กัณฑ์ที่ ๒๖๔ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
จาคะ
การดำเนินตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินมา เป็นการดำเนินเพื่อความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรือง ความร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง ชาวพุทธจึงถือการเข้าวัดเพื่อมาทำบุญทำทาน มารักษาศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นกิจกรรมที่พึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ควรละเว้นปล่อยวางหน้าที่อันสำคัญนี้ เพราะไม่มีหน้าที่ใดที่จะให้คุณค่า ให้คุณประโยชน์กับชีวิตจิตใจ ได้เท่ากับการปฏิบัติหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งผู้สอน การมาวัดเป็นการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ให้เริ่มต้นด้วยการศึกษาเล่าเรียน ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ให้นำเอาไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะได้ประสบกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ คือจิตใจมีความร่มเย็นเป็นสุข มีศีลมีธรรม มีปัญญา มีความฉลาด ต่อจากนั้นก็ให้เอาไปเผยแผ่ให้กับผู้อื่น เป็นการสืบทอดพระศาสนาให้มีอายุยืนยาวนาน เพราะพระศาสนาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ถ้าปล่อยปละละเลยไม่สนใจที่จะศึกษา ไม่สนใจที่จะนำไปปฏิบัติ ก็จะไม่เห็นผลอันประเสริฐที่จะเกิดขึ้น ก็จะไม่ได้นำไปเผยแผ่ให้กับอนุชนรุ่นหลัง ถ้าทุกคนไม่สนใจศึกษาปฏิบัติ ต่อไปศาสนาก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่ในโลก เพราะศาสนาก็เปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่ต้องได้รับการทำนุบำรุง ดูแลรักษาด้วยดิน ด้วยน้ำ ด้วยปุ๋ย ฉันใดศาสนาก็เป็นเช่นนั้น
พระศาสนาจะคงอยู่กับโลกเพื่อเป็นที่พึ่งให้กับสัตว์โลกได้ ก็อยู่ที่พวกเราชาวพุทธที่จะปฏิบัติหน้าที่ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบหมายไว้ ซึ่งมี ๔ ลำดับขั้นตอนด้วยกันคือ ๑. ปริยัติธรรม ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอน ๒. ปฏิบัติธรรม ให้นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษาไปปฏิบัติ ๓. ปฏิเวธธรรม บรรลุผลที่เกิดจากการปฏิบัติ ๔. เผยแผ่ธรรม เมื่อได้บรรลุแล้วก็จะรู้ว่าการดำเนินชีวิตตามแนวทาง ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นดีอย่างไร ก็นำเอาไปเผยแผ่ให้ผู้อื่นได้รู้กัน เพราะถ้าไม่มีการเผยแผ่ก็จะไม่รู้ว่ามีสิ่งที่ดีที่วิเศษอยู่ในประเทศไทยอยู่ในโลกนี้ ถ้าเผยแผ่ก็จะได้รับรู้กัน ส่วนจะสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา เรามีหน้าที่เผยแผ่ก็ทำไป จะเชื่อหรือไม่ จะทำหรือไม่ ก็ไม่ต้องไปกังวล เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราไปบังคับจิตใจของผู้อื่นไม่ได้ จะยินดีกับศาสนาหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา เรามีหน้าที่เผยแผ่ก็เผยแผ่ไป เวลาบอกเขาก็สังเกตดูว่าเขาสนใจมากน้อยเพียงไร ถ้าไม่สนใจเลย บอกไปแล้ว เขาก็พยายามพูดเรื่องอื่น เราก็ควรหยุดไม่เกิดประโยชน์อะไร เหมือนกับเวลาเทน้ำใส่แก้ว ถ้าคว่ำแก้วไว้ เทน้ำลงไปน้ำก็จะไม่เข้าไปในแก้ว เพราะไม่ได้หงายแก้วขึ้นมารองรับ เวลาเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่ยัดเยียดให้ ไม่บังคับกัน เพียงแต่บอกให้รู้เท่านั้น เมื่อรู้แล้วจะสนใจหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา
เพราะคนเรามีสติปัญญาความสามารถต่างกัน คนที่มีปัญญาน้อยก็จะเห็นคำสอนของพระพุทธเจ้าไร้คุณค่า คนที่มีปัญญาถึงจะรู้คุณค่า เพราะพระธรรมของคำสอนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะเข้าใจได้ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของสัตว์โลกทั้งหลาย ที่เห็นวัตถุข้าวของเงินทองเป็นสิ่งที่วิเศษ เป็นสิ่งที่ดี ที่นำความสุขมาให้ แต่ไม่เห็นสิ่งที่เลวร้ายที่ซ่อนอยู่กับความวิเศษ คือความทุกข์ต่างๆที่ตามมา เพราะจะต้องกังวล ต้องห่วง ต้องหวง ต้องเสียดายเสียใจเมื่อสิ่งของต่างๆ บุคคลต่างๆ ที่ได้มาต้องจากไป เพราะไม่เป็นเหมือนเดิมไปตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลง มีการพลัดพรากจากกันไปในที่สุด นี้คือสิ่งที่เราคิดว่าวิเศษวิโสกัน ที่เราแสวงหากัน จึงไม่เห็นคุณค่าของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้ตัด ให้ละ ความโลภ ความอยากได้สิ่งต่างๆมากเกินความจำเป็น เพราะมีเท่าที่จะดูแลอัตภาพร่างกายให้อยู่ได้อย่างสบายก็พอแล้ว มีมากไปกว่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่จะกลายเป็นภาระทางจิตใจไปเพราะจะต้องคอยดูแลรักษา ต้องคอยกังวลคอยห่วงคอยหวง เพราะสมบัติของเรามีหน้าที่รับใช้เรา คือดูแลอัตภาพร่างกายของเราให้อยู่อย่างสะดวกอย่างสบาย แต่ถ้ามีมากเกินไปก็แสดงว่าเราไม่ฉลาด ไม่มีปัญญา เราก็จะกลายเป็นคนรับใช้สมบัติต่างๆไป เพราะจะต้องมาคอยดูแลรักษา คอยห่วงคอยกังวล
แต่คนที่มีปัญญาคนฉลาดจะรู้จักใช้สิ่งต่างๆเหล่านั้น ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ และไม่ให้เป็นภาระทางจิตใจ ส่วนใดที่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บไว้ เพื่อดูแลรักษาอัตภาพชีวิตร่างกายก็เก็บไว้ ส่วนที่เหลือก็ไม่เก็บไว้ให้เป็นภาระ เอาไปจำหน่ายจ่ายแจก ไปสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ เพื่อนสัตว์ร่วมโลก ดีกว่าเก็บไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ เพราะจะนำมาซึ่งความทุกข์ ความกังวลใจต่างๆ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนให้พวกเราปฏิบัติกัน ให้มีจาคะ คือการเสียสละ ถ้าไม่มีจาคะไม่มีการเสียสละ เราจะไม่สามารถเดินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้ เราก็จะไม่ได้รับประโยชน์คือความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติตาม เพราะความตระหนี่ความหวงแหนจะเป็นศัตรูต่อจาคะการเสียสละ แต่ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อมั่น ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เราก็ต้องกล้าที่จะเสียสละ ในเมื่อสิ่งที่เรามีอยู่นั้นถ้าพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว เราก็จะรู้ว่าไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ หมดไปก็ไม่ทำให้เราเดือดร้อนอย่างไร มีไว้กลับเป็นภาระ เป็นเหตุที่จะสร้างความกังวลใจ สร้างความห่วงใย สร้างความเสียอกเสียใจ เวลาที่ต้องสูญเสียไป แล้วไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งเราก็ต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างไป เพราะโลกนี้ไม่ได้เป็นโลกที่จิรังถาวรยั่งยืน เรามาแล้วเดี๋ยวเราก็ต้องไป จะไปด้วยความสุขหรือไปด้วยความทุกข์ก็อยู่ที่ว่ามีจาคะหรือไม่
ถ้ามีก็จะไปอย่างสบายอย่างสุขใจ ไปสู่ที่ดี ไปสู่สุคติ ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม ถ้าไปแบบเสียอกเสียใจเสียดายอาลัยอาวรณ์ เพราะต้องจากสิ่งที่รักไป ก็จะไปสู่ที่ไม่ดี ไปสู่ทุคติ ไปสู่อบาย เพราะความทุกข์ของจิตใจเป็นเหตุ เพราะความยึดติด ความตระหนี่ถี่เหนียว ความหวงแหน พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีจาคะ ให้รู้จักเสียสละ มีอยู่ ๒ ระดับด้วยกัน คือ ๑. ระดับปุถุชนธรรมดาทั่วไปอย่างพวกเราทั้งหลาย ๒. ระดับพระโพธิสัตว์ ที่สูงกว่าพวกเรา ท่านสามารถสละได้แม้แต่ชีวิตของท่าน เพื่อความดีงามทั้งหลาย ดังที่ได้ทรงสอนเรื่องของการเสียสละไว้เป็นขั้นๆคือ ให้เสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ให้เสียสละชีวิตเพื่อรักษาคุณธรรมความดีงามทั้งหลาย นี้คือขั้นตอนของการเสียสละที่ควรปฏิบัติกัน บางคนไม่ยอมเสียทรัพย์เพื่อรักษาร่างกาย จะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรก็ไม่ยอมไปหาหมอ ไม่ยอมไปซื้อยามารักษา กลัวจะจน กลัวเงินทองจะหมด ก็อาจจะพิกลพิการหรือตายไป เงินทองมีประโยชน์อะไรในเมื่อร่างกายพิกลพิการ ระหว่างมีเงินหนึ่งล้านบาทกับต้องตาบอดไปนี้ เราจะเลือกอะไร ยอมเสียเงินหนึ่งล้านบาทเพื่อรักษาตา เพื่อจะได้มองเห็นอะไรต่างๆได้เป็นปกติ หรือจะยอมตาบอดเพื่อรักษาเงิน บางคนก็อาจจะยอมตาบอดเพื่อรักษาเงิน เพราะความตระหนี่ ความยึดติดในเงินทอง แต่คนฉลาดย่อมเห็นว่าอวัยวะต่างๆมีคุณค่ายิ่งกว่าเงินยิ่งกว่าทอง
ถ้าต้องเลือกระหว่างอวัยวะกับชีวิตเราก็ต้องเลือกชีวิต เมื่อจำเป็นจะต้องตัดแขนตัดขาก็ต้องยอมให้ตัด เพราะยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าไม่ยอมตัดแขนตัดขา ก็อาจจะลามปามไปส่วนอื่นของร่างกาย ทำให้ถึงแก่ความตายได้ อย่างนี้ก็ต้องกล้าเสียสละตัดอวัยวะไป ระหว่างการรักษาชีวิตกับคุณธรรมความดีงามทั้งหลายนั้น ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ท่านก็ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาคุณงามความดีไว้ แต่สำหรับพวกเราก็คงจะรักษาชีวิตไว้ก่อน ถ้ามีใครจะมาฆ่าเรา เราคงจะไม่ปล่อยให้เขาฆ่าเราแน่ ถ้าต้องฆ่าเขาเราก็คงจะทำเพราะเรายังเป็นปุถุชน ยังไม่เห็นคุณค่าของคุณธรรมความดีงาม เช่นจาคะการเสียสละ แต่พระโพธิสัตว์เห็นว่าชีวิตนี้เป็นเพียงทางผ่าน เป็นขั้นบันไดสู่ขั้นสูงต่อไป จะไปเกิดขั้นที่สูงกว่าได้ก็ต้องมีคุณธรรมความดีพาไป ถ้าทำบาปทำกรรมก็เป็นการเดินถอยหลังแทนที่จะเดินขึ้นก็เดินลง ถ้าฆ่าผู้อื่นเพื่อรักษาชีวิตของเรา เมื่อตายไปก็จะลดระดับชีวิตให้ต่ำลงไป แทนที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐกว่าเก่าดีกว่าเก่า ก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เพราะไปฆ่าผู้อื่นนั่นเอง ไปทำบาปทำกรรมไว้ พระโพธิสัตว์มีความเชื่อในเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ในการบำเพ็ญบุญบารมี ที่จะพัฒนาจิตใจให้ไปถึงจุดสูงสุด ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ จึงบำเพ็ญบุญบารมีอย่างต่อเนื่อง คนที่เสียสละได้จะมีความสุขทางด้านจิตใจมากกว่าคนที่ไม่เสียสละ เช่นกำลังจะรับประทานอาหาร เห็นขอทานเดินโซซัดโซเซมาไม่ได้กินข้าวมาหลายวัน ก็เห็นว่าการเสียสละอาหารจานนี้ให้กับเขาไป มีประโยชน์มากกว่ารับประทานเอง ก็ยอมเสียสละไป
การที่ทำอย่างนี้แม้ร่างกายจะไม่ได้รับอาหาร ยังมีความรู้สึกหิวอยู่ก็ตาม แต่ผลที่ได้รับจากการเสียสละนี้ จะทำให้จิตใจมีความอิ่มเอิบ มีปีติ มีความสุข มีความภูมิใจ ซึ่งความอิ่มเอิบใจนี้จะทำให้ไม่หิวข้าวเลย แม้ร่างกายจะไม่ได้รับประทานอาหาร เพราะจิตใจไม่ได้กินข้าวเป็นอาหาร แต่กินคุณธรรมความดีเป็นอาหาร กินบุญ กินกุศล เช่นจาคะการเสียสละเป็นต้น ถ้าได้เสียสละแล้วก็จะทำให้จิตใจได้รับอาหาร ทำให้จิตใจมีความอิ่มเอิบ มีความสุขใจ ที่มีอานุภาพมากกว่าความอิ่มหรือความหิวของร่างกาย สามารถทำให้ไม่หิวกระหายเลย เมื่อได้เสียสละอาหารจานนั้นให้กับคนที่เดือดร้อนกว่าเรา ในทางตรงกันข้ามถ้ามีแต่ความเห็นแก่ตัว มีแต่ความอยาก มีแต่ความโลภ ไปแย่งหรือไปขโมยอาหารของคนอื่นมารับประทาน ทำให้เขาเดือดร้อน ก็จะไม่ได้ความอิ่มเอิบใจ กลับได้ความรู้สึกว่ายังไม่อิ่ม ยังไม่พอ ยังหิว ยังอยากอยู่ เพราะไม่ได้ให้อาหารใจนั่นเอง นอกจากไม่ได้ให้อาหารใจแล้วยังให้ยาพิษกับใจอีก คือบาปกรรมที่เกิดจากการไปลักไปขโมยอาหารของผู้อื่นมารับประทาน ถ้าได้เสียสละแล้วแทนที่จะมีความหิวมีความกระหาย ทั้งๆที่ร่างกายไม่ได้รับประทานอาหาร แต่กลับมีความอิ่ม มีความสุขใจ ในทางตรงกันข้ามถ้าโลภถ้าอยาก ต่อให้ได้กินมากเท่าไร ใจก็จะไม่รู้สึกว่าอิ่ม ไม่รู้สึกว่าพอ เพราะไม่ได้รับอาหารใจ ความอยากความโลภนี้เป็นตัวสร้างความหิว
นี้คือสิ่งที่เราจะต้องศึกษาและนำไปปฏิบัติ ถ้าได้ปฏิบัติก็จะเห็นคุณค่าของการเสียสละ รู้ว่าการเสียสละเป็นสิ่งที่ควรทำ มากกว่าการเสาะแสวงหาสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ แต่การแสวงหาก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เสียหายถ้ารู้จักประมาณ เพราะเราต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ต้องหาเงินหาทอง หาข้าวหาของต่างๆ มาดูแลอัตภาพชีวิตร่างกายของเราและของคนที่เราต้องดูแล เช่นบุตร ธิดา สามี ภรรยา พ่อแม่ปู่ย่าตายาย การแสวงหาเพื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นความโลภ ไม่ถือว่าเป็นความอยากแต่อย่างใด แต่ถ้ามีพอเพียงแล้วยังไม่รู้จักพอ ยังแสวงหาอีก โดยคิดว่าเมื่อได้มามากขึ้นแล้วจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น นั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะแทนที่จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น กลับจะมีความทุกข์ความวุ่นวายใจเพิ่มมากขึ้น ทั้งในขณะที่ไปแสวงหาและเมื่อได้มาแล้ว เพราะต้องคอยดูแลรักษา ต้องหวง ต้องห่วง ต้องทุกข์ ต้องกังวลใจ จึงควรแสวงหาพอประมาณ ถ้าหามาได้มากโดยไม่ได้ตั้งใจ ถ้ามีเหลือกินเหลือใช้ ก็ไม่ควรเก็บเอาไว้ ควรนำมาเสริมสร้างบุญบารมี ด้วยการทำบุญให้ทาน แจกจ่ายบริจาคให้กับผู้อื่น เพราะจะทำให้จิตใจสูงขึ้นดีขึ้น มีความเมตตากรุณา ไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะทำให้กลายเป็นคนมีศีลขึ้นมา คือเมื่อก่อนไม่มีศีลเพราะมัวแต่ไปแสวงหาสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ เมื่ออยากได้อะไรมากๆ ก็จะไม่คำนึงว่าจะไปเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ หามาได้ด้วยวิธีใดก็หามา จะเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ก็ต้องหามา เพราะความอยากมีกำลังมาก ที่เราฝืนไม่ได้
ก็เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ คนที่มีความอยากมากๆ แม้จะมีเงินทองมากมายเพียงไรก็ตาม ก็ยังต้องไปสร้างความเสียหาย ไปเบียดเบียนผู้อื่นอยู่เพราะความอยากนี้มันเป็นตัวที่ผลักดันให้ไปทำ แต่ถ้ามีการให้ มีการเสียสละอยู่เสมอๆ ก็จะตัดกำลังของความอยากให้เบาลงไปๆ สร้างความเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นมา มีไมตรีจิตคิดดีกับผู้อื่น มีความสงสารเวลาเห็นผู้อื่นเดือดร้อน ทำให้ไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น เพราะชอบสงเคราะห์ ชอบช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่า เพราะเวลาที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นจะมีความสุขใจ จิตใจได้รับอาหาร ทำให้มีความสุขใจ มีความภูมิใจ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าไปเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะไม่สบายใจ รู้สึกไม่ดีที่ไปข่มเหงรังแก ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ก็ทำให้ไม่สบายอกไม่สบายใจทำให้เสียใจ เพราะความโลภกับความอยากนี้เอง ถ้าไม่บำเพ็ญบุญบารมีตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เช่นจาคะการเสียสละ ทานการให้ สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เรื่อยๆแล้ว ความอยากความเห็นแก่ตัวก็จะมีกำลังมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้การเสียสละทำยากขึ้นไปเรื่อยๆ แม้จะมีเงินทองมากน้อยเพียงไร ก็จะหวง จะเสียดาย เวลาที่จะต้องเสียไปโดยไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมา เวลาสูญเสียไปหรือต้องจากกันไปก็จะทุกข์ทรมานใจมาก เพระความหวง ความตระหนี่ ความผูกมัดติดอยู่กับสิ่งต่างๆ แต่คนที่เคยให้เคยเสียสละอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว เวลาจะต้องจากสิ่งต่างๆไป จะไม่รู้สึกเสียใจวุ่นวายใจแต่อย่างใด เพราะเคยให้มาอยู่อย่างสม่ำเสมอ และเห็นคุณค่าของการให้ กลับมีความสุขเสียอีกที่ได้ให้สิ่งต่างๆ ได้จากสิ่งต่างๆไป
เพราะใจไม่มีความจำเป็นกับสิ่งต่างๆในโลกนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเงินทองหรือบุคคลต่างๆ ใจไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งต่างๆเหล่านี้เลย มีแต่รับความทุกข์ ถ้าไปหลงไปยึดไปติด ก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ เวลาต้องพลัดพรากจากกัน เวลาอยู่ร่วมกันก็ต้องคอยห่วงต้องคอยกังวล มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะใจไม่ต้องมีอะไรก็อยู่ได้ เช่นใจของพระพุทธเจ้ากับใจของพระอรหันตสาวก ท่านไม่มีอะไรเลย หลังจากที่ร่างกายแตกดับไปแล้ว ใจของท่านก็ไม่ไปแสวงหาอะไรอีกต่อไป ท่านจึงไม่ต้องไปเกิดอีก ใจอยู่ในพระนิพพาน เป็นใจที่มีความสุขเต็มที่ มีความสุขมาก เรียกว่า ปรมังสุขัง ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เพราะมีความสุข มีความพออยู่ในใจ แต่ใจของพวกเรายังมีความโลภมีความอยากอยู่ จึงไม่พอไม่อิ่ม ยังอยากจะได้มาอีก มีมากน้อยเพียงไรก็ยังอยากจะได้มาอีก เมื่อตายจากโลกนี้ไปก็ยังต้องไปแสวงหาอีก ไปเริ่มต้นใหม่ เหมือนกับพวกเราที่ตายจากชาติก่อนแล้วมาเกิดในชาตินี้ เวลามาก็ไม่ได้มีอะไรติดตัวมา พอโตขึ้นมาก็แสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้กัน หาได้เท่าไรก็ไม่เคยถึงคำว่าพอสักที เพราะคำว่าพอจะไม่ได้มาจากการแสวงหาสิ่งต่างๆในโลกนี้ คำว่าพอนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราฉลาด เราตัด เราละ เราปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เท่านั้น ไม่ยึดไม่ติด ไม่อาศัยสิ่งต่างๆในโลกนี้มาให้ความสุขกับเรา เพราะใจมีความสุขในตนเองอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาความสุขจากที่อื่น ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับอาคารหลังนี้ ที่มีความสามารถปรับอากาศได้ในตัวของมันเอง ทำให้เย็นได้ตลอดเวลา นี้เป็นเพียงสมมติว่าถ้าอาคารนี้เป็นอาคารที่วิเศษ ที่สามารถปรับความเย็นได้ในตัวของมันเอง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปซื้อเครื่องปรับอากาศมาติดตั้ง
ฉันใดก็ฉันนั้น ใจมีความสามารถที่จะผลิตความสุขให้กับตนเองได้ โดยไม่ต้องมีอะไรมาสร้างความสุขให้ แต่ใจของพวกเราไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง มีความหลง ที่หลอกให้คิดว่าความสุขอยู่กับสิ่งภายนอก จึงไปแสวงหากัน ไปหาข้าวของเงินทองต่างๆ ไปหาบุคคลต่างๆ มาให้ความสุข พอได้มาแล้วเราก็ต้องมาแบกความทุกข์กับสิ่งต่างๆเหล่านี้ ความทุกข์ที่ได้กับความสุขที่ได้นั้นมันแตกต่างกันมาก เราได้ความสุขเพียงนิดเดียวจากการมีสามีภรรยา แต่ต้องทุกข์กับสามีภรรยาไปเป็นเวลาอันยาวนาน จนถึงวันที่ต้องจากกันไป ก็ยังต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ เวลาเขาจากไป เราก็อยู่อย่างไม่มีความสุข อยู่อย่างเศร้าสร้อยหงอยเหงา ไม่มีชีวิตชีวา เพราะใจหลงไปหาความสุขจากสิ่งภายนอกนั่นเอง แต่ถ้าหันเข้ามาหาความสุขในใจ ด้วยการสร้างบุญกุศล สร้างบุญบารมี ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เช่นจาคะ การเสียสละเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว รับรองได้ว่าต่อไปจิตของเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ขอให้เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนและพยายามปฏิบัติตามเถิด จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง จะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ที่เราหลงไปยึดไปติดไปแบกด้วยตัวของเราเอง ไม่มีใครบังคับให้เราไปแบก แต่ความหลงมันหลอกให้เราไปแบก ให้เราไปแสวงหาสิ่งต่างๆมาแบกกัน พวกเราโชคดีที่เกิดมาแล้วได้มาเจอพระพุทธศาสนา ได้เจอคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้เห็นแบบฉบับอันดีเลิศของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย ที่ดำเนินชีวิตแบบไม่พึ่งพาอาศัยสิ่งต่างๆจากภายนอกมาให้ความสุข แต่แสวงหาความสุขภายใน ด้วยการบำเพ็ญบุญบารมี คุณงามความดีทั้งหลาย อย่างที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ที่ควรส่งเสริมและควรปฏิบัติให้มีมากยิ่งขึ้นไป รับรองได้ว่าความสุขในจิตใจของท่านจะมีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุด ที่เรียกว่าปรมังสุขังอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว จึงขอฝากเรื่องการบำเพ็ญบุญบารมีอย่างสม่ำเสมอนี้ ให้ท่านนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสุขที่แท้จริงที่จะตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้