กัณฑ์ที่ ๒๕๓        ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๙

 

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

 

 

 

ช่วงนี้เป็นเทศกาลทอดกฐิน  ปีหนึ่งก็ทอดได้เพียงครั้งเดียวต่อหนึ่งวัด  กฐินเป็นทานพิเศษ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นมา  เมื่อทรงเห็นว่ามีความจำเป็น เพราะพระภิกษุขาดผ้าจีวรไว้นุ่งห่ม  มีเรื่องเล่าว่าตอนปลายฤดูฝนนั้น มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เจอฝนกลางทาง ก็เลยเปียกปอนกันไปหมด  เวลาเข้าเฝ้าก็ห่มจีวรที่เปียกปอนนั้นเข้าไป  ด้วยความเมตตาสงสารจึงทรงอนุญาตให้ถวายผ้ากฐิน เมื่อทรงเห็นว่าพระภิกษุไม่มีผ้าจีวรไว้คอยเปลี่ยนเวลาเปียกฝน  เพราะสมัยนั้นจะมีเพียงผ้าสามผืนหรือไตรจีวรไว้ใช้เท่านั้นเอง คือจีวรห่ม ๑ ผืน  สังฆาฏิไว้ห่มกันหนาว ๑ ผืน และสบงนุ่ง ๑ ผืนเป็นหลัก ไม่มีจีวรไว้เปลี่ยนเวลาเปียกฝนหรือฉีกขาด  อย่างในกรณีที่นางวิสาขาส่งคนใช้ไปดูพระที่วัดว่ามีอยู่กี่รูป เพราะปรารถนาจะถวายน้ำปานะ  พอไปถึงที่วัดฝนก็ตกลงมา พอเข้าไปในวัดก็เห็นพระเปลื้องผ้าอาบน้ำฝนกัน  เพราะไม่มีผ้าไว้เปลี่ยน ถ้าใส่ผ้าสบงอาบไปก็จะเปียก  พออาบเสร็จแล้วจะไม่มีผ้าผลัด  ก็เลยเปลื้องผ้าอาบน้ำฝนกัน  สาวใช้ไปเห็นเข้าก็ตกใจรีบวิ่งกลับไปรายงานนางวิสาขา ว่าตอนนี้ที่วัดไม่มีพระเหลืออยู่เลย  มีแต่พวกชีเปลือยมายึดครอง  แต่นางวิสาขาก็เข้าใจ  ก็เลยไปกราบทูลขออนุญาตพระพุทธเจ้า  ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนให้พระสงฆ์ไว้ใช้ในช่วงฤดูฝน  เวลาอาบน้ำฝนจะได้มีผ้าไว้ผลัด  นี่คือความเป็นมาของเรื่องถวายผ้าอาบน้ำฝน

 

ส่วนเรื่องถวายผ้ากฐินก็อย่างที่พูดให้ฟัง  ทรงเห็นว่าพระภิกษุลำบากเรื่องผ้ามาก  เพราะไม่มีการถวายเป็นกิจจะลักษณะ  ต้องหากันตามป่าช้าบ้าง ตามกองขยะบ้าง เป็นผืนเล็กผืนน้อย ก็สะสมไว้  พอได้จำนวนมากพอ ก็เอามาปะเอามาต่อ เอามาเย็บเป็นผืนใหญ่  ผ้าของพระสงฆ์ทุกวันนี้จึงมีลายเหมือนกับคันนา  ไม่ได้เป็นผ้าเรียบๆผืนเดียว  เป็นผ้าชิ้นๆมาต่อกัน  หลังจากได้ทรงอนุญาต ให้มีการถวายผ้ากฐินแล้ว ก็มีคนถวายผ้ากันมาก  ถวายเป็นพับๆเลย  พระอานนท์จึงทูลถามว่า  จะให้ตัดเย็บจีวรอย่างไร  ก็ทรงบอกให้ตัดต่อแบบลายคันนา  จีวรของพระทุกวันนี้ถ้าสังเกตดู จะเห็นว่าไม่ได้เป็นผ้าผืนเดียว แต่เป็นผ้าชิ้นๆเย็บติดกัน  เป็นขันธ์ๆ  อย่างต่ำก็ ๕ ขันธ์   สำหรับพระป่าจะนิยม ๗ และ ๙ ขันธ์กัน   เรื่องการถวายผ้ากฐินนี้ ทรงระวังไม่ให้ญาติโยมและพระต้องวุ่นวายมากจนเกินไป  จึงทรงบัญญัติให้มีเวลาถวายผ้ากฐินได้เพียงหนึ่งเดือน  ตั้งแต่วันออกพรรษา วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ พอดีเป็นวันลอยกระทง  เป็นวันสุดท้ายที่จะถวายผ้ากฐินได้  วัดหนึ่งก็จะรับได้เพียงครั้งเดียว พระที่จะรับกฐินก็ต้องอยู่จำพรรษาตลอดเวลา ๓ เดือน  และต้องมีพระอยู่จำพรรษาอย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป ถึงรับผ้ากฐินได้ 

 

ได้ทรงบัญญัติเงื่อนไขไว้หลายอย่างด้วยกัน เพื่อไม่ให้ทำอะไรมากจนเกินไป  ผ้าที่ถวายก็ต้องเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้ตัด ยังไม่ได้เย็บ  หลังจากที่ได้รับถวายผ้ามาแล้ว ก็ต้องช่วยกันตัดเย็บ ให้เป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่ง  จะเป็นสบงก็ได้ จีวรก็ได้ หรือสังฆาฏิก็ได้  ต้องซักย้อมตากแห้งให้เสร็จภายในวันนั้น  แล้วก็ต้องทำการกรานกฐินในลำดับต่อไป  คือนำผ้าที่ได้ตัดเย็บซักย้อมตากแห้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาสู่ที่ประชุมสงฆ์ เพื่ออนุโมทนาแสดงความยินดี กับพระที่ได้รับผ้าผืนนั้นไปครอง  เป็นผ้าที่ไม่ได้ถวายเจาะจงให้กับพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด  เป็นสังฆทาน  ญาติโยมจะถวายผ้ากฐินให้กับพระรูปนั้นรูปนี้ไม่ได้  ต้องถวายให้เป็นของสงฆ์  แล้วสงฆ์จะทำพิธีอุปโลกน์  โดยพระภิกษุ ๔ รูป กำหนดคุณสมบัติของพระที่ควรต่อการรับผ้ากฐินไปครอง  โดยปกติก็จะมีฉันทามติให้ถวายให้กับพระเถระที่มีอาวุโสสูงสุดในอาวาสนั้น เพราะเคารพเลื่อมใสในคุณธรรมบารมีของท่าน  เช่นครูบาอาจารย์ที่เราไปกราบไหว้กัน ท่านเป็นพระเถระ อาวุโสทั้งพรรษาและคุณธรรม การถวายกฐินจึงเป็นงานที่สำคัญ  ทำให้เกิดความสามัคคีปรองดอง ความขยันหมั่นเพียร ความเสียสละ เพราะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อที่จะทำให้กิจคือการตัดเย็บผ้าให้เสร็จภายในวันนั้น  ทุกคนจึงมีโอกาสร่วมแรงร่วมใจกัน บำเพ็ญวิริยะบารมี ความพากเพียร  ร่วมใจกันเสียสละ ถึงแม้อยากจะทำอะไรตอนนั้นก็ต้องปล่อยวางไว้ก่อน เพื่อมาช่วยทำงานสำคัญนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป 

 

แล้วก็ทรงกำหนดให้ถวายผ้ากฐินได้ในเวลาเดือนเดียว  เพื่อจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นต่อ  เพราะงานหลักของนักบวชอยู่ที่การศึกษาและปฏิบัติไตรสิกขา  คือศีล สมาธิ ปัญญา  ถ้าไม่ได้ทรงกำหนดไว้ก็ถวายกฐินกันทั้งปี เดี๋ยวก็คณะนั้นมาถวาย คณะก็นี้ก็มาถวาย  ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน มัวแต่รับถวายแล้วก็ตัดเย็บผ้ากัน  แต่ก็มีช่องทำจนได้  เมื่อถวายกฐินไม่ได้ก็ถวายเป็นผ้าป่าแทน  แต่ถ้าเป็นพระปฏิบัติแล้ว จะไม่ค่อยเอากับเรื่องเหล่านี้เท่าไร  ส่วนใหญ่พอตัดเย็บจีวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะแยกย้ายไปแสวงหาที่วิเวกกัน อยู่ร่วมกันมา ๓ เดือนก็ได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์พอสมควร  เมื่อถึงเวลาออกพรรษาแล้ว ก็จะกระจายกันไปหาที่วิเวก  เพราะการปฏิบัติถ้าได้อยู่คนเดียวจะสะดวกกว่าอยู่รวมกัน  ถ้าอยู่รวมกันก็จะมีภาระมาก ยิ่งถ้าอยู่ในสำนักครูบาอาจารย์ที่มีศรัทธาญาติโยมมาเกี่ยวข้องด้วย ก็จะมีภารกิจมาก  ต้องคอยกวาดคอยถูศาลา คอยทำอะไรต่างๆหลายอย่าง กว่าจะเสร็จกิจการฉันวันหนึ่งก็หลายชั่วโมง ๙ โมงเช้า ๑๐ โมงเช้าถึงจะเสร็จ

 

ถ้าไปปลีกวิเวกอยู่องค์เดียว พอกลับจากบิณฑบาต ก็จัดอาหารใส่บาตรฉัน ภายในครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้ว  เจ็ดโมงครึ่งก็เรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้นก็เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อได้เลย ไม่มีภารกิจอื่น  แต่ถ้าอยู่ในวัดก็ต้องคอยเก็บ คอยกวาด คอยทำอะไรต่างๆให้เรียบร้อย  การถวายกฐินปีหนึ่งจึงทำกันครั้งหนึ่งก็พอ เพื่อจะได้ผ้าใหม่มาแทนผ้าเก่าที่ขาดแล้ว ถ้าคิดว่าผ้าผืนไหนจะอยู่ไม่ถึงกฐินหน้า ก็ตัดเย็บเปลี่ยนกันตอนนี้เลย  อะไรที่จำเป็นก็ทำให้เสร็จ  เมื่อมีบริขารครบถ้วนบริบูรณ์แล้วก็แยกทางกันไปภาวนา  อย่างหลวงปู่มั่นนี้ได้ทราบว่าท่านได้ปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด  โดยปกติแล้วพระจะไม่มีโอกาสได้อยู่จำพรรษากับท่านในช่วงออกพรรษา  เพราะท่านจะไม่อยู่กับที่ อยู่ได้ไม่นานก็ไป  ถ้ามีใครมาเกี่ยวข้องกับท่านมากๆ เดี๋ยวท่านก็ไปแล้ว  แต่ในช่วงเข้าพรรษานี่ท่านไปไม่ได้ ต้องอยู่กับที่ ๓ เดือน ช่วงนั้นจึงเป็นโชคของพระที่ได้พบท่าน เพราะท่านจะอนุญาตให้อยู่จำพรรษาด้วย  ก็จะได้ศึกษาธรรมกับท่าน  พอออกพรรษาแล้วท่านก็ไป  สมัยนั้นก็ไม่มีการถวายกฐิน  เพราะอยู่ในป่าไม่มีใครรู้จักท่าน ท่านไปเพื่อภาวนาจริงๆ 

 

งานหลักของพระคือการชำระกาย วาจา ใจ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อความหลุดพ้น เพื่อมรรคผลนิพพาน ที่เกิดจากใจที่สะอาดบริสุทธิ์  ที่ได้รับการชำระจนไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงความอยากต่างๆหลงเหลืออยู่เลย  ใจนั้นแหละที่เป็นนิพพานไป คำว่านิพพานเป็นคำจำกัดความของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์แล้ว เรียกว่านิพพาน  จิตที่ได้สะสมบุญต่างๆก็มีหลายขั้นด้วยกัน  มนุษย์ก็ขั้นหนึ่ง  เทพก็ขั้นหนึ่ง  พรหมก็ขั้นหนึ่ง  พระอริยบุคคลก็ขั้นหนึ่ง  คำว่ามนุษย์ คำว่าเทพ คำว่าพรหม คำว่าพระอริยบุคคล เป็นคำจำกัดความของจิตในลักษณะต่างๆ  เป็นมนุษย์ก็มีศีล ๕ เป็นหลัก  เป็นเทพก็มีศีล ๕ มีหิริโอตตัปปะ เป็นพรหมก็มีศีล ๕ มีหิริโอตตัปปะ มีฌาน มีสมาธิ เป็นพระโสดาบันก็ต้องมีวิปัสสนาด้วย  คือมีศีล มีหิริโอตตัปปะ มีสมาธิ แล้วก็มีวิปัสสนา มีปัญญา เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายมีการเกิดดับเป็นธรรมดา เช่นร่างกายของเรามีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ผู้ที่เห็นแล้วก็จะไม่ยึดไม่ติด จะปล่อยวาง ไม่มีความรู้สึกเดือดร้อนกับความเป็นไปของร่างกาย  จะแก่ก็รู้ว่าต้องเป็นอย่างนั้น  จะเจ็บจะตายก็รู้ว่าต้องเป็นอย่างนั้น  รู้ว่าผู้รู้กับร่างกายไม่ได้เป็นส่วนเดียวกัน ผู้รู้เป็นเหมือนกระจก ภาพที่ปรากฏในกระจกไม่ใช่กระจก  เช่นภาพของเราเวลาที่เราส่องหน้าดูกระจก ตอนนี้หน้าตาเป็นอย่างนี้  อีก ๑๐ ปีก็เป็นอีกแบบหนึ่ง  อีกห้าสิบปีก็เปลี่ยนไปอีก แต่กระจกที่สะท้อนภาพของร่างกายนั้นก็ ไม่ได้เปลี่ยนไปด้วย  จิตก็เป็นเหมือนกระจก จิตเป็นผู้รู้ ผู้ที่รับรู้สิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาทางตาหู จมูก ลิ้น กาย จิตก็สัมผัสรับรู้ไป

 

ถ้าผู้รู้มีความหลง มีโมหะ มีอวิชชา ก็จะไปหลงไปติดกับสิ่งต่างๆที่มาปรากฏในจิต ว่าเป็นตน เป็นของตน  เห็นร่างกายว่าเป็นตัวตน เป็นตัวเรา เป็นของเรา  พอได้อะไรมาครอบครองก็จะยึดว่าเป็นของๆตนไป  เมื่อมีความยึดติดก็เกิดตัณหาความอยาก  อยากให้อยู่ไปนานๆ  ให้ความสุขกับตนไปนานๆ  แต่โดยธรรมชาติของสิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล ล้วนอยู่ภายใต้กฎของความไม่เที่ยงแท้แน่นอนทั้งนั้น  คือกฎของอนิจจัง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  เช่นร่างกายของเรานี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวินาทีทุกขณะ  เพียงแต่ไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว  ไม่เหมือนกับดอกไม้ที่ตัดมาจากต้นเวลาที่บานสะพรั่ง พอปักไว้ในแจกันได้ไม่กี่วันก็เหี่ยวเฉาไป  แต่ร่างกายของคนเรากว่าจะเฉาจะเหี่ยวจะแก่ไปก็ต้องใช้เวลาหลายสิบปีด้วยกัน  จึงไม่รู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงทุกขณะ  ในแต่ละวันที่เราส่องหน้าดูกระจก เห็นหน้า ก็จะเห็นเป็นหน้าเดิม  แต่ถ้าดูรูปที่ถ่ายไว้เมื่อหลายปีก่อน ก็จะเห็นความแตกต่าง เป็นเหมือนคนละคนเลย  นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าอนิจจังของร่างกายและสิ่งต่างๆ ก็เป็นแบบเดียวกัน  เสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ก็ดูสดใส พอใส่ไปเรื่อยๆสีก็จางไป ใช้ไปซักไปสีก็จาง ผ้าก็บางไป ใช้ไปนานๆก็ขาดไป  เพราะนี่คือความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีการเกิดขึ้น มีการตั้งอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงไป แล้วในที่สุดก็หมดสภาพไป การพิจารณาอย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา

 

ถ้าพิจารณาความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆแล้ว เราจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสิ่งต่างๆ ที่เราครอบครองอยู่ แล้วจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป ถ้าไม่ได้พิจารณาเราจะไม่รู้ เราก็จะหลง จะอยากให้อยู่กับเราไปนานๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือวัตถุสิ่งของต่างๆ  ได้มาแล้วก็อยากจะให้ใช้ไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องซ่อม ไม่ต้องแก้ แต่พอได้ใช้ไปแล้วไม่นานก็ต้องเข้าอู่ซ่อม  เช่นรถยนต์หรือของใช้ต่างๆก็เป็นอย่างนั้น  ถ้าเรารู้แล้วจะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้  ถ้าไม่เสียก็ไม่เดือดร้อนอะไร  เช่นซื้อรถมาเราก็รู้ว่าเดี๋ยวต้องเข้าอู่ ก็เตรียมเงินไว้สำหรับเอาไปซ่อม ใช้ไปสัก ๕-๖ ปีก็รู้ว่ามันจะเสื่อม จะหมดสภาพ ก็ขายไป เปลี่ยนรถคันใหม่ ไม่มีปัญหาอะไร  ร่างกายก็เหมือนรถยนต์คันหนึ่ง  ถ้ามองร่างกายเราเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง เราก็จะไม่กังวลกับความเป็นไปของร่างกาย  เมื่อถึงเวลาต้องเข้าอู่ซ่อมก็เข้าไป  ไปโรงพยาบาลไปหาหมอ หาหยูกหายา ก็ซ่อมไป เมื่อซ่อมไม่ได้ก็ปล่อยมันไป  ใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย  ใจก็เป็นเหมือนเจ้าของรถ ก็ไปหาซื้อรถใหม่  ถ้ามีเงินมากกว่าคราวที่ซื้อรถคันเก่านี้ ก็จะได้ซื้อรถคันใหม่ที่ดีกว่า  เคยขับโตโยต้า ตอนนี้รวยกว่าก่อน ซื้อรถเบนซ์มาขี่ก็ได้

 

ใจก็เหมือนกัน มีฐานะเหมือนกัน  ฐานะทางการเงินของใจก็คือบุญกุศล  ถ้ามีบุญกุศลมากก็รวยมาก  ถ้าตายไปก็จะได้ไปเกิดเป็นเทพ เป็นพรหม  ถ้าได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็จะมีภพชาติเหลือเพียง ๗ ชาติ เป็นสุคติภพ ไม่ต้องไปใช้กรรมในอบาย ไม่ต้องตกนรก ไม่ต้องเป็นเดรัจฉาน แม้จะเคยทำบาปทำกรรมมามากน้อยเพียงไรก็ตาม  พระโสดาบันจะไม่ตกลงไปต่ำกว่าขั้นของมนุษย์ มีภพชาติเหลือไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก  ถ้าเร่งปฏิบัติก็อาจจะบรรลุในชาตินี้เลยก็ได้  เช่นพระอริยบุคคลในสมัยพุทธกาล ที่บรรลุอริยมรรคผลขั้นต่างๆภายในชาติเดียว จากพระโสดาบันก็ขึ้นเป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ไปในที่สุด  ถ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่มีเชื้อที่จะส่งจิตให้ไปเกิดอีกต่อไป  ถ้าจะเรียกว่าชาติ นิพพานก็เป็นชาติที่ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  จิตที่บริสุทธิ์จะเป็นเหมือนกับผ้าขาวสะอาด จะไม่มัวหมอง จิตของพระอรหันต์ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่จะผลักดันให้ไปเป็นสัตว์ในภพภูมิต่างๆ นี่คือเป้าหมายของพุทธศาสนิกชน  ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสญาติโยม หรือจะเป็นพระภิกษุนักบวช ก็มีเป้าหมายอันเดียวกัน คือมรรคผลนิพพาน  ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ เป็นสิ่งที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นได้ 

 

เหมือนกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่มีสิทธิเรียนจนรับปริญญาได้ ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี โท หรือเอก อยู่ที่นักศึกษาเองว่าจะเรียนจบหรือไม่ จะเรียนได้สูงถึงขั้นไหน  บางคนเรียนจบปริญญาตรีก็พอแล้ว บางคนก็เรียนต่อปริญญาโทปริญญาเอก  อยู่ที่แต่ละคนจะไขว่คว้าเอา ไม่มีใครมาไขว่คว้าแทนได้  โดยหลักแล้วถ้าได้เข้าสู่กระแสพระนิพพานแล้ว คือได้บรรลุขั้นโสดาบันแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็จะได้บรรลุถึงพระนิพพานอย่างแน่นอน เหมือนไฟที่จะไหม้เชื้อไฟไปเรื่อยๆจนหมดสิ้นไป  เพราะการปฏิบัตินั้นเมื่อมันได้บรรลุขั้นที่หนึ่งแล้ว จะเกิดฉันทะ วิริยะ เกิดความยินดี ความพอใจที่จะปฏิบัติให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ  จนถึงจุดสูงสุด  เมื่อเราได้พบพระศาสนาแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่ามีหน้าที่อะไร  โดยหลักแล้วพระพุทธเจ้าทรงวางขั้นตอนของการบำเพ็ญไว้เป็นขั้นๆ  ขั้นแรกทรงให้ศึกษาพระธรรมคำสอน เรียกว่าปริยัติธรรม เช่นการฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ หรือการอ่านหนังสือธรรมะต่างๆ จะเป็นหนังสือคำสอนของครูบาอาจารย์ก็ได้ หรือหนังสือที่คัดออกมาจากพระไตรปิฎกก็ได้ ศึกษาเพื่อให้รู้ถึงแนวทางที่จะต้องเดินต้องปฏิบัติ เหมือนกับการศึกษาแผนที่  ให้รู้ว่าจะเดินทางให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้นั้น  ต้องเดินไปทางไหน  ไปทางเหนือ ไปทางใต้ ก็ต้องดูแผนที่ก่อน  ถ้าไปแบบไม่มีแผนที่ก็จะหลงทาง จะไปไม่ถึงที่ต้องการจะไป 

 

นี่คือขั้นแรกคือการศึกษา ได้ยินได้ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ  เช่นพวกเราเดือนหนึ่งก็มาที่นี่สักครั้งหนึ่ง ถ้าอยู่ที่บ้านก็เปิดฟังธรรมะที่มาตามสื่อต่างๆ  เป็นการศึกษาหาความรู้  ดูแผนที่ให้รู้ทิศทางที่จะต้องเดินไป  ถ้าฟังเทศน์ฟังธรรมของครูบาอาจารย์อยู่เรื่อยๆ ก็จะรู้ว่าหน้าที่หลักๆก็คือการทำบุญให้ทาน บริจาคสิ่งของเงินทองต่างๆที่ไม่มีความจำเป็นกับเรา ที่เป็นส่วนเกิน ให้ไปก็ไม่เดือดร้อน เก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์ เราก็เอามาแจกจ่าย เอามาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่เดือดร้อน  เป็นการชำระจิตใจในระดับหนึ่ง ชำระความโลภ ชำระความเห็นแก่ตัวคือความหลง ชำระความตระหนี่คืออุปาทานความยึดติดในสิ่งของต่างๆ  เป็นขั้นแรกที่จะต้องปฏิบัติ  คือทำบุญให้ทาน  ขั้นที่สองก็คือการรักษาศีล  ละเว้นจากการกระทำบาปต่างๆ ที่ทำให้จิตใจมีความทุกข์ ความวุ่นวายใจ แล้วก็จะฉุดลากให้ไปผิดทาง  คือแทนที่จะขึ้นกลับลงกัน แทนที่จะไปทางเหนือ กลับเดินไปทางใต้  จะไปสู่มรรคผลนิพพานจะต้องละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ สุรายาเมาและอบายมุขต่างๆ

 

ต่อจากนั้นก็ให้ภาวนา มีอยู่ ๒ ระดับ คือ ๑. สมาธิหรือสมถภาวนา ทำใจให้สงบ  ๒. วิปัสสนาภาวนา คือความรู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่จิตไปเกี่ยวข้องด้วย  การทำความสงบก็คือทำให้จิตนิ่ง ให้หยุดคิดปรุงให้ได้  ถ้าจิตไม่หยุดคิดไม่หยุดปรุง เราจะไม่สามารถควบคุมบังคับจิต ให้คิดไปในทางที่เราต้องการให้คิดได้  เช่นเวลาจะเจริญวิปัสสนา จะให้พิจารณาดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในเรื่องต่างๆ เช่นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี ก็จะคิดได้เพียงแวบเดียว แล้วก็จะถูกกิเลสความโลภความหลงดึงไปคิดในเรื่องที่ผูกพันอยู่  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจการเงินการทอง หรือสมบัติข้าวของต่างๆ ที่มีความผูกพัน มีความยึดติดอยู่  จิตมักจะคิดถึงเรื่องเหล่านั้น  แต่ถ้าเราสามารถเบรกหรือหยุดจิตไม่ให้คิด ด้วยการทำสมาธิ ทำสมถภาวนาได้แล้ว  ต่อไปเวลาจะให้จิตหยุดคิดก็จะง่าย เพราะเคยหยุดมันมาแล้ว  เมื่อก่อนนี้ตอนที่ยังทำสมถภาวนาไม่เป็น เราจะไม่รู้จักหยุดจิต เวลาคิดเรื่องอะไรก็คิดไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ ก็ยังคิดอยู่นั่น คิดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็คิดอยู่นั่น เพราะไม่รู้จักวิธีหยุดมัน  เหมือนกับขับรถ รู้แต่คันเร่ง แต่ไม่รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน  พอถึงสี่แยกจะต้องเบรกก็เบรกไม่ได้ เพราะรู้แต่เหยียบคันเร่ง รถก็พุ่งไปเรื่อยๆ ไปชนรถคันนั้นชนรถคันนี้ แหกโค้งตกเหวไป แต่จิตไม่ใช่รถยนต์ ถึงแม้จะทุกข์ จะเจ็บทรมานสักเท่าไร ก็ไม่ถูกทำลายไป พอหายจากความทุกข์  ก็กลับมาคิด มาปรุง มาสร้างความทุกข์ใหม่ไปเรื่อยๆ

 

สังเกตดูเราเคยทุกข์ขนาดไหน เสร็จแล้วมันก็ผ่านไป พอผ่านไปไม่นานก็กลับมาทุกข์อีก บางทีก็กลับมาทุกข์กับเรื่องเดิมๆอีก  แต่ไม่จำกัน จึงไม่เข็ดหลาบ  ตอนต้นก็เสียใจเพราะสูญเสียสิ่งที่รักไป พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้ว พอหายทุกข์แล้ว ก็ไปหาสิ่งใหม่มาให้ทุกข์อีก  เสียคนนั้นไป เขาตายไปแล้ว ก็ทุกข์ไประยะหนึ่ง พอลืมเขาแล้วก็หาคนใหม่ แล้วก็มาทุกข์ใหม่  แต่ไม่รู้จักเบื่อ เพราะไม่รู้จักหยุด จึงหยุดไม่ได้ หยุดความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่ได้  ถึงแม้จะรู้ว่าไม่ดี แต่ก็หยุดไม่ได้  เหมือนคนติดยาเสพติด รู้ว่ายาเสพติดเป็นโทษ แต่หยุดไม่ได้ เพราะหาเบรกใจไม่เจอ เจอแต่คันเร่งของใจ คือความอยาก ความโลภ ที่เป็นตัวเร่ง คือเร่งให้จิตไปคิดไปปรุง ไปหาสิ่งต่างๆมาสนองความต้องการ แต่หาตัวเบรกไม่เจอ หยุดใจไม่เป็น  การทำสมถภาวนาก็คือการสร้างหรือการติดเบรกให้กับใจนั้นเอง หรือหาเบรกใจให้เจอ  พอเจอเบรกนี้แล้วก็จะสบาย อย่างน้อยที่สุดก็รู้จักยับยั้ง  แต่ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ควรจะยับยั้งเป็นอะไร  ถ้าไม่แน่ใจก็อย่าไปทำ อย่างน้อยก็เบรกได้ แต่ยังไม่พอ  สมถะคือเบรกใจนี้ยังไม่พอ เพราะใจยังไม่ฉลาด ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ  จึงต้องอาศัยการเจริญวิปัสสนาในลำดับต่อไป  เพราะเวลาทำสมาธิจนจิตสงบแล้ว จะโล่งอก จะสบาย มีความสุข แต่จะเป็นอยู่ได้ไม่นาน แล้วจิตก็จะถอนออกมา  พอถอนออกมาความโลภก็เริ่มทำงาน ความโกรธความหลงก็เริ่มทำงาน  ก็จะกลับไปหาสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานการต่างๆ บุคคลต่างๆ ก็จะกลับไปคิดปรุงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น

 

ถ้ามีความหลงเข้ามา ก็จะคิดปรุงไปตามความต้องการของตน  อยากให้เป็นอย่างนั้น  ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ก็พยายามทำไปตามความอยาก  โดยไม่ยึดหลักของความเป็นจริง ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่  เช่นไม่อยากให้แก่ มันเป็นไปได้ไหม  คนบางคนไม่ยอมคิดถึงหลักความเป็นจริง พยายามรักษาความหนุ่มความสาวของตนไว้ด้วยวิธีการต่างๆ  แต่ในที่สุดก็สู้ความจริงไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ยอมรับความจริงนี้ แก่ขนาดไหนก็ยังขอให้ได้แต่งหน้าตา ให้ได้ทำผม ให้ได้แต่งชุดสวยๆงามๆ  นี่คือการไม่ยอมรับความจริง แล้วก็ทุกข์กับมัน  แต่ถ้ายอมรับความจริง นี่คือวิปัสสนาแล้ว รู้แล้วว่าความจริงเป็นอย่างไร  คือรู้ว่าเป็นอนิจจัง ร่างกายนี้ไม่เที่ยง  มีการเปลี่ยนจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เป็นคนชรา แล้วก็เป็นคนตายในที่สุด  ถ้าพร่ำสอนใจอยู่เรื่อยๆ  พิจารณาดูอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา  เป็นปัญญาทางพุทธศาสนา คือการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในสภาวธรรมต่างๆ  เห็นว่าร่างกายมีการเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา มีความทุกข์  เพราะเวลาแก่แล้วก็ไม่สบายใจ ไม่สุขใจ เหมือนกับตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว  เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยกายก็ทุกข์ ใจก็ทุกข์ กลัวจะไม่หาย กลัวจะต้องตาย  แต่ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น สักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว  แต่เป็นสิ่งที่กิเลสไม่ค่อยชอบให้พิจารณากัน

 

เราจึงต้องพยายามฝืนความรู้สึกนี้  เพราะเวลาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ จะมีความรู้สึกหดหู่ใจ จึงไม่ค่อยชอบ ไม่เหมือนกับคิดถึงเรื่องการแต่งตัวให้สวยๆงามๆ ใส่เสื้อผ้าอาภรณ์สวยๆงามๆ  จะชอบคิดแต่ทางด้านสวยงาม ด้านความเจริญ แต่จะไม่ชอบคิดถึงเรื่องความเสื่อม เรื่องของความไม่สวยงาม เช่นอสุภะ ความไม่สวยงาม  ที่เป็นอีกส่วนหนึ่งของร่างกาย  ที่เป็นเหมือนเหรียญที่มีอยู่ ๒ ด้านด้วยกัน  ฉันใด ชีวิตของคนเราก็ไม่ได้มีด้านเดียว ไม่เจริญอย่างเดียว ต้องมีความเสื่อมตามมา  ถ้าไปหลงติดอยู่กับความเจริญ ก็จะเกิดความทุกข์ใจเวลามีความเสื่อมตามมา  แต่ถ้าได้ศึกษาไว้เรื่อยๆ เตรียมตัวรับกับเหตุการณ์แล้ว ว่าต่อไปจะต้องเสื่อม จะต้องแก่ จะต้องหนังเหี่ยวย่น ผมขาว เหมือนคนแก่ที่เห็นกันอยู่ในวันนี้  แล้วในที่สุดวันหนึ่งก็ต้องตายไป  ถ้าพิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะดับความทุกข์ใจได้  เพราะใจไม่ได้แก่ ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย  แต่ความหลงทำให้ใจอยากให้ร่างกายอยู่กับใจไปตลอด  ไม่อยากให้แก่ ไม่อยากให้เจ็บ ไม่อยากให้ตาย 

 

ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆแล้ว จนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว จะเกิดความรู้สึกที่พลิกไป พลิกจากความกลัวเป็นความกล้า  เพราะปล่อยวางตัดได้ เหมือนกับเคยอยากจะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง ก็จะมีความกังวลใจว่าจะได้หรือไม่ คนอื่นจะเอาไปหรือเปล่า คิดอยู่นั่นแหละ แต่ถ้าตัดใจได้ ว่าไม่เอาแล้ว ใครจะเอาไปก็เอาไป  ใจจะโล่งขึ้นมาทันที หมดปัญหากับสิ่งนั้นไปเลย ร่างกายก็เหมือนกัน  เราต้องพิจารณาจนตัดมันได้ อย่าไปหวังอะไรจากมัน  อย่าไปหวังให้มันอยู่ไปตลอด  อย่าไปหวังไม่ให้มันเจ็บไข้ได้ป่วย  อย่าไปหวังไม่ให้มันแก่  ถ้าตัดความหวังความต้องการนี้ได้แล้ว ใจจะโล่ง  ร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่สะทกสะท้าน  ไม่ต้องมาเหนื่อยมาคอยต่อสู้กับความชราด้วยวิธีการต่างๆ  ด้วยการหาเครื่องสำอาง หาอะไรต่างๆมาคอยปกปิดความชรานั้น  บางทีก็อาศัยทรงผม บางทีก็อาศัยการดึงหนัง บางทีก็อาศัยแว่นตา อาศัยวิธีการต่างๆที่ทำให้เหนื่อยไปเปล่าๆ  สู้ปล่อยไปตามธรรมชาติไม่ได้ แล้วจะไม่เครียด จะมีความสุข จะดูอ่อนกว่าวัย  ที่แก่กว่าวัยก็เพราะความเครียดนี้เอง  เพราะอยากจะสาว ยิ่งอยากเท่าไรก็ยิ่งเครียด  คนไม่เครียดนี่ หน้าตาจะสดใส ดูไม่แก่ 

 

ขั้นที่ ๒ ต่อจากปริยัติการศึกษา ก็คือการปฏิบัติ  ศึกษาแล้วก็ต้องนำมาปฏิบัติ เพราะการปฏิบัตินี้สำคัญมาก  เหมือนกับการรับประทานอาหาร  ถ้ารู้ว่ามีอาหารอยู่ที่ตรงนั้น แต่ไม่ไปรับประทาน ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการรับประทาน ฉันใดเมื่อรู้แล้วว่าต้องทำบุญให้ทาน  รักษาศีล ภาวนาก็ต้องทำกัน อย่ารอรี  ทำไป จะยากเย็นอย่างไรก็ไม่สุดวิสัย  เวลาทำอะไรใหม่ๆก็จะยากเหมือนกันทั้งนั้น  ตอนหัดพิมพ์ดีดใหม่ๆก็รู้สึกว่ายาก ไม่เคยพิมพ์มาก่อนไม่ถนัด ก็ต้องหัดมาจิ้มทีละนิ้วๆ  จนเกิดความชำนาญขึ้นมา  เมื่อชำนาญแล้วต่อไปก็ง่าย พิมพ์ได้โดยไม่ต้องนึกคิดเลย  การภาวนาใหม่ๆก็ยากลำบาก นั่งได้สักครั้งหนึ่งก็จะรู้สึกว่ามีอะไรมาคอยขวางอยู่เรื่อย เดี๋ยวมีเรื่องนั้นเดี๋ยวมีเรื่องนี้ มีเหตุปัจจัยต่างๆไม่เอื้ออำนวย  บางทีก็ร้อนไป บางทีก็เย็นไป บางทีก็หิวไป บางทีก็อิ่มไป ไม่พอดีกับการภาวนาสักที  ก็เลยไม่ได้ภาวนา  อย่าให้ปัจจัยเหล่านี้มาขวาง  ต้องกำหนดเวลาไปเลยว่าวันหนึ่งจะนั่งกี่หน  เหมือนกับกำหนดให้กินข้าววันละ ๓ มื้อ ก็กำหนดเวลานั่งภาวนาวันละ ๓ ครั้งไปเลย  ถึงเวลาก็นั่งไปเลย ไม่ต้องไปกลัวความหิว กลัวความอิ่ม กลัวความร้อน กลัวความเย็น  ถึงเวลาก็นั่งเลย ถ้าทำอย่างนี้แล้วก็จะก้าวไปได้  นี่คือการปฏิบัติ  เมื่อปฏิบัติไปแล้วก็จะไปสู่ปฏิเวธ คือการบรรลุผล  ได้ผลที่เกิดจากการปฏิบัติ เช่นนั่งสมาธิเจริญสมถภาวนาจนจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบ  ก็จะได้ปฏิเวธทางด้านสมาธิ  แล้วถ้าเจริญวิปัสสนา พิจารณาไตรลักษณ์ ดูเรื่องราวต่างๆ จนรู้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น จนยอมรับความจริง  ใจก็จะโล่ง จะสบาย  ไม่กังวลกับความเป็นไปของสิ่งต่างๆเพราะรู้แล้วว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ใจไม่ได้เป็นไปกับสิ่งเหล่านั้น

 

แต่ถ้าไม่คิดพิจารณาไว้ก่อน ก็จะคิดว่าเวลาสูญเสียสิ่งเหล่านั้นแล้วจะอยู่ไม่ได้  ความจริงเวลาไม่มีอะไรเลย ใจก็ยังอยู่ได้  เวลามาเกิดก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวมาเลย ไม่มีสมบัติมาแม้แต่ชิ้นเดียว แม้แต่ร่างกายนี้ก็เป็นของคุณพ่อคุณแม่ มาอาศัยสมบัติของคุณพ่อคุณแม่ คือร่างกายนี้ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาก็สะสมสิ่งต่างๆเพิ่มขึ้น สมบัติภายนอกต่างๆ เอาคนนั้นคนนี้มาเป็นสามี มาเป็นภริยา แล้วก็ได้ลูกได้หลานตามมา ได้ยศได้ตำแหน่งอะไรต่างๆ ได้เงินได้ทอง แล้วในที่สุดก็หมดไป  ใจก็ต้องไปเกิดใหม่  ถ้าไม่ได้เจอพระพุทธศาสนาก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  ไปตามความหลง เกิดมากี่ภพกี่ชาติก็จะแสวงหาสิ่งเหล่านี้เสมอ  แต่ถ้าได้เจอพระพุทธศาสนา ก็จะได้ยินได้ฟังเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น  เรื่องของความทุกข์ที่ต้องแบกทุกครั้งที่เกิด เกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ  แล้วก็จะได้ยินวิธีที่จะทำให้ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป  คือการบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา  ที่พวกเรากำลังบำเพ็ญกันอยู่  ปฏิเวธก็คือการหลุดพ้นนั่นเอง  คือจิตปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้  ละความอยากทั้ง ๓ ได้ เช่นกามตัณหา ความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ไม่ดูหนังฟังเพลงก็ไม่ตาย ไม่ไปกินเลี้ยงก็ไม่ตาย ไม่ไปเที่ยวก็ไม่ตาย แล้วก็ไม่หิวด้วย

 

จิตที่มีความสงบจะมีความสุขที่เลิศวิเศษ  เพียงแต่ว่าความสุขที่เกิดจากสมถภาวนาจะไม่อยู่ติดใจไปตลอดเวลา  เวลาออกจากสมถภาวนาก็จะถูกความหลงเข้ามาทำหน้าที่ คอยดึงให้ไปแสวงหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงต้องใช้วิปัสสนาคือปัญญาสกัดกั้น  หักห้ามจิตใจ ว่าอย่าไปเที่ยว อย่าไปดูหนังฟังเพลง กลับมานั่งสมาธิต่อ กลับมาเดินจงกรมต่อ ส่วนใหญ่เรานั่งได้แค่ชั่วโมงหนึ่ง พอลุกแล้วก็อยากจะไปทำอย่างอื่นต่อ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องเจริญวิปัสสนาต่อ  อย่างพระปฏิบัติพอลุกจากนั่งสมาธิ ก็ออกมาเดินจงกรมต่อ ไม่ได้ไปเปิดโทรทัศน์ดู ไปเปิดวิทยุฟัง แต่เข้าทางเดินจงกรมแล้วก็พิจารณาสภาวธรรมต่อ  พิจารณาร่างกาย พิจารณารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ว่าไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ความสงบของจิต ที่จะต้องพยายามทำให้มีมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด  ไม่เพียงแต่ขณะที่นั่งหลับตาแล้วก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออก หรือกำหนดพุทโธเท่านั้น  เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ในขณะที่ทำกิจต่างๆ ก็ต้องควบคุมใจไม่ให้เกิดความอยาก  เห็นอะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้ ให้รู้ว่าไม่เป็นคุณไม่เป็นประโยชน์กับเราอย่างแท้จริง ไม่ได้ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง ถ้าอยากได้ก็จะเป็นความทุกข์ จะเป็นภาระ  ก็พยายามตัดไปเรื่อยๆ  เพราะเวลาออกจากสมาธิแล้ว ตาเห็นรูปปั๊บถ้ายังมีความหลงอยู่ก็จะเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมาหรือเฉยๆ   

 

ถ้าเคยชอบสิ่งใดพอเห็นสิ่งนั้นก็อยากจะได้ทันที  ถ้าเคยเกลียดสิ่งใดพอเห็นสิ่งนั้นก็อยากจะเดินหนีทันที  ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่เกลียดแต่ไม่ชอบก็จะเฉยๆ  จึงต้องพยายามทำใจให้เฉยๆ  แต่ไม่ได้เฉยๆแบบไม่รู้ แต่เฉยๆแบบรู้ รู้ว่าสิ่งต่างๆที่เกลียดก็ดี ที่รักก็ดี ที่เฉยๆก็ดี ล้วนเป็นเหมือนกับอสรพิษทั้งนั้น ถ้าไม่เข้าไปใกล้ก็จะไม่ถูกกัด  แต่ถ้าเข้าไปใกล้ก็จะโดนกัดทันที เกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที  เพราะเมื่อได้อะไรที่ชอบมาก็ยึดติดแล้วก็หวง แล้วก็ห่วง  ถ้าเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ก็เกิดความวุ่นวายใจ พยายามกำจัดสิ่งนี้ไปให้ได้ ให้พ้นหูพ้นตาไป ก็อยู่ไม่เป็นสุข อยู่เฉยๆไม่ได้  แต่ถ้าพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของเรา  สิ่งต่างๆที่เห็นด้วยตาก็ดี ได้ยินได้ฟังด้วยหูก็ดี เราไปควบคุมมันได้ที่ไหน  เช่นขณะนี้มีเสียงอะไรต่างๆดังอยู่นี้ เราไปห้ามมันไม่ให้มันปรากฏขึ้นมาก็ไม่ได้ มันก็เป็นไปตามเรื่องของมัน  แต่ถ้าไม่ไปรังเกียจ ไม่ไปมีอะไรกับมัน ก็ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร  เมื่อสักครู่นี้เสียงอะไรหล่นมาดังเป๊ะๆๆ เราก็ไม่ได้ไปมีอะไรกับมัน ก็ปล่อยมันไป มันก็ผ่านไป  ใจเราก็ไม่วุ่นวาย ใจเราก็สงบ นี่คือการปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบของใจ โดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องใช้ปัญญาเป็นหลัก  ใช้วิปัสสนาเป็นหลัก สมถะเป็นตัวจุดประกาย สอนให้รู้จักหยุดใจเท่านั้น

 

แต่เมื่อไปเจอของจริงๆแล้วจะหยุดได้หรือไม่  เช่นไปได้ยินเสียงที่ไม่ไพเราะหูแล้ว จะดับความโกรธได้หรือไม่ ไปได้ยินคำชมเชย แล้วจะระงับความดีใจได้หรือไม่  เพราะถ้ายังยินดีก็แสดงว่ายังติดกับเสียงนั้นอยู่  แล้วถ้าเกิดเสียงนั้นเปลี่ยนไป ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เคยชมอยู่ทุกวัน พอวันนี้ไม่ชม ก็รู้สึกว่าขาดอะไรไปแล้ว  ฉะนั้นความยินดีก็เป็นโทษ ความยินร้ายก็เป็นโทษ  ต้องวางเฉยให้ได้ แต่ต้องวางเฉยด้วยปัญญา ไม่ได้วางเฉยเพราะไม่รู้ว่าเป็นอะไร  ของบางอย่างเราไม่ได้ไปยินดียินร้ายด้วย เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร อาจจะเป็นของที่มีคุณค่า แต่เราไม่รู้ว่ามีคุณค่า พอใครมาบอกว่ามีค่าเท่านั้น ก็จะเกิดอุปาทานยึดขึ้นมาทันที  เช่นไปเจอของประหลาดที่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็จะเอาไปถามคนนั้นคนนี้ว่าเป็นอะไร  ถ้าเขาบอกว่าเป็นของวิเศษ ให้เก็บไว้นะ จะหวงขึ้นมาทันทีเลย  ถ้าเขาบอกว่าของนี้มีไว้แล้วจะเกิดวิบัตินะ ก็อยากจะโยนทิ้งไปเลย ที่เฉยๆเพราะไม่รู้ก็เป็นอย่างนี้  แต่ที่ต้องการให้เฉยนั้น ให้เฉยเพราะรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ทำให้วิบัติทั้งนั้น คือทำให้เราทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณกับเราเลย สิ่งที่มีคุณมีประโยชน์ที่สุดกับเราก็มีอยู่สิ่งเดียวในโลกนี้ ก็คือความสงบของใจนี้เท่านั้น  นอกเหนือจากนั้นแล้วไม่มีอะไรเป็นคุณเลย มีแต่จะมาทำลายความสงบของใจ เราจึงต้องพิจารณาตัดทุกอย่าง เพื่อไม่ให้มาทำให้ใจของเรากระเพื่อมนั้นเอง

 

ใจที่สงบก็เหมือนกับน้ำที่นิ่ง  ถ้าโยนก้อนอิฐก้อนกรวดลงไปในน้ำ ก็จะทำให้น้ำกระเพื่อม  ฉันใดถ้าเราไปเอาอะไรมาครอบครองเพื่อให้ความสุขกับเรา  ก็เหมือนกับโยนก้อนอิฐใส่ไปในใจที่สงบ ทำให้ใจกระเพื่อมขึ้นมา กระเพื่อมด้วยความห่วง ด้วยความหวง ด้วยความเสียดาย  เป้าหมายหลักของเราก็คือการสร้างและรักษาความสงบของใจ  ด้วยทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราทำได้ในทุกอิริยาบถ ไม่เฉพาะในท่านั่งสมาธิหรือในที่วิเวกเท่านั้น  จิตต้องนิ่งได้แม้จะอยู่กลางสี่แยกไฟแดง หรือตามสถานที่ต่างๆ  ใจจะต้องไม่มีปฏิกิริยากับสิ่งต่างๆใดๆทั้งสิ้น  ถ้าฝึกดีแล้วจะเป็นอย่างนี้ จะถอนออกจากสิ่งต่างๆ ออกจากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส จากโผฏฐัพพะต่างๆ  สัมผัสรับรู้เหมือนเดิม แต่ไม่มีปฏิกิริยาเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนสัมผัสอะไรแล้วจะต้องมีความยินดียินร้ายขึ้นมาทันที  แต่ถ้าได้เจริญวิปัสสนาพิจารณาอย่างถ่องแท้ อย่างรอบคอบจนเข้าใจ จนปล่อยวางได้แล้ว จะไม่มีความรู้สึกยินดียินร้ายกับอะไรทั้งสิ้น ได้มาก็ไม่ได้ดีใจ เสียไปก็ไม่ได้เสียดายอะไร  ได้มาก็พิจารณาด้วยเหตุด้วยผลไป  มีของเหลือใช้ที่เราไม่ใช้ จะเอาไปทำอะไรก็พิจารณาไป  สิ่งใดเหมาะสมกับคนชนิดไหนก็จัดไปให้กับคนชนิดนั้น ก็ทำประโยชน์ไป  แต่ใจไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น ของภายนอกทั้งหมดในโลกนี้มีแต่จะไปทำลาย ไปกระทบกับความสุขของใจ ไม่มีแล้วมันสบาย

 

ดูพระอริยบุคคลทั้งหลาย ท่านมีอะไรที่ไหน  ท่านอยู่เหมือนนก พระพุทธเจ้าทรงให้อยู่เหมือนนกไปเหมือนนก  เวลาบินไปไหนก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวไปด้วย ไปหากินข้างหน้าเอา  นี่แหละคือความสุขของคนเรา อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ไม่มีภาระผูกพันทางด้านจิตใจ  จะอยู่ได้ก็ต้องตัด เพราะขณะนี้เราเป็นเหมือนคนติดยาเสพติด ขาดยาเสพไม่ได้ ต้องมียาเสพอยู่ตลอดเวลา  เราต้องหักห้ามจิตใจ ยอมทรมานสักระยะหนึ่ง ถึงเวลาจะเสพแล้วไม่เสพ  เช่นหนีไปอยู่ในป่า ให้อยู่ไกลๆจากสิ่งต่างๆ  ถ้าหักห้ามจิตใจดึงใจไว้ได้ด้วยการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนาแล้ว ต่อไปก็จะไม่กลับไปเสพสิ่งต่างๆที่เคยติดเคยผูกพันอีก  แต่ถ้าอยู่ใกล้ก็ยากที่จะตัดได้  ปฏิบัติที่บ้านกับปฏิบัติที่วัดก็ต่างกันตรงนี้  อยู่ที่บ้านมีสิ่งต่างๆรอบตัว  ที่ต้องตัดแต่ยังไม่ได้ตัด  แต่ถ้าอยู่ในบ้านที่ไม่มีอะไรเลยก็เหมือนอยู่ที่วัด  ไม่มีวิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีตู้เย็น เหมือนกับเวลาไปอยู่ที่วัด ไม่มีอะไรเลย  ถ้าเป็นอย่างนั้นอยู่ที่บ้านก็เป็นเหมือนกับอยู่ที่วัด  ถ้าที่วัดมีตู้เย็น มีโทรทัศน์ มีวิทยุ มีอะไรเต็มไปหมด ก็เหมือนอยู่ที่บ้าน คำว่าวัดกับบ้านจึงไม่ได้อยู่ที่สถานที่ แต่อยู่ที่สิ่งแวดล้อม  ถ้ามีสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกับอยู่ที่บ้าน ต่อให้อยู่ในป่าก็ยังเหมือนกับอยู่ในบ้าน  แต่ถ้าอยู่ในเมือง แต่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกับอยู่ในป่า ก็เหมือนกับอยู่ในป่า

 

นี่คือขั้นตอนการดำเนินของพุทธศาสนิกชน ขั้นตอนแรกก็คือปริยัติการศึกษา แล้วก็นำไปปฏิบัติ จนบรรลุมรรคผลนิพพาน ที่มีอยู่ ๔ ขั้น เป็น ๔ คู่  คู่ที่ ๑ ได้แก่การเจริญโสดาปัตติมรรคเพื่อจะได้บรรลุโสดาปัตติผล  โสดาปัตติมรรคก็คือการพิจารณาร่างกายของเรานี้แหละ  ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ  ถ้ากำลังพิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็กำลังเจริญโสดาปัตติมรรค  แต่ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่องในอิริยาบถทั้ง ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน จึงจะเป็นโสดาปัตติมรรค  แต่ถ้าทำแบบเช้าชามเย็นชาม อย่างนี้ยังไม่เป็นโสดาปัตติมรรค  ถ้าจะเป็นโสดาปัตติมรรคต้องทั้งวันทั้งคืน เดิน ยืน นั่ง นอน ในอิริยาบถ ๔ พิจารณาแต่เรื่องเหล่านี้  อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า ทุกลมหายใจเข้าออก เธอต้องระลึกถึงความตายอยู่เสมอ  หายใจเข้าก็ระลึกว่าหายใจเข้าไปถ้าไม่หายใจออกมาก็ตาย  หายใจออกมาแล้วไม่หายใจเข้าไปก็ตาย  จะตายตอนไหนเมื่อไรก็อยู่ตรงสองจุดนี่แหละ  คือจุดที่หายใจเข้าไป หรือหายใจออกมา ไม่ได้อยู่ตรงไหน และก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  นี้คือการเจริญมรรคเป็นอย่างนี้  เมื่อได้ขั้นโสดาฯไปแล้วก็ต้องเจริญขั้นต่อไป  ขั้นสกิทาคามีกับขั้นอนาคามีจะพิจารณาสิ่งเดียวกัน คืออสุภะ ความไม่สวยงาม  พิจารณาดูความไม่สวยงามของร่างกาย ส่วนต่างๆ  ทั้งภายนอก ทั้งภายใน  ดูอวัยวะต่างๆ ดูสภาพที่เป็นอยู่ สภาพที่ตายไปแล้ว เป็นอย่างไร  ตาย ๓ วันแล้วเป็นอย่างไร เวลาเอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าถูกแร้งกากัดกินจะเป็นอย่างไร  นี่คือสภาพของร่างกายที่จะต้องเป็นไป

 

ถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆก็จะเห็นว่า ร่างกายเป็นทั้งผีดิบ เป็นทั้งผีสุก เป็นทั้งผีเป็น เป็นทั้งผีตาย  คือขณะที่อยู่นี้ก็เป็นเหมือนกับผีดิบ  เป็นผีเป็น  ถ้ามีการชำระดูแล อาบน้ำอาบท่า หวีเผ้าหวีผม แปรงฟัน ก็พอจะดูได้ ยังเป็นผู้เป็นคนอยู่ แต่ถ้าไม่อาบน้ำอาบท่า ไม่แปรงฟัน ไม่หวีเผ้าหวีผมเลย ก็เหมือนกับผีเป็นๆ ที่ยังไม่ตาย  ถ้าตายไปยิ่งจะขนาดไหน ก็จะส่งกลิ่นเหม็นออกมา เน่าเปื่อยไป นี่คือการพิจารณาอสุภะ การเจริญสกิทาคามีมรรคกับอนาคามีมรรค  ผลของการเจริญสกิทาคามีมรรคนี้จะทำให้ราคะตัณหา คือความยินดีในรูปของผู้อื่นเบาบางลงไป ถ้าไม่เคยพิจารณาเลยก็จะอยากอยู่เรื่อยๆ พอได้พิจารณาบ้างแล้วก็จะรู้สึกเบื่อๆอยากๆ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ คือเบาบางลง ไม่ถึงกับอยู่ปราศจากไม่ได้เลย  แต่ถ้าพิจารณาไปเรื่อยจนเห็นอยู่ทุกขณะจิตเลย  พอเกิดความอยากก็จะเห็นอสุภะปรากฏขึ้นมา จนไม่รู้สึกอยากอีกต่อไป  ก็จะได้บรรลุอนาคามีผล  พอผ่านขั้นอนาคาไปแล้ว เรื่องของร่างกายก็หมดปัญหาไป  ได้พิจารณาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออสุภะ ผู้ที่ได้บรรลุขั้นอนาคามีผลแล้ว จะไม่มีปัญหากับร่างกายอีกต่อไป จะไม่มีความยินดี ไม่มีความอยากในกามอีกต่อไป  พระอนาคามีจึงไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก  ถ้าตายก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  ก็จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม ชั้นสุทธาวาสมีอยู่ ๕ ชั้นด้วยกัน แล้วก็จะเจริญวิปัสสนาต่อไปจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

 

เพราะสิ่งที่จะต้องพิจารณานั้นเป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นนามธรรมที่มีอยู่ในจิต  เช่นให้พิจารณามานะการถือตัว  พิจารณาว่าติดอยู่ในรูปฌานหรือไม่ ติดอยู่ในอรูปฌานหรือไม่ จิตของพระอนาคามีจะไม่หาความสุขจากรูปหยาบแล้ว  เช่นรูปของคน จะไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ฟังเพลง  แต่ยังติดอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน  พระอนาคามีจะหาความสุขด้วยการเข้าฌานอยู่เรื่อยๆ  แต่กิเลสที่ละเอียดคืออวิชชากับมานะที่ยังฝังอยู่ในจิต  ถ้ายังไม่ได้ถูกกำจัด ภพชาติก็ยังไม่หมด  จึงต้องพิจารณาเพื่อละตัวมานะ คือการถือตน ถือว่าสูงกว่าเขาบ้าง เท่าเขาบ้าง ต่ำกว่าเขาบ้าง  ซึ่งเป็นสมมุติทั้งนั้น ไม่ได้เป็นความจริง ความจริงแล้วจิตทุกดวงก็เป็นจิตเหมือนกันหมด  เหมือนกับต้นไม้ทุกต้น ก็เป็นต้นไม้เหมือนกันหมด  น้ำทุกหยดก็เป็นน้ำเหมือนกันหมด ไม่มีน้ำหยดนี้สูงกว่าหยดนั้น หรือต่ำกว่าหยดนี้  ก็เป็นน้ำเหมือนกัน  จิตทุกดวงก็เป็นจิตเหมือนกัน เป็นผู้รู้เหมือนกัน ไม่มีตัวไม่มีตน ถ้ายังมีตัวมานะอยู่ในใจ  เวลามองใครก็จะเปรียบเทียบกับเขาเสมอว่า เราเก่งกว่าเขา เขาใหญ่กว่าเรา อะไรอย่างนี้ ก็ต้องกำจัดให้เห็นว่าเหมือนกันหมด

 

ส่วนอวิชชาก็คือความไม่รู้ในพระอริยสัจ ๔ ที่ยังปรากฏอยู่ในจิต  อริยสัจที่ปรากฏอยู่จะเป็นทุกข์กับสมุทัย ส่วนนิโรธกับมรรคยังไม่ปรากฏเพราะปัญญายังไม่ทัน นิโรธก็เลยยังไม่ปรากฏ ยังมีความทุกข์ที่ละเอียดอยู่ใน ทุกข์ที่เกิดจากการยึดติดในความสุขที่ละเอียด  เวลาจิตเปลี่ยนจากสุขเป็นเศร้าหมอง ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  ก็จะพยายามรักษาไม่ให้เศร้าหมอง แต่ยิ่งพยายามเท่าไรก็ยิ่งเศร้าหมอง ต้องพิจารณาจนเห็นว่าความติดอยู่กับความสุขเป็นสมุทัย เพื่อจะได้ปล่อยทั้งความสุขและความเศร้าหมองไป  อันนี้ผู้ปฏิบัติจะรู้เองเมื่อถึงจุดนั้น  คนที่ปฏิบัติผ่านมาแล้วพอพูดก็จะเข้าใจ อย่างที่หลวงตาท่านบอกว่า  ตอนที่ท่านไปอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จิตปรากฏความสว่างไสวขึ้นมา แล้วก็มีอะไรผุดขึ้นมาว่า ที่ใดมีจุดมีต่อม ที่นั่นก็คือภพชาติ ท่านก็ไม่เข้าใจความหมาย ท่านบอกว่าถ้าหลวงปู่มั่นยังมีชีวิตอยู่ตอนนั้น ถ้าไปกราบเล่าให้ท่านฟังท่านก็จะชี้ไปตรงจุดนั้นเลย จุดที่สว่างไสวนั้นแหละ ตอนนั้นหลวงตาท่านไม่รู้ จึงต้องไปเดินธุดงค์แบกกลดอยู่อีก ๓ เดือน แล้วก็กลับมาเจอคำตอบตรงที่ปรากฏปริศนาธรรม คือที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ท่านเล่าว่าเวลาปฏิบัติไปใหม่ๆ ก็คิดว่าอวิชชาเป็นเหมือนเสือที่น่ากลัว ไปวาดภาพว่าเป็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัวมาก  แต่พอไปเจอตัวจริงๆกลับเป็นเหมือนนางบังเงา น่ารัก น่าสงวน ก็เลยปกป้องรักษามัน แทนที่จะทำลายกลับไปรักษามัน  เมื่อทำลายอวิชชาได้แล้วจิตก็จะว่างไปหมด อวิชชาก็เป็นเหมือนกับโป๊ะของตะเกียง  เวลาภาวนาก็เหมือนกับขัดให้อวิชชาใสแจ๋ว แต่ก็ยังไม่ใสเท่ากับเวลาที่ไม่มีอวิชชาครอบจิตเลย  เหมือนกับแว่นที่ใส่  ถ้าใส่แว่นกับถอดแว่นออก อย่างไหนจะใสกว่ากัน

 

เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วก็ถึงขั้นที่ ๔ คือการเผยแผ่พระธรรมคำสอน ขั้นที่ ๑ คือปริยัติการศึกษา ขั้นที่ ๒ คือการปฏิบัติ ขั้นที่ ๓ คือปฏิเวธการบรรลุผล ก็ถือว่าเรียนจบแล้ว  เมื่อจบแล้วก็ขั้นที่ ๔ คือเผยแผ่พระธรรมคำสอน เผยแผ่ได้มากน้อยเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับอัธยาศัย อยู่กับอุปนิสัย อยู่กับความรู้ความสามารถของแต่ละคน ที่ไม่เท่าเทียมกัน  คือของที่รู้อยู่ในใจนั้นบางทีจะเอาออกมาพูดให้คนอื่นฟังนี่ ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร มันเป็นนามธรรม  คนที่ไม่มีประสบการณ์มาก ไม่มีการศึกษามาก ก็จะไม่มีเครื่องมือที่จะสื่อสารกับผู้อื่น  แต่ถ้ามีการศึกษามาก มีประสบการณ์มากในทางโลก ก็สามารถเอาประสบการณ์ต่างๆมาเป็นเครื่องมือประกอบการสอน  ยกเป็นตัวอย่างอุปมาอุปมัย เพื่อจะได้ให้เห็นภาพของสิ่งที่ต้องการจะสื่อ  ครูบาอาจารย์บางท่านก็เก่งทางด้านสั่งสอน บางท่านก็ไม่สอนอะไรเลย  เช่นหลวงปู่เสาร์นี้ท่านเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ท่านแสดงธรรมทีไรท่านก็แสดงเพียงสามคำคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็จบ  ถ้าหลวงปู่มั่นนี่ท่านก็จะอธิบายว่าศีลเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร ผู้ที่จะเผยแผ่ธรรมแต่ละคนจะมีความรู้ความสามารถในการเผยแผ่ไม่เหมือนกัน บางองค์ก็เผยแผ่ได้มากได้อย่างกว้างขวาง บางองค์ก็ได้ไม่มาก  นี่ก็คือขั้นตอนการดำเนินของพุทธศาสนิกชน  เป็นขั้นบันไดที่เราจะต้องก้าวขึ้นไป ตอนนี้เราอยู่ขั้นที่หนึ่ง ก็ศึกษาไป แล้วก็พยายามขยับขึ้นไปขั้นที่สองให้ได้  ศึกษามาหลายปีแล้ว ก็น่าจะปฏิบัติได้บ้าง น่าจะตัดได้บ้าง

 

 

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ พระอนาคามีท่านมีรูปฌานอรูปฌาน ให้ท่านเมตตาอธิบายให้ฟังหน่อยนะคะว่า รูปฌานและอรูปฌานนี่มันหมายความว่าอย่างไรคะ

 

ตอบ    ฌานมีอยู่ฌาน ๘ ขั้นได้แก่รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เวลานั่งสมาธิจิตจะละเอียดเข้าไปทีละขั้นๆ ลึกลงไปเรื่อยๆ เหมือนกับขับรถยนต์  เวลาออกรถก็เข้าเกียร์หนึ่ง พอวิ่งไปได้สักระยะหนึ่งเกียร์หนึ่งก็ไม่พอแล้ว ถ้าจะให้เร็วกว่านี้ก็ต้องเข้าเกียร์สอง เพราะถ้าอยู่เกียร์หนึ่งมันก็จะตื้อๆไปอย่างนั้น วิ่งได้แค่นั้น ก็ต้องเข้าเกียร์สอง  จิตก็เหมือนกัน เวลาสงบจะมีความละเอียดหลายระดับด้วยกัน  ท่านแสดงไว้ว่ารูปฌานมีอยู่ ๔ ขั้น ขั้นที่ ๑ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข  ขั้นที่ ๒ วิตกวิจารสงบไป  มีแต่ปีติกับสุข ขั้นที่ ๓  มีสุข มีอุเบกขา ขั้นที่ ๔ มีแต่อุเบกขา ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่อรูปฌานที่มีอยู่ ๔ ขั้นเช่นกัน  ขั้นที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนสัญญา อากาศหาที่สุดมิได้ ขั้นที่ ๒ คือวิญญานัญจายตนสัญญา วิญญาณหาที่สุดมิได้ ขั้นที่ ๓ คืออากิญจัญญายตนสัญญา ไม่มีอะไร ขั้นที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ นี่คือจิตของพระอนาคามี ท่านสามารถเข้าสู่ฌานต่างๆเหล่านี้ได้ แล้วก็จะติดอยู่กับความสุขของฌาน จะไม่ออกมาพิจารณาดูมานะและอวิชชาว่าเป็นอย่างไร

 

ถาม    ท่านอาจารย์คะ  มีผู้สงสัยว่าเขาใช้วิธีดูตัวรู้ ไม่ได้คิดอะไรเลย มีอะไรเกิดขึ้นก็มีสติตามดูอยู่ตลอดเวลาค่ะ  อะไรมากระทบก็ไม่ใช้วิธีคิด แต่ที่เขาสงสัยก็คือว่า ตรงนี้ถ้าไม่ได้พิจารณา คือใช้วิธีดูความว่างไปตลอดนี่ มันละกิเลสที่ฝังอยู่ในส่วนลึกไม่ได้ใช่ไหมคะ ต้องใช้ปัญญาในขั้นสุดท้ายใช่หรือไม่คะ

 

ตอบ    ขึ้นอยู่กับว่ามีปัญญาเดิมมากน้อยเพียงไร บางคนมีปัญญาแล้ว ก็ไม่ต้องคิดมาก เหมือนคนที่เคยเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม. ๕ แล้วย้ายไปโรงเรียนใหม่ ก็ไม่ต้องกลับไปเรียน ม. ๔ ม. ๓ใหม่ แต่ละคนจะรู้อยู่ในใจของตนเอง เป้าหมายก็คือการทำจิตไม่ให้กระสับกระส่ายกับเรื่องราวต่างๆ  ไม่ให้ทุกข์กับอะไร ไม่ให้หวั่นไหวกับอะไร  จะทำอย่างไรก็สุดแท้แต่สติปัญญาของแต่ละคน บางคนเพียงแต่รู้เฉยๆ อาการกระสับกระส่าย อาการยินดียินร้ายก็ดับไป  แสดงว่ามีปัญญาอยู่แล้ว  บางคนขนาดดูแล้วก็ยังกระสับกระส่ายอยู่ ก็ต้องเข้าไปลึกหน่อย  ต้องพิจารณาดูว่ากระสับกระส่ายกับเรื่องอะไร  กับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือ คนเราเกิดมาแล้วจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือ จะไม่ตายหรือ ถ้ากระสับกระส่ายเพราะความกลัวตาย ก็ต้องจี้เข้าไป ถามตัวเราเองว่า จะกระสับกระส่ายต่อไปหรือ ถ้ากระสับกระส่ายก็กลัวความตาย ถ้าไม่อยากกระสับกระสายก็ต้องไม่กลัวความตาย ก็ต้องยอมตาย เป็นสิ่งที่จะต้องปลง จะต้องตัดสินใจ

 

ถาม    ท่านอาจารย์ครับ เขาเจริญสติด้วยนะครับ ในการเดิน ยืน นั่ง นอน เขาจะเจริญสติตามรู้ทันตลอดเวลา แต่ว่าเขาก็ติดอยู่ตรงนี้  เขาจะไปนั่งสมาธิจิตก็ไม่สงบครับ ไม่ทราบว่าจะแก้อย่างไรเขาตามสติทันตลอดเวลา แต่ว่าจะลงนั่งสมาธิก็ลงไม่ได้ เขาชอบที่จะเดินจงกรม

 

ตอบ     เพราะสติยังไม่มีกำลังพอที่จะหยุดจิตได้ ถ้านั่งสมาธิด้วยการบริกรรมพุทโธๆๆ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก แต่จิตไม่สงบ ก็ต้องใช้ปัญญาทำจิตให้สงบ เช่นพิจารณาร่างกาย เกิดแก่เจ็บตาย อาการ ๓๒ ให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นปฏิกูล เป็น อสุภะ เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ฯลฯ

 

ถาม  อย่างนี้ไม่จำเป็นต้องกลับไปนั่งสมาธิ  แต่พิจารณากายเลยได้ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  พิจารณาแล้วต้องตัดได้ ถ้าตัดไม่ได้ก็แสดงว่าเป็นวิปัสสนู  รู้แต่ตัดไม่ได้  แสดงว่าจิตหยุดไม่เป็น  จิตไม่มีเบรก  คำว่าตัดก็คือหยุดใจ หยุดไม่ให้ไปยินดีกับสิ่งที่เราพิจารณา ให้ตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น

 

ถาม  เป็นเพราะจิตไม่มีสมาธิหรือเปล่าครับ ไม่ได้ฝึกมาทางสมาธิ ทำให้เมื่อพิจารณาแล้วมันไม่เห็นจริง  อย่างนี้หรือเปล่าครับ

 

ตอบ  จิตไม่มีเบรก การพิจารณาก็ไม่ต่อเนื่อง ถ้าจิตไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบ จะพิจารณาได้แวบเดียว แล้วก็ไปคิดเรื่องอื่น

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าเขาดูจิตไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่คิดอะไร ไม่มีความทุกข์กับการดู  รู้ทันจิตทุกขณะแล้วไม่เกิดความทุกข์ ไม่เกิดอะไร ก็ถือว่าพอใช่ไหมคะ

 

ตอบ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

 

ถาม  คือเขาสงสัยว่าจะแก้กิเลสที่ฝังรากลึกไหมคะ

 

ตอบ  ก็ต้องไปพิสูจน์ดู เช่นไปอยู่ในป่าในเขา ในป่าช้า

 

ถาม  อย่างของหลวงปู่ดุลย์นี่นะคะ ท่านบอกว่าคิดจึงได้รู้ แล้วท่านเดินไปจุดสุดท้ายอย่างไร

 

ตอบ  ถ้าสงสัยว่ากิเลสหมดหรือไม่หมด ก็ต้องให้คนอื่นช่วยพิสูจน์ ไปกราบหลวงตา ไปคุยธรรมะกับท่านดูสิ  ถ้าสงสัยเรื่องเสือ เรื่องสิงห์ เรื่องผี ก็ต้องไปพิสูจน์ดู

 

ถาม  แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เขามีตลอดเวลาก็คือวิตกวิจาร

 

ตอบ  การกำหนดรู้อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ปลอดภัย ก็เหมือนนักมวยที่ชกกระสอบทราย ยังไม่ได้ขึ้นเวทีจริง

 

ถาม  คือเขามีวิตกวิจารนะครับ มีความทุกข์กังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง วิตกวิจารตลอดเวลา แล้วหาทางแก้ไม่ได้

 

ตอบ  ไม่มีปัญญาก็ตัดไม่ได้

 

ถาม  ก็อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าเป็นแบบนี้ สมาธิก็นั่งไม่ได้ สติมีอยู่ก็ให้พิจารณากายเลยใช่ไหมครับ ออกไปทางวิปัสสนาเลย

 

ตอบ    ทำอย่างไรก็ได้ ให้ได้ผลก็ใช้ได้ ให้ปลงให้ได้ จิตเข้าสู่ความสงบได้ ก็ถูกทาง  ถ้ายังไม่สงบ ยังวุ่นวาย ยังกังวลอยู่ ก็ยังไม่ถูกทาง โรคยังไม่หาย ยาไม่ถูกโรค กินยาน้อยไป กินเพียงเม็ดเดียว หมอให้กินวันละ ๓ เม็ด แต่กลับกินเม็ดเดียว แล้วจะหายจากโรคได้อย่างไร

 

ถาม  เพราะฉะนั้นถ้าใช้ทางพิจารณานี่ จะได้ผลดีหรือไม่นี่อยู่ที่ว่า ถ้าจิตมีสมาธิขึ้นมาได้นี่ ก็ถือว่าไปถูกทางอย่างนั้นใช่ไหมครับ

 

ตอบ  การพิจารณาจะได้ ๒ อย่าง ได้ความสงบและก็ได้ปัญญา  

 

ถาม  ท่านคะแสดงว่าสติยังรู้ไม่ทันจริงๆ ถ้าทันจริงๆก็ต้องตัดได้

 

ตอบ  เอาเรื่องการดื่มเหล้าเป็นตัวอย่าง ถ้าพิจารณาก็จะรู้ว่าการดื่มเหล้าไม่ดี มีโทษ แต่พอถึงเวลาที่จะต้องหยุด จะหยุดได้หรือไม่ เวลาเพื่อนฝูงชวนให้ดื่มจะปฏิเสธได้หรือไม่

 

ถาม  มันฝังรากอยู่ข้างใน ไม่สามารถหยุดได้แก้ได้

 

ตอบ เราจะไม่รู้ว่าถอนได้หมดหรือไม่ จนกว่าจะได้พิสูจน์ในทางปฏิบัติ

 

ถาม  ท่านอาจารย์ครับ ถามเกี่ยวกับเรื่องปัญญาอบรมสมาธิครับ คนไม่มีกำลังสมาธิมาก่อนจะสามารถปฏิบัติได้หรือเปล่าครับ

 

ตอบ    ได้  ทำไปตามกำลังที่มีอยู่  อย่างเวลาทีเราฟุ้งซ่าน จะนั่งพุทโธๆก็นั่งไม่ได้ เพราะมัวแต่จะไปคิดถึงเรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ ก็ต้องตัดปัญหานั้นให้ได้ก่อน ด้วยการพิจารณาอนิจจังว่า ไม่มีอะไรไม่จบ ปัญหาต่างๆก็ต้องจบสักวันหนึ่ง อยู่ที่เราจะยอมรับหรือไม่กับผลที่จะเกิดขึ้น  ถ้ายอมรับว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ปัญหาก็จบ ที่ปัญหาไม่จบเพราะเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น  ถ้าเราพิจารณาจนปลงได้ว่า อะไรจะเกิดก็เกิด แค่นี้ปัญหาก็จบ เช่นถ้าต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง เราก็ยอม เข้าก็เข้า ก็ทำให้จิตสงบได้

 

ถาม    เหมือนกับว่าถ้าเรามีความทุกข์ เราพิจารณาหาเหตุให้เจอ แล้วก็ละเหตุนั้นได้ ทุกข์ก็จะดับไป

 

ตอบ    ใช่  ถ้าละเหตุของความทุกข์ได้มันก็จบ เช่นเราวุ่นวายเพราะอยากจะได้ตำแหน่ง แต่เราพิจารณาดูแล้วว่าโอกาสที่จะได้คงจะน้อย ก็ตัดไป ไม่อยากได้ ความวุ่นวายก็หมดไป แต่ถ้ามันสูสี ห้าสิบห้าสิบ บางทีก็ตัดไม่ได้ ยังอยากจะได้อยู่ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องพิจารณาต่อ ว่าเอาไปทำไม เอาไปก็เท่านั้น แค่หัวโขน ตำแหน่งต่างๆ พอเกษียณอายุก็หมดไปอยู่ดี  ปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นขั้นๆอย่างนี้ แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน จะพิจารณาได้มากน้อยเพียงไร อย่างที่หลวงตาท่านเล่าเกี่ยวกับปัญญาอบรมสมาธิท่านหมายถึงตอนที่ท่านนั่งทั้งคืน พิจารณาต่อสู้กับทุกขเวทนา แยกกายแยกเวทนาแยกจิตออกจากกัน จนจิตรวมลงเป็นสมาธิ ปล่อยวางเวทนาได้โดยสิ้นเชิง นั้นแหละคือปัญญาอบรมสมาธิ ของท่านเป็นอย่างนั้น แต่ของเราๆเพียงแต่มาปลงเรื่องลูกเรื่องแฟนก็พอแล้ว ปลงให้ได้ก่อน ถึงจะนั่งสมาธิได้

 

ถาม  อย่างในกรณีมีโทสะเกิดขึ้นในขณะนั้น เรารู้แต่ไม่สามารถจะยับยั้งมันได้ค่ะ เราก็กลับมาหลังจากที่เกิดเหตุการณ์แล้วค่ะ คือเราดูใจมันยิบๆยับๆในใจ แต่เราไม่ให้มันแสดงออกทางวาจา

 

ตอบ  ห้ามไม่ให้ออกไปทางวาจา แต่ใจยังยิบๆยับๆอยู่ เพราะยังไม่ได้เข้าไปแก้ที่ต้นเหตุ

 

ถาม     ทีนี้หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วก็กลับไปพิจารณา เรานี่โทสะมันยังอยู่ คือไฟมันยังอยู่ในใจเรานี่ วันนั้นก็ลองพิจารณาว่า คนเราเกิดมาในโลกนี่สุดท้าย คือเป็นคนที่ชอบพิจารณากระดูกค่ะ สุดท้ายก็กลายเป็นกระดูก เป็นผุยผงไป  ทีนี้ช่วงนั้นจิตมันก็เลยยอมรับว่าไปโกรธเขาทำไมนะ สุดท้ายก็กลายเป็นผุยผงไปกลายเป็นดินไป แล้วใจยอมรับ มันก็วางลงไป แต่พอมาเจอคู่กรณีก็ยังโกรธอยู่ค่ะแสดงว่าเรายังถอนไม่หมด

 

ตอบ    ยังพิจารณาไม่ถี่พอ ไม่มากพอ พิจารณาได้เป็นขณะๆแล้วก็ทิ้งมันไป ยังไม่ฝังอยู่ในใจ ยังไม่ติดอยู่กับใจ พอไปเจอคู่กรณีเข้าปัญญาก็มาไม่ทัน เหมือนกับท่องสูตรคูณ ยังจำไม่ได้ตลอดเวลา เวลาอยู่นอกห้องสอบก็พอจำได้  แต่พอเข้าไปในห้องสอบก็ลืมหมดเลย

 

ถาม  แสดงว่าเรายังไม่มีความชำนาญหรือช่ำชองพอใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่  ต้องพิจารณามากกว่านั้น  ถี่กว่านั้น

 

ถาม  เช่นในขณะที่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น

 

ตอบ  ใช่  เตรียมตัวไว้ก่อน  ซ้อมไว้ก่อน

 

ถาม  อย่างนี้สติเราตามไม่ทันมันใช่ไหมคะ

 

ตอบ    ทั้งสติทั้งปัญญายังไม่ทันกิเลส กิเลสโทสะมันเร็วกว่า ถ้าปัญญาเร็วกว่ามันก็จะไม่เกิด เพราะตอนเจอหน้ากันก็เตรียมรับไว้ก่อนแล้ว ว่าจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป แค่นี้มันก็จบ จะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป เราเพียงรับรู้แล้วนิ่งเฉยๆไม่มีปฏิกิริยา คือสามารถตั้งอยู่ที่สักแต่ว่ารู้ได้ตลอดเวลา จะเป็นอะไรก็ตาม ก็แค่รูป แค่เสียง แค่กลิ่น แค่รสเท่านั้นเอง ใครจะพูดอะไรมันก็แค่เสียง ใครจะทำอะไรมันก็แค่รูปเคลื่อนไหวเท่านั้นเอง เราไม่ได้ไปให้ความสำคัญกับความหมายของเสียง ของการเคลื่อนไหวของรูป มันก็จะไม่มีความหมายกับเรา ปัญหาคือเราไปให้ความหมายกับมันเอง

 

ถาม  เพราะเราส่งจิตออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอกที่กระทบเข้ามาภายใน

 

ตอบ  แล้วเราก็มีความอยากด้วย อยากจะให้ทำในสิ่งที่เราพอใจ ถ้าทำในสิ่งที่ไม่พอใจเราก็ไม่ชอบ เราต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ให้ทำอย่างไรก็ได้ ได้ทั้งนั้น

 

ถาม  ทีนี้เราเปลี่ยนวิธีใหม่ คืออารมณ์ภายนอกจะมายุ่งกับเราอย่างไรเราก็อยู่ที่ตัวรู้อย่างเดียว

 

ตอบ  ใช่ อยู่ที่ตัวรู้  ใครจะทำอย่างไรก็ทำไป เราไปบังคับไม่ได้ แต่เราบังคับใจเราได้ แต่เราไม่ดูที่ใจเรา เราไปดูที่ตัวเขา แล้วก็เต้นแร้งเต้นกาตามเขาไป

 

ถาม  วิธีแก้ก็คือจ่อที่ใจเรา ไม่ต้องไปสนใจผู้อื่น

 

ตอบ    รู้เหมือนกัน รู้ข้างนอกด้วย แต่ต้องรู้ที่ใจเป็นหลัก ต้องคุมใจไว้ให้อยู่ คือไม่รู้ข้างนอกเลยก็ไม่ได้ ต้องรู้  เห็นรูปก็ต้องรู้รูป เห็นแล้วทำใจให้นิ่งได้ไหม เห็นเสือเดินมาแล้วจะนิ่งได้ไหม หลวงปู่ชอบท่านเดินจงกรมพุทโธๆอย่างเดียว ในหนังสือประวัติหลวงปู่มั่น ท่านอาจารย์ท่านเขียนไว้ว่า หลวงปู่ชอบท่านชอบเดินธุดงค์ตอนกลางคืน ท่านเดินถือโคมไฟแล้วก็ถือโคมไฟที่มีเทียนจุดอยู่ข้างใน ท่านก็เดินภาวนาของท่านไป พุทโธๆของท่านไป แล้วคืนหนึ่งเดินไปจ๊ะเอ๋กับเสือตัวหนึ่ง ท่านเดินไปมันก็เดินมา แต่ท่านมีสติท่านดูอยู่ที่ใจตลอดเวลา อยู่กับพุทโธตลอดเวลา พอเห็นเสือปั๊บจิตก็รวมลงเลย เพราะมีสติคุมอยู่ ไม่ออกไปทางตื่นเต้นหวาดกลัว แต่รวมลงไป เป็นสมาธิไปเลย พอรวมลงปั๊บตัวท่านก็หายไป ตัวเสือก็หายไป เหลือแต่สักแต่ว่ารู้อยู่อย่างเดียว ท่านก็ไม่ทราบว่ายืนอยู่นานเท่าไร พอจิตถอนออกมา ท่านก็ยังยืนอยู่ในอิริยาบถเดิม เทียนที่จุดไว้ก็มอดไปหมดแล้ว ดับไปหมดแล้ว แสดงว่าคงจะรวมลงไปนานพอสมควร เสือก็ไปแล้ว จิตลงด้วยอานุภาพของสมาธิ ไม่ได้ลงด้วยอานุภาพของปัญญา เพราะถ้าเป็นปัญญาก็จะยอมรับความจริง ตายก็ตาย จบก็จบ

 

ถาม     ฤาษีชีไพรในครั้งไหนๆก็ตาม เขาสามารถฝึกตบะเดชะอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร  สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ในฐานะที่เป็นชาวพุทธเองนี่ควรจะทำอย่างไรกับบุคคลบางบุคคล เขาสามารถทำคุณไสยค่ะ โดยไม่มีใครรู้ แต่เขาสามารถใช้พลังจิตที่เป็นสมาธินี่ ก่อกรรมทำเข็ญได้ ทำไมเขาถึงผ่านขั้นตรงนี้ได้คะ

 

ตอบ     เพราะเป็นเพียงขั้นสมาธิ ยังไม่มีปัญญารู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นโทษ เช่นองคุลิมาลเป็นต้น ท่านก็อยากจะบรรลุเหมือนกัน แต่การบรรลุของท่านต้องฆ่าคนถึง ๑,๐๐๐ คน ถึงจะบรรลุได้ ท่านถูกสอนให้ทำอย่างนั้น แต่โชคดีได้พบพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนว่า จะบรรลุธรรมได้ต้องฆ่ากิเลส ไม่ใช่ฆ่าคนอื่น ต้องฆ่าความโลภ ความโกรธ  ความหลง พอฟังแล้วก็เข้าใจ ก็เลยหยุดฆ่า แล้วหันมาฆ่ากิเลสแทน ฆ่าความโลภ ความโกรธ ความหลงแทน ปัญหาของฤาษีชีไพรหรือแม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ไม่รู้ว่าข้าศึกศัตรูของท่านเป็นใคร ไม่ทราบว่าจะต้องทำลายอะไรถึงบรรลุจุดสูงสุดของชีวิตได้ พระพุทธเจ้าตอนต้นก็ทรงคิดว่า  ต้องทำลายร่างกาย ต้องทรมานร่างกายอย่างสุดๆ ไม่ให้กินข้าวถึง ๔๙ วันด้วยกัน แต่ถึงขนาดนั้นความทุกข์ในใจก็ยังมีอยู่ จึงทรงเห็นว่าความทุกข์อยู่ในใจ ต้นเหตุก็คือกิเลสตัณหานี้เอง จึงทรงย้อนกลับมาภาวนา เพื่อฆ่ากิเลสที่มีอยู่ในใจ  กิเลสจะตายได้ก็ต้องเจริญสมถะกับวิปัสสนา เพราะเวลาจิตสงบกิเลสทำงานไม่ได้ เพียงแต่ว่าความสงบในสมาธิจะไม่สงบไปตลอดเวลา จะสงบในขณะที่จิตรวมลง พอจิตถอนออกมา ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็จะทำงานไปกับสังขารความคิดปรุงแต่ง สังขารกับความโลภความโกรธความหลงเป็นเหมือนกับมีสัญญาผูกพันกันไว้ พอคิดเรื่องนี้ก็ต้องคิดไปตามความหลง คิดเป็นตัวเป็นตน คิดเป็นสุข จึงต้องเอาวิปัสสนามาย้อนกระแสของความหลง

 

วัฏฏะคือความคิดปรุงตามความหลง คิดเพื่อก่อ เพื่อสร้าง เพื่อผูกพัน เพื่อยึด เพื่อติด เพื่อโลภ เพื่ออยาก วิวัฏฏะคือทางของธรรม ที่ให้ละ ให้ตัดความผูกพัน ตัดความโลภ ตัดความอยาก ด้วยการพิจารณาจนเห็นว่า สิ่งที่ไปโลภไปอยากนั้นไม่มีคุณค่าอะไร ไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง ต้องมีปัญญาที่เกิดขึ้นได้ ๒ ทาง คือมีครูสอนหรือคิดค้นอยู่เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าไม่มีครูสอนก็เลยต้องคิดเองหาทางเอง แต่มีน้อยคนที่จะสามารถปราบกิเลสได้ด้วยตนเอง  ต้องเป็นคนระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้น นานๆจึงจะมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏสักครั้งหนึ่ง เมื่อมีพระพุทธเจ้าทรงนำทางแล้ว ผู้ที่จะปฏิบัติตามจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็มีเป็นแสนเป็นล้าน  เพราะมีคนเบิกทางให้แล้ว มีคนชี้เป้าให้แล้ว เพียงแต่ทำตามเท่านั้นเอง เมื่อก่อนนี้ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ตรงไหน เหมือนเข้าไปในป่า ศัตรูหลบซ่อนตามที่ต่างๆ พอเผลอมันก็ยิงเอาๆ จะหาตัวมันก็หาไม่เจอ กิเลสก็เป็นอย่างนั้น มันฉลาดมาก มันกับเราเป็นตัวเดียวกันเลย ทำไมจะไม่ฉลาด จนไม่กล้าฆ่ามัน เพราะฆ่ามันก็เหมือนกับฆ่าเรา ต้องอาศัยพระพุทธเจ้ามาทรงสอน ว่าไม่เป็นไรฆ่ามันได้ ไม่ต้องกลัว ฆ่ามันแล้วเราไม่ตาย ฆ่ามันแล้วใจไม่ตาย  แต่ใจกับกิเลสอยู่ติดกันเป็นเนื้อเดียวกัน  จึงต้องอาศัยวิปัสสนาเป็นผู้แยกออก มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่รู้อย่างนี้ ศาสดาองค์อื่นไม่ได้บรรลุถึงธรรมขั้นนี้

 

 

ถาม    ทีนี้จะถามท่านอาจารย์ไกลตัวหน่อยนะคะ คืออยากทราบว่าพระอรหันต์ทั้งหลายนี่ท่านจะต้องอาศัยทั้งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติด้วยกันหรือไม่ หรือว่าอย่างใดอย่างหนึ่งเจ้าค่ะ

 

ตอบ     ต้องอาศัยทั้ง ๒ อย่าง แต่ละท่านอาจจะมีความถนัดต่างกัน เจโตวิมุตติหมายถึงสมาธิ ปัญญาวิมุตติคือการพิจารณาเพื่อความรู้แจ้ง การจะบรรลุได้ต้องมีทั้งสมาธิและปัญญา บางท่านอาจจะเก่งทางด้านสมาธิ เช่นพระโมคคัลลาน์ ถ้าสอบก็ได้ ๑๐๐ คะแนนเต็ม แต่เวลาจะผ่านชั้นสมาธิไม่จำเป็นต้องได้ ๑๐๐ คะแนน เพียง ๕๐ คะแนนก็ผ่านแล้ว เพียงทำจิตให้สงบรวมลงก็พอ ไม่จำเป็นต้องได้อรูปฌาน ไม่จำเป็นต้องได้อิทธิฤทธิ์ เพียงทำจิตให้ได้ฌานที่ ๔ ก็พอ คือให้ตั้งมั่นอยู่ในอุเบกขา พอออกมาแล้วก็เจริญปัญญาได้เลย บางท่านก็เก่งทางด้านปัญญา อย่างเช่นพระสารีบุตร เป็นพวกที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตฟุ้งซ่านด้วยเรื่องอะไรก็พิจารณาด้วยปัญญา เช่นนั่งสมาธิทั้งคืน ต้องแยกแยะเวทนาออกจากจิตออกจากกาย จนจิตรวมลงเป็นสมาธิ ไม่ต้องบริกรรมพุทโธๆ ไม่ต้องกำหนดดูลมหายใจ ท่านเก่งทางด้านปัญญา ท่านใช้ปัญญาทำจิตให้สงบให้เป็นสมาธิเพื่อเป็นบาทเป็นฐาน ให้เจริญวิปัสสนาต่อไป พวกปัญญาวิมุตติจะบรรลุเร็วกว่าเจโตวิมุตติ เพราะตัวที่จะทำให้หลุดได้ก็คือปัญญา จะเก่งทางสมาธิขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่มีปัญญาก็จะติด เหมือนกับอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป ที่ได้ทรงศึกษาด้วย ท่านเก่งทางด้านเจโตวิมุตติ แต่ยังไม่มีปัญญาวิมุตติ เพราะไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้มาสั่งสอนในสมัยนั้น ต้องอาศัยเจ้าชายสิทธัตถะมาตรัสรู้ก่อน ปัญญาเพื่อความหลุดพ้นจึงปรากฏให้สัตว์โลกได้เจริญ

 

            ถ้าเปรียบเทียบเจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ ก็เหมือนกับคนที่ถนัดซ้ายกับถนัดขวา คนที่เก่งทางด้านเจโตฯจะได้สมาธิเร็ว แต่จะช้าทางปัญญา คนที่ถนัดทางปัญญาก็ใช้ปัญญาพิจารณา ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ต่อไป พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ ๕ ถ้าถามว่าการที่จะบรรลุธรรมได้นี้ จะต้องมีทั้งสมาธิทั้งปัญญาหรือไม่ คำตอบก็คือต้องมี แต่ไม่จำเป็นต้องเจริญถึงขั้นอรูปฌาน ขั้นรูปฌานก็พอเพียงแล้ว แต่ถ้าเก่งก็จะได้อรูปฌานด้วย รู้วาระจิตของผู้อื่น รู้ว่าคนนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นอะไรๆเป็นต้น แต่พระอรหันต์จะไม่รู้อย่างนี้ทุกรูป สิ่งที่พระอรหันต์ทุกรูปรู้เหมือนกันก็คือการสิ้นของอาสวะ ของความโลภ ความโกรธ ความหลง อันนี้รู้เหมือนกันหมด แต่มีความสามารถทางสมาธิและทางปัญญาต่างกัน อย่างอาจารย์บางรูปไม่มีปัญญาสอนผู้อื่น สอนตัวท่านเองได้ มีปัญญาที่ทำให้หลุดพ้น ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงของตนได้ แต่ไม่มีความสามารถเผยแผ่ให้กับผู้อื่น

 

พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสารีบุตรให้เป็นอัครสาวกขวา เพราะเก่งทางด้านปัญญา ในบรรดาพระสาวกทั้งหมดไม่มีใครจะเทศน์เก่งเท่ากับพระสารีบุตร รองจากพระพุทธเจ้าแล้วไม่มีใครจะเก่งเท่ากับพระสารีบุตร แต่ถ้าในทางอิทธิฤทธิ์ต่างๆแล้ว ไม่มีใครเก่งเท่ากับพระโมคคัลลาน์ ซึ่งเก่งทางเจโตวิมุตติ พวกนี้จะได้สมาธิก่อน นั่งกำหนดพุทโธๆไป กำหนดดูลมหายใจไป จนจิตเป็นฌาน  แล้วก็ออกมาเจริญปัญญา บางคนติดสมาธิเป็นปีๆเลยก็มี แต่ถ้าเป็นพวกปัญญาจะไม่ติด พอใช้ปัญญาพิจารณาทำจิตให้สงบได้แล้ว  พอออกมาจากความสงบก็จะพิจารณาต่อเลย พวกนี้จะบรรลุเร็ว สำเร็จเร็ว

 

ถาม     ท่านอาจารย์ครับ สมมุติว่าบางคนถ้ามุ่งชำระจิตจนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย แล้วก็อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา แต่ว่าก่อนหน้านี้เคยทำกรรมเอาไว้มากมาย อย่างเช่นองคุลิมาล ซึ่งก่อนที่จะเจอพระพุทธเจ้าได้ฆ่าคนถึง๙๙๙ คน ท่านไม่ต้องใช้เวรใช้กรรมหรือครับ

 

ตอบ     ก็ใช้ในภพชาติสุดท้าย ชาวบ้านที่รู้จักท่าน เวลาท่านไปบิณฑบาตเขาก็เอาหินขว้างใส่

 

ถาม     คือยังไงก็ต้องใช้เวรใช้กรรมก่อน ถึงจะสามารถบรรลุได้ใช่ไหมครับ

 

ตอบ    ไม่ใช่  หมายถึงว่าถ้าบรรลุแล้ว ก็ชดใช้เวรกรรมในชาติสุดท้ายนี้เท่านั้น ถ้ายังมีร่างกายนี้อยู่ เช่นพระพุทธเจ้าก็มีพระเทวทัตตามล้างผลาญ พยายามฆ่าพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง นี่ก็เป็นคู่เวรคู่กรรมกันมาในอดีต แต่ทำได้ที่ร่างกายเท่านั้นเอง เพราะจิตของพระพุทธเจ้าหลุดพ้นแล้ว จิตไม่ได้ยึดติดกับร่างกาย ร่างกายจะเป็นอะไรจิตก็ไม่ทุกข์

 

ถาม     แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกายก็จะต้องใช้กรรม จนกระทั่งหมดกรรมใช่ไหมครับ

 

ตอบ    ใช่  พระโมคคัลลาน์ก็ถูกเขาฆ่าตาย ท่านมีฤทธิ์ ท่านสามารถใช้ฤทธิ์ช่วยท่านได้ แต่ท่านก็ไม่ทำ เพราะหนีได้วันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ตามมาอีก เพราะเวรกรรมหนีไม่ได้ หนีไม่พ้น สู้ปล่อยให้มันหมดไปดีกว่า หมดแล้วก็จบ แต่ใจของท่านไม่เดือดร้อนนี่ แล้วเรื่องอะไรท่านต้องหนีด้วย เพราะท่านพร้อมที่จะรับอยู่แล้ว เหมือนกับคนที่ยิงคนอื่นตายแล้ว ก็นั่งรอให้ตำรวจมาจับไปเข้าคุก ไม่อยากจะหนีไปไหนแล้ว ยอมรับกรรม อย่างน้อยก็สบายใจที่ปลงได้  ติดคุกก็ติด แต่ได้ทำตามที่ต้องการจะทำแล้ว  

 

ถาม    แต่สมมุติว่าถ้าเคยฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนนี่ ก็ไม่มีทางบรรลุได้ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ได้  แต่ต้องใช้กรรมให้หมดก่อน ถ้าได้บรรลุเป็นพระโสดาบันก็ไม่ต้องไปใช้กรรมในอบาย

 

ถาม  อย่างที่ฆ่าแม่ถึงแม้จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วนะครับ เพียงแต่ไม่ได้ไปเกิดในอบายภูมิ แต่เกี่ยวกับชาติที่เกิดในมนุษย์นี่ยังคงใช้กรรมที่ทำกับพ่อแม่ไว้ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ถ้ากรรมตามมาทันก็ต้องใช้ไป

 

ถาม  ถ้าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว โอกาสที่จะฆ่าพ่อแม่นี่

 

ตอบ  ไม่มีเลย แม้แต่ฆ่าคนอื่นก็ไม่มี   

 

ถาม     ท่านอาจารย์คะ พอเวลาภาวนาไปใจบางครั้งมันมีฤทธิ์เกิดขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งที่เรามีฤทธิ์อย่างนี้เกิดขึ้น ใจเราชอบที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไปดูมันให้รู้ ใจหนึ่งกล้า แต่ใจหนึ่งก็ไม่กล้า ใจหนึ่งจะกลับเข้ามาสู่ภายใน เพื่อพิจารณาถอดถอนอะไรบางอย่าง ที่มันอยู่ในใจเรา ใจหนึ่งก็ยังไม่อยากจะทำตรงนั้นค่ะ เราควรจะแก้อย่างไรตรงนี้ จะไปดูให้มันรู้ไปเลย หรือว่ากลับเข้ามาภายใน เพื่อถอดถอนอะไรที่มันอยู่ภายในใจ

 

ตอบ     ถ้ายังไม่มีความชำนาญในการทำจิตให้สงบ ก็ควรมุ่งทำให้ชำนาญก่อน เวลามีอะไรปรากฏขึ้นมาก็อย่าไปสนใจ หันกลับมาหาพุทโธๆ หันกลับมาหาลมหายใจ สิ่งที่ปรากฎก็จะหายไปเอง ถ้าตามมันไปก็แสดงว่าเราขาดสติแล้ว ไม่ได้อยู่กับพุทโธๆ ไม่ได้อยู่กับอารมณ์ที่เป็นเครื่องผูกจิต จิตก็จะตามไป หรือตามไปเพราะอยากจะรู้ อยากจะลอง หรือชอบเรื่องเหล่านี้ ในอดีตเคยชอบมาก่อน ของพวกนี้ไม่ใช่อยู่ๆจะปรากฏขึ้นมา ต้องเคยปรากฏขึ้นมาแล้ว เคยมีความผูกพันกันอยู่ ก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอาอะไร ถ้าไปยุ่งกับมันก็จะเสียเวลา เหมือนกับนั่งรถมาที่นี่แต่ไปแวะแถวบางแสน แถวพัทยา ก็มาไม่ถึงสักที ถ้าถึงก็อาจจะสายเกินไปก็ได้ ไม่มีใครอยู่ที่นี่แล้ว มาไม่ทัน กิจกรรมต่างๆเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว เราไปสนุกเพลิดเพลินแถวพัทยา แถวบางแสน การภาวนาก็เป็นแบบนั้น เวลาที่ไปข้องเกี่ยวกับนิมิตต่างๆก็จะเป็นแบบนั้น นิมิตไม่ได้เป็นฐานแห่งการเจริญปัญญาเพื่อการหลุดพ้น สิ่งที่จะทำให้มีปัญญาเพื่อทำให้จิตหลุดพ้น ก็คือความสงบ ความนิ่งของจิต เป็นอุเบกขา เป็นเอกกัคคตารมณ์  เป็นผลของสมถภาวนา คุณแม่แก้วถูกหลวงตาขนาบก็เพราะเรื่องนี้ คุณแม่แก้วชอบดูนิมิตต่างๆ แต่หลวงตาห้ามไม่ให้ไปยุ่ง จนหลวงตาต้องขู่ว่าถ้าไม่เชื่อก็ไม่ต้องเป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์กัน ต้องแยกทางกัน ต้องขู่ขนาดนั้นถึงจะยอม

 

ถาม  เคยกราบเรียนหลวงตา ท่านบอกว่าถ้ามั่นใจให้ไปเลย

 

ตอบ ใช่ ท่านคงหมายความว่าถ้ามีความสงบแล้ว มีฐานแล้ว ก็ไปได้ ที่ถามนี่แสดงว่ายังไม่มั่นใจ

 

ถาม  มันไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกเลยค่ะ

 

ตอบ  ของพวกนี้เป็นของแถม เวลาไปเติมน้ำมันอย่าไปยินดีกับผ้าเช็ดหน้าที่เขาแจก

 

ถาม  ในความคิดของหนู ถ้าเราสามารถไปดูโลกของวิญญาณได้จริงๆนี่เราจะได้กลับมาว่า เราไปได้จริงๆนะ ไม่ได้โกหกตัวเอง หรือไม่ได้โกหกใคร เพราะไปเห็นมาจริงๆ

 

ตอบ    ตามใจ  แต่อย่าลืมวิมุตติ ความหลุดพ้นก็แล้วกัน เช่นหลุดพ้นจากความกลัว ถ้าเรายังกลัวอยู่ เราก็ต้องฝึกไม่ให้กลัวให้ได้ จนรู้สึกเฉยๆ สบายๆ ไม่เดือดร้อน ถ้ายังกลัวอยู่ก็ต้องฝึกต่อไปอีก ไปอยู่ที่วิเวก เป็นที่ฝึกจิต เป็นที่สร้างฐาน ให้มีกำลัง ให้มีอาวุธ เมื่อมีแล้วก็อยู่อย่างปกติ อยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่วุ่นวายกับอะไร ไม่กลัวอะไร

 

ถาม  สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ต้องเป็นอย่างไรเจ้าคะ  คือปฏิบัติง่าย บรรลุง่ายเจ้าค่ะ   

 

ตอบ  คือพวกปัญญาแหลมคมกิเลสบาง นั่งสมาธิก็ง่าย พิจารณาก็รู้เร็ว  

 

ถาม  ตอนนี้เราไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ แต่แนวทางที่จะเดินให้ถึงตรงนั้น ทำ       

         อย่างไรคะ 

 

ตอบ     ก็ต้องฝึกไปเรื่อยๆ คือคนที่เป็นอย่างนั้น เพราะฝึกมามากแล้ว เหมือนกับเรียนหนังสือ เขาเรียนมาก่อนเรา ตอนนี้เราเพิ่งเริ่ม ก. ไก่ ข.ไข่  แต่เขาอยู่ชั้นม. ๖ แล้ว ก็ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ต้องเริ่มต้นจากชั้นอนุบาล ระยะเวลาที่เขาได้ฝึกมากับของเราไม่เท่ากัน เขาฝึกมามากเรียนมามาก จึงปฏิบัติง่ายบรรลุเร็ว เราเพิ่งเริ่มต้นจึงปฏิบัติยากรู้ช้า ก็ต้องมีขันติ อย่าท้อถอย ขอให้เชื่อว่าทางนี้เป็นทางที่ถูก แล้วก็พยายามเรียนไป เหมือนเด็กที่เรียนอนุบาล ก็อย่าไปท้อแท้ เห็นเขารับปริญญาแล้ว เรายังไม่ได้อะไรเลย ก็เลยคิดว่าไม่เรียนดีกว่า ก็เป็นการทำลายตัวเอง แต่ถ้าคิดว่าเขาก็เริ่มต้นตรงจุดนี้เหมือนกับเรา เขาก็ปฏิบัติยากบรรลุช้ามาก่อน แต่ได้ปฏิบัติมาหลายภพหลายชาติแล้ว จึงทำให้เขาปฏิบัติง่าย บรรลุเร็ว เราก็คงจะปฏิบัติเร็วบรรลุง่ายในสมัยพระศรีอารยเมตไตรยก็ได้ เหมือนกับที่เขาปฏิบัติง่ายบรรลุเร็วในสมัยนี้

 

ถาม  เป็นของเก่าที่ทำมา

 

ตอบ  ใช่  ต้องทำมาก่อนแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆจะเกิดขึ้นมาเอง

 

ถาม  ไม่มีกฎตายตัวที่แน่นอน

 

ตอบ  ที่แน่นอนก็คือต้องสะสมบุญบารมีไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าทรงสะสมมาตั้งเท่าไร ถึงจะมาบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้

 

ถาม  ถ้าอารมณ์มากระทบ เรารับรู้อารมณ์แต่ยังปล่อยวางไม่ได้

 

ตอบ    เป็นการใช้สติกับสมาธิแก้ปัญหา แต่ไม่ได้แก้อย่างถาวร ไม่ได้ไปแก้ที่รากของปัญหา คือความหลงที่ไปมองสิ่งที่มากระทบว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่เห็นตามความเป็นจริง ต้องพิจารณาจนเห็นว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  ไม่มีตัวตน อย่างเรือที่ลอยมาชนเรา เราจะไม่โกรธ แต่ถ้ามีคนพายอยู่แล้วมาชนเรานี่ เราจะโกรธ เพราะไปมองว่าเป็นคน ต้องพิจารณาว่าเป็นธรรมชาติ เวลาโดนฝนเปียก เราไม่โกรธฝน แต่ใครเอาน้ำมาสาดให้เราเปียก เราก็โกรธ แต่ก็เปียกเหมือนกัน

 

ถาม  ถ้ามีสติตอนภาวนา รู้อยู่กับลม  แล้วเห็นนิมิต ลมยังมีอยู่อย่างนี้ครับ

 

ตอบ  ถ้าใช้ลมเป็นอารมณ์ ก็ต้องเห็นลมเป็นธรรมดา

 

ถาม  มีภาพปรากฏอยู่แล้วเราก็เห็น คือสงสัยว่าเกิดได้อย่างไร แต่มีลมเป็นตัวบอกว่ายังมีสติอยู่ ไม่เคยเจออย่างนี้มาก่อน พอมาเจอมันเกิดตกใจ พอตกใจมันกลับมาที่ลม แล้วลมก็บอกว่ายังมีสติอยู่นะ

 

ตอบ     ก็แสดงว่ายังมีสติอยู่ ถ้าไม่มีสติก็อาจจะตามภาพนั้นไปก็ได้ อาจจะมีความตื่นเต้นหวาดกลัว หรือดีใจก็ได้ แล้วเพลินไปกับมัน ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าไม่มีสติแล้ว อย่างเณรที่นั่งแล้วเห็นดวงแก้ว ก็ตามดวงแก้วไป พอลืมตาขึ้นมาก็ไปอยู่บนต้นไม้ ไม่รู้ว่าขึ้นไปได้อย่างไร เพราะตามดวงแก้วนั้นไป อย่างนี้แสดงว่าไม่มีสติ เวลาภาวนาพุทโธก็ให้อยู่กับพุทโธ กำหนดลมก็ให้อยู่กับลม เวลาอะไรมาแทรกก็ต้องรู้ แล้วก็ปล่อยวาง กลับมาหาลมหาพุทโธต่อ

 

ถาม  คือเหมือนมี ๒ สิ่งสลับไปสลับมาใช่ไหมครับท่านอาจารย์ เราต้องจับให้เหลืออันเดียว คือที่ลมเท่านั้นเองใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ใช่  ตอนต้นจิตจะวิ่งไปวิ่งมา

 

ถาม  แต่ตอนนั้นมันจะไม่รู้อะไร แสดงว่าจิตรวมเป็นหนึ่งใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ครึ่งหลับครึ่งตื่นมากกว่า

 

ถาม  แต่มันรู้เรื่องลมครับ พอรู้ลมก็พยายามกลับมา

 

ตอบ  พยายามยึดติดกับลมไปเรื่อยๆ ลมจะพาไปสู่ความสงบ อย่างอื่นไม่ทำให้สงบ

 

ถาม  แล้วตอนหลังผมเปลี่ยนมาเป็นเพ่งที่หน้าผากแทน ทีนี้กลับหนักครับ มันหนักมากๆเลย ตึงไปหมดเลย

 

ตอบ  อาจจะไม่ถูกก็ได้

 

ถาม  กลับมาใช้ลม

 

ตอบ     ถ้าทำไปแล้วรู้สึกเครียดไปหมด  แสดงว่าไม่ถูกกับจริต เหมือนกินอาหารที่ไม่ชอบ จะกลืนแต่ละคำนี่ลำบากมาก จิตมีปฏิกิริยาต่อต้าน ร่างกายไม่รู้เรื่องอะไร จิตเป็นตัวรู้  ถ้าชอบก็จะกินอย่างเอร็ดอร่อย อย่างง่ายดาย ถ้าไม่ชอบก็จะกินอย่างพะอืดพะอม การภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าใช้กรรมฐานที่ไม่ถูกกับจริต จะรู้สึกไม่ดี ก็อย่าไปฝืน