กัณฑ์ที่ ๒๓๘       ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙

กิจที่ต้องทำ

 

 

 

            ในการปฏิบัติเราไม่ควรทำแบบใจเย็นๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ แต่ควรทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับมันเลยดีกว่า เพราะจะได้เสร็จๆไป เสร็จแล้วก็สบาย พองานนี้เสร็จแล้วไม่มีงานอะไรจะต้องทำอีกต่อไป ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า วุสิตัง พรหมจริยัง กิจในพรหมจรรย์นี้ได้เสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีกิจอื่นใดที่จะต้องทำอีกต่อไป แต่ถ้าเป็นกิจในทางโลกทรงตรัสว่า ทำไปจนวันตายก็ไม่จบ จบงานนี้แล้วก็มีงานใหม่มาให้ทำต่ออยู่เรื่อยๆ สร้างกุฏิหลังนี้เสร็จแล้วเดี๋ยวก็มีหลังใหม่มาให้สร้างอีก มีศาลาหลังใหม่มาให้สร้างอีก มีงานใหม่มาให้ทำอีก อย่างงานในทางโลกที่หลวงตาทำอยู่นี้ หลวงตาจะต้องทำจนวันตาย สร้างโรงพยาบาล สร้างศูนย์รักษาดวงตา สร้างอะไรต่างๆ แต่งานของท่านนั้นเสร็จไปแล้ว งานภายนอกทำไปก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะไม่ได้หวังอะไรจากมัน งานภายนอกนี่ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยถ่ายเดียว

 

แต่งานที่เราต้องทำจริงๆก็คืองานภายใน งานเพื่อจิตใจของเรา งานตัดภพตัดชาติ ถ้าเราไม่ตัดภพตัดชาติ ตัวภพชาตินี้ก็จะพาให้เราไปสร้างงานขึ้นอยู่เรื่อยๆ ตายจากภพนี้ไปก็ไปเกิดภพใหม่ ก็ต้องไปสร้างใหม่ คิดดูเวลาเราไปเกิดแต่ละชาตินี่ลำบากขนาดไหน พอเกิดมาเป็นมนุษย์ออกมาจากท้องพ่อท้องแม่ก็ต้องเรียนเรื่องราวต่างๆ เรียนภาษา เรียนรู้อะไรต่างๆ ไปโรงเรียน แล้วก็ต้องไปทำมาหากิน  สร้างครอบครัว มีงานมีการอะไรเต็มไปหมดจนถึงวันตาย แล้วก็วนไปใหม่ เริ่มรอบใหม่อีกก็แบบเดิมอีก งานพวกนี้เราทำมาแบบนับไม่ถ้วนแล้ว ภพชาติของพวกเรานั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ในแต่ละภพในแต่ละชาติเราจะต้องร้องห่มร้องไห้ไปเพราะความทุกข์จากเรื่องราวต่างๆ น้ำตาในแต่ละภพในแต่ละชาติ ถ้าสะสมไว้จะมีมากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก คิดดูก็แล้วกันว่า ในแต่ละชาตินี้เราก็ร้องไห้กัน น้ำตาคงจะได้ไม่ถึงขัน ถ้าเก็บรวบรวมเอาไว้ จะมีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก จะต้องมีภพชาติจำนวนมากเท่าไร ถึงจะได้น้ำตาจำนวนมากกว่าน้ำในมหาสมุทร  นั่นก็คือจำนวนภพชาติของพวกเรา  

 

งานภายนอกนี้ทำไปเท่าไรก็ไม่สิ้นสุด ไม่มีจบ เป็นงานที่สร้างความทุกข์ สร้างความยาก สร้างความลำบากให้กับเราตลอดเวลา ไม่เหมือนกับงานภายในคืองานชำระจิตใจ ชำระกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ไปสร้างภพสร้างชาติกัน  ถ้าสามารถชำระกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไปได้ เราก็จะอยู่อย่างสบาย ความโลภ ความอยากต่างๆมันไม่รู้จักอิ่ม รู้จักพอ ต่อให้ได้มามากน้อยเพียงไร ก็ยังไม่รู้จักคำว่าพอ ถ้าอยากจะให้ถึงคำว่าพอก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทรงพบวิธีที่จะทำให้ถึงเมืองพอ คือการทำลายความอยาก ต่อต้านความอยาก ต่อสู้กับความอยาก ความโลภต่างๆ เพราะความโลภ ความอยากส่วนใหญ่ของพวกเรานั้น มันไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตของเราเลย เราไม่มีเงินเป็นเศรษฐีเราก็อยู่ได้ ไม่มีรถยนต์เราก็อยู่ได้  ไม่มีบ้านราคาแพงๆเราก็อยู่ได้  ของพวกนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จำเป็น

 

สิ่งที่จำเป็นก็มีอยู่บ้าง เช่นบ้านก็อาจจะเช่าเขาอยู่ก็ได้ ถ้าไม่มีปัญญาที่จะซื้อบ้านของเราเอง เช่าบ้านเขาอยู่ก็สำเร็จประโยชน์เหมือนกัน เป็นที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าก็มีเท่าที่จำเป็นก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงๆ  ของพระท่านก็สอนให้ใช้ผ้า ๓ ผืน เรียกว่าผ้าไตร มีสบงเป็นผ้านุ่ง จีวรเป็นผ้าห่ม สังฆาฏิเป็นผ้าห่มกันหนาว มี ๓ ผืนนี้ก็พอเพียงแล้ว เป็นเครื่องนุ่งห่มไว้ปกปิดอวัยวะ ป้องกันร่างกายจากความหนาว จากสัตว์แมลงต่างๆที่จะมากัด ทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็น อะไรเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย เราก็พยายามตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือสิ่งที่ฟุ่มเฟือยออกไป เป็นวิธีกำจัดความอยากของเรา ถ้าไม่ทำอย่างนั้นแล้ว เราก็จะตกเป็นทาสของความอยากอยู่ตลอดเวลา วันนี้เราไปซื้อเสื้อใหม่ตัวนี้มาใส่ เดี๋ยวพรุ่งนี้ออกไปที่ร้านเห็นเสื้อใหม่ออกมาอีก ก็อยากจะได้อีกทั้งๆที่เสื้อก็มีอยู่เต็มตู้ ร่างกายก็มีร่างกายเดียว เวลาใส่ก็ใส่ได้ทีละตัว แต่มีเสื้อเป็นสิบๆตัว ไม่ทราบจะมีไปทำไม นี่แสดงว่าไม่ได้ใช้ปัญญา ไม่ได้ใช้เหตุใช้ผล ปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ของความอยาก

 

ถ้าปล่อยไปตามความอยากมันก็จะมีกำลังมากยิ่งๆขึ้นไป เหมือนกับปลูกต้นไม้ ถ้าคอยรดน้ำใส่ปุ๋ย ต้นไม้ก็จะเจริญงอกงามขึ้นไปเรื่อยๆ ความอยากก็เป็นเช่นนั้น ถ้าปล่อยไปตามความอยาก อยากจะได้อะไรก็ไปหามา ก็จะทำให้อยากไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าใช้เหตุใช้ผล เวลาอยากจะได้อะไรก็แยกแยะดูว่า จำเป็นหรือไม่ เป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่ ถ้าฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นก็อย่าไปเอามา ถ้าทำอย่างนี้ความอยากก็จะถูกกำจัด ถูกลดกำลังลงไปทีละเล็กทีละน้อย ต่อไปก็จะไม่สามารถมาเป็นเจ้านาย ที่คอยฉุดลากให้เราไปเกิด ไปแสวงหาสิ่งต่างๆอีกต่อไป เมื่อชนะความอยากได้แล้ว ใจของเราก็จะมีแต่ความอิ่มความพอ เพราะใจจะสงบ จะนิ่ง จะเย็น สาเหตุที่ใจไม่สงบไม่นิ่ง ก็เพราะความอยากความโลภคอยไปกระตุ้น ไปผลักดันให้จิตใจต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา งานภายในจึงเป็นงานที่สำคัญยิ่งกว่างานภายนอก งานภายนอกนั้นควรทำเท่าที่จำเป็น

 

อย่างสมัยที่ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านก็เน้นแต่เรื่องงานภายในเป็นหลัก ให้พระภาวนาให้มาก ส่วนงานภายนอกก็ทำเท่าที่จำเป็น ถ้ามีความจำเป็นต้องซ่อมแซมกุฏิ ก็ให้รีบทำให้เสร็จ ไม่ให้ยืดเยื้อ และทำเท่าที่จำเป็น ถ้ามีความจำเป็นจะต้องสร้างกุฏิก็สร้างเท่าที่จำเป็น ถ้าไม่มีความจำเป็น ถึงแม้มีคนมาถวายเงินจะให้สร้างกุฏิท่านก็ไม่รับ ท่านก็จะส่งเงินคืนไป บอกเขาว่าไม่มีความจำเป็น เพราะท่านไม่เห็นอะไรจะมีคุณค่าเท่ากับงานภายใน งานภายนอกถ้าปล่อยไปตามความอยากแล้ว มันจะพาให้สร้างอะไรต่างได้อย่างพิสดาร เช่นวัดบางวัดที่สร้างอะไรต่อมิอะไรอย่างใหญ่โตมโหฬารพิสดาร มันไม่มีความหมายอะไรหรอกการสร้างวัตถุ ไม่เหมือนกับสร้างธรรมะภายในจิตใจ พวกเราจึงอย่าหลงประเด็น อย่าไปหลงกับการสร้างสิ่งต่างๆ สะสมสิ่งต่างๆภายนอกให้มากเกินความจำเป็น เพื่อเราจะได้มีเวลามาสร้างสิ่งที่ดีที่งามภายในจิตใจของเรา ถ้าทำงานหาเงินหาทองได้พอเพียงแล้ว ก็ควรหยุดทำงาน ถ้าคิดว่าเงินที่สะสมไว้พอที่จะอยู่อย่างสุขสบาย ไม่เดือดร้อน จะได้มีเวลามาศึกษาธรรมะ มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาปฏิบัติธรรมกัน

 

เพราะการปฏิบัติก็ต้องใช้เวลาเหมือนกับการทำงานภายนอก ต้องควบคุมจิตใจตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งหลับเลย เพราะถ้าไม่ควบคุมจิตใจแล้ว จิตใจจะไปในทางเดิมๆ ไปในทางโลภ ทางโกรธ ทางหลง ไปตามความอยากต่างๆ อยากในรูป อยากในเสียง อยากในกลิ่น อยากในรส อยากในโผฏฐัพพะ ถ้าปล่อยให้มันปรากฏขึ้นมา ก็จะหลงใหลตามมันไป เช่นเวลาไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไปดื่มไปรับประทานของอะไรต่างๆตามความอยาก มันก็จะฉุดลากให้ติดพันไปกับมัน ต้องทำอยู่เรื่อยๆ ซ้ำๆซากๆ เพราะทำไปเท่าไรก็ไม่พอไม่อิ่ม แต่ก็มีความสุข มีความอิ่มเวลาที่ได้ทำ เป็นความสุขความอิ่มชั่วประเดี๋ยวเดียว แต่เวลาอยากทำแล้วไม่ได้ทำ มันก็จะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา มันจะไม่พาเราไปสู่ความพอ ความอิ่ม เพราะความอิ่มความพอนั้นต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน มีการภาวนาเป็นหลัก

 

การภาวนาก็ต้องอาศัยการรักษาศีล การให้ทานเป็นเครื่องสนับสนุน เพราะจิตใจที่ยังไม่มีทาน ยังไม่มีศีล เป็นจิตใจที่มีความวุ่นวายพอสมควรกับเรื่องราวต่างๆ การให้ทานนี้เป็นการตัดใจไม่ให้ไปวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆภายนอกเช่นเงินทองของเหลือใช้ เราก็เอาไปแจกเอาไปจ่าย จะได้ไม่ต้องมากังวลกับการดูแลรักษาหรือหามาเพิ่ม เพราะความอยากในใจจะมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ มีกี่ร้อยล้านก็ยังไม่รู้จักพอ อยากจะมีมากขึ้นไปอีก จึงต้องให้ทานอยู่เรื่อยๆ เพื่อตัดความโลภ ความอยาก ตัดความวุ่นวายกับสิ่งต่างๆ ควรรักษาสิ่งที่จำเป็นเท่านั้นก็พอ จะได้มีเวลาไปภาวนากัน เมื่อให้ทานอยู่เรื่อยๆแล้ว จิตใจก็จะมีความเมตตา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความสงสาร เวลาจะทำอะไรก็จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็จะมีศีลขึ้นมา เวลาจะทำอะไรก็จะคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นเสมอ ทำไปแล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือไม่ ถ้าสร้างความเดือดร้อนก็ไม่อยากจะทำ เพราะทำให้วุ่นวายใจ ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์

 

เมื่อไม่อยากเบียดเบียนผู้อื่น ใจก็จะมีความสงบในระดับหนึ่ง เมื่อมีความสงบแล้วก็จะเห็นคุณค่าของความสงบของจิตใจ เห็นโทษของความวุ่นวายใจ ก็อยากจะทำให้มีความสงบมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงตอนนั้นก็อยากจะปฏิบัติธรรม อยากจะภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญสติอยู่เสมอๆ เพราะสติเป็นธรรมที่สำคัญที่สุดในการควบคุมจิตใจ สติเป็นเหมือนกับเจ้าหน้าที่ในเรือนจำที่คอยเฝ้านักโทษไม่ให้หลบหนีออกจากห้องขัง ถ้าไม่มีสติ กิเลสหรือความโลภความอยากต่างๆ ก็จะสามารถเล็ดลอดออกมาสร้างความวุ่นวายใจได้ แต่ถ้ามีสติ พอความโลภ ความโกรธ ความหลงจะแสดงอาการออกมาก็จะรู้ทันที เมื่อรู้ก็จะสามารถป้องกันได้ สาเหตุที่เราปล่อยให้ความโลภความอยากไหลออกมาได้ ก็เพราะเราเผลอสติ ไม่รู้สึกตัว หลงไปกับมนต์คาถาของความโลภ ความอยาก พอเขาบอกว่าสวยน่ายินดี น่าจะได้มาเป็นของเรา ก็อยากขึ้นมาทันที เป็นความโลภขึ้นมาทันที และถ้ายังไม่มีสติ ยังไม่รู้ทันว่ากำลังถูกความโลภหลอกให้ไปแสวงหาสิ่งที่ไม่จำเป็น ก็จะต้องเสียเวลาที่มีค่าไปทำสิ่งที่เป็นโทษกับจิตใจ

 

แต่ถ้าเรามีสติ เราจะรู้ว่านี่เรากำลังโลภ และถ้ามีปัญญา รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็น อะไรเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น อะไรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับจิตใจ อะไรเป็นสิ่งที่มีโทษกับจิตใจ ถ้าเรารู้เราจะสามารถระงับดับมันได้ในขณะที่มันเกิดขึ้นในจิตใจ ถ้าไม่รู้ทันมันก็จะแสดงอาการออกมาทางกายและทางวาจา ตอนนั้นมันจะสายไป เช่นถ้าเราเกิดความอยาก คืออยากจะไปเที่ยว แล้วเราไม่มีสติ เราก็จะถูกความอยากนี้หลอกว่า เราน่าจะออกไปเที่ยวนะ อยู่บ้านมานานหลายวันแล้ว ควรจะไปเปิดหูเปิดตาบ้าง มันก็จะหลอกเรา เราเผลอ เราไม่รู้เราก็จะออกไปเที่ยว ออกไปเที่ยวกลับมาจิตใจของเราแทนที่จะสงบ มันก็ไม่สงบเหมือนเดิม มันกลับเกิดความอยากที่จะออกไปเที่ยวอีก แต่ถ้าเรามีปัญญารู้ทัน ว่าการไปเที่ยวนี้มันไมได้ช่วยทำให้จิตใจสงบร่มเย็น แต่เป็นการกระตุ้นสร้างความอยากให้มีกำลังมากขึ้น ทุกครั้งที่เราออกไปเที่ยว ครั้งต่อไปความอยากออกไปเที่ยวก็จะมีกำลังวังชามีแรงมากขึ้น มันก็จะคอยฉุดลากเราออกไปอยู่เรื่อยๆ จิตใจของเราก็จะไม่สงบ ไม่นิ่ง ก็จะไม่เจอความสุข ไม่เจอความอิ่ม ไม่เจอความพอ

 

เราจึงต้องฝึกดูใจเราอยู่เสมอด้วยสติ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย ท่านสอนให้เราคอยสังเกตดูความคิดของเรา ว่าเรากำลังจะคิด จะทำอะไร เพราะธรรมดาเวลาเราตื่นขึ้นมาสิ่งแรกเราก็จะลืมตา แล้วเราก็จะมองดูรอบๆตัวเราเองว่า ตอนนี้เราอยู่ที่ไหน เวลาอะไร เราจะต้องทำอะไร พอเราเริ่มรู้สึกตัวว่าตอนเช้าแล้ว สมมุติว่าวันนี้เป็นวันจันทร์ต้องไปทำงาน เราก็ต้องรีบเข้าห้องน้ำห้องท่าทำอะไร ถ้าเราไม่มีสติเราก็จะปล่อยให้ความคิดนี้มันลากพาไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรามีสติเราก็จะคอยกำหนดดูว่า ถึงแม้วันนี้เป็นวันจันทร์ แต่ตอนนี้เราไม่ต้องทำงานแล้ว สมมุติว่าเราออกจากงานแล้ว เราก็ไม่ต้องไปทำงาน เราก็ไม่ต้องรีบร้อนก็ได้ เราก็คอยดู คอยควบคุมใจว่า ตอนนี้เรากำลังปฏิบัติธรรม คอยดูใจของเราอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่เราจะทำอะไร จะพูดอะไร เราต้องรู้ก่อน แล้วต้องแยกแยะก่อนว่า สิ่งที่เราจะไปทำ สิ่งที่เราจะไปพูดนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ เป็นคุณเป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษกับเรา

 

ถ้าเรามีสติคอยเฝ้าดูแลอยู่ตลอดเวลาแล้ว จิตใจจะไม่ไปไกล เวลาที่เราจะควบคุมบังคับให้จิตอยู่กับการภาวนาก็จะอยู่ได้ง่าย เช่นเวลาเราอยากจะให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าออก ไม่ให้ไปคิดเรื่องอะไร ถ้าเรามีสติอยู่ เราก็สามารถเฝ้าดูให้จิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก พอจิตเผลอไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้ามีสติเราก็จะรู้ รู้แล้วเราก็จะดึงมันกลับเข้ามา กลับมาที่ลมหายใจ ดูลมหายใจเข้าออก ถ้าเราสามารถควบคุมจิตไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกอยู่เรื่อยๆ จิตก็จะสงบตัวลงไปทีละเล็กทีละน้อย แล้วไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งจิตก็อาจจะหยุดนิ่งเลยก็ได้ จิตจะไม่คิดอะไร จิตจะตั้งอยู่ในความสงบ ความสงบของจิตนั้นก็มีอยู่หลายระดับ ในระดับเบื้องต้นก็ยังสงบนิ่งเฉยๆแต่ยังรับรู้เรื่องราวต่างๆ เช่นยังรับรู้เสียง รับรู้เรื่องราวรอบตัว รู้สึกว่ายังมีร่างกายของเราอยู่ แต่ถ้าจิตสงบมากๆจนรวมลงไปเต็มที่ เสียงนี้ก็จะหายไป ความรู้สึกของร่างกายนี้ก็จะหายไป เหลือแต่จิตอยู่ตามลำพัง ที่ท่านเรียกว่าสักแต่ว่ารู้ มีแต่ตัวรู้อยู่ตัวเดียว แต่ตัวอื่นนั้นหายไปหมด ร่างกาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหายไปหมด ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกมีความสุขมาก มีความนิ่ง มีความสบาย ได้หลุดพ้นจากเรื่องราววุ่นวายต่างๆ

 

ถ้าเราสามารถทำถึงขั้นนั้นได้แล้ว เราจะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ความสงบนั้นเอง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า สุขใดในโลกนี้ที่จะประเสริฐที่จะเลิศ เท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบนั้นไม่มี มีความสุขนี้เท่านั้นที่ดีที่สุด ที่เลิศที่สุด ที่มีคุณค่าที่สุด เมื่อเราได้พบความสุขแบบนี้แล้ว เราก็จะติดอกติดใจ พอใจที่จะสร้างความสุขนี้ให้มีมากยิ่งขึ้นไป เพราะความสุขที่เราได้จากการนั่งสมาธินี้จะเป็นเพียงชั่วคราว เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็จะถอนออกมา เมื่อถอนออกจากความสงบแล้ว จิตก็จะกลับมาสู่ความวุ่นวายที่เคยพบในขณะที่ไม่สงบ พอไปเห็นรูป ไปเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็เอาเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาคิดปรุง แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆตามมา ถึงตอนนั้นแล้วต้องเป็นขั้นของการเจริญปัญญา ที่จะต้องเข้ามาแทรก เวลาเราเห็นรูปเราต้องใช้ธรรมะ ใช้ปัญญา คือใช้ไตรลักษณ์ รูปที่เราเห็นนี่เราต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ถ้าเราไปหลง ไปยึด ไปติด เป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา

 

ถ้าเรามีปัญญาคอยประกบอยู่ตลอดเวลา จิตจะไม่หลงไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา จะไม่ไปคิดว่าเป็นสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา จะอยู่กับเราไปตลอด แล้วเราจะได้ไม่ยึดไม่ติด จะปล่อยวางได้ เพราะเรารู้ว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน สิ่งต่างๆภายนอกไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เป็นบุคคล เป็นวัตถุข้าวของต่างๆ ล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไปเสมอ มีการพลัดพรากจากกันตลอดเวลา คนที่ไม่มีปัญญาเวลาเห็นอะไรแล้วเกิดความชอบขึ้นมา ก็จะเกิดความผูกพัน มีความยึดติด เวลาได้อยู่กับสิ่งที่ตนเองชอบก็มีความสุข แต่พอเวลาสูญเสียสิ่งนั้นไปก็มีความทุกข์ มีความเสียอกเสียใจ เช่นเดียวกับสิ่งที่เราไม่ชอบ เวลาเราไปเจอสิ่งที่เราไม่ชอบเราก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะใจเราไปยึดอีกแบบหนึ่ง คือยึดแบบไม่อยากจะเจอ อยากจะให้สิ่งนั้นหายไปจากเรา แต่เราอยู่ในโลกที่เราควบคุมสิ่งต่างๆไม่ได้ มันเป็นอนัตตา ไม่ได้อยู่ในความควบคุมบังคับของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างเขามีอยู่ เป็นอยู่ไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะสิ่งต่างๆในโลกนี้มีองค์ประกอบหลายส่วนด้วยกัน ที่ทำให้เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น มีกลางวัน มีกลางคืน มีฝน มีแดด มีลม สิ่งเหล่านี้เราไปควบคุมบังคับไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมบังคับได้ก็คือใจของเรา

 

ถ้าใจของเรามีปัญญา เราก็จะเข้าใจว่าเราต้องยอมรับความจริง เช่นตอนนี้ร้อนก็ยอมรับว่ามันร้อน ไม่รังเกียจความร้อน เราก็สามารถอยู่ได้โดยไม่รู้สึกรำคาญกับความร้อนนั้น แต่ถ้าร้อนแล้วเราไม่ชอบความร้อน อยากหนีให้พ้นจากความร้อน  เราก็จะอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องหาวิธีหนีความร้อน อาจจะไปหาเครื่องปรับอากาศมาติด หรือไปอาบน้ำอาบท่าให้เย็น แต่ทำเท่าไรเดี๋ยวมันก็กลับมาร้อนอย่างเดิม อาบน้ำแล้วเดี๋ยวก็ร้อนอีก ใช้เครื่องปรับอากาศแล้วถ้าเครื่องปรับอากาศเสีย เราก็ต้องไปหาเครื่องปรับอากาศใหม่  มันก็วุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น แต่ถ้าเรายอมรับว่าร้อนก็ร้อน ใจของเรารับได้หมดแหละ ถ้าเรายอมรับ ร้อนก็ร้อนไป ถ้าพอที่จะแก้ไขได้ เช่นมีผ้าเย็นๆมาเช็ดมาถูบ้างก็ทำไป แต่ก็แก้ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว สู้ทำใจไม่ได้ ถ้าทำใจให้ยอมรับได้แล้ว มันจะร้อนเท่าไรใจก็ไม่รู้สึกอะไรกับมัน  เช่นหนีความร้อนด้วยการนั่งสมาธิ เวลาจิตสงบแล้วก็จะไม่รับรู้เรื่องของความร้อน

 

ดังนั้นเรื่องสำคัญที่เราควรจะดูแล ก็คือเรื่องของใจของเรา พยายามทำใจของเราให้เป็นปกติในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่าให้ใจแกว่งไปทางยินดี หรือยินร้าย คืออย่าไปชอบอย่าไปชัง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ของที่เราชอบอีกคนเขาอาจจะไม่ชอบก็ได้ ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้น ทั้งๆที่เป็นของชนิดเดียวกัน ก็เพราะกิเลสของเรานั่นเอง หรือความหลงของเรา เราอาจจะเคยมีความพอใจกับสิ่งนั้น พอเราเห็นสิ่งนั้นเราก็ชอบ อีกคนหนึ่งเขาเคยมีความไม่พอใจกับสิ่งนั้น พอเขาเห็นเขาก็ไม่ชอบ แต่สิ่งนั้นมันก็เป็นสิ่งอันเดียวกัน ใจของเขากับของเรานั้นสามารถปรับให้เข้าสู่ตรงกลางได้ คือไม่ต้องไปชอบและไม่ต้องไปชัง เพียงแต่รับรู้เท่านั้นเอง หน้าที่ของใจที่แท้จริงก็คือสักแต่ว่ารู้ ให้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาสัมผัส รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ รู้ว่าเขาเป็นอย่างนั้น เวลาที่เขาปรากฏอยู่ก็รู้ว่าเขายังอยู่ เวลาที่เขาดับไปก็รู้ว่าเขาดับไป ถ้าเราไม่มีอะไรกับเขา เวลาเขาปรากฏขึ้นมา เขาก็ไม่สร้างความรำคาญใจให้กับเรา เวลาเขาจากเราไปเขาก็ไม่สร้างความเสียใจให้กับเรา แต่ถ้าเรามีอะไรกับเขา เช่นถ้าเราไม่ชอบเขา เวลาเขาปรากฏขึ้นมาเราก็จะรำคาญใจ หรือถ้าเราชอบเขาแล้วเขาหายไป จากไป เราก็จะเสียใจ

 

ปัญหาคือความรำคาญใจ ความเสียใจ มันอยู่ที่ตัวเราไปหลงกับสิ่งต่างๆที่มาปรากฏ มาสัมผัสกับใจเราเท่านั้นเอง เราจึงต้องใช้ปัญญาทำความเข้าใจว่า เราอยู่ในโลกนี้เราก็ต้องเจอสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เราสัมผัส มันจะต้องมีทั้ง ๒ ส่วนคือ ส่วนที่ให้ความสุขกับเรา และส่วนที่ให้ความทุกข์กับเรา มันจะสุขขนาดไหนหรือจะทุกข์ขนาดไหนก็ตาม ใจของเรานี้สามารถรับรู้ได้หมด และใจของเราจะไม่มีปัญหาถ้าตราบใดใจของเราไม่ไปหลงยินดีหรือยินร้ายกับสิ่งเหล่านั้น รู้แล้วก็ปล่อยไปตามความเป็นจริง สิ่งนี้ดีก็รู้ว่าดี ไม่ต้องไปยินดี สิ่งนี้ไม่ดีก็ไม่ต้องไปเกลียดไปชัง เพียงแต่รู้ว่ามันไม่ดีเท่านั้นเอง รู้ว่าเวลาเขาอยู่กับเราๆไปควบคุมบังคับเขาไม่ได้ เราก็ปล่อยให้เขาอยู่ของเขาไป เมื่อถึงเวลาเขาไปเราก็รู้ว่าเราอยากให้กลับมาไม่ได้เหมือนกัน คือรู้ตามความเป็นจริง เช่นคนที่เรารักเขาตายไปแล้ว จะทำอย่างไรเขาก็ไม่กลับมาอยู่ดี จะให้กลับมาเหมือนตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าใจเราเพียงแต่รับรู้และยอมรับตามความเป็นจริงก็จะไม่มีความทุกข์

 

แต่ใจของเราโดยธรรมชาติมีความหลงฝังซ่อนอยู่ในใจ มันเลือกชอบสิ่งนี้ไม่ชอบสิ่งนั้น อยากจะได้สิ่งนี้ ไม่อยากจะได้สิ่งนั้น เราจึงต้องมาแก้ที่ความอยากนี้ ว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ต่อให้เราได้สมใจมากน้อยเพียงไร มันก็ให้ความสุขกับเราไม่ได้นาน สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป สิ่งต่างๆที่เป็นความทุกข์ความเลวร้ายทั้งหลายที่มันปรากฏกับตัวเรา มันก็ไม่อยู่กับเราไปตลอด สักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป ถ้าใจเรามีความอดทนอดกลั้น สามารถทำให้มันนิ่งเฉยได้แล้ว ไม่ว่าความเลวร้ายทั้งหลายจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร มันก็ไม่สามารถทำให้ใจของเราหวั่นไหวได้ นี่คือสิ่งที่เราสามารถมอบให้กับตัวเราได้ เราสามารถปฏิบัติทำให้ใจของเรามีความเข้มแข็ง มีความหนักแน่นเหมือนกับก้อนหินได้ด้วยการภาวนา ด้วยการเจริญสมาธิและปัญญา ถ้าเรามีทั้งสมาธิและมีทั้งปัญญาแล้ว จิตของเราจะเป็นเหมือนกับก้อนหินก้อนใหญ่ๆ ต่อให้มีลมพายุแรงขนาดไหนก็ตาม ก็จะไม่สามารถพัดให้ก้อนหินก้อนนั้นขยับเขยื้อนได้เลย แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ใจของเราจะเป็นเหมือนปุยนุ่น เวลามีลมมาพัดเบาๆเท่านั้นมันก็ปลิวไปตามลม คนที่ไม่มีภาวนาคือไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา จะเป็นคนที่อ่อนไหวง่าย มีอารมณ์เสียง่าย อะไรมาสัมผัสนิดกระทบหน่อยก็ไม่พอใจ ก็รำคาญใจแล้ว

 

นี่คือปัญหาของพวกเรา นี่คืองานที่พวกเราจะต้องทำ ก็คือแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการบำเพ็ญภาวนา จะเข้าขั้นภาวนาได้ก็ต้องอาศัยการบำเพ็ญทานและศีลด้วย เพราะการภาวนานั้นถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ขั้นอุดมศึกษา นักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้จะต้องผ่านขั้นอนุบาล ขั้นประถม ขั้นมัธยมมาแล้ว จึงจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ ดังนั้นการทำบุญทำทานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น อย่าไปเสียดาย อย่าไปหวงทรัพย์สมบัติ เงินทอง อย่าไปอยาก อย่าไปสะสมเงินทองมากจนเกินความจำเป็น แล้วก็อย่าไปเบียดเบียนผู้อื่น ถ้าเราไปเบียดเบียนผู้อื่นเราก็จะมีปัญหาตามมา มีเรื่องราววุ่นวายต่างๆตามมา ถ้าเราทำบุญทำทานรักษาศีลแล้ว เวลาเราภาวนามันจะง่าย จิตจะเข้าสู่ความสงบง่าย แล้วสิ่งที่จะเอื้ออำนวยต่อการภาวนานี้ท่านก็แสดงไว้มีอยู่หลายอย่างด้วยกันคือ ๑. มีสติ คือต้องฝึกตั้งสติอยู่เสมอ ให้มีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ เวลาจะทำอะไร จะคิดอะไร จะพูดอะไร ต้องรู้อยู่ทุกขณะเรียกว่าสติ  ๒. ต้องอยู่ในที่สงบสงัดวิเวก อยู่คนเดียวตามป่าตามเขา ตามวัดป่าวัดเขา จะได้ไม่มีอะไรมาคอยดึงสติให้เผลอไป

 

ถ้าเราอยู่กับคนเยอะๆ มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีอะไรต่างๆ สติของเราจะเผลอง่าย เพราะจะถูกเรื่องราวต่างๆฉุดลากไป ฉะนั้นถ้าอยากจะบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลก็ต้องหาที่วิเวก แล้วก็  ๓. ต้องสำรวมอินทรีย์ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ไปสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะโดยไม่จำเป็น เช่นไปดูหนังดูละคร อ่านหนังสือนิยาย อ่านหนังสือแฟชั่น หนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ  ถ้าจะอ่านหนังสือ ให้อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทปธรรมะ เรียกว่าเป็นการสำรวมอินทรีย์ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ ๔. ต้องรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารมากจนเกินไป รับประทานพอให้ร่างกายอยู่ได้ก็พอ อย่าไปรับประทานตามใจอยาก ถ้ารับประทานตามอยากแล้วจะรับประทานมากจนเกินไป เวลานั่งสมาธิจะง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจ อยากจะหาหมอนมากกว่า เวลารับประทานอาหารเสร็จแล้ว ถ้าจะภาวนาก็อย่าไปนั่ง ส่วนใหญ่ท่านจะให้เดินจงกรมกัน

 

อย่างพระตอนเช้าหลังจากที่ท่านเสร็จกิจจากการฉันแล้ว กลับกุฏิท่านจะไม่นั่งสมาธิ ส่วนใหญ่จะเข้าทางจงกรมกัน เดินให้มันหายง่วง เมื่อหายง่วงแล้วค่อยกลับมานั่งสมาธิ ถ้าจำเป็นก็อาจจะพักจำวัด ส่วนมากท่านจะพักตอนกลางวันประมาณชั่วโมงหนึ่ง บางทีเดินจงกรมเสร็จแล้วมานั่งสมาธิ แล้วก็อยากจะนอนพัก ก็พักสักชั่วโมงหนึ่ง พอตื่นขึ้นมาปั๊บก็รีบลุกขึ้นมาเดินจงกรมต่อ นั่งสมาธิต่อ หรือถ้ามีกิจที่จะต้องทำ เช่นปัดกวาดก็ปัดกวาดด้วยการมีสติ การปัดกวาดของพระนี้ก็เป็นการภาวนาไปในตัว เพราะว่าจิตของท่านไม่ไปอยู่ที่อื่น จิตจะอยู่กับไม้กวาด กวาดซ้ายกวาดขวา จิตก็จะอยู่กับการสัมผัสของไม้กวาดนั้น ไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นคิดถึงเรื่องนี้ การภาวนานี้ต้องให้จิตอยู่ในปัจจุบันอยู่เสมอ ให้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ อย่าส่งไปในอดีต อย่าส่งไปในอนาคต จิตจะนิ่งได้ก็ต่อเมื่อมันอยู่ในปัจจุบัน ถ้าไปในอดีตมันก็แกว่งไปแล้ว เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ถ้าอยากจะให้ลูกตุ้มนาฬิกาอยู่ตรงกลางก็ต้องไม่ให้ขยับไปทางซ้ายหรือไปทางขวา

 

ฉันใดจิตก็เหมือนกัน ถ้าไปอดีตก็เหมือนกับลูกตุ้มจิตได้แกว่งไปทางซ้ายแล้ว ถ้าไปอนาคตมันก็แกว่งไปทางขวา มันก็จะไม่อยู่ตรงกลาง มันก็จะไม่นิ่ง แต่ถ้าอยู่ในปัจจุบันมันก็จะอยู่ตรงกลาง ก็จะไม่ต้องคิดอะไร เพราะขณะอยู่ในปัจจุบันเพียงแต่รับรู้เท่านั้นก็พอ รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย รับรู้แล้วก็ผ่านไป เช่นเราเดินปัดกวาดไป เราก็สัมผัสรับรู้กับเสียงที่ปัดกวาดไป เสียงปรากฏขึ้นมาแล้วมันก็หายไป เสียงใหม่ก็ปรากฏขึ้นมา รูปใหม่ปรากฏเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขณะที่เราเดินปัดกวาดไป แต่เราจะไม่ไปคิดเรื่องอะไร จิตเราก็จะนิ่ง  ถึงแม้จะเดิน จะทำอะไรมันก็ยังนิ่งได้อยู่ นี่ก็เป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง เพราะคำว่าสมาธิก็หมายความว่าให้จิตไม่แกว่งนั่นเอง ให้จิตนิ่งอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับที่ จะคิดอะไรก็คิดได้ แต่ถ้าคิดก็คิดได้ ๒ ทาง ถ้าคิดไปในทางธรรมะก็จะไม่มีอารมณ์ จะไม่ทุกข์ ไม่วุ่นวายใจ แต่ถ้าคิดไปในทางกิเลส ยึดติด ห่วงกังวลสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะทำให้เกิดมีอารมณ์ขึ้นมา เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมาได้

 

ถ้าคิดก็ต้องมีปัญญาเข้ามาประกบ เช่นกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ต้องใช้ไตรลักษณ์เข้ามาว่า จะไปกังวลทำไมกับเรื่องอะไรทั้งหลาย อะไรมันจะเกิดมันก็เกิด เราอยู่ที่นี่เรื่องมันอยู่ทางโน้น เราก็ไปทำอะไรมันไม่ได้อยู่ดี ถ้าคิดเช่นนี้เราก็ปลงเราก็ตัดได้ ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน หรือคิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องไปดูแล เราก็ไปเสีย อย่ามานั่งกังวลแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร ถ้าจำเป็นจะต้องไปแก้ไขไปทำอะไร ก็รีบไปทำเสียให้มันเสร็จๆไป ทำได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ปลงเสีย ช่างมันเถอะ อะไรจะเกิดก็เกิด เพราะของต่างๆในโลกนี้มันก็ไม่มีอะไรที่ถาวร  ชีวิตของเราก็ยังไม่ถาวรเลย เรามากังวลกับเรื่องราวต่างๆทำไม พอเราตายไปเรื่องราวต่างๆมันก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม โลกนี้มันไม่ได้มีไว้เพื่อให้เรามาสะสม มาห่วงมากังวลกับเรื่องราวต่างๆ โลกนี้มีไว้เพื่อให้เราได้มาบำเพ็ญกิจที่จะต้องบำเพ็ญ ก็คือชำระจิตใจของเราเท่านั้นเอง ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ เพราะเมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตใจแล้ว ปัญหาต่างๆก็จะหมดไป เราจะเห็นเรื่องต่างๆว่าเป็นเรื่องธรรมดาเป็นปกติ

 

ปัญหาต่างๆในโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ หรือว่าภัยที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันนั้นเป็นเรื่องปกติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะต้องเกิด เราไม่สามารถที่จะไประงับยับยั้งมันได้ ไม่มีพระพุทธเจ้าแม้แต่พระองค์เดียวมาตรัสรู้แล้วจะมาแก้ไขปัญหาของทางโลก ไม่เคยมาห้ามไม่ให้พายุเกิด ไม่เคยมาห้ามไม่ให้มีสงคราม ท่านไม่ได้มาแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะมันไม่ใช่เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ ปัญหาที่ต้องแก้ที่แท้จริงก็คือปัญหาของใจของคนเรานี้เท่านั้นเอง ถ้าคนเราทุกคนแก้ปัญหาของเราได้แล้ว รับรองได้ว่าปัญหาของคนจะไม่มี คนเราจะไม่ทะเลาะเบาะแว้ง จะไม่มีสงคราม จะไม่มีเรื่องวุ่นวายต่างๆที่เกิดจากคน ที่มีปัญหาวุ่นวายเพราะเราไม่มาแก้ปัญหาในใจของเรา ปัญหาในครอบครัวมันไม่น่าจะเกิดมันยังเกิดขึ้นได้เลย  ทั้งๆที่ทุกคนที่อยู่ในครอบครัวก็รักกันจะตาย แต่ก็ยังเกิดขึ้นมาก็เพราะกิเลส ความอยากของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอยากจะทำอย่างนี้  คนนี้อยากจะทำอย่างนั้น ทำไปแล้วก็ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนนั้นคนนี้เข้า ก็เลยเป็นปัญหาขึ้นมา

 

ดังนั้นถ้าเรามีธรรมะ แล้วเอาเข้ามาแก้ไขปัญหาในใจของเราได้ รับรองได้ว่าไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนกับใคร เราจะไม่มีปัญหาอะไรกับใครทั้งสิ้น เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ตัวเราเป็นหลัก เมื่อเราไม่มีปัญหาแล้วใครจะมีปัญหากับเรา เราก็ไม่มีปัญหากับเขา ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก ถ้าเราทำตัวเป็นเหมือนกับเสา ใครเขาจะมาด่าเรา มันก็เหมือนกับด่าเสา เราไปนั่งด่าเสาดูสักพักหนึ่ง เดี๋ยวเราก็เมื่อยเองแหละใช่ไหม พอเขาด่าเรากลับมาเราก็แสดงอาการไม่พอใจด่ากลับไป ก็กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา จึงขอให้เราใช้เวลาของชีวิตนี้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ด้วยการมาชำระกาย วาจา ใจของเรา ดูแลรักษาใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ เหมือนกับใจของพระพุทธเจ้า แล้วการเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มาเจอพระพุทธศาสนาจะได้คุ้มค่า เราจะได้ไม่เสียชาติเกิด ขอยุติการแสดงไว้เท่านี้ก่อน

 

เมื่อวันก่อนมีนักศึกษาปี ๓ และปี ๔ ชาวยุโรป ๖๐ คนมาฟังธรรมะ เขามาเรียน summer ที่ Asian University เกี่ยวกับAsian Business และ Asian Culture เลยพามาดูวัด มาคุยธรรมะ ก็อธิบายให้เขาฟังว่า ที่มาบนเขานี้ก็เหมือนย้อนยุคกลับไปเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปี สมัยพระพุทธเจ้าศาสนาพุทธเป็นอย่างนี้ ไม่มีวัดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีเจดีย์ ไม่มีพระพุทธรูป พระพุทธรูปเหล่านี้เกิดหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วหลายร้อยปีด้วยกัน สมัยที่พระพุทธเจ้าอยู่นั้นท่านไม่ทรงอนุญาตให้มีพระพุทธรูป เพราะพระพุทธรูปไม่ใช่ตัวพระพุทธเจ้า ตัวพระพุทธเจ้าอยู่ที่คำสอน ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ธรรมะคือตัวพระพุทธเจ้า พระพุทธรูปนี้ไม่ใช่ตัวพระพุทธเจ้า เรามีไว้เพื่อระลึกถึงธรรมะเท่านั้นเอง เวลาเรากราบพระพุทธรูป เราควรระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็นำมาปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติจนปรากฏมีธรรมขึ้นมาในใจ มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เราก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร คือใจที่บริสุทธิ์นั่นแหละ คือใจของพระพุทธเจ้า ใจของพวกเราสักวันหนึ่งก็จะเป็นแบบนั้นเหมือนกัน

 

วันนั้นบอกพวกเขาว่า คุณรู้ไหมว่าวันนี้คุณมาทำไม วันนี้คุณมาให้เราปลูกฝังเมล็ดพืชแห่งการตรัสรู้ไว้ในใจของพวกคุณ อยู่ที่ตัวคุณว่าจะเอาไปเจริญมันหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าหมั่นรดน้ำ ใส่ปุ๋ยอยู่เรื่อยๆ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า รับรองได้ว่าสักชาติหนึ่งถ้าไม่ชาตินี้ก็ชาติต่อๆไป คุณจะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน เพราะนี่เป็นหลักความจริง พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้ามาก่อน พระองค์ก็ทรงเป็นปุถุชนเหมือนเรานี่แหละ เมื่อพระองค์ทรงได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆมา มันก็ปลูกฝังอยู่ในจิตของพระองค์ และทำให้พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาเรื่อยๆ เช่นทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี เมตตาบารมี ฯลฯ เป็นสิ่งที่พวกเรากระทำกันอยู่แล้ว เราจะถือว่าเป็นโพธิสัตว์ก็ได้ เพราะพวกเราทุกคนไม่ช้าก็เร็วก็ต้องไปทางนั้นกัน ไปที่เดียวกัน เพราะไม่มีที่อื่นที่จะไป ทางออกจากความทุกข์ก็คือทางนี้ ทางแห่งมรรค ๘ ทางแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าตราบใดเราได้ทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ก็แสดงว่าเราไม่หลงทาง แต่ถ้าเราเริ่มไปแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็แสดงว่าเราหลงทางแล้ว ถ้าอยากจะไปเป็น สว. สส. อยากจะเป็นเศรษฐี อยากจะไปเที่ยวรอบโลก เราหลงทางแล้วนะ ไปคนละทางแล้ว ทางของเราต้องเข้าวัดป่า วัดเขา

 

ถาม  ท่านอาจารย์เทศน์บนนี้หรือครับ

 

ตอบ  ใช่ บนนี้ แต่แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม เพราะ ๖๐ คนมันไม่พอนั่ง

 

ถาม  เขานั่งกันไม่เมื่อยแย่หรือครับ

 

ตอบ  ไม่ เขานั่งเงียบสงบสนใจฟัง

 

ถาม  เขาไม่ได้ถือพุทธ

 

ตอบ  คงไม่ได้ถือ

 

ถาม  ท่านอาจารย์ครับแล้วเขามีคำถามไหมครับ

 

ตอบ  พอเปิดโอกาสให้ถาม เขายกมือกันเต็มไปหมด

 

 

เห็นไหมเขาเป็นฝรั่งเขายังสนใจศาสนาพุทธ ความจริงศาสนาพุทธนี้ไม่ใช่เป็นศาสนาของชาติใดชาติหนึ่ง เป็นของที่ติดมากับจิตใจของแต่ละคน ถ้าเรามีศาสนาพุทธอยู่ในใจแล้ว ก็จะติดกับจิตใจของเราไป อาตมาตอนที่เป็นเด็ก เรียนที่โรงเรียนคริสต์อยู่ ๘ ปีด้วยกัน

 

 

ถาม  เพื่อนของลูกเขายังไม่มีครอบครัวกัน ประมาณ ๓ คนนะคะ ก็บอกเพื่อนว่าโชคดีอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ไม่มีปัญหาเรื่องครอบครัว มาตอนนี้เขาเริ่มรู้สึก เขาไปเยี่ยมคุณแม่ของเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเพื่อนได้เสียไปแล้ว แต่คุณแม่เพื่อนยังอยู่ แก่มากแล้วช่วยตัวเองลำบาก เขาเริ่มรู้สึกถึงตัวเขาเองแล้วว่า ถ้าเขาแก่ไปเขาช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วใครจะดูแลเขา อยากจะถามท่านอาจารย์ว่าจะทำอย่างไร

 

ตอบ     ให้ใช้หลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอน อัตตา หิ อัตโนนาโถ เพราะพึ่งคนอื่นไม่ได้หรอก หวังพึ่งลูกถ้าลูกอกตัญญูจะทำอย่างไร ยิ่งเสียใจใหญ่ หรือเป็นลูกที่ตายไปก่อนเรานี้ เราจะทำอย่างไร แต่ถ้าเราพึ่งตัวเองได้นี่ ไม่ต้องกลัวหรอก จะมีคนมาคอยดูแลเราตลอดเวลา อย่างหลวงตาอย่างนี้ มีคนอยากจะดูแลหลวงตาตั้งเท่าไร เพราะท่านพึ่งตัวของท่านเองได้ เมื่อท่านพึ่งตัวของท่านเองได้ ท่านก็สามารถทำความดีได้ตลอด เมื่อทำความดีได้ตลอดแล้วก็จะมีคนมาดูแล ไม่ต้องห่วง คนจะมาช่วยมันมากเกินไป ต้องหนีคนมากกว่า

 

ถาม     ยังไงคนแก่ก็ต้องมีคนมาดูแล

 

ตอบ     ก็อัตตา หิ อัตโนนาโถ นี่ไง คือการสร้างความดี ขอให้เราทำความดีไว้ เช่นการภาวนา ส่วนหนึ่งเราก็ต้องพึ่งตัวเราเอง อย่าไปหวังให้คนอื่นเขาเลี้ยงเรา คนเรานี่สามารถดูแลตัวเองไปได้จนกระทั่งวันตาย ไม่ต้องกลัวหรอก พอถึงเวลาช่วยตัวเองไม่ได้เขาก็จับเราส่งเข้าโรงพยาบาลเอง ก็ต้องมีพยาบาลมาคอยดูแล ส่วนที่เราต้องพึ่งตัวเองจริงๆนั้น คือทางด้านจิตใจ ถึงแม้คนอื่นจะช่วยเราทางด้านร่างกายได้ ดูแลเราได้ ให้อาหารเรา ให้ยาเราได้ แต่ใจเราเหงาเราจะทำอย่างไร  เพราะเราไม่มีธรรมะ เราไม่รู้จักภาวนา การภาวนาเป็นการช่วยตัวเราเองทางด้านจิตใจ ถ้าเราภาวนาเป็นแล้วเราจะไม่เหงา จะไม่รู้สึกว่าอยากจะอยู่กับใคร ไม่หวังจะพึ่งใคร ไม่ต้องการจะให้ใครมาให้กำลังจิตกำลังใจ เรานี่แหละให้กำลังใจตัวเองได้เต็มที่ แล้วเรายังจะให้กำลังใจคนอื่นได้อีกด้วย ฉะนั้นบอกเขาว่าให้พยายามพึ่งตัวเอง ด้วยการปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน รับรองได้ ไม่ต้องกลัว ถ้าพึ่งคนอื่นเดี๋ยวคนที่เราพึ่งเขาตายไปจะทำอย่างไร หรือเขาไม่ให้เราพึ่งแล้วเราจะทำอย่างไร

 

ถาม     เขาจะพึ่งน้องสาวเขา นี่คือการคาดหวัง ถึงเวลาจริงๆเขาอาจจะไม่ช่วยเราก็ได้ใช่ไหมครับ อาจจะไปก่อนเราก็ได้ แล้วถ้าเขาคาดหวังว่าจะช่วยเรา แล้วเขาไม่ช่วยเรา ยิ่งเสียใจใหญ่ 

 

ตอบ     ช่วยอย่างไรในที่สุดมันก็ช่วยไม่ได้อยู่ดี หมอจะเก่งขนาดไหน ในที่สุดก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้ามีธรรมะนี่ ช่วยได้ตลอดถึงลมหายใจสุดท้ายเลย จะไม่มีความทุกข์เลย แต่ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว ต่อให้มีหมอวิเศษขนาดไหน ใจก็ยังทุกข์อยู่นั่นแหละตลอดเวลา ก็กลับมาที่เทศน์เมื่อสักครู่นี้ว่า ต้องมาชำระจิตใจของเรา ต้องสร้างใจของเราให้เป็นที่พึ่งของตัวเองให้ได้ ให้ใจของเรามีธรรมะ มีสมาธิ มีปัญญาแล้ว รับรองได้ว่า ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้จิตใจของเราหวั่นไหวหรือมีความทุกข์ได้ ร่างกายนี้อย่างไรมันก็ต้องเป็นไปตามสภาพของมัน แต่การเป็นไปของร่างกายมันจะไม่มากระทบกับใจ ถ้าใจมีปัญญา มีสมาธิไว้คอยแยกคอยแยะ  ถ้าไม่มีแล้วความหลงมันจะเอามาพันกัน ร่างกายเป็นอย่างไร มันจะบอกให้ใจเป็นไปกับมัน เพราะใจไปหลงว่าร่างกายเป็นใจ พอร่างกายเป็นอะไรใจก็จะวุ่นวายไปหมดเลย แต่ถ้ามีสมาธิ มีปัญญามันจะแยกออกจากกัน กายก็เป็นกาย เหมือนกับคนขับรถกับรถยนต์ มันคนละส่วนกัน รถยนต์เสียก็ซ่อมมันไป ยางแตกก็ปะมัน เปลี่ยนมัน ถ้ามันใช้ไม่ได้ก็ทิ้งมันไป คนขับก็เดินไปหารถใหม่ หรือถ้าไม่จำเป็นต้องใช้รถอีกต่อไป ก็ไม่ต้องไปซื้อรถใหม่ อยู่กับบ้านไม่ไปไหนแล้ว ก็ไม่ต้องไปซื้อรถใหม่ ไม่ต้องมีรถก็ได้

 

ใจของคนที่อิ่มแล้ว พอแล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยร่างกายอีกต่อไป ที่เราต้องมาเกิด มามีร่างกาย เพราะใจเรายังติดทางกามรสอยู่ ยังอยากได้รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่ ก็ต้องมีร่างกาย มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น ไว้เป็นเครื่องมือ เพื่อจะได้เห็นรูป เวลาเห็นรูปแล้วก็ดีใจ มีความสุข แต่ในขณะเดียวกันก็มีความทุกข์ด้วยเหมือนกัน ถ้าไปเห็นรูปที่ไม่ชอบเข้ามันก็มีความทุกข์ขึ้นมา เรื่องของเรื่องมันอยู่ที่ใจของเรานี้เอง ถ้าทำใจของเราให้พอ ด้วยการกำจัดความอยากต่างๆให้หมดไปแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น อะไรจะเกิดกับอะไร มันก็ไม่มีปัญหา เพราะใจเราไม่ได้ไปอยากกับอะไร ไม่ได้อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ได้อยากให้สิ่งนี้มันเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างไรมันก็ต้องเป็นไปตามความจริงของมัน รับความจริงได้ทุกสภาพ แต่ถ้ามีความอยากแล้วมันวุ่นวายไปหมด เวลาร้อนก็อยากจะให้มันเย็น เวลาหนาวก็อยากจะให้มันร้อนขึ้นมา เวลาฝนตกก็อยากจะให้มันหยุด มันไม่รู้จักจบ ไม่เคยพอใจกับสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่

 

แต่ถ้าไม่มีความอยากแล้วทุกสภาพก็จะดีไปหมด ฝนตกก็ดี ร้อนก็ดี หนาวก็ดี ดีไปหมด เจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี ไม่ต้องทำอะไร แสนจะสบาย มีคนคอยป้อนอาหารให้เรา ถ้ามองโลกในแง่ดีมันก็ดีทั้งสองแง่แหละ เรื่องทุกอย่างมีทั้งแง่ดี และแง่ไม่ดี อยู่ที่เราจะมองเท่านั้นเอง ถ้าเราเป็นคนชอบทำโน่นทำนี่ พอเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็บ่นว่าไม่สบายใจ ไม่ชอบเลย ไม่ได้ทำโน่นทำนี่ แต่ถ้าเราไม่ชอบทำอะไร พอต้องไปทำอะไรก็เบื่อ ไม่อยากจะทำ บางคนชอบอยู่เฉยๆ อยู่บ้านเฉยๆ พอต้องไปออกงานออกการ ก็จะเบื่อ ต้องแต่งหน้าทาปาก แต่งเนื้อแต่งตัววุ่นวายไปหมด มันสองแง่สองมุมอยู่ที่เราจะมอง ถ้าเราไม่มีความอยากแล้ว มันจะมีแง่เดียวก็คือ  อะไรจะเป็นอะไรก็เป็นไป ได้ทั้งนั้น ถ้าจะไปก็ได้ ถ้าจะต้องอยู่ก็อยู่ได้ อย่างนี้ไม่ดีหรือ เราชนะทั้งหมด ออกหัวก็ได้ ออกก้อยก็ได้ วันนี้คนนี้เขาไม่มาก็ไม่เดือดร้อน ได้ทั้งนั้น ใครมาใครไปก็ได้ทั้งนั้น ใครจะอยู่ก็อยู่ ใครจะไปก็ไป แสนจะสบายใจ ไม่เดือดร้อนกับใคร กับอะไรทั้งสิ้น เราไปจู้จี้จุกจิกเอง ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างนี้ก็จะตายให้ได้ เราจึงต้องแก้ปัญหาที่ใจเรา

 

ที่พูดนี้ก็คือความอยากทั้งนั้น อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ ความจู้จี้จุกจิก ก็เกิดจากความอยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์อะไรได้เลย ถ้ายังอยู่ในความสามารถ อยู่ในความควบคุมบังคับ เราก็กำหนดกฎเกณฑ์กันไป เช่นวันนี้เรานัดกันมาก็ต้องมีการกำหนดเวลา ก็กำหนดไป แต่ก็อย่าไปยึดติดกับมันมากจนเกินไป ถ้ามันช้าบ้างเร็วบ้าง ถ้าครบบ้างไม่ครบบ้าง ขาดบ้างเกินบ้างก็ไม่เป็นไร อย่าไปเอาตายตัว ทุกอย่างต้องอย่างนี้เปรี๊ยะๆไปหมด

 

ถาม  ธนบัตรที่ได้อนุโมทนาไปแล้วนะคะ แล้วเราก็จัดไปไว้ในกองกลาง แล้วก็มีการแลกสตางค์ที่คนเขาจบแล้ว แล้วเราไปแลกเอามาเป็นอะไรไหมคะ

 

ตอบ  ไม่น่าจะเป็นอะไร เราเพียงแต่เอาเงินไปแลกกันเท่านั้นเอง คุณค่าของเงินก็ยังอยู่เท่าเดิม ก็ไม่เป็นไร

 

ถาม  เขาอนุโมทนาใส่ลงไปแล้วนะคะแล้วเราไปหยิบใบที่เขาอนุโมทนา

 

ตอบ  กระดาษนี้มันเพียงเป็นสื่อเท่านั้นเอง ว่าเราได้บริจาคเงินก้อนนี้ไปแล้ว

 

ถาม  ตั้งใจจบมาก

 

ตอบ  อย่างนั้นก็แสดงว่าเรายึดติดอยู่กับธนบัตรแล้ว

 

ถาม  สมมุติเราจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตเพื่อซื้อของมาทำบุญนี่ กับการจ่ายเงินสด ได้บุญเท่ากันไหมคะ

 

ตอบ     ถ้าเรายังไม่จ่ายหนี้ของบัตร ยังค้างชำระอยู่ ก็จะไม่ได้บุญ ถ้าจ่ายแล้วก็จะได้บุญ เหมือนกับโยมตอนนี้ไม่มีเงิน ก็ยืมเพื่อนไปซื้อของมาทำบุญก่อน พอถึงเวลาก็เอาเงินไปคืนเขา มันก็เป็นบุญของเรา แต่ถ้าเราไม่เอาเงินไปคืนเขา เราก็ไม่ได้บุญ ถ้าคนที่เราไปยืมเงินเขาอนุโมทนา ยกเลิกหนี้ของเรา มันก็เป็นบุญของเขา

 

ถาม  กลัวเขาจะตายก่อนแล้วไม่ได้ใช้คืนเขา ไม่ได้เจตนา

 

ตอบ ถ้าอยากจะแน่ใจก็ไปกด ATM แล้วเอาเงินไปคืนเขาจะได้

        ตัดปัญหา

 

ถาม  ท่านอาจารย์ ในกลุ่มนี้บางทีก็ยืมเงินกันก่อนเท่านั้นเท่านี้ แล้ววันหลังเจอกันค่อยให้กันอย่างนี้ ทีนี้กลัวจะตายก่อน

 

ตอบ     ถ้าตายก่อนมันก็ยังไม่ได้ใช้ บุญนั้นก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์ มันสำเร็จที่เจตนา ตั้งใจจะทำแล้วก็ทำไปด้วยกาย แต่ค่าของที่เราให้นี้ยังไม่ได้ให้ไป เป็นเงินของคนอื่น ถ้าเจ้าของเงินเขาไม่ถือสาเรา มันก็เป็นบุญของเขาไป เพราะถือว่าเขาเป็นคนทำบุญแทนไป มันกลายเป็นของเขาไป ถ้าเรากลัวว่าเราจะตายก่อนที่จะได้คืนเงินเขาไป เราก็ซื้อด้วยเงินของเราดีกว่า เวลาทำบุญก็ทำด้วยเงินสด มันจะได้หมดปัญหาไป

 

ถาม     คนที่เขาให้ยืมแล้วไม่อนุโมทนานี่ เราเป็นหนี้เขา อย่างเอาเงินวัดไปใช้ก่อนแล้วท่านก็จดไว้ ทีนี้ท่านตายไปก่อนยังไม่ได้ใช้คืน แต่ตอนหลังท่านอาจารย์จวนท่านทราบท่านก็เป็นคนใช้คืนให้ ไม่ไปเป็นเปรต จิตตอนนั้นยังกังวลอยู่ ยังไม่ได้ใช้ก็ยังวนเวียนอยู่

 

ตอบ  แม้กระทั่งการทำความดีสร้างเจดีย์แล้วสร้างไม่เสร็จ แต่ยังมีความผูกพันอยู่  ก็ยังมาวนเวียนอยู่แถวเจดีย์ อย่างในประวัติหลวงปู่มั่น

 

ถาม  มันเป็นอุปาทาน

 

ตอบ     เพราะทำแบบไม่ปล่อย ทำแบบยึดติด ว่าเป็นของเรา เจดีย์ของเราเราสร้าง ความจริงเราควรจะคิดว่าสร้างให้กับศาสนา เมื่อเราทำไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นของศาสนาไปแล้ว ตัดขาดไปเลย คืออย่าไปคิดว่าเป็นของเราอีกต่อไป ของที่เราให้ใครไปแล้วอย่าไปจ้องดูว่าเขาเอาไปทำอะไรต่อ ทำตามที่เราบอกหรือเปล่า ยังคิดว่าเป็นของๆเรา กุฏิของเรา ของๆเรา ถ้าเราให้เขาไปแล้วมันก็ไม่ใช่ของเราแล้ว เป็นของคนอื่นไปแล้ว ถ้าเป็นของเราก็แสดงว่าเรายังไม่ได้ให้ไป เราให้ทางกายไปแล้ว แต่เราไม่ได้ให้ทางใจ ใจเรายังคิดว่าเป็นของเราอยู่

 

ถาม  ถวายไปแล้วคอยจ้องดูว่าหลวงตาตักไหม

 

ตอบ     มันก็ช่วยไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติของคนเรา ชอบยึดชอบติดกัน คนเรามีระดับจิตต่างกัน ก็ต้องเห็นใจเขา ต้องเข้าใจเขา เขายังยึดติดอยู่กับรูป กับเสียง กับอะไรอยู่ แต่ถ้าคนทำบุญที่เข้าใจแล้ว จะรู้ว่าทำเพื่อตัดความกังวล ตัดความผูกพันในสิ่งของที่เรามีอยู่ อย่างหนังสือมันอยู่ที่ตู้เรา มันอยู่ในบ้านเรา ไม่เกิดประโยชน์อะไร เอาไปให้เขาใช้ดีกว่า เมื่อให้ไปแล้วเขาจะไปใช้หรือไม่เราอย่าไปคิดมาก ถ้าเราไม่แน่ใจ เราถามเขาก่อนว่าต้องการไหม อยากจะได้ไหม ต้องการจะใช้หรือไม่ ถ้าเขาต้องการก็ให้เขาไป หรือเราจะคิดในทางที่ดีก็ได้ว่า เขาไม่ใช้เขาก็จะให้คนอื่นต่อไป ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องไปถึงคนที่จะใช้อยู่ดี มันก็ได้ใช้อยู่ดี แต่เราอย่าไปเจาะจงว่าจะต้องเป็นคนนั้นคนนี้ เช่นถวายหลวงตาๆจะต้องฉันให้ได้ หลวงตาองค์เดียว คนถวายตั้งเป็นร้อยจะไปฉันได้อย่างไรหมด

 

ถาม  หลวงตาเอาไปให้คนอื่นยิ่งเคืองเข้าไปใหญ่

 

ตอบ     แทนที่เป็นบุญก็กลายเป็นบาปไป ความเคืองนี่ก็เป็นบาปแล้ว เป็นอกุศลแล้ว ให้ไปแล้วต้องตัดใจทันทีเลย ไม่เป็นของเราแล้ว เป็นของหลวงตาแล้ว เป็นของคนที่เขารับไปแล้ว เขาจะไปทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเรารู้ว่าเขาเอาไปทำมิดีมิร้ายต่อไปเราก็อย่าไปให้เขา เช่นเราให้เงินขาไป แล้วเขาเอาไปเล่นการพนัน ไปซื้อเหล้ากิน ต่อไปเราก็อย่าไปให้เขา ถ้าเขามาขอเงินซื้อข้าวก็ซื้อข้าวให้เขาเลย อย่าไปให้เงิน เพราะเขาจะหลอกเอาเงินไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร แต่การให้มันดี เพียงแต่ให้แล้วต้องให้ไปเลย อย่ามีความผูกพันกับสิ่งที่เราให้ แต่ถ้าจะติดตามก็ติดตามดูว่าเขาทำประโยชน์หรือเปล่าเท่านั้นเอง ถ้าเขาไม่ทำประโยชน์เราจะได้รู้ว่าคนนี้เราไม่ควรจะให้เขาอีกต่อไป ให้ไปแล้วเอาไปทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เราก็เสียดายเงิน เสียดายทองที่เราให้ไป แต่อย่าไปคิดว่าเป็นของเรา ให้ไปแล้วก็ให้ไปเลย

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ ทำอย่างไรญาติของลูกมีอุปาทานในบุคคลที่เป็นที่รักที่ผูกพันกันมาก ขออุบายในการคลาย สำหรับคนอื่นก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเขา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ใกล้ชิดที่สุดจะมีอุปาทานอันนี้มาก

 

ตอบ     ก็ต้องพิจารณากายอยู่เรื่อยๆ พิจารณาการเกิดการดับของกายนี้อยู่เรื่อยๆ ร่างกายของคนในที่สุดก็จะกลายเป็นกระดูก กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไปอยู่เรื่อยๆ ต่อให้รักกันขนาดไหน มีความผูกพันกันขนาดไหน มันก็เป็นแค่กองกระดูกเท่านั้นเองที่เราไปหลงรักมัน ความจริงตัวของคนนั้นมันไม่ได้อยู่ที่กาย ตัวของเขาอยู่ที่จิตของเขา และจิตของเขาก็ไม่ได้ตายถึงแม้ร่างกายจะตายไปแล้ว ถ้าเขาทำความดีไว้ เขาก็จะต้องได้รับความดีจากการกระทำของเขา เราไม่ต้องไปกลัว เราก็คิดว่าเขาไปดี ได้ไปเกิดดีต่อไป สิ่งที่เราไปยึดไปติดก็คือกองธาตุเท่านั้นเอง คือดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เนื่องจากเราไม่ได้พิจารณาเราก็คิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นนาย ก นาย ข ที่แท้จริงแล้วในที่สุดก็จะเป็นแค่ขี้เถ้าขี้ถ่าน เป็นเศษกระดูกที่เราเอาไปลอยอังคาร หรือเราเอาไปบรรจุไว้ในผอบ ในเจดีย์ มันก็เป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นเครื่องมือของจิตดวงนั้นที่เอามาใช้ติดต่อกับเรา ร่างกายของเราก็เป็นเหมือนกับของเขา มันก็เป็นกองกระดูกเหมือนกัน ต่อไปก็จะเป็นขี้เถ้าเหมือนกัน พิจารณาอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ สักวันเราก็จะเข้าใจ พิจารณาดูจนกระเห็นว่ากายนี้เป็นแค่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นเอง

 

ถาม  ได้พิจารณาตามที่ท่านอาจารย์บอกแล้วค่ะ แต่มันเป็นเพียงความจำ

 

ตอบ     ยังไม่พอ ยังน้อยไป พิจารณาน้อยไป ต้องพิจารณาจนกระทั่งมันทำลายความรู้สึกเดิมๆให้หมดไป ความรู้สึกว่าเป็นคน เป็น นาย ก นาย ข มองนาย ก นาย ข ทีไรก็จะรู้ว่ามันก็แค่ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นเอง เดี๋ยวมันก็กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป พิจารณาไปเรื่อยๆแล้วต่อไปจะไม่มีความรู้สึกอะไรกับการเป็นการตายของคนๆนั้น ใจก็จะเฉยเป็นปกติ คือเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ร่างกายนั้นมันเป็นเพียงองค์ประกอบของคนๆนั้น ตัวที่แท้จริงของคนๆนั้นไม่ใช่ร่างกาย เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานก็เพียงแต่ร่างกายเท่านั้นเอง แต่จิตของพระพุทธเจ้าไม่ได้ดับไปกับร่างกาย เพียงแต่พระองค์ไม่ทรงมีเครื่องมือที่จะมาติดต่อกับเรา เพราะพระองค์ไม่ทรงกลับมาเกิดอีกแล้ว

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ ที่ท่านให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมากับอากัปกิริยา เดิน ยืน นั่งนอน  ให้มีสติอยู่กับพุทโธตลอดเวลา

ตอบ     แล้วแต่เราจะถนัด ถ้าเราถนัดจะใช้พุทโธกำกับไปด้วยก็ได้ เพราะถ้ามีพุทโธมันก็จะช่วยยับยั้งไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ ในอดีตหรือในอนาคตได้ แต่ถ้าสติเราแข็งพอ บางทีเราไม่ต้องพุทโธก็ได้ ก็เพียงให้รู้อยู่กับอิริยาบถการเคลื่อนไหว หรือดูความคิดที่จะปรากฏขึ้นมา ก็ตามความถนัด

 

ถาม      แต่ตามความคิดที่จะปรากฏนี้ตามยากมากค่ะ

 

ตอบ     ยาก   ส่วนใหญ่ตอนเริ่มต้นมันจะเร็วกว่าเรามาก มันจะละเอียดกว่าเรา ต้องใช้พุทโธไปก่อน  บางคนอาจจะไม่ถนัด เพราะมันเหนื่อยที่ต้องพุทโธทั้งวัน แต่บางคนถนัดเขาก็สบาย เขาก็พุทโธของเขาไปตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความคิดอื่นเล็ดลอดเข้ามา ก็มีบ้าง เพราะเวลาที่เราเริ่มต้นมันจะไม่สามารถไปสกัดความคิดได้ตลอดเวลา เพียงแต่ทำให้มันเบาลงไป ให้มันน้อยลงไป จะได้มีอะไรมาคอยต้านมันบ้าง คือพุทโธ ถ้าพุทโธมีกำลังมากขึ้นความคิดต่างๆก็จะเบาลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเราก็จะสามารถควบคุมความคิดได้ จะดึงความคิดมาคิดให้เป็นปัญญาก็ได้ เช่นดึงมาคิดดูร่างกายนี้ว่าเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณาแยกแยะไปเรื่อยๆ

 

ถาม    การที่ท่านอาจารย์พูดว่า ในขณะหนึ่งนี่จิตมันคิดอะไร ตรงนั้นไม่ใช่เอกัคตาจิต

 

ตอบ     ไม่   ถ้าเอกัคตาจิตมันจะนิ่ง ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย มีแต่สักแต่ว่ารู้อย่างเดียว ในขณะนั้นมันต้องอยู่ในสมาธิเต็มที่เลย สมาธิแบบนั้นเขาเรียกว่าเอกัคตารมณ์ แต่สมาธิแบบที่ให้อยู่กับปัจจุบันก็ยังคิดได้อยู่ จิตตั้งอยู่ในปัจจุบัน มีสติคอยควบคุมบังคับให้คิดอยู่ในกรอบของธรรมะ อยู่ในมรรค เช่นเวลาไปคิดถึงนาย ก นาย ข ก็ไม่ใช่นาย ก นาย ข ความจริงเขาก็เป็นแค่ ดิน น้ำ ลม ไฟเท่านั้นเอง มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ถ้าไม่กินอาหารจะมีร่างกายนี้เกิดขึ้นมาได้ไหม ไม่ได้ ร่างกายมาจากอาหาร อาหารมันก็มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อตายไปร่างกายก็กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟไป