กัณฑ์ที่ ๒๔๐       ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙

 

อัดเสียงธรรมด้วยใจ

 

 

 

ความจริงพวกเราก็มีเครื่องอัดเสียงที่ดีอยู่แล้วนะ ไม่ต้องใช้ถ่าน ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า  มีติดตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ค่อยชอบใช้กัน  ที่อัดนี่ก็เผื่อคนที่ไม่ได้มาฟังกัน ส่วนคนที่มาต้องอัดเข้าไปในใจ  จะได้รับประโยชน์ทันทีเลย  ถ้ามัวกังวลอยู่กับเรื่องอัด  เวลาฟังก็จะไม่ได้อัดเข้าไปในใจ เพราะใจมัวไปกังวลว่าอัดติดหรือไม่ติด  ได้ของสดๆกลับไม่ชอบ จะเอาของแห้งกลับไป จึงอย่าไปกังวลกับมัน  พอกดปุ่มให้เครื่องเริ่มอัดแล้วก็ปล่อยให้มันทำงานของมันไป จะติดหรือไม่ติดก็เรื่องของมัน อัดธรรมะเข้าไว้ในใจของเราก่อนจะดีกว่า  สมัยพระพุทธกาลก็ไม่มีเครื่องอัดเสียงกัน ก็ใช้ใจเรานี่แหละอัด  แล้วก็ไปบอกไปเล่าให้คนอื่นฟังอีกที   สมัยที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็มีพระองค์เป็นองค์แรกพระองค์เดียว  หลังจากทรงแสดงธรรมให้กับพระปัญจวัคคีย์ ก็บรรลุเพิ่มขึ้นมาอีก ๕ รูป  ท่านก็เอาธรรมะที่ท่านอัดไว้ในใจไปเปิดให้คนอื่นฟังต่อ  คนฟังก็อัดไว้ในใจต่อ ก็อัดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้  

 

แต่พวกเรานี่ต่อไปอาจจะไม่มีอะไรเหลือให้อัด เชื่อไหม ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมา ของพวกนี้จะใช้ไม่ได้หมด จะไม่มีธรรมะอะไรเหลืออยู่เลย  แต่ถ้าธรรมะอยู่ในใจของเราแล้ว  ต่อให้ไปเกิดชาติหน้าภพหน้าธรรมะก็ยังติดไปกับใจด้วย ถ้าเกิดมีสงครามโลกขึ้นมามันก็อาจจะล้างผลาญทุกสิ่งทุกอย่างจนเกลี้ยงไปหมดเลย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องอัดเครื่องเล่น  หรือแม้แต่หนังสือก็อาจจะกลายเป็นขี้เถ้าไปหมด ภาษาก็อาจจะเปลี่ยนไป  แต่ถ้ามีธรรมะอยู่ในใจแล้ว ก็ยังสามารถถ่ายทอดให้กันได้อยู่เสมอ  เวลาฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ จึงเข้าใจง่ายกว่าการอ่านหนังสือธรรมะ  เพราะถ่ายทอดแบบสดๆร้อนๆ ใช้ภาษาเดียวกัน  สมัยนี้เวลาอ่านพระไตรปิฎกนี่อ่านรู้เรื่องไหม  เหมือนเป็นคนละภาษาไปแล้ว ถึงแม้จะเป็นภาษาไทยแต่ก็เป็นราชาศัพท์ เป็นบาลี  อ่านแล้วต้องมาแปลกันอีกทีหนึ่ง   ฉะนั้นเวลาฟังธรรมขอให้เอาใจนี่เป็นตัวอัด 

 

วิธีฟังธรรมท่านก็สอนให้ฟังด้วยสติ ด้วยความตั้งใจ  ไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องอื่น มีหน้าที่รับฟังอย่างเดียว  ฟังไปแล้วก็พิจารณาตามไป   ถ้าเข้าใจก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา  ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ก็ปล่อยไปก่อน  แสดงว่ายังฟังไม่มากพอ พอที่จะให้เกิดความเข้าใจได้  ต้องฟังไปอีกหลายๆครั้ง แล้วก็จะเข้าใจไปเอง  เหมือนกับเวลาเราบอกอะไรใ้ห้ใครฟัง  บางคนพูดคำเดียวก็เข้าใจ  บางคนก็ต้องขยายความ ต้องอธิบายหลายๆครั้งถึงจะเข้าใจ  เช่นการบอกทาง  ถ้าบอกคนฉลาด บอกไปทางหลวงหมายเลขนี้ๆ แค่นั้นก็พอแล้ว  แต่อีกคนหนึ่ง บอกทางหลวงหมายเลขนี้ๆ อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้  ต้องขยายความว่าทางหลวงหมายเลขนี้ ชื่ออย่างนี้ สุขุมวิท พหลโยธิน ขนาดบอกละเอียดอย่างนี้บางทีก็ยังไม่รู้เลย  เพราะเวลาไปไหนมาไหนไม่เคยสนใจศึกษา  นั่งหลับอยู่ในรถเพราะมีคนพาไป  ตอนนี้อยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้เลย  เพราะไม่สนใจศึกษา  ไม่มีใครห้าม  เราศึกษาได้  เวลาเดินทางก็คอยสังเกตดูป้ายต่างๆ  ถ้าไม่รู้ก็ถามคนที่รู้ว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน ถนนอะไร  ต่อไปเราก็สามารถมาเองได้  ไม่ต้องให้คนอื่นพามา  ถ้าชอบนั่งหลับในรถสบาย  พอขึ้นรถก็หลับตา  พอลืมตาก็ลงจากรถได้เลย  อย่างนี้ก็เป็นเหมือนกับพวกหมูพวกไก่ ที่ถูกจับไปเชือด  พอไปถึงโรงเชือดก็ถูกต้อนลงไปเชือด

 

นี่แหละคือปัญญา ต้องมีความสำเหนียก  ต้องคอยศึกษา เป็นการฝึกฝนอบรมไปในตัว  ต่อไปเวลาได้ยินอะไรไม่เข้าใจก็จะจดจำไว้ แล้วไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติม ไปเปิดในพจนานุกรมดู  ถ้าเป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับทางธรรมะ ก็อาจจะต้องไปหาผู้รู้ให้ช่วยอธิบายให้เข้าใจ  สิ่งต่างๆไม่ได้เป็นปริศนาอะไรเลย  ปริศนาอยู่ที่ใจเราต่างหาก  ใจเรามันมืดบอด ไม่ค่อยสนใจศึกษาหาความรู้ หาแสงสว่าง ขี้เกียจ สังเกตดูคนที่ขี้เกียจเรียนหนังสือก็ไม่สามารถเรียนได้สูง ไม่เจริญก้าวหน้า  คนที่จบ ม. ๓ จบ ปวช. ก็ทำงานได้ระดับหนึ่ง  คนที่ขยันเรียนจนจบปริญญา ก็ทำงานในอีกระดับหนึ่ง  เพราะมีความขวนขวาย  มีวิริยะความพากเพียร ที่จะศึกษาหาความรู้  เวลาไปสมัครงานก็จะมีการทดสอบดูภูมิความรู้ของเรา สอบสัมภาษณ์เรา คุยกับเรา ก็จะรู้ว่ามีความรู้มากน้อยเพียงไร จึงอย่าไปอาศัยสิ่งภายนอกมากนัก  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้ อัตตา หิ อัตโน นาโถ  ตนเป็นที่พึ่งของตน  อาศัยผู้อื่นในระยะเริ่มต้น ตอนที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้ ให้สอนเราในสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน   อาศัยคุณพ่อคุณแม่ สอนให้ทำอะไรต่างๆ  ให้รู้จักพูด ให้รู้จักทำ  เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อย ก็อาศัยคุณครูที่โรงเรียน  แล้วก็อาศัยอาจารย์ในมหาวิทยาลัย 

 

เมื่อเรียนจบแล้ว ทำมาหากินได้แล้ว มีเงินมีทองแล้ว ก็เริ่มสนใจทางด้านจิตใจ  ความสุขทางด้านจิตใจ ที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติธรรม ก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์อีก ก็มีอยู่ ๒ รูปแบบคือ ๑.  หนังสือพระไตรปิฎก หนังสือธรรมะต่างๆ ที่มีอยู่เกลื่อนไปหมด  เราสามารถอ่านหาความรู้ได้ ๒. ถ้ามีโอกาสได้พบปะกับครูบาอาจารย์ที่เก่ง ที่ฉลาด ก็ศึกษากับท่าน  แล้วก็นำไปปฏิบัติ  วิธีศึกษาที่ดีที่สุดก็คือการตั้งใจฟัง ไม่ต้องอาศัยสื่อต่างๆมาเป็นเครื่องมือ  เพราะส่วนใหญ่อัดไปแล้วก็ไม่ได้ฟังเท่าไหร่ คอยจะไปอัดใหม่อยู่เรื่อยๆ  อัดแล้วก็เอาไปแจก ตัวเองก็ไม่มีเวลามานั่งฟัง  สู้ฟังแล้วเอาไปปฏิบัติจะดีกว่า  การเผยแผ่ก็ดีหรอก  แต่ก็ต้องรู้จักประมาณ  ในเบื้องต้นควรจะสอนตัวเราก่อน ให้หลุดพ้น ให้สบายก่อน ให้พึ่งตนเองได้ก่อน  หลังจากนั้นจึงค่อยช่วยเหลือคนอื่นต่อไป ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย คือศึกษาและปฏิบัติก่อน  จนเข้าอกเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ทำให้จิตใจอยู่เหนือความทุกข์ได้ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะอยู่ในใจ เป็นเหมือนกับภาษา ที่เรียนจากคุณพ่อคุณแม่ จะฝังลึกอยู่ในใจของเรา  เวลาต้องสอนภาษาไทยนี่จะง่ายมาก ไม่ต้องไปเรียนจากหนังสือ เรียนกับคุณพ่อคุณแม่ จากการได้ยินได้ฟัง ได้ใช้ได้พูด ก็กลายเป็นความรู้แนบติดตัวเราไป 

 

ธรรมะก็แบบเดียวกัน  ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ก็ได้ศึกษา ได้ยินได้ฟัง แล้วก็ได้ปฏิบัติ ท่านสอนอย่างไรท่านก็ปฏิบัติอย่างนั้น สอนธุดงควัตร ก็ปฏิบัติธุดงควัตร วัดป่าส่วนใหญ่ก็จะบิณฑบาต  ฉันมื้อเดียว  ฉันในบาตรเป็นวัตร เป็นหน้าที่  ส่วนธุดงควัตรข้ออื่นก็แล้วแต่ละองค์จะสมาทานปฏิบัติกัน วิถีชีวิตก็อยู่ตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอน  ให้อยู่แบบเรียบง่าย  ไม่ให้มีเรื่องต่างๆเข้ามารบกวนจิตใจ  ให้พึ่งตนเอง  วัดป่านี้ท่านเน้นเรื่องสมถะจริงๆ ไม่ให้มีอะไรเลย  ให้อยู่กับธรรมชาติ  ไม่ต้องมีไฟฟ้า ไม่ต้องมีน้ำประปา มีสระน้ำ มีบ่อน้ำก็อาศัยอยู่ได้แล้ว  อย่างบนเขานี้สระก็ไม่มี บ่อก็ไม่มี ต้องอาศัยรองน้ำฝนเอา  ฝนตกก็ต้องขยันออกมารอง แต่อยู่สบาย อยู่กับธรรมชาติ ไม่มีปัญหามากเหมือนอยู่กับสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา เช่นไฟฟ้า  พอมีไฟฟ้าแล้วก็มีเรื่องอื่นๆตามมา  แล้วเราก็ไปยึดไปติดกับเรื่องต่างที่มากับไฟฟ้า  สมัยก่อนมีไฟฟ้าไว้เพื่อให้แสงสว่าง  ต่อมาเครื่องอำนวยความสุขความสะดวกทั้งหลายก็ตามมา เช่นตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ พัดลม เตาไฟฟ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องบันเทิงต่างๆ  วิทยุ  โทรทัศน์ เครื่องเสียง  จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เด็กที่เกิดมาในสมัยนี้เลยคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัย ๔   คือจะต้องมีมัน ก็เลยต้องพยายามหามา  พอโตขึ้นแล้วย้ายออกจากบ้านไปมีบ้านของตนเอง ก็ต้องไปหาซื้อของเหล่านี้มา  แล้วก็สร้างภาระให้กับตัวเอง ดิ้นรนขวนขวายวุ่นวายกับการหาทรัพย์หาเงินหาทอง ดูแลรักษา กังวลห่วงใย  แลกกับความสุขเล็กๆน้อยๆ 

 

เมื่อได้สิ่งต่างๆมาแล้วส่วนใหญ่ก็ตั้งมันไว้อย่างนั้นแหละ  นานๆจะดูสักที จะฟังสักที  แล้วก็บ่นหาความสุข ทั้งๆที่มีเครื่องอำนวยความสุขเต็มไปหมด  แต่เป็นความสุขที่ไม่ให้ความอิ่มความพอ   ถ้ารับประทานอาหารก็เหมือนกับรับประทานลม  เช่นหายใจเข้าไปอย่างเดียว ไม่กินข้าวปลาอาหาร  ถ้ากินแต่ลมหายใจ  มีแต่ลมเข้าไปในร่างกายอย่างเดียว ก็ไม่ทำให้ร่างกายอิ่ม  ฉันใดความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่เราสร้างสรรค์กันขึ้นมา  ก็ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอกับเรา  ไม่ได้ให้ความสุข ให้ความมั่นคงแก่จิตใจ  แต่กลับสร้างความอ่อนไหวให้กับจิตใจ   เพราะเวลาอะไรขาดไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น ก็วุ่นวายกันทั้งบ้านทั้งเมือง   ไฟฟ้าดับทีหนึ่งก็วุ่นวายไปหมด  น้ำประปาไม่ไหลก็ลำบากกันไปหมด  ก็เพราะไม่ได้ศึกษา  ไม่รู้ความจริงของชีวิตว่าเป็นอย่างไร  ถ้าได้ไปเจอครูบาอาจารย์ ได้เจอพระพุทธศาสนา  ท่านก็จะสอนเน้นไปทางความเรียบง่ายในการครองชีพ การดำรงชีวิต ให้รักษาชีวิตให้อยู่ไปได้วันๆหนึ่งแบบที่สะดวกที่ง่ายที่สุด  คือตามอัตภาพ ตามมีตามเกิด  ไม่ต้องไปมีอะไรมากมายเกินความจำเป็น   ไฟฟ้าไม่มีก็ไม่ตาย  น้ำประปาไม่มีใช้ก็ไม่ตาย  แต่น้ำต้องมี  ไฟก็ต้องมี  แสงสว่างต้องมี  วันหนึ่งๆเราก็มีแสงสว่างตั้ง ๑๒ ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว  ทำไมต้องมีไฟตอนกลางคืนด้วย  ถ้าไม่มีไฟฟ้าก็อาศัยแสงเทียนโคมไฟก็ได้

 

พระธุดงค์ท่านก็มีโคมผ้ากลมๆ มีเทียนตั้งอยู่ข้างใน ไว้ใช้เวลาเดินไปไหนมาไหนตอนกลางคืน จุดเทียนแล้วก็เดินถือโคมไฟไป ก็พอเห็นทาง พอทำอะไรได้ ส่วนใหญ่พระปฏิบัติจะไม่ค่อยอ่านหนังสือกันเท่าไร   โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืน เพราะไม่จำเป็น  หนังสือนี่อ่านเฉพาะช่วงกลางวันก็เหลือเฟือแล้ว ถ้าอยากจะอ่าน   พระปฏิบัติบางรูปท่านอ่านหนังสือไม่เป็น  แต่ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องอ่านมากนัก  ไตรสิกขาก็มีแค่ ๓ เท่านั้นเอง  คือศีล สมาธิ ปัญญา  ก็ได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้อยู่เสมอๆ  ตั้งใจฟังก็เท่ากับได้อ่านหนังสือแล้ว  คนสมัยโบราณจึงอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้กัน  แต่อาศัยการจดการจำ การฟัง มีความจำที่ดี ท่องพระไตรปิฎกได้ทั้งเล่ม  แสดงว่าความจำดีมาก  มนุษย์เรามีสิ่งที่ดีอยู่ในตัวเรา  แต่เนื่องจากไปอาศัยสิ่งภายนอกมาทดแทน  ของดีในตัวเราก็เลยไม่มีโอกาสโผล่ออกมาให้เราเห็น ของพวกนี้ถ้าเราไม่ใช้  ก็เป็นเหมือนมีดที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ ก็จะมีสนิมเกาะ ไม่สามารถเอาไปใช้อะไรได้  มีดต้องใช้อยู่เรื่อยๆ  เพราะเมื่อใช้เราก็ต้องลับมันอยู่เรื่อยๆ  เมื่อลับเรื่อยๆมันก็จะคม  ใจเราก็มีสัญญาความจำ  มีสังขารความคิดปรุง ที่จะคิดไปในทางสติปัญญา ที่จะจำความรู้ต่างๆ  ขยายความรู้ต่างๆ ให้กว้างใหญ่ไพศาลขึ้นไป อย่างไม่มีขอบเขต 

 

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงถามพระภิกษุ  ในขณะที่ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่งว่า ใบไม้ที่ตถาคตถืออยู่ในมือนี้ กับใบไม้ที่มีอยู่ในป่านี้ อันไหนจะมากกว่ากัน  พระภิกษุท่านก็ตอบว่า ก็ในป่าซิขอรับ  เพราะในกำมือของพระองค์มีเพียงไม่กี่ใบ  พระองค์ทรงตรัสว่า คำสอนที่เราสอนนี้ก็เป็นเหมือนกับใบไม้ที่อยู่ในมือเรานี่แหละ ส่วนความรู้ที่จิตใจคือสังขารความคิดปรุง ที่สามารถพินิจพิจารณานั้น มันมากมายก่ายกอง  กว้างใหญ่ไพศาลกว่าสิ่งที่เราสั่งสอนพวกเธอ  แต่ที่ไม่ได้เอามาสั่งสอนก็เพราะว่ามันไม่มีความจำเป็นสำหรับพวกเธอ ที่เพียงแต่รู้วิธีดับทุกข์ก็พอแล้ว  ให้รู้จักว่าทุกข์เป็นอย่างไรแล้วก็วิธีทำให้ทุกข์ดับไป  ตถาคตเป็นเหมือนกับหมอ พวกเธอเป็นเหมือนคนไข้  หมอก็เอายาที่มารักษาโรคที่เธอเป็นเท่านั้น   แต่ยังมียาอีกมากมายก่ายกองที่ไม่มีความจำเป็นสำหรับพวกเธอ  หมอก็ไม่เอามาให้กินให้เสียเวลาเปล่าๆ นี่พูดถึงความสามารถของใจเรา  ถ้าให้มันมีโอกาสได้พัฒนา ได้พึ่งตัวมันเองแล้ว มันจะเก่งกาจมาก  แต่ถ้าเรามัวแต่พึ่งอย่างอื่น  เราก็จะเป็นเหมือนคนง่อย คนพิการ  เหมือนกับเรามีร่างกายที่สมบูรณ์ มีแขน มีขา เดินได้  แต่ไม่ชอบเดิน ชอบให้คนอุ้ม  ชอบนั่งรถเข็นพาเราไปไหนมาไหน  ก็เป็นเหมือนกับคนพิการไป  ถ้าไม่ใช้มันนานๆ มันก็พิการขึ้นมาจริงๆ   เวลาที่จะต้องลุกขึ้นมาเดินสักที  ทำอะไรสักทีด้วยตัวเอง ก็จะทำไม่ได้  เคยใช้เครื่องซักผ้าอยู่เรื่อยๆ  แล้วต้องซักด้วยมือ ก็จะรู้ว่าเป็นอย่างไร 

 

นี่ก็เป็นเพราะไม่ได้รับการศึกษาอบรม ก็เลยหลงไปตามกระแสของกิเลส ของความโลภ ของความหลง  หลงคิดว่าเมื่อทำอะไรให้มันสะดวก ให้มันสบาย ก็จะมีความสุข  จึงเอาสิ่งต่างๆมาอำนวยความสะดวก  แล้วเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อไม่ต้องทำอะไรเลย  ก็ต้องไปออกกำลังกายอยู่ดี  ต้องไปเสียเงินสมัครเป็นสมาชิกของฟิตเนส ไปออกกำลังกาย  ไปวิ่ง ไปยกน้ำหนัก ไปทำอะไรให้เหงื่อมันแตก  ซึ่งสมัยปู่ย่าตายายเราไม่เห็นต้องทำอย่างนี้เลย  เพราะต้องคอยกวาดบ้านถูบ้าน ถางหญ้าขุดดิน ทำอะไรต่างๆด้วยหยาดเหงื่ออยู่ทุกวัน  ร่างกายจึงแข็งแรง  แต่ทุกวันนี้พวกเราเหมือนกับคนง่อย  เดินสักป้ายรถเมล์หนึ่งก็คงจะเดินไม่ไหวแล้ว เพราะมีรถยนต์  จอดรถก็ต้องจอดที่ใกล้ๆ  พอจอดลงปั๊บก็ถึงที่หมายเลย ไม่ชอบเดิน  เมื่อร่างกายไม่ได้ออกกำลังกาย ก็อ่อนแอเป็นโรคได้ง่าย อายุก็สั้น เพราะหลงตามกระแสของกิเลสนั่นเอง  กิเลสชอบความง่าย ความสะดวก ความสบาย  แต่ไม่รู้ว่าการที่จะได้สิ่งที่ง่าย ที่สะดวกมา ต้องเสียเวลากับการหาเงินหาทองเพื่อซื้อสิ่งเหล่านี้มา แล้วก็ต้องวุ่นวายทางด้านจิตใจมาก  เพราะต้องแก่งแย่งแข่งขันกัน  จึงควรหันกลับมาอยู่ตามกระแสของธรรมะ อยู่ง่ายๆ สิ่งไหนไม่จำเป็นก็โละทิ้งไป ตู้เย็นไม่ต้องมี  เครื่องปรับอากาศก็ไม่ต้องมี เอาเท่าที่จำเป็น  แล้วค่าใช้จ่ายในบ้านจะลดน้อยถอยลงไป ความกดดันทางด้านจิตใจก็จะเบาลงไป

 

จะมีเงินเหลือใช้ จะไม่เครียด เพราะมีเงินที่จะซื้อสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เช่นอาหาร  ยารักษาโรค  เวลาที่ไม่สบาย  เสื้อผ้านานๆก็จะซื้อสักทีหนึ่ง  บ้านก็มีอยู่แล้ว  รายจ่ายจะมีไม่มาก   จะกลายเป็นเศรษฐีขึ้นมาโดยไม่รู้สึกตัว   ทุกวันนี้หาเงินเท่าไรก็ไม่พอใช้  จะไปพอใช้ได้อย่างไรในเมื่อไม่รู้จักพอ  มีร้อยก็ใช้ร้อยสิบ  มีพันก็ใช้พันร้อยอย่างนี้  ก็ต้องเป็นหนี้อยู่เรื่อยๆ  คนขายของก็ฉลาด  ชอบให้ซื้อเงินผ่อน  เอาของไปก่อนแล้วมาจ่ายทีหลัง  ถ้าไม่มีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่มีความรู้ทางด้านธรรมะแล้ว ก็จะวุ่นวายอยู่กับเรื่องเหล่านี้ไปเรื่อยๆไม่รู้จักจบจักสิ้น   แต่ถ้ารู้ธรรมะ  รู้ว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น แยกแยะได้  อันไหนไม่จำเป็นก็โยนทิ้งไป เอาแต่สิ่งที่จำเป็น  มาหาความสุขที่แท้จริงดีกว่า  ความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆ ที่ต้องเสียเงินเสียทองไปซื้อมา มันเป็นอย่างไร  ดูโทรทัศน์กี่ครั้งแล้ว ได้ความสุขขนาดไหน  ฟังเครื่องเสียงแล้ว ได้ความสุขขนาดไหน มันก็เหมือนเดิมแหละ เหมือนกับไม่ได้ดูไม่ได้ฟัง ก็อย่าไปดูไปฟังมันดีกว่า  มาหาความสุขทางนั่งสมาธิ  อ่านหนังสือธรรมะ  ฟังเทศน์ฟังธรรมจะดีกว่า จะได้พบกับสิ่งที่ดีที่เลิศที่วิเศษ ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้เจอกัน อยู่ในตัวเรานี่เอง ไม่ได้อยู่ที่ไหน 

 

ของต่างๆที่เราลุ่มหลงกันนี่  เราต้องใช้ปัญญา  ถามตัวเองง่ายๆว่า มันจำเป็นไหม  ไม่มีมันจะตายไหม  แล้วทำใจให้เข้มแข็ง  ถ้ายังไม่ถึงขั้นโยนทิ้งไป ก็เอาเก็บไว้ในตู้ อย่าไปใช้มัน  ดูซิว่าชีวิตของเราจะอยู่ได้ไหม  รับรองได้ว่าชีวิตจิตใจของเราจะดีขึ้นอย่างแน่นอน  ความเครียด ความกังวล ความวุ่นวายใจต่างๆ จะเบาบางลงไป  อยู่แบบสมถะเรียบง่าย  ในหลวงทรงสอนอยู่เรื่อยๆ เศรษฐกิจพอเพียง ก็พอเพียงกับการอยู่  ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย กับของที่ไม่จำเป็น หาความสุขที่แท้จริงดีกว่า  จากการศึกษาปฏิบัติธรรม  เพราะจะนำไปสู่การหลุดพ้น จากความหิวความอยาก ความต้องการต่างๆ สามารถอยู่เฉยๆได้อย่างเป็นสุข  ไม่ต้องมีเครื่องมาบำรุงบำเรอความสุข  อยู่เฉยๆ เมื่อจิตไม่หิวไม่อยาก ก็ไม่มีปัญหาอะไร  ทุกวันนี้ที่เราอยู่เฉยๆกันไม่ได้  ก็เพราะว่าพออยู่เฉยๆแล้วมันเกิดความทุกข์ขึ้นมา หงุดหงิดใจ รำคาญใจ เศร้าสร้อยหงอยเหงา ต้องหาอะไรทำ  เพราะว่าจิตมันไม่นิ่ง จิตไม่ได้รับอาหาร ไม่ได้รับธรรมะ  ลองหันมาหาอาหารที่แท้จริงให้กับใจดู  ทำบุญทำทานตามฐานะ  มีเงินมากน้อยเพียงไรก็ทำไป  ส่วนที่จะต้องเก็บไว้ใช้ก็เก็บไว้  ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำหมด  นอกจากมั่นใจว่าไม่ต้องการมันอีกแล้ว  คนฉลาดก็สละหมด แล้วก็ออกบวช  อาศัยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ

 

ตอนที่เราออกบวชนั้นโชคดีไม่มีเงินมาก เหลือไม่กี่พันบาท  สมบัติของตัวเองนอกจากเสื้อผ้าก็ไม่มีอะไร บ้านก็ไม่มี งานก็ไม่มี ครอบครัวก็ไม่มี มันก็เลยง่าย คนที่มีอะไรมากๆก็เหมือนคนไข้ ที่มีสายระโยงระยางมาก  จะถอดสายอะไรออกแต่ละเส้นก็กลัวว่าร่างกายจะตาย  แต่คนที่ไม่มีสายอะไรเลยนี่สบาย  หายใจไปตามธรรมชาติ อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป ส่วนใหญ่ที่เราไม่สามารถไปอยู่วัดกันได้ ก็เพราะมีเครื่องพันธนาการเต็มไปหมด  ไหนจะเครื่องปรับอากาศ  ไหนจะตู้เย็น  ไหนจะรับประทานอาหารตามอัธยาศัย  หิวเมื่อไรก็กินได้เมื่อนั้น อะไรเหล่านี้  ทั้งๆที่ร่างกายมันไม่มีความต้องการอาหารเลย  ส่วนใหญ่จะป้อนให้กับกิเลสคือกามตัณหา อยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่างๆ ถ้ากินเพื่อกิเลส กินเท่าไรก็ไม่พอกิน กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม  แต่ถ้ากินเพื่อร่างกายก็มีประมาณ เวลากินเข้าไป พอรู้สึกว่าเริ่มอิ่มแล้ว ก็หยุดกินได้แล้ว  ดื่มน้ำเข้าไปสักแก้วหนึ่งก็จะอิ่ม  แล้วก็อยู่ได้นานถึง ๒๔ ชั่วโมง  กินข้าวมื้อเดียวก็อยู่ได้  แต่ใจมันจะดิ้นรน  สมัยที่บวชใหม่ๆ  เราก็เคยเจอ  กินข้าวเสร็จแล้วก็ยังคิดถึงอาหาร  ตอนเย็นๆนี่มันคิดปรุงวุ่นวายไปหมดเลย  อาหารชนิดนั้นชนิดนี้ เลยต้องอาศัยการภาวนา การนั่งสมาธิ กำหนดจิตให้นิ่ง ไม่ให้ไปคิดถึงอาหารต่างๆ  พอไม่ไปคิดปั๊บ ความหิวต่างๆก็หายไป 

 

เลยรู้ว่าความหิวมี ๒ รูปแบบ  หิวกายกับหิวใจ  กายไม่หิวหรอก ที่หิวนั้นมันหิวใจ  เพราะกายมันอยู่ได้ มันไม่ตายหรอก  รออีก ๒๔ ชั่วโมงแล้วมากินมันก็ไม่ตาย  แต่ที่มันจะตายก็คือกิเลส  เพราะจิตใจมันแสนทรมานด้วยความหิวโหย  บางทีน้ำตาไหลเพราะหิวข้าว อยากจะกินข้าว อยากจะกินนั่นกินนี่  พอเห็นคนอื่นเขาอดอาหารทีละ ๓ วัน ๕ วัน  ก็คิดว่าเรายังไม่ได้อดเลยนี่ ก็เลยลองอดดู  เวลาอดก็ต้องภาวนา  เพราะถ้าไม่ภาวนาจิตจะฟุ้งซ่านมาก  จะคิดแต่เรื่องอาหาร  การอดอาหารก็เป็นการบังคับใจให้ภาวนา  เวลาอดอาหารนี่มันจะขยัน  มันกลัวความทุกข์ที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งเกี่ยวกับเรื่องอาหาร  ก็พยายามนั่งสมาธิ  พยายามเดินจงกรม  ควบคุมจิตใจให้อยู่กับอารมณ์ที่เรากำหนดไว้ ให้อยู่กับอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก  หรืออยู่กับพุทโธๆๆ  พอจิตไม่ได้คิดถึงเรื่องต่างๆ มันก็สงบตัวลง  พอมันสงบปั๊บ ก็เกิดความอิ่มขึ้นมาในใจ  ถึงเข้าใจว่าทำไมพระท่านอดอาหารได้ตั้งหลายวัน  เพราะใจท่านไม่หิว มีภาวนาเป็นตัวคอยให้อาหารกับจิตใจ  ส่วนร่างกายก็อาจจะมีความซูบผอม  มีความรู้สึกว่าท้องเบา อะไรอย่างนี้  แต่ก็ไม่เป็นปัญหาใหญ่โตอะไร  ปัญหาใหญ่โตอยู่ที่ใจมากกว่า  เมื่อตัวปัญหาที่ใหญ่โตนี้ได้รับการควบคุมดูแลไม่ให้กำเริบ  ไม่ให้สร้างปัญหาแล้ว มันก็สบาย 

 

เพียงแต่ว่าในขั้นตอนของการฝึกสมาธินั้น มันก็สงบเป็นระยะๆ เป็นพักๆ ไม่สงบอย่างต่อเนื่อง  พอออกจากสมาธิก็โดดไปคิดเรื่องต่างๆได้อีก ถ้าไม่รู้จักใช้ปัญญา ก็จะไม่มีทางที่จะกำจัดความคิดที่อยากจะกินนี้ได้  เมื่อยังไม่รู้จักใช้ปัญญา พอมันเริ่มทรมานใจ ก็กลับไปนั่งสมาธิอีก กลับไปกำหนดพุทโธๆๆอีก แต่ถ้ารู้จักใช้ปัญญา ก็จะสามารถกำจัดความอยากอาหารนี้ได้  ด้วยการพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร  ให้พิจารณาดูอาหารที่อยู่ในบาตร อาหารที่เข้าไปในปาก  อาหารที่เคี้ยวแล้วก่อนที่จะกลืนเข้าไป ถ้าว่ามันเอร็ดอร่อย  ลองคายออกมาไว้ในช้อน แล้วตักใส่เข้าไปในปากใหม่ จะทำได้ไหม  ทั้งๆที่เป็นอาหารที่แสนเอร็ดอร่อย ที่อยู่ในปากเมื่อสักครู่นี้  ที่กำลังจะกลืนเข้าไปในท้อง  ส่วนใหญ่เราจะไม่เห็น  จะเห็นแต่เฉพาะช่วงที่มันอยู่ในจานเท่านั้นเอง  เวลาที่ยกมาจากในครัวนี่เขาแต่งมา ดูแล้วแหมมันน่ากิน  แต่ไม่คิดถึงเวลาที่มันไปคลุกกับน้ำลายในปาก หรือในขณะที่รวมกันอยู่ในท้อง  อาหารทุกชนิดไม่ว่าจะหวานจะคาว  จะเป็นผลไม้หรือจะเป็นอะไรก็ตาม ก็ต้องลงไปรวมอยู่ในที่เดียวกันหมด  พระบางรูปท่านจึงคลุกอาหารทุกอย่างในบาตรเลย  เพราะเดี๋ยวมันก็ต้องลงไปรวมกันอยู่ข้างล่าง  นี่เป็นการปราบกิเลส ปราบการอยากในอาหาร แล้วหลังจากนั้นแล้วมันจะไม่ติดกับเรื่องอาหารอีกต่อไป  เพราะเวลาหิวทีไรก็นึกถึงความเป็นปฏิกูลของมันขึ้นมา มันก็ถอยเลย  นี่เรียกว่าอุบายของปัญญา  ถ้าปัญญาทันแล้วต่อไปไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้  ไม่ต้องหนีความทุกข์ที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งเรื่องอาหาร  พอมันปรุงแต่งเรื่องอาหารปั๊บ ปฏิกูลก็จะโผล่ขึ้นมา  พอโผล่ขึ้นมาปั๊บกิเลสก็ถอยเลย 

 

นี่คือเรื่องของใจเรา ที่ยังถูกอำนาจของความหลงครอบงำอยู่ ก็เลยกลายเป็นทาสของมันไปโดยไม่รู้ตัว  คิดว่ากำลังหาความสุข  แต่ความจริงแล้วกำลังเป็นทาส  กิเลสมันสุขแต่ใจเราทุกข์  ความจริงกิเลสมันไม่มีตัวตน  มันเป็นอาการของใจ  เพียงแต่เปรียบเทียบให้ฟังว่า  กิเลสมันเป็นเหมือนกับเจ้านายเรา  มันมีความสุข  มันสั่งมันใช้เราให้หาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้มัน  เวลาที่หามาไม่ได้ ใจก็ทุกข์ ใจก็ถูกทำโทษ  เวลาหามาได้เสร็จปั๊บ เดี๋ยวก็ถูกสั่งให้ไปหาอย่างอื่นมาอีก  หาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น  ไม่มีความเป็นอิสระ อยู่ไม่เป็นสุข  อยู่เฉยๆไม่ได้ เพราะกลัวกิเลส พอมันสั่งอะไรปั๊บต้องรีบทำทันที เหมือนกับมีแส้คอยฟาดใส่เราให้ทุรนทุราย  สังเกตดูเวลาอยากจะได้อะไร มันเป็นอย่างไร  มันทุรนทุรายไหม กลัวว่าจะตายให้ได้ ถ้าไม่ได้ของที่อยากจะได้ นั่นแหละเหมือนกับแส้ที่กิเลสมันฟาดมาที่ใจของเรา  ถ้าเราได้ยินได้ฟังวิธีการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า ของพระสาวกทั้งหลายแล้วว่า นี่แหละคือวิธีที่จะปราบกิเลส ที่จะทำลายกิเลสได้  แล้วนำเอามาใช้  มาปฏิบัติ  รับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็วเราก็จะเป็นอิสระ  กิเลสจะไม่สามารถครอบงำเราได้  ไม่สามารถสั่งการให้เราทำอะไรได้อีกต่อไป

 

การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ  การฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์เป็นเรื่องสำคัญ  เวลาฟังก็ต้องฟังด้วยความตั้งใจ  อย่าไปคิดเรื่องอื่น  เวลาฟังก็ฟัง  ถ้าพิจารณาตามได้ก็พิจารณาไป  ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจก็ผ่านไปก่อน  เพราะบางสิ่งบางอย่างเราอาจจะยังไปไม่ถึง ก็ไม่เป็นไร  เพราะว่าการฟังเทศน์ฟังธรรม เราไม่ได้ฟังหนเดียว ก็ฟังไปเรื่อยๆ  อันไหนที่เราเข้าใจ ที่สามารถนำเอาไปปฏิบัติได้ ก็ควรจะเริ่มปฏิบัติ  ถ้าไม่ปฏิบัติ ต่อให้ธรรมะดีวิเศษขนาดไหน มันก็ยังเป็นธรรมะที่อยู่นอกใจอยู่  ยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในใจ  มันจะเข้าไปอยู่ในใจก็ต่อเมื่อเรานำเอาไปปฏิบัติ  เอาไปตัด เอาไปลด เอาไปละ  อันไหนไม่จำเป็นก็เลิกมันเสีย  เลิกใช้มันเสีย  ที่ไหนไม่จำเป็นจะต้องไปก็ไม่ต้องไป พยายามอย่าไปอาศัยอะไรภายนอกมากถ้ามันไม่จำเป็นจริงๆ  หัดพึ่งตัวเราเอง  เรามีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด  ไปนั่งนับดูซิว่ามียากี่ชนิด  ยาหม่อง ยาทา ยากิน แล้วของเสริมสวยอีก เต็มไปหมด เวลาไปไหนที ถ้าต้องเอาของเหล่านี้ไป มันคงเต็มกระเป๋าใบใหญ่ๆ  เราไม่ไปแบบพระธุดงค์  ท่านมีบาตรใบเดียว ผ้า ๓ ผืน ที่กรองน้ำ ใบมีดโกน เข็มกับด้าย ประคดเอว แค่นี้ก็พอแล้ว  กลดอันหนึ่ง กลดกับมุ้งสำหรับเวลานอนอยู่ในป่า แค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว  ไม่ต้องมีอะไรมากมาย  เราไม่พิจารณากัน เวลาคนนั้นบอกว่าดีก็เอาๆตามเขา  พอใช้แล้วมันก็ติด  ใช้เพื่อความมั่นใจมากกว่า 

 

สมมุติว่าเราเป็นแผล  ถ้าเคยทายา เราก็ต้องมียาติดตัวอยู่ตลอดเวลา พอมีแผลเราก็ต้องทามัน  แต่ถ้าไม่เคยใช้ยามาก่อน ไม่มียา เราก็ปล่อยให้มันหายเอง มันก็หายได้  ช้าหน่อยแต่มันก็หายได้  แต่มันสบายใจกว่าเยอะ ไม่ต้องวุ่นวายใจ ยาหม่องยาทาเราไม่เคยทาเลย เป็นแผลก็ปล่อยให้มันเป็น เดี๋ยวมันก็หาย  ปวดหัวตัวร้อนไม่ต้องกินยาแก้ปวด ไม่เคยปวดด้วยซ้ำไป  ไม่ปวดหัว  เวลาเป็นไข้ก็เป็น แต่ไม่ปวดหัว อาจจะปวดตามร่างกายบ้าง  เช่นเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ต้องกินยา ก็ทนเอา เดี๋ยวมันก็หายเอง  เพราะใจมันเคยผ่านความทุกข์มาแล้ว ในเรื่องความเจ็บปวดทางร่างกายนี้ มันก็เท่านั้นแหละ  เวลานั่งสมาธิไปนานๆ มันเจ็บปวดรวดร้าวไปทั้งตัว แล้วใจมันก็วางเฉยได้ ต่อไปมันก็ไม่วุ่นวายกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยทางร่างกาย นี่เป็นการฝึกจิต เพราะจิตมันไม่ใช่กาย  กายมันเป็นอะไร จิตไปหลงไปคิดว่ามันเป็นด้วยเท่านั้นเอง ความจริงไม่ได้เป็น ทำตามเขา เหมือนกับในนิทานสมัยพุทธกาล  มีคนเลี้ยงม้าเป็นคนขาเป๋ เดินก็เดินแบบคนขาเป๋เดิน  ม้ามันก็เดินขาเป๋ตามคน  ม้ามันไม่ขาเป๋ แต่เห็นคนเลี้ยงเดิน มันก็เดินตามอย่างนั้น  จิตเราก็แบบเดียวกัน ไม่ได้เป็นอะไรเลย แต่พอร่างกายเป็นอะไร มันก็วุ่นวายไปกับร่างกาย  บางทีวุ่นวายมากกว่าร่างกายอีก  ร่างกายมันไม่รู้เรื่องอะไร  มันไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร  เป็นมะเร็ง มันก็ไม่รู้ว่ามันเป็น  เป็นความดัน มันก็ไม่รู้ว่ามันเป็น   แต่ไอ้ตัวรู้นี่มันไปวุ่นวาย  ตัวรู้ก็คือใจ เพราะไม่มีธรรมะ  ไม่เข้าใจว่ารักษาอย่างไรมันก็ไม่หายหรอก  รักษาหายวันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้มันกลับมาใหม่  มันเป็นเรื่องตายตัวอยู่แล้ว 

 

สูตรตายตัวก็คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันอยู่ในนั้นหมดแล้ว  จะรักษาให้ดีขนาดไหน หมอวิเศษขนาดไหน มันก็หนีไม่พ้น  ขนาดหมอเองยังตายเลย รักษาอย่างไรก็ยังต้องตาย  หมอก็ยังต้องตายเหมือนกัน  เราต้องดูความจริง  แต่เราไม่ค่อยดูกัน  พอเป็นอะไรปั๊บ ก็เป็นเหมือนกับกระต่ายตื่นตูม  ไม่สบายๆ  หาหมอๆ  หายาๆ  แทนที่จะดูว่ามันเป็นอย่างไร โรคมันก็มีอยู่ ๓ ชนิด โรคที่เป็นแล้วหายเอง  ไม่ต้องทำอะไรก็หายเองได้ โรคที่เป็นแล้วต้องรักษา และโรคที่เป็นแล้วรักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย มีแต่จะตายอย่างเดียว มันก็มีอยู่ ๓ โรคเท่านั้นเอง พวกเราก็เป็นหมอกันได้นี่ รู้แค่นี้ก็พอแล้ว รักษาร่างกายเราได้แล้ว ร่างกายก็มีแค่นี้ แต่ใจเราซิมันไม่ตาย มันไม่เป็นอะไรสักหน่อย มันไม่มีโรคอะไรสักหน่อย แต่มันถูกโรคของความโลภโกรธหลง มาสร้างความทุกข์ใจ สร้างโรคทางด้านจิตใจ จึงกลายเป็นคนประสาทไปก็มี ความเครียดนี้อยู่ในใจ ที่ไปเครียดกับเรื่องของร่างกาย บางคนกลัวแก่อย่างนี้ พอจะแก่ขึ้นมานี้รับไม่ได้ บางคนกลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย พอคิด พอพูดถึงคำว่ามะเร็ง พูดถึงโรคหัวใจก็จะเครียดมาก  แต่ไม่รู้ว่ามันต้องเป็นด้วยกันทุกคน ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นเหมือนกัน เพราะร่างกายของคนเราทุกคนเหมือนกันหมด ต่างกันตรงที่จิตใจเท่านั้นเอง

 

จิตใจของพระพุทธเจ้า ของพระสาวกนี้ ท่านหายแล้ว ไม่มีเชื้อโรคคือกิเลสไปสร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายใจ จิตใจเป็นปกตินิ่งเฉย สงบไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะไม่ได้มองว่าร่างกายนี้เป็นใจ ไม่เป็นตัวเป็นตน มันก็เป็นเหมือนขวดน้ำที่ตั้งอยู่นี่ มันเป็นอะไรก็ปล่อยมันเป็นไปตามความเป็นจริงของมัน นี่คือสิ่งที่เราจะได้รับจากธรรมะ  คือสามารถปลดเปลื้องจิตของเราให้พ้นจากความมืดบอด พ้นจากความหลงทั้งหลายได้ ทำให้เราอยู่ได้อย่างสุข อย่างสบาย โดยที่ไม่มีอะไรเลย ดีกว่าอยู่กับข้าวของอะไรเต็มไปหมด แต่ใจวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา เครียดอยู่ตลอดเวลา อยู่ลำพังไม่เป็น อยู่คนเดียวไม่ได้ อยู่คนเดียวก็ต้องเปิดไอ้นั่นดู เปิดไอ้นี่ฟัง พอเบื่อก็ต้องโทรฯหาคนนั้นหาคนนี้ เบื่อจากโทรฯก็ต้องไปเจอตัว ไปเจอตัวก็เบื่อ ต้องไปหาคนอื่นต่อ มันเบื่อทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าอะไรในโลกนี้ เป็นของน่าเบื่อทั้งนั้น เพียงแต่ว่านานๆเจอกันทีหนึ่งมันลืมไป แต่พอไปเจอกันปั๊บ คุยกันปั๊บ เดี๋ยวเรื่องเก่าๆ นิสัยเก่าๆก็โผล่ออกมา ก็เบื่อกัน ไปดีกว่า ไปหาคนไหนมันก็เหมือนกันหมด ของน่าเบื่อทั้งนั้น สู้อยู่กับกัลยาณมิตร คือธรรมะในใจเราไม่ได้ ไม่น่าเบื่อ มีธรรมะอยู่ในใจแล้ว มีเพื่อนที่ดี เพื่อนที่คอยสอนเราไม่ให้ดิ้นรนกับอะไร 

 

ถาม    ในกำลังใจเล่มที่ ๑๓ ที่ท่านว่าธาตุ ๔ แล้วมีธาตุ ๕ คือตัวรู้

 

ตอบ    ตัวรู้หรือธาตุรู้ก็คือใจ ธาตุที่ ๖ ก็คืออากาศธาตุ  อากาศก็คือความว่าง พื้นที่ว่างๆนี้เรียกว่าอากาศธาตุ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้องตั้งอยู่ในอากาศ โลกเรานี่ก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ลอยอยู่ในอากาศหรืออวกาศ ดวงดาว ดวงอาทิตย์ต่างๆ ก็ลอยอยู่เหมือนกัน ส่วนใจของเราที่เป็นธาตุรู้ ก็มาครอบครองร่างกายที่ทำมาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นกระดูก ฯลฯ เหมือนกับโทรศัพท์มือถือ มันก็เป็นเหมือนร่างกายที่ทำมาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนคลื่นวิทยุที่เข้าไปหรือออกมาก็เป็นเหมือนใจ พอมีคลื่นวิทยุเข้าไปในเครื่อง มันก็ส่งเสียงดังออกมา มีเสียงคนพูดออกมา เป็นเหมือนตัวจิตกำลังพูดผ่านร่างกาย เครื่องมือถือก็เป็นเหมือนกับร่างกาย คลื่นวิทยุก็เป็นเหมือนใจ ตัวเครื่องมันไม่รู้เรื่อง ตัวรู้เรื่องก็คือตัวกระแสคลื่น เมื่อเครื่องเสีย ก็ไปหาเครื่องใหม่ จะได้เครื่องที่ดีกว่าเก่าหรือไม่ก็อยู่ที่เงินในกระเป๋า เวลาร่างกายตายไปใจก็ไปหาร่างกายใหม่ จะได้ร่างกายที่ดีกว่าเก่าหรือไม่ ก็อยู่ที่บุญกุศลหรือบาปกรรมที่ทำไว้ ถ้าทำบุญมากกว่าบาป ก็จะได้ร่างกายที่ดีกว่าเก่า  ถ้าทำบาปมากกว่าบุญ ก็จะได้ร่างกายที่เลวกว่าเก่า แทนที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่นสุนัขเป็นต้น

 

อย่างในสมัยพุทธกาลมีเศรษฐีตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นสุนัขในบ้านของตนเอง พระพุทธเจ้าทรงรู้ แต่พวกๆลูกของเศรษฐีไม่รู้ว่าพ่อมาเกิดเป็นสุนัขในบ้าน พระพุทธเจ้าจึงทรงบอกว่า สุนัขตัวนี้เป็นพ่อของพวกเธอ เดี๋ยวมันจะพาไปขุดสมบัติที่พ่อเธอฝังซ่อนไว้ ต่อมามันก็ไปขุดคุ้ยสมบัติที่พ่อฝังไว้  จิตเป็นของไม่ตาย  ที่ตายก็คือร่างกาย ร่างกายก็ไม่รู้ว่ามันตาย ร่างกายก็เป็นเหมือนกับศาลาหลังนี้ เวลาพังไปมันก็ไม่รู้ว่ามันพัง แต่เจ้าของศาลาซิร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจเสียดาย สังเกตดูถ้าชอบอะไรมากๆ เวลามันเสียไปหรือถูกขโมยไปนี่ มันเสียใจมาก เพราะใจไปยึดไปหลงว่าเป็นของเรา ไปหลงไปคิดว่าควรจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ  ปัญหาของเราจึงอยู่ที่ใจ ที่ไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆนั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ความทุกข์ก็คืออุปาทานในขันธ์ ๕ ในอริยสัจ ๔ ทรงแสดงว่า ทุกข์คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ การเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ โดยสรุปก็คือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือกายกับใจนี้เอง  ถ้าไม่ต้องการความทุกข์ ก็ต้องเข้าใจว่าร่างกายเป็นเหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง เหมือนบ้านหลังหนึ่ง ดูแลมันไป ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ เมื่อถึงเวลาที่มันจะเป็นอะไรไป ถ้าไม่สามารถป้องกันหรือหักห้ามมันได้ ก็ต้องปล่อยไปตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปวุ่นวาย

 

ถ้ารู้จักปล่อยวาง รู้จักทำใจให้สงบ ก็จะไม่เดือดร้อนอะไร เวลามันจะไปก็เข้าสมาธิ ภาวนาพุทโธๆไป สวดมนต์ไป เหมือนนอนหลับไป เวลาตายมันแค่ขณะเดียวเท่านั้น  หายใจเข้าไปแล้วไม่หายใจออกมาก็ตาย ถ้ายังหายใจอยู่ก็ยังไม่ตาย ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ที่น่ากลัวคือความหลง หลงคิดว่าตายแล้วทุกอย่างจะสูญหมด จะหายไปหมด จะต้องสูญเสียสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป ก็เกิดความว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวใจ หมดอาลัยตายอยาก แต่ความจริงมันไม่หมดหรอก ใจก็ต้องไปเกิดใหม่ เวลามาก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวมาแม้แต่ชิ้นเดียว มาแล้วก็มาหาใหม่ เริ่มต้นจากศูนย์แล้วก็กลับไปสู่ศูนย์อีก แล้วก็ไปเริ่มต้นที่ศูนย์อีก ก็วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้จนกว่าจะหยุด จนกว่าจะตัดความอยากต่างๆได้ ตัดความหลงได้ ตัวอยากนี้เป็นตัวปัญหาที่ต้องแก้ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา เช่นมีเงินร้อยบาท อยากจะไปดูหนัง ก็เอาเงินร้อยบาทมาทำบุญแทน ทำไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่อยากจะไปดูหนังก็เอาเงินที่จะไปดูหนังมาทำบุญ ต่อไปมันก็ไม่ไปดู ทุกครั้งที่อยากจะซื้อรองเท้าคู่ใหม่ก็เอามาทำบุญ อยากจะไปเที่ยวที่ไหนก็เอามาทำบุญ  ถ้าอยากจะไปเที่ยวก็อาศัยการไปทำบุญ เป็นการเที่ยวไปในตัวก็แล้วกัน ได้นั่งรถเที่ยวและทำบุญควบคู่กันไป ดีกว่าบินไปเที่ยวไปกินที่ฮ่องกง มันก็เท่านั้นแหละ สู้ไปวัดไม่ได้ ไปเที่ยววัดกันดีกว่า

 

ทุกครั้งอยากได้สิ่งที่ไม่จำเป็น สิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็เอาเงินที่จะไปซื้อไปกินเหล่านี้มาทำบุญ นี่คือวิธีดับกิเลส วิธีที่จะระงับความอยากต่างๆ เมื่อได้ทำบุญแล้วจะมีความอิ่มอยู่ในใจ มีความสุข ทำไปเรื่อยๆต่อไปก็จะติดเป็นนิสัยเอง ความอยากที่จะใช้เงินฟุ่มเฟือย ไปเที่ยว ไปกินอะไร ก็จะเบาบางลงไป ความอยากจะทำบุญก็มีมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อได้ทำบุญบ่อยๆแล้วก็อยากจะรักษาศีล เพราะคนที่ทำบุญจะไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ชอบสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเรื่องอะไรจะไปเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อที่จะเอาเงินเอาทองมา สู้หามาด้วยความสุจริตจะดีกว่า สบายใจกว่า จิตก็จะมีความสงบ  คนที่มีศีลจิตจะสงบมากกว่าคนที่ไม่มีศีล  คนที่ไม่มีศีลจะวุ่นวายอยู่เรื่อย กังวลห่วงหน้าห่วงหลัง ไปทำอะไรมิดีมิร้ายกับใครไว้ที่ไหนบ้าง ไปโกหกใครไว้ที่ไหนบ้าง จำไม่ได้ กลัวจะถูกจับผิดเข้าสักวันหนึ่ง แต่คนที่ไม่เคยโกหกใคร พูดร้อยครั้งก็เป็นความจริงร้อยครั้ง ไม่ต้องกังวล ก็จะเห็นความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจว่าดีอย่างไร

 

ทีนี้ก็อยากจะภาวนา อยากจะไปอยู่วัด อยากจะไปหาที่สงบ แล้วก็ไปฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องไตรลักษณ์ต่างๆ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าได้พิจารณาก็จะเห็นว่าเราอยู่ท่ามกลางของปลอมทั้งนั้น ไม่มีอะไรจริงแท้แน่นอน อยู่วันนี้ พรุ่งนี้ก็กลายเป็นอะไรไปแล้ว เหมือนไอศกรีม เหมือนน้ำแข็งที่เราเอามาตั้งไว้ข้างนอกตู้เย็น  เวลาตั้งไว้ใหม่ๆมันก็เป็นก้อน พอเผลอแป๊บเดียวไปดูกลายเป็นน้ำไปหมดแล้ว ชีวิตของเราก็เป็นแบบนั้น  ตอนนี้เป็นก้อน เป็นรูปเป็นร่าง เดี๋ยวเผลออีกทีก็กลายเป็นขี้เถ้าไปแล้ว แต่เราไม่คิดกัน ไม่พิจารณากัน ก็เลยหลงสะสมสร้างกันไปเรื่อย จึงต้องเจริญไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ พิจารณาความไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ แล้วมันจะไม่อยาก อยากไปทำไม ได้อะไรมาเดี๋ยวมันก็หมดไป เดี๋ยวก็กลายเป็นอะไรไปหมด กลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน ของใหม่ๆเวลาได้มานี้ ดูสวยงามไปหมด พอใช้ไปๆเดี๋ยวมันก็เก่า เดี๋ยวมันก็เสีย เดี๋ยวก็ล้าสมัยแล้ว ก็อยากจะโยนทิ้งไป อยากจะได้ใหม่อีก

 

ถาม     แต่ถ้าพิจารณาไปแล้วจิตใจหดหู่ นี่ไม่ถูกใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ    ใช่  คือกิเลสมันยังแรงกว่าธรรม เวลาพิจารณาไตรลักษณ์ก็จะทำให้กิเลสตัวหดหู่ปรากฏขึ้นมา ถ้ามันหดหู่มากก็หยุด กลับมาทำสมาธิไปก่อน เพราะเวลาทำสมาธิจะทำให้กิเลสสงบตัวลง พอสงบตัวลงแล้วเราพิจารณาตอนนั้นมันจะไม่หดหู่ เพราะกิเลสเหมือนถูกวางยาสลบไป อย่างเวลาจะผ่าตัดคนไข้ ถ้าไม่ให้ยาสลบ ก็จะผ่าไม่ได้  เพราะคนไข้จะดิ้น จึงต้องวางยาสลบ ฉันใดเวลาพิจารณาปัญญา โดยเฉพาะสัจธรรมความจริงเช่นไตรลักษณ์นี้ ถ้าจิตไม่มีพื้นฐานของความสงบ อารมณ์จะแรง พอไปคิดถึงการเสื่อมการแตกดับตรงของสิ่งที่กิเลสมันชอบ มันจะไม่พอใจ มันก็ต้องแสดงอาการต่างๆออกมา จึงต้องฝึกทำสมาธิก่อน มันเป็นขั้นๆ ก่อนจะทำสมาธิก็ต้องมีศีล ต้องรักษาศีลให้ได้ ก่อนจะรักษาศีลให้ได้ ใจต้องเป็นทาน ต้องตัดเรื่องภายนอก เรื่องวัตถุข้าวของเงินทองต่างๆออกไป ถ้ายังยึดยังติดอยู่กับเงินทอง เดี๋ยวก็จะทำผิดศีลอีก

 

            เพราะอยากหามาเพิ่มอีก ต้องรักษามัน บางทีก็ต้องโกหกบ้าง ต้องทำผิดศีลบ้าง เช่นไม่เสียภาษีเต็มๆก็ต้องโกหก แต่ถ้าเอาไปทำทานหมดแล้วก็ไม่ต้องโกหก ไม่ต้องจ่ายภาษี ก็จะรักษาศีลได้ มีศีลใจก็จะนิ่งมากกว่าไม่มีศีล ทำสมาธิก็จะง่ายขึ้น เมื่อจิตสงบ อารมณ์ต่างๆก็สงบตัวไปด้วย อารมณ์คึกคะนองต่างๆ อยากจะเที่ยว อยากจะกิน อยากจะหาความสุขทางโลก ก็จะสงบตัวลง ความสุขที่เกิดจากความสงบก็จะมีมากขึ้น จะไม่เสียดายที่จะต้องตัดสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป ไม่มีมันก็อยู่ได้ แต่ตอนนี้เราอาศัยมันอยู่ทุกอย่าง ใครปิดแอร์ก็ไม่พอใจแล้ว ให้เลิกใช้ตู้เย็นก็ไม่ไหวแล้ว คนที่ไม่มีตู้เย็นเขาก็อยู่กันได้ ก็ซื้ออาหารถุงมากินซิไม่ต้องมีตู้เย็น อยากจะกินของเย็นก็ออกไปกินที่ร้านข้างนอก สั่งแป๊บซี่กินที่ร้านเลย แต่เราอยากจะสะดวกสบายกินตลอด ๒๔ ชั่วโมง ถึงต้องมีตู้เย็นอยู่ในบ้าน กินแล้วก็เท่านั้น กินแล้วมันก็ผ่านไป คนที่ไม่ได้กินมันก็ผ่านไปเหมือนกัน คนที่ไม่กินกลับสบาย ไม่วุ่นวาย ถ้าไม่มีความสงบเป็นอาหารให้กับจิตใจ ก็ต้องพึ่งพาอาศัยของปลอมไปก่อน

 

ถาม    ท่านอาจารย์เจ้าคะ เวลาคนที่กำลังจะตายนี่ ร่างกายจะตายทุกส่วนพร้อมกันไหมเจ้าคะ

 

ตอบ    เราไม่ได้เป็นหมอ เราไม่รู้หรอก ความจริงร่างกายมันไม่ได้ตายมันไม่ได้เป็น มันก็เป็นเหมือนกับนาฬิกา มันก็ทำงานของมันไป ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งหยุดไป มันก็ทำให้ส่วนอื่นหยุดไปด้วย เช่นหัวใจหยุดเต้นเสียอย่างเดียว มันก็หยุดหมด ตับไตไส้พุงจะดีขนาดไหน ก็ต้องหยุดตามไปด้วย ถ้าตัวสำคัญหยุดทำงานปั๊บก็จบ ถ้าหัวใจยังเต้นอยู่ แต่ไตไม่ทำงานไปข้างหนึ่ง ก็ยังอยู่ได้ หรือปอดเสียไปข้างหนึ่งอีกข้างหนึ่งก็ยังทำงานได้ เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องไปสนใจมันมากจนเกินไป เราไม่ใช่หมอ มาดูที่ใจเราเป็นหลักดีกว่า เรื่องร่างกายก็เหมือนรถยนต์ เวลารถยนต์เสียก็เอาเข้าอู่ ให้ช่างเขาดู ให้เขาซ่อม ให้เขาแก้ ถ้าช่างบอกว่าซ่อมไม่ได้ก็ขายไป แล้วก็ไปซื้อคันใหม่ ซ่อมไปก็ไม่คุ้มอย่าไปซ่อมมันดีกว่า  ความตายมันลำบากตรงที่ความเจ็บปวดเท่านั้นเอง ถ้าเราผ่านความเจ็บปวดได้ เช่นนั่งสมาธิไปนานๆ จะเจ็บจะปวดอย่างไร ใจก็นิ่งเป็นสุขได้ หาวิธีรับมันให้ได้ ถ้ารับมันได้แล้ว มันจะปวดแต่กาย แต่จะไม่ปวดที่ใจ ปวดที่ใจมัน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ปวดที่กายแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าสามารถระงับดับความปวดที่ใจได้แล้ว ความปวดที่กายจะไม่เป็นปัญหาเลย คนเราที่กลัวกัน ก็กลัวความเจ็บเวลาจะตาย เสียดายที่จะต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างไป แต่ถ้าไม่มีอะไรสักอย่าง ไม่มีสมบัติอะไรสักชิ้นหนึ่ง จะไปเสียดายกับอะไร

 

ถ้าพิจารณาเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปพิจารณา พิจารณาพอให้รู้บ้าง พอรู้สึกหดหู่ก็หยุดก่อน แล้วหันมาทำสมาธิ เจริญเมตตาภาวนาก็ได้ สัพเพสัตตา อเวรา โหนตุ ทำจิตให้สงบด้วยการเจริญเมตตาภาวนา พอจิตสงบแล้วค่อยกลับมาพิจารณาใหม่ ตอนต้นก็พิจารณาแบบง่ายๆก่อน เช่นเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายไปไม่ได้ ก็ท่องไปก่อน เป็นนกแก้วไปก่อน ยังไม่ต้องไปคิดลึก คิดลึกแล้วเดี๋ยวกินไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่สำหรับเราเองนี่มันแปลก ตั้งแต่อายุ ๑๒ เห็นคนตาย เห็นเพื่อนนักเรียนตายที่โรงเรียน มันติดหู ติดตา ติดใจ แล้วก็คิดอยู่ตลอดเวลา ว่าเราก็ต้องเป็นเหมือนกัน อีกหน่อยพ่อแม่พี่น้อง คนนั้นคนนี้ ก็ต้องเป็นเหมือนกันหมด แต่ไม่หดหู่ เหมือนเป็นการรื้อฟื้นความรู้เก่า ว่านี่แหละคือความจริง แต่มันไม่หมกมุ่นนะ

 

เพราะตอนนั้นก็ยังเป็นเด็กอยู่ มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไหนจะต้องไปเรียนหนังสือ ไปทำอะไรต่างๆ ก็ทำไป แต่ความรู้นี้มันก็อยู่ลึกๆในใจ บางครั้งก็จะโผล่ขึ้นมาเตือน แต่ไม่ถึงกับทำให้หมดกำลังจิตกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป ทำอะไรต่อไป ก็สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติ เหมือนมีภูมิคุ้มกัน เหมือนฉีดวัคซีนไว้ หากเสียคุณพ่อคุณแม่ไปตอนนั้น จะไม่รู้สึกเศร้าโศกเสียใจ อาจจะเสียใจบ้าง อะไรบ้าง แต่จะไม่ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะรู้ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว จิตใจก็จะไม่วุ่นวาย ควรจะมีธรรมะนี้ไว้บ้าง เป็นเหมือนยา หรือวัคซีน ถ้าลูกจากเราไปก่อน เราจะทำอย่างไร หรือคนที่เราไม่คาดคิดว่าจะจากเราไป เขาไปก่อนเราอย่างนี้ แต่ถ้าคิดเผื่อไว้บ้างว่า ไม่มีอะไรแน่นอนนะ เขาไม่ไปก่อนเราๆก็ไปก่อนเขา หรือไม่ก็ไปพร้อมๆกัน ก็มีอยู่ ๓ ทาง แต่ต้องทำจิตให้สงบก่อนนะ ถ้าจิตไม่สงบแล้วมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าคิด

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ พอนั่งสมาธิจิตเริ่มสงบแล้ว ซึ่งปกตินั่งสมาธิจะไม่สงบทุกครั้ง แต่พอสงบแล้วรู้สึกว่า ใจหนึ่งก็อยากจะลืมตาขึ้นมา แต่ใจหนึ่งก็พอใจกับสภาวะตรงนั้น แต่มันต้องพ่ายลืมตาทุกที แล้วสมาธิจะสั้นมาก ทำอย่างไรถึงจะให้สมาธิยาวคะ

 

ตอบ     ก็ต้องฝืนความรู้สึกนั้น มันอยากจะลืมตา แต่เราอย่าไปลืม เรานั่งต่อไป

 

ถาม     อยากจะสัมผัสกับสิ่งที่เห็น

 

ตอบ     อย่าไปลืมมัน เราบังคับมันได้นี่ เมื่อสักครู่นี้เรายังลืมตาอยู่ เราก็ยังบังคับให้มันหลับตาได้ พอมันอยากจะลืมตา เราก็อย่าไปทำตามมันก็แล้วกัน ลองฝืนดู หลับตาต่อไป ขอพักต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เหมือนกับเวลานอน นาฬิกาปลุกแล้วยังนอนต่อได้เลย นี่ก็คล้ายๆกัน กิเลสมันอยากจะออก แต่เราบอกยังไม่ต้องออก นั่งต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง จนมันเริ่มฟุ้งซ่านแล้ว มันมีกำลังแรงกว่า สมาธิของเราตอนใหม่ๆ ยังไม่แรง สงบได้ขณะเดียว   เรียกว่าขณิกสมาธิ พอสงบปั๊บก็อยากจะออกมา แต่อย่างน้อยก็ได้เริ่มสัมผัสความสงบ รู้แล้วว่าเป็นอย่างไร ใจหนึ่งก็อยากจะอยู่ต่อคือธรรมะอยากจะอยู่ต่อ แต่กิเลสมันอยากจะออก เป็นการต่อสู้กันระหว่าง ๒ ฝ่าย ต้องภาวนาต่อไป เคยภาวนาอย่างไร ก็ภาวนาต่อไปใหม่ เช่นภาวนาพุทโธๆอยู่ พอสงบแล้วมันอยากจะออก ก็ภาวนาพุทโธๆใหม่ ให้กลับเข้าไปใหม่ ต้องฝืน จะต้องต่อสู้กันเสมอ ระหว่างธรรมกับกิเลส ระหว่างความสงบกับความฟุ้งซ่าน มันจะต่อสู้กัน ถ้าเรารักความสงบเราก็ต้องดึงมันไว้ แต่ก็พูดยาก เพราะความรู้สึกนี้ก็ควบคุมลำบาก พอเกิดความรู้สึกแล้วมันก็อยากจะลุกออกมาทันที ก็ไม่เป็นไร ไปก็พยายาม วันพระไม่มีหนเดียว คราวหน้าก็ภาวนาใหม่ได้

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะมีเพื่อนฝากมาถาม เขาขออุบายค่ะ เขาชอบท้อค่ะ เขาบอกว่าเวลาภาวนานี่เท่าไรๆก็ไม่เคยสงบไม่เคยนิ่ง ฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา เขาก็จะท้ออยู่เรื่อย

 

ตอบ    ก็ต้องไปฟังธรรมะของครูบาอาจารย์  มันเหมือนกับการดูโฆษณา เราไม่รู้จักสินค้าชิ้นนี้ แต่พอได้เห็นได้ยินโฆษณาถึงประสิทธิภาพ คุณภาพของมัน ก็อดที่จะอยากไปซื้อมาไม่ได้ เราจึงต้องไปหาโฆษณาดีๆ หาครูบาอาจารย์ที่พูดแล้วทำให้เราเกิดฉันทะวิริยะขึ้นมา ครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมสูงๆ ท่านจะชี้ให้เห็นถึงคุณค่าอันประเสริฐของผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติ แม้จะยากลำบาก แต่ก็คุ้มค่าคุ้มเหนื่อย ต้องไปหาครูบาอาจารย์ ไปฟังเทศน์ฟังธรรมบ่อยๆ การเทศน์ของท่านบางครั้งก็อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราอยากจะรู้ก็ได้ เพราะท่านต้องสอนคนหลายระดับ เช่นหลวงตาทุกวันนี้ท่านสอนให้กับคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ จะไม่ลงไปลึกมาก แต่ถ้าเรารู้สึกว่าไม่พอ ก็ต้องฟังเทศน์ที่หลวงตาเทศน์สอนพระ ท่านจะเน้นความอดทน ความเพียร ความคุ้มค่าของผลที่จะได้รับ เหมือนกับท่านเปิดตู้เก็บเพชรนิลจินดา เอาของดีต่างๆออกมาโชว์ นี่ของอย่างนี้จะเป็นของเธอ ถ้าเธอหมั่นเพียร นั่งสมาธิ เดินจงกรม ปฏิบัติธรรม ต่อไปจะได้ของพวกนี้มาเป็นสมบัติ ท่านเอาของวิเศษออกมาโชว์ มาอวดพวกเรา แต่ถ้าท่านสอนญาติโยมอย่างนี้ ท่านก็รู้ว่าเขาทำตามไม่ได้ ท่านก็จึงไม่พูดลึกมากนัก พูดพอให้เกิดศรัทธาความเชื่อที่จะทำบุญละบาป ส่วนเรื่องภาวนานี่ต้องฟังตอนที่ท่านเทศน์สอนพระ

 

ถาม    เขาบอกว่าเวลานั่งสมาธิ จะนั่งไม่สงบ ก่อนที่เขาจะมาทางนี้ เขาเคยฆ่าสัตว์แบบจงใจจะฆ่า อย่างโน้นอย่างนี้ เขาคงไปได้ไม่ถึงไหนเพราะเคยทำบาปไว้ค่ะ

 

ตอบ    ก็ไม่แน่หรอก อย่างองคุลิมาลก็ฆ่าคนมาตั้งเยอะ บอกเขาไปนะ ให้ดูองคุลิมาลเป็นตัวอย่าง อย่าให้สิ่งที่ผ่านมานี้มาเป็นอุปสรรคเลย นี่มันเป็นอุบายของกิเลส ที่จะมาสกัดการปฏิบัติของเรา อ้างโน่นอ้างนี่อ้างร้อยแปด ทำไมไม่อ้างพระพุทธเจ้า อ้างพระสาวกบ้าง อ้างครูบาอาจารย์บ้าง บอกเขาให้ไปศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้า ของพระสาวก ของหลวงปู่มั่นดู อ่านหนังสือปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐานที่หลวงตาท่านเขียนไว้ ท่านก็เล่าถึงการปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์ต่างๆ เช่นหลวงปู่ขาวนี่ ท่านบวชตั้งอายุ ๔๐ เพราะเมียท่านไปมีชู้ ตอนต้นท่านก็ตั้งสติไม่ได้ คิดว่าจะไปฆ่าให้มันตายไปทั้งคู่เลย แต่โชคดีที่ท่านมีบุญเก่า ทำให้ท่านได้สติคิดว่า ฆ่ามันแล้วได้อะไรขึ้นมา  ฆ่ามันเราก็เลวกว่ามันอีก ท่านก็อยากจะวิเศษกว่ามัน ก็เลยประกาศยกให้มันไปเลย ประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าพระเวสสันดรกลับมาเกิดแล้ว แล้วก็ออกบวชเลย  ไปอ่านประวัติเหล่านี้ดูซิ ไม่มีใครได้มาด้วยความง่ายดายหรอก

 

ถาม  จริงๆแล้วเราไม่ควรไปยึดทั้งบุญทั้งบาปไว้กับตัวเลยใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  บุญเป็นเหมือนบันไดนะ ถ้ายังไม่ถึงที่หมาย เราก็ต้องอาศัยบันไดพาเราไป เหมือนกับมาที่นี่ เราก็ต้องอาศัยรถยนต์พามา ถ้าไม่ขึ้นรถยนต์ก็มาไม่ถึง

 

ถาม  ในเมื่อเราทำแล้วเราก็ไม่ควรจะไปพะวง

 

ตอบ    การทำบุญให้ทานคือให้ไปแล้วก็ตัดไปเลย ของที่เราให้ไปแล้วไม่ใช่ของเราแล้ว เช่นโยมถวายน้ำนี้มา ก็ไม่ต้องมาจ้องดูว่าจะกินหรือไม่กิน เพราะเป็นสมบัติของเขาไปแล้ว เขาจะไปให้คนที่เราเกลียดก็อย่าไปเดือดร้อน เพราะเราให้เพื่อตัดกิเลสของเรา ตัดความหึงความหวงในวัตถุข้าวของเงินทองต่างๆ ให้ไปแล้วก็ไม่ใช่ของเราแล้ว ถ้าเป็นของเราก็ยังไม่ได้ให้ซิ เมื่อให้อะไรไปแล้วก็ลืมไปเลย ไม่ใช่ของเราแล้ว 

 

ถาม     ติดสุขอยู่กับการนั่งสมาธิค่ะ

 

ตอบ    ควรเจริญปัญญาสลับกับการนั่งสมาธิ พอออกจากสมาธิก็ควรพิจารณาความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ของสภาวธรรมทั้งหลาย เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  และ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความสุขเป็นผลที่ตามมาจากการปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา เหมือนกับกินข้าว กินแล้วมันก็อิ่มตามมา จะติดหรือไม่ติด จะปฏิเสธหรือไม่ปฏิเสธ มันก็อิ่มอยู่นั่นแหละ ถ้าทำถูกแล้วจะมีความอิ่มใจ มีความสุขใจขึ้นมา แต่ถ้าทำไม่ถูกก็ไม่อิ่ม เช่นให้แล้วยังไม่ปล่อย ถวายของแล้วยังจับไว้อยู่ พระก็รอว่าเมื่อไรจะปล่อย มันก็เครียดด้วยกันทั้งสองฝ่าย คนรับก็เครียด คนให้ก็เครียด คนให้ก็ไม่ยอมปล่อย ยังเสียดาย แสดงว่ายังไม่ได้ให้ ถ้าให้ไปแล้วก็ให้ไปเลย ก่อนจะให้ก็พิจารณาให้แน่ใจเสียก่อนว่าคนที่เราให้นี่เราพอใจไหม เรามั่นใจไหม ถ้าเราพอใจ เรามั่นใจก็ให้ไป  แล้วก็ลืมไปเลย ต่อให้ใครมาพูดมาเล่าอะไรให้เราฟัง ก็ไม่ต้องไปสนใจ เขาจะเอาไปทำอะไร  ก็รับรู้ไว้ก็แล้วกัน ถ้าไม่เอาไปทำในสิ่งที่ดีตามที่เราคิดไว้ ต่อไปก็ไม่ต้องให้เขาก็หมดเรื่อง แต่ไม่ต้องไปเสียใจ เพราะการให้ไปแล้วนั้นได้บุญแล้ว  พอเสียใจมันก็กลายเป็นกิเลสไป สร้างความทุกข์ให้มาลบบุญที่ได้ทำไป แต่เมื่อสักครู่ที่พูดว่าให้ละบุญนั้น ถ้ายังไม่ถึงจุดหมายปลายทางยังละไม่ได้  บุญต้องทำไปเรื่อยๆ ทำแบบไม่ยึดไม่ติด คือทำแล้วก็ให้แล้วกันไป ติดให้ยึดกับการทำบุญ ต้องทำไปเรื่อยๆ แต่ไม่ให้ยึดติดกับของที่เราให้ไปแล้ว

 

การทำบุญให้ทานนี่ต้องยึด  ศีลก็ต้องยึด สมาธิปัญญาก็ต้องยึด ต้องทำต้องปฏิบัติ เหมือนกับกินข้าว ถ้ายังไม่อิ่ม แล้วหยุดกินจะไปอิ่มได้อย่างไร ก็ต้องกินไปเรื่อยๆ เดินทางมาที่นี่ ถ้าลงจากรถก่อนที่จะมาถึง ก็มาไม่ถึง ต้องยึดติดอยู่กับมรรค คือบุญกุศลนี้เอง ทาน ศีล ภาวนา เป็นเหมือนรถยนต์ เหมือนบันไดที่จะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการไป เป็นเหมือนยาก็ได้  ถ้ากินยาก็ต้องกินไปเรื่อยๆจนกว่าโรคจะหาย ถ้าหยุดกินก่อนมันก็ไม่หาย  ถ้ายึดติดในสิ่งที่ดีไม่ถือว่าเป็นกิเลส  ไม่เป็นสมุทัย แต่เป็นมรรค ถ้ายึดติดในสิ่งที่ไม่ดี ที่ทำให้เกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจขึ้นมา ก็เป็นสมุทัย เช่นยึดติดสมบัติข้าวของเงินทอง ยึดติดร่างกายของเรา   ยึดติดคนนั้นติดคนนี้ นี่แหละเป็นกิเลส แต่ถ้ายึดติดกับการทำความดีละความชั่ว การชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ อย่างนี้ไม่เป็นกิเลส แต่เป็นธรรมะ เป็นยา ภาษานี่บางทีฟังแล้วเอาไปพลิกความหมายให้เป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้าความอยากไม่ดี อยากไปทำบุญที่วัดก็ไปไม่ดีซิ

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ เวลาท่องคำบริกรรม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่องอนุโลมกับปฏิโลม ท่องย้อนไปย้อนมา

 

ตอบ    เพื่อให้มันชำนาญ

 

ถาม    ท่องอย่างเดียวหรือให้พิจารณาตาม

 

ตอบ     ถ้าท่องอนุโลมไปเรื่อยๆมันจะชิน ก็ท่องปฏิโลมบ้าง สลับกันไป เพื่อไม่ให้มันชิน จะได้ตั้งใจท่อง เวลาท่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้มันง่ายกว่าเวลาท่องกลับ  ต้องมีสติ มีใจจดจ่อ ถ้าท่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็จะชิน ท่านก็เลยสอนท่องให้ปฏิโลม จะได้ไม่ท่องแบบนกแก้ว เวลาท่องกลับมา มันต้องใช้สติกำกับมากขึ้น  ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา

 

ถาม     เป็นการฝึกสติใช่ไหมคะ

 

ตอบ    เป็นการฝึกสติ ไม่ให้ท่องแบบนกแก้ว หลักสำคัญก็คือไม่ให้จิตไปคิดเรื่องอื่น เป็นเหมือนกับเสาที่ผูกใจไว้ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องลูก เรื่องแม่ เรื่องพ่อ เรื่องงาน เรื่องอะไรต่างๆ ให้อยู่กับธรรมะ เมื่ออยู่กับธรรมะแล้วอารมณ์ต่างๆก็จะสงบโดยปริยาย อารมณ์เกิดขึ้นจากการคิดถึงคนนั้นคนนี้ คิดถึงคนที่เราไม่ชอบก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา ต้องพยายามดึงจิตให้ออกจากอารมณ์ต่างๆ ด้วยการบริกรรมภาวนาธรรมบทใดบทหนึ่ง ที่มีถึง ๔๐ บทด้วยกัน แล้วแต่จะถูกจริตกับเรา บางคนก็ชอบบริกรรมพุทโธๆ บางคนก็ชอบสวดมนต์อิติปิ โสฯ อรหัง สัมมาฯ ก็ทำไป บางคนก็ชอบดูลมหายใจเข้าออก อย่างอาตมาในตอนต้น เวลาดูลมรู้สึกว่าจิตมันหยาบดูไม่ทัน ดูแล้วจิตไม่หยุด จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ต้องสวดมนต์ไปภายในใจ สวดไปสักครึ่งชั่วโมง สัก ๔๐ นาที จากนั้นรู้สึกว่าอยากจะหยุดสวด ก็เลยมาดูลมต่อ จิตก็จะสงบตัวลงในระดับหนึ่ง บางคนก็ถนัดบริกรรมคำว่าพุทโธอย่างเดียว พระบางองค์เจริญพุทโธตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย  ไม่ว่าจะทำกิจอะไร ท่านก็ไม่ไปคิดเรื่องอื่น อาจจะคิดบ้างแต่ส่วนใหญ่จะอยู่กับพุทโธอยู่เรื่อยๆ เมื่อคิดอะไรเสร็จก็กลับมาพุทโธๆต่อ ถ้าไม่ต้องคิดอะไร ก็พุทโธอยู่เรื่อยๆ คอยสกัดไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เมื่อจิตไม่มีที่ไปแล้ว มันก็ต้องสงบตัวลง ต่อไปมันก็ง่าย พอสงบครั้งแรกแล้ว ต่อไปจะทำให้สงบอีก มันจะง่าย

 

พอเกิดความชำนาญแล้วพลังของธรรมจะมีมากขึ้น มันยากตอนต้น ตอนที่ยังไม่เห็นผล เหมือนกับทำงานแล้วยังไม่ได้รับเงินเดือน ตอนนั้นมันวุ่นวายใจ เอ๊ะเขาจะจ่ายให้เราหรือเปล่านี่ ทำไปแทบเป็นแทบตาย แต่พอเงินเดือนออกมาครั้งแรก ก็มีความมั่นใจแล้ว มีความพอใจที่จะทำต่อไป มันจะยากตอนแรกๆ ตอนที่ล้มลุกคลุกคลาน ไม่ค่อยได้ผลเท่าไร แต่ความจริงมันก็ได้ผล แต่ยังไม่เป็นกอบเป็นกำ สิ่งที่ได้อย่างน้อยก็คือการต่อสู้ เมื่อก่อนนี้เราแพ้มาตลอด เป็นลูกจ๊อกอยู่ตลอดเวลา มันสั่งให้ไปไหนไปทำอะไร เราก็ต้องทำตามคำสั่ง ตอนนี้ได้ปฏิวัติแล้ว ได้ฝืนคำสั่งแล้ว สั่งให้ไปดูหนังก็จะนั่งสมาธิแทน สั่งให้ไปกินเลี้ยงก็ไม่ไป จะอยู่บ้านฟังธรรมะ เป็นการฝืนต่อสู้กันไป ถ้าไม่ต่อสู้ก็ไม่มีทางที่จะชนะได้ เวลาเกิดความท้อแท้ท่านจึงสอนให้เจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้เป็นแบบฉบับ อ่านพุทธประวัติและชีวประวัติของพระสงฆ์ ว่าท่านดำเนินมาอย่างไร ท่านต่อสู้อย่างไร จะได้มีกำลังจิตกำลังใจ เพราะท่านเหล่านี้ก็เป็นคนธรรมดาสามัญเหมือนเรามาก่อน ไม่ได้เป็นผู้วิเศษวิโสอะไร มีกิเลสเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ท่านมีความมุมานะ มีความอดทน สู้ไม่ถอย

 

ท้อแท้ก็พักหน่อยก็ได้ พอหายท้อแท้ก็เริ่มต่อ เคยทำอะไรได้ก็พยายามรักษาไว้ อย่าไปหยุดทำ เพราะถ้าหยุดแล้วเหมือนเดินถอยหลัง พอวันต่อไปมันจะยากขึ้น ถ้าเคยนั่งได้ ๑๕ นาทีก็นั่งไป ถึงแม้นั่งแล้วจะฟุ้งซ่าน อย่างน้อยก็ขอให้นั่ง ดีกว่าไปเปิดทีวีดู ซึ่งไม่มีอะไรน่าดูเลย จิตบางวันก็ว่านอนสอนง่าย บางวันก็วุ่นวายมาจากเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็หยุดยาก บางวันนั่งแล้วไม่สงบเลย พอเริ่มนั่งก็ไปคิดแต่เรื่องปัญหาต่างๆที่รุมเร้า แต่ก็นั่งไป อย่างน้อยก็ให้มีกิริยาอาการของการต่อสู้บ้าง อย่าหลับนอนนับ ๑๐ ไปเลย  วันข้างหน้าพอจิตว่านอนสอนง่าย เวลาทำสมาธิก็จะได้ผล เหมือนกับคนที่ไปตกปลาอย่างนี้ บางวันก็ได้ตัวสองตัว บางวันก็ได้มา ๑๐ ตัว ๒๐ ตัว ไม่แน่นอน การปฏิบัติในเบื้องต้นก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่อย่าท้อแท้ เวลาไม่ได้อย่างน้อยก็ขอให้ได้ปฏิบัติ ได้นั่ง อย่าหยุด อย่ายกธงขาว บอกพอแล้ว ไม่เอาแล้ว ไปเที่ยวดีกว่า ไปฉลองให้มันเต็มที่เลย

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ ที่บอกว่าจิตอยู่ที่กายนี่หมายความว่าอย่างไรคะ

 

ตอบ    ให้พิจารณาเรื่องของกาย เช่นเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้ก็เรื่องของกาย พิจารณาอาการ ๓๒ ก็เรื่องของกาย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ก็เรื่องของกาย เฝ้าดูว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็เรื่องของกาย  กำลังรับประทานอาหาร กำลังเขียนหนังสือ กำลังล้างถ้วยล้างชามก็ให้เฝ้าดู เฝ้าดูร่างกายเหมือนกับเป็นนักโทษ เราเป็นเหมือนยาม อย่าให้มันคลาดสายตาจากเราไป ส่วนใหญ่ยามไม่ค่อยดูร่างกายเท่าไร เวลานั่งล้างชามหรือกินข้าว ก็ไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ แสดงว่ายามไม่ได้เฝ้าดูร่างกาย เรียกว่ากายคตาสติปัฏฐาน ตั้งสติให้รู้อยู่กับเรื่องราวของร่างกาย พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าถ้าอยากจะมีสติให้ตั้งสติอยู่ที่ ๔ จุดด้วยกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม กายก็อย่างที่บอกแล้วให้คอยเฝ้าดูร่างกาย ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม ไม่ว่าจะทำอะไร ให้เฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา หรือจะดูอาการต่างๆของร่างกาย เช่นอาการ ๓๒ ก็ได้ ก็ท่องเที่ยวไปในกายนครนี้ก็ได้ หรือจะดูสภาพที่มันตายไปแล้วก็ได้ เวลามันตายไปแล้ว มันกลายเป็นอะไรไป  เรียกว่ากายคตาสติปัฏฐาน

 

ถ้ามีสติอยู่ที่เวทนาก็ให้ดูความรู้สึก ว่าขณะนี้มีความรู้สึกอย่างไร สุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ให้รู้ตามความเป็นจริง มันจะอยู่อย่างนี้ไปตลอดไหม เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปจากไม่สุขไม่ทุกข์ ไปเป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง จากสุขก็กลับมาทุกข์อีก ก็รู้ไปตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปจัดการกับมัน ไม่ต้องมีปฏิกิริยากับมัน ให้รู้เฉยๆเฝ้าดูมันไป มันทุกข์ก็รู้ว่า อย่าไปรังเกียจมัน อย่าไปโกรธมัน อย่าไปขับไล่ไสส่ง อย่าไปหนีจากมัน อย่าไปอยากให้มันหายไป เวลาสุขก็อย่าไปอยากให้มันอยู่ไปตลอด เพราะมันไปๆมาๆของมันอยู่อย่างนี้ เรามีหน้าที่เฝ้าดูเท่านั้นเอง นี่คือการมีสติอยู่กับเวทนา การมีสติอยู่ที่จิตก็ให้เฝ้าดูอารมณ์ต่างๆ ตอนนี้มีอารมณ์อะไร ว้าวุ่นขุ่นมัว ฟุ้งซ่าน ดีใจ เสียใจ โกรธ โลภ สงบนิ่ง ก็ให้รู้ว่ามีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่ต้องไปแก้ไข เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปเอง นี่คือการรู้อารมณ์ด้วยสติ

 

ถาม     แล้วถ้ามันคิดล่ะคะ

 

ตอบ    ก็ดูว่ากำลังคิดดีหรือคิดร้าย ถ้าคิดดีก็ส่งเสริม ถ้าคิดร้ายก็ต้องระงับ ให้ดูอารมณ์ที่เกิดตามมาจากความคิด ตอนนี้มีอารมณ์อย่างไร ส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไปเวลาโกรธ เพราะไม่มีสติ พอโกรธก็หลุดเลย นอตหลุดเลย ระบายออกไปเลย พูดไป ว่าไป ทำไป แต่ถ้ามีสติก็เหมือนมียามคอยเฝ้า เช่นกำลังโกรธนะ โกรธแล้วไม่ดี อย่าไปทำอะไรนะ อย่าไปพูดอะไรตอนนี้ ไปนั่งอยู่ในห้องน้ำสงบสติอารมณ์เสียก่อน ให้หายโกรธเสียก่อน แล้วค่อยออกมาเจอหน้าคน นี่คือการรู้อารมณ์รู้จิต การให้มีสติอยู่กับธรรม ก็ให้จิตคิดแต่เรื่องธรรมะ เช่นฟังเทศน์ฟังธรรม อย่างนี้จิตก็อยู่กับธรรมะแล้ว หรือพิจารณาสภาวธรรมต่างๆด้วยไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เรียกว่าใจอยู่ที่ธรรม นี่คือสถานที่ ๔ แห่งที่จิตควรจะตั้งอยู่ แต่จิตเราแทบจะไม่ได้อยู่ในสถานที่นี้เลย ส่วนใหญ่จะไปอยู่กับลูก อยู่กับพ่อ อยู่กับแม่ อยู่กับน้อง อยู่กับพี่ อยู่กับเพื่อน อยู่กับงาน อยู่กับเรื่องราวต่างๆ ก็วุ่นวายตามมันไป ไม่เข้าถึงความจริงที่มีอยู่ในตัวเรา พอเป็นอะไรขึ้นมาก็ว้าวุ่นขุ่นมัวไปหมด แต่ถ้ามีสติ พอเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ก็รู้ว่าเดี๋ยวก็หาย มันไม่เป็นไปตลอด เวลาเกิดสุขเวทนาก็คอยสะกิดตัวเองว่า อย่าไปยินดีมาก เดี๋ยวมันก็หมดไป ดีใจเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวมันก็หมดไปแล้ว เวลาใครพูดอะไรถูกอกถูกใจหน่อยก็ดีใจ พอไปเจอคนพูดไม่ดีเข้าหน่อยก็เสียใจแล้ว นี่มันเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ พยายามฝึกเป็นผู้รู้ เป็นยาม อย่าไปได้ไปเสียกับสิ่งที่เราเฝ้าดู เพียงแต่ให้รู้ทันมัน รู้ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ บางครั้งเราพิจารณากายอยู่ บางทีพิจารณาผมอยู่ปรากฏว่ามันเหมือนมีตาถลนออกมา แลบออกมาอย่างนี้ เราควรจะไปพิจารณาที่ตรงไหนคะ ขณะที่เรากำลังพิจารณาผมอยู่

 

ตอบ    ก็ได้ทั้ง ๒ แห่ง มันก็ยังเป็นกายอยู่ เช่นพิจารณาว่าพอเวลาตายไปแล้วตามันก็จะเป็นอย่างนี้

 

ถาม    คือเห็นเหมือนกับมันแวบขึ้นมาว่าตาถลนออก แต่ว่าเรากำลังดูเรื่องผมของเราอยู่

 

ตอบ    ก็แล้วแต่เราจะสะดวกได้ทั้ง ๒ อย่าง ดูที่ผมต่อก็ได้ หรือว่าถ้าตามันเป็นพระเอก ผมเป็นพระรอง ก็ต้องดูที่พระเอกก่อน ตัวไหนที่แรงกว่ามันก็จะแสดงอาการให้เราเห็น ก็ดูมันไป แต่ไม่ต้องไปดีใจเสียใจ ไปตกใจกับมัน

 

ถาม    บางทีก็เกิดก็เลยไม่รู้ว่าจะพิจารณาตรงไหน เพราะว่ากำลังพิจารณาเรื่องผมที่จะร่วงหล่นอยู่ แล้วตามันก็แวบเข้ามา

 

ตอบ    เวลาตายไปตามันก็อาจจะหลุดออกมาจากเบ้าก็ได้

 

ถาม    มันกำลังจะถลนออกมา ก็เลยแวบเข้ามาว่าจะไปไหนดีค่ะ

 

ตอบ    ได้ทั้ง ๒ อย่าง ขอให้รู้ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นก็แล้วกัน ไม่ช้าก็เร็ว  เป็นด้วยกันทุกคนเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย ช้าหรือเร็วเท่านั้น เป็นก็ดูแลรักษาไป กายก็รักษาไป ให้หมอดูแลไป ใจเราเอาธรรมะมาดูแลไป แยกแยะกายออกจากใจด้วยการภาวนา ด้วยการเจริญวิปัสสนา ใจไม่ตาย ใจเหมือนกับกระแสคลื่นที่เข้ามาในเครื่องโทรศัพท์ มันไม่ตาย มันไม่แก่ มันไม่เจ็บ มันเป็นของที่อยู่ไปตลอดอนันตกาล ร่างกายมันก็ไม่ได้ตาย เป็นการแยกของธาตุ ๔ ธาตุเคยมาอยู่รวมกัน ตอนนี้มันขอแยกทางกัน เหมือนกับสามีภรรยาเคยอยู่ร่วมกัน ตอนนี้ขอแยกทางกัน สภาพของความเป็นสามีภรรยาก็หมดไป เมื่อธาตุ ๔ มารวมกัน ก็กลายเป็นอาการ ๓๒ ของร่างกาย เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ เมื่อถึงเวลาที่มันจะแยกกันไป สภาพของขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ก็หมดไป ส่วนที่เป็นดินก็กลับไปสู่ดิน น้ำก็กลับไปสู่น้ำ ลมก็กลับไปสู่ลม ไฟก็กลับไปสู่ไฟ จึงไม่มีอะไรตาย เป็นการรวมตัวแล้วก็แยกตัวกันไปเท่านั้นเอง ใจไปหลงก็วุ่นวาย ที่วุ่นวายนี้ไม่ใช่ร่างกายวุ่นวายนะ ที่วุ่นวายก็คือใจ แต่ใจไม่ได้เป็นอะไรเลย เป็นเพราะความหลง ขาดปัญญา ที่ปฏิบัติกันนี่ก็เพื่อสอนใจ เพื่อเบรกใจ ไม่ให้ไปวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ เหมือนกับคนอยู่ที่พัทยาแล้วทิ้งบ้านไปอยู่กรุงเทพฯ พอบ้านน้ำท่วมมีคนโทรศัพท์ไปบอก ก็จะตายให้ได้ ตายแล้วทำอะไรได้หรือเปล่า น้ำมันก็ท่วมไปแล้ว ทำใจเฉยๆดีกว่า ไม่ขาดทุน นี่เสีย ๒ ต่อ ไหนน้ำจะท่วมบ้าน แล้วใจยังต้องมาทุกข์กับมันอีก

 

ทุกข์แล้วไปทำอะไรได้หรือเปล่า ก็ทำไม่ได้ เมื่อสักครู่นี้ไม่รู้เรื่องก็ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร พอมีคนโทรฯมาบอกเท่านั้น ทั้งๆที่ไม่เห็นก็ยังเชื่อเขาเลย ถ้าเขาหลอกเราล่ะ หลอกให้เราทุกข์เล่นๆ ใจมันโง่นะ ไม่มีความหนักแน่น ไม่มีปัญญา ไม่มีสมาธิ เหมือนปุยนุ่น พอลมพัดมาแผ่วเบาก็ปลิวไปแล้ว พอมีอะไรมากระทบหน่อยก็ลอยไปแล้ว แต่ถ้าได้ฝึกสมาธิปัญญาแล้ว จะมีความหนักแน่น เหมือนกับนิทานเรื่องกระต่ายตื่นตูม กระต่ายกับราชสีห์มันต่างกัน กระต่ายมันนอนอยู่ใต้ต้นตาล ลูกตาลหล่นลงมา ก็คิดว่าโลกถล่มแล้ว วิ่งหนีวุ่นวาย สัตว์อื่นก็หลงเชื่อตามกันไป พอมาเจอพญาราชสีห์ก็ถามว่าไปไหนกันมา ก็บอกว่าโลกมันถล่มแล้ว พญาราชสีห์บอกว่ามันถล่มตรงไหน ไหนพาไปดูซิ คนที่มีสติมีปัญญาก็เหมือนกับราชสีห์ มีเหตุมีผลไม่ตื่นไปตามพวกตื่นมงคลทั้งหลาย  พอใครว่าที่ไหนดีก็แย่งกันไป ไปเหยียบกันตายที่นั่นแหละ ไม่ใช้ปัญญาพิจารณา เพราะไม่ได้ศึกษา ก็ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น มัวแต่อัดเทปไม่อัดที่ใจ ไม่เอาความรู้เข้าสู่ใจ เวลาต้องการความรู้ก็ต้องไปค้นหาในเทปยุ่งไปหมด แต่ถ้ามันอยู่ในใจแล้ว พอเราเข้าใจแล้ว มันจะอยู่กับเราไปตลอด แต่อัดได้ไม่เป็นไรหรอก เพื่อเอาไปให้คนอื่นได้ยินได้ฟังกัน ให้คนที่ไม่มีโอกาสมา แต่ขณะที่ฟังนี้ควรจะตั้งใจฟัง หวังว่าคงจะได้ความรู้บ้างในวันนี้ ไม่มากก็น้อย