กัณฑ์ที่ ๒๕๐ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙
หลักกรรม
วันนี้ท่านทั้งหลายผู้มีจิตศรัทธามีความเลื่อมใส ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้มาบำเพ็ญบุญกุศล เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง โดยมีศรัทธาเป็นเหตุ เป็นจุดเริ่มต้น มีความเชื่อ มีความเลื่อมใสในสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ ในผู้สอน ถ้าไม่มีแล้ว การปฏิบัติจะเป็นไปด้วยความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ถูกพร่ำสอนมา เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่ หรือไม่เป็นความจริงเลย ถ้าไม่เป็นความจริง ประพฤติปฏิบัติไปก็คงจะไม่ได้ผล แต่ถ้าเป็นความจริง ทำไปแล้วเกิดผลตามที่ได้ยินได้ฟังมา ก็จะเป็นคุณเป็นประโยชน์กับเรา ในเบื้องต้นเราจึงต้องมีความมั่นใจ เชื่อผู้ที่สั่งสอนเรา เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้เป็นครูเป็นอาจารย์ ที่สอนให้เรารู้จักเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องของเหตุที่จะทำให้เราเจริญและเหตุที่จะทำให้เราเสื่อม เหตุที่จะทำให้เราสุขและเหตุที่จะทำให้เราทุกข์ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ศึกษามา จนมีความแน่วแน่มั่นใจว่าเป็นความจริงล้วนๆ จึงได้นำมาสั่งสอนพวกเรา
ในเบื้องต้นเราจึงต้องมีความเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า ว่าทรงตรัสรู้จริงเห็นจริง เป็นผู้ที่สิ้นกิเลส สิ้นจากความโลภความโกรธความหลงจริง ถ้ามีความเชื่อแล้วเราก็จะมีความมั่นใจว่า การปฏิบัติของเราจะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางอันเดียวกัน กับที่พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกได้ไปถึง เราจึงควรเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมบรรลุธรรม เป็นผู้รู้จริงเห็นจริง ในสิ่งที่ได้ทรงตรัสสอนไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนรกสวรรค์ เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องของกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว นี่คือสิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรเชื่อ เพราะถ้าเชื่อแล้วจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ที่ไหนเป็นนรกก็จะไม่เดินไปหา ที่ไหนเป็นสวรรค์ก็จะไปที่นั่น เหตุที่จะพาเราไปสู่สวรรค์นั้นเป็นอย่างไร เราก็จะดำเนินไปตามเหตุนั้น เหตุที่จะพาเราไปสู่นรกเราก็จะหลีกเลี่ยง เราก็จะไม่ไป ชีวิตของเราก็จะประสบกับความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง เราจึงต้องเชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในพระธรรมคำสอน เชื่อในพระอริยสงฆ์สาวก ว่าเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แทนพระพุทธเจ้า
พระอริยสงฆ์สาวกก็คือบุคคลธรรมดาสามัญอย่างพวกเรา ที่หลังจากได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนอันประเสริฐแล้ว ก็นำเอาไปประพฤติปฏิบัติ ชำระกายวาจาใจให้สะอาดหมดจด ปราศจากความโลภความโกรธความหลง ประพฤติแต่ความดี ละเว้นการกระทำความชั่วทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติไปแล้วก็จะได้บรรลุถึงผลอันประเสริฐ คือจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ปราศจากความทุกข์ความวุ่นวายทั้งหลาย นี้คือผลที่พระอริยสงฆ์สาวกได้บรรลุถึง หลังจากที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติ ต่อจากนั้นท่านก็นำเอามาเผยแผ่สั่งสอนแก่พวกเรา หน้าที่ของพวกเราจึงอยู่ตรงที่ว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าไม่เชื่อก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีใครบังคับ จะดำเนินชีวิตของเราไปตามความรู้สึกนึกคิดของเรา ก็ไม่มีใครว่าอะไร อยากจะทำอะไรก็ทำ แต่ผลที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น เราผู้กระทำก็จะต้องเป็นผู้รับผลนั้นไปเท่านั้นเอง ถ้าได้รับความทุกข์ก็อย่าไปโทษใคร ว่าเป็นคนสร้างความทุกข์ให้กับเรา เราเป็นผู้สร้างความทุกข์เอง ด้วยการกระทำของเราทางกายทางวาจาและทางใจ เพราะทำไปตามประสาของเรา ตามความเข้าใจของเรา คิดว่ามันดี คิดว่าทำไปแล้ว จะเกิดความร่มเย็นเป็นสุข ก็ทำไป แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่คิดว่าดี ที่ให้ความร่มเย็นเป็นสุขกับเรานั้น มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันกลับเป็นตรงกันข้ามกัน กลับสร้างความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ ให้ไม่รู้จักจบจักสิ้น ก็เป็นเพราะว่าเราทำตามความเชื่อของเรา
เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อพระธรรมคำสอน ไม่เชื่อพระอริยสงฆ์สาวก เมื่อทำไปแล้วผลที่ปรากฏขึ้นมาเป็นอย่างไร เราก็ต้องเป็นผู้รับผลนั้นไป เราจะปฏิเสธว่านรกไม่มีสวรรค์ไม่มี ก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยปฏิเสธ พระอริยสงฆ์สาวกก็ไม่เคยปฏิเสธ มีแต่สอนว่านรกมีจริง สวรรค์มีจริง นรกเป็นที่อยู่ที่ไปของผู้ที่ทำบาป สวรรค์เป็นที่อยู่ที่ไปของผู้ที่ทำบุญ ผู้ที่ยังไม่ได้ชำระจิตใจของตนเองให้สะอาดหมดจด หมดความโลภความโกรธความหลง ก็ยังต้องไปเกิดใหม่หลังจากที่ตายไปแล้ว เพราะส่วนที่ตายไปนั้นคือร่างกาย มันไม่มีความสำคัญอะไร เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ส่วนที่จะไปเกิดก็คือใจ ใจที่ยังสะสมความโลภความอยากความโกรธความหลงต่างๆอยู่ จะเป็นใจที่ยังจะต้องไปเกิดใหม่ จะไปเกิดที่สูงที่ต่ำก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ได้ทำไว้ ทำบุญก็ได้ไปเกิดที่ดี ทำบาปก็ได้ไปเกิดที่ไม่ดี นี่คือหลักตายตัวของจิตใจของพวกเราทุกๆคน พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม จะปฏิเสธหรือไม่ปฏิเสธก็ตาม ก็หนีไม่พ้นหลักกรรมนี้ไปได้ คือการกระทำที่เริ่มต้นที่ใจ ที่ความคิดของเรา เราคิดสิ่งนั้นคิดสิ่งนี้ คิดอยากจะทำสิ่งนั้นคิดอยากจะทำสิ่งนี้ เมื่อคิดแล้วมันก็ออกไปทางกายทางวาจา
เช่นวันนี้คิดจะมาวัดมาทำบุญ ก็ชวนคนสนิทคนใกล้ชิดว่า วันนี้เราไปทำบุญกันนะ เมื่อพูดแล้วก็มีการกระทำ มีการเตรียมตัว มีการเตรียมข้าวเตรียมของ เมื่อถึงเวลาก็เดินทางมาที่วัดมาทำบุญ การกระทำทั้ง ๓ นี้เรียกว่ากรรม ความคิดเรียกว่า มโนกรรม การพูดเรียกว่า วจีกรรม การกระทำทางกายเรียกว่า กายกรรม ก็ปรากฏขึ้นมา กรรมที่ทำในวันนี้เป็นกรรมดีเรียกว่า กุศลกรรม เมื่อทำแล้วก็นำมาซึ่งความสุขในจิตใจ ทำให้จิตใจสูงขึ้นเจริญขึ้น เพราะเป็นจิตใจที่ประกอบไปด้วยความเมตตา ความกรุณา ไม่ประกอบไปด้วยความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาตพยาบาท ซึ่งเป็นกรรมไม่ดีเรียกว่า อกุศลกรรม ถ้าคิดว่าควรทำร้ายคนนั้นเพราะทำมิดีมิร้ายกับเรา ต้องแก้แค้น ก็ชวนเพื่อนไปกัน เอาปืนไปยิงให้ตายเลย การกระทำแบบนี้เป็นบาป ทำไปแล้วผลที่ตามมาก็คือความทุกข์ใจ ความเสื่อมทางจิตใจ ลดระดับจากมนุษย์ไปสู่เดรัจฉานหรือสัตว์นรก เพราะคิดร้ายปองร้ายต่อผู้อื่น ความอาฆาตพยาบาท ความโกรธ ทำให้คิดไปในทางที่ไม่ดี พูดในสิ่งที่ไม่ดี และทำในสิ่งที่ไม่ดี เมื่อทำไปแล้วอาจจะไม่ถูกจับไปลงโทษก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีผล เพราะอย่างน้อยที่สุดในจิตใจก็มีความหวาดกลัวแล้ว เมื่อได้ทำผิดได้ทำบาปเช่นฆ่าผู้อื่น ก็ต้องมีความหวาดกลัว ที่จะต้องถูกตามจับไปลงโทษ ก็ต้องคอยหลบๆซ่อนๆอยู่แบบไม่สบาย อยู่แบบหวาดกลัว
นี่ก็เป็นผลที่เกิดจากการกระทำ เมื่อตายไปจิตที่มีความหวาดกลัว มีความอาฆาตพยาบาท มีความคิดร้ายต่างๆ ก็จะต้องไปเกิดในอบายชั้นใดชั้นหนึ่ง เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ก็จะเป็นผลที่ตามมา นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น แล้วนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้กับสัตว์โลกอย่างพวกเรา ที่ยังมีความมืดบอดอยู่ ยังไม่เห็นนรกไม่เห็นสวรรค์ ไม่เห็นกรรม ไม่รู้ว่ากรรมที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ มีผลอย่างไรต่อจิตใจของเรา สร้างความสุขให้มากขึ้น สร้างความเจริญให้มากขึ้น หรือฉุดลากให้เสื่อมลงไป ให้มีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น เราไม่รู้กัน เพราะถูกอำนาจของความหลงปิดบัง ไม่ให้มีเวลามานั่งคิด มาศึกษา มีแต่จะคอยยุ คอยแหย่ คอยหลอก คอยล่อ ให้เราไปทำสิ่งที่สร้างความเสื่อมให้กับเรา โดยหลงว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่จะพาไปสู่ความสุขความเจริญ จึงไม่ค่อยได้มีโอกาสได้คิดกัน ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า เมื่อไม่ได้คิดไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอน ใจของเราก็เป็นเหมือนกับคนที่อยู่ในที่มืด ย่อมมองไม่เห็นอะไร ไม่ว่าจะเป็นเงินทองเพชรพลอย หรืองูสัตว์ที่เป็นพิษเป็นอันตรายต่างๆ เราจะไม่รู้ว่ามีอยู่ในสถานที่นั้นหรือไม่ เพราะมันมืด มองไม่เห็น
ถ้ามีแสงสว่างเช่นไฟฟ้าหรือไฟฉายก็จะเห็น ฉันใดจิตใจที่ถูกความหลงความมืดบอดครอบงำอยู่ก็เป็นอย่างนั้น มองไม่เห็นนรก ไม่เห็นสวรรค์ ไม่เห็นเหตุที่นำมาซึ่งความทุกข์ความเสื่อมเสีย ไม่เห็นเหตุที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ ก็เลยต้องคลำทางไป คลำได้ของดีก็โชคดีไป คลำไปเจอของไม่ดีเช่นงูพิษ ก็จะโดนงูกัด ก็จะเป็นโทษเป็นอันตรายกับชีวิต การกระทำของเราทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น บางวันเราก็ทำดี บางวันเราก็ทำไม่ดี หรือในวันเดียวกันมีทั้งทำดีและทำไม่ดี ตอนเช้ามาทำบุญทำความดีกัน พอกลับไปบ้านไปเห็นใครทำอะไรไม่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความโกรธขึ้นมา ก็ไปดุไปด่าไปว่า ไปทะเลาะวิวาท ไปมีเรื่องมีราวกันหรือเห็นสิ่งที่ถูกอกถูกใจอยากจะได้ พอสังเกตว่าไม่มีใครมอง ก็อาจจะฉกฉวยหยิบมา โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของก่อน นี่ก็เป็นการกระทำที่ไม่ดีแล้ว คือเป็นการกระทำบาป พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีสติเฝ้าดูการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจตลอดเวลา ทุกขณะที่คิดว่ากำลังคิดอะไรอยู่ ทุกขณะที่พูดว่ากำลังพูดอะไรอยู่ ทุกขณะที่ทำว่ากำลังทำอะไรอยู่ ว่าเป็นบาปหรือเป็นบุญ หรือไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ นี่คือการกระทำมีอยู่ ๓ แบบด้วยกัน เป็นบุญ เป็นบาป ไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ
วันนี้เรามาทำบุญตักบาตร ถวายทาน กราบพระ ฟังเทศน์ฟังธรรม รักษาศีล อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำบุญ เพราะเป็นการกระทำที่เกิดประโยชน์สุขกับเราและผู้อื่น ไม่มีโทษตามมา พระก็ได้ความสุขได้ประโยชน์จากอาหารคาวหวานที่ญาติโยมนำมาถวาย ญาติโยมก็ได้รับความอิ่มเอิบใจ ได้รับการชำระกิเลสความโลภ ความเห็นแก่ตัว ให้เบาบางลงไป ทำให้จิตใจของผู้ให้มีความสุข ผู้รับก็ได้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับมา เช่น อาหารก็นำมารับประทานเพื่อยังชีพ เพื่อจะได้มีกำลังวังชาที่จะศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป เมื่อศึกษาและปฏิบัติจนบรรลุแล้ว ก็จะได้มาทำประโยชน์ คือนำสิ่งที่ตนเองได้บรรลุได้รู้มาสั่งสอนให้กับผู้อื่นต่อไป เพื่อผู้อื่นจะได้รับประโยชน์จากการได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะได้นำเอาไปเป็นแสงสว่างนำทาง พาชีวิตให้ก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง สู่ความสุขอย่างแท้จริง นอกจากนั้นแล้วเรายังได้ละเว้นจากการกระทำบาปต่างๆ เช่นเสพสุรายาเมา เพราะเมื่อเมาแล้วก็จะไปทะเลาะวิวาท ไปประพฤติผิดประเวณี ไปยุ่งกับสามีหรือภรรยาของผู้อื่น เนื่องจากเวลาที่เสพสุราไปแล้วจะเกิดอาการมึนเมา ไม่มีสติที่จะควบคุมความคิดของตนได้ ว่าคิดถูกหรือคิดผิด คิดดีหรือคิดชั่ว คิดอะไรก็จะทำตามความคิด
อยากจะด่าใครก็ด่า อยากจะพูดจาหยาบคายก็พูด เพราะไม่มีสติคอยยับยั้งนั่นเอง คนที่เมาสุราจึงเป็นคนที่น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากจะอยู่ใกล้ด้วย แม้จะเป็นสามีหรือภรรยาที่รักของตนก็ตาม เมื่อได้เสพสุรายาเมาจนเกิดอาการมึนเมา ไม่มีสติยับยั้งกิริยาวาจาแล้ว ก็จะเป็นที่น่ารังเกียจน่ารำคาญ เพราะทำความเสียหายให้กับผู้อื่นและกับตนเอง ไม่มีประโยชน์เลย การกระทำแบบนี้เรียกว่าบาป ส่วนการกระทำอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่บาปและไม่ใช่บุญ คือไม่ได้เกิดคุณและโทษ เช่นการดำเนินชีวิตของเราในแต่ละวัน เพื่อดูแลอัตภาพร่างกายของเรา ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก็ออกไปวิ่งออกกำลังกาย ไปตลาดจับจ่ายซื้อข้าวของมารับประทาน อย่างนี้ไม่เป็นบุญและไม่เป็นบาป ไม่ได้เกิดคุณเกิดโทษกับใคร ถ้าจะเป็นบุญจะต้องเป็นประโยชน์กับผู้อื่น เมื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่นแล้วก็จะเป็นคุณกับตัวเราตามมาอีกต่อหนึ่ง คือเราทำบุญ ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อน ให้มีความสุขมีความสบาย ให้พ้นทุกข์ทางกายหรือทางใจชั่วระยะเวลาหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่าบุญ เมื่อทำแล้วเราก็จะรู้สึกพอใจ ภูมิใจ อิ่มเอิบใจ ที่ได้กระทำความดี นี้คุณประโยชน์ที่ย้อนกับมาหาเรา
ดังนั้นตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเวลาหลับ จึงควรมองดูตลอดเวลาว่า เรากำลังคิดไปในทางบาปหรือทางบุญ หรือไปในทางไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ถ้าคิดไปในทางบุญก็รีบทำเสียอย่าไปรอ เช่นวันนี้คิดอยากจะทำบุญก็มาทำบุญเลย คิดอยากจะช่วยใครก็ช่วยเลย อย่าไปคิดแล้วก็เปลี่ยนใจทีหลัง ถ้าคิดอย่างเดียวแล้วไม่ได้ทำ ก็ยังไม่สัมฤทธิผล ยังไม่เกิดประโยชน์ ยังไม่เป็นบุญ เช่นเดียวกับความคิดที่ไม่ดี คิดจะไปเสพสุรายาเมา ไปทำร้ายผู้อื่น ถ้าเป็นเพียงความคิด บาปก็ยังไม่ปรากฏขึ้นมา ยังไม่สำเร็จ จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้ไปพูดไปทำแล้ว เช่นไปชวนกันดื่มสุรายาเมา แล้วชวนกันไปทำร้ายผู้อื่น เมื่อได้ทำแล้วบาปก็จะเป็นผลตามมา ความทุกข์ความวุ่นวายใจก็จะตามมา เวลาเราคิดอะไร ถ้ารู้ทันก็เท่ากับเป็นการดับไฟเสียแต่ต้นลม อย่าไปเสียใจตอนที่ได้ทำไปแล้ว ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไปทำผิดแล้วก็มานั่งบ่นเสียใจ อย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไร ประโยชน์อยู่ขณะที่คิด เช่นคิดจะไปทำร้ายผู้อื่น ด่าผู้อื่น พูดคำหยาบ พอรู้ปั๊บก็รีบระงับดับเสียทันที ด้วยการให้อภัยผู้ที่ทำความไม่พอใจให้กับเรา เหตุการณ์ที่เขาทำที่เขาพูดมันก็ผ่านไปแล้ว เป็นเหมือนกับแก้วที่แตกไปแล้ว จะทำให้เป็นเหมือนเดิมก็ไม่ได้ เหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว ก็ให้มันแล้วไปเลยก็หมดเรื่อง
อย่าเอามาแบกไว้ในใจ อย่าเอามาคิดเอามาดอง เพราะเป็นการสุมไฟในหัวอก คือความโกรธแค้นพยาบาทให้มีมากยิ่งขึ้น จะทำให้อดทนต่อไปไม่ไหว จะต้องไประบายความแค้น ด้วยการพูดและการกระทำที่เสียหาย กลายเป็นบาปขึ้นมา คนที่เสียหายที่สุดก็คือตัวเรา ก่อนที่จะทำเรายังเป็นคนดียังเป็นพระอยู่ แต่พอทำไปแล้วก็กลายเป็นมารไปกลายเป็นคนชั่วไป ดังที่พูดกันว่า แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร ต้องไม่ไปตอแยไปเอาเรื่อง ใครจะพูดอะไรก็ปล่อยให้พูดไป ใครจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป ให้มันแล้วกันไป จบสิ้นไป ไม่ต้องไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ ไปหาเรื่องหาราวกัน พระต้องเป็นอย่างนี้ รู้จักระงับความโกรธ รู้จักให้อภัย ผู้ที่จะเป็นพระเป็นผู้ประเสริฐได้ต้องรู้จักให้อภัย รู้จักระงับความโกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท ถ้ายังทำไม่ได้ก็ยังเป็นพระไม่ได้ ก็ยังจะต้องเป็นมารสลับกับเป็นพระบ้าง แล้วแต่อารมณ์จะพาไป ถ้าอารมณ์ดีก็เป็นพระ อารมณ์ร้ายก็กลายเป็นมารไป ถ้าเป็นอย่างนี้ใจก็จะขึ้นสวรรค์และตกนรก สลับกันไป เวลาที่โกรธมีความทุกข์ แสดงว่ากำลังตกนรก เวลาที่มีความสุขเย็นใจจากการให้อภัย ตอนนั้นใจก็ขึ้นสวรรค์ มันเป็นอย่างนี้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่มันขึ้นๆลงๆ ระหว่างนรกกับสวรรค์อยู่เรื่อยๆ ถ้าปล่อยไปตามอารมณ์ต่างๆ
ถ้ามีโลภโมโทสันมากก็จะตกนรกมาก มีความทุกข์ความวุ่นวายใจมาก ถ้ามีธรรมะธัมโม รู้จักหักห้ามจิตใจ ระงับความโลภโมโทสันต่างๆ ก็จะขึ้นสวรรค์เป็นส่วนใหญ่ ในแต่ละวันมีแต่อารมณ์ดี มีความสบายใจ มีความสุขใจ เพราะมีธรรมะคอยระงับดับความโลภโมโทสันต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนกับไฟ ธรรมะเป็นเหมือนกับน้ำ เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมบำเพ็ญอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการมีสติเฝ้าดูใจ ดูความคิดของเราว่ากำลังคิดอะไรอยู่ คิดแล้วเกิดอารมณ์อะไรตามมา เกิดความโกรธหรือเกิดความโลภหรือเกิดความหลง หรือไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง ถ้ารู้แล้วจะได้ควบคุมมัน ถ้าเกิดความโกรธจะได้รีบระงับ อย่าไปมองสิ่งที่เราโกรธ ยิ่งมองยิ่งทำให้โกรธมากยิ่งขึ้น ต้องรีบถอยรีบเดินหนีไป ถ้าเห็นยิ่งทำให้เกิดความโกรธมากยิ่งขึ้น สิ่งไหนที่ทำให้เราโกรธทำให้เราโลภทำให้เราหลง ต้องหนีจากมันไป อย่าไปเห็นมัน อย่าไปอยู่ใกล้มัน เพราะยิ่งเห็นก็ยิ่งเกิดความโลภความโกรธความหลง เช่น อยากจะดื่มสุราแต่รู้ว่าไม่ดี อยากจะหยุด ก็ต้องไม่ไปอยู่ใกล้ขวดเหล้า ใกล้ร้านขายเหล้า ใกล้คนกินเหล้า ต้องมาอยู่วัด เพราะที่วัดไม่มีขวดเหล้า ไม่มีคนกินเหล้า อยู่วัดไปนานๆ ต่อไปความโลภความอยากจะดื่มเหล้า ก็จะหายไปเอง นี่คือวิธีแก้วิธีปราบปรามความโลภโมโทสันต่างๆที่มีอยู่ในจิตในใจ ด้วยสติ คือเฝ้าดู
เมื่อดูแล้วต้องรู้จักวิธีแก้ เรียกว่าปัญญา ต้องรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะระงับดับความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ ในเบื้องต้นก็ให้ถอยห่างออกมาก่อน อย่าไปอยู่ใกล้สิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อถอยออกมาแล้ว ก็จะมีเวลาตั้งสติ มีเวลาคิด มีเวลาศึกษาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะรู้จะเห็นว่าสิ่งต่างๆที่ไปโลภไปอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุต่างๆ บุคคลต่างๆ เช่น ลาภ ยศสรรเสริญสุขต่างๆ ล้วนไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่สามารถควบคุมบังคับ ให้เป็นไปตามความต้องการได้ตลอดไป เช่นไม่สามารถบังคับให้สามีภรรยารักเราไปตลอด ให้ดีไปตลอด ให้รูปร่างหน้าตาคงเส้นคงวาเหมือนวันแรกที่ได้พบเห็น เพราะร่างกายมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เกิดแล้วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ไปควบคุมบังคับไม่ได้ จิตใจหรืออารมณ์ต่างๆก็เหมือนกัน บางวันก็อารมณ์ดีบางวันก็ร้าย นอกจากคนที่มีสติคอยเฝ้าดูแลจิตใจดูแลอารมณ์ และรู้จักวิธีดับอารมณ์ต่างๆ เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายเท่านั้น ที่จะสามารถกำจัดอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆให้หมดไปจากใจได้ ไม่มีอารมณ์อะไรที่จะมาผลักดัน ให้ไปพูดไปทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามได้เลย
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จึงเป็นบุคคลที่น่าเคารพเลื่อมใส น่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง เพราะมีแต่ความดีล้วนๆ อยู่ภายในกายวาจาใจ ไม่ว่าจะคิดอะไรจะพูดอะไรจะทำอะไร ล้วนเป็นความคิดที่ดี เป็นคำพูดที่ดี เป็นการกระทำที่ดี เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเสมอ เราจึงมีศรัทธา มีความเชื่อ มีความเคารพนับถือ ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะท่านสามารถชนะกิเลส ชนะความโลภโมโทสันได้ ส่วนพวกเราที่มีอยู่มากมายก่ายกองในโลกนี้ ไม่มีใครสักคนหนึ่งที่สามารถเอาชนะความโลภความโกรธความหลงได้ ยังอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภโมโทสันต่างๆ ยังโลภอยากจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ ยังโกรธเมื่อไม่ได้อะไรดังใจ ยังหลงรักหลงชังคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ เมื่อมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในใจมากน้อยเพียงไร ก็มีความทุกข์มีความวุ่นวายใจมากน้อยเพียงนั้น แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนแล้วนำมาปฏิบัติ นำมากำราบความโลภโมโทสันต่างๆให้เบาบางลงไป ก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้นไปตามลำดับ แห่งการสลายตัวไปของความโลภโมโทสันต่างๆ
จึงขอสรุปว่าชีวิตของเราจะเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองได้ ก็ต้องมีธรรมะเป็นเครื่องนำทาง เป็นผู้คอยกำราบกำจัดความโลภโมโทสันต่างๆ ให้เบาบางลงไปและหมดไปในที่สุด อย่าไปหลงไปโลภกับสิ่งต่างๆ เพราะจะฉุดลากพาเราไปสู่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ ขอให้พยายามต่อสู้กับความโลภความโกรธความหลง ด้วยการนำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ มีสติคอยเฝ้าดูการกระทำทางกายวาจาใจตลอดเวลา ถ้าคิดไม่ดีก็ระงับดับมันเสีย ถ้าคิดดีก็ปล่อยออกมา ให้พูดให้ทำไป แล้วจะได้ทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง ความสุขอย่างแท้จริง จึงขอฝากเรื่องการมีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอให้เชื่อมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ทรงสั่งสอนนั้น ล้วนเป็นคุณเป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจของเรา เราควรน้อมเอามาประพฤติปฏิบัติ แล้วความสุขและความเจริญก็จะเป็นผลที่จะตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้