กัณฑ์ที่ ๒๕๙        ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๙

 

สัมมาทิฐิ

 

 

วันนี้เป็นวันปิยมหาราช วันน้อมรำลึกถึงพระคุณอันใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จเจ้าพระอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พระปิยมหาราช ในพระบรมราชวงศ์จักรี จึงใช้โอกาสนี้มาวัด มาทำสิ่งที่ดีที่งาม ตามเยี่ยงอย่างที่ได้ทรงบำเพ็ญไว้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตจิตใจ ถ้าไม่ได้รับการทำนุบำรุงดูแลรักษาด้วยบุญด้วยกุศลแล้ว ก็จะเป็นเหมือนกับต้นไม้ที่ขาดน้ำ จะต้องเหี่ยวแห้งเฉาตายไปในที่สุด ชีวิตจิตใจคนเราก็เป็นเหมือนต้นไม้ ที่ต้องมีบุญมีกุศลหล่อเลี้ยง ทำให้สดชื่นเบิกบานร่มเย็นเป็นสุข เราจึงอยู่อย่างปราศจากการทำบุญทำกุศลไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงกำหนดวันทำบุญขึ้นมาอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง เพื่อจะได้มาวัดมาบำเพ็ญบุญกุศลต่างๆ เช่นทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม โดยเฉพาะการฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับจิตใจ ที่ยังมืดบอดด้วยอวิชชาความไม่รู้  ด้วยโมหะความหลง จึงต้องอาศัยแสงสว่างแห่งธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ประทานให้กับพวกเรา ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมแล้วจะได้มีความเห็นที่ถูกต้อง เห็นว่าอะไรเป็นเหตุของความสุขที่แท้จริง อะไรเป็นเหตุของความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ  เมื่อรู้แล้วก็จะสามารถแยกแยะได้ สิ่งที่ดีก็บำเพ็ญ สิ่งที่ไม่ดีก็ละเว้น เมื่อได้ทำสิ่งที่ดีและละเว้นสิ่งที่ไม่ดีแล้ว ความสุขก็จะเป็นผลที่ตามมา  ความทุกข์ต่างๆก็จะหายไปจากจิตจากใจ 

 

การฟังเทศน์ฟังธรรมจึงเป็นจุดเริ่มต้น ของการกระทำความดีงามทั้งหลาย เหมือนกับการเดินทาง ที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางได้ ก็ต้องมีผู้บอกทางหรือมีแผนที่ชี้ทาง  ถ้าไม่มีแผนที่ ไม่มีผู้ชี้ทาง ก็จะหลงทางได้ จะไปไม่ถึงที่ต้องการจะไป  จึงทรงตรัสว่า กาเลนะ ธัมมัสสวนัง เอตัมมัง กาลมุตตมัง  การได้ยินได้ฟังธรรมตามกาล  เป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต เพราะเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็จะมีความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งเหมือนกับมีแสงสว่างนำทาง หรือมีตาที่ใสสว่างไม่มืดบอดนั่นเอง คนที่ตาใสสว่างกับคนที่ตามืดบอดย่อมมีความแตกต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน  คนที่มีตาดีจะไปไหนมาไหนก็ไปได้อย่างสะดวกสบายปลอดภัย แต่คนที่ตามืดบอดถ้าจะไปตามลำพังของตนย่อมเป็นอันตรายแก่ตนเอง เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่อยู่ข้างหน้าเป็นอะไรมีอะไรบ้าง  มีคุณมีประโยชน์มีโทษมีภัยอย่างไรก็จะไม่รู้ แล้วในที่สุดก็จะต้องประสบกับเคราะห์กรรมต่างๆ  เพราะมองไม่เห็นนั้นเอง ฉันใดใจที่มืดบอดกับใจที่มีแสงสว่างแห่งธรรม ก็เป็นอย่างนั้น ใจที่มืดบอดคือใจที่มีมิจฉาทิฐิความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ใจที่มีแสงสว่างแห่งธรรมคือใจที่มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ เห็นตามความเป็นจริง เห็นทุกข์เป็นทุกข์ เห็นสุขเป็นสุข เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง เห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนว่าไม่มีตัวตน เมื่อเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงก็จะไม่มีความหลง ความยึดติด ความอยากจะได้สิ่งต่างๆ  

 

เพราะเมื่อมองด้วยธรรมะ มองด้วยสัมมาทิฐิความเห็นชอบแล้ว ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะให้ความสุขอย่างแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีความทุกข์แถมติดมาด้วย เป็นเหมือนเงาตามตัว ได้อะไรมาในเบื้องต้นก็จะมีความสุข แล้วต่อไปก็กลายเป็นภาระที่ต้องคอยดูแลรักษา ต้องห่วง  ต้องกังวล ต้องร้องห่มร้องไห้ เสียอกเสียใจ  เมื่อพลัดพรากจากกันไป แต่เรามักจะไม่ค่อยคิดกัน มักจะไม่เห็นกัน เพราะไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอ  การฟังเทศน์ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวจึงไม่พอ เหมือนกับการรับประทานอาหารเพียงคำเดียว ไม่พอให้เกิดความอิ่มขึ้นมาได้ ต้องฟังอยู่เรื่อยๆ ฟังอยู่บ่อยๆจนจำฝังอยู่ในจิตในใจ แล้วจะไม่ลืม จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าฟังแล้วผ่านไป เข้าหูซ้ายแล้วก็ออกหูขวา สิ่งที่ดีที่งามต่างๆที่ได้ยินได้ฟังก็จะเหมือนควันไฟที่จางหายไป จึงต้องฟังอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ฟังก็ต้องมีความสงบกาย สงบวาจา สงบใจ   สงบกายสงบวาจาคือศีล สงบใจคือสมาธิ เมื่อมีศีลมีสมาธิรองรับธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะเกิดปัญญาเกิดสัมมาทิฐิ เมื่อมีปัญญามีสัมมาทิฐิ จิตก็จะหลุดพ้นจากความหลงความงมงายความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ  หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง นี้คืออานิสงส์ของการฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ  

 

จึงไม่ควรมองข้ามไป ควรกำหนดให้มีเวลาฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้จะไม่ได้มาวัดก็สามารถฟังหรืออ่านธรรมะที่บ้านได้ หนังสือดีๆก็มีมาก เทปธรรมะก็มีมาก ซีดีก็มีมาก ถ้าสนใจสักอย่างแล้วรับรองได้ว่าจะไม่ขาดธรรมะ จะมีธรรมะหล่อเลี้ยงจิตใจตลอดเวลา ในเบื้องต้นก็ต้องพยายามอัดธรรมะเข้าไปในใจ เพราะภายในใจจะมีสิ่งที่คอยต่อต้านอยู่ คือกิเลสตัณหาต่างๆ ที่ไม่ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม แต่ชอบดูหนังฟังเพลง ชอบออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ  ถ้าให้นั่งฟังธรรมะก็จะง่วงเหงาหาวนอน ไม่มีรสไม่มีชาติ ฟังแล้วก็หงุดหงิดใจรำคาญใจ  ต้องฝืนต้องพยายาม เพราะสิ่งที่ไม่เคยทำจะรู้สึกยากลำบาก แต่เมื่อได้ฝืนทำไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปก็จะง่ายไปเอง การฟังธรรมก็เหมือนกับการรับประทานยา ไม่มีใครอยากจะกินยากันถ้าไม่จำเป็น แต่ก็รู้คุณค่าของยาว่ามีคุณมีประโยชน์มากน้อยเพียงไร เพราะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยสิ่งที่คิดถึงก่อนเพื่อนก็คือยา คิดถึงหมอ  ฉันใดจิตใจก็เป็นเหมือนคนไข้ที่ต้องอาศัยยาคือธรรมโอสถ  คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นเหมือนยารักษาโรคจิตโรคใจ โรคฟุ้งซ่าน กังวล หวาดกลัว โรคอยากต่างๆ  ที่คอยฉุดลากจิตใจให้ไปก่อกรรมทำเข็ญไม่รู้จักจบจักสิ้น ตายแล้วก็ต้องไปเกิดใหม่ เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ เหมือนกับคนที่ทำผิดกฎหมายแล้วถูกจับไปขังไว้ในคุกในตะราง ถูกจับไปลงโทษประหารชีวิต เพราะอยู่เฉยๆไม่ได้    

 

ต้องไปหาสิ่งนั้นมาหาสิ่งนี้มา ถ้าหาด้วยความสุจริตไม่ได้ก็ต้องหามาด้วยวิธีทุจริต ผิดกฎหมายผิดศีลธรรม ก็ต้องไปใช้กรรมที่ได้ก่อไว้ ทั้งในทางโลกและในทางธรรม  ทางโลกก็ต้องติดคุกติดตะราง ทางธรรมก็ต้องไปตกนรกหมกไหม้ ไปเกิดในที่ไม่ดีเช่น ไปเป็นสุนัข เป็นแมวเป็นต้น เป็นผลที่เกิดจากการไม่สามารถควบคุมจิตใจไม่ให้อยากได้  ปล่อยให้ความอยากฉุดลากไป ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีขอบไม่มีเขต  ไม่มีฝั่งไม่มีฝา ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ได้คืบก็อยากจะได้ศอก ได้ศอกก็อยากจะได้วา   เป็นนายสิบก็อยากจะเป็นนายร้อย เป็นนายร้อยก็อยากจะเป็นนายพัน เป็นนายพันก็อยากจะเป็นนายพล เป็นแล้วก็อยากจะเป็นไปนานๆ ไม่อยากถูกปลดออก  แต่โลกนี้เป็นโลกของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีใครเป็นอะไรไปได้ตลอด สักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป เมื่อชีวิตม้วยมรณ์ไป ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี เป็นนายกฯ เป็นกษัตริย์ เป็นขอทานข้างถนน ก็ต้องหมดสิ้นไปเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่จะไม่หมดไปก็คือ  บาปกรรมและบุญกุศลที่ทำกันไว้ในแต่ละวันๆ จะไม่หมดไป จะอยู่ติดไปกับใจ จะถูกฝังอยู่ในใจ จนกลายเป็นนิสัยขึ้นมา ถ้าทำบุญทำกุศลก็จะมีนิสัยดี ทำบาปทำกรรมก็จะมีนิสัยไม่ดี การปลูกฝังนิสัยที่ดีก็สามารถทำได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใด การถอดถอนนิสัยที่ไม่ดีก็เช่นเดียวกัน ขอให้มีสัมมาทิฐิเท่านั้น ขอให้รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี   เมื่อรู้ว่าอะไรไม่ดีก็ถอนออกไป เช่นถ้าเป็นคนเกียจคร้าน รู้ว่าไม่ดีก็พยายามถอนออกไป ถ้ารู้ว่าความเห็นแก่ตัวไม่ดีก็พยายามถอนออกไป  ถ้ารู้ว่าการเสพสุรายาเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืนไม่ดี ก็ต้องพยายามถอนออกไป

 

ส่วนสิ่งที่ดีก็ควรพยายามปลูกฝัง เช่นความขยันหมั่นเพียร เป็นสิ่งที่ดีเพราะไม่ว่าจะทำอะไรให้สำเร็จได้ ก็ต้องมีความพากเพียร ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม  จะเรียนหนังสือให้จบได้ก็ต้องมีความพากเพียร จะปฏิบัติธรรมให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ก็ต้องมีความพากเพียรเช่นเดียวกัน  ถ้ารู้ว่าความพากเพียรเป็นสิ่งที่ดี ก็ต้องพยายามปลูกฝังให้เกิดขึ้นมา อย่าอยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไรที่เป็นประโยชน์   ถามตนเองอยู่เสมอว่า ขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เวลาผ่านไปๆ มีเวลาเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆที่จะทำอะไรได้ อย่าปล่อยให้ผ่านไปกับการกระทำที่ไร้สาระหรือเป็นโทษ เช่นไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขต่างๆ ทำไปแล้วไม่ได้นำความสุขความเจริญมาเลย แต่การฟังเทศน์ฟังธรรม นั่งทำสมาธิ เดินจงกรม เจริญวิปัสสนา พิจารณาดูความไม่เที่ยงในทุกสิ่งทุกอย่างไปเรื่อยๆ เป็นการกระทำที่มีประโยชน์มาก ทำไปเรื่อยๆ ทำให้ติดเป็นนิสัย แล้วจะไม่ลุ่มหลงกับอะไรจะมีอะไรก็รู้ว่ามีได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง  ชีวิตของเราก็มีเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง จะมัวไปวุ่นวาย มัวไปสร้างอะไรให้มันมากมายก่ายกองไปทำไม เดี๋ยวก็ต้องทิ้งให้คนอื่นไปหมด ทำในสิ่งที่เอาติดตัวติดใจไปได้ดีกว่า  คือบุญกุศล เพราะเมื่อทำแล้วก็จะมีความสุขเป็นผลตามมา บุญและความสุขเป็นของคู่กัน เป็นเหตุและเป็นผล บุญเป็นเหตุความสุขเป็นผล เหมือนน้ำแข็งกับความเย็นเป็นของคู่กัน มีน้ำแข็งก็มีความเย็น ไฟกับความร้อนก็เช่นเดียวกัน มีไฟย่อมมีความร้อน ไฟเป็นเหตุความร้อนเป็นผล  บาปเป็นเหตุความทุกข์เป็นผล เป็นของคู่กันมาตลอด

 

นี้คือสิ่งที่นักปราชญ์ทั้งหลาย เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้รู้ได้เห็นแล้วก็นำมาสั่งสอนให้สัตว์โลกให้รู้กัน เพราะสัตว์ที่ไม่รู้ก็จะหลงไปสร้างบาปสร้างกรรม สร้างความทุกข์ให้กับตนเอง ทั้งที่ไม่ปรารถนาความทุกข์ อยากจะหนีให้พ้นจากความทุกข์ แต่แทนที่จะหนีจากความทุกข์กลับเดินเข้าหาความทุกข์ กลับเดินเข้ากองไฟ เพราะไม่รู้นั้นเอง คิดว่าในกองไฟจะมีความเย็น แต่ที่ไหนได้กลับมีแต่ความร้อน มีแต่ความทุกข์ เพราะไม่ได้ยินได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์นั่นเอง พวกเราถือว่ามีบุญมีกุศลที่ได้มาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ ได้มาปฏิบัติธรรม  ได้ยินได้ฟังธรรมะอยู่เรื่อยๆ จึงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร  รู้ว่าอะไรทำให้มีความสุข อะไรทำให้มีความทุกข์ ก็อยู่ที่เราจะทำได้มากน้อยเพียงใด จะต่อสู้ความมืดบอด ต่อสู้ความหลง ได้มากน้อยเพียงไร ถ้าเอาชนะความหลงได้เราก็สบาย ถ้ายังแพ้ความหลงอยู่ก็ยังต้องทุกข์ ต้องวุ่นวายต่อไป   เวลาที่มีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจ ไม่ต้องไปหาตัวต้นเหตุที่อื่น เพราะอยู่ที่ความลุ่มหลงของเรานี่เอง ขาดธรรมะแสงสว่าง จึงต้องมาศึกษามาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน นี้คือวิธีที่จะแก้ปัญหาของเราได้อย่างแท้จริง เพราะปัญหาทั้งหมดนั้นเกิดจากความเห็นผิด มิจฉาทิฐิ จึงต้องศึกษาให้มีความเห็นถูก สัมมาทิฐิ เพราะสิ่งที่จะแก้ความเห็นผิดได้ก็คือความเห็นที่ถูกต้อง คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

เราจึงต้องหมั่นฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ  มาวัดได้ก็มา ถ้ามาไม่ได้ก็อยู่ที่บ้านเปิดเทปฟัง เปิดซีดีฟัง เปิดหนังสืออ่าน ถ้ามีโอกาสได้เจอนักปราชญ์คนฉลาด ก็หาเวลาสนทนาธรรมกัน หาความรู้ใส่ตัวอยู่เรื่อยๆ   จะได้สะสมความสุขความร่มเย็นเป็นสุขในใจให้มีมากยิ่งๆขึ้นไป แม้ร่างกายจะเป็นอะไรไป ก็จะไม่สามารถเข้าไปลบล้างความร่มเย็นเป็นสุขได้  เช่นจิตของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันต์ แม้ร่างกายจะเจ็บไข้ได้ป่วยมากน้อยเพียงไรก็ตาม ความทุกข์ทรมานของร่างกายจะไม่สามารถเข้าไปลบล้างหรือกลบความสุข ความร่มเย็น ความสบายของใจได้ ใจจะไม่รู้สึกเจ็บไข้ได้ป่วยเลย เพียงแต่รู้ว่าร่างกายเป็นอย่างนั้น รู้ว่าเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แต่ใจไม่ได้เจ็บไม่ได้ป่วยตามร่างกายไปเลย นี้คืออานิสงส์แห่งการศึกษา ได้ยินได้ฟังธรรมแล้วนำไปปฏิบัติ เพราะเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วจิตก็จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จะถอนออกมา ถ้าอยู่ในกองไฟก็จะเดินออกจากองไฟ   ถ้าอยู่ในหลุมในบ่อก็จะปีนขึ้นมา  ถ้าหลงทางอยู่ในป่า ก็จะหาทางออกจากป่าได้  นี้คืออานิสงส์หรือประโยชน์ของการฟังเทศน์ฟังธรรม ของการปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่เราต้องทำกันเอง ทำแทนกันไม่ได้ เหมือนกับการหายใจ ไม่มีใครหายใจให้กันได้ต้องหายใจเอง ถ้าอยากจะพ้นทุกข์ก็ต้องศึกษาต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติแต่อยากจะพ้นทุกข์ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดกับหลักความจริง  

 

เหตุที่จะทำให้พ้นทุกข์ก็คือการเจริญมรรคที่มีองค์ ๘   หรือศีลสมาธิและปัญญา ถ้าไม่เจริญก็จะไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ไปได้ จะปฏิบัติได้ก็ต้องฟังเทศน์ฟังธรรมก่อน ให้รู้ว่าศีลมีอะไรบ้าง สมาธิที่ถูกและผิดนั้นเป็นอย่างไร จะเจริญปัญญาอย่างไร จะเจริญตอนไหน ถ้าไม่รู้ก็จะมีความสับสน ทำไปก็ทำไม่ถูก  ทำไม่ถูกก็จะไม่ได้ผล เวลาทำสมาธิก็ไม่รู้ว่าผลของสมาธิเป็นอย่างไร ทำเพื่อให้เกิดอะไรขึ้นมา ผลที่ต้องการจากการทำสมาธิก็คือ ให้จิตสงบนิ่ง ไม่ให้ไปคิดอะไร ให้นิ่งอยู่เฉยๆ    ให้มีอารมณ์เดียวคือสักแต่ว่ารู้ ให้มีอุเบกขาอยู่ในใจ คือความนิ่งเฉยเท่านั้นแต่ถ้าจะมีอย่างอื่นแถมมาด้วยก็ไม่ต้องไปกังวล ให้รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาแล้วดับไป ไม่ใช่ตัวสำคัญ   ตัวสำคัญก็คือความสงบนิ่งของจิต เพราะถ้าสามารถรักษาความนิ่งของจิตได้มากน้อยเพียงไร ก็จะมีกำลังใจมีพลังมากขึ้นเพียงนั้น เวลาต่อสู้กับความโลภ ความอยากต่างๆ ต้องอาศัยความนิ่งเฉยเป็นอาวุธ ถ้าไม่มี กิเลสคือความโลภความอยาก ก็ยังจะฉุดลากให้จิตไปทำสิ่งต่างๆได้  แต่ถ้าใจมีความนิ่งเฉยมาก ก็จะเป็นเหมือนก้อนหินก้อนใหญ่ๆ ที่ความโลภความโกรธความหลงจะไม่สามารถฉุดลากใจ ให้ไปทำในสิ่งที่ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ได้ 

 

การทำสมาธิก็เพื่อให้จิตสงบนิ่ง เช่นเวลาบริกรรมพุทโธๆ ก็บริกรรมไปจนจิตรวมลง การบริกรรมก็จะหยุดไปเอง เมื่อหยุดแล้วจิตจะนิ่งอยู่นานเท่าไร ก็ปล่อยให้นิ่งไป ถ้ามีอะไรปรากฏขึ้นมาให้เห็น เป็นภาพต่างๆก็ดี ความรู้สึกต่างๆก็ดี เช่นมีปีติ ความปลาบปลื้ม น้ำตาลไหล ขนลุกซ่า  มีแสงสว่างปรากฏขึ้นมา ก็ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้ว่าเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาในเวลาที่จิตสงบ อย่าไปหลงไปยึดไปติด อย่าไปยินดีอยากให้เกิดขึ้นทุกครั้ง บางครั้งนั่งไปแล้วก็จะไม่มีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นก็ได้ บางคนนั่งไปแล้วก็ไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมาเลย นอกจากความนิ่งสงบ ความสบาย เท่านี้ก็พอแล้ว เพราะนี้คือผลที่ต้องการ ควรปล่อยให้นิ่งไปให้นานที่สุด ตอนนั้นยังไม่ต้องเจริญปัญญา ยังไม่ต้องพิจารณาอะไร รอให้จิตถอนออกมาจากความสงบก่อน  เมื่อจิตเริ่มคิดเริ่มปรุงแล้ว ที่นี้จึงจะถึงเวลาเจริญปัญญาต่อไป   กำหนดดูร่างกายว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นของไม่เที่ยง ไม่มีตัวไม่มีตน เป็นกองทุกข์ มีร่างกายก็เหมือนแบกกองทุกข์ไว้ เพราะต้องคอยดูแลรักษา ต้องห่วง ต้องกังวล ต้องหวาดกลัวกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นพิษเป็นภัยกับร่างกาย การไปหลงยึดติดกับร่างกายก็เหมือนกับการไปกอดอสรพิษไว้นั่นเอง มีใครบ้างอยากจะอยู่กับงูพิษ พอเห็นงูพิษก็อยากจะวิ่งหนีแล้ว แต่เห็นร่างกายกลับไม่เห็นเป็นงูพิษ กลับเห็นเป็นของวิเศษไป พยายามกอดไว้แน่น ยิ่งกอดไว้เท่าไรเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ยิ่งทุกข์ทรมานขึ้นเท่านั้น   เวลาแก่เวลาตายจะทรมานมาก ถ้าไปกอดไปยึดไปติดกับร่างกาย 

 

แต่ถ้าพิจารณาแล้วปล่อยวางได้ จะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป มีหน้าที่ดูแลรักษาก็ดูแลไป เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง ถ้าเสียก็เอาไปซ่อม ถึงเวลาเติมน้ำมันก็เติมไป เมื่อพังก็โยนทิ้งไป ร่างกายก็เป็นอย่างนี้  จิตใจเป็นเหมือนคนขับรถ ร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์ จิตใจไม่ต้องไปหลงยึดติดกับร่างกาย เพราะถ้ายึดติดแล้วจะทุกข์มาก เวลาเป็นอะไรไป นี้คือการเจริญปัญญา เป็นสิ่งที่จะต้องทำหลังจากออกจากสมาธิ จะนั่งพิจารณาต่อไปก็ได้ หรือจะลุกขึ้นมาเดินจงกรมพิจารณาก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม แล้วแต่อัธยาศัย  เมื่อพิจารณาไปพอสมควรแล้วรู้สึกว่าอยากจะหยุด รู้สึกว่าเหนื่อย ก็ย้อนกลับมาทำสมาธิต่อ ทำจิตให้นิ่งให้สงบ สมาธิเป็นที่พักจิต   ส่วนปัญญาเป็นที่ทำงานของจิต สิ่งที่จิตต้องการก็คือความเห็นที่ถูกต้องนั้นเอง คือวิปัสสนาเห็นตามความเป็นจริง  เห็นอนิจจังเป็นอนิจจัง  เห็นทุกข์เป็นทุกข์   เห็นอนัตตาเป็นอนัตตา นี้คือการเห็นตามความเป็นจริง ไม่ได้เห็นอย่างพวกเราเห็นกัน ที่เห็นอนิจจังเป็นนิจจัง เห็นทุกข์เป็นสุข เห็นอนัตตาเป็นอัตตา ชีวิตของเราจึงสับสนอลหม่าน เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ก็เลยคว้าแต่ความทุกข์มาครอง 

 

แต่ถ้าได้เจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆแล้ว ต่อไปจิตจะรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรสุข อะไรทุกข์ ก็จะคว้าแต่สิ่งที่ดี  ที่เป็นสุขมาอย่างเดียว ส่วนที่ไม่ดีที่เป็นทุกข์ก็จะโยนทิ้งไป  จิตใจก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากความทุกข์ต่างๆ  นี้คืออานิสงส์ที่จะได้รับจากการฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ แล้วนำไปปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรม มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ  เมื่อเห็นแล้วก็จะดำเนินชีวิตไปอย่างถูกต้องดีงาม  มีแต่ความสุขความเจริญโดยถ่ายเดียว จึงอยากจะให้ท่านทั้งหลายให้ความสำคัญต่อการฟังเทศน์ฟังธรรม และการปฏิบัติธรรม อย่าเห็นอะไรสำคัญกว่าการฟังเทศน์ฟังธรรม การปฏิบัติธรรม เพราะสิ่งต่างๆในโลกนี้ไม่สามารถให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง มีแต่จะให้ความทุกข์กับเราเสมอ  แต่การฟังเทศน์ฟังธรรม การปฏิบัติธรรมนี้เท่านั้น ที่จะให้ความสุขและความหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างแน่นอน จึงขอฝากเรื่องของการมาวัด มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาปฏิบัติธรรม ให้ท่านนำไปปฏิบัติกัน  เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้