กัณฑ์ที่ ๒๔๗ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙ (เช้า)
กำไรชีวิต
การมาวัดเป็นการมาตักตวงกำไรให้กับชีวิต เพราะจะได้มากระทำสิ่งต่างๆที่ดีที่งาม สิ่งอื่นๆที่เราทำกันถึงแม้จะให้ความสุขความเพลิดเพลิน แต่ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราสูงขึ้นดีขึ้น เมื่อทำไปแล้วมันก็หมดไปหายไปจากจิตจากใจ ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ ไม่เหมือนกับการมาทำบุญทำทาน มารักษาศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นการกระทำที่จะอยู่กับจิตใจของเราและจะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ความดีงามที่เราทำนั้น มีมากน้อยเพียงไรในจิตใจ ความสุขความเจริญก็จะมีมากน้อยเพียงนั้น เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เวลาที่ต้องแยกจากร่างกาย ต้องเดินทางต่อไป จิตใจก็จะมีสิ่งที่ดีที่งามติดตัวไปด้วย ไปแบบสุข ไปแบบเจริญ ไปสู่สุคติ ไปสู่ความเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้า นี้คือทางไปของผู้ที่ดำเนินชีวิตตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือให้มาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ สมัยโบราณก็มีการกำหนดวันพระขึ้นมา เป็นวันที่ให้ญาติโยมมาทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม แต่เนื่องจากในสมัยปัจจุบันเราใช้ปฏิทินตามสุริยคติ คือการเคลื่อนไหวของพระอาทิตย์ มีวันมีเดือน อาทิตย์หนึ่งมี ๗ วัน เดือนหนึ่งมี ๓๐ วันบ้าง ๓๑ วันบ้าง ไม่เหมือนกับสมัยโบราณที่ดูตามจันทรคติ คือการเคลื่อนไหวของพระจันทร์ มีวันขึ้นวันแรม ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันเสาร์วันอาทิตย์เสมอไป มีการเคลื่อนไปเรื่อยๆ
ดังนั้นเวลาที่พวกเราจะมาวัดให้ตรงกับวันพระ จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำกันได้ เนื่องจากพวกเราหยุดทำงานวันเสาร์วันอาทิตย์กัน ในสมัยนี้เราจึงต้องดัดแปลง คือแทนที่จะถือว่าวันพระตามวันขึ้นวันแรม ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำก็ดี เราก็มาถือวันเสาร์วันอาทิตย์เป็นวันพระแทน คืออาทิตย์หนึ่งอย่างน้อยก็ขอให้ได้เข้าวัด ทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรมสักหนึ่งครั้ง ก็จะถือว่าเรากำลังดำเนินชีวิตของเราให้มีกำไรนั่นเอง ไม่ขาดทุน ถ้าไม่ได้เข้าวัดเข้าวาเลย เนื่องจากว่าวันพระไม่ตรงกับวันหยุดคือวันเสาร์วันอาทิตย์ เราก็จะไม่เข้าวัดกัน ถ้าเป็นดังนี้ก็ถือว่าขาดทุน เหมือนกับถึงเวลาที่จะรับประทานอาหาร แต่ไม่รับประทาน เนื่องจากไม่ตรงกับเวลาที่เราหยุดพักทำงาน ถ้าอย่างนี้เราก็จะอดอาหาร ร่างกายก็จะไม่ได้รับอาหารหล่อเลี้ยง ก็จะไม่แข็งแรง มีโรคภัยเบียดเบียน อายุจะไม่ยืน ใจของเราก็เป็นอย่างนั้น ใจต้องมีบุญมีกุศลไว้หล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้มีความสุขความเจริญก้าวหน้า การมาวัดอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง ถ้าได้มากกว่านั้นยิ่งดี เช่นมีวันหยุด ๒ วัน เสาร์และอาทิตย์ ถ้ามาได้ทั้ง ๒ วัน ก็จะได้กำไร ๒ ต่อ เหมือนกับกินข้าว ๒ จาน แทนที่จะกินข้าวจานเดียว ร่างกายก็จะได้รับอาหารมากขึ้น
แต่จิตใจดีกว่าร่างกายตรงที่ว่า กินไปเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน เพราะจิตใจไม่เป็นรูปธรรมเหมือนกับร่างกาย ที่กินเข้าไปมากๆก็จะเกิดอาการอ้วนขึ้นมา จิตใจยิ่งทำบุญทำกุศลมากเท่าไร กลับไม่อ้วนขึ้น แต่จะสวยงามมากขึ้นไป ความสวยงามของจิตใจก็อยู่ที่การทำความดีนี้เอง มีความเมตตา กรุณา มุทิตา เป็นคุณงามความดีที่ควรมีไว้เสมอ ความเมตตามีมากน้อยเพียงไรก็จะทำให้เรามีสง่าราศี น่าเคารพเลื่อมใส มีความกรุณามากน้อยเพียงไรก็เช่นเดียวกัน มีมุทิตาจิตมากน้อยเพียงไรก็เช่นเดียวกัน และยังต้องมีคุณธรรมอีกข้อหนึ่งคือ อุเบกขา ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการตั้งตนอยู่ในความดีงามทั้งหลาย และการเสริมสร้างความสุขความเจริญให้ปรากฏขึ้นมาในจิตใจ วันนี้เรามาวัดเราก็ได้เสริมสร้างคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ให้มีไว้หล่อเลี้ยงจิตใจ ความเมตตาก็คือ ความมีไมตรีจิต มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น วันนี้เรามีความเมตตาปรารถนาดีต่อพระสงฆ์องค์เจ้า ได้นำเอาอาหารคาวหวานต่างๆมาเลี้ยงพระ เรียกว่ามีไมตรีจิต และก็มีความกรุณา คือมีความสงสาร กลัวว่าพระจะอดอยากขาดแคลน
ถ้าญาติโยมไม่มาวัดกัน ก็จะไม่มีใครดูแลพระ พระจึงเปรียบเหมือนลูกของญาติโยมนี้เอง เพราะพระไม่สามารถทำมาหากินหาเงินหาทองได้ จึงเป็นเหมือนกับลูกๆ ที่ต้องอาศัยคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้หาเงินหาทอง แล้วก็ซื้อข้าวปลาอาหารมาเลี้ยง ฉันใดพระสงฆ์องค์เจ้าก็เป็นอย่างนั้น ท่านไม่มีอาชีพ พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ ออกไปทำงานทำการ หาเงินหาทอง ทรงสอนให้เลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาต เป็นอาชีพของพระที่ถูกที่ควร ถือบาตรเข้าไปในหมู่บ้านแล้วก็ไม่ต้องไปเคาะประตูเรียกให้คนมาใส่บาตร เดินไปด้วยความสำรวม ใครมีศรัทธาจะใส่ก็ให้เขาใส่ ผู้ที่ไม่ว่างหรือไม่สะดวกหรือไม่มีศรัทธาก็ปล่อยไปตามเรื่องของเขา ไม่ไปเรียกร้อง ไม่ไปรบกวน สร้างความลำบากใจให้กับผู้อื่น นี้คืออาชีพของพระ การเลี้ยงชีพของพระเป็นอย่างนี้ คือการออกบิณฑบาต นอกจากนั้นเวลาที่กลับมาวัดแล้ว มีศรัทธาญาติโยมมาใส่บาตรทีหลัง มาถวายอาหารคาวหวานทีหลัง ก็รับไว้ได้ อาหารที่ได้รับมาก็ให้จัดใส่ไปในบาตร ไม่ต้องไปแยกใส่ถ้วยใส่จานใส่ชามให้มันยุ่งยาก เพราะอาหารทั้งหมดก็ต้องลงไปรวมกันอยู่ในท้องอยู่ดี การรับประทานของพระเป็นการรับประทานเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อรับประทาน
ถ้าอยู่เพื่อรับประทานก็ต้องจู้จี้จุกจิก ต้องแยกแยะอาหารต่างๆ ต้องเลือกอาหารชนิดนั้นเลือกอาหารชนิดนี้ ถ้าไม่ถูกปากไม่ถูกใจก็ไม่รับประทาน อย่างนี้เรียกว่ากินตามกิเลส ก็มีแต่จะพาให้จิตใจเสื่อมลงไป ทำให้จิตใจมีความทุกข์มีความวุ่นวายใจ เพราะเวลาที่ไม่ได้กินตามใจอยาก เห็นอาหารที่อยากจะกินแต่ไม่ได้กิน ก็เกิดความเสียใจ น้อยอกน้อยใจ แต่ถ้าเอาอาหารที่ได้มาใส่เข้าไปในบาตร โดยไม่ต้องไปกังวลว่าเป็นอะไร ถ้าคนอื่นกินได้เราก็กินได้ บางองค์ก็คลุกอาหารที่อยู่ในบาตรเลย ทั้งของหวานของคาว ทั้งผลไม้ ใส่ไปในบาตรแล้วก็คลุกกันเข้าไป ให้เป็นเหมือนข้าวผัด เป็นอาหารอย่างเดียวกัน เวลากินอย่างนี้แล้วจิตใจจะมีความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย แต่ถ้ากินแบบกิเลส ก็จะมีความคึกคะนอง เวลาได้รับประทานอาหารที่ถูกปากถูกใจ ก็ดีอกดีใจ เวลาที่ต้องรับประทานอาหารที่ไม่ถูกปากไม่ถูกใจ จืดชืด ไม่อร่อย รับประทานไม่ลงก็เสียใจ เวลาที่รับประทานไม่ลงก็มีวิธีแก้ไข ก็อย่าไปรับประทานมันเลย อดข้าวสักวันสองวันดู เชื่อได้ว่าหลังจากนั้นแล้วแม้แต่ข้าวเปล่าๆคลุกกับน้ำปลาก็จะอร่อย เพราะเวลาที่ร่างกายขาดอาหารเกิดความหิวมากๆ อะไรก็รับประทานได้ ไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้ารับประทานอาหารกันมากๆวันละหลายมื้อ ร่างกายก็ไม่ต้องการอาหาร ก็เลยทำให้จิตใจจู้จี้จุกจิก เวลาจะกินจะต้องเลือกอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ บางทีต้องขับรถไปตั้งหลายสิบกิโลฯ เพื่อไปรับประทานอาหาร สร้างความยุ่งยาก สร้างความวุ่นวายให้กับชีวิตจิตใจ แทนที่จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ก็ต้องมาคอยปรนนิบัติความอยาก ปรนนิบัติกิเลส ความจู้จี้จุกจิกต่างๆ ซึ่งไม่ใช่วิถีทางที่จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ถ้าจะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขก็ต้องอยู่แบบสมถะ ตามมีตามเกิด พอมีพอกิน ยินดีตามสภาพ วันนี้ได้รับอะไรมาก็พอใจกับสิ่งที่ได้รับมา พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ ถ้าฝึกทำจิตใจให้เป็นอย่างนี้แล้ว จะมีความร่มเย็นเป็นสุข จะไม่มีกิเลสมาคอยยุแหย่ก่อกวนให้ไปโลภไปอยาก อยากได้สิ่งนั้นอยากได้สิ่งนี้ เมื่อมีความโลภอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็อยู่ไม่เป็นสุข อยู่เฉยๆไม่ได้ เป็นเวรเป็นกรรม ต้องไปก่อเวรไปก่อกรรมกับผู้อื่น เพราะเวลาที่เกิดความโลภอยากได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าบังเอิญมีคนอื่นก็อยากจะได้เช่นเดียวกัน ก็ต้องแข่งขันกัน แก่งแย่งชิงดีกัน ผู้ได้ไปก็ดีอกดีใจ ผู้ไม่ได้ก็เกิดความเสียใจ เกิดความพยาบาท เพราะถูกแย่งเอาสิ่งที่ตนเองต้องการไป แต่คนที่อยู่อย่างสมถะ อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข จะไม่ไปก่อกรรมก่อเวรกับผู้ใด ถ้าตนเองต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะหามาด้วยความระมัดระวัง จะไม่ไปแก่งแย่งชิงดีกับใคร ถ้าเป็นสิ่งที่คนอื่นต้องการ มีผู้อื่นจ้องอยู่แล้ว ก็ผ่านไป ให้เขาไป
การให้แบบนี้ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เป็นการเสียสละ เหมือนกับญาติโยมวันนี้มาเสียสละเงินทองที่มีอยู่ เอาไปซื้อข้าวของมาให้กับพระ ก็เป็นการให้อย่างหนึ่ง การให้ผู้อื่นในสิ่งที่เขาต้องการ โดยไม่ต้องไปแก่งแย่งกับเขา อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการให้เหมือนกัน เช่นทำงานร่วมกันอยู่ในบริษัทเดียวกัน มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งเดียวกัน แต่มีตำแหน่งเพียงตำแหน่งเดียว แต่มีคนต้องการสองคน เราเป็นคนสมถะเรียบง่าย มีความสุขกับสภาพที่เราเป็นอยู่แล้ว ถึงแม้ไม่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนยศ ก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็เสียสละให้คนที่อยากจะได้ไป อย่างนี้เราจะได้บุญ จะมีความสุข จะเป็นคนที่สูงกว่าคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าเรา เพราะเขาสูงทางตำแหน่ง แต่เราสูงทางจิตใจ เรามีความเมตตา ความกรุณา ความเสียสละ ความดีงาม อย่างญาติโยมให้ความเคารพกับพระสงฆ์องค์เจ้า ก็เพราะเราเชื่อว่าท่านสูงกว่าเรา มีคุณงามความดีมากกว่าเรา ท่านเสียสละ ไม่มีอะไรเหมือนกับที่เรามี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่โกหกหลอกลวงผู้อื่น ไม่แก่งแย่งชิงดีกับใคร อยู่ตามสภาพ อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เพราะรู้จักกำจัดสิ่งที่คอยกระตุ้นให้จิตใจกระสับกระส่าย ทะเยอทะยาน อยากได้สิ่งต่างๆ ด้วยการกระทำความดี
หน้าที่ของพระเมื่อมาบวชแล้ว ก็ต้องศึกษาและปฏิบัติไตรสิกขา คือวิชา ๓ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติ ศึกษาดูว่าศีลมีอะไรบ้าง สำหรับพระมีถึง ๒๒๗ ข้อด้วยกัน เป็นข้อห้าม ไม่ให้พระทำสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ความเดือดร้อนกับผู้อื่น ก็ต้องศึกษาแล้วก็นำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สมาธิคือการทำจิตใจให้สงบด้วยการไหว้พระสวดมนต์ ด้วยการนั่งสมาธิ กำหนดจิตใจให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จะเป็นบทสวดมนต์ก็ได้ จะบริกรรมพุทโธๆก็ได้ จะกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ พยายามควบคุมให้จิตอยู่กับอารมณ์ที่ได้กำหนดไว้ ถ้าชอบสวดมนต์ก็สวดไปก่อน สวดภายในใจไม่ต้องออกเสียง นั่งขัดสมาธิไปก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ แล้วแต่สะดวก หรือจะนั่งบนเก้าอี้ นั่งบนขอบเตียงก็ได้ ถ้าไม่สามารถนั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบได้ นั่งห้อยเท้าบนเก้าอี้ก็ได้ ขอให้มีสติอยู่กับอารมณ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ถ้าสวดมนต์ก็ให้อยู่กับการสวดมนต์อย่างเดียว อย่าให้ใจแวบไปคิดถึงเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีตก็ดี เรื่องที่ยังไม่ปรากฏขึ้นในอนาคตก็ดี
ในขณะที่ทำสมาธินั้น เราต้องการลืมเรื่องราวต่างๆทั้งหมด ต้องการหยุดความคิด จะหยุดคิดได้ถ้าคิดอยู่กับสิ่งที่เรากำหนดให้คิดเท่านั้น เช่นบทสวดมนต์ สวดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตก็จะอยากจะหยุด ก็ลองหยุดสวดแล้วดูลมหายใจต่อ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ รู้เท่านี้ก็พอ เวลาหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก รู้ไปในใจ อย่าให้จิตไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ แล้วจิตจะค่อยสงบตัวลงไปเรื่อยๆ เหมือนกับคนที่จะนอนหลับ ต่างกันตรงที่จิตจะมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัว ตื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนกับเวลาหลับ ที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่รู้สึกตัวว่าได้หลับไปแล้ว แต่ขณะที่นั่งทำสมาธินั้น เมื่อจิตค่อยๆสงบลงไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่ามันเริ่มเย็น เริ่มสบาย เริ่มห่างไกลจากความวุ่นวายต่างๆ จากความรุ่มร้อน ความทุกข์ความกังวลต่างๆ และในที่สุดก็จะสงบนิ่งไป เวลาที่มันนิ่งบางทีมันก็เหมือนกับตกหลุมตกเหวตกบ่อ มันจะวุบลงไปแล้วก็นิ่ง ในขณะนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร มนต์ก็ไม่ต้องสวด ลมก็ไม่ต้องดูแล้ว เพราะตอนนั้นจิตมันไม่ไปไหน จิตตั้งอยู่ในความสงบ อยู่ในความนิ่ง อยู่ในอุเบกขา ไม่มีคิดปรุงเรื่องอะไร ไม่มีอารมณ์ นอกจากความสุข ความอิ่มเอิบใจ บางครั้งก็เกิดปีติ น้ำตาไหล ขนลุกซ่า มีแสงสว่างปรากฏขึ้นมา ก็ให้รู้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปคิดไปปรุงว่ามันเป็นอะไร มันก็เป็นอย่างที่มันเป็น
ให้พิจารณาว่าเป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หมดไป เดี๋ยวก็ผ่านไป เพราะจิตก็จะต้องถอนออกมา มารับรู้กับรูปกับเสียงกับกลิ่นกับรสกับโผฏฐัพพะต่างๆ เมื่อออกมาแล้วจิตก็จะคิดปรุงต่อไป ก็ต้องดึงจิตให้มาคิดในเรื่องที่เป็นปัญญาความรู้ความฉลาด อย่าปล่อยให้จิตไปคิดตามที่เคยคิด เพราะจะคิดไปตามความโลภ ความอยากต่างๆ ถ้าคิดทางธรรมะก็จะช่วยทำให้ความโลภความอยากต่างๆเบาบางลงไป เช่นพิจารณาเรื่องร่างกายของเราว่า เกิดมาแล้วย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนจะต้องประสบพบเห็นกันทั้งนั้น พิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ทุกลมหายใจเข้าออก เวลาที่ไม่มีธุระไม่มีภารกิจที่จะต้องไปคิดเรื่องอื่น เป็นการเตือนสติ เป็นการเตือนใจ เพราะถ้ารู้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตายไป ก็จะไม่ค่อยอยากจะได้อะไร เพราะได้อะไรมาไม่ช้าก็เร็วก็ต้องทิ้งมันไป ต้องจากมันไป เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะคิดว่า มีอะไรบ้างที่หามาได้แล้วสามารถเอาติดตัวไปได้ เอามาแล้วทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ เกิดความมั่นอกมั่นใจ เกิดความสุขใจ ก็มีบุญและกุศลนี้เอง แทนที่จะเอาเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือย ซื้อเสื้อผ้าที่มีอยู่เต็มตู้แล้ว ซื้อรองเท้าที่มีอยู่เต็มตู้ล้นตู้แล้ว ก็เอาเงินมาทำบุญ มาสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การให้นี้เราสามารถให้กับคนทุกชนิด ให้กับพระก็ได้ ให้กับฆราวาสญาติโยมก็ได้ แม้แต่ให้กับสุนัขให้กับแมวก็ได้ ได้บุญเหมือนกัน บุญก็คือความสุขใจ ความอิ่มเอิบใจ
ถ้าเราเจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ จะรู้ว่าเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่างไป เราจะไม่หลงงมงายอยู่กับการแสวงหาสิ่งต่างๆที่ไม่มีคุณค่า ไม่มีสาระ ถ้าเป็นความสุขก็เป็นความสุขแบบควันไฟ ที่ลอยมาแล้วก็จางหายไปในอากาศ คือความสุขที่ได้จากการซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ รองเท้าคู่ใหม่ หรือได้ไปดูหนังดูละคร ได้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ก็จะได้ความสุขครู่เดียวเท่านั้นเอง พอกลับมาที่บ้านก็เหลือแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย มีแต่ความอยากออกไปเที่ยวอีก ออกไปดูอีก ออกไปทำอีก ทำกี่เที่ยวทำกี่ครั้งก็จะเป็นอย่างนั้น จะไม่มีความอิ่มความพอในจิตในใจเลย แต่ถ้าเอาเงินมาสงเคราะห์มาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เพื่อนสัตว์ด้วยกัน ก็จะทำให้มีความอิ่มเอิบใจ มีความสุขใจ มีความภูมิใจ เวลาเงินหมดก็ไม่เดือดร้อน อยู่กับบ้านได้ อยู่เป็นสุข ไม่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ไม่อยากไปเที่ยว ไปดูหนัง ไปดูละคร เพราะบุญจะทำให้จิตใจมีความอิ่ม มีความสุข บุญนี้แหละเป็นที่ตัวคอยกำจัดคอยตัดความโลภความอยากต่างๆ ให้เบาบางลงไปและหมดไปในที่สุด จะอยู่เย็นเป็นสุข อยู่ที่บ้านก็สุข ทำให้อยากจะนั่งสมาธิกัน เพราะเมื่อนั่งสมาธิแล้วจะได้ความสุขมากกว่าการให้ทาน ให้สิ่งของต่างๆ ให้เงินให้ทองกับผู้อื่น เวลานั่งทำสมาธิเหมือนได้เงินเป็นแสน ให้ทานเหมือนได้เป็นพันเป็นหมื่น
ถ้าได้เจริญปัญญา พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขารร่างกาย ก็เหมือนได้เงินล้าน เห็นว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน ก็ยิ่งทำให้จิตใจสงบเย็นลงไปอีก จะไม่อยากวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ใครจะเป็นอะไร จะดีจะชั่วอย่างไร ก็ปลงได้ ตัดได้ ปล่อยได้ เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งก็จะทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ถึงแม้วันนี้จะทำอะไรได้ ช่วยเขาได้ ทำอะไรให้เขาได้ แต่วันข้างหน้าเมื่อเราตายไปแล้วก็ทำอะไรให้เขาไม่ได้ เขาก็ต้องทำต้องช่วยตัวเขาเองอยู่ดี ควรให้เขาช่วยตัวเองตั้งแต่บัดนี้จะดีกว่า ถ้าทำอย่างนี้ได้เราจะไม่วุ่นวายใจ ส่วนใหญ่ที่เราวุ่นวายกัน ก็เพราะพยายามทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ เห็นเขาเกเร เราอยากจะให้เขาดี ทำยังไงเขาก็ไม่ดี เขาก็ยังเกเร เราก็วุ่นวายใจ แต่ถ้ารู้ว่าทำได้เท่าไร ก็ทำไปเท่านั้นก็พอ สอนได้ก็สอน บอกได้ก็บอก ห้ามได้ก็ห้าม แต่ถ้าห้ามไม่ได้ สอนไม่ได้ บอกไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามบุญตามกรรม ไม่ต้องมาหนักอกหนักใจ มาวุ่นวายใจ เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร ความวุ่นวายใจ ความหนักอกหนักใจ ไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนดีขึ้นมา ไม่สามารถห้ามไม่ให้เขาเกเรได้ เมื่อรู้แล้วว่าชีวิตของเรามีขอบมีเขต เราก็จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย เพราะจะไม่อยากไม่โลภกับอะไร เอาไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เอาไปได้เรากลับไม่สนใจกัน
แต่เมื่อเรารู้แล้วว่าเราจะตาย จะต้องเดินทางต่อไป เราจะเริ่มสนใจกับการทำบุญทำทาน สังเกตดูเวลาไปหาหมอแล้วหมอบอกว่าเหลืออีก ๖ เดือน ตอนนั้นจะขยันทำบุญกัน เพราะรู้ว่าจะต้องไปแน่ๆ แต่พระพุทธเจ้าซึ่งทรงเป็นหมอผู้วิเศษ ทรงสอนเราตั้งแต่รู้เดียงสาว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่เรากลับไม่ค่อยเชื่อไม่ค่อยฟังกัน กลับไปคิดว่าอีกหลายปีกว่าจะแก่ กว่าจะเจ็บ กว่าจะตาย ตอนนี้ขอสนุกก่อน ไว้ตอนแก่แล้วค่อยเข้าวัด บางทีไม่ทันแก่ก็ตายไปเสียก่อน ขณะที่อยู่ก็ไม่มีความสุข ทั้งๆที่คิดว่ามีความสุข มีความสนุกสนานเฮฮา แต่ความจริงแล้วมีแต่ความวุ่นวาย สุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็ต้องมาวุ่นวายกับการหาเงินหาทอง เพราะความสุขต่างๆในโลกนี้เกิดจากการได้ใช้เงินใช้ทองนั่นเอง อยากจะได้เสื้อผ้าก็ต้องใช้เงินทอง อยากจะไปเที่ยวก็ต้องใช้เงินทอง อยากจะไปดูหนังดูละครก็ต้องใช้เงินใช้ทอง ก็ต้องไปวุ่นวายกับการทำงาน หามาแทบเป็นแทบตาย เพื่อซื้อความสุขที่เป็นเหมือนกับควันไฟ ได้มาแล้วแล้วก็จางหายไป แทนที่จะหาความสุขที่อยู่กับเรา เหมือนอาหารที่กินเข้าไปแล้วทำให้อิ่มท้อง เรากลับไม่หากัน
เราจึงไม่ค่อยมีความสุขกัน ไม่ค่อยมีความร่มเย็น ไม่ค่อยอยู่เป็นปกติสุขกันเท่าไร ต้องคอยทำโน้นทำนี้ ต้องหามาอยู่เรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้ให้สิ่งที่จิตใจของเราต้องการนั่นเอง คือบุญกุศล ความดีงามทั้งหลาย แต่ถ้าเราได้ปฏิบัติได้กระทำอย่างที่พระศึกษาและปฏิบัติกัน ถึงแม้จะทำไม่ได้เท่าท่าน ก็ขอให้ได้กระทำบ้าง แล้วรับรองได้ว่าชีวิตของเราจะมีกำไร เพราะความดีงามไม่จางหายไปเหมือนกับควันไฟ แต่จะอยู่ติดไปกับจิตใจ ในขณะปัจจุบันก็ทำให้เรามีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่หิวไม่กระหาย ไม่ดิ้นรนทะเยอทะยาน เวลาตายไปถ้ายังไม่ถึงที่สุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็จะได้ไปเกิดที่ดีกว่าเดิม ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็เป็นมนุษย์ที่ดีกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นก็จะได้ไปเกิดเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับต่อไป ล้วนเกิดจากการมาวัดอย่างสม่ำเสมอ มาทำบุญทำทาน รักษาศีล นั่งสมาธิ เจริญปัญญา ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม ด้วยการพินิจพิจารณาความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขารร่างกายของเราว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา
ถ้าเจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ นั่งทำสมาธิอยู่เรื่อยๆ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ทำบุญทำทานตามอัตภาพ เราก็จะมีสิ่งที่ดีอยู่ในจิตในใจ ทำให้เรามีความก้าวหน้า มีความเจริญ มีความร่มเย็นเป็นสุข โดยที่ไม่ต้องไปหาความสุขภายนอก ไม่ต้องไปดูหนังดูละคร ไม่ต้องไปเที่ยวที่นั้นเที่ยวที่นี้ ไม่ต้องไปซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มาใส่ ไม่ต้องไปซื้อรองเท้าคู่ใหม่มาใส่ เพราะเมื่อใจมีความอิ่มแล้ว จะไม่หิวไม่อยากกับอะไรทั้งสิ้น หน้าที่ของเราก็คือการมาวัดนี้เอง มาหากำไรชีวิตที่แท้จริง ถ้าไปที่อื่น ไปเที่ยวที่โน้นไปเที่ยวที่นี้ ไปดูหนังดูละคร อย่างนั้นไม่ใช่เป็นกำไรของชีวิต แต่เป็นการขาดทุน เพราะชีวิตจิตใจจะมีแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย เหมือนกับรับประทานลม รับประทานไปมากน้อยเพียงใดก็ไม่ทำให้ท้องเราอิ่มได้ ต้องรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ รับประทานสิ่งต่างๆที่ร่างกายต้องการ ฉันใดจิตใจก็ต้องการบุญกุศล ต้องการความดี ต้องการกำไรชีวิตแบบนี้ จึงอยากให้ท่านทั้งหลายจงขวนขวายมาวัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้าไม่สามารถเข้าวัดได้ ก็ขอให้ปฏิบัติตนเหมือนกับมาวัด เห็นใครเดือดร้อนพอที่จะสงเคราะห์ได้ ก็ช่วยกันไป ศีลก็พยายามรักษาไว้ให้ดี อยู่ที่บ้านก็นั่งสมาธิได้ ปัญญาก็เจริญได้ทุกแห่งทุกหน ให้รำลึกถึงความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกันอยู่เสมอ ก็ถือว่าได้มาวัดแล้ว จึงขอฝากเรื่องกำไรชีวิตนี้ ให้ท่านทั้งหลายได้นำไปประพฤติปฏิบัติต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้