กัณฑ์ที่
๒๖ ๑๐
ธันวาคม ๒๕๔๓
สัปปุริสธรรม
๗
มนุษย์กับเดรัจฉานนั้นมีทั้งสิ่งที่คล้ายคลึงกันและมีสิ่งที่แตกต่างกัน
สิ่งที่คล้ายคลึงมีอยู่ ๔
ประการด้วยกันคือ
๑. สัตว์เดรัจฉานกับมนุษย์ต้องรับประทานอาหารเหมือนกัน
๒. มีการขับถ่าย
๓. มีการพักผ่อนนอนหลับ
๔. มีการสืบพันธุ์
นี่คือสิ่งที่มนุษย์และเดรัจฉานมีความคล้ายคลึงกัน
สิ่งที่แยกความเป็นมนุษย์ออกจากเดรัจฉานนั้น
อยู่ที่วิธีการกระทำสิ่งเหล่านี้
มนุษย์จะไม่เบียดเบียนกัน
ไม่แก่งแย่งกัน
ไม่ทำร้ายกันในการดำรงชีพ
สัตว์เดรัจฉานต้องแก่งแย่งกันโดยการใช้กำลังเป็นหลัก
ผู้ใดมีกำลังมากกว่าผู้นั้นย่อมได้มากกว่า
มนุษย์เป็นสัตว์ที่เจริญ
เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ
เป็นสัตว์ที่รู้ว่าทุกๆ
ชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้นั้น
มีความปรารถนาที่จะมีความสุขด้วยกันทุกๆชีวิต
ไม่มีใครอยากจะเจอความทุกข์ทรมาน
ความเจ็บปวด มนุษย์จึงมีความเคารพในสิทธิมนุษยชนของแต่ละบุคคล
สิทธิที่จะอยู่ด้วยกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีพ
การขับถ่าย
การพักผ่อนนอนหลับ
การสืบพันธุ์ก็ดี
หรือจะทำอะไรก็ดี
ย่อมต้องทำด้วยความสุจริต
ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
หรือกับตัวเอง
ความประเสริฐของมนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา
แต่อยู่ที่คุณธรรมประจำจิตใจ
เรียกว่าสัปปุริสธรรม
ธรรมของสัตบุรุษ ของคนดี
มีอยู่ ๗ ประการคือ
๑.
รู้เหตุ
๒. รู้ผล
๓. รู้ตน
๔. รู้บุคคล
๕. รู้สังคม
๖. รู้ประมาณ
๗. รู้กาล นี่คือสิ่งที่มนุษย์สามารถจะรู้ได้
เพราะมีผู้คอยให้การอบรมสั่งสอนเช่นบิดามารดา
ครูบาอาจารย์
ซึ่งต่างจากพวกสัตว์เดรัจฉานที่ขาดผู้คอยให้การอบรมสั่งสอน
การที่จะเป็นมนุษย์หรือเป็นเดรัจฉานนั้น
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปร่างโดยถ่ายเดียว
มนุษย์อาจจะไม่เป็นมนุษย์ก็ได้ถ้าหากขาดคุณธรรมทั้ง
๗ ประการนี้
คือประเภทที่มีร่างกายเป็นมนุษย์แต่จิตใจไม่ได้เป็นมนุษย์
บุคคลที่ต้องการจะรักษาความเป็นมนุษย์
เป็นสัตบุรุษ เป็นคนดีไว้
ต้องคอยรักษาสัปปุริสธรรมทั้ง
๗ ประการนี้ไว้
ด้วยการศึกษาแล้วนำเอาไปประพฤติปฏิบัติ
๑.
การรู้เหตุคือรู้ว่าการกระทำทางกาย
ทางวาจา ทางใจนั้นเป็นเหตุ
เมื่อกระทำไปแล้วย่อมมีผลตามมา
ถ้าอยากได้ผลที่ดี
การกระทำต้องดี คือสุจริตกาย
สุจริตวาจา และสุจริตใจ
เช่นละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ละเว้นจากการลักทรัพย์
ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี
ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ
ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา
นี้คือการกระทำที่สุจริตเป็นเหตุที่ดี
เมื่อทำไปแล้วจะนำมาซึ่งผลที่ดี
นี่คือการรู้เหตุ
๒.
การรู้ผลคือรู้ว่าสิ่งที่ตามมาจากเหตุคือผล
ผลที่ตามมาจากการกระทำมีอยู่
๓ อย่าง คือความสุข
ความทุกข์
และความไม่สุขไม่ทุกข์
ผู้ที่ปรารถนาความสุข
ไม่ปรารถนาความทุกข์
ต้องรู้ว่าความสุข
ความทุกข์นั้น
เป็นผลที่เกิดจากการกระทำทางกาย
วาจา ใจ การกระทำความชั่วมีความทุกข์เป็นผล
การกระทำความดีมีความสุขเป็นผล
อย่างวันนี้ญาติโยมมาทำบุญถวายทานให้กับพระสงฆ์องค์เจ้า ถือว่าเป็นการกระทำที่ดี
เพราะทำไปแล้วไม่มีใครเดือดร้อน
ทุกคนสบายใจ ทุกคนมีความสุข
ผู้ให้ก็มีความสุข
ผู้รับก็มีความสุข
ถือว่าเป็นการทำความดี
แต่ถ้าเมื่อคืนนี้ไปกินเหล้าเมายา
แล้วขับรถไปชนผู้อื่นเข้า
ปัญหาก็ตามมา
คนที่ถูกรถชนก็มีความทุกข์
คนขับรถก็มีความทุกข์
นี่คือการกระทำที่ไม่ดี
เพราะทำไปแล้วทำให้ผู้อื่นและตนเองเดือดร้อน
ถ้ารู้จักเหตุดีชั่ว
ย่อมทำดีละชั่ว
ผลที่ตามมาย่อมเป็นผลดีโดยถ่ายเดียว
คือพยายามกระทำความดี
นี่คือการรู้ผล
๓.
การรู้จักตนคือการรู้จักตัวเราเอง
รู้ว่าเราเป็นใคร
เป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง
เป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่
เป็นพระหรือเป็นฆราวาส
คนเราเกิดมาย่อมมีความแตกต่างกัน
บางคนเกิดมาเป็นผู้ชาย
บางคนเกิดมาเป็นผู้หญิง
เป็นผู้ชายต้องทำตัวอย่างไร
เป็นผู้หญิงต้องทำตัวอย่างไร
ถ้าเป็นผู้ชายแล้วทำตัวเป็นผู้หญิงก็เป็นบุคคลที่ผิดเพี้ยน
แปลกประหลาด
คนอื่นตำหนิติเตียนได้
คนอื่นไม่คบค้าสมาคมด้วย
เพราะคิดว่าเป็นคนสติไม่ดี
ต้องรู้จักประพฤติตนให้สมควรแก่ฐานะของตน
ต้องรู้จักวางตัวให้เหมาะสมแก่ฐานะของตน
เป็นผู้หญิงก็ต้องวางตัวอย่างหนึ่ง
เป็นผู้ชายก็ต้องวางตัวอีกอย่างหนึ่ง
เป็นฆราวาสก็ต้องวางตัวอย่างหนึ่ง
เป็นพระก็ต้องวางตัวอีกอย่างหนึ่ง
เป็นผู้นำก็ต้องวางตัวอย่างหนึ่ง
เป็นผู้ตามก็ต้องทำตัวอีกแบบหนึ่ง
แต่ละคนนั้นมีสมมุติไม่เหมือนกัน
ฐานะไม่เหมือนกัน
ทุกๆคนต้องรู้จักตัวเอง
และประพฤติตนให้ถูกต้อง
ถ้าประพฤติผิดแล้วจะทำให้อยู่ในสังคมไม่ได้
ต้องถูกขับออกจากสังคม
หรือไม่ก็ถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง
เพราะว่าเมื่อกระทำตัวเองไม่เหมาะสมแล้วก็จะไปสร้างความวุ่นวาย
สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น
ทำให้สังคมนั้นไม่อยู่เย็นเป็นสุข
เราจึงต้องรู้จักตน
แล้วก็ประพฤติตนให้ถูกต้องตามฐานะของตน
นี่คือการรู้ตน
๔.
การรู้บุคคล
คือรู้ผู้อื่น เช่นรู้พ่อ
รู้แม่ รู้พี่ รู้น้อง
รู้ญาติสนิทมิตรสหาย
รู้บุคคลต่างๆที่มาเกี่ยวข้องกับเรา
บุคคลต่างๆเหล่านี้มีฐานะแตกต่างกัน
การประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกันไป
บิดามารดา
ครูบาอาจารย์ต้องให้ความเคารพ
เพราะท่านสูงกว่าเรา
ท่านมีพระคุณต่อเรา
จะตีตัวเสมอท่านไม่ได้
บุคคลอื่นๆนั้น
ที่สูงกว่าเราก็มี
เท่าเราก็มี ต่ำกว่าเราก็มี
เช่นเพื่อนฝูงทั้งหลายเป็นบุคคลที่มีฐานะเท่ากับเรา
ลูกหลานของเรามีฐานะต่ำกว่าเรา
วิธีที่เราจะประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ก็แตกต่างกันไป
ไม่ปฏิบัติต่อทุกๆคนเหมือนกัน
เราต้องศึกษาและประพฤติปฏิบัติกับบุคคลเหล่านี้ให้ถูกต้องกับฐานะของเขา
ถ้าทำได้เราจะเป็นบุคคลที่สวยงาม
จะอยู่กับใครที่ไหนก็จะมีแต่ความสุขความเจริญโดยถ่ายเดียว
นี่คือการรู้บุคคล
๕.
การรู้สังคม
หมายถึงการรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆของสังคม
สถานที่ต่างๆมีขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกัน
เวลามาวัดเจอพระพุทธรูปก็ต้องกราบไหว้
ไม่ใช่พอเห็นพระพุทธรูปแล้วเกิดความคึกคะนองขึ้นมา
ก็ปีนขึ้นไปนั่งบนตัก
ปีนขึ้นไปนั่งบนไหล่
เช่นชาวต่างประเทศบางคนที่ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทย
เวลาพบเห็นพระพุทธรูป
เกิดความคึกคะนองก็ปีนขึ้นไปนั่งบนตักบนไหล่
พอคนไทยชาวพุทธเห็นเขาก็ไม่พอใจ
ไปแจ้งตำรวจมาจับ
ทำให้ต้องเสียค่าปรับไป
นี่เป็นเพราะว่าไม่รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม เมื่ออยู่ในสังคมไหนก็ต้องศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมนั้นแล้วประพฤติปฏิบัติตาม
จะทำให้อยู่ในสังคมนั้นได้ด้วยความสงบสุข
นี่คือการรู้สังคม
๖.
การรู้จักกาลคือการรู้เวลา
การกระทำสิ่งต่างๆนั้นจะต้องมีกาล
มีเวลา
เมื่อมีกิจกรรมที่จะต้องทำ
ถ้าไปผิดเวลาก็ไม่สามารถที่จะทำกิจนั้นได้
เช่นเวลาที่จะเอาอาหารมาถวายกับพระที่วัดนี้
ต้องมาแต่เช้าเพราะว่าพระที่นี่ท่านจะฉันแต่เช้า
ท่านฉันมื้อเดียว
ถ้าเอาอาหารมาถวายตอนเพล
จะไม่มีพระมารับประเคนเพราะท่านไม่ฉันเพล
จึงต้องรู้จักกาล
ต้องรู้ว่าจะทำอะไร
ต้องทำเวลาไหน
นี่คือการรู้กาล
๗.
การรู้จักประมาณคือการรู้จักความพอดีนั่นเอง
เช่นในการรับประทานอาหารนี้
ถ้ารับประทานมากเกินไปก็ไม่ดี
ทำให้ร่างกายอ้วนเกินไป
ทำให้เกิดโรคภัยเบียดเบียนได้
ถ้ารับประทานน้อยจนเกินไป
ร่างกายก็ไม่ได้รับสารอาหารเท่าที่ควร
ทำให้ร่างกายอ่อนแอ
ทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยได้
ต้องรู้จักประมาณ
รู้จักความพอดี
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารก็ดี
เรื่องเสื้อผ้าก็ดี
เรื่องของใช้ต่างๆก็ดี
ควรมีพอประมาณตามความจำเป็น
ไม่ใช่ตามความอยาก
พอมี พอใช้ พออยู่ พอเป็น
พอไป ไม่มากเกินไป
ไม่น้อยเกินไป
มีเท่าที่จำเป็นต้องใช้ก็พอ
ถ้ารู้จักประมาณ
จะอยู่ได้อย่างสบาย
เพราะกิเลสตัณหาความอยากไม่สามารถมารุมเร้าจิตใจเราได้
คนเราทุกวันนี้ที่อยู่กันไม่ค่อยมีความสุข
เพราะถูกอำนาจของความโลภของความอยากครอบงำจิตใจ
มีเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ
เห็นคนอื่นเขามีอะไรก็อยากจะมีเหมือนเขา
เพราะไม่รู้จักประมาณนั่นเอง
เราต้องใช้เหตุใช้ผลถามตัวเองว่า
การที่เราจะต้องมีอย่างนั้น
มีอย่างนี้
มีความจำเป็นหรือเปล่า
ถ้าไม่มีความจำเป็น
ก็ขอให้ตัดใจเสีย
บอกว่าไม่มีก็ไม่เป็นไร
ไม่มีก็ไม่ตาย ถามตัวเราเองว่าถ้าไม่ได้สิ่งเหล่านี้แล้วเราจะตายหรือเปล่า
เช่นสมัยนี้มีโทรศัพท์มือถือใช้กัน
ใครๆก็อยากจะมีกัน เมื่อก่อนนี้ไม่มีโทรศัพท์มือถือ
เราอยู่กันได้หรือเปล่า
ไม่มีโทรศัพท์มือถือนี่เราจะตายหรือเปล่า
ถ้าไม่มีกำลังทรัพย์ก็อย่าไปอยาก
สู้เก็บเงินเก็บทองไว้ไม่ดีกว่าหรือ
เผื่อวันข้างหน้าเกิดเราตกทุกข์ได้ยากไม่มีงานทำ
เงินฝากในธนาคารจะเป็นที่พึ่งยามยากของเรา
ทุกครั้งที่จะใช้จ่ายเงินทอง
ซื้อข้าวซื้อของนั้น
ขอให้รู้จักประมาณ ใช้เหตุ
ใช้ผล
ถามตัวเองก่อนว่าจำเป็นไหมที่ต้องมีสิ่งเหล่านี้
ถ้าไม่มีความจำเป็น
สู้เอาเงินเก็บไว้จะไม่ดีกว่าหรือ
เก็บไว้ในธนาคารก็ได้ดอกเบี้ย
แต่ถ้าเอาไปซื้อของใช้มันก็หมดไป
ของที่ซื้อมาแล้วจะเอาไปขายก็ขายไม่ได้ราคา
ถ้ารู้จักประมาณแล้วชีวิตของเราจะอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขเพราะมีเงินมีทองเหลือใช้นั่นเอง
ถ้าไม่รู้จักประมาณ
เมื่อเงินทองไม่พอใช้เพราะว่าใช้เงินเกินฐานะของตัวเอง
เมื่อรายรับไม่พอกับรายจ่ายก็ต้องไปหามาให้พอ
หาด้วยความสุจริตไม่ได้ก็ต้องหามาด้วยความทุจริต
ต้องไปปล้น ไปจี้ ไปลักทรัพย์
ไปทำทุจริตผิดศีล
เมื่อทำสิ่งที่ทุจริตแล้วก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับเข้าคุกเข้าตะรางหมดอิสรภาพ
มีแต่ความทุกข์
นี่คือการรู้ประมาณ
ถ้าอยากจะอยู่แบบไม่มีความทุกข์ก็ต้องมีคุณธรรมทั้ง
๗ ประการนี้ คือ รู้เหตุ รู้ผล
รู้ตน รู้บุคคล รู้สังคม
รู้กาล รู้ประมาณ
ถ้าสามารถประพฤติปฏิบัติตามคุณธรรมทั้ง
๗ ประการนี้ได้
ก็ถือได้ว่าเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบ
เป็นสัตบุรุษ เป็นคนดี
แต่ถ้าไม่สามารถรักษาคุณธรรมเหล่านี้ได้ก็แสดงว่าจิตใจเริ่มเสื่อมลงไปสู่ความเป็นเดรัจฉานนั่นเอง
เมื่อตายไปย่อมไปสู่ความเป็นเดรัจฉานอย่างแน่นอน
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้