิสงส์ของการฟังธรรมท่านก็แสดงไว้อยู่ ๕ ประการด้วยกัน คือ ๑. จะได้ยินได้ฟังในเรื่องที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน  ๒. เรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วก็จะเกิดความเข้าใจดีขึ้น  ๓. ขจัดความสงสัย  ๔. ทำความเห็นให้ถูกต้อง  ๕. ทำจิตใจให้ผ่องใสสงบ  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ทั้ง ๕ ประการ ในการฟังในแต่ละครั้ง บางครั้งฟังไปแล้วความสงสัยก็อาจจะยังมีอยู่ก็ได้ บางครั้งฟังไปแล้วความสงสัยหายไปก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้แสดงด้วย คือต้องเป็นผู้รู้ธรรมะ ผู้ฟังก็มีสติฟัง ถ้าผู้แสดงๆธรรมะไปแบบผิดๆถูกๆ ก็จะสร้างความสงสัย สร้างความสับสนให้ผู้ฟังมากขึ้นก็ได้ สมัยนี้เรามักจะไม่ได้บรรลุธรรมจากการฟังธรรมกัน ไม่เหมือนในสมัยพุทธกาล ที่เวลาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า จะมีผู้บรรลุธรรมกันเยอะ เพราะผู้แสดงธรรมก็ทรงแสดงแต่ความจริงล้วนๆ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สมัยนี้ผู้แสดงอาจจะเอาโมหะ เอาความหลงของตนมาสอดแทรกในการแสดงธรรม ผู้ฟังก็เลยลังเลใจ พิจารณาแล้วไม่ตรงกับความจริง ก็ลังเลสงสัย ไม่สามารถที่จะตัดได้ ไม่สามารถที่จะปลงได้

หรืออาจจะเป็นเพราะผู้ฟังในสมัยนี้ อาจจะฟังแบบเป็นพิธีก็ได้ เช่นบางคนชอบหาเสาพิง หาฝาพิง พอพระตั้งนะโมคอก็พับ ฟังแบบนี้ฟังไปอีก ๑๐๐ ชาติก็ไม่รู้เรื่อง เหมือนทัพพีในหม้อแกง ไม่เหมือนลิ้นกับแกง  ถ้าเป็นเหมือนลิ้นกับแกงแล้ว คำพูดทุกคำที่แสดงออกมาจะเข้าไปในใจ จะไม่มีอย่างอื่นมาแทรก บางคนนั่งฟังไป แต่ใจคิดเรื่องอะไรอยู่ก็ไม่รู้  เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา แข่งกับเสียงที่เข้ามา ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ฟังไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะการแสดงธรรมเป็นเรื่องเหตุเรื่องผลที่ต่อเนื่องกัน ถ้าขาดตอนใดตอนหนึ่งไปแล้ว ก็จะไม่เข้าใจ เหมือนกับการดูหนัง พอดูตอนต้นแล้ว ก็ออกไปเข้าห้องน้ำ พอกลับมาดูต่อ ก็ไม่รู้เรื่องแล้ว ว่าเกิดอะไรขึ้นในขณะที่ไปเข้าห้องน้ำ เวลาฟังธรรมก็เหมือนกัน ถ้าแว๊บไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอกลับมาฟังอีกที ก็ไม่รู้ว่าพูดไปถึงไหนแล้ว เกี่ยวกับอะไร เพราะฟังไม่ติดต่อกัน ก็จะไม่ได้ประโยชน์ สติในการฟังธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ามีสติมากเท่าไรก็จะได้รับประโยชน์มากเท่านั้น จึงควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างต่อเนื่อง พยายามฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบันเสมอ

สติคือการทำจิตให้อยู่กับที่ ไม่ให้ลอยไปลอยมา ถ้าเป็นเรือสติก็เป็นเหมือนกับสมอเรือ ถ้าทอดสมอแล้ว เรือจะไม่ลอยไปตามกระแสน้ำ น้ำจะพัดมาอย่างไร เรือก็ยังจอดอยู่กับที่ แต่ถ้าไม่ได้ทอดสมอแล้ว เรือก็จะลอยไปตามกระแสน้ำ ในจิตเราก็มีกระแสซึ่งเป็นเหมือนกับกระแสน้ำ คืออารมณ์ต่างๆ ที่ไหลลอยมาอยู่เรื่อยๆ พอมีอารมณ์อะไรลอยมาปั๊บ ก็ชวนเราคุยด้วย เราก็คุยไปเพลิน อย่างเวลาจะขนข้าวของขึ้นหรือลงเรือ ถ้าเรือไม่จอดอยู่นิ่งๆ ก็ขนไม่ได้ ฉันใดเวลาจะเอาความรู้เข้าไปในจิต  ถ้าจิตไม่นิ่ง ความรู้ก็จะไม่เข้าไปในจิต เหมือนกับเวลาเทน้ำใส่แก้ว ถ้าคว่ำแก้วไว้ เทน้ำไปหมดขวด ก็ไม่มีน้ำอยู่ในแก้วแม้แต่หยดเดียว เพราะไม่ได้หงายแก้วขึ้นมารับน้ำนั่นเอง ฉันใดใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าไปคิดเรื่องอื่น ไม่ได้สนใจฟัง ฟังเป็นชั่วโมงๆก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  การฟังธรรมจึงต้องฟังด้วยสติ อย่างน้อยผลที่ควรจะได้ก็คือความสงบ  ถ้าไม่เกิดปัญญา ก็ไม่เป็นไรเพราะในเบื้องต้นเราต้องฝึกจิตให้เป็นสมาธิก่อน

ถ้ามีสมาธิแล้ว ต่อไปก็จะได้ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิแล้วเจริญปัญญาอย่างไรก็ไม่เป็นปัญญา จะเป็นสัญญาไป พอถึงเวลาที่จะเอามาใช้ดับกิเลสก็จะดับไม่ได้ ปัญญาจึงถูกแบ่งไว้ ๓ แบบด้วยกันคือ  ๑. สุตตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง  ๒. จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิด และ ๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา ปัญญา ๒ อย่างแรกนำไปดับกิเลสไม่ได้  เช่นวันนี้ฟังว่าพวกเราต้องตัดกิเลส ต้องอย่าไปเที่ยว ต้องเข้าวัด แต่ถ้ายังไม่มีสมาธิก็จะเข้าวัดไม่ได้หรอก ฟังได้แต่ทำไม่ได้ แต่ถ้าจิตมีสมาธิแล้ว เรียกว่าเป็นภาวนา พอได้ฟังอะไรแล้ว ก็สามารถเอาไปปฏิบัติได้เลย เรียกว่าภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่ตัดกิเลสได้ ต้องเป็นภาวนามยปัญญา หมายถึงต้องมีสมาธิพร้อมแล้ว มีสมาธิเป็นผู้สนับสนุน  ถ้าไม่มสมถภาวนา มีแต่วิปัสสนาล้วนๆ จะกลายเป็นความรู้ประดับเฉยๆ แต่เอามาทำประโยชน์ไม่ได้ ท่องพระไตรปิฎกได้ทั้งเล่ม แต่เอามาตัดกิเลสของตัวเองไม่ได้

ในสมัยพุทธกาลก็มีนิทานเรื่องพระโปฐิละ คงจะเคยได้ยินกัน ท่านก็ศึกษาพระไตรปิฎกจนรู้หมดทุกอย่าง แต่เวลาที่พระพุทธเจ้าเจอพระโปฐิละทีไร ก็ทรงตรัสว่า โปฐิละเธอเกิดมาเสียชาติเกิด เธออยู่ไปเปล่าๆ กินไปเปล่าๆไม่ได้รับประโยชน์อะไรกับการอยู่ของเธอเลย เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสหลายครั้งหลายหน ท่านก็เลยสำนึกได้ว่ายังต้องพัฒนาอีก ความรู้ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ เพราะกิริยาอาการของตนยังไม่สงบเรียบร้อย ยังมีอาการของกิเลสแสดงออกมาอยู่ จึงตัดสินใจไปปฏิบัติที่สำนักปฏิบัติ ท่านก็ไปสำนักปฏิบัติที่มีแต่พระอรหันต์ ไปกราบพระผู้ใหญ่องค์แรกท่านมีพรรษาน้อยกว่า ท่านก็ปฏิเสธไปว่า ผมสอนท่านไม่ได้หรอก ท่านเป็นพระเถระ มีพรรษามากกว่าผม ก็เลยไปขอองค์ที่ ๒ องค์ที่ ๒ ก็ตอบเหมือนกัน องค์ที่ ๓ องค์ที่ ๔ ก็เหมือนกัน จนไปถึงองค์สุดท้ายเป็นสามเณร เป็นพระอรหันต์เช่นเดียวกัน สามเณรก็จะปฏิเสธเหมือนกัน พระหัวหน้าท่านก็เลยพูดว่า เณรจะไม่รับท่าน สงเคราะห์ท่านสักหน่อยหรือ สามเณรก็เลยรับพระเถระรูปนั้นมาเป็นลูกศิษย์

แต่ก่อนที่จะสอนก็ต้องเอามาฝึกดูนิสัยใจคอก่อน ว่าจะเป็นคนเชื่อฟังหรือไม่ หรือยังมีทิฐิถือตัวว่าเป็นพระเถระอยู่ เพราะเดี๋ยวนี้สามเณรเป็นอาจารย์แล้ว เรื่องพรรษาจึงถือไม่ได้แล้ว เพราะระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ลูกศิษย์ต้องเชื่อฟังอาจารย์เสมอ ถ้าไม่เชื่อฟังก็สอนไม่ได้ สอนไปแล้วไม่ฟัง ก็จะสอนไปทำไมให้เสียเวลาไปเปล่าๆ  บอกให้เลี้ยวขวาก็เลี้ยวซ้ายแทน ก็อย่าไปเสียเวลาเลย ไม่เกิดประโยชน์ ท่านทดสอบดูว่าจะเชื่อฟังหรือไม่ ก็ใช้อุบายต่างๆ ให้ล้างกระโถน ให้ซักจีวร บางทีก็ให้ลุยน้ำลงไปหยิบของในน้ำ พอเดินไปถึงใกล้จะหยิบของได้แล้ว ก็เปลี่ยนใจ บอกไม่เอาแล้ว  พระเถระท่านก็นิ่งเฉย ไม่โกรธ ไม่ตอบโต้อย่างไร เชื่อฟังครูบาอาจารย์ทุกอย่าง เมื่อสามเณรเห็นว่าท่านไม่มีทิฐิเหลืออยู่แล้ว จึงสั่งสอนท่าน โดยยกตัวอย่างว่า มีจอมปลวกอยู่รังหนึ่ง ในจอมปลวกนี้มีทางเข้าออกอยู่ ๖ ทางด้วยกัน และในจอมปลวกนี้มีกิ้งก่าอยู่ตัวหนึ่ง ถ้าอยากจะจับกิ้งก่าที่อยู่ในจอมปลวกนี้ ก็ต้องปิดทวารทั้ง ๕ ไว้ ให้เหลือทวารเดียว แล้วเฝ้าอยู่ตรงทวารนั้น กิ้งก่าก็จะออกทางอื่นไม่ได้ จะต้องออกทางนี้ พอออกมาก็จะตะครุบตัวได้เลย แต่ถ้ามีทางออกอีก ๕ ทาง แล้วเราเฝ้าอยู่ตรงนี้ มันก็จะออกทางโน้นได้ ก็จะจับมันไม่ได้

ฉันใดกิเลสตัณหาก็เช่นเดียวกัน มีทางออกอยู่ถึง ๖ ทางด้วยกัน คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านจึงสอนให้ปิด ๕ ทาง คือปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย ด้วยการสำรวม อย่าไปอยู่ใกล้กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ทำให้เกิดกิเลส เกิดความยินดี เกิดความอยากจะออกไปสัมผัส เช่นไปอยู่ตามป่าตามเขา จะได้ไม่มีรูปที่จะดึงกิเลสออกมา ไม่มีเสียงที่จะดึงกิเลสออกมา ก็เท่ากับปิดประตูทั้ง ๕ ไว้ ก็จะเหลืออยู่ประตูเดียวก็คือใจ ก็จะคิดปรุงต่างๆ คิดไปก็สร้างความทุกข์ให้กับใจ พอรู้ปั๊บก็ดับได้ รู้ปั๊บก็ดับได้ เดี๋ยวกิเลสก็แพ้เราเอง ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ นี่คือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังหรือคิดเองนี้ เป็นเพียงแต่จุดเริ่มต้น คือต้องศึกษาก่อน ถ้าคิดเองไม่เป็น ถ้าไม่รู้ ก็ต้องอาศัยคนอื่นสอน ถ้าคิดเองได้ ก็ต้องนำเอาไปปฏิบัติ เช่นพระพุทธเจ้าไม่มีใครสอนพระองค์ได้  จึงต้องคิดเอง แล้วก็ลองไปทำดู ถ้าถูกก็ใช้ได้ ถ้าไม่ถูกก็เปลี่ยนใหม่ เช่นทรงคิดว่าอดข้าวสัก ๔๙ วันจะชนะกิเลสได้ แต่ไม่ถูกทาง กิเลสก็ยังไม่ตาย กิเลสก็ยังดิ้นอยู่ในใจ ก็เลยต้องถอยกลับมานั่งภาวนา

ทำสมถภาวนาก่อนด้วยการเจริญอานาปานสติ ทำจิตใจให้สงบ เมื่อสงบแล้วก็พิจารณาขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และพิจารณาเข้าไปในจิตจนดับอวิชชาได้ จิตก็หลุดพ้น นี่เรียกว่าภาวนามยปัญญา เจริญปัญญาด้วยการปฏิบัติ เรียนจบแล้วอย่าเอาไปแบกไว้บนบ่า อย่าเรียนเพื่อเอาใบประกาศนียบัตร นักธรรมตรี โท เอก ยังไม่พอ ยังไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เรียนไปแล้วต้องเอาไปปฏิบัติ ทานต้องทำให้มากยิ่งขึ้น มีเงินเหลือก็เอาไปทำบุญทำทานเสีย อย่าเอาไปซื้อข้าวซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ ศีลก็รักษาไปเรื่อยๆ ให้มีมากยิ่งขึ้นไป แล้วก็ไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น อยู่ที่บ้านก็ทำได้ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ถ้ามีเวลาว่างก็ไปวัด ไปอยู่นานๆบ้างก็ได้ สิ่งเหล่านี้เราทำได้ ถ้าวางแผนคิดไว้ล่วงหน้าก่อน เพราะจะทำแบบทันทีทันใดก็จะทำไม่ได้ เพราะมีภาระผูกพัน แต่เราวางแผนสำหรับอนาคตได้ จะลดละภาระต่างๆอย่างไร ก็ลดไปๆ

เมื่อเราไม่ใช้เงินมาก เราก็ลาออกจากงานได้  เกษียณก่อนเวลาก็ได้ ถ้าคิดว่าเงินที่สะสมไว้พอเพียงแล้ว อย่างตอนที่อาตมาลาออกจากงานก็มีเงินอยู่ประมาณ ๖๐๐๐ บาท ก็คิดว่าอยู่ได้ปีหนึ่ง  ขออยู่แค่ปีหนึ่งเพื่อปฏิบัติธรรม สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ ๒ บาทเท่านั้นเอง วันหนึ่งใช้ไม่เกิน ๑๐ บาท อาหารก็กินแค่มื้อเดียว กินก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง ข้าวผัดจานหนึ่ง แค่นั้นก็อยู่ได้แล้ว ความต้องการของร่างกายมันไม่มาก เราไปสร้างให้มากด้วยกิเลสตัณหาต่างหาก อาหารมื้อละ ๕๐๐ กับอาหารมื้อละ ๔๐ - ๕๐ ก็อิ่มเหมือนกัน แต่กิเลสต้องมื้อละ ๕๐๐ ถึงจะอิ่ม ต้องไปกินในที่มีเครื่องปรับอากาศ มีบรรยากาศ มีอะไรต่างๆ วันนี้ได้ยินได้ฟังแล้วก็ต้องเอาไปคิดต่อ คิดวางแผนว่าต้องพัฒนาอย่างไร จะก้าวขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง จะต้องทำอย่างไร จะให้คนอื่นยกเราขึ้นไปไม่ได้ เราต้องยกตัวเราขึ้นไปเอง ก้าวขึ้นไปเอง วันนี้สมควรแก่เวลานะ ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน

ถาม   ท่านอาจารย์คะ คุณสุเมธปลื้มใจมาก เขาให้ลูกมากราบเรียนว่าปลื้มใจมากที่สุดในชีวิตที่ได้มาอยู่ที่นี่ค่ะ

ตอบ     ต้องมาบ่อยๆ จะได้ปลื้มมากๆขึ้น

ถาม     เขายังไม่เข้าใจสิ่งที่ท่านอาจารย์สอนเขาเรื่องนิมิตค่ะ คือตลอดเวลาที่เขามาที่นี่เรียกว่าเขาเก่งมากเลย ปกติเขากลัวผีมาก เขาอยู่ไม่ได้เลยค่ะ เขาก็บอกว่าตอนที่เขามาอยู่ที่นี่เขาก็ได้ฝันไป เขาก็คงเล่าให้ท่านอาจารย์ฟังแล้วว่า เขาได้เห็นในฝันนั้นว่าคนที่มาปรากฏ  เขามาขอส่วนบุญ แต่ท่านอาจารย์ก็บอกไม่ให้ไปสนใจใช่ไหมคะ ทีนี้เขาก็กลับไปใส่บาตรให้นะคะ

ตอบ     ก็ได้ ทำบุญอุทิศให้เขาไปก็ได้

ถาม     ค่ะ แต่เขาบอกว่าคนนี้ยังตามเขาไปถึงที่บ้าน

ตอบ     ความจริงมันอยู่ในจิตเราเอง พอมาที่นี่มันก็โผล่ออกมา สถานที่เป็นเหตุทำให้มันโผล่ออกมา เขาไม่ได้อยู่ที่นี่หรอก เขาอยู่ในจิตจิตใต้สำนึกของคุณสุเมธ เพียงแต่อาศัยสถานที่ทำให้โผล่ขึ้นมา เวลาไปอยู่ที่เปลี่ยวๆ ที่น่ากลัว ของพวกนี้ที่ฝังลึกอยู่ในใจของเรา ก็จะโผล่ขึ้นมา

ถาม    แต่ไม่ได้หมายความว่าเขามาติดกับเราจริงๆ

ตอบ    ก็เป็นได้ ๒ อย่าง คือ ๑. เป็นอุปาทาน เราเคยมีความผูกพันกับคนๆนี้มาก่อน ก็เลยฝังลึกอยู่ในใจเรา หรือ ๒. เป็นสัมภเวสีมาขอส่วนบุญ ส่วนใหญ่จะมาจากอุปาทานมากกว่า

ถาม   แต่คนส่วนใหญ่ที่กลัว  ก็กลัวพวกสัมภเวสีที่ติดตัวเรามา

ตอบ  ไม่มีติดตัวเรามาหรอก ติดตัวมาไม่ได้หรอก 

ถาม   ตามได้คะ ดูรายการฯเห็นเขานั่งรถเราไปด้วย เวลาเราไป

ตอบ     เขาก็เขียนไปตามจินตนาการของเขา ยกเว้นสัมภเวสีที่มีความผูกพันกับเรา เช่นในสมัยพุทธกาลที่มาปรากฏให้กษัตริย์พระองค์หนึ่งได้สัมผัส เพราะเคยเป็นอมาตย์ เป็นลูกน้องเก่า เคยเป็นญาติสนิท มิตรสหาย เป็นเพื่อนเป็นอะไรกัน ก็เลยมาหา เขาเป็นเหมือนคนออกจากคุก เป็นขอทานไม่มีที่พึ่ง พวกสัมภเวสีนี้เป็นเหมือนพวกขอทาน ขาดบุญ ก็เลยต้องมาหาคนที่รู้จัก ให้ช่วยทำบุญให้

ถาม   ทีนี้เราจะแยกแยะได้ไงคะ ว่าอะไรเป็นอะไร 

ตอบ     ถ้าเราแยกไม่เป็น ก็ทำบุญกรวดน้ำไปให้เขาก็แล้วกัน เพื่อความสบายใจของเรา พอเราทำแล้วหายไป ก็อาจจะอยู่ในใจของเรา เมื่อทำแล้วทำให้ใจของเราสงบ เขาก็ไม่กลับมาเยือนเราอีก ความจริงถ้าเขามา ก็ไม่เห็นเป็นไร เป็นเรื่องปกติธรรมดา  พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เรากำลังเกิดวิภวตัณหา เกิดความรังเกียจ ก็เลยเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเรายอมรับเขา ต้อนรับเขาเหมือนเป็นเพื่อน อาจจะเป็นแฟนเก่าของเราในอดีตก็ได้  แฟนเก่ามาเยี่ยมจะเป็นอะไรไป

ถาม   เผื่อเขาอยู่นานล่ะครับ

ตอบ    เมื่อก่อนก็อยากจะให้เขาอยู่นานๆ

ถาม    ตอนนี้เขาไม่มีรูป เราก็ไม่อยากจะให้อยู่ด้วยแล้ว

ถาม   ทำไมผู้หญิงจึงถูกรังเกียจเดียดฉันท์ในเรื่องบวช

ตอบ    ไม่ใช่เพราะรังเกียจเดียดฉันท์ ผู้หญิงก็เป็นเพศเดียวกับแม่เสียด้วยซ้ำไป แต่สภาพของผู้หญิงที่ต้องอยู่ในป่าปฏิบัติธรรม มันเสี่ยงภัยกว่าผู้ชายเยอะ ก็เลยต้องมีเงื่อนไขพอสมควร เช่นภิกษุณีต้องอยู่ในวัดเดียวกันกับภิกษุ  จะไปอยู่ตามลำพังไม่ได้ ต้องรับศีลจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ต้องรับฟังคำสั่งสอน และห้ามไม่ให้ภิกษุณีเป็นใหญ่กว่าภิกษุ ทรงปรารถนาให้ภิกษุปกครองภิกษุณี  ในอดีตผู้ชายจะมีความแข็งแรงกว่าผู้หญิง  ไม่เหมือนสมัยนี้ ผู้หญิงจะเป็นประธานาธิบดีก็ได้ เพราะสมัยนี้มีเครื่องผ่อนแรง ใช้สมองเป็นหลัก แต่สมัยก่อนต้องใช้กำลังเป็นหลัก ต่อสู้กันในสงครามก็ต้องขี่ม้าผาดโผนเสี่ยงกับภยันตรายต่างๆ รบราฆ่าฟันกันด้วยกำลังกายเป็นหลัก

ถาม   ท่านอาจารย์คะ แม้ภิกษุณีนั้นบรรลุธรรมแล้ว เป็นอรหันต์แล้วยังต้องกราบสามเณรด้วยหรือ

ตอบ  รู้สึกว่าต้องกราบพระภิกษุ ถึงแม้จะพึ่งบวชมาใหม่ๆ แต่สามเณรนี่เข้าใจว่าไม่ต้อง กราบแต่พระภิกษุขึ้นไป เพราะยิ่งได้บรรลุธรรมสูงขึ้นไปเท่าไร ทิฐิในใจจะยิ่งต่ำลงไป ไม่สูงตามธรรม จะสวนทางกับธรรมที่ได้บรรลุ ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์จะไม่รังเกียจเดียดฉันท์กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติเลย เพราะการปฏิบัติจริงๆ ก็เพื่อลดละตัวตน ยิ่งปฏิบัติธรรมสูงขึ้นเท่าไร ตัวตนยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ ความถือตัวถือตน ถือว่าเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ จะหายไปจนไม่มีหลงเหลืออยู่ในตัวเลย เพราะความถือตัวนี้แหละเป็นต้นเหตุของความทุกข์ พอใครปฏิบัติไม่ถูกใจเราหน่อย เพราะเราเป็นถึงผู้จัดการ แต่เขากลับทำกับเราเหมือนกับเราเป็นพนักงานเช็ดกวาดถู เราก็จะรู้สึกไม่พอใจ แต่ถ้าเรารู้สึกเฉยๆ ถือว่าเป็นเรื่องของเขา สายตาของเขาเป็นอย่างนั้น เขาจึงมองเห็นเราเป็นอย่างนั้น เขาไม่มีปัญญา มองไม่เห็นว่าเราเป็นผู้จัดการ ก็ช่วยไม่ได้  เขาจะมองว่าเราเป็นเด็กรับใช้ ก็ไม่เป็นไร  เป็นความเห็นของเขา สายตาของเขา แต่เราก็รู้อยู่ในใจของเรา ว่าเราเป็นอะไร  ความเป็นอะไรของเรานี้ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องให้คนอื่นเขาเห็นตาม เขาจะเห็นอย่างไร เราก็ยังเป็นเราอยู่นั่นแหละ

ยิ่งปฏิบัติธรรมสูงขึ้นไปเท่าไร ความอิ่มความพอก็มีมากขึ้น ไม่หิวไม่อยากให้คนนั้นทำอย่างนั้นอย่างนี้กับเรา  เมื่อปฏิบัติถึงขั้นสูงสุดแล้ว จะไม่มีความหิวความอยากกับอะไรเลย  เคยได้ยินว่าคุณแม่แก้วมีคุณธรรมในจิตใจที่สูงมาก แต่เวลามีพระไปหาท่าน แม้จะเป็นพระบวชใหม่ ท่านก็ยังกราบไหว้ เพราะเป็นสมมุติ ฆราวาสก็ต้องแสดงความเคารพต่อบรรพชิต เราต้องรู้ทัน ต้องแยกแยะได้ว่า โลกนี้มีทั้งสมมุติและวิมุตติ วิมุตติก็เป็นอย่างหนึ่ง สมมุติก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หลวงตาท่านเคยเขียนไว้ในประวัติหลวงปู่มั่น ตอนที่ท่านตอบปัญหาเทวดา เกี่ยวกับเวลาที่พระอรหันต์มาประชุมกัน ท่านนั่งกันอย่างไร ท่านก็แสดงเป็นสองนัยด้วยกัน ถ้าเป็นแบบวิมุตติ ก็จะไม่ถือว่าใครสูงใครต่ำกว่ากัน ใครมาก่อนจะนั่งข้างหน้าก็ได้ จะนั่งตรงไหนก็ได้ นั่งไปตามอัธยาศัย แล้วก็แสดงแบบสมมุติ คือต้องนั่งไปตามลำดับพรรษา ถึงแม้ตนจะเป็นพระอรหันต์ ถ้ามีพระที่อาวุโสกว่าที่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ตนก็จะไม่ไปนั่งข้ามหน้าข้ามตาท่าน เวลาเดินบิณฑบาตก็ให้พระที่มีพรรษามากกว่าเดินนำไป ถึงแม้ตนเองจะเป็นพระอรหันต์ แต่พระที่เดินนำหน้าจะไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะรู้จักแยกแยะสมมุติกับวิมุตติออกจากกัน

วิมุตติเป็นเรื่องที่อยู่ในใจเราล้วนๆ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราเป็นอะไร  แต่รู้ว่าเราบวชมากี่พรรษาแล้ว ก็ต้องปฏิบัติไปตามสมมุติ เหมือนลูกกับพ่อกับแม่ ลูกบางคนเป็นอภิชาตบุตร มีจิตใจที่สูงกว่าพ่อกว่าแม่ อย่างพระพุทธเจ้าเป็นต้น แต่ลูกก็ยังเคารพคุณพ่อคุณแม่อยู่  ไม่ได้ถือว่าตนฉลาดกว่า เก่งกว่า การเคารพพ่อแม่  ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังมีอยู่ แม้จะมีความรู้ ความฉลาด ความสามารถมากกว่าพ่อกว่าแม่ ก็แยกไว้เป็นเรื่องหนึ่ง คนเราสมัยนี้มักจะหลงตัวเอง พอเป็นใหญ่แล้ว กลับเห็นพ่อแม่เป็นคนไม่มีความหมายไป เหตุก็เป็นเพราะความหลงนี้เอง แต่คนที่มีปัญญาอย่างในหลวง เวลาอยู่ส่วนพระองค์กับสมเด็จย่า ก็ยังกราบสมเด็จย่า ทรงถือว่าเป็นพระมารดา  แต่เวลาที่ทรงเสด็จออกงาน ก็ต้องประทับบนบัลลังก์ สมเด็จย่าก็ทรงประทับอยู่ข้างล่างอย่างนี้เป็นต้น

สมมุติก็มีอยู่หลายระดับด้วยกัน เวลาออกงานก็แบบหนึ่ง เวลาอยู่บ้านก็แบบหนึ่ง ต้องทำไปให้ถูกกาลเทศะ ตามธรรมเนียมประเพณี ไม่มีปัญหาอะไร เหมือนการเล่นละคร เรื่องนี้เขาให้เป็นพระเอก แต่เรื่องหน้าเขาให้เป็นผู้ร้าย ก็ต้องเล่นไปตามบท มันก็เป็นละครเท่านั้น ถ้าไม่ยึดไม่ติดกับบทแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร เล่นได้ทุกรูปแบบ ให้เล่นเป็นขอทานก็ได้ เป็นคนรับใช้ก็ได้ เป็นมหาเศรษฐีก็ได้ แล้วแต่จะเล่นเรื่องอะไร ขอให้จ่ายเงินให้เราก็แล้วกัน เราเป็นเหมือนลูกจ้าง เขาจ้างให้ทำอะไร ก็ทำไป นี่คือความหมายของการไม่ยึดไม่ติด แต่รู้ว่าอะไรสูงอะไรต่ำ อะไรดีอะไรชั่ว อยู่ในเหตุการณ์ที่จำเป็นจะต้องทำตามขั้นตอนก็ทำไป  ไม่ได้คิดว่าเราวิเศษวิโส จะต้องปฏิบัติกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเขาไม่รู้จักเรา เขาจะปฏิบัติได้อย่างไร บางคนที่ปฏิบัติไม่ดีกับเรา เพราะเขาไม่รู้ แต่พอมารู้เข้าทีหลัง ก็มาขอโทษขอโพย บอกว่าผมไม่รู้ว่าท่านเป็นใครก็มี แต่เราก็ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองตั้งแต่ต้นแล้ว  เพราะรู้อยู่แล้วว่าเรื่องของโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ

เรื่องสรรเสริญนินทามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง จึงต้องพร้อมที่จะรับกับทุกสภาพ  ถูกเหยียดหยามก็ได้ สรรเสริญก็ได้ ได้รับการต้อนรับอย่างดีก็ได้ ไม่แยแสปล่อยให้ทำเองทุกอย่างก็ได้ ก็แล้วแต่ ในเมื่อไม่ได้ไปหวังอะไรจากใครแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร  จึงขอให้เรามีความแน่วแน่มั่นคงกับพระพุทธศาสนา พยายามปฏิบัติไป เป็นโอกาสที่ดีที่สุดแล้วที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์  ถ้าเป็นเดรัจฉาน เป็นนกเป็นกา ก็ปฏิบัติไม่ได้ อย่างมากก็ได้แต่อาศัยศาสนาอยู่กินไปวันๆหนึ่งเท่านั้นเอง นี่เราไม่ได้เป็นนกเป็นกา เราเป็นมนุษย์ มีสติปัญญาพอที่จะรับความรู้ของพระพุทธศาสนาได้ เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ขอให้นำไปปฏิบัติ

ถาม   ครั้งที่แล้วที่ถามเรื่องลูกค่ะ เขาก็ยังเหมือนเดิม ถามเขาๆก็บอกว่า เพราะตอนเล็กๆคุณแม่ทำงาน ก็ไม่ได้สนใจเขา ดูแลเขา ตอนนี้เขาโตแล้ว ก็เลยพยายามทำตามที่ท่านอาจารย์แนะนำ พยายามปล่อยวาง

ตอบ  เขาไม่เปลี่ยนแต่เราเปลี่ยน คือเราปรับลดบทบาทลง บางทีให้ยามากเกินไปก็ทำให้ดื้อยา หรือแพ้ยาได้ เป็นหมอก็ต้องรู้จักให้ยา เขาโตแล้ว ไปพูดซ้ำๆซากๆ เขาก็รำคาญ เพราะเราเป็นห่วง ปัญหาของเราก็อยู่ที่ความเป็นห่วง และความอยากให้เขาเป็นเหมือนเรา แต่เราไม่เคยอยากในตัวเราเอง ทำไมเราไม่อยากให้ตัวเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ชอบไปอยากในเรื่องของคนอื่น เราน่าจะอยากในตัวเรา อยากจะให้เราดี อยากจะให้เราพอ อยากในเรื่องของคนอื่นแล้วไม่ได้อะไร มีแต่ความทุกข์ แต่ถ้าอยากในตัวเรา แล้วทำได้ เราก็จะได้ประโยชน์ เรื่องอย่างนี้ธรรมะจะช่วยได้ คนที่อยากมาฟังธรรมอาตมา ก็เพราะเข้าใจคำว่าปล่อยวางว่าเป็นอย่างไร

ถาม   โดยเฉพาะหนังสือของท่านอาจารย์ชอบมากเลยค่ะ

ตอบ  ปล่อยวาง แต่ไม่ได้ปล่อยทิ้ง ต้องดูแลรักษาเลี้ยงดูกันไป เขารับได้มากน้อยเท่าไรก็ให้เขาแค่นั้น คนเราเหมือนภาชนะ บางคนมีถ้วยเล็กๆ ใส่ไปเยอะๆมันก็ล้น บางคนมีถ้วยใหญ่ก็รับได้เยอะ เราจึงต้องดูภาชนะคือความสามารถของแต่ละคน

ถาม   อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า บางวันเราตื่นขึ้นมารู้สึกว่ามีความสุข บางวันรู้สึกเศร้าๆเหี่ยวๆอย่างไรไม่ทราบค่ะ มันเป็นเพราะอะไร ทั้งๆที่เราก็ไม่มีความแตกต่าง

ตอบ อารมณ์ของจิตก็เป็นอนิจจัง เปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ การปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คือการรู้อารมณ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่เหตุการณ์ต่างๆ เมื่อวานนี้ทำงานทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปหมด ดีไปหมด อารมณ์ก็สดชื่นเบิกบาน บางวันยังมีงานค้างคาอยู่ในจิตในใจ พอตื่นขึ้นมาก็ทำให้หงุดหงิดใจ อารมณ์ของเรามีเหตุต่างๆที่ทำให้เป็นไป มีทั้งภายนอก คือเรื่องราวต่างๆที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย มีทั้งภายในก็คือใจไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ อยากจะได้นั่น อยากได้นี่ เวลาอยากได้อะไรก็ทำให้มีอารมณ์ต่างๆขึ้นมา  แต่ถ้าภาวนาจนทำจิตให้สงบมากๆแล้ว ใจก็จะว่าง อารมณ์ต่างๆก็จะน้อยลงไป การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์จะน้อยลงไปเรื่อยๆ  การภาวนาเป็นการลบล้างอารมณ์ต่างๆ บางส่วนของอารมณ์ก็เกิดจากวิบากกรรม เป็นเรื่องที่ฝังลึกอยู่ในจิตในใจ เวลามีอะไรไปกระตุ้น ไปสะกิด ก็โผล่ขึ้นมาได้

วิธีปฏิบัติกับอารมณ์ก็เหมือนกับการปฏิบัติกับกายกับเวทนา ให้รู้ว่าเป็นอย่างนี้  เดี๋ยวก็เปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นอย่างนี้ไปตลอด เราเพียงแต่รู้  รู้ว่าวันนี้อารมณ์ไม่ดี ก็ไม่เป็นไร มีหน้าที่อะไรก็ทำไป อารมณ์ก็เหมือนเมฆกับหมอก ที่ลอยมาบังดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ พอถูกลมพัดก็ลอยหายไป แล้วกลับมาสว่างเหมือนเดิม อารมณ์ของเราก็เป็นอย่างนี้ บางวันก็สดใส บางวันก็ซึมเศร้า ให้รู้ทัน อย่าไปซึมเศร้าตาม อย่าไปสดใสตาม ให้สักแต่ว่ารู้  ที่ยากที่สุดก็คือการทำใจให้สักแต่ว่ารู้  เพราะใจเราชอบมีปฏิกิริยากับทุกสิ่งทุกอย่าง พออะไรดีก็ดีอกดีใจ เวลาอะไรไม่ดีก็เศร้าโศกเสียใจ  ซึ่งไม่ดีทั้งสองอย่าง สู้รู้เฉยๆไม่ได้ รู้ว่าวันนี้อารมณ์เป็นอย่างนี้ รู้ว่าเดี๋ยวก็ผ่านไป ถ้าไม่ยึดไม่ติดก็ไม่ทุกข์  ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเมือนอาคันตุกะมาเยี่ยมเยียนเท่านั้นเอง

ถาม   ตอนที่เราไม่สบาย เราไปหาหมอตรวจ แล้วช่วงที่เรายังไม่รู้ว่าเราจะเป็นอะไรนี่ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทรมานมาก  เราจะเป็นอะไรไหมหนอ คิดไปไกล

ตอบ  เพราะเราขาดปัญญา ถ้ามีปัญญาแล้วจะไม่คิดไปไกล คนเรายังไงก็ต้องตายอยู่ดี  ถ้ามีปัญญาจะไม่กลัว เพราะยังไงก็ต้องตายอยู่ดี ความกลัวคือวิภวตัณหา เป็นต้นเหตุของความทุกข์ เราตายไปแล้วคนที่อยู่ข้างหลังเขาก็อยู่ของเขาได้ ไม่ต้องกลัวหรอก  อีกไม่นานเขาก็ตายตามเราไป

ถาม   ตอนที่เราจะตาย กลัวมันจะทรมานซิคะ

ตอบ  ถ้าเรานั่งสมาธิเป็นแล้ว ทำใจได้แล้ว ก็จะไม่ทรมาน เจ็บแต่ไม่ทรมาน เพราะใจนิ่ง ที่ทรมานเพราะใจพยายามหนีความเจ็บ ถ้าไม่หนีก็จะไม่ทรมาน

ถาม   กลัวเจ็บปวด

ตอบ ความกลัวเป็นวิภวตัณหา เป็นความไม่อยากเจ็บ แต่ถ้าเราฝึกนั่งสมาธิแล้ว เวลามีความเจ็บ ก็ทำเป็นเฉยๆ

ถาม   ถ้าถึงจุดหนึ่งแล้วเราจะไม่รู้สึกเลยใช่ไหมคะ

ตอบ  รู้แต่จะไม่มีปฏิกิริยา จะเป็นอุเบกขา รู้สึก แต่เฉยๆ ไม่เดือดร้อน เรารับได้ เพราะความเจ็บทางกายมันน้อยมาก ถ้าเปรียบเทียบกับความทุกข์ทางจิตใจ  

ถาม   มันไม่ทุรนทุราย

ตอบ  ใช่ ถ้าไม่ทุรนทุรายแล้ว ก็จะเฉยๆกับความเจ็บทางกาย เหมือนเข็มฉีดยา คนที่กลัวการฉีดยาก็จะเจ็บมาก ยังไม่ทันฉีดเลย หมอบอกว่าเดี๋ยวต้องฉีดยานะ ใจก็จะปวดไปก่อนแล้ว ทรมานแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นความเจ็บทางใจถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ความเจ็บทางกายจะรุนแรงขนาดไหนก็แค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ทีนี้เราจะทำอย่างไรที่จะรับความเจ็บทางใจได้ ก็ต้องใช้ปัญญาทำความเข้าใจว่า เราหนีมันไม่พ้น ต้องเจอแน่ๆ สู้มันดีกว่า พอใจสู้แล้ว ไม่กลัวแล้ว มันก็จะไม่เจ็บทางใจ ไม่ทรมาน ไม่ทุรนทุราย

ถาม   เราก็ต้องหมั่นฝึกซ้อมเอาไว้ใช่ไหมครับ

ตอบ ใช่ ที่พระต้องมาอยู่แบบนี้ มาอยู่แบบอดๆอยากๆ อยู่กับความยากลำบาก ก็เพื่อจะให้ชินกับความทุกข์ทางกาย เช่นเดินจงกรม ยืน นั่ง ปฏิบัติอยู่ใน ๓ อิริยาบถ ไม่นอน เป็นการฝึกให้สู้กับความทุกข์ทางด้านร่างกาย ฉันมื้อเดียวแทนที่จะฉัน ๓ มื้อ หรืออดอาหารทีละ ๓ วัน ๕ วัน อย่างนี้เป็นการสร้างความทุกข์ทางกายให้เกิดขึ้น  ใจจะได้ฝึกซ้อม เหมือนกับทหาร ถ้าไปฝึกในห้องแอร์  ก็จะไม่มีทางต่อสู้กับศัตรูได้ ทหารต้องออกไปลุยป่า ไปฝึกอยู่ในป่า นอนกับดินกินกับทราย เพราะเวลาเกิดสงครามต้องเจอกันในป่าในเขา ไม่ได้เจอกันในห้องแอร์

ถาม   เพราะฉะนั้นตอนตายก็คือสงครามที่จะเกิดขึ้น ในขณะนี้เราเริ่มฝึกซ้อมที่จะรับตอนตาย

ตอบ  แล้วเราจะไม่กลัว เพราะรู้ว่าสู้กับความเจ็บปวดได้  นั่งไปนานๆ ความเจ็บก็หายไปเอง ใจของเราปล่อยวาง ไม่ไปกังวล ไม่ไปอยากอะไรกับมัน ใจก็จะสงบนิ่ง ความเจ็บปวดแสนสาหัสบางทีก็หายไปเลย ถ้าไม่หายก็ไม่รบกวนใจ  ต่างฝ่ายต่างอยู่ ใจก็รู้ เขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น การปฏิบัติพิจารณาทุกขเวทนาจะเกิดผลได้ ๒ ลักษณะคือ  ๑. จิตปล่อยวางเต็มที่แล้วรวมเข้าสู่อัปนาสมาธิ จะไม่รับรู้ความรู้สึกของร่างกายเลย ร่างกายตอนนั้นหายไปเลย จิตก็ว่างสงบเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ๒. จิตสงบแต่ยังรับรู้ขันธ์อยู่ เวทนาก็ยังมีอยู่ แต่ใจนิ่ง ใจไม่กระวนกระวาย ไม่กระสับกระส่าย ไม่ทรมาน อันนี้ต้องปฏิบัติไป หาอุบายพิจารณาให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เราไปบังคับไม่ได้ เราต้องยอมรับความเจ็บของร่างกาย อย่าไปรังเกียจ  ต้นเหตุของความทุกข์ใจก็คือความรังเกียจ ความกลัว ความไม่ชอบทุกขเวทนา

ถ้าเราหัดชอบมัน ต่อไปก็จะไม่รังเกียจ เช่นเราไม่ชอบอาหารชนิดนี้ ลองฝืนกินไปสักพัก ก็ชอบขึ้นมาได้ ความเคยชินจะทำให้ชอบ ถ้าต้องกินอาหารที่ไม่เคยกินมาก่อน ก็เกิดความรังเกียจแล้ว เช่นเวลาไปอยู่เมืองนอก ก็จะมีแต่อาหารที่เราไม่เคยกินมาก่อน ถ้าเลือกได้เราก็คงไม่กิน  คนไทยเวลาอยู่เมืองนอกจะทำอาหารไทยกินกันเอง ไม่ยอมกินอาหารฝรั่ง แต่อาตมาขี้เกียจทำอาหารเอง ก็เลยฝืนกินอาหารฝรั่งไป ไม่มีรสชาติอะไร ก็ฝืนกินไป อยู่กับฝรั่งก็ต้องกินอาหารฝรั่ง  กินไปๆก็ชินไปเอง ก็อร่อยพอกินได้ กลับมาอยู่เมืองไทยยังต้องไปหาอาหารฝรั่งมากินเลย เพราะชอบแล้วนี่ เมื่อก่อนนี้ไม่ชอบ แต่เดี๋ยวนี้ชอบแล้ว เวทนาก็เหมือนกัน เราไม่ชอบความเจ็บ ถ้าหัดชอบเสียบ้าง ต่อไปวันไหนถ้าไม่เจ็บจะรู้สึกว่าขาดอะไรไป เหมือนคนที่เคยกินอาหารรสเผ็ดๆ  ถ้าต้องกินอาหารจืดๆ  จะไม่อร่อย แต่คนที่ไม่เคยกินพริกนี่ ใส่พริกเข้าไปเม็ดเดียวก็จะรู้สึกทรมาน เพราะมันเผ็ด เผ็ดจนกินไม่ได้ แต่ถ้าเราฝึกหัดกินไปเรื่อยๆ ฝืนกินพริกไปเรื่อยๆ ต่อไปก็ติดเป็นนิสัยขึ้นมาเอง พอใจยอมรับได้แล้วก็จะไม่ทุกข์  จึงควรพยายามหัดชอบความทุกข์บ้าง ความยาก ความลำบากบ้าง หัดอดอาหาร หัดถือศีล ๘  ไม่ต้องไปกลัว ไม่ตายหรอก พระพุทธเจ้าทรงอดอาหารถึง ๔๙ วัน ก็ยังไม่ตายเลย เรามีพลังงานสะสมอยู่ในร่างกายมากพอที่จะอยู่ได้อย่างสบาย แต่น้ำขาดไม่ได้ น้ำต้องมีดื่ม อากาศต้องมีไว้หายใจ แต่อดอาหาร ๕ วัน ๗ วันนี่ ไม่มีปัญหาอย่างไร

ถาม   ลูกอ่านประวัติท่านอาจารย์ๆไปอยู่แคลิฟอร์เนียกี่ปีคะ

ตอบ  ๕ ปี ไปเรียนมหาวิทยาลัย จบชั้นมัธยมที่นี่แล้วก็ไปเรียนต่อวิศวะฯ ที่เรียน ๕ ปี เพราะทำงานไปด้วย ก็เลยไม่ได้เรียนเต็มที่  หลักสูตรเขาเรียน ๔ ปี แต่อาตมาเรียนช้าไปหนึ่งปี

ถาม   ท่านอาจารย์ก็เรียนที่ เซเว่นเดย์ฯ เป็นภาคภาษาอังกฤษใช่ไหมคะ เป็นภาษาอังกฤษตลอดเลย

ตอบ  ใช่ เป็นภาษาอังกฤษตลอด ก็ง่ายเวลาไปเรียนต่อ ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษา แต่ต้องไปเรียนวิชาที่ทำคะแนนได้ไม่ดีใหม่ ที่มหาวิทยาลัยมีการทดสอบดูความสามารถในวิชาหลักๆ จึงต้องเรียนบางวิชาซ้ำใหม่ ก็เลยเสียเวลานิดหน่อย แต่ก็ไม่รีบร้อนอะไร ถือว่าจบช้าจบเร็วก็จบเหมือนกัน อย่างการปฏิบัติ บรรลุช้าบรรลุเร็วก็บรรลุเหมือนกัน พอบรรลุแล้วก็เหมือนกัน กินข้าวอิ่มช้า อิ่มเร็วก็อิ่มเท่ากัน ขอให้กินเท่านั้นแหละ ขอให้ปฏิบัติเท่านั้นแหละ ขอให้เรียนเท่านั้นแหละ จะช้าหรือจะเร็วก็อยู่ที่บุญวาสนาของเรา บางคนมีกิเลสหนาปัญญาทึบก็ช้า ถ้ากิเลสบางปัญญาแหลมคมก็เร็ว ขอให้ทำไปเถิด ช้าก็ไม่เป็นไร ขี่จักรยานไปก็ช้าหน่อย ถ้านั่งรถเก๋งก็เร็วหน่อย แต่ก็ถึงเหมือนกัน แล้วแต่บุญของเรา แล้วแต่บุญวาสนาที่เราสะสมไว้ แข่งรถแข่งเรือพอแข่งกันได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนานี้ แข่งกันไม่ได้หรอก

ถาม   แปลกใจท่านอาจารย์อยู่เมืองนอกตั้งหลายปีนะคะ ทำไมจึงมาบวช

ตอบ  คือพื้นเพของจิตชอบความสงบอยู่แล้ว นิสัยไม่ค่อยหลงใหลกับแสงสีเสียงสักเท่าไร แต่ก็เป็นไปเองตามขั้นตอนของชีวิต เมื่อจบแล้วยังไม่ได้ทำอะไร  ก็เริ่มคิดว่าจะไปทางไหนดี จึงไม่ได้ดิ้นรนหางานทำสักเท่าไร  เพราะคิดว่าทำงานไปสัก ๓๐ ปี แล้วก็แก่ตายไม่รู้ทำไปทำไม อยากจะหาอะไรที่ดีกว่านี้

ถาม   มีคนบอกว่าท่านอาจารย์มีบุญเก่าเยอะค่ะ

ตอบ  ก็มีด้วยกันทุกคนแหละ ถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์กัน เพียงแต่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้บุญนี้เท่านั้นเอง หรือมีบุญแต่มีกรรมมาบังไว้

ถาม   เป็นข้ออ้าง บุญน้อยก็เลยทำช้า

ตอบ  การที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์นี่ถือว่ามีบุญมากแล้ว ได้มาเจอพระพุทธศาสนา ก็ถือว่าสูงสุดของบุญแล้ว เพียงแต่ว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงไรเท่านั้นเอง อย่างเราได้เงินมาแล้วจะเอาไปใช้อะไรดี จะเอาไปลงทุนทำให้มันงอกเงยขึ้นมา หรือจะเอาไปเล่นไพ่ เล่นการพนัน กินดื่ม เที่ยวเตร่ เดี๋ยวก็หมด ชีวิตของเราก็เป็นอย่างนี้ ถ้าจะอยู่เพื่อเสพกาม เดี๋ยวบุญเก่าที่ทำไว้ก็หมด  ถ้าอยู่เพื่อสะสมบุญ ด้วยการนั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะเป็นการเพิ่มบุญให้มีมากขึ้นไปอีก

ถาม   พอดีมันเลยโยงถึงเพื่อน บอกว่าเรื่องทำบุญ เขาไม่ทำมากเท่าไรหรอกค่ะ แต่เขาไม่ทำบาป ไม่เบียดเบียนคนอื่น อย่างนี้ถือว่าเขาเสมอตัวใช่ไหมคะ

ตอบ  ใช่ การทำบุญเป็นการเพิ่มทรัพย์ แต่อานิสงส์ของการให้ทานไม่ได้ทำให้เราไปเกิดเป็นมนุษย์นะ เพราะการจะเกิดเป็นมนุษย์ เกิดในสุคติได้ ต้องมีศีลเป็นหลัก แต่ทานเมื่อทำไปแล้ว จะทำให้เวลาเราเกิดใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ในภพใดภูมิใด จะมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีทรัพย์สมบัติรอเราอยู่ ถึงแม้ไปเกิดเป็นหมา ก็เป็นหมาที่สวยงาม มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเอาไปเลี้ยง จะไม่ไปเกิดเป็นหมาขี้เรื้อนที่ถูกเอามาปล่อยที่วัดนี้ พวกที่ไม่ได้ทำบุญรักษาศีลนี้ มักจะไปเกิดเป็นหมาขี้เรื้อน แต่ถ้าได้รักษาศีลแล้วจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าทำทานด้วย ก็จะเป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เกิดบนกองเงินกองทอง การให้ทานจะเกี่ยวกับเรื่องรูปร่างหน้าตา เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติที่เราจะได้ แต่ศีลจะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะไปสู่สุคติ หรือไปสู่ทุคติ ไปอบาย ถ้าเรารักษาศีลได้มากเท่าไร โอกาสที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหมก็มีมาก  แต่ถ้าไม่รักษาศีล โอกาสที่จะไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรกก็มีมากเช่นเดียวกัน อยู่ที่ศีลเป็นหลัก

ถ้ามีทาน มีศีล มีภาวนา ก็จะได้เกิดอย่างพระพุทธเจ้า เกิดเป็นลูกของกษัตริย์ ลูกของเศรษฐี มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ได้เป็นพระอริยบุคคล หรือถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลก็จะได้ไปเกิดที่ชั้นพรหม เช่นสมมุติว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ ได้แค่ขั้นสมาธิ พระองค์ก็จะได้ไปเกิดบนชั้นพรหม เช่นเดียวกับพระอาจารย์ของพระองค์ ๒ รูป ที่ได้บรรลุชั้นพรหม เพราะไม่มีปัญญา ไม่มีโลกุตรธรรม ไม่รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงสามารถรู้ และบรรลุถึงพระนิพพานได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ถาม   ถ้าเพื่อนเขาไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น เขาไม่ได้เบียดเบียน เขาจะกลับมาเป็นมนุษย์ไหมคะ

ตอบ  เป็นมนุษย์ แต่จะเป็นมนุษย์ธรรมดาๆเหมือนเดิม ไม่ได้ร่ำรวยขึ้น ไม่ได้วิเศษวิโสขึ้น รูปร่างหน้าตาก็เหมือนเดิม  ยังอยู่กับที่ คือเท่าทุน ไม่ขาดทุน ไม่กำไร แต่เราอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะเกิดเป็นมนุษย์ก็มีความทุกข์ ต้องทุกข์กับเรื่องนั้น ทุกข์กับเรื่องนี้ จึงต้องพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นจากความทุกข์ให้ได้

ถาม   มันจะเป็นไปได้หรือครับท่านอาจารย์ ถ้าเราอยู่เฉยๆ ไม่ทำความเดือดร้อนอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมนุษย์สร้างเหตุอยู่ตลอดเวลา

ตอบ  เขาก็อ้างไปอย่างนั้นแหละ ก็คงจะมีเรื่องมีราวกับคนนั้นคนนี้บ้าง

ถาม   เขาก็บอกว่าเขาก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร

ตอบ  ก็อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้

ถาม     เพราะมนุษย์สร้างเหตุอยู่ตลอดเวลา เหตุดีกับเหตุร้าย
ท่านอาจารย์คะแล้วทำบุญจะช่วยให้กรรมวิบากมันลดน้อยลงไหมคะ

ตอบ     กรรมเก่าเราแก้ไม่ได้ แต่กรรมใหม่เราแก้ได้ด้วยการไม่ทำกรรมใหม่ เมื่อเราทำบุญแล้วเราจะทำบาปน้อยลง อย่างที่เมื่อสักครู่นี้อธิบายไปแล้วว่า ทำทานแล้วก็จะเกิดศีลตามมา ไม่อยากไปทำบาปทำกรรม เพราะการทำบุญทำให้มีความเมตตามีความกรุณา มีความสงสารผู้อื่น เวลาจะทำอะไรก็จะคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น เราอยากจะให้ผู้อื่นมีความสุข เราถึงทำบุญ เราทำกับข้าวกับปลามาถวายพระ เพราะอยากจะให้พระมีความสุข ก็เลยทำให้เราไม่คิดอยากจะเบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้าเราไม่ทำบุญ หาเงินมาได้เท่าไรก็เก็บไว้ เวลาใครจะมาแย่งไป ก็อาจจะฆ่ากันเลยก็ได้ เพราะยังรักทรัพย์สมบัติของเราอยู่  ใครจะมาแย่งจากเราไป ก็ต้องต่อสู้กัน แต่ถ้าเคยฝึกให้ทานอยู่เรื่อยๆ เวลาใครจะมาแบ่งไปบ้าง ก็ให้เขาไปก็ได้ ถือว่าเป็นการทำบุญเหมือนกัน ก็ให้เขาไป แทนที่จะไปโกรธแค้น โกรธเคือง อยากจะไปทำร้ายเขา ก็กลับไม่คิดอย่างนั้น กลับคิดว่าเขาเป็นเจ้าหนี้ของเรา เราเคยเป็นหนี้เขามาในอดีต ก็ชดใช้หนี้ไป  หรือเขามีปัญญาสามารถเอาจากเราไปได้ก็ให้เขาไป  ถ้าเขาเก่ง เขาหลอกเอาเงินของเราไปได้ ก็เอาไป ถ้าเขาขโมยไปได้ ก็ไม่ว่าอะไรไป เมื่อสูญไปแล้วเราจะไม่โกรธ จะไม่เกลียดเขา เพราะถือว่าเป็นการทำบุญให้ทาน

ถาม   ท่านอาจารย์บอกว่ากรรมที่เราทำไปแล้ว ให้แล้วไป ทีนี้อยากรู้ว่าเราทำกรรมไว้เยอะหรือเปล่าค่ะ

ตอบ  ก็ต้องนั่งสมาธิ นั่งสมาธิแล้วจะระลึกชาติได้ ย้อนไปกี่ภพกี่ชาติก็ได้หมด พระพุทธเจ้าทรงระลึกชาติย้อนกลับไปได้หมด แต่ไม่ได้หมายความว่า คนนั่งสมาธิทุกคนจะระลึกชาติได้นะ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนถ้าจิตลงลึกพอ แต่การบรรลุเป็นพระอรหันต์นั้นไม่จำเป็นต้องเจริญสมาธิจนระลึกชาติได้ เพียงทำจิตให้สงบ ให้นิ่งเป็นอุเบกขาก็ใช้ได้แล้ว เมื่อถอนออกมาก็เจริญวิปัสสนาได้เลย พวกบรรลุธรรมจึงมีอยู่ ๒ พวก คือเจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ พวกเจโตวิมุตติเป็นพวกที่ลงลึก จิตจะเป็นสมาธิที่ลงลึก มีฤทธิ์มีเดช มีตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ อย่างพระโมคคัลลานะเป็นพวกเจโตวิมุตติ พวกปัญญาวิมุตติอย่างพระสารีบุตร จะไม่ลึกทางด้านสมาธิ แต่จะกว้างขวางแหลมคมทางด้านปัญญา ชอบพิจารณาคิดหาเหตุหาผลอยู่เรื่อยๆ คนที่บรรลุทางปัญญาวิมุตติจะทำประโยชน์ได้มากกว่าคนที่บรรลุทางด้านเจโตวิมุตติ เพราะต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องมือในการสั่งสอน

การสั่งสอนนี้ต้องมีการยกตัวอย่างขึ้นมาเปรียบเทียบ คนฟังถึงจะเข้าใจ ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านไม่ได้สอนมาก อย่างหลวงปู่เสาร์นี่ท่านเพียงแต่สรุปรวบยอดให้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา  แล้วก็เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ให้เอาไปปฏิบัติ ท่านไม่ได้ขยายความ แต่หลวงปู่มั่นท่านเป็นทั้งปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติ  เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับแขกรับเทวดาได้ ทรงอ่านจิตอ่านใจของคนได้ ทรงมีปัญญาฉลาดสามารถสอนคนได้เป็นจำนวนมาก บางคนปฏิบัติได้อย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนกับคนที่ถนัดซ้ายก็จะไม่ค่อยถนัดขวา บางคนก็ได้ทั้ง ๒ ด้าน  ซ้ายและขวา อย่างพระพุทธเจ้าต้องทดลองทุกอย่างดู เพราะไม่ทราบว่าจะต้องเจริญสมาธิถึงขั้นไหน  เลยต้องเจริญให้สุดๆของสมาธิเลย ปัญญาก็ต้องสุดๆของปัญญาเลย จึงได้ทั้ง ๒ อย่าง แต่สำหรับพวกเราที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็รู้ว่าสมาธิเอาแค่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ก็พอ สอบผ่านก็ใช้ได้ ไม่ต้องเป็นที่หนึ่งก็ได้ ปัญญาก็ไม่ต้องเป็นที่หนึ่งก็ได้  พอให้สอบผ่านก็บรรลุได้  พระอรหันต์แต่ละองค์จึงมีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน บางองค์ก็มีความแตกฉานทางด้านปัญญา บางองค์ก็มีความแตกฉานทางด้านสมาธิ บางองค์ก็เก่งทั้ง ๒ ด้าน

ถาม     อกุศลกรรมบถ ๑๐ เรื่องการพูดเพ้อเจ้อ เช่นเวลาจับกลุ่มนินทาคนอื่น ในกลุ่มเพื่อนที่ทำงาน แต่ไม่ถึงกับพูดนินทาว่าร้าย แต่เป็นการพูดกันเพื่อความสนุกสนานผิดข้อพูด เพ้อเจ้อหรือเปล่าคะ

ตอบ  เข้าข่ายพูดเพ้อเจ้อ ให้พยายามลดซะ ไม่เกิดประโยชน์กับจิตใจ

ถาม   แล้วถือว่าเป็นการผิดศีลข้อ ๔ มุสาวาทหรือเปล่าครับ

ตอบ  ไม่ผิด จะผิดศีลข้อ ๔ ต้องพูดเท็จ พูดปด การพูดเพ้อเจ้อไม่ได้รวมอยู่ในศีล ๕ ถ้าต้องการรักษาให้ละเอียดขึ้น ก็ต้องไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด เหมือนกับใช้ผงซักฟอกซักผ้า ถ้าใช้ผงซักฟอกที่เข้มข้นไม่มาก ก็ซักสะอาดได้ในระดับหนึ่ง ถ้าต้องการให้สะอาดหมดจด ก็ต้องใช้ผงซักฟอกที่เข้มข้นมากๆ เปรียบกับศีล ๕ ก็เหมือนผงซักฟอกที่ไม่เข้มข้น แต่ก็ซักสะอาดพอใช้ได้ แต่ถ้าต้องการให้สะอาดหมดจด ก็ต้องรักษาวจีกรรมไม่ให้พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ ก็จะสะอาดกว่า

ถาม   เวลานั่งสมาธิแล้วเกิดตัวโยกเป็นเพราะอะไรคะ

ตอบ  แสดงว่าจิตยังไม่รวม เวลาจิตรวมจะไม่เกิดการโยกตัว ให้นั่งยืดตัวให้ตรง ถ้าตัวงอก็ไม่ดี การที่ตัวโยกอาจเป็นเพราะเราไปวุ่นกับร่างกาย พอมันโยกไปซ้าย เราก็โยกกลับมาขวา  ไม่ได้จับอยู่ที่หลักที่ให้มีอารมณ์เดียว ที่จะทำให้เป็นสมาธิ ถ้าใช้พุทโธ ก็เหมือนกับมีพุทโธเป็นรถพาเราไปยังจุดหมาย ถ้าเราไม่ตามรถนำ เราเลี้ยวออกนอกเส้นทาง ก็ไปไม่ถึงจุดหมาย

ถาม   แล้วถ้าเกิดความรู้สึกขนลุก หรือมีแสงสว่างจ้าล่ะครับ

ตอบ  เป็นผลที่ตามมาเมื่อจิตรวม เวลาที่จิตรวมบางทีเกิดขึ้นไม่กี่วินาที ก็ถือว่าดี ให้หมั่นเพียรปฏิบัติต่อไป จะรวมได้ดีและนานขึ้นไปเอง

ถาม   เวลาที่นั่งภาวนานานๆ แล้วเกิดทุกขเวทนาเจ็บขามาก เหมือนขาจะแตก บางครั้งทนไม่ไหว จนต้องถอนออกมาเพื่อพักอิริยาบถ จะทำยังไงดีครับ

ตอบ  การปฏิบัติเพื่อให้ผ่านทุกขเวทนาไปนั้น ต้องใช้เวลาและความเพียรมาก เหมือนกับการขุดอุโมงค์ ขุด ๑ วัน ก็ได้แค่ไม่กี่เมตร แต่ก็ต้องขุดอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะไปได้ลึกและผ่านไปได้ในที่สุด แต่ถ้าไม่ขุดอย่างสม่ำเสมอ หยุดไปนานๆ อุโมงค์ก็จะกลบลงมา เวลามาขุดอีกก็เหมือนกับเริ่มต้นใหม่ การนั่งภาวนาก็เหมือนกัน การนั่งแต่ละครั้ง เวลาเกิดทุกขเวทนาก็ต้องเพียรไปเรื่อยๆ ไม่ย่อท้อ เมื่อผ่านไปได้ จะไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลย ต้องเพียร ยิ่งได้มาบวชจะยิ่งมีเวลามาก เมื่อผ่านไปได้จะได้รู้ถึงความรู้สึกที่วิเศษ

ถาม   ความเข้าใจเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ ถูกต้องไหมครับ เมื่อเรากำหนดพุทโธตามลมหายใจ นั่นคือเราพิจารณากาย  เมื่อนั่งไปนานๆ แล้วเกิดเจ็บขา เรากำหนดรับรู้เวทนา  เวลาคิดไปเรื่องอื่น แล้วเรากำหนดรู้ แสดงว่าเราพิจารณาจิต เวลาที่เกิดความง่วง แสดงว่ารู้นิวรณ์  แสดงว่าเราพิจารณาธรรม  แต่ตัวธรรมนี้ยังมีอะไรอีกใช่ไหมครับ

ตอบ  เวลาที่เจ็บเรามีทุกข์ใช่ไหม ทุกข์ที่ใจเพราะเราไม่อยากเจ็บ ถ้าระงับความไม่อยากเจ็บได้ ความทุกข์ใจก็จะหายไป แสดงว่าเราเห็นอริยสัจ ๔ ถ้าเราสามารถพิจารณาให้เกิดปัญญา ก็จะเห็นธรรมมากขึ้นเอง

ถาม   เวลาปฏิบัติแล้วมีคำถามเกิดขึ้นมากมายเลยครับ

ตอบ  คำถามไม่ใช่เหตุที่จะชำระจิต การภาวนาต่างหาก จงตัดคำถามต่างๆออกไปให้หมด
         แล้วภาวนาให้มาก คำตอบจะตามมาเอง