กัณฑ์ที่ ๒๓๙ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
บุญคือความสุขใจ
การที่พวกเรามีศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลอย่างยิ่ง เพราะเราจะได้รู้จักเรื่องราวต่างๆที่ดี ที่เราไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ก็ดี เรื่องของจิต เรื่องของมรรค ผล นิพพานก็ดี ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เราจะไม่ได้เรียนรู้จากแหล่งอื่นๆ จากที่อื่นๆ นอกจากที่พระพุทธศาสนานี้เท่านั้น เมื่อเรารู้จักแล้ว เราก็จะได้มีโอกาสสัมผัส ได้มาครอบครองสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในโลกนี้ ไม่มีอะไรในสามโลกธาตุที่จะวิเศษ ที่จะเลิศเท่ากับสิ่งที่พระพุทธศาสนามอบให้กับพวกเรา แต่ถ้าพวกเราไม่มีศรัทธา ก็จะเป็นการปิดกั้นทางของพวกเรา เพราะศรัทธาก็เปรียบเหมือนกับกุญแจที่จะเปิดตู้เซฟนิรภัย ที่เก็บสมบัติอันล้ำค่าไว้ ถ้าไม่มีกุญแจดอกนี้แล้ว ก็จะไม่มีทางที่จะเข้าไปเป็นเจ้าของสมบัติอันประเสริฐนี้ได้เลย ดังนั้นถ้าใครมีศรัทธาแล้วก็ควรรักษาไว้ให้ดี ควรเสริมสร้างศรัทธาให้แก่กล้าขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนใครที่ยังไม่มีศรัทธาก็ควรเสริมสร้างให้เกิดขึ้น การจะมีศรัทธาสำหรับคนที่ยังไม่มีศรัทธามาก่อนนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตร คนที่มีศรัทธาอยู่แล้ว ให้เขาชวนเราเข้าหาศาสนา เข้าหาพระสงฆ์องค์เจ้า ชวนเราเข้าวัดเข้าวา เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยปลูกฝังศรัทธาให้กับพวกเรา ส่วนคนที่มีศรัทธาอยู่แล้วก็ควรขวนขวายให้มีมากขึ้น อย่าประมาทนิ่งนอนใจ โดยคิดว่ามีศรัทธาแล้วจะไม่เสื่อมคลายไป
เพราะศรัทธามีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกันคือ ๑. ศรัทธาที่ยังไม่มั่นคง เพราะยังไม่ได้สัมผัสกับธรรมะในจิตใจอย่างแท้จริง เป็นศรัทธาในลักษณะของสัญญา ได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ก็เกิดศรัทธาขึ้นมา แต่ยังไม่ได้เห็นเรื่องราวต่างๆนี้ปรากฏขึ้นมาในจิตในใจ ถ้าไปได้ยินเรื่องราวที่ตรงกันข้ามกับเรื่องราวที่ได้ยินมา ก็อาจจะลบล้างศรัทธาที่มีอยู่ได้ แต่ถ้ามีศรัทธาชนิดที่ ๒ ที่เกิดจากการสัมผัสธรรมะที่ปรากฏขึ้นในใจแล้ว ศรัทธาแบบนี้จะไม่เสื่อมคลาย แม้จะตายจากชาตินี้ไปแล้ว ไปเกิดใหม่อีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่เสื่อมศรัทธาในพระรัตนตรัย ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเรายังไม่มีศรัทธาที่มั่นคงเหนียวแน่น ที่ไม่มีวันเสื่อมคลายได้ เราก็ไม่ควรประมาท ควรเข้าหาศาสนาอยู่เรื่อยๆ และพยายามปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาสอนให้เราปฏิบัติ ให้เกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาในจิตในใจของเราให้ได้ เพราะศาสนาที่แท้จริงนั้นจะต้องปรากฏขึ้นมาในจิตในใจของเรา การได้ยินได้ฟังนั้น เป็นพียงการเพาะปลูกเมล็ดแห่งพระศาสนานี้ไว้ในจิตในใจเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราไม่ทำนุบำรุงให้น้ำให้ปุ๋ยด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติ ผลคือความหยั่งลึกของรากแห่งศรัทธาในพระศาสนาก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วถ้าเราตายไป หรือไปอยู่ในสังคมที่ไม่มีศาสนา ความศรัทธาในศาสนาที่มีอยู่ก็จะจืดจางหายไปได้ เพราะจะมีเรื่องอื่นๆมากลบมาลบล้างศรัทธาที่มีอยู่ให้หมดไปได้
เราจึงไม่ควรประมาทนอนใจ อย่าไปคิดว่าเป็นพุทธศาสนิกชนมีศรัทธาทำบุญอยู่เป็นประจำก็พอแล้ว เพราะยังต้องทำอีกมาก นอกจากทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว ยังต้องปฏิบัติธรรมด้วย ต้องทำให้ธรรมะที่อยู่ข้างนอก ธรรมะที่อยู่ในใจของครูบาอาจารย์ มาปรากฏขึ้นในใจของเราให้ได้ ถ้าเป็นธรรมะที่ปรากฏอยู่ในใจของเราแล้ว มันจะอยู่กับเราไปตลอด แต่ถ้าเป็นเพียงความจำมันก็จะจางหายไปได้ เช่นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่เรื่อยๆ แต่ยังไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไรภายในจิตในใจของเรา มันก็ยังจะไม่เป็นธรรมะของเรา ยังเป็นธรรมะของผู้อื่นเขา เราจึงควรให้ความสนใจต่อการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ทำบุญให้ทานอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด มาวัดก็ทำได้ อยู่ที่บ้านก็ทำได้ อยู่นอกบ้านก็ทำได้ อยู่บนรถเมล์ อยู่สถานที่ใดเราก็สามารถทำได้ เพราะการทำทานก็คือการให้นั่นเอง ให้อะไรก็ได้ มีข้าวของก็แบ่งปันให้ผู้อื่นได้ มีความสุขก็แบ่งปันให้ผู้อื่นได้ มีประโยชน์ก็แบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ มีโอกาสก็แบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ เช่นสมมุติเรานั่งอยู่บนรถเมล์ เราเห็นคนอื่นที่เขาลำบากกว่าเรายืนอยู่ ไม่มีที่นั่ง อยากจะให้เขานั่ง ก็ลุกให้เขานั่งแทนเรา อย่างนี้ก็เป็นการให้เหมือนกัน ไม่จำเป็นจะต้องตักบาตรกับพระอย่างเดียวถึงจะได้บุญ การทำทานนี้ถ้าพิจารณาแล้ว จะเห็นว่ามีกว้างขวางมาก สามารถทำได้ทุกแห่งทุกหน
การกระทำอันใดที่ทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์สุขจากเรา ก็ถือว่าเป็นการทำบุญแล้ว เพราะคำว่าบุญนี้แปลว่าความสุขใจ ทานเป็นการกระทำ เป็นเหตุ บุญเป็นผลที่เกิดจากการกระทำความดี ทานก็เป็นการกระทำความดีอย่างหนึ่ง ทำแล้วก็ได้บุญ ได้ความสุขใจ รักษาศีลไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เป็นการกระทำความดีอีกอย่างหนึ่ง ผลก็คือบุญที่เกิดตามมาคือความสุขใจ เราไม่เบียดเบียนผู้อื่นเราก็มีความสบายใจ ไม่วุ่นวาย ไม่กังวล เช่นไม่โกหกคุณพ่อคุณแม่ เราก็จะสบายใจ เพราะรู้ว่ายังไงๆก็ไม่มีใครมาจับผิดเราได้ ว่าเราพูดโกหก เพราะเราไม่ได้โกหก นี่ก็เป็นความสบายใจที่เกิดจากการไม่ทำบาป ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี นี่ก็เป็นบุญอย่างหนึ่งเหมือนกัน คำว่าบุญจึงเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของเรา การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เป็นบุญเหมือนกัน ฟังแล้วเรามีความสงบ มีความสุข มีความรู้ เราฉลาดขึ้น อย่างนี้ก็เป็นบุญ เป็นความสุขเหมือนกัน การนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบระงับจากความฟุ้งซ่านต่างๆ สงบระงับจากความโลภ ความโกรธ ความหลง แม้จะเป็นชั่วขณะเดียว หรือไม่นานมากก็ตาม มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ท่ามกลางในโลกที่มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ เราฝึกทำสมาธิก็เหมือนกับเข้าไปนั่งอยู่ในห้องปรับอากาศ เวลาข้างนอกมันร้อนมาก เราก็เข้าไปนั่งในห้องปรับอากาศสักระยะหนึ่ง ก็ผ่อนคลายความร้อนได้
เวลามีเรื่องราวต่างๆที่สร้างความทุกข์ ความวุ่นวายให้กับจิตใจ การนั่งทำสมาธิก็จะช่วยระงับดับมันได้ ขอให้ทำไป มันช่วยได้ ถ้าสงบมากก็เย็นมาก ถ้าสงบน้อยก็เย็นน้อย ถ้าสงบนานก็เย็นนาน ถ้าสงบไม่นานก็เย็นไม่นาน แต่ก็ยังดีกว่าที่จะทนอยู่กับความรุ่มร้อน ทนอยู่กับเรื่องราวต่างๆ ที่จิตคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านไปหมด เวลาเรามีความทุกข์ทางด้านจิตใจ ขอให้นึกถึงคำว่าบุญทันที บุญที่ใกล้ตัวเราที่สุด ก็คือการทำจิตใจให้สงบ ถ้าทำสมาธิไม่ได้ ก็ไหว้พระสวดมนต์ไปก่อน สวดอรหังสัมมาฯ สวากขาโตฯ อิติปิโสฯ สวดบทที่เราจำได้ พยายามให้มีสติอยู่กับการสวดนั้นๆ อย่าให้จิตไปคิดถึงเรื่องที่สร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เราสามารถป้องกันไม่ให้เข้ามาสู่ในจิตในใจของเราได้ ถ้าเราสวดมนต์เป็น ถ้าเราฝึกทำสมาธิเป็น เพราะจิตจะทำงานได้ทีละอย่าง ถ้าจะคิดเรื่องนี้ก็จะคิดเรื่องอื่นไม่ได้ ถ้าเราวุ่นวายอยู่กับเรื่องนั้น แล้วหันมาสวดมนต์แทน พยายามดึงจิตให้อยู่กับการสวดมนต์ ไม่ให้กลับไปหาเรื่องที่สร้างความวุ่นวาย เดี๋ยวเรื่องวุ่นวายนั้นก็จะหายไป จิตของเราก็จะสงบ ใจของเราก็จะสบายขึ้นมา จิตของเราก็เหมือนกับโทรทัศน์ที่เราสามารถกดรีโหมดเปลี่ยนช่องได้ เวลาดูหนังที่หวาดเสียวมาก ขนลุกหวาดกลัว เราก็กดเปลี่ยนช่องได้ ถ้าเราไม่อยากจะดู จิตของเราก็เป็นเช่นนั้น ถ้าจิตมีเรื่องวุ่นวาย แล้วเราไม่อยากจะวุ่นวายกับเรื่องนั้น เราก็สวดมนต์ไป ถ้าเรามีสติมีสมาธิที่แก่กล้า เพียงแต่กำหนดจิตไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องนั้น เรื่องนั้นก็ไม่สามารถเข้ามาในจิตในใจได้
แต่ถ้าเราอยากจะกำจัดมันอย่างถาวรก็มีอีกวิธีหนึ่ง คือวิธีของปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระทั้งนั้นแหละ เรื่องที่มันสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้กับเรา แต่เนื่องจากเราไม่มีปัญญา เราหลง เรากลับไปเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับเรา เพราะเราไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่มีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย เรื่องราววุ่นวายต่างๆที่เราไปยึดไปติดนั้น จะวิเศษวิโสขนาดไหนขนาดไหนก็ตาม สักวันหนึ่งก็ต้องหายไป หมดไป มันไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด เราไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง สมมุติเราวุ่นวายใจเพราะเรากลัวจะสูญเสียสิ่งที่เรารักไป ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง ให้เห็นว่าไม่ใช่เป็นสมบัติของเรา เราก็จะไม่วุ่นวายใจ เพราะเวลาเรามา เราก็มาตัวเปล่าๆ เวลาเราไป เราก็ไปตัวเปล่าๆ แล้วของที่เราไปยึดไปติดไปหวงนั้น มันจะเป็นของเราต่อไปได้อย่างไร สักวันหนึ่งมันกับเราก็ต้องแยกทางกันอยู่ดี ถ้าจะแยกกันขณะนี้ก็ให้มันแยกไป ยอมรับความจริง เพียงเท่านี้แล้วใจของเราก็จะระงับดับจากความวุ่นวายได้ นี่ก็เป็นรีโหมดที่กดปิดเครื่องไปเลย ปิดโทรทัศน์ไปเลย หมดปัญหา นี่คือนิโรธความดับทุกข์ ก็เหมือนกับเราปิดโทรทัศน์ ดูโทรทัศน์แล้ววุ่นวายใจดูไปทำไม ปิดเครื่องเสียก็หมดเรื่อง คนบางคนก็ไม่ยอมปิด พยายามเปลี่ยนช่องนั้นเปลี่ยนช่องนี้ ดูอย่างไรมันก็ยังเบื่อ ดูอย่างไรมันก็เซ็งอยู่นั่นแหละ จะวิเศษขนาดไหน ดูบ่อยๆเข้า ซ้ำๆซากๆ ก็เบื่ออยู่ดี
นี่คือคำว่าบุญ เป็นอย่างนี้ การทำบุญมีหลายระดับ มีหลายขั้นด้วยกัน ขอให้เราทำอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใด อย่าไปคิดว่าการทำบุญจะต้องมาที่วัดโดยถ่ายเดียว การมาวัดนี้เป้าหมายที่แท้จริงก็คือมารับธรรมะ เพราะวัดเป็นเหมือนกับโรงเรียน เรามาศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ มาฟังธรรม มารับความรู้ที่เราอาจจะเคยรู้มาบ้างแล้ว แต่ยังไม่กระจ่างพอ พอได้ฟังซ้ำอีก ได้ฟังการบรรยายขยายความ ก็จะเกิดความเข้าใจดีขึ้น ช่วยเสริมกำลังศรัทธา ให้มีความมุ่งมั่นที่จะประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มากยิ่งๆขึ้นไป ช่วยสกัดกั้นความท้อแท้ อิดหนาระอาใจได้ เวลาที่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมหลายๆครั้ง ถ้าธรรมที่ฟังนั้นเป็นธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติ ธรรมที่เกิดจากการรู้จริงเห็นจริง จะเป็นเหมือนกับยาบำรุง ที่จะช่วยกระตุ้นศรัทธา กระตุ้นวิริยะความขยันหมั่นเพียร ให้เรามีกำลังจิตกำลังใจ ที่จะปฏิบัติธรรมให้มากยิ่งๆขึ้นไป การปลูกฝังศรัทธา การรักษาศรัทธา จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพวกเรา ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการทำบุญในลักษณะต่างๆ ทำที่บ้าน ทำที่ทำงาน ที่ไหนก็ทำได้ ถ้ามีโอกาส มีเหตุการณ์ที่จะให้เราต้องทำ เราก็ทำไป
เช่นเวลาเราเดินไปเจอของที่คนอื่นเขาทำตกไว้ นี่ก็เป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญแล้ว ถ้าไม่เคยศึกษาเรื่องบุญก็อาจจะคิดว่าหวานหมูแล้ว มีลาภลอยมาแล้ว ก็จะเก็บสิ่งของนั้นไว้เป็นของตน แต่ถ้าเป็นคนที่รู้ว่าการเอาของของผู้อื่นมาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำที่ไม่ควร ไม่เหมาะ ก็จะคิดว่าของนี้มีเจ้าของ ควรเอาไปฝากหรือไปถามคนที่อยู่ใกล้ๆแถวนั้นดูว่าเป็นของใคร แล้วก็ฝากเขาไว้ ไม่เอามาเป็นสมบัติของตน นี่ก็เป็นโอกาสที่ได้ทำบุญแล้ว คือมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่โลภอยากจะได้ของผู้อื่น ถ้าเราต้องการอะไรก็หามาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เวลาเราอยากจะได้อะไร ถ้ามีเงินเราก็เอาเงินไปซื้อมา ถ้าไม่มีเงินเราก็ทำงานทำการ เก็บเงินเก็บทองไว้ก่อน พอได้เงินแล้วก็ค่อยไปซื้อของที่เราต้องการ เราก็จะได้ทำในสิ่งที่ดี คือทำบุญนั่นเอง การกระทำอะไรที่เป็นการกระทำที่ถูกต้องก็เป็นบุญเหมือนกัน การมีความเห็นที่ถูกต้องก็เป็นบุญ ให้ความสุขกับเรา รู้ว่าของไม่ใช่ของเรา เราไม่ควรเอามาครอบครอง อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่าสัมมาทิฐิ เพราะเมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว การกระทำที่ถูกต้องก็จะตามมา ก็คือเราจะไม่เอาของชิ้นนั้นมาเป็นของเรา เราก็จะเอาไปมอบไว้ให้กับผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อเขาจะได้สืบหาเจ้าของต่อไป
นี่คือเรื่องของบุญต่างๆ มีหลากหลายวิธีด้วยกัน และสามารถทำได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดเวลาใด ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่จะปรากฏขึ้นมา จึงขอให้เรามีสติ ให้รู้ทันถึงเหตุการณ์ในแต่ละเวลา ว่าควรจะทำบุญในลักษณะใดบ้าง อย่าไปคิดว่าจะต้องรอวันนั้นวันนี้ เช่นวันเกิดของเรา เราถึงจะทำบุญกัน ถ้าทำเพียงแค่นั้น จิตใจก็จะผอมแห้งแรงน้อยไม่มีกำลังวังชา เพราะเหมือนกับกินข้าวปีละหน วันเกิดทีก็กินข้าวที เวลาไม่ใช่วันเกิดก็จะไม่กิน ร่างกายก็จะต้องผอมแห้งแรงน้อยตายไปก่อน แต่นี่เรากินวันละตั้ง ๓ - ๔ เวลา บางคนกินมากกว่านั้น นอกจากอาหารแล้วเรายังหายใจอีก อากาศก็เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ถ้าไม่มีอากาศร่างกายก็อยู่ไม่ได้ อากาศก็เป็นอาหารที่เราเอาเข้าไปในร่างกายแทบทุกวินาทีเลย นาทีหนึ่งก็หายใจเข้าไปหลายๆครั้งด้วยกัน ถ้าเราทำบุญแบบหายใจเข้าออกแล้ว รับรองได้ว่าเราจะเป็นเศรษฐีบุญ เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านทำบุญทุกลมหายใจเข้าออก ดังที่ทรงสอนพระอานนท์ไว้ให้เจริญมรณานุสสติอยู่เสมอๆ ทุกลมหายใจเข้าออก พิจารณาว่าคนเราเกิดมาแล้วต้องตาย ต้องแก่ ต้องเจ็บเป็นธรรมดา ถ้ามันอยู่ในจิตในใจของเราตลอดเวลา เราจะไม่ประมาท จะไม่โลภ เพราะไม่รู้ว่าจะโลภไปทำไม เมื่อตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้ เงินตั้งกี่หมื่นล้านก็เอาไปไม่ได้ ทิ้งให้คนอื่นหมด พวกบ้าหอบฟาง คือหอบของที่ไม่มีคุณค่าไป ของที่มีคุณค่าคือมรรค ผล นิพพาน คือบุญ ความสงบ ความสุขของจิตใจนี้กลับไม่แบกกัน ซึ่งเป็นของที่ไม่หนักเลย บุญกุศลยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งกลับทำให้จิตใจเราเบายิ่งขึ้น
บุญนี่แปลกมีมากแทนที่จะหนักกลับเบา ยิ่งทำให้จิตใจเราเบา ยิ่งทำให้จิตใจเรามีความสุข แต่สมบัติภายนอกยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งทำให้เราทุกข์ ยิ่งมีความหนักอกหนักใจมากขึ้นไปเท่านั้น แต่ความโง่เขลาเบาปัญญาหลงตนว่าเป็นผู้ฉลาด สามารถกอบโกยหาเงินหาทอง มีอำนาจวาสนามาก กลับหลอกให้พวกเราแบกความทุกข์อันมโหฬารอยู่ในจิตในใจโดยไม่รู้ตัว นี่คืออวิชชา นี่คือความโลภ นี่คือความหลง มันหลอกจิตของเราให้กลายเป็นทาสไปแบกสิ่งที่ไร้สาระ ไร้คุณค่า แล้วก็ต้องทุกข์กับมันไปจนวันตาย ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้เท่านั้น ตายไปแล้วก็ติดเป็นนิสัยไป ชาติหน้ากลับมาเกิดใหม่ก็กลับมาทำอย่างเดิมๆอีก ทำไปเรื่อยๆถ้าไม่ได้เจอศาสนาพุทธ แล้วเกิดศรัทธาก็จะไม่รู้เรื่อง ก็จะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรของความทุกข์นี้ไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าได้เจอศาสนาพุทธแล้วได้สติคิดได้ เข้าใจอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณ ก็จะสามารถแก้ไขนิสัยเดิมๆได้ คือแทนที่จะไปสะสมลาภ ยศ สรรเสริญ สุข กองเงินกองทอง อำนาจวาสนา ก็มาสะสมบุญกัน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน เปลี่ยนนิสัย เช่นเคยถนัดมือซ้ายแล้วหันมาใช้มือขวา เพราะสมมุติว่ามือขวานี้มีประโยชน์มากกว่ามือซ้าย มือซ้ายมีแต่โทษ ใช้ไปแล้วมีแต่ทำให้เราเจ๊งอยู่เรื่อยๆอย่างนี้ แต่ถ้าทำด้วยมือขวาแล้วทำให้เราเจริญ เราก็ต้องเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยนเราก็จะหาความเจริญไม่ได้ ก็จะวนเวียนอยู่กับความเสื่อมความเสียอยู่เรื่อยๆ
เรื่องของศาสนานี้ก็เป็นเรื่องที่สอนให้เรารู้จักว่า อะไรเป็นคุณเป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจของเราอย่างแท้จริง เราจึงต้องน้อมเอาสิ่งที่ศาสนา สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้มาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา เราเคยหมกมุ่นอยู่กับเรื่องกามต่างๆ กามรส กามารมณ์ต่างๆ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราก็ต้องพยายามละเลิกมัน พยายามละเลิกสิ่งที่เป็นโทษ เช่นสุรายาเมา สิ่งเสพติดทั้งหลาย บุหรี่ ของที่เป็นโทษ ไม่มีคุณ ไม่มีประโยชน์ จะเลิกมันก็ไม่ง่ายดาย แต่ก็ไม่สุดวิสัย เราสามารถเลิกได้ถ้ามีความเข้มแข็ง มีความเด็ดเดี่ยว มีปัญญา คือรู้ว่ามันเป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเรา ถ้าเรารู้ว่ามันเป็นโทษ เป็นเหมือนกับงูพิษ มีใครอยากจะเอางูพิษมาเล่น มาคล้องคอบ้าง ไม่มีใครอยากจะได้งูพิษมาคล้องคอ แต่ถ้ารู้ว่ามันเป็นงูพิษปั๊บนี่เราจะต้องหาวิธีกำจัดมันทันที ไม่อยากจะให้มันอยู่ใกล้ตัวเรา เราจึงควรปลดเปลื้องพฤติกรรมการกระทำของพวกเรา ที่เป็นโทษ ที่ไม่ได้นำความสุขมาให้กับเราอย่างแท้จริง สลัดให้มันห่างจากตัวเรา ห่างจากจิตใจของเรา นี่คือสิ่งที่เราจะได้ยินได้ฟังจากศาสนา
สิ่งที่พวกเราแสวงหากัน เช่นลาภ ยศ อำนาจวาสนา ความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับจิตใจของเรา แต่มันจะกดดันจิตใจให้มีแต่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น สังเกตดูเวลาเรารักใครสักคน เราจะต้องวุ่นวายกับคนที่เรารัก ต้องห่วงต้องกังวล ไหนจะหวง ไหนจะไม่อยากจะให้เขาทำในสิ่งที่เราไม่อยากให้เขาทำ ถ้าไปทำ เราก็จะวุ่นวายใจ แต่ถ้าเราไม่ได้ไปรักเขา เขาจะทำอะไรอย่างไรก็ไม่ได้สร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา แต่เราเกิดมีกามารมณ์ คืออยากจะได้เขามาเป็นสมบัติ อยากจะให้เขาให้ความสุขกับเรา เราก็เลยไปหลงรัก ไปชอบเขา แต่เราไม่รู้ว่าเราไม่สามารถไปควบคุมบังคับเขา ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้เสมอไป มันจึงสร้างแต่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจให้กับเรา เมื่อเขาไม่ได้ทำตามความอยากของเรา เป็นผลที่ตามมาเมื่อเราไปเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไปยินดีกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไปหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา กลายเป็นความกังวลใจขึ้นมา
เราจึงต้องแก้ไขพฤติกรรมต่างๆที่ไม่ดีของเรา เช่นความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความอยากเป็นใหญ่เป็นโต เป็นมหาเศรษฐี ความอยากเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ที่ฝังลึกอยู่ในจิตในใจของเรา แต่ถ้าได้พิจารณาอย่างแยบคาย ก็จะเห็นว่ายิ่งมีความอยากเหล่านี้มากเพียงไร ยิ่งหนักอกหนักใจมากขึ้นเพียงนั้น ไม่เหมือนกับเรื่องของบุญ ยิ่งทำมากเท่าไรยิ่งทำให้ใจเบามากขึ้นเพียงนั้น เช่นเรามีสมบัติ มีอะไรที่ไม่ใช้ เก็บไว้ก็ต้องคอยกังวล คอยดูแล คอยรักษามัน เวลาหายไปเราก็เสียใจ ทั้งๆที่เราก็ไม่ต้องอาศัยมัน เพียงแต่พอเห็นมันก็มีความรู้สึกดีอกดีใจไปอย่างนั้นเอง แต่ถ้าตัดใจได้ว่า เราก็ไม่ได้ใช้มัน เอาไปให้คนที่เขาไม่มีดีกว่า มีเสื้อผ้าเหลือเฟือ เหลือใช้ ล้นตู้ เก็บไว้เป็นปีๆก็ไม่ได้ใส่ ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ให้คนที่ไม่มีใส่จะดีกว่า ให้เขาแล้วเราจะมีความสุข ใจเราก็จะเบาขึ้น ไม่ต้องมาห่วง ไม่ต้องมากังวล ไม่ต้องมาเสียดาย ศาสนาสอนให้เราแบกแต่ของเบาๆ แบกแต่ของที่ให้เรามีความสุข แต่พวกเรากลับชอบแบกของที่ให้ความทุกข์ ชอบแบกของที่หนักๆ หนักอกหนักใจ กลุ้มอกกลุ้มใจ ก็เพราะเรื่องราวต่างๆ ที่เรามีครอบครองอยู่ทั้งนั้นแหละ เรื่องสมบัติ เรื่องเงินทอง เรื่องญาติสนิทมิตรสหาย ลูกหลาน สามีภรรยา เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจทั้งสิ้น
ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ดูพระอริยสงฆ์เป็นตัวอย่าง ท่านไม่ได้มีสมบัติแบบนี้เลย ท่านมีแต่บุญอยู่ตลอดเวลา ท่านมีแต่ให้อยู่ตลอดเวลา ท่านมีแต่ศีลอยู่ตลอดเวลา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ท่านมีสมาธิ มีความสงบอยู่ตลอดเวลา ท่านมีปัญญา มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบอยู่ตลอดเวลา ท่านเห็นไตรลักษณ์อยู่ทุกขณะจิต เห็นความเสื่อมความเจริญว่าเป็นของคู่กันอยู่ตลอดเวลา เห็นความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เห็นความไม่มีตัวไม่มีตนในสิ่งทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่ทำให้ท่านมีบุญมาก มีความสุขมาก นี่ก็คือสิ่งที่ท่านสอนให้เราสะสมกัน เราจะเรียกว่าอริยทรัพย์ก็ได้ เป็นสมบัติเป็นทรัพย์ของผู้ประเสริฐ ของพระอริยะทั้งหลาย ผู้ประเสริฐก็คือผู้รู้ ผู้ฉลาด รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ให้ความสุขอย่างแท้จริง ส่วนพวกเรานี้ไม่ได้เป็นพระอริยะกัน เพราะพวกเรายังโง่เขลาเบาปัญญากันอยู่ เรายังหลงอยู่กับพวกอิฐหินปูนทราย แทนที่จะไปหลงกับเพชรนิลจินดา เรากลับไปชอบพวกอิฐหินปูนทรายกัน ชีวิตของพวกเราจึงไม่ค่อยได้อะไรเท่าไร มีแต่แบกความทุกข์อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเรานำสิ่งที่พระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ท่านสอนให้เราปฏิบัติ มาปฏิบัติกันอยู่เรื่อยๆแล้ว ต่อไปเราก็จะเป็นเศรษฐีบุญ เป็นเศรษฐีธรรมะ แต่เราจะเป็นคนยากจนทางโลก เพราะว่าเงินก็คงจะหมดไปกับการทำบุญ
แต่คนที่ได้ความสุขจากการทำบุญจะไม่เสียดายเงิน เขาทำบุญหมด เขาก็ออกบวช คนที่ออกบวชก็ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้ว สมบัติเงินทองมีมากมีน้อยเพียงใดก็สละหมด พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ทรงสละพระราชสมบัติ ทรงมีปราสาทอยู่ตั้ง ๓ หลัง ปราสาท ๓ ฤดูก็ทรงสละไป ไปอยู่โคนต้นไม้อย่างนี้เป็นต้น ยากจนเป็นขอทาน ต้องไปอาศัยข้าวเขากิน ทุกเช้าก็ต้องถือบาตรเข้าไปในหมู่บ้านขอข้าวเขากิน เป็นยาจกทางโลก แต่เป็นเศรษฐีทางธรรมทางบุญ ดีกว่าเป็นเศรษฐีทางโลกที่มีแต่ความทุกข์กดดัน เบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นยาจกทางธรรม หาความสุขไม่ได้ วันๆหนึ่งมีแต่นอนก่ายหน้าผาก มีแต่บ่นอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ได้หาความสุข ไปหาความทุกข์กัน นี่แหละคือความหลงกับความรู้มันเป็นอย่างนี้ ความรู้ทางด้านปัญญาก็ต้องทางศาสนา ทางพระพุทธ ทางพระธรรม ทางพระสงฆ์ นั่นแหละคือแสงสว่าง เวลาเดินอยู่ในที่มืดกับที่สว่างมันแตกต่างกัน สมมุติว่าเรานั่งอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้แล้วเกิดมีสุริยคราส มีพระจันทร์มาบดบังแสงอาทิตย์ปั๊บ มันก็จะมืดสนิท จะมองไม่เห็นอะไร ยังไม่รู้เลยว่าน้ำขวดไหนอยู่ตรงไหน ไปหยิบก็หยิบผิดๆถูกๆ อยากจะฉันน้ำนี้ก็ไปหยิบน้ำอีกอย่างมาฉัน นี่คือลักษณะของความมืดบอดของอวิชชา ของความหลง เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นกลับตาลปัตร แต่พอมีแสงสว่างปรากฏขึ้นมาก็เห็นเลย อยากจะกินอยากจะดื่มน้ำชนิดไหนก็สามารถหยิบขึ้นมาดื่มได้ เห็นชัดเจน เพราะมีแสงสว่าง
เรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องสุข เรื่องทุกข์ก็เหมือนกัน ถ้าอยู่ในความมืดของโมหะอวิชชาก็จะคว้าผิดคว้าถูก ส่วนใหญ่จะคว้าแต่ความทุกข์เข้ามา เพราะความทุกข์นี้มันฉลาด มันมักจะซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ความสุข ที่เป็นเหมือนกับผิวน้ำตาลเคลือบความขมไว้อย่างนั้น เคยกินยาขมเคลือบน้ำตาลไหม เวลาอมไปนิดเดียวเดี๋ยวความหวานนั้นมันก็หมดไป เขาจึงให้รีบกลืนยา ถ้ามีแต่รสขมเราจะกินไม่ได้ ก็เลยต้องเคลือบสารบางอย่างไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้รสขมนั้นปรากฏขึ้นมา ฉันใดความทุกข์ในโลกนี้ก็เป็นอย่างนั้น มันจะซ่อนอยู่ภายใต้ความสุข เราแต่งงานเราก็คิดว่ามีความสุข เรามีลูกเราก็มีความสุข เราได้อะไรเราก็มีความสุข แต่เราไม่เคยมองเวลาที่เราจะต้องเสียมันไป เวลาที่เราจะต้องจากมันไป หรือเวลาที่มันจะต้องจากเราไป มันให้ความทุกข์กับเราขนาดไหน
เวลาไปงานศพก็ไปดูคนร้องห่มร้องไห้กัน ไปโรงพยาบาลก็ไปดูคนเขาร้องห่มร้องไห้กัน นี่เรามองไม่เห็นกัน เพราะว่าความทุกข์มันซ่อนอยู่ข้างหลัง คนที่ไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมจะมองไม่เห็น จะเห็นแต่ความสุขที่เป็นฉากบังหน้าอยู่เท่านั้นเอง แต่ตัวอุบาทว์ตัวความทุกข์ที่มันซ่อนอยู่ข้างหลัง เราจะมองไม่เห็น เวลาทำอะไรจะเห็นแต่ผลดีทั้งนั้น ทำแล้วดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ พอมันไม่ดีอย่างใจก็มาเสียอกเสียใจภายหลัง ก็เพราะเรามองด้านเดียวไม่เคยคิดว่าส่วนที่มันไม่ดีไม่มีบ้างหรือ ทุกครั้งเวลาเราจะทำอะไร หรือเราเห็นว่าอะไรดี เราถามตัวเราเองบ้างว่า มันไม่มีอะไรไม่ดีบ้างหรือ มันต้องมีทั้งนั้นแหละไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นคนเป็นวัตถุเป็นอะไรทั้งหลาย มันมีไตรลักษณ์ อยู่ทั้งนั้น มันมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ เพราะมันเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่สมบัติของเราอย่างแท้จริง วันนี้มันอยู่กับเรา วันหน้ามันก็จะต้องจากเราไป มันจะไปเมื่อไรเราก็ไม่รู้
ถาม เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์พูดถึงการทำบุญนะครับ ญาติโยมส่วนใหญ่ก็จะเลือกทำบุญที่ได้บุญเยอะๆนะครับ แต่ทีนี้เราก็ประมาณไม่ถูกว่า ทำทานแบบไหนที่ให้บุญมาก คนส่วนใหญ่จะเลือกทำบุญในสิ่งที่ร่ำลือกันว่าได้ผลเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้นะครับ แต่จริงๆมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ
ตอบ มันต้องวัดที่ใจของเรานะ เราทำอะไรแล้วเรามีความซาบซึ้งใจมาก มันกระทบกระเทือนใจเรามาก อันนี้แหละเป็นบุญมากสำหรับเรา สมมุติว่าเรากำลังหิวข้าว มีข้าวอยู่จานเดียว แต่เราเห็นคนที่กำลังผอมโซเดินมา เขาไม่ได้กินข้าวตั้ง ๔ - ๕ วัน ถึงแม้เราจะหิวข้าวแล้วอยากจะกินข้าวจานนั้น เราเกิดความสงสารคนนั้นมากกว่าสงสารเราๆเอาข้าวจานนั้นให้เขากิน อันนั้นก็บุญมากแล้วเพราะมันชนะกิเลสในใจเราได้
ถาม กุศลผลบุญที่เกิดขึ้นจากการถือศีล ๕ ศีล ๘ นี่มันต่างกันมากน้อยขนาดไหน
ตอบ ถ้าถือศีล ๘ ก็ช่วยทำให้จิตใจให้สงบมากขึ้น เพราะว่าศีล ๘ นี้จะเพิ่มอีก ๓ ข้อ ซึ่งเป็นตัวที่จะช่วยให้เราได้เข้าสู่ความสงบ เพราะถ้าถือศีล ๘ แล้วเราก็จะดูโทรทัศน์ ฟังเพลงไม่ได้ ไปจะยุ่งกับเรื่องกามสุขไม่ได้ เราก็ต้องมาสวดมนต์ไหว้พระ นั่งทำสมาธิ มันก็จะได้ความสุขที่ละเอียดกว่าความสุขที่ได้จากการรักษาศีล ๕ การรักษาศีล ๕ ทำให้เราไม่วุ่นวายใจ ไม่หวั่นไหวว่าจะมีใครมาจับเราไปทำโทษ เช่นเราไม่ได้ไปลักทรัพย์ของผู้อื่น เราก็ไม่มีความกังวลใจว่าจะมีใครมาจับผิดเรา แต่จิตก็ยังคิดนู้นคิดนี่ได้อยู่ เราไม่กังวลเรื่องศีล แต่ก็อาจจะกังวลเรื่องอื่น เช่นกังวลเรื่องลูก เรื่องสามี เรื่องภรรยา เรื่องงานเรื่องการ แต่ถ้าเราถือเนกขัมมะเราก็จะต้องภาวนา
การถือเนกขัมมะก็คือ ไม่ให้เราไปวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆนั่นเอง ถ้าดูละคร เดี๋ยวก็คิดปรุงตามไปด้วย คิดถึงเรื่องของเราก็ทำให้เกิดกังวลเกิดขึ้นมาได้ ถ้าไม่ได้ดูละคร ไม่ได้ฟังเพลง เราก็ต้องทำอะไรสักอย่าง เราก็อาจจะอ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ สวดมนต์ หรือภาวนาเดินจงกรม ก็จะทำให้จิตมีความสงบเพิ่มขึ้น ไม่ต้องไปคิดกังวลกับเรื่องต่างๆ ก็จะพัฒนาจิตให้สูงขึ้น พูดง่ายๆเพื่อให้เข้าสู่ความสงบมากยิ่งๆขึ้น เพราะถ้าถือศีล ๕ อย่างเดียวจะไม่พอ ถือศีล ๕ นี่ยังดูหนังดูละครได้ ยังนอนกับแฟนได้ ยังยุ่งกับเรื่องราวต่างๆได้อยู่ มันก็จะไปหมกมุ่นกับเรื่องเหล่านั้น ถึงแม้จะไม่ผิดศีล แต่มันก็เป็นนิวรณ์ กามฉันทะ การถือศีล ๘ ก็เป็นการช่วยกำจัดนิวรณ์ กำจัดกามฉันทะ เพราะถือศีล ๘ นี่ ยุ่งเกี่ยวกันไม่ได้นะ ถึงแม้จะเป็นสามีเป็นภรรยากันก็ตาม มันก็ตัดปัญหาเรื่องกามฉันทะไปได้ในระดับหนึ่ง เรื่องรับประทานอาหารก็กำจัดได้ เห็นไหมหลังจากเที่ยงวันแล้ว เราก็ไม่กังวลกับเรื่องรับประทานอาหาร แต่ถ้าถือศีล ๕ เดี๋ยวเย็นนี้ก็คิดแล้วว่า คืนนี้จะกินอะไรดี ไปกินอาหารที่ไหนดี กินอาหารเย็นเสร็จแล้วเดี๋ยวก่อนนอนก็ยังคิดจะกินอะไรต่ออีก บางทีนอนหลับไป ตื่นขึ้นมา เปิดตู้เย็น เห็นขนม ก็ยังอดที่จะกินอีกไม่ได้
ถาม เปิดฟังข่าวได้ไหมคะ
ตอบ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรฟัง ไม่เกิดประโยชน์ แต่จะฟังก็ไม่เสียหายอะไร ฟังได้ แต่ถ้าอยากจะมุ่งมั่นไปในทางสงบ การฟังข่าวคราวก็เป็นการสวนทางกัน ทำให้จิตเราฟุ้งได้ เกิดความวุ่นวายใจได้ นี่ขณะนี้ถ้ากำลังยิงกันอยู่ในกรุงเทพฯ เราไม่ได้ยินข่าวคราวนี้เราก็สบายใจ สงบใจ ไปรู้มันทำไมเรื่องราวเหล่านี้ เราต้องถือว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทำกันมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว สมัยอยุธยาก็ทำแบบนี้ สมัยสุโขทัยก็ทำแบบนี้ ทำกันมาตลอดเวลาแก่งแย่งอำนาจกัน ชิงกันไปชิงกันมา ฆ่ากันไปฆ่ากันมาตลอดเวลา ถ้าไม่ไปเกี่ยวข้อง ก็ไม่เป็นไร อยู่ตามป่าตามเขาของเรา จะไม่ได้รับผลกระทบจากการแก่งแย่งชิงดีกัน แย่งอำนาจกัน ถึงแม้จะอยู่ในกรุงก็ต้องทำใจเหมือนอยู่ในป่า คืออย่าไปกังวลกับเรื่องราวเหล่านี้ กังวลแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ห้ามเขาไม่ให้แก่งแย่งชิงดี ไม่ให้เขาทะเลาะวิวาทกันได้ไหม รู้แล้วก็ปล่อยวาง รู้ทันแล้วก็ปล่อยวาง รู้ไว้ก็ดีจะได้เตรียมหาทางหนีทีไล่ แต่อาตมาอยู่บนเขานี้ก็ไม่เดือดร้อนอะไร ย้ายมาอยู่บนเขานี้แล้วก็สบาย
ถาม ท่านอาจารย์ให้ผู้หญิงมาอยู่บนนี้ได้ไหมคะ
ตอบ ไม่ได้ ต้องไปอยู่ตามสำนักที่ให้ผู้หญิงอยู่กัน สำนักคุณแม่แก้วอย่างนี้ สำนัก ก. เขาสวนหลวง ไปอยู่ที่บ้านตาดก็ได้ มีสำนักครูบาอาจารย์ที่มีที่ปฏิบัติเยอะแยะ เราไปติดอยู่ในกรุงกันเอง ไม่มีใครบังคับให้อยู่ เรามีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในความสุข ในความสบาย ในความเคยชินกับชีวิตที่เราเคยอยู่ เราไม่อยากเปลี่ยนแปลงกัน เวลาเปลี่ยนทีมันลำบาก เหมือนกับหันมาใช้มือซ้าย เคยใช้มือขวาแล้วต้องมาใช้มือซ้าย อย่างนี้มันก็อึดอัดใจ ไม่สบายใจ ก็อย่างที่บอก มาทำบุญนี่มันยาก ต้องบังคับ ต้องคอยเข่นเขี้ยว ต้องคอยเข็นถึงจะทำได้ จะปล่อยให้ทำแบบไปเที่ยวไม่ได้หรอก ไปเที่ยวนี่ไม่ต้องบังคับเลย เพื่อนโทรฯมากริ๊งเดียวรีบแต่งตัวรอไว้แล้ว กลัวจะแต่งตัวไม่ทันใช่ไหม แต่ถ้าเราทำบุญแบบเราไปเที่ยวนี่ เราก็จะไปถึงไหนแล้วล่ะ ถ้าจิตใจเรามีความรักการทำบุญเหมือนอย่างรักไปเที่ยว ป่านนี้เราไปถึงนิพพานกันหมดแล้ว แต่มันกลับตรงกันข้ามกัน เวลาเราทำบุญนี้เหมือนกับจะฉุดลากเข้าคุกเข้าตะรางอย่างนั้นแหละ แต่ไม่ได้หมายถึงญาติโยมนะ เพราะญาติโยมรู้สึกว่ามากันง่าย ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่ไม่เอาเลยเรื่องวัดเรื่องวา เรื่องการทำบุญ
แต่ก็ยังต้องพัฒนากันอีกมาก บุญที่เราควรจะทำยังมีอีกเยอะ ถ้าทำถึงขั้นพระอานนท์ได้ก็จะสบาย พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ให้เจริญบุญอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ให้ทำบุญอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก คือระลึกถึงความตาย ระลึกถึงความเสื่อม ระลึกถึงอนิจจัง เวลามันเกิดขึ้นจะไม่มีความรู้สึกตกอกตกใจ หวาดเสียว จะไม่วุ่นวายใจ จะนิ่งเฉย ปล่อยให้เหตุการณ์มันปรากฏขึ้น แล้วมันก็ผ่านไป เหมือนนอนหลับฝันร้ายขนาดไหนก็ตาม พอตื่นขึ้นมามันก็หายไปหมด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็เหมือนกับฝันร้าย ความตายมันก็แค่ขณะเดียวเท่านั้นแหละ เวลาไม่หายใจปั๊บมันก็ตาย พอมาเกิดใหม่ก็ลืมไปแล้วว่าได้ตายมาก่อนหน้านี้ ถ้าไม่ตายก่อนจะมาเกิดได้ไหม ไม่ได้ ก็ต้องตายมาก่อนถึงจะมาเกิดได้ พอเรามาเกิดแล้ว เราก็ลืมเรื่องความตายว่าเป็นอย่างไร แต่ตอนก่อนตายนั้นเราวุ่นวายกันมาก เพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ จึงต้องทุกข์ทรมานในตอนนั้น
แต่คนที่เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว คอยสอนใจอยู่ตลอดเวลา พอมันเกิดขึ้นปั๊บก็ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน ไม่ทรมานใจ เวลาเราสูญเสียใครไป ก็ไม่เศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไปก็ไป ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องไป เคยฟังเทศน์ของท่านอาจารย์สิงห์ทองท่านเล่าว่า มีครอบครัวหนึ่ง มีพ่อแม่ มีลูกชายแล้วก็มีลูกสะใภ้ ครอบครัวนี้เจริญมรณานุสสติอยู่ตลอดเวลา ทุกคนรู้ว่าจะต้องไปกัน พอเวลาแม่ไปก็ไม่มีใครร้องห่มร้องไห้ เวลาพ่อตายก็ไม่ร้องห่มร้องไห้ ถึงเวลาก็ทำศพกันไป เผากันไป ก็จบ แล้วมันก็ผ่านไป พอคนหนึ่งตาย คนที่อยู่ก็เอาไปทำศพ พอเผาไป ก็เสร็จ ไม่เห็นมีอะไร เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนตอนพระอาทิตย์ตกดิน ก็ไม่มีใครมานั่งร้องห่มร้องไห้ เหตุการณ์ต่างๆมันก็เกิดขึ้นไปตามเรื่องของมัน จะรู้อนิจจังหรือไม่มันก็เกิดขึ้น มันก็ตายเหมือนกัน เพียงแต่ว่าความรู้สึกทางจิตใจมันต่างกัน ตายหนักหรือตายเบา ตายสุขหรือตายทุกข์เท่านั้นเอง อยู่สุขหรืออยู่ทุกข์ ก็อยู่ที่ความรู้นี้เอง ถ้ารู้อนิจจังอยู่ตลอดเวลา อยู่ก็เป็นสุข ตายก็เป็นสุข ไม่วุ่นวาย ถ้าไม่รู้ พอหมอบอกว่าคุณเป็นมะเร็งนะ โอโฮ!ตัวยังไม่ทันตายเลย ใจตายไปเสียก่อนแล้ว ไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะอยู่อีกต่อไป มันต่างกันแค่นี้เอง แต่เรื่องความตาย ความแก่ ความเจ็บนี้มันมีเท่ากันทุกคน ครูบาอาจารย์ท่านก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเหมือนกัน เราก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเหมือนกัน แต่ท่านไม่ได้แก่ เจ็บ ตายเหมือนพวกเราเท่านั้นเอง ท่านสบาย ท่านเฉยๆ ถึงเวลาจะไปก็ไป
ถาม ท่านอาจารย์คะที่ว่าญาติตายหรือใครตายก็ทำใจได้ จะโดนญาติคนอื่นว่าไหมคะ
ตอบ ว่าก็เรื่องของเขานะ คนที่ว่าเราแล้วมีความสุข หรือวุ่นวายล่ะ มันเรื่องของเขา เสียงนกเสียงกาเราห้ามได้เสียเมื่อไร นกมันร้องเรายังไปห้ามนกไม่ได้เลย แต่ถ้าจิตใจเราหนักแน่นขนาดนั้นแล้ว เราจะไม่กังวลว่าใครจะพูดอะไร ใครจะด่าอะไรมันก็เรื่องของเขา ใครจะชมก็ไม่ได้ดีใจกับคำชมของเขา ใครจะตำหนิ ใครจะว่าเรา เราก็ไม่ได้ไปอะไรกับเขา เพราะเขาก็ไม่ได้มาแก่กับเรา ไม่ได้มาเจ็บกับเรา ไม่ได้มาตายกับเรา เวลาเราแก่ เราเจ็บ เราตาย เขาก็ไม่ได้มาอะไรกับเรา เขามาแก่แทนเราไม่ได้ มาเจ็บแทนเราไม่ได้ มาตายแทนเราไม่ได้ เขาทุกข์แทนเราไม่ได้ เรื่องของคนอื่นเป็นอนัตตา ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเรา เหมือนกับลมกับแดด เราไม่กังวลกับเรื่องลมเรื่องแดด แล้วเราไปกังวลกับเรื่องคนอื่นทำไม คนอื่นเขาจะทำอะไร จะชมเรา จะชอบเรา จะเกลียดเรา จะด่าเรา เราก็ห้ามเขาไม่ได้ ปล่อยเขาทำไป ถ้าเราไม่ไปตอบโต้ เดี๋ยวเขาก็เลิกยุ่งกับเราไปเอง เขาไม่เข้าใจ ถ้าเขาเข้าใจ เขาจะไม่ว่าเราหรอก ก็เหมือนกับเด็กแหละ เด็กไม่เข้าใจก็ทำไปตามภาษาเด็ก ผู้ใหญ่จะไปโกรธเด็กได้อย่างไร ผู้ใหญ่ก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นเด็ก มันก็ร้องห่มร้องไห้ฟูมฟายโทษคนนั้นโทษคนนี้วุ่นวายไปหมด
ถาม เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์พูดถึงคนที่เข้าวัด มีคำถามว่า บางคนนี่มาทำบุญตลอด แต่บางคนไม่ยอมมา พยายามบอกเขาๆก็ไม่มา ทำไมคนบางคนอยากมา คนบางคนเฉยๆค่ะ
ตอบ เรามีหน้าที่บอกของที่ดี เหมือนคนที่เขาบอกหวยนั่นแหละ งวดนี้จะออกเลขนี้ คุณจะซื้อหรือไม่ซื้อก็เรื่องของคุณ ถ้าคุณเชื่อแล้วซื้อคุณถูกก็เป็นบุญของคุณ คนบอกก็ไม่ได้อะไร แต่คนที่เชื่อเขาก็ได้ เขาซื้อแล้วถูกรางวัลที่หนึ่งอย่างนี้ แต่ถ้าเขาไม่เชื่อ เขาไม่ถูก เขาก็เสียใจไปเอง เรามีหน้าที่บอกสิ่งที่ดีที่งามก็บอกไป แล้วไม่ต้องไปวุ่นวายใจกับเขา ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เราไปบังคับให้เขาเชื่อไม่ได้ บังคับจิตใจของเขาไม่ได้ ชวนเขามา เขาไม่มาก็จบ ก็เท่านั้น เราทำหน้าที่ของเราแล้ว ทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรคือเพื่อนที่ดี มอบสิ่งที่ดีให้กับเขา เมื่อเขาไม่ยินดีกับสิ่งที่เรามอบให้ก็แล้วไป แต่สักวันหนึ่งเมื่อเขามีความเชื่อ ได้สัมผัส เขาอาจจะนึกถึงความดีของเรา ที่เราเคยพยายามมอบให้กับเขาก็ได้ แต่ถ้าเราทำเพื่อบุญจริงๆ ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์จริงๆแล้ว เราน่าจะมีความสุขแล้ว ที่เราได้มีโอกาสได้บอกเขาถึงเรื่องที่ดีที่งามทั้งหลาย เราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างสมบูรณ์แล้ว เราได้ทำทานแล้ว นี่ก็เป็นการทำทานอย่างหนึ่ง คือบอกเรื่องที่ดีให้กับผู้อื่น บอกว่าที่ตรงนั้นมีทองกองอยู่เบ้อเริ่มเลย อยากจะได้ก็รีบไปเอานะ เราก็บอกของดีให้กับเขาแล้ว นี่ก็เป็นบุญแล้ว เป็นการให้ เรียกว่าวิทยาทาน
ทานมีทั้งวัตถุทาน เช่นให้น้ำให้ข้าวก็เป็นวัตถุทาน ให้ความรู้ก็เป็นวิทยาทาน ให้ธรรมะก็เป็นธรรมทาน ให้อภัยก็เป็นอภัยทาน เช่นไม่โกรธเขาเมื่อเราบอกเขาแล้ว ชวนเขาแล้วเขาไม่มา เราก็ไม่ไปโกรธเขา อันนี้ก็เป็นการให้อภัย ในการทำบุญมันลึก มันกว้างอย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ ไม่ได้อยู่ที่การถวายทานแก่พระอริยสงฆ์เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องเกาะชายผ้าเหลืองของท่านอยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะไปปิดกั้นบุญอย่างอื่นที่จะต้องทำ เพราะในชีวิตของคนเรานั้นต้องเผชิญกับเรื่องราวต่างๆมากมาย ต้องเจอกับคนนั้น ต้องเจอกับคนนี้ เราทำกับเขาเราก็ได้บุญ เราได้ความรู้สึกที่ดีจากเขา วันข้างหน้าเขาอาจจะคิดถึงเรา เวลาเราเดือดร้อนตกทุกข์ได้ยาก เขาก็มาช่วยเหลือเราได้เหมือนกัน จึงอย่าไปมองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ใกล้ตัวเรา เราสามารถทำบุญได้กับคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เราเกลียดนี่ทำให้ได้ ทำได้แล้วจะได้บุญมาก
บุญที่ใหญ่โตก็คือทำบุญกับคนที่เราเกลียด ถ้าทำได้ เราจะระงับความเกลียด ความโกรธได้ ระงับความทุกข์ได้ ต่อไปจะไม่มีความรู้สึกที่ไม่ดีกับเขา เวลาเห็นหน้าเขาจะมีความเมตตาเกิดขึ้น มีความสงสารเกิดขึ้น เมื่อสักครู่นี้ถามว่าทำบุญชนิดไหนได้บุญเยอะๆ ก็ทำอย่างนี้ ทำบุญที่หนักใจที่ยากที่สุด ก็อันนี้แหละ จะได้บุญมากที่สุด บุญที่แท้จริงมันอยู่ในใจเรา คือการปลดเปลื้องความหนักอกหนักใจให้ออกไป คือบุญที่แท้จริง ท่านจึงสอนให้ทำบุญแบบปิดทองหลังพระ ส่วนใหญ่เราชอบปิดทองหน้าพระ ชอบทำบุญกับคนที่เราชอบ เรารัก เราเคารพ แต่คนที่เราไม่รักไม่ชอบ ถึงแม้เขาจะดีขนาดไหนเราก็ไม่ทำ
ถาม ชวนเขามาแล้วเขาไม่ยอมมา
ตอบ ก็ต้องให้อภัยเขา ต้องเข้าใจว่าเขายังมืดบอดอยู่ ยังหลงอยู่
ถาม อยากจะช่วยเขาค่ะ
ตอบ อยากก็เป็นทุกข์นะ เป็นต้นเหตุของความทุกข์ อย่าทำด้วยความอยาก ทำด้วยเหตุด้วยผล คือรู้ว่าเป็นของดี ก็อยากจะมอบให้กับเขา ก็ทำไป แต่อย่าไปทำเกินเหตุเกินผล ถึงกับทำให้เราต้องทุกข์ใจ ถ้าทุกข์ใจก็แสดงว่าไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลแล้ว เป็นอารมณ์ไปแล้ว จะเอาชนะให้ได้ อยากอย่างนี้แล้วจะต้องได้ดังความอยาก ถ้าอย่างนี้แล้วก็ต้องถือว่าเป็นสมุทัย แต่ถ้าอยากให้เขาได้ดิบได้ดีนี่เป็นมรรคนะ อยากปฏิบัติธรรมนี้มีคนชอบพูดเรื่อยว่า ก็เป็นความอยากเหมือนกัน ใช่ แต่เป็นความอยากที่ดี ที่ทำให้เกิดประโยชน์ การอยากออกบวชอย่างนี้ มันไม่เป็นสิ่งที่เสียหายอะไร การอยากจะฆ่ากิเลสนี้ ไม่ได้เป็นบาปกรรมตรงไหน ถึงแม้จะมีคำว่าฆ่าอยู่ด้วยซ้ำ ฆ่ากิเลสนี้ฆ่าไปเถอะ ฆ่าเท่าไรก็ไม่บาป ได้บุญเยอะแยะเลย ถ้าอยากจะฆ่าใครก็ฆ่ากิเลสนะ เวลาโกรธมากๆอยากจะฆ่าใคร ก็ฆ่ากิเลสของเรานี่แหละ ฆ่าไอ้ตัวโกรธนี่แหละ ฆ่าตัวนี้แล้วทุกอย่างก็จบ ถ้าไปฆ่าคนอื่นแล้ว เขาตายเราก็ตายด้วย หรือติดคุกติดตะรางวุ่นวายไปหมด แต่ฆ่าไอ้ตัวโกรธตัวนี้ตัวเดียวแล้ว ทุกอย่างระงับหมด สันติปรากฏขึ้น ความยุติธรรมปรากฏขึ้น มันยุติ มันจบ คำว่ายุติคือจบ
ความยุติธรรมที่แท้จริงก็คือ ฆ่าความโกรธ ฆ่าความน้อยอกน้อยใจ ที่คิดว่าเราถูกเขาเอารัดเอาเปรียบ ไม่ยุติธรรม เราฆ่าไอ้ตัวรู้สึกตัวนี้ให้หมดไป คิดเสียว่าเป็นเคราะห์กรรมของเราก็แล้วกัน เกิดมาอยู่ในโลกมันจะต้องประสบกับสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เราชอบและสิ่งที่เราไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดาบางวันก็มีฝน บางวันก็มีแดดออก มันก็แบบเดียวกัน ชีวิตของเราก็มีขึ้นมีลง มีได้มีเสีย เวลาเจอกับสิ่งที่ไม่ดี ก็พยายามให้อภัยไว้ ทำใจให้กว้างๆ พยายามฆ่าความรู้สึกที่ไม่ดีต่างๆ ที่มีอยู่ในจิตในใจของเราด้วยปัญญา ถ้ามีปัญญาแล้วดับได้หมด ความน้อยอกน้อยใจ ความเสียอกเสียใจ ความโกรธแค้นโกรธเคือง ความรู้สึกว่าถูกเขาเอารัดเอาเปรียบ มันจะหายไปเลย เพราะสิ่งที่เขาได้ไปเป็นสิ่งที่ไร้สาระทั้งนั้น สมมุติว่าเขาโกงเงินเราไป ก็หมดปัญหาไป เรามีเงินเราก็ต้องเอาไปทำบุญทำทาน เอาไปแจกคนอื่นอยู่ดี เมื่อเขาเอาไป เราก็หมดภาระ บางคนทำทานจนติด พอหมดเงินก็ต้องรีบไปหาเงินมาทำทานต่อ ความจริงแล้วการทำทานก็เพื่อปลดเปลื้องภาระ ที่มันกดดันจิตใจของเรา เงินทองที่ต้องคอยดูแลรักษา ความยึดติดอยู่กับเงินทอง ให้มันหลุดลอยไปจากจิตใจของเราเท่านั้นเอง เมื่อมันหมดไปแล้วก็อย่าไปหามาแบกอีก เพราะหมดเงินแล้วต้องไปหาเงินมาทำบุญต่อ ถ้าหมดแล้วก็จบ ก็รักษาศีลต่อไป ภาวนาต่อไป ต้องขยับเลื่อนชั้นขึ้นไป อย่าเรียนแต่ชั้น ป. ๑
ถาม ท่านคะอยากไปนิพพานดีไหมคะ
ตอบ ก็ดี เป็นมรรค เป็นฉันทะ เป็นอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ความยินดีต่อการปฏิบัติเพื่อมรรค ผล นิพพาน ก็คือฉันทะ เมื่อมีความยินดีแล้ว ก็มีวิริยะที่จะหมั่นทำเหตุที่ทำให้เราไปสู่จุดนั้น ก็เป็นวิริยะ จิตตะ ใจเราก็จะจดจ่ออยู่กับเรื่องนั้น เรื่องทำบุญ เรื่องทำทาน เรื่องรักษาศีล เรื่องปฏิบัติธรรม เรื่องเข้าวัดเข้าวา แทนที่จะไปจดจ่อกับเรื่องไปเที่ยว ไปงานโน้นงานนี้ ไปซื้อเสื้อผ้าชุดนั้นชุดนี้ ถ้าไปสนใจกับเรื่องเหล่านี้ ก็เป็นสมุทัย สนใจกับเรื่องไปเที่ยว ไปกินไปดื่ม ไปหาความสุขทางโลก เป็นสมุทัย ไม่เป็นมรรค จิตใจต้องจดจ่ออยู่กับธรรมะ อยู่กับบุญ อยู่กับกุศล แล้วก็ต้องใช้ปัญญาด้วยคือวิมังสา อิทธิบาท ๔ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ไม่ได้ทำแบบดุ่ยๆ ทำไปลุยไป เช่น พอเงินหมดก็ต้องรีบไปหาเงินมาทำทานต่อ นี่ไม่ได้ใช้ปัญญาแล้ว ไม่ได้ใช้วิมังสา
ถาม ไม่ยอมเลิกทำงาน กลัวว่าวันนี้ท่านอาจารย์ยังไม่ได้ดุ
ตอบ ความอยากนี้มันเป็นคำกลางๆ ส่วนใหญ่เราจะใช้ความอยากไปในทางสมุทัย เพราะส่วนใหญ่เราไปทางนั้นกันทั้งนั้น อยากกินเหล้า อยากเที่ยว อยากดื่ม อยากมีอำนาจบาตรใหญ่ อยากร่ำอยากรวยนี้ มันเป็นสมุทัยทั้งนั้น แต่อยากปฏิบัติธรรม อยากทำบุญ อยากรักษาศีลนี้ เป็นธรรมะ เหมือนคำว่ากรรม กรรมเป็นคำกลางๆ กรรมคือการกระทำ ทางกาย วาจา ใจ วจีกรรม มโนกรรม กายกรรม มันไม่ได้บอกว่าเป็นบาปหรือบุญ แต่ภาษาไทยเราใช้คำว่ากรรมแทนคำว่าบาปไปเลย
ถาม ท่านอาจารย์คะ เมื่อสักพักท่านอาจารย์เทศน์เรื่อง ขณะที่จิตจะออกจากร่าง
ตอบ อย่าไปคาด ขอให้ปฏิบัติไป ให้อยู่กับปัจจุบัน มีสติมีปัญญาแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น อย่าไปคาด ถ้ายังไม่รู้อย่าไปคาด ปฏิบัติไปดีกว่า เพราะของอย่างนี้คาดไม่ได้ เพราะเวลาถึงจุดวิกฤติแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเป็นอัตโนมัติ เหมือนกับนักมวยที่ซ้อมดีขนาดไหนก็ตาม พอขึ้นเวทีแล้ว อาจารย์ โค้ช หรือเพื่อน ก็ช่วยกันไม่ได้แล้วละ ได้แต่เชียร์ พอโดนแย็บก็งงเหมือนไก่ตาแตก ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว พยายามฝึกไว้ให้ดี ฝึกไว้ให้คล่อง พยายามมีสติอยู่กับตัวอยู่ตลอดเวลา พยายามมีปัญญาเตือนสติเสมอว่า เรื่องความตายนี้เป็นเรื่องธรรมดา เท่านั้นแหละมันจะรักษาจิตให้นิ่งให้สงบได้ ถ้าแว่บออกจากจุดนี้ไป จะวุ่นวายขึ้นมาทันที พอวุ่นวายแล้วก็จะทุกข์ขึ้นมา จะเสียหลัก เหมือนกับถูกแย็บจนงงเป็นไก่ตาแตก จึงต้องฝึกสติอยู่เสมอ แล้วเจริญมรณานุสสติอยู่เรื่อยๆ อยู่กับตัวตลอดเวลา
ถาม อย่างนี้ถ้าเราฝึกสติไว้ตลอดเวลา สมมุติว่าถ้าสติเกิดแล้วนี่ความกังวลในวินาทีที่จะตายนี้มันน่าจะหมดไปไหมครับ
ตอบ ก็ต้องไปพิสูจน์ดูเอง ครูบาอาจารย์ท่านถึงไปนั่งสมาธิอยู่ที่ทางเสือเดิน ที่ไหนมีเสือ มีหมี มีสัตว์ดุร้าย มีอะไรที่น่ากลัว ต้องไปที่ตรงนั้น เพราะที่ตรงนั้นมันเป็นเหมือนกับขึ้นเวที ขณะที่เราเดินจงกรม อยู่ในบ้าน อยู่ในวัดนี่ เป็นการฝึกซ้อมต่อยกระสอบทรายอยู่ในค่าย อยู่กับครูอาจารย์ ที่ตรงไหนที่เรากลัว เราต้องไปตรงนั้น แล้วดูว่าจะสามารถควบคุมจิตให้เป็นปกติ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้หรือเปล่า ถ้าทำได้ก็ผ่าน ก็สบาย อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไปที่ไหนก็ไปได้ ไม่ว่าเวลาไหน จะไม่มีข้อแม้อะไรทั้งสิ้นเลย สำหรับคนที่ผ่านเรื่องความตายไปแล้ว
ถาม คนเราถ้าถึงเวลาตายอยู่ตรงไหนก็ตายใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ เวลาตายท่านก็บอกแล้วว่าอยู่ที่ไหนก็ตายได้ อยู่ในที่ปลอดภัยที่สุดก็ตายได้
ถาม มีคนบอกว่าขึ้นแอร์เอเชียแล้วมันตายได้ เพราะถูกกว่านกแอร์
ตอบ ระหว่างนั่งรถที่คนขับเมาเหล้ากับไม่เมา โอกาสที่จะไปพลิกคว่ำกับคนขับที่เมาเหล้าย่อมมีมากกว่าใช่ไหม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะคว่ำ บางทีคนเมาเหล้าขับกลับไม่คว่ำ แต่คนที่ไม่เมาเหล้าขับกลับคว่ำก็มี เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ บางทีระมัดระวังเต็มที่แล้วแต่ไปเจอเหตุสุดวิสัย ควบคุมบังคับรถไม่ได้ในจุดที่คับขัน มันก็เกิดขึ้นได้ ท่านจึงสอนไม่ให้กังวลกับเวลาตายหรือสถานที่ตายเลย
ถาม ถ้าเราไม่ถึงที่ตายก็จะไม่ตาย
ตอบ ถ้าไม่ตายมันก็ยังไม่ถึงที่ ถ้าตายมันก็ถึงที่
ถาม อยู่ที่ไหนก็ตายใช่ไหม
ตอบ ถ้าเลือกได้ก็ควรจะเลือกบ้าง ให้ปัจจัยเสี่ยงมันน้อยที่สุด แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็ต้องเป็นไปตามบุญตามกรรม บางทีก็อยู่ที่ดวง ถ้าดวงแข็งจะเสี่ยงขนาดไหนมันก็ไม่ตาย คนบางคนปีนตึกสูงๆ ตัวคนเดียว ไม่มีเครื่องมืออะไร ก็ไม่เห็นตกมาตาย แต่บางคนพอเสียใจก็กระโดดตึกตายก็มี เหตุปัจจัยที่ทำให้คนเราตายนั้นก็มีหลากหลายด้วยกัน แต่โดยหลักทั่วๆไปก็คืออย่าประมาท อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรที่มันไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่มีทางเลือกจำเป็นจะต้องขึ้นเครื่องนี้ ก็ขึ้นไปเถอะ ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้เจริญมรณานุสสติก็แล้วกัน
ถาม ท่านอาจารย์ครับ ราคาตั๋วเครื่องบินถูกกว่าพันบาท เอาราคาเป็น
เครื่องตัดสินใจ
ตอบ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาชีวิต การเสียเงินแพงหน่อยก็เป็นการทำบุญรักษาชีวิตเรา
ถาม ทำใจได้ยากกว่า
ตอบ แต่ชีวิตของเรามีค่ากว่าเงินพันบาท เข้าใจไหม
ถาม คือการจ่ายเงินมากนี่ทำใจได้ยากกว่าการจ่ายเงินน้อย
ตอบ ถ้ากิเลสมันแรงกว่าธรรมะกว่าเหตุผล ก็จะเสียดายเงิน แต่ถ้าเหตุผลแรงกว่า มีอำนาจมากกว่าก็จะไม่เสียดายเงิน บางคนไม่เสียดายเงินก้อนใหญ่ๆแต่กลับมาเกี่ยงกับเงิน ๒๐ บาท ๓๐ บาท บางคนจะโอนเงินไปทำบุญแต่ไปเกี่ยงที่ค่าโอน ขอผู้จัดการลดให้หน่อย ลดค่าธรรมเนียมได้ไหม เพราะกิเลสมันติดนิสัยไง แต่ถ้าเรื่องทำบุญเท่าไหร่เท่ากัน เพราะมีความเชื่อ มีศรัทธาในบุญ เสียเท่าไหร่ก็ได้บุญเท่านั้น แต่ถ้าเสียค่าธรรมเนียมนี่ไม่ยอมเสีย แต่ถ้ามีธรรมะมีเหตุมีผลแล้ว จะไม่เสียดายหรอกค่าธรรมเนียม จะเสียเงินล้านเพื่อทำบุญแล้ว จะเสียค่าธรรมเนียมอีกพันสองพัน ก็เอาไปเถอะ ก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน คิดอย่างนี้ก็หมดเรื่อง
ถาม ทีนี้คนส่วนใหญ่ที่จะทำบุญ จะยึดถือตรงที่เนื้อนาบุญ ก็จะเอาตรงนั้นเป็นหลัก
ตอบ ก็ดี เพราะเนื้อนาบุญช่วยเราได้ ไม่ใช่บุญที่เราทำกับท่าน แต่อยู่ที่ท่านให้กับเรา ให้ธรรมะกับเรา เราได้อยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ ได้ยินได้ฟังธรรมะอยู่เรื่อยๆ เป็นการได้บุญอีกระดับหนึ่ง ได้ปัญญา จึงต้องไปทำบุญกับเนื้อนาบุญ ไปทำบุญบ้านพักคนชราก็ได้บุญเหมือนกัน ในเรื่องการเสียสละวัตถุเท่ากัน แต่คนชราไม่สามารถจะให้ธรรมะกับเราได้ อย่างมากก็ยกมือไหว้ขอบอกขอบใจเราเท่านั้นเอง แต่ถ้าไปทำบุญกับคนชราอย่างครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยสงฆ์นี่ ทำบุญเสร็จแล้วท่านก็ยังพูดธรรมะสอนเราอีก เราได้ตรงนั้นมากกว่า ที่ต่างกันก็ตรงนั้น แต่บุญที่เกิดจากการให้สิ่งของนั้นเท่ากัน เสียสละเท่ากัน เสียร้อยบาทเท่ากัน สมมุตินะ ร้อยบาทให้กับคนแก่ที่บ้านพักคนชรา กับเสียร้อยบาทให้กับคนแก่ที่เป็นพระอริยสงฆ์มันต่างกัน เพราะท่านอาจจะพูดทำให้เราเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาก็ได้ อาจจะช่วยดับความทุกข์ความวุ่นวายใจ ที่มีอยู่ในจิตในใจของเราก็ได้ ความทุกข์นี้มันเหมือนเชื้อโรค เหมือนโรคชนิดหนึ่ง เวลามีความทุกข์นี้กินไม่ได้นอนไม่หลับ วุ่นวายใจ ยิ่งกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่เสียอีก มันทรมานจิตใจ แต่ถ้าใครมาสอนให้ปล่อยวางสิ พอปล่อยได้ ก็หายปั๊บเลย
นี่คือสิ่งที่เราจะได้จากเนื้อนาบุญ ท่านเก่งทางด้านดับทุกข์ ศาสนาพุทธนี้ พระพุทธเจ้าสอนอยู่ ๒ เรื่องเท่านั้นเอง คือ ทุกข์กับวิธีดับทุกข์ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีอยู่มากน้อยเพียงไรในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็เกี่ยวกับเรื่องทุกข์กับเรื่องวิธีดับทุกข์เท่านั้น นี่คือสิ่งที่เราจะได้จากเนื้อนาบุญ เพราะไม่มีอะไรเป็นปัญหาสำหรับพวกเรานอกจากความทุกข์ พอไม่มีทุกข์เราก็ไม่มีปัญหา ปัญหาตัวเดียวก็คือความทุกข์ ความทุกข์ที่เกิดจากความหลง พาให้เราไปอยากได้ อยากเป็น อยากมี อยากทำ ท่านจึงสอนไม่ให้ไปอยากกับอะไร ใครเขาจะทำอะไร เราอย่าไปอยากไม่ให้เขาทำ ต้องหักห้ามจิตใจของเรา ยอมให้เขาทำไปตามเรื่องของเขา เราก็จะไม่ทุกข์ นี่คือเหตุผลที่คนไปทำบุญกับพระอริยสงฆ์ คือจะได้ธรรมะ คนที่ทำบุญกับพระพุทธเจ้าบางทีฟังเทศน์เพียงหนเดียวก็หลุดพ้นเลย มีเยอะแยะไปในสมัยพุทธกาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรที่จะทำกับผู้อื่น เพราะผู้อื่นเขาก็รอบุญจากเราอยู่เหมือนกัน คนที่อยู่ใกล้ชิดเราก็รอ สามีของเราก็รอบุญจากเรา เราก็รอบุญจากสามี คือการให้อภัย เวลาเขาทำอะไรที่ทำให้เราไม่พออกพอใจ เราก็อย่าไปโกรธเขา ให้อภัยเขา
เพราะเขายังเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ยังมีกิเลสครอบงำจิตใจอยู่ เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องทำไปบ้าง พอเราให้อภัย เรื่องใหญ่ก็กลายเป็นเรื่องเล็กไป แต่ถ้าไม่ให้อภัยเรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ดีไม่ดีก็ต้องแยกกันอยู่ อยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะการไม่ให้อภัยกันนั่นเอง ถ้าให้อภัยได้แล้ว รับรองได้อยู่กันได้ไปตลอดชีวิต ตลอดรอดฝั่ง จนตายจากกันก็ได้ เราต้องมองว่าคนเราทุกคนมีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี คลุกเคล้ากันไป บางเวลาส่วนที่ไม่ดีมันออกมา ก็เหมือนกับไปกลบความดีทั้งหมดเลย เราจึงต้องใช้ปัญญาแยกแยะ ว่านี่เป็นส่วนไม่ดีของเขา แต่ส่วนที่ดีของเขาก็มีอยู่เยอะแยะ ไม่อย่างนั้นเราจะไปแต่งงานกับเขาได้อย่างไร เราต้องพยายามใช้สติใช้ปัญญาแยกแยะเอา แล้วเราก็จะให้อภัยได้ แต่ถ้าเราจะให้อภัยแบบฝืนๆ มันให้อภัยไม่ได้หรอก มันต้องมีเหตุมีผล เราต้องระลึกถึงความดีของเขา แล้วเราก็จะให้อภัยเขาได้ หรือเราต้องระลึกถึงความชั่วของเราบ้าง เวลาเราทำผิดพลาด ขึ้นมา เราก็อยากจะให้คนอื่นให้อภัยเหมือนกัน
ถาม ท่านอาจารย์คะ เรียนถามเรื่องศีล ๕ กับสัมมาอาชีวะ ถ้าทำร้านอาหารแล้วต้องไปจ่ายตลาดเอง บางทีจะต้องซื้อปลาสดๆมาค่ะ
ตอบ ไม่ควรทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้อื่น ถ้าซื้อก็ซื้อของที่ตายแล้วจะดีที่สุด ถึงแม้จะให้คนอื่นไปซื้อ มันก็เป็นเงินของเรา ในทางโลกก็ยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ดี สั่งให้เขาทำก็ดี ทำด้วยตนเองก็ดี ก็เป็นความผิดเหมือนกัน เพราะมีเจตนาร่วมที่จะทำความผิดนั้น ถ้าเราศึกษาธรรมะแล้วเห็นว่าอาชีพที่เราทำอยู่นี้ ไม่เป็นสัมมาอาชีวะ เราก็ต้องเลิกเสีย ต้องเปลี่ยนอาชีพนี้แล้ว หาอาชีพใหม่ทำ อย่าไปเสียดายกับเงินทองเล็กๆน้อยๆ มันไม่มีคุณค่าเท่ากับธรรมะ ไม่มีคุณค่าเท่ากับบุญ เพราะเราหาเงินมาก็เพื่อเอาไปแลกกับบุญอยู่ดี แล้วในเมื่อเราสามารถได้บุญมา โดยไม่ต้องเสียเงิน ทำไมเราไม่ทำ เปลี่ยนอาชีพเสียก็หมดเรื่อง ถ้าขายเหล้ารู้ว่าไม่ดี ก็ไม่ต้องขาย ขายแต่ข้าวอย่างเดียว เนื้อสัตว์ก็ไปซื้อของที่ตายแล้ว
ถาม ถ้าต้องเกี่ยวข้องในด้านที่ต้องไปซื้อของ
ตอบ ถ้าได้รับประโยชน์จากมัน ก็ผิดเหมือนกัน
ถาม ถ้าอย่างนั้นคนที่เป็นผู้พิพากษาในทางโลก
ตอบ เขาก็ทำหน้าที่ของเขา
ถาม แต่เขาก็ต้องชี้ผิดชี้ถูก
ตอบ ผิดชี้ถูกเท่านั้นเอง โทษไม่ได้อยู่ที่คนชี้ เขาชี้ว่าผิดหรือถูกเพราะกฎหมายกำหนดบังคับไว้ว่า เมื่อทำผิดแบบนี้ก็ต้องถูกประหาร เขาไม่ได้เป็นคนสั่งฆ่า คนที่ทำผิดนั้นแหละเป็นผู้สั่งฆ่าตัวเขาเอง ด้วยการกระทำของเขา ผู้พิพากษาเพียงแต่ชี้ผิดชี้ถูก เหมือนพระพุทธเจ้าทรงชี้ปาราชิกของพระสงฆ์ ตอนนี้เธอทำผิดปาราชิก จะต้องสิ้นจากความเป็นพระไป พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้โหดร้ายทารุณอะไร แต่การกระทำของเขาต่างหาก ที่ทำให้เขาต้องสิ้นจากความเป็นพระไป
ถาม หมายความว่าผู้พิพากษาต้องตัดสินไปตามเนื้อผ้า
ตอบ ตัดสินไปตามเนื้อผ้า ตามความเป็นจริงเท่านั้น ตามกฎเกณฑ์ แต่ถ้าไปพิจารณาผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด นั้นแหละจึงจะบาป เพราะบิดเบือนความจริง
ถาม ต้องให้ความเที่ยงธรรมใช่ไหมครับ
ตอบ ใช่ ต้องให้ความเที่ยงธรรม
ถาม เพชฌฆาตก็ผิดใช่ไหมคะ
ตอบ ผิด เหมือนกับชาวประมงที่ไปจับปลามา ก็ต้องฆ่าปลาเพื่อจะได้มีรายได้ เพชฌฆาตก็ได้รายได้จากการฆ่าคน ถึงแม้คนนั้นจะถูกลงโทษประหารชีวิต แต่คนที่ทำนั้นก็ยังผิดอยู่ เพราะไปฆ่าผู้อื่น
ถาม แล้วอย่างตอนที่มีไข้หวัดนกระบาด แล้วเขาสั่งให้ไปฆ่าเป็นบาปไหมคะ
ตอบ แน่นอน
ถาม ต้องไปดูตามที่เขาสั่งมา เขาสั่งให้เราไปดู ไปคุม
ตอบ ถ้าทำตามคำสั่งก็มีส่วน ถ้าเราเป็นคนมีศีลมีธรรม ก็ลาออกจากงานนั้นเสีย
ถาม หลวงพ่อคะคือลูกทำโฆษณานะคะ สื่อโฆษณาอาหารพวกซีพีค่ะ ขายไก่ ขายเป็ดพวกนี้ แล้วก็ไปโฆษณาเหล้าด้วย อย่างนี้ผิดไหมคะ
ตอบ การโฆษณายังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำเอง จะว่าผิดโดยตรงก็คงไม่ อาจจะผิดโดยการที่มีส่วนช่วยส่งเสริม แต่ไม่ได้เป็นความผิดโดยตรง
ถาม อาหารเป็นๆที่เราไปชี้ แล้วเขาทำมาให้ ผิดศีล ๕ ไหมคะ
ตอบ ผิด ถ้าสั่งให้เขาเอาตัวที่อยู่ในตู้มาทำให้เรากิน ถ้าเราไม่อยากจะผิดศีล ๕ ก็บอกเขาว่าเอาของที่ตายแล้วนะ อย่าเอาของเป็น ถ้าไม่มีก็เอาแต่ผัดผักมาก็แล้วกัน ถ้าเราอยากจะรักษาศีลก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้ายังติดในรสชาติอยู่ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้มันก็หลอกตัวเราเอง
ถาม ท่านอาจารย์คะอยากเรียนถามว่า สอนหนังสืออยู่เจ้าค่ะ สอนเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน ทีนี้ในเรื่องของการรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์หรือโฆษณานี้ บางทีมันค่อนข้างที่จะเป็นสีเทาๆ ในการพยายามที่จะบอกข้อความที่จะให้แนบเนียนที่สุด ที่จะให้เขาเชื่อถือเรามากที่สุด กับตัวสินค้าตัวผลิตภัณฑ์นี้นะคะ ทีนี้ก็เหมือนเราไม่ได้พูดความจริง
ตอบ ถ้าไม่พูดความจริงมันก็เป็นมุสา ถ้าไปยุยงให้กิเลสเขาเกิดความโลภ อยากจะซื้อของ มันก็เป็นการส่งเสริมกิเลส มันก็ไม่ดีทั้งสองอย่าง
ถาม เราควรจะทำอย่างไรบ้างคะ
ตอบ ถ้าเราอยากจะไปทางธรรมะ ก็อย่าไปทำงานแบบนี้
ถาม ตอนนี้ที่ทำได้ก็คือพยายามให้เด็กที่สอน ซึ่งจะเป็นสื่อสารมวลชนในอนาคต ให้เขารู้เท่าทัน แม้กระทั่งตัวเองก็ยังถูกสื่อหลอกด้วย คือให้เขาตัดสินใจเอาว่าอันไหนที่ดีที่สุด แต่มันค่อนข้างยากในโลกของธุรกิจ คือในทางธุรกิจนี่ คนที่ประสบผลสำเร็จก็คือคนที่ทำกำไรสูงสุด
ตอบ ถ้าเราต้องการวางเป้าอยู่ที่ผลกำไร มันก็ต้องไปทางสีเทา แต่ถ้าเราไม่ได้ถือเป้าของรายได้เป็นหลัก แต่ถือความถูกต้องเป็นหลัก ก็ยังยืนอยู่บนสีขาวได้ อยู่ที่เรา ต้องเลือกเอาถ้าเลือกได้ ถ้าเลือกไม่ได้เราก็จะทุกข์กับสีเทาไป ต้องรับวิบากของการกระทำของเรา
ถาม เพราะฉะนั้นทุกอาชีพก็มีสิทธิที่จะทำบุญและทำบาปได้เท่าๆกันใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ อยู่ที่ว่าเรามีความรู้ทางด้านธรรมะมากน้อยเพียงไร ถ้ามีความรู้ทางด้านธรรมะน้อย อำนาจความหลงก็จะฉุดลากให้เราไปทางสีเทา แต่ถ้ามีความรู้ทางธรรมะมาก ก็จะฉุดลากให้เราไปทางสีขาว เพราะเราจะไม่ถือเรื่องรายได้เป็นหลัก เราจะต้องถือเรื่องของความถูกต้อง เรื่องของความสะอาดทางด้านศีลธรรมเป็นหลัก ทำได้ แต่อาจจะรวยช้าหน่อย หรือไม่รวยเลย แต่มีบุญมีความสุขทางด้านจิตใจ หรือจะไปทางสีเทามีเงินเยอะ แต่หาความสุขไม่เจอ มีรถเก๋งคันละล้านสองล้าน มีบ้านหลังละสิบล้าน แต่ไม่มีความสุขในจิตใจเลย มันก็เป็นทางเลือกที่เราสามารถเลือกได้ คนส่วนใหญ่ที่ไปทางสีเทากัน ก็เพราะไม่เคยเข้าหาธรรมะกัน ก็เลยไม่รู้ ก็เลยถือว่า ทุกอย่างยุติธรรมหมด ขอให้ทำแล้วได้กำไรก็ใช้ได้ แล้วไม่ผิดกฎหมายก็แล้วกัน แต่กฎหมายหยาบกว่าศีลธรรม ถ้าเป็นตาข่าย ก็เป็นตาข่ายที่รูใหญ่ มีช่องโหว่เยอะ แต่ถ้าเป็นศีลธรรมจะละเอียดกว่า อยู่ที่เราว่าจะเอาอะไร คนส่วนใหญ่ก็จะเอาทางเงินทองกัน ไม่ค่อยกังวลกับเรื่องศีลธรรม
แต่ถ้าได้รู้จักศีลธรรมแล้ว ก็จะยึดทางด้านศีลธรรม ยกตัวอย่างทุกวันนี้เราเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็มีคนที่มีศีลธรรม กับคนที่ไม่มีศีลธรรมกำลังต่อสู้กันอยู่ ก็เห็นอยู่ชัดๆ คนที่เน้นทางด้านศีลธรรม ก็จะไม่สร้างความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองหรือกับผู้อื่น แต่คนที่ไม่เน้นเรื่องศีลธรรม ก็จะมีแต่ความวุ่นวาย ทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น ผลก็เห็นอยู่ชัดๆ ถ้าได้ศึกษาธรรมะจนเห็นคุณค่าของธรรมะ ก็จะมาทางธรรมะ มาทางศีลธรรม ถ้าไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ เห็นคุณค่าของเงินทองมากกว่า ก็จะไปทางนั้น
ถาม อาชีพที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีความรู้สึกว่าจริงๆแล้ว มันก็มีทางเลือก
ตอบ ใช่ ความรู้มีทั้งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ และที่เป็นโทษ เป็นดาบสองคม ใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ได้ ใช้ให้เกิดโทษก็ได้ เอามาหั่นเนื้อหั่นผักก็เป็นประโยชน์ เอาไปตัดมือ ตัดแขนคนอื่นก็เป็นโทษ ความรู้ก็เหมือนกัน อยู่ที่เราจะเอาไปใช้ในทางไหน เอาไปเป็นเครื่องมือของกิเลสก็เป็นโทษ เอาไปเป็นเครื่องมือของธรรมะก็เป็นคุณ เช่นโฆษณาธรรมะ พอคนเห็นแล้วก็อยากจะเข้าวัด อย่างวัดบางวัดขึ้นป้ายเบ้อเริ่มเทิ่มอยู่ตามริมถนน ใครเห็นแล้วก็อยากจะเข้าวัดกัน เพียงแต่ว่าทางศาสนาไม่ค่อยเน้นแบบนี้ ไม่ต้องการดึงคนเข้ามาด้วยของล่อหลอก อยากจะให้เข้ามาสัมผัสกับความจริงมากกว่า โดยอาศัยคนที่ได้สัมผัสกับของจริงช่วยเผยแผ่
อย่างพระพุทธเจ้าตอนที่ทรงเผยแผ่ธรรมะครั้งแรก ก็มุ่งไปที่คนที่สามารถรับถ่ายทอดธรรมะได้เร็วและง่าย ก็คือพระปัญจวัคคีย์ เพราะสอนครั้งเดียวก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว สอนอีกสองครั้งสามครั้งก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันหมด ไม่ต้องเหนื่อยยาก ต่อจากนั้นก็อาศัยท่านเหล่านี้เป็นสื่อ เป็นผู้ไปโฆษณาต่ออีกที ทั้ง ๕ องค์ก็แยกกันไป ๕ ทิศทาง ไปเจอใครที่ไหนก็สอนแบบเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอน พอได้ยินได้ฟังก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กันขึ้นมา ก็ช่วยกันกระจายพระธรรมคำสอนให้แผ่กว้างไกลออกไปจนถึงทุกวันนี้ ในสมัยพุทธกาลจึงมีพระอรหันต์ปรากฎขึ้นมาอย่างมากมายก่ายกอง โดยไม่ต้องมีสื่อโฆษณา เพราะไม่เป็นธรรมชาติ
ถาม ท่านอาจารย์คะ ถ้าอย่างนั้นการเป็นฆราวาสแล้วรักษาศีลให้บริสุทธิ์นี่ค่อนข้างยากมากเลยนะคะ
ตอบ ยากสำหรับคนที่ยังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องโลภโกรธหลง เรื่องลาภยศสรรเสริญสุข แต่ง่ายสำหรับคนที่ไม่หมกมุ่น ถ้าอยากจะได้เงินมากๆนี่ก็รักษายาก แต่ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องร่ำรวย ขอให้วันหนึ่งมีข้าวกินก็พอแล้ว นี่ก็จะไม่ยาก สมัยที่อาตมาปฏิบัติอยู่คนเดียวนี่ วันหนึ่งใช้เงินแค่ ๕ บาทไว้ซื้อข้าว ก็อยู่ได้แล้ว กินข้าวมื้อเดียว ข้าว ๒ จาน ข้าวจาน ก๋วยเตี๋ยวชาม เงิน ๕ บาทสมัยนั้น ก็ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ชาม ชามละ ๒ บาท ข้าวจานละ ๓ บาท พวกข้าวมันไก่ มี ๕ บาทก็อยู่ได้วันหนึ่งแล้ว อาตมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ก็ไม่ได้สนใจกับเรื่องอาหารการกิน อะไรก็ได้ ก็เลือกอาหารที่ชอบบ้างถ้ามีให้เลือก แต่ไม่ต้องเป็นร้านเชลล์ชวนชิม ส่วนใหญ่ชอบกินก๋วยเตี๋ยวข้างถนน กินให้อิ่มก็ใช้ได้แล้ว
เคยเจอพวกฝรั่งที่ชอบอยู่แบบซำเหมา พวกนี้มีเงินแต่อยากจะประหยัด อยากจะอยู่อยากจะเที่ยวนานๆ เชื่อไหมเขาซื้อข้าวแกงกินกัน กินข้าวแกงข้างถนนจานละ ๒ บาท ๓ บาท เมื่อก่อนเรากลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ ยังต้องไปกินร้านอาหารที่ติดแอร์ มีคนเสิร์ฟ พอเห็นเขาทำแบบนี้ เราก็บอกตัวเราว่าต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเราแล้ว เพราะเงินก็มีเหลือน้อย แล้วก็อยากจะให้เงินอยู่ไปได้นานๆ เพราะไม่อยากจะไปทำงาน อยู่เฉยๆสบายกว่า ก็เลยประหยัดดีกว่า ยอมกินของถูกๆ แต่ไม่ต้องเป็นลูกจ้าง ไปให้เจ้านายคอยด่า คอยสั่ง ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน ไปเบียดบนรถเมล์ กว่าจะได้เงินมาไม่กี่สตางค์ ไม่มีความเป็นอิสระ เรารักความเป็นอิสระ จึงยอมลำบาก ยอมอด ไม่ค่อยอยากจะรับคำสั่งจากใคร โดยเฉพาะจากคนที่โง่กว่าเรา แต่สั่งเราได้เพราะเขารวยกว่าเรา
ถาม ท่านอาจารย์คะ ตอนท่านอาจารย์เข้าไปอยู่ที่บ้านตาดใหม่ๆ หลวงตาอบรมทุกวันพระเลยใช่ไหมคะ
ตอบ ไม่ อบรมพระแล้วแต่ท่านจะสะดวก ช่วงนั้นประมาณสัก ๔ - ๕ วันครั้ง ตอนเย็นๆ ตอนเกือบพลบๆ ท่านจะบอกให้พระรูปหนึ่งไปบอกพระมาประชุม ไม่มีการตีกลอง ตีระฆังตีอะไรทั้งสิ้น ท่านจะบอกพระที่ใกล้ชิดที่ปฏิบัติท่าน ให้ไปบอกพระมาประชุมกัน แล้วพระท่านก็จะไปบอกต่อๆกัน พอบอกประชุมปั๊บต้องรีบมาเลย กำลังทำอะไรอยู่ต้องวางไว้หมด เอาผ้าอาสนะ เอาไฟฉาย เอาจีวร แล้วก็รีบมา เพราะถ้ามาช้านิดหนึ่งนี่ ท่านจะนั่งรอเราอยู่แล้ว
ถาม ถ้าเราปฏิบัติแล้วเรามีปัญหาจะเรียนถามท่านได้ไหมเจ้าคะ
ตอบ ได้ ถ้าจะถามท่านก็ถามได้ แต่ไม่เคยถามท่านเลยนะตั้งแต่อยู่กับท่านมา ตอนที่ท่านเทศน์มันก็ครบอยู่แล้ว ยังไม่เคยถามปัญหาท่านเลย แต่ครั้งหนึ่งเคยคุยกับพระ เคยถามอะไรอยู่เรื่องหนึ่งจำไม่ได้ แล้วอยู่ๆท่านก็ตอบมาโดยที่ไม่ได้ถามท่าน ไปปรนนิบัติท่านตอนนั้น ช่วยถอนขนตาให้ท่านที่ทิ่มเข้าไปในตา ขนตาธรรมดามันจะยื่นออกมาข้างนอก แต่ของท่านจะยื่นเข้าไปข้างในต้องคอยถอน คนหนึ่งต้องคอยส่องไฟ อีกคนหนึ่งใช้คีมเล็กๆดึงขนตาออก ตอนแรกอาตมาก็ไม่ได้ไปทำหรอก แต่ตอนหลังหาพระไปทำไม่ได้ พระก็เลยบอกว่าท่านไปทำหน่อย ถ้าไม่มีใครทำเราก็ไป แต่ถ้ามีใครปรนนิบัติท่านอยู่แล้วเราก็ไม่ต้องไป เคยคุยกับพระที่ท่านช่วยส่องไฟ ถามเรื่องอะไรไม่ทราบจำไม่ได้แล้ว อยู่ๆท่านก็พูดออกมา เออทำอย่างนั้นนะ ทำอย่างนี้นะ ท่านตอบคำถามของเราโดยที่เราไม่ได้ไปถามท่าน แต่เรื่องทางด้านปฏิบัตินี้แทบจะไม่ต้องถาม เพราะท่านเทศน์อย่างละเอียด เล่าทุกอย่างให้ฟัง อยู่กับท่านฟังเทศน์ก็หลายร้อยกัณฑ์แล้ว ก็เข้าใจ
ถาม เทศน์ครั้งหนึ่งนานไหมเจ้าคะ
ตอบ พูดครั้งแรกก็ประมาณสักชั่วโมงหนึ่ง หรือ ๔๕ นาที เสร็จแล้วท่านก็พักฉันน้ำ เคี้ยวหมาก แล้วทีนี้ก็จะเล่าเรื่องราวสมัยที่อยู่กับหลวงปู่มั่น สมัยที่ท่านปฏิบัติ เช่นตอนที่ท่านนั่งภาวนาทั้งคืนเป็นต้น ก็จะแบ่งเป็นสองภาค เทศน์แต่ละครั้งก็ประมาณสัก ๒ ชั่วโมง ฟังแล้วก็จะได้กำลังจิตกำลังใจ พอกลับไปแล้วก็ขยันหมั่นเพียรขึ้นเยอะ มีกำลังใจนั่งสมาธิได้นาน เดินจงกรมได้นาน เป็นเครื่องกระตุ้นให้เราเร่งความเพียรอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้นิ่งนอนใจ การได้อยู่กับครูบาอาจารย์แบบนี้ถือว่าโชคดี เป็นบุญมาก เพราะโดยปกติตัวเราเองจะไม่ค่อยมีกำลังที่จะขับตัวเราเท่าไร ไม่มีธรรมะที่จะล่อด้วย ท่านมีทั้งลูกล่อและลูกผลัก ลูกล่อก็คือธรรมะอันวิเศษที่ได้จากการปฏิบัติ เอาออกมาอวดมาโชว์ เหมือนกับท่านมีแหวนเพชรสวยๆ ท่านก็เอามาโชว์ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ก็จะได้แหวนอย่างนี้ พอเห็นแหวนสวยๆเราก็อยากจะได้ ก็มีกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติ แล้วท่านก็จะบอกวิธีการปฏิบัติ ว่าจะต้องทำอย่างไร จะต้องอดทนขนาดไหน จะต้องทุ่มเทอย่างไร มันก็ทำให้เรามีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติมากขึ้น
ตอนที่ยังไม่ได้ไปอยู่กับท่านก็ไม่เคยคิดว่า จะมีพระมีครูบาอาจารย์ ที่มีคุณธรรมสูง เพราะไม่เคยได้สัมผัส ตอนนั้นอยู่แต่ภาคกลางก็ไม่ค่อยได้เจอ เห็นแต่พระตามบ้านตามเมืองก็ไม่ได้มีอะไรวิเศษ ตอนนั้นก็อาศัยการอ่านหนังสือธรรมะ ในความรู้สึกก็คิดว่าพอเพียง พอจะคลำทางไปได้เอง แต่เมื่อได้ไปอยู่กับครูบาอาจารย์แล้วจึงจะรู้ว่ามันต่างกันมาก เหมือนกับมีแผนที่พาเราเดินทางออกจากป่า กับมีพรานที่ชำนาญทางพาเราเดินออกนี่ มันต่างกัน การดูแผนที่คลำไปนี่ บางทีก็ดูผิดดูถูกได้ แต่ถ้ามีคนพาไปนี่เราไม่ต้องทำอะไรเลย เดินตามเขาไปอย่างเดียว เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำตามเขาบอก ไม่ต้องเสียเวลา เพราะการปฏิบัตินี้มันจะต้องหลงผิดทุกขั้นไปเลย ขั้นทานก็ผิดอย่างที่เมื่อสักครู่นี้เล่าให้ฟัง ขั้นศีลมันก็จะผิด รักษาศีลก็จะรักษาศีลอย่างเดียว อย่างอื่นไม่สนใจ ไม่รู้ว่าการรักษาศีลก็เพื่อที่จะก้าวขึ้นไปสู่สมาธิ การปฏิบัติสมาธิก็เพื่อที่จะก้าวขึ้นสู่ขั้นปัญญา การเจริญปัญญาก็เพื่อที่จะไปสู่การหลุดพ้น มันเป็นขั้นๆของมันที่จะต้องก้าวไป
แต่เราปฏิบัติอยู่ขั้นไหน เรามักจะติดอยู่กับขั้นนั้น ทำบุญทำทานก็อยากจะทำบุญทำทานอย่างเดียว ศีลก็ยังไม่อยากจะรักษา อย่างที่ถามปัญหาเรื่องศีลกันก็เพราะอย่างนี้ ยังไม่อยากจะรักษาศีลกัน ถ้าต้องเลือกระหว่างเงินทองกับศีล ถ้าเราพอมีพอกินแล้ว ก็ควรเลือกศีลธรรม ถ้ารู้ว่าอาชีพนี้ไม่ดี ถ้าเลิกได้ เปลี่ยนอาชีพใหม่ได้ ก็ควรเปลี่ยน หาอาชีพที่ไม่ผิดศีลผิดธรรมจะสบายใจกว่า แล้วจิตจะสงบลง ขณะนี้จิตมันไม่สงบ มันกังวล ทุกครั้งที่เราคิดเรื่องความดีงาม มันจะเป็นเหมือนกับหนามยอกอกเราเสมอ เพราะเรารู้ว่ามันไม่ถูก มันก็ทำให้จิตใจเราไม่สงบ แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่ถูกแล้ว จะไม่มีอะไรมาทำให้เรารู้สึกวุ่นวายใจ เวลาทำสมาธิก็จะง่ายขึ้น ท่านจึงสอนว่าสมาธิที่ศีลอบรมดีแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก มีพลังมาก ปัญญาที่สมาธิอบรมดีแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก มีพลังมาก จิตที่ปัญญาอบรมดีแล้ว ย่อมหลุดพ้นโดยถ่ายเดียว คือศีลก็จะสนับสนุนในการทำสมาธิ สมาธิก็จะสนับสนุนในการเจริญปัญญา เพราะจิตที่สงบจะมีเหตุมีผล คิดไปตามความเป็นจริง ตามเนื้อผ้า จะไม่ไปตามอารมณ์
อย่างผู้พิพากษานี้ ถ้ามีสมาธิแล้ว จะพิพากษาตรงไปตรงมา แต่ถ้าถูกกิเลสครอบงำ ก็จะมีความลำเอียงเกิดขึ้นได้ ถ้ามีผลประโยชน์มาล่อใจ เพราะยังไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบ ยังถูกอำนาจของความโลภครอบงำอยู่ ใครให้เงินมากกว่าก็ตัดสินว่าทางนั้นถูก อย่างนี้ก็ยังไม่เป็นฐานของปัญญา ถ้ามีสมาธิแล้ว ต่อให้ใครให้เงินมากน้อยเพียงไร ก็ไม่สนใจ ถ้าผิดก็ว่าผิด เพราะคนที่มีสมาธิมีความสุข มีความอิ่ม ความพอ มีสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าเงิน สมาธิเป็นเหมือนเพชร เงินเป็นเหมือนกับก้อนอิฐก้อนทราย จึงไม่สนใจ จะให้มาเท่าไรก็ไม่สนใจ เมื่อมีหน้าที่ที่จะต้องทำ ก็ต้องวินิจฉัยไปตามเนื้อผ้า การพิจารณาด้วยปัญญาก็แบบเดียวกัน ถ้ายังมีกิเลสอยู่ พิจารณาไปแต่ก็ตัดไม่ขาด ยังเสียดาย แต่ถ้ามีความสงบ กิเลสจะถูกกดไว้ พิจารณาเห็นอะไรเป็นโทษก็เลิกได้ เช่นสุรายาเมาก็เลิกได้ ก่อนที่อาตมาจะปฏิบัติธรรมก็เคยดื่มสุรา เคยไปเที่ยวเหมือนกัน
แต่พอนั่งสมาธิได้ความสงบปั๊บ เรื่องพวกนี้มันหายไปหมดเลย จิตไม่เคยคิดถึงมันเลย แม้แต่พระที่เคยห้อยคอก็ไม่เคยห้อยเลย เพราะไม่รู้จะห้อยไปทำไม เพราะพระที่แท้จริงมันอยู่ในตัวเรา ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ขอให้ปฏิบัติธรรมไป แล้วจะได้ของที่มีคุณค่ากว่าของที่เรามีอยู่ภายนอก มันจึงทำให้เราสามารถสละได้หมด สละทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด เพราะต้องการสิ่งที่มีคุณค่ากว่า ที่เราได้ลิ้มรสมาแล้วบางส่วน เราอยากจะได้เพิ่มอีก เรามีความโลภทางธรรมแล้ว แต่ไม่เรียกว่ากิเลส เรียกว่าฉันทะ ความยินดีในธรรม ความอยากจะได้ธรรมมากยิ่งๆขึ้นไป เป็นอิทธิบาท จิตก็จะมุ่งไปสู่จุดนั้น มันก็พาอาตมาไปถึงอุดรฯ ทั้งๆที่ไม่เคยวาดแผนชีวิตของเราไว้ว่าจะไปที่ตรงนั้น แต่เมื่อมันถึงเวลา สิ่งที่เราต้องการมันอยู่ตรงนั้น เราก็ต้องไปตรงนั้น โดยที่ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงนั้นมาก่อน
มันก็เหมือนกับแกะทางไปเรื่อยๆ มาถึงตรงนี้ก็ถามเขาว่าจะไปทางไหนต่อ ตอนก่อนจะบวชก็พยายามศึกษาดูว่ามีวัดแบบไหนบ้าง พอดีตอนนั้นมีฝรั่งอยู่คนหนึ่ง เขาทำหนังสือเกี่ยวกับวัดปฏิบัติธรรม เขาไปมาหมดเลยนะวัดที่สำคัญๆในประเทศไทยนี้ ฝรั่งคนนี้ขวนขวายหาความรู้มาก เขาไปมาหมดเลย เขาจะรู้รายละเอียดของแต่ละวัด ว่าอาจารย์สอนแบบไหน อาหารเป็นอย่างไร มีพระเณรกี่รูป เขารู้จักวัดปฏิบัติทั้งหมดในเมืองไทย แล้วทำเป็นหนังสือไกด์ เหมือนกับเวลาไปเที่ยวยุโรปหรือประเทศอื่นๆ เขาก็มีหนังสือไกด์แนะนำให้ไปดูสถานที่ต่างๆ อันนี้เขาทำเป็นหนังสือไกด์แนะนำวัดกรรมฐาน วัดปฏิบัติธรรมต่างๆ เราก็เปิดดู ก็พอรู้ว่ามีวัดปฏิบัติอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ยังไม่ได้ไป เพราะตอนนั้นยังไม่ได้บวช พอจะบวชก็ได้รับคำแนะนำให้ไปบวชที่วัดบวรฯ จึงไปที่วัดบวรฯ ไปเจอพวกพระชาวต่างชาติ เขาก็รู้จักวัดต่างๆเหมือนที่เราได้อ่านมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัดป่าบ้านตาด วัดหินหมากเป้ง วัดถ้ำกลองเพล วัดหลวงปู่ชา ก็อยู่ในหนังสือไกด์นี้หมด ก็เลยคลำทางไปเรื่อยๆ
ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีอยู่ในตัวเราเองอยู่แล้ว ขอให้เรารู้จักใช้มัน แต่เราไม่ค่อยชอบพึ่งตัวเราเองกัน ชอบพึ่งคนอื่น มันง่าย มันสะดวก กินข้าวก็อยากจะให้คุณแม่ป้อนให้ แล้วถ้าคุณแม่ไม่อยู่จะทำอย่างไร ก็อดตาย ไม่มีคนป้อนให้ หัดพึ่งตัวเอง พึ่งตัวเองได้แล้วสบาย ไปอยู่ที่ไหนเราสามารถดูแลตัวเราเองได้ตลอด บางสิ่งบางอย่างถ้าพึ่งตนเองไม่ได้ก็ต้องพึ่งผู้อื่น เช่นธรรมะนี่เราก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ อาศัยพระพุทธเจ้า อาศัยหนังสือธรรมะ สุดแท้แต่มีอะไรใกล้มือเราก็เอาสิ่งนั้นก่อน ถ้าใกล้มือมีหนังสือก็อ่านไปก่อน มีเทปก็ฟังไปก่อน ถ้ายังไม่สามารถไปวัดไปพบครูบาอาจารย์ได้ก็ฟังไปก่อน อ่านไปก่อน เมื่อมีโอกาสได้ไปพบท่านก็ถามปัญหาที่เราสงสัย แต่ปัญหาบางอย่าง เราก็สามารถหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ถ้าเราคิดเป็น ก็ไม่ต้องถามคนอื่น มีปัญหาเกิดขึ้นมา เดี๋ยวคำตอบก็ตามมาเอง